แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพรท่านผู้สนใจเจริญภาวนาทุกท่าน คราวนี้จะได้พูดในเรื่องที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างจิตภาวนากับปัญญาภาวนา ในคราวที่แล้วนี้อาตมาภาพก็ได้พูดไปในเรื่องตำแหน่งหรือฐานะของการปฏิบัติทางจิตหรือการปฏิบัติที่เกี่ยวกับจิตใจ ในระบบของพระพุทธศาสนานี้การปฏิบัติหรือการฝึกที่เกี่ยวกับจิตใจนั้นก็คือเรื่องของภาวนา ภาวนาในระดับนี้เราจะพูดกันมากถึงคำว่าจิตภาวนากับปัญญาภาวนา เพื่อความชัดเจนเราก็ควรจะได้รู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างจิตภาวนากับปัญญาภาวนา จิตภาวนานั้นก็แปลง่าย ๆ ว่าการฝึกอบรบเจริญจิตใจหรือการพัฒนาจิตใจ ปัญญาภาวนาก็คือการฝึกอบรมเจริญปัญญาหรือการพัฒนาปัญญา อันนี้จะมีข้อสงสัยเริ่มต้นตั้งแต่คำว่าจิตกับคำว่าปัญญา มีคนในสมัยนี้ก็ไม่น้อยที่สงสัยว่าทำไมจะต้องแยกจิตกับปัญญาออกไปต่างหากจากกัน เพราะว่าเรื่องของปัญญาก็น่าจะเป็นเรื่องของจิตใจนี่เอง เพราะฉะนั้นบอกว่าพัฒนาจิตใจอย่างเดียวก็น่าจะคลุมไปถึงปัญญาด้วย ก็เลยจะต้องทำความเข้าใจกันเรื่องความแตกต่างระหว่างจิตใจกับเรื่องปัญญา ความจริงนั้นในสมัยปัจจุบันนี้เองที่เราเรียนวิชาการจากตะวันตกก็มีเค้าถึงการที่มีการแยกระหว่างจิตใจกับปัญญาเหมือนกัน แต่บางทีเราก็ไม่ได้สังเกต อย่างฝรั่งใช้คำพูดว่า mind ที่แปลว่าจิตใจ จิตใจนี้บางทีก็หมายรวมทั้งเรื่องของการใช้ปัญญาการใช้เหตุผล แล้วบางครั้งก็เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก แต่ในหลายกรณีคำว่า mind นี้จะใช้ในความหมายที่เป็นเรื่องของความคิดเหตุผล เป็นเรื่องของสติปัญญา อย่างเวลาเราพูดถึงคนที่เป็นผู้มีสติปัญญามากเป็นคนสำคัญในประวัติศาสตร์ค้นพบอะไรไว้ เราเรียกว่า great mind อันนี้จริง ๆ ก็ไม่ได้มองไปในแง่ของความรู้สึกหรืออารมณ์เลย จิตใจในแง่นี้หมายถึงปัญญา สมอง หรือบางทีเขาก็มีแยกในคำพูดทั่วไปบอกว่า mind กับ heart ในกรณีนี้ mind ก็เป็นเรื่องของด้านปัญญาด้านความคิดเหตุผลซึ่งคู่กันกับ heart คือเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก หรือบางทีเลี่ยงจากคำว่า mind ก็ไปพูดคำว่า head กับ heart head ก็คือหัวสมองเป็นเรื่องความคิดเหตุผล heart เป็นเรื่องของจิตใจในด้านของอารมณ์ความรู้สึก ที่ชัดยิ่งกว่านั้นก็คือเราใช้คำว่าปัญญาด้วยคำว่า intellect เป็นความคิดเหตุผลแล้วก็ให้คู่กับคำว่า emotion เป็นเรื่องของอารมณ์ นี่แสดงว่าประเพณีในสายตะวันตกก็มีการแบ่งแยกเหมือนกัน เป็น intellect ด้านหนึ่งแล้วก็เป็น emotion ด้านหนึ่ง ซึ่งก็มองได้ว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในจิตใจ แม้แต่ในเรื่องของการพัฒนาความเจริญงอกงามของคนในทางการศึกษาก็มีการแบ่งเป็นความเจริญงอกงามหรือพัฒนาการทางด้านกาย การเจริญพัฒนาทางด้านสังคม และข้อที่สามก็เป็นความเจริญงอกงามหรือพัฒนาการทางด้านอารมณ์หรือ emotional แล้วข้อสุดท้ายก็ความเจริญงอกงามหรือพัฒนาการทางด้านปัญญา เรียกว่า intellectual development ก็เป็น development ทางด้าน emotion กับทางด้าน intellectual ทีนี้ emotion หรืออารมณ์ความรู้สึกนั่นแหละก็คือเรื่องจิตใจหรือเป็นด้านหนึ่งที่ตรงข้ามกับด้านความคิด สำหรับทางพุทธศาสนานั้นการแยกในเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจน คือในตะวันตกแม้แบ่งกันไว้อย่างนี้แล้วแต่ว่าการใช้ก็ยังสับสนอยู่ ทีนี้ในทางพระพุทธศาสนานั้นเรื่องจิตใจที่มุ่งในที่นี่ก็เน้นไปในด้านเรื่องของ emotion แล้วก็เรื่องของปัญญาก็เรื่องของ intellect ซึ่งจะรวมไปถึงปัญญาระดับสูง เป็น in wisdom อะไรต่าง ๆ เป็น insight อีกด้วย แต่ว่าให้แบ่งคราว ๆ อย่างนี้ อันนี้ก็เทียบให้เห็นว่าในวิชาการสมัยปัจจุบันก็มีการแบ่งเหมือนกันแม้จะไม่ชัดเจนนัก
ทีนี้เพื่อจะให้เข้าใจชัดเจนเรามาพูดในแง่ของพระพุทธศาสนา พูดในแง่พระพุทธศาสนาเราแบ่งได้ 2 ตอน ตอนที่ 1 เราพูดถึงในแง่ของสภาวธรรมหรือสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ในแง่นี้แล้วเราจะเห็นว่าพระพุทธศาสนาถือว่าปัญญานั้นก็เป็นคุณสมบัติของจิตใจนั่นเอง ท่านเรียกว่าเป็นเจตสิกอย่างหนึ่ง คือเราพูดถึงจิตเป็นเหมือนกับว่ามีตัวแกนแล้วเสร็จแล้วก็มีสิ่งที่เป็นคุณสมบัติของจิตใจนั้น ภาษาพระท่านเรียกว่าเจตสิก เจตสิกหรือคุณสมบัติของจิตนี้มีมากมายด้วยกัน อย่างในอภิธรรมก็มีการแจกแจงลงไปถึง 52 อย่าง และในบรรดาเจตสิก 52 อย่างหรือคุณสมบัติและอาการของจิตที่มากมายนั้นก็มีปัญญาเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งเป็นองค์ประกอบข้อหนึ่งด้วย เพราะฉะนั้นในแง่ของสภาวธรรมหรือสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาตินี้ก็ถือว่าปัญญานั้นเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของจิตใจ นี่เป็นการแบ่งแยกชี้แจงให้เห็นตำแหน่งของปัญญา ซึ่งในแง่นี้แล้วก็เป็นเพียงคุณสมบัติของจิตใจ เอาล่ะทีนี้มาสู่แง่ที่ 2 แง่ที่ 2 ก็เป็นการแบ่งแยกในกระบวนการพัฒนามนุษย์เป็นเรื่องของปฏิบัติการ ในแง่ปฏิบัติการในการพัฒนามนุษย์นั้นปัญญามีความสำคัญอย่างยิ่ง ปัญญาเป็นเรื่องใหญ่ เป็นตัวแกนกลางของการพัฒนามนุษย์ทั้งสิ้น ที่เรามีการศึกษาอะไรต่าง ๆ นี้ตัวแกนที่เราต้องการจะพัฒนาคือปัญญา ปัญญาเป็นตัวนำที่จะทำให้เกิดการพัฒนาด้านอื่น ๆ ตามมา จนกระทั่งในที่สุดนั้นปัญญาเมื่อเจริญถึงที่สุดก็จะทำให้บรรลุจุดหมายของชีวิตที่พระพุทธศาสนาว่าได้แก่ความหลุดพ้นหรืออิสรภาพ แต่มองได้ง่าย ๆ ก็คือว่าปัญญาเป็นตัวทำให้มนุษย์เกิดอิสรภาพหลุดพ้นจากปัญหาได้ ทำให้แก้ปัญหาได้ เพราะข้อสำคัญในเรื่องของมนุษย์ก็คือการแก้ปัญหาได้ มนุษย์เผชิญปัญหาแล้วเราพัฒนามนุษย์ขึ้นมาเพื่อให้มีความสามารถในการที่จะแก้ปัญหาหรือทำไม่ให้เกิดปัญหา การที่จะแก้ปัญหาได้หรือทำไม่ให้เกิดปัญหาก็คือจะต้องมีปัญญา คือการรู้เข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิต เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม เกี่ยวกับตัวเอง จนกระทั่งว่าสามารถปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้อย่างถูกต้อง แล้วก็นำความรู้นั้นมาใช้ในการที่จะจัดสรรสิ่งต่าง ๆ แก้ไขปัญหาทุกอย่าง เพราะฉะนั้นปัญญานี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ในเชิงปฏิบัติการในกระบวนการพัฒนามนุษย์จึงถือว่าปัญญาเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องยกขึ้นมาจัดไว้เป็นแดนหนึ่งเลยต่างหาก เพราะฉะนั้นในเชิงปฏิบัติการพระพุทธศาสนาจึงแยกเรื่องการพัฒนาจิตใจไว้ส่วนหนึ่งกับการพัฒนาปัญญาไว้อีกส่วนหนึ่ง หมายความว่าการพัฒนาจิตใจพร้อมทั้งคุณสมบัติด้านอื่น ๆ นั้นถือว่ารวมอยู่ในเรื่องเดียวกันได้ แต่เรื่องปัญญานี้จะต้องยกไว้เป็นพิเศษ ที่จริงนั้นเรื่องการที่จะแบ่งอย่างนี้มันก็เป็นเรื่องธรรมดา คือการจัดแบ่งการปฏิบัติการของมนุษย์ในกระบวนการพัฒนาคนนี้ไม่จำเป็นจะต้องทำอย่างเดียวกับสภาวธรรมหรือสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เหมือนอย่างชีวิตของเรานี้เรามีร่างกายกับจิตใจแต่ทีนี้ในเชิงปฏิบัติการอย่างในทางการศึกษานี้เราก็จะมีการพัฒนาในเรื่องพฤติกรรมของคน ซึ่งพฤติกรรมอันนี้มันก็ไม่ได้อยู่ในการแบ่งแยกชีวิตนั้นชัดเจน ก็บอกว่าร่างกายกับจิตใจอย่างนี้ อ้าวพฤติกรรมเป็นเรื่องไหน มันก็เป็นเรื่องที่ออกมาอีกด้านหนึ่งในเชิงปฏิบัติการ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่ว่าเรื่องสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั้นมันก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เราจะต้องรู้เข้าใจ แต่ในเชิงปฏิบัติการนี้เราก็ต้องทำให้มันสอดคล้องเพื่อที่จะได้ผลดี
เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าเมื่อพระพุทธศาสนาแสดงถึงความจริงเกี่ยวกับสภาวธรรมหรือธรรมชาติเราก็จะได้ความรู้ไปแบบหนึ่ง เช่น ในแบบอภิธรรมท่านแบ่งสภาวธรรมหรือความจริงสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เรียกว่าปรมัตถธรรม คือสิ่งที่มีอยู่ตามความหมายที่แท้จริงเท่าที่มนุษย์จะรู้เข้าใจได้ ก็จะแบ่งเป็นปรมัตถธรรมหรือสภาวธรรม4 อย่าง ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ในชีวิตมนุษย์ก็จะมีจิต เจตสิก รูป แทนที่ท่านจะบอกว่าในกระบวนการพัฒนามนุษย์นั้นให้พัฒนาจิต เจตสิก รูป ก็ไม่พูดอย่างนั้น เรื่องอะไรเราจะไปพัฒนารูป ก็หมายความว่ามันจะไปทำให้รูปนั้นขยายเติบโตขึ้น ก็อาจจะมีความหมายได้อย่างมากก็ทำให้ร่างกายเติบโตซึ่งไม่ใช่เรื่องสำคัญในกระบวนการพัฒนามนุษย์ที่เป็นการศึกษา เพราะฉะนั้นแทนที่จะไปจัดอย่างนั้นเราก็จะต้องจัดในเชิงปฏิบัติการที่จะต้องทำว่ามนุษย์จะต้องทำอะไรเพื่อให้ชีวิตนี้เจริญงอกงาม เราก็ไม่ได้จัดแบบว่าพัฒนาจิต พัฒนาเจตสิก พัฒนารูป จิตกับเจตสิกก็จะไปแยกกันพัฒนาต่างหากก็ไม่ถูก เราแยกในแง่สภาวธรรมเป็นตัวความจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติได้ แต่ในเชิงปฏิบัติการในกระบวนการพัฒนามันไม่ใช่อย่างนั้น หรืออย่างขันธ์ 5 ก็เช่นเดียวกัน เราแบ่งสภาวธรรมหรือสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติและชีวิตของมนุษย์เป็นขันธ์ 5 เป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ ทีนี้เราบอกว่าเราจะต้องพัฒนามนุษย์แล้วเสร็จแล้วเราจะไปพัฒนาโดยเอาตามขันธ์ 5 หรือ ไปบอกว่าพัฒนารูป พัฒนาเวทนา พัฒนาสัญญา พัฒนาสังขาร พัฒนาวิญญาณ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น ในเชิงปฏิบัติการการพัฒนามนุษย์มันก็ต้องจัดอีกแบบหนึ่งเพื่อจะให้มันได้ผลแก่ความเจริญงอกงามของชีวิตจริง ๆ เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ได้จัดในรูปที่ว่ามาพัฒนารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็กลายเป็นว่ามาพัฒนากาย พัฒนาศีล พัฒนาจิต พัฒนาปัญญา อันนี้ถ้าเราเข้าใจเรื่องสภาวธรรมสิ่งที่มีตามธรรมชาติด้านหนึ่งแล้วก็เข้าใจเรื่องปฏิบัติการในกระบวนการพัฒนามนุษย์อย่างหนึ่ง ถ้าแยกอย่างนี้อาตมาว่าจะเข้าใจชัดขึ้น ก็เป็นอันว่าพระพุทธศาสนานี้ถือว่าเรื่องปัญญานี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นแกนกลางของการพัฒนามนุษย์แล้วก็จะเป็นตัวที่จะนำให้เข้าถึงจุดหมายสูงสุดของการพัฒนามนุษย์ ศักยภาพสูงสุดของมนุษย์นั้นอยู่ที่ปัญญา เพราะฉะนั้นก็เน้นเรื่องปัญญานี้แยกออกมาไว้ส่วนหนึ่งต่างหากเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งเราจะได้เห็นต่อไป คิดว่าในแง่นี้ก็ควรจะผ่านไปได้
ทีนี้ในการพัฒนาจิตใจและพัฒนาปัญญานี้ก็ต้องทำความเข้าใจกันอีกด้วยว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนามนุษย์ทั้งหมด ทีนี้การพัฒนาจิตการพัฒนาปัญญาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการพัฒนามนุษย์นี้มันไม่ใช่เรื่องที่จะไปแยกต่างหากได้จากการพัฒนาด้านอื่น ๆ ของชีวิตมนุษย์ เหมือนอย่างว่าในการเป็นอยู่ในชีวิตจริงนี้กิจกรรมทุกอย่างของชีวิต ชีวิตของเราทุกด้านสัมพันธ์กันหมด เราไม่สามารถจะแยกออกไปต่างหาก อย่างร่างกายกับจิตใจนี้ในการเป็นอยู่ในชีวิตจริงมันก็ต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ทุกด้านของชีวิตนี้สัมพันธ์กันหมดฉันใด การพัฒนามนุษย์ที่เราแยกออกเป็นด้าน ๆ นั้นก็เพื่อความสะดวกในการพิจารณาในการที่จะจัดกระบวนการพัฒนาให้ได้ผลดี แต่เราจะต้องตระหนักรู้ความจริงว่ามันไม่แยกต่างหากจากกันโดยเด็ดขาดสิ้นเชิง มันต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน การพัฒนาระหว่างจิตใจกับการพัฒนาปัญญาก็สัมพันธ์อิงอาศัยซึ่งกันและกัน แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจกับปัญญาเท่านั้น มันยังสัมพันธ์กับการพัฒนาด้านอื่น ๆ ด้วย อย่างที่พระพุทธศาสนาได้กล่าวไว้ อย่างที่อาตมาได้กล่าวไว้แต่ตอนก่อนแล้ว ก็สุดแต่ว่าเราจะใช้ระบบการจัดแบ่งเป็นกี่ด้าน เช่น ถ้าใช้ไตรสิกขาก็มีศีล สมาธิ ปัญญา หรืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญา หรือจะใช้เป็นภาวนา 4 ก็เป็นกายภาวนา สีลภาวนา จิตตภาวนา ปัญญาภาวนา อันนี้ทั้งหมดนั้นเป็นภาวนา 4 ทั้ง 4 ด้านก็สัมพันธ์อาศัยซึ่งกันและกัน หรือจะเป็นไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา หรืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ทั้ง 3 ด้านนี้ก็สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ไม่ได้แยกต่างหากจากกันโดยสิ้นเชิง เดี๋ยวจะมาเข้าใจว่า อ๋อ! พัฒนาจิตใจพัฒนาปัญญาก็เป็นเรื่องธรรมต่างหากออกไป หรือมองว่าถ้าสัมพันธ์ก็สัมพันธ์ระหว่างจิตใจกับปัญญาเท่านั้น ที่จริงไม่ใช่อย่างนั้น ด้านอื่น ๆ ในระดับศีลก็ต้องมาสัมพันธ์กันด้วย
ในตอนที่แล้วอาตมาก็ได้พูดไปบ้างแล้วเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างศีล สมาธิ ปัญญา หรือว่าองค์ประกอบทั้งหมดของระบบการปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา ในตอนนี้ก็คิดว่าเพื่อความชัดเจนก็อาจจะพูดเสียอีกครั้งหนึ่งถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ในกระบวนการพัฒนามนุษย์ เช่น ถ้าเราถือหลักไตรสิกขานี้เป็นแบบเราก็พูดว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างศีล สมาธิ ปัญญา หรือมีความสัมพันธ์ระหว่างอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา มองอย่างง่าย ๆ ศีลก็มีความสัมพันธ์กับจิตใจแล้วก็มีความสัมพันธ์โยงไปถึงปัญญาด้วย ศีลก็คือมีความประพฤติดีงามสุจริตทางกายวาจาที่แสดงออกในทางสังคมหรือต่อสภาพแวดล้อม ถ้าคนเราไปประพฤติสิ่งที่เป็นอันตรายเบียดเบียนผู้อื่นไว้ เช่น ไปทำร้ายเขาไว้ ไปลักของเขาไว้ ก็จะมีจิตใจไม่สงบ ไม่สบาย คิดหวาดระแวง หรืออาจจะมีความรู้สึกผิด เป็นต้น อย่างแรงก็คือการที่หวาดกลัวว่าเขาจะมาแก้แค้นหรือเขาจะมาจับกุมไปลงโทษ เพียงแค่นี้จิตใจก็ไม่สงบแล้ว อันนี้ก็มีผลกระทบไปถึงจิตใจ หมายความว่าศีลมีผลกระทบไปถึงจิต นี่ในด้านลบ จิตใจไม่สบาย ไม่มีความสุข ทีนี้พอจิตใจไม่มีความสุขหวาดระแวงคิดหวาดกลัวไปต่าง ๆ ใจก็ฟุ้งซ่านจะคิดจะพิจารณาเรื่องอะไรมันก็ไม่ชัดเจนคิดไม่ตกเพราะจิตใจนี้กระวนกระวายกระสับกระส่าย จิตใจที่กระสับกระส่ายจะคิดอะไรได้เป็นเรื่องเป็นราวก็ทำได้ยากเพราะฉะนั้นปัญญาก็ทำงานได้ไม่เต็มที่ ฉะนั้นจากศีลก็มีผลกระทบมาถึงจิตใจ จิตใจก็มีผลกระทบมาถึงปัญญา หรืออย่างพูดเฉพาะด้านจิตใจกับปัญญา อย่างเราอยู่ในห้องประชุมนั่งฟังปาฐกถา นั่งฟังคำบรรยาย จิตใจไม่สบายอย่างใดอย่างหนึ่งมีเรื่องกลุ้มกังวล หรือว่าแม้ไม่กลุ้มกังวลแต่ว่าปล่อยใจเลื่อนลอยคิดเพ้อฝันไป หรือว่านึกถึงเรื่องที่จะไปบันเทิงเริงรมย์หลังจากออกจากที่ประชุมนี้ ใจก็ล่องลอยไปคิดเรื่อยเปื่อยไป พอคิดฟุ้งซ่านเรื่อยเปื่อยไปใจลอยใจก็เรียกว่าไม่มีสมาธิ พอจิตไม่มีสมาธิใจฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไปแม้แต่ฟังสิ่งที่เขากำลังพูดอยู่ก็ไม่รู้เรื่อง แล้วก็ไม่มีปัญญามาจะพิจารณาหาเหตุผลให้เข้าใจเรื่องนั้น ๆ แล้วสภาพจิตใจก็มีผลกระทบต่อปัญญา หรือว่าถ้ามองให้ไปถึงศีลก็ได้ เช่น ในที่ประชุมนั้นมีแต่ความวุ่นวาย มีคนทะเลาะกัน จะตีกัน อะไรต่าง ๆ เหล่านั้น ไม่มีความสงบ เราอยู่ในที่ประชุมนั้นก็พลอยมีความไม่สบายไปด้วย มีความเป็นห่วงกลัวว่าจะถูกลูกหลงหรือกลัวว่าจะมีเหตุการณ์อะไรรุนแรงขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็ทำให้จิตใจไม่สงบ หมายความว่าระดับศีลพฤติกรรมนี้ก็มีผลมาทางจิตใจ แล้วพอจิตใจไม่สงบฟุ้งซ่านไม่มีสมาธิการที่จะรู้เข้าใจที่เป็นปัญญาก็ไม่เกิดขึ้นหรือเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นอันนี้มันส่งผลที่กระทบต่อกันทั้งหมดตลอดกระบวนการ
ในทางบวกก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากว่าเรามีศีลดีเรียบร้อย เราประพฤติสุจริตเราก็มีความปลอดโปร่งโล่งใจ ใจคอเราก็สบาย ยิ่งเราประพฤติอะไรดีงามเช่นไปช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นไว้ นึกขึ้นมาบางทีเรามีความปลื้มใจ ปลาบปลื้มยินดีในการกระทำของเรานั้น พอมีความปลื้มใจเราก็มีความสุขมันก็มีผลมาถึงจิตใจ ทีนี้พอจิตใจดีงามอย่างน้อยปลอดโปร่งสบายไม่มีเรื่องรบกวนใจ ใจไม่ฟุ้งซ่าน จะคิดอะไรก็คิดได้ดีขึ้น คิดได้ลึกซึ้งขึ้น มองเห็นอะไรชัดเจนขึ้นก็มีผลต่อปัญญา ในทางกลับกันปัญญาก็ส่งผลมาต่อศีลแล้วก็สมาธิด้วย หรือต่อความประพฤติและพฤติกรรมทางกายวาจาแล้วก็ส่งผลมาทางด้านสภาพจิตใจด้วย ก็พอเรามีปัญญารู้เข้าใจอะไรต่าง ๆ ดี เราก็ประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง เช่น เรามองเห็นเหตุผลในการอยู่ร่วมกันว่าทำอย่างไรจึงจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องทำให้อยู่ร่วมกันโดยสันติหรือโดยที่มีความสุข เราก็ปฏิบัติไปตามนั้น ปัญญาเป็นตัวบอกนำทางให้ดำเนินพฤติกรรมที่เรียกว่าศีลได้ถูกต้อง หรือว่าในทางจิตใจก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรามีปัญหาอะไรที่ติดขัดค้างใจอยู่คิดไม่ตก พอมีปัญหาคิดไม่ตกมันก็เกิดความอึดอัดอัดอั้นใจก็ไม่มีความสุข เมื่อไรเรามีปัญญาคิดแก้ปัญหาได้มันก็โล่งไปมันก็มีความสุขสบาย เพราะฉะนั้นปัญญานี้เป็นตัวสำคัญมาก ในขั้นสุดท้ายสูงสุดนั้นปัญญารู้เข้าใจความจริงเกี่ยวกับโลกชีวิตทั้งหมดทำให้เราเห็นทางออก ทำให้เราเห็นการที่จะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้อง ปัญญาธรรมชี้นำให้เรารู้จักที่จะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้อง ไม่เฉพาะปฏิบัติถูกต้อง แม้แต่วางใจได้ถูกต้อง พอเราเห็นทางออกรู้ว่าจะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างไร วางใจต่อสิ่งทั้งหลายอย่างไร วางใจต่อโลกต่อชีวิตอย่างไร มันจะทำให้เกิดความปลอดโปร่งผ่องใสโล่งขึ้นมา อันนี้ก็มีผลต่อจิตใจที่สำคัญมากจนกระทั่งถึงภาวะที่เรียกว่าอิสรภาพสูงสุด เพราะฉะนั้นปัญญานี้จึงเป็นตัวที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เรื่องของมนุษย์นี้ที่สำคัญที่สุดก็คือว่าความที่ยังมีความคับข้องติดขัดอยู่ในระดับต่าง ๆ มนุษย์เรานี้ตั้งแต่ชีวิตประจำวันเราก็จะประสบปัญหา พอแก้ปัญหาไม่ได้มันก็เกิดความคับเครียดขึ้นมาอัดอั้นในจิตใจก็เกิดความทุกข์ แม้จะดำรงอยู่ในโลกไม่มีปัญหาในชีวิตประจำวัน เกิดความรู้สึกหวาดกลัวต่อสิ่งที่เราไม่รู้ไม่เห็น เช่น ความตายอะไรต่าง ๆ เรื่องของชีวิตนี้ทั้งหมดที่เราไม่เข้าใจ มันเป็นปัญหาที่มันเป็นสิ่งที่มากดดันบีบคั้นชีวิตจิตใจติดขัดคับข้องทั้งนั้น เมื่อเราไม่สามารถหาทางออกจากสิ่งเหล่านี้ได้ วางใจจากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ มันยังมีความทุกข์แฝงอยู่ ไม่ระดับตื้นก็ระดับลึก ไม่ระดับหยาบก็ละเอียด จนกระทั่งทำให้มนุษย์นี้จะมีความสุขจนถึงที่สุดไม่ได้ ไม่มีอิสรภาพอย่างแท้จริง แต่ด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริงมันจะทำให้เกิดทัศนคติเจตคติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง แล้วก็ปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้น แล้วก็วางใจวางท่าทีได้ถูกต้อง แล้วก็พอวางท่าทีได้ถูกต้องมันก็เกิดความปลอดโปร่งผ่องใสเกิดความสุขขึ้นมา
สภาพจิตใจที่เป็นอิสระนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เป็นพื้นฐานในการที่จะทำให้มนุษย์มีความสุขอื่น ๆ เหมือนอย่างว่าในทางร่างกายของเรานี้เราอาจจะไปหาความสุขต่าง ๆ เอามาปรนเปรอบำรุงตาหูจมูกลิ้นกายของเรา แต่ในตัวกายของเราถ้าไม่มีสุขภาพดีมีโรคอยู่แม้เราจะไปหาความสุขเหล่านั้นมา หาสิ่งมาบำรุงบำเรอตาหูจมูกลิ้นกายของเรามันก็หาได้มีความสุขแท้จริงไม่ มันก็ยังมีความกระวนกระวายอยู่ภายใน แม้เราจะมีที่นอนที่สบายเป็นฟูกเรียกว่ามีสัมผัสเป็นสุขแต่ว่าในร่างกายของเรานี้มีโรคภัยอยู่ ความเจ็บปวดภายในความไม่สบายนั้นมันก็ทำให้เราหาความสุขจากสิ่งภายนอกไม่ได้ เพราะฉะนั้นในทางร่างกายนั้นต้องมีสุขภาพคือความไม่มีโรคเป็นพื้นฐานก่อน แล้วเสร็จแล้วไอ้ตัวความมีสุขภาพดีไม่มีโรคก็เป็นความสุขที่แท้จริงอยู่ระดับหนึ่งแล้ว เป็นตัวความสุขที่แท้จริงโดยสมบูรณ์ทีเดียว ต่อจากนั้นมันจะเป็นฐานให้เราสามารถมีความสุขกับสิ่งที่เข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกายได้เต็มที่ อันนี้ก็เช่นเดียวกันในทางจิตใจ ถ้าจิตใจยังมีปัญหา ยังมีความคับข้อง ยังมีปมอะไรติดอยู่ แม้เราจะมีความสุขที่เราแสวงหาเข้ามาจากภายนอกเราก็จะมีความสุขได้ไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นในทางพระพุทธศาสนานี้จึงไม่ได้ติดอยู่แค่ขั้นจิตใจแต่ให้ไปถึงขั้นปัญญาเพื่อจะชำระล้างให้จิตใจนี้ปลอดโปร่งตัดปัญหากับโลกและชีวิตนี้ได้ทั้งหมดโดยสิ้นเชิง เหมือนกับว่าร่างกายที่ไร้โรคฉันใด จิตใจนี้ก็มีสภาพสมบูรณ์ฉันนั้น เมื่อจิตใจนี้เป็นจิตใจที่เป็นอิสระผ่องใสโดยสมบูรณ์แล้วอันนี้ก็เป็นความสุขในตัวด้วย แล้วก็เป็นรากฐานเป็นฐานในการที่จะมีความสุขกับสิ่งที่เข้ามาจากภายนอกอื่น ๆ ทั้งหมดได้ด้วย เราจึงเน้นความสำคัญของการที่ว่าจะต้องมีการพัฒนาในเรื่องปัญญาขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์ถึงอิสรภาพโดยสมบูรณ์ที่เข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริงจนกระทั่งปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้อง วางใจต่อโลกและชีวิตนี้ได้ถูกต้อง
อาตมาก็พูดมาให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ในกระบวนการพัฒนามนุษย์ทั้งศีล ทั้งจิตใจหรือสมาธิ แล้วก็ปัญญา อันนี้ก็รวมความว่าถ้าหากว่าจิตใจดีก็ทำให้ปัญญาทำงานได้ผลเต็มที่ ในเวลาเดียวกันปัญญาดีก็ทำให้จิตได้มีทางออก เช่น คิดแก้ปัญหาตก ทำให้ทำลายความติดขัดคับข้องไปได้ มีความปลอดโปร่งโล่ง อาตมาจะขอยกตัวอย่างอีกง่าย ๆ อย่างหนึ่งแสดงที่ถึงความสัมพันธ์ระหว่างศีล จิตใจ และปัญญานี้ ตัวอย่างว่าเราจะไปเป็นประธานในที่ประชุมสักแห่งหนึ่งซึ่งมีลำดับพิธีกรรม พอเข้าไปในที่ประชุมนั้นเราไม่รู้เรื่องว่าจะต้องทำพิธีอะไรบ้าง สมมติว่าอย่างนี้ พิธีกรรมนั้นก็คือพฤติกรรมในเรื่องศีล พอเราไม่รู้ ขาดในระดับปัญญาจะเกิดอาการอะไรขึ้นมา ก็คือว่าจิตใจจะกระวนกระวาย คนที่เข้าไปนำเป็นผู้นำในพิธีเป็นประธานไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้างก็จะเกิดความกระสับกระส่ายกระวนกระวายใจ ใจจะไม่เป็นสมาธิ แล้วออกมาเป็นพฤติกรรมก็อาจจะมีอาการกระสับกระส่ายทางร่างกายกระวนกระวายไปด้วย อันนี้แสดงว่าปัญญามีผลออกมาทางด้านพฤติกรรมที่เรียกว่าศีลแล้วก็ทางด้านของจิตใจด้วย หรืออย่างเช่นว่าเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นมาน่าหวาดกลัว พอเกิดเหตุการณ์น่าตื่นเต้นเราเกิดความไม่รู้ ไม่รู้ว่าเหตุการณ์นั้นเป็นอะไร จะแก้ไขอย่างไร ความไม่รู้นี้จะทำให้จิตใจเกิดความประหวั่นพรั่นพรึง เกิดความอึดอัดกลัดกลุ้มเป็นอย่างมาก จะไม่มีความสุขเลย แล้วก็จะทำอะไรไม่ถูก พฤติกรรมที่ออกมาก็จะเป็นพฤติกรรมที่ไม่เรียบร้อย ทีนี้ถ้าหากว่าเรารู้ สมมติว่าเหตุการณ์ที่น่าหวาดกลัวนั้นเกิดขึ้นแล้ว เราเกิดมีปัญญาคิดในเรื่องนั้นได้ออก คิดหาทางออกได้ คิดแก้ปัญหาได้ รู้ว่าจะต้องทำอะไร พอเกิดความรู้ขึ้นมาอย่างนี้เรารู้ว่าเราแก้ปัญหาได้แน่ แล้วเราก็จะหลุดรอดพ้นอันตรายไปหรือทำให้เหตุการณ์กลับดี พอรู้ชัดเจนอย่างนี้จะเกิดอะไรขึ้น ก็เกิดผลแน่นอน จิตใจเราจะหายกระวนกระวาย หายกระสับกระส่ายทันที จิตใจเราจะสบาย จิตใจจะสงบ แล้วพฤติกรรมก็จะดำเนินไปอย่างเรียบร้อยตามลำดับตามขั้นตอนนั้นที่จะให้เกิดผลในการแก้ปัญหาได้ ดังนั้นปัญญานี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากในชีวิตประจำวันนั้นก็จะได้เห็นกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาท่านก็จะให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ในระบบหรือกระบวนการพัฒนามนุษย์นี้ เช่น ในหลักของศีล สมาธิ ปัญญา ให้เราเห็นถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างศีล สมาธิกับปัญญา ที่ให้ผลกลับกันไปกลับกันมาทั้งในทางบวกและทางลบ
แล้วในกระบวนการปฏิบัติทั้งหมดนี้จะเห็นว่าท่านวางเอาความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นหรือความคิดเห็นความเชื่อที่ถูกต้องนี้เป็นข้อแรกคือสัมมาทิฏฐิ เมื่อเรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่กระทำเป็นอย่างน้อยแล้วเราจึงจะเริ่มเดินหน้าไปในสิ่งนั้นได้ ดังนั้นในการปฏิบัติเบื้องต้นสุดจึงต้องมีสัมมาทิฏฐิ ความเชื่อ ความเข้าใจ ความเห็นถูกต้องก่อน แล้วความเชื่อ ความเข้าใจ ความเห็นที่ถูกต้อง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสัมมาทิฏฐินั้นจะเป็นตัวที่บอกเราให้ปฏิบัติในองค์มรรคข้ออื่น ๆ ได้อยู่ในขอบเขตที่พอดี เพราะฉะนั้นสัมมาทิฏฐินี้เป็นตัวบอกขอบเขตของข้อปฏิบัติอื่นทั้งหมด ทำให้มรรคนั้นดำเนินไปอย่างพอดี เกิดดุลยภาพขึ้นมา อันนี้ปัญญาในแง่นี้จะเห็นว่าเป็นเบื้องต้นของกระบวนการพัฒนามนุษย์ ในระดับที่สูงขึ้นไป เมื่อเราพัฒนาศีล พัฒนาจิตใจ เราก็มุ่งเพื่อพัฒนาปัญญานี่เอง เมื่อพัฒนาปัญญาไปจนกระทั่งถึงขั้นสุดท้ายในที่สุดแล้วปัญญาเจริญเต็มที่ ก็ปัญญานี่แหละจะเป็นตัวตัดสินที่จะนำเราเข้าสู่จุดหมายของชีวิตหรือการพัฒนามนุษย์นั้น
เมื่อพูดมาถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างศีล สมาธิ ปัญญา หรือพฤติกรรมแล้วก็จิตใจและปัญญาแล้ว ในชีวิตประจำวันมองเห็นกันอย่างนั้นได้ไม่ยาก ทีนี้ก็จะมาพูดในระดับสูงสุด ในการพัฒนาในระดับสุดยอดนี้ ตอนนี้มันจะเป็นการสัมพันธ์กันที่เน้นในระดับจิตกับปัญญา เพราะว่าระดับพฤติกรรมหรือศีลนั้นเป็นระดับภายนอก ปัญญาที่สูงสุดนั้นมันจะอยู่ข้างในบุคคล การที่รู้เข้าใจถึงที่สุดในสิ่งต่าง ๆ ตอนนี้เราถือว่าหมดปัญหาในเรื่องศีลแล้ว เรื่องพฤติกรรมนี้มันต้องมีพื้นฐานมาดีแต่ต้นแล้ว อย่างน้อยเราก็ไม่ต้องห่วงกังวลกับเรื่องทางด้านความประพฤติอะไรต่าง ๆ หรือต้องแก้ปัญหาในด้านนั้นให้ลงตัวสักอย่างหนึ่ง ทีนี้เราก็มาสู่ระดับจิตกับปัญญา ระดับจิตใจกับปัญญาความสัมพันธ์ในระดับสูงสุดนี้การพัฒนาในด้านจิตใจนี้จะมีศัพท์เรียกเฉพาะอย่างที่ตั้งหัวข้อไว้ว่าจิตภาวนา จิตภาวนานี้เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าสมถภาวนา หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่าสมถะ สมถะก็คือการฝึกอบรมจิตให้สงบนั่นเอง อันนี้เป็นหลักปฏิบัติในการพัฒนาจิตใจ ส่วนด้านปัญญานั้นที่เรียกว่าปัญญาภาวนาในการพัฒนาปัญญาระดับสูงที่จะให้เป็นการพัฒนาสุดยอดเข้าถึงจุดหมายทีเดียวนั้นก็จะมีศัพท์เฉพาะเรียกว่าวิปัสสนาภาวนาคือการเจริญวิปัสสนา หรือเรียกกันสั้น ๆ ทีเดียวว่าวิปัสสนา สองอย่างนี้จะมีความสัมพันธ์กัน การพัฒนาจิตใจให้สงบเป็นสมถะนั้นก็จะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าสมาธิ สมถะหรือจิตภาวนาก็นำจิตไปสู่ความมีสมาธิ พอจิตมีสมาธิแล้วก็จะเป็นบาทฐานนำไปสู่การเจริญวิปัสสนา เพราะฉะนั้นจะมีคำกล่าวในทางพระศาสนาอยู่เสมอว่าเอาสมถะเป็นบาทฐาน หรือเอาสภาพจิตใจที่เกิดจากการฝึกสมถะนี้เป็นบาทฐานแล้วก็เจริญวิปัสสนาต่อไป ในแง่นี้ตามหลักพระศาสนาก็คือว่าการพัฒนาจิตใจที่เรียกว่าสมถะนั้นเป็นบาทฐานที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาปัญญาที่เรียกว่าวิปัสสนาต่อไป แต่ตัวที่จะนำไปสู่จุดหมายแท้จริงคือวิปัสสนาได้แก่การพัฒนาปัญญา ตอนนี้เราก็เห็นความสัมพันธ์ในระดับหนึ่งแล้วว่าสมถะการพัฒนาจิตใจนั้นเป็นฐานนำขึ้นไปสู่ปัญญา แล้วปัญญาเป็นตัวนำสู่จุดหมายอีกทีหนึ่ง สมถะนั้นไม่สามารถนำไปสู่จุดหมายคือการที่จะแก้ไขปัญหาได้โดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตามต้องเห็นความสำคัญของการพัฒนาจิตใจอย่างที่ว่า จิตจะต้องมีสมาธิ ยิ่งเราจะพัฒนาปัญญาอย่างสูง พัฒนาปัญญาในระดับที่เข้าถึงสัจธรรมนี้เราก็ยิ่งต้องการจิตที่มีสมาธิอย่างแนบสนิทมากขึ้น แล้วจิตที่มีสมาธิแนบสนิทถึงขั้นนี่แหละจึงจะสามารถทำให้เกิดปัญญาหยั่งรู้ความจริงถึงที่สุดได้ แล้วแม้แต่ผลในทางจิตเองก็ต้องเกิดจากสภาพจิตที่มีสมาธิถึงความแนบสนิทเช่นเดียวกันจึงจะทำให้เกิดผลเป็นความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติ เปลี่ยนแปลงเจตคติ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ดังนั้นเราจะต้องมองถึงความเจริญงอกงามของจิตใจในระดับต่าง ๆ การพัฒนาจิตที่จะให้มีผลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ ปรับเปลี่ยนเจตคติของมนุษย์ได้ จะต้องเป็นการพัฒนาจิตที่ลงลึกไปถึงระดับสมาธิ
ทีนี้เมื่อพูดถึงสมาธิแล้วก็เลยขออธิบายให้ความเข้าใจเกี่ยวกับสมาธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สมาธิก็บอกแล้วเมื่อกี้นี้บอกว่าเป็นสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้น เป็นสภาพจิตที่ปรารถนา หรือเป็นเป้าหมายของการพัฒนาจิตใจ เราพัฒนาจิตใจมันก็เกิดสภาพจิตที่ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ แต่แกนรวมของมันอยู่ที่สมาธิ สมาธิ สภาวะจิตที่แนวแน่อยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวได้อย่างมั่นคงแล้วก็มีความสงบอยู่ในตัว แล้วมันจะประกอบด้วยคุณสมบัติอื่น ๆ ที่ดีงามอย่างมากมาย เช่น สติ เป็นต้น สมาธินั้นมีคุณค่าอย่างไร สภาพจิตที่ว่าแน่วแน่มีอารมณ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวหมายความว่ากำหนดจับอยู่กับสิ่งเดียวได้ มันจะมีคุณภาพที่สำคัญคือ 1) มันมีพลัง จิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่จะมีพลัง มีข้ออุปมาเหมือนกับว่าเราขึ้นไปบนยอดเขา อย่างขึ้นมาบนยอดเขาที่นี่ ที่นี่ก็เป็นเหมือนกับยอดเนินอันหนึ่ง พอขึ้นมาบนนี้ สมมติว่าเรามีน้ำอยู่ถังหนึ่งหรือมากกว่านั้น สมมติว่าเราเทน้ำถังนั้นลงไป เราเทโดยวิธีที่สาดกระจายออกไป น้ำทั้งถังนั้นหรือแม้แต่ว่ามากกว่านั้นก็จะไม่ค่อยมีความหมายอะไรเลย มันจะกระจายพร่าไปหมด แต่ทีนี้สมมติว่าเราทำเป็นร่องน้ำเป็นรางแล้วก็เทน้ำถังใหญ่ลงมาน้ำนั้นจะไหลไปทางเดียว พอน้ำไหลไปทางเดียวแล้วจะพุ่งแรงมีกำลังสามารถพัดพาเอาสิ่งที่ขวางหน้ามันไปได้ อันนี้จิตใจก็เช่นเดียวกันถ้าเราคิดสิ่งโน้นสิ่งนี้วุ่นวายฟุ้งซ่านไปมันก็ไม่มีกำลัง แต่ถ้าหากว่าจิตนั้นอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่เรากำหนดได้แน่วแน่ลงไปแล้วมันก็มีกำลังมาก อันนี้เป็นสภาพจิตที่เป็นสมาธิมีคุณภาพประการที่หนึ่งอย่างนี้ ต่อไปประการที่ 2) สภาพจิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่แล้วก็เกิดความสงบ ความสงบนี้ในตัวของมันเองก็มีภาวะที่เป็นคุณสมบัติที่ดีก็คือจะมีความสุข เมื่อจิตใจสงบสบายก็จะมีความสุข อันนี้เป็นคุณภาพหรือคุณสมบัติที่ดีอยู่ในตัวของมันเองเพราะว่าความสงบสุขของจิตใจเป็นสิ่งที่คนปรารถนาอยู่แล้ว แม้แต่เพียงได้ความสงบสุขของจิตใจนี้ก็นับว่าเป็นการได้สิ่งที่เป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งของการเจริญสมาธิ แต่ว่าคุณค่าของสมาธิไม่ใช่อยู่เพียงเท่านั้น 3) ประการต่อไปที่สำคัญซึ่งท่านถือว่าสำคัญที่สุด ก็คือคุณค่าที่นำไปสู่การพัฒนาปัญญา อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่าเป็นบาทฐานหรือเป็นพื้นฐานในการที่จะพัฒนาปัญญาต่อไป สภาพจิตที่เป็นสมาธินี้ท่านเรียกว่าเป็นสภาพจิตที่เหมาะแก่งานหรือเหมาะแก่การใช้งาน ภาษาพระเรียกว่านุ่มนวลควรแก่งาน หมายความว่ามันยืดหยุ่นปรับเปลี่ยน มันนุ่มนวลเหมาะแก่การที่จะนำใช้ประโยชน์ ความจริงการนำจิตไปใช้ประโยชน์นั้นก็ใช้ทั้งในทางพลังจิตเองก็ได้ ใช้ในทางปัญญาก็ได้ หมายความว่าจิตนี้มันเหมาะแก่การใช้งานแล้วก็เอาไปใช้ในทางพลังจิตมันก็จะไปออกไปด้านหนึ่ง หรือเราจะใช้ในทางปัญญาก็เอาไปคิดพิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างที่ว่าไปแล้ว แม้แต่ว่าในชีวิตประจำวันอย่างที่ยกตัวอย่างในเบื้องต้น เรานั่งฟังปาฐกถานี้ถ้าไม่มีสมาธิมันก็ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจชัดเจน หรือความเข้าใจนั้นไม่สืบต่อ รู้เรื่องไม่หมดไม่ทั่ว
ทีนี้ในเรื่องของการเจริญวิปัสสนาปัญญาในระดับสูงที่พัฒนาอย่างสุดยอดก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องการจิตที่เหมาะแก่งานซึ่งเป็นสมาธินี้ เมื่อจิตเป็นสมาธิท่านเรียกว่าเป็นจิตที่เหมาะแก่การใช้งาน ก็เป็นการใช้งานในทางปัญญา พินิจพิจารณาเรื่องอะไรต่าง ๆ ก็จะรู้เข้าใจตามความเป็นจริง ก็รวมความว่าเราต้องการที่จะใช้ปัญญาที่พัฒนาอย่างถึงที่สุด ทีนี้ปัญญาที่พิจารณาอย่างลึกซึ้งถึงที่สุดก็ต้องการสภาพจิตที่ดีที่สุดเช่นเดียวกัน ก็ต้องการสมาธิอย่างแนบสนิท อันนี้ก็ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจกับปัญญาไว้ในระดับที่สูงสุด ถ้าหากว่าเราจะพัฒนาแต่จิตใจอย่างเดียว จิตใจมันก็มีคุณสมบัติมากมาย เช่นว่าเราอาจจะมีคุณธรรมต่าง ๆ มีความเมตตากรุณา มีศรัทธา เป็นต้น มันก็เป็นคุณสมบัติที่อยู่ในใจ เราอาจจะมีสมรรถภาพจิต มีความเข้มแข็ง จิตใจมีความกล้าหาญ มีความเพียรพยายาม มีความอดทน สู้กับกิจการงานต่าง ๆ ไม่ท้อถอย แล้วมีสติ เป็นต้น เราก็มีคุณสมบัติของจิตที่ดีงาม หรือแม้แต่ว่าเราสามารถทำจิตให้สงบ มีความเข้มแข็งมั่นคงแล้วจิตสงบแน่วแน่เป็นสมาธิเราก็มีความสุขสบาย ก็ดูเหมือนว่าจะพอแก่ความต้องการเข้าถึงจุดหมายของการพัฒนาจิต แต่ที่จริงนั้นถ้าดูให้ดีแล้วมันยังไม่ถึงจุดหมาย สภาพจิตที่เป็นอย่างนั้นมันจะมีเชื้อของความไม่รู้อยู่ข้างในเป็นตัวที่แฝงอยู่ตลอดเวลา ความไม่รู้เข้าใจต่อชีวิตของตน ความไม่รู้เข้าใจต่อโลก สภาพแวดล้อม ซึ่งจะออกผลมาเป็นการที่จะวางใจวางท่าทีไม่ถูกต้อง การปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายไม่ถูกต้อง การแก้ปัญหาไม่ได้ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ มันจะมีอยู่แฝงอยู่ แล้วเวลาที่เราต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้จิตใจของเราก็จะมีปัญหาอีก ถ้าพูดกันอย่างวิธีปฏิบัติก็คือว่าเวลาเราอยู่ในสมาธิทำจิตให้เป็นสมาธิได้เราก็สบาย ดูก็เหมือนกับว่าเราหมดปัญหาแล้ว เราออกจากสมาธิเมื่อไหร่สภาพจิตของเราก็กลับเป็นอย่างเดิม เราจะมีอาการที่ว่าเหมือนกับว่าเข้าไปสู่ภาวะที่เป็นจุดหมายนั้นได้ชั่วคราวเท่านั้นเอง เมื่อออกมาเผชิญกับสภาพความเป็นจริงของโลกและชีวิตความไม่รู้ต่อสิ่งทั้งหลายมันก็ยังมีบทบาทเข้ามาครอบงำชีวิตจิตใจของเรา เพราะฉะนั้นการพัฒนาจิตใจของเราได้ดีที่สุดเราก็อยู่กับตัวเองได้ดีแต่เสร็จแล้วเราก็ยังไม่สามารถที่จะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้อย่างถูกต้อง แม้แต่วางใจวางท่าทีไม่ถูกต้อง ความไม่รู้แฝงอยู่ตลอดเวลา ปัญญานี่แหละที่จะเป็นตัวโยงเราเข้าหาสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่อยู่ข้างนอกออกนอกตัวเราไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายได้อย่างถูกต้อง จิตใจของเราพัฒนาแล้วเราก็ยังอยู่กับตัวเอง เรายังไม่สามารถจะเข้าถึงสัจธรรมที่อยู่เบื้องหลังโลกและชีวิต ที่อยู่เบื้องหลังธรรมชาติ แต่ด้วยปัญญาจะทำให้เราเข้าใจความจริงที่อยู่เบื้องหลังธรรมชาติทั้งหมด เบื้องหลังโลกและชีวิต พอปัญญาเกิดขึ้นก็คือเป็นตัวโยงเราเข้าหาความจริงของธรรมชาติ โยงเราให้เข้าถึงเบื้องหลังของธรรมชาติ ให้เข้าถึงตัวธรรมชาติได้ ตัวธรรมะ กฎของธรรมชาติความเป็นจริง พอถึงจุดนี้ก็คือการที่เราเข้าถึงสัจธรรม เพราะฉะนั้นปัญญาเป็นตัวโยงเข้าหาสัจธรรม และด้วยการเข้าถึงสัจธรรมนี้เราจะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายต่อธรรมชาติได้ถูกต้อง มันจึงเป็นตัวที่กำกับในขั้นสุดท้ายตัดสินที่จะให้เราได้แก้ปัญหาได้ถึงที่สุด จึงบอกว่าเป็นการพัฒนาสูงสุดจึงต้องจัดปัญญาไว้เป็นตัวตัดสินในขั้นสุดท้าย
เอาล่ะอาตมาก็คิดว่าในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ในกระบวนการพัฒนามนุษย์นี้น่าจะเพียงพอ ทีนี้ก็จะพูดถึงตัวระบบอีกครั้งหนึ่ง มันก็เป็นการสรุปเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทั้ง 3 ในกระบวนหรือองค์รวมในระบบรวมของไตรสิกขานั่นเอง ในเชิงปฏิบัติการในทางพระพุทธศาสนานั้นจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบทั้ง 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือเรื่องศีล เรื่องจิต เรื่องปัญญา นี้จะมีความสัมพันธ์กันเป็น 2 แบบ แบบที่ 1 คือ ความสัมพันธ์ส่งทอดต่อเนื่องกันเป็นขั้นเป็นตอน โดยที่ว่าองค์ประกอบแต่ละอย่างจะมีความเด่นหรือถูกย้ำถูกเน้นขึ้นมาชัดในแต่ละระดับแต่ละขั้นตอนต่างกันไปจากหยาบสู่ละเอียด องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องในกระบวนการพัฒนาในระดับที่หยาบก็จะปรากฏเด่นชัดขึ้นมาเป็นตัวเน้นย้ำในขั้นต้น อันนี้ก็คือศีลเรื่องพฤติกรรมที่แสดงออกในภายนอก เรื่องกายวาจา การควบคุมพฤติกรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้นในระดับการฝึกปฏิบัติเบื้องต้นนี้ก็จะเน้นเรื่องศีลก่อน ทีนี้ต่อไปเมื่อพัฒนาสูงขึ้นไปแล้วส่งทอดต่อไปศีลก็จะส่งทอดไปสู่จิตใจที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น ดังนั้นในกระบวนการพัฒนามนุษย์ที่เรียกว่าไตรสิกขาหรือการศึกษา 3 ส่วนนี้ในระดับที่ 2 ก็จะเน้นเรื่องจิตใจ เรื่องสมาธิจะเด่นขึ้นมา แล้วต่อไปเมื่อผ่านขั้นสมาธิไปแล้วก็จะถึงขั้นปัญญา ในขั้นสุดท้ายแล้วเราจะต้องเอาจริงเอาจังกับเรื่องปัญญา เหมือนกับว่าเตรียมพฤติกรรมและก็เตรียมจิตใจไว้พร้อมแล้วก็พร้อมที่จะพัฒนาปัญญาในขั้นสูงสุด ปัญญาก็เด่นขึ้นมา เพราะฉะนั้นในแง่ของความสัมพันธ์แบบส่งทอดเป็นขั้นตอนนี้เราก็จะเห็นว่าเป็นกระบวนการฝึกอบรมแบบที่ว่ามีขั้นตอน 3 ขั้น เป็นขั้นศีล ขั้นสมาธิ ขั้นปัญญา ส่งทอดต่อกันไป อันนี้เป็นความสัมพันธ์ในแบบที่ 1 ความสัมพันธ์ในแบบที่ 2 คือความสัมพันธ์เชิงบูรณาการ ความสัมพันธ์เชิงบูรณาการก็คือถือว่าองค์ประกอบทั้ง 3 นี้คือศีล สมาธิ ปัญญา หรือเรื่องพฤติกรรม เรื่องจิตใจ และเรื่องปัญญานี้ มันจะต้องมาสัมพันธ์อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ทำหน้าที่ต่อกันเพื่อให้เกิดผลรวมขึ้นมาเป็นอันหนึ่งอันเดียว ในแง่นี้แล้วองค์ประกอบทั้ง 3 จะสัมพันธ์กันตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าแบ่งออกไปเป็นขั้นตอนชัดเจน ในทุกขั้นทุกตอนนั่นแหละจะมีทั้งศีล มีทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญา ในแง่นี้เรียกว่าเป็นความสัมพันธ์เชิงบูรณาการซึ่งแม้แต่ในกิจกรรมทุกอย่าง แต่ละอย่าง ๆ ที่เรากระทำนี้ก็จะต้องมีทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ครบเสร็จ เป็นเรื่องที่เสริมกันให้บริบูรณ์ ถ้าเรามองความสัมพันธ์ 2 แบบนี้เอามาประสานกันเราก็จะเห็นว่า อ๋อ! ที่จริงนั้นศีล สมาธิ ปัญญานั้น มีอยู่ด้วยกันตลอดเวลาในทุกขั้นทุกตอนนั่นแหละ ตั้งแต่ต้นทีเดียวในการปฏิบัติในการพัฒนาก็มีทั้งศีล มีทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญา เกี่ยวข้องโยงกันอยู่เสริมกันไปเรื่อยจนกระทั่งถึงที่สุด แต่ว่ามันจะปรากฏออกมาภายนอกเด่นชัดเป็นขั้นเป็นตอนในแง่ที่ว่ามีการเน้นย้ำต่างกัน ในช่วงแรกศีลก็เน้นเด่นออกมา ขั้นที่สองสมาธิหรือเรื่องจิตก็เด่นออกมา ขั้นที่สามปัญญาก็เด่นออกมา อันนี้อาตมาคิดว่าโดยวิธีทำความเข้าใจอย่างนี้ก็คงจะมีความชัดเจนพอสมควร
อาตมาก็จะขอยกตัวอย่างว่าในกระบวนการพัฒนามนุษย์นั้นแม้แต่ในชีวิตประจำวันเราก็จะต้องฝึกฝนพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา แล้วเราก็จะต้องนำเอาระบบการพัฒนาแบบนี้มาใช้ เมื่อนำเอาระบบการพัฒนาโดยถือหลักไตรสิกขาเป็นเกณฑ์ เราก็นำเอาหลักองค์ประกอบทั้ง 3 นี้มาใช้ในกระบวนการดำเนินชีวิตของเรา ดำเนินชีวิตของเรานี้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องสำหรับมนุษย์ที่ยังไม่บรรลุจุดหมายจะเป็นการดำเนินชีวิตที่เป็นการพัฒนาตนเองอยู่ตลอด เราจึงบอกได้ว่ามรรคคือวิถีชีวิตหรือการดำรงชีวิตนั้นเมื่อทำด้วยความมุ่งหมายในการฝึกฝนพัฒนาตนมันก็เป็นสิกขาคือการศึกษา ทีนี้เรานำเอาองค์ประกอบ 3 ส่วนมาพัฒนาตนเอง เราก็จะเห็นว่ามีองค์ประกอบ 3 อย่างนี้อยู่ในกิจกรรมทุกอย่างของเรา ถ้ามันมีไม่ครบแสดงว่าเราก็ปฏิบัติยังไม่ได้ครบถ้วน กระบวนการพัฒนานี้ยังไม่สมบูรณ์ ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องกิจกรรมทุกอย่างของเรานี้เราจะตรวจดูได้ว่ามีทั้งศีล สมาธิ ปัญญา เช่นเราไปทำอะไรสักอย่างหนึ่ง พอทำอะไรขึ้นมาเราก็มองดูแล้วลองสำรวจตัวเองดูว่าในแง่ศีล พฤติกรรมของเรานั้นเป็นพฤติกรรมที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็นโทษภัยแก่สังคม แต่อาจจะเป็นพฤติกรรมที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือเกื้อกูลทำให้สังคมอยู่กันอย่างสงบสุข เราก็มองดูคุณค่าของการกระทำของเราในแง่พฤติกรรมทางสังคมว่าเป็นอย่างไร นี่ก็เป็นการสำรวจในแง่ศีล ต่อไปในการกระทำนั้นจิตใจของเราเป็นอย่างไร จิตใจของเรามีความสุขสบาย มีความร่าเริงเบิกบานใจไหม มีความเอิบอิ่มใจไหม มีความสุขไหม เราก็สำรวจดูจิตใจของเรา หรือว่าไม่สำรวจในแง่เชิงของความสุขก็สำรวจในเชิงของการที่ว่าแรงจูงใจของเราในการกระทำนี้คืออะไร เราทำด้วยแรงจูงใจที่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเห็นแก่ตัว หรือมีอะไรเคลือบแฝงอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า หรือเราทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ หรือทำด้วยความมุ่งหมายปรารถนาดี ทำเพื่อเกื้อกูลด้วยเมตตาด้วยศรัทธา เป็นต้น เราก็สำรวจได้คือการกระทำในแง่ของจิตใจก็ออกมาในเรื่องสมาธิ ต่อไปในแง่ปัญญาเราก็สำรวจตัวเองได้ว่าในการกระทำนั้นเราเข้าใจเหตุผลในการกระทำของเราชัดเจนหรือไม่ว่าทำไมเราจึงกระทำกิจกรรมอันนี้ หรือมีการแสดงออกอันนี้ แล้วก็เข้าใจในแง่กระบวนการของเหตุปัจจัยสืบทอดมาว่าการกระทำนี้จะทำให้เกิดผลอย่างไรบ้าง ในกระบวนการของเหตุปัจจัยสืบต่อไปจะเป็นผลดีผลร้ายอย่างไร แล้วก็มองในแง่ของคุณโทษว่าการกระทำนี้มีคุณค่ามีประโยชน์หรือมีโทษมีข้อเสียหายอย่างไร อันนี้ก็เป็นการสำรวจในแง่ของปัญญา เพราะฉะนั้นในการกระทำอย่างเดียวนั้นจะมีทั้ง 3 อย่างเราก็จะต้องเอาหลักองค์ประกอบทั้ง 3 นี่แหละไปตรวจสอบตัวเองในกิจกรรมทุกอย่างของเรา ในการกระทำทุกอย่าง เพราะฉะนั้นในการกระทำทุกอย่างถ้าเราปฏิบัติถูกต้องมันเป็นกระบวนการพัฒนาตัวเองของเราตลอดเวลา แล้วเราก็ทำครบทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเราไม่เอาหลักเกณฑ์นี้ไปใช้เราจะทำด้วยความพร่าแล้วก็อาจจะมีความบกพร่องในการกระทำนั้น ตกลงว่านี่แหละคือศีล สมาธิ ปัญญาที่เป็นกระบวนการที่เป็นระบบพฤติกรรมของเราที่เป็นการพัฒนามนุษย์ที่มีอยู่ตลอดทุกเวลาทุกครั้ง รวมความก็คือเราตรวจสอบตัวเองได้ว่าการกระทำแต่ละครั้งของเรานั้นในแง่พฤติกรรมมีผลเกี่ยวข้องกระทบต่อสังคมการอยู่ร่วมกันในโลก ต่อสภาพแวดล้อมอย่างไร ในแง่จิตใจมีแรงจูงใจเบื้องหลังคืออะไร ดีงามหรือไม่ แล้วก็จิตใจนั้นมีภาวะมีความสุขหรือความทุกข์อย่างไรในการกระทำนั้น มีความเบิกบานผ่องใสหรือไม่ แล้วก็สำรวจในแง่ปัญญารู้เข้าใจเหตุผลในการกระทำ รู้คุณรู้โทษของมันหรือไม่ รู้เหตุปัจจัยว่ามันจะส่งทอดต่อไปให้เกิดผลอย่างไรในเบื้องหน้า เป็นต้น เอาล่ะ อาตมาก็ยกตัวอย่างนี้เป็นเรื่องของการที่นำเอาระบบกระบวนการพัฒนามนุษย์มาใช้ในกรณีย่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน ในการกระทำทุกอย่าง
ทีนี้ในเรื่องใหญ่ ๆ ก็จะขอยกตัวอย่างบ้าง ในกรณีใหญ่ ๆ การแก้ปัญหาอะไรต่าง ๆ ของมนุษย์แม้แต่ของสังคมนี้ ไม่ว่าตามหลักของไตรสิกขานี้ก็จะต้องนำเอาหลักทั้ง 3 ประการ หรือองค์ประกอบทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ไปใช้ให้ครบ การแก้ปัญหาของมนุษย์จึงจะสำเร็จได้ ขอยกตัวอย่างของการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการทำลายสภาพแวดล้อมหรือการอนุรักษ์ธรรมชาติที่เรากำลังสนใจกันมากในปัจจุบัน ในสังคมปัจจุบันนี้มีการคิดแก้ปัญหาเรื่องนี้กันมาก แล้วเสร็จแล้วบางทีก็ไปเถียงกัน พวกหนึ่งก็จะใช้วิธีการทางปัญญาให้รู้ให้เข้าใจว่าการทำลายป่ามีโทษอย่างไร ทำแล้วเสียหายอย่างไร มันจะกลับมาทำลายมนุษย์อย่างไร บางพวกก็ไปพูดในแง่ที่ว่า โอ๊ย! ไม่ได้ การที่จะให้คนรักษาธรรมชาติ อนุรักษ์ธรรมชาติก็จะต้องให้มีความรักธรรมชาติ ทำอย่างไรจะให้เขารักธรรมชาติได้ อะไรอย่างนี้ หรือว่าบางคนก็มองไปในแง่พฤติกรรม จะต้องออกกฎหมายมาควบคุมพฤติกรรม ควรลงโทษกันให้หนัก อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ให้การศึกษาที่ทำให้มีการควบคุมพฤติกรรมได้ดี รู้จักละเว้นสิ่งที่เป็นโทษ บางทีก็อาจจะเอาองค์ประกอบด้านปัญญามาสัมพันธ์กับเรื่องพฤติกรรมด้วยว่าให้รู้คุณโทษของการรักษาหรือทำลายป่าแล้วก็จะทำให้มาควบคุมพฤติกรรมอะไรต่าง ๆ ซึ่งบางทีก็เป็นการที่ว่าแยกออกไปต่างหากกันบ้างโดยใช้วิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด หรือบางทีก็ประสานกันเข้ามาแต่ไม่ชัดเจน คือมันไม่มีหลักที่ออกมาเป็นระบบ ถ้าพูดในทางพระพุทธศาสนาแล้วเราพูดได้เลยว่าจะต้องเอาองค์ประกอบ 3 อย่างนี้เข้ามาประสานกันให้ครบ ไม่ใช่ใช้แต่อย่างหนึ่งอย่างเดียว การแก้ปัญหาโดยใช้วิธีอย่างหนึ่งอย่างเดียวนั้นไม่สามารถที่จะทำให้สำเร็จผลแท้จริง อย่างพวกที่มุ่งทางความรู้ เอาองค์ความรู้บอกว่าให้เขารู้ว่าทำลายธรรมชาติมันมีผลเสียหายก่อให้เกิดความพินาศอย่างไรจนกระทั่งว่ามนุษยชาติอาจจะเกิดความสูญสิ้นอะไรต่าง ๆ ถ้าเขารู้แล้วเขาคงจะแก้ไขไม่ทำ นี่ก็อาจจะรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นต้น แต่เสร็จแล้วทั้ง ๆ ที่รู้นั่นแหละก็แก้ปัญหาพฤติกรรมไม่ได้ ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของคน คนปัจจุบันนี้ส่วนมากรู้แล้วว่าการทำลายธรรมชาติมีโทษอย่างไรแต่เขาก็ไม่แก้ไข ไม่แก้พฤติกรรมของตนเองที่เป็นการทำลายธรรมชาติ แก้ด้วยกฎหมายคือออกกฎหมายมาบังคับควบคุมพฤติกรรมของคนทางกายวาจาในสังคม ทำผิดก็ลงโทษแต่ก็แก้ไขไม่สำเร็จ คนเราก็มีการทุจริตกันในแบบต่าง ๆ เพราะฉะนั้นมันเป็นการแก้ไขที่ไม่ครบกระบวนการ ไม่เป็นระบบ
ในทางพระพุทธศาสนาก็บอกว่าจะต้องแก้โดยใช้องค์ประกอบให้ครบทั้ง 3 ด้าน ทั้งศีล สมาธิ และปัญญา หรือทั้งทางด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านปัญญาหรือตัวความรู้ความเข้าใจ ก็เรียกว่าเป็น 3 ประสาน องค์ประกอบ 3 อย่างโยงประสานเข้ามาหากัน เรื่องศีลก็คือขั้นควบคุมพฤติกรรม ขั้นควบคุมพฤติกรรมนี้เราก็มองตั้งแต่ควบคุมพฤติกรรมชั้นหยาบที่สุดก็คือเป็นบัญญัติหรือกฎเกณฑ์ในทางสังคม ก็จำเป็นต้องมีเหมือนกันคือมีกฎหมายออกมา หรือระเบียบของหมู่คณะว่าทำอย่างนี้ไม่ถูกต้อง เป็นการบอกในขั้นต้นให้รู้ว่าการกระทำนี้สังคมไม่ยอมรับหรือถ้าทำไปแล้วฝ่าฝืนละเมิดกฎของสังคมอาจจะมีการลงโทษอะไรต่าง ๆ อันนี้เป็นขั้นต้นหยาบที่สุด แต่แค่นี้ไม่เพียงพอ เป็นการควบคุมพฤติกรรมขั้นหยาบก็มีไว้ขั้นหนึ่งเรียกว่าขั้นวินัย ในทางพระศาสนาเรียกว่าขั้นวินัย ก็คือพวกกฎหมายหรือบัญญัติของสังคมมนุษย์ ต่อไปลึกเข้าไปก็คือขั้นที่ว่าควบคุมพฤติกรรมด้วยเจตนาที่ออกมาจากภายในของเขาเอง ตอนแรกเราเอากฎเกณฑ์บัญญัติของสังคมมาบังคับควบคุมพฤติกรรมบังคับให้เขาเกิดเจตนาต้องละเว้นขึ้นมา เป็นเจตนาที่เกิดจากการบังคับจากภายนอก ทีนี้ให้เกิดเจตนาจากภายใน เจตนาจากภายในก็คือเขาเองพยายามควบคุมพฤติกรรมทางกายวาจาของตนเองไม่ให้เกิดผลเสีย เช่น ไม่มาทำลายสภาพแวดล้อม ซึ่งการที่จะเกิดการควบคุมจากเจตนาภายในนี่แหละตอนนี้มันจะโยงไปหาการพัฒนาด้วยองค์ประกอบข้ออื่น ๆ เช่นว่าจิตใจเขามีศรัทธาต่อพระศาสนา อาจจะเป็นกฎของศาสนา ศาสนาบอกมาว่าให้รักษาธรรมชาติ หรือทำไปแล้วเป็นบาปอะไรต่าง ๆ ทำลายสัตว์มีชีวิตเป็นบาปอะไรต่าง ๆ เมื่อเขาเชื่อเขาก็จะควบคุมพฤติกรรมของเขาด้วยเจตนาจากภายในของตนเอง แต่รวมแล้วก็คือเป็นขั้นที่ควบคุมพฤติกรรมเหมือนกัน เป็นขั้นที่เรียกว่าเป็นถึงตัวศีลที่แท้จริง แต่ทั้งหมดทั้งขั้นวินัยที่เป็นบัญญัติของสังคมและขั้นศีลที่เป็นเจตนาจากภายในนี้ก็รวมอยู่ในขั้นศีลด้วยกันนั่นแหละ นี่เป็นขั้นที่ 1 ซึ่งมนุษย์ก็จำเป็น
ต่อไปขั้นที่ 2 ขั้นระดับจิตใจ การแก้ปัญหาจิตใจจะทำอย่างไร มันก็ต้องแก้ให้ถึงที่สุดของจิตใจ เป้าหมายของเราก็คือการอนุรักษ์ธรรมชาติ จะทำอย่างไรในด้านจิตใจให้คนอนุรักษ์ธรรมชาติ ก็ให้เขามีความต้องการที่จะอนุรักษ์ นี่เป็นเรื่องทางจิตใจแล้ว ถ้าเขามีความต้องการที่จะอนุรักษ์เขาก็จะอนุรักษ์ การกระทำก็เกิดขึ้น แต่ว่าความต้องการนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็สืบหาเหตุปัจจัยต่อไป ก็จะมาถึงสิ่งที่คนส่วนมากพูดกันก็คือว่าก็ต้องรักธรรมชาติ ถ้าเขารักธรรมชาติเขาก็ต้องการอนุรักษ์แล้วเขาก็จะอนุรักษ์ ทีนี้ก็มีคำถามต่อไปอีกว่าทำอย่างไรจะรักธรรมชาติ ตอนนี้แหละที่มักจะไม่มีคำตอบกัน เรามักจะพูดกันว่าให้รักธรรมชาติ ให้รักธรรมชาติ แต่ว่าความรักธรรมชาติจะเกิดขึ้นอย่างไรที่มันเป็นเรื่องทางด้านจิตใจที่แท้จริง เป็นกระบวนการของเหตุปัจจัยในทางด้านจิตใจ เพียงแต่รู้คุณค่าประโยชน์บางทีก็ไม่เพียงพอที่จะให้เขารักธรรมชาติ เขารักผิวเผิน แต่ถ้ามีองค์ประกอบทางจิตที่มันเป็นจุดหมายของจิตใจแท้จริงมาแล้วมันจะเกิดความรักธรรมชาติได้ ความรักธรรมชาติเกิดได้ด้วยเหตุปัจจัยทางจิตคืออะไร ก็บอกว่าเกิดจากการที่เขามีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ นี่เป็นคำตอบ ถ้าเมื่อไหร่เขามีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติเมื่อนั้นเขาจะรักธรรมชาติแล้วความรู้ความเข้าใจในคุณค่าของธรรมชาติมันจะมาเป็นตัวเสริมเองก็ยิ่งทำให้เขามีความสุขมากขึ้น ถ้าเขามีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติเขาก็จะรักธรรมชาติโดยอัตโนมัติ อันนี้มันเป็นกระบวนการของเหตุปัจจัยในทางจิต เพราะฉะนั้นในทางจิตใจเราก็จะต้องทำให้คนรู้จักมีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติแล้วเขาจะรักธรรมชาติ และเขาจะมีความต้องการที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติ แล้วเขาก็จะอนุรักษ์ธรรมชาติ แล้วจิตใจที่เป็นอย่างนี้ก็ออกผลไปสู่ขั้นศีลก็คือเขาจะควบคุมพฤติกรรมของเขาในการที่จะปฏิบัติต่อธรรมชาติด้วย นี่เป็นระดับที่ 2
ต่อไปแค่นี้ท่านถือว่ายังไม่พอ ก็ต้องมีขั้นที่ 3 คือขั้นปัญญาด้วย ขั้นปัญญาก็คือความรู้เข้าใจ ความรู้เข้าใจเหตุผลในการกระทำที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาตินั้นว่าการทำลายมีโทษอย่างไร การอนุรักษ์ธรรมชาติมีประโยชน์อย่างไร มีคุณค่าอย่างไร ซึ่งจะมีผลส่งไปถึงทางด้านจิตใจด้วยว่าเขารู้เข้าใจแล้วว่าถ้าทำลายธรรมชาตินี้แล้วธรรมชาติเสียไปเขาจะหาความสุขไม่ได้ และถ้าหากว่ารักษาธรรมชาติอยู่เขาก็จะมีความสุขอยู่กับธรรมชาติได้ต่อไป แต่เขาต้องรู้เข้าใจตามเป็นจริง รู้วิธีที่จะรักษา รู้เหตุปัจจัยในกระบวนการที่จะทำให้เกิดผลในการอนุรักษ์ธรรมชาติขึ้นมา นี่ก็คือเป็นเรื่องของปัญญา ตลอดจนถึงการที่ว่าความรู้เข้าใจที่เป็นพื้นฐานในเชิงทัศนคติ เช่น ทัศนคติในการที่ว่ามนุษย์นี้จะต้องพิชิตธรรมชาติหรือว่าเอาชนะธรรมชาติ ถ้าหากว่ามนุษย์มีความเห็นอย่างนั้นปัญญาความเข้าใจของเขาบอกอย่างนั้น คือเขาไปเห็นว่าความสุขของมนุษย์นี้อยู่ที่การพิชิตธรรมชาติได้ เอาชนะธรรมชาติอย่างที่การพัฒนาของสังคมที่ผ่านมาเป็นอย่างนั้น การพัฒนาในยุคอุตสาหกรรมทำให้คนมองว่าความสุขของมนุษย์นี้จะสำเร็จได้ด้วยการเอาชนะธรรมชาติ ถ้าเขามีความเห็นอย่างนี้นี่เป็นความเห็นในเชิงปัญญา มีความรู้ความเข้าใจอย่างนี้ว่าความสุขของมนุษย์อยู่ที่การพิชิตธรรมชาติได้ จัดการกับธรรมชาติตามประสงค์เพื่อเอาธรรมชาติมารับใช้บำรุงบำเรอมนุษย์ ถ้าเขาเห็นอย่างนี้แล้วเขาก็จะมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อธรรมชาติ มองเห็นธรรมชาติเป็นศัตรู เป็นตัวขัดขวางความสุข อันนี้จะเป็นตัวขัดขวางที่ทำให้การอนุรักษ์ธรรมชาติไม่สำเร็จ มันเป็นตัวที่มีความหมายเชิงทัศนคติ เมื่อเกิดความเห็นอย่างนี้แล้วก็เป็นทัศนคติ เป็นค่านิยม แล้วเขาก็จะมองเห็นว่าการทำลายธรรมชาติเป็นสิ่งที่ดี แล้วอันนี้จะทำให้แก้ปัญหาได้ยาก อย่างคนในยุคปัจจุบันนี้เราได้ปลูกฝังกันมานานแล้วว่าให้เห็นว่าความสุขของมนุษย์นี้จะเกิดขึ้นได้จากการที่พิชิตธรรมชาติแล้วจัดการธรรมชาติ เอาธรรมชาติมารับใช้บำรุงบำเรอมนุษย์ตามต้องการ แต่ความรู้สึกทัศนคติความเข้าใจนี้แฝงอยู่ลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาการอนุรักษ์ธรรมชาติปัจจุบันจึงทำได้ยากเพราะได้ฝังความเข้าใจอันนี้มานาน ดังนั้นในขั้นพื้นฐานนี้จะต้องสร้างปัญญาที่จะมาแก้ทัศนคติอันนี้ด้วย ให้รู้เข้าใจว่าชีวิตมนุษย์ที่ดีงามที่สูงสุดนั้นไม่ได้อยู่ที่การเอาชนะธรรมชาติ หรือจัดสรรธรรมชาติ เบียดเบียนธรรมชาติ แต่ว่ามันอยู่ในขอบเขตที่ว่ารู้จักพัฒนาตัวมนุษย์เองให้อยู่กับสิ่งทั้งหลายได้อย่างถูกต้อง ปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง การเอาชนะหรือพิชิตธรรมชาตินั้นมันก็เป็นส่วนหนึ่งของความเข้าใจที่ว่าจะต้องปรับให้พอดี คือมนุษย์จะต้องมีการจัดการกับธรรมชาติบ้างอันนั้นเป็นธรรมดา แต่มันจะมีขอบเขตอยู่ที่ว่ามนุษย์เองนั่นแหละจะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างถูกต้องเพื่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสภาพแวดล้อมนั่นเอง ให้ดำรงอยู่ได้ด้วยดี เพราะฉะนั้นขอบเขตที่ว่าการปฏิบัติถูกต้องนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่เอาขอบเขตไปอยู่ที่การพิชิต การพิชิตการเอาชนะมีขอบเขตคือการที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องเพื่อให้เกิดผลดีต่อชีวิตและต่อธรรมชาตินั่นเอง อันนี้ก็คือการที่ว่าเราจะมาพัฒนามนุษย์ในวิถีทางที่ถูกต้อง ก็เป็นอันว่าแม้แต่ปัญหาการอนุรักษ์ธรรมชาตินี้จะทำให้สำเร็จได้จะต้องใช้หลัก 3 ประสาน คือการเอาองค์ประกอบของศีล สมาธิ ปัญญา มาใช้ให้ครบ นี่ก็เป็นตัวอย่างที่อาตมายกมาให้ดู ทีนี้ก็จะขอผ่านไป
สาระสำคัญในตอนนี้ก็ต้องการมุ่งให้เห็นว่าระบบของไตรสิกขาหรือศีล สมาธิ ปัญญานั้นเป็นระบบที่องค์ประกอบทั้งหลายมีความสัมพันธ์กันทั้งในเชิงสืบทอดต่อเป็นขั้นตอนและในเชิงบูรณาการที่อิงอาศัยสัมพันธ์เสริมกันให้บริบูรณ์ เราก็จะได้นำหลักเหล่านี้มาใช้ในการพัฒนามนุษย์ในการเจริญภาวนาต่อไป ทีนี้ตอนนี้เรามาเน้นในเรื่ององค์ประกอบในระดับที่ 2 และ 3 คือขั้นสมาธิและปัญญา คือขั้นจิตภาวนากับปัญญาภาวนา โดยที่เรามีความเข้าใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้วว่าเราไม่ได้ละเลยมองข้ามความสัมพันธ์ของการระดับศีล แต่ตอนนี้เราลงลึกไป หมายความว่าในระดับพฤติกรรมนี้เราถือว่าพร้อมอยู่แล้ว ตอนนี้ลงลึกไปในระดับจิตและปัญญา ทีนี้เมื่อพูดถึงระดับจิตและปัญญาโดยเฉพาะ การพัฒนาจิตใจก็บอกแล้วว่าได้แก่คำว่าจิตภาวนา แล้วพัฒนาปัญญาก็คือศัพท์ว่าปัญญาภาวนา อันนี้ก็จะอธิบายเสริมให้เกิดความชัดเจนขึ้นอีกเล็กน้อย บอกเมื่อกี้บอกว่าจิตภาวนานั้นเรียกชื่อให้มันจำกัดชัดลงไปก็เรียกว่าสมถภาวนา แปลว่าการเจริญสมถะ หรือเรียกสั้น ๆ ว่าสมถะ การทำจิตใจให้สงบให้เกิดสมาธิ แล้วปัญญาภาวนาก็เรียกชื่อให้จำกัดลงไปว่าเป็นปัญญาในขั้นที่เห็นแจ้งความจริงในสิ่งทั้งหลายซึ่งเรียกว่าวิปัสสนา เรียกเต็มว่าวิปัสสนาภาวนา ตอนนี้เราก็เลยพูดสั้น ๆ ว่าจิตภาวนาก็เรียกง่าย ๆ ว่าสมถะ ปัญญาภาวนาก็เรียกง่าย ๆ ว่าวิปัสสนา ก็เลยเจริญสมถะ เจริญวิปัสสนา จะเรียกสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา หรือจะเรียกสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ก็ได้ ถ้าเรียกภาวนาก็เรียกในความหมายว่าพัฒนาหรือเจริญ คือสมถภาวนาก็พัฒนาเจริญสมถะ เจริญความสงบจิต วิปัสสนาภาวนาก็พัฒนาความเห็นแจ้ง ปัญญาที่รู้แจ้งความจริง ถ้าใช้ว่าสมถกรรมฐานก็หมายความว่าสิ่งที่เอามาให้จิตทำงาน กรรมฐานแปลว่าสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการงาน หมายความว่าเราทำงานในด้านที่จะพัฒนาจิตนั่นเอง แล้วก็วิปัสสนากรรมฐานก็หมายความว่าหางานมาให้ทำในแง่ที่ว่าทำงานเพื่อพัฒนาวิปัสสนาพัฒนาปัญญาเพื่อเห็นแจ้ง ตัวกรรมฐานก็คือสิ่งที่เอามาใช้ในการปฏิบัติ สิ่งที่นำมาใช้เป็นตัวทำงานนั่นเอง ก็คือสิ่งที่มาใช้ในการทำงานเพื่อพัฒนาสมถะกับสิ่งที่นำมาใช้ในการทำงานเพื่อพัฒนาปัญญา 2 ประการ
จุดแตกต่างที่สำคัญก็คือเรามามองที่หลักการ หลักการของสมถะก็คือการมุ่งให้จิตใจมีจุดที่กำหนดแน่วแน่เป็นอันหนึ่งอันเดียว ทางภาษาพระสิ่งที่จิตกำหนดเราเรียกว่าอารมณ์ อันนี้ขอให้ทำความเข้าใจให้ชัดอย่าไปปะปนกับภาษาไทย คำว่าอารมณ์ในที่นี้ไม่ใช่อารมณ์ในภาษาไทย อารมณ์ในภาษาไทยนั้นตรงกับภาษาอังกฤษว่า emotion ในที่นี้อารมณ์ในภาษาพระอย่าได้ไปเข้าใจสับสนกับคำว่าอารมณ์ในภาษาไทยเลย อารมณ์ในภาษาพระในที่นี้แปลว่าสิ่งที่จิตยึดเหนี่ยว สิ่งที่ถูกจิตรับรู้ หรือสิ่งที่เป็นตัวให้จิตรับรู้นั่นเอง อะไรก็ตามที่จิตรับรู้ เช่นว่ารับรู้ทางตา สิ่งที่เราเห็นก็เรียกว่าอารมณ์ทางตา สิ่งที่เรารับรู้ทางหู เสียงที่ได้ยินก็เป็นอารมณ์ทางหู สิ่งที่เราลิ้มรส รสที่เราลิ้มนี้ก็เป็นอารมณ์ของลิ้น แล้วก็สิ่งที่เราคิดนึกในใจก็เป็นอารมณ์ของจิตใจ ก็คือ object หรือ sense object เพราะฉะนั้นอารมณ์ในความหมายธรรมะนี้ต่างจากภาษาไทย อารมณ์หรือสิ่งที่จิตกำหนดสิ่งที่จิตเข้าไปเกาะไปยึดไปจับนี้เราจะคิดนึกถึงมันแล้วเราก็ผ่านจากอารมณ์นี้ไปอารมณ์โน้น อยู่ไม่สุข จิตของเราอยู่ไม่เป็นสุข เป้าหมายของการเจริญสมถะก็คือให้จิตมาอยู่กับอารมณ์อันเดียว อยู่ได้ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ นานเท่านาน ถ้าเมื่อไหร่จิตของเราอยู่กับอารมณ์หรือสิ่งที่กำหนดอันหนึ่งอันเดียวได้นั่นก็คือสำเร็จเป็นสมาธิ เป้าหมายของการเจริญสมาธิก็คือการทำให้จิตมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว อยู่ที่อารมณ์หนึ่งเดียวนี้ ก็เป็นอันว่านี่คือหลักการของสมถะทั้งหมด เพราะฉะนั้นพูดในแง่หลักการแล้วเป็นเรื่องที่ง่าย สมถะนั้นมีหลักการอยู่แค่ว่าทำให้จิตนี้มีอารมณ์หนึ่งเดียวอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวได้ ไม่ว่าจะใช้วิธีอะไรก็ตาม บางทีเราไปพูดกันว่าไปทำสมถะเจริญสมาธิ ไปพูดถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้มากมาย วิธีการต่าง ๆ แตกต่างกันไปนานับประการ แต่ว่าที่แท้แล้วหลักการมีอันเดียว หลักการอันเดียวนี้ก็คือการทำจิตให้อยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่จิตกำหนดนี้ไว้ได้ เอาล่ะนี่คือหลักการของสมถะ การที่จิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่กำหนดหรืออารมณ์เดียวนี้เรียกว่าเป็นสมาธิ สมาธิก็เป็นเป้าหมายของสมถะหรือจิตภาวนา เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วสภาพจิตก็จะประณีตยิ่งขึ้น สมาธินี้ก็จะเป็นแกนกลางของสภาพจิต สภาพจิตที่ประณีตขึ้นไปตามลำดับในระดับต่าง ๆ นั้นท่านเรียกว่าฌาน หมายความว่าจิตที่มีสภาพที่สงบมีคุณสมบัติต่าง ๆ โดยมีสมาธิเป็นแกนกลางก็จะมีการพัฒนาประณีตขึ้นไปตามลำดับ ซึ่งสภาพจิตเหล่านั้นทั้งหมดไม่ว่าอยู่ในระดับใดเรียกว่าฌาน ก็ตกลงว่าจากการเจริญสมถะที่ทำให้เกิดสมาธินี้เราก็จะได้ฌาน ฌานก็เลยเรียกกันว่าเป็นจุดหมายของการเจริญสมถะ ฌานก็คือสภาพจิตที่มีสมาธินั่นเอง มีสมาธิเป็นแกนกลางแล้วก็ประณีตยิ่งขึ้นไปตามลำดับเป็นชั้น ๆ
ต่อไปในด้านวิปัสสนาหรือการพัฒนาปัญญา หลักการของวิปัสสนานั่นก็คือการมีปัญญารู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง หรือรู้แจ้งสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นเท่านั้นเอง ถ้าทำให้เกิดภาวะนี้ได้ก็เรียกว่าเป็นเรื่องของวิปัสสนา ทีนี้การรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นนี้ก็จะมีการพัฒนาประณีตขึ้นไปลึกซึ้งขึ้นไปตามลำดับเป็นขั้น ๆ ความรู้ที่เกิดขึ้นเป็นการเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงในระดับต่าง ๆ นี้มีชื่อเรียกว่าญาณ ญาณก็คือปัญญาที่รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงในระดับต่าง ๆ ประณีตยิ่งขึ้นไป เป็นญาณนั้นญาณนี้ ตอนนี้แหละจะให้เห็นความแตกต่างระหว่างสมถะกับวิปัสสนาในแง่ของศัพท์ที่เป็นเป้าหมาย ก็คือสมถะนำไปสู่ฌาน ส่วนวิปัสสนานำไปสู่ญาณ หลายคนจะสับสนกับศัพท์ทั้งสองนี้ เอาฌานเป็นญาณ เอาญาณเป็นฌาน เพราะฉะนั้นในตอนนี้ก็ขอให้แยกให้ถูก ฌานเป็นเรื่องของการที่จิตสงบแน่วแน่ เป็นเรื่องสมาธิ เป็นเรื่องของสมถะ ส่วนญาณเป็นเรื่องของความรู้ เป็นเรื่องของวิปัสสนา อาตมาก็คิดว่าเพียงเท่านี้ก็ทำให้เกิดความเข้าใจถูกต้องแล้ว เอาล่ะทีนี้ต่อไปเมื่อเราเข้าใจหลักการของสมถะว่ามุ่งให้ใจแน่ว ทำให้ใจแน่วเป็นอารมณ์เดียวเป็นสมาธิให้เกิดฌาน แล้วหลักการของวิปัสสนาก็ทำให้เกิดความรู้เข้าใจตามที่มันเป็น ทำให้เกิดญาณแล้ว ทีนี้ก็ไปสู่หลักปฏิบัติ จากหลักการทั่วไปก็ไปสู่หลักปฏิบัติ ในด้านหลักปฏิบัติการเจริญสมถะหรือจิตภาวนานั้นก็หาเอาอารมณ์มาให้จิตกำหนดหรือจับยึดเหนี่ยว ทีนี้อารมณ์ที่จะให้จิตจับกำหนดเพื่อจะได้อยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้แน่วแน่ก็ต้องมีการเลือกสรรเหมือนกัน ไม่ใช่เอาอารมณ์ที่เรื่อยเปื่อยมาโดยที่อาจจะเลือกเอาสิ่งที่ไม่ดีมาแล้วก็ทำให้ล่อจิตให้คิดฟุ้งซ่าน เราจะเห็นว่าสิ่งที่จิตมากำหนดจับเป็นอารมณ์นี้ถ้าหากว่าเลือกไม่ถูกต้องแทนที่จะได้ผลดีจิตกลับคิดฟุ้งซ่านวุ่นวายไป อย่างเช่นว่าอยากจะได้แล้วก็คิดปรุงแต่งไป คิดเพ้อฝันเพ้อเจ้อไป หรือว่าบางอย่างมันรบกวนจิตใจทำให้ระคายเคืองก็ทำให้เกิดความหงุดหงิดไม่สบาย เพราะฉะนั้นอารมณ์นี้ก็เป็นสิ่งที่จะต้องเลือกสรรเหมือนกัน ก็หมายความว่าจะต้องหาสิ่งที่จิตมันจะอยู่ได้โดยไม่มากระทบกระเทือนระคายเคืองจิตแล้วก็ไม่ล่อจิตให้วุ่นวายสับสนเพ้อเจ้อเพ้อฝันไป ก็เอาอารมณ์ที่โดยมากเป็นกลาง ๆ หรือเป็นสิ่งที่ดีงามมีคุณค่าทางด้านจิตใจนั่นเอง ทำให้จิตใจได้เกิดความสงบขึ้นมาแล้วก็จะทำให้เกิดสมาธิแน่วแน่ หลักการในการเลือกหาอารมณ์ก็เป็นอย่างนี้คือหาสิ่งที่จะทำให้จิตใจเป็นกลาง ๆ เป็นอย่างน้อยหรือว่าเป็นคุณค่าที่จะทำให้ใจสบาย อยู่กับสิ่งนั้นได้ดี ไม่เกิดผลเสีย เพื่อจะให้เกิดความสะดวกท่านก็เลยจัดสรรอารมณ์มาให้ สิ่งที่จัดสรรมาให้เป็นอารมณ์สำหรับผู้ปฏิบัติก็เรียกกันง่าย ๆ ว่ากรรมฐาน ก็คือสิ่งที่เอามาให้จิตทำงานหรือว่าที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต ก็คืออารมณ์นั่นเอง อารมณ์ที่ท่านเลือกสรรไว้ให้เรามี 40 อย่าง เรียกว่ากรรมฐาน 40 หรือจะเรียกว่าอารมณ์กรรมฐาน 40 อย่างก็ได้ แล้วเราก็เลือกเอาจาก 40 อย่างนี้มาใช้ ยกตัวอย่างเช่นว่าระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า หรือการแผ่เมตตา หรือที่ใช้กันบ่อยก็คือการกำหนดลมหายใจ เอาลมหายใจมาเป็นอารมณ์ให้จิตกำหนด นี่แหละสิ่งเหล่านี้เรียกว่าอารมณ์กรรมฐาน หรือเป็นตัวกรรมฐาน ก็เป็นอันว่าเอาอารมณ์ที่ท่านเลือกสรรไว้ให้เราแล้วเพื่อความสะดวก เราขี้เกียจที่จะไปเลือกหาอารมณ์อื่นก็เอาจากที่ท่านจัดไว้ให้ 40 อย่างเลือกเอา ก็มีวิธีเลือกอีกคือต้องให้เหมาะกับพื้นนิสัยจิตใจ อันนี้ก็จะเป็นรายละเอียดที่ไม่พูดในทีนี้ ก็ตกลงว่าให้เลือกมาอันหนึ่ง อย่างที่นิยมในปัจจุบันนี้มักจะให้การกำหนดลมหายใจ ก็เอามาอย่างหนึ่งแล้วก็เอาจิตกำหนดให้จิตอยู่กับสิ่งนั้น เช่น อยู่กับลมหายใจนั้นไปเรื่อย ๆ ไม่ให้ฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่น ไม่ให้จิตลอยไปหาอารมณ์อื่น จนกระทั่งจิตแน่วแน่อยู่กับลมหายใจ เป็นต้น นั่นแล้วนั่นก็คือเกิดสมาธิขึ้นมา จิตใจก็จะพ้นไปจากกิเลสหรือความรู้สึกอะไรต่าง ๆ ที่ไม่ดีไม่งามที่จะรบกวนที่จะทำให้ใจฟุ้งซ่านไปได้ เอาล่ะนี่เป็นเรื่องของสมถะหรือจิตภาวนา
ในแง่ของปัญญาภาวนาหรือวิปัสสนาก็มีหลักปฏิบัติในแบบที่ว่าแทนที่จะเอาอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งมากำหนดให้จิตอยู่กับอารมณ์นั้นเรื่อยไป แทนที่จะทำอย่างนั้น อ้าว! ไม่เป็นอย่างนั้นเสียแล้ว กลับบอกว่าให้ตามดูรู้ทันอารมณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หมายความว่าประสบการณ์ของชีวิตที่เข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกายใจของเรานี้มันเกิดขึ้นเราตามดูรู้ทันมันตามที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะนั้น ๆ ประสบการณ์ในชีวิตของมนุษย์นี้ก็มีมากมายหลายอย่าง ก็จัดได้เป็นหมวดเป็นประเภท อย่างที่ท่านนิยมจัดไว้ก็จัดเป็นเรื่องที่เราจะเข้าไปกำหนดรู้ด้วยสติ ก็เรียกกันว่าสติปัฏฐาน คือสิ่งที่เป็นจุดกำหนดหรือเป็นที่ตั้งของสติ ก็จัดไว้เป็น 4 ประเภทด้วยกัน คือ เรื่องของกาย เรื่องของความเคลื่อนไหวความเป็นไปทางด้านร่างกายนี้อย่างหนึ่ง แล้วก็เรื่องของเวทนา เรื่องของความรู้สึกสุขทุกข์นี้อย่างหนึ่ง แล้วก็เรื่องจิต สภาพจิตใจ จิตใจขุ่นมัวผ่องใสอะไรต่าง ๆ เหล่านี้อย่างหนึ่ง แล้วก็เรื่องสิ่งที่คิดนึกในใจเรียกว่าธรรมารมณ์อย่างหนึ่ง ก็เป็น 4 อย่าง 4 ประเภทนี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นประสบการณ์ในชีวิตของเรา คือท่านจัดเป็นหมวดเป็นหมู่ไว้แล้วซึ่งมันจะเข้ามาปรากฏแก่จิตใจของเรา เราก็ตามดูรู้ทันมันตามเป็นจริง ตามที่เป็นปัจจุบันเกิดขึ้นในขณะนั้น ๆ นี่คือหลักการของวิปัสสนา เมื่อเราตามดูรู้ทันสิ่งเหล่านี้แล้วรู้เห็นตามเป็นจริงก็จะเกิดญาณในระดับต่าง ๆ อย่างที่กล่าวมาแล้ว ข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือทั้งสมถะและวิปัสสนา หรือว่าจิตภาวนาก็ดี ปัญญาภาวนาก็ดี จะต้องอาศัยสติเป็นตัวนำหรือเป็นตัวเริ่มต้นด้วยกันทั้งสองอย่าง อย่างข้อปฏิบัติในการเจริญสมถะหรือทำสมาธินี้จะมีหลายอย่างที่ลงท้ายด้วยสติ พุทธานุสติ ธรรมานุสติ มรณสติ อานาปานสติ พุทธานุสติก็คือเราระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ธรรมานุสติคือระลึกถึงคุณพระธรรม มรณสติคือระลึกถึงความตาย อานาปานสติคือระลึกถึงลมหายใจเข้าออก เอาจิตเอาสติมากำหนดไว้กับสิ่งนี้ สติก็จะเป็นตัวนำแต่ว่าในสมถะนั้นสติจะเป็นตัวนำเพื่อจะให้สมาธิมารับช่วงไป เพราะว่าสมาธิจะเกิดขึ้นได้ตอนแรกนั้นสติจะต้องไปเริ่มก่อน เพราะสติเป็นตัวที่จะไปกำกับจิตไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พอเรามีสติก็คือเราเอาสติไปกำกับอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทีนี้ถ้าหากว่ากำกับแล้วไม่อยู่ก็คือไม่มีสมาธิ เราก็ต้องเอาสติมากำกับอีก ดึงกันอยู่นั่นเอง พอกำกับดึงอยู่พอมันอยู่แนบสนิทสมาธิก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสติก็เป็นตัวนำ นำไปสู่สมาธิ การฝึกสมาธิจึงต้องนำด้วยสติ เอาสติมาเป็นตัวกำหนดกำกับจิตในเบื้องต้นแล้วเมื่อจิตแน่วแน่แล้วก็เป็นสมาธิ ทีนี้ด้านวิปัสสนาบ้าง วิปัสสนาก็ต้องอาศัยสติเช่นเดียวกัน อย่างในหลักสติปัฏฐานนี้ก็บอกว่าสิ่งที่เป็นที่ตั้งหรือธรรมเป็นที่ตั้งของสติ ก็คือเอาสติเป็นตัวนำ แต่สติในที่นี้ไม่ได้มุ่งที่จะนำให้เกิดสมาธิ คือสมาธิไม่ได้เป็นตัวเป้าหมายแต่มันจะพลอยเกิดขึ้นมาเอง แต่ว่าไม่ใช่เป็นสมาธิที่ต้องเข้มข้นอะไรเพราะว่ามันไม่ใช่เป้าหมายของการเจริญสติในกรณีนี้ การเจริญสติในกรณีนี้มุ่งปัญญาเพราะฉะนั้นสติจะเป็นตัวนำเพื่อทำงานควบคู่ไปกับปัญญา ในวิปัสสนาสติก็จะเป็นตัวจับอารมณ์หรือกำกับคุมจิตไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้ปัญญาพิจารณา นี่ก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างสมถะกับวิปัสสนาว่าสมถะนั้นสตินำส่งต่อให้สมาธิเกิดขึ้น แต่ว่าวิปัสสนานั้นสติเป็นตัวส่งต่อให้แก่ปัญญาที่มาพิจารณารู้เข้าใจความจริงต่อไป
ในแง่ผล ผลสูงสุดของการเจริญสมถะหรือจิตภาวนา สมถะหรือจิตภาวนานั้นเมื่อทำให้เกิดสมาธิขึ้นได้จนกระทั่งเกิดฌานขึ้นมา จิตก็จะสงบผ่องใส พ้นจากกิเลส พ้นจากความทุกข์ มีความสุข แต่เป็นสภาพที่มีอยู่ได้ชั่วคราว ภาษาพระเรียกว่าดับทุกข์ได้ชั่วคราว มันไม่ถาวร ไม่ยั่งยืน เป็นเหมือนกับกดหรือข่มเอาไว้ เป็นการดับทุกข์ดับกิเลสด้วยการกดหรือข่มไว้ ท่านเปรียบเทียบเหมือนกับว่าเอาหินไปทับหญ้า พอเอาหินออกหญ้าก็เจริญงอกงามขึ้นมาได้ใหม่ การใช้วิธีของสมถะก็เช่นเดียวกัน กิเลสและความทุกข์นั้นยังอยู่ เวลาเราอยู่ในสมาธิอยู่ในฌานก็มีความสุข มีความสงบ จิตใจสะอาดผ่องใส แต่ว่าเมื่อไหร่ออกจากสมาธินั่นมาอยู่ในชีวิตประจำวันไปกระทบเข้ากับสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาระคายเคืองจิตใจ จิตใจก็อาจจะไม่สบายอีก มีความไม่รู้ มีอวิชชาแฝงอยู่ มีปัญหาเกิดขึ้นได้เสมอไป เพราะฉะนั้นท่านบอกผลของสมถะนั้นทำให้เกิดนิโรธแบบชั่วคราวที่เกิดจากการกดหรือข่มไว้ระงับไว้ เรียกเป็นภาษาศัพท์ technical term ว่าวิกขัมภนนิโรธ หรือถ้าเรียกว่าเป็นความหลุดพ้น เป็นวิมุตติ ก็เรียกว่าสมยวิมุต เป็นความหลุดพ้นชั่วคราวชั่วสมัย ทีนี้ในด้านวิปัสนนา วิปัสสนาหรือปัญญาภาวนานั้นส่งผลคือการที่จะชำระล้างอวิชชาเลย ก็กำจัดรากเหง้าต้นตอของกิเลสและความทุกข์ได้หมด เพราะฉะนั้นจึงเกิดภาวะที่เรียกว่าดับทุกข์ดับปัญญาได้แบบสิ้นเชิงเด็ดขาด เรียกเป็นภาษาพระว่าสมุจเฉทนิโรธ หรือถ้าเรียกเป็นวิมุตติความหลุดพ้นก็เป็นอสมยวิมุต ความหลุดพ้นที่ไม่จำกัดสมัย อสมยก็คือไม่มีสมัย ไม่จำกัดสมัย ไม่จำกัดเวลา ก็คือตลอดไปโดยสิ้นเชิง นี่ก็เป็นความแตกต่างกันระหว่างสมถะและวิปัสสนาในแง่ผล แล้วความสัมพันธ์ระหว่าง 2 อันก็คืออย่างที่อาตมากล่าวแล้ว ถ้าปฏิบัติให้ถูกต้องก็คือเอาสมถะมาเป็นฐานของวิปัสสนา ก้าวต่อสู่วิปัสสนา ก็คือว่าเจริญสมถะจนกระทั่งจิตเกิดสมาธิได้ฌานก็ตาม หรือไม่ถึงฌานก็ตาม ได้สมาธิแล้วพอเพียงก็ก้าวไปสู่การเจริญวิปัสสนาต่อไป แต่การหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ชั่วคราว ดับทุกข์ชั่วคราว ก็จะมีผลเป็นการดับกิเลสดับทุกข์ความหลุดพ้นเป็นอิสรภาพที่สมบูรณ์สิ้นเชิงตลอดกาล ก็จะมีผลสมบูรณ์ อันนี้อาตมาก็ได้กล่าวหมดแล้วทั้งหลักการ ทั้งหลักปฏิบัติ ทั้งผลที่หมาย ผลที่จะเกิดจากสองอย่างนี้ พร้อมความสัมพันธ์ระหว่างจิตภาวนาและปัญญาภาวนา ก็คิดว่าได้พูดมาพอสมควรแก่เวลา แล้วก็เนื้อหาสาระก็นึกว่าคงจะครอบคลุมพอสมควรแล้ว เพราะฉะนั้นก็ขอยุติเพียงเท่านี้ ขออนุโมทนาทุกท่านที่ได้สดับตรับฟังในเรื่องนี้ด้วยความเอาใจใส่ ก็ขอให้ปัญญาจงเกิดขึ้นแก่ท่านจากการสดับนี้ แล้วก็มีผลต่อการพัฒนาชีวิตจิตใจ โดยเฉพาะก็คือพัฒนาจิตใจและปัญญาให้เกิดประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมสืบต่อไป ขออนุโมทนา เจริญพรเพียงเท่านี้