แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขอเจริญพรโยมผู้ศรัทธาทุกท่าน
ขณะนี้เราได้มานั่งเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ ณ ที่ประทับของพระองค์คือ พระมูลคันธกุฏี โดยที่ว่าเราได้เดินทางมาในเส้นทางพุทธจาริกตามลำดับ เมื่อตอนเช้านี้เรามาถึงที่เมืองปัตนะหรือเมืองปาฏลีบุตรซึ่งก็ได้เล่าให้โยมฟังแล้วว่า เป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนา เป็นแหล่งที่พระพุทธศาสนาเผยแพร่ออกไปจากชมพูทวีป ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย อันนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อ 230 กว่าปีหลังพุทธกาล
หลังจากนั้นเราก็เดินทางต่อมาจนกระทั่งมาถึงเมืองนาลันทา แล้วก็ได้เดินทางมายังที่เมืองราชคฤห์ตามลำดับ ขณะนี้เรามาถึงเมืองราชคฤห์แล้ว เมืองราชคฤห์นี้ก็เป็นเมืองหลวงเก่าของแคว้นมคธ เมืองปาฏลีบุตร มีความสำคัญในสมัยหลังพุทธกาล ในฐานะที่เป็นแหล่งที่คำสอนของพระพุทธศาสนาออกไปสู่ประเทศต่าง ๆ นี่เรามาถึงเมืองราชคฤห์นี้ ก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเพราะเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะไปแผ่ออกจากเมืองปาฏลีบุตร ไปยังประเทศต่าง ๆ ได้
ก็ต้องมาเริ่มต้นที่นี่ก่อน เมืองทั้งสองนี้ มีความสำคัญด้วยกันทั้งคู่ ทว่าในทางการเมืองแล้ว ก็มีความสำคัญในแง่ที่ว่าทั้ง 2 แห่ง ก็เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธด้วยกัน อย่างที่กล่าวแล้วว่าปาฏลีบุตรเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธหลังพุทธกาล ส่วนราชคฤห์นี้ เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธในสมัยพุทธกาล
ในทางการเมืองก็มีความเหมือนกันอย่างนี้ ในทางพระศาสนาก็เหมือนกัน ในแง่ที่ว่าเป็นศูนย์กลางที่พระพุทธศาสนาเผยแพร่ออกไป สำหรับเมืองราชคฤห์นี้ เป็นที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประดิษฐานพระพุทธศาสนา และมีความสำคัญกับพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ ก็เคยเสด็จมาที่นี่ เมื่อเสด็จออกบรรพชาแล้ว ดังที่เราทราบกันว่าได้เสด็จมาที่แม่น้ำอโนมา และก็อธิษฐานเพศบรรพชาและตัดพระเมาลีที่นั่น
แล้วต่อมาก็เสด็จมาที่เมืองราชคฤห์นี้ พระเจ้าพิมพิสารได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาตอยู่แล้ว ก็ได้ทรงมีความเลื่อมใสแล้วก็ได้ทรงสนทนากับพระพุทธเจ้า และก็ได้รับพรจากพระพุทธเจ้า คือเป็นคำคล้าย ๆ ปฏิณญาณจากพระพุทธเจ้า ขอให้พระองค์รับว่า เมื่อทรงค้นพบสัจธรรมแล้ว ก็ขอให้เสด็จมายังเมืองราชคฤห์นี้
เมื่อพระพุทธเจ้าบรรลุโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จมาประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่เมืองราชคฤห์นี้ ในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่าทรงปฏิบัติตามพุทธปฏิญาณที่ได้ประทานไว้แก่พระเจ้าพิมพิสาร แต่ว่า ในอีกแง่หนึ่งก็มองในแง่กิจการของพระพุทธศาสนา ก็ถือว่ามีความสำคัญในฐานะที่ว่า เมืองนี้เป็นเมืองใหญ่ เป็นศูนย์กลางของกิจการบ้านเมือง พระพุทธเจ้าย่อมทรงเลือกว่า จะให้พระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลายต่อไปนั้น จะเริ่มต้นที่ใด ปรากฏว่าเมืองราชคฤห์นี้ ก็ได้กลายเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา
เมื่อประดิษฐานพุทธศาสนา ทรงมาแสดงธรรมที่นี่ ทำให้พระเจ้าพิมพิสารได้ดวงตาเห็นธรรม ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ และก็เหตุการณ์สำคัญ สิ่งที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในพุทธศาสนาอีกหลายอย่างก็เกิดขึ้นที่นี่ ก็คือการถวายวัดเวฬุวัน ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ก็เกิดขึ้นที่เมืองนี้
ซึ่งเข้าใจว่าพรุ่งนี้คงมีเวลาที่จะไปแวะเยี่ยมเยือนวัดเวฬุวันด้วย และก็ประจวบกับช่วงนี้ก็จะถึงวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่วัดเวฬุวันนั่นด้วย ก็นับว่าเป็นเวลาที่เหมาะที่เราจะได้ไปนมัสการพระพุทธเจ้าที่เวฬุวันนั่นด้วย นั่นก็เป็นเรื่องของวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ทรงบำเพ็ญพุทธกิจที่เมืองราชคฤห์นี้ในพรรษาแรกนี้ พุทธกิจนี้ดำเนินก้าวหน้าไปเป็นอย่างมาก
ที่ควรกล่าวไว้อีกอย่างหนึ่งก็คือ การได้พระอัครสาวก คือ พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ที่ชาวพุทธเรานิยมเรียกกันว่า พระโมคคัลลาสารีบุตร ในการได้ พระอัครสาวกก็มาเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาต่อไป แต่ว่าจุดสำคัญที่เป็นจุดสุดยอดศูนย์กลางพุทธกิจของเมืองราชคฤห์ก็คือที่นี่ ที่พระมูลคันธกุฎีนี้ซึ่งเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์เสด็จประทับที่นี่เราเรียกว่าเป็นศูนย์กลางของพุทธกิจ เพราะว่ากิจการของพระพุทธศาสนาต้องเริ่มต้นมาจากองค์พระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้นเรามาที่นี่ก็ถือว่าเป็นจุดสุดยอดทีเดียว เป็นจุดศูนย์กลางของเมืองราชคฤห์อีกทีหนึ่ง เมื่อเราว่าเมืองราชคฤห์เป็นศูนย์กลางของการประดิษฐานของพระพุทธศาสนา ก็ต้องถือว่าพระมูลคันธกุฎีนี้เป็นจุดศูนย์กลางของการประดิษฐานพระพุทธศาสนาอีกชั้นหนึ่งด้วย และอีกประการหนึ่งก็เมืองราชคฤห์ยังมีความสำคัญในหลังพุทธกาล
ก็คือว่า หลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันปรินิพพานแล้ว พระมหาสาวกทั้งหลายก็ได้เลือกเอาเมืองราชคฤห์นี้แหละ เป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่หนึ่ง การสังคายนานั้นก็ถือว่ามีความสำคัญมากที่สุด เป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนาหลังพุทธกาล คือพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ ก็ถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา
การปฏิบัติพุทธศาสนากิจของพระองค์ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการที่พระพุทธศาสนาจะเผยแผ่ไป ทีนี้หลังพุทธกาลแล้วพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า เมื่อพระองค์ล่วงลับไป พระธรรมวินัยที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้และบัญญัติไว้จะเป็นศาสดาแทนพระองค์ แต่เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไป พระมหาสาวกทั้งหลายมีพระมหากัสสปะเป็นประธานก็มาปรารภว่า พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อาจจะกระจัดกระจายและเลือนลางหายไปได้
ก็จึงได้มีการตกลงกันมีมติว่า จะประชุมกันทำสังคายนา อาราธนาพระธรรมวินัยเนี่ย มาเป็นองค์พระศาสดาสืบต่อแทนองค์พระพุทธเจ้า อันนั้นก็เป็นการเริ่มต้นเหตุการณ์ครั้งใหญ่ของพระพุทธศาสนาหลังพุทธกาล จุดเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่งหลังพุทธกาลก็เริ่มต้นที่นี่ เพราะฉะนั้นเมืองราชคฤห์จึงมีความสำคัญมาก สำคัญทั้งในแง่ของการเริ่มต้นของพระพุทธศาสนาในสมัยพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ และก็เป็นจุดเริ่มต้นของงานพระศาสนา คือการสังคายนาหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
เรามาเมืองนี้มีความสำคัญ และดังที่ได้กล่าวแล้วว่าที่มูลคันธกุฎีบนยอดเขาคิชกูฏแห่งนี้แหละ ที่เป็นศูนย์กลางแห่งการบําเพ็ญพุทธกิจ และการปฏิบัติกิจในพระพุทธศาสนาทั้งหมด ฉะนั้นเราได้มาถึงที่นี่แล้วจึงควรจะได้มีความปลาบปลื้มใจ ปีติ อิ่มใจว่า เราได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงสถานที่ประทับของพระองค์
พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสประทานพระโอวาทไว้ ทรงสั่งสอนเนืองเนืองว่าแม้พระรูปกายของพระองค์คือพระองค์จะล่วงลับไป แต่พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงไว้ก็ยังคงอยู่ มองในแง่หนึ่งนั้นคำสอนของพระพุทธเจ้าในแง่นี้ก็ให้ทั้งเรื่องของศรัทธาและปัญญา คือในแง่หนึ่งเราก็อยากจะมาเฝ้านมัสการพระพุทธเจ้า ไปดู ไปรู้ ไปเห็น ไปเยือนสถานที่สำคัญที่เกี่ยวกับพระองค์ เราเรียกสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยเสร็จไปประทับ ว่าเป็นเจดีย์ชนิดหนึ่ง
เจดีย์ก็เป็นสิ่งที่ระลึกเตือนใจเราให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ทีนี้นั้นเจดีย์มีหลายอย่าง เจดีย์อย่างหนึ่งก็คือ บริโภคเจดีย์ คำว่า บริโภคเจดีย์ก็แปลว่า เจดีย์ คือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สอย หรือเคยใช้สอยมาก่อน พระคันธกุฎีคือสถานที่ที่พระองค์เคยประทับ ก็เป็นเสนาสนะ คือที่ทรงใช้สอย จึงจัดเป็น(บอ-ริ-โพ-คะ) เจดีย์ หรือบริโภคเจดีย์ชนิดหนึ่งเหมือนกัน
เรามานมัสการพระองค์ที่นี่ ก็คือมานมัสการ(บอ-ริ-โพ-คะ)เจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์ชนิดหนึ่ง แต่มีความสำคัญมากในฐานะที่ว่า เป็นที่พระองค์ทรงเคยประทับอยู่จริง เมื่อมาอย่างนี้แล้วจิตใจของเราก็จะได้เกิดความรู้สึกปลาบปลื้มใจ อย่างที่กล่าวแล้วว่า เราในฐานะชาวพุทธ เราห่างจากพระองค์โดยกาลเวลาถึง 2500 กว่าปี เราห่างโดยสถานที่ คือผู้อยู่ในประเทศไทย ห่างไกลจากประเทศอินเดียหรือ ชมพูทวีป ความห่างไกลนั้นทั้งสองประการ
บัดนี้เรานำตัวเข้ามาอยู่ใกล้พระองค์ มาถึงที่ประทับแล้วเราก็น้อมใจรำลึกถึงพระองค์ เราก็เกิดความรู้สึกปลาบปลื้มใจดังที่กล่าวมา เป็นเครื่องเจริญศรัทธา แล้วก็ศรัทธาเป็นเครื่องน้อมนำจิตใจของเราให้เจริญในธรรมยิ่งขึ้น แต่ศรัทธาจะเกิดผลดังกล่าวได้นี้ก็ ต้องมีความสัมพันธ์กับปัญญา ศรัทธาในทางพระพุทธศาสนา ท่านให้เกื้อกูลต่อปัญญา ประกอบด้วยปัญญาและนำไปสู่ปัญญาเสมอ ศรัทธาของเรานำไปสู่ปัญญาเบื้องต้นก็คือว่า เป็นเครื่องเตือนใจเราให้ระลึกถึงคำสอนของพระองค์ พอเราระลึกถึงพระพุทธเจ้า ใจของเราก็โน้มนำไปถึงคำสอนของพระองค์ทันที ไม่ได้ติดอยู่แค่พระรูปกายของพระองค์เท่านั้น แต่นึกไปถึงว่า สิ่งที่พระองค์ทรงสอนเราไว้ให้ประพฤติปฏิบัติ เมื่อเราระลึกถึงพระองค์แล้ว ก็มาระลึกถึงคำสอนของพระองค์ เมื่อเราระลึกถึงคำสอนของพระองค์ก็จะมีผลในทางปฏิบัติเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเรา และเมื่อเราปฏิบัตินอกจากจะมีผลต่อชีวิตของเราแล้ว ก็มีผลต่อสังคม ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อโลก ทุกคนได้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ทำตามคำสั่งสอนของพระองค์ ก็จะทำให้โลกนี้มีสันติสุขสืบต่อไป ศรัทธาจึงต้องนำไปสู่ปัญญา
เรื่องนี้พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสเตือนไว้เสมอ อย่างเช่นพระสาวกองค์หนึ่งในสมัยพุทธกาล เมื่อบวชมาแล้วก็มีความหลงใหลในพระรูปกายของพระพุทธเจ้า คือติดในรูปโฉมของพระพุทธเจ้ามาก แม้ที่มาบวชก็บวชด้วยความรู้สึกอย่างนั้น คืออยากอยู่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า จะได้เฝ้าพระองค์ จะได้ติดตามพระองค์เรื่อยไป ท่านผู้นี้ก็คือพระวักกลิ บวชเข้ามาแล้วก็มีความติดใจในพระรูปโฉมของพระพุทธเจ้า ก็คอยติดตามไปนู่นไปนี่อยู่ตลอดเวลา
พระพุทธองค์ทรงมองเห็นความเป็นไปและพฤติกรรมของพระวักกลิอยู่เสมอ ก็ทรงปรารถนาพระประโยชน์ต่อพระวักกลิ ก็เห็นว่าถ้าพระวักกลิจะมัวติดใจในพระรูปกายและพระรูปโฉมของพระองค์อยู่นี้ ก็จะก้าวหน้าในธรรม อันนี้ก็จะอยู่ในแค่ขั้นศรัทธา ควรจะให้ศรัทธานี้นำไปสู่ปัญญาสืบต่อไป คือศรัทธานี้ควรจะเป็นสื่อนำไปสู่ความก้าวหน้าของการปฏิบัติ เพื่อชีวิตที่ดีงามของพระวักกลิเอง พระองค์ก็ทรงรอเวลา การที่พระพุทธเจ้าจะตรัสอะไร ก็จะต้องดูเวลาความพร้อมของบุคคล เช่น ทรงตรวจดูความแก่ของอินทรีย์หรือ ความสุขงอมของอินทรีย์ก่อน
จนกระทั่งวันหนึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสออกไป การตรัสของพระองค์ก็เป็นการให้สติแก่พระวักกลิ แต่วิธีการตรัสของพระองค์ บางครั้งก็ใช้ถ้อยคำรุนแรงนิดหน่อย ถือว่าเพื่อจะเป็นการทำให้เกิดความสะดุดหรือกระตุก และก็จะทำให้เกิดความรู้สึกที่จะถือว่าเป็นปฏิกิริยาก็ได้ แต่ความรู้สึกที่สะท้อนขึ้นมานี้จะนำไปสู่ผลสืบต่อไปข้างหน้าซึ่ง ถ้าหากว่าจะชักนำถูกต้องก็จะนำไปสู่ผลที่ดีงาม
วันหนึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสกับพระวักกลิบอกว่า ดูก่อนวักกลิ จะตามดูไปทำไมกับร่างกายที่เปื่อยเน่าได้นี้ และก็ตรัสต่อไปอีกบอกว่า ผู้ใดแม้แต่จะจับชายสังฆาฏิของพระองค์ มุมจีวรของพระองค์นี้ ติดตามพระองค์ตลอดไป ก็หาได้ประโยชน์อะไรแท้จริงไม่ แท้จริงผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา อันนี้เป็นพุทธพจน์ที่สำคัญ เราก็จำกันท่อนที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา คือหมายความว่าจะมาเพียงแต่ว่าตามรูปกาย และก็เห็นพระวรกายของพระองค์นี้ไม่ชื่อว่าเห็นธรรมหรอก ไม่ชื่อว่าเห็นพระองค์อย่างแท้จริงด้วย เห็นพระวรกายของพระองค์ยังไม่ชื่อว่าเห็นพระองค์ แต่เมื่อใดเห็นธรรมเมื่อนั้นจึงจะชื่อว่า เห็นพระพุทธเจ้านี่พระองค์ตรัสเตือนไว้ เตือนว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม
หมายความว่า การเห็นองค์พระพุทธเจ้ากับการเห็นธรรมนี่ก็มีความหมายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าหากว่ามัวแต่จะติดตามพระองค์ในแง่ที่จะมองดูพระวรกาย แล้วผู้นั้นก็จะไม่ได้เห็นอะไรนอกจากขันธ์ห้า ที่มีความแตกดับเสื่อมสลายไปได้ ไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริง การที่จะเห็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริงก็ต้องเห็นธรรม
อันนี้ก็เป็นคำตรัสเตือนที่สำคัญมาก นี่แหละก็คือการโยงจากศรัทธาไปสู่ปัญญา ถ้าหากว่าเราจะใช้ศรัทธาให้เป็นประโยชน์ ศรัทธาซึ่งเกิดจากการที่ได้มีความเลื่อมใสในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างที่เรามานมัสการพระองค์ในสถานที่นี้ ศรัทธาก็จะเป็นเครื่องเตือนใจเราให้ระลึกต่อไปในคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็คือตัวธรรมะ และก็พยายามประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ก็จะเกิดผลต่อชีวิตอย่างแท้จริง และอีกประการหนึ่งที่พระองค์ตรัสไว้ ก็คือ ธรรมะในแง่ของความจริงของสิ่งทั้งหลาย ความจริงของสิ่งทั้งหลายประการหนึ่งก็คือ ความไม่เที่ยง ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ซึ่ง การที่เรามา ณ สถานที่นี้ มองในแง่หนึ่งก็เป็นเครื่องเตือนจิตของเราให้ระลึกถึงความจริงข้อนี้ด้วย จะเห็นว่าสถานที่นี้ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น บัดนี้ก็เหลือแต่ซาก นิดเดียวเท่านั้นเอง ซึ่งแม้แต่ซากเหล่านี้ก็คงต้องอาศัยการขุด การแต่ง เพราะว่าผ่านกาลเวลายาวนานตั้ง 2500 กว่าปีแล้ว สถานที่แห่งนี้ก็ทรุดโทรม แตกหักปรักพังไป ความเป็นอนิจจังก็เข้ามาครอบงำ สิ่งที่เป็นสังขารทั้งหลาย และไม่เฉพาะพระคันธกุฎีนี้เท่านั้น
องค์พระพุทธเจ้าเองก็ล่วงลับดับขันธปรินิพพานไปแล้ว มองกว้างออกไปแล้ว สถานที่เป็นที่ตั้งของพระคันธกุฎีนี้ก็คือเมืองราชคฤห์ทั้งหมด เมืองราชคฤห์นั้นก็เคยเป็นเมืองหลวงเป็นราชธานีของมหาอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่คือแคว้นมคธ เคยเต็มไปด้วยผู้คนประชาชนพลเมืองมากมายในเมืองนี้และบัดนี้เป็นอย่างไร บัดนี้ก็ไม่มีอะไร เมืองราชคฤห์ก็กลายเป็นที่รกร้าง เป็นถิ่นห่างไกล เป็นชนบท เป็นบ้านนอกไป อันนี้ก็คือความเปลี่ยนแปลงซึ่งเราจะเห็นได้ ในเรื่องของความเสื่อมความเจริญในสังคม ของประเทศชาติ และอารยธรรมทั้งหลาย และแม้แต่สังคมอินเดียทั้งหมดในชมพูทวีป ก็เปลี่ยนแปลงไป
ประเทศอินเดียนี้ เคยเป็นดินแดนของ อารยธรรมความเจริญก้าวหน้า เป็นศูนย์กลางของความคิด สติปัญญา และวิทยาการต่าง ๆ มากมาย แต่บัดนี้ อินเดียก็ได้เสื่อมสลายลงไป อารยธรรมก็เคยถึงกับจบสิ้นไปยุคหนึ่ง ถึงขั้นกล่าวได้ว่าอินเดียเคยเป็นอู่ คือเป็นแหล่งที่เกิดและที่อยู่ของแหล่งอารยธรรม ที่เจริญของ อารยธรรม และต่อมาก็เป็นสุสานของอารยธรรมไป และเวลานี้ก็กลายเป็นตู้โชว์ของอดีต คือไม่มีอะไรที่ดีงามในปัจจุบันแล้ว มีแต่เรื่องของอดีต เวลาเรามาชมอินเดียก็มาชมสิ่งที่เคยมีหลักฐานแสดงความเจริญในอดีตเท่านั้นเอง ส่วนปัจจุบันนี้เราก็จะได้เห็นแต่สภาพที่น่าสลดหดหู่ใจ ถ้าเราทำใจไม่ถูกก็มีแต่ความหดหู่ ความเศร้าหมอง ความขุ่นมัว หรือบางทีก็พลอยหงุดหงิดด้วย
จึงต้องมีการเตือนอยู่เสมอว่า มาอินเดียแล้วต้องทำใจให้ถูกนะ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นคติเตือนใจ ให้ความหมายหลายอย่างในทางสติปัญญา นอกจากให้คติในความเป็นอนิจจัง ในความไม่เที่ยงในสังขารทั้งหลายแล้ว ยังทำให้เรามองตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาถึงเรื่องของการเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
เราอาจจะศึกษาถึงสังคมอินเดียด้วยว่า ในสมัยพุทธกาลพระพุทธศาสนาเคยเจริญ ผู้คนก็เคยมีศรัทธาเลื่อมใส ต่อมาพระพุทธศาสนาเจริญยิ่งขึ้นมาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระพุทธศาสนาก็แผ่ไพศาลประชาชนก็มีความเจริญก้าวหน้าในทางทั้งด้านวัตถุและทางจิตใจ และต่อมาประเทศอินเดียปัจจุบันเป็นอย่างไร
สภาพที่เราเห็นอยู่ มีความยากจนข้นแค้น ต่าง ๆ มีความสกปรกรกรุงรังอย่างที่เราเห็น ญาติโยมหลายคนก็อาจรู้สึกไม่สบายใจ ถ้าหากว่าเราไม่ได้ทำใจตามคำสอนของพระพุทธเจ้า อันนี้เป็นไปได้อย่างไร อะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสื่อมความเจริญเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะนำน้อมมาพิจารณาให้เป็นประโยชน์ เป็นเรื่องสติปัญญาทั้งสิ้น
แต่เอาง่าย ๆ ว่าสิ่งทั้งหลายที่ได้เกิดมีขึ้นมาที่เกี่ยวข้องกับสถานที่นี้ เป็นพระมูลคันธกุฎีบนเขาคิชฌกูฏนี้ก็ดี และก็ที่ล่างลงไปที่กว้างลงไปคือเมืองราชคฤห์ก็ตาม ตลอดไปจนกระทั่งที่เราผ่านมาก็คือมหาอาณาจักรมคธทั้งหมด ชมพูทวีปทั้งหมด ที่มีเมืองปาฏลีบุตรของพระเจ้าอโศกเป็นศูนย์กลางนั้น ซึ่งเจริญรุ่งเรืองยิ่งกว่าที่นี่อีก เพราะว่าตอนสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น ชมพูทวีปแคว้นมคธนี้แผ่ไพศาลไปมากมายจนได้กล่าวแล้วว่า ยิ่งใหญ่กว่าประเทศอินเดียในยุคปัจจุบันหรือในยุคใด ๆ ก็ตามของชมพูทวีป ในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าราชคฤห์หรือปาฏลีบุตรหรือปัฏนะนั้น ก็มีแต่ความ เสื่อมโทรมทั้งนั้นเลย ไม่มีอะไรที่แสดงถึงความเจริญ ถ้าไม่มีประวัติศาสตร์ไม่มีนักค้นคว้าโบราณคดีมมาค้นคว้ามาแสดง คนก็ไม่รู้ว่าราชคฤห์อยู่ที่ไหน เมืองปาฏลีบุตรอยู่ที่ไหน สิ่งเหล่านี้สูญหาย สลักหักพัง ล้มไป หายไปพร้อมกับกาลเวลาทั้งสิ้น มหาอาณาจักรต่าง ๆ ก็หมดไปได้
พระพุทธเจ้าเคยเตือนเราด้วยคำสอน ตั้งแต่สมัยพุทธกาลจารึกไว้ในพระไตรปิฎก พระองค์เคยตรัสเล่าถึงถึงเรื่องของอาณาจักรยิ่งใหญ่ในอดีตมากมาย อย่างบางพระสูตรนี้ก็จะตรัสถึงเมืองใหญ่ๆอย่างมหาสุทัศนสูตร ก็ตรัสแสดงถึงเมืองกุสสาวดี เรื่องของมหาอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในอดีต ตรัสพรรณนาความรุ่งเรือง ความงดงามใหญ่โตของสิ่งก่อสร้าง ของพระราชวังต่าง ๆ มากมายและเสร็จแล้วท้ายที่สุด
พระองค์ก็ตรัสบอกว่า บัดนี้สิ่งเหล่านี้ก็ได้สูญสลายหมดสิ้นไปกับกาลเวลาแล้วนี้ นี่แหละความเป็นอนิจจัง บางแห่งก็ตรัสถึงเรื่องของความเป็นไปในพระชนม์ชีพของพระองค์เองว่า พระองค์เองนี้ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีมหาสาวก มีพระสาวกมากมายแวดล้อมเป็นบริวาร แล้วพระองค์เอง ตามที่ปรากฏในทางรูปกาย พระวรกายความงดงาม มีฉัพพรรณรังสี เสด็จไปบําเพ็ญพุทธกิจในที่ต่าง ๆ พระองค์ก็ตรัสถึงความรุ่งเรืองแห่งพระชนม์ชีพของพระองค์
แล้วในที่สุดพระองค์ก็ตรัสบอกว่า ในที่สุดแล้วพระองค์ก็จะต้องจากไป สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสังขารมีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา จะต้องสูญสิ้นไป เกิดแล้วก็แตกดับไปเป็นธรรมดา อันนี้ก็เป็นเรื่องของการที่ว่า พระองค์จะตรัสเตือนเรา ให้น้อมรำลึกถึงธรรมะ ความจริงของสิ่งทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้มาถึงสถานที่ที่เกี่ยวกับ พระพุทธองค์อย่างนี้แล้ว
ในแง่หนึ่งก็มีความเจริญศรัทธาว่าเราได้มาเฝ้าพระองค์ถึงที่ประทับของพระองค์ อันนั้นได้ความเลื่อมใสที่มีต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นเรื่องของศรัทธา แต่ก็พร้อมกันนั้นศรัทธานี้ สำหรับเราชาวพุทธนั้นก็ไม่ตันอยู่แค่นั้นก็จะนำไปสู่ปัญญา ขั้นที่หนึ่งก็คือว่า ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้ เราน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ เราต้องการจะบูชาพระพุทธเจ้า เราก็เอาดอกไม้ธูปเทียนมาบูชา พระองค์ก็ตรัสเตือนไว้อีก บอกว่าการบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนเป็นอามิสบูชานี้ยังไม่ใช่เป็นการบูชาที่ได้ผลมากแท้จริงนะ จะบูชาให้ได้ผลแท้จริง จะต้องบูชาด้วยการปฏิบัติ คือการนำธรรมะของพระองค์มาทำให้เกิดผลในชีวิตของเราอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นปฏิบัติบูชาก็เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมบูชา คือการบูชาด้วยธรรมะด้วยการปฏิบัติธรรมนั่นเอง
อันนี้ถ้าเราทำได้สำเร็จแล้วการมานมัสการสถานที่สำคัญ มีสังเวชนียสถานเป็นต้น ก็จะเกิดผลประโยชน์อย่างแท้จริง นอกจากนั้นแล้วก็น้อมนำจิตไประลึกถึงธรรมในความหมายอย่างที่กล่าวมาอย่างเมื่อกี้ ว่าระลึกถึงความจริงของสังขารทั้งหลาย ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
และเราก็จะได้ไม่ฝากเอาชีวิตและความสุขของเราไว้กับสิ่งทั้งหลาย ที่เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ล่วงลับไปแตกดับไป เราก็เห็น ๆ กันอยู่ ไม่ใช่เฉพาะแต่มหาอาณาจักร เรามองในแง่สังคม ว่าสังคมเสื่อมสลายไป เรามองตั้งแต่ องค์พระพุทธเจ้าก็ปรินิพพานสิ้นไป พระมหาสาวกทั้งหลาย กี่องค์ กี่องค์ มหาสาวก 80 องค์ หรือพระสาวกกี่องค์ก็ตามก็ปรินิพพานไปหมด
และต่อมาอาณาจักรเอง ทั้งอาณาจักรมคธในสมัย ราชคฤห์ก็สลายไป อาณาจักรมคธในยุคปาฏลีบุตรก็สลายไป แต่เราจะบอกว่า สิ่งที่ยังอยู่คือ ดูสิ แม้ว่าอาณาจักรเหล่านี้จะสูญสิ้นไป ผู้คน สังคมหมดไป แต่ว่าภูเขายังอยู่ ดินยังอยู่ ฟ้ายังอยู่ ท่านยังเห็น สิ่งที่เหลืออยู่คือสิ่งเหล่านี้ดินน้ำลมไฟภูเขา อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าเราไปดูมองออกไปยังทะเลก็ยังมีเหลือแต่ทะเล เหลือแต่น้ำในทะเลนั้น ก็ยังมีน้ำซัดเป็นคลื่นซัดฝั่งอยู่ตลอดเวลา
แม้อาณาจักรทั้งหลายจะผ่านพ้นล่วงลับไปสูญสิ้นไป แต่ว่าธรรมชาติก็ยังทำหน้าที่ของมัน เช่นว่า เราไปอยู่ที่ฝั่งทะเลนี่ เห็นคลื่นซัดฝั่ง คลื่นซัดฝั่งนี้ มันทำหน้าที่ของมันอยู่ตลอดเวลา สองพันสามพันกว่าปีมาแล้วฉันใด เดี๋ยวนี้ก็ยังทำของมันอยู่ของมันอย่างนั้น กาลเวลาผ่านไปมนุษย์ล่วงลับไป อาณาจักรอารยธรรมต่าง ๆ ผ่านพ้นไป คลื่นทะเลก็ยังซัดฝั่งอยู่ตามเดิม เหมือนกับว่าธรรมชาตินี่แหละที่ตัวยืนยงกว่า แต่ว่า มองไปอีกทีหนึ่ง แม้ธรรมชาติเหล่านี้ ก็มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมออย่างภูเขาดินน้ำลมไฟนี้มันก็ไม่ได้คงสภาพอยู่ ภูเขาก็เปลี่ยนแปลงไปแต่ว่าอาศัยกาลเวลายาวนาน
อย่างเราจะเห็นง่าย ๆ นี่เราจะเดินทางต่อไปอีก เราเดินทางต่อไปในที่ต่าง ๆ อีกมากมาย อีกไม่ช้าเราจะได้เห็น เช่น สถานที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เป็นต้น ที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นี่ก็ ที่แม่น้ำเนรัญชรา พอไปเห็นที่นั่นเราก็จะได้คติขึ้นมาอีก ที่นั่นก็มีแม่น้ำที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ แน่นอนแล้วว่าสถานที่สิ่งแวดล้อมนั้นเปลี่ยนแปลงไป แต่ว่า ดินมีน้ำมีแม่น้ำอยู่ตรงนั้น แม่น้ำเนรัญชรา แต่ว่าแม่น้ำเนรัญชราปัจจุบันนี้ก็ไม่เหมือนอย่างเก่าแล้ว ไม่เป็นแม่น้ำแล้วแต่เป็นแม่ทราย คือว่าน้ำมันไม่เหลืออยู่ เรามองไม่เห็นเลยเห็นแต่ทราย เดินลงไปเราสามารถเดินข้ามแม่น้ำได้ เพราะว่ามันมีแต่ทรายเท่านั้น
นั่นก็คือความเปลี่ยนแปลงของสังขารทั้งหลาย แม้แต่ธรรมชาติแวดล้อม ดินน้ำลมไฟก็เปลี่ยนสภาพของมันเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบต่างๆ ได้เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมองอะไรมันก็เป็นอนิจจังทั้งสิ้น มีแต่ความเปลี่ยนแปลงไป คติเหล่านี้ก็สามารถนำมาสอนใจของเราว่า เราอย่าเอาชีวิตความสุขของเราไปฝากไว้กับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งเป็นของไม่เที่ยงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราจะต้องเร่งสร้างความดีงาม สิ่งที่ประเสริฐให้เกิดขึ้นกับชีวิตของเราด้วยการปฏิบัติธรรม ธรรมะเท่านั้นที่จะทำให้เราเข้าถึงความดีงามชีวิตที่ประเสริฐ
ถ้าเรามัวแต่เอาชีวิตของเราไปฝากไว้กับสิ่งภายนอก ทรัพย์สินเงินทอง สิ่งทั้งหลายที่แวดล้อมอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น มันจะไม่ได้สาระที่แท้จริง เพราะสิ่งเหล่านี้ก็ล่วงลับดับสลายไปหมด ทำอย่างไรเราจะเข้าถึงสาระที่แท้จริงได้ ตัวสัจธรรมความจริงเท่านั้น ที่จะทำให้เราเข้าถึงสาระอันนี้ พระพุทธองค์ก็ทรงนำไว้เป็นแบบอย่างแล้ว
ในการที่พระองค์ได้เข้าถึงธรรมะ ความจริงของสิ่งทั้งหลายนี้ พระองค์ซึ่งเป็นมนุษย์ผู้หนึ่งเนี่ย ก็ได้เปลี่ยนเป็นพระพุทธเจ้าเข้าถึงอันเป็นสิ่งประเสริฐ และพระองค์ก็สั่งสอนตรัสเตือนเราอยู่เสมอ อย่างคติในทางพระพุทธศาสนาเป็นหลักการสำคัญ ที่เราสวดกันอยู่ ญาติโยมก็คงจะได้ยินพระสงฆ์สวดอยู่บ่อยๆ
เมื่อไปวัด มีพระสูตรหนึ่ง ที่ตรัสว่า อุปปาทา วา ภิกขะเว ตะถาคะตานัง อะนุปปาทา วา ตะถาคะตานั งฐิตาวะ สาธาตุธัมมัฏฐิ ตะตา ธัมมะนิยามะตา เป็นต้น ซึ่งมีใจความบอกว่า ตถาคตทั้งหลายจะอุบัติขึ้น คือพระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม สิ่งทั้งหลาย ความจริงตัวธรรมะมันก็เป็นอยู่ของมันอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทรงค้นพบธรรมะ ความจริง หลักที่เป็นธรรมนิยามอันนั้นแล้ว ก็ทรงนำมาเปิดเผย แสดง ชี้แจ้ง ทำให้เข้าใจได้ง่าย อันนี้แหละ คือตัวความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงเพียรพยายามบําเพ็ญพุทธกิจสั่งสอนเรา ก็เพื่อให้เราเข้าถึงตัวธรรมะนี้ ไม่ใช่ว่าไปอยู่แค่ ติดตามพระองค์เท่านั้น
การที่มีพระพุทธเจ้านั้นความมุ่งหมายและประโยชน์ของพระองค์ที่แท้นั่นก็คือว่าพระองค์ถือว่าพระองค์จะผู้ที่จะช่วยนำเราไปเข้าถึงความจริงนั้น ธรรมะคือความจริงนั้นก็มีอยู่ เป็นอยู่ปรากฏอยู่ตลอดเวลาตามธรรมดาของมัน แต่เราไม่มีปัญญา ไม่มีดวงตาปัญญาที่จะมองเห็นธรรมะได้อย่างพระองค์ พระองค์มีสติปัญญามาค้นพบธรรมะนั้น นำธรรมะมาแสดง เราได้ฟังคำสอนของพระองค์ ได้มองตามที่ได้พระองค์ทรงชี้ให้แล้ว เราก็สามารถเข้าถึงความจริงนั้นได้
เมื่อเราเข้าถึงตัวธรรมะความจริงแล้ว เราก็เห็นธรรมะอันเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงเห็นนั่นเอง เมื่อเห็นธรรมะเข้าถึงธรรมะที่พระองค์เห็นแล้ว เราก็จะมีชีวิตที่ดีงามประเสริฐ เข้าถึงสิ่งที่สูงสุดเช่นเดียวกับพระองค์ และเราก็จะเป็นอิสระ พระพุทธเจ้าทรงมีหลักการสำคัญที่ว่า ไม่ต้องการให้สาวกหรือผู้ใดมาติดพันขึ้นอยู่กับพระองค์ เพียงแต่ว่าอาศัยพระองค์เป็นสื่อ เป็นผู้ที่ช่วยชักนำไปสู่สิ่งที่ดีงาม คือเข้าถึงธรรมะนั่นเอง นั้นก็พระพุทธเจ้าทรงย้ำหนักหนาอันนี้
การทำหน้าที่ของพระองค์ก็เริ่มต้นด้วยศรัทธา เรามีศรัทธาในพระพุทธองค์ก็ทำให้เราฟังคำสอนของพระองค์ และจากการที่ฟังคำสอนของพระองค์เราก็เลยเข้าถึงความจริง ธรรมะที่พระองค์ทรงเข้าถึงมาแล้ว ด้วยปัญญาของเราเองเช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงเข้าถึงแล้ว เพราะฉะนั้น ศรัทธาจึงน้อมนำไปสู่ปัญญา อันนี้คือประโยชน์ที่แท้จริงในการที่นับถือพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นเราได้เดินทางมายังสถานที่นี้แล้ว เราได้มาเจริญศรัทธาอันนั้นจะเป็นประโยชน์มาก ศรัทธามีกำลังแรงกล้าขึ้น ก็จะทำให้เรามีกำลัง มีกำลังใจเข้มแข็งในการที่จะประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
การปฏิบัติงานนั้นก็จะหนักแน่นจริงจัง และอีกประการหนึ่งที่ควรจะเป็นข้อคิดก็คือว่า ในแง่ของการที่เราจะเข้าถึงธรรมะของพระองค์ ให้เข้าถึงสิ่งที่ประเสริฐสำหรับชีวิตของเรานี้ เป็นส่วนตัวของแต่ละคนละคน ซึ่งเราทุกคนมีหน้าที่สำหรับชีวิตของเรา เราควรจะต้องเข้าถึงสิ่งที่ดีงามที่สุดที่ประเสริฐสุดของชีวิตคือการเข้าถึงธรรมะ แล้วก็ทำให้ ได้รับผลแห่งอมตะ คือจุดหมายของพระพุทธศาสนา แต่พร้อมกันนั้นในแง่ของธรรมะอีกด้านหนึ่งก็คือธรรมะที่เกี่ยวกับสังคม เกี่ยวกับการดำรงอยู่ของหมู่มนุษย์
อันนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในแง่ของความเป็นไปของสรรพสิ่งที่เป็นสังขาร ที่เราจะเรียกภาษาง่าย ๆ ว่าที่เป็นธรรมชาติเป็นไปเนี่ย มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยเปลี่ยนแปลงไปเป็นอนิจจัง ที่นี้อนิจจังอันหนึ่งคือความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตัวมนุษย์ ความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับมนุษย์และสังคมมนุษย์เนี่ย เรามีศัพท์เรียกพิเศษ คือความเปลี่ยนแปลงที่เป็นกลางๆ เปลี่ยนแปลงไปในด้านหนึ่งนี่ถูกใจมนุษย์ เปลี่ยนแปลงไปอีกด้านหนึ่งไม่ถูกใจมนุษย์ ที่จริงในแง่ของธรรมชาติแล้วมันเป็นความเปลี่ยนแปลง เป็นกลางๆ ไม่เข้าใครออกใคร คือธรรมชาตินี้ไม่ได้ดีไม่ได้ร้ายในตัวมันเอง
ในแง่ของกฎความเป็นอนิจจัง ตัวอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นเป็นกฎธรรมดาเป็นกฎธรรมชาติ ไม่ดีไม่ชั่ว แต่ปรากฏแก่มนุษย์ในแง่ที่ว่า ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเป็นที่ปรารถนา ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างไม่เป็นที่ปรารถนา ความเปลี่ยนแปลงที่เราปรารถนากันมากก็คือ ความเจริญ ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ปรารถนาก็คือความเสื่อม ความเปลี่ยนแปลงจะเรียกว่าเป็นความเสื่อมหรือความเจริญก็ตามนั้น
เป็นเรื่องของมนุษย์เกี่ยวพันกับมนุษย์ เพราะฉะนั้น มนุษย์นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ แล้วก็มนุษย์ที่จะมาเป็นเหตุเป็นปัจจัยนี้ ถ้าหากว่าเป็นผู้ที่มีสติปัญญานำเอาความรู้ในความจริงของธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ก็จะนำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่พึงประสงค์กับตนได้ เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงที่พึงประสงค์ เกิดจากการทำเหตุปัจจัยนี้ก็จะทำให้เกิดความเจริญ เพราะฉะนั้นมนุษย์ที่มีสติปัญญาเข้าถึงธรรมะ จะได้ประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง คือเขาสามารถที่จะใช้ความรู้ในการเข้าถึงเหตุปัจจัยนั้น มากระทำเหตุปัจจัยในการที่จะทำ เกิดความเปลี่ยนแปลงที่พึงปรารถนาหรือที่เรียกว่าความเจริญ พร้อมกันนั้นเขาก็สามารถที่จะรู้ เข้าใจ เหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า ความเสื่อม และในความรู้นั้นเขาก็สามารถป้องกันแก้ไข กำจัดแห่งความเสื่อมนั้นได้ โดยการที่เขาสามารถแก้ไข ป้องกัน กำจัดเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อมนั้นได้ และสร้างเหตุปัจจัยแห่งความเจริญนี้เขาก็สามารถทำให้สังคม แม้แต่ชีวิตของตนมีความสุขความเจริญดีงามยิ่งขึ้นไปได้
อันนี้เป็นจุดสำคัญในคำสอนอย่างหนึ่งในคำสอนของพระพุทธเจ้า คือเหตุปัจจัยในส่วนที่เกี่ยวกับตัวมนุษย์ ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นเหตุแห่งความเสื่อมความเจริญนี้ มนุษย์มีส่วนที่จะเข้าไปจัดการได้ และอันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของการที่มีปัญญาเข้าถึงธรรมะ นำเอาความรู้ในธรรมะในเรื่องเหตุปัจจัยมาใช้ประโยชน์ พระพุทธเจ้าตรัสถึงกับว่าถ้าหากเรารู้จักปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องแล้วนี้ เราจะสามารถสร้างสรรค์สังคม ประเทศชาติของเราให้มีแต่ความเจริญไม่มีความเสื่อมก็ได้ อย่างเช่นหลักอปริหานิยธรรม เป็นต้น พระองค์ก็ตรัสเอาไว้ว่า ธรรมะเป็นที่ตั้งของความไม่เสื่อม หรือธรรมะไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม พระองค์ก็ตรัสเป็นหลักประกันไว้ว่าตราบใดที่พระภิกษุทั้งหลายยังประพฤติปฏิบัติตั้งอยู่ในหลักอปริหานิยธรรม
ก็พึงหวังได้แต่ความเจริญไม่มีเสื่อมเลย หรืออย่างตรัสกับชาวบ้าน ทางฝ่ายบ้านเมืองก็ตรัสเอาไว้ก่อนแล้ว ก็คือตรัสกับกษัตริย์ลิจฉวี แคว้นวัชชี ที่เราผ่านมาแล้ว พระองค์ก็ตรัสว่าถ้าหากว่า กษัตริย์ลิจฉวี ชาวแคว้นวัชชียังตั้งอยู่ในอปริหานิยธรรม 7 ประการที่ พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ ชาววัชชีก็จะมีแต่ความเจริญไม่มีความเสื่อม และไม่มีใครสามารถไปทำลายได้ อันนี้ก็เป็นการนำธรรมะมาใช้ประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง
ก็เป็นอันว่าเรื่องคำสอนของพระพุทธเจ้า ในเรื่องเกี่ยวกับคติธรรมดาของสังขาร การเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลายนี่ มีคติที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตแต่ละชีวิตแต่ละบุคคล ก็คือว่าเราจะมัวฝากความหวัง ฝากชีวิตฝากความสุขของเราไว้ กับสิ่งทั้งหลายที่เป็นสังขารภายนอกอันไม่เที่ยงแท้ อันไม่เป็นสาระอันแท้จริง และควรจะเข้าถึงธรรมะถึงสาระอันเป็นแก่นสารที่แท้จริงที่จะทำให้ชีวิตมีความประเสริฐ เลิศ มีความสุข ไร้ทุกข์ได้ มีความหลุดพ้นอันเป็นอิสระ ของแต่ละคน ของแต่ละชีวิต
พร้อมกันนั้นก็สามารถน้อมนำเอาความรู้ในธรรมะ คือสติปัญญาที่รู้ธรรมะไปใช้ประโยชน์ในการที่ว่าจะสร้างสรรค์สังคม ทำให้สังคมมีความเจริญงอกงาม ไม่เสื่อม การที่จะทำให้สำเร็จอย่างนี้โดยการตั้งในธรรม ก็มีหลักสำคัญคือ ความไม่ประมาท พระพุทธเจ้าตรัสย้ำหลักธรรมนี้ไว้เสมอ แต่ว่าสาระสำคัญของวันนี้ก็คือการโยงจากเรื่องคำของพระพุทธเจ้า
ซึ่งถ้าเราเข้าใจปฏิบัติให้ถูกต้องแล้วนี้ จะได้รับประโยชน์เป็นอันมาก จุดที่จะต้องย้ำก็มี 2 ส่วนดังที่กล่าวมาแล้ว ส่วนหนึ่งก็เกี่ยวกับชีวิตของแต่ละคน ที่ให้เข้าถึงสิ่งดีงาม ประเสริฐ แล้วก็มาช่วยกันสร้างสรรค์สังคม ให้สังคมหมู่มนุษย์นี้มีแต่ความสุขความเจริญยิ่งขึ้นไปอย่างที่พระองค์รับประกันไว้แล้ว ถ้าเราได้เข้าใจเหตุปัจจัยของความเสื่อมความเจริญ และปฏิบัติตามนั้น โดยไม่มัวแต่ทอดทิ้งสติ ไม่มัวแต่ปล่อยปละละเลยลุ่มหลงมัวเมา เสียแล้วเนี่ย เราสามารถจะทำให้เกิดแต่ความเจริญไม่มีเสื่อมก็ได้
นี่ก็เป็นการใช้ธรรมะให้มีประโยชน์นั่นเอง มองในแง่ของสังคมดังที่กล่าวมานี้ และอันนี้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นสำเร็จจะต้องอาศัยปัญญาด้วย แต่ปัญญาจะเกิดขึ้นและทำงานได้ผลดีก็จะต้องอาศัยศรัทธาด้วย วันนี้เราก็ได้มาที่นี่แล้ว ศรัทธานั้นเป็นตัวนำเรามา ศรัทธาได้นำตัวเรามาจนกระทั่งถึงสถานที่นี้ และมานมัสการสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ เมื่อศรัทธาได้ทำหน้าที่ของมันอย่างดีนี้แล้ว ก็ขอให้ศรัทธานั้นยังผลให้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปก็คือ มาเชื่อมต่อปัญญา ปัญญาที่จะเข้าถึงธรรมะดังที่กล่าวมาแล้ว
แล้วก็คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสแก่พระวักกลิก็จะเกิดผลกับตัวเราด้วย อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าอย่ามัวติดหลงอยู่แค่พระรูปกายของพระองค์เท่านั้น ผู้ใดแม้แต่ว่าเกาะชายสังฆาฏิของพระองค์ตามไปอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่ชื่อว่าเห็นพระองค์การที่จะเห็นพระองค์พระพุทธเจ้าก็คือการเห็นธรรม การที่จะธรรมได้ก็ต้องอาศัยพระพุทธองค์ พระวรกายของพระพุทธเจ้านี้ พระองค์ทรงเสด็จเคลื่อนไหวไปในที่ต่าง ๆ ก็ทรงนำเอาธรรมะไปด้วย นำเอาธรรมะไปประกาศ เราได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วก็เลยเป็นโอกาสให้เราได้ฟังธรรมะของพระองค์ จากการฟังธรรมะของพระองค์ เราก็สามารถเข้าถึงธรรมเมื่อเราเข้าถึงธรรม นั่นคือศรัทธานำไปสู่ปัญญา ก็จะเกิดผลงอกงามอย่างที่กล่าวมา
วันนี้ก็ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่าน ที่ได้เดินทางมาด้วยศรัทธาก็ขอให้ทุกท่านมีปีติ มีความอิ่มใจ ว่าเราจะทุกข์ยากลำบากอะไรแค่ไหน อันที่จริงเราก็มีความสะดวกมากทีเดียว เราเดินทางมาถึงที่นี่เราสละเวลา สละเรี่ยวแรง กำลังกายอะไรทุกอย่าง สละกำลังทรัพย์ด้วย มาก็ถึงจุดหมายแห่งหนึ่งแล้ว นี่ก็เป็นจุดสุดยอดแห่งหนึ่งในการเดินทางของเรา เราบรรลุวัตถุประสงค์นี้ ก็ขอให้โยมได้เกิดความสมใจปรารถนา เกิดความปีติอิ่มใจดังที่กล่าวมาแล้ว ความปีตินี้จัดเป็นเครื่องบำรุงน้ำใจ คนที่มีปีติความอิ่มใจแท้จริงนี้ สามารถอดอาหารได้นาน ๆ ที่เรียกว่ามีปีติเป็นภักษา
ทว่าว่าปีติก็เป็นความอิ่มชนิดหนึ่ง คนเรารับประทานอาหารเพื่อให้อิ่มแต่ว่าอิ่มกาย อิ่มกายแล้วก็ดำรงรักษาร่างกายของเราไว้ได้ ที่นี้อิ่มใจก็เหมือนกัน อิ่มใจนี่ก็ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตของเราทำให้เราอยู่ได้นาน ๆ ที่เรียกว่ามีปีติที่เป็นภักษา แล้วปีติหล่อเลี้ยงใจนี่มันมีผลดียิ่งกว่าอาหารที่ทำให้มีความอิ่มกายอีก อิ่มกายบางทีใจไม่สบายก็หน้าตาก็ไม่สดชื่น ไม่ผ่องใส ทั้ง ๆ ที่มีอาหารกินดีแต่หน้าตาไม่อิ่มเอิบ ไม่ผ่องใส แต่ถ้าอิ่มใจนี่ทำให้หน้าตายิ้มย่องผ่องใส มีความสุขที่แท้จริงได้อันนี้จึงเป็นส่วนที่สำคัญ ถ้าโยมถือว่าปีตินี้เป็นส่วนใจเราต้องมีทางกายด้วยก็ ขอให้ปีติความอิ่มใจนี้กลายเป็นส่วนเติมเต็ม ให้ความอิ่มกายนี้ได้ผลสมบูรณ์ เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ทั้งกายและใจด้วย ก็ขอให้โยมได้ทำใจให้เกิดปีติ ปรุงแต่งใจในทางที่เป็นกุศล เรียกว่าเป็นปุญญาภิสังขาร อย่าไปปรุงแต่งเป็นบาป เป็นอกุศล
เรามาถึงนี่นั่นเราได้มีโอกาสที่จะปรุงแต่งใจด้วยเป็นปุญญาภิสังขาร ทำใจให้เป็นบุญเป็นกุศล บุญกุศลนี้จะปรุงให้ชีวิตเรามีความเจริญ ความพัฒนายิ่งขึ้นไปก้าวหน้าในธรรมะ คำสอนของพระพุทธเจ้า และประสบความสุขความเจริญยิ่งขึ้นไป ก็ขออนุโมทนาโยมผู้ศรัทธาอีกครั้งหนึ่ง และก็ขอเอากำลังใจมาร่วมอวยพร โดยอ้างอิง คุณพระรัตนตรัย
โดยเฉพาะมาถึงสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับที่นี้แล้ว ก็ขออ้างพุทธานุภาพนี้แหละ เป็นเครื่องอำนวยพรแด่โยมญาติมิตรทุกท่าน พุทธานุภาเวนะ ธรรมานุภาเวนะ สังฆานุภาเวนะ ด้วยอานุภาพคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรมและคุณพระสงฆ์ พร้อมทั้งกุศล มีศรัทธาอันแรงกล้า พร้อมทั้งปีติเป็นต้นที่ตั้งขึ้นในจิตใจของโยมผู้ศรัทธาทุกท่านจงเป็นปัจจัยอันเป็นกำลังอภิบาลรักษา ให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกายกำลังใจ กำลังสติปัญญาพร้อมที่จะดำเนินกิจและดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ วัฒนาสถาพรร่มเย็นงอกงามในพระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยิ่ง ๆ ขึ้นไปโดยทั่วกันตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ