แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
สมเด็จฯ : ถามท่าน??? ทำไมมาสนใจพระอภิธรรมนะ
ตอบ : ก็จะศึกษาแบบคนทั่วๆไป ก็อ่านวรธรรมคติของท่านสมเด็จ??? วันปีใหม่หรือวันพระราชสมภพ วันคล้ายวันประสูตร??? จะพยายามสร้างคุณสมบัติว่า ถึงแม้เราจะไม่ทุกข์ ก็ควรที่จะสร้างภูมิต้านทานเพื่อจะได้คิดอะไรได้ดีขึ้น ไม่ใช่ ???
สมเด็จฯ : แล้วในพระวรธรรมคตินั้นพูดถึงอภิธรรมด้วยเหรอ
ตอบ : ในพระวรธรรมคติ จะเป็นธรรมะแบบง่ายๆ
สมเด็จฯ : อ้า, แล้วนึกยังไงโยมไปหาอภิธรรมล่ะ
ตอบ : ??? พออ่านแล้วก็ยังรู้สึกตัวเองว่าทำไมยังรู้สึกเป็นคนโกรธง่าย ชอบง่าย ชังง่าย คือเหมือนพยายามค้นหาตัวเอง บางทีบอกไม่โกรธ ก็คือไม่โกรธแต่ปาก แต่จิตใจขุ่นมัว ทีนี้มาวันหนึ่งก็ พอดีที่ทำงานเป็นราชการ ก็มีหลักสูตรอบรมกรรมฐาน ๗ วัน ที่วัดโสมมนัสวิหาร
สมเด็จฯ : อ๋อ, นี่จุดเริ่ม
ตอบ : นั่นคือจุดเริ่มต้นครับ พออบรมเสร็จ โยมคุณพี่อ้อนฟ้าก็ถามกระผมว่า ไปอบรม ๗ วันได้อะไรบ้าง กระผมก็ ณ เวลานั้นผมก็ไม่มีคำตอบที่จะเป็นแบบรูปธรรม แต่ผมตอบโยมคุณพี่อ้อนฟ้าไปว่า ได้รู้จักตัวเอง ได้ศึกษาตัวเองมากขึ้น โยมคุณอ้อนฟ้าก็บอกว่า ถูกต้องแล้ว การศึกษาธรรมะอย่างแรกคือเน้นที่จะดูที่ตัวเราเองก่อน เราจะได้ศึกษาตัวเองแล้วก็พัฒนาตัวเอง แล้วจากบัดนั้นก็ โยมคุณอ้อนฟ้า แล้วโยมที่เป็นผู้บังคับบัญชาผม ซึ่งแต่ละท่านศึกษามาทางด้านนี้อยู่แล้ว ก็มีหนังสือธรรมะที่เริ่มจากง่ายๆให้อ่าน
แล้วก็จังหวะที่ไปอบรมกรรมฐาน ๗ วันที่วัดโสมฯ ท่านเจ้าอาวาสท่านก็พูดถึงเรื่องนิวรณ์ ก็ทำให้รู้สึกว่า ทำให้เรามีความสนใจมากยิ่งขึ้น ทำไมเราถึงมีความโกรธ แล้วก็ทำยังไงเราถึงจะระงับมันได้ ทำยังไง โทษของกามเป็นอย่างไร ที่เราสุขหรือทุกข์เพราะมันด้วยเหตุอันใด ก็คือตั้งแต่วันนั้นมาก็เริ่มศึกษามา
สมเด็จฯ : เอ้า, ก็ยังไม่ถึงอภิธรรมนี่
ตอบ : ที่นี้โยมพี่ที่ โยมผอ.ก็มีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ บ้าง มาให้อ่าน แล้วก็ปรมัตธรรมโดยสังเขปของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวณเขตต์ ก็เอามาให้อ่านทำความเข้าใจบ้างครับ
สมเด็จฯ : แล้วเรียนไปเยอะยังล่ะ อภิธรรม
ตอบ : ก็ไม่ค่อยเท่าไหร่ครับท่าน
สมเด็จฯ : อ้อ, แล้วมีความเข้าใจเกี่ยวกับอภิธรรมว่ายังไง ว่ามีความสำคัญอย่างไรเป็นต้น
ตอบ : ก่อนหน้านี้พอเริ่มศึกษาธรรมะก็มีการบอกว่า ในพระไตรปิฎกก็จะมี ๓ ส่วน มีพระวินัย พระสุตตันตปิฎก แล้วก็พระอภิธรรม ถ้าในส่วนของพระอภิธรรมก็คือธรรมะที่เป็นแก่น เป็นหลักธรรมที่ ที่อ่านหนังสือพระไตรปิฎกสิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้ ที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์แต่งไว้นี่ก็เหมือนกัน ก็คือถ้าจะศึกษาหลักจริงๆก็คือที่ตัวพระอภิธรรม ??? ก็คือความเข้าใจ
สมเด็จฯ : คือ ก็ควรทำความเข้าใจให้ชัดเหมือนกัน พระอภิธรรมนั่นก็เป็นเนื้อหาแท้ๆ มีแต่ตัวธรรมะ ถ้าพูดภาษาสมัยใหม่ก็เป็นเรื่องวิชาการแท้ๆ ต่างจากพระสูตรที่ว่าเป็นเรื่องที่เอาตัวบุคคลและเหตุการณ์เป็นหลัก เรื่องเกิดขึ้นที่นั่น ปรารภคนนั้น คนนั้นมาเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วก็ตรัสธรรมะไป ก็เลยเมื่อมีเรื่องหนึ่งก็คือเป็นสูตรหนึ่ง ทีนี้ในเมื่อตรัสธรรมะเจาะจงสอนคนนั้นคนนี้ หรือเหตุกาณ์นั้นเหตุการณ์นี้ในสถานที่เฉพาะแห่ง ธรรมะมันก็เลยเป็นเรื่องที่ขึ้นต่อตัวบุคคลและเหตุการณ์ เรียกว่าพระพุทธเจ้าตรัสให้เหมาะกับบุคคลนั้น เขาอาจจะเป็นพราหมณ์ ก็ตรัสอาจจะเรื่องพราหมณ์ เรื่องศาสนาพราหมณ์ เรื่องพระพรหม เรื่องการบูชายันต์หรือวรรณะ โดยเฉพาะก็ ถ้าเจอกับพวกพราหมณ์นี้ ถ้าเป็นพราหมณ์ที่เป็นปัญญาชนใหญ่ๆ ก็จะเจอกันเรื่องวรรณะ นี่เยอะ ไม่วรรณะก็เรื่องบูชายันต์
เพราะศาสนาพราหมณ์นี่เขา หนึ่งพระเวท สองระบบวรรณะสี่ แล้วก็สามการบูชายันต์ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ของเขา ทีนี้พระพุทธเจ้าปฏิเสธหมดทุกอย่างเลย ไม่เอาเลย ฉะนั้นก็จะมีการโต้วาทะกับพราหมณ์เนี่ย เป็นสูตรๆใหญ่ๆเลย เรื่องวรรณะเนี่ยเถียงกันโต้กันเต็มที่ แล้ก็เรื่องบูชายันต์นี่จะมีว่าพระพุทธเจ้าต้องการจะแสดง คือว่าแสดงว่าพระองค์ประสงค์จะให้เขาเลิกบูชายันต์ เพราะเป็นการเบียดเบียนมาก จะมีเรื่องที่ว่า เช่นว่าพราหมณ์ใหญ่คนนั้นกำลังจะประกอบพิธีบูชายันต์ใหญ่ เอาแพะห้าร้อย แกะห้าร้อย โคห้าร้อย ให้พวกบริวารทั้งหลายจับมามัดเข้าเตรียมพิธีบูชายันต์ก็คือต้องฆ่า กำลังเตรียมพิธีอยู่ พระพุทธเจ้าก็จะเสด็จไป เสด็จไปก็เจอกับพวกหัวหน้าเจ้าพิธี ก็จะเกิดบทสนทนาขึ้นมา
ทีนี้ก็เมื่อเขาจะทำพิธีบูชายันต์ พระพุทธเจ้าก็ต้องพูดกับเขาเรื่องการบูชายันต์ เรื่องก็จะไปในแง่ว่าพระพุทธเจ้าก็รู้ทันหมดไอ้เรื่องบูชายันต์จะทำยังไง แล้วพระพุทธเจ้าก็ให้แนวคิดใหม่ว่า การบูชายันต์ที่ดีมีอย่างนี้ บางทีก็อ้างประวัติศาสตร์ อ้างเรื่องโบราณ ก็เคยมีผู้ที่บูชายันต์ซึ่งไม่ต้องทำอย่างนี้ อะไรอย่างนี้นะ ก็จะตัดเรื่องการเบียดเบียนออกไป ก็ทำให้ คือเจรจากันไปกันมาแล้วเขาก็เห็นดีด้วย แล้วก็เลิกพิธีบูชายันต์ พวกกษัตริย์ พราหมณ์ผู้ใหญ่ก็เรื่องสำคัญก็คือเรื่องบูชายันต์ เพราะว่าศาสนาพราหมณ์นี่ถือว่าความยิ่งใหญ่ ความสำเร็จอะไรต่างๆก็ขึ้นกับการบูชายันต์
ดังนั้นพระเจ้าแผ่นดินก็ เวลาบูชายันต์ครั้งหนึ่งก็เดือดร้อนมาก แล้วหลังพุทธกาลนี่ศาสนาพราหมณ์เกิดปฏิกิริยาทางพุทธศาสนา ที่พุทธศาสนาไปสั่นคลอนศาสนาพราหมณ์ แล้วก็ทำให้พวกพราหมณ์เสียผลประโยชน์มาก เพราะพราหมณ์นี่ก็ได้ผลประโยชน์จากการบูชายันต์ของพวกนักปกครอง เป็นต้น โดยเฉพาะกษัตริย์ เข้าจะกำหนดฆ่า เขาเรียกว่าทักษิณาที่เราเอามาใช้ในความหมายที่ว่าเป็นบุญกุศล ของพราหมณ์เขาหมายถึงฆ่าประกอบพิธีบูชายันต์ ทักษิณา ทักษิณานี่จะต้องให้พราหมณ์เยอะเหลือเกิน รวยเลยทีเดียว ฉะนั้นก็พวกพราหมณ์นี่ก็พุทธศาสนาเกิดขึ้นก็ทำให้คนเลิกบูชายันต์ ทำให้พราหมณ์เสียผลประโยชน์มาก ยุคหลังนี่พราหมณ์ก็พยายามฟื้นตัวขึ้นมา แล้วก็กำจัดพุทธศาสนา เหตุสำคัญเลยในการพยายามกำจัดพุทธศาสนาก็คือ เรื่องการเสียผลประโยชน์จากการบูชายันต์ และการเสียสถานะอภิสิทธิ์หรืออำนาจของระบบวรรณะ
พวกพราหมณ์นี่คือยิ่งใหญ่มาก เป็นคนชั้นสูงนี่ พุทธเจ้าเกิดขึ้นนี่ไม่ให้ถือวรรณะเลย ใช่ไหม จะตรัสสอนบ่อย น ชจฺจา วสโล โหติ น ชจฺจา โหติ พฺราหฺมโณ กมฺมุนา วสโล โหติ กมฺมุนา โหติ พฺราหฺมโณ เป็นต้น ก็จะมีคำสอนแบบนี้เยอะแยะไปหมด คนไม่ได้เป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิด ไม่ได้เป็นคนถ่อยทรามเพราะชาติกำเนิด จะเป็นพราหมณ์หรือเป็นคนถ่อยก็เพราะการกระทำ อย่างนี้เป็นต้น สถานะของพราหรมณ์นี่โดนสั่นสะเทือนมาก เพราะฉะนั้นก็อันนี้ดูเรื่องราวก็คือพราหมณ์แค้นมาก หาทางที่จะกำจัดพุทธศาสนา
ฉะนั้นยุคหลังพุทธกาลนี่ พุทธศาสนายังเจริญอีกนาน แล้วก็ศาสนาพราหมณ์ก็แย่ลงๆ ในที่สุดเขาก็หาทางกำจัด ถึงกับสร้างเรื่องนารายณ์อวตาร นารายณ์อวตาร ชาวพุทธบางทีไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจ เขานึกว่าเขายกย่องพระพุทธเจ้าเป็นพระเจ้าของเขา รู้จริงรึเปล่าว่าเขาว่ายังไง ถ้าเรียกภาษาสมัยใหม่ก็คือปรัชญาของเขาในการสร้างพระพุทธเจ้าให้เป็นอวตารของพระนารายณ์ เรียกว่าพุทธาวตาร พุทธาวตารนี่ก็ใช้ชื่อทั่วไป แต่ว่าชื่ออีกชื่อหนึ่งที่เป็นของเขาเอง เรียกว่ามายาโมหะ พระนารายณ์ปางมายาโมหะ เป็นพระพุทธเจ้า ก็คือเขาจะบอกว่า พวกเทวดาไปเฝ้าพระผู้เป็นเจ้า บอกว่าเดือดร้อนมากเหลือเกินพุทธศาสนาเกิดขึ้น ทำให้คนละทิ้งการบูชายันต์ เทวดาก็อดเครื่องเซ่น ทีนี้ต้องเรียกร้องให้พระผู้เป็นเจ้าลงไปแก้ไข ก็คือไปกำจัด
ตอนแรกมันมีสองนิกายนะ ของพราหมณ์ คือนิกายไศวะ กับนิกายไวษนวะ ไวษณวะ หรือไวษณพ นิกายถือพระวิษณุ พระนารายณ์ แล้วก็ไศวะนิกายถือพระศิวะ หรือพระอิศวร ทั้งสองนิกายนี้จะมีการอวตารลงมากำจัดพุทธศาสนา แต่อันแรกก็คือ ไวษษพ หรือไวษณวะ นับถือวิษณุ วิษณุก็คือพระนารายณ์ องค์เดียวกัน อันนี้ก่อน ถ้าอันนี้ก็จะไปอีกแบบคือไปเป็นว่าเขาบอกว่าพระนารายณ์นี่อวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้า เรียกแบบของเขาว่าปางมายาโมหะ คือเขาบอกว่าพระพวกอสูรนี่ ตอนนั้นมีกำลังมาก อสูรทั้งหลายก็เป็นศัตรูกับเทวดา อสูรนี่ศัตรูกับเทวดา
ภาษาพระบางทีเรียกว่าบุพเทวดา เทวดาเก่า ทำไมเรียกว่าเทวดาเก่า ก็คือว่าเรื่องในตำนานนี่ พวกอสูรครองดาวดึงส์อยู่ก่อน ครองสวรรค์อยู่ก่อน แล้วก็พวกเทวดาไปแย่ง ไปทำสงครามแย่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็สู้กัน เทวดาก็ใช้วิธีเป็นอุบายโดยที่มอมเหล้า มอมเหล้าอสูร อสูรเมาแล้วพวกเทวดาก็เลยจับขาเหวี่ยงลงเขาพระสุเมรไปหมดเลย อยู่บนเขาพระสุเมร บนสวรรค์ จับขาเหวี่ยงลงเขาพระสุเมร แล้วเทวดาก็ครองสวรรค์
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็มีต้นปาริฉัตร หรือปาริชาติเนี่ยเป็นต้นไม้ประจำสวรรค์ แล้วก็ให้พวกอสูรนี่หล่นลงไป ก็ลงไปอยู่เชิงเขาพระสุเมร ไปอยู่ทางบาดาล ทีนี้ในถิ่นนั้นก็มีต้นไม้ประจำเรียกว่า จิตตระปาตริ แปลเป็นไทยว่าต้นแคฝอย นี้พอพึงปีนี่ ดอกแคฝอย ต้นแคฝอยก็ผลิดอกออกใบสวยงาม พวกอสูรนี่ก็จะระลึกถึงสวรรค์ที่ตัวเคยอยู่ ซึ่งเคยมีต้นปาริชาติ ก็จะแค้นขึ้นมาแล้วก็ยกทัพไปรบกับเทวดา ก็เลยไปเทวาสุรสงคราม สงคราวเทวดากับอสุรเรื่อยมา นี่ก็เป็นอย่างงี้ ทีนี้ฝ่ายเทวดานี่ก็ ขึ้นไปครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สืบมา ทีนี้ก็พวกเทวดาพวกนี้นะ ก็ต้องรบกับอสูรเรื่อย ก็ต้องเข้มแข็ง นี้ต่อมาปรากฏว่าอสุรนี่เข้มแข็งมาก เทวดาชักเอาชนะไม่ค่อยไหว ก็เลยร้อนถึงพระวิษณุนารายณ์ จะต้องไปช่วยปราบอสูร ทีนี้เขาก็สร้างเป็นเรื่องว่าอสูรมีกำลังขึ้นได้เพราะอะไร เพราะว่ามาบูชายันต์เทวดา เมื่ออสูรบูชายันต์ก็ได้รับอานิสงค์ มีกำลังเข้มแข็ง อันนั้นก็ พระนารายณ์ก็อวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้า มาสอนให้เลิกบูชายันต์ เพื่อว่าอสูรจะได้หมดกำลังระยะยาว แล้วให้พระพุทธเจ้าคือพระนารายณ์อวตารสอนให้เสื่อมความนิยมในการบูชายันต์ จนกระทั่งนานๆเข้าอสูรก็หมดแรง แล้วเมื่อนั้นพระนารายณ์จะอวตารไปอีกครั้ง แล้วก็ปราบอสูร
ก็รวมความก็คือเขาสร้างเรื่อง เพื่อให้มันสอดคล้องกันของเรื่องภาวะขณะนั้นว่า พระพุทธเจ้ามาสอนให้คนเลิกบูชายันต์ และชาวพุทธก็เลิกบูชายันต์ ก็จับได้เรื่องว่าชาวพุทธคือพวกอสูร ที่พระพุทธเจ้ามาสอนเพื่อให้เลิกบูชายันต์ เพื่อต่อไปจะได้หมดแรงแล้วเทวดาจะได้มาปราบ เข้าใจยัง นารายณ์อวตารของเขาไม่ได้มุ่งดีหรอก ไม่ใช่มายกย่องว่าพระพุทธเจ้าเป็นเจ้าอะไรนะ ชาวพุทธเยอะไม่เข้าใจ นึก โอ๊ะ, นี่เขาก็ให้เกียรตินี่อุตส่าห์ยกย่องพระพุทธเจ้าเป็นพระนารายณ์ เขาเรียกปางมายาโมหะ ปางมอมเมา ปางหลอกนั่นเองล่ะ มาหลอกให้คนเลิกบูชายันต์ แล้วชาวพุทธก็คือพวกอสูร เพราะเป็นพวกที่ไม่ยอมบูชายันต์ ใช่ไหม เนี่ย เรื่องเป็นอย่างนั้น ต่อไปก็จะพินาศหมดชาวพุทธเนี่ย เทวดาจะลงมาปราบอีกทีหนึ่ง ต้องเข้าใจอย่างนี้
แล้วฝ่ายนิกายไศวะก็จะสร้างเรื่องแบบคล้ายๆกัน แต่ว่าไปอีกแนวหนึ่ง คือไม่อวตารมาเป็นพระพุทธเจ้า ของนารายณ์นี่อวตารมาเป็นพระพุทธเจ้า แต่ของนิกายไศวะนี่ ก็บอกว่าเทวดาไปร้องทุกข์แล้วพระศิวะ อิศวรนี่ก็เลยอวตารมาเป็นศังกราจารย์ ศังกราจารย์ก็มาจัดการปราบพุทธศาสนา แต่รวมแล้วก็คือเรื่องบูชายันต์และระบบวรรณะ ซึ่งทำให้พราหมณ์นี่สูญเสียผลประโยชน์และอภิสิทธิ์สถานะความยิ่งใหญ่ในสังคม
เอ้า, ก็นี่เป็นเรื่องแทรกไว้ให้ทราบ ก็หมายความว่าพระพุทธเจ้าเจอชาวนาก็ตรัสเรื่องชาวนา เรื่องอาชีพกสิกร เกษตรกรรม ทำนาอะไรยังไงก็ว่ากันไปนะ เจอนักปกครองก็พูดกันเรื่องการปกครองอะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นพระสูตรนี่ก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย สูตรนี้พูดเรื่องพราหมณ์ไปหยกๆ พอมาอีกสูตรหนึ่งพูดกับชาวนาซะอีกแล้ว พอไปอีกสูตรหนึ่งไปพูดกับพระอีกแล้ว นั่นก็เลยไม่ติดต่อกัน แล้วก็เนื้อหาธรรมะที่ตรัสแก่แต่ละคนนั้น ก็เฉพาะกรณีให้เหมาะกับเขา
นี้อภิธรรมก็เลยมาจัดลำดับเอาเฉพาะเนื้อหาธรรมะล้วนๆ และเป็นระบบเลยว่าเรื่องไหนก็ว่าไปให้จบ เช่นขันธ์ห้าก็พูดเรื่องขันธ์ห้าไปจนกระทั่งจบทุกแง่ทุกมุม พูดเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็ว่าไปให้จบเลย เพราะฉะนั้นลักษณะอภิธรรมก็เป็นเนื้อหาธรรมะล้วนๆ ทีนี้พระสูตรก็เป็นอันว่าเป็นเรื่องเหมือนกับประยุกต์ให้เหมาะกับบุคคล เหตุการณ์ แล้วก็มุ่งผลที่จะเกิดกับบุคคลนั้นในสถานการณ์นั้น เพราะฉะนั้นมันก็เหมือนกับการสอนในชีวิตจริงนะพระสูตร ก็เหมือนอย่างเราจะสอนใครเราก็ต้องให้เหมาะกับสถานการณ์ บุคคล เหตุการณ์นั้นๆ นี้ก็เลยในอภิธรรมนี้ก็มีแต่เนื้อหา ไม่มีกล่าวถึงบุคคลเลย ก็ดีเป็นประโยชน์ ก็เป็นเนื้อหา แต่ทีนี้ว่าอภิธรรมยุคหลังก็มาพยายามจะทำให้เรียนง่าย เพราะอภิธรรมในพระไตรปิฎกมีถึงเจ็ดคัมภีร์น่ะ เป็นพระไตรปิฎกรวมสิบสองเล่ม มากเหลือเกิน แล้วพระไตรปิฎกในอภิธรรมนี่ เล่มท้ายท้ายนี่หนาเป็นพันหน้าเลย แปดร้อยหน้าเก้าร้อยพันหน้า อะไรอย่างงี้ หนามาก
นี้ก็รู้สึกว่าจะไม่ไหว รุ่นหลังๆพระอาจารย์ที่เชี่ยวชาญก็มาสรุป ทำให้เป็นระบบใหม่ ให้ง่ายๆ ให้เรียนง่าย ทีนี้อภิธรรมที่เรียนกันปัจจุบันก็คือเรียนตามที่พระอาจารย์ยุคหลังจัดขึ้น ไม่ได้เรียนตามพระไตรปิฎกเดิมนะ แต่ว่าถ้าอาจารย์นั่นเก่งจริงก็จะต้องโยงไปหาเนื้อหาในพระไตรปิฎกอีกที ทีนี้อภิธรรมก็จะเน้นในแง่ของการแยกแยะ แจกแจง วิเคราะห์ แยกแยะออกไปใช่ไหม เช่นจิตของคนนี่ มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป มีคุณสมบัติต่างๆประกอบต่างกันออกไปอย่างไรๆ เกี่ยวกับจิตกี่แบบ เรียกว่าจิตกี่ดวง นะฮะ ตามคุณสมบัติ ก็แยกไปเป็นจิต ๘๙ ดวง แยกพิสดารเป็น ๑๒๑ ดวงนะ เจตสิก ๕๒ รูป รูปก็มีมหาภูตรูป ๔ แล้วก็แยกอุปาทาน ๒๔ แล้วก็แยกไปอีก แยกๆๆๆๆๆๆ จำแนกแยกแยะออกไปพิสดารมาก
นี้เราก็ต้องมองว่า แล้วอภิธรรมจำเป็นสำหรับการตรัสรู้มั๊ย อะไรอย่างนี้เป็นต้น เช่นอาจจะถามอย่างเงี้ย ก็นี่เป็นเรื่องที่น่าพิจารณา เพราะบางทีก็ไปยึดติดกัน แล้วก็มาติเตียนกัน ฝ่ายหนึ่งก็ติเตียนอภิธรรมว่า บางครั้งก็บอกว่าไม่ใช่พุทธพจน์ เคยได้ยินมั๊ยฮะว่าพระอาจารย์ยุคหลังได้เรียบเรียงขึ้นมา โดยเอาพุทธพจน์เอามาจัดสรร ทีนี้บางท่านก็บอกว่าต้องเรียนอภิธรรม ไม่งั้นไม่มีทางบรรลุธรรม ก็ไปตรงข้ามเลยนะ สุดโต่งกันคนละแบบ
ก็อยากจะอุปมาให้ฟัง เหมือนอย่างเนี๊ย เราจะข้ามแม่น้ำ ถ้าสมัยนี้ใช้เรืออะไรนะ เอาสมัยโบราณให้มันสอดคล้องกับบรรยากาศ สมัยโน้นก็อาจจะใช้แพ ใช่ไหม แพเราก็อาจจะทำเอง บุคคลผู้หนึ่งเดินทางมาถึงแม่น้ำ จะข้ามก็ไม่มีเรือ แล้วจะทำไง ก็มีแต่พวกท่อนไม้ เศษไม้อะไรต่างๆ ไม้ไผ่บ้าง อะไรบ้าง ก็ทำแพขึ้นเอง ใช่ไหม ทำแพก็รู้ พอรู้ตามแบบสามัญ ก็รู้ว่า อ้อ, ไอ้ไม้นี้มันลอยน้ำได้ โดยเฉพาะไม้ไผ่ได้ก็ดี แล้วทำไง ก็ต้องทำให้มันขึ้นไปยืน ไปนั่งได้ ก็เอาเชือกเอาเถาวัลย์มาผูกมามัด เสร็จแล้วก็รู้ว่าเราจะข้ามไปฝั่งนู้นก็หาไม้มาคล้ายๆเป็นพาย หรือไม่มีก็เอามือแทนใช่ไหมฮะ แล้วก็เดินทางโดยแพนั้นข้ามฝั่งไป ถึงฝั่งสำเร็จ อันนี้คนหนึ่งละ
ทีนี้อีกคนหนึ่งจะทำแพให้ได้ผล คนนี้อาจจะทำขายเลย ทีนี้ทำขายก็ต้องมีความชำนิชำนาญ มีความรู้เรื่องไม้เรื่องอะไรมากขึ้นใช่ไหม เช่นว่าอาจจะต้องรู้ว่าไอ้ไม้อะไรที่มันเหมาะ มีคุณสมบัติดีในการลอย แล้วก็มีความทนทานเพราะว่ามันแช่น้ำ แล้วจะใช้เถาวัลย์ขนิดไหนดี เอ้อ, อย่างนี้ แล้วใช้ไม้จำนวนเท่าไหร่ ไม้ไผ่จำนวนเท่าไหร่จะพอเหมาะ กี่คนๆ ใช่ไหม อย่างงี้ก็ทำได้ดียิ่งขึ้น แต่ว่าสำเร็จผลก็คือ ข้ามฝั่งได้เหมือนกัน ใช่ไหม
ทีนี้ว่าถ้าเราจะข้ามฝั่ง เราเป็นคนข้าม เราก็อาจจะข้ามครั้งเดียวแล้วไม่ได้ไปยุ่งเรื่องการทำแพ ในกรณีนี้ทำแพอย่างคนแรกพอมั๊ย พอมั๊ย อะ, พอ แต่ว่ารู้มากมายอย่างคนที่สองที่สามารถรู้ว่าไม้อะไรมันจึงจะดี มันจึงจะเหมาะ จะตัดขนาดไหน ทำขนาดใหญ่เท่าไหร่ อะไรเนี่ย แล้วใช้เถาวัลย์เถาเวิน วิธีผูกพันยังไง ละเอียดนี่ ดีมั๊ย ก็ดี เป็นประโยชน์ แต่ว่าจำเป็นมั๊ย
ทีนี้ถ้าเรียนนี่อภิธรรมก็หมายความว่าว่ากันละเอียดไปเลยใช่ไหม ก็เป็นประโยชน์เวลาจะไปประยุกต์ ไปสอนอะไร เพราะตัวเองมีความรู้เข้าใจดี ก็จะจัดปรับไอ้เรื่องของข้อมูลนี่ได้ดี คนที่ได้แค่พอข้ามฝั่งนี่ สอนคนอื่นมันไม่ได้มากใช่ไหมฮะ ก็เลยเป็นประโยชน์อย่างเงี้ย พอจะเห็นนะฮะ ทีนี้ถ้าบางคนไปเรียนแบบเอาเนื้อหา ติดรายละเอียดเกินไป แต่ไม่ได้ใช่ คือว่าเรียนเรื่องไม้ไร่ เถาวัลย์ วิธีผูก เสร็จแล้วไม่เคยทำแพ แล้วก็ไม่เคยข้าม หรือทำให้คนอื่นข้าม ตัวเองไม่เคยข้ามเลย มีมั๊ย มี ใช่ไหม ก็ไม่ได้ใช้แพข้าม ตัวเองจะได้ประโยชน์อะไร ถูกไหม ก็มีเหมือนกันคนอย่างงี้ ก็ต้องเข้าใจ
ก็เอาเป็นว่า เอ้อ, จำเป็นมั๊ยก็ต้องตอบอย่างหนึ่ง เป็นประโยชน์มั๊ยก็ต้องตอบอย่างหนึ่ง ถูกมั๊ยฮะ จะได้ไม่ต้องไปเถียงกันมาก เรียนไว้ดี ยิ่งรู้ลึกซึ้งเท่าไรก็ยิ่งดี เพราะว่าอภิธรรม ถ้าจะบอกว่าจิตอย่างนี้มีเจตสิก เจตสิกก็คือคุณสมบัติของจิต คุณสมบัติชนิดนี้ ตัวนี้ๆๆๆ ถ้ามีตัวนี้แล้วอีกตัวหนึ่งมีลักษณะอย่างนั้น มันจะมาเกิดได้มั๊ยในขณะจิตเดียวกัน ก็จะเรียนแม้กระทั่งว่า ถ้าจิตมีคุณสมบัตินี้เกิดขึ้นแล้ว ไอ้คุณสมบัติตัวนั้นเข้าไม่ได้ แต่ถ้ามีคุณสมบัตินี้ คุณสมบัติตัวนั้น ตัวนั้นๆๆๆ เข้ามาอยู่รวมได้ อย่างนี้เป็นต้นนะ
นี่อภิธรรมก็จะเรียนกันรายละเอียดอย่างนี้เลย บางท่านก็มีประสบการณ์ในเรื่องพระสูตร คำสอนแบบพระสูตรนี่จะเป็นคำสอนเชิงประยุกต์ใช่ไหม ก็ได้เห็นว่า โอ้, พระพุทธเจ้าทรงสอนนี่เข้ากับสถานการณ์ คนอย่างนั้นสอนยังไง สถานการณ์นี้สอนยังไง ท่านก็ได้ความชำนาญไปอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นพวกเรียนพระสูตรก็เก่งเหมือนกัน แล้วการเรียนพระสูตรนี่เพราะว่าเนื้อหาบางสูตรก็ลุ่มลึกมาก แล้วอภิธรรมเองก็เอาไปจากพระสูตร แหล่งแท้มันก็คือพระสูตรนี่แหล่ะ เป็นแต่เพียงว่าไปจัดแยกแยะ จัดหมวดจัดหมู่ จัดระบบใช่ไหม
ทีนี้บางแห่งเอาไปทั้งสูตรๆ เพราะพระสูตรในบางคัมภีร์นี่ที่ตรัสกับพระนี่ เพราะเป็นผู้ได้ปฏิบัติฝึกอบรมมาเยอะแล้ว ใช่ไหม นี้บางกลุ่มท่านปฏิบัติไปเยอะ ท่านรู้เยอะแล้ว พระพุทธเจ้าก็สอนลึกซึ้งเลยสิ ในพระสูตรบางส่วนนี่ก็ลึกซึ้งมากอยู่แล้ว พระอภิธรรมก็ยกไปทั้งสูตรแหล่ะ ยกไปเลยทั้งท่อนๆๆ และในพระสูตรก็มีธรรมะที่ลึกซึ้งมาก ก็ นั่นท่านที่เชี่ยวชาญพระสูตร ก็ได้มีความสามารถในการสอนเยอะเหมือนกัน เพราะว่าถนัดในเรื่องการประยุกต์ และการปรับให้เหมาะกับบุคคลในเหตุการณ์ นี้ท่านที่ชำนาญอภิธรรมจะรู้แต่เนื้อหา พูดไม่เป็นอีกใช่ไหม ปรับให้เหมาะกับสถานการณ์ไม่ได้อีก นี้ถ้าเกิดเก่งทั้งสองสิดี ใช่ไหม เก่งพระสูตรด้วย ประยุกต์ก็เป็น ยังรู้เนื้อหาละเอียดลึกซึ้งอีก ก็ยิ่งดี
เมื่อวานนี้พูดไว้บอกว่าอยากจะคุยกันเรื่องชีวิตพระ ใช่ไหม อ๋อ, อย่างนั้นก็อาจจะเอามาสนทนาถามตอบกัน เพราะว่าพุทธศาสนาเกิดขึ้นนี่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาก ก็เรียกว่าปฏิวัติแบบสันติ แบบสงบคือไม่มีการใช้กำลังรุนแรง นี่ว่าพลิกเลย เพราะไม่ยอมรับหมดเลย หนึ่งความยิ่งใหญ่ อำนาจของพระพรหมณ์ ใช่ไหม สองคัมภีร์พระเวท สามระบบวรรณะ สี่ระบบบูชายันต์ นี่คือเรื่องหลักของศาสนาพราหมณ์ จำไว้เลยนะ สี่อย่าง หนึ่งพระพรมหมณ์ผู้เป็นเจ้า สองพระเวทอันศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็สามระบบวรรณะ แล้วก็สี่บูชายันต์ พระพุทธเจ้าปฏิเสธหมดเลย
ทีนี้เมื่อพุทธศาสนาปฏิเสธอย่างนี้ก็เลย อะไรต่างๆเหล่านี้ก็เปลี่ยนไปหมด หนึ่งพระผู้เป็นเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ พุทธศาสนาเกิดขึ้นก็เปลี่ยนจุดยืนว่าอะไรสูงสุด ถาม ไม่เชิงๆ เอาจุดสำคัญก่อน เอาตัวเดียว ก็พระรัตนตรัยนั่นใช่ แต่เป็นหลักที่ว่าเอามาประยุกต์แหล่ะ มันต้องมีอันหนึ่ง ธรรมสูงสุด ธรรมสูงสุด พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นก็เปลี่ยนย้ายจากเทพสู่ธรรมพูดง่ายๆ จากเทพ เทพนี่รวมทั้งพระพรหมณ์นะคือ เทพที่ชื่อว่าพระพรมหมณ์สูงสุด มาเป็นธรรมสูงสุด เพราะฉะนั้นจะมีพระสูตรที่ตรัสเฉพาะเรื่องนี้เลย แย้งกันเรื่องพราหมณ์เลย ตรัสความเป็นมาของพราหมณ์ ไหนพราหมณ์ว่าพระผู้เป็นเจ้าสร้าง สร้างที่ไหน สังคมมนุษย์มันเกิดจาก พูดแบบวิวัฒนาการเลย บอกว่าวรรณะสี่เกิดจากการที่มนุษย์อยู่กันเป็นสังคม แล้วต้องมีการประกอบอาชีพทำมาหากินแล้ว มันเจริญวัฒนา มันมีการแย่ง การอาชีพเศรษฐกิจ ทำให้มีการแย่งชิงกัน แล้วก็เลยทำให้ต้องมีการปกครอง ก็เกิดมีกษัตริย์ขึ้นมาอะไรเงี้ย มีการเลือกกษัตริย์ แรกเรียกมหาสมมติ แปลว่าที่มหาชนเลือกตั้งขึ้นนะ นี่ก็คือพุทธศาสนาเล่า เปลี่ยนแนวทางเลยนะ จากพระเจ้าสร้างโลกสร้างสังคม กำหนดสถานะของมนุษย์มาเป็นเรื่องของความเป็นไปในสังคมที่เป็นไปตามกฏธรรมดาธรรมชาติ อันนี้ก็เอาเป็นว่าเปลี่ยนจากพระพรมหมณ์สูงสุดมาเป็นธรรมะสูงสุด ก็พระพุทธศาสนาก็ไม่ให้ลบหลู่เรื่องเทพเจ้าของเขา มีอันหนึ่งที่ต่างคือ ไม่ล้มล้าง และไม่ลบหลู่ แต่อันนี้ก็คืออันตรายแก่พุทธศาสนาถ้าไม่เข้าใจ
ชาวพุทธก็จะมอง โอ๊ะ, พุทธศาสนาก็มีเทวดานี่ เพราะฉะนั้นก็เคารพกราบไหว้อ้อนวอน นี่มันจะไปลงที่อ้อนวอน นี้หลักการของพุทธศาสนาตรงนี้ชัดมาก ถ้าเราศึกษานะ ต้องจับตรงนี้ให้ได้ว่าพุทธกับพราหมณ์ เอ๊ะ,พุทธศาสนาเกิดขึ้นก็ยังให้นับถือเทวดาได้อยู่ แล้วต่างจากศาสนาพราหมณ์อย่างไร ก็คือศาสนาพราหมณ์เขาถือว่าเทพนี่เป็นผู้มีอำนาจ ยิ่งใหญ่ สามารถดลบันดาลให้ผลที่พึงปรารถนาแก่ผู้อ้อนวอน โปรดปราน แล้วก็ถ้าใครไม่พึงพอใจก็จะลงโทษทำร้าย ใช่ไหมฮะ หักคอเป็นต้น
ทีนี้พุทธศาสนาเกิดขึ้นก็เอาธรรมะเป็นสูงสุด ว่าสัตว์ทุกชนิด ชีวิตทุกแบบ รวมทั้งพระพราหมณ์เทพเจ้าทั้งหลายต้องเป็นไปตามธรรม ไม่เหนือธรรมะ ก็ยกธรรมะเป็นใหญ่ นี้ไม่หลบหลู่ก็ในแง่ว่า เทพพรมหมณ์เหล่านี้ก็เป็นเพื่อนร่วมโลกของเรา ให้มองงั้น เมื่อเป็นเพื่อนร่วมโลก เราก็ต้องเมตตากรุณาต่อกัน แต่ว่าอยู่กันอย่างเพื่อนร่วมโลกด้วยเมตตานะ ไม่ต้องไปอ้อนวอน นี่คือจุดยืนของพุทธศาสนา แล้วก็จะเปลี่ยน แม้ว่าพวกเทวดาเนี่ยมีเมตตาในฐานะเหมือนกับเป็นผู้ใหญ่ ก็ต้องมีจิตใจที่จะช่วยเหลือมนุษย์ ถ้ามนุษย์ทำความดีก็มาช่วยด้วยคุณธรรมของตัวเอง ไม่ต้องไปอ้อนวอน ก็คือวางระบบใหม่ให้ขึ้นต่อเรื่องคุณธรรมความดีอะไรเท่านั้น อันนี้ก็เป็นหลักสำคัญ จุดนี้ถ้าจับได้ก็เป็นอันว่าแยกได้ระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ เป็นอันว่าไม่ให้อ้อนวอน ให้ถือว่าทุกคนเป็นเพื่อร่วมสังสารวัฏ แล้วมีเมตตากรุณาต่อกัน แล้วช่วยเหลือกันด้วยคุณธรรมความดี ก็หลักการก็เป็นอย่างเงี้ย
ทีนี้ก็มาเรื่องของพราหมณ์ เพราะพราหมณ์นี่เป็นเจ้าพิธีอยู่เดิม เป็นผู้ประกอบพิธีบูชายันต์ เมื่อเกิดพุทธศาสนาขึ้น สถานะของพราหมณ์หมด เรามีพระขึ้นมา เราก็ต้องถามว่าความหมายของพระหรือเราเรียกว่านักบวชก็ได้ในพุทธศาสนานี่ ต่างไปจากในศาสนาเดิมอย่างไร เอ้า,ลองมาดูก่อนว่าศาสนาเดิม หรือแม้แต่ศาสนาที่มีในปัจจุบันที่ถือศรัทธาเป็นหลักเนี่ย มีความหมายของนักบวชอย่างไร มองนักบวชว่าความหมายอย่างไร
หนึ่งล่ะ อย่างพราหมณ์นี่เป็นผู้ประกอบพิธี สองในการประกอบพิธีนั้นก็มีความหมายต่อไปอีก เป็นตัวแทนเทพเจ้า เหมือนกับเป็นกระบอกเสียงของเทพเจ้าที่จะบอกความต้องการของเทวดา ว่าท่านกำลังต้องการอะไร เธอจะต้องมาเซ่นฉัน ทำให้ฉันโปรดปรานในแง่นี้ๆๆ ก็จะบอกว่า ถ้าจะบูชาเทพเจ้าองค์นี้น๊ะ ท่านชอบโปรดเครื่องเซ่นแบบนี้นะ ใช่ไหมฮะ ถ้าองค์นั้นท่านเก่งทางด้านยศ องค์นี้ท่านเก่งทางด้านลาภ องค์นี้ท่านเก่งทางด้านโน้นๆๆๆๆ แล้วก็เธอกำลังมีเรื่องอยากจะสำเร็จทางนี้ต้องบูชาเทพองค์นี้ แล้วเทพท่านโปรดเรื่องนี้ ใช่ไหม เครื่องเซ่นอันนี ก็จัดเครื่องเซ่นอันนี้บูชายันต์ อย่างนี้เป็นต้น พราหมณ์ก็เป็นสื่อระหว่างสวรรค์กับโลกมนุษย์ ใช่ไหมฮะ พราหมณ์ที่ว่าเป็นตัวแทนก็คือเป็นสื่อ นักบวชหลายศาสนาก็จะเป็นอย่างนี้ ก็เป็นสื่อระหว่างสวรรค์กับโลกมนุษย์ บอกความต้องการทั้งสองฝ่ายว่า มนุษย์กำลังต้องการอะไร เทพกำลังต้องการอะไร อาจจะสมอ้างว่าฉันบอกเทวดาได้ว่าเธอต้องการอะไร อันนี้ก็เป็นสื่อ
แล้วต่อไปอะไรอีก เป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์มีอิทธิปาฏิหารย์เป็นต้น สามารถบันดาลผลสำเร็จอะไรเนี่ย เพราะว่ามันมีอำนาจของเทพเจ้ามาอยู่ในตัว ใช่ไหม เพราะเป็นตัวแทน เป็นสื่อของเทพเจ้า ตัวเองก็เลยพลอยมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ด้วย อันนี้ก็เลยได้สถานะความหมายของนักบวช อีกอันหนึ่งก็คือความศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์มีอำนาจอย่างกับสวรรค์ หรือมีเทวะอำนาจอยู่ในตัว อะไรก็แล้วแต่ แล้วในลัทธิบางลัทธิก็ มนุษย์นี่บำเพ็ญตบะเพื่อจะให้มีอำนาจแข่งกับเทวดา ใช่ไหม
อย่างพวกในนาเรื่อง รามเกียรติ์จะมีการบำเพ็ญตบะ ใช่ไหม จนกระทั่งพวกเทวดาเดือนร้อนจนต้องมาทำลายพิธี ในชาดกก็จะมีเล่าเรื่องแบบนี้ ก็คือการต่อสู้กันในเรื่องของฤทธิปาฏิหารย์ต่างๆ ก็ความหมายของนักบวชก็กลายไปเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์ปาฏิหารย์ แล้วก็เลยหมายถึงสื่อกับมนุษย์ในแง่สามารถบันดาลผลที่ต้องการ มันก็โยงไปต่อการที่ว่า มนุษย์จะต้องมาหาท่านเหล่านี้ หนึ่งเพื่อจะให้ทำพิธีบอกเทพเจ้าให้ช่วยโปรดปราน หรือไม่งั้นก็มาขออำนาจให้บันดาลผลสำเร็จ อะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นเรื่องอย่างเงี้ย ความสัมพันธ์
นี้พุทธศาสนาเกิดขึ้นก็เป็นอันว่าไม่ยอมรับพราหมณ์ ใช่ไหม แล้วก็ไม่ยอมรับการบูชายันต์ มันก็ตัดไปหมดเลย ความหมายของนักบวชหรือพระก็เปลี่ยนไปเลย เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นในนี้ ดูในคาถาโอวาทปาฏิโมกข์ ที่สวดกันอยู่น่ะ นั่นแหล่ะคือเครื่องบ่งบอกถึงการที่พุทธศาสนาเกิดขึ้นแล้วมีการเปลี่ยนแปลงอะไรยังไง จำได้บ้างมั๊ยฮะ
คาถาในโอวาทปาฏิโมกข์มีสามตอน คาถาที่หนึ่งนะ ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา นะหิ ปัพพะชิโต ปะรูปะ ฆาตี สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะ ยันโต เนี่ยคาถาที่หนึ่งนี่ เป็นการบอกความหมายแยกจากศาสนาเก่าๆ ที่เขาเคยมอง หนึ่งก็บอกว่าตบะในพุทธศาสนาเรามองอย่างไร เพราะคนนิยมกันเหลือเกิน นักบวชก็ต้องบำเพ็ญตบะ แล้วจะยิ่งใหญ่ใช่ไหม อย่างนิโคลนี่เขาก็โกนหัวเหมือนกัน แต่เขาถอนผมทีละเส้น ไหวมั๊ยฮะ ใช้วิธีถอนผมทีละเส้นจนหมดหัว แล้วก็นักบวชบางคนก็ ฤดูร้อนก็ไปยืนกลางแดด ฤดูหนาวก็ลงไปแช่น้ำในแม่น้ำ แล้วก็นอนบนหนาม เอาเตียงหนามมาแล้วก็นอนบนหนาม นี้ก็พวกโยคีฤาษีบำเพ็ญตบะกัน พระพุทธเจ้ามาก็บอก ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา ความอดทนหรือขันติธรรมนี่แหล่ะ ใช่ไหม
ขันติธรรมก็หมายถึงความอดทนในการบำเพ็ญทำหน้าที่เพื่อรู้จุดหมาย เข้มแข็งยืนหยัดอยู่ได้ หรืออดทนต่อความทุกข์ ความลำบากเดือดร้อน อะไรก็แล้วแต่ แต่อดทนที่สำคัญก็คือ เพื่อบรรลุจุหมายที่ดีงาม แล้วก็อดทนในการอยู่ร่วมกันต้องมีการกระทบกระทั่ง ที่มาปัจจุบันก็คือ ขันติที่ว่า Tolerance ใช่ไหม ว่าคนเขานับถืออย่างอื่น เขาพูดอย่างอื่น เราก็รับฟังได้ไม่ต้องใช้วิธีรุนแรง จะต้องพูดกันได้นะ ไม่ใช่ว่าต้องกลายเป็นเอาใจตรงข้ามอีกเหมือนกัน ไม่ใช่สุดโต่ง
มนุษย์จะมีอริยธรรมได้ต้องไปถึงขั้นนี้ ทำได้มั๊ย ฝรั่งนี่เจริญมาได้ระดับหนึ่งแล้ว วิทยาศาสตร์ช่วยเรื่องนี้เยอะเลยนะ ที่ตะวันตกเจริญขึ้นมานี่ เขาได้ช่วยมนุษยชาติมากเหมือนกัน เพราะแต่ก่อนนี้เขาพูดอะไรไม่ได้นะ ทางศาสนจักรจับเผาทั้งเป็นเลย นี้ทางยุโรปทางตะวันตกก็ช่วยให้เกิด ให้ Tolerance นี้ขึ้นมา แล้วก็สามารถโต้เถียงอะไรต่ออะไรกันได้ สามารถหาสัจธรรมความจริงได้เต็มที่ แต่ในทางศาสนา มาจนถึงปัจจุบันก็ยังพูดกันไม่ได้ ยังแพ้อินเดียสมัยพระพุทธกาล เถียงกันได้เลย เอาละ เถียงเรื่องพระพรหมณ์ก็ได้ เถียงเรื่องอะไรก็ได้แล้วไม่ตีหัวกัน อย่างนี้ถึงจะเก่ง เดี๋ยวนี้มันทำไม่ได้ มันต้องบอกว่าแยกความรู้สึกออกไปซะ เอาแต่ความรู้ มาพูดกันได้เต็มที่ เถียงเท่าไหร่เท่ากัน ไม่ต้องตีหัวกันนี่แหล่ะ ใช้ได้ นี่เรียกว่าขันติ
??? ตบะก็คือ เหล่านี้รวมทั้งหมด ขันติ อดทนต่อความลำบากตรากตรำ ทำการให้ถึงบรรลุจุดหมาย ไม่ยอมย่อท้อ ไม่ถอยหลัง แล้วก็อดทนต่อความเดือนร้อนความลำบาก ความทุกข์ยาก แล้วก็อดทนต่อ ความสัมพันธ์ที่กระทบกระทั่งกันในระหว่างมนุษย์ อันนี้พุทธศาสนาบอกนี่เป็นตบะ ไม่เอาละตบะที่ไปเที่ยวนอนบนหนามอะไรต่ออะไรนั่น ไม่เอาละ
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา บอกว่าพุทธะทั้งหลายกล่าวนิพพานว่าเป็นบรมธรรม ธรรมะสูงสุดนี้คือจุดหมาย ใช่ไหม นี้ของศาสนาเก่าเขาถือว่าการรวมกับพระพรมหมณ์ ภาษาพระเรียกว่า ??? การเข้ารวมเป็นหนึ่งกับพระพรมหม ปัจจุบันเขาเรียกว่าการเข้ารวมกับพระผู้เป็นเจ้าเป็นจุดหมาย พุทธศาสนาบอกนิพพานเป็นจุดหมาย ไม่ใช่การเข้ารวมกับพระผู้เป็นเจ้า
แล้วก็มาถึงตัวนักบวช นะหิ ปัพพะชิโต ปะรูปะ ฆาตี สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะ ยันโต บอกว่าผู้เบียดเบียนคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ทำร้ายคนอื่นไม่เป็นสมณะ ความหมายของนักบวชมันอยู่ที่ข้อนี้ ก็คือผู้ไม่เบียดเบียนไม่ทำร้ายใคร ก็คือพุทธศาสนานี่เป็นจุดสำคัญที่ฝรั่งเขายอมรับนะ เขาบอกพุทธศาสนานี่เป็นกระบวนการ ??? กระบวนการแรกของโลก คือว่าเป็นสันตินิยม ไม่มีการเบียดเบียน แม้แต่ต่างศาสนาก็ไม่รุกรานใคร สอนกันเพื่อจะให้เกิดปัญญา นี้ก็นักบวชก็มีความหมายอย่างนี้ ก็เลยกลายเป็นว่าความหมายสำคัญก็คือเป็นผู้ไม่มีภัยนั่นเอง แล้วอันนี้ก็ฝังลึกลงมาในความหมายของพระในพุทธศาสนา แม้แต่ในประเทศไทยเรา ท่ามกลางความหมายที่มันเพี้ยน ที่ไปติดกับศาสนาเก่า ถึงยังไงก็มีความหมาย ??? เชื่อไหม ความหมายว่าพระเป็นผู้ไม่มีภัย หมายความว่าถ้าเห็นพระแล้วก็สบายใจได้ปลอดภัย
อย่างสมัยโบราณก็อย่างที่เคยยกตัวอย่างบ่อยๆ เข้าไปในป่ามันมีภัยอันตราย พอเห็นพระ วู๊ย, สบายใจ เจ้าพระคุณ นั่งยกมือท่วมหัว เนี่ย ก็คือ พระ เอาเป็นว่าเป็นเครื่องหมายของความปลอดภัย ก็เป็นอันว่าเป็นผู้ไม่เบียดเบียน ก็สมัยนี้เขาเรียกว่า Non-violence ไม่ใช้วิธีรุนแรง หรืออหิงสา พุทธศาสนาก็เป็นบ่อเกิดของอหิงสาที่สำคัญคู่กับศาสนาเชน เชนเขาก็จะเคร่งครัดเรื่องอหิงสา เชนนี่เขาเคร่งครัดจนกระทั่งว่า เช่นว่านักบวชจะไม่ยอมอาบน้ำเพราะกลัวสัตว์ที่มันติดอยู่ตามตัวมันจะตาย ไม่เผาไฟ ไม่จุดไฟ เพราะกลัวว่าแมลงมันจะบินมาถูกไฟตาย เวลาจะเดินไปนี่ก็ต้องผลิตไม้กวาดขึ้นชนิดหนึ่งอ่อนนุ่ม แล้วเดินไปก็กวาดนำหน้าไป เพราะกลัวว่าจะมีสัตว์ขวางทางแล้วตัวไปเหยียบตาย พุทธศาสนาถือว่ามันเกินไป ที่ว่าต้องถอนผมทีละเส้นอะไรพวกนั้น
อันนี้ก็เอาละ พุทธศาสนาก็ให้ความหมายว่า เป็นสมณะ เป็นนักบวช ก็คือเป็นผู้ที่ไม่เบียดเบียนไม่ทำร้าย ฉะนั้นความหมายของเราก็คือผู้ไม่มีภัย ก็เป็นที่ทำให้เกิดความร่มเย็น ที่นี้จากความหมายนี่แหล่ะ พุทธศาสนาก็จะมีความหมายที่มาทางบวกอีก เมื่อกี้มันคล้ายๆทางลบใช่ไหม เพราะว่าตัดในเรื่องการเบียดเบียน นี้เพื่อให้ก่อ เพื่อเสริมไปในทางที่ดี ก็จะมีพวกหลักธรรมวินัยขึ้นมาเสริม นี่ก็ว่าพระเป็นผู้ฝึกตน ฝึกตนให้คุณสมบัติดีๆงามเพิ่มขึ้นในตัวมากขึ้นๆ ฉะนั้นก็คุณธรรมความดี อย่างความเมตตากรุณาจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ นี้ก็ได้บอกแล้วพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้วนี่ให้พระมีชีวิตสัมพันธ์กับชาวบ้าน ไม่ให้ปลีกตัว ไม่ให้ตัดขาดจากสังคม ทั้งโดยความสัมพันธ์กับคฤหัสถ์ที่ให้ฝากท้องและปัจจัยสี่ไว้กับชาวบ้าน
พระสงฆ์นี่ไม่ตัดขาดจากสังคม ซึ่งอันนี้จะต้องแก้ความเข้าใจผิด ไม่ใช่ลัทธิ ??? แล้วก็ในชุมชนสงฆ์เองจะต้องมีการประชุมกันอย่างน้อยทุกครึ่งเดือน ถ้ามีกิจส่วนรวมเกิดขึ้น ต้องใช้วิธีประชุมตัดสินเป็นสังฆกรรม อันนี้ก็เป็นชีวิตของพระสงฆ์มา นี้ความสัมพันธ์ต่อคฤหัสถ์ก็เกิดมีขึ้นว่าเพื่ออะไรจึงไปสัมพันธ์กับคฤหัสถ์ ไม่ใช่แค่ตัวเองได้ปัจจัยมาฉัน ใช่ไหม ก็คือพุทธศาสนาเกิดขึ้นเพื่อโลก เพื่อความดีงาม เพื่อให้ปัญญา อะไรต่างๆ เผยแผ่ความดีไป ก็เลย พุทธเจ้าก็ตรัสถึงเหมือนกับการตอบแทนกันในลักษณะหนึ่ง ก็คือว่าชาวบ้านเขาถวายอามิสทาน วัตถุปัจจัยบำรุงเลี้ยง แล้วก็ให้พระให้ธรรมะกับชาวบ้าน
ทีนี้การให้ธรรมะกับชาวบ้าน ก็เลยขอแยกเป็นสองอย่าง คือให้โดยพูด กับให้โดยไม่ต้องพูด ให้โดยพูดก็รู้กันอยู่แล้ว เข้าใจง่ายก็คือไปสอนเขา แต่แม้ไม่พูด หรือไม่สามารถพูดก็ให้ธรรมะได้ตลอดเวลา จุดนี้แหละที่ทำให้พระพุทธเจ้าวางระบบของชีวิตพระให้เป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส ทำไมพุทธศาสนาจึงต้องมาเน้นในเรื่องของการสำรวมระวังกิริยา การนุ่งห่มผ้า เพราะอย่างศาสนาเชนก็ถือว่า เขาไม่มีความยึดติดถือมั่นอะไร พอเขาบอกไม่ยึดติดถือมั่นอะไรก็ไม่ต้องนุ่งผ้า เพราะฉะนั้นศาสนาเชนเขาก็เลย นักบวชเขาก็แก้ผ้า เพราะเขาถือว่าไม่ยึดติดอะไรทั้งนั้นเลย ใช่ไหม แล้วเสื้อผ้าจะมีไปทำไมล่ะ เนี่ยพุทธศาสนาก็ถือว่ามันอยู่ในระบบความสัมพันธ์ เมื่อเราไม่ยึดติดแล้ว ก็คือจิตใจไม่ยึดติด แต่การเป็นอยู่นี้ก็เป็นไปตามเหตุผล นี้เมื่อเราอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ เราเป็นสิ่งแวดล้อมให้แก่เขาด้วย เราก็ทำให้คนที่เห็นนี่มีจิตใจที่ดีงาม ใช่ไหม เหมือนกับว่า เราไปไหน เห็นสิ่งแวดล้อม ต้องการเห็นสิ่งแวดล้อมที่ดี เห็นต้นไม้เขียวขจี ดอกไม้สวยงาม ไปที่สะอาดสะอ้าน จิตใจของเราก็สบาย เราต้องการเห็นสิ่งแวดล้อมที่ดีฉันใด คนอื่นเขาก็ต้องการได้สิ่งแวดล้อมที่ดี
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็จะให้พระเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดี ปรากฏตัวขึ้นที่ไหนก็ทำให้ประชาชนเกิดสภาวะจิตที่ดี ท่านเรียกว่าเกิดประสาทะ เพราะฉะนั้นลักษณะของพระก็คือ ธรรมะที่เน้นข้อหนึ่ง คือพระเนี่ยปรากฏตัวที่ไหนก็ให้ประชาชนได้ประสาทะ คือจิตใจผ่องใสไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมอง จิตใจเขาก็ดี เห็นพระตอนเช้าก็ใจสบายไปทั้งวันเลย ฉะนั้นจึงมีเรื่องการบิณฑบาตก็เพื่อวัตถุประสงค์นี้ด้วย พระก็เดินสำรวม ห่มผ้าให้เรียบร้อย สะอาดสะอ้าน เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาไม่ยอมรับ คือบางพวกนี่จะไม่เข้าใจหลักการนี้ ก็นึกว่าโอ๊,ไม่ยึดมั่นอะไรละ ก็ห่มจีวรขาดๆเก่าๆ ดีไม่ดีก็เหม็นสาบเข้าไปอีก ใช่ไหม บางท่านบอกฉันไม่ยึดมั่นอะไร เนี่ยถ้าเข้าใจหลักพุทธศาสนา พุทธศาสนาพระพุทธเจ้าไม่เอาด้วยเลย ใช่ไหม
ทำไมพระพุทธเจ้าตรัสจีวรขาด แม้แต่หลัง เขาเรียกว่าหลังตัวอะไรนะ ตัวเลือด ตัวเลือด ถ้าไม่ปะ ไม่เย็บ ไม่ชุน อะไรเนี่ย ต้องอาบัติ นะฮะ อ้าว, นี้เดี๋ยวคนก็มาแย้งว่าไม่ยึดมั่น ใช่ไหม ทำไมพิถีพิถัน มันคนละเรื่อง คือเรื่องไม่ยึดมั่นเรื่องจิตใจ ไม่ทุกข์ ไม่ทุกข์เพราะไอ้เรื่องนี้ ไม่ทุกข์เพราะจีวรจะหายหรือยังไงก็ ขาดก็ไม่ได้ทุกข์เพราะมัน ใช่ไหม แต่เมื่อยังอยู่เกี่ยวข้องกับมัน ก็ต้องทำให้ดีที่สุด ต้องรับผิดชอบ อันนี้แยกให้ได้นะ งั้นบางคนนี้ไปไกลเลย บอกว่าไม่ยึดมั่น แล้วก็ไม่เอาเรื่องเอาราวเลย ใช่ไหม ปล่อยเนื้อปล่อยตัว เสื้อผ้ามอมแมมแล้วบอกว่าฉันไม่ยึดมั่น ผิดนะ ผิดหลายอย่างเลย นอกจากผิดนี่ วินัยจะมาช่วยไว้ ไม่ให้พระเลยเถิด ฉะนั้นวินัยจะไม่ยอมให้เลย ทีนี้ผิดยังไงก็คือว่า เราไม่ได้คำนึงถึงคนอื่น คำนึงแต่ตัวเอง เช่นว่าฉันจะแต่งตัวมอมแมมยังไงก็ได้ ก็เอาแต่ตัวเป็นหลัก ถ้ามีจิตเมตตากรุณาต่อคนอื่นก็คือว่า อ๋อ,เราปรากฏตัวขึ้นในสังคม ในชุมชน ทำให้คนอื่นเขาได้เห็น เราก็ควรเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เขาสบายใจ ใช่ไหม
ฉะนั้นเพื่อเห็นแก่คนอื่น มีเมตตาไมตรีธรรม เราก็แต่งตัวให้เรียบร้อย สะอาดแต่ไม่ใช่แต่งตัวเพื่อยั่วยวนอีกแหละนะ ถ้าอย่างนั้นมันก็ไปสุดโต่งอีก ใช่ไหม อยู่ที่ว่า แต่ความพอดีอยู่ที่มีปัญญารู้เข้าใจความมุ่งหมาย ใช่ไหม ถ้าเรารู้ว่าเราแต่งตัวนี่ดีเพื่อเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อจรรโลง บำรุงจิตใจของมนุษย์ อย่างนี้เราก็แต่งพอดีเลย ถูกมั๊ย วัตถุประสงค์มันจะตัดสินในการกระทำเอง เนี่ยหลักธรรมพุทธศาสนาก็จะให้ทางสายกลางด้วยการใช้ปัญญา รู้ความมุ่งหมายของการกระทำนั้น ฉะนั้นคำว่ายึดมั่นก็ต้องเข้าใจให้ถูก ถ้าไปทำแบบนั้นบอกว่าฉันไม่ยึดมั่น ทำยังไงก็ได้ อย่างนั้นท่านเรียกว่ายึดมั่นในความไม่ยึดมั่น มีมั๊ยความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น นี่ร้ายเลยทีเดียว แล้วจะเกิดผลเสียมากนะฮะ เชื่อไหม บอก เอ๊ย, ไม่ยึดมั่นแหล่ะ ลูกฉันก็ไม่ใช่ลูก ก็ไม่ยึดมั่น ตกลงไม่ต้องเอาใจใส่ ทิ้งเลย ภรรยาก็ไม่ใช่ภรรยา ถูกมั๊ยฮะ มันไม่มีจริงนี่ เป็นสังขารเท่านั้น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา งั้นก็ไม่ยึดมั่น โดยรวมก็ไม่ต้องเลี้ยงดูแล้ว ใช่ไหม อันนี้ก็เรียกว่ายึดมั่นในความไม่ยึดมั่น ไม่ได้ทำด้วยปัญญา
ถ้าไม่ยึดมั่นจริง ก็คือทำด้วยความรู้เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย ปฏิบัติต่อมันตามเหตุ ตามผล แต่ว่าไม่ทำให้จิตของตัวเองนี่ต้องเกิดความทุกข์ เพราะเข้าไปยึดติดถือมั่น เข้าใจใช่ไหมฮะ เอาละ เป็นอันว่าพระนี่ก็เป็น เมื่อไปเจอกับญาติโยม ปรากฏตัวขึ้นเมื่อไหร่ ก็ควรจะทำให้ญาติโยมประชาชนได้จิตใจที่ดี มีความผ่องใสชื่นบาน นี่คือให้ธรรมแล้ว เพียงพระปรากฏตัวปั๊บ เขาได้จิตใจประสาทะผ่องใสเบิกบานก็คือให้ธรรมะโดยไม่ต้องพูด ใช่ไหม นี้ถ้ามีความสามารถก็ไปอธิบายชี้แจงเขาได้ปัญญา ก็ได้ธรรมะยิ่งขึ้นไป อันนี้พระที่พัฒนาตัวดีขึ้นๆ ก็เลยมีลักษณะที่ท่านใช้คำอีกคำหนึ่ง เรียกว่าเป็น (มะโน ภาวะนียะ) อย่างพระอรหันต์ทั้งหลายที่อยู่กับพุทธเจ้านี่เป็น (มะโน ภาวะนียะ)
อย่างตอนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานนี่ ก็ยังมีพระสาวกที่บอกว่า เนี่ยต่อไปเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วนี่ ชาวบ้านหรือคนมาไกลๆ แต่ก่อนเขาเคยมาเฝ้าพระองค์ แล้วที่พระองค์ก็เป็นศูนย์รวมของพระที่เป็นผู้ที่ได้ฝึกอบรมตน เป็นพระอรหันต์ เป็น (มะโน ภาวะนียะ) แล้วสภาพนี้ก็จะหมดไป จะทำยังไง พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสสังเวชนียสถานให้ ว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วก็ไปดูสังเวชนียสถาน แต่ว่าลักษณะของพระก็ยังมีอยู่ ที่ว่าเป็น (มะโน ภาวะนียะ) แปลว่าเป็นที่เจริญใจ เป็นที่เจริญใจก็คือว่าประชาชนได้พบเห็นแล้วก็ชื่นใจ สบายใจ จิตใจเบิกบานผ่องใส ทำให้โน้มจิตไปสู่คุณธรรมความดี หรือนึกถึงธรรมะความดีขึ้นมาในใจ อันนี้ (มะโน ภาวะนียะ) นี้ก็ พระก็เลยต้องตั้งจิตดีต่อญาติโยมตลอดเวลา
ก็มากำหนดแม้แต่ในทิศหก สิงคาลกสูตร เรียนทิศหกหรือยัง ทิศหก ทิศที่หกก็มี ทิศเบื้องสูง ทิศเบื้องบน ก็ได้แก่สมณะพราหมณ์ พระสงฆ์นี่ พระสงฆ์ก็มีหน้าที่ต่อญาติโยม ญาติโยมมีหน้าที่ต่อพระ นี้พระจะมีหน้าที่ต่อญาติโยมอะไรบ้าง พอจะนึกออกมั๊ย หนึ่งให้เขาได้ฟังได้รู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ไม่เคยฟัง แล้วก็ทำสิ่งที่เขาเคยรู้เคยฟังแล้วให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง กำจัดความสงสัยของเขาได้ แล้วก็นึกถึงคฤหัสถ์ด้วยจิตปรารถนาดี คือว่ามีจิตอนุเคราะห์ แล้วก็คอยบอกแนะนำเขาในทางที่ดีงามว่า เอ้อ, มีหนังสือธรรมะนั้นดีนะ กำลังตรงกับความสนใจของโยมเอาไปอ่านซะ อะไรอย่างนี้ คือบอกช่องทางที่เขาจะได้พัฒนาตัวด้วยความปรารถนาดีต่อเขา แล้วก็บอกทางแห่งสวรรค์ หรือทางแห่งความสุขความเจริญงอกงามให้เขา ใช่ไหม อันนี้โดยมากก็เป็นหน้าที่ทางด้านการแนะนำสั่งสอนให้การศึกษา แต่ว่ามันมาประสานกันของจิตใจ ให้จิตใจเขาดีงาม ไปด้วยกัน พัฒนาตัวเองดีขึ้น อันนีก็หน้าที่ของพระก็เลยไปอยู่ในเนี่ย ในทิศหกนี่ด้วย เพื่อจะให้ออกเป็นรูปธรรมหรือข้อปฏิบัติขึ้นมา
นี้พระก็เป็น (มะโน ภาวะนียะ) ทำให้เกิดประสาทะ แล้วก็ทำหน้าที่ต่อสังคมในการให้ธรรม ใช่ไหม และก็ไม่เบียดเบียนในการสัมพันธ์กับเขา แม้แต่เรื่องของตัวเองที่ว่าต้องอาศัยจตุปัจจัยสี่จากเขา ก็เตือนอีก พระพุทธเจ้าก็จะบัญญัติวินัย กันพระไปก่อความเดือดร้อนกับประชาชน ใช่ไหม จริงอยู่พึ่งพาปัจจัยอามิสของเขาบำรุง แต่ต้องไม่ก่อความเดือดร้อน เพราะฉะนั้นก็ภิกษุไม่อาพาธไปขออาหารเพื่อตนฉันเป็นอาบัติ ถูกมั๊ยฮะ นี่ ไปออกปากขอไม่ได้ ต้องเดินไป แล้วเขาจะศรัทธา ไม่ศรัทธาเป็นเรื่องของเขา เขาจะให้ ให้ เขาไม่ต้องการเขาก็ไม่ให้ จะไปออกปากขอไม่ได้เป็นความผิดทันที จีวรก็เหมือนกัน ไปออกปากขอ เขาไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา มีความผิด ใช่ไหม
ฉะนั้นพระพุทธเจ้านี่กันมาก ไม่ให้พระไปเบียดเบียนสังคม แล้วก็???ในทางธรรมก็สอนว่า จงทำตัวให้เป็นผู้เรียบง่าย ใช่ไหม (สุภะละตะ สุภะโล) ทำตนให้เป็นผู้เลี้ยงง่าย ก็หมายความว่าไม่ต้องการอะไรมาก พออยู่ได้ แล้วก็ให้อาหารมาเป็นปัจจัยเครื่องเกื้อหนุน ในการที่ตัวเองจะได้ทำหน้าที่ในการเล่าเรียนศึกษา ปฏิบัติ ใช่ไหม เจริญงอกงามไป พอแค่นั้น ก็เลยเข้าหลักสันโดษ สันโดษก็คือพอใจในปัจจัยสี่ตามมีตามได้ เพื่อจะได้ไม่ไปวุ่นวาย ทั้งไม่เบียดเบียนชาวบ้านด้วย ทั้งตัวเองก็ไม่มัวไปวุ่นวาย หมดเวลา หมดแรงงาน หมดสมองไปกับเรื่องแสวงหาสิ่งเหล่านั้น จะได้เอาเวลา แรงงาน และความคิดมาใช้ในการพัฒนาตัวเองในการศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติ ในการสั่งสอนประชาชน ใช่ไหม
สันโดษก็คือว่าตัดไอ้เรื่องของความวุ่นวายด้านที่จะต้องเสียเวลา เสียแรงงานความคิดกับเรื่องแสวงหาสิ่งบำรุงบำเรอนี่ เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นมาใช้ในการทำงานของตัวเอง สันโดษอย่างมีจุดหมายนะ ไม่ใช่สันโดษเพื่อเป็นความสุข สันโดษไม่ใช่เพื่อความสุขนะครับ อย่างนั้นเข้าใจผิด สันโดษทำให้เกิดความสุขโดยตัวของมันเอง อันนั้นเป็นผลพลอยได้ในตัว แต่ไม่ใช่เพื่อความสุข สันโดษทำให้เกิดความสุขเพราะว่าเรายินดีพอใจอย่างนั้นแล้ว ใช่ไหม เราก็ไม่เดือดร้อน ก็มีความสุข มันเป็นไปเอง แต่ไม่ใช่เพื่อความสุข
สันโดษก็เพื่อจะได้นี่แหล่ะ ออมกำลัง แรงงาน เวลา ความคิด เอามาใช้ในการทำหน้าที่เล่าเรียนปฏิบัติ หรือศึกษาและก็สั่งสอนแนะนำประชาชน ก็เข้ากันหมด แล้วพระพุทธเจ้าก็เลยตรัสสอนไว้เยอะแยะอย่างคาถาหนึ่ง ที่จะเน้นในวันบวชด้วย บอกว่าให้พระสงฆ์มีชีวิตเป็นอยู่ แล้วก็เที่ยวไปในหมู่ประชาชนเหมือนแมลงผึ้ง จำได้มั๊ย บอกว่าภมรแมลงผึ้งเที่ยวไปในหมู่ไม้ ก็คือเก็บเกสรและน้ำหวานโดยไม่ทำแม้แต่สีและกลิ่นให้ชอกช้ำ เอาแต่น้ำหวานบินไปฉันใด มุนีพึงเที่ยวไปในหมู่ชาวบ้านฉันนั้น เข้าใจมั๊ยฮะ นี่เป็นพุทธภาษิตที่เตือนพระ ชีวิตของพระเป็นอย่างนี้ นี้ถ้าเราปฏิบัติตามนี้ก็เป็นพระที่ดี นี้ก็สำคัญนะ
นี้พระปฏิบัติแล้วมีปัญหาเยอะก็เพราะไม่ทำตามนี้ ใช่ไหม มันมีเรื่องเยอะแยะไปหมดเลย ถ้าพระทำตามนี้แล้วก็ช่วยบำรุงจิตใจประชาชน ช่วยทำให้โลกนี้งดงามสดใส เจริญพัฒนาอย่างมาก ใช่ไหม ก็เอาเป็นว่าคาถาคตินี้สำคัญ ให้ปฏิบัติตัวขยันเหมือนแมลงผึ้ง เที่ยวไปในหมู่ประชาชนโดยไม่ทำให้เขาเดือดร้อน ก็ได้น้ำหวานจากดอกไม้ แต่ไม่ทำให้แม้แต่สีและกลิ่นชอกช้ำ ใช่ไหม แต่ว่าบำรุงด้วยนะ ทำให้ต้นไม้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น นี่มุนีหรือพระก็ควรจะปฏิบัติตัวอย่างนี้ อยู่ในสังคมมนุษย์
ฉะนั้นลักษณะของพระต้องพัฒนาตัวเอง ตัวเองก็มีหน้าที่ต้องพัฒนาตัวเองแล้วก็นำธรรมะที่ตัวนี่ได้แล้วไปเผื่อแผ่สั่งสอนประชาชน นี้ก็ต้องตั้งใจดีต่อประชาชนตลอดเวลา อย่างเราจะบิณฑบาตนี่ เราก็เข้าใจหลักการ แล้วตั้งใจไปแต่ต้น การตั้งใจอย่างหนึ่งก็คือเป็นการฝึกตัวเองด้วย พร้อมกับว่าทำหน้าที่ต่อประชาชนด้วย พอจะออกบิณฑบาตก็ตั้งใจว่าขอให้ญาติโยมมีความสุข ขอให้จิตใจดีงาม เจริญงอกงามในธรรม ก็อาจจะบอก ก่อนจะออกเดินบิณฑบาตก็ตั้งใจ ขอให้ญาติโยมทุกท่านได้เจริญงอกงามในธรรมและมีความสุข อะไรอย่างนี้นะ ตั้งใจไปอย่างนี้ เราเองเราก็ได้พัฒนาตัวเพราะเราได้เจริญเมตตาธรรม ใช่ไหม แล้วก็ตั้งจิตไว้ถูกทางละ จิตใจก็ดี ชื่นบานผ่องใส แล้วก็เป็นการปรารถนาดีต่อญาติโยมประชาชน ทำให้เขาได้อานิสงค์
นี้พระเนี่ยเป็นบุคคลประเภททีว่าอย่างที่บอกแล้วนี่ พระพุทธเจ้ามุ่งให้มาพัฒนาตัวเอง และพร้อมกันนั้นก็ทำประโยชน์แก่สังคม แก่หมู่มนุษย์ ก็เลยมีลักษณะที่ต่อไปพัฒนาตัวมากขึ้นก็จะเป็นอย่างพระพุทธเจ้า เป็นอย่างพระพุทธเจ้าก็คือเป็นผู้ที่มีความสุขในตัว โดยไม่ต้องแสวงหาสุข เมื่อเป็นผู้มีความสุข ไม่ต้องแสวงหาความสุข ไปไหนก็ไปเผื่อแผ่ความสุขอย่างเดียว มันสำคัญก็คือคนปัจจุบันนี้ปัญหามันอยู่ที่หาความสุข แต่ละคนก็ต้องหาความสุข ใช่ไหม มันก็ขัดแย้ง แย่งกันอ่ะ ต่างคนต่างแย่งความสุขกัน แล้วก็เบียดเบียนกัน แม้จะช่วยคนอื่นมันก็ช่วยไม่ได้เต็มที่ เพราะมันยังหาความสุขอยู่
นี้พระอรหันต์เป็นผู้มีความสุข เลิกหาความสุขแล้ว ไม่ต้องหาความสุข เพราะฉะนั้นท่านก็ทำให้ผู้อื่นอย่างเดียวนะ อันนี้สำคัญนะ มีความสุข คนนั้นหาได้ยากนะคนที่มีความสุข มีความสุขจนไม่ต้องหาความสุข ก็บางทีท่านก็เรียกพระอรหันต์ว่าเป็นผู้อิ่มแล้ว เป็นผู้เต็มแล้วไม่ต้องเติม เมื่อเต็มแล้วไม่ต้องเติม มีความสุขแล้วไม่ต้องหาก็สบายแล้ว มันก็ไม่มีปัญหากับใคร ก็ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สุข ก็เข้าคติว่า จงจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก ใช่ไหมฮะ มันก็มาเข้าหลักที่มาประสานกันระหว่างเรื่องการปฏิบัติของบุคคล แล้วก็การทำหน้าที่ต่อผู้อื่น หรือต่อโลก ตรงนี้ล่ะที่นิพพานมาบรรจบกับอุดมคติในการทำหน้าที่เพื่อโลก
นิพพานคืออะไร พูดได้หลายแบบใช่ไหม แต่สมัยมันนี้มองไปในแง่ลบเป็น Negative ซะเยอะ อย่างน้อยก็บอกว่าดับกิเลส เอาละ ก็เป็นความหมายที่ดี แต่ว่าความหมายที่แท้มันเป็นความหมายทาง Positive ทางบวก ซึ่งคนสมัยนั้นจึงจะเข้าใจ พอพูดว่านิพพานนี่จิตใจ แหม, แช่มชื่นเบิกบาน คือมัน อย่างหนึ่งก็มีความหมายว่าหายร้อน มันเย็น ไม่มีความเดือดร้อนอะไรแล้วจนหาคำพูดแทนไม่ได้ เพราะว่าพูดว่านิพพานก็คือว่า สมบูรณ์หมดไม่มีความเร่าร้อนกระวนกระวาย มีความสุขมีอะไรต่ออะไรบริบูรณ์ ดับจนกระทั่งว่าไม่มีแม้แต่ตัวตนที่ต้องหาความสุขอย่างที่ว่า ใช่ไหม เพราะว่ามันเต็มแล้ว มีความสุขในตัวเอง ไม่มีตัวตนที่จะต้องมาทำอะไรให้ ไม่มีตัวตนที่จะต้องได้ต้องเอา ที่ท่านใช้คำว่าทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตัวเองอีกพูดง่ายๆ เมื่อไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีก นี่เรียกว่านิพพาน ใช่ไหม ดับ พูดเป็นสัญลักษณ์ว่าดับแม้กระทั่งตัวตนแล้ว ไม่มีตัวตนแล้ว
คราวนี้แหล่ะก็ จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขของพหุชน โลกานุกมฺปาย เพื่อเกื้อกูลต่อชาวโลก ใช่ไหม ตอนนี้ก็ไม่ต้องคำนึงถึงตัวเองแล้ว นี่ทำเพื่อชาวโลกอย่างเดียว งั้นนิพพาน บุคคลก็คือการทำเพื่อโลกได้เต็มที่ ฉะนั้นอุดมคติพุทธศาสนาก็มาประสานกันตรงนี้ นิพพาน บุคคลนี่ปฏิบัติจนกระทั่งนิพพาน ยิ่งนิพพานไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำเพื่อโลกได้เต็มที่ ใช่ไหมฮะ ก็ประสานตรงนี้
นี้พระก็เป็นตัวอย่างในการทำหน้าที่อย่างนี้ดำเนินชีวิตอย่างนี้ ก็ต้องทำให้ตัวเองมีความสุขอยู่ในตัว โดยไม่ต้องไปเที่ยวหาความสุข เป็นคนที่เต็มไม่ต้องมาคอยเติมอย่างนี้เป็นต้น ไม่ต้องคอยแสวงหาแย่งชิงกับใคร อันนี้ก็เลยพูดถึงชีวิตพระให้ฟัง
ตอบ : บุพนิมิตรในการที่เป็นถึงสัมมาทิฎฐิ ที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่ามี ๗ ขั้น นี้แบ่งออกเป็นสองอย่างใหญ่ๆ คือปัจจัยภายนอกกับปัจจัยภายในคือกัลยาณมิตตตา และโยนิโสมนสิการ ที่อ่านในพุทธรรม ท่านก็จะให้ความสำคัญว่าปัจจัยภายนอกนี่เป็นสิ่งสำคัญ มีอิทธิพลมาก ก็คือกัลยาณมิตตตา แต่ทีนี้อย่างไรที่จะได้รู้ว่าคนคนนี้คือกัลยาณมิต การแสวงหากัลยาณมิต จะเป็นอย่างไร
วันนี้ ที่ฟังซีดีที่ท่านกล่าวไว้ก็คือ เหมือนกับหัวรถจักรรถไฟที่หัวเดียวนี่ พอวิ่งไปถึงจุดหนึ่ง ก็สามารถวิ่งกลับไปได้เหมือนรถไฟฟ้า BTS ปัจจุบันนี้น่ะครับ ทีนี้มันก็เลยเหมือนกับว่า ในการที่จะสรรหากัลยาณมิตตตานี่ต้องใช้โยนิโส คือปัญญาด้วย ก็เลยอยากจะขอคำชี้แนะจากท่าน
สมเด็จฯ : เดี๋ยวต้องเริ่มมาตั้งแต่ต้นก่อน ๗ ข้อนี่น่ะ เรียกว่าบุพนิมิตรแห่งมรรค ใช่ไหม แต่ทีนี้ว่าใน ๗ ข้อ ข้อสำคัญที่สุดคือตัวต้นตัวท้ายที่เป็นปัจจัยแห่งสัมมาทิฎฐิ ตัวที่เหลือมันก็เป็นตัวมาหนุน นี้ปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกเรียกชื่อแท้ว่า ปรโตโฆสะ เสียงจากภายนอก เสียงจากผู้อื่น ทีนี้ ปรโตโฆสะ เสียงจากผู้อื่นมันก็มีทั้งเสียงดีเสียงไม่ดี เพื่อจะให้จำกัดลงมา เอาที่ดี ที่เป็นผู้มีคุณสมบัติ ดีแท้ๆที่เราถือว่าจะเรียกว่าเป็นอุดมคติ หรือเป็นที่มุ่งหมายก็คือกัลยาณมิตร นี้ความเป็นกัลยาณมิตรที่เป็นปัจจัยภายนอกเนี่ย พุทธศาสนาถือว่าสำคัญมาก พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่าเป็นพรหมจรรย์หรือเป็นมิตรประเสริฐทั้งหมด ความมีกัลยาณมิตร ให้ความสำคัญมาก ก็หมายถึงว่าคนเราโดยมาก โดยเฉลี่ยนะ ปัจจัยภายในที่จะมีพร้อมขึ้นมา มันยาก มักจะมีน้อยๆด้วย ก็ทำไงล่ะ เพื่อจะให้ปัจจัยภายนอกนี้มันเจริญงอกงามได้ ก็เลยต้องอาศัยปัจจัยภายนอกมาช่วย ที่มีพระพุทธเจ้าขึ้นมาก็คือมีปัจจัยภายนอกนี่แหล่ะ มีกัลยาณมิตร มีปรโตโฆสะที่ดีนี่เอง ที่เราจัดการศึกษากันในสังคมนี้ก็เพื่อให้มี ปรโตโฆสะที่ดี มีกัลยาณมิตร แล้วก็เพื่อจะไปช่วยให้คนพัฒนาปัจจัยภายในขึ้นมา ในเมื่ออย่างเนี้ย เพราะเหตุที่คำนึงเห็นว่าปัจจัยภายในสำคัญมากกว่าก็จริง แต่มันมีได้ยาก หรือคงไม่ค่อยมี ก็เลยต้องมาเน้นความสำคัญของปัจจัยภายนอก ซึ่งมันช่วยเกื้อหนุนปัจจัยภายใน
นี้เรื่องกัลยามิตรนี้ก็เป็นหน้าที่ทั้งของคนอื่นและของตัวเอง ใช่ไหม มันก็มีสองระดับ คนที่จะสามารถไปเลือกกัลยาณมิตรได้เอง มันก็ต้องมีโยนิโสมนสิการขึ้นมา ปัจจัยภายในมันต้องช่วย ทีนี้ขั้นต้นก็เลยว่ามันเป็นเรื่องคนที่ได้พัฒนาไปบ้างแล้ว ที่มาช่วยท่านทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร หรือเลือกหากัลยาณมิตรให้นะ เพราะฉะนั้นก็จะไปเน้นพ่อแม่ครูอาจารย์พระสงฆ์นี่น่ะ ครูอาจารย์พ่อแม่ ต้องเริ่มพ่อแม่ พ่อแม่ครูอาจารย์พระสงฆ์นี่ ต้องทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ฉะนั้นงานของพระสงฆ์ที่พูดกันมาในความหมายหนึ่ง ก็คือการทำหน้าทีเป็นกัลยาณมิตร
จะดูว่ากัลยาณมิตรเป็นยังไง ก็หลักเบื้องต้นก็ให้ที่ดูเรื่องมิตรแท้ มิตรเทียมก่อน นั้นอย่างง่ายๆสำหรับชาวบ้าน ใช่ไหม ในมิตรแท้มิตรเทียมนั้นก็จะมีชุดหนึ่งที่มิตรหวังประโยชน์ มิตรหวังประโยชน์ดูเถอะ มาเทียบกันในทิศหก ข้อหน้าที่ระหว่างพระสงฆ์กับคฤหัสถ์ จะเห็นว่าเกือบเหมือนกันเลย นั่นแหล่ะลักษณะของมิตรผู้หวังประโยชน์ปรารถนาดี จะตรงกันกับหน้าที่ของพระในทิศหกเลย และของพระนี่เพิ่มอีกข้อหนึ่ง ก็คือที่ตรงกับเรื่องของพระ เราก็ดูคุณสมบัตินี้อย่างหนึ่ง นี่ก็เป็นวิธีดูอันหนึ่ง
หลักการทั่วไปก็คือ ไม่ควรคบคนพาล เว้นแต่จะช่วยเหลือเขา นี่ตรัสอีกอันหนึ่งนะ นี่อย่าลืมอีกนะ ไม่ใช่ว่าจะตัดทิ้งเลย แต่ต้องระวังว่าเราแข็งพอรึยัง ไม่ใช่ว่าไปคบเขาแล้วโดนเขาดึงลง ใช่ไหม เอาละเป็นว่าคบคนพาลก็ได้ แต่เพื่อจะช่วยเขา ถ้าดึงเขาขึ้นมาไม่ว่า แต่เอาเป็นขั้นๆก่อน เอาว่าตอนแรกก็คือต้องดูคนที่เราจะคบในแง่ว่าให้เราพัฒนาตัวขึ้นไป ก็เป็นอันว่าดูมิตรแท้มิตรเทียม ดูหลักการทั่วไป คบแล้วที่จะทำให้กุศลธรรมเจริญงอกงาม อกุศลธรรมเสื่อม แล้วก็มีกัลยาณมิตรที่มีลักษณะอีก ๗ ว่า ปิโย ครุ ภาวนีโย วตฺตา จ วจนกฺขโม คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา โน จฏฺฐาเน นิโยชเย ใช่ไหม นี่ ๗ ข้อ
หนึ่ง น่ารัก คือหมายความว่าเห็นแล้วสบายใจ อยากเข้าหา อะไรเนี่ย มีเมตตา ทำให้สนิทสนมสบายใจ สอง ครุ น่าเคารพ มีความหนักแน่นมีคุณธรรม ถ้าคบแล้วเข้าหาแล้วปลอดภัย เป็นครูต้องปลอดภัยต่อลูกศิษย์ด้วย ใช่ไหม เนี่ยๆครุ เนี่ย น่าเคารพก็ปลอดภัย ทำให้เขาโล่งใจได้ แล้วก็ ภาวนีโย เป็นน่าเจริญใจ เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นผู้พัฒนาตนไม่หยุดหย่อน อะไรเงี้ยเป็นแบบอย่าง น่าเอาอย่างตาม วตฺตา เป็นผู้รู้จักพูด รู้จักพูดก็หมายความว่ารู้เวลาไหนควรจะพูดอะไร อะไรควรจะแนะนำยังไง เป็นที่ปรึกษาให้อย่างดี อะไรต่างๆ แนะนำตักเตือน
จ วจนกฺขโม ทนต่อถ้อยคำ อดทนต่อถ้อยคำหมายความว่า บางทีเขาทำให้ตัวเองกระทบกระเทือนใจ ก็ต้องอดทน ??? แม้แต่ลูกศิษย์ลูกหาซักไซ้มากก็ไม่ใช่เอาแต่ใจตัว ก็โกรธอีกใช่ไหม ต้องยอม บางทีลูกศิษย์เขาไม่เข้าใจ แล้วเขามีปัญญาน้อย ??? สิ่งที่ไม่ควรพูด แหมมันน่าจะเข้าใจแล้ว ไม่เข้าใจ อาจารย์ก็บางทีก็โกรธเพราะเรื่องนี้ แหม ไม่ได้อย่างใจ ทำไมแค่นี้มันไม่เข้าใจน๊อ ถูกมั๊ยฮะ คือคนที่มีปัญญามากมักเป็นคนเจ้าโทษะ ไม่ได้อย่างใจ อันนั้นก็อันหนึ่ง นี่ก็เป็นอีกข้อหนึ่ง ทีนี้ก็เป็นอันว่า จ วจนกฺขโม
ต่อไป คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา สามารถทำสิ่งที่ลึกซึ้งให้เข้าใจได้ง่าย มีเรื่องลึกซึ้ง เรื่องยากเรื่องอะไรต่ออะไร พูดทำให้เขาเข้าใจได้ แล้วนอกจากนั้นก็คือให้เขาเข้าถึงสิ่งที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป ใช่ไหมฮะ เขาเรียนรู้มาแค่นี้แล้ว เราก็สอนเขาต่อไปให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป ไอ้เรื่องไหนลึกซึ้งก็ทำให้เข้าใจได้ง่าย นี่ลักษณะครูที่สำคัญนะ ต้องทำเรื่องยากให้ง่าย ให้ง่าย ถ้าเรียกว่าทำให้มันตื้นขึ้นมาได้
ต่อไป โน จฏฺฐาเน นิโยชเย ข้อสุดท้าย โน จฏฺฐาเน นิโยชเย ไม่ชักจูงในทางที่ไม่เป็นฐานะ คำว่าไม่เป็นฐานะก็คือในเรื่องที่มันเหลวไหล ไม่สมควรทั้งหลาย ไม่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย ทางเสียหาย ในเรื่องไม่เป็นเรื่อง จบ ๗ ข้อ ก็นี่แหล่ะลักษณะกัลยาณมิตร ก็คือครูบาอาจารย์ที่ดี
ทีนี้เวลานี้ปัญหาเรื่องครูเกิดเยอะ ก็เพราะไม่มีกัลยาณมิตร ใช่ไหม ฉะนั้นครูจะต้องมีจิตสำนึกเตือนตัวอยู่เสมอ ให้ตั้งอยู่ในคุณธรรมความดีเป็นกัลยาณมิตร ก็พระก็เป็นกัลยาณมิตรของประชาชน ไม่ใช่ไปเตือนแต่ครู พระก็ต้องเตือนตัวเอง เนี่ยถ้าเราสามารถทำให้พระเป็นแบบอย่างได้ ทำหน้าที่ต่อประชาชนถูกต้อง สังคมมันก็จะดี อย่างน้อยก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง งั้นก็เอาเท่านี้ วันนี้ก็จบ