แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คุณจุฬารัตน์ : พระคุณเจ้าเจ้าค่ะ ในปัจจุบันนี้มีเรื่องราวที่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคม มักจะพูดกันเรื่องของความขัดแย้ง อันเนื่องมาจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน หรือความต้องการที่ไม่ตรงกัน วิธีการที่จะทำให้ความขัดแย้งลดลง คิดดีต่อกันแล้วก็กลายเป็นการร่วมมือกัน ควรจะเริ่มต้นจากจุดคิด หรือหลักคิดอย่างไรคะ
[00:00:00] ขัดแย้งให้เป็นก่อผลสร้างสรรค์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต): เจริญพร
[00:00:26] ขัดแย้งในแง่หนึ่งก็เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย ก็ต้องขัดแย้งเป็น ถ้าขัดแย้งเป็น มันก็มาช่วยกันกระทบแง่ ทำให้เกิดแง่คิด แง่มุม เกิดสติปัญญา อะไรต่ออะไรใหม่ๆ ก็ดีเหมือนกัน แต่ว่าข้อสำคัญก็คือ ความขัดแย้งนั้นต้องมาจากเจตนาที่ดี อันนี้แหละสำคัญ
[00:00:51] ถ้าความขัดแย้งนั้นเกิดจากเจตนาที่เป็นกุศล มุ่งหมายเพื่อความดีงาม ความเจริญ เพื่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ เพื่อให้สังคมของเรานี้มีความร่มเย็นเป็นสุข ตั้งใจดีแน่นอน เจตนานี้จะเป็นตัวกำกับ ทำให้ความขัดแย้งไม่เสียหาย ทีนี้ที่เป็นปัญหาก็คือ ถ้าความขัดแย้งเกิดจากเจตนาไม่ดี แล้วมันยุ่ง เพราะฉะนั้นตัวสำคัญคือ “เจตนา” เจตนาก็คือตัวที่เล็งไปที่จุดหมาย คนจะมีเจตนาคือความตั้งใจ มันก็มีจุดหมายนั่นเอง มีเป้าหมายอะไร แล้วเขาก็ตั้งเจตนาทำไปเพื่อจุดหมายอันนั้น ทีนี้ถ้าเป็นเจตนาเพื่อจุดหมายที่ไม่ดี เราก็เรียกว่า เป็นเจตนาที่เป็นอกุศล เมื่อเป็นอกุศลแล้ว อะไรต่ออะไรมันก็พลอยไม่ดีไปหมด ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็เลยกลายเป็นปัญหา มันก็เลยไม่เป็นการขัดแย้งที่สร้างสรรค์
[00:01:51] ถ้าหากว่าเป็นความขัดแย้งที่เกิดจากเจตนาที่ดี มันก็นำไปสู่การพูดจากันด้วยสติปัญญา อันนี้ตอนนี้เป็นขั้นวิธีการ เอาล่ะ ขั้นที่หนึ่ง ก็คือ ความขัดแย้งนี้ต้องเกิดจากเจตนาที่เป็นกุศล แล้วพอเกิดจากเจตนาที่เป็นกุศลดีแล้ว ต่อมาในทางปฏิบัติ ตอนนี้วิธีการ วิธีการในการขัดแย้ง เช่น พูดจา ต้องพูดจาอย่างรับผิดชอบ คือไม่ใช่พูดตามอารมณ์เรื่อยเปื่อย นึกอะไรขึ้นมาก็พูด แต่ว่าพูดโดยความคิด พูดแล้วให้ตรงกับเจตนาที่ดีนั้น พูดโดยใช้วาจาสุภาพ ทางพระท่านกำหนด 3 ขั้นเลย คือ มี เมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม ก็หมายความว่า ให้เป็นการแสดงออกทางกาย กระทำก็ด้วยเมตตา คือปรารถนาดี ทั้งต่อคนนั้นและต่อสังคมทั้งหมด แล้ววาจาก็พูดด้วยเจตนาที่ดี มีความปรารถนาดีต่อกัน แล้วก็ใจในที่สุด คือเริ่มมาจากใจที่มีเมตตานั้น มองกันพยายามมองแง่ดี ให้เห็นว่าเขาอาจจะไม่ได้เจตนาร้ายอะไรนะ เราค่อยพูดจากันก่อน
[00:03:12] ทีนี้ถ้าหากว่ามาจากกระบวนการอย่างนี้แล้ว มันก็มีทิศทางที่จะไปดีได้ ได้ 2 ขั้นแล้วนะ คือ เจตนาดี มีเป้าหมายที่ดี แล้วก็ใช้วิธีการในเชิงปฏิบัติที่ดี เช่น สุภาพ เป็นต้น แล้วก็วิธีในการที่จะใช้ความขัดแย้งเพื่อจะให้เกิดผลในทางสร้างสรรค์ พวกนักวิชาการสมัยใหม่เขาจะคิดกันมาก วางวิธีปฏิบัติเพื่อจะทำยังไงให้การขัดแย้ง แม้แต่ทางความคิด ให้กลายเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นต้น ก็จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์ เพราะว่าเรานี่มันเป็นไปไม่ได้ ที่ใครคนเดียวจะคิดได้มองเห็นหมดทุกอย่าง เราอยู่ในสังคมนี้เรารู้จักประเทศไทยได้คนละนิดละหน่อย อย่าว่าไปถึงโลกเลย อย่างวัดญาณเวศกวัน อาตมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสยังรู้ไม่ทั่วเลย
[00:04:09] ในเมื่อเรารู้ไม่ทั่ว เราก็ต้องยอมรับความจริง เราก็อาจจะมีแง่อะไรอื่นที่คนอื่นเขารู้ เราไม่ได้เห็น เราก็อยากจะรับฟัง อันนี้ก็คือใจที่อยากจะรับฟังอยู่แล้ว ถ้าเรามีใจที่อยากจะรับฟัง เราเป็นนักหาความรู้นี้ดีอย่าง คือเราพร้อมที่จะรับความรู้ เราอยากจะฟังเขา แทนที่เราจะไปแสดงว่าเรารู้อย่างนั้นอย่างนี้ บางทีเราไปขอความรู้จากเขา เราไปขอให้เขาพูดให้ความรู้ แง่มุมต่างๆ เหล่านี้เขามาเติม ผลประโยชน์มันก็ได้แก่เรานั่นเอง ที่เรายอมรับความจริงว่าเราจะไปรู้ได้ยังไงหมดทุกอย่าง เป็นไปไม่ได้ เราก็เลยเพื่อจะให้ความรู้ของเราเต็มบริบูรณ์ขึ้น เราก็หาทางหาความรู้ โดยก็เอาคนอื่นเป็นช่องทาง เอาคนอื่นเป็นเครื่องมือหาความรู้ อ้าว ถ้ามองอย่างนี้กลายเป็นว่าคนอื่นกลายเป็นเครื่องมือเรา ใช่ไหม กลายเป็นเครื่องมือในการหาความรู้ แต่ว่ามันเป็นเรื่องดีคือว่า อันนี้เป็นการพูดคล้ายๆ หยอกๆ ความจริงก็คือเราให้เกียรติคนอื่นด้วย แต่พร้อมกันนั้นผลก็ได้แก่เรา เราก็ได้ความรู้ยิ่งขึ้น ถ้าเรามีจุดหมายในการหาความรู้ให้เต็มสมบูรณ์ เราจะไม่รังเกียจ เราก็จะรอรับหาความรู้ของเราเรื่อยไป อันนี้ก็กลายเป็นดี
[00:05:33] เพราะฉะนั้นทางพระท่านจึงบอกว่า ให้เป็นธัมมกาโม “เป็นผู้ใคร่ธรรม” ใคร่ธรรม ก็คือ อยากได้ความจริง อยากได้ความจริงก็อยากรู้ อยากรู้ก็หาความรู้ ก็เป็นนักปรึกษา นักไต่ถาม รู้จักแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพราะฉะนั้นหลักข้อนี้ท่านให้ไว้คู่กับหลักหนึ่งที่ว่า โสวจัสสตา แปลว่า “ความเป็นผู้พูดกันง่าย” หลักพูดกันง่ายนี่ โบราณใช้กันไปใช้กันมา กลายเป็นว่านอนสอนง่าย สังคมไทยพูดกันไปกันมา หลักนี้กลายเป็นว่านอนสอนง่าย ทีนี้ว่านอนสอนง่าย ไป ๆ มาๆ ก็เลยเชื่อแต่คำสั่ง ไม่คิดเลย อันนั้นก็เลยไป เรียกว่า เอียงไปข้างเดียวสุดโต่ง ความจริงนั้นถ้าแปลตามศัพท์นั้นก็คือพูดกันง่าย โสวจัสสตาก็สำคัญในสังคมประชาธิปไตย ต้องเป็นคนพูดกันง่าย ชอบรับฟัง พอมีโสวจัสสตาเป็นคนที่พูดกันง่าย แล้วมีคำว่า ธัมมกามตา “ความเป็นผู้ใคร่ธรรม” อยากรู้อยากเข้าถึงความจริง ตอนนี้ล่ะเดินหน้าอย่างเดียวเลย เพราะว่าชอบฟังเขาอยู่แล้ว แล้วก็อยากหาความรู้ ก็เลยชอบซักถามชอบแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มองในแง่ที่จะหาความรู้เพิ่มเติม ก็จะแก้ไขความขัดแย้งได้ด้วย อันนี้ก็เป็นวิธีหนึ่ง
[00:06:52] หลักการนี้มันก็ใช้ในสังคมประชาธิปไตยด้วย สังคมประชาธิปไตย อย่างเรื่องแสดงความคิดเห็น จะต้องเป็นคนที่พร้อมที่จะรับฟังคนอื่น แล้วในการรับฟังคนอื่นก็คือ เราก็จะได้หาความรู้ไปด้วย บางคนนี่ชอบฟังอย่างเดียว แต่ว่าคนที่ชอบฟังนี่มีหลายแบบนะ คือบางคนก็ฟังไปอย่างนั้นเอง ฟังแล้วไม่ได้เรื่อง ไม่คิด บ้างคนเขาไม่ค่อยพูดอะไรก็จริง แต่เขาฟังแล้วเขาคิดตลอดเวลา แล้วเขาได้ประโยชน์จากสิ่งที่คนอื่นพูด ขณะที่คนๆ นั้นพูดนะ เขาได้แง่มุมความคิดใหม่ แล้วเขาคิดของเขาไป ในขณะที่เขาฟัง เขาคิดอะไรอีกเยอะเลย เขาคิดสิ่งที่คนที่พูดไม่ได้คิดด้วยซ้ำ เพราะว่าเขาหาโอกาสอยู่ เขาเป็นคนที่คิดเป็น พอคิดเป็น มันต้องหาแง่หามุม หาข้อมูลความรู้ พอได้ข้อมูลใหม่มา ทีนี้เขามีข้อมูล ได้แง่มุมที่จะคิด เขาก็คิดเลย ใช้เวลานั้นให้เป็นประโยชน์ในการคิดไปอีก ก็เลยดีใหญ่เลย
[00:07:55] ทีนี้ที่เขาได้เพิ่มเขาไม่ได้คนเดียวนะ เขาได้ทั้งสังคม เพราะว่าเขากำลังทำงานเพื่อสังคมประเทศชาติอยู่ เขาได้สังคมก็ได้ด้วย ฉะนั้นก็เหมือนกับเราวางตัวเหมือนกับเราไม่มีตัวตนอะไร เราก็ทำไปตามกระบวนการของธรรมชาตินี้ เราก็รู้อยู่ว่าเรานี้ไม่สามารถจะรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง เราก็อยากจะให้มีความรู้ที่เต็มสมบูรณ์ เราก็รอรับความรู้ เอาความรู้มาเติม แล้วเราก็เอามาเป็นข้อมูลความคิด แล้วก็คิดไปๆ ได้ยังไงก็แสดงความเห็น พอดีการแสดงความเห็นของเรานั้น มันก็อาจจะออกในรูปคำถาม แต่การแสดงความเห็น ไม่จำเป็นจะต้องไปพูดว่ารู้อย่างนั้นอย่างนี้หรอก บางทีแสดงเป็นคำถามก็ได้ แล้วเป็นคำถามนี่บางทีได้มากกว่า ออกมาเปลี่ยนพลิกความเห็นเป็นคำถามปั๊บ ถามแล้วได้ประโยชน์มากขึ้นอีก อันนี้ก็เป็นเรื่องของเทคนิควิธีต่างๆ แต่รวมแล้วก็คือ จิตใจต้องดีก่อน คือมีความใฝ่รู้อยากรู้ แล้วก็เป็นคนที่แสวงปัญญา ก็เลยอยากจะย้ำว่าเวลานี้สังคมไทยเรา เราขาดวัฒนธรรมทางปัญญา หรือจะเรียกเต็มว่า “วัฒนธรรมแห่งการแสวงปัญญา”
[00:09:08] ถ้าเราจะพูดเป็นเครื่องเปรียบเทียบนี่ มันจะมีว่าเรามีวัฒนธรรม 2 อย่าง คือ วัฒนธรรมแห่งเมตตา ความมีน้ำใจ ความรัก ความปรารถนาดี ช่วยเหลือกัน อะไรต่างๆ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อันนี้เรียกว่า “วัฒนธรรมแห่งเมตตา” นับถือกันเป็นพี่เป็นน้อง เป็นต้น ทีนี้อีกด้านหนึ่งก็คือ “วัฒนธรรมแห่งปัญญา” หรือ “วัฒนธรรมแห่งการแสวงปัญญา” สังคมไทยของเรานี่พื้นเพภูมิหลังของเราดีในด้านวัฒนธรรมแห่งปัญญา ขออภัย วัฒนธรรมแห่งเมตตา แต่เราค่อนข้างขาดวัฒนธรรมแห่งปัญญา เราไม่ชอบค้นหาความรู้ อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ห้องสมุดแทนที่จะไปอ่านค้นคว้าตำหรับตำรา ก็ไปอ่านหนังสือบันเทิงเสีย อย่างนี้เป็นต้น ก็แสดงว่าหนังสือพวกประเภทที่เป็นหลักต้องใช้ความคิด ต้องอ่านเพื่อหาความรู้จริงๆนี่ คนไม่ค่อยซื้อ ในสังคมไทยชอบหนังสืออ่านเล่นสนุกสนานบันเทิง ใช่หรือเปล่า อันนี้มันก็เป็นเครื่องฟ้องว่าสังคมไทยของเราเนี่ยขาดวัฒนธรรมแห่งการแสวงปัญญา
[00:10:18] ทีนี้เราไปดูสังคมฝรั่ง เราอยู่ในโลกเราก็ลองเทียบดู สังคมฝรั่งอย่างอเมริกันนี่เอาง่ายๆ เป็นสังคมที่เด่น ก็จะด้อยทางด้านวัฒนธรรมเมตตา คือจะเป็นสังคมตัวใครตัวมัน เป็นสังคมแห่งการแข่งขันแย่งชิงอะไรต่างๆ เหล่านี้ เขาถือว่าต้องแย่งชิง ต้องแข่งขันแล้วมันถึงจะเก่ง ฉะนั้นการแข่งขันมันก็ดำเนินไปได้ ทีนี้ก็ทำให้ด้อยทางวัฒนธรรมแห่งเมตตา แต่เขาดีทางด้านวัฒนธรรมแห่งปัญญา หรือการแสวงปัญญา เพราะว่าเขาถูกบีบคั้นมามาก แม้แต่ว่าการเป็นอยู่ที่ตัวใครตัวมันนี้ ทำให้ต้องดิ้นรนหาทางรอด การดิ้นรนหาทางรอด มันก็ต้องคิดแก้ปัญหา คิดแก้ปัญหาก็ต้องหาความรู้ ต้องพัฒนาปัญญา ต้องรู้จักคิด สถานการณ์ สภาพแวดล้อม วิถีชีวิตมันบีบบังคับให้ฝรั่งต้องหาความรู้ แล้วต้องคิดมาก เขาก็เลยพัฒนาในด้านวัฒนธรรมแห่งการแสวงปัญญา แต่ว่าเขาด้อยทางวัฒนธรรมแห่งเมตตา ทีนี้ของเรานี่ เราช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันดี เราต้องคอยเตือนกันอยู่เสมอว่า คุณนะอยู่สบายมันจะประมาท ถ้าเราอยู่กันสบาย ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันดีเนี่ย เราก็เลยไม่ค่อยทุกข์ร้อน ไม่มีอะไรบีบคั้นเราก็ไม่ดิ้นรน เมื่อไม่ดิ้นรน การหาความรู้ การหาทางคิดแก้ปัญหามันก็ด้อยลงไป ฉะนั้นสังคมของเราก็เลยมีจุดอ่อนที่ว่า ด้อยทางวัฒนธรรมแห่งการแสวงหาปัญญา
[00:11:52] ทีนี้เรามาอยู่ในโลกปัจจุบัน เราได้รับอิทธิพลโลกาภิวัตน์ อย่างที่เขาเรียกกันเนี่ย เราก็เป็นฝ่ายที่ถูกครอบงำบ้าง หรือเป็นฝ่ายตามบ้าง เป็นฝ่ายรับบ้าง แทนที่จะเป็นฝ่ายนำเขา ในเมื่อเป็นฝ่ายรับ เป็นฝ่ายถูกครอบงำ และได้รับอิทธิพลเนี่ย มันกลายเป็นว่า วัฒนธรรมของเราที่มีส่วนดีอยู่บ้างอันนั้นก็จะค่อยๆ หดหายไป เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมเมตตาของเราเนี่ย กำลังสูญเสีย กำลังเสื่อมลง ขอให้ดูเถอะคนเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีเมตตาต่อกัน น้ำใจ ปรารถนาดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ก็ลดน้อยลงไป ยิ่งในเมืองยิ่งในกรุงก็เป็นมาก ชาวบ้านนอกก็พลอยเป็นไปตาม ตอนนี้ก็ชักแย่กันไปหมดแล้ว ทีนี้ต่อไปก็จะเป็นสังคมแบบตัวใครตัวมัน ความเป็นพี่เป็นน้อง อะไรต่ออะไร ลุงป้าน้าอา ก็ไม่ค่อยเรียกกันแล้วเดี๋ยวนี้ เพราะแต่ก่อนนี้ผู้หญิงพบผู้ชาย ผู้ชายพบผู้หญิง ก็เรียกกันเป็นพี่เป็นน้อง เป็นลุงเป็นป้าเป็นน้าเป็นอา มองกันเป็นญาติ สายตาทัศนคติมันก็ดี แต่ทีนี้ เดี๋ยวนี้ไม่มองอย่างนั้นแล้ว มองแต่ในเรื่องเพศตรงข้ามอย่างเดียว มันก็ทำให้เกิดปัญหา
[00:13:03] วัฒนธรรมแห่งเมตตาของเรากำลังจะเสื่อม สูญเสีย พร้อมกันนั้นวัฒนธรรมแห่งการแสวงปัญญา เราก็ไม่ค่อยได้ อย่างนี้เขาเรียกว่า เสียทั้งสองเลย ทีนี้ในขณะที่ฝรั่งเขาวัฒนธรรมเมตตาเขาด้อยจริง แต่ว่าวัฒนธรรมการแสวงหาปัญญาเขายังอยู่ เขายังเป็นผู้นำอยู่ เขายังดีกว่าเรา ฉะนั้นไทยเรานี่จะต้องรู้ตัว 1. ก็ต้องรักษาวัฒนธรรมแห่งเมตตาไว้ 2. ก็ต้องพัฒนาวัฒนธรรมแห่งการแสวงปัญญา แล้วถ้าเราจะรักษาพุทธศาสนาไว้ ไม่มีทางเลี่ยง พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา มันก็น่าแปลกใจมากที่ว่า พุทธศาสนานั้นเน้นปัญญา แต่คนไทยกลับขาดวัฒนธรรมแห่งการแสวงปัญญา ก็ต้องถามว่าเป็นไปได้อย่างไร ทำไมคนไทยนับถือพุทธศาสนา ศาสนาแห่งปัญญา แต่กลับไม่มีวัฒนธรรมแห่งการแสวงปัญญา ที่จริงคนพุทธนี้จะต้องเป็นนักแสวงหาปัญญา ต้องมีความใฝ่รู้ อย่างที่บอกเมื่อกี้ต้องมี ธัมมกามตา ความใคร่ธรรม อยากจะรู้อยากจะเข้าถึงความจริง อะไรมันจริง อะไรมันถูกต้อง อะไรมันดีงาม ต้องคิดต้องค้นต้องหากันจนกระทั่งให้ถึงตัวแก่นตัวจริงให้ได้
[00:14:16] แล้วก็มีลักษณะที่จะต้องให้เกิดความรู้อย่างที่คุณจุฬารัตน์ว่าเมื่อกี้ ต้องเกิดสัมมาทิฐิ การที่เกิดสัมมาทิฐิ ต้องหาความรู้ เมื่อไม่รู้มันจะมีความเข้าใจความเห็นถูกต้องได้ยังไง ความเห็นถูกต้อง อย่างที่บอกแล้วว่ามันต้องมาจากความรู้ แล้วต่อจากนั้นก็ความคิด พอความรู้ถูกต้องชัดเจน ก็คิดบนฐานความรู้ที่ชัดเจนถูกต้อง มันก็มีทางที่จะถูกต้อง เมื่อคิดถูกต้อง ได้ผลของความคิด ก็เป็นผลิตผลแห่งความรู้และความคิด มันก็เป็นผลิตผลทางปัญญาที่แท้จริง ก็เกิดเป็นสัมมาทิฐิ ฉะนั้นเรื่องนี้สังคมไทยเรานี่ ถ้าหากว่าเราไม่พัฒนาวัฒนธรรมแห่งการแสวงปัญญา ซึ่งเป็นหลักการของพุทธศาสนาแล้ว เราจะเข้าถึงสัมมาทิฐิไม่ได้ด้วยซ้ำ เจริญพร ก็เลยพูดไปเสียเยอะ ไม่ทราบตรงจุดหรือเปล่า เดี๋ยวช่วยเน้นคำถามอีกที
คุณจุฬารัตน์ : ในส่วนนี้จากการที่ท่านเจ้าคุณได้เมตตาให้แนวคิดก็คือว่า ยกตัวอย่างเรื่องของปัญหาซึ่งคิดว่าเป็นความขัดแย้ง หลักประการที่หนึ่งซึ่งเอาไปปฏิบัติก็คือว่า อย่าให้บุคคลผู้ขัดแย้งเป็นความขัดแย้งซะเอง แต่เอาปัญหาเป็นเป้าหมายเพื่อที่จะช่วยกันทำให้หมดปัญหา แล้วก็เปลี่ยนความขัดแย้งให้กลายเป็นความร่วมมือ โดยการใช้ปัญญา ทีนี้ยังจะมีอีก 2 คำเจ้าค่ะ ที่มักจะเอาไปใช้กันโดยเข้าใจไม่ครบถ้วน หรืออะไรก็ไม่ทราบ เช่น พอกลายเป็นความร่วมมือ ก็จะเป็นความร่วมมืออย่างชนิดที่เรียกว่า ประนีประนอม หรือ compromise ตามที่ท่านเจ้าคุณเคยให้แนวคิด ก็จะต้องแตกต่างจากคำว่า หลอมรวมเป็นเนื้อเดียว ซึ่งน่าจะดีกว่า แต่คนไปนึกว่ามันเหมือนกัน ก็เลยกลายเป็นว่าการแก้ไขความขัดแย้งยังไม่เบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ขอเมตตาท่านชี้แนะทั้งสองแนวคิดนี้ด้วยเจ้าค่ะ
[00:16:17] ประนีประนอมลดความขัดแย้ง สุขสมบูรณ์แท้ด้วยกลมกลืน
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของอารยธรรมด้วย อารยธรรมตะวันตกนั้นชำนาญเรื่อง compromise ก็คือการประนีประนอม การประนีประนอม มีความหมายว่า แต่ละฝ่ายยอมลดความต้องการของตัวเอง เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างก็ได้ แต่ว่าพร้อมกันนั้นต่างฝ่ายต่างก็ต้องยอมเสียบ้าง หมายความว่าเพื่อจะให้ทั้งสองฝ่ายอยู่กันได้ หรือต่างก็ได้กันบ้าง ทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องยอมเสียบ้าง อย่างนี้เขาเรียกว่า “ประนีประนอม” ก็คือ “compromise”
[00:16:53] ทีนี้อีกวิธีการหนึ่งเขาเรียกว่า “harmony” นี่ก็ต้อง harmonise ก็คือ การที่จะต้อง “ประสานกลมกลืน” ก็หมายความว่า มันไม่มีความขัดแย้ง เมื่อมีความขัดแย้งต่างๆ ก็จัดจนกระทั่งลงตัว ลงตัวก็คือว่า มันเข้ากันได้ด้วยดี ทุกอย่างประสานกลมกลืน องค์ร่วมต่างๆ นี่มาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องของมัน มีความสัมพันธ์ถูกต้อง แล้วก็ทำหน้าที่ถูกต้องต่อกัน ส่งต่อประสานกันได้ดี เหมือนอย่างกับองค์ประกอบ หรือส่วนประกอบของเครื่องยนต์กลไกต่างๆ อย่างรถยนต์เป็นต้นเนี่ย ถ้าหากว่ามันไป compromise กัน แย่แน่เลย รถยนต์ไปไม่รอด รถยนต์จะเดินไปได้ดีต้อง harmony ฉะนั้นส่วนประกอบต่างๆ มันจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะ ถูกต้องของมัน ทำหน้าที่ของมันถูกต้อง ส่งต่อกัน ประสานกันด้วยดี อย่างนี้เขาเรียก harmony เกิดขึ้นกลมกลืน แล้วรถยนต์นั้นก็จะดีเลย วิ่งได้เรียกว่า อย่างที่เรียกว่ามีคุณภาพสมบูรณ์ ยิ่งรถคันไหนทำได้มี harmony เท่าไหร่ ก็ยิ่งดีเท่านั้น แล้วก็จะมั่นคง จะแข็งแรง
[00:18:06] ปัญหาในโลกปัจจุบันก็คือที่ว่า มันไม่สามารถจะมาถึงจุด harmony มันก็ได้แค่ compromise พอ compromise มันก็ขาดตกบกพร่อง เพราะว่าอย่างที่บอกแล้ว compromise ก็คือการที่ต่างฝ่ายต่างต้องลดความต้องการของตัวเอง เพื่อตัวเองจะได้บ้าง มิฉะนั้นแล้ว เช่นว่าอาจจะต้องรบกัน เมื่อรบกันแล้วก็อาจจะพินาศทั้งสองฝ่าย ไม่ได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย หรืออีกฝ่ายชนะได้ฝ่ายเดียวเลย อันนั้นก็เรียกว่า เป็นวิถีของการที่ขัดแย้ง ก็ conflict ที่นี้ก็ไม่ต้องการ conflict ได้อย่างที่ไม่สมบูรณ์ก็เป็น compromise ก็คือประนีประนอม แต่ถ้าจะแก้ให้ได้ผลสมบูรณ์ ก็ต้องเป็น harmony ก็คือ ประสานกลมกลืน
[00:18:52] ทีนี้ในทางพุทธศาสนา ท่านก็ว่าไปตามจริงของธรรมชาติว่า สิ่งทั้งหลายนี้มันจะต้องประสานกลมกลืน โดยมีองค์ร่วมที่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ทำหน้าที่ถูกต้อง แล้วมาเชื่อมมาโยง มาส่งทอดต่อกันอย่างดี แล้วทุกอย่างก็เดินไปได้ด้วยดี เหมือนเฟืองทั้งหลาย เฟืองเล็กเฟืองน้อยเฟืองใหญ่ที่มันเข้ากันดี ก็เป็น harmony ไป เพราะฉะนั้นปัญหาโลกปัจจุบันคือว่า มันยังไม่ถึงกฎธรรมชาติ ก็คือยังไม่ถึงธรรม มันไม่สามารถเข้าถึงความเป็นจริง ก็ได้แค่กติกาของมนุษย์ที่ว่าเอาแค่ compromise กันก่อน เรื่อง compromise นี่ก็ขึ้นต่อกติกาของมนุษย์ว่าจะประนีประนอมกันอย่างไร เพื่อจะให้พออยู่กันได้ แต่ก็ ฮึ่ม ฮึ่ม กันอยู่เรื่อยไป ในใจแท้ๆ ก็ไม่ยอมจริง ใช่ไหม แต่ว่าข้างนอกก็ต้องยอม เพราะว่าขืนทำอะไรไปมันก็อยู่ดีไม่ได้ คือตัวเองก็ไม่มีความสุข แต่ว่าจะให้สุขสมบูรณ์ก็ไม่ได้ ก็เลยก็อยู่กันไปอย่างนี้
[00:19:58] เวลานี้ทุกอย่างของโลกปัจจุบันอยู่ในระบบ compromise ไม่ใช่ compromise ในหมู่มนุษย์ด้วยกันเท่านั้นนะ ในระหว่างสังคมยัง compromise กับธรรมชาติด้วย เวลานี้เรากำลัง compromise กับธรรมชาติว่า มนุษย์เราก็ถือว่าเราจะมีความสุขสมบูรณ์ต่อเมื่อได้เสพบริโภคเต็มที่ เราจะบริโภคได้เต็มที่ ธรรมชาติก็ต้องมาเป็นวัตถุดิบเข้าโรงงานอุตสาหกรรมให้เต็มที่ ใช่ไหม ทีนี้ป่าก็จะหมด ถ้าป่าหมด ธรรมชาติหมด เราก็เดือดร้อน เราก็บอกว่าต้องรักษาป่าไว้ รักษาป่าไว้เราก็ไม่มีเสพบริโภคเต็มที่ เราก็ไม่ได้ผลประโยชน์เต็มที่ เขาก็เลยวางจริยธรรมแห่งสิ่งแวดล้อมขึ้นมา เรียกว่า “environmental ethic” ที่เป็นจริยธรรมแห่งการประนีประนอมกับธรรมชาติ ก็หมายความว่า มนุษย์จะเอาแต่ใจตัวเองให้บริโภคได้สุขสมบูรณ์นั้นเป็นไปไม่ได้ ต้องยอม restraint บ้าง restraint ก็คือต้องยอมยับยั้งตัวเองบ้าง ต้องยอมบังคับใจตัวเอง ยอมอดบ้าง ก็คือเพื่อให้ได้ความสุขบ้าง เท่าที่ธรรมชาติมันจะไม่พินาศก็เอาแค่นั้น แต่ว่าจะมีความสุขเต็มที่ไม่ได้ ถ้ามีความสุขเต็มที่ ธรรมชาติไม่อยู่ พินาศไป มันก็ส่งผลกลับมาตัวเองก็อยู่ไม่ได้ ก็เลยเป็นระบบ compromise เวลานี้เราอยู่กันด้วยระบบ compromise เพราะเราไม่สามารถจะมีแม้แต่จริยธรรมแห่งการประสานกลมกลืน
[00:21:30] “จริยธรรมของการประนีประนอม” หรือ compromise มันเป็นจริยธรรมแห่งการฝืนใจ เพราะคนที่จะประนีประนอมมันก็ต้องฝืนใจไง มันไม่ได้เต็มตามความต้องการ มันก็ฝืนใจว่า เอาล่ะเราเพื่อจะได้อยู่ได้บ้าง เราต้องยอมเสียบ้าง หรือได้ไม่เต็มตามต้องการ มันก็ฝืนใจตลอดเวลา ทีนี้จริยธรรมปัจจุบันเป็นแบบนี้ คือว่ามนุษย์แต่ละคนนี่อยากได้อยากเสพอยากมีเต็มที่เลย แต่ถ้าทำอย่างนั้นแล้ว มันก็ขัดแย้งกับเพื่อนมนุษย์ เพื่อนมนุษย์เขาก็จะไม่ยอม เดี๋ยวก็จะตีกัน หรือไม่งั้นก็สังคมก็จะเดือดร้อนเบียดเบียน ก็เลยต้องยอม ก็เป็นจริยธรรมการประนีประนอมกับสังคม ก็คือยอมให้คนอื่นอยู่ได้ ฉันก็ต้องยอมไม่ทำตามใจอยากของตัวเอง แล้วก็ไปประนีประนอมกับธรรมชาติอีก ทีนี้จริยธรรมแบบนี้เป็นจริยธรรมตะวันตก ว่ากันง่ายๆ จริยธรรมทางพุทธศาสนาเราไม่ได้มองกัน เราไปมองด้วยสายตาแบบวัฒนธรรมตะวันตก ท่านนึกว่าจริยธรรมก็เหมือนกันแหละ ที่จริงไม่เหมือนเลย
[00:22.35] จริยธรรมทางพุทธศาสนาเป็นจริยธรรมแห่งความสุข “จริยธรรมแห่งความสุข” ก็หมายความว่า คนเรานี้พอปฏิบัติธรรม ทำถูกต้อง ทำดีขึ้นแล้ว มันจะต้องมีปิติปราโมทย์ พอปิติปราโมทย์มา มันก็เริ่มมีความสุขแล้วใช่ไหม ฉะนั้นลักษณะที่ท่านบอกว่า จิตสมาธิเริ่มด้วยคำว่าสมาธิ “จิตสมาธิ” ก็สมาธิความตั้งแน่วของจิต ก่อนที่จะมีจิตฝึกสมาธิ หลายพระสูตรก็จะตรัสถึงคำว่า “สมาธิ” ธรรมะต้องแน่วก่อน ความตั้งแน่วแห่งธรรม พอธรรมะที่เป็นองค์ประกอบตั้งแน่วปั๊บ จิตก็ตั้งแน่วด้วย ทีนี้คำว่าสมาธิมีอะไรบ้าง ท่านบอกมี 5 ข้อ 1) ปราโมทย์ เริ่มแล้ว ปราโมทย์ก็คือความร่าเริงเบิกบานใจ คนต้องมี 2) ปิติ ความอิ่มใจ ปลื้มใจ 3) ปัสสัทธิ ความสงบเย็น ผ่อนคลาย ไม่เครียด 4) ความสุข และ 5) สมาธิ พอได้ 5 อย่างนี้ก็ถึงตัวสมาธิพอดี ก็ได้จิตสมาธิ ฉะนั้นจิตสมาธิก็คู่กับธรรมสมาธิ ซึ่งธรรมสมาธิก็มี 5 ข้อนี้ พระพุทธเจ้าเน้นเสมอ
[00:23:48] เพราะฉะนั้นชาวพุทธจะต้องทำใจของตัวเองให้มีองค์ประกอบ 5 ประการนี้อยู่เสมอ 1)ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกบานใจ 2) ปิติ ความอิ่มใจปลื้มใจ อย่างคุณแม่เห็นลูกเรียนหนังสือได้ดีก็ปลื้มใจ มีปิติด้วย ลูกเรียนหนังสือ เห็นคุณแม่สบายใจ มีความสุข ตัวเองก็มีความสุขด้วย อย่างนี้เรียกว่า มีปิติสุข ก็เป็นปิติสุขที่เราสร้างขึ้นได้ในชีวิตที่ดีงาม แล้วก็มีปัสสัทธิที่ว่าสงบเย็น ผ่อนคลาย ไม่เครียด สมัยนี้ดูสิโลกแห่งการประนีประนอม เราจะเห็นคนเต็มไปด้วยความเครียด ใช่ไหม เพราะว่าจิตมันไม่ยอม มันไม่ harmony มันก็ฝืนใจตัวเอง ฝืนใจ compromise กับเขา ตัวเองก็เครียดอยู่นี่แหละ เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างตัวธรรมสมาธิ 5 ขึ้นมา ถ้าได้แล้วสบาย คนไทยคนพุทธนี่ ทำความดีอะไร มาทำอะไรให้คุณพ่อคุณแม่ ตัวเองก็ปลื้มใจในความสุข อย่างคุณแม่เห็นลูกมีความสุข ให้กับลูก ตัวเองไม่เห็นเสียดายเลย ลูกมีความสุข แม่ก็มีความสุขด้วย ทีนี้ถ้าลูกรักแม่ก็เหมือนกัน ลูกก็อยากทำอะไรให้แม่ พอทำอะไรให้แม่ได้ แม่มีความสุขได้ ลูกก็สุขด้วย ใช่ไหม
[00:25:05] มันก็เป็นอย่างนี้คือว่า คนเราก็พัฒนาไป พัฒนาในการกระทำ จะทำอะไร ทำสิ่งที่ดีงามขึ้นมาได้สำเร็จ หรือว่าทำก้าวหน้าไป ก็มีความอิ่มใจ มีความสุข ทำด้วยใจรัก มันก็มีความร่าเริงเบิกบานใจ ทีนี้จริยธรรมแบบนี้ต้องเอามาใช้ เป็นจริยธรรมที่แท้ เป็นจริยธรรมที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่จริยธรรมแบบบทบัญญัติ ที่มันกลายเป็นข้อบังคับฝืนใจกัน ตกลงว่าเราจะต้องมา reengineering กัน ตอนนี้ศัพท์นี้ชักจะลืมกันไปแล้ว ใช่ไหม เมื่อสัก 6-7 ปีก่อนนี้พูดกันเหลือเกิน คนไทยนี่ลืมง่าย ตอนนั้นตื่นกันนักหนา reengineering ต้องรื้อปรับระบบกันใหม่ ตอนนี้ต้องรื้อปรับระบบจริยธรรมกันใหม่แล้ว จริยธรรมที่มันพลาดไปนี่ ก็เป็นจริยธรรมแห่งความทุกข์ จริยธรรมแห่งความฝืนใจ ต้องมาปรับระบบใหม่ เข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง เป็นจริยธรรมแห่งความสุข เป็นจริยธรรมที่ถูกต้องตามกฎธรรมชาติ อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่นะ สังคมไทยเราคือ เป็นสังคมที่เขวสับสนไปนานแล้ว ลืม ไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้ตัวเองก่อน แล้วจึงไม่รู้จัก เพราะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นยังไง พื้นเพภูมิหลังวัฒนธรรมเป็นยังไง แม้แต่มองพุทธศาสนาก็มองด้วยความไม่เข้าใจ
ทีนี้ในการที่จะมาอยู่ร่วมกันให้เกิดประสานกลมกลืนเนี่ย มีอันหนึ่งก็คือว่า มันจะไม่ต้องใช้วิธีที่เป็นเลห์กล เวลานี้นะ ใช้วิธีแม้แต่จิตวิทยาตะวันตกเนี่ย มันเป็นแบบเล่ห์กลซะมาก คือเพื่อจะให้ได้อะไรสักอย่างหนึ่งก็ไปทำ อาตมาก็เคยพูดบ่อยๆ เช่นอย่างเขาสอนเพื่อให้ยิ้ม ยิ้มแบบตะวันตกก็คือยิ้มล้วงกระเป๋า ใช่ไหม คือว่าไม่ได้ยิ้มด้วยเจตนาดี ไม่ได้มีไมตรีจิตมิตรภาพหรอก ยิ้มนี่ก็เพื่อให้เขาชอบ เป็นลูกค้าเข้ามา เสร็จแล้วเราจะได้เงิน เขาจะได้ซื้อสินค้า ใช่ไหม จบแล้ว ที่จริงนั้นใจจริงยิ้มหรือเปล่าก็ไม่รู้ ทีนี้ทางพุทธศาสนาเราให้มีเมตตาก็คือยิ้มด้วยใจจริง ยิ้มด้วยปรารถนาดีต่อเขา อยากให้เขามีความสุข ไม่ใช่ยิ้มจะเอา ทีนี้จิตวิทยาตะวันตกเนี่ย ดูสิเราเอามาใช้จนกระทั่งพูดว่า คนนี้จิตวิทยานี่ ว่างั้น พอพูดว่าคนนี้จิตวิทยานี่ หมายความว่าไง ก็หมายความว่าไม่ซื่อแล้ว ใช่ไหม ก็คือว่าทำโดยที่เป็นวิธีการ หรือเป็นอุบายอะไรสักอย่างนึง อันนี้ก็เป็นเรื่องของแนวคิดที่ยังเน้นผลประโยชน์ของตัวเองมากไป คือแนวคิดตะวันตกนี่แน่นอนเลยเป็นวิธีคิดที่เน้นเรื่องผลประโยชน์ของตัว เพราะฉะนั้นเขาจะต้องพิทักษ์ผลประโยชน์ตัวเอง แล้วพิทักษ์สิทธิ์ ฉะนั้นสังคมตะวันตกจะเน้นเรื่องสิทธิมาก
[00:28:03] ฉะนั้นการมีสิทธิมนุษยชนอะไรต่ออะไรนี่ ต้องระวังอย่าสุดโต่ง ที่จริงมันจำเป็นเหมือนกัน จำเป็นแต่ว่ามนุษย์เรานี่ไม่ได้อยู่แค่รักษาสิทธิ์ มนุษย์เรานี่เป็นสัตว์ประเสริฐกว่านั้น ก็คือเหนือความเป็นผู้รักษาสิทธิ์ปกป้องตัวเอง ก็คือเป็นผู้ที่เผื่อแผ่เอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นด้วย เมื่อไรพ่อแม่เอาแต่สิทธิ์รักษาสิทธิ์กับลูก ลูกแย่แน่ ใช่ไหม ลองคุณแม่อยู่กับลูกแล้วจะต้องพิทักษ์สิทธิ์ของกันและกัน ยุ่งเลยใช่ไหมในครอบครัวนี่ ทีนี้คุณแม่ไม่ได้คิดจะป้องกันรักษาพิทักษ์สิทธิ์อะไรของตัวเอง อะไรจะทำให้ลูกมีความสุขได้ ก็ทำไป ใช่หรือเปล่า ลูกก็มีความสุข และความซาบซึ้งมีน้ำใจก็เกิดขึ้น
[00:28:51] ทีนี้เรามาอยู่ในระบบพิทักษ์สิทธิ์เนี่ย ต่อไปจะลำบาก จะต้องรู้เท่าทันฝรั่ง ฝรั่งมีอะไรดี คือฝรั่งเขามีประสบการณ์ ภูมิหลังของสังคมที่เขาดิ้นรนต่อสู้มาก เขาก็ต้องพัฒนาระบบพิทักษ์สิทธิ คือกันไม่ให้ฝ่ายอื่นมาละเมิดต่อตนเอง อันนี้ก็เป็นธรรมดา เขาก็เลยเป็นสังคมแห่งกติกา จนกระทั่งเป็นสังคม the rule of law เราก็พูดกันมากใช่ไหม the rule of law สังคมแห่งนิติธรรมอะไรต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งมันก็ดี ทีนี้สังคมไทยเราไม่มีพื้นเพภูมิหลัง ไม่รู้จักจัดให้ปรับ เอากติกาบังคับไม่ได้ซักที เป็นสังคมที่แย่ที่สุดในเรื่องกติกา เรื่องกฎรักษาไม่ได้ เพราะตัวเองก็ไม่รู้ภูมิหลังของตัวเอง ก็พัฒนาไม่เป็น ก็จะไปหยิบเอา the rule of law ของเขามา แล้วจะไปเอาอย่างฝรั่ง พื้นเพภูมิหลังตัวเองมันก็ไม่เป็น ฉะนั้นต้องจัดให้เหมาะกับสังคมตัวเอง อย่าไปเอาอย่างฝรั่ง แต่ให้รู้ทันฝรั่ง
[00:29:48] รู้เท่าทันว่าฝรั่งเจริญมายังไง เขาดิ้นรนต่อสู้มา อเมริกาขึ้นฝั่งที่ทางด้านนิวอิงแลนด์ ใช่ไหม พลีมัธ แล้วก็ขึ้นบอสตัน นิวยอร์ก บัลติมอร์ ขึ้นมาแล้วบุกหน้าไป ฝ่าฟันฟรอนเทียร์ 300 ปี ได้เฉลี่ยปีละ 10 ไมล์ 300 ปีจนจบถึงมหาสมุทรแปซิฟิก ใช่ไหม 300 ปี เขาบอกเขาเฉลี่ยปีละ 10 ไมล์ เขาบุกไป พอจบแล้วนี่ เขาได้นิสัยใจคอปลูกฝังไว้มากมายใน 300 ปีนี้ ก็คือเป็นนักบุกฝ่าไปข้างหน้า เป็นนักผจญภัย แต่พร้อมกันนั้นถ้าเป็นการมองไม่ดีก็รุกรานด้วย ในระหว่างนี้เขาก็ไปเอาที่ดินอินเดียแดง จนอินเดียนแดงแทบจะสูญพันธุ์ไปเลย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้เข้าใจเท่าทัน ฝรั่งเขาดิ้นรนต่อสู้ ตั้งแต่ยุโรปแล้ว ที่เขามาอเมริกาก็เพราะหนีภัยมา ไม่งั้นไม่ดั้นด้นผจญภัย ฝ่าความทุกข์ยากในมหาสมุทรแอตแลนติกมากันหรอก เพราะหนีภัย ถ้าอยู่บ้านตายแน่ เสี่ยงข้ามทะเลไปยังมีทางรอดบ้าง ฝรั่งพวกนี้ก็ถูกกำจัด ถูกบีบคั้นในยุโรปมาเป็นร้อย ๆ ปี เป็นพัน ๆ ปีแล้ว หนีมาอเมริกา หนีมาอเมริกาก็บุกต่ออีก 300 ปี
[00:31:17] การดิ้นรนต่อสู้ ทำให้เขาต้องพัฒนาลักษณะจิตใจแบบพิทักษ์ปกป้องตัวเอง ปกป้องสิทธิของตนเอง กฎกติกามากมาย เป็นสังคมที่อยู่ด้วย The rule of law อย่างที่ว่า ทีนี้สังคมของเราเป็นสังคมในน้ำมีปลาในนามีข้าว อันนี้สำคัญมาก คนไทยไม่ค่อยคิด สังคมฝรั่งสังคมอเมริกัน เขาเรียกว่า “สังคมฟรอนเทียร์” สังคมบุกฝ่าพรมแดน หมายความว่า ฝรั่งพอขึ้นมาฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกปั๊บ มองไปนั่นคือฟรอนเทียร์ เป็นเขตพรมแดนที่ตัวยังไม่ได้ไปเท่านั้นเลย ถูกจำกัดด้วยฟรอนเทียร์ ทำไง ความหวังก็อยู่ที่ว่าจะต้องบุกไป ฝ่าฟรอนเทียร์นี้ไปได้ ก็จะมีได้ทรัพยากร ได้ที่อยู่อะไรต่างๆ มีความหวังในความอุดมสมบูรณ์ ก็ต้องบุกไป บุกไปข้างหน้า บุกฟรอนเทียร์ก็ขยายฟรอนเทียร์ไป ฉะนั้นนิสัยฝรั่งเขาเรียกว่านิสัยฟรอนเทียร์ ก็คือนิสัยบุกฝ่าไปข้างหน้า ความหวังอยู่ที่อนาคต และดินแดนไกลโพ้น เขาเรียกว่า go west ไปตะวันตก เพราะฉะนั้นฝรั่งอเมริกันเขาเรียกว่า go west สมัยหนึ่งก็มีคำว่า go west young man เจ้าหนุ่มจงมุ่งตะวันตก ว่าอย่างนี้ ก็ต้องผจญภัยไปตะวันตกจนกระทั่งไปถึงแคลิฟอร์เนีย อย่างที่ว่า นี่ก็คือภูมิหลังของสังคมตะวันตก บุกฝ่า แล้วก็ดิ้นรนต่อสู้ พัฒนากฎกติกามาเพื่อไม่ให้ล้ำเส้นกัน
[00:32:52] ทีนี้สังคมของเราเป็นสังคมอยู่กับที่ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ที่นี่ดีแล้วอย่าไปไหนเลย ว่าอย่างนั้น ใช่ไหม เพราะฉะนั้นมันตรงกันข้าม สังคมไทยกับฝรั่งเนี่ย ดูแค่นี้ก็ดูออกแล้ว ให้จับไว้เลยว่า สังคมอเมริกันคือสังคมฟรอนเทียร์ ศัพท์นี้เป็นศัพท์สำคัญของอเมริกัน อเมริกันจะทำอะไรต้องพูดว่าฟรอนเทียร์ทั้งนั้น แต่ก่อนนั้นเขาเรียก frontier of land , frontier of the sea , frontier of space บุกไปในอวกาสเนี่ย ที่เคเนดี้ส่งยานอวกาศอะไรต่ออะไรไปโลกพระจันทร์ เขาเรียกว่า บุกเบิก frontier ทั้งนั้น เป็น frontier of space แม้แต่วิชาการต่างๆ เขาก็เรียก frontier of science เป็นพวกพรมแดนแห่งวิทยาการ แล้วก็มา frontier of cyber space ในเวลานี้ frontier of cyber space คืออะไร ก็คือเป็นเรื่องของพวกคอมพิวเตอร์อะไรพวกนี้ เรื่องของอินเทอร์เน็ตอะไรพวกนี้ ก็เวลานี้เรากำลังอยู่ในระยะที่ฝรั่งบุกเบิก frontier of cyber space ฝรั่งบุกเบิก แล้วไทยบุกเบิกบ้างไหม ไทยไม่บุกเบิกเลย รอรับผลการบุกเบิกอย่างเดียว แล้วจะไปรอดยังไงล่ะ
[00:34:09] ฉะนั้นนิสัยจิตใจพื้นฐานมันคนละแบบ แล้วเราไม่ดูตัวเอง จะไปเอาฝรั่งก็เอาไม่ได้จริง เอาพื้น ๆ ผิวๆ ฉาบฉวยไป เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ได้เรื่อง ต้องรู้จักตัวเองให้ดี แล้วก็รู้จักเขาให้ชัด ต้องศึกษาฝรั่งเลย ภูมิหลังเขามายังไง ในยุโรปแล้วมาอเมริกา แล้วทำไง พัฒนาก้าวหน้ากันมายังไง อย่างนี้จึงจะไปได้ อย่าง frontier ประธานาธิบดีเคเนดี้ ที่มีชื่อเสียงมาก ตอนที่แกจะหาเสียงประธานาธิบดี ตอนนั้นอเมริกันก็จบ frontier ไปนานแล้ว frontier of land นี่จบไปตั้งแต่ปี 1890 มันเท่าไหร่นะ นี่มันจะขึ้น 2003 แล้ว 2003 1890 ก็เท่าไหร่ล่ะ 100 กว่าปีแล้ว ฝรั่งเขาจบ frontier ไปตั้ง 100 กว่าปีแล้ว ทีนี้ก็ยังติดใจในคำว่า frontier อยู่ แต่ว่า frontier ที่จะบุกฝ่าไปที่ผืนแผ่นดินนี่มันจบไปแล้ว เคเนดี้ก็สร้าง new frontier ขึ้นมา เพราะฉะนั้นตัวคำขวัญของเคเนดี้ นโยบายที่จะตั้งขึ้นมาในการหาเสียง เขาเรียกว่า new frontier เคเนดี้ขึ้นมาได้เป็นประธานาธิบดี แล้วในนโยบาย new frontier นี้ก็ บุกฝ่าพรมแดน ส่ง peace corps volunteer มา อาสาสมัครหน่วยสันติภาพ เคยได้ยินไหม มาตอนนั้นละ peace corps volunteer นี้ก็เกิดขึ้นในนโยบาย new frontier ของอเมริกา ของเคเนดี้
[00:35:57] เพราะฉะนั้นจิตใจของฝรั่งอเมริกัน frontier มันฝังลึกมาก เวลาจะปลุกใจอเมริกันเขาก็ปลุกใจด้วย frontier มีคนหาเสียงเป็นประธานาธิบดีอเมริกัน 3 คน ที่ใช้คำว่า new frontier จะสร้าง frontier ใหม่ให้กับคนอเมริกัน ฉะนั้นเวลานี้เขาก็บุกเบิก อย่างที่บอกเมื่อกี้ frontier of cyber space แล้วเราไม่ได้คิดเลย เราก็ในน้ำมีปลาในนามีข้าวอยู่นี่ล่ะน่ะ แล้วทีนี้เราจะทำยังไงให้มันเหมาะกับในน้ำมีปลาในนามีข้าว ต้องพัฒนาระบบวิธีการอะไรต่ออะไรของตัวเอง ให้มันเหมาะกับของตัวเอง ระบบ frontier ของเขามันอาจจะเข้ากับเราไม่ได้ นี่ก็เป็นเรื่องใหญ่ คนไทยเราไม่ค่อยศึกษา ขออภัยนะ ไม่ค่อยค้นคว้า ไม่รู้จักฝรั่งจริง ต้องพูดตรงๆ ไม่รู้ว่าเราจะเอาฐานอะไรมาเพื่อจะมารับมือกับความเจริญใหม่ๆ แล้วจัดการกับมันได้ เอามันมาใช้ประโยชน์ได้ คนที่เขาเก่งจริงนี่เขาต้องมีความสามารถของตัวเองในตัว รับสิ่งใหม่เข้ามาจัดการได้ ไม่ใช่ไปรับตามเขา เลียนตามแบบเขา ต้องรับมาจัดการ เอามาจัดการ ไม่ใช่ไปตามเขา ทีนี้เรามีความสามารถไหมที่จะเอามาจัดการ อ้าว เดี๋ยวอาตมาพูดนอกเรื่องไป
คุณจุฬารัตน์ : ขออนุญาตเป็นคำถามสุดท้าย ในเรื่องของการสร้างสังคมแห่งความสมานฉันท์ หรือ หลอมรวม หรือ harmony ที่พระคุณเจ้าได้ตรัสไว้เมื่อสักครู่นี้เจ้าค่ะ เครื่องมือหรือว่าหลักธรรมทสำคัญที่จะสามารถนำมาใช้ได้ แม้ว่าจะเป็นหลักเพื่อแก้ทุกข์ เช่น อริยสัจ 4 ก็น่าจะนำมาใช้ และมีหลักคิดเบื้องต้นอย่างไรเจ้าค่ะ
[00:37:53] อริยสัจ 4 พาใจประสาน รวมจิตสามัคคี
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : คือ หลักอริยสัจ 4 นี้เป็นหลักใหญ่มาครอบคลุมเลย ถ้าใช้ก็เรียกว่า เป็นระบบที่ทำให้ตั้งแล้วเราเห็นว่า มีองค์ประกอบอะไรที่จะต้องมาประสานมาสัมพันธ์กัน มาทำหน้าที่ต่อเนื่องกันอย่างไร แล้วก็มาเป็นกระบวนการในการปฏิบัติว่าดำเนินไปเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไร ทีนี้ในเมื่อมันเป็นตัวระบบใหญ่เนี่ย เราก็ต้องรู้ก่อน แต่ว่าไม่พอ เราจะต้องไปขยายในแง่ของปฏิบัติการ หรือขั้นวิธีการให้ละเอียดต่อไป
[00:38:29] ทีนี้วิธีการอริยสัจ หรือระบบอริยสัจนี้เป็นระบบที่ว่า เริ่มจากปัญหา ภาษาพระท่านเรียกว่า “ทุกข์” ทุกข์ แปลว่า ความบีบคั้น สิ่งที่ติดขัด บีบคั้น คับข้อง เรียกว่า ทุกข์ ฉะนั้นภาษาไทยก็คือ ปัญหา นั่นเอง พอเราเจอปัญญาหรือทุกข์ขึ้นมา เราก็หาทางแก้ไข การแก้ไขท่านก็บอกว่า ต้องสืบสาวเหตุปัจจัยของมันว่าเจ้าทุกข์หรือปัญหานี้เกิดจากอะไร ข้อนี้เรียกว่า “สมุทัย” ทีนี้พอเราสืบหาเหตุปัจจัยได้ เราก็จะมองเห็นในตัวไปพร้อมกันว่า ทางแก้มันเป็นยังไง แต่ตอนนี้เราได้แต่เห็นในเชิงของความเป็นจริง แต่ในเชิงปฏิบัติการยัง ฉะนั้นเราก็ต้องมาดำเนินการเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
ทีนี้เพื่อให้การมองเห็นความเป็นจริงในการแก้ปัญหานี้ มาสู่การปฏิบัติ เราก็มาสู่ขั้นที่สามก็คือ นิโรธจุดหมาย คือ ความปลอดปัญหา พ้นปัญหา ดับปัญหาได้ แก้ปัญหาแก้ทุกข์ได้นี่เป็นจุดหมาย เราก็ต้องดูว่ามันเป็นไปได้ไหม แล้วเป็นไปได้แค่ไหน จุดหมายของเราในการดับทุกข์นี้ขณะนี้เราควรจะตั้งไว้แค่ใด แล้วก็มองดูอะไรต่างๆ ให้ชัดว่าเราต้องการแค่ไหน เราจะเอาได้แค่ไหน เป็นไปได้แค่ไหน คือเอาความต้องการมาดูกับความเป็นไปได้ แล้วก็ตั้งเป้าหมายขึ้นมา ตั้งเป้าหมายเราเรียกว่า “นิโรธ”
พอตั้งนิโรธแล้ว ต่อไปนั้นก็มาสู่การวางข้อปฏิบัติ ทีนี้พอวางจุดหมายได้ ตั้งเป้าหมายชัด เราก็จะมีทิศทาง ก็วางวิธีปฏิบัติขั้นที่สี่ เรียกว่า “มรรค” ก็คือ วิธีการ หนทาง ทีนี้วิธีปฏิบัติก็จะเป็นเรื่องของมนุษย์แล้ว สองข้อต้นเป็นเรื่องของธรรมชาติความเป็นจริงของมันเอง พอขั้นที่สามนี่ มันจะมาเชื่อมต่อระหว่างจุดประสงค์ของมนุษย์กับความเป็นจริงของธรรมชาติ ว่าจุดหมายของเราเนี่ย คืออย่างนี้เราต้องการอย่างนี้ มันเป็นไปได้ในความเป็นจริงแค่ไหน ตั้งกันไว้ ต่อจากนั้นก็วางมรรค วิธีปฏิบัติ ก็จะทำให้เรามุ่งเป้าหมาย ทำอย่างมีทิศทาง อันนี้ก็วางระบบวิธีปฏิบัติขึ้นมา เรียกว่า มรรค
[00:41:11] ตอนนี้รายละเอียดเยอะเลย เคยยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่นอย่างเรื่องว่า ไฟไหม้ ไฟไหม้ก็เป็นทุกข์ คือ ปัญหา ทีนี้ไฟไหม้เป็นทุกข์เป็นปัญหา แล้วจะดับ ทำไง ก็ต้องรู้ว่าเหตุของไฟมีอะไรบ้าง เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดไฟ เช่นว่า มีเชื้อ มีอุณหภูมิสูงพอ แล้วก็มีออกซิเจน เป็นต้น เราได้เหตุปัจจัยอย่างนี้แล้ว เราก็รู้เลยว่า หากถ้าปัจจัยเหล่านี้หมดไปปั๊บ ไฟดับ เชื้อหมดหนึ่ง หรือออกซิเจนไม่มีหนึ่ง หรืออุณหภูมิต่ำเย็นไป แค่นี้ไฟดับแล้ว อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ นี่เรียกว่า สมุทัย ได้แล้ว รู้กระบวนการของธรรมชาติแล้ว ข้อสองมาแล้ว ต่อไปข้อสาม ก็เป็นอันว่าตั้งจุดหมายเลย คราวนี้ว่าเราจะดับไฟโดยทำอุณหภูมิให้ต่ำ ทีนี้ถ้าตั้งจุดหมายตอนนี้ มันจะสัมพันธ์กับความเป็นจริงและวิสัยของเราที่ทำได้ เราจะเอาข้อไหน จะเอาข้อไม่มีออกซิเจน หรือว่าจะให้อุณหภูมิต่ำ หรือจะให้ไม่มีเชื้อ หรือเอาทั้งสาม หรือเอาข้อไหนเด่น แล้วก็ตั้งเป้าหมายจะทำให้เกิดความเป็นจริงผลอันนี้ขึ้นมา พอวางเป้าอันนี้เสร็จแล้ว ทีนี้วางวิธีปฏิบัติ
[00:42:47] เอาล่ะ ทีนี้เรื่องใหญ่เลย สร้างรถดับเพลิง เก็บน้ำได้เท่านั้นลิตร ก็ต้องมีท่อ แล้วก็ต้องฝึกพวกพนักงานดับไฟ เป็นเรื่องใหญ่มาก มรรคนี้เป็นเรื่องโตมาก ต้องจัดกระบวนการ วิธีการ อะไรต่ออะไร รายละเอียดเยอะแยะเหลือเกิน ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของมรรค เพียงเพื่อแค่จะมาทำให้เย็นเท่านั้นเอง แหม ยุ่งจังเลย ใช่ไหม ต้องมีงบประมาณตั้งเป็นหลายล้าน เป็นร้อยล้าน พันล้าน เพียงเพื่อจะมาทำให้อุณหภูมิต่ำลง ให้มันเย็นเท่านั้นเอง หรือมาเพียงเพื่อให้มันขาดออกซิเจน หรือเพื่อจะให้มันไม่มีเชื้อ อะไรอย่างนี้ แต่ว่าที่เขาทำโดยมากเขาจะไปมุ่งที่เย็น ใช่ไหม แค่จะทำให้เย็นก็เป็นเรื่องใหญ่มาก แล้วในกระบวนนี้ก็เลยฝึกเพิ่มว่า ในระหว่างที่ไปทำให้เย็นเนี่ย ไปเจอพวกเชื้อก็ต้องทำลายด้วย ไม่ให้เชื้อมันได้อาศัยแล้วก็จะพัฒนา เช่นอย่างพวกน้ำยาดับไฟเพื่อจะมาทำให้ไม่ให้มีออกซิเจน หรืออะไรพวกนี้ เจริญพร อันนี้ก็คือ มรรค เพราะมรรคนี้เป็นเรื่องกระบวนวิธีปฏิบัติของมนุษย์ ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ถ้ามนุษย์ปฏิบัติไม่สอดคล้องกับความจริง ก็ไม่สำเร็จ ใช่ไหม ฉะนั้นมรรคก็คือ การโยงวิธีปฏิบัติของมนุษย์ให้ได้ผลตามกระบวนการเหตุปัจจัยของธรรมชาติ ถ้าได้ผลสำเร็จ ก็บรรลุผล ก็คือนิโรธมา
[00:44:31] อันนี้ก็คือหลักใหญ่ อันนี้จะใช้ได้ในเรื่องทุกเรื่องเลย เช่นอย่างเขาเรียกว่าปลุกระดม การปลุกระดมเขาก็ใช้วิธีอริยสัจเหมือนกัน แต่ว่าจะมีเจตนาดีหรือไม่ดี อีกเรื่องหนึ่ง เริ่มต้นคือ 1. อริยสัจจะใช้ในการแก้ปัญหา 2. ในการสอน เวลาพระพุทธเจ้าสอน ก็จะสอนแบบอริยสัจด้วย เริ่มที่ทุกข์ขึ้นมา ปัญหาขึ้นมา แล้วให้เขาฝึกหาสาเหตุ ช่วยเขา ให้เขาคิด หาสาเหตุแล้วก็กำหนดจุดหมาย แล้วก็วางวิธีปฏิบัติ อย่างนี้เป็นประจำ ทีนี้การสอนวิธีอริยสัจก็มาใช้ในการปลุกระดม การปลุกระดมก็ต้องชี้ปัญหาก่อน เช่น บอกสังคมไทยเวลานี้เลอะเทอะ เลวร้ายอย่างนั้นอย่างนี้ คนอยากจน พรรณนาให้มันน่าเกลียดน่าชังที่สุดเลย ใช่ไหม ใครทำได้เก่งนี่คือพรรณนาทุกข์ ข้อที่หนึ่ง พอคนเห็นทุกข์น่าเกลียดน่าชังเต็มที่แล้ว สนใจเต็มที่เลย สนใจ ทีนี้ก็ชี้เหตุ ไปข้อสองชี้เหตุ อ้าว เจ้านั่นเป็นตัวการ นี่ที่มันยุ่งอย่างนี้ทั้งหมด นี่มันร้ายอย่างนี้ เพราะเจ้านี่นะ หรือพวกนี้นะมันเป็นตัวการ เป็นตัวเหตุ โอย ตอนนี้คนเพ่งเลย จะต้องจัดการกำจัดพวกนี้ให้หมดเสีย ใช่ไหม เอาละ ทีนี้บอกเป้าหมายที่หวัง บอกว่าถ้าหากว่าเราแก้ปัญหาได้ เราจะมีสังคมที่เป็นสังคมที่สดใส มีความสุขสมบูรณ์อย่างนั้นอย่างนี้ อย่างเมื่อก่อนนี้สมัยเขาปลุกระดมเขาจะใช้คำว่า ท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ใช่ไหม ตอนนั้นก็คือตั้งจุดหมายนี่คือตั้งนิโรธแล้ว ทีนี้ถ้าจุดหมายนี่ยิ่งน่าไปเท่าไหร่นะ คนก็ยิ่งมีกำลังใจ ตอนนี้เธอจะต้องปลุกปั่น โอ้ นิโรธ จุดหมายนี้มันดีอย่างนั้น สังคมในอุดมคติ แสนจะดีเหลือเกิน คนก็อยากไปกันใหญ่เลยทีนี้ ทีนี้พอได้แล้วตอนนี้ใจมันขึ้นหมดแล้ว มันรู้จุดที่จะจัดการหมดแล้ว วางวิธีเลย มรรค จัดการอย่างนั้น ๆ ตามนี้ ไปเลย ยากเท่าไหร่เอาหมดเลย ใช่ไหม เจริญพร
[00:46:51] นี่คือ อริยสัจ ใช้ได้หมด แม้แต่วิธีปลุกระดม รัฐบาลก็เหมือนกัน รัฐบาลถ้าหากว่าเก่งก็ต้องเอาวิธีอริยสัจมาใช้ เช่น รวมใจประชาชน เวลานี้ปัญหาของประเทศชาติสำคัญคืออะไร แต่ว่าต้องทำด้วยใจสุจริตนะ ไม่ได้คิดแกล้งใครนะ ชี้ปัญหาให้ชัด แล้วก็ชี้สาเหตุปัจจัย แล้วตั้งจุดหมายให้ชัด แล้วเห็นว่าจุดหมายนี้ดียังไง เป็นที่น่าหวังยังไง แล้วบอกวิธีปฏิบัติ ตอนนี้ยากเท่าไรสู้หมดเลย คนนี่ถ้าเห็นว่าจุดหมายนี้มันดีจริง แล้วเขาเห็นความหวังชัดนี่ เขาสู้ เหมือนกับพระพุทธเจ้าสอนอริยสัจ ต้องให้พระหรือคนที่ฟังนี่ชัดก่อน พอเขาชัดว่ามันดียังไงแล้ว ทีนี้มันยากเท่าไหร่ก็สู้ แต่ถ้าไปบอกวิธีปฏิบัติก่อน มันยาก ถอยตั้งแต่ต้นแล้ว ไม่เห็นได้เลย ไปเลย ใช่ไหม ฉะนั้นท่านจึงไม่ให้สอนแบบว่าอยู่ ๆ ก็ไปบอกวิธีการ วิธีการมันยากนี่ จะทำ โอย เหนื่อย แล้วใครมันจะฟังล่ะ แค่ฟังเดี๋ยวก็ท้อถอยแล้ว ต้องเห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ พอมาชัดปั๊บ คราวนี้ละก็เท่าไหร่เท่ากันเลย เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าวางวิธีไว้นี่ ใช้ได้ทั้งแก้ปัญหา ทั้งวิธีสอน
[00:48:16] ก็เลย วิธีอริยสัจนี้ใช้ได้สองอย่างคือ 1. ในกระบวรการแก้ปัญหา 2. การสอน สอนก็ต้องใช้วิธีนี้ เราก็หาทางมาทำให้คนไม่ใช่ประนีประนอม เพราะเราต้องการให้พ้นประนีประนอมไปสู่ประสานกลมกลืน อันนี้ก็คือความสามัคคีนั่นเอง ความกลมกลืนประสาน ท่านเรียกว่า “สามัคคี” แล้วในความสามัคคีก็จะมีเอกภาพ ฉะนั้นในพุทธศาสนาจะใช้ศัพท์เดียวกัน ก็คือ “สังคหะ” แปลว่า ประมวล จับรวมกันได้ แล้วก็สามัคคีมีความพร้อมเพรียงกัน แล้วก็เอกีภาพ ภาษาไทยใช้ว่า “เอกภาพ” ก็คือเกิดความเป็นหนึ่ง พอเกิดความเป็นหนึ่ง รวมทั้งน้ำหนึ่งใจเดียวกันด้วย เช่นว่า แม้แต่มีจุดหมายกันเดียวกัน รวมกัน มันก็เกิดพลังไปได้เลย ทีนี้เวลานี้ของเรานี่ยังขาดแทบทุกอย่างนะ ฉะนั้นเราจะต้องมาเป็นยุคของการสร้างสรรค์ จึงได้ต้องระดมพลัง สร้างเรี่ยวแรงกำลังขึ้นมา แล้วก็มีความสามัคคี แล้วมาร่วมใจกัน แต่ว่าข้อสำคัญก็คือเจตนาที่ว่า คือต้องมีเจตนา มีเป้าหมายมุ่งเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติ ของประชาชน เพื่อชีวิตและสังคม ได้ซื่อสัตย์จริงใจ แล้วในความจริงใจนี้สำคัญมาก เวลาไปพูดจากัน ขัดแย้งกัน มันต้องมีอันหนึ่งคือความจริงใจ แล้วก็เปิดใจกัน
[00:50:00] ต่อไปนี้โลกนี้จะมีปัญหามากเรื่องความขัดแย้ง แล้วเรื่องหนึ่งที่ใหญ่มากคือ ความขัดแย้งทางศาสนา แม้แต่สงครามอิรักกับอเมริกันนี่ มันไม่หนีเรื่องศาสนา ศาสนานั้นโดยพื้นฐานต้องเป็นเครื่องมือที่จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันโดยสงบสุขสันติสุข ใช่ไหม นี่โดยหลักการใหญ่ แต่ว่าไปๆ มาๆ ศาสนากลับเป็นตัวเหตุอ้างอิงสำหรับการรบราฆ่าฟันกัน ก็ต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ อันที่หนึ่งคือ ไม่มีความจริงใจต่อกัน สอง ไม่เปิดใจกัน เขาไม่สามารถพูดกัน เพราะพูดกระทบไม่ได้เลย ศาสนาอีกศาสนาหนึ่ง ถ้าคนจะอยู่ร่วมกันได้ดี ต้องพูดเปิดใจกัน ถ้าไม่ถึงจุดนี้ไม่มีทาง การที่จะมัวมาเอาใจกันนั้น มันไม่จริงใจ ใช่ไหม เมื่อคนยังเอาใจอยู่เนี่ย จริงใจไหม ไม่จริงใจ ฉะนั้นจะถึงจุดจริงใจต้องเปิดใจกัน พูดกันให้เต็มที่ ฉะนั้นเวลานี้เขากำลังจะแก้ปัญหาศาสนาด้วยวิธีที่เอาใจกัน ไม่เปิดใจ ไม่ยอมพูดความจริง มันจะไปยังไงรอดล่ะ คนมันก็ไม่พัฒนาเท่าที่ควร ถ้ายังไม่สามารถพูดกันได้อย่างเปิดใจ เวลานี้โลกมันก็เลยเป็นปัญหากันอย่างหนักเลย ทีนี้ปัญหาอย่างนี้ ก็กลายเป็นว่ามนุษย์มีอารยธรรมเจริญมาเท่าไหร่ ก็ไม่ดีขึ้น ปัญหาพื้นฐานของมนุษย์ มนุษย์มีอารยธรรมเจริญมาจนถึงป่านนี้ ไม่ได้แก้สักอย่าง
[00:51:44] ปัญหามนุษย์มีอะไรบ้าง 1. ปัญหาชีวิต แยกเป็นสองส่วน ปัญหาร่างกาย สุขภาพโรคภัยไข้เจ็บ รวมทั้งการหิวโหยอดอยาก แล้วก็ปัญหาจิตใจ ความเครียด ความทุกข์ ความเหงา ความว้าเหว่ ความแตกแยก อะไรก็แล้วแต่เนี่ย มีสองอันนี้ กายกับใจก็เป็นปัญหาชีวิต แล้ว 2. ปัญหาสังคม ก็คือความขัดแย้งในระหว่างมนุษย์ ตั้งแต่การทะเลาะเบาะแว้ง ไปจนกระทั่งสงครามระหว่างประเทศ สงครามในโลก สงครามระหว่างค่าย ระหว่างฝ่าย ระหว่างศาสนา อะไรเนี่ย 3. ปัญหาสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติเสีย เสื่อมโทรม ซึ่งเป็นปัญหาสุดท้าย แล้วเป็นปัญหาที่ถือว่าใหญ่ที่สุด เมื่ออารยธรรมเจริญขึ้นมา ปัญหาไม่ได้แก้สักอย่าง ปัญหาชีวิตมนุษย์ก็ยังอยู่อย่างเดิม ปัญหาจิตใจยิ่งหนักเข้าไปอีก แล้วปัญหาสังคมก็ไม่ลดลงไป แล้วยังแถมปัญหาสิ่งแวดล้อม อารยธรรมปัจจุบันนำมาสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อม ใช่ไหม ฉะนั้นจึงพูดได้เต็มปากว่าอารยธรรมปัจจุบันที่เจริญมานี่คือ อารยธรรมที่ได้นำปัญหามาให้แก่มนุษย์จนครบทั้ง 3 ประการ เป็นอารยธรรมที่เก่งกาจมาก สามารถนำปัญหามาให้แก่มนุษย์ได้จนครบ 3 ประการเลย เดี๋ยวนี้มนุษย์มีทั้งปัญหาชีวิตทั้งกายใจ ปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม แล้วปรากฏว่าแก้ไม่ได้สักอย่าง นำมาให้ได้ แต่แก้ไม่ได้สักอย่าง
[00:53:20] ใครจะมาแก้ปัญญาหานี้นี่แหละ ถ้าเรามองในแง่เรา เราก็บอกธรรมะ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน แก้ได้หมด เรามั่นใจว่าทำได้ แล้วระบบประนีประนอมจะเปลี่ยนเป็นระบบ harmony หรือ ประสานกลมกลืนได้ ระบบสามัคคี เอกภาพ เอกีภาพ ก็แล้วแต่ อย่างที่ว่าก็คือในเวลานี้ปัญหามาก ก็อาจจะต้องฝากถึงรัฐบาลว่าแม้แต่ในครม.ต้องพูดกันอย่างเปิดใจ แล้วก็มีความจริงใจเป็นพื้นฐาน โดยมีเจตนาที่มุ่งจุดหมายที่แท้ จุดหมายร่วมกันก็คือ ความดีงาม สันติสุขของประเทศชาติ บ้านเมือง และโลกทั้งหมด ถ้ามีเจตนานี้อยู่ได้ มีความจริงใจต่อกัน จริงใจต่อหลักการด้วย แล้วจริงใจต่อประเทศชาติสังคม แล้วจริงใจต่อกันระหว่างคนที่มาทำงานร่วมกัน แล้วก็เปิดใจกัน มันก็มีทางที่จะแก้ปัญหา แล้ว harmony ก็เกิดได้ แต่ถ้าหากว่าไม่เปิดใจ harmony ก็ยังมาไม่ได้ เราก็จะได้แค่ compromise เขาเอาใจกันก็ compromise นั่นแหละ ยังมีแง่อะไรอีกไหม เจริญพร หนูปิ่นก็ถามได้ ของรุ่นหนูปิ่นจะมีปัญหาที่ผู้ใหญ่มองไม่เห็นด้วย
คุณจุฬารัตน์ : พระคุณเจ้าเจ้าค่ะ อย่างที่พระคุณเจ้าได้กล่าวว่า ก่อนที่เราจะเข้าสู่ระบบประสานกลมกลืนได้ เราก็ต้องมีความจริงใจแล้วก็เปิดใจให้กันและกันก่อน แต่ถ้าเกิดว่าเราจริงใจแล้วแต่คนอื่นไม่จริงใจล่ะเจ้าค่ะ
[00:55:00] อิสระได้ด้วยปัญญาแห่งใจเมตตาปราณี
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เราก็ต้องค่อยพูดค่อยจา ไม่ใช่ว่าฉันจริงใจแล้วนะแต่คุณจริงใจต่อฉันหรือเปล่า แต่ว่าเราก็ต้องมีความรู้ทัน คือ หมายความว่าเราหนึ่งล่ะ จากความรับผิดชอบแต่ละคนนี่ จริยธรรมต้องเริ่มจากตัวเอง เราจะต้องมีความรับผิดชอบตั้งขึ้นมาก่อน ในเมื่อเรามั่นใจแล้วว่าเรามีความจริงใจ แต่เราต้องมีปัญญาด้วย ไม่ใช่ว่ากลายเป็นคนที่โง่เง่าเต่าตุ่นได้แต่มีเมตตาความปรารถนาดี ก็กลายเป็นเหยื่อเท่านั้นเอง ใช่ไหม ฉะนั้นพระพุทธเจ้าไม่ให้มีเมตตาอย่างเดียวหรอก ต้องมีปัญญาด้วย
[00:55:38] วันนี้ก็เลยพูดถึงวัฒนธรรมแห่งเมตตา กับวัฒนธรรมแห่งการแสวงปัญญา ทีนี้ถ้าเราจริงใจ เราจริงใจแล้วเราก็ต้องรู้ทันด้วยปัญญาว่า เขาจริงใจหรือเปล่า ใช่ไหม อันนี้ตอนนี้ แต่ว่าเป้าหมายคือเราต้องพยายามให้เขาจริงใจด้วย แล้วอันนี้ก็คือกระบวนการอย่างที่คุณจุฬารัตน์กำลังพูดอยู่นี้ก็คือ การหาวิธีแก้ปัญหาปัจจุบันที่มันจะมี เช่น ความไม่จริงใจ ไม่เปิดใจทั้งหลายทั้งมวล เรากำลังหาทางแก้กันอยู่ คือเราก็จะต้องมาดำเนินการวิธีการเหล่านี้ต่อไป แต่หมายความว่าเรามั่นใจตัวเองว่าเราจริงใจ ใช่ไหม เริ่มต้นแล้ว หมายความว่าตอนนี้มีจุดเริ่มแล้ว ถ้าเรามีความจริงใจและเปิดใจ เราเป็นผู้เริ่มต้นแล้ว แต่ว่าจะเดินหน้าไปได้แค่ไหน ก็ต้องมีผู้มาประสานร่วมมือด้วย มีคนอื่นที่จะจริงใจเปิดใจจะมีแค่ไหน ก็ต้องเป็นขั้นตอน ต้องทำด้วยปัญญาแล้วตอนนี้ คือให้ตัวเมตตานั้นเป็นตัวเจตนาตั้งจิตปรารถนาดี แต่ตัวจะดำเนินการให้สำเร็จต้องปัญญานะ มีแต่เมตตาดำเนินการไม่สำเร็จนะ เชื่อไหม ตัวดำเนินการให้สำเร็จจะแก้ปัญหาก็คือปัญญา
[00:56:57] ฉะนั้นคนไม่มีปัญญาทำอะไรก็ไม่สำเร็จ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเน้นเรื่องปัญญา มีเมตตาเป็นธรรมชั้นพรหม แต่มีปัญญาเป็นปัญญาพระพุทธเจ้านะ ใช่ไหม ถ้าเรามีพรหมวิหาร 4 เราเป็นได้อย่างสูงสุดพระพรหม เมตตาไปถึงพรหมเลย แต่ว่าไปเป็นพระพุทธเจ้ายังไม่ได้ พระพุทธเจ้าจะสำเร็จด้วยปัญญา แต่ว่าเป็นปัญญาที่สูงสุด จนกระทั่งว่าทำให้มีเมตตากรุณาอะไรมาพร้อมหมดเลย ก็ปัญญาเป็นตัวนำ ปัญญาจะเป็นตัวนำขบวน แล้วจะไปชี้ทางบอกทาง คือถ้าเราไม่มีปัญญานี่เราเหมือนกับไม่มีแสงสว่าง เราก็มองไม่เห็นอะไร จะไปทิศไหนก็ไปไม่ถูก ไม่มีเข็มทิศ ไม่รู้ทิศรู้ทาง ปัญญานี่มันจะส่องสว่าง แล้วมันจะขยายช่องทาง เราเคยรู้เท่านี้เราทำได้เท่านี้ พอปัญญามามันขยายออกไปอีก เราทำอะไรได้ไม่ซับซ้อน พอมีปัญญาทำได้ซับซ้อนอีก ทีนี้ตอนระหว่างพัฒนาปัญญา ตัวปัญญาถ้าเกิดไปสนองเจตนาไม่ดี ทำอะไรซับซ้อนในทางไม่ดีเนี่ย ฉะนั้นคนที่มีปัญญาเจตนาไม่ดี จึงทำการได้สำเร็จ แต่ว่าเป็นความเสียหายเสื่อมโทรม ก็เลยท่านต้องให้มาทั้งคู่ เจตนาดี ประกอบด้วยเมตตา มีความจริงใจปรารถนาดีต่อทุกคน ต่อประเทศชาติสังคม แล้วก็มีปัญญาเป็นตัวดำเนินการ เป็นการชี้ทางเบิกทางขยายขอบเขต เป็นตัวที่ทำให้เกิดความเป็นอิสระ แก้ไขปัญหาให้หลุดพ้น
คุณจุฬารัตน์ : ก็ขอคำสุดท้ายที่พระคุณเจ้าพูดว่า ในส่วนของการแก้ปัญหาทั้งหมด ณ เวลานี้ ก็คงใช้หลักใดหลักหนึ่งไม่ได้ ต้องใช้ทุกหลักอย่างที่พระคุณเจ้าได้บอก แล้วก็คิดให้ครบองค์
[00:58:58] เชื่อมสัมพันธ์องค์ร่วม เกื้อสมดุลองค์รวม สู่สันติสุข
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : คือ มันจะมีหลักใหญ่ หลักใหญ่ที่เป็นระบบรวม แล้วจากระบบใหญ่นั้นก็ไปแจกแจง แยกแยะ ย่อย ขยายออกไปอีกที แต่ว่าทั้งหมดนั้นจะต้องมองเห็นตัวระบบ เพราะฉะนั้นหลักใหญ่จึงสำคัญ ไม่ใช่อยู่ ๆ ไปจับเอาหลักย่อย ๆ แล้วก็มองไม่เห็นตำแหน่งแห่งที่ของมัน ไม่เห็นความสัมพันธ์ นี่มันเป็นปัญหาที่ผ่านมาของยุคที่แล้วมา ที่เขาเรียกว่า ยุคแยกส่วน ก็เพราะว่ามันมองไม่เห็นความสัมพันธ์ในระบบ
[00:59:32] เขาก็เลยมาเน้นว่าต้องให้มององค์รวม ในระบบองค์รวมก็ต้องคิดเป็นระบบ เพราะฉะนั้นเขาจะเน้นว่า system thinking ว่างั้นนะ system thinking นี้ก็มาช่วยมองให้เป็นระบบ เมื่อมองเป็นระบบก็คือหลักความสัมพันธ์นั่นเอง พระพุทธศาสนาเรียกว่า “ระบบความสัมพันธ์” ไม่ใช่เรียกระบบเฉยๆ เพราะว่าองค์ประกอบต่างๆ มันจะมาเป็นองค์รวมขึ้นมาเฉยๆ ไม่ได้ แล้วมันจะเป็นการประสาน ดำรงอยู่ได้ดีจนเกิดสมดุลไม่ได้ ถ้ามันไม่มีความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ฉะนั้นท่านจึงเน้นเรื่องความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ก็หมายความว่า มันมีองค์รวมใหญ่ หรือจะเรียกระบบก็ได้ แต่ว่าระบบนั่นแหละเป็นระบบขององค์รวมนี้ ในระบบขององค์รวมนี้ก็คือมีองค์ร่วมทั้งหลาย องค์ร่วมทั้งหลายก็เป็นส่วนย่อยที่มาสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ย่อย ถ้าสัมพันธ์ดี ส่งทอดต่อกัน เกื้อหนุนกัน มันก็เป็นองค์รวมที่ดี ฉะนั้นตอนนี้เราได้ความคิดคือ มองอย่างที่เขาเรียกว่า “องค์รวม” ต้องให้องค์รวมนี้โยงไปหาองค์ร่วม แล้วก็เห็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์ร่วมในระบบที่จะเกิดเป็นองค์รวมขึ้น ถ้ามองได้สำเร็จก็การคิดอะไรต่างๆ ก็สำเร็จ
[01:00:57] แม้แต่การคิดแบบอริยสัจก็อยู่ในระบบองค์รวมที่ว่านี้ คือ พระพุทธเจ้าเอาระบบองค์รวมนี้ ไปแตกองค์ร่วมที่ประสานกัน ตั้งเป็นหลักขึ้นมาว่า ให้เป็นหลักการในการแก้ปัญหาอย่างนี้ๆ ฉะนั้นเราต้องจับตัวหลักใหญ่ให้ได้ก่อน พอจับหลักใหญ่ให้ได้แล้วก็ไปสู่ข้อปลีกย่อย พอเราได้อันนี้แล้วเนี่ย ธรรมะที่เราเคยเรียนมาทั้งหลาย จะเป็นอิทธิบาท 4 เป็นโพชฌงค์ 7 เป็นขันธ์ 5 เป็นอะไรต่ออะไร เรารู้หมดเลยว่าตำแหน่งแห่งที่อยู่ที่ไหน สัมพันธ์กันอย่างไร มองออก ไม่งั้นเราก็มองกระจัดกระจายแล้วปะติดปะต่อไม่ได้ ไม่เห็นต่ำแหน่งแห่งที่ ไม่รู้ว่ามันทำหน้าที่ยังไง มันมารวมเข้าด้วยกันยังไง มันจึงเป็นระบบทั้งหมด หรือว่าเป็นองค์รวมทั้งนี้ทั้งหมดทั้งสิ้น อย่างนี้ เจริญพระ
[01:01:49] ฉะนั้นก็เป็นอันว่าระบบใหญ่สำคัญ ระบบอริยสัจก็เป็นอันว่าต้องตั้งไว้ก่อน เป็นตัวหลักการใหญ่ แล้วก็ไปแตกขยายเป็นหน่วยย่อยต่อไป อันนี้ก็เป็นเรื่องของการที่ว่า โดยทั้งหมดนี้ก็คือ การที่เรามีเจตนาดี เจตนาเพื่อว่าจะช่วยกันแก้ไขปัญหาของสังคมประเทศชาติ แล้วก็ช่วยกันพัฒนาสร้างสรรค์ให้มีความเจริญก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ ในการนี้ก็อย่ามองแต่ตัวอย่างเดียว ก็ต้องมองให้รู้เท่าทันโลกทั้งหมดด้วย เพราะว่าเราไม่สามารถอยู่คนเดียว แล้วก็สิ่งที่มาจากภายนอก โดยเฉพาะว่าจากองค์ประกอบใหญ่ๆ ของโลก เช่น ประเทศมหาอำนาจมีอะไรเคลื่อนไหวแล้วมีผลกระทบต่อเรามาก แล้วเราจะต้องรู้ทัน ฉะนั้นการรู้ทันความเป็นไปของโลก แล้วรู้ทันความคิดจิตใจของเขาเนี่ยสำคัญ แต่ตอนนี้รู้แต่วัตถุ เช่น รู้ว่าอเมริกามีความเจริญอย่างนี้ มีรถยนต์ มีเครื่องบิน มีอะไรต่างๆ มียานอวกาศ หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่ว่าความคิดของเขานี่เราทันหรือเปล่า
[01:02:59] ถ้าเราจะเข้าใจอเมริกันต้องดูเข้าใจถึงความคิดของเขา แล้วลึกลงไปก็คือ เข้าใจสภาพจิต เจตจำนงที่ฝังอยู่ในใจ ลักษณะนิสัยอะไรต่างๆ ที่รวมกันเข้าเป็นอเมริกา ต้องเข้าใจให้ชัด นั่นแหละก็จะได้องค์ร่วมเป็นองค์รวมอีกอันหนึ่ง แล้วก็จะมารวมกันเข้าเป็นโลกนี้ ซึ่งเมื่อมันมีผลกระทบต่อประเทศไทยเรา เราจะรับมือกับเขาอย่างไร แต่ว่าเรามีอันหนึ่งก็คือว่า ต้องแน่ใจว่าเรามีเจตนาดี เพื่อสร้างสรรค์สันติสุขของโลก แก้ปัญหาตั้งแต่ชีวิตสังคมประเทศชาติ ทั้งหมดเลย เจตนาดีนี้ตั้งรักษาไว้เป็นแกน แล้วเราก็ไปเอาตัวปัญญานี้มาแก้ปัญหา เจตนาเราดีแล้ว เราพัฒนาปัญญา มันก็จะไปสู่การแก้ปัญหาได้ แล้วเราก็อย่าไปหวัง คือเราก็มองตามความเป็นจริง เราก็ไม่ไปเล็งผลเลิศเกินไปว่า โลกนี้เขาจะหวังสันติภาพจริงหรือเปล่า พวกที่คิดแก้ปัญหาโลกอะไรต่ออะไร จะมีความจริงใจกันแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องแก้ปัญหาทั้งสิ้น แต่เราตั้งใจเจตนาของเราให้ดีไว้ก่อน แล้วเราก็พัฒนาปัญญาหาความรู้เป็นต้นไป มันก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหา
[01:04:18] ฉะนั้นอาตมาก็ขออนุโมทนาในประการที่หนึ่งก็คือ การมีเจตนาที่ดี มีจุดมุ่งหมายที่เป็นกุศล เป็นความดีงามแล้ว ต่อไปนี้ก็ขอให้เราเนี่ยได้มามีความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจกัน แล้วก็ปฏิบัติตามวิธีการที่ถูกต้อง ที่ได้ผล แล้วก็พัฒนาองค์ประกอบสำคัญต่างๆ เช่น ปัญญา เป็นตัวนำ เพื่อจะมาดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามหลักการที่เรารู้เราเห็นเราเข้าใจนี้ เพื่อสนองเจตนาที่ไปสู่จุดหมายนั้น ก็จะเกิดผลสำเร็จได้ ก็หวังว่าหลักการและวิธีการนี้ เมื่อเราชัดแล้ว จะสามารถทำให้เราบรรลุจุดหมายแห่งการแก้ปัญหาของชีวิตครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และโลก และทำให้โลกนี้ก้าวไปในอารยธรรมที่ถูกต้อง แม้กระทั่งว่า ปรับแก้อารยธรรมให้มันเป็นอารยธรรมที่แท้จริง ที่จะเป็นอารยธรรมที่ยั่งยืน ทำให้เกิดสันติสุขอย่างแท้จริงสืบไป
[01:05:25] ก็ขออนุโมทนาอวยชัยให้พรแก่ทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง ก็ในโอกาสปีใหม่ อย่างที่อวยชัยให้พรไปแล้ว ก็ขอให้ได้เพิ่มกำลังจากที่เราพูดกันนี้ เพื่อจะได้มีความสามารถที่จะแก้ปัญหายิ่งขึ้นไป แล้วพร้อมใจกันเดินหน้าต่อไป ให้ปีใหม่ 2546 นั้น ได้ผลคืบหน้าไม่ได้ถอย ปี 2546 ต้องก้าวหน้าไปในการทำสิ่งสร้างสรรค์ความดีงามและการแก้ปัญหา สังคมไทยจะต้องเดินหน้า แล้วก็จะได้ไปช่วยโลกเขาด้วย เพราะเวลานี้โลกประสบปัญหามาก ไม่มีใครไปแก้ได้ ประเทศไทยถ้าเก่งจริง จะต้องสามารถแก้ปัญหาของตัวแล้วไปร่วมแก้ปัญหาของโลก หรือนำโลกในการแก้ปัญหาด้วย ถ้าเมื่อไหร่ไทยเก่งถึงขนาดนั้น ก็จะน่าอนุโมทนา ขอจบเท่านี้ เจริญพร
[01:06:17] สังคมของเราได้สะสมเหตุปัจจัยความขัดแย้งมานาน จริงไหม เราสะสมเหตุปัจจัยแห่งความขัดแย้งทั้งนั้นเลย ฉะนั้นตอนนี้เราจะต้องมาเริ่มกันใหม่ ก็ต้องถือว่าเริ่มใหม่นะ เริ่มนี้ก็เป็นการกู้ จะเรียกว่า กู้วิกฤติก็ได้ แล้วก็รื้อฟื้นสิ่งที่ดีงามขึ้นมา ทุกอย่างนั้นจะสำเร็จอันหนึ่งก็ต้องมี 2 อัน หนึ่ง-เจตนาต้องดี สอง-ปัญญาต้องชัด ต้องรู้ชัด ทำอะไรโดยไม่รู้ เจตนาดีก็ไปไม่รอด หนึ่ง-เป็นเหยื่อเขา คนมีเมตตา เจตนาดี แต่กลายเป็นว่าถูกเขาหลอก นอกจากนั้นก็คือตัวเองมีแต่เจตนาดี แล้วปัญญาไม่มี ก็ผิดพลาดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ใช่ไหม แทนที่จะเป็นความเจริญ เป็นความเสื่อมไป ความผิดพลาดเสียหายมากมายเกิดขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้ง ๆ ที่เจตนาดี เพราะฉะนั้นท่านต้องย้ำให้มีคู่นี้ เจตนาดี มีความจริงใจ มุ่งดี ปรารถนาดี ประกอบด้วยเมตตา เป็นต้น แล้วก็ปัญญามีความรู้เข้าใจเรื่องราวทุกอย่าง เหตุปัจจัยแจ่มชัด สองตัวนี้ต้องไปทั้งนั้น ทุกกรณีเลย ทีนี้พอเรามีสองตัวนี้แล้ว เราก็ค่อยๆ แก้ปัญหาไป เพราะในระหว่างนี้เราเจอปัญหาเยอะแยะ ปัญญาจะเป็นตัวที่มาช่วยให้เราหาทางแก้ปัญหาไปได้เรื่อย ๆ เจตนาก็เป็นตัวที่ทำให้เราไม่พลาดไปทางอื่นจากทางแก้ปัญหา