แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : คำว่า ยถากรรม นี่เป็นคำที่ภาษาไทยใช้กันมาก ใช้กันเป็นธรรมดา แต่ว่าเป็นคำหนึ่งที่ความหมายผิดเพี้ยน ขอให้เข้าใจเลยว่า ยถากรรมที่พูดกันเนี่ย ความหมายไม่ถูกต้อง วันนี้ก็พูดถึงคำนี้ก็เอามาพูดคุย จะเรียกว่าอธิบายก็ได้ ยถากรรมในคัมภีร์พุทธศาสนานี้พูดมาก บ่อยอย่างยิ่งเลยนะ โดยเฉพาะคัมภีร์พวกอรรถกถาอย่างชาดก เช่นบอกว่าบัณฑิตผู้นี้ทำคุณประโยชน์อย่างนี้แล้วๆ สิ้นชีพก็ไปตามยถากรรม เอาละนะ ฟัง ท่านเศรษฐีผู้นี้ได้บำเพ็ญตนดำเนินชีวิตอย่างนี้ๆ สิ้นชีวิตแล้วก็ไปตามยถากรรม นายโจรคนนี้ได้ลักขโมยของปล้นอย่างนั้นๆ ที่สุดก็ได้ถึงแก่กรรมแล้วก็ไปตามยถากรรม นี่เป็นตัวอย่าง คำว่ายถากรรมก็ใช้ในเวลาตาย ก็จะพูดถึงว่าเขาตายแล้วเขาไปตามยถากรรม ไปตามยถากรรมหมายความว่าไง ยถา ก็แปลว่า ตาม นั่นเอง พูดง่ายๆ ก็ไปตามกรรม ตามกรรมก็หมายความว่าตามกรรมที่ทำไว้ ก็หมายความว่าตามที่กรรมมันอำนวยผล อำนวยผลออกมาตามเหตุของมัน ทำอะไรก็ออกผลอย่างนั้น สอดคล้องกัน ทำอกุศล ทำบาป ก็ออกผลเป็นบาป เป็นวิบากที่ไม่ดี ออกผลในทางที่ตรงกัน ถ้าเป็นกุศลก็ไปทางดี นี่คือว่าออกผลแล้วก็ตายไปแล้ว แล้วก็ไปตามยถากรรม ที่จริงก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่ในภาษาไทย ยถากรรมมันมีความหมายเพี้ยนไปแล้ว กลายเป็นว่าเรื่อยเปื่อย ไม่มีจุดหมาย ปล่อยปละละเลย ปล่อยตามลมเพลมพัด ไม่มีจุดหมายอะไรต่างๆ อย่างนี้ ก็กลายเป็นเรื่องไม่ดีไป เค้าเดิมมันก็คงมีอย่างที่ว่าตายแล้วไปตามยถากรรม เลยเอามาคิดไปคิดมา พูดไปพูดมา ก็เพี้ยน แล้วก็มาใช้กับเรื่องต่างๆ ทั่วไปหมด ก็ให้เข้าใจว่าเป็นตัวอย่างของคำพระที่มาใช้ในภาษาไทยแล้วความหมายผิดเพี้ยนไป อย่างอันนี้ก็เรียกว่าไกลพอสมควร แล้วก็บอกแล้วว่าเป็นตัวอย่าง ก็หมายความว่าคำอย่างนี้ในภาษาไทยที่เอามาจากคำพระ ผิดเพี้ยน คลาดเคลื่อนไปมากมายเหลือเกิน เวลาเห็นคำพระในภาษาไทยเวลานี้ ต้องตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนเลยว่า ความหมายไม่ใช่อย่างที่เข้าใจ มันผิดไปแล้ว เพราะว่าคนไทยนี่ห่างการศึกษาพุทธศาสนามานาน จนกระทั่งคำพูดที่พูดกันมาก็เป็นเพียงสืบต่อกันมา เล่าขานกันไป พูดไปพูดมาความหมายก็ผิดไปเพี้ยนไป คลาดเคลื่อนไป บางทีก็ตรงข้ามไปเลย อย่างวาสนาก็ผิด บารมีก็ผิด อะไรต่ออะไรก็ผิดหมด เพราะฉะนั้นเจอคำอะไร คำพระให้สงสัยไว้ก่อนว่ามันผิด แล้วก็พยายามไปศึกษา เรียกว่าแทบจะต้องศึกษากันใหม่เลย คำภาษาไทยที่เป็นคำพุทธศาสนามาจากพระ ทีนี้ไหนๆ พูดที่ยถากรรมก็เลยอยากจะเอาคำที่คล้ายๆ กันมาให้เป็นคู่ซะ ที่จริงตามปกติก็ไม่ได้มาเป็นคู่หรอก แต่ลักษณะของคำนั้นคู่กันได้ดี แล้วก็ในเชิงธรรมะเนี่ย เอามาคู่กันได้ดีมาก เมื่อมี ยถากรรม ก็มีอีกอันว่า ยถาธรรม ยถาธรรม ธรรมะนี่แหละ ยถากรรมก็แปลว่าตามกรรม ยถาธรรมก็แปลว่าตามธรรม ตายแล้วไปตามยถากรรม ก็หมายความตามกรรมที่ทำไว้ ตามที่กรรมอำนวยผล คือตามเหตุที่ทำ ทีนี้ยถาธรรมคืออะไร ตามธรรม เช่นว่าเราจะทำอะไรทำให้มันถูกต้อง ก็ทำตามธรรม หรือว่าพระภิกษุประพฤติผิด มีกฎกติกา มีหลักเกณฑ์ก็ให้จัดการตามธรรม ก็หมายความว่าปรับอาบัติเป็นต้น หรือลงโทษ หรือจะพิจารณาคดีอะไรก็แล้วแต่ ธรรมในที่นี้หมายถึงหลักการ กฎเกณฑ์ กติกา ทั้งกฎของมนุษย์ ของสังคม เช่นกฎที่เป็นวินัยของพระสงฆ์ แล้วก็กฎธรรมชาติ นี่กฎธรรมชาติเป็นอันใหญ่ เพราะฉะนั้นตามธรรมนี้ก็กลายเป็นว่าตามเหตุปัจจัย ตามสภาวะ ตามความจริง ตามความถูกต้อง ตามธรรม รวมแล้วก็ตามธรรม ทีนี้เอามาคู่กับคำว่า ยถากรรม เนี่ย จะได้มีประโยชน์ขึ้น บอกว่าไหนๆ เราก็จะต้องไปตามยถากรรมแล้ว เมื่อมีชีวิตอยู่จะทำอะไรก็ทำตามยถาธรรม อย่างนี้จะดี ได้ประโยชน์ แล้วก็จะเป็นหลักการดำเนินชีวิตที่ดีอันหนึ่ง เป็นคติได้เลย เอาพูดซ้ำอีกที บอกไหนๆ เราก็จะต้องไปตามยถากรรม เมื่อยังมีชีวิตอยู่ จะทำอะไรก็ทำตามยถาธรรม ทำตามที่มันถูกต้อง ทำตาม ถ้าเป็นสังคมก็มีกฎหมาย มีกฎเกณฑ์ กติกา มีวินัยของพระสงฆ์ ก็ทำให้มันถูกต้อง แล้วก็กฎธรรมชาติ หลักความจริง ความถูกต้อง ความดีงามทั้งหลายเนี่ย ก็ทำให้ถูกต้อง ทำให้เป็นไปตามธรรม เช่นความยุติธรรมเป็นต้น อันนี้ทั้งหมดจะคลุมมาก เรียกว่าใช้ได้หมดเลย เป็นอันว่าจะทำอะไรก็ทำตามยถาธรรม เมื่อเราทำตามยถาธรรม มันก็จะเป็นกรรมของเรานั่นแหละ พอทำตามยถาธรรมมันก็เป็นกรรมสิ แต่ทีนี้เราทำกรรมตามธรรม ก็กลายเป็นดี เป็นกรรมกุศล ทีนี้ตอนไปเราจะไปตามยถากรรม เราทำกรรมไว้ดีนี่ ไปตามยถากรรม ก็ไปตามกรรมที่ดีสิ ก็สอดคล้องกัน เพราะฉะนั้นวันนี้ก็เลยเอามาฝากว่าไหนๆ เรานึกถึงคำว่ายถากรรมแล้วก็เลยขอใส่เพิ่มคำว่ายถาธรรมเข้ามาให้เป็นคู่ แล้วใช้ประโยชน์ได้ดีเลย ใครจะนำไปใช้เป็นคติหรือหลักแห่งการดำเนินชีวิตก็ได้นะ ย้ำอีกทีบอกว่า ไหนๆ เราก็จะต้องไปกันตามยถากรรมแล้ว เมื่อยังมีชีวิตอยู่ จะทำอะไรนี่ก็ทำตามยถาธรรมนะ อย่างนี้ เอาละ นี่ก็เรื่องยถากรรม ยถาธรรม คิดว่าเข้าใจดีแล้ว
ทีนี้เมื่อพูดเรื่องนี้แล้วก็เลยอยากจะพูดต่อว่าเราจะทำตามยถาธรรมนี่ ธรรมนี่ก็มีหลายระดับ มีวิธีแบ่งต่างๆ มากมายหลายอย่าง ถ้าแบ่งตามสภาวะก็ไปดูในอภิธรรม โลกียธรรม โลกุตตรธรรม สังขตธรรม อสังขตธรรม อะไรก็ว่าไป กุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม อย่างนี้เรียกว่าจำแนกธรรมะเป็นประเภทตามสภาวะ ทีนี้มีวิธีจำแนกอีกอย่างหนึ่ง บางท่านอาจจะไม่เคยได้ยิน อันนี้เป็นวิธีจำแนกที่เป็นประโยชน์มาก ก็คือเป็นวิธีแยก จำแนก แบ่งประเภทธรรมะตามการใช้ประโยชน์ การเอามาใช้ในการดำเนินชีวิตอยู่ ไม่อยู่แค่สภาวะแล้ว อันนี้ก็แยกเป็นสองก็ได้ สามก็ได้ อันนี้พูดเป็นความรู้ไว้ เอาว่ายังไง เพื่อรวบรัดก็บอกว่าแบ่งเป็นสองอย่างนะ
หนึ่ง- ธรรมะระดับทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือเรียกเต็มท่านจะจำยากหน่อย ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ธรรมที่เป็นไปเพื่อระดับทิฏฐธัมมิกัตถะ ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ตาเห็น เอาง่ายๆ เรียกง่ายๆ ไม่ต้องเอาคำท้าย เอาไทยครึ่ง ภาษาพระครึ่งหนึ่งก็พอ บอกว่าธรรมะระดับระดับทิฏฐธัมมิกัตถะ นี้ ตัดประวิสรรชนีย์ออกซะ จะได้สั้นเข้า ก็ใส่การันต์ก็เป็นระดับระดับทิฏฐธัมมิกัตถ์ทีนี้ออกเสียงก็ยังยาวอยู่ อยากจะออกให้สั้นก็แค่ระดับระดับทิฏฐธัมมิกัตถะ ว่างั้น ได้ทั้งนั้น แต่ว่ามันไม่เต็มคำ ก็เอาละ ถ้าจะเรียกให้เต็มก็ง่ายๆ ธรรมะระดับทิฏฐธัมมิกัตถ์ ทิฏฐธรรมะ แปลว่าปัจจุบัน หรือสิ่งที่ตาเห็น เรื่องที่ตามองเห็น ต่อหน้าทันตา เรียกว่าทิฏฐธรรม ปัจจุบัน ทันตา อะไรพวกนี้ แล้วก็ อรรถะ แปลว่า ประโยชน์ จุดมุ่งหมาย รวมกันก็เป็นทิฏฐธัมมิกัตถ์ ก็แปลว่าเรื่องที่เป็นประโยชน์ปัจจุบันทันตา หรือเรื่องที่เป็นประโยชน์จุดหมายที่ตาเห็น อย่างในการดำเนินชีวิตของคนเนี่ย ท่านจะเน้นเรื่องนี้ อย่างชาวบ้านจะต้องเริ่มอันนี้ให้ดี เรื่องทรัพทย์สินเงินทอง เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องของการอยู่ร่วมสังคม เรื่องของการมีฐานะ มีรถ มีเกียรติ มีชื่อเสียง การมีชีวิตครอบครัว อะไรต่างๆ เหล่านี้ เรื่องของการอยู่ในโลก อันนี้เป็นจุดหมายที่สำคัญในเบื้องต้น ปัจจุบันทันตา ต่อหน้าตาเห็นเลย ของพวกนี้ตาเห็นนี่ ทรัพย์สินเงินทอง อะไรพวกนี้ ชื่อเสียง เรื่องของคู่ครองอะไรพวกนี้ ก็เป็นประโยชน์ระดับนี้ สำหรับคฤหัสถ์ต้องเอาใจใส่ ทำให้ถูกต้อง ให้ดี ให้ประสบความสำเร็จ ทิฏฐธัมมิกัตถะ ธรรมะระดับทิฏฐธัมมิกัตถ์ จะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ใช้ดำเนินชีวิตเลย ไม่ใช่เพียงแค่สภาวะ เอาละนะ หนึ่ง –ทิฏฐธัมมิกัตถ์ ธรรมะระดับประโยชน์ตาเห็น ประโยชน์ต่อหน้าทันตา เนี่ยที่ตาเห็นๆ กันเนี่ย ก็ของชาวบ้านทำให้ดีให้ถูกต้อง ให้ประสบความสำเร็จ
สอง-ทีนี้ต่อไปก็เป็นสัมปรายิกัตถะ ถ้าเต็มก็ สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม ธรรมเป็นไปเพื่อสัมปรายิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ ตัด
ประวิสรรชนีย์ออก แล้วใส่การันต์เข้าไปก็เป็นสัมปรายิกัตถ์ ก็ออกเสียงยาวๆ ไปก็ตัดอัตถะออก สัมปรายิกะ ก็แปลว่าประโยชน์หรือจุดหมายที่เลยตาเห็นสัมปรายะ แปลว่าเลยตาเห็น หรือเบื้องหน้า ก็คือเลยตาเห็น มันมีสองอย่าง ตาเห็นกับเลยตาเห็น เลยตาเห็นก็เป็นไง โลกหน้าหนึ่ง ในใจหนึ่ง ทีนี้เรื่องประโยชน์จุดหมายของมนุษย์ที่เป็นระดับเลยตาเห็น ก็เอาง่ายๆ ที่เราเกี่ยวข้องปัจจุบันก็คือทางจิตใจและทางปัญญา สองอันนี้ทางจิตใจ ทางปัญญานี้ เป็นระดับสัมปรายิกัตถ์ เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะมีทรัพย์สินเงินทอง แล้วปฏิบัติกับมันคือใช้ให้ถูกต้อง ทำประโยชน์หรือจะทำให้เกิดโทษ เอาไปใช้ผิดก็เสียหาย แล้วก็แม้แต่อยู่กับเงินทองเป็นต้น อยู่กับชื่อเสียงอะไรต่างๆ เหล่านี้ เราต้องมีใจว่ามีท่าทีที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่ามีเงินก็ทุกข์เพราะเงิน หวงแหนแล้วก็นอนก็ไม่หลับ มีทองเท่าหนวดกุ้ง นอนสะดุ้งจนเรือนไหว อย่างนี้ ก็ทุกข์เพราะเงิน เพราะฉะนั้นท่านก็ต้องมีสัมปรายิกัตถ์ ธรรมะระกับสัมปรายิกัตถ์ก็คือว่า คุณจะต้องรู้จักพัฒนาจิตใจและปัญญา ทีนี้จิตใจหนึ่งมีคุณธรรม รู้จักว่าอะไรดีอะไรชั่ว แล้วประพฤติให้ถูกต้อง มีศีล แล้วก็ใช้จ่ายบำเพ็ญทาน หรือว่าช่วยเหลือผู้คนบำเพ็ญประโยชน์ ช่วยเหลือบำรุงรักษาเลี้ยงดูคนที่เราดูแลรับผิดชอบตั้งแต่ในครอบครัวเป็นต้นไป รู้จักใช้ทรัพย์ พระพุทธเจ้าก็จะสอนไว้หมด แต่มันก็มาจากจิตใจ ต้องมีจิตใจมีคุณธรรม แล้วที่สำคัญก็คือต้องมีปัญญา ปัญญาต้องรู้เข้าใจว่าอะไรจะเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ นี่แหละปฏิบัติต่อเงิน จนกระทั่งมีปัญญาที่รู้ความจริงของชีวิต รู้คุณค่า รู้หลักธรรมชาติ รู้แม้แต่ว่าที่เรามีเงิน เรามีไปทำไม แล้วเรามีไว้ไม่ใช่เพื่อเป็นทุกข์นะ เราเพื่อใช้ประโยชน์มัน เพราะฉะนั้นมีแล้วอย่างไปทุกข์ ฉะนั้นท่านก็จะมีวิธีปฏิบัติให้รู้ด้วยปัญญาว่ามีเงินแล้ว นอกจากใช้เงินเป็น ใช้เงินให้เป็นประโยชน์ ทำเงินทำชีวิตให้ดีงามแล้ว เราจะอยู่กับเงินยังไงให้จิตใจนี่ไม่มีทุกข์ มีแต่ความสุข อย่างนี้เป็นต้น เกียรติยศ ชื่อเสียง โลกธรรมทั้งหมด ก็เหมือนๆ กันแหละ พอบำเพ็ญธรรมระดับนี้ ปฏิบัติธรรมระดับนี้ ระดับสัมปรายิกัตถ์ ระดับเลยตาเห็น ประโยชน์เลยตาเห็นทางจิตใจทางปัญญาไปแล้ว ทีนี้เราจะทุกข์น้อยลงๆ ไม่มีทุกข์ แล้วก็ปฏิบัติต่อมันอย่างดีงาม เป็นประโยชน์อย่างเดียว จนกระทั่งถือว่าในระดับสัมปรายิกัตถ์ ระดับสูงท่านเรียกว่า ปรมัตถ์ ก็คือถึงขั้นที่รู้ความจริงแล้ว ไม่ตกเป็นทาสของมันเลย อย่างที่ท่านบอก ผุฏฺฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปะติ อโสกัง วิระชัง เขมัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง สวดกันอยู่เนี่ย บอกว่าผู้ใดถูกโลกธรรมทั้งหลาย ลาภเสื่อมลาภ ยศเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ กระทบกระทั่งแล้ว จิตไม่หวั่นไหว จิตไร้โศกศัลย์ จิตไร่ธุลีละอองควัน แล้วก็มีสุขเกษมสานต์ ตลอดกาลทุกเมื่อ นี่ละก็ขั้นปรมัตถ์เลย แต่ว่าสำหรับปรมัตถ์นี่ พระพุทธเจ้าตรัสจะอยู่ในสัมปรายิกัตถ์ พระพุทธเจ้าตรัสรวมเอาปรมัตไว้ในสัมปรายิกัตถ์ เพราะฉะนั้นชาวบ้านเขาเอาแค่ทิฏฐธัมมิกัตถ์ เลยจากนั้นก็เป็นสัมปรายิกัตถ์ หมด เลยตาเห็น เลยเรื่องต่อหน้าไปแล้ว เอาละก็เป็นโยง หนึ่ง- ทำทิฏฐธัมมิกัตถ์ให้พร้อม สอง- เจริญปฏิบัติสัมปรายิกัตถ์ ให้จิตใจของเรา ปัญญาของเราดีงาม เราจะได้ใช้เงินเป็น เป็นประโยชน์ แล้วก็วางจิตใจต่อมันเป็น จิตใจของเรามีความสุขไม่มีความทุกข์เพราะเงินเป็นต้น อะไรอย่างนี้ นี่สัมปรายิกัตถ์มาแล้ว จนถึงปรมัตรวมอยู่ในนั้น ก็เลยมาอธิบายให้ญาติโยมฟังว่า ที่ปฏิบัติธรรมเนี่ย ไหนๆ จะไปกันตามธรรมแล้ว เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ทำอะไรให้ตามยถาธรรม ยถาธรรมยังไงละ ก็ตามธรรม ตามธรรมไหนละ ก็มีทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม หรือเอาง่ายๆ ว่าธรรมระดับทิฏฐธัมมิกัตถ์ จะหาเงินหาทองก็ขยันหมั่นเพียร ที่ท่านสอนไว้ไง มีอุฏฐานะสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร มีสติปัญญาด้วย ไม่ใช่ขยันเรื่อยเปื่อยนะ ไปดูอธิบายในพระไตรปิฎก ท่านไม่ได้บอกให้ขยันเฉยๆ ท่านบอกต้องมีปัญญา แล้วก็อธิบายต้องไปดูให้ครบ ไม่ใช่ไปดูแค่คำแปลของท่าน ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร นึกว่าจบ ขยันไม่เป็น ไม่มีปัญญา มันจะไปได้เรื่องอะไร ใช่ไหม ในพระไตรปิฎกท่านอธิบายอีก ต้องมีปัญญา แล้วก็ อุฏฐานะสัมปทา อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยเก็บรักษา ถึงพร้อมด้วยการเก็บรักษา รู้จักรักษาทรัพย์ที่หามาได้ อะไรต่างๆ เนี่ย แล้วก็กัลยาณมิตตตา รู้จักคบหาคน รู้จักเลือกคนคบที่จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและกิจการงานเป็นต้น แล้วก็ สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตแต่พอดี ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ขัดสน ไม่มาเบียดเบียนอะไรตัวเองต่างๆ เหล่านี้ ก็ไม่รู้แหละเยอะแยะหมด ธรรมระดับทิฏฐธัมมิกัตถ์ เกี่ยวกับเรื่องเงินทองนี่พระพุทธเจ้าเน้นมาก แม้แต่ใน สิงคาลกสูตร สอนวิธีจัดสรรทรัพย์ไว้ เธอมีเงินแล้วแบ่งทรัพทย์เป็น 4 ส่วนนะ หนึ่งส่วนใช้อย่างนี้ อีกสองส่วนใช้อย่างนั้น อีกหนึ่งส่วนใช้อย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงเอาพระทัยใส่มากเรื่องของทิฏฐธัมมิกัตถ์ เริ่มตั้งแต่ทรัพย์สินเงินทอง เรื่องชีวิตครอบครัว เรื่องอยู่ในสังคม เกียรติยศ ชื่อเสียง ต้องทำให้ดี ฉะนั้นก็อย่าเลยไป พวกนี้อย่าไปมองข้าม ญาติโยมยังอยู่ในทิฏฐธัมมิกัตถะ เต็มที่เลย จะไปทิ้งได้ไง ห้ามมองข้าม เอาละ ก็เป็นอันว่าถ้าทำตามนี้ได้สองระดับ ได้ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม แล้วก็สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม หรือเรียกง่ายๆ ว่าธรรมระดับทิฏฐธัมมิก ง่ายๆ กับธรรมระดับสัมปรายิก สองระดับ ก็พอแล้ว เพราะในสัมปรายิกัตถ์ พระพุทธเจ้ารวมไปถึงปรมัตถ์ด้วย นิพพาน เลย ทีนี้ก็เลยเล่าเป็นเกร็ดความรู้ คือพระพุทธเจ้าตรัสในพระสูตรเนี่ย พระองค์แบ่งอัตถะเป็นสอง เพราะว่าชาวบ้านเขาอยู่ทิฏฐธัมมิกัตถ์พอเลยนั้นไปเขาจะได้ไม่ต้องงง แล้วก็ไปสับสน ใช่ไหม เลยจากที่ตาเห็นของเขาไปแล้วก็สัมปรายะหมด ทีนี้พระสารีบุตรท่านก็แยกให้เราเห็นชัดขึ้นอีก พระสารีบุตรอัครสาวก ท่านก็แยกให้ว่า อัตถะมี 3 นะ
1. ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ตาเห็น ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภพชาตินี้ก็ได้
2.สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์เลยตาเห็น ประโยชน์เบื้องหน้าเลยโลกนี้ไป ได้หมด อันนี้ก็สัมปรายิกัตถะ เอาแค่พวกสวรรค์ชั้นพรหม ความดีความอะไรที่ยังอยู่ในโลก
3.ปรมัตถะ ประโยชน์สูงสุด ขั้นที่ถึงนิพพาน
นี่ท่านพระสารีบุตรท่านไปแยกให้ละเอียด แต่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้เอาแค่ 2 ให้เข้าใจไว้ด้วย แล้วก็ประโยขน์เหล่านี้ทิฏฐธัมมิกัตถะ ก็ตาม สัมปรายิกัตถะก็ตาม ปรมัตถ์ก็ตาม หรือแยกสั้นๆ เป็น 2 ก็ตามเนี่ย
ทีนี้เราจัดใหม่เป็นอีกแบบหนึ่ง ก็เป็นจุดดหมายเป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ทีนี้นี่อันเดียวกันนี่แหละ ประโยชน์ที่เป็นปัจจุบันทันตาต่อหน้าเห็นกัน แล้วก็เบื้องหน้าในทางจิตใจ ปัญญา อะไรก็ตาม หรือถึงปรมัตถ์รวมอยู่ในนี้ ก็แยกเป็นด้านตัวเอง กับด้านผู้อื่น พระพุทธเจ้าก็จะทรงเน้นเหลือเกิน ท่านทั้งหลายต้องบำเพ็ญทั้งอัตตัตถะประโยชน์ตน ประโยชน์ของตนเอง ก็คือพัฒนาตนเองให้มีปัญญา ให้มีความรู้ ให้มีคุณสมบัติที่ดีงามทั้งหลายนี้ท่านเรียกว่าประโยชน์ตน ท่านไม่ได้ไปมองที่วัตถุมากมาย ท่านดูความรู้ความสามารถ สติปัญญา คุณธรรมนี่แหละ ประโยชน์ตน คุณต้องพัฒนาชีวิตคุณให้ดีขึ้น ชีวิตคุณพัฒนา มีศีล สมาธิ มีปัญญาดีขึ้น หรือมาเจริญงอกงามในธรรมขึ้นเนี่ย ก็ก้าวหน้าไป ท่านเรียกว่าเป็นประโยชน์ตน คนเราไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้อะไรต่างๆ เนี่ย ประโยชน์ที่แท้ไม่มี มีเงินพ่อแม่ให้ ประโยชน์แบบนั้นรักษาก็ไม่ได้ ใช้ก็ไม่เป็น หมด แล้วก็สร้างใหม่ก็ไม่เป็น ทีนี้พอมีอัตตัตถะ ประโยชน์ที่แท้จริงในเนื้อตัวก็คือความรู้ความสามารถเป็นต้น คราวนี้ก็เป็นทรัพย์ภายใน อริยทรัพย์ ก็ไปสร้างทรัพย์ภายนอก มีทรัพย์พ่อแม่ให้มาก็รักษาไว้ได้ แล้วก็ทำให้เพิ่มได้ แล้วใครไม่มีทรัพย์ก็สร้างใหม่ได้ ทำได้ทุกอย่าง ที่นี้ก็แม้แต่มีทรัพย์ไม่มีทรัพย์ก็อยู่เป็นสุขได้ เพราะเป็นคนมีธรรม มีปัญญา อย่างนี้เป็นต้น อัตตัตถะ นี่ก็คือประโยชน์ที่เป็นคุณสมบัติเนื้อแท้ในตัวเอง ที่จะต้องพัฒนาขึ้นมา อัตตัตถะ ก็ไปแยกเป็นระดับ ก็เป็นทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถ์ หรือจะแยกละเอียดเป็นปรมัตถ์ด้วยก็ได้ ประโยชน์ตนก็แยก 3 ขั้น
ทีนี้ประโยชน์ผู้อื่น ท่านก็จะเน้นบอกว่า เธอทั้งหลายก็ให้บำเพ็ญ ปรัตถะ ประโยชน์ผู้อื่นด้วย ประโยชน์ผู้อื่นก็คือประโยชน์แก่คนทั้งหลายอื่นกระทั่งรวมกันเป็นสังคมนั่นแหละ ก็ทำให้คนอื่นเขาเนี่ยเป็นลูก เป็นต้น ให้เขาเจริญด้วย อัตตัตถะ 3 หรือ 2 ระดับ ที่ว่าเมื่อกี้ มีลูกหรือว่าคนที่เราไปสอนเป็นลูกศิษย์ หรือจะเป็นใครในสังคมที่เราจะช่วยให้เขาได้อัตตัตถะ แล้วเขารู้จักบำเพ็ญปรัตถะ แล้วก็ให้เขาเข้าถึง เอา 2 อย่าง เดี๋ยวจะแบ่ง 3 ให้อีก ทีนี้แบ่ง 2 เนี่ยนะ อัตตัตถะ กับ ปรัตถะ ประโยชน์ตนกับประโยชน์ผู้อื่น เป็นอันว่าคนเรานี่พระพุทธเจ้าเน้นนักต้องทำให้ได้ 2 อย่างนี้ คือชุดที่หนึ่งคือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถ์ แล้วชุดที่สองก็อัตตัตถะ กับ ปรัตถะ หรือ อัตตัตถ์ ปรัตถ์ เรียกง่ายๆ ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ผู้อื่นนี่พระพุทธเจ้าก็เน้นมาก พระพุทธเจ้าที่ทรง ถ้าเราปฏิบัติดีเนี่ย เราพัฒนาคนให้ดีเนี่ย ก็พึ่งตนได้ ท่านเรียกว่าเป็น อัตตนาถะ แปลว่าผู้มีตนที่พึ่งได้ พึ่งตนได้ มีตนเป็นที่พึ่ง แล้วก็ไปบำเพ็ญประโยชน์กับผู้อื่น ไปช่วยผู้อื่นให้เขาได้ ทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ ปรมัตถ์ ท่านเรียกว่าเรานี่เป็น ปะ-ระ-นา-ถะ เป็นที่พึ่งของผู้อื่น ทีนี้พระพุทธเจ้านั้นก็ทรงเป็นหมด พระพุทธเจ้านี่นอกจากอัตตนาถะ ปะ-ระ-นา-ถะ แล้ว ปะ-ระ-นา-ถะของท่านกว้างมาก คือสรรพสัตว์ทั้งหมด ทั้งโลก เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็เป็นโลกนาถะ โลกนาถ เอาแล้วนะพวกเราต้องเป็นอัตตนาถะ หรือเรียกสั้นๆ ว่า อัตนาถ แล้วก็
ปะ-ระ-นา-ถะ ปะ-ระ-นาถ แค่นี้ก็ใช้ได้แล้ว แต่พระพุทธเจ้าต้องทรงเป็นโลกนาถ โลกนาถะ เป็น 3 เข้าใจนะ ทีนี้ก็พระสารีบุตรท่านก็ไม่หยุดเท่านี้ เมื่อกี้บอกว่าทิฏฐธัมมิกัตถ์ สัมปรายิกัตถ์ ท่านก็ไปแยก สัมปรายิกัตถ์ ให้ละเอียดเป็นปรมัตถ์ ขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง ทิฏฐธัมมิกัตถ์ สัมปรายิกัตถ์ ปรมัตถ์ นี่เป็นพระสารีบุตรนะ ท่านไปแบ่งไว้ในคัมภีร์นิทเทส อัตตัตถะ ปรัตถะ พระพุทธเจ้าตรัสไว้แค่นี้ เพราะว่าพอแล้ว จะได้ง่ายด้วย พระสารีบุตรท่านก็ไปแยกให้ครบในคัมภีร์นิทเทสแหละ เป็นอัตถะ 3 ก็เป็น
อัตตัตถะ ประโยชน์ตน
ปรัตถะ ประโยชน์ผู้อื่น
อุภยัตถะ ประโยน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย
นี่พระสารีบุตร จัดเป็น 3 ก็เลยเอามาเล่าให้ฟัง เพื่อจะได้ลองธรรมะให้ทั่ว วันนี้แบ่งแบบการใช้ในการดำเนินชีวิต ไม่ใช่แบ่งแบบอภิธรรม อภิธรรมนั้นเขาแบ่งตามสภาวธรรมอย่างที่บอกเมื่อกี้ แบ่งได้หลายอย่าง หลายประเภท แต่ว่าวันนี้เรามาแบ่งแบบพระสูตรก็ว่าได้ แบ่งแบบที่จะใช้ประโยชน์จริงในชีวิตจริง อันนี้อย่าละเลยนะ ต้องให้ครบ ทิฏฐธัมมิกัตถ์ ถ้าเป็นโยมก็สำรวจดูทิฏฐธัมมิกัตถ์ เราได้ทำได้ปฏิบัติต่อมันดีไหม พอพึ่งตัวเองได้อย่างน้อยเป็นต้น แล้วก็ใช้บำเพ็ญประโยชน์ ก็เป็นอันว่า คิดว่าครบแล้วนะ ครบ 3 แล้ว ทีนี้เอาเป็นว่ารู้แล้วธรรมะที่ปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมเป็นอันว่าจะ 2 ระดับ 3 ระดับ อะไรก็แล้วแต่ ก็เข้าใจตามนี้ ทีนี้ก็เพื่อให้โยมได้ตัวอย่างเอาไปใช้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้มากมายเหลือเกิน ทีนี้พระก็ชอบสวดมนต์กัน สวดกันเรื่อย พอถึงวันอาทิตย์วัดนี้ก็สวดแล้ว สวดพระสูตร บทแรกที่สวดแล้วใช้ทุกอย่างในงานมงคลนั้นเรียกว่า มงคลสูตร เข้าใจว่าพระในที่ประชุมนี้คงท่องได้ทุกรูป ไหนๆ ท่องได้ทุกรูปแล้ว สวดมนต์ทั้งหมดจะมีกี่บทก็ตาม อย่างน้อยให้แปลได้สักบทหนึ่ง ถ้าท่านที่เป็นนวกะมาบวช เวลาสั้นๆ 1 เดือน ก็ขอให้ได้ไปสักสูตรหนึ่ง เอาสูตรนี้แหละ มงคลสูตร พระสูตรแรกนี้ได้คำแปลไปเลย แล้วสูตรนี้จะมีครบหมด อัตตัตถะ ปรัตถะ อุภยัตถะ ครบหมดเลย ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์สองฝ่าย แล้วก็ทิฏฐธัมมิกัตถ์ ประโยชน์ทันตาต่อหน้าในบัดนี้ ปัจจุบัน โลกนี้ได้ด้วย สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์เลยตาเห็น ไปเบื้องหน้า เลยโลกนี้ไปก็ได้ แล้วก็ ปรมัตถ์ ที่รวมอยู่ในสัมปรายิกัตถ์ ก็ได้หมด เนี่ยมงคลสูตร ที่ท่านเอาไปแปลให้ได้ ไหนๆ สวดแล้วต้องให้ได้อย่างน้อยสูตหนึ่ง แล้วพอจำได้แล้วก็ปฏิบัติตาม สอนลูกสอนหลานนะ ได้แค่มงคลสูตรนี่พอเลยชีวิตนี้ดีแน่ๆ ได้ครบหมดทุกอย่างเลย ก็ท่านสวดกันได้ทุกองค์ เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องทวน มงคลเป็นอันว่ามี 38 ประการ 38 ข้อ พอบอกจำนวนหลายท่านก็ โอ้โห เราก็แย่สิ ปฏิบัติยังไงตั้ง 38 ข้อ ไม่ยาก แต่ว่าจำยาก คำแปล แม้แต่ได้คำบาลีแล้วจำคำแปลไม่ได้ ก็ต้องแปลให้เป็นคำคล้องจอง เรียกว่าสัมผัส มีสัมผัสก็จะท่องได้ง่ายขึ้น ก็เลยลองแปลไว้ให้แล้ว แต่ว่าไม่บอกในที่นี้ ให้ไปหาเอาเอง ทีนี้ 38 ข้อนี้ ก็เริ่มต้นด้วย อะเสวะนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา ปูชา จะ ปูชะนียานัง เอตัมมังคะละมุตตะมังฯ แค่คาถาที่หนึ่ง ก็มีกี่ข้อล่ะ อะเสวะนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา ปูชา จะ ปูชะนียานัง 3 ข้อ ทีนี้ก็ไล่ต่อไปสิ คาถามที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ที่หก ที่เจ็ด ที่แปด ที่เก้า ที่สิบเลย ทีนี้คาถาที่สองก็ไม่ต้องบอกแล้ว ไปคาถาที่สาม ไปจนถึงสุดท้าย เราจะเห็นว่าทำไมจึงบอกว่าครบหมด อ้อ อันนี้เราก็จะเห็นว่าอะเสวะนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา เป็นประโยชน์ตาเห็น ใช่ไหม แต่ว่ามันก็เกี่ยวข้องกับตนกับผู้อื่นหมด แล้วทีนี้ก็ไปถึงโน่นแหละ ไปถึงสุดท้าย เอาคาถาสุดท้ายเลย ข้ามไป ผุฏฺฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปะติ อโสกัง วิระชัง เขมัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง เนี่ยถึงปรมัตถ์ เพราะว่าคาถาที่เก้านั้นจะมี ตะโป จะ พรัหมจะริยัญจะ อะริยะสัจจานะ ทัสสะนัง นิพพานะสัจฉิกิริยา แค่ถึงคาถาที่เก้าก็บรรลุนิพพานแล้ว เพราะฉะนั้นครบหมด สัมปรายิกัตถะ ปรมัตถะ อยู่ในมงคลสูตรเนี่ย ตะโป จะ นี่บำเพ็ญเพียรแล้ว เผากิเลส ไม่เอาด้วยกับกิเลส ไม่ยอมตาม แล้วก็พรัหมจะริยัญจะ ก็แปลว่าพรหมจรรย์ หมายถึงอริยมรรค มรรคมีองค์ 8 พอ มรรคมีองค์ แล้วก็ อะริยะสัจจานะ ทัสสะนัง ก็เห็นอริยสัจแล้ว เห็นอริยสัจ 4 ก็นิพพานะสัจฉิกิริยา ก็ประจักษ์แจ้งนิพพาน ก็แปลว่าอันที่เก้าก็ครบแล้ว ถึงปรมัตถ์แล้ว ทีนี้ก็คาถาที่ 10 นี้ก็คือ ผลที่แสดงออกมา ที่บอกเมื่อกี้ บอกว่าผู้ใด ไม่ต้องผู้ใด คือเป็นผู้ที่ถูกโลกธรรมทั้งหลายกระทบแล้ว โลกธรรมมีอะไร โลกะรรมก็มี คือเรื่อง อิฏฐารมณ์ ปรารถนา อนิฏฐารมณ์ ที่ไม่ปรารถนา ได้ลาภ-เสื่อมลาภ ได้ยศ-เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ อย่างนี้เรียกว่าโลกธรรม ธรรมะเรื่องที่เป็นธรรมดาของโลกเขา ได้ลาภ-เสื่อมลาภ ได้ยศ-เสื่อมยศ เป็นต้น ผู้ที่ถูกโลกะรรมทั้งหลาย ไม่ว่าดีหรือร้าย กระทบกระทั่งแล้ว มีจิตใจไม่หวั่นไหว มั่นคง นั่นเอง ไม่มีความโศกเศร้า ผ่องใสไร้ธุลีละอองควัน แล้วก็ เข-มัง เกษมสานต์ ก็เป็นจิตใจที่สงบ มีความสุข มีความมั่นคง ก็จบ คนที่ปฏิบัติธรรมครบ ถึงที่สุด บรรลุ ถึงสัมปรายิกัตถ์ ในส่วนท้ายก็คือปรมัตถ์ ก็จะบรรลุในทางสภาวธรรม ก็ถึงโลกุตตรธรรม แล้วที่นี้ก็อยู่ในโลกนี้ก็เป็นอันว่า โลกธรรมกระทบกระทั่งก็จิตใจสบาย สงบ มีความสุข ไม่หวั่นไหวไป มีชีวิตอยู่ด้วยจิตใจที่มีความสุข แล้วก็มีปัญญา มองเห็นสว่างโล่ง ก็เอาแล้ว วันนี้ก็เลยมาเล่าให้ฟัง ก็ขอให้ช่วยกัน เอามงคลสูตรนี่ไปใช้ อย่างที่ว่าแล้วเนี่ย ท่านที่บวชระยะมีเวลาน้อย แม้แต่เอามงคลสูตรนี้ สูตรเดียวแหละ เอาไปปฏิบัติ เอาไปสอนกัน สังคมนี้ก็ร่มเย็นเป็นสุข เจริญงอกงามแน่ๆ เอาละ ทุกท่านก็หวังว่าสุขสบายดีแล้วก็เจริญงอกงามในธรรมวินัย ก็คือการที่ได้เล่าเรียนศึกษา วันนี้ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้พูดคุยอะไรกันมาก เพียงแต่พูดให้ฟัง ก็พอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติเพียงเท่านี้ อนุโมทนาทุกท่าน แล้วขอให้ทุกท่านเจริญงอกงามในพระธรรมวินัย แล้วก็ให้ญาติโยมทุกท่านมีความสุขเจริญด้วยจตุพิธพรชัยทุกเมื่อเทอญ