แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ถาม : ท่านพระเดชพระคุณครับ ผมขอถามเรื่องที่สงสัยนิดหนึ่งนะครับ ก็เกี่ยวกับเรื่องภาษาบาลีนะครับ คือตรงกับเรื่องของแน็ท (นาทีที่ 1:05) แต่ว่าเห็นพระเดชพระคุณพูดภาษาบาลีมา ผมก็เลยจะถามว่า ภาษาบาลีตามที่ผมเข้าใจมาก็คือ เป็นภาษา บาลี มาจาก ปาล (ปา-ละ) แปลว่า รักษา ใช่ไหม...
ตอบ : ใช่
ถาม : สำหรับการเก็บรักษาพระพุทธพจน์ หรือพระไตรปิฎกครับ
ตอบ : ครับ
ถาม : เออ คำถามแรกก็คือ อยากทราบว่า แล้วในสมัยพระพุทธกาลนี่ใช้ภาษาบาลีหรือภาษามคธ แล้วภาษาบาลีกับภาษามคธนี่เป็นภาษาเดียวกันหรือเปล่า
คำถามที่สองก็คือ ผมก็ได้ทราบมาว่าภาษาบาลีนี่ไม่มีภาษาเขียน แต่ว่าคราวนี้ถ้าเกิดจะใช้ภาษาบาลีนี่มาภาษาใดนี่ก็จะใช้ตัวอักษรของภาษานั้นเขียน อย่างเช่น ภาษาไทยก็จะใช้ตัวสะกดภาษาไทยสะกด นั่นแหละ ดังนั้น ผมก็มีความสงสัยว่า บางทีนี่ อย่างตัว พ พาน กับตัว ภ สำเภา ครับผม
ตอบ : ฮะ
ถาม : ในเมื่อออกเสียงเหมือนกัน แล้วทำไมเราต้องแยกให้เป็นตัว พ พาน กับตัว ภ สำเภา
ตอบ : ก็เหมือนไทยนี่แหละ ก็เราก็มี พ พาน ภ สำเภา ออกเสียงก็เหมือน ๆ กัน ที่จริงบางท่านก็พยายามให้อ่านให้ออกเสียงต่าง โดยมาเน้นเรื่องไอ้วิธีออกเสียง แต่คนไทยเราก็ยาก ก็เลือกที่จะไปออก มันเป็นปัญหาเรื่องของวิถีชีวิตที่เราเป็นกันอยู่นี่ มันไม่เคยชิน แต่ว่ามันเคยชินในสภาพที่ต่างไปจากนั้น อ้า เดี๋ยวว่าไปตามลำดับ จบ ๆ ยังคำถาม
ถาม : จบแล้วครับ คือ ตกลงข้อที่สองนี่ก็คือ จริง ๆ แล้ว ตามเสียงที่ออกภาษาบาลีจริง ๆ พ พาน กับ ภ สำเภา นี่ จะไม่เหมือนกันใช่ไหมครับ
ตอบ : ไม่เหมือน ๆ ทุกตัวก็ถ้าจะมีว่า เช่นว่า มีตัวไหนเป็นกัณฐชะ เป็นทันตชะ เป็นอะไรนี่นะ ตาลุชะ หมายความว่า ที่เกิดเสียงนั้นมันต่างกัน แล้วมันก็มีไอ้ตัวความแตกต่างที่แม้จะมีความตรงกันในแหล่งแล้ว มันก็มีความต่างอีก อันนี้ ๆ เป็นเรื่องของวิธีออกเสียง ซึ่งแม้แต่ภาษาอังกฤษก็ยังไม่ใช่ง่ายเลยใช่ไหม จะให้ออกเสียงให้ถูกนี่นะ แล้วภาษาไทยเราก็เลยปล่อยเลย ไม่เอาเรื่องแล้ว ช่างมันเถอะ คือเราก็แล้วแต่ว่าติดมาจากคุณพ่อคุณแม่ก็ว่าตามกัน จนกระทั่งตัว ร ตัว ล ไม่เป็นแล้ว ใช่ไหม เดี๋ยวนี้ยุ่งหมดแล้วนะ วิทยุลองฟังสิ ตัว ร เรือ นี่มันจะไม่มีแล้วนะ ใช่ไหม มันเป็น ล ลิง อันนี้ไม่ต้องไปเอาใครไกล เราไม่ต้องไป พ ภ หรอกนะ เอาแค่ ร ล นี่ก็ไปแล้ว กล้ำก็จะไม่ได้แล้ว แม้แต่ ล ลิง เวลาไปกล้ำก็ไม่ได้แล้ว ใช่ไหม โอ้ หมดแล้ว ๆ ต่อไปถ้าไม่คอยระวังกันไว้นี่นะ เพราะฉะนั้น มันเป็นปัญหาไปหมด เรื่องภาษา ยิ่งปัจจุบันนี้ เราไม่ได้มีการเน้นย้ำ ระมัดระวังเรื่องนี้ มันมีไอ้ปัจจัยด้านอื่นเข้ามา ทำให้ปล่อยปละละเลย ไอ้ความปล่อยปละละเลยนี่มันหนักเข้าทุกทีเลย ฉะนั้น มันก็จะเกิดความบกพร่องในเรื่องนี้มากขึ้น อ้าว กลับไปตั้งแต่ข้อต้นเลยนะ
ถาม : ผมขอถามคำถามแทรกเกี่ยวกับเรื่องตัวอักษรที่ออกเสียงอีกนิดหนึ่งนะครับ พอดีเป็นเรื่องเกี่ยวกับการออกเสียงเหมือนกัน ก็เลยจะถามว่า เวลาเจอตัว ฑ นางมณโฑ นี่นะครับ มันบางกรณีก็ออกเป็น ท บางกรณีก็ออกเป็น ด อย่างเช่น บัณฑิต อย่างนี้จะมีหลักการอะไรหรือเปล่าครับ
ตอบ : อ๋อ ครับ อันนี้เป็นแทรกนะ คือบางทีมันก็ขึ้นกับความนิยม หมายความว่า ในภาษาไทยนี่ เราเอามาจากภาษาบาลี พวกคำเหล่านี้ ทีนี้ว่า เราพูดกันไป พอติดปาก ลงตัวอย่างไรแล้วนี่ แก้ยาก เมื่อแก้ยากก็เลยต้องปล่อย เราก็ถือว่าคำนั้นลงตัวอย่างนั้นแล้ว ก็ให้ถืออย่างนั้นไปเลย แต่ว่าถ้าเป็นบาลีก็เป็นอันว่า ให้ถือเป็นหลัก อย่าไปยอม หมายความว่า ถ้าเป็น ฑ มณโฑ นี่ ในภาษาบาลีก็ให้ออกเสียงเป็น ด ไปเลย ทุกตัว ไม่เหมือนในคำไทย คำไทยก็แล้วแต่ว่าตกลงกัน เช่นว่า เดี๋ยวนี้ก็ให้ถือพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน นี่เป็นเกณฑ์ ใช่ไหมฮะ ก็ท่านเอาอย่างไรก็เอาตามนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ราชบัณฑิตยสถานนี่ท่านจะต้องถูกหมด แต่ว่าเมื่ออยู่กันในสังคมอย่างนี้ก็ต้องมีเกณฑ์สักอย่างเพื่อกำหนดหมายร่วมกัน ใช่ไหมฮะ ก็เลยใช้เป็นมาตรฐาน เพราะว่าราชบัณฑิตยสถานเองก็ต้องเห็นใจท่าน ท่านเองท่านก็ บางทีท่านก็ไม่ค่อยแน่ใจ แล้วอีกยุคหนึ่งท่านก็เปลี่ยน
เหมือนอย่างคำว่า รากเหง้า อ้าว ท่านลองไปเปิดดูสิ รากเหง้า นี่นะฮะ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน สมัยก่อนนู่นะ หรือจะสงสัยว่าอาจจะเป็น พ.ศ. ๒๔๙๓ ประมาณนี้นะ รากเหง้า นี้ ใช้ เง่า แล้วมาปี ๒๕๒๕ นี้ เปลี่ยนแล้ว เป็น รากเหง้า เหง้า นี่ ๆ ราชบัณฑิตยสถาน
ก็คำอื่นก็เช่นเดียวกัน ท่านก็อาจจะเปลี่ยนเมื่อท่านไปพบหลักฐานที่แน่ใจยิ่งขึ้น หรืออย่าง หน้าที่ อย่างนี้ หน้าที่ นี้ ถ้าเป็นพจนานกรมเก่าก่อนราชบัณฑิตอีก มี น่า แล้วก็ ที่ แล้วตอนหลังนี้ก็ใช้ หน้า ตลอดเลย เดี๋ยวนี้ต้องอย่างนี้เลยใช่ไหม ถ้าใครไปเขียน น่า ก็ผิดเลย แต่ทีนี้ ถ้าไปพิจารณากัน เพราะใครก็ไม่รู้ว่ามาอย่างไร น่าที่ นี้ ไม่มีใครรู้ว่า น่าที่ นี้ รากศัพท์มาอย่างไร อันนี้ ถ้าไปดูเรื่องเก่า ๆ ไปดู ผมเคยไปดูปทานุกรมของหมอบรัดเลย์ ก็ใช้นี่ หรือจะเป็น น่า
ทีนี้ มันมีตัวอย่างที่ทำให้เรานึกว่ามันอาจจะมาจากนี่นะ คือเขามีคำพวก เช่นว่า น่าที่จะอย่างนั้น น่าที่จะอย่างนี้ นี่แหละ เดิมมันจะเป็นอย่างนี้ไหม ก็คือ คนนี้แหละ คุณอยู่ในสถานะนี้ คุณน่าที่จะ น่าที่จะทำอย่างนั้น น่าที่จะทำอย่างนี้ ใช่ไหม ต่อมาก็เลย ไอ้คำว่า น่าที่จะ นี้ มาเป็น น่าที่ ๆ เป็นไปได้นะฮะ ชอบกลนะ เออ น่าที่จะ นี่แหละ ก็ถ้าเป็นพระ ท่านก็ น่าที่จะ ใช่ไหม ไปบิณฑบาต อะไรอย่างนี้ ก็เลยเป็น หน้าที่ ของพระไป อย่างนี้ เออ ถ้าอย่างนี้แล้ว ไอ้ หน้าที่ มันน่าจะเป็น น่า ด้วยซ้ำใช่ไหม
ถาม : ครับ
ตอบ : ก็นี่แหละ อย่างนี้เป็นต้นนะ แล้วใครจะตัดสิน อันนี้ก็ต้องมาพยายามพิจารณากัน เป็นเรื่องไม่ใช่ง่ายหรอกครับ ภาษาไทยนี่ ยิ่งเราไม่เป็น ไม่ใช่นักบันทึกประวัติด้วย ใช่ไหม คนไทยไม่ค่อยมีนิสัยในการบันทึกประวัติความเป็นมาเดิม ๆ ไม่เหมือนบางชาติ เขามีนิสัยนะ ในการบันทึก มีอะไรเกิดขึ้น บันทึก มันก็ทำให้สืบเรื่องราวความเป็นมา แม้แต่สืบประวัติคำได้ง่าย ของไทยนี่สืบยากเหลือเกิน อย่างฝรั่งเขายังสืบได้เยอะ พจนานุกรมของฝรั่งบางฉบับนี่ เขาจะบอกเลยว่า คำนี้เกิด ค.ศ. นั้น หรือประมาณ ค.ศ. นั้น หรือช่วง ค.ศ. นั้น ถึง ค.ศ. นั้น เขาจะบอกไว้ ซึ่งก็อาจจะไม่เหมือนกันนะ ของฉบับหนึ่ง เช่น Random House ก็อาจจะว่าอย่างหนึ่ง ของ Webster ก็อาจจะว่าไม่ตรงกัน แต่บางทีก็ใกล้ ๆ กันนั่นแหละ แต่แสดงว่าฝรั่งเขาก็มีนิสัยในการบันทึกเหตุการณ์ บันทึกความเป็นมาอะไรต่าง ๆ ดี ของเรานี่ก็บกพร่องเรื่องนี้มาก เพราะฉะนั้น เราก็เลยยากที่จะสืบประวัติคำ อย่างพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน ก็ไม่มีประวัติคำ
อ้าว เดี๋ยว เมื่อกี้ตอบแล้วยังฮะ
ถาม : เออ ฑ นางมณโฑ ครับ
ตอบ : อ๋อ ฑ มณโฑ ตกลงว่า ถ้าเป็นไทยก็ว่าไปตามที่ตกลงกันนะฮะ เอาราชบัณฑิตยสถานเป็นเกณฑ์ ถ้าเป็นภาษาบาลีก็แน่นอนไปเลยว่าใช้ ด นะ ไม่ต้องไปลังเลเลย
ทีนี้ มันบางทีมันเป็นปัญหาด้วย แม้แต่ท่านที่บวชพระมานาน ๆ นี่ ท่านไปติดภาษาไทย แล้วทาง ??? (นาทีที่ 9:28) เราก็อย่าไปเพลินตามท่าน ถ้าท่านเผลอก็ต้องรู้ว่าท่านเผลอ นี่อย่างบางองค์นี่ยังไปเผลอ บ
บ ในภาษาบาลีไม่มี มีแต่ ป ทีนี้ คำบาลีที่เป็น ป คือเป็น ปะ นี่นะ เวลามาเป็นไทยนี่ก็แผลงเป็น บ เสียมากมาย เช่น บัณฑิต นี่ บาลี ก็เป็น ปณฺฑิต (ปัน-ดิด) นะ อุโบสถ ก็เป็น อุโปสถ (อุ-โป-สะ ถะ) ทีนี้ ถ้าสวดเป็น อุโบสโถ อย่างนี้ ผิดแหละนะ ให้รู้เลยว่าเผลอ บาลีมีอย่างเดียวว่า อุโปสโถ ต้องเป็น ป แน่นอน บ ไม่มี ภาษาบาลี อุโปสโถ ก็อย่างนี้เป็นต้นนะฮะ ให้เข้าใจไว้
แล้วก็ ทีนี้ อ้า นี่ก็แทรกเหมือนกัน อย่างคำว่า ทิด นี่นะ ท่านที่บวชแล้วนี่ เวลาลาสิกขา ก็เรียกตามโบราณก็บอกว่า ทิด เราก็สันนิษฐานกันว่า กร่อนมาจากคำว่า บัณฑิต แต่ว่าพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานนี่ ท่านก็เขียนเป็น ท ทหาร ถือเป็นคำไทยที่ไม่รู้ที่ไปที่มา ก็เขียนเป็นไทยแท้ไป เป็น ทิด ซึ่งไม่รู้จะแปลว่าไง ใช่ไหม ก็ได้แต่อธิบายว่าเป็นผู้ที่ลาสิกขาไป แต่ทีนี้ ถ้าตามที่เราสันนิษฐานโดยที่เอาเรื่องของการบวชว่า บวชแล้วได้รับการฝึกฝนอบรม เป็นคนดี เป็นบัณฑิตแล้ว ก็เลยว่า ลาสิกขาไปก็เรียกว่า บัณฑิต ต่อมาก็คำนี้กร่อน ก็เรียกสั้น ๆ เพราะคนไทยชอบสั้น เรียกไปเรียกมา ตัด บัณ ก็หายไป เหลือแค่ ฑิต แต่ทีนี้ว่า อาจจะเป็นได้ สมัยโบราณก็อาจจะเรียก แทนที่เรียกเป็น บัณฑิต ก็อาจจะเรียก บัน-ทิด ก็ได้นะฮะ เราก็ไม่รู้ความนิยมในยุคโบราณ ทีนี้ บัน-ทิด ต่อมาก็เหลือ ทิด ทีนี้ ถ้า ทิด แบบนี้ มันก็จะต้องเป็น ฑิต แต่ว่าทีนี้ ท่านราชบัณฑิตท่านก็เขียน ทิด อย่างนี้มันก็ยากใช่ไหม เราก็ถือตามเกณฑ์ราชการ ก็ต้องเขียนว่า ทิด แต่เราก็อาจจะสงวนไว้วงเล็บว่า น่าจะเป็นอย่างนี้ ว่าอย่างนั้นนะฮะ หรือเราอาจจะเขียนตามที่เราสันนิษฐานโดยถืออย่างนั้นเลยก็ได้ เราก็ต้องอธิบายอย่างนี้ ??? (นาทีที่ 11:50) อาจจะมีเชิงอรรถ หรือมีหมายเหตุอะไรของเราไป อย่างนี้เป็นต้นนะ เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นตัวอย่างเรื่องของว่า ในภาษาไทยอย่างนี้ก็กลายเป็นว่า ถ้า ทิด นี่ มาจาก บัณฑิต จริง ก็หมายความว่า อย่างคำว่า ทิด นี่ก็อ่าน ฑ มณโฑ เป็น ท ใช่ไหมฮะ
หรืออย่าง พระอัญญาโกณฑัญญะ นี่ ๆๆๆๆ ถ้าอ่านบาลี ก็เป็น อัน-ยา-โกน-ดัน-ยะ เป็นไทยเป็น อัน-ยา-โกน-ทัน-ยะ ทีนี้ อันนี้ก็จะทำให้พระนี่สับสน บางองค์เวลาอ่านเป็นไทย ก็ อัน ยังอ่าน อัน-ยา-โกน-ดัน-ยะ อีก ยุ่งอยู่นะฮะ ต้องยอมรับความยุ่ง
อ้าว อันนี้ผ่านได้หรือยัง ผ่านแล้วนะฮะ เป็นอันว่าไม่สงสัยแล้วนะ เป็นเรื่องของการที่ว่าจะลงตัวอย่างไร แล้วก็เอาอะไรเป็นมาตรฐาน แต่ว่าไม่ตัดสิทธิของตัวเองนะ ยังสงวนสิทธิไว้ได้ คือหมายความว่าเราต้องค้นคว้าหาความรู้ต่อไป ไม่ใช่ว่าไปเลิก ไปยอมตามนั้น เพราะว่าของท่านก็ไม่ได้กระจ่างแจ้งอะไรนี่ เมื่อท่านยังทำให้เราชัดเจนไม่ได้ เราก็ต้องพยายามค้นหาของเราต่อไป
อ้าว ทีนี้ ก็กลับไปเรื่องต้น คำถามแรกนั้นฮะ ที่ว่า ภาษาอะไรแน่มาเป็นบาลี ใช่ไหมฮะ ทีนี้ อันนี้มันก็เรื่องยาก นักปราชญ์ก็เที่ยวสันนิษฐานกันต่าง ๆ แต่ว่าตามคัมภีร์เดิม คัมภีร์เดิมนี่ไม่ใช่หมายถึงพระไตรปิฎกหรอก เพราะพระไตรปิฎกนั่นก็คือตัวสิ่งที่ท่านรักษาไว้ ทีนี้ พวกที่อธิบายก็คือรุ่นอรรถกถา อรรถกถาก็จะอธิบาย ก็จะบอกว่า ภาษาที่มาเป็นบาลีก็คือภาษามคธ หมายความว่า อยู่ที่ว่าเราจะเอาภาษาอะไรเป็นภาษาบาลี คำว่า บาลี นี่ก็อย่างที่ท่านบอกเมื่อกี้ แปลว่า ภาษาที่รักษาพุทธพจน์ นี่แหละ คำว่า บาลี ก็มาจาก ปาลี ปาลี ก็มาจาก ปาล (ปา-ละ) ปาล ก็แปลว่า คุ้มครองรักษา
ก็ใช้ในภาษาไทยเยอะแยะ ปาล มาเป็นไทยก็ บาล บ สระอา ล ลิง ก็มาเป็น รัฐบาล ก็แปลว่า รักษารัฐ เชื่อว่าอย่างนั้นนะ (นาทีที่ 13:58) อนุบาล ก็ ตามรักษา เป็น โรงเรียนอนุบาล นั่น ใช่ไหมฮะ อภิบาล นั่น ธรรมาภิบาล เยอะแยะไปหมดนะฮะ ไทยใช้เยอะ
ก็เป็นอันว่า บาล ตัวนี้แหละ แปลว่า รักษา คุ้มครอง ปกป้อง อันนี้ ปาล ใช้ให้เป็นภาษา แปลว่า ภาษาที่รักษา หรือเครื่องรักษา ก็เขามีระบบไวยากรณ์ของภาษาบาลี ภาษาที่เป็นบาลีนี่ ก็เขาเรียก มี Suffix มีปัจจัย ก็ใส่ปัจจัยตัวนี้เข้าไป เป็น อี นะ ก็เป็น ปาลี แปลว่า ภาษาที่รักษา เพราะไอ้ตัว ปาล มันแปลว่า รักษา เฉย ๆ นะ ปาลี ก็แปลว่า ภาษาที่รักษา ที่รักษาอะไร ก็คือรักษาพุทธพจน์ที่ไม่ได้ทางเข้าใจ ??? (นาทีที่ 14:48) เพราะฉะนั้นก็ อ้าว ก็แล้วแต่เอาภาษาอะไรมารักษาเล่า ทีนี้ ก็เป็นเอาว่า ??? (นาทีที่ 14:53) ภาษาที่ใช้นี่ ที่ปัจจุบันที่มาอยู่ในพระไตรปิฎก ที่เขียนจารึกพระไตรปิฎกนี่ เราเรียก ภาษาบาลี ก็คือภาษาที่รักษาพุทธพจน์ แล้วตัวภาษาเดิมที่มาเป็นบาลีนี้คืออะไร อรรถกถาท่านก็อธิบายว่า มันคือภาษามคธ
ทีนี้ว่า นักปราชญ์ก็มาเถียงกันว่า เอ พระพุทธเจ้าตรัสภาษาอะไรแน่ เช่นว่า พระพุทธเจ้านี่ประสูติเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นศากยะ แคว้นศากยะนี่ก็ไม่ใช่แคว้นมคธ แล้วแคว้นศากยะนี่อยู่นู้น มาขึ้นต่อแคว้นโกศล เพราะว่าต่อมาแคว้นโกศลนี่ใหญ่ เป็นมหาอำนาจ ในยุคพุทธกาลนี่ แคว้นศากยะนี่หมดอำนาจไป เหลืออำนาจน้อยมากแล้วนะฮะ ต้องมาขึ้นต่อแคว้นโกศล แคว้นใหญ่ตอนนั้นก็มี มคธ โกศล วัชชี ที่ยิ่งใหญ่มาก ที่เราเกี่ยวข้องมากที่สุดก็ ๓ แคว้น นอกจากนี้ก็มีแคว้นวังสะ ก็นอกออกไปแล้ว ซึ่งไม่ค่อยเกี่ยวข้อง แคว้นอวันตี ก็นอกออกไปอีก แต่แคว้นที่ใหญ่ที่อยู่ในศูนย์กลางจริง ๆ ก็มีนี่ มคธ โกศล วัชชี ๓ แคว้นนี้ ที่เป็นมหาอำนาจ
ทีนี้ พระพุทธเจ้าประสูติอยู่ในแคว้นศากยะซึ่งขึ้นต่อโกศล ก็ต้องมีภาษาต่างกับมคธ อ้า แสดงว่าพรพุทธเจ้าคงไม่ได้ตรัสอย่างนี้ อ้าว แต่พระพุทธเจ้าก็ไปเผยแพร่พระศาสนา ก็ไปได้ทุกแคว้น แสดงว่าพระองค์ก็ตรัสได้หมดสิ อ้าว ใช่ไหม แล้วข้อสำคัญ พระพุทธเจ้ามาประดิษฐานพระศาสนาในแคว้นมคธ เออ แล้วเมื่อมาประดิษฐานพระศาสนาในแคว้นมคธ พระองค์จะตรัสภาษาเดิมของพระองค์ หรือมาตรัสภาษามคธ อ้าว ท่านลองคิดสิ ท่านว่าอย่างไร
ถาม : เป็นไปได้ไหมครับว่า สมัยนั้นแคว้นต่าง ๆ ใช้ภาษาเดียวกัน เหมือนประเทศในทางแถบยุโรปที่จะใช้ ไม่สิ
ตอบ : มันก็ คล้าย ๆ ว่า มันมีแกนร่วมอยู่ แต่ว่ามันมีความเป็นภาษาถิ่นของตัวเอง อันนี้ ยิ่งสมัยก่อน ด้วยการติดต่อมันยาก เพราะฉะนั้น การที่ภาษาจะมีลักษณะเฉพาะของตัวเองนี่เกิดขึ้นได้ง่าย ก็จะมีศูนย์กลางอยู่ทางการปกครองหรือการเมือง การเมืองก็จะเป็นขอบเขตที่ทำให้มีการสังสรรค์ในหมู่ชนเหล่านั้น แล้วภาษาก็จะไปกันได้ในหมู่นั้น ทีนี้ พอออกนอกเขตการเมืองก็จะติดต่อสังสรรค์กันน้อย ภาษาก็จะแยกกันไปเลย เพราะฉะนั้น เมื่อโกศลกับมคธนี่เป็นคนละแคว้น คนละรัฐใหญ่นี่ โอกาสของการสังสรรค์มันก็น้อย เพราะฉะนั้น ภาษาก็แตกต่างกัน
ทีนี้ว่า พระพุทธเจ้าเมื่อประดิษฐานพระศาสนาในแคว้นมคธ แล้วพระองค์จะตรัสภาษาแบบไหน
ถาม : คิดว่าถ้าในวรรณะกษัตริย์นี่ ก็น่าจะได้เรียนภาษาหลาย ๆ ภาษานะครับ คิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นครับ... ??? (นาทีที่ 17:51)
ตอบ : นั่นก็แง่หนึ่ง ก็คือหมายความว่า ความสามารถของพระพุทธเจ้าเองก็น่าจะตรัสได้หมด ในอีกแง่หนึ่งก็คือ พระพุทธเจ้าไปอยู่ในแคว้นมคธ จะตรัสภาษาของพระองค์เองให้เขา หรือเอาภาษาของเขา ตรัสตามภาษาของเขา ก็คนเขาอยู่อย่างนั้นแล้ว จะให้เขามาฟังภาษาพระองค์อย่างไร ใช่ไหม พระองค์ก็ต้องตรัสภาษาเขาสิ จริงไม่จริง
ถาม : ครับ
ตอบ : เออ ก็ต้องไปคำนึงถึงคนเหล่านั้นบ้างว่าเขา คนเหล่านั้นเขาจะมาฟังพระองค์อย่างไรไหวเล่า
ถาม : สื่อสารกันไม่ได้
ตอบ : ใช่ ก็คนเหล่านั้นเขาอยู่ของเขาอย่างนั้น จะมีกี่คนที่จะมาฟังภาษาพระองค์ได้ ใช่ไหม มันก็ต้องเป็นเรื่องที่ว่า พระองค์สิ ไปอยู่ในคนส่วนใหญ่อะไรพระองค์ก็ต้องตรัสได้ อันนี้ก็แสดงว่าพระพุทธเจ้าต้องมีความสามารถที่จะสื่อสาร ไม่อย่างนั้นก็ไปไม่ได้หรอก ไม่อย่างนั้น ไปถึงไหนก็ติดขัดเรื่องภาษาหมดสิ แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงมีความสามารถที่จะตรัสได้อยู่แล้วเรื่องภาษามคธ
อ้าว ทีนี้ เราก็มาดูเรื่องนี้นะฮะ เป็นอันว่า มคธ พระพุทธเจ้าทรงประดิษฐาน เอามคธ ราชคฤห์นี่เป็นศูนย์กลางเลยนะฮะ ตั้งหลักที่นั่น การสังคายนาอะไรต่ออะไรทำที่นั่น พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ก็สังคายนาที่มคธอีกแหละ ราชคฤห์อีกแหละ ใช่ไหมฮะ แต่ว่าในปลายพุทธกาล เมื่อพระเจ้าพิมพิสารสวรรคตแล้ว พระพุทธเจ้าไปประทับที่เชตวันมาก ตามประวัตินี่ไปประทับที่เชตวันถึง รวมกันกับทางโน้นนะ ๒๕ ปีแน่ะ ทางด้านสาวัตถี เมืองหลวงของโกศลนี่ ไปประทับมาก ก็เลยกลายเป็นว่า พระสูตรที่ตรัสนี้อยู่ในสาวัตถีมาก
อ้าว ถ้าอย่างนั้นก็ตรัสภาษาโกศลเยอะสิ ถ้าอย่างนั้น เออ อันนี้ ๆ เอาละ ทีนี้ก็ ก็มีข้อพิจารณาได้เยอะนะ ทีนี้ อ้าว อีกคนหนึ่งก็อาจจะมาเสนอเหตุผลเพิ่มขึ้น บอกว่า ในเมื่อมคธนี่เป็นศูนย์กลางไปแล้ว พระพุทธเจ้าวางหลักไว้เรียบร้อยหมดแล้ว เพราะฉะนั้น แม้พระพุทธเจ้าจะไปตรัสที่ไหน ต่อไปพระสูตรต้องมาที่มคธหมด ศูนย์กลางนี่ ใช่ไหมฮะ ฉะนั้น เมื่อมาแล้วมันก็กลายเป็นภาษามคธเอง จริงไม่จริง เพราะว่าพระที่ทำงานต่าง ๆ ก็มาอยู่ที่นี่ ที่ราชคฤห์นี่ แล้วพระพุทธเจ้าจะตรัสอะไรก็ต้องมีพระที่ส่งข่าวแจ้งมาทางนี้ ใช่ไหมฮะ แล้วก็ภาษานี่ก็มาว่ากันเองแล้ว มันก็กลับมาเป็นภาษามคธได้ แล้วเวลาทำสังคายนาก็อยู่ในแคว้นมคธ ที่เมืองราชคฤห์เอง แล้วภาษาสังคายนาจะใช้อะไรเล่า ก็มีทาง ใช่ไหม ที่จะเป็นภาษามคธ
แต่ว่าว่าถึงหลักการพุทธพจน์ทั่วไปนี่ / พวกทั่ว ๆ ไปนี่ ??? (นาทีที่ 21:41) ก็เลยแทรกนิดหนึ่งว่า พุทธศาสนานี้มีข้อที่เปลี่ยนแปลงจากความนิยมเดิม หรือข้อจำกัดเดิมก็ได้ ของยุคสมัยนั้น ก็คือ ศาสนาพราหมณ์เขาสงวน จำกัด ผูกขาดความรู้ไว้ในวรรณะชั้นสูง แต่ทีนี้ เขาก็ต้องใช้ ภาษาพระเวท ซึ่งต่อมาเรียกว่า ภาษาสันสกฤต เป็นภาษาของคนชั้นสูง ภาษาของวรรณคดี ภาษาของพวกพราหมณ์ แล้วก็มากษัตริย์ด้วย ทีนี้ พวกคนชั้นล่างนี่แทบไม่มีโอกาสเลย ไม่รู้ เพราะว่าคนวรรณะต่ำนี่เรียนไม่ได้เลยนะ พระเวทอะไรนี่ คงได้ยินแล้วที่บอกว่า วรรณะศูทรนี่ก็ไม่มีโอกาส ถ้าวรรณะศูทรฟังพระเวท ให้เอาตะกั่วหลอมหยอดหูมัน ว่าอย่างนั้นนะ นี่คัมภีร์ กฎหมายของพราหมณ์บัญญัติไว้ ถ้าคนวรรณะศูทรสาธยายพระเวท ให้ตัดลิ้นมันเสีย ถ้ามาเรียนพระเวท ให้ผ่ากายมันเป็นสองซีก ว่าอย่างนั้นนะฮะ พราหมณ์ก็วางข้อกำหนดหมดที่จะไม่ให้คนวรรณะต่ำมีโอกาสเข้าถึงภาษาและคัมภีร์นะ โดยเฉพาะคัมภีร์พระเวทนี่เขาจะไม่ให้มีโอกาสเข้าถึงเลย เมื่อเข้าถึงคัมภีร์เหล่านี้ไม่ได้ ก็สมัยนั้นเรื่องคัมภีร์ศาสนาก็คือตัวกำหนดการศึกษา การเรียนรู้ แบบแผนประเพณีวัฒนธรรม กฎเกณฑ์กติกาสังคมอะไรก็อยู่ที่นี่ทั้งนั้น คัมภีร์เหล่านี้ การศึกษามันก็ไม่มีถ้าไม่รู้คัมภีร์เหล่านี้ เพราะฉะนั้น คนเหล่านี้ก็ไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา คนวรรณะต่ำก็หมดเลย ตัดสิทธิหมด เล่าแทรกอยู่ในชาดกนี่มี ถ้าว่าขนาดวรรณะศูทรก็ยังเรียนไม่ได้ วรรณะจัณฑาล ไม่ใช่ จัณฑาลนี่ไม่ใช่วรรณะแล้ว นอกวรรณะ คือต่ำกว่าวรรณะ ยิ่งไม่มีโอกาสเลย
ฉะนั้น ก็มีเรื่องในชาดกว่า พระโพธิสัตว์เกิดเป็นคนจัณฑาล ว่าอย่างนั้นนะ แต่ก็อยากเรียนหนังสือ ทำอย่างไร เขาไปเรียนกันที่ทิศาปาโมกข์ เมือตักศิลา พระโพธิสัตว์ก็อยากเรียนบ้าง ก็เลยปลอมตัวเป็นคนวรรณะพราหมณ์ ก็เข้าไปสมัคร ก็คงจะเก่งในการที่ว่ารักษาลักษณะปลอมตัวให้เป็นพราหมณ์ได้ ก็ไปเรียนกับเขาได้อยู่นาน แต่ทีนี้ว่า วิถีชีวิตนี่มันต่างกันมากระหว่างวรรณะต่าง ๆ ของพราหมณ์ ของ ๔ วรรณะของศาสนาพราหมณ์นี้ เขากำหนดไว้หมด เขาเรียกว่า วรรณธรรม ธรรมะของวรรณะ เพราะฉะนั้น ในที่สุดปกปิดไม่อยู่ ไปพลั้งอะไรเข้าก็ไม่รู้ เขาจับได้ พอเขาจับได้ว่าไม่ใช่วรรณะสูง เป็นพวกนอกวรรณะ เป็นจัณฑาล ที่เป็นเพื่อนกันนั่นแหละเปลี่ยนท่าทีหมดเลย บ้อมเลยนะ ทุบตีอะไรต่ออะไรต่าง ๆ ถูกขับไล่ออกมา นี่แหละเป็นตัวอย่าง เขาเรียกว่า ผูกขาดการศึกษาจำกัด ไม่มีทางเลย ก็เป็นอันว่า ภาษาพระเวทก็คือภาษาที่ต่อมาเป็นสันสกฤต ภาษาอื่นนี่ไม่มีทางที่จะไปพูดหรือว่าเขียนเรื่องพระเวทได้
ทีนี้ พระพุทธเจ้าประกาศพระศาสนา ตั้งคณะสงฆ์ พระองค์ก็ตรัสตามภาษาชาวบ้านแหละ ไม่ถือภาษาพระเวท เพราะว่าเปิดหมดนี่ บอกว่า บุคคลจะเป็นวรรณะพราหมณ์ก็ตาม กษัตริย์ก็ตาม แพศย์ก็ตาม ศูทรก็ตาม มาบวชในธรรมวินัยนี้ เป็นสมณศากยบุตรเสมอกันหมด ว่าอย่างนั้นนะ นี่คำตรัสของพระพุทธเจ้า แล้วก็อยู่ที่ว่าได้ปฏิบัติ เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วก็เป็นผู้บริสุทธิ์นะ เป็นผู้ประเสริฐด้วยกัน ก็ทำความประพฤติของตนเอง ไม่มีชาติกำเนิด ไม่ถือ อันนี้มันก็ขัดแย้งกับเรื่องนี้มากนะ ทีนี้ ก็เมื่อพระพุทธเจ้าไปสอนแบบนี้ แล้วก็เปิดเรื่องวรรณะหมด มันก็ภาษาและการสอนเรื่องศาสนา เรื่องพระคัมภีร์ มันก็เปิดหมดเลย การศึกษามวลชนก็เกิดขึ้น พุทธศาสนานี่แหละเป็นที่มาการศึกษามวลชน คนได้ศึกษาหมด ไม่มีขอบเขตจำกัดในเรื่องวรรณะ
ทีนี้ก็ ต่อมาก็มีพระภิกษุสองรูปบวชจากวรรณะพราหมณ์ ก็เข้ามา ท่านก็หวังดี มาเสนอต่อพระพุทธเจ้าบอกว่า พุทธพจน์นี่ที่พระพุทธองค์สั่งสอนอยู่นี่ มันเป็นภาษาต่าง ๆ ก็ที่เราเรียกว่า Dialect ภาษาถิ่น ภาษาชาวบ้านอะไรต่ออะไรก็พูดกันไป ท่านบอกว่านี่ มันจะรักษายาก เพราะฉะนั้น ท่านขอเสนอให้ยกพุทธพจน์ขึ้นสู่ภาษาสันสกฤต ว่าอย่างนั้นนะ เอาอย่างนี้เลยนะ ก็ท่านบวชจากวรรณะพราหมณ์ เป็นคนชั้นสูงนี่นะ ท่านก็หวังดีอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสห้ามเลย บอกว่า ไม่ได้ ถ้าใครทำอย่างนั้นต้องอาบัติทุกกฎ ท่านว่าอย่างนั้นนะ ก็หมายความว่าจะกลายเป็นการมาผูกขาดการศึกษาอีกนะ พระพุทธองค์ต้องการให้เปิดการศึกษาให้ทั่วถึง นี่ก็เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม นี่ก็เรื่องวรรณะนี่เรื่องใหญ่นะ
รวมความก็คือ พระนี่ หรือรวมทั้งพระพุทธเจ้าเอง เมื่อไปตรัสสอนที่ไหนก็ใช้ภาษาถิ่นของชาวบ้านนั่นแหละ แต่ทีนี้ว่า เวลาพระเถระ เอาสองชั้นก่อน ชั้นที่หนึ่งก็คือว่า ในขณะที่พระพุทธเจ้ายังทรงสอนพระศาสนาอยู่นี่ ถึงอย่างไรมันก็มีภาษามาตรฐานของแคว้นมหาอำนาจ ก็คือ มคธ แม้ว่าสามแคว้นนี้นะจะเป็นมหาอำนาจด้วยกันนี้ มคธเขามีอำนาจมากกว่านะ แล้วก็แปลกที่ว่าพระพุทธเจ้ามาก็เลือกได้ตรงเลย เพราะมคธนี่จะยืนยงต่อมาในประวัติศาสตร์อีกยืดยาวเลย ส่วนแคว้นอื่น วัชชีก็ไป โกศลก็ไปหมด มคธนี่ยืนยง จนกระทั่งพระเจ้าอโศกก็คือกษัตริย์แห่งแคว้นมคธ อโศกมหาราชนี่เป็นกษัตริย์แห่งแคว้นมคธนะฮะ
ทีนี้ ก็เป็นดินแดนที่เป็นศูนย์กลางที่พระพุทธเจ้ามาประดิษฐานพระศาสนา แล้วก็รักษา เหมือนกับเป็นแกนกลางมาจนกระทั่งสังคายนาก็อยู่ที่นั่น ทีนี้ เมื่อพระไปเทศน์ ไปสอนด้วยภาษาถิ่นต่าง ๆ นี่ ศูนย์กลางนี่มันก็ย่อมมีกำลังกว่า เมื่อมาถึงศูนย์กลางแล้ว ภาษานี้ก็จะเป็นมาตรฐานอยู่ ก็เท่ากับว่า ถึงไปสอนที่ไหนก็มาพูดภาษากลางกันอยู่อีกทีหนึ่ง ใช่ไหม มันมีภาษากลางรักษาไว้หมด พอสังคายนาก็เอาภาษากลางนี้เป็นหลักเลย นี่ ๆ ในแง่หนึ่งนะฮะ ก็คือว่า ในระหว่างพระพุทธเจ้าประทับอยู่เองนั่น เมื่อคำสอนแพร่หลายไปทั่วนี้ ก็มันก็จะมีอันที่เป็นเหมือนแกนอยู่ ก็คือเป็นภาษามคธ ถ้าตามที่เราจะมองแบบนี้นะ
และสองก็คือ ตอนสังคายนา เมื่อสังคายนาก็ พระที่ทำสังคายนาก็ทำในแดนของเขา มคธ สอง ท่านก็ต้องเห็นแล้ว สภาพการณ์เป็นอย่างไร ใช่ไหม ดินแดนแคว้นต่าง ๆ ตอนนี้ใครเป็นอย่างไร คือท่านรู้ดีกว่าเราแหละ สภาพที่เป็นจริงตอนนั้นนะ มันควรจะอยู่ด้วยภาษาอะไร หรือภาษาไหนมีอิทธิพลกว่าเขา ก็รู้กันหมดแล้วตอนนั้น ถ้าว่าตามนี้แล้วก็แน่นอน ภาษามคธต้องมีอิทธิพลมากที่สุดตอนนั้น ก็โดยอิทธิพลภาษามคธของแคว้นนั้นเองนี่ก็น่าจะทำให้การสังคายนาต้องเป็นภาษามคธอยู่ดี ฉะนั้น ภาษามคธก็เลยมาเป็นภาษาที่เรียกว่าบาลี คือรักษาพุทธพจน์
แต่ มีแง่คิดมาอีกหน่อย แต่ว่าภาษาที่รักษาพุทธพจน์นี่ ต้องคิดอีกทีหนึ่งว่า พระเถระเหล่านี้ท่านต้องการความมั่นคงยั่งยืน ความเป็นแบบแผน ซึ่งรวมทั้งการที่ว่าจะทำอย่างไรให้การจัดหมวดหมู่เป็นไปด้วยดี การท่องการจำเป็นไปได้ง่ายอะไรนี่ เป็นแบบแผนสม่ำเสมอ อะไรอย่างนี้นะฮะ เพราะฉะนั้น ภาษานี่มันเป็นตัวกำหนดที่จะช่วยสิ่งเหล่านี้ ก็ต้องมาจัดระเบียบภาษาอีกทีหนึ่งว่า ภาษาแม้แต่ที่ว่าเป็นมคธนี่ ที่เป็นภาษาของชาติมหาอำนาจ เป็นภาษาที่มีอิทธิพลที่ใช้กันมากที่สุด เป็นหลักในยุคนั้นแล้วนี่ ที่พูดกันทั่วไปกับที่เอามาใช้ในการสังคายนานี่ก็น่าจะมีการขัดเกลาอีกชั้นหนึ่ง วางเป็นแบบแผนให้มันแน่นขึ้นไปอีกทีหนึ่ง ก็อีกระดับหนึ่ง ก็ต้องว่ากันเป็นชั้น ๆ ไป
ฉะนั้น เราจะเห็นว่าภาษาในพระไตรปิฎกนี่จะเป็นภาษาแบบแผนเลย แล้วก็มีการที่จัดให้สะดวกแก่การทรงจำ คือซ้ำ แล้วข้อความแบบเดียวกันนี้จะเหมือนกันหมด ซ้ำเท่ากัน เช่น มีคำอะไรต่ออะไรที่ว่าไปทีหนึ่งแล้ว พอว่าอีกทีก็ครบหมดนะ แล้วก็เพิ่มอีกข้อหนึ่ง เช่นว่า มี ๑๐ ข้อ Paragraph ที่หนึ่ง หัวข้อที่หนึ่งนี่ ว่าแค่ข้อหนึ่ง ใช่ไหมฮะ ข้อความก็มากแล้วแหละ พอมาข้อที่สอง ยกมาทั้งหมด เติมข้อเดียวนะ แต่ว่าถ้อยคำอะไรต่ออะไรทั้งหมดที่เอามาจากข้อหนึ่งเต็มตามนั้น เติมข้อสองเข้าไป ไปข้อสาม ก็เต็มหมดแล้วก็ทั้งบวกข้อสองเข้าไปอีก เติมสามอีกนะฮะ เลยถึงข้อสิบนี่ โอ้โฮ กินที่เยอะแยะหมดเลย ใช่ไหม นี่เป็นวิธีของท่านในการที่ว่าจะให้แน่ใจว่ามันคงอยู่
แล้วก็ให้ใช้วิธีรักษาแบบสวดพร้อมกัน ทีนี้ สวดพร้อมกันทำอย่างไร ไม่มีทางเลย พอสวดพร้อมกันแล้วมันผิดไม่ได้ ใช่ไหมฮะ อ้าว ร้อยองค์มาสวดพร้อมกันนี่ อ้าว องค์หนึ่งสวดผิดปั๊บ เข้าพวกไม่ได้แล้ว ถูกไหมฮะ จะเติมเข้าไปไม่ได้นะฮะ นี่แหละวิธีรักษา เคยคิดมาแล้วถึงได้แม่นยำกว่าวิธีเขียน เพราะสมัยก่อนมันไม่มีเครื่องพิมพ์ ที่จะเป็นแม่แบบ เมื่อไม่มีแม่แบบก็ต้องคัดลอกทีละฉบับ เชื่อไหม คัดหน้าหนึ่งนี่ต้องมีตัวผิดตัวหนึ่งหรืออาจจะมากกว่านั้น ตัวตกตัวหล่นนะ เพราะฉะนั้น วิธีเขียนนี่ใช้ไม่ได้เลย สมัยพุทธกาลนี่เขาใช้วิธีเขียนนี่เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ประกอบ เช่น ประกาศจับโจรแบบนั้นนะ ว่าโจรคนนี้มีหมายจับนะ มีตั้งแต่ในพระไตรปิฎกนะ มีหมายจับ โจรที่มีหมายจับ เขาก็แจ้งไปตามที่ต่าง ๆ หรือว่าในการเรียน ก็จะมาเรียนเพื่อจะช่วยในการศึกษาก็ใช้เขียนได้ แต่เวลาเอาเป็นเรื่องราวเป็นมาตรฐาน ไม่เอา เพราะการเขียนไม่ปลอดภัย คัดลอกทีหนึ่งตกหล่นไป หายไป อะไรอย่างนี้นะฮะ ไม่มีทางหรอก รักษาไม่ได้จริง ฉะนั้น ก็ต้องสวดพร้อมกัน ก็จะใช้วิธีจำแล้วก็สวดพร้อมกันนี่แหละ แน่ที่สุดนะ ก็เลยใช้วิธีจำกันมา ก็ดูไปแล้วก็กลายเป็นว่าวิธีนี้ วิธีปากเปล่าเป็นวิธีที่แม่นยำที่สุด ตอนแรกก็เราก็สงสัย พลอยสงสัยไปด้วยว่า เอ ไปท่องจำแล้วจะไปแม่นอะไร ใช่ไหมฮะ มันกลายเป็นว่าวิธีนี้แหละที่จะรักษาได้ แล้วก็เห็นแบบมาก่อนแล้ว พวกศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพราหมณ์นี่เขาเก่ากว่าพุทธอีกตั้งเยอะนะ เป็นพันปีเลยนะฮะ แล้วเขาก็ใช้วิธีท่องกันมานี่แหละ จนกระทั่งปัจจุบัน ศาสนาพราหมณ์ คัมภีร์พระเวทก็ยังอยู่ อะไรอย่างนี้นะ
อ้าว นี่ผมก็เลยพูดเรื่อยเปื่อยเลยไป ก็เป็นอันว่า อันนี้เป็นเรื่องของภาษาว่า ตามที่ว่ามานี่ก็มีเหตุผลในทางที่มีความเป็นไปได้สูงที่ภาษามคธจะเป็นภาษาบาลี ใช่ไหม แล้วภาษาอื่นเราก็ไม่เห็นว่าใครจะมีเหตุผลเท่า
แคว้นวัชชีก็พอพระพุทธเจ้าปรินิพพานไม่เท่าไรก็ถูกพระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพมาโค่นไป ตีแตกนะฮะ โดยที่พระเจ้าอชาตศัตรูนี่ส่งวัสสการพราหมณ์ไปปลุกปั่นให้แตกสามัคคี ไปยุแยกตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว แล้วมาสำเร็จหลังพุทธปรินิพพาน แคว้นวัชชีก็หมด
แล้วโกศล โกศลก็ตอนที่ปลายพุทธปรินิพพานนั่นแหละนะฮะ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ถูกลูกชาย วิฑูฑภะ ยึดอำนาจ พระเจ้าโกศล ๘๐ แล้ว พระชนมายุ ๘๐ วิฑูฑภะนี่ยึดอำนาจ แล้วพระเจ้าปเสนทิโกศลนี่ต้องขับม้าไปเป็นระยะทางตั้งมากมายนี่หนีไป แล้วไปขอความช่วยเหลือจากมคธไง พระเจ้าอชาตศัตรูนี่เป็นหลานของพระเจ้าปเสนทิโกศล ก็คือพระเจ้าแผ่นดินสองแคว้นนี้แต่งงาน พี่น้องกัน พระเจ้าพิมพิสาร กับ พระเจ้าปเสนทิโกศล นะ ยุคนั้น เชื่อมสัมพันธไมตรี อันนี้ก็ พระเจ้าปเสนทิโกศลถูกยึดอำนาจก็ควบม้าไป มีคนใกล้ชิดสนิทติดไปดูจะคนเดียว แล้วท่านแก่ อายุตั้ง ๘๐ เหนื่อยมา ควบม้าไปนี่ไกลแสนไกล ความที่ต้องรีบหนีด้วย ใช่ไหม ก็เหน็ดเหนื่อยมาก แล้วไปถึงโน้นไม่ทัน ประตูเมืองปิด โบราณนี่เขามีกฎไว้นะฮะว่า ถึงเวลาประตูเมืองปิดแล้วนี่ แม้แต่มหากษัตริย์ก็ไม่ให้เข้า ปิดต้องปิดจริง ๆ เพราะฉะนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจะไปขอความช่วยเหลือจากหลาน คือพระเจ้าอชาตศัตรู ไม่ทันประตูเมืองปิด ก็เลยต้องไปหาศาลาอะไรริมทางอะไรสักแห่งหนึ่งเข้าไปบรรทม แล้วก็หลับไปเลย สวรรคตไปเลย รุ่งเช้าข่าวก็เข้าเมืองว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลมาสวรรคตอยู่นอกประตูเมือง พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากว่ามาอัญเชิญพระศพไปแล้วก็ทำพิธีถวายพระเพลิงให้สมพระเกียรติเท่านั้นเอง ส่วนเรื่องทางโน้นก็เป็นเรื่องรัฐเขา จะไปแทรกแซงไม่ได้แล้วนะฮะ ก็เลยจบทางนี้ ต่อมาวิฑูฑภะก็ตายอีก เพราะไปกำจัดแคว้นศากยะ ยกทัพกลับมาแล้วมาตั้งทัพที่ริมแม่น้ำคงคาหรืออย่างไรนี่ แล้วก็ไอ้สมัยก่อน หรือแม้แต่สมัยนี้นะฮะ ตามธรรมชาตินี่ เรื่องน้ำเรื่องอะไร การขึ้นลงนั้นมันไม่แน่นอน เพราะฉะนั้น ก็เกิดน้ำท่วมกองทัพนี้ตายเกือบหมด พระเจ้าวิฑูฑภะก็สวรรคตด้วย ก็เลยว่าอนาคตของแคว้นโกศลก็มืดมัว ก็ถือว่าหมดอำนาจแล้วนะฮะ ต่อมาก็เหลือแต่แคว้นมคธ แล้วแคว้นไกล ๆ พวกวังสะ อวันตี ต่อมาก็หมดอำนาจ มาถึงยุคพระเจ้าอโศกก็ครองมคธ แคว้นมคธก็เป็นแคว้นใหญ่ที่สุด ก็เท่ากับครองทั้งชมพูทวีป ชมพูทวีปก็คือมคธนะ อันเดียวกันไปแล้วตอนนั้น แต่รวมความก็คือแคว้นมคธนั้นเป็นแคว้นที่ยิ่งใหญ่สืบมา
เอาว่า ตกลงคำถามข้อที่หนึ่งก็ตอบแล้วนะฮะว่า น่าจะเป็นภาษามคธ เป็นภาษาบาลี เหมือนอย่างที่อรรถกถาท่านว่า แต่ว่าเป็นภาษามคธที่ขัดเกลา โดยที่ท่านจัดระเบียบของภาษาตามแนวทางที่จะช่วยให้การรักษาพุทธพจน์นั้นได้ผลดีที่สุด
ทีนี้ คำถามที่สองว่าอย่างไร
ถาม : คำถามที่สองตอบไปแล้วครับ เรื่อง ภ สำเภา กับ พ พาน นั้น
ตอบ : อ๋อ ๆ ฮะ ๆ คืออันนี้มันก็ยาก อย่างในหลวงรัชกาลที่ ๔ ก็ทรงมาออกเสียง โดยทรงดูว่า อย่างฝรั่งนี่ ฝรั่งเขาเอา พ พาน ไปเป็น b ก็ออกเสียงเป็น บ นั้นเอง ใช่ไหมฮะ ทีนี้ ก็ไปฟังทางพวกลังกา พวกอินเดียว่าจะออกเสียงอย่างไร ภาษาฮินดีจะออกอย่างไร ภาษามคธก็เป็นอันว่าในอินเดียเองก็ไม่ได้พูดแล้ว แต่มันเป็นภาษาแบบภาษา เขาเรียก ปรากฤต เขาถือว่าบาลีนี่ก็เป็นปรากฤตอย่างหนึ่ง คือไม่ใช่สันสกฤต เป็นภาษาแบบคล้าย ๆ ภาษาทั่ว ๆ ไปแบบระดับชาวบ้านนั้น ทีนี้ ภาษาที่มาถึงปัจจุบันนี่ของอินเดียก็ภาษาแบบชาวบ้านทั่วไปก็ภาษาฮินดี ภาษาฮินดีนี่เราจะเห็นว่ายังมีเหมือนกับภาษาบาลีนี่เยอะแยะ ทีนี้ ท่านก็คงไปฟังว่าพวกชาวอินเดียที่เราเรียกว่าท่านเป็นแขกนี่นะออกเสียงตัวอักษรไหนอย่างไร แล้วก็ดูฝรั่ง ฝรั่งเขาก็เอาไป ก็อย่างที่ว่า พ พาน เขาก็เอาเป็น b อะไรอย่างนี้ ท่านก็ให้ออกเสียง พ พาน เป็น บ เพราะฉะนั้น คณะธรรมยุตก็จะออกเสียงเป็น บ มันก็ถือเหตุผลคนละอย่าง
ทีนี้ ทางคณะอื่นก็ถือว่า อันนี้มันเรื่องภาษานี่ ภาษาไทยเราก็มี ภ สำเภา กับ พ พาน ก็พอเรารู้กันอย่างไร ตกลงบัญญัติหมายรู้กันนี่ พ พาน ก็ออกเสียงอย่างไรเล่าคนไทย ใช่ไหม แล้วก็หมายรู้ว่า ออกเสียงอย่างนี้ก็คือตัว พ ที่ พ พาน ที่เขียนอย่างนี้ ก็ต้องเอาให้มันไปตามตรงกัน ให้รู้กัน หมายรู้กับเสียงมันไปกัน ภาษาตามคนไทย เพราะว่าไอ้ของเดิมเราก็ไม่ได้รู้ชัด เอาที่ความหมายรู้กันว่ามันอะไรแน่ มันอยู่ที่นี่แหละ ภาษามันต้องอยู่ที่การที่เป็นเครื่องสื่อสาร หมายรู้ว่าอะไรกันแน่ ก็เลยว่าออกเสียงไปตามที่คนไทยว่า นี่เราอยู่เมืองไทยนะ แต่ทีนี้อย่างที่ว่า คนไทยเราก็ ตอนนี้เราก็แยกไม่ออกแล้ว ไอ้ตัวอักษรต่าง ๆ ที่ว่า แม้แต่ ร ร เรือ ล ลิง อะไรอย่างนี้ชักจะยุ่งหมดแล้ว ต่อไปมันจะไม่เหลือนะ เป็นไปได้ไหมต่อไปนี่ ร เรือ จะหมดนะ นะฮะ ขนาดในคณะรัฐมนตรีนี้ มีออกเสียง ร ได้กี่ท่าน อ้าว ท่านว่ามีกี่ท่าน แทบไม่มีเลยนะฮะ ร เรือ นี่ ในคณะรัฐมนตรีนี่แทบไม่มีแล้วนะ เออ ขนาดรัฐมนตรีนะ เป็นระดับสูงสุดแล้วนะฮะ คล้าย ๆ ระดับตัวแทนแผ่นดิน ก็เป็นผู้บริหารประเทศนี่ ใช่ไหมฮะ แล้วจะไปเหลืออย่างไร ... ??? (นาทีที่ 39:56) นอกจากว่ามีกระแสไหลกลับ ยังไม่รู้จะเป็นอย่างไร ทีนี้ การศึกษาอะไรต่ออะไรตอนนี้มันก็ ครูอาจารย์เองก็ไปด้วย ใช่ไหม ครูเองก็ออกไม่ตรง ออกไม่ถูก ร เรือ ออกไม่ได้ก็เป็น ล ลิง อย่างเดียวนะ
แต่มันก็แปลกนะ ภาษาสมัยพระเจ้าอโศกนี่ ก็ไม่มีตัว ร เรือ ก็เลยใช้ ล ลิง พระอรหันต์ อ ร เรือ นี่ ก็เป็น อ ล ลิง ไป ทีนี้ อย่างที่ท่านพูดเมื่อกี้นี้ เพราะว่าภาษาบาลีนี่เป็นภาษาพูด แต่ว่าตามคัมภีร์นั้นนะ ที่จริงก็ภาษาสมัยนั้นเขาก็มีการเขียนแล้ว อย่างที่บอก เช่น หมายจับโจรอย่างนี้ ใช่ไหมฮะ แต่เอาเป็นว่า ถือกันว่าเป็นภาษาพูด คือสืบมาทางเรา แล้วก็เอาในการรักษาคัมภีร์ก็รักษาด้วยการท่องจำ ทีนี้ เมื่อไปใช้ในภาษาใดก็ใช้อักษรของภาษานั้นได้เลย ทีนี้ ก็กลายเป็นข้อดีเหมือนกัน ได้เปรียบ หมายความว่า อ้าว ไปตกลงกัน อ้าว จะไปใช้ในภาษาไหนก็ได้ ไปประเทศไทยเราก็มาตกลงใช้อักษรอย่างนี้ ๆ ปั๊บ เราก็แน่นอนไปเลย กลับแน่นอนยิ่งกว่าภาษาไทยเองอีก ใช่ไหม นะ อักษรเวลาเขียนบาลีแล้วนี่แน่นอนกว่าไทยอีก แล้วไปพม่าก็แน่นอนไปเลย ไปอักษรโรมันของฝรั่งก็แน่นอนกว่าภาษาอังกฤษ คือพอเป็นบาลีนี่ปั๊บ กำหนดเลย อักษรโรมันใช้ตัวไหนเป็นหมายถึงตัวไหน แล้วแน่นอนเด็ดขาด ภาษาอังกฤษเสียอีก ไม่แน่นอน t o ทู g o โก ใช่ไหม ไปคนละเรื่องเลยใช่ไหมฮะ เออ ทำไม g o เขาให้เป็น go เล่า แล้ว t o ทำไม to เล่า ท่านว่าอย่างไร แค่นี้ก็ไม่ได้แล้วใช่ไหม เราก็หาเหตุผลไม่ได้ด้วย หาเหตุผลได้ไหมฮะ ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรนะ เออ เรื่องภาษานี่ยุ่งนะฮะ
เอาละ แปลว่า เป็นอันว่าภาษาบาลีนี่แน่นอนกว่า ถ้ามองดูอย่างนี้แล้วนี่แน่นอนนะ เป็นภาษาที่มีแบบแผนมากกว่า มีไวยากรณ์ มีอะไรต่ออะไรค่อนข้างแน่นอน พวกภาษาอังกฤษก็ เหตุที่หนึ่งที่ทำให้ไม่แน่นอน เพราะรับมาจากหลายภาษา รับมาจากโน้นบ้าง รับมาจากนี่บ้าง มันก็แล้วแต่เดิมเขาออกเสียงอย่างไร บางทีก็ติดมาอย่างนั้น แล้วก็บางคำก็มาเปลี่ยน ภาษาเดิมก็ไม่เหมือนด้วยนะ เพี้ยนไปแล้ว แล้วของตัวก็ไม่มีแบบแผนที่แน่นอน ก็อย่างนี้แหละฮะ แล้วยิ่งไปดู อย่างภาษาอังกฤษนี่ ยิ่งยุ่งใหญ่เลย การออกเสียงนั่นนะฮะ
อ้าว เป็นอันว่า นี่ก็ เราก็พูดกันเรื่องภาษา แปลว่าครบแล้วใช่ไหมครับเรื่องตอบ ไม่มีอะไรสงสัยนะ
ถาม : ไม่แล้วครับ
ตอบ : ถ้าสงสัยก็ถามอีก เวลาพูดมันก็ไปได้เรื่อย ๆ