แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
วันนี้มาคุยกันแบบเรื่อย ๆ อย่างที่บอกแล้วที่นี่จะคุยที่ไม่เป็นเรื่องลึก ๆ อะไรนัก คุยกันเบา ๆ เป็นเกร็ดความรู้หรือเป็นข้อที่แถม ทีนี้ก็อาจจะสืบเนื่องจากวันก่อน ที่พูดว่าเวลาเรามองอะไรเรื่องของการเป็นอยู่ดำเนินชีวิตการปฏิบัติตัวของเราก็อยู่ในระบบการฝึก นั้นเราก็มองว่า เอ้อชีวิตคนนี่มันจะเจริญดีงอกงามมนุษย์นี่มีธรรมชาติเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ต้องฝึกหัดจะพัฒนาเจริญงอกงามเอาดีได้ แล้วที่นี้ถ้าเรารู้จักใช้แบบฝึกหัดหรือว่าเรารู้จักทำสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นแบบฝึกหัดมันก็กลายเป็นเครื่องมือพัฒนาชีวิตเราดีหมด เพราะฉะนั้นเราก็พยายามมองสิ่งต่าง ๆ เป็นแบบฝึกหัดนั้นถ้าเจอปัญหาเจอความทุกข์มองมันเป็นแบบฝึกหัดซะ แล้วเราก็ไม่ค่อยทุกข์ ถ้าท่านไปเจอติดคำว่าทุกข์ใช่ไหม เจอคำว่าไม่สบาย พอบางคนไปเจอไม่สบายแล้วก็ทุกข์ แล้วอัดอั้นตันใจอยู่นั่นแหละ ไปเจอทุกข์ก็ติดขัดอึดอัด แล้วก็ใจคอไม่สบายก็เลยอยู่นั่นเอง แล้วก็เจอปัญหาก็รู้สึกทุกข์อีกแล้วพอเจอปัญหาก็ติดอยู่นั่นอีกไม่ไปไหน เจองานยากติดอีกแล้ว ยากก็ท้อใจ พอเจองานยากก็ท้อก็ทุกข์อีกแหละ ใจคอไม่ดีสุขภาพจิตก็เสีย ทีนี้ถ้ามองแบบนักฝึก มองแบบนักปฏิบัติแล้วก็ไปบำเพ็ญไตรสิกขานี่ ชีวิตคนก็เอาดีได้ด้วยการฝึกใช่ไหม เราก็มองว่าอะไรต่ออะไรมันก็เป็นเครื่องฝึกเราทั้งนั้น อะไรยากก็ได้ฝึกมาก ถ้างานง่ายก็ได้ฝึกตนน้อยถูกไหม ก็ทำนิดเดียวไม่ทันได้คิดไม่ทันได้ฝึกไม่ทันได้ใช้กำลังใจอดทนเลยมันผ่านไปเสียแล้ว เราไม่ได้อะไรเลย งานง่ายนี่เราไม่ได้อะไรเลย ตกลงว่าพอเราคิดเป็นอย่างนี้ อู้งานง่ายนี่ไม่อยากได้เลยใช่ไหม ไม่ได้ความไม่ได้อะไรเลย อยากเจองานยากงาน ชักงานยากยิ่งได้เงินมาก เจอนี่ยิ่งยากยิ่งที่ได้มากคติของนักฝึกตนเป็นอย่างนั้น ยิ่งยากยิ่งได้มาก เอ้ามันจริงอย่างนั้นนะยิ่งยากยิ่งได้มาก พอเจอนี่ไหมกว่าจะผ่านได้นะคิดเยอะเลย แหมกว่าจะตีปัญหาแตกคิดหาทางออกได้ปัญญาก็พัฒนาเยอะจิตใจก็ได้ฝึกความเข้มแข็งความอดทนฝึกสติ ฝึกสมาธิ ฝึกความเพียรฝึกทุกอย่าง ฝึกวินัยด้วยนะ แล้วก็ออกมาสู่พฤติกรรมเราเจอปัญหานี้บางทีต้องไปสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ สัมพันธ์ไม่ดีเราก็ไม่สำเร็จอีก เราก็ต้องฝึกตัวเองต้องอดทนในการหาทางไปสัมพันธ์กับเขาไปพูดจากันเขา ต้องฝึกตัวในการพูด จะพูดยังไงจึงจะสำเร็จเขาจึงจะร่วมมือด้วยอะไรเนี่ย โอ้ยสารพัดต้องฝึกหมด การสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ การพูดจากิริยาท่าทางและการฝึกฝีมือทักษะอะไรต่าง ๆ ฝึกหมดเลย นั้นงานยากก็ได้ฝึกตัวเองมาก เพราะฉะนั้นผ่านงานยากนี่ไปต้องมีความภูมิใจมากมันได้มากที่จริง ๆ พอเราตั้งจิตถูกว่าเราเจองานยากเราจะได้มากนี่แทนที่เราจะทุกข์เราก็เกิดความสุขได้ เราก็ไม่เสียสุขภาพจิต ใจเราก็ไม่ฝืน ถ้าเราฝืนใจเราเสียสุขภาพจิตเรามีความทุกข์ ใจก็ห่อเหี่ยวด้วยทำงานก็ไม่ได้ผลด้วย แต่พอเรารู้สึกว่า เอ้อพอดีเราได้เราจะได้มากเราก็เต็มใจทำ เต็มใจทำเราก็มีกำลังใจ ใจเราก็มีความสุขแล้ว เราเต็มใจทำแล้วก็ทำได้ผลดีมันก็ดีไปหมดเลย นั้นก็ใช้วิธีนี้ก็คือโยนิโสมนสิการที่เอามาใช้แก่การปฏิบัติตัว ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติมนุษย์ ในระบบของการฝึกชีวิต เรื่องของการปฏิบัติที่ว่าเป็นระบบเหตุปัจจัยก็มนุษย์ก็ใช้การปฏิบัติต่าง ๆ นี่เป็นเหตุปัจจัยในการพัฒนาชีวิตของตัวเอง แม้แต่เรื่องธรรมดาสามัญเนี่ยถ้าเรามองอย่างนี้เราจะเข้าใจ คือพุทธศาสนานี่นะเป็นศาสนาที่ไม่บังคับเรารู้กันอยู่แล้ว ไม่บังคับศรัทธาแล้วก็ถือปัญญาเป็นสำคัญ เมื่อถือปัญญาคนก็ต้องรู้เข้าใจ ปัญญาที่รู้เข้าใจเนี่ยมันยัดเยียดใส่สมองกันไม่ได้ ไอ้บังคับให้เชื่อก็พอบังคับได้เขาจะเชื่อไม่เชื่อก็บังคับไป แต่ให้บังคับให้รู้นี่มันบังคับไม่ได้ใช่ไหม นี่เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนานี่ก็เลยเป็นไปตามธรรมชาติว่าต้องการให้คนเกิดปัญญา คนจะพัฒนาจริงก็ต้องรู้เข้าใจมีปัญญา แต่ปัญญานั้นเป็นสิ่งที่ยัดเยียดบังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้ มันก็เลยบังคับว่าจะต้องให้เสรีภาพ นั้นพุทธศาสนาก็ไม่มีการบังคับ ใครจะสงสัย ก็สงสัยไป แม้แต่พุทธเจ้ากลับตรัสให้พระสาวกตรวจสอบพระองค์เสียด้วย คือหมายความว่าเขาจะไปฟังธรรมที่โน่นที่นี่อะไรเนี่ยเขาควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร พระพุทธเจ้าก็เลยให้หลักว่า เอ้ามีวิธีตรวจสอบศาสดา พระองค์ก็ตรัสเป็นขั้นเป็นตอนไป คือไม่มีเรื่องที่ว่าจะให้ต้องเชื่อ ทีนี้ในเรื่องที่ว่าในการที่จะเกิดปัญญามันยัดเยียดบังคับไม่ได้ก็ต้องมีการเรียนรู้ เช่นว่าพระพุทธเจ้านี่ทรงรู้แล้ว ก็ไม่ใช่รู้แต่พระองค์อย่างเดียว พระองค์ก็อยากให้คนอื่นรู้ด้วย อันนี้เรียกมีกรุณา เห็นเขายังตกต่ำยังไม่รู้อยู่ ก็มีกรุณา นั้นพระคุณของพระพุทธเจ้าข้อสำคัญต่อจากปัญญาก็คือกรุณา พระองค์มีปัญญารุ็แล้วตรัสรู้เป็นโพธิฌาณ แต่เห็นมนุษย์สัตว์ทั้งหลายอื่นยังไม่รู้ ก็คือเห็นเขายังอยู่ในฐานะตกต่ำก็มีกรุณา จะเห็นว่าท่านไม่ใช้ว่าเมตตา ถูกไหม พระมหากรุณาธิคุณเพราะว่าพระพุทธเจ้าเห็นเขายังไม่รู้ต้องการให้เขารู้ เขายังทุกข์ต้องการให้เขาพ้นทุกข์ก็มีกรุณา อ้าวแล้วเป็นอันว่ามีพระคุณ 2 อันนี้อยู่ มีปัญญารู้ มีกรุณา อันนี้ทำยังไงจะปฏิบัติต่อคนอื่น กรุณานี่เป็นด้านจิตใจที่ทำให้คำนึงถึงคนที่เราไปเกี่ยวข้องที่พุทธเจ้าทรงไปช่วยนี่ ก็คำนึงถึงเขา แต่ปัญญานี่เป็นตัวรู้ไปถึงความจริงที่เรียกว่าธรรมะ ท่านรองแยกดูให้ดีนะ ปัญญาเป็นตัวโยงพระพุทธเจ้าไปถึงธรรมะคือความจริงนะ กรุณาเป็นตัวโยงพระพุทธเจ้าไปหาคนนั้นที่พระองค์จะไปโปรดถูกไหม ทีนี้พระพุทธเจ้ามีมหากรุณาต่อคนที่พระองค์ต้องการจะช่วยจะไปโปรดนี่ ก็ต้องการที่จะให้เขานี่เข้าถึงธรรมที่ปัญญารู้ แต่ปัญญานี่ยัดเยียดให้ไม่ได้ทำไงตอนนี้ ไอ้นี่แหละบทบาทที่ปัญญากรุณาจะมาปฏิบัติการแล้ว ถ้าเอาแต่ใจตัวเองกรุณาก็ไม่ได้ก็จะด่าว่า แกทำไมไม่รู้ต้องรู้ซิแค่นี้ไม่รู้จะปฏิบัติไม่ถูกก็ว่าแต่ด่าว่าไป นี้พระองค์มีกรุณาก็เห็นแก่เขา แต่ก็รู้ว่าเขายังไม่รู้จะปล่อยให้เขาอยู่อย่างนั้นก็ไม่ได้ คือหมายความกรุณานี่เห็นแก่เขาคำนึงถึงเขาเอาเขาเป็นหลัก เอาคนที่ตัวจะไปช่วยเป็นหลัก แต่ก็จะปล่อยให้เขาอยู่อย่างนั้นก็ไม่ได้ เอ้อ เอาเขาเป็นหลักก็จริงแต่จะปล่อยให้เขาอยู่อย่างเดิมไม่ได้ปัญญาก็รู้ถึงจุดหมายคือสัจธรรมหรือธรรมะที่ต้องการให้เขาไป แต่เขาก็ไม่มีปัญญาที่จะรู้แล้วก็ปัญญานี้ก็ยัดให้ไม่ได้อีก ทำไงนี่แหละเป็นวิธีที่ว่าต้องฝึก แต่ทีนี้ฝึกยังไงเนี่ยเวลาออกมาสู่ภาคปฏิบัติแล้วมันแสนยากนะไม่ใช่ง่าย ๆ นะ มันมีปัจจัยฝ่ายตัวผู้สอนพระศาสดา หรือพระสงฆ์พระอาจารย์อะไรก็แล้วแต่ แล้วก็ปัจจัยฝ่ายผู้รับผู้ฟัง ผู้พูดผู้ศาสดามีความสามารถแค่ไหน หนึ่งแล้วนะ แล้วก็ฝ่ายผู้รับมีความสามารถแค่ไหนนี่สัมผัสกันแล้วใช่ไหม อ้าวถ้าหากว่าพระศาสดาผู้สอนนี่ก็รู้จริงแล้วมีความสามารถที่จะสื่อสารด้วย อันนี้ขอแทรกนิดนึงเดี๋ยว ๆ ค่อยมาต่ออันนี้ แทรกนิดหนึ่ง คือพระพุทธเจ้านี่เรียกพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความสามารถ 2 ขั้นนะ 1 คือปัญญาที่รู้สัจธรรมรู้ธรรมะเข้าถึงธรรมะ ตรัสรู้ว่าอย่างงั้นเถอะ แล้ว 2 ความสามารถหรือปัญญาที่สามารถนำเอาสิ่งที่รู้นั้นไปสื่อให้คนเข้าใจ ให้เขาเข้าใจได้นี่ให้เป็นประโยชน์กับเขาได้ หมายความมีปัญญาทำสิ่งที่ตนรู้เนี่ยให้เป็นประโยชน์แก่เขาได้ ตรงนี้สำคัญมาก จึงเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ถ้าใครมีอันที่ 1 นะมีความสามารถที่ 1 ก็คือมีปัญญารู้เข้าถึงธรรมะรู้ถึงความจริง แต่ขาดปัญญาอย่างที่ 2 ความสามารถที่จะทำให้สิ่งที่ตัวรู้เนี่ยไปเป็นประโยชน์แก่เขา อันนี้จะเป็นปัจเจกพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องทำ 2 ขั้น 1 รู้เข้าใจ เข้าถึงตัวธรรมะนั้น 2 มีปัญญาสามารถสื่อสารธรรมให้สิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั้นให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์อื่นได้หรือให้คนจำนวนมากนี่ได้รับประโยชนย์จากอันนี้ พระพุทฌจ้ามี 2 ขั้นนี่ ทีนี้ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าก็มีคุณสมบัติทั้ง 2 อันเต็มที่ ๆ จะต้องดูคนรับ ถ้าคนรับมีปัญญาพอไหวก็เป็นอันว่าตรัสรู้เลยได้เลย แต่ถ้าฝ่ายผู้รับนั้นแย่จริง ๆ นี้ฝ่ายผู้รับวันนั้นพูดไปแล้วมี 4 บุคคล อุคฆฏิตัญญู ผู้รู้ทันทีเพียงแค่ยกหัวข้อขึ้นมาปั้บเข้าใจเลย วิปจิตตัญญู พวกนี้ขยายความหน่อยเข้าใจ พวกที่ 3 เนยยะหรือ เวนัย พวกนี้จะต้องชี้แจงแนะนำ วันนี้ไม่เข้าใจ พรุ่งนี้หาเรื่องมาอธิบายแง่โน้นแง่นี้นะ ค่อย ๆ แนะนำกันไปพวกนี้เวนัยพอเข้าใจได้ แล้วพวกที่ 4 พวกที่ได้แค่ตัวบท ได้แค่ตัวบทก็แค่หมายความว่าจำบทได้เหมือนนกแก้วนกขุนทองอะไรทำนองนั้นนะ ท่านบอกว่าก็อย่าไปทิ้งเขาพวกที่ 4 นี่ ท่านไม่ให้ทิ้งท่านบอกว่าให้เป็นอุปนิสัยไว้ เอาละฝ่ายผู้รับนี่มันก็นแตกต่างกันงี้ แม้แต่เป็นพระพุทธเจ้าแล้วนะ ก็ช่วยคนได้ไม่หมด นี่ปัจจัยฝ่ายผู้สอนกับปัจจัยฝ่ายผู้รับมันต้องดูทั้งสองฝ่าย ทีนี้ตอนพระพุทธเจ้าอยู่ปัจจัยฝ่ายผู้สอนนี่ดี เราถือว่าดีพร้อมใช่ไหม แต่ปัจจัยฝ่ายผู้รับนี่ก็ดีบ้างไม่ดีบ้างก็ได้มาพุทธศาสนาก็ตั้งขึ้น ทีนี้พอมาถึงปัจจุบันนี้ เราต้องพูดในแง่ปัจจัยฝ่ายผู้สอนนี่อ่อนแล้ว แล้วทีนี้ทำไงละ ไม่บริบูรณ์ ปัจจัยฝ่ายผู้รับก็อย่างที่ว่ามีหลายแบบอีก นี้แหละเราจึงต้องมีไอ้เรื่องของเทคนิควิธีการปลีกย่อยอะไรต่าง ๆ ที่จะมาช่วยในการที่จะสั่งสอนผู้คนจำนวนมากว่าทำไงจะสอนจุดมุ่งหมายก็คือมีกรุณาต้องการให้เขาได้ประโยชน์ กรุณาก็เอาเขาเป็นหลัก แต่ปัญญาก็เอาธรรมะเป็นหลัก ตอนนี้ไอ้ปัญญากรุณาต้องมาเชื่อมกัน ถ้าไม่มีกรุณาเอาแต่ปัญญาก็อย่างที่ว่าก็เอาแต่ใจตัว แกไม่รู้สักที ฉันว่าอย่างงี้แล้วนี่นะ ก็ด่าพวกนี้ทำไมปฏิบัติไม่ถูกไม่รู้เรื่อง พระอาจารย์ที่หนักไปทางปัญญาก็จะเร่งแง่นี้ นี้อีกพวกหนึ่งก็จะเอาแต่กรุณาก็จะตามใจเขาเชื่อถือผิด ๆ พลาด ๆ ก็ปล่อยไปเสียนี่ บางทีก็กลายเป็นว่าหลงไปเรื่องของการเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรื่องของการหวังผลดลบันดาลอะไรต่ออะไรอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ปล่อยหมด กรุณาเอาเขาเป็นหลักปล่อย ก็เลยไม่เรียกร้องจากเขาไม่ฉุดเขาขึ้นมา อันนี้ก็เรียกว่าเอียงข้างสุดโต่ง แต่ที่สุดโต่งกว่านั้นบางทีไม่ใช่ทั้งปัญญา ไม่ใช่ทั้งกรุณาแล้ว แต่หวงโลภ มีไหม มี บางทีไม่ใช่กรุณาหรอกตัวเองโลภ อยากได้ผลประโยชน์เลยเอาไปล่อเขาเสียนี่อยากได้ผลประโยชน์แก่ตัวเองก็เอาอะไรไปล่อให้เขาเชื่อถือผิด ๆ พลาด ๆ เพื่อจะได้ลาภจากเขาอย่างนี้ใช้ไม่ได้เลย เอาละเราตัดไปเลยที่หวังลาภพวกมีจิตไม่เป็นกุศลโลภะ แล้วก็อาจจะมีโมหะ บางคนเขาไม่เจตนาโลภะ แต่เขาโมหะ คนที่สอนนะตัวเองก็โมหะไม่รู้เรื่องก็เข้าใจผิดด้วยก็หลงไปตาม เอาละทีนี้เราตัดพวกโลภะโมหะ ก็เหลือพวกกรุณากับปัญญาที่เรียกว่าไม่สมดุล พวกหนึ่งกรุณาก็เรื่อยเปื่อยปล่อย พวกปัญญก็จะด่าหรือว่าอะไรต่ออะไรไป พวกกรุณาก็ได้แต่ตามใจเขา พวกปัญญาก็เอาแต่เอาใจตัว นี่เราทำไงจะให้พอดี มัชฌิมาก็คือการจัดให้กรุณากับปัญญนี่มันมาดุลกันไว้ เราก็ดูพระพุทธเจ้าเป็นหลัก เราจะเห็นพระพุทธเจ้าสอนคนนี่หลายแบบ บางคนอย่างที่เรียกว่าอุคฆฏิตัญญู ปัญญาเฉียบแหลมพระองค์สอนตรงเพงเลยไม่ต้องอ้อมค้อมอะไรล่ะ ปั้บเดี๋ยวเขาก็ตรัสรู้เลยข้ามเลยเหมือนกับว่าเขาสามารถถอดเขากระโดดจากจุดยืนของเขามาที่พระองค์เลย อย่างนี้ก็เรียกพวกที่ 1 แต่ทีนี้บางพวกนี่เขามาไม่ไหวก็ต้องอย่างที่ว่าแล้วกรุณาต้องเอาเขาเป็นหลัก เราคำนึงถึงเขาก็มองว่าเขาเป็นอย่างนี้เราต้องไปที่จุดยืนของเขา แต่ว่าเราไม่ต้องการให้เขาอยู่กับที่ เราต้องการนำเข้ามาสู่จุดหมายที่เราจะพาไป ตอนนี้แหละจะต้องหาวิธีว่าทำไงให้เขาไปได้แล้วคนมันมีต่าง ๆ กันนี่ เราจึงเห็นวิธีปฏิบัติในสังคมที่เราจะมองว่าพุทธศาสนานี่ แม้แต่วิธีปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มาเป็นพิธีกรรมนี่บางทีบางคนไปมองเป็นเหลวไหล แต่ถ้าท่านมองเป็นแล้วท่านจะเห็นแง่มุม แต่ต้องมองให้ได้นะว่ามันมีแง่มุมอะไรแล้วก็มองตามหลักเหตุปัจจัยเชิงสัมพันธ์ในระบบไตรสิกขานี่ท่านจะเห็นว่าในการปฏิบัติอันนั้นมันมีสื่อมีวิธีปฏิบัติมีเทคนิคมีแง่มุมอะไรไหมที่ต้องการจะสื่อ เพื่อพาเขาให้ก้าวหน้าให้พัฒนาชีวิตขึ้นไป ถ้ามีอันนี้อยู่แสดงว่ามันไม่ใช่เหลวไหลหรอก เราต้องนึกถึงว่าพระจำนวนมากมาเนี่ยก็อย่างที่บอกแล้วท่านไม่ใช่พระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้มีคุณสมบัติปัญญาเต็มที่ ความสามารถในการสอนท่านก็ไม่ได้เต็มอะไร ท่านก็อาจจะต้องอาศัยเครื่องมืออุปกรณ์สิ่งที่มนุษย์ในสมัยนั้นเขาเรียนรู้กันอยู่ เช่น นิทานเรื่องของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ความเชื่อของคนสมัยนั้นในชุมชนนั้นในสภาพแวดล้อมนั้นอะไรหรือเขามีภูมิหลังอย่างนั้น ท่านก็ยอมรับตามเขาแล้วก็พูดไปแต่ว่าทำยังไงจะให้สิ่งเหล่านั้นมาเป็นสื่อ เพื่อจะโยงไปหาสิ่งที่ดีงามยิ่งขึ้น ถ้ามีอันนี้อยู่เรายอมให้ แต่อย่าให้เขาหยุดอยู่กับที่ ที่พูดนี่อยากจะให้มองไปที่แม้แต่เรื่องพระพรหม เมื่อวานหรือเมื่อวานซืนนี้เขามีพิธีอัญเชิญพระพรหมใช่ไหม เมื่อเดือนก่อนนี้ผมอยู่ที่ภูเขา ผมฟังวิทยุแห่งประเทศไทยยังประกาศอยู่เลยนะ ตอนนั้นกำลังอยู่ระหว่างที่สร้างองค์ใหม่ก็มีกำหนดการตอนนั้นตอนที่จะหล่อองค์พระพรหมองค์ใหม่เททองเนี่ยถึงกับบอกว่า จะอัญเชิญเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเป็นองค์ทรงเททอง วิทยุประเทศไทยเลยบอกว่าสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถจะได้รับอัญเชิญเสด็จมาเป็นองค์เททอง แล้วพอถึงพิธีอัญเชิญองค์พระพรหมขึ้นประดิษฐานบนศาลเนี่ย ในหลวงเลย อัญเชิญเสด็จในหลวงเลยเนี่ย กำหนดการที่เขาเตรียมไว้ แล้วพอมาเมื่อวันซืนมั้งก็ได้ยินข่าวออกเป็นนายกรัฐมนตรีทำหมดก็เป็นว่าเปลี่ยนไป ขบวนการนี้เปลี่ยนยังไงไม่ทราบ แต่ก็ทำให้เห็นว่าสังคมไทยเราเนี่ยปฏิบัติในเรื่องเหล่านี้อย่างไร กลายเป็นว่าขออภัยนะผมมองว่า คนโบราณของไทยเรานี่ฉลาดกว่า คือท่านที่ทำในปัจจุบันนี่ไม่มองอะไรเลย ท่านคิดอย่างไรอันนี้ผมก็ไม่ทราบนะ น่าไปสัมภาษณ์ท่านว่าคิดอย่างไรในการที่มาหล่อพระพรหมมาเชิญขึ้น ในแง่หนึ่งคล้าย ๆ บำรุงขวัญคนไทย เอาละในแง่นี้แง่หนึ่ง แล้วอาจจะมองไปในแง่ธุรกิจก็หมายความว่า องค์พระพรหมนี่ท่านเป็นที่มาศูนย์กลางของเงิน ๆ ทอง ๆ ด้วยเพราะว่าพวกนักธุรกิจหรือชาวบ้านแม้แต่ต่างประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวันอะไรก็ยังเดินทางมาบูชา ก็ได้เงินจากพวกต่างประเทศนี้ อันนี้เรื่องธุรกิจ นี่ 2 แล้ว อันหนึ่งบำรุงขวัญประชาชน 2 เรื่องธุรกิจจะเรียกว่าธุรกิจการเมืองก็ได้ แล้วก็ 3 เรื่องถือโชคลาง ท่านเหล่านี้อาจจะถือโชคลางเกี่ยวแก่ตัวเองด้วย เออดีไม่ดีก็จะนึกว่าที่พระพรหมเป็นอย่างนี้เพราะมันมีลางเกี่ยวกับตัวเราอาจจะในฐานะที่เป็นผู้ ใหญ่เป็นผู้นำ เป็นผู้ปกครอง เป็นผู้บริหารประเทศชาติ อาจจะมีหมอดูบางท่านทำนายว่า ที่พระพรหมท่านเป็นอย่างนี้นะมันมีผลมาหรือมีลางมาถึงท่านอะไรนี่ ท่านแก้ไข อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ใช่ไหม หรืออาจจะเป็นนโยบายของประชานิยมก็ได้ หมายความว่าประชาชนเขานับถือกันอยู่ เราก็ต้องมา เอาอกเอาใจโดยที่ว่า มาเอาใจใส่พระพรหมมาทำให้อย่างดีประชาชนเหล่านั้นก็พึงพอใจไปด้วยนี่ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่แง่ที่มันควรจะได้ในหลักพุทธศาสนาน่าเสียดาย นี่คือคติควรจะได้ คือผู้บริหารประเทศชาติหลักการมีอยู่แล้วว่าไม่ว่ามองเรื่องอะไรจะต้องมองหาทางให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติประชาชน และการเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติประชาชนอย่างหนึ่งก็คือทำไงจะให้ประชาชนนี่พัฒนาคุณภาพขึ้นมา เรื่องประชาชนนี่สำคัญที่สุดเลยว่าทำยังไงให้พัฒนาคุณภาพ ทีนี้เรื่องพระพรหมเรื่องอะไรนี่เขานับถือกันอยู่ ในเมื่อเขานับถือกันอยู่ ก็เป็นเรื่องกรุณาเราเห็นใจเขา อันนี้คือตัวที่ว่าเอาเขาเป็นหลัก เอ้าเราก็ยอมเห็นแก่เราก็กรุณา แต่ว่าเราต้องให้เขาพัฒนาตามหลักไตรสิกขาใช่ไหม เออทำไงจะให้เขาเดินหน้างไปตรงนี้ล่ะครับที่ว่าต้องหาวิธีปฏิบัติอะไรสักอย่างมาสื่อสร้างความหมายเกิดขึ้นในการที่จะให้คนนี้ เมื่อมีอาการนี้แล้วได้ประโยชน์ส่วนนี้ด้วย แล้วก็จะให้คะแนนผู้บริหารประเทศได้ ถ้าไม่งั้นก็จมวนเวียนอยู่อย่างงี้
อันนี้คติเรื่องพระพรหมนี่ขอย้ำอีกที พระพรหมที่เอราวัณนี่ เท่าที่ผมทราบคิดว่าแน่นอนไม่ผิดหรอกเป็นศาลพระพรหมแรกในประเทศไทย แต่ก่อนในเมืองไทยเราไม่มีการสร้างศาลพระพรหม เรามีแต่ศาลพระภูมิใช้ไหม ท่านรู้จักไหมศาลพระภูมิ ทุกองค์รู้จักศาลพระภูมิ ก็ตามบ้านตามอะไรที่ไหนก็ต้องสร้างใช่ไหม คือคนไทยเราเนี่ยนับถือเทวดาพระภูมิเจ้าที่ เราก็ให้เกียรติท่าน เรื่องนี้เรื่องยาวไม่ทราบท่านฟังที่ผมพูดครั้งหนึ่งหรือยัง เรื่องบูชาพระพรหมจนพัง ก็ยังไม่รู้จักมหาพรหม ฟังหรือยัง ฟังแล้วเหรอเอ้าท่านก็น่าจะเข้าใจพอสมควร นี่แหละคนไทยนี่บูชาพระพรหมจนองค์พังก็ยังไม่รู้จักมหาพรหม คือมันน่าจะได้ปัญญาบ้าง คนไทยเรานี่นะไม่เอาใจใส่หาความรู้เลย แม้แต่พระพรหมองค์ที่ตัวไปบูชาก็ยังไม่รู้จักว่าพระพรหมอะไร เราจะไปหาใครสักหน่อยเราก็น่าจะรู้จักว่าท่านเป็นใคร นี่แล้วเราไปบูชาพระพรหมองค์นี้ไปขอไปอ้อนวอนอะไรต่ออะไรแล้วก็ไม่รู้จักว่าท่านเป็นใครแปลก ดูซิไปบูชาไม่รู้จักว่าเป็นใคร ธรรมดามันน่าจะหาความรู้บ้างว่า เอ้อพระพรหมองค์นี่เรานับถือ แล้วท่านเป็นใครละก็ไม่รู้จักสักนิดหนึ่ง นี่ ๆ บกพร่อง แล้วเราจะเห็นทั่วไปในสังคมไทยเนี่ยข้ามขั้นความรู้ไปหาความเห็น มีแต่การให้ความเห็น ไม่หาความรู้ ไอ้ความเห็นที่มันจะเป็นประโยชน์นี่มันต้องอยู่บนฐานความรู้ หาความรู้ให้ชัดที่สุดแล้วให้ความเห็นบนฐานของความรู้นั้น ไอ้นี่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย เอาแค่ชอบใจไม่ชอบใจ ทางพระเรียกเอาชอบใจไม่ชอบใจเป็นเกณฑ์ไปได้แค่ความรู้สึก และก็ให้ความเห็นไปตามรู้สึกชอบใจไม่ชอบใจ ไอ้ที่ชอบใจก็เอาความเห็นก็พอดี ไอ้ที่ไม่ชอบใจเอาความก็ไม่ดี อันนี้ถ้าเป็นความเห็นอยู่บนฐานของความรู้นี้จะไปอีกอย่าง มันต้องรู้เอ้อ เรื่องนี้มันเป็นอย่างไรมีข้อมูลอย่างไรเป็นไปยังไงอะไร นั้นคนไทยนี่ขาดมาก คือให้แต่ความเห็นไม่ให้ความรู้ นั้นต้องย้ำกันมากให้หาความรู้ก่อนให้ความเห็น
เอาทีนี้เราก็กลับมาเรื่องนี้ แม้แต่เรื่องง่าย ๆ อย่างงี้เราก็ไม่ต้องรู้ว่าท่านเป็นใคร เราก็ไปบูชาอ้อนวอนกันไปตามกัน พระพรหมองค์นี้เอาละเมื่อกี้นี้บอกแล้วว่าเป็นศาลพระพรหมศาลแรกในประเทศไทยแต่ก่อนมีแต่ศาลพระภูมิ ทีนี้เรื่องมันเกิดขึ้นก็คือ ที่โรงแรมนี้เขาสร้าง พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เคยได้ยินชื่อไหม ท่านเป็นประธานก่อสร้าง แล้วที่นี้ก่อสร้างไปยังไงไม่เสร็จสักทีมันเกิดความบาดเจ็บแก่คนก่อสร้างบ้าง อะไรบ้างติดขัดต่าง ๆ อุปสรรคมากมาย ก็เลยมีผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งเรียกว่าหลวงสุวิชาน เราพูดสมัยนี้เรียกว่าท่านเก่งทางในหรือดูทางลึกลับว่าอะไรเป็นเหตุอะไรอย่างนี้ นี้ทางท่านพลตำรวจเอกเผ่า ในคณะของท่านนี่ก็หาทางว่าเป็นยังไงถึงติดขัดอย่างนี้ ก็เลยให้หลวงสุวิชานดู หลวงสุวิชานนี่ท่านมีชื่อเสียงทางนี้ ท่านก็ดูให้ท่านบอกว่า โอ้ มีเรื่องอย่างงั้น อย่างงั้น ต้องแก้ด้วยการสร้างศาลให้ท้าวมหาพรหมนี่แหละต้นกำเนิด อ้าวละก็เลยสร้างศาลท้าวมหาพรหม อันนี้สร้างแล้วเกิดมีว่าได้ผลศักดิ์สิทธิ์อย่างงั้นอย่างงี้ คนมาอ้อนวอนมาบูชาอะไรก็เลยนับถือกันไป ต่อมาก็นิยมแพร่หลายไปสร้างศาลพระพรหมที่อื่นจนกระทั่งวัดไทยในสิงคโปร์ ผมไปวัดไทยที่สิงคโปร์เข้าหน้าวัดเจอศาลพระพรหมปุ้บเลย หน้าวัดเลยศาลพระพรหม แล้วคนสิงคโปร์เขาเรียก Four Face Buddha ว่าอย่างงั้นนะ เรียกพระพรหมนี่ Four Face Buddha แปลเรียกพระพุทธเจ้า 4 หน้า ว่าอย่างั้นนะ แล้วเขาก็มาถึงเมืองไทยมาบูชาอะไรต่ออะไรกันนี่ นี้ก็นิยมกันไป ทีนี้ว่าหลวงสุวิชานนี่ เอาละถึงท่านจะนิยมสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรก็ตามแต่ท่านยังคนมีหลัก ก็ดูประวัติศาลเรื่องศาลท้าวมหาพรหมนี่มีบอกไว้เลยบอกว่า ท้าวมหาพาหมจะเสด็จมาประจำศาลทุกค่ำ เว้นวันพระ เพราะวันพระไปเฝ้าพระพุทธเจ้า นี่เรื่องของศาลหลวงสุวิชานท่านไม่ได้ทิ้งเรื่องไว้เฉย ๆ นะ ในเรื่องกำกับก็คือประวัติของพระพรหม องค์พระพรหมนี่มีเรื่องของท่านอยู่ นี่คือการรู้จักแล้วใช่ไหม อย่างน้อยรู้จักแล้วว่าอ้อ หลวงสุวิชานท่านให้สร้างขึ้นมาแล้วท่านมีบอกกำกับไว้ด้วยว่า พระพรหมองค์นี้ท่านเป็นอย่างไร ท่านมีกิจวัตรนี่มารับเครื่องสังเวยหรือการบูชบวงสรวงนี่ทุกค่ำ แต่เว้นวันพระเพราะท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทีนี้ความคิดในการให้สร้างนี่เป็นของหลวงสุวิชานจริง แต่เวลาสร้างภาระในการสร้างพวกทำแบบเป็นเรื่องของคนอื่นก็เป็นเรื่องของกรมศิลปากร แล้วกรมศิลปากรก็คงจะหาท่านผู้รู้ ท่านผู้รู้ตอนนั้นก็มีท่านเสฐียรโกเศศ พระยาอนุมานราชธนนี่เป็นนักปราชญ์ เพราะท่านรู้เรื่องศาสนาต่าง ๆ เขียนหนังสือเรื่องศาสนาเปรียบเทียบอะไรเป็นต้น ท่านเสฐียรโกเศศก็เลยไปเรียนว่าแบบเรื่องพระพรหมนี่จะสร้างยังไง เรื่องของพระพรหมของศาสนาพราหมณ์นี่เขามีบอกไว้ว่า พระพรหมมี 4 หน้า 4 มือ ถืออะไรบ้าง เขาบอกไว้หมด ดูตำราไหน ตำราไหนของพรหมณ์ก็มี 4 กรณ์ คือ 4 มือ 4 แขน แต่ที่ทราบชัด โยมท่านไปดูองค์แท้แล้วว่า มี 8 กรณ์ ก็แสดงว่าพระพรหมที่เอราวัณนี่มีสร้างเกินตำราก็เอาละไม่เป็นไรเพราะว่าตำนานเรื่องเทพของพราหมณ์นี่บางทีไม่ตายตัวหรอก อย่างที่เคยเล่าบางทีก็มีตำนานโน้นตำนานนี้ เพราะฉะนั้นการสร้างนี่สร้างตามแบบของอินเดียตามแบบพราหมณ์ แต่องค์พระพรหมนั้นมาจากแนวคิดของหลวงสุวิชาน ซึ่งไม่ใช่พราหมณ์นี่เราต้องรู้ แล้วหลวงสุวิชานที่ท่านพูดอย่างงี้ก็หมายความคติ พรหมณ์องค์นี้เป็นคติพุทธไม่ใช่คติพราหมณ์ เพราะอะไรบอกเมื่อกี้นี้แล้ว พระพรหมองค์นี้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็เป็นพุทธแล้ว แต่ไม่ใช่แค่นั้นท้าวมหาพรหม ศาสนาพราหมณ์เขามีเทพเจ้าสูงสุดเดิมก็เรียกว่าพระพรหม พระพรหมเป็นผู้สร้างโลก สร้างทุกสิ่งทุกอย่างใช้คำว่าพรหมลิขิต แล้วสร้างคน 4 วรรณะ กษัตริย์พราหมณ์แพศย์ศูทรมานี่ นี้พระพรหมในศาสนาพราหมณ์นี่ คำว่ามหาพรหมณ์ปกติเขาไม่ใช้เรียก ใช้เรียกได้ แต่ว่าแต่ว่าในศาสนาพราหมณ์เขาไม่นิยมเรียกมหาพรหม เรียกได้แต่ไม่นิยม แต่ว่าในพุทธศาสนาเนี่ยเรามีเรื่องคติเรื่องพรหม เรามีรูปพรหม อรูปพรหม เคยได้ยินไหม แล้วรูปพรหมเนี่ยมี 16 ชั้นแนะเคยได้ยินไหม คนฟังตอบ เคยเรียน เรียน พระพรหมนี่นะมี 16 ชั้น รุปพรหมเท่านั้นนะแล้วรูปพรหม 16 ช้นนี้ก็แบ่งไปตามชั้นของฌาน คือหมายความว่าผู้ที่ได้ฌานนี่ เมื่อตายแล้วฌานไม่เสื่อม ตายในจิตที่มีฌานนี่จะไปเกิดเป็นพรหม ก็จะจัดพระพรหมแบ่งตามระดับของฌาน ฌานมี 4 ระดับ ปฐมฌาน ทุตยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ก็มีฌานระดับปฐมฌานเรีกว่าปฐมฌานภูมิ ระดับทุตยฌาน ทิตยฌานภูมิ ระดับตติยฌาน ตติยฌานภูมิ ระดับจตุตถฌาน ฌานที่ 4 จตุตถฌานภูมิ เนี่ยพรหม 4 ระดับนี่ซอยย่อยออกไปอีก ในแต่ละระดับนี่มี 3 มี 4 มี 5 อะไรอีก ก็รวมแล้วทั้งหมดเนี่ย 4 ชั้นของฌานนี่ แบ่งเป็นพรหม 16 ชั้น ทีนี้เราเอามาดูเราไม่ต้องดูละเอียด เราดูชั้นที่ 1 ปฐมฌาน ฌานที่ 1 เนี่ยแบ่งเป็นพรหมณ์ 3 ชั้น 1 เรียกว่าธรรมะปาริสัชชา ชั้นที่ 2 เรียกธรรมะปุโรหิตา ชั้นที่ 3 เรียกว่ามหาพรหมา มหาพรหมณ์คือพรหมณ์สูงสุดในระดับฌานที่ 1 เพราะฉะนั้นพระพรหมณ์ที่เอราวัณนั้นก็คือพระพรหมณ์ที่ได้ฌานระดับปฐมฌาน แต่ว่าสูงสุดในระดับปฐมฌานนะยังไม่ได้ทุติฌาน ท่านก็อาจจะเป็นพระภิกษุหรือใครก็แล้วแต่ที่ได้ฌานแล้วก็ตายไปเกิดเป็นมหาพรหมณ์องค์นี้ เพราะท่านเป็นพุทธอยู่ท่านก็ไปเฝ้าพุทธเจ้า คำว่าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าไม่ใช่หมายความไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เป็นองค์นะ หมายความอุทิศเวลาให้แก่พระพุทธเจ้าไปฟังธรรม ไปศึกษา ไปปฏิบัติอะไรก็แล้วแต่อุทิศต่อพระพุทธเจ้า นี่ถ้าเรารู้คตินี้ปั้บ เราก็เห็นทางเชื่อมว่า เอ้อ หลวงสุวิชานนี้ท่านอาจจะมีคติแนวคิดดีอย่างน้อยท่านก็มาในแนวคติพุทธ เราก็เห็นทางให้ประชาชนนี่เดินตามหลักของกรุณาขึ้นสู่ปัญญาใช่ไหม มีการศึกษาว่า เอ้อพระพรหมองค์นี้ ท่านก็มีเมตตากรุณามากสงสารพวกเราที่มีความทุกข์ลำบากมาช่วยอยู่ แต่ท่านเองก็ยังใฝ่ธรรม ท่านต้องไปปฏิบัติธรรมไปเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่นะ เพราะฉะนั้นคุณควรจะสนใจบ้างว่าเออวันพระนี้ ท่านพระพรหมครับไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนธรรมะอะไรมาขอผมฟังบ้างได้ไหม หรือผู้จัดก็เอามาบอกประชาชนก็ยังดีว่าพระพุทธเจ้าสอนพระพรหมอย่างงั้นอย่างงี้อะไรนะ มันจะได้มีธรรมะมาได้บ้าง เรียกร้องต่อประชาชนเหล่านี้บ้างก็ได้ ว่าเอออย่างเอาแต่ขออย่างเดียวนะ อย่างหวังผลดลบันดาลอย่างเดียวได้ปฏิบัติด้วย พัฒนาชีวิตของตัวเองต้องมีความขยันมั่นเพียร พระพุทธเจ้าว่าต้องการผลต้องทำเหตุต้องมีความเพียรพยายามต้องขยันหมั่นเพียรว่าอย่างงั้นเถอะ ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความสุจริตขยันอะไรก็ว่าไป นี่มันก็จะดีขึ้นใช่ไหม มันไม่ได้อยู่แค่อ้อนวอนจบ อ้อนวอนจบ มันจะมีทางพัฒนาขึ้นมาบ้าง นี่ลองไปดูซิครับ คติพุทธศาสนาจะเป็นอย่างนี้ แล้วคติพรหมณ์ 4 หน้าละครับ ที่ว่า 4 หน้า เป็นเมตตากรุณามุตทิตาอุเบกขานี่เป็นคติพุทธ คติพราหมณ์เขา 4 หน้าของพระพรหมณ์คือวรรณ 4 กษัตริย์พราหมณ์แพทย์ศูทร 4 เราเอาได้ไหม ไม่ไหวแล้วใช่ไหม นี่หน้าของพระพรหมณ์ 4 หน้านี่ตามหลักศาสนาพราหมณ์วรรณะสี่ เขาให้หลายนัยนะ นัยที่ 2 เขาให้ว่าให้แก่พระเวท 4 พระเวท 4 มีอะไร มีไตรเพท 1 ฤคเวท 2 ยชุรเวท 3 สามเวท เดิมมันมีแค่ไตรเพท 3 เพท แล้วต่อมาเขามีอีกพระเวทหนึ่งมาแถมเติม เป็นพระเวทที่ 4 เขาเรียกว่า อาถรรถเวท คนไทยเรียกอาถรรพ์พระเวท ที่มาเป็นที่มาของอาถรรพ์ นี่เรื่องของการทำอาถรรพ์ เรื่องของการทำไอ้พวกคุณไสย คัมภีร์นี้สำคัญ พระพักตร์ของพระพรหม 4 พระพักตร์ ก็คือพระเวท 4 แล้วเอามั้ย ไม่ได้เรื่องแล้วใช่ไหม และก็อีกความหมายหนึ่งตามศาสนาพราหมณ์หน้าของพระพรหมณ์ 4 หน้าได้แก่ยุค 4 ศาสนาพรหมณ์เขามี 4 ยุค คือโลกเรานี่มีกำเนิดขึ้นมาแล้วก็ในที่สุดพอสิ้นกัปป์สิ้นกันก็จะพินาศ กัปป์หนึ่งก็พินาศที กัปป์หนึ่งก็คือคืนหนึ่งวันหนึ่งของพระพรหม ก็คืออายุของโลก โลกเกิดขึ้นจนสลายนี่เรียกว่ากัปป์หนึ่ง และกัปป์หนึ่งแบ่งเป็น 4 ยุค 4 ยุคนี้มีกฤตยุค เรียกได้ว่ายุคทองยุคดีที่สุด 2 ก็ เปตะยุค ยุคที่ดีรองลงมาชักเสื่อมลง บางทีเราเรียกกันว่าไตรดายุค คนไทยมาแผลงนิดหนึ่งเรียกว่าไตรดายุค แล้วก็ 3 เรียกทวาปรยุค หรือทวาปะรยุค ก็เสื่อมลงไปอีกขึ้นหนึ่ง แล้วยุคที่ 4 เรียกว่า กลียุค นี้คนไทยได้ยินทุกคนใช่ไหม กลียุค กลียุคนี่แย่ที่สุดตอนนี้จะเกิดภัยพิบัติอะไรต่าง ๆ มากมาย พระพักตร์ของพระพรหม 4 พระพักตร์นี่หมายถึงยุค 4 ยุคนี้ก็ได้ เอาละมี 3 แบบนะ 1 วรรณะ4 2 พระเวท 4 3 ยุค 4 ส่วนของพุทธศาสนานั้นเราเอามาให้เป็นเมตตากรุณามุตทิตาอุเบกขา นี้ดูซิพวกเราสับสนหมดใช่ไหม เรื่องพระพรหมไม่รู้เรื่อง นี่เวลาจะทำอะไรก็หาความรู้ หรือเอาความรู้เรื่องนี้มา พอพระพรหมท่านพังแล้วเราจะสร้างใหม่ เราก็ถือโอกาสให้ความรู้แก่ประชาชนเลย เออตอนนี้เอาความรู้เรื่องนี้มาบอกประชาชนให้รู้กันเรื่องเป็นอย่างนี้นะ เรื่องพระพรหมตามคติพราหมณ์เป็นอย่างนี้ คติพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้นะ แล้วมีคำสอนเกี่ยวแก่เป็นอย่างนี้ ว่าอย่างนี้ เราควรจะเชื่อคำสอนยังไงปฏิบัติยังไง ถือโอกาสอย่างนี้สิครับได้ประโยชน์ นี่ไม่มีอะไรเลย พระพรหมพังก็เสียใจแย่ เราจะเกิดลางร้ายอะไรบ้างหนอใจไม่ดีแล้ว อ้าวละที่นี้ก็คิดหาทางมาสร้างพระพรหมใหม่ก็คิดแต่ว่าจะทำพระพรหมสร้างขึ้นมาแล้วก็ไปอ้อนวอนกัน แล้วทำพิธียังไงบวงสรวง ยังไง จบ ความรู้ยังไงไม่ได้ คติธรรมอะไรก็ไม่ได้ พัฒนามนุษย์ไม่ได้เลย จริงไหม เนี่ยมันน่าจะถือโอกาสเราไม่ต้องไปด่าว่าประชาชน เพราะตามหลักกรุณานี่เราเห็นแก่เขา เอาเขาเป็นหลัก แต่ว่าเราอย่าปล่อยให้เขาจมอยู่อย่างนั้น ด้วยกรุณามาเชื่อมกับปัญญา ก็พยายามดึงเขาขึ้นมาซะให้ปัญญา เมื่อมีโอกาสอะไรจะให้ปัญญารีบให้ซะ แล้วก็ค่อย ๆ พัฒนาคนขึ้นมา อย่างน้อยให้เป็นโอกาสที่จะสร้างปัจจัยในการพัฒนามนุษย์ขึ้นในไตรสิกขาก็ยังดีใช่ไหม ตอนนี้มันก็จะได้ให้เขาพัฒนาศีล พัฒนาจิตใจสมาธิ พัฒนาปัญญาก็จะดีขึ้น สังคมก็จะเจริญงอกงาม นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่น่าเสียดายที่โอกาสจะผ่านไปเสียแล้ว นี่แหละเรื่องมันเป็นอย่างนี้ นั้นเรื่องคติพุทธศาสนาเนี่ยมันมีข้อที่ต้องพูดเยอะเลย แล้วก็ในคติเดิมเมื่อมนุษย์สร้างสิ่งก่อสร้างบ้านเรือน วังอะไรต่าง ๆ ขึ้นมานี่เทวดาท่านก็จะมาเลือกที่อยู่เอง คือเทวดาในชมพูทวีปคติเดิมไม่เหมือนในเมืองไทยนะ แต่เดิมในชมพูทวีปเวลามนุษย์สร้างบ้านสร้างเรือนเนี่ยเทวดาก็จะมาหาที่อยู่เอาเอง ไม่มีคติเรื่องการที่จะต้องให้มนุษย์นี่ไปสร้างศาลพระภูมิให้อยู่ แล้วไม่ต้องไปเชิญ แต่คติอินเดียเขาสร้างบ้านแล้วที่ไหนมันดีที่สุดเทวดาท่านจะเลือกเอง ในแง่หนึ่งมันก็น่าจะดีกว่านะ เพราะเทวดาท่านเลือกเอง นี่มนุษย์มาทำให้ท่านถูกใจหรือเปล่าก็ไม่รู้ ก็เป็นธรรมเนียมมาเลยพระมหากษัตริย์สร้างเมืองใหม่ เทวดาที่มีศักดิ์ใหญ่ก็เลือกก่อน ที่มีอำนาจใหญ่กว่าก็เลือกก่อนก็จะเลือกที่ดีที่สุดและเทวดาก็จะไปประทับอยู่ที่นั่น อย่างบ้านอนาถบิณฑิตเศรษฐีพอท่านสร้างบ้านเทวดาก็มาอยู่ อยู่ไหนบ้านเทวดาจะชอบซุ้มประตู เทวดาท่านก็ขึ้นไปอยู่ที่ซุ้มประตูเรือนของอนาถบิณฑิตเศรษฐี ทีนี้มาเมืองไทยไม่ทราบเพราะอะไรจึงเกิดมีคติเรื่องสร้างศาลพระภูมิขึ้นมา อาจจะเป็นเพราะว่าไทยเราก็นับถือผีสางเทวดามาก่อนเรามีการสร้างศาลของราก่อนอาจจะเป็นได้หรือเราจะพัฒนาเหนือกว่าคติที่มาจากอินเดียก็ไม่รู้นะ ก็มีการที่ว่าสร้างศาลพระภูมิให้แล้วก็มีพิธีอัญเชิญเสียด้วย เป็นอันต่างกันเลยนะ พื้นฐานของทางคติในทางชมพูทวีปนี่ เทวดาท่านมาเลือกที่อยู่เอง แล้วท่านก็อยู่ของท่านไป อันนี้ก็เป็นคติหนึ่งที่เราควรจะทราบ แล้วอันนี้มันจะมาถึงคติอีกอันหนึ่งที่ว่าเราควรจะรู้ธรรมเนียมของชาวพุทธ แม้แต่ว่าผู้ที่ยังนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านจะมาช่วยเหลืออะไรเนี่ยต้องเข้าใจ ไม่งั้นเราไปนับถือพ่อโสธรเราไปบนท่าน หลวงพ่อโสธรมาช่วยบันดาลให้เนี่ยไม่เข้าใจต้องเข้าใจให้ถูก ถ้าเราไม่เข้าใจแล้วมันขัดกันหมด อ้าวแม้แต่คนที่นับถือแบบนี้ก็ยังนับถือได้ แต่มันเป็นยังไง ก็บอกแล้วเมื่อกี้เมื่อมนุษย์สร้างอะไรที่เป็นสิ่งก่อสร้างใหญ่โตสำคัญขึ้นมาเทวดาก็จะมาเลือกที่และเทวดาผู้ใหญ่ที่เรียกว่ามเหสักข์นี้ก็จะเลือกก่อน เพราะฉะนั้นเมื่อสร้างที่ประทับของพระแก้วมรกตมีฉัตร หรือยังของพระเจ้าแผ่นดินมีเศวตฉัตร เทวดาผู้ใหญ่จะไปจองไปรักษาอยู่ที่พระเศวตฉัตร ก็เป็เทวดารักษาพระเศวตฉัตร แล้วที่ฉัตรของหลวงพ่อพระแก้วมรกต ก็จะมีเทวดาผู้ใหญ่ไปอยู่ แม้กระทั่งฐานพระอะไรต่อะไรนี่ อย่างหลวงพ่อโศธรก็เหมือนกัน ก็ต้องมีเทวดาใหญ่ไปอยู่ เทวดาเหล่านี้ก็คือเทวดาที่มีความเลื่อมใสพุทธศาสนาแล้ว ท่านเหล่านี้ก็เป็นคนดีใช่ไหม เพราะว่าคบกับพระอยู่กับพระได้ก็เป็นคนดี ก็เป็นเทวดาดีจิตใจดีก็มีเมตตากรุณา เพราะฉะนั้นก็จะมีจิตใจที่มีกรุณาต่อพวกมนุษย์ที่มีทุกข์มีความเดือดร้อน เอ้อมนุษย์ที่เขาไปนี้มีความเดือดร้อนจริง ๆ นี่เขาต้องการความช่วยเหลือ เมื่อมันเฉพาะหน้าขึ้นมาจะช่วยบำบัดความเดือดร้อนให้เขาก่อนก็ช่วยไปนี่แหละเทวดาที่มาเฝ้ารักษาพระพุทธรูปเป็นต้น นี่เป็นผู้ที่ไปช่วยเทวดาที่รักษาพระแก้วมรกต รักษาฉัตรพระแก้วมรกต เทวดารักษาหลวงพ่อโสธร เทวดารักษาหลวงพ่อวัดไร่ขิงอะไรนี่ นี่แหละเป็นผู้ที่มาช่วย ไม่ใช่หลวงพ่อท่านช่วยเอง แต่นี่แหละเทวดาเหล่านี้ก็ยิ่งใหญ่มากอยู่แล้ว นี้คนไม่เข้าใจก็จะบอก เอ้ พระพุทธเจ้าจะมาช่วยได้ยังไงละ ท่านนิพพานแล้ว ทฤษฎีก็ไม่มีลองรับก็ยุ่งกันใหญ่ พระพุทธเจ้าช่วยใครไม่ได้ผิด อะไรต่ออะไรก็ไปกันใหญ่ นี้ถ้าเราเข้าใจหลักการนี้มันสอดคล้องกันหมด ถ้าเธอยังไม่สามารถเข้าถึงพุทธศาสนา เอ้าเทวดาพวกนี้เป็นเทวดาพุทธ ท่านเป็นชาวพุทธมีศักดาเดชก็ยังพอช่วยกันอยู่เหมือนอย่างพระพรหมที่เอราวัน พระพรหมที่เอราวัณก็แบบเดียวกันท่านเป็นพระพรหม ชาวพุทธเขียนไว้ชัดอยู่แล้วบอกว่าพระพรหมที่เอราวัณเนี่ยมาประจำศาลทุกค่ำเว้นวันพระ เพราะวันพระไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเขียนบอกไว้ชัดเจน คนไทยไม่เอาใจใส่เลย ก็ไปนึกวุ่นวายไปหมดว่า พระพรหมองค์นี้ท้าวมหาพรหมคงจะเป็นเรื่องของคติพราหมณ์ จริงอยู่องค์พระพรหมนั่นกลายเป็นพราหมณ์ แต่นามธรรมตัวองค์แท้ท่านเป็นพุทธอย่างที่ว่า เวลาสร้างก็คงด้วยความไม่รู้ชัดนั่นแหละ ก็เลยไปสร้างรูปตามแบบพราหมณ์ แต่กลายเป็นพระพรหมเอราวัณใจเป็นพุทธ กายเป็นพราหมณ์ หมายความว่าตอนที่จะสร้างกายบอกแล้วไง บอกว่ากรมศิลปากรก็รับหน้าที่ไป แต่ว่าตัวพระพรหมนั้นเป็นเรื่องของพลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์ ท่านเป็นผู้จัดการ ทีนี้ฝ่ายร่างกายนี่ก็เป็นเรื่องของกรมศิลปกร กรมศิลปกรก็นึกเรื่องของพราหมณ์ไปค้นคว้าตามตำราไปให้ท่านเสฐียรโกเศศ พระยาอนุมานราชธน ท่านเป็นนักปราชญ์ท่านก็ไปค้นให้แบบพราหมณ์มา แต่รวมความท่านต้องเข้าใจคติ ว่าที่วัดต่าง ๆ ที่มีพระพุทธรูปองค์สำคัญจะเป็นพระพุทธชินราช หลวงพ่อโสธรอะไรก็แล้วแต่นี่ ที่เรียกว่าศักดิ์สิทธิ์นี่ก็มีเทวดารักษา แล้วเทวดานั่นแหละเป็นผู้ทำหน้าที่ แล้วท่านก็รักษาพระพุทธรูปคอยเฝ้าอยู่ พระพรหมองค์ที่เอราวัณนั่น พระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ด้วย ก็เลยต้องไปเฝ้าพระพุทธเจ้าวันพระ ส่วนพวกเทวดาที่อยู่ที่วัดพระแก้ว อยู่กับพระพุทธเจ้าอยู่แล้วก็เลยไม่ต้องมีกิจวัตรพิเศษไปเฝ้าวันพระ ที่เอราวัณนี่ต้องไปเฝ้าวันพระ ชัดไหมนี่ ก็จะได้เข้าใจคติพุทธ คติพราหมณ์ ผู้บริหารประเทศชาติบ้านเมืองถ้ารู้เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์มาก ช่วยพัฒนาประชาชนให้ความรู้ให้การศึกษา อย่างน้อยให้เขาค่อย ๆ ตีตื้นขึ้นมาจากความเชื่อที่งมงาย อย่างน้อยก็พัฒนาความประพฤติปฏิบัติการขยันหมั่นเพียรประกอบการอาชีพ รู้ข้อแม้มีอะไรข้อเรียกร้องจากพระพรหมบ้างว่าเอ้อ เธอต้องประพฤติธรรมะบ้างนะอะไรนะ ก็จะดีขึ้น ไม่ใช่ได้แต่ให้ตามขอร้องอ้อนวอนกันอย่างเดียว จนกระทั่งว่าขออภัยหรือแก้บนด้วยการ เปลือยกายเต้นก็มีอะไรไปกันใหญ่ มันเลยเถิดไปแล้ว แทนที่จะจูงเข้าหาธรรมะให้มากขึ้น เป็นอันว่าเรื่องพระพรหมนี่ก็คงจะชัดไปด้วยกันเรื่องนี่นะ นึกอะไรออกก็พูดไปตอนนี้เดี๋ยวเวลามันจะเกินมากไป คิดว่าพอสมควรแล้วพูดเรื่องเกี่ยวกับเทวดาที่มันมาโยงกับเรื่องพุทธศาสนา เอาละโมทนาวันนี้เดี๋ยวจะดึกไป วันนี้ก็เอาเท่านี้ก่อน