แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
[01:02] เจริญพร รายการ “เล่าเรื่องให้โยมฟัง” วันนี้ จะขอโอกาสเล่าซ้ำ เรื่องที่เล่าที่บ้านคุณโยมสุขุม คุณหญิงจันทร์ทอง ธีรวัฒน์ ไปแล้ว คือเรื่องที่พระพุทธเจ้าผจญกับคนโกรธ เล่าวันนั้นหลายเรื่อง ก็เลย เพื่อนก็เลยสับสนกัน ก็เลยเอามาจัดลำดับกันใหม่ คือพระพุทธเจ้านี่ก็ทรงผจญกับคนที่มีลักษณะนิสัยใจคอต่างๆ แล้วก็ทรงมีวิธีการในการที่จะแก้ไข อย่างที่เรียกว่าทรมาน ซึ่งทรมานในที่นี้หมายความว่าแก้ไขให้เขากลับใจได้ เปลี่ยนจากร้ายกลายเป็นดี เป็นวิธีที่ทำให้คนที่ถูกกลับใจนั้นเป็นสุข คือไม่ได้ไปทำให้เขาเจ็บซ้ำ แต่ว่าทำให้เขาเป็นสุขยิ่งขึ้น ยิ่งคนที่มีความโกรธอยู่แล้ว ยิ่งมีจิตใจไม่สบาย มีความทุกข์เร่าร้อนในตนเอง พระพุทธเจ้าก็ต้องใช้วิธีการที่จะทำให้เขาหายจากความโกรธนั้นด้วย แล้วก็ได้ธรรมมะ เกิดความเข้าใจ ก็จะได้เจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป
ทีนี้ที่อาตมภาพจะนำมาเล่าในที่นี้ก็เป็นตัวอย่าง เรื่องที่เป็นชุดเดียวกันเกือบทั้งหมด คือสมัยก่อนเนี่ยพราหมณ์ไม่ค่อยจะนับถือพระพุทธศาสนา เพราะว่าเป็นพวกนักปราชญ์และก็เป็นพวกเจ้าลัทธิเดิม เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้มา ก็มาสอนหลายอย่างที่ขัดกับพวกพราหมณ์ พราหมณ์ก็ไม่พอใจ ฉะนั้นพราหมณ์หลายคนเนี่ย ก็ถือตัวว่าเขามีความรู้ดี พระพุทธเจ้าจะเป็นใครมาจากไหน แม้จะเป็นกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์เขาก็ถือว่าวรรณะพราหมณ์สูงกว่า
อย่างของเรานี่ เราเรียงเป็นว่า กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร วรรณะสี่ แต่ของพราหมณ์เขาเรียงเป็น พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร เขาไม่ได้เรียงอย่างเรา เขาถือว่าพราหมณ์สูงกว่า เกิดจากพระโอษฐ์ของพระพรหม ส่วนกษัตริย์นั้นเกิดจากแขนหรือพระพาหาของพระพรหม เพราะฉะนั้นพราหมณ์เขาถือตัวมาก ยิ่งมาในเรื่องของศาสนา ในเรื่องของปัญญาด้วย กษัตริย์จะมาสู้พราหมณ์ได้อย่างไร พราหมณ์เขาก็ถือตัวมาก เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าตรัสรู้ไปสั่งสอนเขาก็ไม่ค่อยยอมรับ เขาจะมีการทดลองภูมิรู้อะไรกันหรือว่ามาโต้เถียง มาพยายามหักล้าง กว่าพระพุทธเจ้าจะได้สามารถทำให้พราหมณ์ยอมรับนับถือก็ต้องใช้เวลาเหมือนกัน แต่ว่าพระพุทธเจ้าก็มีวิธีการ แม้แต่เริ่มต้นจะเห็นว่า ท่านโกณฑัญญะก็เคยเป็นพราหมณ์มาก่อนก็ได้มาเลื่อมใส เพราะเหตุที่มีพราหมณ์ที่มีชื่อเสียงคนสำคัญๆ มาเลื่อมใส ก็ทำให้มีพราหมณ์คนอื่นๆ เข้ามามากขึ้น
ทีนี้เรื่องที่จะเล่านี้เกี่ยวกับว่า พราหมณ์ก็ไม่ชอบใจพระพุทธเจ้าอยู่เหมือนกัน ก็มีอยู่ครอบครัวหนึ่ง ฝ่ายแม่บ้านชื่อธนัญชานีเป็นพราหมณี ได้มาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแล้ว มีความเคารพในพระรัตนตรัยมาก เวลาทำอะไรพลั้งพลาด แทนที่จะอุทานเป็นอย่างอื่นก็อุทานเป็น “นะโม ตัสสะ” ไปหมด ธนัญชานีพราหมณีอุทานอย่างนี้เสมอ วันหนึ่งขณะที่คดข้าวให้พราหมณ์ผู้ที่เป็นสามี เชื้อก็เดินมา จะนำมาให้ก็เกิดสะดุดพลาดไป พอสะดุดพลาดก็อุทานออกมาอีกว่า “ นะโม ตัสสะ นะโม ตัสสะ นะโม ตัสสะ” ฝ่ายพราหมณ์ผู้เป็นสามีนั้นก็โกรธขึ้นมา ได้ยินอุทานว่าพระพุทธเจ้าอีกแล้ว บอกว่า “นี่นะ นางนี่ ทำไมน้า พระสมณโคดมนั้นมีดีอะไร พระหัวโล้นองค์นี้ ฉันจะต้องไปทำให้พูดไม่ออกเลยทีเดียว”
นางพราหมณีก็บอกว่า “อ้าว ใครจะไปทำให้พระพุทธเจ้านี้พูดไม่ออกได้ ไม่มีใครทำได้หรอก แต่ว่าท่านจะลองดูก็ได้” เขาว่าอย่างนั้น ฝ่ายพราหมณ์นี้ก็โกรธมากพอหลังจากอาหารวันนั้นแล้วก็ตรงไปที่พระเวฬุวัน ตอนนั้นพระพุทธเจ้าประทับที่ราชคฤห์ พอเข้าไปหาทักทายกันเสร็จแล้ว พราหมณ์ก็ถามปัญหาพระพุทธเจ้า ว่า “ฆ่าอะไรก็ได้จึงจะเป็นสุข ฆ่าอะไรได้แล้วจะได้ใจสบาย” พระพุทธเจ้าก็รู้ว่าพราหมณ์นี้กำลังโกรธมา ท่านตรัสตอบมาเลยบอกว่า [06:00]
“ฆ่าความโกรธแล้วได้ใจจะเป็นสุข ฆ่าความโกรธแล้วได้สบาย ความโกรธเนี่ยปลายหวานแต่รากเป็นพิษ ถ้าหากว่าทำลายความโกรธนี้ได้แล้ว จะไม่เศร้าโศกเลย”
ทีนี้การอธิบายธรรม ชี้แจงคำสอนที่ตรงกับจิตใจ แทงใจของพราหมณ์ ก็ทำให้พราหมณ์เนี่ยได้หันมานับถือพระพุทธศาสนา จนในที่สุดท่านพราหมณ์ผู้นี้ก็ได้ออกบวช แล้วก็ได้บรรลุอรหันตผล เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง
ทีนี้พราหมณ์ตระกูลนี้ ซึ่งมีชื่อตระกูลว่าภารทวาชะเนี่ย เป็นตระกูลใหญ่มากตระกูลหนึ่ง พราหมณ์ในตระกูลนี้อื่นๆ หลายๆ คนก็ไม่พอใจที่ว่าพราหมณ์ในตระกูลของเราเนี่ย ซึ่งเป็นตระกูลที่มีชื่อเสียง เป็นตระกูลกว้างขวางใหญ่โตเนี่ยมาบวช ไปเป็นลูกศิษย์พระสมณโคดม ไม่ชอบใจเลย พราหมณ์อีกคนหนึ่งซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกันนี้ ก็ด้วยความโกรธก็คิดว่า เอาล่ะ เราต้องไปหักล้างพระพุทธเจ้าให้ได้ ด้วยความโกรธนั้น วันหนึ่งก็เดินตรงไปที่พระเวฬุวัน ก็เข้าไปถึงพระพุทธเจ้า ทีนี้ด้วยความโกรธมาก ก็เข้าไปด่า ด่า อะไรต่างๆ มากมายสาดเสียเทเสีย จนกระทั่งสะใจ
ฝ่ายพระพุทธเจ้านั้นก็ประทับนิ่ง ทรงฟัง ถ้าอย่างคนธรรมดาเราก็เรียกว่าด้วยใจเย็น จนกระทั่งพราหมณ์นี้ด่าจบแล้ว พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถามบ้าง ท่านตรัสถามไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับที่พราหมณ์มาด่าเลย พระพุทธเจ้าตรัสถามบอกว่า “นี่แน่ะท่านพราหมณ์ ที่บ้านของท่านนะ มีญาติมิตรเค้ามาหาเป็นแขกบ้างไหม” พราหมณ์ก็คงจะนึกว่า เอ๊ พระพุทธเจ้านี่ หาว่าเรานี่เป็นคนดุร้ายชอบด่าคน คงจะไม่มีใครมาหาแล้วมั้ง ก็เลยยิ่งโกรธก็บอกว่า “มีสิ ทำไมจะไม่มี คนมาหาฉันก็มี” พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามบอกว่า “เออ แล้วก็เวลาเค้ามาหาเนี่ย ท่านเอาน้ำ เอาของอะไรต่างๆ มาต้อนรับเขาบ้างไหม” พราหมณ์ก็ เอ๊ คล้ายๆ ว่าพระพุทธเจ้านี่หาว่าเราเป็นคนคงจะไม่มีวัฒนธรรมหรือไง ก็บอกว่า “ก็ต้อนรับสิ ฉันก็เอาน้ำ เอาอะไรมาต้อนรับแขก” พระพุทธเจ้าก็ตรัสต่อไปบอกว่า “เออแล้วก็เนี่ย ถ้าแขกเขาคุยอะไรต่ออะไรทำธุระเสร็จ แล้วเขาก็กลับไป แล้วเขาไม่ได้รับประทานของที่ท่านนำมาต้อนรับเนี่ย ของนั้นจะเป็นของใคร” พราหมณ์บอกว่า “อ้าว ก็เป็นของฉันสิ ฉันเป็นเจ้าของนี่” ว่างั้น บอกว่า “เอาล่ะ ท่านพราหมณ์ เหมือนกันแหละ ที่ท่านมาด่าข้าพเจ้าวันนี้ เอาคำด่า คำบริภาษอะไรต่างๆ มาให้แก่ข้าพเจ้าเนี่ย ข้าพเจ้าไม่รับนะ ก็เป็นของท่านเองก็แล้วกัน” พระพุทธเจ้าก็ตรัสไปอย่างนี้ ก็บอกว่า [09:15]
“เนี่ย ถ้าคนเขามาด่า มาโกรธเรา บริภาษเราแล้ว เราไปด่าตอบเนี่ย ก็เหมือนกับไปรับประทาน หรือบริโภคร่วมกันกับเขา เพราะฉะนั้นก็พลอยไม่ดีไปด้วย ฉะนั้นทางที่ถูกต้องคือ ต้องไม่โกรธ"
แล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนคติเกี่ยวกับเรื่องความโกรธให้ จนกระทั่งพราหมณ์นั้นก็เลื่อมใส ก็ปรากฎว่าพราหมณ์คนนี้ก็ได้ออกบวชเช่นเดียวกัน ก็ 2 แล้ว ในตระกูลภารทวาชชาติ สำหรับคราวนี้
ทีนี้พราหมณ์อีกท่านหนึ่งก็โกรธเช่นเดียวกัน เอ ตระกูลนี้ ทำไมพวกเราอย่างน้อย 2 คน ไปบวชแล้ว ไปเลื่อมใสเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ไม่ได้ เอาใหม่ เราไปบ้าง ทีนี้พราหมณ์คนนี้ก็เอาอีก วันหนึ่งก็มาหาพระพุทธเจ้าแบบเดียวกัน มาถึงก็ด่าอีกแหละ ด่า ด่า ด่า ด่า ด่า คราวนี้พระพุทธเจ้านอกจากนิ่งตลอดที่เขาด่าแล้ว เขาด่าเสร็จก็นิ่งอีก ไม่ตอบไม่โต้อะไร ไม่ถามเหมือนคราวก่อน พราหมณ์นั้นก็เลยบอกว่า “นี่ ท่านแพ้แล้ว เราชนะแล้ว” พอด่าเสร็จนี่แล้วยังนิ่ง นี่ก็คงแสดงว่าไม่รู้จะพูดยังไง ก็เลยนึกว่าพระพุทธเจ้าแพ้แล้วจึงนิ่งเสีย ก็บอกว่า “นี่ท่านแพ้เราแล้ว” พระพุทธเจ้าก็ตรัสเป็นภาษิตบอกว่า “คนโกรธเขา คิดว่าตัวเองด่าเขาได้ เอาคำหยาบคายไปด่าเขาได้ นึกว่าตัวชนะ แต่คนมีปัญญาเขารู้ว่า คนที่อดทนได้สำเร็จนั่นแหละคือชนะ” แล้วก็ตรัสสอนต่อไปบอกว่า [11:02]
“คนที่ไม่โกรธตอบผู้ที่โกรธมา แล้วก็ไม่ด่าตอบผู้ที่ด่ามาเนี่ย ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยากแล้ว แล้วคนที่ทำเช่นนี้ได้นะชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่ทั้ง 2 ฝ่าย คือบำเพ็ญประโยชน์ทั้งแก่ตนเองด้วยและแก่ผู้อื่นด้วย คือตนเองก็สบายใจไม่ต้องทุกข์ต้องร้อนจากความโกรธ ไม่เกิดเรื่องเกิดราว แล้วเป็นประโยชน์กับคนที่มาด่าด้วย ทำให้ระงับเรื่องทำให้เขาไม่ต้องเดือดดาล ไม่ต้องโกรธยิ่งๆ ขึ้นไป แล้วก็ไม่ต้องก่อความเสียหายต่างๆ"
พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอน พราหมณ์คนนี้ก็เลยกลับใจหันกลับมานับถือพระพุทธศาสนา
นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง แล้วก็มีพราหมณ์อีกท่านหนึ่งเนี่ย ในชุดนี้มีด้วยกันอยู่ 4 คน ซึ่งเมื่อได้ข่าวอย่างนี้ก็ไม่พอใจเช่นเดียวกัน แต่ทีนี้มาวิธีใหม่ คราวนี้แกมาหาพระพุทธเจ้าแล้ว มาถึงก็นั่งนิ่ง ยืนนิ่งเฉยๆ เลย ไม่พูดไม่จาอะไรทั้งนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงรู้ทัน ก็ทายใจเขาแล้ว ก็ตรัสบอกว่า [12:15]
“คนที่คิดประทุษร้าย คนที่ไม่ได้คิดประทุษร้ายด้วยนั้นนะ ผลร้ายจะตกแก่ตนเอง เหมือนกับซัดฝุ่น ขว้างฝุ่นไปทวนลม ฝุ่นก็จะปลิวกลับมาหาตัว”
พระพุทธเจ้าก็ตรัสอย่างนี้ ก็ไปตรงใจเขาอีกแหละ ก็เลยทำให้ได้ตรัสเทศนาสั่งสอน เขาก็หันมาเลื่อมใสพระองค์ นี่ก็เป็นวิธีการต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าได้เอาชนะคนโกรธ จะเห็นว่าใช้วิธีต่างๆ กัน
หรืออย่างที่อาตมภาพเล่าอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องเวรัญชพราหมณ์ ท่านผู้นี้อายุมาก พระพุทธเจ้าก็ได้ไปถึงถิ่นของท่านเวรัญชพราหมณ์ วรัญชพราหมณ์ก็ได้ยินกิตติศัพท์พระพุทธเจ้า ก็เลยมาเฝ้า แต่โดยที่ท่านถือว่าท่านอายุมากแล้ว แล้วก็เป็นพราหมณ์ด้วย ก็เห็นว่าพระพุทธเจ้าควรจะเคารพท่าน ควรจะลุกรับไหว้หรืออะไรอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้แสดงความเคารพตามที่ท่านคาดหวัง ท่านก็โกรธมาก ท่านโกรธก็เลยด่าว่าพระพุทธเจ้าต่างๆ คำด่าของท่านนั้นมีเป็นหลักๆ เป็นคำสำคัญอยู่ 8 คำ แต่เป็นภาษาบาลี คำเหล่านี้ มันเป็นเรื่องเฉพาะของภาษาคือเป็นคล้ายๆ การเล่นคำ คำหนึ่งเนี่ยอาจจะแปลความหมายได้อย่างหนึ่งและแปลอย่างอื่นก็ได้
แต่ทีนี้ คำนั้นตามปกติก็ต้องแปลอย่างที่ท่านพราหมณ์ว่า คือเป็นคำด่า แต่พระพุทธเจ้ามีวิธีการที่จะแปลความหมายซะใหม่ เหมือนอย่างที่อาตมภาพเล่าให้ฟังคำหนึ่ง เช่นเขาด่าว่า “เจ้าเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด” อย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกว่า “เอ๊ ที่ท่านด่าข้าพเจ้ามานี่ มันก็มีส่วนถูกอยู่นะ” พระพุทธเจ้ารับไม่ได้โกรธ ไม่ได้ปฏิเสธ ไม่ได้ด่าตอบ บอกว่า “ที่ท่านด่าข้าพเจ้าเนี่ย มันก็ถูกอยู่เหมือนกันแหละ ไม่ผุด ไม่เกิด ข้าพเจ้าก็ได้ทำลายสังสารวัฏแล้ว ก็ไม่เป็นคนผุดเกิด" แล้วก็ด่าอะไรต่างๆ เนี่ย รวมทั้งหมดที่เป็นคำสำคัญ 8 คำ พระพุทธเจ้าก็แก้แบบนี้หมดบอกว่า “ที่ท่านด่ามานั้นก็ถูก ข้าพเจ้าเป็นอย่างนี้อย่างนั้น คำที่ท่านว่ามาจึงถูกต้อง” ก็อธิบายเป็นธรรมะไปหมด ก็เลยกลายเป็นว่าพระพุทธเจ้าเอาคำด่าของเขามาให้อธิบายธรรมะ อธิบายไป พราหมณ์ก็เลยเลื่อมใส ก็มานับถือพระพุทธศาสนา
นี่ก็เป็นวิธีการต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าใช้ในการที่จะผจญกับคนโกรธ หลักสำคัญก็คือว่า ต้องมีพื้นฐานในใจที่มีเมตตาธรรม วางไว้เป็นหลักเป็นพื้นก่อน [14:57]ถ้ามีเมตตาธรรมแล้ว มันก็จะทำให้เกิดความเย็น เพราะเมตตานี้เป็นคำตรงข้ามกับโทสะ โทสะความคิดประทุษร้าย แล้วก็ความโกรธ ตรงข้ามกับอโทสะ ได้แก่เมตตา คือความมีใจปรารถนาดี แต่ว่าพระพุทธเจ้านั้นทรงหมดกิเลสแล้ว เพราะฉะนั้นก็เลยไม่กระทบกระเทือน ใครมาคิดร้ายพระองค์ก็มีใจปรารถนาดีต่อเขา พร้อมกับคิดหาทางจะทำอย่างไรให้เขาหายความทุกข์ร้อน หายความเร่าร้อนใจ มีความสุข แล้วก็เจริญก้าวหน้าในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะฉะนั้นพระองค์ก็ทรงมีสติพร้อมบริบูรณ์ ที่จะหาวิธีการที่จะแก้ไขปัญหานั้นให้ลงท้ายเป็นผลสำเร็จด้วยดี
และเมื่อคนเราถ้าปฏิบัติตามพระพุทธองค์แล้ว ก็เอาจิตนี่บำเพ็ญเมตตาให้มาก ให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น จิตใจก็สบาย เมตตาธรรมก็นำมาซึ่งคุณสมบัติที่ดีงามของจิตใจอย่างอื่นหลายอย่าง เช่นว่า เมื่อเราบำเพ็ญได้สำเร็จ มีคนมาโกรธมาว่าแล้ว เราสามารถที่จะอดทนได้ ผ่านเหตุการณ์นั้นแล้ว เราจะรู้สึกปลื้มใจ มีปีติ เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า [16:14]
“ผู้ที่สามารถอดทนได้สำเร็จ ไม่ลุอำนาจความโกรธ พอผ่านเหตุการณ์นั้นไปแล้ว ก็รู้สึกตัวว่าได้ชัยชนะในเหตุการณ์นั้น"
ถ้าเรารู้ตัวว่าได้ชัยชนะเหตุการณ์นั้นแล้ว ก็จะเกิดความปีติ เกิดความปลาบปลื้มใจ เกิดความอิ่มใจขึ้นมา ก็เป็นผลดีต่อจิตใจ หรือว่า โดยที่มีเมตตาจิตใจแช่มชื่นเยือกเย็นนั้นก็สามารถ มีปราโมทย์ ก็คืออย่างที่ว่ามีจิตใจแช่มชื่นอยู่ได้เสมอ แล้วก็เพราะมีปีติ มีปราโมทย์นี้ จิตใจก็สงบระงับเย็น ไม่เครียด จิตใจก็ผ่อนคลายก็สบาย เรียกว่ามีปัสสัทธิ ถ้ามีปีติ มีปราโมทย์ มีปัสสัทธิเนี่ย ก็มีความสุข จิตใจมีความสุขแล้ว ก็น้อมให้เกิดสมาธิได้ง่าย เพราะฉะนั้น ธรรมเหล่านี้ก็เนื่องถึงกัน ถ้าสามารถชนะความโกรธได้ ดำรงจิตไว้ในเมตตาได้ ก็เป็นคุณประโยชน์ต่อชีวิตและแก่การปฏิบัติธรรมอย่างมากมาย
วันนี้ อาตมาภาพก็เล่าเรื่องให้โยมฟัง โดยทบทวนเรื่องความโกรธ ก็พอสมควรแก่เวลา ก็ขออนุโมทนาโยมอีกครั้งหนึ่ง