แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ค่ำนี้ก็จะคุยกันเรื่องธรรมะที่ต่อเนื่องจากฉันทะ ฉันทะ ความใฝ่ดีไปเกี่ยวข้องกับอะไรก็อยากให้สิ่งนั้นดีงาม หรือทำให้ดีที่สุด ทีนี้พอมาเกี่ยวข้องกับคนเข้าก็อยากจะให้คนนั้นอยู่ในภาวะที่ดีของเขา อยู่เป็นสุขสบายมีสุขภาพดีแข็งแรงก็กลายเป็นความปรารถนาดี ความปรารถนาดีนี้คืออะไรครับเรานึกถึงศัพท์คำพระที่เราใช้เสมอ ตอนนี้เราจะมาถึงธรรมะชุดที่ใช้กันเป็นคำพูดสามัญในภาษาไทยมากที่สุดนะ
คาบเมตตากรุณา แต่ว่ามันจะเริ่มด้วยเมตตาก่อน ทีนี้ว่าคนเรานี้ไม่เหมือนกับสิ่งของ การปรารถนาดีนั้นก็คือ ความเป็นมิตร เรามีศัพท์อยู่แล้วเราก็เลยใช้ศัพท์ว่าเป็นมิตรนั่นเอง เป็นมิตรก็คือ ปรารถนาดี มิตรนั้นแปลว่าผู้รักใคร่ ทีนี้ก็มิตรนั่นเองก็มาเป็นเมตตา เพราะว่าศัพท์บาลีเวลาเราใช้ในภาษาไทยเราจะมีการแปลง อี(e) เป็น เอ(a) แต่นี้ในภาษาบาลีเองก็แปลงนะคือ มิตตะนี้เป็นคน เวลาแปลงเป็นตัวนามเป็นสภาวะก็แปลง อี(e) เป็น เอ(a) มิตตะก็กลายเป็นเมตตะแล้วทำตามวิธีของไวยากรณ์ก็เติมเขาเรียกว่า suffix หรือปัจจัยลงไปก็กลายเป็น อะ เป็น อา เป็นเมตตา เมตตากับมิตรมาจากคำเดียวกัน เพราะฉะนั้นเวลาฝรั่งแปลเมตตานี่เขาจะแปลว่า fairness ความเป็นอย่างมิตร หรือเดี๋ยวนี้นิยมเรียกว่า ???นาทีที่3.06น เมตตาก็คือ น้ำใจของมิตร หรือคุณสมบัติของมิตร หรือคุณธรรมของมิตร เพราะนั้นเมตตาก็คือ ความรักความปรารถนาดีเป็นมิตรไมตรีอยากให้เขาเป็นสุขก็คือ อยากให้เขาอยู่ในภาวะที่ดีที่สุดก็เป็นฉันทะต่อเพื่อนมนุษย์ แต่ทีนี้ว่ามนุษย์นี่เราอย่างที่บอกเมื่อกี้แล้วว่าไม่เหมือนกับสิ่งของ สิ่งของก็ปรารถนาดีสิ่งนั้นอยากให้สิ่งนั้นดีงาม งดงามสวยงามดีที่สุดมันก็แค่นั้น แต่ทีนี้คนเรานี่มันมีชีวิตซึ่งเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์มันไม่หยุดอยู่แค่สถานการณ์เดียว คนเราก็จะมีสถานการณ์ที่ประสบเปลี่ยนแปลงไป
สถานการณ์ที่หนึ่งก็คือ สถานการณ์ปกติ เขาก็อยู่ธรรมดาของเขา เราก็มีอันนี้ความปรารถนาดีอยากให้เขาอยู่ดีเป็นสุขเป็นมิตรอันนี้ก็คือ เมตตาใช้ในสถานการณ์ปกติ ทีนี้คนเรามันจะเปลี่ยนสถานการณ์ สถานการณ์ที่สองคืออะไร เปลี่ยนจากปกติลองทายจะเป็นอย่างไร ทีนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปคนนี้จะเปลี่ยนเป็นคนอย่างไร สถานการณ์ที่คนเราได้ประสบอยู่ดีเป็นปกติแล้วก็เป็นมิตรกัน ทีนี้ต่อมาจะเปลี่ยนคนลองทายสถานการณ์อะไรถ้าไม่ปกตินี้คนจะเป็นอะไร ไม่ขึ้นก็ลงนั่นถูกต้องสถานการณ์ที่สองเอาลงก่อน ลงก็คือ ตกต่ำ เดือดร้อนเป็นทุกข์ใช่ไหม พอสถานการณ์เปลี่ยนไปความปรารถนาดีต่อคนก็เปลี่ยนไป เปลี่ยนจากการที่เป็นมิตรปรารถนาดีเฉยๆ ก็กลายเป็นอยากช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ทำให้เขาพ้นจากทุกข์ขึ้นมา จากเมตตาก็จะเปลี่ยนคุณธรรมไปเป็นตัวที่สองลองทายจะเปลี่ยนเป็นอะไร ก็ง่ายนิดเดียวนะเป็นกรุณา นี่หลายคนแยกไม่ถูกตอนนี้จะได้แยกว่าคำสองคำนี้ใช้เป็นคำสามัญในภาษาไทย เมตตา กรุณา บางทีก็พูดควบกันไปแล้วหลายคนไม่สามารถอธิบายได้ว่าเมตตา กับกรุณาต่างกันอย่างไรก็ต้องเดาเอา หรืออะไรหาทางอธิบายไปต่างๆ นาๆ แต่ก็ไม่ตรงที่แท้มันอยู่ที่ตรงนี้ เพราะว่าธรรมะเหล่านี้เป็นธรรมะต่อคนอื่นเราก็ต้องดูที่คนอื่นเขามีภาวะเป็นอย่างไร สถานการณ์ที่สองก็คือ เขาตกต่ำเดือดร้อนเป็นทุกข์ เราก็มีกรุณาคือ อยากช่วยเหลืออยากปลดเปลื้องทุกข์ทำให้เขาพ้นจากความทุกข์นั้นขึ้นมานี่เรียกว่า กรุณา ต่อไปก็สถานการณ์ที่สามทีนี้ขึ้น ขึ้นก็คือว่า ประสบความสำเร็จได้มีความสุข หรือทำสิ่งที่ถูกต้องดีงามอันนี้ก็จะเปลี่ยนเป็นธรรมะข้อที่สามซึ่งอยู่ในชุดนี้คืออะไรเอ่ยลองทาย อันนี้อาจจะไม่ค่อยได้ยิน มุทิตา นี่แหละสามมาแล้ว มุทิตาก็แปลว่า พลอยยินดีด้วยชื่นอกชื่นใจด้วยพร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุน มุทิตานี่ก็เป็นธรรมะสำหรับการสนับสนุน กรุณานี่ช่วยคนให้พ้นทุกข์ช่วยคนเดือดร้อน แต่มุทิตานี่ส่งเสริมสนับสนุนคนที่ทำความดี หรือได้ประสบความสำเร็จความสุขใช่ไหม
สามแล้วครับสถานการณ์ให้สังเกตว่าในภาษาไทยนี่เราได้ยินบ่อยว่าเมตตากรุณา ใช้มาแล้วคนไทยก็มีเมตตากรุณาจริงๆ แต่ธรรมะไม่ครบชุด ธรรมะนี่ต้องมาครบชุด ธรรมะชุดนี้มีสี่ข้อเรามาใช้แบบว่าเอามาเป็นข้อๆ ไม่ดึงมาใช้ทั้งชุดทำให้เกิดความบกพร่อง ธรรมะนี้ถ้าใช้ไม่ครบชุดนะแม้จะธรรมะดีๆ ก็อาจจะเกิดความเสียหาย สิ่งที่ดีใช้ผิดนี่เสียหายบางทีรุนแรงเหมือนกันนะก็เหมือนกับวัตถุอะไรต่างๆ เพราะนั้นธรรมะ เมตตา กรุณา ถ้าใช้ผิดก็เกิดโทษคือ ใช้ผิดสถานการณ์ การที่จะผิดก็เพราะไม่ครบทั้งชุดเพราะว่าท่านตรัสไว้พระพุทธเจ้าแสดงไว้นี้ครบชุดสี่ข้อเพื่อให้ใช้กับสถานการณ์ต่างๆ อย่างถูกต้อง พอเราใช้ถูกกับสถานการณ์แล้วก็หมดปัญหาไม่มีปัญหา ทีนี้เมตตากรุณาเราใช้กันบ่อยพูดถึงกันอยู่เรื่อย แต่มุทิตาไม่ค่อยพูดในสังคมไทยก็มีคำตำหนิกันว่าคนไทยเรานี่เวลามีคนประสบความสำเร็จทำสิ่งที่ดีงามสร้างสรรค์แล้วไม่ค่อยสนับสนุนกัน จริงหรือเปล่าไม่รู้นะ ไม่ค่อยมีมุทิตาหรืออย่างไรนะ แสดงว่าขาดไปแล้วว่าอย่างนั้นน่าตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนอย่างน้อยเป็นข้อสังเกต ทีนี้ถ้าหากว่าตรงข้ามกับมุทิตา มันก็จะเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า อิจฉาริษยา ใช่ไหม ตรงข้ามเลยอันนี้แต่ที่จริงศัพท์แท้มันคือ ???นาทีที่9.14น คนไทยเรียกเพี้ยนมาเป็นอิจฉาริษยา อิจฉามันกลายเป็นคนละศัพท์ อิจฉา นั้นแปลว่า ความอยาก ???นาทีที่ 9.22น แปลว่า ความริษยา เราใช้ผิดเพี้ยนกันไป เอาละครับก็เป็นว่าสถานการณ์ที่สามอันนี้ศัพท์นี้ได้ยินน้อยหน่อยก็คือคำว่า มุทิตา พลอยยินดีด้วยพร้อมจะส่งเสริมสนับสนุนผู้ที่จะทำความดีงามประสบความก้าวหน้า และความสำเร็จมีความสุข สามสถานการณ์แล้วครับ
ทีนี้ก็ลองคิดดูว่ายังมีอีกข้อหนึ่งจึงจะครบสี่ สถานการณ์ที่อะไรจะใช้ข้อที่สี่ แล้วข้อที่สี่นี้คืออะไร อุเบกขา อุเบกขา ทีนี้อุเบกขาจะใช้ในสถานการณ์อะไร ???นาทีที่10:06น อันนี้มันต้องใช้สถานการณ์หนึ่งก็ใช้ข้อหนึ่ง ทีนี้ในเมื่อเขาตกต่ำก็น่าจะมากรุณาใช่ไหม เมื่อใช้กรุณาก็ไม่ต้องอุเบกขามันต้องใช้คนละสถานการณ์ ทีนี้จะใช้สถานการณ์ไหน นี่ดูเหมือนครบแล้วนะคนถ้าไม่ปกติมันก็ขึ้นก็ลงอย่างที่ท่านสาโรจน์ว่าแล้วยังมีสถานการณ์ไหน ไม่เปลี่ยนแปลงก็อยู่ในสถานการณ์ที่หนึ่งใช่ไหมปกติ ชอบกลนะยังมีอยู่ข้อหนึ่งแล้วถ้าขาดข้อนี้แล้วสามข้อข้างต้นนี่อาจจะพลาด แล้วอาจจะทำให้เกิดความเสียหายด้วย สถานการณ์ที่สี่คืออะไร อย่าคิดยาวกันนะ นึกออกไหม นึกยากนะสถานการณ์ที่สี่ ???นาทีที่11:22น เอาใจเป็นกลางในกรณีที่เป็นศัตรูอันนี้มันก็มันเป็นเรื่องส่วนตัวแล้ว โดยหลักธรรมแล้วท่านไม่ได้เอามาใช้ คล้ายๆ ว่าแต่อย่างไรก็ว่า ถึงเป็นศัตรูถ้าเรามีน้ำใจมากเราอาจจะไปช่วยก็ได้นะใช่ไหม อาจจะเป็นโอกาสที่จะได้เลิกเป็นศัตรูกันเสียที ???นาทีที่12:12น สถานการณ์ที่ช่วยไม่ได้อันนั้นก็สุดวิสัยแต่ว่าก็อาจจะเป็นได้บ้างแต่ก็ยังไม่ถึงกับตรง สถานการณ์มันต้องเป็นหลักกลางๆ เลย เพราะว่าบางทีเราก็ต้องช่วยจนสุดวิสัยของเราเหมือนกันใช่ไหม บางทีบางครั้งนี่ยังอย่างพระโพธิสัตว์ท่านอาจจะช่วยถึงขนาดสละชีวิตของตัวเราเอง แต่ว่าทีนี้ก็อยู่ที่ว่าเราจะขนาดไหนใช่ไหมหมายความว่า ธรรมะเปิดโอกาสไว้ก่อนแต่ว่าเราจะช่วยขนาดไหนก็อันนั้นขึ้นต่อสถานการณ์ขึ้นต่อวิสัย หรือว่าคุณธรรม หรือความสามารถของเราเองอันนั้นเป็นอีกส่วนหนึ่ง ในทุกข้อแหละในทุกข้อก็ต้องมีเรื่องของตัวเองเข้าไปด้วย แต่นี้หลักกลางเอาไว้ก่อน อันนี้จะเป็นหลักการใช้สากลเลยสถานการณ์เหมือนกันหนึ่งสองสามเหมือนกัน สถานการณ์ที่สากลเหมือนกันคือ ใช้ได้กับทุกคน ???นาทีที่13:21น อันนี้มันธรรมะชุดนี้มันเกี่ยวกับคนทั้งนั้น ปฏิบัติต่อคนอื่นชุดนี้ปฏิบัติต่อคนอื่นก็หมายความว่า คนอื่นนั้นจะตกอยู่ในสถานการณ์อะไรเท่านั้นเองเราจึงจะใช้อันนี้ อันนี้ยากนิดหน่อยนะแต่ว่าถ้าขาดอันนี้แล้วก็ธรรมะจะขาดความสมบูรณ์ และก็พลาดได้ นี่แหละที่พระพุทธเจ้าตรัสธรรมะเป็นชุดๆ ในสังคมไทยเราดึงเอามาใช้เป็นข้อๆ ทำให้แยกทำให้ขาดๆ หลุดๆ พร่องๆ ไปไม่สมบูรณ์แล้วก็ทำให้เกิดปัญหาในสังคมได้ ถ้าปฏิบัติของท่านครบแล้วก็แก้ปัญหาได้ท่านมีเหตุผลของท่านพร้อมเลย อ้าวเฉลยก็แล้วกันนะสถานการณ์ที่สี่ก็คือ อย่างนี้เดี๋ยวให้เหตุผลเสียก่อนคือว่า โลกมนุษย์เรานี่จะอยู่ได้ดีมนุษย์ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เราก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก็สามสถานการณ์นี้นะ ยามปกติก็เป็นมิตรไมตรีปรารถนาดี ยามที่เขาตกต่ำเดือดร้อนก็ช่วยเหลือเกื้อกูลให้พ้นทุกข์ ยามเขาประสบความสำเร็จก็ส่งเสริมสนับสนุนพลอยยินดีด้วย อันนี้ก็เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นี่เป็นโลกมนุษย์อย่างนี้ก็คล้ายๆ ว่าโลกมนุษย์ก็น่าจะอยู่ดีแล้วใช่ไหม แต่โลกมนุษย์นี้ไม่ได้อยู่แค่โลกมนุษย์เท่านั้นนะ สิ่งที่รองรับโลกมนุษย์ไว้คือ ธรรมชาติ หลักธรรมความเป็นจริง ความจริงของสิ่งทั้งหลายที่โลกนี้เปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยของมัน หลักการของความเป็นธรรมความดีงามอะไรต่างๆ เหล่านี้ ความดีงามความถูกต้อง ความเป็นธรรมอะไรต่างๆ เหล่านี้มันรองรับโลกมนุษย์อยู่ มนุษย์สัมพันธ์กันดีช่วยเหลือกันแต่ว่าถ้าปฏิบัติผิดธรรม หรือมนุษย์เหล่านี้ช่วยเหลือกันดีในสามสถานการณ์แรกแต่ว่าสมคบกันปฏิบัติผิดธรรมะ ทำลายธรรมะ ละเมิดธรรมะโลกนี้ก็ไปไม่รอดไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีความยุติธรรม หรือเสียหลักการแห่งความถูกต้องความดีงามในหมู่สังคมมนุษย์ เพราะนั้นเมื่อมนุษย์มาสัมพันธ์กันมีความช่วยเหลือเกื้อกูลกันนั้นจะต้องระวังไม่ให้ไปเสียหายต่อธรรมะใช่ไหม อันนี้เพราะนั้นก็จะมีอีกจุดหนึ่งก็คือว่า ถ้าในกรณีที่ความสัมพันธ์กันในหมู่มนุษย์ในข้อหนึ่งสองสามไปส่งผลกระทบเสียหายต่อธรรมะ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงามที่เป็นหลักการที่ธำรงรักษาสังคมมนุษย์ไว้ สามข้อแรกนี้ท่าทีต้องหยุดเพื่อจะให้เป็นไปตามข้อที่สี่คือ ถ้าไปกระทบเสียหายต่อธรรมะต้องเอาธรรมะเป็นหลักแล้วก็ต้องปฏิบัติต่อคนนั้นไปตามธรรมะเลยนี่คือ สถานการณ์ที่สี่ก็พูดง่ายๆ ว่าสถานการณ์ที่สี่ก็คือ สถานการณ์ที่การปฏิบัติต่อกันระหว่างมนุษย์ไม่ว่าในข้อใดก็ตามจะส่งผลกระทบเสียหายต่อธรรมะ ต่อหลักการแห่งความถูกต้องดีงาม หรือความเป็นธรรม อันนี้ก็จะยกตัวอย่างได้ง่ายๆ อันนี้ก็เอาอีกชิ้นหนึ่งกรณีผู้พิพากษา นายคนนี้ไปฆ่าเขาตายจริงผู้พิพากษาก็เห็นว่าถ้าตัวพิพากษาให้เขาถูกลงโทษเขาก็จะเดือดร้อนเป็นทุกข์ พอเดือดร้อนเป็นทุกข์ก็เลยกรุณาสงสารก็พิพากษาให้เขาพ้นผิดไป นี่ช่วยด้วยกรุณาอย่างนี้ความกรุณาอย่างนี้ผิดธรรมะใช่ไหม เสียหายต่อหลักการของสังคมทำลายความชอบธรรมความดีงามที่จะดำรงรักษาสังคม ถ้ามนุษย์ช่วยเหลือกันแบบนี้สังคมเองก็อยู่ไม่ได้ใช่ไหมตัวธรรมะมันไม่อยู่นี่คือ ละเมิดกฎธรรมะ หรือยกตัวอย่างอันหนึ่งซึ่งยกบ่อยๆ ก็คือว่า สมมุติว่ามีเด็กคนหนึ่งไปประสบความสำเร็จในการลักขโมยของได้เงินมาห้าพันบาทเขาก็มีความสุขใช่ไหม เขาประสบความสำเร็จเขาเรียกว่าได้เงินได้ทองมาน่ายินดี เราก็ทำอย่างไรถ้าตามสามข้อแรกไม่มีอันที่สี่ สามข้อแรกเป็นอย่างไรครับจะใช้อันไหน ???นาทีที่18:24น ไม่ใช่ เอาสามข้อแรกก่อนในกรณีที่ไม่มีข้อสี่ ???นาทีที่18:30น มุทิตาใช่ไหม เราก็ใช้มุทิตาก็พลอยยินดีด้วยส่งเสริมสนับสนุนใช่ไหม ก็เธอดีแล้วก็มีความสุขเสียทีได้มีเงินมีทองใช้ แล้วเป็นอย่างไรในกรณีนี้การแสดงออกซึ่งมุทิตานี้ไปกระทบละเมิดธรรมะใช่ไหม ทำให้เสียหายต่อหลักการของสังคมความถูกต้องความดีงามของสังคม สังคมอยู่ไม่ได้ถ้าเป็นอย่างนี้ใช่ไหม กลายเป็นมนุษย์มาสมคบกันในการที่จะทำลายหลักการ ทำลายสังคม ทำลายธรรมะ แล้วธรรมะนี้รองรับสังคมมนุษย์อีกชั้นหนึ่ง เพราะนั้นถ้ากรณีนี้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันนี้กลายไปกระทบเสียหายต่อธรรมะก็ต้องเอาธรรมะไว้ สามข้อหยุดผู้พิพากษาก็ต้องหยุดกรุณาไว้ก่อน หรือในกรณีนี้เราก็ต้องหยุดมุทิตาต่อเด็กใช่ไหม งดไว้แล้วให้อุเบกขาเข้ามา นี่แหละครับสถานการณ์ที่อุเบกขา สถานการณ์อุเบกขาก็คือ เราว่างเฉยต่อคนนั้น วางใจเป็นกลางไม่เข้าไปก้าวก่ายเพื่ออะไรเพื่อจัดการตามธรรมะ ตอนนี้ใครมีหน้าที่ตามธรรมะอย่างไรเป็นผู้พิพากษาก็ใช้ตัวบทกฎหมายว่าไป หรือว่าเด็กคนนี้เขาทำความผิดเราจะแก้ไขอย่างไรก็ต้องว่าไป นี่คือสถานการณ์ที่สี่ก็เป็นอันได้ความว่าสถานการณ์ที่สี่คือ กรณีที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในข้อหนึ่งถึงสามจะเป็นเมตตาก็ตาม กรุณาก็ตาม มุทิตาก็ตาม จะส่งผลกระทบต่อตัวธรรมะ ทำให้เสียหายต่อธรรมะก็ต้องหยุดไปทำไปเป็นสถานการณ์ที่สี่คือ ใช้อุเบกขา อุเบกขานี่ยากที่สุด เพราะว่าต้องใช้ปัญญา เมตตา กรุณา มุทิตานี่แทบไม่ต้องใช้ปัญญาเลยสถานการณ์เกิดขึ้นแสดงได้ทันที แต่อุเบกขานี่ต้องมีปัญญา เพราะนั้นอุเบกขานี่คนไทยนี้เข้าใจผิดมากคือ นึกว่าเฉยก็แล้วกันไม่เอาเรื่องเอาราว ถ้าหากว่าเฉยไม่เอาเรื่องไม่รู้เรื่องท่านเรียกว่า เฉยโง่ เป็นอกุศลเป็น อัญญาณุเบกขา นะนี่เป็นผิดเลย เฉยนี่ต้องมีปัญญาประกอบคือ ต้องสามารถวินิจฉัยว่าอันนี้มันละเมิดธรรมะทำให้เสียหลักของสังคมอะไรอย่างนี้นะ แล้วก็จะได้ปฏิบัติตามธรรมะคือ ต้องปฏิบัติตามธรรมะนั่นเอง ก็นี่ล่ะครับครบชุดแล้วเมตตากรุณาสังคมไทยพูดถึงบ่อย มุทิตาพูดถึงน้อยหน่อย อุเบกขาเข้าใจผิดเลย อุเบกขานี่ใช้ไม่ถูกไม่รู้เรื่อง ???นาทีที่21:30น อย่างนี้ต้องอุเบกขาเพื่อจะจัดการตามธรรมะ
เอาละครับตกลงครบสี่ ทีนี้ ???นาทีที่21:55น เฉยต่อเขาไม่เข้าไปก้าวก่ายในตัวเขาแต่ว่าให้ปฏิบัติตามธรรมะคือ หมายความว่าเอาธรรมะมาเป็นใหญ่เลยเพื่อให้ธรรมะมาดำเนินการได้คือ เราหยุดต่อคนนั้นเพื่อให้ธรรมะเข้ามาจัดการ ทีนี้ใครมีหน้าที่ในธรรมะนั้นก็ดำเนินการตามนั้น ที่เราเป็นผู้พิพากษาแล้วก็ต้องว่าไปตามกฎหมายอะไรอย่างนี้ เป็นต้น อุเบกขาไม่เข้าไปแทรกแซงไม่ไปแทรกแซง อุเบกขาก็คือ ไม่แทรกแซงแต่ว่าเพื่อจะให้โอกาสให้ธรรมะมาดำเนินการหมายความว่า จะเป็นอย่างไรให้ถูกต้องตามธรรมะก็ว่าตามนั้นไม่ช่วยแล้ว ???นาทีที่22:48น หมายความว่าเราไม่เข้าไปก้าวก่ายขบวนการของธรรมะ เฉยในที่นี้คือ เฉยไม่ก้าวก่ายคือ วาง เฉยท่านแปลว่าวางใจเป็นกลาง วางใจเป็นกลางเพื่อให้ธรรมะเข้ามาจัดการโดยที่ใครมีหน้าที่ตามธรรมะนั้นก็ทำไปตามนั้น เพราะเราอาจจะไม่ใช่เจ้าหน้าที่ก็ได้แต่ว่าเราไม่เข้าไปก้าวก่าย เพราะนั้นเดี๋ยวกลายเป็นว่าผู้พิพากษาเขาจะมีหน้าที่จัดการแล้วเราเข้าไปยุ่งเข้าไปแทรกแซงเข้าไปดึงเขาออกมาอะไรอย่างนี้ก็ผิด ???นาทีที่23:24น ใช่ จัดการตามธรรมะก็หมายความว่า พอสถานการณ์ที่กระทบธรรมะมา ให้สามข้อต้นหยุดไม่ทำตามสามข้อต้นเพื่อจะให้ทำตามธรรมะ เข้าใจแล้วนะ
เอาละครับก็จะเห็นว่าสามข้อแรกเป็นชุดเดียวกันรวมแล้วก็เป็นหนึ่งเดียวกันคือ เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือมนุษย์ต่อมนุษย์ สี่ ข้อที่สี่เป็นการสัมพันธ์กับมนุษย์ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับธรรมะก็เลยคล้ายๆ ว่าสรุปแล้วเป็นสองฝ่ายคือ สามข้อต้นเป็นชุดหนึ่งแล้วก็ข้อสี่เป็นต่างหากเลย นี้ข้อหนึ่งถึงสามชุดแรกนี่จะมุ่งไปที่คน จะคำนึงถึงสภาวะของคนเป็นสำคัญ แต่ข้อสี่ก็เกี่ยวกับคนคือ ในกรณีที่คนนั้นไปละเมิดธรรมะ แต่ทีนี้ว่าข้อสี่นี้เราจะถือธรรมะเป็นใหญ่เพราะฉะนั้นก็คือ การรักษาหลักการกฎเกณฑ์ ระเบียบกฎหมายอะไรต่างๆ ใช่ไหม ความถูกต้องชอบธรรมดีงามซึ่งธรรมะนี้มีสองระดับ ธรรมะที่เป็นตัวนามธรรมเป็นตัวธรรมชาติก็คือ หลักความจริงความถูกต้องความดีงามที่เป็นของสากลอยู่ ทีนี้ธรรมะระดับที่สองก็คือ ธรรมะที่มนุษย์มาจัดตั้งเป็นหลักการของสังคมเช่น กติกาสังคม ระเบียบกฎหมาย อันนี้ก็ถือว่าเป็นธรรมะเหมือนกันเช่น ที่เคยยกตัวอย่างว่าธรรมศาสตร์วิชาว่าด้วยธรรมคือ ความเป็นธรรมคือ วิชากฎหมาย เพราะฉะนั้นกฎหมายก็ถือว่าเป็นธรรมะชนิดหนึ่ง เป็นธรรมะชนิดที่ว่าโดยสมมุติที่มนุษย์เอาหลักการของความจริงความถูกต้องที่เป็นสากลนั้นมาวางเป็นกฎกติกาสังคมของตนเองขึ้น ทีนี้คนที่รักษาหลักอุเบกขา ปฏิบัติตามอุเบกขาก็จะใช้หลักการนี้มาดำเนินการ หลักการตามธรรมะหลักการตามกฎหมาย เพราะนั้นสังคมเหล่านี้ก็เกิดอะไรขึ้นว่าไปตามตัวบทกฎหมาย อย่างนี้เป็นต้น ถือกฎหมายเป็นเกณฑ์ The roots of the law ว่าอย่างนั้นนะ อย่างนี้เรียกว่า อุเบกขา ถ้าใช้ The roots of the law นี้คือ อุเบกขาแท้เลย ก็แล้วแต่ว่า law นั้นเป็น law ของธรรมชาติ หรือ law มนุษย์ก็แล้วแต่
เอาละครับตกลงว่าแยกกันได้แล้ว ทีนี้สังคมจะต้องรักษาดุลยภาพอันนี้เอาไว้ให้ได้ จะเห็นว่าในบางสังคมนี่มนุษย์จะมีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้สูง เอาใจใส่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจนกระทั่งว่าข้อที่สี่นี้หย่อนมากคือ พอข้อที่สี่หย่อนก็คือว่า จะไม่ค่อยเอากฎเอาเกณฑ์กติกาไม่ค่อยเอาหลักการคือ มุ่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นใหญ่จนกระทั่งช่วยเหลือกันเป็นส่วนตัว จนกระทั่งว่ามองข้ามกฎเกณฑ์กติกา หรือทำลาย หรือเลี่ยงเลยใช่ไหม ในบางสังคมจะหนักในแง่นี้นี่เรียกว่า เสียดุลแล้ว ข้อสี่อุเบกขานี่ไปแล้ว สังคมแบบนี้จะไม่ยึดถือหลักการกฎเกณฑ์ กติกากฎหมายจะไม่ค่อยได้ผลเพราะว่า ไปเอาสามข้อแรกนี้หนักเอียงไป ทีนี้ในบางสังคมนี้ตรงข้าม ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลน้อยคนไม่ค่อยมีน้ำใจกัน ไม่ค่อยช่วยเหลือกันแต่ถือหลักการกฎเกณฑ์ กติกาเป็นใหญ่ สังคมแบบนี้อุเบกขาหนักเอียงไปทางอุเบกขาจนถึงขนาดที่ว่าตัวใครตัวมันว่าคุณจะเป็นอย่างไรเรื่องของคุณคุณทำตามกฎเกณฑ์กติกานี้ก็แล้วกัน ถ้าทำตามนี้ก็ใช้ได้ ทำไม่ถูกฉันจัดการใช่ไหม ในสังคมเหล่านี้เรียกว่า หนักข้อสี่ เราจะเห็นได้เลยว่าสังคมนี่มีตัวอย่าง สังคมไทยเรานี่หนักในอันไหน สามข้อแรกโดยเฉพาะสองข้อจนกระทั่งอย่างที่ว่าอุเบกขาหายไปไม่รู้เรื่องเลย แล้วก็เข้าใจผิดด้วยนึกว่าเฉยไม่เอาเรื่องเอาราว นี่แสดงว่าสังคมเสียดุลสังคมไทยเอาธรรมะมาใช้ไม่ครบชุด เสียดุลทำให้หลักการกฎเกณฑ์กติกาไม่อยู่ ถูกมองข้าม หรือว่าแม้แต่ว่าช่วยกันจนกระทั่งทำลายหลักการกฎเกณฑ์กติกา ทีนี้อย่างสังคมฝรั่งนี่จะเอียงไหม เอียงไหม เอียงในทางไหน ทางอุเบกขาใช่ไหม จนกระทั่งตัวใครตัวมันอย่างว่าแหละ มันเรื่องของคนคนทำตามกฎเกณฑ์กติกาก็เรียบร้อยใช่ไหม ถ้าทำตามกฎเกณฑ์ก็ไม่มีปัญหา ถ้าคุณผิดกติกาโดนเลย อันนี้แสดงว่าสังคมที่หนักอุเบกขา
ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านวางสี่ข้อไว้นี้เพื่อให้เกิดความพอดีว่าทำอย่างไรสังคมจะรักษาดุลไว้ได้ ปฏิบัติให้ถูกต้องตามสถานการณ์ สำหรับมนุษย์ปุถุชนนี่ยากนะ แต่ว่านั่นแหละหลักการก็ต้องเป็นหลักการถ้าปฏิบัติได้ตามนี้ก็หมดปัญหา นี่ล่ะครับปัญหาของสังคมมนุษย์แล้วก็ธรรมะท่านวางไว้เพื่อแก้ไข เพื่อดำรงรักษาสังคมให้อยู่ได้ดี แต่บางที่เราก็ปฏิบัติไม่ถูกต้องครบถ้วน….