แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
[01:10] ประเด็นคำถาม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็มาคุยกันต่อ
พระนวกะ : มีเรื่องจะเรียนถามครับ คือผมมีฉันทะชอบเรียนเศรษฐศาสตร์มาตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงตอนนี้ก็เรียนถึงปริญญาเอกแล้ว ตอนแรกๆ นี่ก็รู้สึกภูมิใจในวิชาเศรษฐศาสตร์มากเพราะว่าสามารถที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับการตัดสินใจของคนได้ตลอด เพราะฉะนั้นตั้งแต่มนุษย์ยังเป็นวานร หรือจะเป็นเทวดา ก็สามารถใช้เศรษฐศาสตร์ตัดสินใจได้ พอช่วงปลายๆ ที่เรียนปริญญาตรีก็รู้ว่ามันมีข้อด้อยเยอะมาก โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก แล้วระบบทุนนิยมซึ่งมันล่มสลายโดยตัวของมันเอง แล้วคนที่คิดจะแก้ไขระบบทุนนิยม แก้ไขข้อผิดพลาดของระบบทุนนิยม เช่นอย่าง คาร์ลมาร์กคิดระบบสังคมนิยมขึ้นมา ในความเป็นจริงมันก็ไม่สามารรถปฏิบัติได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบเซ็นทรัลแพลนเนอร์ของรัชเซียโซเวียตก็ล่มสลายไปแล้ว ระบบคอมมูนของจีน ตอนนี้ก็เลิกใช้ไปแล้ว หรือของยุโรปเช่นระบบสหกรณ์มันก็ยังไม่ค่อยเป็นรูปเป็นร่าง จะเห็นที่นำไปปฏิบัติในชีวิตจริงได้ก็คงจะมีแต่เศรษฐกิจพอเพียงกับเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ซึ่งบทความของท่านพระเดชพระคุณก็ทำให้ผมได้เห็นทางสว่างจริงๆ ยังไม่ได้ขอขอบพระคุณเป็นส่วนตัว ผมก็เลยอยากจะขอขอบพระคุณเป็นส่วนตัวว่า เหมือนกับช่วยชี้ทางสว่างกับปัญหาที่ผมสงสัยมาตลอดตอนเรียนปริญญาตรี ปริญญาโทได้ พอได้อ่านบทความนั้นแล้วก็รู้สึกว่า ออ ยังมีวิธีการอยู่ที่จะใช่เศรษฐศาสตร์ในการแก้ปัญหาการตัดสินใจของคนครับ ก็เลยอยากจะขอขอบพระคุณส่วนตัว ได้มาพบกับผู้ที่ชี้นำปัญญาให้จริงๆ แล้ว
ทีนี้มีปัญหาอยากจะถามก็คือว่า ประเทศไทยเราเจอวิกฤติเมื่อ 2540-2542 ธนาคารปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทใหญ่เป็นจำนวนมาก แล้วก็กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือว่า NPL หนี้เน่า พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ธนาคารก็เลยกลัวที่จะปล่อยให้กู้กับรายใหญ่ ธนาคารจึงเปลี่ยนเป้าหมายไปหาลูกค้าเป็นปล่อยให้กู้รายย่อย ให้ประชาชนกู้ อาจจะอยู่ในรูปเงินกู้ส่วนบุคคล หรือว่าเงินกู้บัตรเครดิต แล้วไปๆ มาๆ ตอนนี้ประชาชนไทย ตัวเลขที่เขาบอกว่าอยู่ในช่วงประมาณ 70-80% ของผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน ทุกคนมีหนี้บัตรเครดิต บางคนมีหนี้บัตรเครดิตสูงขนาดว่ามีเงินเดือนแค่เดือนละ 12,000 -15,000 บาท มีหนี้บัตรเครดิตเป็น 10 ล้าน ก็มี ก็งงเหมือนกันว่าสามารถที่จะปล่อยกู้บัตรเครดิตไปได้เยอะอย่างนั้นได้ยังไง คนไทยหลายๆ คนก็มีบัตรเครดิต คนละ 2 ใบ 3 ใบ บางคนมีเป็น 10 ใบ ทุกๆ วันธนาคารก็โทร.ไปชวนที่บ้านให้ทำบัตรเครดิต คนเป็นหนี้กันเยอะมาก เพราะฉะนั้นตอนนี้หนี้มันลงไปถึงระดับรากหญ้า แล้วดูจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ผ่านมานี่ ปี 2551 แล้วก็ปี 2552 น่ากลัวว่าวิกฤติมันจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แล้วถ้าเชื่อตามทฤษฎีวงจรเศรษฐกิจ เศรษฐกิจประเทศไทยเขาบอกว่าอยู่ในรอบประมาณ 11 ปี -12 ปี เพราะฉะนั้นวิกฤติเศรษฐกิจมันก็กำลังจะกลับมาอีกในปี 51-52 นี้ครับ ประกอบกับผู้นำรัฐบาล นักวิชาการหรือคนที่เก่งเศรษฐกิจหลายๆ คน ไม่กล้าไปทำงานด้วย ตนที่คุมนโยบายเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารชาติ หรือกระทรวงการคลัง เท่าที่มีอยู่ตอนนี้ก็ยังไม่เห็นฝีมือ แล้วถ้าเกิดมันเกิดกฤติขึ้นมาอีกครั้ง มันไปกระทบพวกรากหญ้า พวกเป็นรากฐานจริงๆ เลยทีนี้ เพราะมันกลายเป็นว่าผู้บริโภคทุกคนมีหนี้กันหมด วิกฤติมันน่าจะรุนแรงกว่าปี 40 – 42 ก็เลยอยากจะเรียนถามพระเดชพระคุณว่า ในภาวะที่จะมีวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง แล้วประชาชนส่วนใหญ่เป็นหนี้กันเยอะ พระเดชพระคุณมีแนวทาง มีข้อเสนอแนะ หรือว่าข้อชี้นำแนวทางให้ประชาชนพวกนี้ที่จะเจอวิกฤตินี้ ต้องปรับตัวยังไง หรือว่าปฏิบัติตัวยังไงครับ
[05:30] 1. ความสำคัญของเศรษฐศาสตร์กับพระพุทธศาสนา
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็อนุโมทนาท่านปิติทโร ว่าเห็นประโยชน์คุณค่าของเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ก็ขอบพระคุณ ก็ขอบพระคุณพระพุทธเจ้า เพราะว่าผมก็เป็นเพียงเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามา เพียงแต่ไปพิจารณาแล้วก็เอามาชี้แจง อธิบาย ทีนี้เรื่องเศรษฐศาสตร์ก็เรื่องใหญ่ เรื่องของวัตถุปัจจัยเครื่องยังชีพ เป็นฐานที่เราจะต้องอาศัย พุทธศาสนาให้ความสำคัญมาก จะเห็นว่าวินัยของพระนี่ส่วนใหญ่ก็ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจ คือการจัดสรรปัจจัยสี่ ใครว่าพุทธศาสนาไม่ให้ความสำคัญแก่วัตถุ มองข้าม คือเรามองไม่ครบ พุทธศาสนามีธรรมะกับวินัย เรียกรวมว่าธรรมวินัยจึงจะเป็นพุทธศาสนา บวชในพระธรรมวินัยนี้ ท่านไม่ได้ใช้คำว่าในพุทธศาสนา ไปดูในพระไตรปิฎก ออกบวชแล้วในธรรมวินัยนี้ คำว่าพุทธศาสนาเป็นคำที่สมัยก่อนมีความหมายแค่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ แปลว่า ไม่ทำชั่ว ทำความดี ทำใจให้ผ่องใส นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
คำว่าพุทธศาสนาก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ตัวที่เราเรียกพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้คือธรรมวินัย แล้วธรรมวินัยคือทั้งมีตัวธรรมะที่เป็นความจริงตามธรรมชาติ บนฐานของธรรมชาติ ลงมาสู่วินัยที่เป็นหลักการของสังคม พอถึงหลักการของสังคมก็เป็นเรื่องสมมติเป็นเรื่องจัดการเป็นเรื่องจัดแจงจัดสรร เป็นเรื่องของปัจจัยสี่เป็นต้น เรื่องของวัตถุรูปธรรมเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็โยงไปหาธรรมะ ก็หมายความว่าต้องครบทั้งสองอย่าง ต้องถึงกัน
วินัยก็เป็นเครื่องนำเข้าหาธรรม วินัยต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรม ธรรมะจะปรากฏผลออกมาได้ดีก็ต้องอาศัยวินัย
จึงต้องมีคู่กันไปอย่างนี้ ทีนี้มันก็เลยทำให้ทั้งหมดนี้ จากวัตถุต้องโยงไปหาเรื่องความหมายของชีวิต เรื่องของธรรมะ เรื่องความดี คุณธรรมอะไรต่างๆ ทั้งหมด
[07:50] 2. ข้อจำกัดของเศรษฐศาสตร์แห่งยุคอุตสาหกรรม
เวลานี้เราก็ยอมรับกัน คือตะวันตกเองก็บอกว่าเรื่องของมนุษย์โดยเฉพาะวิชาการต่างๆ ที่เป็นมาคือมีจุดพลาดสำคัญคือแยกส่วน เป็น reductionist view แนวคิดแบบแยกส่วน วิชาการต่างๆ ก็แยกส่วนออกไปเป็นเรื่องๆ แล้วก็ลงลึกไปเฉพาะเรื่องของตัวเป็น specialization เป็นชำนาญพิเศษ ไปๆ มาๆ ก็เลยต่างหากกันแล้ว เอาแต่ในแง่ของตัวจะแก้ปัญหา มันไม่โยงกัน มันเป็นไปไม่ได้ มันก็จำกัด ติดตันไปหมดทุกสาขาเลย คือเรื่องของมนุษย์ เรื่องของโลก ที่จริงมันก็คือ รวมทั้งหมดทุกศาสตร์ใช่ไหม แล้วไปแยกศาสตร์เดียว ศาสตร์ไหนจะแยกออกมาได้ เลยมารู้ตัวเอาตอนนี้ เวลาก็ผ่านไปเยอะ มีปัญหาหนึ่งก็เนี่ย ศาสตร์ตะวันตกมันกลายเป็น reductionism แนวอันนี้ที่ถือว่าบกพร่องสำคัญ ตอนนั้นก็เป็นแนวจักรกล มองโลก จักรวาล ชีวิต ทุกอย่างเป็นเครื่องจักรหมด ทัศนะที่เข้ามาสู่อุตสาหกรรม คือมองอะไรมองไปเป็นแง่ๆ แล้วก็อย่างที่ว่า มองไงก็เป็นเรื่องยุ่งอยู่แค่วัตถุอีก อารยธรรมตะวันตก อย่างหนังสือเขาชื่อ green history of the world ประวัติศาสตร์สีเขียว ก็หมายถึงว่าประวัติศาสตร์เชิงสิ่งแวดล้อม แล้วก็วิเคราะห์อารยธรรมตะวันตกทั้งหมดนี่ที่หลงมาคิดว่า สังคมนิยมคอมมิวนิสต์กับทุนนิยม เสรีประชาธิปไตย นี่ก็คือเป็นเสรีทุนนิยม คือเดี๋ยวนี้อเมริกันเขาจัดมา identify ว่าประชาธิปไตยก็คือทุนนิยม ก็เป็นอันเดียวกัน เขาเรียกว่า free market democracy เขาใช้ศัพท์นี้เลยนะ
free market democracy ประชาธิปไตยตลาดเสรี ความเป็นประชาธิปไตยก็เลยพ่วงเป็นอันเดียวกับการลัทธิเศษฐศาสตร์ หรือลัทธิเศษฐกิจแบบทุนนิยม ทีนี้ก็มองเป็นเรื่องของ หนึ่ง-ฝ่ายคอมมิวนิสต์ สังคมนิยมก็เป็นค่ายหนึ่ง แล้วก็เสรีประชาธิปไตย ที่ว่าเป็นทุนนิยม ก็เป็นอีกค่ายหนึ่ง ดูเหมือนมันจะแตกต่างกันหรือตรงข้ามกัน พอวิเคราะห์ไปมา ปรากฏว่าเจ้าสองอันนี้อันเดียวกัน อยู่ที่แค่วัตถุเหมือนกันทั้งคู่ อยู่แค่วัตถุนิยม วัตถุนิยมเท่านั้น ทั้งคู่เลย ตกลงอยู่แค่นี้ เหมือนกัน ที่จริงไม่ได้ไปไหนหรอก เพียงแต่ว่าทัศนะต่อการจัดวัตถุมันต่างกัน แต่ว่ามันก็อยู่แค่อันเดียวกันนี้ ตกลงเป็นอันเดียวกันทั้งคู่ แล้วก็มีทัศนะพื้นฐานมาจากแนวคิดพิชิตธรรมชาติเหมือนกันหมด แล้วก็มีทัศนติแยกตัวต่างหากจากธรรมชาติเหมือนกัน แล้วก็มองธรรมชาติเป็นปฏิปักษ์ จะต้องพิชิตเหมือนกัน ไปๆ มาๆ อารยธรรมตะวันตกที่ว่าแยกเป็นสองค่ายใหญ่ ก็อันเดียวกัน ไม่ไปไหน ตอนนี้ก็เลยทำให้เรามองอารยธรรมตะวันตกได้ในแง่ต่างๆ จุดอ่อน เมื่อมาถึงจุดนี้เราก็ต้องมาพูดถึงเรื่องที่มันสัมพันธ์กับตัวคน ที่มองคนไม่ใช่เป็นของสำเร็จที่จะไปเที่ยวจัดสรรอะไร คือตะวันตกเขาถือว่าอารยธรรมตะวันตกเป็น man center มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง บอกมนุษย์เป็นศูนย์กลางเป็นศูนย์กลางยังไง ก็หมายความว่ามนุษย์ที่ว่าเป็นศูนย์กลาง ความหมายมันมีว่าเป็นผู้ที่จะไปจัดการกับสิ่งแวดล้อมเป็นต้น แล้วต้องมีอำนาจเหนือสิ่งเหล่านั้น แล้วทำเพื่อตัวมนุษย์ นี่เรียกว่า man center มนุษย์ก็จะต้องเป็นใหญ่ใช่ไหม ไปจัดการกับธรรมชาติ อะไรต่ออะไรเนี่ย แต่ว่าที่จริงพุทธศาสนาก็ man center แต่คนละความหมายเลย
man center (ของพุทธศาสนา) หมายความว่า เราต้องการที่จะจัดการให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงาม ต้องพัฒนาคน ให้คนงอกงาม
เป็นคนที่มีคุณภาพดีขึ้น ทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วคนที่ดีงามเหล่านี้ก็จะมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมเป็นต้นได้อย่างดี ที่เป็นไปในทางเกื้อกูลเป็นต้น เพราะฉะนั้นเราต้องเอาใจใส่ เพราะเจ้าตัวมนุษย์นี่เป็นตัวร้าย ใช่ไหม ในแง่หนึ่ง ถ้ามันไม่ได้รับการพัฒนาที่ดีแล้ว ก็ไปทำให้สิ่งแวดล้อมทุกอย่าง แม้แต่ชีวิตของตัวเอง เสียหายหมดเลยฉะนั้นมนุษย์นี่เป็นสัตว์พิเศษ คือมีภาวะและมีคุณสมบัติพิเศษที่ว่าฝึกได้ไง เป็นธรรมชาติพิเศษในแง่นี้ เพราะฉะนั้นก็ให้ความสำคัญในแง่ที่ว่าถ้ามันไม่ดี แล้วเจ้าตัวนี้มันจะไปทำให้สิ่งทั้งหลายเสียหมด ให้ความสำคัญมาก ฉะนั้นเราจะต้องมาจัดการมนุษย์ให้ดี man center แบบนี้ แทนที่จะมองว่า man center คือว่ามนุษย์นี่มีอำนาจเป็นใหญ่ในสิ่งทั้งหลาย ต้องไปจัดการครอบงำเอามาสนองความต้องการของมนุษย์ เขามองคนละแบบ ทีนี้เราถือว่ามนุษย์สำคัญ ถ้าไม่จัดการมนุษย์ให้ดีแล้ว อะไรต่ออะไรเสียหายหมด ก็เลยต้องมาจัดการมนุษย์ให้ดี พัฒนาคนให้ดี
[13:26] 2.1 จับจุดผิด มองความโลภเป็นสิ่งที่ดี เลยต้องห้ามสอนสันโดษ
ทีนี้ลัทธิเศษฐศาสตร์แบบตะวันตกนี่ในเมื่อเกิดมีขึ้นมา มันก็ไปสนองความต้องการ จนกระทั่งว่านักเศรษฐศาสตร์นี่หลายคนตะวันตก ไปมองว่าความโลภเป็นสิ่งที่ดี greed ความโลภ โลภะ ในภาษาอังกฤษ greed เวลาเราแปลโลภะ เราก็แปลว่า greed แล้วฝรั่งก็พูดว่า greed นี่ตัวสำคัญ เขามองเป็นดีไป เช่น เคน ก็เป็นเจ้าใหญ่ของสายเศรษฐศาสตร์ฝรั่งใช่ไหม เวลานี้ก็มีอิทธิพลมากอยู่ ทีนี้นักเศรษฐศาสตร์ตะวันตกก็ยังว่า หนึ่ง-ก็ยุ่งอยู่กับวัตถุแล้วก็มองในขอบเขตของตัว ไม่โยงไปกับศาสตร์อื่นๆ จนกระทั่งเพิ่งจะมารู้ตัวตอนนี้ แล้วก็จะเอาเศรษฐกิจหรือวัตถุมาตัดสิน มาเป็นตัวแก้ปัญหาของมนุษย์อะไรทั้งหมด แล้วก็มองว่าความโลภ ก็คือโลภวัตถุ โลภในการเสพบริโภคนั้นดี แต่ที่จริงเคนนั้นรู้นะมีวาทะของแกอันหนึ่ง คล้ายๆ ว่าต้องรอให้มนุษย์ไปถึงระยะหนึ่งก่อน ตอนนี้ต้องให้มนุษย์สนองความโลภของตัวเอง อย่างคนไทยที่นับถือมีอิทธิพลแนวคิดอย่างนี้เหมือนกับการเริ่มต้นพัฒนาเมืองไทยในยุคท่านจอมพลสฤษดิ์ ก็อยากให้คนโลภ กระตุ้นเร้าให้อยากได้วัตถุเสพ มีโทรทัศน์ มีตู้เย็น มีนั่น มีนี่ มีของใหม่ๆ ผลิตถัณฑ์อุตสาหกรรม อยากมี อยากจะเสพ อยากจะใช้ อยากบริโภค ก็มองว่าด้วยความโลภอยากได้อยากมีสิ่งเหล่านี้ไปเสพบริโภค คนก็จะทำงานทำการกันใหญ่ใช่ไหม ทำให้ขยัน แล้วก็เลยจะร่ำรวยทำให้ประเทศชาติก็พัฒนา
เมื่อคนทำงาน แล้วคนนั้นก็อยู่อย่างสุขสบายด้วย แต่ละคนก็จะมีทรัพย์มีเสพมีบริโภคกันเต็มที่ ร่ำรวย ประเทศชาติก็พลอยเจริญงอกงามไป ก็คิดว่าด้วยความโลภนี่จะเจริญงอกงาม ประเทศชาติจะพัฒนากันใหญ่ แล้วก็เลยต้องห้ามสอนสันโดษ เนี่ยก็คือจับจุดผิด ฝรั่งที่เจริญเพราะอะไร ตัวปัจจัยที่แท้มันใช่ความโลภหรือเปล่า ปัจจัยบีบคั้นทางสังคมทางธรรมชาตินี่ตัวร้ายใช่ไหม อย่างที่ผมเล่าเรื่องคติ frontier ท่านไปศึกษาคติ frontier ที่บอกว่าอเมริกันถูกบีบคั้น religious political persecution ยุโรปมานี่ โดนบีบคั้นแทบตาย หนีตายกันมาหาอิสรภาพ มี freedom เป็นสิ่งที่เชิดชูอยู่ในหัวใจสูงสุดเลย ทำไงเราจะได้ freedom ฝรั่งบอก freedom กับ liberty นี่ความหมายอันเดียวกัน ใช้ศัพท์แทนกันได้ ก็มุ่งกันหา liberty หาfreedom ก็อุตส่าห์เดินทางมา เสี่ยงภัยมาอเมริกา ขึ้นมาแล้วก็ต้องบุกป่าฝ่าดง ต้องสู้กับอินเดียนแดง ต้องสู้กับพวกอาณานิคม อะไรต่ออะไร บุกอยู่ ขยายพรมแดนขยาย frontier ใช้เวลาอย่างที่บอก 300 ปี เฉลี่ยปีละ 10 ไมล์ ความที่ได้ผจญภัย มีชีวิตที่นิ่งเฉยไม่ได้เลย ต้องขวนขวายกระตือรือร้น ระแวงภัยอะไรตลอดเวลา มันทำให้เขาเป็นคนที่ชอบผจญภัย ชอบที่จะลอง ชอบที่จะบุกฟันฝ่า อันนี้ธรรมชาติแวดล้อม สังคม บีบคั้น แล้วก็ระบบการแข่งขันกันอีก ตัวใครตัวมันนะ มันทำให้คนต้องขยันขันแข็ง เป็นสิ่งที่แน่นอน
[17:35] 2.2 ทำงานเพราะโลภอยากได้ หรือเพราะถูกเงื่อนไขบังคับ
ส่วนเรื่องความโลภอะไรนี่เหมือนกับว่า เมื่อมันถูกบีบคั้นอย่างนี้ตัวเองก็มีความโลภอยากได้นั้นได้นี่ แต่ว่าตัวจริงที่ตัวอยู่ข้างหลังที่เป็นตัวบีบคั้นนี่ ทีนี้ก็มามองว่าโลภ ก็ไปจับที่จุดนี้ โลภแล้วไม่มีอะไรบีบคั้นมันเอาไหม โลภมันไม่ได้เป็นเหตุให้ทำงาน จับเหตุปัจจัยผิด เขาคิดว่าต้องไปโลภ แล้วอยากได้ของเสพ ก็จะได้ทำงาน โลภะเป็นเหตุให้อยากได้ของมาเสพบริโภค ต้องมองให้ถูกอีกขั้นหนึ่ง ความโลภเป็นเหตุให้อยากได้ของ วัตถุประสงค์คือได้ของมา ทีนี้มันอยู่ที่ว่าแล้วจะได้มาอย่างไร ความโลภไม่ได้เป็นเหตุให้ขยันทำงาน ต้องจับให้ได้ ทีนี้ไปคิดว่าความโลภเป็นเหตุให้ขยันทำงาน จบเลย จับเหตุปัจจัยผิด ตรงชัดเป๋งคือว่า โลภ ก็คืออยากได้ของ อยากได้วัตถุเสพบริโภค ก็ตรงไปตรงมา ทีนี้ต่อไปก็แล้วทำไงจะได้มา ตรงนี้ต่างหาก ตรงนี้แล้วระบบเศรษฐกิจที่ไม่รู้ตัวก็วางเงื่อนไขว่าคุณจะได้คุณต้องทำ การทำงานที่เป็นเงื่อนไขต่างหากล่ะ แล้วจะให้สำเร็จตามเงื่อนไขก็ต้องมีระบบสังคมคุม เช่นกฎหมาย ว่าถ้าแกไม่ทำงาน หลีกเลี่ยงงาน ฉันก็ไม่ให้เงินแก นี่ก็กฎกติกาสังคมเข้ามาแล้ว ถูกกติกาสังคมบีบคั้น คือมีกติกาสังคมมาเป็นเครื่องกำกับว่าต้องให้คนต้องทำตามเงื่อนไขนั้น แล้วจึงจะได้ผลที่ตัวต้องการ
เป้าหมายนี่ไม่ได้อยู่ที่ต้องการได้งาน งานหรือผลวัตถุประสงค์ของงานนั้นไม่ต้องการ เขาต้องการผลตอบแทนงานอีกทีหนึ่ง ผลตอบแทนการทำงานก็คือผลตามเงื่อนไข ที่เขาทำตามกติกาว่า เขาทำงานนี้แล้ว แล้วตามสัญญากติกาตกลงไว้ คุณจะจ่ายเงินให้ฉัน ฉะนั้นงานนี้กลายเป็นว่าเป็นเงื่อนไขให้เขาได้สิ่งที่เขาต้องการคือเงิน หรือสิ่งตอบแทนนั้นอีกที ก็ต้องมีกติกาเป็นตัวกำกับ ถ้าไม่มีกติกากำกับ ก็เละเลย ใช่ไหม ทีนี้มันก็มีเรื่องซับซ้อนแล้ว เพราะว่ามันไม่มีเหตุปัจจัยโดยตรงที่จะทำให้คนทำงาน แต่มันมีเงื่อนไข เงื่อนไขนี่มันต้องหาทางกำกับให้แน่น เลยเกิดกระบวนการต่างๆ ระบบต่างๆ ที่จะมาทำให้มันแน่น ประกันว่าเขาจะทำงานตามเงื่อนไข ยิ่งถ้าคนไม่มีคุณภาพ ไม่มีความขยันหมั่นเพียร ไม่มีจิตใจรักงาน ยิ่งต้องตั้งกติกากันซับซ้อนหนัก ก็ฉันไม่ได้ต้องการงานหรือผลของงานนี้นะ แต่ฉันต้องการเงิน แล้วฉันจะต้องทำงานนี้เพื่อให้ได้เงิน ฉันไม่ได้สมัครใจทำ ก็ดูซ้ายดูขวา มาดูหรือเปล่า ถ้าไม่มีอะไรเป็นเงื่อนไขกำกับว่าต้องได้ผลงานเท่านั้น ทำแค่ตามเวลา ฉันก็ทำตามเวลา นั่งบ้างนอนบ้าง ให้เวลาเสร็จไป อ้าว ก็ไม่ตั้งใจทำงาน ให้ได้เงินก็แล้วกัน ครบตามเวลา เงื่อนไขเวลาไม่พอ ต้องเงื่อนไขผลงาน เงื่อนไขผลงานไม่พอ ต้องตั้งคนมาดู ว่ากันใหญ่ ต่อไปก็หนีไม่พ้นต้องพัฒนาคนให้ขยันด้วย ให้มีจิตใจรักงาน ตกลงไม่รอด
เพราะฉะนั้นข้อสำคัญก็คือ ตัวความโลภไม่เป็นเหตุให้ทำงาน แต่มันเป็นเหตุให้อยากได้ของ เป็นผลตอบแทน แต่ว่ามันต้องไปทำงาน เพราะเป็นเงื่อนไขที่จะให้ได้เงินเท่านั้นเอง ทีนี้ถ้าเกิดว่าไม่ต้องทำงานที่เป็นเงื่อนไข แล้วได้เงิน ก็เอาสิ ใช่ไหม มันจะไปทำทำไม เสียเวลา เหนื่อย ทำทำไม สิ่งที่ต้องการคือได้เงิน เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาศลักขโมยได้ ลักขโมยดีกว่า ใช่ไหม โอกาสทุจริตได้ ก็ทุจริตดีกว่า ก็คือเอาทางลัด ถ้าหากว่าหลีกเลี่ยงได้ ไม่ต้องทำงานอีก วิธีหนึ่งก็คือว่าเทวดาช่วย ก็ไปขอเทวดาใช่ไหม ใช้ไสยศาสตร์ ไปอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นี่แหละคือทางเป๋ เป๋ออกไปทางต่างๆ ที่จะให้ได้เงินมา นี่คือความโลภ เหตุปัจจัยที่แท้ก็คือมันทำให้อยากได้ ส่วนได้ด้วยวิธีใดนั้นต้องมาวิเคราะห์อีกทีหนึ่ง เราก็วางว่าวิธีที่จะได้มาก็คือวิธีเงื่อนไข นี่คือวิธีของระบบสังคมปัจจุบัน
ทีนี้ถ้าระบบที่แท้ถือยังไง หรือว่ามนุษย์นี่เห็นว่างานก็คืออะไร ที่มนุษย์ทำขึ้นมานี่ ก็คือสิ่งที่มนุษย์มีความจำเป็นในการที่จะเป็นอยู่ ให้ชีวิตดีงามมีความสุขความเจริญ ให้สังคมอยู่กันดี ใช่ไหม มันก็เป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นงานขึ้นมา เช่นต้องสร้างบ้าน คุณจะมีบ้านอยู่ก็ต้องทำบ้าน คุณจะมีข้าวกินคุณก็ต้องปลูกข้าว คุณจะมีอะไร ก็ต้องทำงานอันนั้น ก็เห็นความจำเป็นแล้ว มันเป็นเหตุเป็นผลในตัวว่าเราต้องการผลอันนี้มาใช้ประโยชน์ในชีวิต หรือการที่อยู่ร่วมกันในสังคม ทำให้ครอบครัวอยู่ได้ อะไรต่ออะไรเนี่ย ทำอันนี้ ทีนี้แต่ละคนจะไปทำทุกอย่าง แค่ไปทอผ้า อาหารก็จะต้องรับประทาน เสื้อผ้าก็จะต้องนุ่งห่ม ยาก็จะต้องมี อะไรอย่างนี้ ที่อยู่ก็ต้องสร้าง แค่นี้ท่านทำคนเดียวทำไหวไหม ท่านทำไม่ได้ ทำไม่ได้ แต่ว่าเราจำเป็นจะต้องมี ช่วยกันสิ ก็แบ่งงานกันทำ คนไหนทำเรื่องไหนก็จะได้มีความชำนาญพิเศษในเรื่องนั้น ก็ทำได้ดี ต่างคนต่างก็เห็นวัตถุประสงค์ที่ดีงาม ของการที่ต้องทำสิ่งเหล่านี้ มันจำเป็นเพื่อชีวิตสังคมที่ดี งานก็เกิดขึ้น
เมื่องานเกิดขึ้น ก็เป็นอันว่าเราต้องเห็นคุณค่า เห็นเหตุผลแล้วก็รักงานด้วยตัว ด้วยจิตใจ เมื่อรักงานอยากจะทำเพราะว่ามันเป็นไปเพื่อผลจะได้มีชีวิตที่ดีงาม
แล้วในที่สุดก็มาแบ่งงานกันซะ ว่าคนนี้ชำนาญเรื่องนี้ ทำเรื่องนี้ไป ไม่ให้เขาห่วงกังวล เราก็เลยจัดสรรสิ่งที่เรียกว่าเงินเดือนให้เขา เขาจะได้เป็นอยู่ได้ไม่ต้องห่วงกังวล มุ่งหน้าตั้งใจทำงานไปซะ อันนี้ก็หมายความว่าให้เปลี่ยนวัตถุประสงค์ที่การรู้จักงาน ว่ามันมีขึ้นด้วยเหตุผลอย่างนี้ เพื่อประโยชน์สุข ของชีวิต ของสังคม แล้วคนเห็นคุณค่านี้แล้วก็มาจัดสรรระบบสังคมโดยแบ่งงานกันทำ โดยให้คนที่ทำงานเรื่องไหน ทำเรื่องไหนดีก็ทำเรื่องนั้น แล้วก็ให้ผลตอบแทน ไม่ให้เขาเดือดร้อนที่จะต้องขาดแคลนแล้วก็ไม่ต้องกังวล จะได้ตั้งใจทำงานเขาได้เต็มที่ ถ้าจิตใจมันเข้าใจตามแนวนี้ มันจะไม่แปลกแยก จะไม่มีความรู้สึกแปลกแยก หนึ่ง-ไม่เบื่องานด้วย แล้วก็จะทำงานด้วยความตั้งใจและขยันหมั่นเพียร คนที่จะทำงานนั้นก็คือคนที่ถนัดมีความสามารถ ใจรัก เป็นต้น ทีนี้ถ้าเราจัดระบบสังคมขึ้นมาบนฐานอันนี้ มันก็จะค่อยๆ แก้ปัญหานี้ได้
[25:15] 2.3 เหตุผลตามธรรมชาติ vs เหตุผลตามสมมติที่มนุษย์
แต่ทีนี้สังคมมันซับซ้อนจนกระทั่งว่าคนที่ไปทำเนี่ยสักแต่ว่าทำ คือมองว่าแม้แต่การทำงานคือการได้เงิน มันไม่ได้มองว่างานคือสิ่งที่จะสร้างสรรค์ให้ชีวิตดีงาม สังคมอยู่กันดี ไม่ได้มอง จนกระทั่งคนเดี๋ยวนี้บางทีมองไม่ออก ถึงได้ยกตัวอย่างบ่อยๆ บอกว่าเวลานี่คนไม่รู้เหตุผลในทางที่เป็นจริง กับเหตุผลที่ปรุงแต่งของมนุษย์ แยกไม่ออก เหตุผลตามธรรมชาติกับเหตุผลตามสมมติที่มนุษย์ยอมรับกัน เดี๋ยวนี้มนุษย์หลงแล้วนะ แปลกแยกจากธรรมชาติ นึกเหตุผลที่ตัวสมมติขึ้น วางขึ้นมาที่ไม่เป็นความจริงเลยว่าเป็นจริงอย่างนั้นเลย จึงได้ยกตัวอย่างบ่อยๆ ว่า เรามาสวน โรงพยาบาล หรืออะไรก็แล้วแต่ มีบริเวณที่จะต้องจัดเป็นสวน เราก็จ้างคนทำสวนมา แต่ทีนี้ในระบบของการทำงานเดี๋ยวนี้มันจะมองว่า คุณทำงานเพื่ออะไร ก็จะได้เงิน ได้เงินเดือนมาเลี้ยงตัว เพราะฉะนั้นงานเป็นเหตุ เงินเดือนเป็นผล ถูกไหม คนในสังคมนี้จะบอก ถูกๆๆ งาน การทำงานเป็นเหตุ การได้เงินเดือนเป็นผล ก็ถูก ไม่เห็นผิดอะไรเนี่ย ทำงานเป็นเหตุ เงินเดือนเป็นผล เราไปดูที่ธรรมชาติสิ ถ้าไม่มีคนให้ตามกติกาสังคม การทำงานเป็นเหตุ เงินมันเกิดขึ้นมาไหม เป็นไหม โดยธรรมชาติตามเหตุปัจจัยที่แท้ ไม่มีครับ ใช่ไหม การทำงานเป็นเหตุ คุณจะทำไปเท่าไหร่เงินมันก็ไม่เกิดขึ้นมา เงินมันเกิดเพราะกติกาสังคมที่วางเงื่อนไขกันไว้ ใช่ไหม ฉันทำให้คุณ 1 เดือน คุณจะให้เท่าไหร่ ให้ 7,000 บาท ก็ว่ากันไปตามกติกา มาถึงเบี้ยวได้ ใช่ไหม ถ้าเป็นเหตุปัจจัยตามธรรมชาติมันเบี้ยวไม่ได้ นี่มันเรื่องของมนุษย์ มนุษย์ตกลงกัน เกิดถึงเวลาไม่จ่าย หรือว่าไม่ทำงานตามเงื่อนไขที่ตกลง มันต้องซับซ้อนขึ้นมา เรื่องของมนุษย์ แต่ธรรมชาตินี้แน่นอน
เพราะฉะนั้นการทำสวนเป็นเหตุ อะไรเป็นผล ก็ต้องแยกเป็นสองอย่าง หนึ่ง-เหตุผลตามธรรมชาติ หรือที่เป็นความจริง สอง-เหตุผลตามบัญญัติของมนุษย์ หรือตามสมมติของมนุษย์ บัญญัติก็คือจัดตั้งวางไว้ เป็นกติกา สมมติก็คือตามตกลง ตามที่รู้กัน ที่มีมติร่วมกัน ทีนี้การทำสวนเป็นเหตุ ตามเหตุปัจจัยธรรมชาติแท้ๆ ที่เป็นความจริงก็คือ การทำสวนเป็นเหตุ ต้นไม้เจริญงอกงามเป็นผล ใช่ไหม ต้นไม้สวยเจริญงอกงามดีน่าดู แล้วแต่ทำ เขาทำสวนได้แค่ไหน ผลก็เกิดตามนั้น ทีนี้การทำงานเป็นเหตุ เงินเดือนเป็นผล อันนี้เป็นผลตามสมมติ ตามบัญญัติ ทีนี้มนุษย์มีความสามารถมีสติปัญญา ก็จัดระบบสังคมมนุษย์ให้ไปหนุนให้เป็นผลตามกฎของธรรมชาติ เราต้องรู้ว่าผลที่แท้นั้นเป็นผลที่ต้องการตามกฎธรรมชาติ ใช่ไหม เราต้องการผลอันไหน เราต้องการผลตามกฎธรรมชาติ เราต้องการให้สวนเจริญงอกงาม ต้นไม้ดูน่ารื่นรมย์ แต่ว่าเป็นความฉลาดของมนุษย์ ที่ว่าเมื่อกี้ เพื่อให้มนุษย์ที่มีความถนัดสามารถเข้ามาทำเรื่องนี้ แล้วก็จัดสรรเงินให้เขา ให้เขาตั้งใจทำ แต่เวลาเขาทำ ต้องทำตามกฎธรรมชาติ กฎธรรมชาติไม่มีทางเบี้ยว คุณทำได้แค่ไหน ผลมันก็ออกมาแค่นั้น ถูกไหม คุณตั้งใจทำ เหตุปัจจัยของมัน ปัจจัยพร้อม ต้นไม้มันก็งาม คุณไม่ตั้งใจทำ ต้นไม้ก็งามไม่ได้ มีปัจจัยแค่ไหน ผลมันแค่นั้น ไม่มีผิดพลาดไปเลย ตรงไปตรงมา
แต่ว่าผลตามกติกาของมนุษย์ เอาแน่ไม่ได้ จะทำสวนทำงานแค่ไหน ได้เงินมากเงินน้อยนี่ไม่แน่แล้ว ก็ไม่รู้ ฉันทำครบเดือน ฉันก็ได้เท่านี้ ตกลงกันไว้ 7,000 แต่ว่าสวนนั้นจะเจริญงอกงามหรือเปล่า มันขึ้นอยู่กับการทำที่แท้จริงของคน ทำงานตามสมมติกับทำงานตามที่แท้ เพราะฉะนั้นเราก็เลยต้องหาทางตั้งระบบในสังคมมนุษย์ ระบบควบคุมเป็นต้น ระบบจัดการแล้วควบคุม เพื่อให้การทำงาน ทำเหตุของมนุษย์ มันได้ผลตรงตามที่มันควรจะเป็นตามกฎธรรมชาติ ถูกไหม คนขยันหมั่นเพียร ทำด้วยปัญญารู้ แก้ไขเหตุให้มันตรงเนี่ย ถ้าสองอันนี้บรรจบกันดีเมื่อไหร่ก็ได้ผลดี ความฉลาดของมนุษย์ก็อยู่ที่นี่ ทำไงจะเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ ถ้าเรารู้เข้าใจความเป็นเหตุเป็นผล เหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติอย่างดีทั่วถึงนะ เราก็จะสามารถมาจัดการระบบสังคม จัดการกฎกติกา บัญญัติของสังคมมนุษย์อย่างได้ผลดี นี่ต้องถึงกัน เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงต้องรู้ธรรมะแล้วก็บัญญัติวินัยไว้ ถ้าวินัยนั้นไม่ตั้งอยู่บนฐานของธรรมะ จะไปไม่รอด ไม่สามารถให้เกิดผลดีได้
ความรู้เข้าใจเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ยิ่งรู้เท่าไหร่ก็ยิ่งอำนวยผลดีต่อการที่จะมาจัดตั้งวางระบบในสังคมมนุษย์
ระบบปัจจุบันนี้ก็คือจะเข้าถึงกฎธรรมชาติ แต่เมื่อตนยอมรับว่ายังเข้าถึงไม่ได้ แค่วางทฤษฎีขึ้นมา ทฤษฎีนี้คือตัวแทนของการรู้กฎธรรมชาติ ก็หมายความว่าเท่าที่เขารู้ว่าความจริงของธรรมชาติเป็นยังไงแค่นี้ เขาก็ตั้งเป็นทฤษฎีขึ้นมา จากทฤษฎีนี้ก็จัดการตั้งเป็นระบบ ก็เป็นเรื่องของบัญญัติขึ้นมา บนฐานของทฤษฎี เพราะฉะนั้นในระบบของสังคมตะวันตกก็คือ จัดตั้งวางระบบต่างๆ ในทางเศรษฐกิจ ทางสังคม การเมือง บนฐานของทฤษฎี ทฤษฎีนั้นก็คือตัวแทนของกฎธรรมชาติ ทีนี้พุทธศาสนาบอกว่าการแบ่งทฤษฎีมันก็ทำให้แยกเป็นส่วนอย่างที่ว่า เพราะฉะนั้นเราจะต้องเพียรพยายามไม่หยุดที่จะเข้าถึงความจริงของธรรมชาติที่มันไม่ได้แยกกันเลย ความจริงของธรรมชาติมันถึงโยงกันหมดทุกอย่าง แล้วเราก็ต้องไม่ประมาทในทางศึกษาเรียนรู้ความจริง แต่พุทธศาสนาสอนความจริงหลักการไว้นี้ โห มันกว้าง ต้องทำความเพียรพยายาม ต้องใช้ปัญญากันเหลือเกิน คนตะวันออก หรือคนไทยเลยขี้เกียจ ไม่อยากรู้เลยไม่รู้ เอาแค่ว่าหลักอะไรง่ายๆ ก็ทำไป เรื่องลึกซึ้ง ความรู้ใช้ปัญญามาก ไม่ศึกษา ฉะนั้นพุทธศาสนาทั้งๆ ที่เป็นศาสนาแห่งปัญญา เน้นเรื่องปัญญา จะตรัสรู้ได้ก็ด้วยปัญญา แต่กลายเป็นว่าชาวพุทธ โดยเฉพาะชาวไทย ไม่เอาใจใส่เรื่องปัญญา ตรงข้ามไปอย่างนั้น ฝรั่งนี่โดนสิ่งแวดล้อม ระบบสังคม มันบีบคั้นตลอดเวลา แกก็เร่งขวนขวาย เกิดปัญญาขึ้นมา แต่ว่าจะเกิดได้แค่ไหน อีกเรื่องหนึ่ง โลกนี้มันก็เลยไม่ได้ความสักที ไม่สมดุล ไม่พอดี
[32:51] 3. บูรณาการในระบบสัมพันธ์ของธรรมชาติ
ทีนี้ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้ว เราก็พยายามให้เข้าถึงความจริงที่แท้ แล้วก็พยายามจัดให้มันถูกต้อง เราก็ได้บทเรียนแล้วเวลานี้ ในแง่ตะวันออกเรา เราก็คล้ายๆ ว่า สิ่งที่มีมาเราก็ไม่ได้ตั้งใจศึกษาให้เข้าถึง ทำกันไปแค่ตามประเพณี ปู่ย่าตายายว่ากันมาแค่นี้กลายเป็นวัฒนธรรมก็ทำไป ก็ได้ประโยชน์อยู่แค่นั้น จนกระทั่งฝรั่งว่าอย่างที่ผมยกตัวอย่างนายเกสเล่อร์ที่ว่าไง บอกว่าตะวันออกนั้นเป็นครูที่ดี แต่เป็นศิษย์ที่เลว ฝรั่งเขาว่าอย่างนี้ ทีนี้ฝรั่งเราก็เห็นแล้วว่าเขาทำมามีผิดพลาดยังไง เราก็เอาบทเรียนของเขาเอามาปรับปรุง เอามาใช้ประโยชน์ให้หมด ว่าฝรั่งมีเรื่องการคิดแยกส่วน การคิดจักรกล การที่เอาแต่วัตถุ การที่จะมองธรรมชาติต่างหาก มุ่งเป็นปฏิปักษ์ จะพิชิตธรรมชาติ man center อะไรก็แล้วแต่ เรารู้ทันความคิดของเขา แล้วจุดอ่อนข้อบกพร่องเป็นยังไง เราเอามา เอาส่วนที่เขาได้ชำนาญพิเศษ
การแยกส่วนเป็นชำนาญพิเศษมันก็มีประโยชน์ เราอย่าไปนึกว่ามันผิดหมดนะ การที่เขาไปแยกส่วนแล้วเขาไปชำนาญพิเศษมันก็ทำให้เขาลงลึกเฉพาะทาง ทำให้เขาได้ไปเห็นอะไรต่ออะไรลึกซึ้งในบางเรื่อง เป็นแต่เพียงว่ามันพลาดที่มันไม่สามารถโยงได้ มันแยกแล้วไม่โยง ว่างั้นเถอะ ทีนี้เราได้ประโยชน์จากการแยกของเขาแล้ว เราต้องมาใช้ระบบโยง เพราะสิ่งทั้งหลายมันเป็นระบบสัมพันธ์กันหมด อย่างธรรมชาติทั้งจักรวาลนี่มันเป็นระบบเลย ใช่ไหม แค่เอาวัตถุ ดวงดาว ดาราศาสตร์ มันก็เหมือนกับเป็นระบบ มีความสัมพันธ์กันหมด ระบบจักรวาล เอาแค่นี้ แค่โลกนี้ พระจันทร์ พระอาทิตย์ แค่นี้ก็เป็นระบบหนึ่งแล้วใช่ไหม มันก็เป็นระบบโยงๆ กันไปทั้งหมด ทีนี้เราก็ใช้ความคิดนี้มามองว่าเราจะใช้ความรู้ที่เฉพาะต่างๆ มาใช้ในระบบที่โยงกันได้ยังไง ทีนี้เราก็โยงมาสู่การที่ว่า
จุดสำคัญอันหนึ่งที่พุทธศาสนาเน้นก็คือคุณต้องมาพัฒนามนุษย์
จะเห็นว่าฝรั่งนี่ก็มองมนุษย์โดยไม่รู้ตัว เขาบอกมนุษย์ต้องมีการศึกษา ต้องมีความรู้ อะไรต่ออะไรนี่ แต่ที่จริงเขามองไม่ถึงราก เขามองคล้ายๆ ว่าสิ่งที่เขาจะไปจัดการนั้นเขาต้องรู้ เช่นว่าเขาจะไปพิชิตธรรมชาติเขาต้องรู้ความลับของธรรมชาติ ที่ฝรั่งใช้คำว่าต้องล้วงความลับของมัน เราจะจัดการกับศัตรูก็ต้องรู้ความลับของมันใช่ไหม ไปล้วงความลับแล้วจัดการกับมันได้ เขาไม่ได้มองความรู้ในแง่ว่าที่จริงมันคือการพัฒนามนุษย์ให้มีคุณสมบัติดีขึ้น เป็นองค์ประกอบที่ดีในความสัมพันธ์ในจักรวาล เขาไม่ได้มอง ไปมองว่ามีความรู้แล้วจะได้ไปจัดการกับศัตรู ทีนี้ฝรั่งก็ได้ในแง่ว่าวางระบบการศึกษาเล่าเรียนในแง่ มีจุดมุ่งหมายอย่างนี้ ก็ได้ประโยชน์ในแง่ทำให้ได้ความรู้อะไรขึ้นมาเหมือนกัน แต่ว่าก็ติดตันอย่างที่ว่า อันนี้ฝรั่งก็จะไม่ได้มองในแง่พัฒนามนุษย์อย่างไรบ้าง ในระบบชีวิตของมนุษย์มันเป็นยังไง มันมีแดนสัมพันธ์กัน ด้านกาย ด้านจิตใจ ด้านปัญญา มันออกมา มีระบบสัมพันธ์แล้วมันพัฒนาขึ้นมาแล้ว มันทำให้ดีขึ้นอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น
แม้แต่ความสุข มนุษย์ก็ยังมีความสุขแค่เสพบริโภค มีความสุขจากการอยู่ร่วมกัน จากการที่มีฉันทะในการทำงาน มีอะไรมีความสุขจากการบำเพ็ญเพียรทางจิตใจ ความสุขอะไรต่ออะไรขึ้นไปถึงปัญญา จิตใจปลอดโปร่งโล่งเบาเป็นอิสระ อันนี้ฝรั่งเขาไม่มอง โดยเฉพาะยุคอุตสาหกรรมก็เน้นเป็นมองที่การที่ผลิตวัตถุขึ้นมาแล้วได้มีเสพบริโภค แก้ไขความขาดแคลน เมื่อแก้ไขความขาดแคลนได้ ก็จะได้มีวัตถุเสพบริโภค ก็จะมีความสุข ฝรั่งก็ไปมองในแง่นั้น ก็เลยกลายเป็นว่า แกมองเหมือนกับมนุษย์นี่สมบูรณ์ในตัวแล้ว ก็มัวมุ่งแต่ว่าจะไปจัดการกับวัตถุ แล้ววางระบบทางวัตถุภายนอก ระบบสังคม วัตถุกับสังคม ก็มองมนุษย์เป็นบุคคล แล้วก็เป็นสมาชิกของสังคม ชีวิตหนึ่งๆ นี่เป็นบุคคลเป็นสมาชิกของสังคม บุคคลเป็นองค์ประกอบของสังคม อันนี้ตรงนี้ท่านต้องมาโยงให้ดี แล้วถ้าท่านโยงจุดนี้ได้นะ ท่านจะเริ่มเห็นอะไรที่ชัด มนุษย์นี่มันเป็นศูนย์กลางด้านหนึ่งมันไปเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม แล้วที่สำคัญก็คือว่าร่วมอยู่ในสังคมมนุษย์ แล้วในแง่ที่เขาเป็นส่วนร่วมในสังคมนี่เราเรียกว่าบุคคล เพราะฉะนั้นคำว่าบุคคลนั้นเป็นศัพท์สมมติ ชีวิตแต่ละคนนี่นะเป็นบุคคลที่เป็นส่วนร่วมอยู่ในสังคม นั่นเป็นด้านสังคม แล้วทีนี้อีกด้านหนึ่งของมนุษย์