แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ยังไม่ค้นพบความจริง เรายังต้องดำเนินชีวิตอยู่ ชีวิตเราต้องดำเนินไปในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและสังคม เราจะอยู่อย่างไรให้ดีที่สุด อันนี้วิทยาศาสตร์ไม่มีคำตอบ เพราะว่าเน้นขอบเขตของตนอยู่ที่การแสวงหาความจริง เพราะฉะนั้นตอนที่ยังไม่พบความจริงหรือยังไม่รู้ความจริงว่าอะไรแน่นอนนี้ เราจะต้องดำเนินชีวิตของเราให้ดีงามที่สุด ตอนนี้คือเจตคติแบบพุทธที่ก้าวเข้าสู่การดำเนินชีวิตด้วย ว่าในขณะที่เราแสวงหาความจริง แม้เรายังไม่รู้ความจริง หรือในชีวิตของแต่ละคนก็ก็รู้ความจริงไม่เท่ากัน บางคนอาจจะรู้ความจริงมากมายแล้ว อาจจะบอกว่ารู้ความจริงถึงที่สุด แต่คนจำนวนมากเขายังไม่รู้ความจริงนั้น แต่คนที่ยังไม่รู้ความจริงก็ยังดำเนินชีวิตอยู่บนโลกเดียวกัน แล้วในเมื่อเขายังไม่รู้ความจริงนั้น เขาจะดำเนินชีวิตอย่างไร อันนี้คือตอนที่เจตคติแบบพุทธเนี่ยจะให้คำตอบแก่เรา เจตคติแบบพุทธให้คำตอบในการดำเนินชีวิตอย่างไร การนำเจตคติแบบมองอะไรแบบเหตุปัจจัยมาใช้ก็เช่นว่าเมื่อเราจะทำอะไร ดำเนินชีวิตอยู่บนโลกนี้ มนุษย์นี้อยู่โดยการที่ว่ามุ่งหวังผลสำเร็จ มุ่งหวังสิ่งที่เป็นผล สิ่งที่ดีงามที่ชีวิตต้องการ ทีนี้สิ่งที่ชีวิตต้องการที่เป็นผลที่จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร อันนี้คือปัญหา ทีนี้มนุษย์จำนวนหนึ่ง แม้แต่ในวิวัฒนาการของศาสนาก็จะเกิดขึ้นทำนองนี้ คือว่าเมื่อต้องการผลที่ประสงค์จะทำยังไง เมื่อตนเองทำไม่ได้ก็คิดว่ามีอำนาจศักดิ์สิทธิ์อยู่เบื้องหลัง ดลบันดาลให้เทพเจ้าเป็นต้น แล้วแม้แต่ผลร้ายที่ไม่ต้องการ เภทภัยอันตรายต่างๆ เกิดขึ้น ก็นึกว่ามีสิ่งที่มีอำนาจดลบันดาลอยู่ เพราะตัวเองไม่รู้ไม่เข้าใจ ทำอะไรไม่ได้ ก็จะทำยังไง เมื่อเชื่อในอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น ก็มีวิธีการที่ว่าเมื่อมีเทพเจ้าเราก็จะต้องอ้อนวอน ขอให้ดลบันดาลให้เรา ถ้าเป็นภัยอันตรายก็ขอให้ยกเว้น ให้ช่วยให้รอดปลอดภัย ถ้าเป็นสิ่งที่ดีงามต้องการยังไม่ได้ ก็ขอให้เทพเจ้านั้นได้ช่วยกลบันดาลให้แก่ตนด้วย ให้รางวัลแก่ตน อันนี้ก็เป็นวิธีการของมนุษย์ในยุคที่ผ่านมา ซึ่งอันนี้ไม่สอดคล้องกับเจตคติแบบวิทยาศาสตร์ แล้วก็ไม่สอดคล้องกับเจตคติพุทธศาสนา พุทธศาสนาถือว่าจะต้องมองสิ่งทั้งหลายไปตามเหตุปัจจัย เมื่อเราต้องการผลที่จะเกิดจากเหตุ เมื่อสิ่งนั้นเป็นผลที่เราต้องการ มนุษย์ก็จะต้องมาทำเหตุของมัน เพราะฉะนั้นเราจะหวังผลสำเร็จด้วยการต้องกระทำ เมื่อเราต้องการอะไรก็ต้องกระทำตามเหตุตามปัจจัยของมัน อันนี้ก็คือท่าที หรือเจตคติแบบพุทธ ที่นำมาสู่การดำเนินชีวิต ก็คือการที่ว่าจะดำเนินชีวิตโดยที่ว่าสร้างผลสำเร็จที่ต้องการด้วยการลงมือทำ ด้วยความเพียรพยายาม อันนี้คือหลักของการเบื้องตน เป็นหลักของการเป็นไปตามเหตุปัจจัย และหลักที่เราเรียกว่าหลักกรรมนั่นเอง หลักกรรมก็คือจุดนี้ คือการที่มุ่งหวังความสำเร็จด้วยการลงมือทำ ไม่ใช่ว่าหวังอ้อนวอนนอนรอคอยโชค อันนี้เป็นทัศนคติที่ตรงกันข้าม ทีนี้คนที่มีเจตคติแบบนี้ว่ามุ่งหวังผลสำเร็จด้วยการกระทำด้วยความเพียรพยายามแล้ว เขาจะมีความนับถือในเทพเจ้าหรืออะไรก็ตาม ตอนนี้จะไม่ค่อยเป็นปัญหา เพราะสิ่งนั้นจะยังไม่ให้คำตอบ แล้ววิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่ได้คำตอบเรื่องนี้ชัดเจน ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ก็ได้เป็นอยู่ที่ความเชื่อ แม้วิทยาศาสตร์จะพูดถึงเรื่องเทพเจ้าเทวดาก็พูดด้วยความเชื่อเช่นเดียวกัน ว่าเชื่อว่ามี หรือเชื่อว่าไม่มี หรือเป็นสิ่งที่ยังต้องพิสูจน์กันอยู่ ทีนี้ในขณะนี้ถ้าไม่ให้เจตคติที่ถูกต้อง มนุษย์จะไม่รู้จักดำเนินชีวิต จะมีมนุษย์อยู่ 2 พวก ก็คือว่า หนึ่ง-พวกที่ว่าปฏิเสธเลย แล้วอีกพวกหนึ่งก็คือว่า คอยหวังผลจากสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์มีอำนาจดลบันดาล หรือเทพเจ้าเหล่านั้นต่อไป มี 2 พวก และมนุษย์ก็จะมีอยู่ในกระบวนการวิทยาศาสตร์ ก็จะนึกว่าต้องพิสูจน์ว่ามีหรือไม่มี แล้วมนุษย์ก็จะพูดกันถึงเทพเจ้าเทวดามีหรือไม่มี แต่ถ้าเป็นเจตคติแบบพุทธแล้ว เรื่องมีหรือไม่มีจะตัดไปได้ทันที เพราะว่าเทวดาจะมีหรือไม่มีก็จะไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เพราะมนุษย์ถือหลักอยู่แล้วว่า สิ่งที่เราต้องการเป็นผลสำเร็จจะต้องให้เกิดขึ้นด้วยการลงมือกระทำ เพราะฉะนั้นเราไม่หวังความช่วยเหลือจากเทพเจ้า แม้จะเทวดามีจริง ชาวพุทธก็ไม่ได้หวังให้เทวดาต้องมาช่วยดลบันดาลให้ เพราะชาวพุทธก็จะมองว่าเทวดาก็เป็นสัตวโลกร่วมกับเรา เป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายเช่นเดียวกัน เป็นเพื่อนร่วมสังสารวัฏ เราอาจจะอยู่กัน แล้วพุทธศาสนาก็จะให้วางเจตคติด้วยว่าให้มีความรู้สึกที่ประกอบด้วยเมตตา และไม่ตรีธรรมต่อกัน ถ้าหากว่าเทวดามีจริง เราก็มีเมตตาต่อเทวดา มีไมตรีต่อเทวดา มีความเคารพนับถือ ไม่ดูถูกดูหมิ่น แต่แม้จะมีจริงเราก็ไม่ได้ไปหวังผลอ้อนวอนจากเทวดา เราไม่หวังให้เทวดามาดลบันดาลอะไรให้เรา เพราะฉะนั้นเทวดาจะมีหรือไม่มี ก็จะไม่กระทบกระเทือนต่อการดำเนินชีวิตแบบพระพุทธศาสนา อันนี้คือคำตอบแบบเจตคติแบบพุทธ ซึ่งในขณะนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ แต่ถ้าถือเจตคติแบบพุทธแล้ว เราจะมีคำตอบในการดำเนินชีวิตตลอดเวลา โดยที่ไม่ต้องไปพะวงกับคำตอบที่ว่ามีหรือไม่มีนั้น ฉะนั้นเทวดาจะมีหรือเทวดาจะไม่มี ชาวพุทธก็ยังปฏิบัติดำเนินชีวิตของตนไปตามปกติ คือทำความเพียรพยายามด้วยการกระทำของตนเอง เพื่อจะสร้างผลสำเร็จที่ประสงค์ให้เกิดขึ้น อันนี้เป็นเจตคติแบบพุทธ ซึ่งนำใช้ในการดำเนินชีวิต นี่เป็นแง่ที่หนึ่งที่อาตมาขอนำมาพูดในที่นี้ ก็ขอให้พิจารณาเรื่องนี้ให้จริงจังว่าเดี๋ยวนี้แม้แต่การพูดเรื่องเทวดาเป็นต้น หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรต่ออะไร ก็ไม่ได้พูดด้วยเจตคติแบบพุทธหรือวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง มัวเถียงกันอยู่ว่าเทวดามีหรือไม่มี ถ้ามีก็ต้องอ้อนวอนอะไรกันไปเลย ซึ่งที่จริงนั้นจะมีหรือไม่มี ชาวพุทธก็ไม่ต้องอ้อนวอนอยู่แล้ว ฉะนั้นเหมือนกับเสือกับช้างอยู่ในป่า ก็อยู่กับเราก็เป็นมิตรกัน เราก็พยายามไม่เบียดเบียนเขา แต่ก็พยายามอยู่ในโลกอย่างเพื่อนร่วมโลก นี่ก็คือลักษณะที่พูดจากเจตคติแบบวิทยาศาสตร์มาสู่เจตคติแบบพุทธศาสตร์ แม้แต่พูดเรื่องเจตคติวิทยาศาสตร์อย่างเดียวก็กินเวลาไปมากมายแล้ว ฉะนั้นอีกสองหัวข้อก็คงไม่มีโอกาสได้พูด แต่ก็จะขอพูดหัวข้อไว้สั้นๆ นิดหน่อยในที่นี้
ข้อต่อไปก็คือเรื่อง คิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น แล้วแก้ปัญหาเป็น ในปัจจุบันนี้ในวงการศึกษาเราพูดกันมาก ถึงการคิดเป็น ทำเป็น แล้วแก้ปัญหาเป็น อันนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่ปัจจุบันนี้เราก้าวสู่ยุคข่าวสารข้อมูล แม้ว่าเมืองไทยเรานี้จะยังห่างไกล คือเรายังคงไม่เข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลได้จริง เพราะเรายังปรารถนาจะเป็นนิกส์ จะเป็นแค่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ด้วยซ้ำไป อุตสาหกรรมใหม่ก็ต้องเป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยีในด้านจักรกลเป็นสำคัญ อิเล็กทรอนิกส์ก็จะมาสนับสนุนกาผลิตด้วยจักรกลในด้านอุตสาหกรรมนี้ ในการที่เรายังไม่เข้าถึงยุคข่าวสารข้อมูล แต่อย่างไรก็ตาม ข่าวสารข้อมูล และความเจริญในยุคนี้ ได้มีอิทธิพลกับเรามาก ความเจริญในยุคข่าวสารข้อมูลนี้ มันจะทำให้การผลิต หรือการทำเนี่ย มีความสำคัญน้อยลง มนุษย์ในยุคนี้นั้นบางทีไม่ต้องไปลงมือทำ แต่ใช้วิธีใช้สื่อสารเป็น ใช้วิธีสั่งการเอา ก็ทำให้เกิดการผลิตตามที่ประสงค์ได้ แต่สิ่งที่มีความสัมพันธ์เพิ่มขึ้นในยุคข่าวสารข้อมูลก็คือการสื่อสาร การสื่อสารนี้มนุษย์จะต้องรู้จักสื่อสารให้เป็นด้วย ผู้ที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างดีในยุคนี้จะต้องสื่อสารเป็น ภาษาเก่าของเราก็คือพูดเป็น การที่พูดเป็นไม่ได้หมายความว่าพูดๆๆ อย่างเดียว แต่หมายถึงว่าต้องรู้เข้าใจ เช่นรู้เข้าใจข่าวสาร ฟังเป็น สิ่งที่เขาเขียนมาบอกมา พูดมา ข่าวสารต่างๆ ข้อมูลต่างๆ ที่เข้ามา เรารู้จักรวบรวมเป็น เรารู้จักที่จะจัดสรรเลือกคัด วินิจฉัย แล้วนำมาถ่ายทอดเป็น การสื่อสารเป็นจะมีความสำคัญมากในยุคต่อไป เพราะฉะนั้นคำกล่าวที่ว่า ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี นี้ อาจจะกลับมาอีก เพราะฉะนั้นพูดเป็นนี้ก็น่าจะกลับเข้ามาอยู่ในคติของการศึกษาด้วย ก็คืออาจจะบอกว่า คิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น หรืออาจจะบอกว่า คิดเป็น สื่อสารเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น สื่อสารเป็นนี่เป็นภาษาสมัยใหม่ ความจริงก็มาจากพูดเป็นนั่นเอง อันนี้ก็เป็นข้อพิจารณาอย่างหนึ่งในขณะที่เราจะต้องก้าวให้ทันกับความเจริญในโลกปัจจุบันนี้ ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่ก้าวให้ทันเท่านั้น เมืองไทยถ้าจะให้เจริญจริง เราจะไปคิดแต่เพียงก้าวให้ทัน เราจะต้องคิดในแง่ก้าวไปเป็นผู้นำด้วย เมืองไทยนี้มีเจตคติลักษณะจิตใจในแง่เป็นผู้ตามและผู้รับจนเคยตัว ปัจจุบันนี้เราไม่รู้ตัวเลยว่าความคิดของเราเป็นไปในลักษณะผู้ตามและผู้รับ แม้แต่มองนักวิทยาศาสตร์ มองเทคโนโลยีก็มองในทัศนคติ เจตคติแบบผู้ตามและผู้รับ เป็นแบบ unconscious ไม่รู้ตัวเลย เป็นไปโดยจิตไร้สำนึกมันให้เป็นไป จนกระทั่งลืมไปว่าที่จริงแล้วเราจะต้องเป็นผู้นำแล้วเป็นผู้ให้ด้วย ถ้าหากว่าเราจะสร้างความเจริญที่แท้จริงแล้ว เราจะต้องสร้างลักษณะจิตใจขึ้นมาใหม่ ให้เป็นผู้นำและผู้ให้ ด้วยความตั้งใจมุ่งมั่นอย่างนี้เท่านั้นที่จะสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาได้จริงจัง แล้วก้าวไปสู่สังคมของอารยะประเทศที่มีความเจริญอย่างแท้จริง อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แล้วอีกเรื่องหนึ่งที่บอกไว้เป็นหัวข้อก็คือเรื่องแนวคิดแบบองค์รวม อันนี้จะขอพูดให้สั้นนิดเดียว ก็คือว่าอันนี้ที่จริงมันก็มาจากเรื่องแรกนั่นเอง คือเจตคติแบบวิทยาศาสตร์ อันนี้มันพันกันหมดทั้งสามหัวข้อ แต่ในเวลานี้ไม่มีเวลาที่จะไปลงข้อสรุปให้เห็นว่าสามหัวข้อที่ตั้งไว้นี่มันโยงเป็นเรื่องเดียวกันอย่างไร มนุษย์นั้นที่พัฒนาวิทยาศาสตร์ขึ้นมานั้น มีความคิดอย่างหนึ่งว่า มนุษย์จะต้องพิชิตธรรมชาติ เราจะต้องเอาชนะธรรมชาติ เพราะว่าธรรมชาตินี้เหมือนมาให้เรามีความติดขัด ทำให้เกิดภัยอันตราย เราไม่สามารถจะหาความสุขได้เต็มที่ เราจะต้องบังคับควบคุมธรรมชาติ จัดสรรธรรมชาติได้ ให้เป็นไปตามที่ประสงค์ ให้ธรรมชาติมารับใช้สนองความต้องการของเรา แล้วเราก็พยายามพิชิตธรรมชาติแล้วก็สร้างความเจริญ แม้แต่ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นมา อันนี้เป็นแนวความคิดที่เป็นมาแต่เดิม ซึ่งแนวความคิดนี้มาจากพื้นฐานของการมองโลก การมองสิ่งทั้งหลาย มนุษย์ในยุคที่คิดจะเอาชนะธรรมชาตินั้นมองอะไรยังไง คือในโลกนี้มองสิ่งต่างๆ แตกต่างหลากหลายกัน สิ่งต่างๆ ที่แตกต่างหลากหลาย ต่างพวก ต่างประเภทนี้ มนุษย์มองอย่างไร ทัศนคติที่นำไปสู่การพิชิตธรรมชาตินั้นมองความแตกต่างหลากหลาย ว่าเป็นความขัดแย้ง ฉะนั้นมนุษย์กับธรรมชาติเป็นต้น ก็แตกต่างกัน มันจะช่วงชิงผลประโยชน์กัน ธรรมชาติชนะ เราแย่ ถ้าเราชนะธรรมชาติ เราก็สบาย ฉะนั้นนำไปสู่การแข่งขันช่วงชิงแย่งผลประโยชน์ แม้แต่ในระหว่างมนุษย์ เพราะเรามองความแตกต่างหลากหลายว่าคือความขัดแย้ง ตอนนี้ทัศนะนี้ซึ่งนำไปสู่การพิชิตธรรมชาตินั้นได้ทำให้เกิดโทษเกิดภัยอันตรายขึ้นมา แต่การที่ธรรมชาติกับมนุษย์เป็นศัตรูกัน แล้วก็อันตรายก็เกิดขึ้นแก่ตัวมนุษย์เอง ตอนนี้กำลังต้องหันไปสู่แนวความคิดอีกอย่างหนึ่ง คือการมองว่าความแตกต่างหลากหลายนั้นคือความเป็นส่วนเสริมเติมเต็มให้แก่กัน ขอให้มองดู มันก็มองได้ทั้งสองอย่าง มองอีกอย่างหนึ่ง ความแตกต่างหลากหลายคือการเป็นส่วนเสริมเติมเต็มให้แก่กัน เมื่อมองอย่างนี้แล้วแทนที่จะนำไปสู่การแข่งขันช่วงชิง ก็นำไปสู่การประสานกลมกลืน การที่ต้องรู้จักจัดสรรสิ่งต่างๆ ให้มาประสานกลมกลืนและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แล้วผลดีจึงจะเกิดขึ้นแก่ชีวิตมนุษย์ การศึกษาจะมีความหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นสำคัญ เพราะการศึกษานั้นเป็นการพัฒนามนุษย์ เริ่มตั้งแต่พัฒนาสติปัญญา พัฒนาเจตคติพื้นฐานเป็นต้นไป ยุคที่ผ่านมามนุษย์ได้รับผลร้ายจากเจตคติที่มองความแตกต่างหลากหลายเป็นความขัดแย้ง ต่อไปนี้เราก็จะพัฒนาใหม่ โดยมองความแตกต่างหลายหลายเป็นการมีส่วนเสริมเติมเต็มให้แก่กัน ซึ่งนำไปสู่ทัศนะแบบประสานกลมกลืน การที่เราจะให้การศึกษามนุษย์นี้ เราก็มองเห็นความจริงที่ว่าในธรรมชาติหรือในสิ่งแวดล้อมรอบตัวนั้น แม้แต่ชีวิตมนุษย์เอง กับสิ่งแวดล้อมนั้น มันมีความแตกต่างหลากหลายอยู่ทั่วไป มันมีทั้งความขัดแย้งและความประสานกลมกลืน ถ้าหากว่าความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายไม่เป็นไปด้วยดีแล้ว ความแตกต่างนั้นจะทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่ถ้าหากว่าเราจัดให้ดีแล้ว ความแตกต่างนั้นมาเป็นส่วนประสานกลมกลืนแล้วเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เสริมเติมเต็มกัน ก็เกิดประโยชน์ ฉะนั้นการศึกษาก็คือการที่พัฒนามนุษย์ให้เป็นผู้มีความสามารถ ในการที่จะทำให้เกิดการประสานกลมกลืน ทำให้ความแตกต่างหลากหลาย กลายเป็นความประสานกลมกลืน แทนที่มันจะกลายเป็นความขัดแย้ง เกิดโทษ เราก็จัดสรรให้มันประสานกลมกลืนเป็นประโยชน์เสีย ฉะนั้นความหมายของการศึกษาในยุคนี้จะเน้น คือจะไม่พูดว่าการศึกษาคือการพัฒนาคน สมมติว่าจะให้ความหมายการศึกษากับการพัฒนา เราจะไม่พูดด้วนๆ ห้วนๆ ว่า การศึกษาคือการพัฒนาคน แต่เราจะพูดว่าการศึกษาคือการพัฒนาคนให้มีความสามารถที่จะทำให้ความแตกต่างหลากหลายกลายเป็นการประสานกลมกลืน เมื่อการประสานกลมกลืนเป็นไปด้วยดีแล้ว ทุกอย่างเป็นสัดเป็นส่วน เกิดภาวะที่เรียกว่าดุลยภาพ แล้วก็เป็นไปด้วยดี ชีวิตมนุษย์ก็เป็นปกติสุขด้วย เพราะฉะนั้นในยุคนี้เขาจะเน้นความคิดแบบดุลยภาพ สมดุล บาลานซ์ แล้วก็ความคิดแบบองค์รวม มีความคิดเรื่อง holistic view พัฒนาขึ้นมา อันนี้ก็เป็นแนวความคิดที่เราจะได้ยินว่าในยุคไม่นานมานี้ จะพูดกันมากถึงคำว่าครบวงจร ในวงการทำงานต่างๆ บอกว่าทำอะไรต้องทำให้ครบวงจร เพิ่งพูดกันเกร่อไม่กี่ปีนี้เอง อันนี้เป็นแนวความคิดเข้าในแนวที่เรียกว่าทัศนะแบบองค์รวม ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่นี้ ความคิดแบบบูรณาการก็อยู่ในแนวนี้ ขณะนี้แนวคิดนี้กำลังเกร่อ กำลังฟุ้งขึ้นมา แต่ว่าเราจะต้องจับให้ถูก แต่พื้นฐานของมันก็คือการมองความแตกต่างหลากหลายมิใช่เป็นความขัดแย้ง แต่ว่ามันเป็นไปได้ คือความแตกต่างหลากหลายนั้นเป็นไปได้ทั้งความขัดแย้งและกลมกลืน ถ้ามันไม่อยู่ในสภาวะดุลยภาพ มันก็ทำให้เกิดความขัดแย้ง แล้วก็ทำให้เกิดผลเสีย เพราะฉะนั้นมนุษย์มีการศึกษาเพื่ออะไร เพื่อเราจะได้สามารถที่จะมาจัดสรรให้องค์ประกอบต่างๆ นี้ มันเข้ามาสัมพันธ์กันอย่างประสานกลมกลืน แล้วเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยมีดุลยภาพและผลดีก็จะเกิดขึ้น ฉะนั้นมนุษย์ในยุคนี้ จะทำการพัฒนา ไม่ใช่พัฒนาเฉยๆ แต่การพัฒนาไปอย่างให้เกิดความประสานกลมกลืนด้วย ให้มนุษย์ประสานกลมกลืนไปกับธรรมชาติ เป็นต้น การพัฒนาได้ สร้างความเจริญได้ เป็นความเก่งกาจอย่างหนึ่งแล้ว แต่ต่อไปนี้ถือว่าไม่พอ การพัฒนาที่จะให้ประสานกลมกลืนได้ด้วยนั้นเป็นสิ่งที่ยากกว่า อยากกว่ามากมาย ยุคที่แล้วมาเราสามารถพัฒนาได้มากมาย แต่มันไม่ประสานกลมกลืน ต่อไปนี้ทำไงจะให้พัฒนาด้วย แล้วให้เป็นไปอย่างประสานกลมกลืนด้วย เป็นสิ่งที่ต้องการและท้าทายสติปัญญาของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้นความสำเร็จของการศึกษาก็คือการช่วยให้มนุษย์พัฒนาตัวเอง เราไม่พูดว่าเราให้การศึกษาเพื่อไปพัฒนาคน แต่เราไปช่วยให้คนเขาพัฒนาตัวเอง การศึกษาคือการช่วยให้คนได้พัฒนาตนเองให้มีความสามารถ ในการที่จะทำให้ความแตกต่างหลากหลาย กลายเป็นการประสานกลมกลืนและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แล้วอันนี้ก็จะนำไปสู่ความพัฒนาที่ถูกต้อง ความเจริญงอกงามที่ถูกต้อง ซึ่งในการพัฒนาอย่างนี้ เราจะนำเจตคติทางวิทยาศาสตร์ หรือเจตคติแบบพุทธมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งในเจตคตินั้นก็จะมีลักษณะสำคัญอันหนึ่งก็คือการคิดเป็น สื่อสารเป็นทำเป็นและแก้ปัญหาเป็น
วันนี้ก็ไม่มีโอกาสที่จะอธิบาย หัวข้อสองข้อหลังได้มากมาย ก็จะขอยุติเพียงเท่านี้ ก็เกินเวลาของที่ประชุมไปมากมาย ที่ประชุมนั้นกำหนดการจะมีการนั่งสมาธิ เดินจงกลม ด้วยซ้ำ แต่อาตมาภาพคิดว่าไม่มีแล้ว เพราะว่าผู้ที่มาแสดงธรรมเทศนาหรือปฐกถานี้ ได้พูดเกินเวลาของที่ประชุม แล้วก็กินเวลาของสมาธิและจงกลมไปแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าท่านจะพิจารณาอย่างไรก็สุดแต่จะเห็นสมควร ก็ถือว่าสมาธิและจงกลมก็อาจจะให้รวมอยู่ในนี้ไปเลย คือทำใจเป็นสมาธิในการฟังพระธรรมเทศนา เพราะถ้าหากว่าทำใจเป็นสมาธิแน่วแน่ในสิ่งที่ฟังได้ ก็จะเจริญธรรมอยู่ในตัวอยู่แล้ว วันนี้อาตมาภาพก็ขออนุโมทนาอีกครั้งหนึ่งในการที่ท่านอธิบดีกรมสามัญศึกษา ท่านได้มีความดำริอันเป็นกุศล ได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา แล้วเราก็มาอยู่ในที่ประชุมนี้ เริ่มตั้งแต่อากาศยังเย็นสบายสดชื่นผ่องใส แต่ตอนนี้แดดพระอาทิตย์ก็ขึ้นแจ่มจ้าแล้ว ทำให้ที่ประชุมชักจะไม่ค่อยสบาย เพราะฉะนั้นอย่างน้อยแม้ใจจะไม่สบาย อย่างน้อยใจสบายไว้ก่อน อาตมาภาพก็ขอให้ความตั้งใจดีเป็นกุศลนี้มีไมตรีธรรม มีเมตตาธรรม ไมตรีต่อกันนี้ เป็นความชื่นฉ่ำยินดีภายในที่รองรับ ที่ทำให้มีความเย็นอยู่เสมอตลอดเวลา แล้วก็ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย มาอวยพรแด่ท่านทั้งหลาย ในขณะที่เรามานั่งประชุมในที่นี้ อันเป็นที่เรียกว่าพุทธมณฑล หน้าองค์พระประธาน ซึ่งเป็นสิริมงคลแล้ว ขอให้คุณพระรัตนตรัย จงปกปักรักษาอวยพรแก่ทุกท่านทั้งหลาย ขอทุกท่านจงได้เจริญด้วยจตุพิธพรชัย ต้องพร้อมด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา ในการที่จะดำเนินชีวิตในการประกอบกิจอาชีพหน้าที่การงานให้บรรลุความสำเร็จก้าวหน้า ความรุ่งเรื่อง งอกงาม แล้วจงมีความร่มเย็นในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดการเป็นนิจโดยทั่วกันทุกท่านเทอญ