แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เรื่องทาลีบันก็ค้างไว้ วันนั้นก็พูดไปถึงเรื่องทางด้านของถิ่นเกิดของศาสนาทางด้าน นับจากเราก็เป็นตะวันตก แต่ที่จริงศาสนาใหญ่ๆ ก็เกิดในเอเชียทั้งนั้น ถ้าพูดถึงดินแดนของยิว คริสต์ อิสลาม ซึ่งเรียกว่าเป็นถิ่นเดียวกันเลย หรือว่าติดๆ กัน วันนี้อยากจะพูดแทรก การที่เรามาคุยเรื่องอะไรต่างๆ เหล่านี้ก็ให้เกิดความรู้
ทางพุทธศาสนานั้นถือว่าปัญญานี้เป็นคุณธรรมสูงสุด ให้ความสำคัญกับปัญญา ท่านบอก " ปัญญุตตรา สัพเพ ธัมมา ธรรมทั้งปวงมีปัญญาเป็นยอดยิ่ง " พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ก็เพราะปัญญา เพราะว่าคำว่า " โพธิ " การตรัสรู้นั้นก็เป็นชื่อหนึ่งของปัญญานั่นเอง มนุษย์เราที่ประเสริฐหรือว่าเก่งกว่าสัตว์ทั้งหลายก็ด้วยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาก็จะเอาอะไรดีกว่าสัตว์อื่นล่ะ แม้จะมีมือซึ่งพิเศษกว่าสัตว์อื่นแต่ถ้าไม่มีปัญญาแล้วสู้สัตว์อื่นไม่ได้เลยเชื่อไหม แย่ที่สุด สัตว์อื่นมีดีอะไร สัตว์อื่นมีดีที่สัญชาตญาณ สัญชาตญาณเขาเก่งกว่าเรา มนุษย์ต้องอาศัยความรู้ที่สร้างขึ้น ส่วนสัตว์อาศัยความรู้ที่เกิดมาตามกำเนิด ซึ่งเราเรียกว่าสัญชาตญาณ ฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายอื่นได้เปรียบมาก
ส่วนมนุษย์นี่ปัญญาสร้างเอา ถ้าใครไม่สร้างปัญญาก็แย่ ก็คือต้องเรียนรู้ หรือการศึกษา หรือการฝึก เพราะฉะนั้นทางพุทธศาสนาถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกและฝึกได้ ดีตรงที่ฝึกได้เท่านั้นเอง แต่ถ้าไม่ฝึกก็ไม่ได้เรื่องอยู่นะ ฝึกได้แต่ไม่ยอมฝึกตัวเองก็ไปไม่รอด มนุษย์นั้นไม่ฝึกแล้วก็แน่นอนเลยสู้สัตว์อื่นไม่ได้ แม้แต่กินยืนเดินนั่งนอนก็ยังไม่ได้เรื่องเลย อย่าว่าถึงจะไปรอด
อย่างสัตว์อื่นอย่างเช่นพวกอินทรีย์อายตนะเขา ตา หู อะไรต่างๆ เนี่ย มักจะดี ใช่มั้ย อย่างสุนัข จมูกก็ดีกว่าคนเยอะเลย สัตว์บางอย่างก็จะมีดีเป็นอย่างๆ บางอย่างก็สองสามอย่าง บางชนิดหูนี่ ไวเหลือเกิน มนุษย์ก็ต้องอาศัยพวกสัตว์พวกนี้มาช่วยด้วยเหมือนกัน อย่างที่ดอนเมืองก็เอาสุนัขมาดมพวกกระเป๋าสัมภาระจะมียาเสพติดมารึเปล่า นี่เป็นต้น หรือว่าในเรื่องการสืบสวนอาชญากรรมอะไรต่างๆ พวกอินทรีย์ตา หู จมูก ลิ้นอะไรพวกนี้ของสัตว์อื่นๆ ก็ดีก็ไว มนุษย์ก็ตกลงก็ประเสริฐที่ปัญญานี่แหละ
ทีนี้ ปัญญาเวลาเราพัฒนาสร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมาเนี่ย แต่ว่าตัวเก่าที่เรามีอยู่ก็คือกิเลส กิเลสก็ความโลภ ความโกรธ ความหลง อันนี้ที่จริงมันมีไว้เป็นเครื่องรักษาตัว คือมนุษย์เมื่อยังไม่มีปัญญาเนี่ย ก็ต้องอาศัยพวกกิเลสเหล่านี้มาช่วย ซึ่งกิเลสเหล่านี้จะมีตัวปฏิกิริยา เช่น ความกลัว อยากได้ แต่ว่ามันถูกขัดขวางแล้วไม่รู้สิ่งนั้น ความไม่รู้นี้เป็นอันหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดความกลัว เมื่อมนุษย์พัฒนาปัญญาขึ้นมา เพราะปัญญาเจริญเต็มที่จะไม่ต้องอาศัยกิเลสเหล่านั้น เช่น ตัณหา โลภะ โทสะ โมหะ อะไรนี่ โมหะก็หมดไปเมื่อปัญญาเกิด โลภะโทสะเนี่ยเป็นตัวที่อิงอยู่กับโมหะนั้น เราต้องอาศัยมันเมื่อเรายังมีปัญญาไม่พอ แต่พอปัญญาเจริญเต็มที่ พวกนี้ไม่ต้องอาศัยแล้ว
แต่ระหว่างที่กำลังพัฒนาปัญญาเนี่ย ปัญญาเจริญมาระดับหนึ่งก็รู้ แม้แต่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่กิเลสที่ยังอยู่ก็จะมาฉวยโอกาสใช้ความรู้ที่ปัญญาสร้างเนี่ยนะ เอาไปใช้ในทางไม่ดี เช่นว่า ทั้งๆ ที่รู้ว่าอันนี้ถูกอันนี้ผิด อันนี้เป็นประโยชน์แท้จริง มันไม่เอา ใช่มั้ย ใช้ความรู้นั้นไปทางอื่นเพื่อสนองความต้องการของตัวกิเลสโลภะโทสะ ตรงนี้แหละที่มนุษย์จะยุ่ง ระหว่างที่รู้ครึ่งไม่รู้ครึ่ง ปัญญาก็พัฒนามายังไม่เป็นโพธิ ไม่ตรัสรู้ ไอ้เจ้ากิเลสก็ยังอยู่ ก็ฉวยโอกาสเอาความรู้ที่ปัญญาสร้างไปใช้ในทางสนองกิเลสไป นี่ก็เลยต้องมีการพัฒนาคุณธรรมอื่นๆ ขึ้นมา มนุษย์ก็จะมีวิธีการในการพัฒนา คือพัฒนาด้านจิตใจขึ้นมาด้วย แล้วก็พัฒนาพฤติกรรม พัฒนาพฤติกรรมก็ให้ไม่เบียดเบียนกัน อยู่ร่วมกันด้วยดี แต่ว่ามันจะอยู่กันได้ดีมันก็ต้องมีอื่น เช่นว่า เอ้า จะไม่เบียดเบียนกัน อาจจะต้องมีการเชื่อฟังใคร ใช่มั้ย ไม่งั้นก็เอาแต่ใจตัวเอง
เพราะฉะนั้นในการที่จะพัฒนาคนก็มีเรื่องของคุณธรรมมาช่วย แม้แต่พัฒนาปัญญาเองก็ต้องมีพวกคุณสมบัติของจิตใจมาช่วย อย่างศรัทธาอย่างนี้ จะเป็นตัวเรียกร้องที่ใช้มากเป็นพิเศษ อย่างเราเกิดมาปั๊ปเราก็เชื่อพ่อเชื่อแม่ ไปโรงเรียนครูคนไหนสอนดีเข้าใจดีก็เกิดศรัทธา ใช่มั้ย พอมีศรัทธาก็โน้มที่จะเชื่อ ตัวความเชื่อเนี่ยเป็นแรงผูก ในขณะที่เราไม่รู้ด้วยตนเอง เราเหมือนกับอาศัยปัญญาของผู้อื่น อาศัยปัญญาของใคร อาศัยปัญญาของคนที่เราศรัทธานี่แหละ ด้วยความเชื่อก็ทำตามเขา ศรัทธาก็คืออาศัยปัญญาของผู้อื่น ใช่มั้ย เขารู้มาก่อนเราแล้วตั้งแต่พ่อแม่รู้มาเราก็เชื่อตามท่านแล้วก็ปฏิบัติตาม นี้ ศรัทธานี่ถ้าใช้ถูกก็จะทำให้หนุนปัญญา พอเราเห็นว่าท่านผู้นี้พูดดี พูดอะไรมามีเหตุมีผล เท่าที่เรามองรู้ได้นี่ก็จริงทั้งนั้น เนี่ย เราจะโน้มใจเชื่อเลย ตอนนี้เกิดศรัทธา
พอทีนี้ศรัทธาแล้วอาจจะทำให้อยากฟังอีก ใช่มั้ยฮะ ก็เลยยิ่งหนุนปัญญาใหญ่ เพราะฉะนั้นคนที่เกิดศรัทธาเนี่ย ถ้าใช้ถูก ศรัทธาจะเป็นตัวนำไปสู่ปัญญา เพราะเราเชื่อท่านผู้นี้ก็อยากฟังมากๆ เราชอบเรื่องนี้เห็นเป็นประโยชน์ เราก็ค้นคว้าร่ำเรียนเอาจริงเอาจัง เกิดแรง ปัญญาก็ยิ่งเพิ่มพูน ค้นคว้าเอาใหญ่เลย เนี่ย ศรัทธาที่แท้ก็ใช้เป็นทางที่จะนำไปสู่ปัญญา ทำให้ปัญญามีจุดที่จะจับ ไม่งั้นก็พลาดจะเอาเรื่องโน้นเรื่องนี้ดีเอาที่ไหนดี พอศรัทธาเกิดที่นี่แล้วค้นเรื่องนี้ ได้จุดก็ค้นเลย แล้วเกิดกำลังเอาจริงเอาจังก็เข้มแข็ง ใช่มั้ย ทำให้มุ่งแน่วไปเลยคราวนี้ ศรัทธาก็หนุนปัญญา
ทีนี้ พอปัญญาเกิดเต็มที่แล้วเนี่ย เป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์ ท่านบอกว่าอยู่เหนือศรัทธา ไม่ต้องอาศัยศรัทธา เป็นผู้ที่พ้นระดับหรือวิสัยของศรัทธาแล้ว ท่านใช้คำว่า " ไม่ต้องมีศรัทธา " อย่างพระพุทธเจ้าเคยถามพระสารีบุตรว่า " เอ้า ท่านสารีบุตร เรื่องนี้ๆ ท่านเห็นว่าเป็นยังไง " พระสารีบุตรก็ตอบว่า " เป็นอย่างงั้น อย่างงั้น " ก็ตอบเหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าเคยสอน พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า " เอ๊ะ ที่ท่านว่าอย่างนี้ ท่านว่าเพราะเชื่อต่อเราหรือยังไง " พระสารีบุตรบอก " ที่ข้าพระองค์ได้ตอบอย่างนี้ มิใช่เป็นเพราะเชื่อต่อพระองค์ แต่เพราะว่าข้าพระองค์ก็ได้เห็นมาเป็นอย่างงั้น เมื่อเห็นว่าเป็นอย่างงั้นแล้วก็ไม่ต้องเชื่อ ก็เห็นเหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าเห็น "
ในพุทธศาสนาเนี่ยพระพุทธเจ้าสอน ท่านว่าไม่ให้มาต้องขึ้นต่ออาจารย์ก็เพราะอันนี้ คือหมายความว่าให้รู้ ตอนแรกอาศัยอาจารย์เนี่ย เพื่อจะได้รู้สิ่งที่ตัวยังไม่รู้ แล้วก็ฝึกวิธีที่จะสร้างเสริมปัญญาจนกระทั่งรู้ด้วยตนเอง ก็จบ ก็เป็นอิสระไป มีผู้เปรียบเทียบปัญญากับศรัทธา เหมือนอย่างกับว่าผมกำอะไรไว้ในกำมือ ตอนนี้ท่านไม่รู้ ตอนนี้จะมีปัญหาว่าศรัทธาหรือไม่ เชื่อไหม ผมบอกว่ามีดอกกุหลาบดอกหนึ่งอยู่ในมือ เนี่ย เชื่อไหม เอ ท่านก็ต้องหาเหตุผล บางคนก็เชื่องมงายไม่ต้องคิดไม่ต้องใช้ปัญญาเลย ศรัทธาจะต้องไปเกี่ยวเนื่องกับปัญญาตรงนี้ ตรงที่ว่าแม้แต่เชื่อ มีเชื่อแบบเชื่อเรื่อยเปื่อย เชื่องมงาย กับเชื่ออย่างมีเหตุผล เชื่อมีปัญญาประกอบ ถ้าคนเชื่องมงายก็ " เอ้อ ท่านผู้นี้พูดก็ต้องเชื่อ " ว่างั้นนะไม่ต้องคิด ทีนี้ถ้ามีปัญญาเริ่มคิดก็ " เอ มันเป็นไปได้ไหม ดอกกุหลาบอยู่ในมือขนาดนี้ เออ มันขนาดเล็กพอที่จะกำได้ แล้วท่านผู้นี้ไปเดินที่ไหนมาหรือในบริเวณนี้เป็นได้ไหมในเวลาเท่านั้นเท่านี้จะไปมีดอกไม้มา " อะไรต่างๆ อย่างนี้ก็คิดไป เนี่ยตอนนี้ฝึกแหละ ก็จะทำให้เริ่มเกิดปัญญา และก็เป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ก็อยู่ที่ว่าใครจะใช้ปัญญามากน้อย แต่ก็เรียกว่าอยู่ในขั้นของศรัทธาทั้งนั้น เมื่อไรผมแบมืออย่างนี้ เห็นด้วยตาตัวเอง อันนี้เป็นขั้นที่ว่าเห็นประจักษ์ด้วยตนเอง ถ้าเห็นประจักษ์รู้ประจักษ์ด้วยตนเองแล้ว เป็นอันว่าพ้นขั้นศรัทธา ไม่ต้องถามแล้วเชื่อไหม ใช่มั้ย ก็ไปเห็นและรู้ประจักษ์แล้ว นี่ความต่างระหว่างศรัทธากับปัญญา
ในขณะที่เรายังไม่รู้แจ้งรู้จริง เราก็จะอาศัยศรัทธาตามสมควร ก็อยู่ที่ว่าจะใช้ศรัทธาเป็นไหม ทีนี้ ถ้าหากว่าใช้ศรัทธาไม่เป็น กลายมาเป็นศรัทธามาบังปัญญา เช่นว่า มีผู้ที่ใช้วิธีบังคับให้เชื่อ ถ้าไม่เชื่อฆ่าเลยว่างั้น อย่างนี้ก็เป็นอันว่าจบกัน ขัดขวางปัญญา หรือเชื่อแบบงมงาย เชื่อแบบว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ละก็เชื่อไปเถอะ ว่างั้น สอนกันไว้อย่างนั้นก็เลยไม่ต้องคิด อย่างนี้ก็เป็นความเชื่อที่กลายเป็นว่าแทนที่จะมาหนุนปัญญาหรือทำให้เกิดการสร้างเสริมปัญญาซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่แท้ของศรัทธา กลับกลายเป็นว่าศรัทธานี้มาขัดขวางปัญญา ปิดกั้นปัญญา
เพราะฉะนั้นในพุทธศาสนาเนี่ย ท่านจึงต้องให้ศรัทธาคู่กับปัญญา แล้วให้ศรัทธาเป็นตัวมาช่วย ให้ศรัทธาเนี่ย ได้อย่างที่บอกเมื่อกี้ (1) มีจุดจับที่จะเอาจริงเอาจัง (2) มีกำลังเกิดพลังที่จะค้นคว้าลงไปให้ลึกในเรื่องนั้น เจาะจนกระทั่งถึงจุดหมาย ทีนี้ถ้าปัญญาไม่มีศรัทธาก็จับจด คือ คล้ายๆ รู้นิดรู้หน่อยก็หยุด อันนี้ก็รู้แล้วๆ แล้วก็ไม่ขวนขวายไม่มีใจไม่มีกำลังที่จะสืบค้นลงไปให้ลึกให้เห็นจริงเห็นจัง เพราะงั้นก็ แม้พุทธศาสนาจะเน้นปัญญา แต่ว่าพระองค์ก็จะให้ความสำคัญกับศรัทธามาก นี้มันเป็นปัญหาในหมู่ชาวพุทธเหมือนกัน ศาสนาอื่นจะมีปัญหาเรื่องศรัทธา ทีนี้ ของพุทธมีปัญหาเรื่องปัญญาเนี่ย คล้ายๆ ว่า คิดเอาเอง รอรู้เอาเอง หรืออะไรอย่างนี้แล้วก็ไม่ขวนขวาย ขาดศรัทธาก็เสียเหมือนกัน ก็เลยไม่จริงไม่จังกับการหาความรู้
ทีนี้กลับไปพูดถึงศรัทธาที่ไม่มีปัญญาไม่เอาปัญญา บอกว่าต้องเชื่อ ไม่เชื่อไม่ได้เป็นบาป อะไรอย่างนี้ สงสัยไม่ได้เลย ทีนี้ นี่ด้านหนึ่งก็คือว่าจะงมงายแล้ว สองก็คือจะเกิดปัญหาอีกอัน คือความเชื่อศรัทธาอย่างเดียวรุนแรง พอเชื่อไปแล้วปักใจ ขัดแย้งกับผู้อื่น ไม่ยอมใคร ไม่ยอมรับฟังเลย เพราะฉะนั้นสงครามศาสนาก็เกิดได้ ใช่มั้ย เพราะเรื่องศรัทธาที่มุ่งไปแต่ศรัทธาอย่างเดียว ต้องเชื่อเด็ดขาดเลย ถามไม่ได้ สงสัยไม่ได้ ก็ทำให้คนเบียดเบียนกันเพราะศรัทธาเยอะ
ในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเนี่ย ก็เต็มไปด้วยเรื่องของการฆ่ากันเพราะเรื่องความเชื่อลัทธิศาสนา ถามไม่ได้ แล้วก็เป็นเหตุให้ฝรั่งดิ้นรนจนกระทั่งเกิดวิทยาศาสตร์ขึ้นมา เพราะว่าเมื่อยิ่งบีบมากก็ดิ้นมาก การดิ้นรนก็เป็นทางที่ทำให้คนเกิดพลังเหมือนกัน ของฝรั่งก็เลยเป็นอีกแบบหนึ่ง คือการตื่นตัวในทางปัญญา เกิดความอยากรู้เพราะถูกบีบคั้น ทำให้ดิ้นรนขวนขวาย คนยิ่งถูกบีบยิ่งดิ้น
เหมือนอย่างกับแม้แต่ธรรมชาติแวดล้อมนะ ถ้าคนไทยนี่อยู่สบายๆ แกก็นอนสบายเหมือนกัน ไม่อยากขวนขวายอะไรแล้ว อยู่ไปเรื่อยๆ ธรรมชาติผัดวันประกันพรุ่งจะทำอะไรเมื่อไรก็ได้ บ้านจะซ่อมเมื่อไรก็ได้ ทีนี้ ของฝรั่งนี่อากาศหนาวเย็นตาย ถึงเวลาจะทำอะไรต้องรีบทำ ผัดเพี้ยนไม่ได้ แล้วก็ธรรมชาติบีบคั้นแม้แต่ความอดอยากเนี่ยทำให้คนดิ้นรนขวนขวายก็มีกำลัง นั่นก็เรื่องของมนุษย์ ก็เลยมีคติอยู่อันหนึ่งบอกว่า มนุษย์ปุถุชนเนี่ย เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย เมื่อไรสุขสบายก็นอน เสวยความสุขประมาทมัวเมา อันนี้ก็เป็นคติสำคัญที่พุทธศาสนาพยายามฝึกคนว่า ทำไงจะให้ทั้งๆ ที่สุขสบายก็ไม่ประมาท ถ้าทั้งๆ ที่สุขสบายแล้วไม่ประมาทได้ นั่นคือความสำเร็จในการฝึกมนุษย์อย่างหนึ่ง ยากมาก
เชื่อไหมว่าสุขสบายแล้วจะไม่ประมาทจะยังขวนขวายยังเข้มแข็งทำอะไรต่ออะไรเอาจริงเอาจัง ยากมากนะ ท่านบอกว่าพระอรหันต์เท่านั้นที่แก้ได้เด็ดขาดในเรื่องนี้ พระอรหันต์เป็นผู้ที่จะไม่ประมาทเลย คือเรื่องของนิสัยความรู้สึกไม่มาครอบงำแต่ท่านอยู่ด้วยปัญญา นั่นก็คือคนที่ฝึกแล้วจนพ้นจากกิเลส อยู่ด้วยปัญญาจริงๆ อันนี้ก็ต้องการพูดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างปัญญากับศรัทธาว่าต้องระวังศรัทธาที่ไม่หนุนปัญญา ปิดกั้นปัญญา งมงายเหลวไหลอย่างหนึ่ง แล้วทำให้รุนแรงอย่างหนึ่ง ถ้ารุนแรงก็เกิดภัยอันตรายยกพวกทำสงครามตีกัน ศาสนาต่างๆ รบกันก็เพราะเรื่องนี้ ทีนี้ พอปัญญาถ้าไม่มีศรัทธาอะไรต่ออะไรเลยก็ปล่อยเรื่อยเปื่อยไปไม่เอาเรื่อง ปัญญาแทนที่จะเกิดแทนที่จะพัฒนาก็ไม่ไปอีก ปัญญามีเท่าไรก็เท่านั้น นึกว่าตัวเองอันนี้ก็รู้อันนั้นก็รู้ก็ปล่อยเรื่อยเปื่อย
อีกอันหนึ่งที่สำคัญก็คือ เมื่อมนุษย์ยังอยู่ร่วมกับมนุษย์อื่นก็เป็นธรรมดามนุษย์อยู่ร่วมสังคมกับมนุษย์ด้วยกัน ทีนี้ ในเมื่อเรายังมีกิเลสอยู่ก็จะต้องมีเครื่องช่วย ก็คือคุณธรรมในทางจิตใจที่จะมาช่วยระหว่างนี้ว่าให้อยู่ด้วยกันด้วยดี อีกด้านหนึ่งนอกจากศรัทธา คุณธรรมที่สำหรับอยู่ร่วมกันก็คือเมตตาความรัก ให้มีไมตรีจิตมิตรภาพความเป็นเพื่อน พุทธศาสนาก็จะเน้นเรื่องนี้ซึ่งจะสัมพันธ์กับปัญญาเหมือนกัน
เมตตาก็สัมพันธ์กับปัญญาเช่นเดียวกับเรื่องศรัทธา เมตตาสัมพันธ์กับปัญญายังไง เริ่มแต่ให้พิจารณาว่า อ้อ มนุษย์เราหรือสัตว์ทั้งหลายก็ตกอยู่ใต้กฎธรรมชาติอันเดียวกัน ต้องเกิดต้องแก่เจ็บตาย และทุกคนรักสุขเกลียดทุกข์ กลัวต่อความตายทั้งนั้น เราฉันใด เขาก็ฉันนั้น ใช่มั้ย เมื่อเป็นอย่างนี้เราก็ไม่ควรจะทำร้ายเขา ไม่ควรเบียดเบียนเขา นี้ก็ใช้หลักธรรมชาติ เอาความจริงมาพูดกัน โดยวิธีใช้ปัญญาแม้แต่เล็กๆ น้อยนี่ก็จะปลูกฝังความรู้สึกที่จะเป็นมิตรขึ้นมา แต่ว่าต้องใช้ไปเรื่อยๆ นี้ถ้าหากว่าใช้แต่เมตตาความรักอย่างเดียว ไม่พัฒนาด้านปัญญาก็จะมีผลเสีย
มีผลเสียแม้แต่การเลี้ยงดูในครอบครัว เช่นอย่างพ่อแม่รักลูกมาก รักลูกก็ทำให้ทุกอย่าง ก็ไม่อยากให้ลูกลำบากเลย จะทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็กลัวลูกจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า อะไรต่ออะไรก็ทำให้หมด ทำให้หมดเป็นไง ลูกก็ไม่ได้ฝึกตัวเอง เมื่อไม่ได้ฝึกก็ขาดความเข้มแข็งแล้วก็ไม่พัฒนา ความสามารถไม่เกิด ทักษะไม่มี เคยจะได้ชำนาญทำอะไรก็ทำไม่เป็น แต่ยิ่งกว่านั้นเสียหายทางจิตใจด้วย จิตใจก็กลายเป็นว่า เคยตัว ต่อไปก็เอาแต่ใจตัว จะเป็นนักเรียกร้อง ต้องได้อย่างที่ฉันเอาอย่างเดียว ความประสงค์ที่ท่านให้สร้างเมตตาก็เพื่อให้มีความรู้สึกเป็นมิตรกันแล้วก็มีความรัก พ่อแม่มีเมตตาต่อลูก แล้วลูกจะได้มีความรู้สึกที่ดีต่อทุกคน เพราะถ้าหากว่าถูกบีบคั้นจิตจะเกิดปฏิกิริยา ใช่มั้ย โกรธแค้น แล้วเดี๋ยวแสดงออกต่อคนอื่น เหมือนอย่างพ่อแม่ทารุณลูก ลูกก็จะไปโกรธแค้นอะไรต่ออะไร แสดงออกในสังคมไปด้วย นี่ถ้าพ่อแม่รักลูกถ้าอยู่ในระดับที่พอดี ก็จะมีจิตเมตตารักใคร่ต่อเพื่อนมนุษย์ไปด้วย
แต่ทีนี้ ถ้าหากว่าเกินไปมีแต่เมตตาอย่างเดียวกลายเป็นอย่างที่ว่าเมื่อกี้ กลายเป็นคนเอาแต่ใจตัว ทีนี้กลายเป็นเรียกร้องแล้ว เห็นคนอื่นกลายเป็นว่าจะต้องให้ตัวมีความสุข เป็นผู้ต้องมาปรนเปรอตัวเองหมดเลย นี่ก็เกิดปัญหาเรียกว่าเสียดุล
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสธรรมะไว้ให้ครบ หนึ่งมีเมตตาเป็นตัวแรก อยู่เป็นปกติรักกัน มีความรัก มีไมตรี เป็นเพื่อนกับเขา ปรารถนาดีอยากให้เขาเป็นสุข นี่ถ้าเขาเป็นทุกข์เดือดร้อนก็ย้ายจากเมตตาไป อยากให้เขาพ้นทุกข์นั้นเป็นกรุณา ทีนี้ พอเขาหายทุกข์มีความสุขก้าวหน้าดีแล้ว เราก็ย้ายไปต่อข้อมุทิตา พลอยยินดีด้วย ส่งเสริมสนับสนุน
แต่ทีนี้ ถ้าว่าถึงความเป็นจริงความถูกต้องหลักการเรื่องของโลกและชีวิตที่มันเป็นไปตามธรรมดาของมัน มนุษย์อยู่กับมนุษย์นี่ ใช้ความรู้สึกเมตตาความรักใคร่ได้ แต่มนุษย์อยู่กับธรรมชาติ กฎธรรมชาติไม่มีความรักไม่มีอะไรทั้งนั้น ใช่มั้ย กฎธรรมชาติมันอยู่ของมันเป็นกลางๆ มันไม่มีความรู้สึก มันก็เป็นไปตามความจริงของมัน ตอนนี้แหละ ที่อยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิต อยู่กับกฎธรรมชาติเนี่ย เราต้องรู้แล้วสิ ถ้าไม่รู้แล้วทำไม่ถูก แล้วเกิดพิษเป็นภัยต่อเรา ใช่มั้ย ตรงนี้แหละที่พระพุทธเจ้าต้องสอนข้อที่สี่ อุเบกขา หมายความว่าไง พ่อแม่จะต้องรู้ว่าลูกต้องอยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิต กฎธรรมชาติไม่เข้าใครออกใคร ชีวิตของเขาต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย เขาทำไม่ถูกแล้วเกิดโทษเกิดภัย ธรรมชาติมันไม่มาเมตตาด้วย ใช่มั้ยฮะ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ก็ต้องเตรียมข้อที่สี่ ก็คือว่าอะไรที่ลูกจะต้องเรียนต้องรู้นี่ ฝึกเลย ไม่ทำให้แล้ว เพราะลูกจะต้องอยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตทั้งในบัดนี้และเบื้องหน้า
งั้นพ่อแม่ก็ใช้ปัญญาเองด้วย และฝึกปัญญาลูกด้วย บอกว่าคิดล่ะสิ ลูกเราจะต้องเตรียมตัวไปอยู่ จะต้องรับผิดชอบ จะต้องทำอะไรเป็นเองบ้าง ควรจะฝึกอะไรบ้างก็เตรียมฝึกให้แต่บัดนี้เลย และเป็นที่ปรึกษาคอยดู เพราะฉะนั้นก็มีข้ออุเบกขา อุเบกขาก็แปลว่าคอยดูอยู่ใกล้ๆ อุเบกขานี่แปลว่าคอยดูอยู่ใกล้ๆ แต่ไม่ทำให้นะ ถ้าเมตตากรุณามุทิตานี่ทำให้ได้ แต่ว่าอุเบกขาไม่ทำให้ ท่านจึงบอกว่าวางเฉย แต่ทีนี้ถ้าพูดว่าวางเฉย บางทีดีไม่ดีเข้าใจผิด หมายความว่าเฉยไม่เอาเรื่องเอาราว ถ้าอย่างนั้นท่านเรียกว่าเฉยโง่ เป็นอัญญาณุเบกขา ท่านมีศัพท์ให้เลย ทางพระเรียกว่าอัญญาณุเบกขา เฉยโง่ ผิด ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เฉยโง่ต่อไปก็เป็นเฉยเมย เฉยเมยก็ไม่เอาเรื่องเอาราว ไม่มีน้ำใจ เฉยอุเบกขาไม่ใช่เฉยเมย เฉยด้วยรู้และมีความปรารถนาดีรองรับอยู่ เพราะมันเข้าชุดกับเมตตา แต่เพราะรู้เหตุผลว่าถ้าเราไปทำให้เขานี่ เขาเองจะไม่พัฒนาแล้วเขาจะเสียนิสัย พ่อแม่ก็เลย คิดแล้วก็ดูว่าลูกจะต้องเตรียมฝึกอะไรต่ออะไร เอาหาบทเรียนหาแบบฝึกหัดมาให้ทำ ตอนนี้ลูกจะเก่ง พอได้สี่ข้อมาครบชุดก็สมดุลเลย ลูกก็เจริญเติบโตทั้งมีจิตใจความรู้สึกที่ดีอบอุ่นร่มเย็นเป็นสุขด้วย มีความเข้มแข็งด้วย พัฒนาด้วย มีปัญญาด้วย ใช่มั้ย
คนเราจะพัฒนาได้โดยเฉพาะปัญญาต้องอาศัยแบบฝึกหัดและปัญหา ถ้าไม่มีปัญหามาให้คิดแก้ไขปัญญาก็ไม่พัฒนา คนเรายิ่งเจอปัญหามากเจอแบบฝึกหัดมากแล้วไม่ท้อถอยไม่ระย่อ ก็พยายามใช้ปัญญาคิดแล้วก็ใช้ทักษะพัฒนาขึ้นมา แล้วจิตใจเข้มแข็งอดทน ฝึกไปหมดเลย ทักษะก็ชำนาญ กว่าจะแก้ปัญหาเสร็จก็เก่ง จิตใจก็พัฒนามีความเข้มแข็งมั่นคง มีความเพียรพยายาม มีสติ มีสมาธิ ดีขึ้น แล้วปัญญาก็แน่นอน ก็พัฒนา เพราะฉะนั้นท่านถึงบอกว่าต้องให้ใช้ปัญญาคู่กับเมตตา นอกจากนั้นแล้วในกรณีที่สัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน จะไปรัก รักเฉยๆ ตายเปล่า คืออย่างในศาสนานี่ท่านก็มีสอนกันใช่มั้ย ก็เน้นเรื่องเมตตามาก ไม่ใช่เฉพาะพุทธศาสนา อย่างศาสนาคริสต์เนี่ยเขาบอกว่า อะไรล่ะ บอกว่า ถ้าเขาตบแก้มซ้ายก็หันแก้มขวาไปให้เขาตบด้วย ถ้าหากว่าเขาเอาเครื่องบินมาชนตึกเวิลด์เทรดแล้ว ก็เตรียมตึกอะไรอีก
เอ็มไพร์สเตท
อา เอ็มไพร์สเตทหรือตึกเซียร์ หรือไม่งั้นก็ตึกไวท์เฮ้าส์ก็ได้ ไว้ให้เขาชนอีกหรือไง ใช่มั้ย เมตตาอย่างนี้ไม่ได้ล่ะ ก็เมตตาโดยไม่ใช้ปัญญา ไม่ได้
ทางพุทธศาสนาสอนอย่างบอกว่า " เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร " เคยได้ยินไหม ทีนี้ หมายความว่าไง เวรไม่ระงับด้วยการจองเวรหมายความว่าทำอะไรมาเราก็ปล่อยเลยหรือไง บางคนอาจจะเข้าใจผิดไปก็ได้ นี้ อันนี้ก็เลยต้องพูดนิดหน่อยว่า พุทธศาสนาเนี่ย คำสอนโดยทั่วไปเนี่ย จะมี 2 อย่าง (1) บอกความจริง (2) บอกวิธีปฏิบัติ หรือบอกแนวทางความประพฤตินั่นเอง ทีนี้ คำสอนพระพุทธศาสนาถือหลักความจริงตามธรรมดาธรรมชาติไม่มีผู้สั่งผู้บังคับ ใช่มั้ย เพราะฉะนั้นหลักก็จะเป็นอย่างนี้ (1) หลักความจริง (2) วิธีปฏิบัติ ทีนี้ ธรรมะที่เราเรียนเนี่ย ก็รวมได้ 2 อย่างนี้
อย่างหลักว่า " เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร " นี่เป็นการบอกความจริง ให้รู้ว่ามันเป็นธรรมดาอย่างนี้ ถ้าจองเวรกันไปมันก็จองกันเรื่อยไป โกรธแค้นมันไม่จบ แต่นี่ไม่ใช่วิธีปฏิบัติ ทีนี้ เมื่อรู้ความจริงอันนี้แล้ว เราจะปฏิบัติอย่างไรเพื่อจะให้เป็นไปตามหลัก ตอนที่จะเอาหลักนี้มาใช้ให้มันเป็นไปตามความจริง ตอนนี้เราจะต้องใช้ปัญญามาก คนที่ใช้เพียงกำลังร่างกายโกรธแค้นกันก็จบไป ก็อาจจะระงับปัญหาได้ง่าย แพ้ก็แพ้ไปเลย ชนะก็ชนะไปเลย ตายก็ตายกันไปข้างหนึ่ง แต่นั่นก็คือวิธีของสัตว์ทั้งหลาย นี่มนุษย์ก็ใช้ปัญญา คนที่จะให้ชนะหรือให้สำเร็จโดยที่ไม่ต้องมาใช้กำลังเบียดเบียนห้ำหั่นกัน ต้องมีความสามารถมากพิเศษเกินกว่าคนธรรมดา ใช่มั้ย นี่แหละมันยากตรงนี้
เพราะฉะนั้นมนุษย์ที่จะใช้หลักการนี้เพื่อจะให้ทุกสิ่งเป็นไปด้วยดี ก็จึงต้องพัฒนาความสามารถ คือพัฒนาตั้งแต่ปัญญาเป็นต้นไปให้มากเป็นพิเศษ คือให้เป็นไปตามความจริงที่ว่า " เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร " แต่ว่าจะทำยังไงเพื่อให้เป็นไปตามความจริงนั้น ตอนนี้ต้องมาคิดวิธีการปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าคำว่า " เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร " เป็นวิธีปฏิบัติ หลายคนจะเข้าใจผิดอย่างนั้น แล้วก็เลยพอบอก " เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร " ฉันก็ยอมเลย แกจะฆ่าก็ฆ่าไป ถูกมั้ย เอ้อ หรือทำเฉยเสียอะไรอย่างนี้ ก็ไม่คิดไม่ใช้ปัญญา หรืออย่างนี้อันนี้ก็เป็นปัญหามากนะในหมู่ชาวพุทธ คำสอนที่แยกไม่เป็น ระหว่างเป็นหลักความจริงกับเป็นวิธีปฏิบัติ
อย่าง " อัตตาหิ อัตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน " อันนี้ท่านบอกหลักความจริงนะไม่ได้บอกวิธีปฏิบัตินะ ตนเป็นที่พึ่งของตนหมายความว่า ในขั้นสุดท้ายที่แท้จริง คนอื่นไม่มีใครเป็นที่พึ่งจริงได้ เขามาย่อยอาหารแทนเราได้ไหม ไม่มีทางใช่ไหม เขามารู้แทนเราได้ไหม ไม่ได้ เราต้องพัฒนาปัญญาความสามารถ มันไม่มีทาง นี่คือตนเป็นที่พึ่งของตนที่แท้ ในขั้นสุดท้ายแล้วไม่มีใคร ไอ้ที่มาช่วยกันนี่เป็นคือการช่วยเพื่อให้เราช่วยตัวเองได้อีกขั้นหนึ่ง แต่ถ้าเราไม่รู้หลักนี้เราก็ไม่พัฒนาตัวเองขึ้นมา ก็ยิ่งแย่ใหญ่ ในที่สุดก็คือ ความวิบัติ หรือว่าความหายนะนั่นเอง หลักความจริงก็คือว่าในที่สุดแล้ว แท้จริงตนเป็นที่พึ่งของตน แล้วทำไงล่ะ ก็ต้องพยายามทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ใช่มั้ย ท่านจึงสอนต่อไป วิธีปฏิบัติจะมี พุทธพจน์ไม่ได้จบแค่นี้
" อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน " ถ้าใช้ในทางไวยากรณ์ ท่านเรียกว่า verb กิริยา กิริยาเป็นกิริยาบอกภาวะปกติ ว่าความเป็นจริงเป็นอย่างนี้ ทีนี้ ต่อไปท่านจะบอกวิธีปฏิบัติ ท่อนที่ 2 บอก " โกหิ นาโถ ปะโรสิยา คนอื่นใครเล่าจะมาเป็นที่พึ่งให้แท้จริงได้ " ท่อนที่ 3 บอก " อัตตนา หิ สุทันเตนะ นาถัง ละภะติ ทุลละภัง บอกว่า มีตนที่ฝึกดีแล้วนั่นแหละจะได้ที่พึ่งที่หาได้ยาก " นี่วิธีปฏิบัติอยู่ที่นี่ ใช่มั้ย ก็หมายความว่าต้องฝึกตนพัฒนาตน ต้องศึกษาเรียนรู้ แล้วก็จะพึ่งตนเองได้ เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาไม่ได้อยู่แค่ว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน แต่จะสอนว่าทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ อันนี้สำคัญกว่านะ เพราะฉะนั้นเวลาไปพูดอย่าจบแค่ตนเป็นที่พึ่งของตน แต่ต้องเน้นที่ทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ พอทำตนให้เป็นที่พึ่งได้นี่มันเป็นวิธีปฏิบัติแล้ว ใช่มั้ย ถ้าตนเป็นที่พึ่งของตนไม่รู้จะทำยังไง ก็อยู่แค่นี้แหละ ไว้อ้างกัน ใช้ผิดก็หนักเข้าไปอีกนะ คือธรรมะนี่ใช้ผิดก็ไปเรียกร้องจากคนอื่น พอเจอเขา เขายากจน เขาทำอะไรไม่ได้ " ตนเป็นที่พึ่งของตน " ก็บอกเขาให้พึ่งตัวเอง ฉันไม่เกี่ยว ใช่มั้ย นี่เรียกว่าใช้ธรรมะไม่เป็น ธรรมะนั้นสำหรับสอนแต่ละคน ตัวเองต้องรับผิดชอบตนเอง ใช่มั้ย ก็หมายความว่า เราต้องพยายามพึ่งตนเองให้ได้โดยการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ถ้าเราเอาไปเรียกร้องจากคนอื่น
ต่อไปเมตตากรุณาเหมือนกัน เรามีความทุกข์เดือดร้อน เราไม่มีสตางค์ใช้ เราก็ไปเที่ยวหาคนโน้น " คุณต้องเมตตาฉันนะ " นี่คือธรรมะเรียกร้องจากคนอื่น ใช่มั้ย ก็เลยไม่ต้องทำอะไรล่ะ ก็คอยเรียกร้องจากเขาเรื่อยไป เวลาตัวควรจะทำก็ไม่ทำ ใช่มั้ย เวลาควรจะช่วยเขาก็ไม่ช่วย ก็เป็นการใช้ธรรมะผิด ธรรมะก็เป็นอันว่าเป็นความรับผิดชอบของแต่ละคนเพราะเป็นหลักความจริงสำหรับตัว แต่ละคนนั้น ถ้าเราบอก " ตนเป็นที่พึ่งของตน อ๋อ มันเป็นความจริงสำหรับแต่ละคนๆ เราก็ต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ " ก็มองจากแง่ของตนเอง พอมองเห็นคนอื่นเป็นทุกข์เป็นยาก ก็มองในแง่ตัวเองต้องมีเมตตาต่อเขา ถูกไหม ก็ต้องช่วยต้องมีกรุณา ต้องไปขวนขวายในการบำบัดทุกข์เขา อย่างนี้ถูกต้อง ถ้าใช้ธรรมะไม่เป็นก็เสียหมด ก็มองธรรมะจากฐานของความรับผิดชอบของตนเอง
เรื่องนี้ก็มาพูดให้เห็นว่าปัญญาที่เป็นธรรมะสำคัญในพุทธศาสนาเนี่ย เราจะต้องพยายามสร้างขึ้นพัฒนาด้วยการฝึกมันนั่นเอง ท่านบอก " โยคา เว ชายะเต ภูริ ปัญญาเกิดขึ้นเพราะการประกอบ " ประกอบก็คือทำการนั่นเอง ประกอบการหรือทำให้มันเกิดมีขึ้น ไม่ใช่มันจะเกิดขึ้นเอง ทีนี้ก็มีศรัทธามาช่วย เมตตาก็จะต้องมาคู่กับปัญญาด้วย ในการดำเนินชีวิตในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ใช่ว่ามีเพียงเมตตา คือความรักอย่างเดียวจะสำเร็จ ต้องมีความรู้ด้วย ความรักนี้มันดีอย่าง บางทีทำให้เกิด (1) ความประทับใจ (2) ชนะใจ แต่ถ้าไม่มีปัญญานี่ น้อยรายนะเป็นข้อยกเว้นที่จะชนะใจได้ ใช่มั้ย โดยมากจะตายซะเปล่า ถ้าไปเจอคนที่ร้ายๆ หนักไม่ใช้ปัญญา เอาแต่เมตตา
ฉะนั้นพุทธศาสนานี้ เมตตาท่านเอาจริงเลย คือ มีเมตตาแบบไม่มีประมาณไม่มีขอบเขต เป็นสากล ต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายเสมอกัน แต่พร้อมกันนั้น ไม่ให้เป็นเมตตาแบบมีแต่ความรักอย่างเดียว ต้องให้มีความรู้ด้วย รักต้องคู่กับรู้ เมตตาต้องคู่กับปัญญา นิมนต์ครับ
ศิษย์: ปัญญาที่ท่านบอกนั้นเหมือนกับว่า แต่ละคนก็คงจะไม่เท่ากันนะครับ
ไม่เท่า
ศิษย์: แล้วทีนี้ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องใช้ปัญญาในการตัดสินใจในการพิจารณานะครับ ถ้าบางคนเกิดในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ปัญญาก็จะน้อยกว่าอีกคน อย่างนี้ทางหลักศาสนาจะใช้ได้หรือเปล่าครับ
มันเป็นความจริงไม่ใช่หลักศาสนา พุทธศาสนาไม่ได้สอนอะไรขึ้นมาว่า " ฉันว่าอย่างนี้นะ " " พระพุทธเจ้าสั่ง " ไม่มี พระพุทธเจ้าตรัสว่าไง " อุปปาทา วา ภิกขะเว ตะถาคะตานัง อะนุปปาทา วา ตะถาคะตานัง พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม ความจริงมันก็เป็นของมันอย่างนี้ แล้วตถาคตไปค้นพบความจริงนี้แล้วจึงนำมาบอกเล่า " เมื่อรู้ความจริงแล้วจะทำให้เรารู้ว่า เมื่อความจริงเป็นอย่างนั้น แล้วเราจะต้องปฏิบัติยังไง เหมือนเรารู้ว่าไฟร้อน เราก็จะรู้ว่าเมื่อไฟมันร้อน แล้วเราจะไม่ให้มันไหม้ตัวเรา เราจะทำไง ใช่มั้ย
อันนี้ก็คือว่า (1) รู้หลักความจริง (2) จากความจริงนั้นจะทำให้เรารู้ว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร ก็ในเมื่อเราไม่มีปัญญาจริงเราต้องยอมรับความจริง ใช่ไหม เมื่อไม่มีปัญญาจริงๆ เนี่ย ก็แก้ปัญหาไม่ได้ อันนี้ต้องยอมรับ ทีนี้ ท่านจึงให้ใช้ศรัทธามา เมื่อท่านยังไม่มีปัญญาพอ เราก็อย่าไปมัวอับจนสิ เราก็ไปปรึกษาหารือไปหาคนที่เป็นกัลยาณมิตร ท่านจึงให้หลักไว้ไง ให้มีกัลยาณมิตร ให้ไปหาคนที่เขามีปัญญา และมีคุณธรรมด้วย ปัญญาอย่างเดียวถ้าเขายังไม่ปัญญาถึงที่สุด ปัญญาเฉเกอย่างที่ว่าเมื่อกี้ไง มันไปใช้ปัญญาสนองโลภะโทสะก็มี
ฉะนั้นก็ (1) ดูว่ามีปัญญา (2) มีคุณธรรมด้วย ใช่มั้ย เช่น มีเมตตา เป็นต้น ตัวอย่างก็พ่อแม่เนี่ย ท่านรู้ดีกว่าเรา ไม่ใช่หมายความว่าพ่อแม่จะรู้หมด อย่างน้อยท่านรู้ดีกว่าเราด้วยอาศัยประสบการณ์ นี่คือเชื่อมแล้ว ก็คือมีพ่อแม่เป็นกัลยาณมิตร ตัวเชื่อมคืออะไร บอกแล้วเมื่อกี้ศรัทธาไง ใช่มั้ย เราก็อาศัยศรัทธานี้แหละไปฟังคำแนะนำของท่าน เรียนรู้จากท่าน เราก็ต้องฝึก (1) ฝึกโดยอาศัยปัจจัยภายนอก ท่านเรียกว่า " ปรโตโฆสะ " เสียงจากผู้อื่นโดยเฉพาะกัลยาณมิตรนี่หนึ่ง (2) ฝึกจากการรู้จักคิดด้วยตนเอง " โยนิโสมนสิการ "
ทีนี้เราจะไปหวังพึ่งคนอื่นอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้จักคิดด้วยตนเองเนี่ย ในที่สุดเราพึ่งตัวเองไม่ได้ เพราะฉะนั้น ท่านก็สอนกระบวนการที่จะพัฒนาปัญญา (1) ให้รู้จักคบคน ใช่มั้ย นี่แหละจุดเบื้องต้น คืออาศัยปัจจัยภายนอก (๒) ฟัง รู้จักฟังด้วย ใช่มั้ย ถ้าสัมพันธ์กับเขาต้องรู้จักฟัง นอกจากรู้จักฟัง รู้จักถาม รู้จักปรึกษา แล้วคนที่ถนัดในเรื่องเหล่านี้ ปฏิบัติตามแบบนี้จะได้ปัญญา จริงไหม หมั่นถามหมั่นอะไรอย่างที่ท่านฝากคำถามไว้นี่ ถ้าท่านยอมรับว่าท่านยังไม่รู้ ใช่มั้ย ท่านก็มองแล้วว่าใครจะช่วยที่จะเป็นกัลยาณมิตร จะมาช่วยแนะนำมีประสบการณ์เรื่องนี้จะช่วยบอกได้ เราก็รับฟัง แล้วก็สอบถาม ก็เกิดปัญญา แต่ (2) เราต้องคิดเองด้วย คิดเองท่านเรียกว่าหลักโยนิโสมนสิการ
โยนิโสมนสิการนี่รู้จักคิด ท่านเรียกว่าคิดแยบคาย การคิดแยบคาย คิดนี่มันมีคิดแบบเพ้อฝันเลื่อนลอยคือคิดเรื่อยเปื่อยไปอย่างที่เคยยกตัวอย่างคราวที่แล้ว ถ้าเราคิดเรื่อยเปื่อยเราก็ " อ้อ ฝนตก เอ๊ะ ใครสร้างหนอ อ้อ มีเทวดาสร้าง " แล้วก็ว่าไป ทีนี้ถ้าค้นคว้าไปเราก็ต้อง " เออ มันมาจากไอน้ำยังไงอะไรต่ออะไร " ในที่สุดก็ได้ความรู้ ใช่มั้ย นี่ก็เป็นกระบวนการที่จะหาปัญญา ก็ต้องอาศัยการรู้จักคิดหรือคิดแยบคาย (1) คิดแยบคายก็คือคิดค้นหาความรู้อย่างหนึ่ง เรียกว่าคิดให้ได้ความรู้ หรือคิดหาความรู้ (2) คิดใช้ความรู้ ความรู้ที่มีแล้วได้มาแล้วเนี่ย ถ้าไม่คิดก็ไม่ได้ประโยชน์เหมือนกัน ใช่มั้ย มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น คนที่รู้จักคิด ก็คิดใช้ความรู้ เพราะฉะนั้นความคิดนี้ (1) คิดหาความรู้ กับ (2) คิดใช้ความรู้ คนที่มีความรู้ แต่คิดไม่เป็นไม่รู้จักคิด ความรู้นั้นก็ไม่เป็นประโยชน์ แต่คนที่คิดโดยไม่ใช้ความรู้ไม่หาความรู้ ความคิดก็เหลวไหล ใช่มั้ย เพราะฉะนั้นต้องไปด้วยกัน หนึ่งต้องเป็นนักหาความรู้ จึงสอนความใฝ่รู้ ใครยิ่งมีความใฝ่รู้มากเท่าไร คนนั้นเป็นนักสืบค้นคว้าก็จะรู้ได้ดี และรู้จริงรู้ลึก และจะเกิดความสุขจากการหาความรู้ ถ้าเกิดความใฝ่รู้ขึ้นมาจริงๆ ได้ความสุขชนิดใหม่ ใช่มั้ย
ต่อไปก็อย่างที่ว่าพอได้ความรู้ก็คิดใช้ความรู้ให้เป็นด้วยนะ ถ้าสองอย่างนี้มาแล้วก็พัฒนาเลย จำไว้เลยมี (1) คิดหาความรู้ คือค้นคว้าสืบค้นของเขาไป อย่างพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสสอนไว้เลย " เราเกิดความรู้สึกนี้ขึ้นมา เราก็พิจารณาว่าอันนี้เกิดเพราะอะไร มีอะไรก่อน มีอะไรเป็นปัจจัยอันนี้จึงเกิดขึ้น " นี่ ใช่มั้ย วิธีคิดซึ่งจะให้เกิดความรู้ (2) พอมีความรู้แล้ว ทีนี้เอาไปใช้แก้ปัญหา เอาไปใช้ทำงานสร้างสรรค์ได้ ใช่มั้ย เพราะฉะนั้นต้องให้คู่กัน จึงบอกว่าการคิดต้องคู่กับการหาความรู้นะ ยิ่งคนแสดงความเห็นด้วยยิ่งสำคัญ แสดงความเห็นก็เป็นขั้นที่ 3 คือแสดงความเห็นจากความคิด ใช่มั้ย จากการที่คิดแยบคาย คิดแยบคายจากการที่เกี่ยวข้องกับความรู้ที่ว่าเมื่อกี้ ทั้งค้นหาความรู้และใช้ความรู้ ทีนี้ พอได้ครบกระบวน (1) หาความรู้ มีความรู้ (2) คิดจากความรู้นั้น และ (3) ก็แสดงความเห็นจากกระบวนการคิดที่แยบคายนั้น อันนี้ก็จะได้ประโยชน์จริง ถ้าหากว่าคิดไม่แยบคาย ไม่เกี่ยวกับความรู้ ไม่หาความรู้ ไม่มีความรู้เลย แล้วก็แสดงความเห็น แสดงได้ยังไง แสดงไปตามชอบใจไม่ชอบใจ ใช่มั้ย พอแสดงตามชอบใจไม่ชอบใจก็ตีกัน ก็ยุ่งก็เกิดปัญหาวุ่นวายไปหมด
อันนี้ก็ ตกลงก็เป็นอันว่ากระบวนการพัฒนาปัญญานะ คือหมายความว่าเรายอมรับความจริงว่าเรายังไม่มีปัญญา แต่อย่าไปดูถูกคนที่เขาเกิดมายากจนนะ เขาได้เปรียบนะ คือคนเราเรียกว่าไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบสัมบูรณ์ หรือ absolute อยู่ที่การรู้จักคิดด้วย คนที่เกิดมาจน ถ้ารู้จักคิดก็ไม่มัวทุกข์มัวท้อแท้ระย่ออยู่ เขาก็คิดว่า เออ เรามีแบบฝึกหัดเยอะ คนจนคนลำบากยากแค้นเจอปัญหานี่มีแบบฝึกหัดเยอะ คนเราพัฒนาด้วยการฝึก ก็คืออาศัยแบบฝึกหัด
เพราะฉะนั้นคนที่มีแบบฝึกหัดมากและรู้จักทำแบบฝึกหัดก็จะพัฒนา จริงมั้ย เป็นแต่เพียงไปกลัวแบบฝึกหัดเสียนี่ เลยท้อ ไม่ทำแบบฝึกหัดก็ไม่พัฒนา ฉะนั้นมหาบุรุษจำนวนมาก เกิดมาจน ยากแค้น แต่ไม่ระย่อท้อถอย เป็นคนรู้จักคิด ใช่มั้ย และก็ได้แบบฝึกหัดเยอะ ทีนี้ คนที่เกิดมารวยมีความสุข ไม่มีแบบฝึกหัด ไม่มีปัญหาให้ฝึก ถ้าพ่อแม่ไม่ฉลาด ไม่หาแบบฝึกหัดมาให้ทำนะ เด็กอ่อนแอ ปัญญาไม่พัฒนา เชื่อมั้ย เพราะฉะนั้น ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบสมบูรณ์ ถ้าเกิดมารวยแต่ไม่มีความคิดก็เสียเปรียบ จะแย่ต่อไป รับผิดชอบตัวเองไม่เป็น อ่อนแอ เป็นต้น เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงให้ใช้โยนิโสมนสิการไง ไม่มีอะไรที่เสียไปหมด
โยนิโสมนสิการนี้มีหลักการ 2 อย่าง หนึ่ง คิดหาความจริง อย่างที่ว่า มองอะไรมองเพื่อหาความจริง ก็จะถามว่านี่คืออะไร เป็นเพราะอะไร เป็นมาอย่างไร อย่างนี้เนี่ยถ้าหมั่นถามตัวเองเนี่ย โยนิโสมนสิการประเภทที่ได้ความรู้ ก็จะมา ก็วิเคราะห์แยกแยะ สืบค้นหาเหตุปัจจัย เป็นต้น เป็นวิธีที่จะพัฒนาปัญญา เป็นการใช้โยนิโสมนสิการเพื่อหาความจริง
อีกอย่างหนึ่งโยนิโสมนสิการคือหาประโยชน์ หมายความว่าเจออะไรไม่ว่าร้ายหรือดี คิดหาประโยชน์จากมันให้ได้ ต้องฝึก แล้วปัญญาท่านจะพัฒนา อย่าไปมัวท้อ คนเราเกิดมาไม่ได้มีปัญญาติดมาตัวเต็มสมบูรณ์ เราต้องฝึกทั้งนั้น ทีนี้ปัจจัยภายใน ก็คือวิธีคิด ก็เอา 2 หลักนี้ (1) คิดหาความจริง หรือคิดให้เห็นความจริง (2) คิดให้เห็นประโยชน์ ไม่ว่าเจออะไรลองหาทางให้มันเป็นประโยชน์ให้ได้
อย่างที่ท่านเล่าเป็นชาดกไว้ว่า วันหนึ่งเศรษฐีเดินไปเฝ้าพระราชา เศรษฐีสมัยพุทธกาลนี่ มีหน้าที่ต้องไปเฝ้าพระราชาทุกวัน ก็มีคนรับใช้เดินตามไป พอดีเดินไประหว่างทาง ก็ไปเจอซากหนูตัวหนึ่งมันตาย เศรษฐีก็พูดว่า " เนี่ย ถ้าเป็นคนรู้จักคิดนะ จะเป็นเศรษฐีได้ " ว่างั้น อาศัยเจ้าซากศพหนู คนรับใช้คนนั้นก็ " เอ๊ะ โดนท้าทายเข้าแล้ว " ก็เป็นคนรู้จักคิดเหมือนกัน แกก็เอาศพหนู ขอตัวเศรษฐีไปเลย เอาศพหนูนั้นไป ไปตามบ้านคนที่มีแมว หลายๆ บ้าน แมวหลายตัวเขามีเลี้ยงแล้ว อาหารมีบ้าง หรือหนูมันกัดหากินบ้าง แต่มันต้องมีบ้านหนึ่งจนได้ที่บังเอิญพอดีมันขาด แกก็ไปๆๆ ไปเจอบ้านหนึ่งพอดี มันมีเหตุขัดข้องเฉพาะหน้า มันไม่มีอาหารให้แมวกิน ก็เลยไปเสนอขายได้นิดเดียว ได้ไม่กี่สตางค์ แล้วก็จากสตางค์นั้นแกก็มาทำอะไรต่างๆ ไปลงทุนอื่นต่อไป แล้วแกก็เลย ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเศรษฐีประจำเมืองคนหนึ่ง
อันนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ในเมืองไทยเราเคยได้ยินว่าเศรษฐีคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงปัจจุบันนี้ เขารวยมายังไง เขาก็ใช้วิธีคล้ายๆ อย่างนี้ เช่น ในหน้าข้าวเหนียวมะม่วง ก็มีร้านขายมะม่วง ร้านไหนดีอร่อยคนก็ขึ้นมากใช่ไหม ขายดี ก็ทำข้าวเหนียวอร่อยและมะม่วงอร่อย คนนี้เขาก็รู้ล่ะ ร้านนี้มีมะม่วงดีพันธุ์ดี เขาก็เอา แต่ก่อนไม่เหมือนสมัยนี้หรอก มันต้องมีคนเก็บขยะ หากระจาดหรืออะไรกระบุงมาใส่ขยะเอา มันตั้งหลายสิบปีมาแล้ว ทีนี้คนนี้แกก็เอาเข่งมาเสนอว่า " ผมจะช่วยเก็บขยะเม็ดมะม่วงให้ครับ " เอามาตั้งไว้แล้วก็ใส่ไปในนี้ เวลาฝานเสร็จแล้วก็ทิ้ง ใช่มั้ย แม่ค้าเขามีเยอะแยะ เขามีทุกวัน เขาก็ใส่เม็ดมะม่วงและพวกเปลือกก็ใส่ไว้ในนั้นเป็นที่ถังขยะ พอเลิกร้าน แกก็มาเก็บเอาตะกร้าหรือกระบุงนี้ไป แล้วแกก็ได้เม็ดมะม่วงพันธุ์ดีเลย ใช่มั้ย พอได้พันธุ์ดีแกก็ไปปลูก ต่อมาแกก็ได้เป็นเศรษฐีด้วย
นี่คนรู้จักคิดอย่างนี้เขาเรียก " โยนิโสมนสิการ " ฉะนั้นอะไรดีร้ายถ้าคนคิดเป็นแล้วมันหาประโยชน์ได้หมด อย่าไปท้อ นี่ดียิ่งกว่าที่เขาบอกมองแง่ดีอีก พุทธศาสนาไม่ได้สอนแค่แง่ดี แง่ดีบางทีเอาแค่ปลอบใจเท่านั้นเอง ใช่มั้ย พอให้หายทุกข์หายร้อน แต่อันนี้ท่านมองให้เห็นประโยชน์ หาประโยชน์ให้ได้ ต้องฝึก โดนเขาด่าก็ต้องหาประโยชน์ได้ มีประโยชน์ไหมคำด่า
มี
มียังไงบ้าง
กระจกส่องตัวเรา
ไหน
ถ้าเขาด่าอย่างน้อยหนึ่งเขาด่าก็มีมูลเหตุ เป็นกระจกส่องตัวเอง
ถ้ารู้จักคิดใช่ไหม เอามาตรวจตรอง (1) ก็คือฝึกความเข้มแข็งอดทน ใช่มั้ย (2) ก็ฝึกปัญญาว่า เออ เราเนี่ย แม้จะเราชอบฝึกตัวเอง แต่การมองตัวเองบางทีมันก็ยาก แล้วบางอย่างก็ไม่เห็น เรื่องธรรมดาก็เป็นอย่างนั้น ยิ่งถ้ามีหลายคนมองก็ยิ่งดี ทีนี้คนนี้กว่าเขาจะด่าเราได้เขาไปนั่งคิดนอนคิดมานาน ว่าจะหาจุดไหนมาด่า แหม เขาทำความเพียรลงทุนมาให้เราเยอะ เรารีบกอบโกยเอาเลย ได้ผลเลย เราก็ฟังดูคำด่าเขามีจุดไหนที่จะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงตัวก็จับแง่มา แล้วก็มาพัฒนาตัวเอง ได้ประโยชน์ นี่แหละหลักพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาปฏิบัติถูก ไม่มีทุกข์อะไรเลย เจอทุกข์เจอร้อนเจอปัญหา มองเป็นประโยชน์ไปหมด (1) ฝึกตัวเอง (2) ได้บทเรียน (3) ได้แบบฝึกหัด และก็พัฒนาปัญญาขึ้นมา อันนี้เราก็เอาไว้ใช้นะ ก็ย้ำว่าโยนิโสมนสิการ การคิดแยบคาย มี (1) คิดหาความจริง (2) คิดให้เห็นประโยชน์ มองเอาประโยชน์ให้ได้ ถ้าท่านฝึกอย่างนี้แล้ว ในแง่นี้ก็ช่วยตัดความทุกข์ไปเยอะ คนเนี่ยมีทุกข์เพราะเรื่องโน้นกระทบ กระทบแล้วก็มาอัดอั้นอยู่ แทนที่จะไปคิดปฏิบัติต่อมันโดยใช้ปัญญาอย่างนี้ ซึ่งแทนที่จะเป็นโทษเป็นทุกข์ก็กลายเป็นสุขไปเลยและได้ประโยชน์ไปด้วย
นี่เรื่องโยนิโสมนสิการ เรื่องของความคิดความรู้ ตกลงก็อยู่ในเรื่องของปัญญาทั้งนั้นแหละ ความคิดเป็นที่มาของความรู้ ก็คือปัญญา ความรู้ที่ไม่ใช่ข้อรู้ ข้อรู้คือข้อมูล ใช่มั้ย ข้อมูลความรู้ยังไม่ใช่ตัวปัญญาหรอก ท่านเรียกว่า " สุตะ "
ถ้าคนที่ไม่รู้จักคิดไม่ได้ปัญญา คนหลายคนใช้ความรู้ไม่เป็น เพราะไม่รู้จักคิด อ้าว นี่เลยพูดไปเรื่อยไปเลย เรื่องนี้ก็เลยยังไม่ได้เข้าทาลีบัน แต่ว่าก็เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่อย่างน้อย แยกนะ ต่อไปนี้ ก็ที่ผมบอกเมื่อกี้ พุทธศาสนาสอน (1) หลักความจริง ธรรมะเป็นเรื่องความจริงอย่างหนึ่ง (2) เป็นเรื่องวิธีปฏิบัติอย่างหนึ่ง แล้วเวลาเจอเนี่ย เราจะเริ่มแยกถูก ไม่งั้นเราก็สับสน แค่ " อัตตาหิ อัตโน นาโถ " ก็ปฏิบัติไม่ถูกแล้ว เพราะท่านไม่ได้อยู่แค่นั้น อย่างอันนี้ก็ต้องพูดกันต่อไปว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้มาเน้นเรื่องตนเป็นที่พึ่งของตน อันนั้นเป็นหลักความจริงเป็นธรรมดา แต่พระองค์เน้นว่าทำไงจะพึ่งตนได้ ใช่มั้ย นี่คือการฝึกตน เน้นที่การทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ถ้าอย่างนี้แล้วก็มันไม่หยุดไม่นิ่งแล้ว ใช่มั้ย ถ้า " ตนเป็นที่พึ่งของตน " อยู่เท่าไรก็เท่านั้น พอบอก " ทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ " คราวนี้เดินหน้าเลย บอกว่า " เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร " เป็นหลักความจริง แล้วทำไงจึงไม่ต้องจองเวรกัน เออ นี่ต้องไปคิดหาวิธีปฏิบัติ
เอาล่ะครับ เป็นอันว่าเรื่องปัญญากับศรัทธา เรื่องปัญญากับเมตตา นี่อย่างนี้ อย่างน้อยปัญญาต้องมากับทุกอย่าง แต่ว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องศรัทธาด้านหนึ่ง กับเมตตาด้านหนึ่ง ศรัทธานั้นสำหรับการที่เราเองจะพัฒนาปัญญาของเราต่อไป แล้วก็ เมตตาสำหรับการที่จะอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ด้วยดีโดยปฏิบัติถูกต้อง
วันนี้คงไม่มีโอกาสได้พูดต่อไปมากมายในเรื่องของทาลีบัน แต่วัตถุประสงค์ก็อย่างที่ว่า เพื่อเราจะได้ไม่ใช่มีแต่แค่เมตตา ต้องมีความรู้ ชาวพุทธต้องเอาความรู้หรือปัญญาเป็นอันดับสำคัญ แล้วก็มีเมตตามาประกอบในการที่จะเวลานำปัญญาไปใช้ เมื่อเรายังไม่มีปัญญาบริบูรณ์ เราก็ใช้เพื่อให้เป็นไปในทางของเมตตา ใช่มั้ย ทีนี้เรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันก็เป็นเรื่องที่ชัดว่าเกิดจากการขาดเมตตา ใช่มั้ย หรือไม่งั้นก็เมตตาฝ่ายเดียวพวกตัวเท่านั้น รักแต่พวกเดียว แล้วก็เกลียดพวกอื่น แล้วก็แบ่งกัน แล้วก็เคียดแค้น ยิ่งรักพวกตัวเองมากเท่าไรยิ่งเกลียดชังอีกพวกหนึ่งมากเท่านั้น ใช่หรือเปล่า มันกลายเป็นทวีคูณ อย่างนี้ไม่ใช่รักที่ไม่มีอัปปมาท หรือไม่มีขอบเขต ไม่ใช่ความรักที่พุทธศาสนาสอนที่มองเพื่อนมนุษย์เหมือนกันหมด ใช่มั้ย อันนี้มองแบบแบ่งแยก
คราวที่แล้วก็ได้พูดไปแล้วถึงเรื่องของอัฟกานิสถาน ซึ่งขอทวนเฉพาะพวกนี้ วันนี้ยังไม่ไปเรื่องอดีตมากมาย ทวนย้ำอีกนิดหนึ่งว่า อัฟกานิสถานเนี่ย มีความสำคัญในอดีตในประวัติศาสตร์มาก เพราะเป็นจุดผ่าน เส้นทางการค้าขายแล้วต่อจากนั้นก็เลยเป็นเส้นทางของทัพ กองทัพในการยกไปรบกันด้วย และกลายเป็นเส้นทางค้าขาย และเป็นเส้นทางที่วัฒนธรรมอารยธรรม แม้กระทั่งพระศาสนาจะไปด้วย ก็ต้องอาศัยเส้นทางเดียวกัน อัฟกานิสถาน
ทำไมเป็นอย่างนั้น เราก็มองดู มีภูเขาหิมาลัยอยู่ ใหญ่โตมาก กั้นระหว่างอินเดียกับจีน แล้วคนจีนจะมาอินเดีย คนอินเดียไปจีนไหวไหม ตรงๆ ไปไม่ไหวเลยข้ามภูเขาหิมาลัย ทำไงคนจีนจะมาอินเดีย ก็ต้องมุ่งตะวันตกไปก่อน ใช่มั้ย ไปจนกระทั่งภูเขาเบาบางลงแล้ว ถึงอัฟกานิสถานนี่เบาบางลงเยอะแล้ว เป็นตะปุ่มตะป่ำ ก็เดินทางยากอยู่ แต่ว่าก็พอไปไหว ลำบากลำบน ก็เอาล่ะ พอมาได้ พอเดินทางสุดตรงนี้ก็เลี้ยวซ้าย คนมาจากจีนก็เลี้ยวซ้ายเข้านี่
แถวนั้นก็คือที่ปัจจุบันนี้เป็นอัฟกานิสถาน แถวๆ เนี่ย พวกที่เป็นเมืองตั้งแต่ปากีสถานไปเลย ปากีสถานอยู่ตะวันออกของอัฟกานิสถาน ใช่มั้ย ก็มีเมืองตักศิลา เมืองเปชวาร์ เปชวาร์ ตักศิลาเนี่ย ปัจจุบันคือ สองเมือง อยู่ระหว่างสองเมือง เมืองหลวงเก่ากับเมืองหลวงใหม่ของปากีสถาน เมืองหลวงเก่าชื่ออะไรเอ่ย ชื่อ ราวัลปินดี และเมืองหลวงปัจจุบันชื่อ อิสลามาบัด ตักศิลาเนี่ย ก็อยู่ระหว่างสองเมืองนี้ อยู่ใต้อิสลามาบัด เมืองหลวงปัจจุบันประมาณ ๘ กิโลเท่านั้นเอง นี่แหละอิสลามาบัด พูดคร่าวๆ ก็ตักศิลานี่เอง เมืองหลวงปากีสถานปัจจุบัน ก็เป็นจุดหนึ่งที่เป็นทางผ่านของคนที่มาจากจีนจะมาเข้าอินเดีย
นอกจากนี้ ก็มีเมืองขึ้นไปอีก เมืองนี้ก็ไปในอัฟกานิสถาน อัฟกานิสถานก็มีหลายเมืองอย่างการ์บูล เป็นเมืองหลวงของอัฟกานิสถาน ใช่มั้ย การ์บูลในสมัยโบราณก็ไม่ได้มีชื่อเสียงเท่าไร แต่ว่ามีที่สำคัญของพุทธศาสนาอยู่ใกล้ๆ คือพามิยาน พามิยานเป็นอะไร ก็คือที่ตั้งของพระพุทธรูปใหญ่ที่ถูกพวกทาลีบันทำลาย เรียกว่าพามิยาน พามิยานนี้อยู่ห่างออกไปทางตะวันตกของกรุงการ์บูล 150 กิโล ก็เป็นเมืองสำคัญที่ในอดีต พวกมาอินเดียเนี่ยจะมาผ่านที่นี่ด้วย พามิยานเนี่ย ต่อไปขึ้นเหนือไปอีกก็มีเมืองบักตราร์ แบกตราร์ก็ได้
แบกตราร์เป็นเมืองหลวงของแคว้นแบกเตรีย ซึ่งเป็นอาณาจักรสำคัญสมัยโบราณอาณาจักรหนึ่ง ซึ่งต่อมาพวกกรีกได้เข้ามายึดครอง โบราณก่อนกรีกเข้ามา ก็เป็นของเปอร์เซีย เปอร์เซียก็คืออิหร่าน ใช่มั้ย อิหร่านเดิมเรียกว่าเปอร์เซีย อาณาจักรเปอร์เซียนี่เคยยิ่งใหญ่มาก แล้วถูกพวกกรีกมาทำลาย คืออเล็กซานเดอร์ อเล็กซานเดอร์มารบชนะจักรวรรดิเปอร์เซีย แต่ก่อนแบกเตรียเป็นของอาณาจักรเปอร์เซีย อเล็กซานเดอร์มาตีแล้วไปยึดแบกเตรียนี้ แคว้นแบกเตรีย เมืองหลวงชื่อแบกตราร์ แบกตราร์นี่ก็มีความสำคัญในทางศาสนาด้วย เป็นที่เกิดของศาสนาที่เรียกว่า โซโรอัสเตอร์ ใครเคยได้ยินบ้าง อ่า เคยได้ยิน ศาสนาโซโรอัสเตอร์ ศาสดาของเขาเกิดที่นี่ ที่ตายแล้วเอาศพไปโยนให้อีแร้งกิน บริเวณนี้ซึ่งเป็นส่วนเหนือของพวกปากีสถาน อัฟกานิสถานเนี่ย เป็นช่องทางที่พวกมาจากจีนมาเข้า วกมาเข้าอินเดียแล้วอ้อมไป อย่างพระถังซัมจั๋งก็ต้องมาที่นี่ เป็นอันว่านี่จีนกับอินเดีย อินเดียจะไปจีน จีนจะมาอินเดียก็ต้องผ่านที่นี่
อีกพวกหนึ่งก็คือพวกตะวันตก จากกรีกโรมันจะมาจีน หรือจะไปอินเดียก็ต้องมาเข้าที่นี่เหมือนกัน พวกนั้นมา ก็มาทางอิหร่านนี่แหละ อิหร่านอาณาจักรเปอร์เซีย เหนืออาณาจักรเปอร์เซีย หรืออิหร่านจะมีทะเลสาบแคสเปียน ใช่มั้ย ก็ต้องอ้อมทะเลสาบแคสเปียนเนี่ย มาเข้าช่องนี้แล้วก็ไปจีน ก็ไปวกขึ้น ช่องที่จะไป ที่ว่าสุดเขาหิมาลัย ที่จะเข้าอินเดียก็เข้าเนี่ย ฉะนั้นจุดนี้เป็นจุดผ่านเส้นทางค้าขาย เป็นทางมาของอารยธรรม ก็เลยเป็นจุดสำคัญ แล้วต่อมา ต่อมาเมื่อก่อนค.ศ. ก่อนคริสต์ศักราชสัก 300 ปีเนี่ย เริ่มมีเส้นทางการค้าขายขึ้น เรียกว่าทางสายไหม
ใครเคยได้ยินชื่อไหม silk road เนี่ยๆ นี่แหละ ก็คือสายนี้แหละ นี่ก็ประมาณ 300 ปีก่อนคริสต์ศักราชเริ่มเกิดขึ้น แต่ว่าทางสายไหมตอนนั้นยังไม่ไปถึงยุโรป อยู่แค่ช่วงประมาณอาณาจักรโขตาล เคยได้ยินชื่อไหม อยู่ในอาเซียกลาง อาณาจักรโขตาลอยู่ในอาเซียกลาง และเป็นแหล่งที่มีชื่อในเรื่องหยก หยกรู้จักไหม แล้วก็เป็นเส้นทางที่ขนหยกไปเมืองจีน เนี่ย อาณาจักรโขตาล ทีนี้ โขตาล นี้บอกว่า 300 ปีก่อนคริสต์ศักราชไปโยงกับประวัติศาสตร์อินเดีย ประวัติศาสตร์อินเดียตอนนั้นก็คือยุคพระเจ้าอโศกมหาราช ตอนนั้นก่อนนิดหน่อย พอถึงยุคพระเจ้าอโศกมหาราชนี่ ก็ 268 ปีก่อนคริสต์ศักราช ลูกพระเจ้าอโศกมาตั้งอาณาจักรโขตาลขึ้น ตามเรื่องกล่าวว่าอย่างนั้น แล้วก็แผ่พระพุทธศาสนามาที่นี่ การพาณิชย์ก็เริ่มเจริญ
ต่อมาพระเจ้าฮั่นวู่ตี่ เมืองจีน ซึ่งครองราชย์ตั้งแต่ 142 ปีก่อนคริสต์ศักราช ก็เรียกว่า 100 กว่าปีก่อนคริสต์ศักราช ฮั่นวู่ตี่ เป็นจักรพรรดิยิ่งใหญ่ ได้ขยายอาณาเขตมาทางอาเซียกลางนี้ พอฮั่นวู่ตี่ขยายอาณาเขตมาอาเซียกลางก็เลยทำให้เส้นทางสายไหมเนี่ย เดินตลอดไปถึงยุโรปเลย เพราะฉะนั้นเส้นทางสายไหมเกิดจริงประมาณ 100 ปีก่อนคริสต์ศักราช
ในทางประวัติศาสตร์ ในทางการสงครามก็ เมื่อกี้นี้พูดถึง ย้อนไปก็มี ผู้ที่มาที่ใช้เส้นทางนี้ชัดก็มี ใคร หนึ่ง อเล็กซานเดอร์มหาราช อเล็กซานเดอร์มหาราชนี่ มาถึงเมืองกันทะหานที่เราเรียก "กันดาฮาร์" ที่วิทยุเรียก "กันดาฮาร์" เราอาจจะออกเสียงเป็น "กันทะหาน" ก็ได้ กันดาฮาร์เนี่ย อเล็กซานเดอร์มาถึงที่นี่ก่อน มาแล้วก็เป็นผู้สร้างเมืองนี้ ประวัติกันทะหานเนี่ย ว่าเป็นเมืองที่อเล็กซานเดอร์สร้างขึ้น เมื่อปี 329 ก่อนคริสต์ศักราช 329 ปีก่อนคริสต์ศักราช อเล็กซานเดอร์เนี่ยแกไปไหนเนี่ย แกรบชนะ แกจะตั้งชื่อเมืองนั้นเป็นอนุสรณ์ตัวเอง เมืองที่ตั้งเป็นอนุสรณ์ของอเล็กซานเดอร์ชื่อเมืองอเล็กซานเดรีย เพราะฉะนั้นก็จะมีเมืองอเล็กซานเดรียเต็มไปหมดเลย ตามทางที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ผ่าน กันทะหานนี่ ในอดีตก็ได้ชื่อว่าเป็นเมืองอเล็กซานเดรียเมืองหนึ่ง เนี่ย กันทะหานมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ เป็นเมือง นิมนต์จะถามอะไร
กันทะหานกับคันธาระ นี่อันเดียวกันหรือเปล่าครับ
มันก็เป็นเพียงสันนิษฐานว่าอาจจะมีเค้า แต่ว่าคันธาระนะ ที่จริงเหนือกันทะหานหน่อย แต่ว่าคำว่า "กันทะหาน" มีเค้าคำว่า "คันธาระ" อยู่ อาณาเขตของอาณาจักรโบราณโดยมากเขาจะได้แต่คร่าวๆ ใช่มั้ย เขาจะไม่ได้เส้นแบ่งชัดเจนอย่างปัจจุบัน ทีนี้คันธาระเนี่ย มันก็ ได้แน่นอนก็ตักศิลาเมืองหลวง แล้วกินเข้ามาทาง แถวๆ เมืองการ์บูล แถวๆ ใกล้ๆ นั่นแหละ กินเข้ามาในอัฟกานิสถาน ต่อจากอาณาจักรคันธาระเหนือขึ้นไปก็อาณาจักรกัมโพชะที่พูดคราวที่แล้ว ซึ่งจะเข้าไปทางอาเซียกลางต่อไป หรือเหนือของอัฟกานิสถาน ก็เอาว่าพระเจ้าอเล็กซานเดอร์เนี่ยมาอินเดีย ก็มาเข้าที่กันทะหาน ตั้งเป็นเมืองอเล็กซานเดรีย เมืองหนึ่ง
แต่ว่า อีกอันหนึ่งที่ อ้อ ก่อนลงมานี่แกผ่านอีกเมืองหนึ่งชื่อเฮราตมาแล้ว ขอโทษด้วย เฮราตเป็นเมืองหนึ่งที่ถูกโจมตี ปัจจุบันเป็นเมืองสำคัญของอัฟกานิสถานด้วย ใช่มั้ย ได้ยินชื่อไหมที่เขาโจมตี เฮราตนี่ก็เป็นอเล็กซานเดรียหนึ่งเหมือนกัน เคยชื่ออเล็กซานเดรีย อเล็กซานเดรียที่เฮราต แล้วก็มาอเล็กซานเดรียที่กันทะหาน แล้วพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก็ขึ้นไปยึดบักเตรีย แบกเตรียเมื่อกี้นี้ ได้จากพวกเปอร์เซีย เมื่อปี ๓๒๘ ก่อนคริสต์ศักราช ก็คืออีกปีหนึ่ง แล้วต่อจากนั้นแกก็ยกทัพลงมาอีก ลงมาก็ มาเข้าอินเดียที่ตักศิลา จะเข้าไม่ได้เข้า ลงมาที่ตักศิลาเมื่อปี 326 ก่อนคริสต์ ศักราช พอ ๓๒๖ ก็มาเตรียมทัพที่นี่ ตอนนี้ก็จะมีเรื่องเยอะที่ว่า สัมพันธ์กับเรื่องของพระเจ้าอโศก แต่ไม่ใช่ตัวพระเจ้าอโศก ตอนนี้เป็นปู่พระเจ้าอโศก แล้วจะเล่าต่อไป อันนี้ อเล็กซานเดอร์มาอยู่ที่ตักศิลาเนี่ย และพบกับปู่พระเจ้าอโศกที่นี่ แต่ในที่สุดตัดสินใจว่ายกทัพกลับ ไม่เข้าตีอินเดีย ก็กลับเมื่อปี ๓๒๖ นั่นแหละ ออกจากอัฟกานิสถานไปปี 325 ก่อนคริสต์ศักราช
อันนี้ ต่อมาพวกแม่ทัพของอเล็กซานเดอร์ก็ตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นกษัตริย์ในถิ่นที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ไปตีได้ไว้ แล้วก็แม่ทัพหนึ่งก็ตั้งอาณาจักรแบกเตรียขึ้น ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ชื่อ ซีเลียวคัส และซีเลียวคัสเนี่ย ต่อมาก็ถูกปู่พระเจ้าอโศกยกทัพมาตี เมืองกันทะหานก็เลยตกเป็นของปู่พระเจ้าอโศกไป เนี่ย อาณาจักรของชมพูทวีปมาตีได้กันทะหานตั้งแต่ปู่พระเจ้าอโศก นี่คือประวัติเมืองกันทะหาน กันทะหานยังไม่จบเท่านี้ ตอนนี้จะทิ้งไว้ก่อน
ต่อมาก็ มุสลิมก็เข้ามา ในราวค.ศ. ในที่นี้ไม่ใช่พ.ศ. ค.ศ. 700 กว่าก็เป็นพุทธศักราชก็ 1200 กว่า อ้อ เดี๋ยว มุสลิมเข้ามาในราว ๗๐๐ อะไรเนี่ยนะ ก็เข้ามา มุสลิมก็เข้ามายึดครองที่เมืองกันทะหานและแถวแบกเตรียก็กินหมดเลย
ต่อมาอีก ก็มาถึงสมัยเจงกิสข่าน เจงกิสข่านนี่ค.ศ. 1221 อีกนานนะ เจงกิสข่านนี่ก็ยกทัพตะลุยจะไปยุโรปต้องผ่านทางนี้ ก็ตีเมืองกันทะหานแหลกราญหมดเลย ในประวัติศาสตร์เขาบอกฆ่าตายหมดเลย คนไม่มีเหลือ เมื่อสักสิบวันก่อนเจอหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งบอกว่า เมืองกันทะหานเป็นเมืองที่ไม่ว่าใครก็ตีไม่ได้ เปล่า ไม่จริงหรอก เขาไปเอาจากที่ไหนก็ไม่รู้ อเล็กซานเดอร์ก็ตีไปแล้ว ยิ่งเจงกิสข่านนี่ทำลายหมดเลยปี 1221
ต่อมาอีก จนกระทั่งค.ศ. 1500 กว่า "บาเบอร์" เคยได้ยินไหม บาเบอร์นี่เป็นต้นตระกูลของวงศ์กษัตริย์มุสลิมของอินเดียที่ชื่อว่าวงศ์โมกุล เคยได้ยินไหม ชื่อบาเบอร์ ต้นราชวงศ์โมกุลหรือมุข่านที่ครองอินเดียอยู่นานจนกระทั่งมาเสียเอกราชให้แก่อังกฤษ มีพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ชื่ออักบาร์มหาราช ใครเคยได้ยินบ้าง อักบาร์มหาราชที่มีลูกหลานที่สร้างทัชมาฮาล อันเนี่ย คนแรกชื่อบาเบอร์ บาเบอร์เนี่ยก็ปกครองอินเดียจากกันทะหาน ตั้งราชวงศ์แผ่อาณาจักร แล้วก็เข้ามายึดครอง จึงมาอยู่ที่เดลลีทีหลัง นี่ก็เป็นเรื่องเก่าๆ ที่พอให้เห็น
ทีนี้ก็ ทวนนิดหนึ่งว่า ในอัฟกานิสถานต่อกับปากีสถานส่วนบนนี่นะ ก็มีเมืองที่พูดไปแล้วซึ่งมีความสัมพันธ์ในประวัติศาสตร์ (1) เมืองแบกตราร์ ที่ว่าเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรแบกเตรีย ปัจจุบันก็คืออยู่ห่างจากเมืองมะซาอีชารีฟ 22 กิโล รู้จักไหมเมืองมะซาอีชารีฟ เนี่ยที่เขากำลังโจมตีพยายามยึดกันอยู่ อยู่ตอนเหนือๆ ของอัฟกานิสถาน ระหว่างพวกฝ่ายพันธมิตรที่ต่อต้านทาลีบัน กับทาลีบันพยายามแย่งเมืองมะซาอีชารีฟ เป็นเมืองสำคัญมาก จุดยุทธศาสตร์ มาซะอีชารีฟก็คืออยู่ในแคว้นแบกเตรียนี่ แทบจะเป็นเมืองหลวงแบกตราร์นี่เลย แล้วก็ (2) การ์บูล มีจุดสำคัญของพุทธศาสนาคือ พามิยานที่ว่าอยู่ไปทางตะวันตก ที่ตั้งพระพุทธรูปใหญ่สูง 55 เมตร ใช่มั้ย กับอีกองค์หนึ่งสูง 30 กว่าเมตร
ซึ่งพามิยาน เขาที่ตั้งพระพุทธรูปอยู่ห่างจากตัวเมืองการ์บูลไป 150 กิโล แล้วก็มาที่ปากีสถาน เมืองหลวงอิสลามาบัด นั่นก็คือเมืองตักศิลา ใช่มั้ย อยู่ห่างกันนิดเดียว ที่ว่า 8 กิโล ตักศิลาใต้ลงไป 8 กิโล แล้วก็ไป ต่อไปก็เมืองตักศิลา อ่ะ อันนี้สิใช่มั้ย ตักศิลา อิสลามาบัด และต่อไปก็มีเมืองเปชวาร์ เปชวาร์นี้อาจจะไม่ค่อยรู้จัก เป็นเมืองสำคัญของปากีสถานด้วย ก็เป็นเมืองที่ชื่อเดิมว่าบุรุษปุระ บุรุษปุรี เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนาในอดีต อาณาจักรหนึ่ง ซึ่งถ้ามีเวลาก็จะเล่าให้ฟัง
ก็เนี่ยดินแดนแถบนี้ มีความเป็นมาแต่โบราณเกี่ยวข้องกับอารยธรรมมาก แต่มาตอนหลังนี่มันโทรมเต็มทีแล้ว มันกลายเป็นว่า ความรุ่งเรืองอยู่ในอดีตหมด และทางสายไหมก็เป็นทางที่เหมือนกับร้างไปแล้ว ทางสายไหมใช้อยู่มาถึงสักยุคที่เริ่มมุสลิมตีเข้ามา ต่อมาทางสายไหมก็มีภัยอันตรายมาก คนก็ไปใช้ทางเรือกัน ทางสายนี้ก็ค่อยๆ หมดความนิยม จนกระทั่งเจงกิสข่านเนี่ยใช้เป็นทางเดินทัพ ก็เลย ทางนี้ก็เลยฟื้นฟูขึ้นมาอีก
ทางสายนี้ก็เป็นทางที่คนตะวันตกพวกแรกเข้ามาอาณาจักรจีนชื่อ " มาร์โคโปโล " เคยได้ยินชื่อไหม มาร์โคโปโลนี่ก็มาสมัยกุบไลข่าน กุบไลข่านเป็นใคร ก็เป็นลูกเจงกิสข่าน ใช่มั้ย เจงกิสข่านใช้ทางนี้ ไปตีถึงยุโรปถึงรัสเซียเมื่อปี ๑๒๒๑ นี่ค.ศ.นะ แล้วต่อมาอีก 50 ปีมาร์โคโปโลก็ใช้ทางนี้เดินทางจากเวนิส เวนิสนี่เมืองอะไร ของอิตาลีใช่มั้ย เข้ามาไปที่จีน แล้วไปรับราชการในราชสำนักจีนอยู่ตั้งกี่สิบปีไม่รู้ นาน ก็ทำให้คนตะวันตกได้รู้เรื่องของอาณาจักรจีน มาร์โคโปโลก็มีชื่อเสียงเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้ากุบไลข่าน ไปเมื่อปี ๑๒๗๑ ก็คือหลังจากเจงกิสข่านได้ตีเมืองกันทะหานไปแล้ว 50 ปีก็มาถึงสมัยลูก อันนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่โยงกันหมด และต่อมาก็เป็นยุคทางเรือแล้ว หลังจากนี้ เส้นทางทางบกก็เสื่อมความนิยมลงไป ภัยอันตรายมาก
ผ่านทะเลทรายใช่ไหมครับท่าน
มีทะเลทรายมาก และยังพวกเมืองต่างๆ โดยมากเป็นที่เขาเรียกโอเอซิส ก็เป็นเมืองที่ได้อาศัย มีพวกความอุดมสมบูรณ์ทางด้านธรรมชาติต้นไม้ ช่วยให้เป็นที่พักในระหว่างทาง
ทวนอีกนิดหนึ่งก็คือ เรื่องของฝ่ายตะวันตก ทางโน้นก็ได้บอกแล้วว่าที่เยรูซาเลม ซึ่งเป็นเมืองสำคัญในรัฐหรือประเทศอิสราเอล ดินแดนนั้นก็เรียกเป็นดินแดนเดิมปาเลสไตน์ ปาเลสไตน์ก็เป็นชื่อที่ไม่ถึงกับเดิมทีเดียว เป็นชื่อที่แต่ก่อนหน้านี้ค่อนข้างโบราณหน่อย ปาเลสไตน์นี่ ก็พวกยิวเข้ามาอยู่เมื่อประมาณสัก อะไรล่ะ พัน ตีซะว่า 1700 ปีก่อนคริสต์ศักราชแถวนั้น แล้วก็ อยู่มาแล้ว ต่อมาที่ว่าส่วนหนึ่งก็อพยพไปอยู่อียิปต์ เพราะว่าเกิดปัญหาเรื่องการเกษตร ใช่มั้ย และโมเสสก็พามา ก็มา ต่อมา โมเสสนั่น 1200 ปีก่อนคริสต์ศักราช ทีนี้ พวกยิวเนี่ย ต่อมาก็ตั้งอาณาจักรได้ รวมกันได้ในราวสัก 1000 ปีก่อนคริสต์ศักราช และต่อมาก็แตกเป็น 2 อาณาจักร อิสราเอลกับจูดาห์ที่เล่าคราวที่แล้ว แล้วอาณาจักรเนี่ย พวกยิวเป็นเอกราชอยู่ได้แค่ประมาณ 300 ปี ต่อจากนั้นก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพวกแอสซีเรีย บาบิโลเนีย กรีก โรมัน อย่างที่ว่าคราวที่แล้ว พอต่อจากโรมันเมื่อ 63 ปีก่อนคริสต์ศักราช ตอนนั้นพระเยซูจะเกิด โรมันเข้ามาก่อน 63 ปีก่อนคริสต์ แล้วโรมันก็อยู่มาจนกระทั่งถึง ค.ศ. 640 ที่ว่าพอพระมะฮะหมัด นาบี มูฮะหมัดสิ้น กาหลิบที่สืบต่อจากพระนาบี มูฮะหมัด คำว่า "กาหลิบ" แปลว่าผู้สืบต่อ ก็คือกาหลิบนี่สืบต่อจากพระนาบี มูฮะหมัดที่ท่านสิ้นเมื่อปี 632 ใช่มั้ย ก็ยกทัพมาตีเยรูซาเลมได้เมื่อปี 640 แล้วก็ไล่พวกโรมันออกไป
ต่อจากนั้นก็ ดินแดนปาเลสไตน์ก็ตกเป็นของมุสลิม เริ่มด้วยมุสลิมอาหรับ เนี่ยตั้งแต่ปี 640 แล้วต่อมาพวกเติร์กมุสลิมมีอำนาจเหนืออาหรับ อาหรับแพ้ ก็มุสลิมด้วยกัน เติร์กมุสลิมก็ใหญ่ขึ้นมา เยรูซาเลม อิสราเอลก็ตกเป็นของเติร์กมุสลิมต่อ จนกระทั่งมาได้เอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 1948 ที่เล่าคราวที่แล้ว เพราะฉะนั้นประเทศยิวเนี่ยตกเป็นเมืองขึ้น ไม่มีความเป็นอิสระเลย 2000 ปี พอได้เอกราชแล้วก็ยุ่งตลอดเลย มีแต่ทุกข์หนัก เรียกว่าเป็น
ทุกขลาภ
ขอให้มองทางตะวันออก ตะวันออกก็เวียดนามเนี่ย ตกเป็นเมืองขึ้นของจีนอยู่ 1000 ปีนะ ยังสั้นกว่า แต่ว่าเป็นของประเทศเดียวคือจีน
ส่วนพวกยิวตกเป็นเมืองขึ้นของหลายประเทศต่อๆ กันมา เนี่ย เต็มไปด้วยความทุกข์ยาก จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่จบสิ้นเสียที ก็เป็นอันว่า 2000 ปีที่เป็นเมืองขึ้นของเขา ถูกเขาปกครองและได้เอกราชแค่ 55 ปีนี่เอง อายุยังน้อยอยู่เลย ตอนนี้ก็คงจะต้องตั้งประเทศปาเลสไตน์มาคู่กัน คงไม่มีทางเลี่ยง ซึ่งก็เป็นมติของสหประชาชาติตั้งแต่ปี 1947 แล้วที่ว่าให้แยกดินแดนนี้เป็น 2 ประเทศ อิสราเอลกับปาเลสไตน์ ก็เป็นปัญหาค้างคาอยู่ตลอดมา
คราวต่อไปก็จะมาคุยกันเรื่องนี้ เรื่องความเป็นไปในชมพูทวีป ฟังแล้วจะงงรึเปล่า ไม่งงนะ พอตามทันไหม ทันนะ แล้วได้ประโยชน์รึเปล่า ได้ประโยชน์ก็ดีแล้ว ก็ควรจะรู้ เพราะว่าเราเนี่ย (1) เราอยู่ในเอเซีย แต่กว้างกว่านั้นเราอยู่ในโลก มีอะไรเกิดขึ้นในโลกไม่รู้ได้ไง ใช่มั้ย (2) อยู่ในเอเซีย ดินแดนก็มีอาณาเขตใกล้กับเรา (3) ก็คือมีอารยธรรมที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา แล้วเป็นดินแดนศูนย์กลางพุทธศาสนาเก่าเลยทีเดียว แถวนี้เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาในยุคหลังพุทธกาล เพราะฉะนั้นก็ควรจะต้องรู้ ไม่งั้นเราก็ไปแสดงความคิดเห็นอะไรก็คิดไม่ถูกพูดไม่ถูก วันนี้ก็คงจะได้แค่นี้นะ เฉพาะจุดนี้มีอะไรสงสัยไหม
ขอเรียนถาม
นิมนต์
องค์พระพุทธรูปที่มีความสูง 55 เมตร อันนั้นแกะสลัก หินที่แกะสลัก จะขอทราบว่าเป็นหินประเภทยังไง เป็นหินทรายหรือเป็นหินอะไรครับจึงสามารถแกะได้
ก็น่าจะเป็นหินทราย แต่ผมก็ไม่ทราบชัดนะ เท่าที่จำได้ว่าจะเป็นประเภทนั้น ก็น่าจะคล้ายๆ กับที่ถ้ำอชันตาอโลลา เคยได้ยินไหม อชันตา อชันตาน่ะ เขาแกะวัดลงในภูเขาเลย คือแกะภูเขาเนี่ยเป็นวัด และเป็นศิลปะที่สวยงามอย่างยิ่งด้วย วัดตั้งไม่รู้กี่วัดเรียงกันไปเป็นถ้ำๆ ถ้ำๆ ในนั้นก็ทำชนิดที่แก้ไขไม่ได้ต้องมีฝีมือจริงๆ
ที่ในหนัง
ที่อินเดีย อชันตา ฝีมือต้องแน่นอน เพราะว่าแกะสลักเข้าไปในภูเขา เสียแล้วแก้ไม่ได้เลย ท่านแกะสลักเป็นวิหารเหมือนกับโบสถ์ของเราเนี่ย มีเสา แต่ของเรายังไม่มีเสากลาง สมัยโบราณเขาต้องมีเสา ถ้าเป็นโบสถ์ใหญ่ๆ ก็จะต้องมีเสาอย่างวัดพระแก้ว นี่ใช่ไหมครับ เป็นแถวๆ นี่เขาแกะเป็นเสาขึ้นมาเป็นระยะๆ ให้เข้าไปข้างในแล้วเหมือนกับอยู่ในโบสถ์จริงๆ แล้ว ไหนครับ
ของทางจีนก็มีไหมครับแบบนี้
จีนก็เข้าใจว่าเอาแบบไป ก็ไปมีถ้ำของจีนที่แกะสลักคล้ายๆ อย่างนี้เหมือนกัน แต่ก็ดูเหมือนจะสู้นี่เขาไม่ได้ อันนี้เขาต้นแหล่งเลย เนี่ย มีถ้ำตั้งเท่าไร มีทั้งหมด 20-30 ถ้ำ ก็คือวัดนั่นเอง ที่ยังไม่เสร็จก็มี แต่ว่าวิจิตรพิสดารมาก หนึ่งก็คือว่าทำเป็นวัดจริงๆ อยู่ในภูเขา แล้วก็พวกสิ่งที่แกะสลักนั้นก็เป็นศิลปะงดงามทั้งนั้น พระพุทธรูปก็แกะเข้าไปในตัวหิน แล้วนอกจากนั้น พอเสร็จแล้ว พวกเพดาน ก็วาดภาพซึ่งยังมีเหลืออยู่ สีนี่ต้องทนทานมากนะ ที่เสียไปเพราะน้ำมันหยดก็เยอะ แต่ที่ยังเหลือรอดอยู่ก็ยังเป็นสีอยู่ มองเห็นเป็นรูปเป็นภาพ ก็นี่คนโบราณ มีความเพียรพยายาม
พระพุทธรูปที่พามิยานก็แกะสลักเข้าไปในภูเขาอย่างนี้ ก็ต้องเก่งวิชาสถาปัตย์มาก ไม่งั้นทำไม่ได้ 55 เมตร อีกองค์ 30 กว่าเมตร สององค์ ความพยายามอย่างยิ่งเลยทีเดียว อันนั้นสร้างเมื่อ ฝรั่งได้แต่สันนิษฐาน ว่าอยู่ในระยะคริสต์ศตวรรษที่ 3-5 ประมาณนั้น คริสต์ศตวรรษ 3 ก็คือค.ศ. 200 เศษ ค.ศ. 200 เศษก็คือพ.ศ. 700 เศษ ก็ตีซะว่าสร้างเมื่อประมาณพ.ศ. 800 อะไรแถวนั้น นานเท่าไรแล้ว กี่ปี พ.ศ. 800 พ.ศ.800 เอามาลบ 2544 เท่าไหร่นะฮะ 1,700 ปี เนี่ยนานขนาดไหน ก็ก่อนศาสนาอิสลามเกิดนาน เพราะศาสนาอิสลามขณะนี้ฮิจเราะห์ศักราช 1422
พุทธศักราช 2544 คริสต์ศักราช 2001 ฮิจเราะห์ศักราช 1422
ต่อไปนี้น่าจะจำให้รู้ศักราชต่างๆ พุทธศักราชนั้นของเราเนี่ย เรานับก่อนคริสต์ 543 ปี แต่คริสต์ของฝรั่งเขาถือว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานก่อนพระเยซูเกิดก่อนคริสต์ศักราช 483 ปี คือเขานับต่างกับเรา 60 ปี คือเขาใช้ตัวเลขหลังเรา 60 ปี เขาว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานก่อนคริสต์แค่ 383 ของเราก็ 543 เพราะฉะนั้นตัวเลขที่บอกเมื่อกี้ในประวัติศาสตร์ ศักราชต่างๆ มันจึงบางทีก็คำนวณแล้วสับสน เพราะว่าใช้ตัวเลขที่คำนวณเป็นตัวตั้งต่างกัน และเหตุใดฝรั่งจึงถือเลข 483 อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะเล่าต่อไป มีคำถามอะไรอื่นไหม ไม่มีนะ ไม่มี ก็พรุ่งนี้ถ้าไหวก็ต่อ วันนี้ไม่ค่อยมีเสียง ก็เลยต้อง เอาล่ะวันนี้ก็เอาเท่านี้นะ