แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เรื่องของการเรียนรู้ ก็หมายถึงศึกษา แล้วก็หมายถึงการที่จะได้เจริญงอกงามหรือพัฒนาชีวิต หรือว่าจะเกิดสติปัญญา อันนี้มันก็เริ่มมาตั้งแต่เกิดเลย นี้เราไม่ต้องพูดกันถึงเรื่องของชีวิตที่ยาวนาน ไม่ต้องสืบไปกระทั่งถึงชาติก่อน ชาตินี้ ชาติหน้าอะไร เอาแค่ในชาติปัจจุบันนี้ เป็นการพิจารณาความเป็นจริงที่ง่ายๆ เริ่มแต่มนุษย์เกิดมาเนี่ย พอเราเกิดมา เราก็จะต้องดำเนินชีวิตที่เรียกว่าอยู่รอด อยู่รอดแล้วก็อยู่ให้ดี
ทีนี้ชีวิตแค่อยู่รอดนี่มันก็ต้องมีวิธีการหรือว่าวิธีที่จะทำให้เป็นอยู่ได้ มนุษย์จะเป็นอยู่ยังไง พอมนุษย์เกิดมา มีแต่ตัวมา พอมีแต่ตัวมา แล้วก็ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย เกิดมาก็ออกมาอยู่ท่ามกลางโลกนี้ ลืมตามองเห็นอะไร เห็นอะไรก็ยังไม่ค่อยชัดด้วย และก็ไม่รู้อะไรเป็นอะไร ก็อย่างที่ว่าแหละ มนุษย์ก็ต้องอาศัยผู้อื่นเลี้ยงดู ทีนี้เราตัดเรื่องผู้เลี้ยงดูที่พูดไปแล้วว่า เป็นอันว่าผู้ช่วย เช่น พ่อแม่ช่วยเลี้ยงดูไว้ แล้วก็ในระหว่างนี้ก็เรียนรู้ไป จนกระทั่งว่าฝึกตัวเองแล้วก็เป็นอยู่ได้
ทีนี้เรามาดูเรื่องของการเรียนรู้ของมนุษย์ ในเมื่อมนุษย์เกิดมายังไม่รู้จักอะไร การไม่รู้นี่ก็มีผลก็คือว่า ก็เมื่อไม่รู้อะไร ก็ทำอะไรไม่ถูก เมื่อไม่รู้อะไรเป็นอะไร มันมีความสัมพันธ์กับตัวเองอย่างไร เป็นคุณเป็นโทษอย่างไร มันติดขัดไปหมด มันไม่รู้จะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างไร การที่จะมีชีวิตอยู่ได้ เป็นอยู่รอด ก็ต้องเอาชีวิตของตัวเนี่ยดำเนินไปในท่ามกลางสิ่งแวดล้อม มนุษย์เกิดมาก็มาอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมรอบตัวไปหมด ทีนี้การที่ดำเนินชีวิตก็คือว่า แล้วชีวิตของเราจะเป็นอยู่ไปได้อย่างไรท่ามกลางสิ่งแวดล้อมนั้น อ้าวทีนี้สิ่งแวดล้อมนั้น ตัวไม่รู้จักเลย เมื่อไม่รู้จักก็จะเกิดความติดขัดไปหมด บีบคั้น ขัดข้อง เราก็เรียกเป็นภาษาไทยกันว่า “ปัญหา” ใช่ไหม ก็เกิดปัญหา ที่จริงปัญหามันก็เป็นศัพท์สมัยหลัง คำว่า “ปัญหา” นี่เดิมในภาษาพระท่านก็แปลว่าคำถาม ใช่ไหม ที่จริงไอ้ภาวะที่มันเกิดขึ้นเนี่ยก็คือความติดขัด บีบคั้น ขัดข้อง เพราะไม่รู้จะทำยังไงนี่ ภาวะนี้ที่จริงเรียกว่า “ทุกข์” เพราะฉะนั้นตัวศัพท์ที่แท้นี่มัน “ทุกข์” สมัยนี้มาเรียกว่าเป็นปัญหา ก็ว่าในแง่หนึ่งก็ทำให้เกิดความสับสนเหมือนกัน ทำให้คนไม่ค่อยเข้าใจความหมายของคำว่า “ทุกข์”
ฉะนั้นชีวิตเกิดมานี่ พอเกิดมาปั๊บ มาอยู่ท่ามกลางโลกสิ่งแวดล้อมรอบตัว ก็เริ่มติดขัดทีเดียวว่า แล้วเราจะเป็นอยู่ได้อย่างไร เพราะว่าเป็นอยู่ได้ต้องรู้จักสิ่งต่างๆ เพราะจะดำเนินชีวิตไปได้ต้องรู้จัก รู้ว่าเป็นอะไร รู้ว่าจะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างไร เพราะฉะนั้นเมื่อไม่รู้ ก็ไม่รู้จะทำตัวยังไง ปฏิบัติอย่างไร สัมพันธ์กับสิ่งเหล่านั้นอย่างไร ก็ติดขัด คับข้อง เกิดความทุกข์ ทีนี้ตอนนี้ก็เท่ากับว่า
หนึ่ง ความไม่รู้ เกิดมามีความไม่รู้ ก็มีสิ่งที่พระเรียกว่า “อวิชชา”
สอง เมื่อไม่รู้ มันก็ทำอะไรไม่ถูก สัมพันธ์อะไรกันไม่ถูกทั้งนั้น ก็เกิดความติดขัด บีบคั้น ขัดข้องกับตัวเอง ภาวะนี้เรียกว่า “ทุกข์”
ตกลงว่ามีอวิชชามาก็มีทุกข์ใช่ไหม อวิชชากับทุกข์ อ้าว ทีนี้ทำไงล่ะ ทำไงจึงจะดำเนินชีวิตไปได้ มนุษย์ก็เกิดมา บอกว่ามีแต่ตัวก็จริง แต่ตัวนี่มันมีอะไรติดมาด้วย ไม่ได้มีมาเปล่าๆ ตัวมีก็มีเครื่องมือที่จะมาติดต่อกับสิ่งแวดล้อมนั่นเอง เครื่องมือติดต่อกับสิ่งแวดล้อมก็เริ่มที่ นี่แหล่ะที่จะทำไงจะรู้ ใช่ไหม เพราะไม่รู้มันก็ติดขัด ทีนี้ก็ต้องหาทางรู้ ไอ้สิ่งที่จะช่วยให้รู้ก็ติดตัวมาแล้ว เครื่องมือนี้ก็คือว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย และก็เข้าไปลึกในตัวก็คือใจ ที่จะประมวล ที่จะมาปรุง มาจัดสรรสิ่งที่รู้เข้ามา เมื่อมีตา หู จมูก ลิ้น เข้ามานี้ ทางพระท่านเรียกชื่อว่า “อายตนะ”
“อายตนะ” ก็แปลว่า แดน แดนติดต่อนั่นเอง ว่าอย่างนั้น ว่าตาของเราก็เป็นแดนสำหรับติดต่อกับโลก หูของเราก็เป็นแดนติดต่อกับโลก ก็คือมีเครื่องมือสื่อสาร พูดสมัยใหม่ ตกลงว่าเรามีเครื่องมือสื่อสารกับโลกติดตัวมา นี่แหล่ะ ทั้งนี้ตัวที่มา ไม่ได้มาเปล่าๆ มีเครื่องมือสื่อสารกับโลกติดมาด้วย ตรงนี้แหละที่สำคัญ จะเป็นตัวไขปัญหา ที่จะมาแก้ทุกข์ เพื่อจะให้ดำเนินชีวิตไปได้ ทีนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งท่านเรียกว่า “อินทรีย์” ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่าอินทรีย์ อินทรีย์ก็เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ หรือเป็นเจ้าหน้าที่นั่นเอง อินทรีย์แปลว่า เจ้าหน้าที่ หรือ เจ้าการ ก็มีเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ติดต่อโลกมา 6 ตัว มีตาเป็นเจ้าหน้าที่ติดต่อในแง่ของการเห็น หูเป็นเจ้าหน้าที่ในการที่ฟัง ได้ยิน เป็นต้น ก็มีอายตนะ เครื่องมือสื่อสารหรืออินทรีย์ เจ้าหน้าที่ติดต่อโลกนี่มา 6 อย่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
อ้าว ทีนี้เจ้าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่แหละจะทำให้เราได้ความรู้เกี่ยวกับโลก เมื่อเรารู้แล้ว เราก็จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นได้ เราก็ดำเนินชีวิตไปได้ แต่ก็ยังมีปัญหาอีกหน่อยว่า เอ ตอนมาใหม่ๆ พอทันทีที่รู้ๆ นี่มันไม่พอนะ มันรู้ เห็น ทันทีนี่มันก็ยังไม่ได้ มันไม่ได้รู้ขึ้นมาทันทีว่ามันคืออะไร เป็นอย่างไร แล้วมันมีคุณมีโทษอย่างไรหรอก มันต้องใช้เวลาเหมือนกัน ดูไปว่าไอ้นี่สีเขียว ไอ้นี่เป็นอะไร แค่นี้ก็ต้องใช้เวลาแล้วนะ เพราะฉะนั้นการรู้นี้ไม่ใช่ได้ปุ๊บปั๊บทันที ต้องเป็น “รู้โดยการเรียนรู้” ต้องเรียนรู้มัน ทีนี้การที่จะเป็นอยู่รอดนี่มันรอไม่ได้ มันรอที่จะให้รู้เลยว่าเป็นยังไง มีคุณมีโทษอย่างไร จะปฏิบัติอย่างไร ทำอย่างไรล่ะทีนี้
ทีนี้เจ้า ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้มันก็ไม่ใช่รู้อย่างเดียว มันไม่ใช่ว่า ตาดูแล้วก็รู้เขียวรู้แดงรู้เหลือง รู้กลมรู้แบนรู้เหลี่ยมอะไรเท่านั้นนะ มันมีอีกอย่างคือรู้สึกด้วย ตอนนี้แหละที่สำคัญมาก ไอ้ตอนรู้นี่ต้องเรียนใช้เวลาพอสมควร แต่ทว่าได้เรียนรู้แล้วเนี่ย ก็จะค่อนข้างแน่นอน คือว่าเราจะปฏิบัติต่อมันยังไง นี่ที่จริงต้องอาศัยความรู้ล่ะ แต่บางทีก็รู้น้อย ก็รู้ผิดก็มี แล้วก็อาจจะปฏิบัติไม่ถูก แต่ว่าในที่สุดก็จำเป็นต้องอาศัยรู้ ยิ่งต้องรู้จนกระทั่งรู้จริง แต่ว่าทั้งหมดเนี่ยในการรู้นี้ต้องอาศัยเวลา
ทีนี้ทำไง ก็อีกด้านหนึ่ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ทำหน้าที่รู้สึกด้วย พอเห็น ได้ยิน ต่างๆ นี่ก็มีความรู้สึก สบาย-ไม่สบาย นี่มีผลต่อตัวเองทันทีเลย พอเห็นสบายตา เออ ก็เรียกว่าถูกตา ได้ยินเสียง สบายหู ก็ถูกหู ถ้าอันไหนมันได้ยินได้เห็นแล้วมันไม่สบายตาไม่สบายหู มันไม่ถูกกัน มันก็รู้สึกในทางขัดแย้ง ตัวเองก็จะมีความโน้มเอียงติดมาเลยว่า ถ้ารู้สึกไม่สบายก็จะเกิดความขัดแย้ง แล้วก็ไม่ชอบใจ จะเกิดปฏิกิริยาไม่ชอบใจ และก็เมื่อไม่ชอบใจก็ต้องไม่เอา ต้องหนี หรือถ้าหากว่าจะจัดการกับมันได้ ก็อาจจะทำลายมัน ทีนี้ถ้ารู้สึกว่ามันสบาย ก็อยากได้อยากเอา ด้านความรู้สึกนี่ไว เกิดทันที ไม่เหมือนด้านรู้นี่ ต้องเรียนกัน ใช้เวลา ด้านรู้สึกนี่ทันที ฉะนั้นด้านรู้สึกก็เลยมามีอิทธิพลเป็นตัวชักนำการดำเนินชีวิตก่อน จะดำเนินชีวิตคือหมายความว่า จะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งนั้นๆ อย่างไร จะเอาหรือไม่เอาเนี่ย ก็เลยมาขึ้นต่อความรู้สึกนี้ ใช่ไหมเอาความรู้สึกเป็นตัวกำหนดก่อน พอเห็น สบายตาถูกตา เอา ว่าอย่างนั้นนะ ชอบใจ มีปฏิกิริยาชอบใจ เอาเลย เข้าไปหา ไปเอามาหรือไปอยู่ด้วยกัน แต่ถ้าหากว่า เห็นแล้วไม่สบายตา ได้ยินแล้วไม่สบายหู อย่างได้ยินเสียงฟ้าครึ้นนี่ ตกใจ ไม่เอาแล้ว หนีเลย แต่ถ้าได้ยินเสียงเพราะๆ เออ เข้าไปหาแล้ว ใช่ไหม นี่เอาตามความรู้สึก ก็เลยกลายเป็นว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานี่ มันก็เลยทำหน้าที่สองด้าน เหมือนกับทางแยกสองทาง
ด้านรู้นี้เป็นตัวสำคัญที่จะทำให้เราดำเนินชีวิตได้ดี เป็นของจริงของแท้ แต่ว่ามันไม่ค่อยได้มาง่ายๆ ทีนี้ไอ้ด้านรู้สึกนี่มันทันที มันมีปฏิกิริยาออกมาในใจตัวเอง ตัดสินใจได้ทันทีเลย เพราะฉะนั้นคนก็เลยอยู่ใต้อิทธิพลความรู้สึกเสียมาก ความรู้สึกก็มี อย่างที่บอกแล้วก็มี รวมแล้วมันก็มี 3 อย่าง คือ หนึ่งรู้สึกสบาย ทางพระก็เรียกง่ายๆ ว่า เป็นสุข ไม่สบายก็เรียกว่า เป็นทุกข์ หรือถ้าไม่งั้นก็เฉยๆ จะว่าสุขก็ไม่ใช่ ทุกข์ก็ไม่ใช่ แต่ทางพระท่านบอก ที่ว่าไม่สุขไม่ทุกข์ เฉยๆ น่ะ มัน ที่จริงมันเป็นสุขอ่อนๆ นะ คือเพลินๆ ทีนี้เอากันง่ายๆ ว่ามีสาม สามอย่างนี้เรียกว่า “เวทนา” เวทนาเป็นความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ เฉยๆ นี่ถ้าเรียกเต็มก็เรียกว่า “อทุกขมสุข” บางทีก็เรียกว่า “อุเบกขา” ก็มีสุข ทุกข์ อุเบกขา ทีนี้พอรับรู้ปั๊บ มีความรู้สึก เวลาสุขก็ ปฏิกิริยาก็คือชอบใจ รู้สึกทุกข์ ก็ไม่ชอบใจ อุเบกขาก็เพลินๆ
ทีนี้ปฏิกิริยาที่ชอบใจ-ไม่ชอบใจเนี่ย ทางพระท่านเรียกว่า “ตัณหา”
เอานะ ต่อจากเวทนา ความรู้สึก ก็ตามด้วยตัณหา เป็นเรื่องชอบใจ-ไม่ชอบใจ ถ้าพระพูดภาษาเก่าๆ คนโบราณเขาแปลคำพระอันนี้ ชอบใจ-ไม่ชอบใจ หรือ ชอบ-ชัง ชอบกับชัง เขาแปลว่า ยินดี-ยินร้าย ฉะนั้นคนเราเนี่ย พื้นของมนุษย์ที่เราเรียกว่าปุถุชน คนที่ยังไม่ได้มีการศึกษา ไม่ได้พัฒนา ไม่ได้เรียนรู้อะไรนี่ก็จะอยู่กับความรู้สึก แล้วก็ปฏิกิริยาต่อความรู้สึกนั้น เรียกว่ามีเวทนาเป็นสุขก็เกิดความชอบใจ ถ้ามีเวทนาเป็นทุกข์ก็ไม่ชอบใจ ทีนี้ความชอบใจ-ไม่ชอบใจนี่จะเป็นตัวกำหนดว่าจะเอาหรือไม่เอาอย่างที่ว่า พอว่าชอบใจ ตกลงว่าจะเอานะ ทีนี้ก็คิด เริ่มจากความคิด ก็คิดว่าทำไงจะได้สิ่งนี้ แล้วเมื่อทำไงจะได้ อ้าว ทีนี้ก็ลงมือทำซิ ใช่ไหม ก็เคลื่อนไหว ไปหาทางให้ได้มา ต่อมาเกิดคนอื่นก็อยากจะได้ ก็แย่งชิงกันหรืออะไร ก็มีเป็นเรื่องเรื่อยๆ มาล่ะ ก็คือหมายความว่า การดำเนินชีวิต การเป็นอยู่อะไรต่ออะไรนี่ก็เป็นไปตามกระแสของความรู้สึก แล้วก็เป็นไปกับกระแสชอบใจ-ไม่ชอบใจที่เรียกว่าตัณหา เมื่อเป็นอย่างนี้ก็หมายความว่า ตัณหานี่เป็นตัวที่ครอบงำชีวิต ตัณหาก็ดำเนินไปโดยไม่ต้องมีความรู้อะไร ใช่ไหม เพราะฉะนั้นมันก็จะเข้าชุดกัน ก็คือว่ายังมีอวิชชาอยู่ ตัณหาก็ต้องเข้ามาทำหน้าที่ เมื่อยังไม่มีความรู้ก็อาศัยตัณหาไปก่อน อาศัยด้านปฏิกิริยาต่อความรู้สึกเนี่ย ชอบใจ-ไม่ชอบใจ เป็นตัวกำหนดว่าเราจะเอายังไง จะดำเนินชีวิตไป เพราะฉะนั้นชีวิตพื้นฐานของมนุษย์ปุถุชนก็ดำเนินไปตามตัณหา คือชอบใจ-ไม่ชอบใจ ซึ่งเป็นไปตามความรู้สึกคือเวทนา
ทีนี้เมื่อมันเป็นไปตามความรู้สึกเนี่ย มันไม่เป็นไปด้วยความรู้ มันไม่แน่ไม่นอน ว่าสิ่งนั้นมันจะดีหรือไม่ จะเกิดประโยชน์แก่ชีวิตหรือไม่ เอาแน่ไม่ได้ แต่ว่าก็จะทำยังไงได้ ตอนแรกมันไม่รู้นี่ ใช่ไหม เมื่อยังไม่รู้ก็ต้องอาศัยตัณหาไปก่อน ทำให้ชีวิตอยู่ได้ เพราะฉะนั้นชีวิตมนุษย์ปุถุชนนี่ มองในแง่หนึ่งก็เท่ากับว่า ก็เมื่อยังไม่รู้ มันก็ต้องอาศัยตัณหาช่วยไว้ก่อน ฉะนั้นกิเลสตัณหา ตัณหาก็มากับกิเลสอื่นๆ เยอะแยะไปหมด เพราะว่ามันอาศัยพื้นคือความไม่รู้ แล้วก็ใช้ความชอบใจ-ไม่ชอบใจเป็นหลัก อันนี้ชอบใจ-ไม่ชอบใจ แล้วก็บางทีบางอย่างนี่ไม่รู้จะเป็นยังไงก็กลัว ใช่ไหม เมื่อมีสิ่งที่ไม่รู้ ก็กลัว หวาดหวั่น มันจะดีหรือจะร้ายก็ไม่รู้ อะไรต่างๆ
ทีนี้ด้านที่ว่า ที่ด้านถ้าชอบใจ มันก็ไม่เป็นไรซิ ถ้าเกิดไม่ชอบใจ มันร้าย เราแย่ใช่ไหม เพราะฉะนั้นไอ้เจ้าความกลัว ยังไงมันมากับความไม่รู้นี่ ความกลัวจะครอบครองจิตใจ กลัวว่าจะเป็นยังไง กลัวว่ามันจะเกิดโทษเกิดผลร้ายแก่ชีวิต มันจะเป็นอันตรายอะไรต่างๆ เหล่านั้น ทีนี้ความชอบใจ-ไม่ชอบใจ และก็ความกลัวนี่จะเข้ามาครอบงำชีวิตของปุถุชนมาก ปุถุชนอย่างที่ว่า ผู้ไม่รู้ก็อยู่ด้วยกิเลส ฉะนั้นเขาก็จะดำเนินชีวิต อ้าว เป็นว่าชอบใจก็เอานะ ดิ้นรนไปเอามัน ไม่ชอบใจก็หนีหรือทำลายมันซะ ถ้าไม่รู้ก็กลัวไว้เท่านั้น กลัวเอาไว้ ไอ้ความกลัวนี่ก็ช่วยชีวิตมนุษย์เยอะใช่ไหม เพราะกลัวอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะไม่รู้นี่ก็ทำให้ต้องระวัง เมื่อไม่รู้ว่าเป็นยังไงก็ไม่ยอมเข้าหา เพราะถ้าหากว่าเข้าไปปั๊บ มันอาจจะเกิดอันตรายต่อชีวิตก็ได้ ไอ้ความกลัวนี่ก็ช่วยชีวิตมนุษย์ปุถุชน เพราะฉะนั้นชีวิตมนุษย์ปุถุชนนี่ เจ้าพวกตัณหาซึ่งเป็นกิเลส เจ้าพวกความกลัวอะไรพวกนี้น่ะ ช่วยชีวิตเขาไว้เมื่อเรายังไม่รู้ นี่คือชีวิตปุถุชน แต่เป็นอันว่าด้านนี้ไม่ใช่ของแท้จริง ไม่ปลอดภัย เพราะว่าของชอบใจเป็นโทษก็มี ของไม่ชอบใจเป็นคุณก็มี ใช่ไหม ยกตัวอย่างได้ไหมครับว่า อะไรที่ชอบใจแล้วไม่แน่ บางทีชอบใจแล้วเป็นโทษแก่ชีวิตของตัวเอง
(แสดงความเห็น) เด็กๆ สมัยเด็กๆ เรียนหนังสือ ไม่ชอบใจเรียนหนังสือ
แล้วเป็นไง
(แสดงความเห็น) ที่จริงแล้วมันเป็นประโยชน์ แต่ว่าเด็กจะไม่ชอบเรียนหนังสือ
อ๋อ ไม่ชอบ ไม่ชอบแต่เป็นประโยชน์ เอ้าทีนี้ที่ชอบแล้วเป็นโทษก็มี
(แสดงความเห็น) อาหาร???
(แสดงความเห็น) เด็กๆดูโทรทัศน์
อะไรนะครับ เช่น เด็กๆ ดูโทรทัศน์ แหม พูดไปนี่ก็เรื่องซับซ้อนของอารยธรรมนะ เอาของพื้นๆ หน่อยซิ
(แสดงความเห็น) เรื่องอาหารครับ
เอ้า อาหาร
(แสดงความเห็น) หลวงตาครับ หลวงตาฉัน???
เอ้า อ๋อ ชอบฉันอาหารมัน แต่ว่าเป็นโทษก็มี
(แสดงความเห็น) เพราะหลวงตาคลอเรสเตอรอลสูง???
(แสดงความเห็น) อย่าไปมองเป็นโทษอย่างเดียวซิ ต้องแยกมันให้ออก ประโยชน์ก็มี ไขข้อ มันจะได้ลื่น มันหล่อลื่น เป็นน้ำมันหล่อลื่น
ต้องฉันด้วยความรู้ซิ ว่าเราจะต้องการมันเพื่ออะไร และเราจะต้องการแค่ไหน ใช่ไหม ทีนี้ถ้าชอบเฉยๆ นี่ ไม่แน่นอน ไม่ปลอดภัย ยังไงก็ตามโดนหลอกได้ง่าย ถ้าคนที่จะเอาแต่ชอบใจ-ไม่ชอบใจ ใช่ไหม ได้ความรู้สึกสบาย ชอบใจเนี่ยโดนหลอกง่ายใช่ไหม เพราะว่ามันไม่ประกอบด้วยปัญญา มันไม่รู้ เพราะฉะนั้นโดยรวมแล้วก็คือเสี่ยง เมื่อมนุษย์อยู่ด้วยตัณหา เอาความชอบใจ-ไม่ชอบใจเข้าว่า ก็มีความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต ไปเจอไอ้ที่ชอบใจแต่มันเป็นคุณ ก็ดีไป ถ้าไปเจอชอบใจแต่เป็นโทษ ก็แย่ไปเลย แล้วบางทีก็ที่ชอบใจเป็นโทษ แล้วมันเสียไปทั้งชีวิตก็มี หรืออาจจะตายไปเลยก็ได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นทำไงล่ะมนุษย์จะมีชีวิตได้ดี ตกลงว่าถ้าเอาด้านชอบใจ-ไม่ชอบใจนี่ไม่ปลอดภัย ก็รวมไปถึงเรื่องกลัวด้วย แน่นอนไอ้กลัว นั่นก็ไม่รู้ ตกลงว่าทั้งชอบใจ-ไม่ชอบใจ และก็กลัวนี่ก็ มันตั้งอยู่บนฐานของอวิชชา ความไม่รู้ อวิชชาก็เป็นตัวเอื้อ
เอาล่ะทีนี้ทำไง จะมีชีวิตด้วยดีตกลงว่าต้องใช้ด้านรู้ อันนี้เราก็มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มา เมื่อกี้นี้ใช้ในด้านความรู้สึก ก็ไปทางกระแสตัณหา เราก็ได้ด้านอวิชชา ตัณหา แล้วก็ปนเปอยู่กับทุกข์ใช่ไหม ที่ว่าเมื่อกี้ อวิชชากับทุกข์คู่กัน ทีนี้ตัณหาก็มาช่วยไว้ ตัณหาก็อาศัยอวิชชานั่นแหละ มาด้วยกัน พวกเดียวกัน เพราะว่าไม่ต้องมีความรู้ ก็ไปตามรู้สึก อันนี้ก็เลยไม่สามารถพ้นจากทุกข์ได้ อวิชชา ตัณหา ก็อยู่ในกระแสของทุกข์ อันนี้ก็จะต้องใช้ด้านรู้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราก็มีนี่ นอกจากด้านรู้สึก ก็ด้านรู้ เอาล่ะทีนี้ก็ได้ใช้ด้านรู้เสียบ้าง ด้านรู้ก็เรียนรู้แล้ว พอเรียนรู้ก็ อ้อ นี่สีเขียว สีแดง รูปร่างกลม แบน เรียนรู้ว่าเป็นต้นไม้นะ ต้นไม้ชนิดนี้มันมีคุณหรือมีโทษ มีผลกินได้หรือกินไม่ได้อะไรเป็นต้นเนี่ย การเรียนรู้นี่ทำให้เราปลอดภัย พอรู้แล้วนี่ปฏิบัติได้ถูกต้อง ฉะนั้นการที่จะมีชีวิตอยู่ได้ดีอย่างแท้จริงนี่ ต้องอาศัยความรู้ เพียงแต่เรารู้ว่ามันคืออะไร มันเป็นคุณเป็นโทษ เราปฏิบัติต่อมันถูกต้อง เราก็พ้นจากความติดขัด บีบคั้น ขัดข้อง ก็พ้นจากทุกข์นั่นเอง หรือเมื่อเรามีความรู้อันนี้ เราปฏิบัติต่อสิ่งนั้นถูกต้อง ไอ้ตัวทุกข์ที่เราเรียกว่าปัญหามันก็ไม่เกิด ก็คือไม่ติดขัดบีบคั้นตัวเรา ก็ดำเนินชีวิตไปด้วยดี เพราะฉะนั้นเราต้องการด้านตรงข้ามกับไม่รู้ ก็คือต้องการรู้ อะไรคือสิ่งที่ตรงข้ามกับไม่รู้ เมื่อไม่รู้เรียกว่า “อวิชชา” รู้ก็ต้องเรียกว่า “วิชชา” แสดงว่าเราต้องการวิชชา ทีนี้วิชชาก็จะทำให้เราพ้นไปจากทุกข์ได้ พ้นไปจากทุกข์นี่ ทุกข์ ตัวตรงข้ามพ้นเราเรียกว่า “วิมุตติ” แปลว่า หลุดพ้น พอรู้ก็ทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์
ก็เป็นอันว่าอีกสายหนึ่งก็มาวิชชา แล้วก็วิมุตติ วิชชา รู้ วิมุตติ ก็หลุดพ้นทุกข์ แม้แต่ว่าทุกข์นั้นไม่เกิดด้วยซ้ำไป สองสายแล้วนะ วิชชา-วิมุตติ ทีนี้ท่านสงวนคำว่า “วิชชา” ไว้ว่าวิชชานี่หมายถึงรู้แจ่มแจ้ง รู้จริง ทีนี้มนุษย์นี่กว่าจะเรียนรู้ไปถึงรู้จริงๆ รู้แจ้งเลยเนี่ย ไม่ใช่ง่ายๆ ก็เลยว่า ท่านก็สงวนคำว่า “วิชชา” ไว้สำหรับความรู้แจ้งไปเลย ทีนี้รู้ในระหว่างนี้ เล็กๆ น้อยๆ เพิ่มเติมไปเรื่อยๆ นี่ท่านก็ให้ศัพท์ที่กว้างๆ มาคำหนึ่งว่า “ปัญญา” ปัญญาเป็นความรู้ ใช้เป็นทั่วไปเลยในระหว่างที่ยังไม่ถึงวิชชาความรู้แจ้ง ก็เป็นปัญญาไปเรื่อยๆ ก็เป็นอันว่า ในทั่วไป ระดับทั่วไปเราต้องการปัญญา เมื่อมีปัญญาก็จะทำให้ตัวความบีบคั้น ติดขัด คับข้อง เบาลงไปๆ ฉะนั้นทุกข์ก็เบาบางลง เมื่อเป็นวิชชา ปัญญานั้นเป็นวิชชาเต็มที่ก็จะเป็นวิมุตติโดยสมบูรณ์ ตอนนี้ก็เท่ากับปัญญามาทำให้หลุดพ้นจากทุกข์น้อยลงไปเรื่อยๆ เบา บรรเทาเบาบางลงไป
ก็สรุปตอนนี้นะ เป็นอันว่า ตอนนี้เราเกิดมาในโลก อยู่ในสภาพแวดล้อม จะต้องดำเนินชีวิตไป แต่เรามาแต่ตัว การที่จะดำเนินชีวิตไปได้ จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมได้ถูกต้อง ตัวเองยังไม่มีความรู้แต่ก็มีเครื่องมือที่จะติดต่อกับโลก ที่จะเรียนรู้ติดมาคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เรียกว่าอายตนะหรืออินทรีย์ แต่ทีนี้การเรียนรู้นั้นต้องอาศัยกาลเวลา ก็เลย อีกด้านหนึ่งก็คือว่า ด้านความรู้สึกก็เข้ามามีบทบาทชักนำชีวิตโดยที่ว่า มีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่ได้พบในสิ่งแวดล้อมต่างๆ นั้น ในแบบชอบใจ-ไม่ชอบใจ ตามความรู้สึก แล้วก็ดำเนินชีวิตไปตามความชอบใจ-ไม่ชอบใจนั้น สายนี้เรียกว่า อวิชชา-ตัณหา แล้วก็ไม่พ้นจากทุกข์ ทีนี้อีกด้านหนึ่งก็คือว่าใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้นในแง่ของการรู้ ได้แก่เรียนรู้ เมื่อเรียนรู้แล้ว รู้เข้าใจจริง ก็จะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นได้ถูกต้อง ดำเนินชีวิตไปได้ด้วยดี ก็เรียกสายนี้ว่า วิชชา-วิมุตติ ก็คือว่ามีวิชชารู้แจ้งความจริงแล้ว วิมุตติ ก็หลุดพ้นจากทุกข์ ไม่มีทุกข์ แต่ว่าสงวน “วิชชา” ไว้สำหรับความรู้ขั้นสูงสุด ในระหว่างนี้ก็เรียกว่า “ปัญญา” ก็เป็นอันว่าตอนนี้ได้หลักทั่วไป ก็คิดว่าจบเท่านี้ก่อน แล้วค่อยมาขยายความให้ละเอียดต่อไป มีอะไรสงสัยไหมครับ
(คำถาม) พระเดชพระคุณครับ ไม่ทราบว่าเรื่องของ ในเรื่องระหว่างที่รู้เนี่ย มันจะมีเรื่องของการปรุงแต่งด้วยใช่ไหมครับ มันคือส่วนของสังขารหรือเปล่า
ก็นี่แหละ พอจากไม่รู้มา มันก็ ตอนครึ่งรู้ครึ่งไม่รู้เอาล่ะทีนี้ ใช่ไหม ก็จะต้องมีการที่ว่า มันเป็นยังไงกันแน่ ก็จะเกิดมีภาวะที่เรียกว่าการปรุงแต่งขึ้นมา ตอนนั้นก็เป็นเรื่องที่ว่า รายละเอียดลงไป ตอนนี้เราเอาแค่หลักการทั่วไปก่อน
(คำถาม) ถ้าอย่างนั้นมันจะมีสองช่วงไหมครับ ระหว่างตอนที่รู้หรือไม่รู้??? และช่วงระหว่างที่เวทนาไปเป็นตัณหาเนี่ย มันต้องมีสังขารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
คืออายตนะนี่ ความรู้สึกมีทันที ใช่ไหม ทันทีที่ตาเห็นเนี่ย มันมีความรู้สึกทันที ด้านรู้ก็ได้แค่เห็นใช่ไหม แต่มันยังไม่รู้จักว่าเป็นอะไรหรอก แต่ว่าด้านรู้สึกมีทันที เพราะฉะนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำงานนี่ ด้านรู้สึกมันมาทันที แล้วการปรุงแต่งก็ต้องอาศัยความรู้สึกนี้ด้วย
(คำถาม) แสดงว่าสังขารต้องอาศัยเวทนา
ต้องอาศัยเวทนา
(แสดงความเห็น) แล้วช่วงที่เกิดเวทนานั้น ก็ต้องมีสังขารต่อ อันนี้เป็นปัญหาด้วยใช่ไหมครับในระหว่างนี้
อ๋อ ตัณหาก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการของสังขาร ตัณหานี่อยู่ในสังขารเลย
(คำถาม) อย่างนี้ สังขารในกองขันธ์ห้า กับสังขารในปฏิจจสมุปบาทนี่ ไม่ทราบว่าสังขารตัวไหน มันเท่ากันหรือว่าตัวไหนเป็นตัวไหนในความหมาย
อ้อ สังขารโน่นซิที่ต่างกัน สังขารที่ต่างก็คือสังขารในไตรลักษณ์ สัพเพสังขาราอนิจจา สัพเพสังขาราทุกขา อันนั้นเป็นสังขารในความหมายหนึ่ง ใหญ่ที่สุด ทีนี้สังขารในขันธ์ห้ากับในปฏิจจสมุปบาทนี่ชุดเดียวกัน แต่ว่าเป็นสังขารในความหมายที่เรามองแบบหยุดนิ่งแยกส่วนประกอบ นั่นเป็นแบบขันธ์ห้า ดูส่วนประกอบเหมือนอย่างกับรถเนี่ยแยกส่วนว่ามีอะไรๆ ทีนี้ในปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นภาคปฏิบัติการหรือกระบวนการว่ากำลังทำงาน พูดในเชิงฟังก์ชั่นการทำหน้าที่ ทีนี้พวกขันธ์ห้านี่มองในแง่องค์ประกอบว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง อันนั้นเป็นการพูดคนละแบบ ในปฏิจจสมุปบาทคือมันทำงานเลย มันกำลังเป็นไปในกระบวนการ ก็คือชุดนี้แหละ ชุดสังขารในขันธ์ห้าเนี่ยในขณะทำงานก็มาเป็นสังขารในปฏิจจสมุปบาท
(คำถาม) พระเดชพระคุณอาจารย์ครับ แล้วอย่างวิญญาณเนี่ยครับ ที่เราว่าเป็นวิญญาณนี่ คือตัวรู้ใช่ไหมครับ
รู้ภาวะที่รู้
(คำถาม) ฉะนั้นถ้า อย่างการเรียนรู้ในขั้นต้นอย่างอ่อนๆ ก็ต้องใช้วิญญาณใช่ไหมครับ
อ๋อ วิญญาณมีกับการที่รู้ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ที่อายตนะหรืออินทรีย์นี่ทำหน้าที่ทุกครั้ง จะมีวิญญาณเกิดแน่นอน วิญญาณนี่จะเกิดทุกครั้งไป ฉะนั้นวิญญาณจะอยู่เป็น ถ้าพูดเป็นภาษารูปธรรมก็คือเป็นแกนตลอดเวลา
(คำถาม) มันจะเกิดวิชชาได้ ก็มีตัววิญญาณ???
อ๋อ วิญญาณมันอยู่กับการเกิด การทำหน้าที่ของอยาตนะทั้งหกทุกครั้งไป อันนั้นอย่างที่ว่า เหมือนกับเป็นตัวแกน มันเป็นการรู้ที่ว่า ตัวมันเองก็เหมือนกับเป็นกลางๆ มันแล้วแต่ตัวประกอบ ว่าจะประกอบแล้วจะมีคุณสมบัติอย่างไร
(คำถาม) มันจะเป็นวิชชาหรือเป็นปัญญาใช่ไหมครับ ที่จะรู้???
ไอ้ตัวนั้นเป็นฝ่ายสังขารหมด ถ้าวิชชา ปัญญา นั่นเป็นอยู่ในฝ่ายสังขาร อันนั้นก็ค่อยไปดูรายละเอียดกันอีกที แต่ตอนนี้เอาหลักการใหญ่นี้ก่อน เท่ากับว่าเริ่มเกิดมาดำเนินชีวิต จะอยู่รอดได้อย่างไร แล้วคน มนุษย์นี้ดำเนินชีวิตกันอย่างไร ก็ออกไปจากจุดเริ่ม ตา หู จมูก ลิ้น ก็แยกเป็นสองสาย สายอวิชชา-ตัณหา-ทุกข์ สายวิชชา-วิมุตติ หรือระดับทั่วไปเรียกว่าปัญญา ถ้าไม่มีอะไรก็เท่านี้ก่อน