แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
บัดนี้ก็ได้รับสรณคมน์และทศศีลคือ ศีล ๑๐ สำเร็จการบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ในบัดนี้ยังประสงค์จะอุปสมบทเพื่อให้เป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์ต่อไป ก็ได้เข้ามากล่าวคำขอนิสัยขอให้ข้าพเจ้าเป็นอุปัชฌายะ ในเบื้องต้นนี้ก็จะต้องทำความเข้าใจถึงความหมายของการขอนิสัยและความสัมพันธ์ที่เป็นอุปัชฌาย์แก่ท่าน
คำว่านิสัยนั้นก็แปลว่าที่อาศัย หมายความว่าท่านทั้งหลายได้เข้ามาขออาศัยข้าพเจ้า ให้ข้าพเจ้าเป็นที่อาศัยหรือเป็นที่พึ่งพา เป็นที่พึ่งพาอย่างไร ก็คือพึ่งพาในการที่จะศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติพระธรรมวินัยต่อไป เพราะว่าผู้ที่บวชใหม่ยังไม่มีความรู้เข้าใจพระธรรมวินัยที่จะปกครองตนเองได้ จึงต้องอาศัยพระที่ท่านได้เรียนรู้ธรรมวินัยมา เคยมีชีวิตอยู่ในภิกษุภาวะมา ได้มาช่วยแนะนำให้คำสอนเบื้องต้น รู้จักวิธีครองตนและแนะนำในการที่จะศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยต่อไป จึงได้มีพุทธบัญญัติวางไว้ว่า ให้ผู้ที่บวชใหม่นี้ไปอยู่อาศัยพระอุปัชฌายะ ท่านทั้งหลายก็มาขออาศัยข้าพเจ้า และขอให้ข้าพเจ้าเป็นอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์นั้นก็แปลว่าผู้คอยเพ่งดูอยู่ หรือคอยดูอยู่ใกล้ ๆ หมายความว่าคอยเอาใจใส่ดูแล ดูแลอะไร มองในแง่หนึ่งคล้าย ๆ ปกครอง แต่ที่จริงไม่ใช่ ปกครองนั้นเป็นเพียงความหมายประกอบ ความมุ่งหมายก็คือเพื่อให้ท่านทั้งหลายได้ศึกษาสำเร็จตามความมุ่งหมาย เพราะฉะนั้นพระอุปัชฌาย์ก็จะมีหน้าที่ต่อท่าน เป็นผู้ที่ให้คำแนะนำเบื้องต้น แล้วก็ฝึกเรื่องเกี่ยวกับการที่จะได้เรียนรู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เจริญไตรสิกขาต่อไป เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายได้เข้ามาบอกว่าขอนิสัย ให้นิสัยแก่ท่าน และขอให้ข้าพเจ้าเป็นอุปัชฌาย์ เลยบอกว่า “อุปัชฌาโย เม ภันเต, โหหิ” ขอท่านจงเป็นอุปัชฌาย์ของข้าพเจ้า เมื่อข้าพเจ้ารับ ท่านทั้งหลายก็กล่าวว่า “อัชชะตัคเคทานิ เถโร มัยหัง, ภาโร”
นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ท่านพระเถระเป็นภาระของข้าพเจ้า ก็หมายความว่า ต่อไปนี้เมื่อข้าพเจ้ารับเป็นอุปัชฌาย์แล้ว ข้าพเจ้าก็เป็นภาระของท่านทั้งหลาย เป็นภาระอย่างไร ก็คือภาระรับผิดชอบ เป็นความรับผิดชอบที่ท่านทั้งหลายจะต้องเอาใจใส่ คอยสดับฟังคำแนะนำสั่งสอน ให้ความสำคัญไม่ปล่อยปะละเลย คอยดูว่าอุปัชฌาย์ท่านจะมีอะไรแนะนำบอกกล่าว แล้วเพื่อให้ใกล้ชิดกันก็จะมีข้อวัตรปฏิบัติต่อกัน ให้อยู่ใกล้ชิดกันเหมือนเป็นพ่อลูก จะได้เรียนไม่เฉพาะเรียนคำสั่งสอนเท่านั้น แต่เรียนวิถีชีวิตด้วย เรียนความเป็นอยู่ เรียนกิริยามารยาท ทุกอย่าง คือเรียนกันในชีวิตจริง เรียนตั้งแต่ตื่นนอนไปจนกระทั่งนอน ถ้าว่าตามหลัก ทีนี้เมื่อข้าพเจ้าเป็นอุปัชฌาย์ บอกว่าอุปัชฌาย์ก็เป็นภาระของท่าน ที่ท่านจะต้องเอาใจใส่ แล้วท่านก็กล่าวต่อไปว่า “อะหัมปิ เถรัสสะ ภาโร” แม้ข้าพเจ้าก็เป็นภาระของท่านพระเถระด้วย ก็หมายความว่าทุกท่านที่มาขอนิสัยอยู่เนี่ย ท่านก็มาเป็นภาระของข้าพเจ้าด้วย คือเป็นภาระของพระอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์ก็จะต้องมีความรับผิดชอบที่จะเอาใจใส่ คอยดูแลว่าท่านที่มาขอนิสัยอยู่ด้วยเนี่ย ได้มีขาดตกบกพร่องอะไร ในทางความเป็นอยู่ก็ดี ในการศึกษาก็ดี มีอะไรที่จะต้องแก้ไขปรับปรุง มีอะไรที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป นี่ก็ท่านก็เป็นภาระ ทั้งสองฝ่ายมีภาระรับผิดชอบต่อกัน ก็เกิดเป็นความสัมพันธ์ต่อกันในทางการศึกษา ท่านก็เลยได้ชื่อขึ้นมา ต่อไปนี้ท่านก็มีชื่อที่คู่กับพระอุปัชฌาย์ ว่าท่านทั้งหลายนี่เป็น “สัทธิวิหาริก” อุปัชฌาย์ก็แปลว่าผู้คอยดูแลใส่ใจอย่างที่ว่า สัทธิวิหาริกก็แปลว่าผู้อยู่ด้วย ก็แปลง่าย ๆ เท่านั้นเอง ก็มาอยู่ด้วยกับอุปัชฌาย์ จะได้ให้อุปัชฌาย์นี้เป็นที่พึ่งที่อาศัยในทางการศึกษาต่อไป ก็มีการปกครองพ่วงเข้ามา ก็การปกครองก็เป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นเครื่องมือของการศึกษาเท่านั้น ทีนี้ก็จะมีพุทธบัญญัติต่อไปบอกว่าพระภิกษุบวชใหม่เนี่ย จะต้องเล่าเรียนเยอะกว่าจะปกครองตนเองได้ ท่านให้เวลาห้าปี แล้วจะต้องอยู่ถ้ายังไม่สึกไม่ไปไหนเสีย ก็ต้องอยู่กับพระอุปัชฌาย์เนี่ยเล่าเรียนศึกษาไปห้าปี เมื่อครบห้าปีแล้ว ถ้ายังปกครองตัวไม่ได้ ก็ต้องอยู่ต่อ ถ้าตามปกติก็ถือว่าไหว เพราะปกครองตนเองได้ ก็พ้นนิสัย เรียกว่าเป็น “นิสัยมุตตกะ” อันนี้ก็เป็นเรื่องหลักพระธรรมวินัยที่จะต้องทราบไว้ ก็มีพุทธบัญญัติต่อไปอีกบอกว่าบางทีเป็นไปได้ที่ว่า บวชแล้วเนี่ยอยู่กันไม่ทันครบห้าปี อุปัชฌาย์มีอันเป็นไป หรือว่าท่านที่บวชนี่ไปไหน ก็ยังไม่พ้นนิสัย คือจะต้องมีที่อาศัยให้การศึกษาอบรมอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าอยู่กับอุปัชฌาย์ไม่ได้หรืออุปัชฌาย์ไม่อยู่ ก็จะต้องหาพระภิกษุที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับพระอุปัชฌาย์ คือมีความรู้ความสามารถ บวชมามีประสบการณ์พอสมควรอย่างกับอุปัชฌาย์เนี่ย แล้วไปขอนิสัยกับท่านผู้นั้น เมื่อไปขอนิสัยให้ท่านผู้นั้นทำหน้าที่ ตอนนี้ไม่เรียกว่าอุปัชฌาย์ เรียกว่าอาจารย์ ท่านที่ทำหน้าที่แทนพระอุปัชฌาย์ ในเมื่ออุปัชฌาย์ไม่สามารถทำหน้าที่นี้เรียกว่าเป็นอาจารย์ ท่านไปขอนิสัยอยู่กับพระอาจารย์ ตัวท่านก็มีชื่อเรียกใหม่ เมื่อกี้นี้อยู่กับพระอุปัชฌาย์เรียกว่า สัทธิวิหาริก ไปอยู่กับพระอาจารย์เรียกว่า “อันเตวาสิก” อันเตวาสิกแปลว่าผู้อยู่ในสำนัก อันนี้ก็เป็นหลักในทางธรรมวินัย และก็อยู่กันไปจนกระทั่งครบห้าปี ตอนนั้นก็ปกครองตัวเองได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องของการที่จะให้ชีวิตเจริญงอกงามในการศึกษาในศีล สมาธิ ปัญญา นี้บอกได้ว่าการบวชนี้เป็นการบวชเรียน ชีวิตตั้งแต่นี้ไปเนี่ยก็เป็นชีวิตแห่งการศึกษาตลอด ชีวิตพระเนี่ยต้องศึกษาตลอดไป ถ้าศึกษาเก่ง ปฏิบัติเก่ง จนได้เป็นอริยบุคคลชั้นต้น ๆ ก็เรียกว่า “เสขะ” หรือ “เสกขะ” แปลว่าผู้ยังต้องศึกษา เสกขะ เสขะ ก็มาจากคำว่า สิกขา นั่นเอง แปลง อิ เป็น เอ แล้วทำ อา ให้เป็น อะ สั้นเข้า ก็เป็น เสกขะ (เสขะ) เป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี เป็นอริยบุคคลนี้ก็ยังไม่พ้น ยังเป็นนักศึกษา ยังต้องศึกษาอยู่ จนกระทั่งเมื่อไรเป็นพระอรหันต์ก็จึงเป็น “อเสขะ (อเสกขะ)” จึงจะจบการศึกษาได้ เพราะฉะนั้นชีวิตพระนี่ ตราบใดที่ยังเป็นพระภิกษุ ก็ต้องอยู่ในไตรสิกขาตลอด อยู่ในสิกขาสาม ท่านบอกว่าแม้จะมีพรรษาตั้งเจ็ดแปดสิบ อายุตั้งร้อยแล้ว ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ยังต้องศึกษาเรื่อยไป ชีวิตนี้เป็นชีวิตแห่งการศึกษา แล้วพระธรรมวินัยนี้นับแต่บวชไป ก็เราบอกว่าบวชเรียน แล้วก็เมื่อบวชเสร็จเนี่ยเดี๋ยวจะต้องบอกไตรสิกขาอีก บอกให้รู้ว่าตั้งแต่นี้ไปแล้วชีวิตท่านอยู่ในไตรสิกขาตลอด สิกขานั้นก็แปลว่าเรียนนั่นเอง แปลเป็นไทย หรือแปลว่าเรียนรู้ แปลว่าฝึก แปลง่าย ๆ เมื่อสมัยก่อนเราแปลกันว่าฝึก หรือฝึกฝน หรือหัด หรือพัฒนา ได้ทั้งนั้น เรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา อันเรียนรู้ ฝึก ศึกษา พัฒนา นี่คือความหมายสิกขาทั้งสิ้น เมื่ออย่างนี้แล้วท่านก็รู้ว่าชีวิตของท่านเป็นสิกขา ต้องทำความเข้าใจเรื่องสิกขาหน่อยว่า ต่อแต่นี้ไปชีวิตท่านเป็นไตรสิกขาทำยังไง สิกขาคือการฝึก ทำชีวิตของตนเองให้ดีงามยิ่งขึ้น อย่างที่บอกแต่ต้นว่า มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และต้องฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วไม่ประเสริฐ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วหาประเสริฐไม่ จะแย่ที่สุดคืออยู่ก็ไม่รอด ถ้าไม่ฝึกไม่เรียนรู้ นี้พอฝึกแล้วจะเก่งจนกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ เพราะฉะนั้นก็ให้เอาการฝึกนี้เป็นหัวใจ เป็นหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ ฝึกศึกษาเรียนรู้นี้มีอะไรบ้าง ท่านก็บอกว่าคนเรานี่มีสามแดนที่จะต้องศึกษาหรือฝึกขึ้นไป แดนที่หนึ่งก็คือชีวิตของเราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เรามีการติดต่อสัมพันธ์กับภายนอก ติดต่อสัมพันธ์ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา รับรู้ ดู ฟัง เห็น เป็นต้น แล้วถ้าเรื่องของการบริโภค การใช้สอย ปัจจัยสี่ สิ่งของเครื่องใช้ อะไรต่าง ๆ ปัจจุบันก็มีเทคโนโลยี และการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ และก็สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งความสัมพันธ์นี้เราใช้นอกจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้ว เราใช้อีกอย่าง อีกชุดหนึ่ง คือเรามีประตูหรือทาง หรือทวารสำหรับติดต่อเนี่ยสองชุด ชุดที่หนึ่งนี้มีหก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชุดที่สองนี่เป็นทางในการทำ ชุดที่หนึ่งนี้เป็นทางสำหรับรู้ ตา หู เป็นต้น ดู ฟัง ได้รู้ ทีนี้ชุดที่สองนี่สำหรับทำ ได้แก่ กาย วาจา ใจ ทางกายก็ทำเคลื่อนไหวออกมา วาจาก็พูด และก็ใจก็คิด อันนี้เราจะต้องมีการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ ทางสังคมเนี่ย แดนนี้เราจะต้องพัฒนาให้ดี หลักการของการพัฒนาก็คือให้ชีวิตของเราที่ติดต่อสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น ไม่ก่อการเบียดเบียน ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้าย สิ่งแวดล้อมทั้งมนุษย์และวัตถุธรรมชาติ แล้วก็ไม่เบียดเบียนตนเอง ถ้าเก่งขึ้นไป ก็ให้เกื้อกูล ให้เกื้อกูลแก่สิ่งแวดล้อมทั้งเพื่อนมนุษย์ ทั้งสิ่งทั้งหลายทุกอย่าง แล้วก็เกื้อกูลต่อชีวิตของตนเอง ณ แดนของความติดต่อสัมพันธ์นี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ ก็เริ่มตั้งแต่ว่าใช้ตา ดู หู ฟัง เป็นต้น ตา ดู หู ฟัง ก็ดูยังไง ฟังยังไง จะไม่ให้เกิดโทษ ดูแล้วไม่ได้แต่เพียงลุ่มหลง แล้วก็ติดอยู่แค่ชอบใจ ไม่ชอบใจ แต่ดูฟังแล้วให้ได้ความรู้ ได้ประโยชน์ เอามาใช้พัฒนาชีวิตของตน เอามาใช้แก้ปัญหา เอามาสร้างสรรค์ทำการต่าง ๆ ได้ ถ้า ดูฟังเป็นต้นแล้ว ได้ความรู้ ได้ประโยชน์ นี่เรียกว่ามีศีล ถ้าดูฟังแล้วเป็นต้น แม้แต่ใช้ลิ้น ใช้อะไรไม่เป็น ติดอยู่กับความลุ่มหลงมัวเมาก็ไม่มีศีล อันนี้ศีลบทที่หนึ่งท่านเรียกว่า “อินทรียสังวรศีล” การใช้ ตา หู เป็นต้น สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ต่อไปก็อย่างที่กล่าวเนี่ย เราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมเรื่องการบริโภคใช้สอย กินอยู่ ตั้งแต่กินอาหาร ใช้เสื้อผ้า เป็นต้น ก็ดูว่าบริโภคเป็นไหม กินเป็นไหม ใช้เป็นไหม ดูยังไงกินเป็นใช้เป็น กินอาหาร กินเป็นนี่กินยังไง ก็ต้องกินด้วยปัญญา คือรู้ความมุ่งหมายว่ากินเพื่ออะไร คนจำนวนมากเกิดมายังไม่เคยถามตัวเองว่ากินเพื่ออะไร พระบวชต้องถามทันที ก่อนบวชสมัยก่อนนี้อยู่วัดต้องให้ท่องแล้ว “ปะฏิสังขา โยนิโส ปิณฑะปาตัง ปะฏิเสวามิ” ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วโดยแยบคายจึงบริโภคอาหารนี้ว่า ที่บริโภคนี้ไม่ใช่มุ่งเพื่อจะเล่นสนุกสนาน บันเทิง มัวเมา เอาโก้เอาเก๋ แต่รับประทานนี้เพื่อยังชีวิตให้เป็นไปได้ เพื่อเกื้อกูลแก่ชีวิตที่ดี จะได้เอาร่างกายนี้ไปใช้ประโยชน์สร้างสรรค์ทำความดีงาม ไปศึกษาเล่าเรียนอะไรต่าง ๆ เนี่ย ก็กินด้วยปัญญา รู้ว่ากินเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี จะได้เอาร่างกายไปใช้ประโยชน์ในทางที่ดีงาม ก็ให้กินเพื่อเกื้อหนุนชีวิตที่ดีงามนั่นเอง ถ้ากินอย่างนี้ก็ไม่มีโทษ กินแล้วก็ให้อยู่ผาสุข ไม่ให้เกิดโทษ ไม่ให้เกิดปัญหาแก่ชีวิต แก่ร่างกาย แก่สุขภาพ อย่างนี้ท่านเรียกว่ากินเป็น ก็เรียกว่ามีศีลในการบริโภค จะใช้เครื่องนุ่งห่ม จะใช้ที่อยู่อาศัยต้องพิจารณาทั้งหมด เรียกว่ากินอยู่ใช้สอยบริโภคด้วยปัญญา ไม่บริโภคด้วยโมหะหรือตัณหา แล้วก็จะได้ความพอดี เพราะว่ากินด้วยปัญญาก็จะรู้ขอบเขตว่า กินเท่าไหนมันจึงจะได้ผลตามความมุ่งหมาย อันนี้ก็เป็นศีลหมวดหนึ่งเรียกว่า “ปัจจัยสันนิสสิตศีล หรือ “ปัจจัยปฏิเสวนา” แล้วก็คนเราต้องอยู่ร่วมสังคม อยู่ยังไงไม่เบียดเบียนกัน เกื้อกูลกัน เป็นสังคม เป็นชุมชนที่ดี ก็ต้องมีระเบียบ มีวินัย มีกฎ มีกติกา กฎกติกาในการอยู่ร่วมกันชุมชนก็เป็นศีลหมวดหนึ่งเรียกว่า "ปาฏิโมกขสังวรศีล” และอีกอย่างหนึ่งถ้าคนเราอยู่ในโลก ก็ต้องเลี้ยงชีพ ต้องมีทางที่จะได้มีชีวิตเป็นอยู่ ก็ต้องมีสัมมาอาชีพ เลี้ยงชีพด้วยทางที่ถูกต้อง ก็เป็นศีลหมวดหนึ่ง อย่างญาติโยมก็ต้องมีศีลที่เลี้ยงชีพโดยอาชีพที่สุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ไม่เบียดเบียนใคร เป็นอาชีพที่สร้างสรรค์ อย่างพระเณรนี่ก็ เป็นอาชีพที่เป็นอยู่ในตัว ก็คือทำหน้าที่รักษาธรรมะไว้ให้แก่โลก ถ้าเรารักษาธรรมะไว้ให้แก่โลก ประชาชนรู้ว่าธรรมะเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าไม่มีธรรมะแล้วสังคมก็อยู่ไม่ได้ ก็จะต้องเกื้อหนุนแก่ผู้ที่รักษาธรรมะไว้ให้แก่สังคม และเขาเลื่อมใสมีศรัทธา เขามาเลี้ยงเอง พระไม่มีสิทธิ์ไปขอเขา พระภิกษุไม่เป็นอาพาธ ไม่เจ็บไข้ ไปขออาหารเพื่อตนฉัน ต้องอาบัติมีความผิด เพราะฉะนั้นก็ต้องอยู่ด้วยอาชีพบริสุทธิ์ ก็คือว่าเขาเลื่อมใส เขาเห็นคุณค่า ประโยชน์ แล้วเขาก็ถวายภัตตาหาร แล้วทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย อะไรอย่างงี้ ก็อันนี้ก็เป็นศีลของพระภิกษุ ท่านบอกให้อยู่ในโลกนี้ ให้อยู่เหมือนอย่างกับแมลงผึ้ง แมลงผึ้งนั้นขยัน ไปตามหมู่ไม้ ไปเก็บน้ำหวานและเกสรดอกไม้ ท่านบอกว่าผึ้งเนี่ย ไปเอาน้ำหวานและเกสร ไม่ทำดอกไม้ให้ชอกช้ำ แม้แต่สีและกลิ่นก็ไม่ชอกช้ำ พระภิกษุก็พึงเที่ยวไปในชาวโลกฉันนั้น คือไปอยู่ในโลกแล้ว อย่าให้เขาชอกช้ำ ไม่ว่าทรัพย์สินเงินทอง หรือศรัทธา หรือจิตใจ แต่ว่าต้องไปบำรุงจิตใจเขา ให้จิตใจดีงาม ก็เป็นผู้ที่เหมือนกับแมลงผึ้ง ไปนี่มีแต่ไปช่วยให้ดอกไม้เจริญงอกงาม แพร่พันธุ์ดีขึ้นไปอีก นั้นก็ท่านบอกให้มุนี พระสงฆ์เนี่ยอยู่ในโลกเหมือนอย่างนั้น ก็ให้ทำตนให้เลี้ยงง่าย พระสงฆ์ก็เลยมีชีวิตที่ขึ้นต่อวัตถุน้อยหน่อย ก็พยายามที่จะเอาวัตถุมาเป็นเพียงปัจจัยเกื้อหนุนในการที่จะได้ศึกษาในสิกขาต่อไป อันนี้ก็เป็นศีลหมวดหนึ่ง ก็เป็นศีลรวมทั้งหมดสี่ประเภท นี่คือแดนที่เราติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอก ทางสิ่งแวดล้อม ทางวัตถุ และทางสังคม ก็เป็นศีลทั้งหมดเนี่ยซึ่งเราไม่ค่อยรู้กัน เรามักจะรู้จักแค่ศีลห้า ศีลในการบริโภคอาหาร ศีลในการดูฟังทีวีนี่ไม่มี เพราะฉะนั้นดูทีวี ถ้าดูไม่เป็นก็เสียศีล ดูเป็นก็มีศีล ดูแล้วได้ความรู้ไหม ได้คติ ได้ประโยชน์ไหม เพราะฉะนั้นก็ต้องฝึกกันตั้งแต่ในบ้าน ถ้าให้เด็กมีศีลแล้วก็ประเทศไทยเจริญแน่ เวลานี้น่าเสียดายที่ใช้เทคโนโลยีก็ไม่เป็น ดูทีวีก็ไม่เป็น ดูใช้สื่อต่าง ๆ ไปทางลุ่มหลงมัวเมา หมดไม่มีศีล ถ้าใช้ให้เป็น มีศีลแล้วก็ประเทศไทยเจริญพัฒนาแน่นอน แล้วก็พระนี่ท่านก็ให้เน้น ศีลนี้ก็เป็นอันว่าสี่หมวดเนี่ย นี่แดนที่หนึ่งแล้ว ชีวิตแดนนี้ก็แดนใหญ่มากแล้ว ตลอดจนกิริยามารยาท ความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ในสังคม ทำยังไงจะอยู่ให้สังคมนี้มันสงบเรียบร้อย มีระเบียบ มีความสวยงามปราณีตยิ่งขึ้น นี่ด้านที่หนึ่ง ทีนี้แดนที่สองก็ต่อไป เบื้องหลังแดนที่แสดงออกติดต่อสัมพันธ์ภายนอก มีพฤติกรรมต่าง ๆ เนี่ยก็คือ “จิตใจ” เราจะทำอะไร จะดูอะไร ฟังอะไร จะใช้มือทำอะไร จะบริโภคอะไร ต้องมีตามความตั้งใจ ความตั้งใจนี้ก็เป็นแดนของจิตใจ จะตั้งใจยังไงมันอยู่ที่ตัว แรงจูงใจข้างหลัง แรงจูงใจดีหรือชั่ว มีความโลภ มีความโกรธ ก็ตั้งใจไปอย่างหนึ่ง มีความเมตตากรุณา มีศรัทธา มีคุณธรรมความดี ก็ตั้งใจไปอีกอย่างหนึ่ง แล้วถ้าจิตใจยังมีเรื่องของความสามารถ มีความเพียรพยายาม มีความเข้มแข็ง มีความอดทน มีใจสู้ ไม่ระย่อ ไม่ท้อแท้ต่ออุปสรรค มีสติยับยั้ง ควบคุมตัวเองได้ มีสมาธิ จิตใจตั้งมั่นแน่วแน่ นี่ก็เรื่องแดนจิตใจทั้งนั้น แล้วก็เรื่องสุข เรื่องทุกข์ จิตใจขุ่นมัว เศร้าหมอง หรือร่าเริงเบิกบาน ผ่องใส พวกนี้แดนจิตใจก็เป็นเรื่องใหญ่มาก ที่เรามาสัมพันธ์กับโลกภายนอก ถ้าจิตใจไม่ดี ก็สัมพันธ์ไม่ดี ก่อการเบียดเบียนเป็นต้น ถ้ารู้จักสัมพันธ์ดี จิตใจก็ดีด้วย ถ้ารู้จักดูจักฟังเป็นต้น มันก็เกิดผลแก่จิตใจในทางที่ดี ก็สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน หมายความว่าจิตใจก็เป็นปัจจัยเกื้อหนุนกายวาจา กายวาจาทำดี หรือตา หู จมูก ลิ้น กายของเราใช้เป็นถูกต้อง ก็เกิดผลดีแก่จิตใจไปด้วย นี้แดนจิตใจก็เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องพัฒนากัน แม้แค่ว่าฝึกสมาธินี่ยังต้องทำกันเป็นคอร์สใหญ่ บางทีเข้ากันตั้งสิบห้าวันหรือเดือนนึง แค่เรื่องสมาธิอย่างเดียว เอ้าและก็นี่ก็เป็นเรื่องแดนที่สอง แดนจิตใจ ซึ่งใช้สมาธิเป็นตัวแทน สมาธินี่เป็นคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งในแดนของจิตใจ และมักจะใช้ชื่อเป็นตัวแทนของด้านจิตใจ ก็เลยเรียกว่าแดนสมาธิ
ต่อไปแดนที่สามก็คือ คนเราเนี่ยก็ต้องมีความรู้ เราจะเคลื่อนไหวกายวาจา เราจะบริโภคอะไร เราต้องรู้ ถ้าเราไม่รู้ เราทำอะไรไม่เป็น คนไม่รู้ก็เคลื่อนไหวทำอะไรได้จำกัด ยิ่งรู้ชัดเจน รู้กว้างขวาง การเคลื่อนไหวทำอะไรก็ซับซ้อน ได้ผลดียิ่งขึ้น จิตใจก็เหมือนกัน จิตใจถ้าหากว่าเรามีความรู้ มีปัญญา แก้ไขปัญหาจิตใจได้ เราเจอคนเขาไม่ยิ้ม เขาหน้าบึ้ง เราก็โกรธตอบ ไม่ชอบใจ เราก็ทุกข์ ไม่สบายใจด้วยกัน พอเราคิดใช้ปัญญา ก็เออเขาอาจจะมีอารมณ์ค้าง เขาอาจจะถูกคุณพ่อคุณแม่ดุมานะ ไม่ใช่มาโกรธเราหรอก เออเขาก็มีปัญหาของเขา เราน่าจะไปไถ่ถามช่วยเหลือเขามากกว่า พอมีปัญญาขึ้นมา เปลี่ยนจิตใจเลยจากโกรธ จากทุกข์ มาเปลี่ยนเป็นสงสาร มีคุณธรรม อยากช่วยเหลือเขามีความสุข หรือเราไม่รู้อะไร ไปเจออะไรทำไม่ถูกเนี่ย ก็อัดอั้นตันใจ มีความทุกข์ พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไร จะทำยังไงต่อมันนี่ โล่งเลย ปัญญาก็ทำให้เกิดอิสรภาพ เพราะฉะนั้นปัญญาเนี่ยเป็นตัวชี้ช่อง นำทาง ขยายขอบเขต เคยทำได้เท่านี้ พอมีปัญญารู้มากขึ้น ก็ขยายขอบเขตทำได้มากขึ้น เคยติดตันก็เป็นอิสระด้วยปัญญา ฉะนั้นแดนปัญญาก็เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด มาควบคุม มานำทางแดนของการติดต่อสัมพันธ์โลกภายนอก พฤติกรรมจิตใจหมดเลย เพราะฉะนั้นปัญญานี่เป็นตัวที่จะนำไปสู่การตรัสรู้ จึงเป็นเรื่องใหญ่ ตั้งแต่การรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ไปสัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ตาหู ใช้เป็นก็ได้ความรู้อย่างที่ว่าเมื่อกี้ มันก็ทำให้เกิดปัญญา จิตใจดีงาม มีความอดทนสู้ปัญหา คิดไม่ย่อท้อ เราก็เกิดปัญญาขึ้นมา นั่นก็ปัญญาก็อาศัยจิตใจด้วย ทีนี้ปัญญาต้องมีตั้งแต่การรับรู้ให้ถูกต้องตรงความเป็นจริง การรู้จักพิจารณาคิดวินิจฉัยปัญหาโดยไม่เอนเอียงด้วยอคติ การรู้จักคิดค้นสืบสาวเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย การรู้จักคิดวิเคราะห์แยกแยะสิ่งต่าง ๆ ออกไป การรู้จักคิดเชื่อมโยงเอาข้อมูลความคิดมาประมวลเชื่อมต่อการสร้างความรู้ความคิดใหม่ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ แม้แต่ปัญญาในการสื่อสาร การเรียน การฟังคนอื่น ฟังแล้วรู้เข้าใจแค่ไหน จับประเด็นให้ถูก อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เรื่องปัญญาเป็นเรื่องใหญ่ในการที่จะทำให้ชีวิตของเราเจริญงอกงาม แม้แต่แดนที่หนึ่งศีล แดนที่สองสมาธิ เจริญไปได้ก็เพราะเรื่องปัญญาเนี่ย มาช่วยขยายขอบเขต แล้วก็ปรับแก้ แล้วก็ทำให้พัฒนายิ่งขึ้นไป เรื่องปัญญาก็เป็นเรื่องใหญ่มาก ก็ถือว่าเป็นยอดธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่าปัญญานี้เป็นยอด เป็นธรรมะสูงสุดที่จะทำให้ตรัสรู้ได้ ก็รวมแล้วก็เป็นแดนที่สามที่เราจะมาบวชเรียนหรือไม่บวชเรียนก็ตาม ญาติโยมทั้งหลายก็อยู่ในสามแดนนี้แหละ ก็คือแดนที่หนึ่งแดนติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอก ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ตลอดจนด้วยพฤติกรรมกายวาจา แล้วแดนที่สองก็เรื่องของจิตใจ ทั้งด้านคุณภาพ คุณธรรม ทั้งด้านสมรรถภาพ ทั้งด้านความสุข และก็เรื่องของปัญญา แดนของความรู้ความเข้าใจ การคิด การที่จะได้ให้ความสว่าง เข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย เราก็มาฝึกกันในเรื่องเหล่านี้ ทีนี้ก็เรื่องไตรสิกขานี่ก็รวมไปว่าเป็นสรุปคำสอนทั้งหมด หลักการศึกษาทั้งหมดที่เราจะต้องเกี่ยวข้อง ส่วนรายละเอียดก็ไปศึกษากันต่อไป
เมื่อทำความเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว รู้ว่าชีวิตของเราคือไตรสิกขาเนี่ย ขอให้ท่านทั้งหลายบวชไปแล้วก็ขอให้เจริญ ฝึกตนในด้านทั้งสามนี้ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป บวชไปแล้วก็ต้องถามว่า เออในด้านศีล พฤติกรรมของเรา การใช้ตา หู จมูก ลิ้น การใช้กาย วาจา เป็นต้นของเรานี้ การบริโภค การใช้ปัจจัยสี่ สิ่งของ เทคโนโลยีนี่ เรามีหลักมากขึ้นไหม ใช้เป็นดีขึ้นไหม และการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ รู้จักเกื้อกูลกัน มีความสัมพันธ์ที่ดี รู้จักพูดจักจาอะไรดีขึ้นไหม อันนี้เรื่องศีลทั้งนั้น อย่างน้อยก็ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายใคร ด้านที่สองก็ดูว่าด้านจิตใจของเราดีขึ้นไหม โดยคุณธรรม โดยความสามารถเข้มแข็งของจิตใจ โดยความสุข ความร่าเริงเบิกบานผ่องใสของจิตใจ เป็นต้น แล้วก็สามด้านปัญญา อย่างน้อยก็รู้เข้าใจหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ตลอดจนกระทั่งฝึกในการคิด การพิจารณาสิ่งต่าง ๆ มองโลกมองชีวิต รู้จักพลิกสถานการณ์ร้ายให้กลายเป็นดีได้ ท่านบอกว่าทุกอย่างในโลกนี้ แม้แต่เลวที่สุด ถ้ามองเป็นก็ได้ประโยชน์ อย่างน้อยก็ได้ความจริง เราก็ต้องฝึก ฝึกวิธีคิด แล้วก็เป็นการฝึกปัญญา ถามตัวเองว่าเราได้แค่ไหน ก็ทดสอบไปเรื่อย ๆ ในสามแดน ก็เป็นอันว่าเรื่องไตรสิกขาก็มีหลักการอย่างนี้ ทีนี้ต่อไปนี้ท่านถือว่าพร้อมแล้ว รู้จักชีวิตพระ ก็พร้อมจะบวชอุปสมบทต่อไป ทีนี้ในการที่จะอุปสมบทเนี่ย บอกแล้วเมื่อกี้ว่าท่านเข้ามาขอนิสัย ขอให้ข้าพเจ้าเป็นอุปัชฌาย์ การที่มาขอให้เป็นอุปัชฌาย์ ก็เพราะว่าที่ประชุมสงฆ์ในเวลาพิจารณาจะรับท่านเข้าหรือไม่เนี่ย ต้องใช้มติส่วนรวมและต้องเป็นเอกฉันท์ ทีนี้ว่าต้องดูว่าท่านมีคุณสมบัติไหม และปฎิบัติตามพุทธบัญญัติไหม พุทธบัญญัติอย่างหนึ่งก็คือ มีอุปัชฌาย์ที่จะดูแล เป็นหลักประกันให้ว่าท่านบวชแล้วจะไม่เคว้งคว้างเลื่อนลอย เพราะฉะนั้นสงฆ์ก็จะพิจารณาว่าเออท่านผู้นี้บวชเข้าไปแล้วนี่ จะมีผู้รับผิดชอบดูแลเอาใจใส่ ให้การศึกษาเป็นที่อาศัยไหม ถ้าไม่มี ก็ไม่ยอมให้บวช ท่านก็เลยมาขอให้ข้าพเจ้าเป็นอุปัชฌาย์ นี่ก็ได้อุปัชฌาย์แล้ว ก็เข้าไปบอกที่ประชุมสงฆ์ ที่ประชุมสงฆ์ก็จะมีพระอาจารย์ที่เป็นคู่สวดขึ้นมาสวด หนึ่งก็ตรวจสอบคุณสมบัติของท่าน ที่เราเรียกว่า “ขานนาค” ก็คือตรวจสอบว่าท่านมีคุณสมบัติจะบวชได้หรือเปล่า เรียกว่าถาม “อันตรายิกธรรม” เสร็จแล้วก็บอกกับที่ประชุมว่า ตั้งเป็นข้อเสนอว่า เรียกว่า “ญัตติ” ก็ตั้งญัตติ ญัตตินี่มาจากพระ แล้วสภาก็เอาไปใช้ ก็คือสภาของพระนี่มีอยู่ก่อนแล้ว ก็ตั้งญัตติว่า เนี่ยท่านผู้นี้ ชื่อนี้ มีองค์นี้เป็นอุปัชฌาย์ มีคุณสมบัติอย่างนี้ อย่างนี้แล้วเนี่ยจะบวช ที่ประชุมสงฆ์จะเห็นชอบด้วยไหม แล้วก็เมื่อที่ประชุมสงฆ์เห็นชอบ ก็จะประกาศมติ ขอมติ ถ้าหากว่ามีใครคัดค้านก็บวชไม่ได้ ถ้าหากว่าเห็นชอบด้วยกัน ไม่มีใครคัดค้านก็บวชสำเร็จ ก็ประกาศ เรียกว่าประกาศขอมติเนี่ยสามครั้ง อนุสาวนา แล้วจบ แล้วก็สรุปว่าบวชสำเร็จ ทีนี้ในการที่ไปบวชก็เป็นอันว่าจะต้องตั้งญัตติ แล้วก็เอาชื่อตัวท่านไปประกาศ ไปเสนอที่ประชุม แล้วก็เอาชื่ออุปัชฌาย์ไปเสนอด้วย ตอนนี้ก็เลยจะต้องให้ท่านเรียนรู้จักชื่อกันไว้ ทีนี้เวลาตั้งญัตติ สวด ประกาศต่าง ๆ เนี่ยใช้เป็นภาษาบาลี ทีนี้ภาษาไทยที่เป็นชื่อของแต่ละท่านนี่ไม่สะดวก เพราะว่าภาษาบาลีมีไวยากรณ์ต้องมีการผันรูปต่าง ๆ ก็เลยจะตั้งชื่อเงาให้ท่าน ชื่อเงานี่เอาไปใช้แทนชื่อตัวเรียกว่า “ฉายา” ฉายาแปลว่าชื่อเงา ชื่อเงาก็ให้ทั้งห้ารูปเนี้ย หนึ่งสามเณรธันวาก็เอาฉายาว่า “ฐิตมโน” ฐิตมโนก็แปลว่ามีใจมั่น มีใจตั้งมั่น ฐิตมโน ทีนี้พระอาจารย์ที่เป็นคู่สวดท่านก็จะถามว่า “กินนาโมสิ” เธอชื่ออะไร ก็ต้องตอบว่า “อะหัง ภัณเต ฐิตมโน นามะ” เอ้าลองถามดู “กินนาโมสิ” (เสียงสามเณรตอบ “อะหัง ภัณเต ฐิตมโน นามะ”) เอาล่ะทีนี้นอกจากถามชื่อตัว ก็จะถามชื่อพระอุปัชฌาย์ด้วยว่าใครเป็นอุปัชฌาย์ ท่านก็จะถามว่า “โก นามะ เต อุปัชฌาโย” อุปัชฌาย์ของท่านชื่ออะไร เอ้าตอบ (เสียงสามเณรตอบ “อุปัชฌา โยเม ภัณเต อายัสมา ปยุตโต นามะ”) เอาละนี่ก็เตรียมไปตอบได้ ทีนี้ต่อไปสามเณรวิศวกร ก็ใช้ฉายาว่า “สุทธิกโร” สุทธิกโร ก็แปลว่าผู้สร้างความบริสุทธิ์ ผู้สร้างความบริสุทธิ์ ก็ถามว่า “กินนาโมสิ” (เสียงสามเณรตอบ “อะหัง ภัณเต สุทธิกโร นามะ”) “โก นามะ เต อุปัชฌาโย” (เสียงสามเณรตอบ “อุปัชฌา โยเม ภัณเต อายัสมา ปยุตโต นามะ”) ทีนี้ต่อไปก็สามเณรจักรกฤษณ์ ให้ฉายาว่า “อริยจักโก” อริยจักโก จักนี้แปลว่า ล้อ หมายถึงธรรมะที่เหมือนล้อ หนึ่งก็นำตัวเองไปสู่ความเจริญ สองก็นำความเจริญไปแผ่ขยายให้เขา สามถ้าไม่อย่างนั้นก็นำอำนาจไปแผ่ อย่างพวกอาณาจักรนี่นำอำนาจไปแผ่ ก็สามอย่าง หนึ่งนำอำนาจไปแผ่ สองนำความดีงามไปแผ่ สามนำตัวเองไปสู่ความเจริญ ก็ต้องไปศึกษาต่อไปว่าธรรมะอะไรที่จะเป็นเหมือนล้อที่จะนำไปอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าให้ฉายาอริยจักโก ก็ถามว่า “กินนาโมสิ” (เสียงสามเณรตอบ “อะหัง ภัณเต อริยจักโก นามะ”) “โก นามะ เต อุปัชฌาโย” (เสียงสามเณรตอบ “อุปัชฌา โยเม ภัณเต อายัสมา ปยุตโต นามะ”) ทีนี้ต่อไปก็สามเณรกำแหง สามเณรกำแหง ก็ให้ฉายาว่า “สุทธมโน” สุทธมโนก็แปลว่ามีใจบริสุทธิ์ ก็ถามว่า “กินนาโมสิ” (เสียงสามเณรตอบ “อะหัง ภัณเต สุทธมโน นามะ”) “โก นามะ เต อุปัชฌาโย” (เสียงสามเณรตอบ “อุปัชฌา โยเม ภัณเต อายัสมา ปยุตโต นามะ”) ทีนี้ก็ไปสามเณรธรรมรัตน์ สามเณรธรรมรัตน์ก็ให้ฉายาว่า “วชิรธัมโม” วชิรธัมโมก็แปลว่าธรรมะซึ่งมีค่าประดุจเพชร ก็ถามว่า “กินนาโมสิ” (เสียงสามเณรตอบ “อะหัง ภัณเต วชิรธัมโม นามะ”) “โก นามะ เต อุปัชฌาโย” (เสียงสามเณรตอบ “อุปัชฌา โยเม ภัณเต อายัสมา ปยุตโต นามะ”)
ก็เป็นอันว่าได้รู้เข้าใจ สิ่งที่จะนำไปใช้ในที่ประชุมสงฆ์ ในตอนทำสังฆกรรมคือการบวชแล้ว ก็ถือว่าทุกท่านพร้อม ถ้าพร้อมอย่างนี้แล้ว ก็คือมีอีกอย่างหนึ่งจะบอกบริขาร เพราะว่าพระสงฆ์ภิกษุนี่มีบริขาร มีเครื่องใช้สอยน้อยเท่าที่จำเป็น เพื่อให้ชีวิตนี้ปลอดโปร่งโล่งเป็นอิสระ จะได้ตั้งใจในการอุทิศตัวอุทิศเวลาให้การศึกษาเต็มที่ เลยมีบริขารจำเป็นแค่บาตร จีวร ตอนนี้ก็เลยว่าเป็นภาษาบาลีแนะนำให้รู้จักชื่อบริขารไว้ “ปะฐะมัง อุปัชฌัง คาหาเปตัพโพ อุปัชฌัง คาหาเปตวา ปัตตะจีวะรัง อาจิกขิตัพพัง” คุกเข่าเข้ามา ถือบาตรเข้ามาใกล้ ๆ เข้ามาอีกนิด เข้ามาอีกหน่อย เข้ามาให้จับถึงเลย “อะยันเต ปัตโต” นี่บาตรของคุณ (สามเณรตอบ “อามะ ภันเต”) “อะยัง สังฆาฏิ” นี้ผ้าสังฆาฏิ ผ้าทาบ ผ้าซ้อน (สามเณรตอบ “อามะ ภันเต”) “อะยัง อุตตะราสังโค” อันนี้ผ้าห่ม (สามเณรตอบ “อามะ ภันเต”) “อะยัง อันตะระวาสะโก” อันนี้ผ้านุ่ง สบง (สามเณรตอบ “อามะ ภันเต”) “คัจฉะ อะมุมหิ โอกาเส ติฏฐาหิ” ไปยืนไปรอในที่จัดไว้ก่อน มีที่นั่งจัดไว้....