แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
+
ตัวเองรู้แม้ปฏิบัติธรรม มีศีลเคร่งครัดแค่ไหน ได้ทานสมาบัติก็สามารถมองดูที่ใจตัวเองได้ว่ายังมีโลภ โกรธ หลง หรือเปล่า หรือว่าจะได้สมาธิดื่มด่ำอะไรก็ตาม ไม่ใช่เป็นเครื่องวินิจฉัย มีพุทธพจน์แห่งหนึ่งในพระธรรมบท ในธรรมบทก็มีคาถาเตือนไว้ พระพุทธเจ้าตรัสเตือนบอกไว้ นะ สี ละ พะ ตะ มัต เต นะเป็นต้น บอกว่า ภิกษุยังไม่ถึงความสิ้นความสิ้นอาสวะ คำว่าสิ้นอาสวะก็คือ หมดกิเลสนั่นเอง ภาษาง่ายๆ ภิกษุยังไม่ถึงความสิ้นอาสวะ ยังไม่หมดกิเลส อย่าเพิ่งวางใจ อย่าเพิ่งวางใจจะด้วยศีลวัตรก็ตาม ไม่วางใจเพียงได้ศีลวัตร หมายความว่า คือศีลวัตรเคร่งครัด โอเรานี่ถือศีลวัตรได้เคร่งครัดดีเหลือเกินนี่ อย่าเพิ่งวางใจ ถ้ายังไม่สิ้นอาสวะกิเลสในใจยังไม่หมด
หรือ พาหุสัจจะ หรือ ด้วยการที่ได้เรียนรู้มาก เล่าเรียนปริยัติ มีความรู้กว้างขวาง ลึกซึ้งอะไร ก็ไว้ใจไม่ได้ อย่าเพิ่งวางใจ หรือด้วยสมาธิ ลา เพ นะ หรือการได้ด้วยสมาธิ ถึงได้สมาธิก็อย่าเพิ่งวางใจ หรือด้วยการที่ปลีกตัวไปอยู่ในที่สงัด ไปอยู่ป่าอยู่เขา ก็วางใจไม่ได้ หรือแม้แต่ ด้วยรู้สึกประจักษ์กับตัวเองว่า เรานี้ได้สัมผัสกับความสุขอันประณีตลึกซึ้ง ที่ไม่เกี่ยวกับประสาทสัมผัส ความสุขลึกซึ้งภายใน ท่านเรียกว่า เนกขัมมะสุข แม้แต่ว่าเราได้ประสพ ได้สัมผัสกับเนกขัมมะสุข ด้วยตนเองจริงๆ โดยตรงแล้ว ซึ่งท่านบอกว่าเป็นความสุขที่ปุถุชนไม่รู้จัก แม้แต่ได้ความสุขอย่างนั้น ก็อย่าเพิ่งวางใจ ตราบใดที่ไม่สิ้นอาสวะ มีพุทธพจน์ตักเตือนไว้แล้ว
ที่จริงท่านเตือนพระแต่ละองค์นั่นเอง ให้วินิจฉัยให้ตรวจสอบตนเอง แต่ว่าเราก็เอามาใช้ทางสังคมได้ด้วย ว่าอย่าไปหลงเพลินวัดกันด้วยสิ่งที่ปรากฏ ด้วยการที่มีฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ด้วยการที่ได้สมาธิ ด้วยการที่มีความเคร่งครัด เข้มงวด อะไรต่างๆ ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ท่านไม่ให้วางใจ สิ่งที่ตรวจสอบ คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง อันนี้ก็แสดงว่า นี่ก็สิ่งที่ทำความเข้าใจกันก่อน ซึ่งเป็นเรื่องทั่วๆ ไป เกี่ยวกับการปฏิบัติ
ทีนี้ต่อไปอาตมาจะค่อยเข้าสู่การปฏิบัติ ตอนนี้จะเริ่มเข้าสู่กับการปฏิบัติแล้ว จะเข้าสู่การปฏิบัติ ต้องจุดเริ่มต้นก่อน ตอนแรกขอพูดถึงตัวทุน และเครื่องประกอบในการปฏิบัติ คนเราจะไปเดินทางนี่ บางทีมันต้องมีเสบียงเหมือนกัน มีทุน และก็มีเครื่องมือประกอบในการเดินทาง อาจจะมีเข็มทิศ อาจจะมีไม้เท้า อาจจะมีอะไรก็แล้วแต่ มีกระติกน้ำ มีอะไรต่างๆ นี่ ก็มีเครื่องประกอบในการเดินทาง นี้เราก็จะเดินทางชีวิต เรียกว่าปฏิบัติธรรม เราก็ต้องมีทุน มีเสบียง มีเครื่องประกอบเหมือนกัน
ทีนี้อันหนึ่ง ทุนเริ่มแรก ทุนเริ่มแรกมีอะไรก่อน เราจะเดินทางตอนแรกนี่ เรายังไม่รู้ว่า ทางที่ไปจริงไม่จริง แต่เราอาจจะเชื่อตำรา เชื่อครูอาจารย์ แล้วเราก็มีความมั่นใจ อย่างน้อยเรามีความเชื่อพอสมควร ว่าทางนี้เป็นทางที่ถูกต้องจะดำเนินไปสู่จุดหมายใช่ไหม ก่อนจะเดินทาง ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่เริ่มเดินทาง ไม่อย่างนั้นก็ไม่เริ่มเดินทาง ทีนี้คนที่จะเริ่มเดินทางชีวิต จะปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ต้องมีความเชื่อเหมือนกัน ความเชื่ออันนี้ท่านเรียกว่า ศรัทธา เหมือนกัน แต่ว่าศรัทธาอันนี้มีความหมายจำเพาะ ยาวไปหน่อยเติมคำว่า โพธิ เข้าไปเรียกว่า โพธิศรัทธา โพธิศรัทธา ยาวไปอีกหน่อยให้เต็ม ตถาคตโพธิสัทธา เต็มเลย ตถาคตโพธิสัทธา แต่จะเรียกสั้นๆ ก็ได้ว่า โพธิสัทธา ตถาคตโพธิสัทธา ท่านแปลกันว่า ความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
ความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หมายความว่าอย่างไร ตีความกันให้ดี พระพุทธเจ้าเคยเป็นมนุษย์ธรรมดา ใช่หรือเปล่า แล้วพระองค์ได้ตรัสรู้ ค้นพบสัจธรรม ก็กลายเป็นพระพุทธเจ้า มันมีปัญญาที่ทำให้คนกลายเป็นพระพุทธเจ้าได้ หรือมนุษย์สามารถพัฒนาปัญญาของตนเองให้เป็น พุทธะ ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นมันจะมีความหมายว่า เชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือเชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพระพุทธเจ้า มันยังต้องมีปัญญาตัวนี้ และมนุษย์จะต้องสามารถพัฒนาให้เกิดปัญญาขึ้นได้ ภาษาสมัยใหม่ เขาเรียกว่า เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่สามารถพัฒนาได้ ถ้าไม่มีความเชื่ออันนี้แล้วไปไม่รอด
เพราะฉะนั้นคนที่จะเริ่มต้นปฏิบัติธรรมต้องเชื่ออันนี้อยู่ มี ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อในปัญญาตรัสรู้ของตถาคต เชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพุทธะ เชื่อว่ามนุษย์นี้สามารถพัฒนาตนเองจนกระทั่งมีปัญญาสูงสุด ตรัสรู้เป็นพุทธะได้ เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ แล้วก็อาจจะมี พุทธภาษิตมากมายมาช่วยประกอบ เช่น บอกว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ ในบรรดาในหมู่มนุษย์นี้ มนุษย์ที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐ ฝึกแล้วก็คือพัฒนาแล้ว หรือได้รับการศึกษาแล้ว คำว่าภาวนา แปลว่า เจริญ พัฒนา สิกขา แปลว่า การศึกษา เป็นศัพท์ที่ใช้แทนกันได้ ใช้แทนกันบ่อยๆ ก็หมายถึง มีการศึกษาได้ พัฒนาได้นั่นเอง ก็เชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ แล้วในบรรดามนุษย์ทั้งหลายนั้น ผู้ที่มีการฝึกแล้ว หรือมีการศึกษาพัฒนาแล้ว เป็นสัตว์ประเสริฐสุด
เหมือนอย่างพุทธพจน์อย่างหนึ่ง บอกให้คนมีความกล้าหาญในตนเอง ท่านบอกว่า กลฺยาณํ วต โภ สกฺขิ อตฺตานํ อติ มญฺญสิ ท่านบอกว่า ท่านเอยท่านก็สามารถทำดีได้ ไฉนจึงมาหมิ่นตนเองเสีย ว่าอย่างนั้นนะ คนจำนวนมากดูถูกตนเอง นึกว่าตนเองไม่มีความสามารถ ก็ย่อท้อไม่สามารถทำสิ่งที่ดีงาม พระพุทธเจ้าก็ตรัสเตือนด้วยพระพุทธพจน์นี้ บอกว่า ท่านเอยท่านสามารถทำดีได้ ใยมาดูหมิ่นตนเองเสีย นี่ก็เป็นอันหนึ่งที่เร้าใจเรา จะมีพุทธพจน์ประเภทนี้ ที่เร้าใจเราเสมอ ให้มนุษย์มีความกล้าหาญ มีความเชื่อมั่นในตนเอง แต่ไม่ใช่เชื่อมั่นอย่างเลื่อนลอย เชื่อมั่นในการที่จะพัฒนาตนเองต่อไป เพราะฉะนั้นตอนแรกนี้ สิ่งเริ่มแรกคือมีโพธิศรัทธา ความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพุทธะได้
ต่อไปนี้เราจะเข้าสู่ทางแล้ว ตอนนี้พอมีความเชื่อเราก็เริ่มต้นเดินทางได้ เริ่มต้นเดินทางนี่ ตัวทางเรียกว่าอะไร ตัวทางเมื่อกี้อาตมาใช้คำหนึ่งว่าปฏิปทา เช่นในคำว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง แต่ว่าคำที่สามัญกว่านั้นคืออะไร คือคำว่า มรรคา หรือ มรรค มรรคา หรือ มรรค แปลว่า ทาง และในพุทธศาสนา หลักธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติทั้งหมด คือคำว่ามรรค ใช่หรือเปล่า มรรค แปลว่า ทาง ตกลงมาสอดคล้องกันที่นี่ชัดเจนเลย การปฏิบัติในพุทธศาสนา คือ การเดินทาง ได้แก่การดำเนินชีวิต เพราะว่าหลักธรรมภาคปฏิบัติทั้งหมดของพุทธศาสนา เรียกว่า มรรค ทั้งสิ้น มรรค คือ มรรคา ตอนนี้เราจะเข้าสู่มรรคแล้ว
ท่านบอกว่าก่อนที่มรรคจะเกิดขึ้น หรือจะเข้าถึงทางนี่ มันจะมีบุพนิมิต บุพนิมิต แปลว่าอะไร บุพนิมิต แปลว่า แปลคล้ายๆ แปลว่า ลาง ลางก็ไม่ดี คือ เป็นคำเชื่อถือโชคลางก็ไม่ค่อยดี คือตัวส่อแสดงเป็นเครื่องหมาย บุพนิมิต คือ เครื่องหมายก่อน เครื่องหมายที่แสดงให้เห็นก่อนหน้านั้น มันจะมีบุพนิมิต หรือเครื่องหมายส่อแสดงก่อน ท่านบอกว่า เปรียบเหมือนว่า เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้นมาจะมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน พอมีแสงอรุณขึ้นมาเดี๋ยวพระอาทิตย์ก็ขึ้นมา อันนี้ก็เหมือนกัน
ก่อนที่เราจะเข้าสู่ทาง นั้นก็จะมีบุพนิมิตของทางขึ้นมาก่อน แล้วท่านบอกว่าบุพนิมิตมีถึง ๗ ประการด้วยกันนะ อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน แล้วมันเป็นเรื่องของการศึกษาทั้งหมด เพราะอาตมาบอกแล้วว่า การปฏิบัตินั้นคือการศึกษา ปริยัติกับการปฏิบัติรวมกันก็ การศึกษา แล้ว มรรค ของเรานั้นรวมลงในอะไร มรรคมีองค์ ๘ ใช่หรือเปล่า มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ จนกระทั่งถึง สัมมาสมาธิ มรรคมีองค์ ๘ จัดรวมเข้าเหลือ ๓ หมวด ใช่หรือไม่ มรรคจัดรวมเข้าเหลือ ๓ หมวดคืออะไร คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา เรียกว่าอะไร เรียกชื่อว่า ไตรสิกขา ตกลง มรรค กับ สิกขา มันมาชนกันแล้ว มรรคนั้นแยกไป พอสรุปอีกที กลายเป็นสิกขาไป สิกขาก็คือการทำตัวให้เดินตามมรรคนั่นเอง คือ มรรค มันตัวทางเดิน มันยังอยู่นิ่งๆ แล้วพอ สิกขา ขึ้นมา คือเราทำตัวให้เดินไปตามมรรค เพราะฉะนั้นทำตัวให้เดินไปตามทางนั้น มันก็เกิดมรรคขึ้นมา
เพราะฉะนั้นมรรค ก็คือ สิกขา สิกขา ก็คือ มรรค แต่ไม่ใช่อันเดียวกันนะ ต้องแยกให้ถูก สิกขา คือการทำตัวเราให้ไปเดินตามมรรค ทีนี้ตัวมรรค ก็คือ ทางที่เราจะเดินด้วยสิกขา ใช่ไหม ฉะนั้นสิกขาก็ทำตัวให้เดินตามมรรค ก็เป็นอันเดียวกัน ตกลงว่า มรรค ก็เป็นเรื่องการศึกษาทั้งหมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นบุพนิมิตของมรรค ก็เป็นบุพนิมิตของการศึกษาด้วย เพราะฉะนั้นในวงการศึกษานี่ ถ้าฟังตามหลักพุทธศาสนา จะเห็นตรงนี้จุดสำคัญ เราจะเห็นว่าพุทธศาสนาแสดงอะไรบ้าง
อันที่ ๑ ต้องมี ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อในปัญญาตรัสรู้ของมนุษย์ เชื่อว่ามนุษย์พัฒนาได้จนเป็นพุทธะ เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ก่อน มีการศึกษาก็เหมือนกัน ต้องมีอันนี้ แล้วมีบุพนิมิต ๗ ประการเหมือนกัน จะดูว่าตรงกันไหม แต่อย่างน้อยต้องดูพุทธศาสนาเสนออะไรแก่มรรค และ การศึกษา ก็ดูบุพนิมิต ๗ ประการนี้ บุพนิมิตไม่ใช่เฉพาะว่ามันเป็นลาง หรือเป็นเครื่องหมายที่ส่อแสดงว่า เราจะเข้าถึงมรรคเท่านั้นนะ ท่านบอกว่า มรรคที่ยังไม่เกิด ก็จะเกิดขึ้น มรรคที่เกิดขึ้น ก็จะเจริญเต็มบริบูรณ์ด้วย หมายความว่า มันเป็นเครื่องช่วยในระหว่างเดินทางด้วย ตอนแรกมันเป็นเครื่องช่วยนำเข้าสู่ทาง และเมื่อระหว่างเดินทางนั้นเป็นเครื่องช่วยให้เราเดินทางได้ผลดี จนกระทั่งบรรลุจุดมุ่งหมายด้วย เพราะฉะนั้นเป็นทั้งตัวนำ และตัวช่วย ตัวนำและตัวช่วยที่เรียกว่า บุพนิมิตของมรรค หรือบุพนิมิต บุพภาคของการศึกษา ๗ ประการ คืออะไรบ้าง
อันที่ ๑ ท่านบอกว่าความมีกัลยาณมิตร อันนี้พูดกันบ่อยๆ แล้ว ท่านเอามายกเป็นข้อที่ ๑ เลย ความมีกัลยาณมิตร คือถ้าพูดอย่างภาษาง่ายๆ คือการมีสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดี สภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดี ถ้าจำกัดแคบเข้ามา ก็เป็นตัวบุคคล เช่นว่า พ่อ แม่ ครู อาจารย์ โดยเฉพาะ ครู อาจารย์ ทำหน้าที่สำคัญที่สุดของกัลยาณมิตร คือการที่จะช่วยแนะนำ ชี้แจง ชักนำเด็กเข้าสู่ทางที่ถูกต้อง ชักนำเข้าสู่การศึกษา ครูมีหน้าที่ในแง่นี้ ก็เป็นบุพนิมิตของการศึกษา
เพราะฉะนั้น พูดในความหมายหนึ่ง ครูทำหน้าที่เป็นบุพนิมิตของศึกษา ไม่ใช่เป็นตัวการศึกษา ครูไม่สามารถให้การศึกษาแก่เด็กได้ แต่ว่าครูเป็นผู้ที่สามารถชักนำเด็กเข้าสู่กระบวนการของการศึกษา เพราะว่าทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร นี่ประการที่ ๑ มีสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี มีกัลยาณมิตร ตลอดจนกระทั่งถึงสื่อมวลชนที่ดี สื่อมวลชนปัจจุบันนี้ทำหน้าที่ทางการศึกษามาก ตลอดจนกระทั่งทำลายการศึกษาด้วย ถ้าเป็นสื่อมวลชนที่ไม่ดีก็ทำลายการศึกษา ถ้าเป็นสื่อมวลชนที่ดีก็ทำหน้าที่ให้การศึกษา ปัจจุบันนี้ บางแห่งนี้ สื่อมวลชนทำหน้าที่การศึกษาสำคัญยิ่งกว่าครูบาอาจารย์ในโรงเรียนด้วยซ้ำไป อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ประการแรกก็จะต้องมีกัลยาณมิตร
ประการที่ ๒ ท่านเรียกว่า สีลสัมปทา สีลสัมปทา การทำศีลให้ถึงพร้อม ศีลคืออะไร ศีล คือ ข้อปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันได้ดีในสังคม ความสัมพันธ์ในสังคมที่ดี เมื่อกี้เรามีสิ่งแวดล้อมที่ดีในสังคม เป็นเรื่องที่ว่าได้มาเข้าตัว แต่ทีนี้ตัวเองก็ต้องฝึกด้วย ตอนนี้เริ่มฝึกแล้ว ฝึกสัมปทา มีความหมายบริบูรณ์ ทำให้เต็มขึ้นมา ก็ทำให้มีศีลขึ้นมา นี่หมายถึงว่า ต้องสร้างสรรค์ สัมปทา
ในที่นี้ คือ สร้างสรรค์ สร้างสรรค์ความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี ตัวเองจะต้องมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นดีด้วย ไม่ใช่เป็นฝ่ายรับจากกัลยาณมิตรฝ่ายเดียว ตัวเองจะต้องแสดงออกต่อผู้อื่น ในทางที่ไม่เบียดเบียน ไม่ทำความเดือดร้อนแก่สังคม จะต้องมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลต่อสังคม ต่อเพื่อนมนุษย์ แล้วก็จัดระเบียบการดำเนินชีวิตให้ดี เพราะศีลมันคลุมถึงวินัย ศีลนี้การที่จะฝึกให้มีศีล
ข้อสำคัญอันหนึ่ง คือการมีวินัย โดยเฉพาะคลาสนี้จะเห็นว่าการที่มีศีลนั้น จุดสำคัญคือการฝึกในเรื่องวินัย วินัยก็คือ ระเบียบการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้นข้อนี้ก็คือการที่ว่า จะต้องสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ที่ดีในทางสังคม การรู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี โดยไม่เบียดเบียนกัน โดยเกื้อกูลกัน แล้วก็มีระเบียบในการดำเนินชีวิต อันนี้ก็จะเป็นส่วนที่เป็นบุพนิมิตอันหนึ่งของการศึกษา
ต่อไปประการที่ ๓ ต่อไปประการที่ ๓ เรียกว่า ฉันทสัมปทา ฉันทสัมปทา ก็คือ การสร้างสรรค์แรงจูงใจที่เรียกว่า ฉันทะ ที่พูดมาแล้วเมื่อกี้ อันนี้ย้อนกลับมาอีก แรงจูงใจเป็นสิ่งสำคัญมากในการศึกษา อย่างที่บอกเมื่อกี้ถ้าไม่มีแรงจูงใจ เราก้าวเดินไปได้ยาก เราจะเดินไม่ออก เราจะไม่มีตัวเร่ง ตัวกระตุ้น ให้เราเดิน เพราะฉะนั้นจะต้องมีแรงจูงใจ แต่ต้องมีแรงจูงใจที่ถูกต้อง คือ ฉันทะ คือความใฝ่รู้ และใฝ่ทำ หรืออยากรู้ อยากทำ ที่ได้พูดมาแล้ว เพราะฉะนั้น อันนี้อันที่ ๓ ที่ท่านยกมาเน้น คือ การสร้างสรรค์แรงจูงใจที่ถูกต้อง ที่เรียกว่า ฉันทะ ความใฝ่รู้ และใฝ่ทำ ที่ปัจจุบันก็อย่างน้อยก็ทำให้เกิดค่านิยมในการผลิต
ต่อไปอันที่ ๔ เรียกว่า อัตตสัมปทา อัตตสัมปทานี่ ขอใช้ภาษาอังกฤษหน่อย คือพอดีว่ามันมีภาษาอังกฤษที่ใช้มาตรงเข้า เรียกว่า Self Actualization ในจิตวิทยาการศึกษาปัจจุบัน รู้สึกว่าจะมีความสำคัญอยู่พอสมควร Self Actualization ที่จริงมีอยู่ในนี้คือ อัตตสัมปทา เพราะเรามีความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์แล้ว ตอนนี้ก็คือการสร้างสรรค์ตนเองให้บริบูรณ์
อัตตสัมปทานี้เป็นศัพท์ธรรมะที่เรามักจะข้าม แปลกเหมือนกัน ทำไมเราข้ามอันนี้ไป พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในชุดเดียวกัน ๗ ข้อเรียงลำดับนี้ แต่ข้อนี้ถูกข้ามไป ฉันทะก็ถูกข้าม ที่จริงทั้ง ๗ ข้อนี้ถูกข้ามเยอะ เอาละอันนี้เรามาทวนกัน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ บุพนิมิตของมรรคคืออันนี้ อันที่ ๔ อัตตสัมปทา การสร้างสรรค์ตนเอง หรือศักยภาพของตนเองให้พร้อม อันนี้ก็หมายความว่าจะต้องทำศักยภาพของตนให้เต็มบริบูรณ์ ก็เป็นข้อที่ ๔ อันนี้ไม่ต้องอธิบายมาก เพราะสมัยปัจจุบันก็อธิบายกันอยู่แล้ว แต่เพียงแต่ให้เห็นในทางพุทธศาสนาแสดงไว้เป็นข้อที่ ๔ ในบุพนิมิตของการศึกษา
ต่อไปข้อที่ ๕ ทิฏฐิสัมปทา อันนี้อาตมาเอาบาลีขึ้นก่อน ทำให้ยากหน่อย ที่จริงถ้าอธิบายเป็นไทย แล้วมายกบาลีทีหลังจะง่ายกว่า แต่ว่าไม่เป็นไร เราพูดกันแบบวิชาการ ทิฏฐิสัมปทา แปลว่า การสร้างสรรค์ทิฏฐิให้ถึงพร้อม การสร้างสรรค์ทิฏฐิให้บริบูรณ์ ทิฏฐิ คืออะไร ทิฏฐิ คือ ทัศนคติ ค่านิยม ความคิดเห็น ท่าทีของบุคคลต่อสิ่งต่างๆ ใช่ไหม สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ เจตตคติ หรือทัศนคติ และค่านิยม อันนี้มีความสำคัญมากในการศึกษา พระพุทธเจ้าบอกจะต้องมีทัศนคติ มีค่านิยม ที่ถูกต้อง การที่จะให้การศึกษาอันหนึ่ง ที่จะต้องทำคือพัฒนาเรื่องทัศนคติ และค่านิยม อันนี้เรียกว่า ทิฏฐิสัมปทา
แล้วทัศนคติ ค่านิยม ที่สำคัญในทางพุทธศาสนา อันหนึ่งที่ย้ำก่อนอื่นคืออะไร ที่ถือว่าเป็นสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นคืออะไร คือการมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นไปเหตุปัจจัย อันนี้เป็นทัศนคติสำคัญในการมองโลก เด็กของเรานี่ได้ฝึกการมองโลก มองชีวิตแบบนี้ไหม อันนี้มันไปสัมพันธ์กันหมด แม้แต่แรงจูงใจในการที่จะสร้างสรรค์ ในการที่จะใฝ่รู้ ถ้าเรามีทัศนคติในการมองสิ่งทั้งหลายสัมพันธ์ตามเหตุปัจจัย มันจะทำให้เราสนับสนุนการอยากรู้ เพื่อเข้าถึงความจริง เราจะสีบค้นเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย เพราะการที่จะเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย ต้องค้นหาเหตุปัจจัยของมัน
หลักความจริงสำคัญประการอันหนึ่งก็คือ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย พุทธศาสนาประกาศหลักการแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย อันนี้ก็คือทัศนคติ ท่าทีของมนุษย์ต่อโลก ที่ควรจะต้องมีเป็นประการแรก คือการจะต้องฝึกคนให้มองสิ่งทั้งหลายตามความสัมพันธ์ หรือตามความเป็นไปแห่งเหตุปัจจัย
แล้วส่วนท่าที ทัศนคติ ค่านิยมอื่น ตามมาทีหลัง เช่นว่า ค่านิยมในการผลิตอะไรต่างๆ นี่ ถ้าเรารู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นไป ตามเหตุปัจจัย แล้วมันส่งเสริมการผลิต เด็กอยากจะทำอะไร อยากจะสร้างสรรค์อะไร แกจะต้องเรียนรู้เหตุว่าสิ่งนี้ทำขึ้นมาได้อย่างไร มีเหตุ มีปัจจัยอะไรเป็นองค์ประกอบ จึงสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ แล้วไอ้ท่าทีของการมองตามเหตุปัจจัย ก็ไปสนับสนุนฉันทะ ในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เพราะเราต้องสืบค้น แล้วมันจะไปสนับสนุนตัวท้ายอีกที่จะพูดต่อไปด้วย เพราะฉะนั้นให้มีการสร้างเสริม หรือสร้างสรรค์ทัศนคติค่านิยมที่ถูกต้อง เพื่อให้มี ทิฏฐิสัมปทา เป็นประการที่ ๕
ต่อไปประการที่ ๖ เรียกว่า อัปปมาทสัมปทา การสร้างสรรค์ความไม่ประมาท ความไม่ประมาทนี้คืออะไร อันนี้เราจะต้องพูดกันให้ชัดอีกสักหน่อยนึง การสร้างสรรค์ความไม่ประมาท ความไม่ประมาทนั้น คือ การมีจิตสำนึกในเรื่องกาลเวลา และความเปลี่ยนแปลง คนที่จะไม่ประมาท เพราะสำนึกในเรื่องกาลเวลา โอเวลามันเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยววัน เดี๋ยววันหมดไป เดี๋ยวคืนมา เดี๋ยวเดือนหนึ่ง เดี๋ยวปีหนึ่งนะ เวลาไม่รอเรา กาลเวลาและวารีไม่รอใคร จะทำอะไรต้องรีบทำนะ
เพราะฉะนั้นจะต้องมีความกระตือรือร้น เร่งขวนขวายทำสิ่งต่างๆ อันนี้ก็คือจิตสำนึกในกาลเวลา จิตสำนึกในกาลเวลาเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะมีความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลง กาลเวลาเกิดขึ้นเพราะอะไร กาลเวลากำหนดด้วยการเปลี่ยนแปลงใช่หรือไม่ ที่มีวันมีคืนเพราะถูกกำหนดให้โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ แล้วเป็นปี โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ไปได้รอบหนึ่งบริบูรณ์ ก็เป็นปีหนึ่ง การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งหลาย แม้ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเราที่ไม่หยุดนิ่งตลอดเวลานี้ ทุกส่วนของชีวิตของเราทั้งรูปธรรม นามธรรม มีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา
พระพุทธศาสนานี่สอนนักสอนหนาในการเปลี่ยนแปลง สอนหลักอนิจจัง มาสอนนักสอนหนาว่ามีการเกิดดับ สอนหลักอนิจจังนี้ อันหนึ่งพระพุทธเจ้าต้องการอะไร ต้องการให้เราไม่มีความประมาท พระพุทธเจ้าตรัสปัจฉิมวาจา วาจาสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าตรัสก่อนปรินิพพาน เรียกว่า วาจาสั่งเสียของพระองค์ คือคำว่า วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ แปลว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม หรือแปลว่า จงทำกิจให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท
อันนี้เป็นการที่พระองค์เอาหลัก อนิจจัง หรือหลักความไม่เที่ยง มาสัมพันธ์กับความไม่ประมาท ศาสตร์เรื่องความเปลี่ยนแปลงความไม่เที่ยงเพื่อกระตุ้นเร้าไม่ให้ประมาท ใช่หรือไม่ แต่ว่าเรามองข้ามพุทธพจน์สำคัญอันนี้ ที่เป็นปัจฉิมวาจา วาจาสุดท้าย พระพุทธเจ้าสั่งเสีย แสดงว่าพระองค์ต้องถือว่าสำคัญมาก แต่ชาวพุทธไม่ค่อยเอามาใช้
พระพุทธเจ้าบอกว่าให้ไม่ประมาท เพราะว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นจิตสำนึกในเรื่องกาลเวลา มาจากจิตสำนึกในความเปลี่ยนแปลง และจิตสำนึกในความเปลี่ยนแปลงก็มาเป็นตัวกระตุ้นเร้าให้เราไม่ประมาท เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวบุพนิมิตของการศึกษา หรือการเดินตามมรรค หรือการปฏิบัติธรรม ก็คือความกระตือรือร้น ความเร่งขวนขวาย ไม่ประมาท อันนั้นหลักพุทธศาสนา ไม่ยอมให้เราเป็นคนเฉื่อยชา เป็นคนอยู่นิ่งเฉย พระพุทธเจ้าตรัสย้ำไว้แล้ว อัปปมาทธรรม ย้ำไม่รู้กี่ครั้ง ย้ำในฐานะของบุพนิมิตของการศึกษา ย้ำในฐานะปัจฉิมวาจา วาจาสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ย้ำในฐานะธรรมที่เปรียบรอยเท้าช้าง หลายท่านคงเคยได้ยิน
พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า รอยเท้าของสัตว์บกทั้งหลาย ย่อมรวมลงได้ในรอยเท้าช้างฉันใด ธรรมทั้งหลายรวมลงได้ในความประมาทได้ฉันนั้น ถ้ามีความไม่ประมาทแล้ว ก็จะปฏิบัติธรรมทุกข้ออื่นได้ แต่ถ้าท่านประมาทเสียอย่างเดียว ธรรมทั้งหลายที่เรียนมาก็ไร้ประโยชน์ เพราะไม่เอามาปฏิบัติ ไม่เอามาใช้ เพราะฉะนั้นให้มีความไม่ประมาท ตกลงว่าอัปปมาทสัมปทา การสร้างสรรค์ ความกระตือรือร้น ความเร่งขวนขวาย หรือการมีจิตสำนึกเรื่องของกาลเวลา และความเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้กระตือรือร้นอยู่เสมอ นี้เป็นหลักสำคัญที่เรียกว่า เป็นบุพนิมิตประการที่ ๖ ของการศึกษา
ต่อไปประการที่ ๗ ได้แก่ โยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการ แปลว่าการทำใจโดยแยบคาย หรือการรู้จักพิจารณาโดยแยบคาย เรามาแปลภาษาสมัยใหม่ว่า รู้จักคิด หรือคิดเป็น การพิจารณาสิ่งทั้งหลายตามแนวทางของเหตุปัจจัย ถ้าเรามีทิฏฐิสัมปทา มีท่าทีการมองเห็น การมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัยแล้ว เราก็จะใช้อยู่ในโยนิโสมนสิการได้ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ หลักเหล่านี้สัมพันธ์กันหมด ไอ้ตัวทิฏฐิสัมปทา มันก็มาโยงกับโยนิโสมนสิการ ด้วย เราก็จะมองสิ่งทั้งหลาย พิจารณาว่าเหตุปัจจัยของมันเป็นอย่างไร แยกแยะองค์ประกอบของมันเป็นอย่างไร แยกแยะส่วนประกอบทั้งหลาย พิจารณาว่า มันมีความเป็นจริงอย่างไร มองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง มีคุณมีโทษอย่างไร มีทางแก้ไขอย่างไรนี่ อันนี้เป็นเรื่องของโยนิโสมนสิการทั้งสิ้น ตกลงนี่ก็เป็นหลักประการที่ ๗ โยนิโสมนสิการนี่พูดในที่อื่นมากแล้ว เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องย้ำอีก
ตกลงว่าบุพนิมิตของการศึกษานี้ มี ๗ ประการด้วยกัน ในการให้การศึกษา จะต้องเน้น ๗ ประการนี้ แล้วตัวการศึกษาก็มา ตัวการศึกษาจะมาที่เริ่มจากสัมมาทิฏฐิ เป็นต้นไป นั้นคือตัวมรรค เมื่อเราทำตัวให้เดินตามมรรค ก็คือ ศึกษา ศึกษาก็มี องค์ประกอบ ๓ ส่วน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และแยกออกไปเป็น สัมมาทิฏฐิ จนกระทั่งถึง สัมมาสมาธิ แต่บุพนิมิตของมันคืออะไร เราอย่าลืม
อันนี้เดี๋ยวท่านจะสงสัยอีก ตอนนี้ก็เลยแทรกเข้ามา เอ๊ะ ๗ ข้อมันไม่อยู่ในมรรคหรือ อย่างศีลไม่อยู่ในมรรคหรือ สมมติตั้งข้อสงสัยขึ้นมาจะตอบว่าอย่างไร ๗ ข้อที่จริงก็อยู่ในมรรคแล้ว ก็ขออุปมาให้ฟัง เหมือนกับเราจะพูดอะไรสักอย่างหนึ่ง เหมือนกับเราบอกว่า แพทย์ พระภิกษุ ครูอาจารย์ เป็นผู้มีอุปการะ เป็นผู้มีประโยชน์แก่สังคม หรือแก่ประชาชน ถ้าเราบอกว่า เอ แล้วแพทย์ พระภิกษุ ครูอาจารย์ ไม่ได้เป็นประชาชนหรือ เป็นหรือเปล่าก็เป็นใช่ไหม แต่มันเป็นการแยกพูดเพื่อความประสงค์เป็นพิเศษ
อันนี้ก็เหมือนกัน ๗ ข้อก็รวมอยู่ในมรรคนั่นแหละ แต่ว่าเราต้องมาแยกพูดอีกอย่างหนึ่ง ในความหมายแบบเดียวกับที่ว่า แม้แต่แพทย์ ตำรวจ ครู อาจารย์ ประชาชน ก็เป็นประชาชนเหมือนกัน แต่ในบางกรณีเราพูดแยกจากประชาชน กรณีพูดตำรวจ ทหาร ข้าราชการ และประชาชน เอ๊ะ ทำไมไปแยกอย่างนั้น แล้วตำรวจ ทหาร ข้าราชการ ไม่ได้เป็นประชาชนหรือ ก็เป็นเหมือนกัน แต่ว่าพูดเพื่อแยกความหมายบางอย่าง เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง อันนี้ก็เหมือนกัน
ตกลงว่า ตอนนี้เรามาพูดถึงบุพนิมิตของการศึกษาได้ ๗ ประการ ต่อไปขอย้อนกลับไป ๗ ประการนี้ เราจะเห็นว่า มีหัวข้อสำคัญอยู่ ตัวต้นกับตัวท้ายเลย มี ๒ ตัว พวกหัวกับพวกท้ายนี่ ที่พระพุทธเจ้าทรงจับเอามาเป็นหลักสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เป็นชุดว่ามี ๒ อย่างที่เป็นหลักสำคัญ ที่เป็นตัวการที่จะเข้าสู่การศึกษาที่แท้จริง ท่านเรียกว่าเป็นปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ คือตัวต้นกับตัวท้าย ตัวที่หนึ่ง กับตัวที่เจ็ดนี่ มาได้ชื่อพิเศษอีกอย่างหนึ่ง ว่าเป็นปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ
เพราะว่ากัลยาณมิตรนั้นทำหน้าที่ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง อย่างครูอาจารย์นี้ เป็นตัวนำสำคัญที่จะชักนำเด็กเข้าสู่การศึกษา ชักนำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ และโยนิโสมนสิการ การรู้จักคิด คิดเป็นนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นตัวปัจจัยภายในที่ทำให้เกิด สัมมาทิฏฐิ ท่านเลยแยกเป็นว่ามีปัจจัย ๒ อย่าง ปัจจัยภายนอก กับปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกก็ ??? ที่ดี กัลยาณมิตรนี้ เป็นตัวชักนำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ เป็นตัวชักนำเข้าสู่การศึกษาที่แท้จริง และโยนิโสมนสิการ และรู้จักคิด คิดเป็นด้วยตนเองของเด็ก เป็นปัจจัยภายในที่ทำให้เกิดการศึกษาขึ้น
ตกลงว่า ตัวเน้นของการศึกษาจะมาอยู่ที่ ๒ ตัวนี้ เพราะฉะนั้นครูอาจารย์จึงมีบทบาทในการศึกษามาก ที่ว่ามาเป็นตัวกัลยาณมิตรนี่ แล้วก็ไปตัวเด็ก ตกลงตอนสุดท้ายก็มาเหลือ ๒ ปัจจัยนะ ใน ๗ ประการนี่ มามีปัจจัยตัวนอก เช่น ครูอาจารย์ ฝ่ายหนึ่ง และก็ตัวเด็กเองฝ่ายหนึ่ง โยนิโสมนสิการ ตัวสำคัญ ๒ ตัวนี่จะเป็นตัวนำเข้าสู่การศึกษา กัลยาณมิตรที่ดีนั้นก็จะทำหน้าที่กระตุ้นทั้ง ๖ ประการหลังได้หมดเลย
กัลยาณมิตรจะกระตุ้นให้เด็กรู้จักมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี จัดระเบียบการดำเนินชีวิตให้เป็น รู้จักกระตุ้นแรงจูงใจที่ถูกต้อง ทำให้เด็กพัฒนาศักยภาพของตนเองขึ้นไป จนบริบูรณ์ ทำให้เด็กมีทัศนคติ ค่านิยมที่ถูกต้อง ทำให้เด็กมีจิตสำนึกในกาลเวลา และความเปลี่ยนแปลง มีความกระตือรือร้นขวนขวาย แล้วตลอดจนกระทั่งกระตุ้นให้เกิดโยนิโสมนสิการก็ได้ ครูก็ทำหน้าที่ทั้ง ๖ ประการที่เหลือ เพราฉะนั้นในสุดท้ายแล้วท่านเอาตัวต้นและตัวสุดท้ายมาย้ำอีกทีหนึ่ง เป็นปัจจัยสัมมาทิฏฐิ แล้วจะเห็นบทบาท ความสำคัญของครูในที่นี้ แม้ท่านจะไปบำเพ็ญกรรมฐาน ไปฝึกสมาธิ ท่านก็จะสอนเริ่มต้นให้เข้าหากัลยาณมิตร เพราะอะไร กัลยาณมิตรนี้จะเป็นตัวกระตุ้น ๖ ตัวหลังให้เกิดขึ้น ถ้าเราไม่มีตัวกัลยาณมิตรที่ดี เราก็ต้องพยายามใช้โยนิโสมนสิการให้มาก
เอาละต่อไป เมื่อเราได้ทุนและเครื่องประกอบในการเดินทางแล้ว ต่อมานี้ก็จะเข้าสู่การเดินตามมรรค อาตมาบอกไปแล้วตัวการเดินทางก็คือ มรรค มีองค์ ๘ ประการ ทราบกันแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ต้องบรรยายในรายละเอียด แล้วก็ยังบอกไปด้วยแล้วว่า การฝึกชีวิตโดยการดำเนินตามมรรค หรือการทำตัวให้เดินตามมรรค คือสิกขา หรือการศึกษา ที่บอกไปแล้วว่าการศึกษากับมรรค มันสัมพันธ์กันอย่างไร แล้วทีนี้ต่อไปก็จะมีการตรวจสอบ เมื่อกี้นี้อาตมาบอกให้ตรวจสอบด้วยประสบการณ์โดยตรงของตนเองที่ดู โลภ โกรธ หลง มันมีน้อยมาก หรือลดละ หายไปหรือยัง อันนั้นก็เป็นขั้น ขั้นอะไร ขั้นสูงสุด หรือขั้นสุดท้าย
ทีนี้มันมีการวัดด้วยคุณธรรมต่างๆ ที่งอกงามขึ้นมาแทนอกุศลธรรม เราต้องดูว่ากุศลธรรม มันขึ้นมาแทนอกุศลไหม ท่านบอกหลักการวัดความเจริญในการดำเนินตามมรรค หมวด ๑ มี ๕ อย่าง
หนึ่งก็ดูว่ามีความมั่นใจ มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่เป็นสิ่งความดีงาม มากขึ้นหรือไม่ มีความมั่นใจแม้แต่ในโพธิศรัทธา ในศักยภาพของตัวเองที่จะพัฒนาขึ้นไปหรือไม่ เมื่อมีการเชื่อมั่นมากขึ้น เรียกว่ามีศรัทธามากขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรจะมี เป็นกุศลธรรมที่ควรทำให้เกิดขึ้น ฉะนั้นอันหนึ่งก็ดูว่ามีศรัทธา มีความเชื่อ มีความมั่นใจ ในกุศลธรรม ในความดีงามต่างๆ มากขึ้นหรือไม่
ประการที่ ๒ เมื่อปฏิบัติเดินตามมรรคไป ระเบียบในการดำเนินชีวิตนี้ดีขึ้นไหม มีการประพฤติตนอยู่ในสุจริตดีขึ้นไหม อันนี้ก็เป็นส่วนที่แสดงออกภายนอก ในการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้นต้องเอามาวัดดูด้วย ว่าเราดำเนินชีวิตดีขึ้นไหม มั่นคงในสุจริตมากขึ้น มีระเบียบวินัยมากขึ้นไหม อย่างที่ว่ามีระเบียบในการดำเนินชีวิตดีขึ้นไหม มีความสัมพันธ์กับโลก กับมนุษย์ กับสังคมดีขึ้นไหม อันนี้เรียกว่ามีศีลดีขึ้นไหม เป็นประการที่ ๒ หนึ่งมีศรัทธา สองมีศีล
สามดูว่าเรามีความรู้จากการที่ได้สดับ ได้ค้นคว้าอะไรต่างๆ มากขึ้น ได้ประสบการณ์ต่างๆ มาเป็นข้อมูลของความรู้มากขึ้นหรือไม่ อันนี้เรียกว่ามี สุตตะ มากขึ้นไหม มีสุตตะ เป็นประการที่ ๓
แล้วต่อไปประการที่ ๔ มีความลดละ กิเลส ได้มากขึ้น กิเลสต่างๆ ที่เกิดโดยเฉพาะ ความโลภ ความเห็นแก่ตัวนี่ ละได้ มีความเห็นแก่ตัวน้อยลงได้ไหม มีความเสียสละ มากขึ้นไหม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นแก่เพื่อนมนุษย์ เห็นแก่ผู้อื่น มากขึ้นไหม อันนี้เรียกว่า จาคะ เป็นเครื่องตรวจสอบความเจริญของตัวเองในการเดินตามมรรค อีกประการหนึ่ง
แล้วตัวสุดท้ายก็คือ ตัวปัญญา ความรู้ ความเข้าใจในสิ่งทั้งหลาย ความรู้เข้าใจในความจริงของสิ่งทั้งหลายนั่นเอง อันนี้เป็นตัวแกนที่แท้ ที่ต้องการ เป็นตัวคุมทั้งหมด ตกลงว่าอันนี้ก็เป็นหลักหนึ่งในการตรวจสอบความเจริญ มีศรัทธามากขึ้นไหม มีศีลมากขึ้นไหม มีสุตตะมากขึ้นไหม มีจาคะมากขึ้นไหม และมีปัญญามากขึ้นหรือไม่
ถ้ามีมากขึ้น ท่านเรียกว่ามี อริยวัฑฒิ มีความเจริญของอารยชน มีความเจริญแบบอารยะ ความเจริญหรือพัฒนาการอย่างอารยชน ถ้ามีความเจริญด้วยเพียงว่า มีทรัพย์สินเงินทองมากขึ้นอย่างเดียว มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น อย่างนั้นไม่ถือว่ามีความเจริญในการศึกษา หรือในการพัฒนาชีวิตที่แท้จริง อันนี้หรือมีโทสะ หรือมีความเกลียดชัง มีอะไรต่างๆ มากขึ้น มาใช้ไม่ถูกต้อง ก็นี่ก็อันหนึ่ง ที่จริง หลักตรวจสอบมีหลายประการ
ก็อันหนึ่ง ในการปฏิบัตินั้น นั้นมันเป็นการดำเนินตามหลักอริยสัจ ๔ ในการดำเนินตามหลักแก้ปัญหา ด้วยวิธีการของอริยสัจ ๔ นั้น ต้องดูว่าเราปฏิบัติหน้าที่ต่ออริยสัจ ๔ ถูกต้องหรือไม่ อริยสัจ ๔ มีหน้าที่ประจำแต่ละข้อเลย ถ้าปฏิบัติต่ออริยสัจ ๔ แต่ละข้อผิด ก็ถือว่าเราได้เดินทางผิดแล้ว อริยสัจ ๔
หนี่งพบคือตัวปัญหา เรามีหน้าที่ต่อมันอย่างไร หน้าที่ต่อปัญหาหรือความทุกข์ ก็คือหน้าที่ที่เรียกว่าทำความรู้จัก ท่านเรียกว่ากำหนดรู้ รู้จักว่ามันคืออะไร เราจะแก้ปัญหา เราจะแก้ความทุกข์ ต้องรู้ว่าทุกข์นั้นคืออะไร ปัญหาของเราคืออะไร ขอบเขตของมันอยู่ที่ไหน ตัวปัญหานั้นคืออะไร ถ้าจับไม่ถูกแล้ว ก็เดินหน้าไปไม่ได้ จับตัวปัญหาให้ได้เสียก่อน แล้วก็รู้สิ่งที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับปัญหานั้นทั้งหมด แล้วก็ไม่ใช่เราไม่มีหน้าที่ที่จะไปสร้างปัญหา เราไม่มีหน้าที่เอาปัญหามาวุ่นวายใจ มาเก็บ มากังวลใจ มาทำให้เกิดความทุกข์ ไม่ใช่อย่างนั้น เราไม่มีหน้าที่ทุกข์ต่อทุกข์ แต่เรามีหน้าที่รู้จักทุกข์ อันนี้เป็นประการที่ ๑ ก็คือรู้จักตัวปัญหาตามที่เป็นจริง
ประการที่ ๒ เป็นหน้าที่ต่อสมุทัย สมุทัยคือเหตุของทุกข์ เรามีหน้าที่อย่างไร หน้าที่ที่จะต้องทำต่อสมุทัยก็คือ ค้นหามันให้ถูก แล้วละมันให้ได้ กำจัด ก็คือกำจัดสาเหตุของปัญหา หรือสาเหตุของความทุกข์ เพราะฉะนั้นข้อที่ ๒ ก็คือว่า หน้าที่ต่อเหตุของความทุกข์ หรือหน้าที่ต่อเหตุของปัญหา ก็คือ กำจัดปัญหา กำจัดสาเหตุของปัญหา ไม่ใช่กำจัดปัญหา ปัญหานั้นเรากำจัดไม่ได้ เราแก้ปัญหาด้วยการกำจัดเหตุของมัน
แล้วต่อไปประการที่ ๓ ตัวนิโรธ คือ ความมุ่งหมาย ความมุ่งหมายเป็นตัวการแก้ปัญหาให้สำเร็จ คืออะไร จุดหมายที่ต้องการคืออะไร จะต้องกำหนดให้ได้ จุดหมายที่เราต้องการนั้นคืออะไร มันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือไม่ เมื่อรู้ว่ามันคืออะไร แล้วเป็นไปได้แล้ว เราต้องมีหน้าที่กับมันคือ บรรลุถึงหรือเข้าถึงมัน แต่การที่จะเข้าถึงมันนี้ จะเข้าถึงจุดหมายก็ดี จะแค่กำจัดสาเหตุของปัญหาก็ดี แค่แก้ปัญหาได้ก็ดี จะต้องไปสู่ข้อสุดท้าย ก็คือ มรรค ตัวข้อปฏิบัติ
มรรคเป็นทางเดิน ก็คือข้อปฏิบัติ ข้อปฏิบัตินี้เรามีหน้าที่ก็คือ ลงมือทำ สุดท้ายก็นี้คือ หน้าที่ที่ลงมือทำต่อมรรค มรรค คือมรรคา มี ๘ ประการนี้ เรามีหน้าที่ลงมือทำ ก็ลงมือทำตั้งแต่บุพนิมิต ของมรรค เป็นต้นมา
เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมด หลักธรรมในพุทธศาสนาทั้งหมดนี่ ท่านจัดเข้าในอริยสัจ ๔ ได้หมด สิ่งทั้งหลายที่เป็นข้อประเภทหนึ่ง จัดเข้าเข้าในประเภทที่เรียกว่า ทุกข์เป็นปัญหา สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ประเภทที่ ๒ จัดเข้าประเภทที่เป็นสาเหตุของปัญหา สิ่งทั้งหลายในโลกนี้จัดเข้าในประเภทที่ ๓ ก็เป็นจุดหมาย แล้วประเภทที่ ๔ ก็คือเป็นวิธีปฏิบัติ แล้วเราจะต้องมีหน้าที่ปฏิบัติกับมันให้ถูกต้อง
อันที่ ๑ ทำความรู้จัก กำหนด จับให้ถูก อันที่ ๒ ก็กำจัดสาเหตุ อันที่ ๓ ก็คือเข้าถึงจุดหมาย และอันที่ ๔ ก็คือลงมือทำ และลงมือเดินทาง อันนี้ก็เป็นตัวใช้ในการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ว่าเวลาเราไปเกี่ยวข้องกับธรรมะ เราควรจัดให้ถูกด้วยว่าธรรมมะนั้นเข้าในอะไรใน ๔ ข้อนี้ เมื่อเราจัดเข้าถูกต้องแล้ว เราก็จะปฏิบัติถูกหน้าที่ ว่าหน้าที่ต่อข้อนั้นคืออะไร
เอาละอาตมาขอต่อไป นี่ที่จริงเกินเวลาเยอะแล้ว อาจารย์ให้ไว้ ให้พูดได้ถึง ๒ ชั่วโมง ใช่หรือเปล่า เจริญพร ตอนนั้นท่านบอกให้พูดได้ถึง ๒ ชั่วโมง แต่อาตมาเองจะไม่ค่อยไหว อาจารย์เลยบอกให้เหลือชั่วโมงครึ่ง ทีนี้ตอนนี้มันกลายเป็นว่าพูดไปชั่วโมงครึ่งแล้ว มันยังไม่จบ เพราะฉะนั้นถ้าใครมีธุระติดขัด ต้องอย่าได้เกรงใจ ทีนี้ก็ขอพูดต่อไปก็ไม่มากแล้วล่ะ ขอให้จบไปเลยไม่ต้องมาพูดแล้ว เจริญพร ท่านอาจารย์จะให้โอกาสไหม เจริญพร ก็ขอพูดอีกนิดหน่อย
ทีนี้ไปเข้าเนื้อตัวของการปฏิบัติแล้ว เนื้อตัวของการปฏิบัติที่เป็นหลักหัวข้อต่างๆ อาตมาได้บอกไปแล้วว่าตัวการปฏิบัติ หรือตัวสิกขานี่ มันก็แยกออกไปเป็นหลัก ที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เรียกว่า ไตรสิกขา อย่างหนึ่ง แล้วก็แยกไปแบบง่ายๆ ที่เน้นสำหรับคฤหัสถ์เน้นภายนอก ก็เป็น ทาน ศีล ภาวนา
ทีนี้การปฏิบัติธรรมที่เราพูดกันมาก ที่นิยมกันในปัจจุบัน เป็นการจำกัดแคบในระดับภาวนา คือเป็นการปฏิบัติในระดับภาวนา เช่นว่า ไปนั่งสมาธิ ไปเข้าไปในวัดที่วิเวก ไปเข้าในป่าทำนองนี้ ก็เป็นการปฏิบัติธรรมในขั้นภาวนา หรือระดับภาวนา อาตมาก็เลยจะขอมาพูดเจาะจงในระดับนี้เสียทีหนึ่งก่อน ว่าในแง่ที่เราใช้ตามที่นิยมว่า ไปปฏิบัติธรรมคือ ไปบำเพ็ญสมาธิ เป็นต้นนี้ เราจะต้องรู้จักตัวภาวนาเสียก่อน ว่ามันเป็นอย่างไร ภาวนานั้นต้องแยกจากภาวนาในภาษาไทย ไม่ใช่เป็นเพียงว่า มามุบมิบมุบมิบ ทำปากแล้วก็บอกว่าภาวนา หรือเอาถ้อยคำในภาษาพระ เอามนต์มาบ่นแล้วเป็นภาวนา ไม่ใช่อย่างนั้น
ภาวนาแปลว่า ทำให้เกิด ให้มีขึ้น ทำให้เป็นขึ้น สิ่งที่ยังไม่เป็น ทำให้มันเป็น สิ่งที่ยังไม่มี ทำให้มันมีขึ้น เรียกว่าภาวนา เพราะฉะนั้นมันเป็นการปฏิบัติ เพราะทำให้เป็นขึ้น จากคนที่ยังไม่เป็นจะทำให้เป็นก็ต้องฝึก ใช่ไหม เจริญพร เพราะฉะนั้นการฝึกฝนจึงเป็นภาวนา เพราะฉะนั้นการภาวนาเราจึงแปลความหมายหนึ่ง แปลว่าการฝึกอบรม ฝึกนั้นคือทำไม่เป็น ทำให้เป็น อบรมนั้นคือยังไม่มีทำให้มันมีขึ้น ก็เลยแปลภาวนาว่า ฝึกอบรม ภาษาโบราณแปลภาวนาว่า เจริญ เช่น เจริญสมาธิ เรียกว่า สมาธิภาวนา เจริญเมตตา เรียกว่า เมตตาภาวนา เจริญทำสมาธิ เรียกว่า สมาธิภาวนา เจริญวิปัสสนา เรียกว่า วิปัสสนาภาวนา
อันนี้ เอาละภาวนาก็แปลว่า การฝึกอบรม หรือการเจริญ หรือการทำให้เป็นให้มีขึ้นมา ทีนี้การภาวนาในระดับที่เราต้องการขณะนี้ ก็คือแยกเป็น ๒ อย่าง แยกเป็น จิตตภาวนา การฝึกอบรมจิตใจอย่างหนึ่ง แล้วปัญญาภาวนา การฝึกอบรมปัญญาอย่างหนึ่ง ถ้าใช้ภาษาใหม่ เจริญเราแปลว่า พัฒนา เพราะฉะนั้น จิตตภาวนา ก็แปลว่า การพัฒนาจิต หรือพัฒนาจิตใจ แล้ว ปัญญาภาวนา ก็แปลว่า พัฒนาปัญญา ก็มีพัฒนาจิตใจ กับพัฒนาปัญญา เรียกว่า จิตตภาวนา กับปัญญาภาวนา
นี้จิตตภาวนานั้น ได้แก่ สมถะ สมถะนั้นมุ่งที่ตัวสมาธิ อันนี้ค่อยๆ โยงศัพท์นะเจริญพร จิตตภาวนานั้น เรียกง่ายๆ ว่า สมถะ บางทีก็เรียกว่า สมถะภาวนา แล้วสมถะนี้ ตัวแก่นของมันแท้ๆ คือสมาธิ เพราะสมถะ นั้นแปลว่า ความสงบ ตัวแกนของความสงบ คือสมาธิ ความมีใจแน่วแน่ เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นสมาธิ เรียกอีกอย่างว่า สมาธิภาวนา เลยบางทีคำว่าจิตตภาวนาก็ดี สมถะภาวนาก็ดี สมาธิภาวนาก็ดี ใช้แทนกันได้หมด เอาละนี่อันหนึ่ง
ต่อไปอันที่ ๒ ที่เรียก ปัญญาภาวนานั้น นั้นเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วิปัสสนาภาวนา การเจริญวิปัสสนานั้น มุ่งเพื่อให้เกิดตัวปัญญา ปัญญาที่เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย ปัญญาในขั้นที่รู้จักโลกและชีวิตตามความเป็นจริง เรียกว่า วิปัสสนา เรียกว่า รู้แจ้ง ไม่ใช่รู้เพียงว่าทำมาหาเลี้ยงชีพ ได้เท่านั้น แต่รู้สภาวะ รู้สภาพของความเป็นจริงสิ่งทั้งหลาย เรียกว่า วิปัสสนา ก็เป็นปัญญาระดับหนึ่ง นั่นแหละ เพราะฉะนั้น วิปัสสนาภาวนา ถ้าจะเรียกให้กว้างก็เป็น ปัญญาภาวนา ตกลงตอนนี้ ก็เป็นอันแยกภาวนาออกเป็น ๒ อย่าง
อันที่ ๑ เรียกว่า จิตตภาวนาบ้าง สมถะภาวนาบ้าง สมาธิภาวนาบ้าง
อันที่ ๒ เรียกปัญญาภาวนา หรือเรียกให้แคบจำกัดลงไป เรียกว่าวิปัสสนาภาวนา เอาละเรื่องภาวนา ก็ทำความเข้าใจกันง่ายๆ อย่างนี้
ทีนี้ต่อไป ตัวหลักการของสมาธิอยู่ที่ไหน การบำเพ็ญเพียรทางจิต การบำเพ็ญสมถะ การบำเพ็ญสมาธินั้น ตัวหลักการที่แท้อยู่ที่ไหน บางท่านไปงงว่า เอ๊ะสมาธินี่เดี๋ยวไปกำหนดลมหายใจ เดี๋ยวไปเพ่งกสิณ เดี๋ยวไปภาวนา พุทโธ เดี๋ยวไปเจริญเมตตา เดี๋ยวเจริญพรหมวิหาร อะไรกันแน่หนอเป็นสมาธิ ถ้าท่านจับหลักได้แล้ว มันนิดเดียวเท่านั้นเอง สมาธิไม่มีอะไร คือการที่สามารถทำให้จิตกำหนดอยู่กับสิ่งเดียวได้ตามที่ต้องการ เท่านั้นเอง
การที่เราไปกำหนดลมหายใจ ก็เพื่ออะไร ก็เพราะว่าใจเรายังไม่แน่วแน่ ยังกำหนดอยู่กับสิ่งเดียวไม่ได้ มันฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป เราก็เลยพยายามหาเทคนิค หากลวิธีมาช่วยมัน ให้มันกำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งเดียวให้ได้ สิ่งนั้นก็เป็น เราเรียกว่า กรรมฐาน เป็นเครื่องมือ เป็นที่ทำงานของจิตใจ กรรมฐาน แปลว่า ที่ทำงาน กรรรมฐาน เป็นที่ทำงานของจิต เพื่อให้จิตมารับมาอยู่กับสิ่งเดียวได้ ฝึกให้จิตทำงานเป็น เพราะจิตมันทำงานไม่ได้ จิตมันยุ่งวุ่นวาย คอยจะเล่น มันคอยจะเที่ยวซุกซน มันจะคอยฟุ้งซ่าน ให้มันทำงาน แล้วให้มันอยู่กับสิ่งเดียวให้ได้
ก็เอาลมหายใจมาให้มันกำหนดบ้าง เอาเมตตามาให้มันกำหนดบ้าง เอาอสุภะมาให้มันกำหนดบ้าง เอากสิณมาให้มันเพ่งบ้าง เอามือมาเคลื่อนไหวบ้างอะไรต่างๆ เดินจงกรมบ้าง มาเป็นอุบาย เป็นเทคนิคต่างๆ แต่สิ่งที่ต้องการ เมื่อเกิดผลแล้วมีอันเดียว คือจิตกำหนดจับกับสิ่งอันเดียวได้ ถ้าเมื่อใดจิตกำหนดแน่วอยู่กับสิ่งเดียวได้ นั้นคือสมาธิ ไม่ว่าท่านจะใช้วิธีการใดก็ตาม ขอให้สำเร็จผลตามที่ต้องการ นั่นก็ใช้ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องเอาวิธีที่ท่านบอกไว้ก็ได้
แต่วิธีที่ท่านบอก ท่านเคยได้ทดลองมาแล้ว เราก็เชื่อปริยัติ ในแง่ของผู้ปฏิบัติมาแล้ว ได้ผลมาแล้ว เราจะได้ไม่ต้องมาลองผิด ลองถูก กันอีก เอาละเจริญพรนี้ก็ เป็นอันว่าหลักการของสมถะ มีอันเดียว คือทำให้จิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งเดียวที่ต้องการได้ แล้วก็ตามต้องการได้ด้วยนะ อยู่คนเดียวกับสิ่งที่ต้องการ พอดีทำสำเร็จแล้ว ไม่ได้ตามที่ต้องการ เพราะว่า มันอยู่ได้สักพักเดียว ไปอีกแล้ว อย่างนี้เรียกว่าไม่ได้ตามต้องการ ต้องให้ได้ตามต้องการ ให้ชั่วโมง ก็ชั่วโมง ให้ครึ่งชั่วโมง ก็ครึ่งชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ก็ได้ ๒ ชั่วโมง อย่างนั้นเรียกว่า สมาธิ จริง แน่วแน่ ต้องการให้อยู่กับอะไร สัก ๒ ชั่วโมง ก็อยู่กับอันนั้นอันเดียว ใจไม่วอกแวกเป็นอื่นเลย อันนี้เรียกว่า สมาธิเกิดขึ้น
ทีนี้ต่อไป วิปัสสนา ล่ะ จะมีวิธีปฏิบัติ เทคนิคอย่างไรก็ตาม สาระของมัน หลักการมีอันเดียว หลักการอันเดียวคือ การรู้เห็นตามเป็นจริง หรือรู้เห็นตามที่มันเป็น เช่นว่า ไม่รู้เห็นตามที่เราคิดให้มันเป็น ไม่รู้เห็นตามที่อยากให้มันเป็น คนเรามักจะเป็นอย่างนั้น รู้เห็นตามที่คิดให้มันเป็น เรียกว่า คิดปรุงแต่งไป แล้วให้มันเป็นตามที่อย่างนั้น แต่รู้เห็นตามที่มันเป็นของมันจริงๆ เรียกว่า นี่แหละเกิดวิปัสสนา ความรู้แจ้งแล้ว วัตถุประสงค์ของวิปัสสนา ตัวหลักการที่แท้เท่านี้เอง รู้เห็นตามที่มันเป็น แต่ว่าเพียงเท่านี้แหละ มันยากหนักหนา เพราะคนเรานี้มันรู้เห็นตามที่ใจอยากให้มันเป็นซะมาก รู้เห็นตามที่คิดปรุงแต่งให้มันเป็น
เอาละทีนี้ พอได้หลักการแล้ว ทีนี้ต่อไป พอได้สำเร็จผลด้วยดีแล้ว สมถะนี้มันจะนำไปสู่ผลสำเร็จที่เรียกว่า ฌาน ฌ-า- น พอได้สมาธิลึก ลึก ลึก แน่วแน่ ดีขึ้นจนกระทั่งตามที่ต้องการต่อไปมันได้เกิด ฌานเลย ฌานคือ สภาพจิตที่มีสมาธิเป็นแกน ประกอบด้วยคุณสมบัติอื่นๆ ประกอบด้วยคุณสมบัติอื่นๆ ที่ดีงามสองสามสี่ห้าอย่าง แล้วแต่ฌานขั้นไหน อันนี้ ฌาน เป็นผลที่ประสงค์สำคัญของสมถะ หรือ จิตตภาวนา
เอาละทีนี้อาตมา เทียบไปคู่ๆ กันเลย นี่ฝ่ายวิปัสสนา ที่ว่าหลักการรู้เห็นตามเป็นจริงนี้ ผลที่เกิดขึ้นของมันคืออะไร คือญาณ แหมใกล้กันมาก ระวังสับสน ระวังให้ดี พอท่านไปปฏิบัติมาแล้ว จะต้องรู้เรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจน ผลมุ่งหมายของวิปัสสนาคือ ญาณ ญ-า-ณ เมื่อกี้ผลที่ประสงค์ของสมถะคือ ฌาน ฌ-า- น พอผลสำเร็จของวิปัสสนาเป็น ญาณ ญ-า-ณ ฌานของสมถะนั้น แปลว่า การเพิ่งพินิจแน่วแน่อยู่ จิตไปอยู่กับสิ่งนั้นที่ต้องการได้ แต่พอวิปัสสนาแล้วมันทำให้เกิด ญาณ คือตัวความรู้ ญาณ ความหยั่งรู้เกิดขึ้น ฉะนั้น ญาณ ก็เป็นผลที่มุ่งหมายของวิปัสสนา
อันนี้ต่อไป ผลสำเร็จขั้นสุดท้าย อันนี้ผลสำเร็จทั่วไป ทีนี้ผลสำเร็จขั้นสุดท้ายของสมถะ ทำให้จิตแน่วแน่เป็นอารมณ์เดียว เกิดฌานแล้ว พอได้ฌานแล้ว จะเกิดความสำเร็จขึ้น จิตจะปลอดพ้น หลุดไป เขาเรียกว่าหลุดพ้นไปจากสิ่งที่ไม่ดี ที่ไม่ต้องการทั้งหมด จิตใจของคนเรานี่ มีความขุ่นมัวมีความเศร้าหมอง มีกิเลส มีเรื่องทุกข์ร้อนต่างๆ มากมาย พอเราทำสมาธิได้ ได้ฌาน แล้วจิตมันอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ มันพ้นไปจากสิ่งที่ไม่ต้องการ สิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่เป็นทุกข์ สิ่งที่เป็นความขุ่นมัว เดือดร้อนวุ่นวาย สิ่งที่เป็นกิเลสทั้งหมด ก็เรียกว่า เป็นความหลุดพ้นไปได้ แต่ว่าเป็นไปได้ชั่วคราว ตลอดเวลาที่เราอยู่ในสภาพที่จิตนั้น
เมื่อไรเราออกจากที่กำหนดเป็นสมาธิออกมา เราก็เข้าสภาพเดิม เราก็มีปัญหาได้อีก เราก็มีความทุกข์ได้อีก จิตใจของเราก็มีความขุ่นมัว เศร้าหมองได้อีก อันนี้ก็เลยถือว่า เป็นความหลุดพ้นชั่วคราว เรียกว่า ตอนนี้มันจะมีความยุ่งเรื่องศัพท์นิดหน่อย ก็เอาละศัพท์ไม่จำเป็นต้องจำ แต่ถือว่าฟังไว้ประดับความรู้ เรียกว่า วิขัมภนวิมุตติ วิขัมภนวิมุตติ บางทีท่านเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สมยวิมุตติ สมยวิมุตติ ก็แปลว่า หลุดพ้นชั่วสมัย สมัย แปลว่า เวลา สมัยเราก็รู้จักกันแล้ว สมยวิมุตติ แล้ว วิมุตติ แปลว่า หลุดพ้นจากความทุกข์ สมยย ชั่วสมัย ชั่วเวลา ชั่วเวลานั้นที่เราอยู่ในสมาธิ แต่สมัย สมัยหลังนี่เราเรียก วิขัมภนวิมุตติ หลุดพ้นด้วยกดทับไว้ เหมือนอย่างกับเราเอาหินไปทับหญ้า แล้วก็ทำให้มันหยุดงอกงามไป พอเอาหินออกแล้วมันก็กลับเจริญงอกงามต่อไป
ต่อไป ทีนี้ส่วนวิปัสสนา ทำให้เกิดญาณความรู้ แจ่มแจ้ง รู้ตามที่เป็นจริงแล้ว เมื่อรู้เห็นตามที่เป็นจริงแล้ว จิตจะเป็นอิสระ หลุดพ้นจากสิ่งนั้นๆ เลย เมื่อเรารู้เข้าใจสิ่งอะไรตามเป็นจริงแล้ว จิตของเราก็หลุดพ้นจากความยึดติด แล้วเราไม่ก็ขุ่นข้อง ไม่ขัดข้อง เพราะสิ่งนั้น เรานี่ไม่รู้อะไร เราก็ขัดข้องอยู่กับสิ่งนั้น เรารู้ เราก็หลุด ก็พ้นได้ รู้เมื่อไรก็หลุด ทีนี้ความรู้เห็นตามความเป็นจริง ทำให้หลุดพ้นได้อย่างไม่จำกัดสมัย เรียกว่า อสมยวิมุตติ แปลว่า หลุดพ้นไม่จำกัดสมัย หลุดพ้นจริงๆ เด็ดขาด เรียกอีกอย่างว่า สมุจเฉทวิมุตติ หลุดพ้นโดยเด็ดขาด
เอาละ อันนี้อาตมาก็ให้หลักการทั่วๆ ไปว่า เป็นอันว่า ภาวนามี ๒ ทวนอีกครั้งหนึ่งคือ สมถะภาวนา หรือจิตตภาวนา หรือสมาธิภาวนา มีหลักการคือการให้จิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งเดียวที่กำหนดได้ตามที่ต้องการ แล้วทำให้เกิด ฌาน ทำให้เกิดความหลุดพ้นจากความทุกข์ ความขุ่นมัว เศร้าหมอง จากกิเลสทั้งหลาย ได้ชั่วคราว แล้วประการที่ ๒ เรียกว่า ปัญญาภาวนา มุ่งเอาวิปัสสนาภาวนา มีหลักการสำคัญที่เป็นสาระ คือการรู้เห็นตามความเป็นจริงหรือตามสภาวะของมัน แล้วทำให้เกิด ญาณ ความหยั่งรู้ แล้วทำให้เกิดความหลุดพ้นจากความทุกข์ ความขุ่นมัว เศร้าหมอง และกิเลสทั้งหลายอย่างไม่จำกัดกาลเวลา อย่างตลอดไป อย่างเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทวิมุตติ ก็เป็นอันว่านี่ได้หลักการแล้ว อาตมาพูดวันนี้ ก็รวมหลักการคร่าวๆ เท่านั้นเอง ไม่ได้เข้าเนื้อในลึกซึ้ง
ทีนี้ก็จะพูดถึงตัวข้อธรรมในการปฏิบัติไว้บ้าง ข้อธรรมในการปฏิบัตินี้จะเสนอไว้ อันที่ ๑ หลักในการปฏิบัติธรรม แบบคลุมทุกระดับ แบบคร่าวๆ อันหนึ่งที่น่านำมาใช้ แนะนำกันมากก็คือ หลักที่เรียกว่า มงคล ๓๘ ประการ หลักนี้จะมีตั้งแต่ต้นไปเลย ดำเนินชีวิตตั้งแต่ต้น จนกระทั่งถึงขั้นสูงสุด เพราะว่า ในนั้นมีหมดเลย เริ่มตั้งแต่ อะเสวะนา จะ พาลานัง การไม่คบคนพาล นี่เริ่มกัลยาณมิตรใช่ไหม เจริญพร อะเสวะนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา ปูชา จะ ปูชะนียานัง อันนี้มันเข้าหลักเมื่อกี้เลย พระพุทธเจ้าเอามาประยุกต์แล้วตอนนี้
๑ กัลยาณมิตร บุพนิมิตของการศึกษาเบื้องต้น อะเสวะนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา ปูชา จะ ปูชะนียานัง ให้มีทัศนคติ ค่านิยมถูกต้องเกี่ยวกับบุคคล ให้ยกย่องบุคคล ด้วยความดี ความงาม ไม่ใช่ยกย่องในทางผิด ควรมีค่านิยมที่ถูกต้อง มีทิฏฐิที่ถูกต้อง ก็อันนี้ ต่อไปก็จะมีไปตามลำดับ จนถึง ๓๘ ประการ ข้อสูงๆ ขึ้นไปก็จะมี นิพพานสัจฉิกิริยา มี อะริยะสัจจา นะ ทัสสะนัง การเห็นอิรยสัจ การทำนิพพานให้แจ้ง จนกระทั่งจิตของผู้ใด ถูกโลกกระทำแล้วไม่หวั่นไหว เป็นจิตไร้ความโศก ไม่มีธุลี ไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมอง เป็นจิตเกษมก็จบเลย เป็นจิตเกษมก็เป็นอันว่า เป็นจิตปลอดโปร่ง ที่ผ่องใส ไม่มีความทุกข์ด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น มงคลทั้ง ๓๘ ประการนี้ มีตั้งแต่ต้น จนถึงสูงสุด เพราะฉะนั้นหลักปฏิบัติธรรม หมวด ๑ ที่มีตั้งแต่ต้นจนสุดท้าย แบบคร่าวๆ ก็คือมงคล ๓๘ ประการ
ทีนี้ต่อไป ๒ หลักปฏิบัติในระดับสมถะ ทีนี้ต้องการเน้นเอาเฉพาะจุด เมื่อกี้นี้มงคล ๓๘ ประการ นี้เป็นการขยายส่วนล่าง ธรรมะในส่วนต้นๆ นี้มีการขยายพิสดารหน่อย แต่พอสูงๆ พูดแต่หัวข้อนิดๆ ทีนี้พอเราต้องการเจาะปฏิบัติธรรม ขั้นจิตตภาวนา หรือสมถะ ท่านก็ให้หลักไว้มากมาย เรียกว่า กรรมฐาน ๔๐ ประการ ก็เป็นเทคนิค ๔๐ อย่าง เช่นว่า อนุสติ ๑๐ มีการระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ระลึกถึงคุณพระธรรม ระลึกถึงคุณพระสงฆ์ ระลึกถึงจาคะ อะไรต่างๆ จนกระทั่งถึงกำหนดลมหายใจ แล้วมีการบำเพ็ญกสิณ เพ่งกสิณ มีการบำเพ็ญ อัปปมัญญา พรหมวิหาร เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีการเจริญอสุภะ อะไรต่างๆ เหล่านี้ นี่เป็นเรื่องของระดับสมถะ มีกรรมฐาน ๔๐ ประการ ก็ลงลึกไปในระดับจิตตภาวนา
แล้วประการที่ ๓ อาตมาเสนอหลักปฏิบัติ ระดับวิปัสสนา หลักปฏิบัติวิปัสสนา เขาเรียกว่า ธรรมะที่เป็นภูมิของวิปัสสนา ธรรมะที่เป็นภูมิของวิปัสสนา เรียกว่า วิปัสสนาภูมิ วิปัสสนาภูมิ ธรรมะที่เป็นภูมิของวิปัสสนา ก็ตอนนี้ยากหน่อยแล้ว ฟังๆ หัวข้อไว้เฉยๆ อาตมาเอามาพูดเพื่อให้มันครบเท่านั้นเอง ไม่ต้องถือเป็นสำคัญนัก การที่ท่านแสดงไว้ ก็คือ เรื่อง ขันธ์ ๕ เรื่อง อายตนะ ๑๒ อายตนะก็ทราบกันอยู่แล้ว ๒ อันนี้ง่าย ต่อไปเรื่อง ธาตุ ๑๘ ต่อไป เรื่องอินทรีย์ ๒๒ สองอันนี้ไม่คุ้นหู ไม่จำเป็น แล้วต่อไปเรื่อง อริยสัจ ๔ อันนี้คุ้นหน่อย แล้วก็เรื่อง ปฏิจจสมุปบาท เรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ก็เป็นภูมิของวิปัสสนา ธรรมะประเภทนี้เกี่ยวข้องกับวิปัสสนา ถ้าเราเรียนธรรมะพวกนี้ ก็เกี่ยวกับวิปัสสนา
แล้วสิ่งหนึ่งที่จะเข้ามาในการที่พิจารณา และศึกษาในขั้นนี้ ก็คือ ไตรลักษณ์ เมื่อพิจารณาขันธ์ ๕ ไป ก็จะเห็นไตรลักษณ์ หรือพิจารณาในหลักปฏิจจสมุปบาท เราก็จะเห็นไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน เพราะว่าปฏิจจสมุปบาท ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็ปรากฏเป็นความเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยง การที่องค์ประกอบทั้งหลายมันมารวมกันเข้า มาประชุมกันเข้า เป็นส่วนรวมอย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกว่าองค์รวม เป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ แล้วแต่ละส่วนนั้นก็ไม่เที่ยงไม่คงที่ เกิดดับ อยู่ตลอดเวลา นี้เรียกว่าเป็นเรื่องของไตรลักษณ์ คงทนอยู่ไม่ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องของวิปัสสนา แล้วก็มีตัวธรรมะที่เป็นผู้ทำงาน จะใช้ศัพท์เป็นคณะทำงานในการปฏิบัติธรรมเหล่านี้ เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ อันนี้เป็นตัวทำงานแล้ว เมื่อกี้เป็นตัวถูกกระทำ กรรมฐาน ๔๐ เป็นตัวถูกกระทำ เอามาใช้กำหนด เรียกว่าลมหายใจ กำหนดลมหายใจ เป็นวิธีปฏิบัติ เป็นสิ่งที่มากำหนด หรือวิปัสสนาภูมิอย่าง ขันธ์ ๕ ถูกนำมาพิจารณา
ทีนี้ตัวการปฏิบัติเองก็คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ นี้มีอะไรบ้าง ถ้าพูดขึ้นมาแล้วก็จะคุ้นหูกันพอสมควร ก็
๑. สติปัฏฐาน ๔ ได้ ๔ แล้ว เป็นหมวดที่ ๑ สติปัฏฐาน ๔ นี่ เป็นหลักปฏิบัติ
๒. ประธาน ๔ ประธานความเพียร อันนี้ไม่ค่อยคุ้น ท่านที่ต้องการจะค้นคว้า ต้องการเรียน และปฏิบัติให้ลึกซึ้ง จะเริ่มต้นจากหลักการที่อาตมากล่าว แล้วไปค้นคว้าละเอียดต่อไป หมวดที่ ๒ คือ ประธาน ๔ เป็น ความเพียร ๔ ประการ ความเพียรในการที่ว่า ระวังไม่ให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ความเพียรอันที่ ๒ คือ อกุศลธรรมหรือบาปที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ละเสีย กำจัดเสีย อันที่ ๓ ก็ กุศลธรรม หรือธรรมที่ดีบุญที่ยังไม่เกิดก็ทำให้เกิดขึ้น แล้วอันที่ ๔ ก็กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ทำให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์ อันนี้ก็เป็นธรรมะ เรียกว่า ประธาน ๔
ต่อไป ต่อจากประธาน ๔ ก็คือ อิทธิบาท ๔ อันนี้รู้จักกันหมดแล้ว ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ต้องมาใช้ในการปฏิบัติด้วย อย่าลืมมัน เป็นตัวสำคัญที่จะทำให้เกิดสมาธิ ถ้าเราพอใจในอะไรแล้ว สิ่งนั้นจะทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย ถ้าเราเห็นอะไร เป็นสิ่งท้าทาย ใจสู้ เราจะเกิดสมาธิได้ง่าย เราเอาใจฝักใฝ่กับอะไรก็เกิดสมาธิในสิ่งนั้น เราต้องการทดลองอะไรจิตใจเรา ตรวจสอบมันอยู่ เราก็เกิดสมาธิกับสิ่งนั้นได้ง่าย อันนี้อิทธิบาท ๔
ต่อไปก็อินทรีย์ ๕ หลายท่านได้ยิน หลายท่านก็ยังไม่เคยได้ยิน ที่บอกว่าต้องมีอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ ปรับอินทรีย์ให้สม่ำเสมอกัน คนนี้มีอินทรีย์อ่อน คนนี้มีอินทรีย์แก่กล้าแล้ว ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน อันนี้ก็อินทรีย์ ๕
ต่อไป พละ ๕ ธรรมที่เป็นกำลังในการต้านทาน ไม่ให้อกุศลธรรม เข้าครอบงำ ก็ได้แก่ อินทรีย์ ๕ นั่นแหละ แต่ว่ามาทำหน้าที่เป็นฝ่ายรับเรียกว่า พละ ๕ ทำหน้าที่ฝ่ายรุก เรียกว่า อินทรีย์ ๕ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายรุก เรียกว่า อินทรีย์ ไปแก้ไข กำจัด อกุศลธรรม ถ้าทำหน้าที่ในฝ่ายรับ ต้านทานอกุศลธรรมไม่ให้บุกทำลายได้ เรียกว่าเป็น พละ ๕
ต่อไป โพชฌงค์ ๗ โพชฌงค์ ๗ นี่หลายท่านเคยได้ยิน แต่หลายท่านไม่เคยได้ยิน อันนี้ มันมีรายละเอียดตั้ง ๗ ข้อ ขอข้ามไปก่อน ท่านที่ต้องการค้นรายละเอียด ก็ไปว่ากันอีกที
แล้วสุดท้ายก็คือ ตัวมรรคมีองค์ ๘ อันนี้ที่จริงก็โพธิปักขิยธรรม ก็ขยายจากมรรคมีองค์ ๘ นั่นแหละ อันสุดท้ายนี่เป็นตัวรวม แต่ขยายออกไปเพื่อให้เห็นประชาชนนั้นทำหน้าที่ต่างกัน เป็นข้าราชาการ เป็นตำรวจ เป็นทหาร เป็นแพทย์ เป็นพระ อะไรต่างๆ เอาละอาตมาก็พูดมาได้ถึง โพธิปักขิยธรรม ก็เรียกว่าจบ เป็นตัวหลักการปฏิบัติคณะทำงาน คณะทำงานในการปฏิบัติธรรมมาถึงแล้ว ก็ยกให้เป็นหน้าที่ของคณะทำงาน ทำต่อไป อาตมามาแนะนำตัว แนะนำตัว จนกระทั่งที่ว่าตอนนี้ท่านทั้งหลายได้รู้จักคณะทำงานแล้ว staff นี้มีใครบ้าง ได้แก่ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ตัว เมื่อพูดถึงอันนี้แล้วเป็นอันว่าจบ ต่อจากนี้ขอให้ท่านไปทำความรู้จัก เมื่อรู้จักกับคณะทำงานแล้ว ต้องขอให้ไปร่วมมือกับคณะทำงานนั้น ทำการปฏิบัติธรรมต่อไป หน้าที่ของอาตมภาพ ก็จบลงเท่านี้ ก็ขออนุโมทนาทุกท่าน ขอเจริญพร