แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
คุณสิริกร : ดิฉันนางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการ นำข้าราชการ แล้วก็คณะทำงานโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ นำคณาจารย์จากโรงเรียนวิถีพุทธทั่วประเทศ อยากจะให้ผู้บริหารโรงเรียนได้รับฟังธรรมกถาจากพระเด็จพระคุณ ณ บัดนี้ โรงเรียนวิถีพุทธ ขอกราบนมัสการท่านเจ้าคุณ เพื่อที่จะนำข้อคิดเห็น แล้วก็ข้อแนะนำเพื่อเป็นสิริมงคลแก่การดำเนินงาน
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ขอเจริญพร ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งพวกท่านที่ได้มาประชุมพร้อมในโบสก์นี้ ทั้งด้านผู้บริหารทางกระทรวงศึกษาธิการ และทางด้านผู้บริหาร ครู อาจารย์ ของโรงเรียนวิถีพุทธทุกแห่ง วันนี้ก็เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของงานโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ ซึ่งถือว่าเป็นงานที่เริ่มต้นขึ้นมา เป็นก้าวสำคัญ ที่น่าอนุโมทนา เพราะว่าจุดเริ่มต้นก็อยู่ที่กุศลเจตนา ความตั้งใจดี ความปรารถนาดี ต่อชีวิตของเด็กและเยาวชน รวมไปถึงต่อสังคมประเทศชาติ อันนี้ก็เป็นเรื่องของน้ำใจ ของผู้ดำเนินงานทางด้านการศึกษา ทั้งฝ่ายรัฐบาล ก็คือทางกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ตัวท่านนายกรัฐมนตรีลงมา แล้วก็ทั้งทางด้านโรงเรียน รวมไปถึงผู้ปกครอง ญาติโยม ประชาชน อันนี้เป็นโอกาสที่ว่าเราจะได้มาร่วมมือกัน เพราะว่าเจตนาที่ดีที่เป็นกุศล เรามีอยู่แล้ว ผู้ใหญ่ทั้งหลาย มีพ่อแม่เป็นต้น ก็ย่อมรักเด็ก รักลูกของตน อยากให้ลูกของตนมีชีวิตที่ดีงาม มีความสุข เราก็จะให้พรกันอยู่เสมอ ให้มีความสุขความเจริญนะ พูดกันมาแต่โบราณ อันนี้จะให้มีความสุขความเจริญได้อย่างไร ก็ต้องให้การศึกษา แล้วเราก็คิดกันมาเหลือเกิน ว่าทำยังไงจะให้เด็กมีการศึกษาที่ดี ทีนี้การศึกษาตามโรงเรียนวิถีพุทธนี้ มีข้อน่าอนุโมทนา เฉพาะในแง่ที่ว่าเปนเรื่องของความคิดที่จะสืบสานทางวัฒนธรรมด้วย แล้วก็มีปัญญามองเห็นหลักการที่ดีงาม ที่จะเป็นประโยชน์แท้จริงด้วย ทั้งสองอย่างนี้ผสานเข้าด้วยกัน เราจะเห็นว่าถ้าเราสำรวจดู ก็จะรู้ว่ามีโรงเรียนที่ได้ดำเนินการในแนวทางที่เรียกได้ว่าโรงเรียนวิถีพุทธแล้ว ทีนี้โรงเรียนทั้งหลายนั้นก็ แบบหนึ่งก็คือทำงานมาตามประเพณีวัฒนธรรม ว่าเรามีรากฐานทางพระพุทธศาสนา เราอยากให้เด็กของเราได้มีความดีงาม หรือวัฒนธรรม เป็นต้น เราก็เห็นว่าเราต้องให้การศึกษาตามแบบแผนที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ซึ่งเราก็ได้นับถือสืบต่อกันมา อย่างนี้เราก็มองในระดับหนึ่ง ทีนี้ก็บางท่านก็จะมองไปในแง่ของหลักการศึกษา ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แสดงไว้นั้น ตัวหลักธรรม ทำให้เราเข้าใจถึงธรรมชาติของชีวิต ธรรมชาติของโลกและชีวิต แล้วก็สิ่งที่ควรปฏิบัติต่อชีวิต ต่อโลก โดยเฉพาะก็คือเรื่องการศึกษานี้ ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของจุดเริ่มต้น แล้วก็ทำให้มีการริเริ่มงานกันมา มาตอนนี้ก็เป็นความสุกงอมในขั้นหนึ่ง ที่ว่าทางกระทรวงศึกษาธิการนี่ก็เท่ากับมาช่วยให้ทุกแห่งนี้ได้มารวมพลังกันประสาน ได้ตั้งต้นก้าวกันอย่างจริงจัง เวลาที่ผ่านมาในช่วงที่ทางกระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มคิด แม้แต่ชื่อก็ยังต้องมาตกลงกันว่า โรงเรียนวิถีพุทธ การเตรียมการต่างๆนี่ มาถึงบัดนี้ ผ่านไป ใช้เวลามากพอสมควร พอถึงวันนี้ต้องถือว่าเตรียมพร้อมแล้ว เตรียมพร้อม ก็หมายความว่า เราสามารถเริ่มต้นก้าวต่อไป ถ้าเราพร้อมจริงๆ เราก็จะก้าวไปอย่างมีกำลัง การก้าวไปอย่างมีกำลังนั้น ก็แน่นอนว่าอันหนึ่งก็คือความชัดเจน ความชัดเจนว่า พวกเราที่จะทำงานนี้คือใคร แล้วเรากำลังจะทำอะไร ทำเพื่ออะไร แล้วก็จะทำอย่างไร อย่างน้อยก็ต้องมีความชัดเจนในเรื่องนี้ ถ้ามีความชัดเจนแล้วเนี่ย ความมั่นใจก็เกิดขึ้น เพราะว่าตัวปัญญาความรู้ทำให้เกิดความมั่นใจที่แท้ ถ้าเราไม่รู้อะไร มีความพร่ามัวละก็ ความมั่นใจเกิดไม่ได้ พอรู้ชัดเจนก็มั่นใจ มั่นใจก็เกิดกำลัง ทีนี้ก็กำลังทางด้านจิตใจ ที่มีกำลังปัญญาเป็นฐานมั่นคง แล้วก็ออกสู่การปฏิบัติด้วยพฤติกรรมเป็นต้น ตอนนี้ก็ขอให้มีกำลังในทางปฏิบัติการต่อไป เรื่องของการศึกษานี้เป็นเรื่องที่สำคัญ แล้วเรามาบอกว่าเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ ชื่อโรงเรียนเองเนี่ย ยิ่งบอกเลยถึงความสำคัญของการศึกษา ชื่อโรงเรียนบอกอยู่ในตัว วิถีพุทธ วิถีทางของพุทธะ คำว่า พุทธะ นั้น ก็แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ซึ่งเป็นความหมายที่สืบเนื่องมาจากปัญญา นั่นเอง ตัวคำว่าพุทธะเอง มาจากคนที่ เดิมก็มีพุทธิ ก็เป็นชื่อปัญญาอย่างหนึ่ง แล้วก็สูงขึ้นไป สูงสุดเราเรียกว่าโพธิ เรียกว่าโพธิปัญญา ปัญญาที่เป็นโพธิ พอใครได้บรรลุถึงนั้นก็เป็นพุทธะ ในเมื่อเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ ก็เป็นโรงเรียนในวิถีแห่งปัญญา ที่จะทำให้เป็นพุทธะ ที่จะทำให้เป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพราะฉะนั้นชื่อบ่งบอกอยู่ในตัวแล้วว่า ต้องโยงไปหาปัญญา แล้วมาถึงตัวระบบการศึกษาเอง เป็นเนื้อหาสาระ การศึกษาในวิถีพุทธนั้น แน่นอนทุกคนรู้กันเลยว่า คือ ไตรสิกขา พอพูดว่า ไตรสิกขา ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็จบลงด้วยปัญญา ก็ชัดอีก ว่าโรงเรียนนี้จะต้องมีจุดเด่นที่สำคัญคือ ปัญญา เป็นจุดที่ทำให้บรรลุผล เพราะปัญญาที่สูงสุดก็คือ โพธิ ที่ว่าทำให้ผู้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า ถ้ายังไม่ถึงปัญญานี้ ก็เป็นอันว่ายังไม่บรรลุผลสำเร็จ ตัวปัญญาเป็นตัวสำคัญ แต่ว่าปัญญานี้มาบนฐานของการพัฒนาที่พร้อมเป็นองค์รวม ที่มีด้านอื่นๆของชีวิตมาด้วยกัน คือมีศีล มีสมาธิด้วย เดิมทีเดียวนั้น คนก็รู้กันมาตั้งนานแล้ว เรื่องของการอยู่กันในสังคม ควรจะต้องอยู่ร่วมกันได้ดี ประพฤติต่อกันในทางที่ไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียนกัน เป็นต้น ความประพฤติที่ดีนี่เป็นเรื่องที่เน้นการมาแต่ไหนแต่ไหน เรียกว่าความเป็นอยู่ที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมนี้ การอยู่ การกิน การทำการต่างๆ กาย วาจา ใช้ในการพูดจาสัมพันธ์เกี่ยวข้องทั้งหมด ก็เน้นกันที่เรื่องนี้ ก็ถือว่าคนเรานี่ก็ต้องมีความประพฤติดี ก็คือมีศีล แต่บางครั้งเราก็เห็นว่าศีลนี่ก็มีการคุย มีการประพฤติปฏิบัติออกไป บางทีก็เกินควร หรือบางทีก็จุดหมายพลาด จุดหมายก็มีไปต่างๆ เพื่ออย่างโน้น เพื่ออย่างนี้ แม้กระทั่งในทางพุทธศาสนานี้จะให้ระมัดระวัง แม้แต่ว่าพระภิกษุประพฤติศีลเพื่อไปสวรรค์ อย่างนี้ก็ถือแสดงว่าผิดแล้ว ท่านเรียกว่า ศีล-ละ-พะ-ตะ-ปรา-มาด ก็ผิดจุดหมาย หรือ สมาธิ เป็นเรื่องทางด้านจิตใจ คือศีลเป็นเรื่องของพฤติกรรม สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในโลก ที่นี้พอมาเรื่องจิตใจ ก็มาสู่การมีสมาธิ สมัยโบราณก็มีผู้ที่เน้นในเรื่องจิตใจ ได้พยายามไปฝึกฝนพัฒนาจิต จนกระทั่งว่าตัดขาดจากสังคม ปลีกตัวไปอยู่ในป่า บำเพ็ญฌาน จนได้บรรลุฌานสมาบัติ ได้อภิญญา อะไรต่างๆ เหล่านี้ บางทีเขาก็ไป ดิ่งๆ ของเขาไป กลายเป็นว่าไปได้สมาธิที่เพลินกับความสุข ติดอยู่ในความสุขอย่างนั้น หรือไม่งั้นก็อยากได้สมาธิเพราะมีพลังจิตยิ่งใหญ่ มีฤทธิ์ มีปาฏิหาริย์ นี่ก็คือเรื่องของมนุษย์ที่มาแล้วในแดนของศีล ของสมาธิ เรื่องของพฤติกรรม การสัมพันธ์กับโลก แล้วก็เรื่องของจิตใจ พระพุทธเจ้าได้ทรงไปทดลองปฏิบัติในสำนักต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ แล้วในที่สุดก็มา เราเรียกภาษาปัจจุบันว่าพัฒนาวิธีการของพระองค์ขึ้น ส่วนสำคัญก็คือเติมปัญญาเข้าไป ปัญญานี้เป็นตัวจับ ตัวรู้ ว่าจุดหมายอยู่ที่ไหน อะไรทำให้ไปสู่จุดหมายได้ ศีลแค่ไหน สมาธิแค่ไหน ทำเพื่ออะไรจึงจะพอดี ปัญญามาจัดการ ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว มันจัดการไม่ได้ พอรู้แล้ว ก็จัดได้ถูกต้อง ก็จัด ก็ปรับ ก็แก้ ตะล่อมจนกระทั่งว่าเรื่องศีล ที่สัมพันธ์เน้นชัดทางด้านกายภาพ รวมทั้งก็คือภายนอกสัมพันธ์กับโลกและชีวิตทั่วไปในสังคม แล้วก็เรื่องจิตใจเนี่ย มันเข้าสู่แนวทาง ท่านเรียกว่า เกิดเป็น มัชฌิมา ขึ้นมา เป็นทางสายกลางพอดี ด้วยปัญญาตัวนี้ เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฐิ เป็นต้น ปัญญาก็เริ่มด้วยสัมมาทิฐิ ความเห็นถูกต้อง พอตัวความเห็นถูกต้อง ปัญญาเห็นชอบเข้ามา แล้วก็จัด ปรับ ให้ศีล สมาธิ มันเข้าสู่แนวทางที่ถูกต้อง เข้าสู่วิถีพุทธ ปัญญาเป็นตัวจัด ตัวปรับ มีพุทธพจน์หนึ่ง ทรงอุปมาว่า เหมือนกับเราสร้างเรือนที่มียอด ทีนี้องค์ประกอบต่างๆก็สร้างกันขึ้นไป จนกระทั่งว่าเกือบจะเสร็จอยู่แล้ว ขาดแต่ยอดเดียว ก็ปรากฏว่าชิ้นโน้นก็ยังโด่ไปตรงโนนโด่ไปตรงนี้ เลื่อนลอยบ้าง เกะกะกันไป พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า ยอดลงครอบเมื่อไหร่ ทุกอย่างลงตัว เปรียบเหมือนกับว่า องค์ประกอบต่างๆ ในการปฏิบัติธรรมเนี่ย ปัญญามาเมื่อไหร ครบถ้วน ก็คือยอดของมันครอบลงไป ทุกอย่างเข้าที่หมด เพราะฉะนั้นปัญญาจึงเป็นตัวสำคัญ ในพระพุทธศาสนา มีศีล สมาธิ ก็ต้องมามีปัญญา โรงเรียนวิถีพุทธมองในแง่นี้ ก็จะต้องก้าวไปให้ถึงปัญญาให้ได้ อย่าไปหยุดอยู่แค่ศีล สมาธิ ไม่พอแน่นอน เพราะตัวคนที่จะทำให้เด็ดขาด ให้บรรลุผล แม้แต่พระพุทธเจ้านั้น ก็สำเร็จด้วยปัญญา ปัญญาที่ชื่อว่าโพธิ พัฒนาจิตใจไปได้สูงแค่ไหน ไปเป็นผู้ได้ฌาน ได้สมาบัติ เก่งกาจที่สุดเลย แล้วทางด้านคุณธรรมก็ได้พรหมวิหาร 4 ได้เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นไง จบ ไปเป็นพระพรหม ก็สูง พรหม แปลว่าผู้สูง ผู้ประเสริฐ แต่เป็นพุทธะไม่ได้ เมตตา กรุณา จิตใจ พฤติกรรม ศีล ต้องมีปัญญามาเป็นตัวจัดหลักให้ลงตัว แล้วจึงจะเป็นพุทธะได้ แล้วโรงเรียนวิถีพุทธในแง่นี้ก็ต้อง อย่างที่กล่าวแล้ว เน้นว่าต้องให้ปัญญา แล้วจะต้องทำปัญญานี้ให้เด่นชัดกว่า แล้วเป็นปัญญาชนิดที่มันบูรณาการกับศีล สมาธิ ได้ ทำให้ชีวิตของเราดีงาม เป็นไปเพื่อเกื้อกูล สร้างสรรค์ ทุกอย่างลงตัวหมด ปัญญาที่ทำให้ทุกอย่างลงตัว ก็เป็นระบบที่เราเรียกว่า ไตรสิกขา พอไตรสิกขา มีศีล มีสมาธิ พร้อมทั้งปัญญา ก็ดำเนินไปในวิถีทางนี้ ก็เป็นโรงเรียนวิถีพุทธ ทีนี้โรงเรียนวิถีพุทธนี้ ก็ทำหน้าที่ถูกต้องตามหลักของมนุษย์ เพราะว่ามนุษย์นี้ ทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นสัตว์ที่ต้องศึกษา เราจะใช้ศัพท์เก่าๆ ก็ได้ เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก เป็นสัตว์ที่ต้องหัด เป็นสัตว์ที่ต้องพัฒนา เป็นสัตว์ที่ต้องเรียนรู้ ก็คือ ต้องศึกษา นั่นเอง ไม่เหมือนสัตว์ทั้งหลาย แม้แต่ที่เราพูดกันว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ความจริงก็ถ้ามองแล้วก็เป็นการมองแยกส่วน ไม่ถูก ไม่พอ เพราะว่าเป็นสัตว์สังคม แต่สัตว์สังคมที่ชื่อมนุษย์นี้ ไม่เหมือนสัตว์สังคมชนิดอื่น ไม่เหมือนผึ้ง เหมือนมด เป็นต้น สัตว์พวกนั้นเหมือนกับมาในกฏเกณฑ์กติกาที่มันเป็นไปโดยสัญชาติญาณ เกิดมาก็เข้าอยู่ร่วมสังคม ปฏิบัติหน้าที่ แบ่งงานกันทำ โดยสัญชาติญาณ ทำกันไปจนกระทั่งตาย ก็อยู่อย่างนั้น มันก็เป็นไปตามวิถีของมันที่แน่นอน ตายตัว แต่มนุษย์นี่ไม่ใช่สัตว์สังคมแบบนั้น มนุษย์เป็นสัตว์สังคมชนิดพิเศษ ที่ว่าลึกลงไปเป็นสัตว์ที่ต้องศึกษา พอมนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องศึกษานี้ มนุษย์ก็เป็นสัตว์ที่ศึกษาโดยสัมพันธ์กับสังคม ในเชิงที่เป็นเหตุปัจจัยแก่กัน มนุษย์แต่ละคนเป็นปัจจัยแก่สังคมได้ สังคมเป็นปัจจัยแก่มนุษย์ได้ ทั้งนี้บนฐานแห่งความจริงของกฏธรรมชาติ นี่มันเลยไปถึงโน่น ไม่ได้อยู่แค่สังคม ไปถึงความจริงของกฎธรรมชาติ ฐานอยู่ตรงนั้น มนุษย์เรานี่เมื่อมีการศึกษา หรือไม่มีการศึกษา ความยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลง ต่างจากสัตว์ทั้งหลาย ที่ของของมันมายังไงก็ไปอย่างนั้น แต่ว่าสัตว์มนุษย์นี้เป็นสัตว์สังคมชนิดพิเศษที่มีการศึกษาได้ เมื่อมีการศึกษาได้ แล้วก็อาจจะไม่มีการศึกษา ถ้าหากว่ามีการศึกษาดี ก็รู้จักที่จะได้ประโยชน์จากสังคมที่ตนอยู่ร่วม ได้ประโยชน์ ได้สิ่งที่ดีงาม ถูกต้อง เกื้อกูลกับชีวิตของตัวเอง แล้วก็สามารถเอื้อประโยชน์ต่อสังคมด้วย แต่ว่าถ้าไม่มีการศึกษา มนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมนี้ อาจจะกลายเป็นว่าได้รับผลร้ายจากสังคม แล้วก็กลายเป็นผู้เบียดเบียนตน แล้วก็เบียดเบียนสังคม ทำร้ายสังคมไปเลย เพราะฉะนั้นไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่น เราจะไปเปรียบเหมือนสัตว์สังคมชนิดอื่น ไม่ได้ ในแง่นี้แล้ว มนุษย์เท่ากับมีความเป็นอิสระมากกว่าสัตว์อื่น ที่นี้การที่เป็นอิสระนี้ มันโยงไปหาฐานสำคัญก็คือ การเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ มนุษย์มีหน้าที่ประจำตัวทุกคนก็คือ ต้องศึกษา ในเมื่อมนุษย์ศึกษาไปทั้งๆที่อยู่ร่วมในสังคม แต่เมื่อใดมนุษย์เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ เมื่อนั้นมนุษย์สามารถเป็นอิสระจากสังคมทันที มนุษย์เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ อิสระจากสังคม กลับมาให้สติปัญญากับสังคม บอกแนวทางกับสังคม อาจจะเปลี่ยนแนวทาง แก้ไข ผันแปรทิศทางสังคมใหม่เลย เพราะฉะนั้นมนุษย์นี่เป็นผู้ที่จัดการกับสังคมได้ ไม่ใช่เป็นผู้ถูกหล่อหลอมจากสังคนเท่านั้น แล้วมนุษย์ก็มีอย่างนี้ มนุษย์ที่มีการศึกษามี โยนิโสนมสิการ เป็นจุดเชื่อม ก็สามารถทำให้วิถีของสังคมเปลี่ยนไป ทำให้ประวัติศาสตร์เริ่มยุคกันใหม่ อะไรต่ออะไรเนี่ย เป็นมาอยู่เสมอ เรื่อยมาเลย เรื่องของมนุษย์นี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีการศึกษา แล้วก็เข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ ที่จะทำให้เป็นอิสระ เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมา ก็พยายามให้ทุกคนได้ศึกษา ก็คือฝึกฝนพัฒนาตัวเองเพื่อเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ รู้โลก ชีวิต จริงจัง แล้วก็จะบรรลุจุดหมายของชีวิต โดยไม่ต้องขึ้นกับสังคม แล้วก็มาเอื้อกับสังคมอีกทีหนึ่ง คำสอนที่พระพุทธเจ้าคือสอนให้คนศึกษานี่ คนไหนพยายามไป ก็มีทางที่จะบรรลุอิสรภาพ หรือจุดหมายนี้ ในทุกยุคทุกสมัย ทุกกาล ทุกเวลา ไปได้เรื่อย แล้วแต่ตัวปฏิบัติ แต่ทีนี้ พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่งก็คือ เราต้องการให้มนุษย์จำนวนมาก ส่วนใหญ่ คือทั้งสังคมนี้ได้ประโยชน์ เราก็เลยจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาเป็นพิเศษ คือจัดระบบกระบวนการต่างๆทางสังคม เอื้อต่อการที่จะให้ทุกคนเนี่ยได้ศึกษา อันนี้เรามาเรียกการศึกษาในความหมายปัจจุบันเป็นทำนองนี้ กลายเป็นกิจกรรมของสังคม ซึ่งที่จริง นักการศึกษาที่เป็นเนื้อแท้ก็คือกิจกรรมของชีวิตของแต่ละคน เป็นหน้าที่ของทุกชีวิต อันนี้มองจุดนี้เป็นจุดที่สำคัญ ก็คือว่าถ้ามองที่บุคคลแล้ว มีบุคคลที่สามารถจะบรรลุจุดหมาย เช่นบรรลุความเป็นอิสระ เข้าถึงความจริงของธรรมชาติได้ ตลอดทุกเวลาในทุกยุคทุกสมัยเลย ในเมื่อเข้าถึงความรู้หรือปัญญานั้น แต่สำหรับทางสังคมแล้ว ไม่เหมือนกัน อย่างพระพุทธเจ้าสอนใจ คนที่ปฏิบัติ ก็บรรลุได้ แต่ว่าสำหรับสังคมนี้ โดยรวมๆแล้ว มันค่อยๆก้าวไป อาจจะก้าวไปอย่างอุ้ยอ้าย หรือบางทีก้าวไปแล้ว บางสมัยก็ถอยหลัง ทีนี้เรามามองดูยังสังคมไทยของเรา เรามองว่า เรานับถือพระพุทธศาสนา นับถือพระพุทธศาสนาก็คือเข้าสู่ไตรสิกขา เราก้าวไปได้แค่ไหนในไตรสิกขา มองในแง่รวมนะ มองสังคม ถ้าไม่ใช่มองบุคคล แต่มองส่วนบุคคลเขาเป็นอิสระไปแล้ว ทีนี้มองในแง่สังคม อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ การที่เรามีโรงเรียนวิถีพุทธนี้ เรากำลังดำเนินงานในขั้นนี้ ไม่ใช่แค่ขั้นการศึกษาของบุคคล แต่เรากำลังจะช่วยให้สังคมทั้งหมดหรือทุกคนเนี่ยได้ศึกษา สิ่งสำคัญก็คือการจัดปัจจัยเกื้อกูลต่างๆให้แก่เขา เราจึงได้มีหลักการต่างๆเข้ามา ที่วางเป็นระบบ พื้นฐานของไตรสิกขา มีอะไรอีก ต้องมีว่า การนำเข้าสู่วิถีพุทธ ไตรสิกขา นั้น ก็ยังมีผงค์ประกอบ โดยเฉพาะปัจจัยแห่งสัมมาทิฐิ ต้องมีปัจจัยภายนอกปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกก็ ปะ-ระ-โต-โค-สะ เสียงจากผู้อื่น คำบอกเล่ากล่าวสอน เป็นต้น โดยเฉพาะที่เป็นกัลยาณมิตร แล้วสอง องค์ประกอบภายในก็ โยนิโสนมสิการ เป็นตัวแกน แล้วก็มีองค์ประกอบอื่นๆ ต่อไปอีก แต่ว่าในงาของสังคมการศึกษาที่มาพูดถึงนี้ จึงมาเน้นข้อที่หนึ่ง ข้อ ปะ-ระ-โต-โค-สะ ว่าทำยังไงจะจัดกัลยาณมิตรขึ้นมาได้ ให้กัลยาณมิตรไปช่วยกระตุ้น ไปเอื้อโอกาส ไปจัดสรรปัจจัยแวดล้อม ที่จะตะล่อม จะเกื้อกูลให้คนที่เขามีหน้าที่ศึกษาแต่ละคนเนี่ย ได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองก้าวไปในไตรสิกขาได้ ตรงนี้ก็คือหน้าที่การงานของเราที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นเรื่องของการศึกษาที่เราเรียกว่าสำหรับมวลชน หรืออะไรอย่างนี้ ที่เรามาจัดเป็นโรงเรียน อย่างโรงเรียนวิถีพุทธนี้ จึงต้องมาดูกันที่ขั้นนี้ เราจึงต้องมาชัดเจนในเรื่องของหลักการ ในเรื่องของระบบ ระบบไตรสิกขานี่คืออะไร เป็นยังไง บูรณาการกันอย่างไร ฐานเริ่มจากอะไร จุดไหน ชัดแล้วก็จึงจะเดินหน้าไปได้ เรื่องการศึกษาสำหรับมวลชนหรือสังคม ก็จึงต้องไปร่วมกับสังคม เรา นอกจากว่าจัดที่ตัวการศึกษา ที่เรามองด้านเดียวแล้ว ที่จริงต้องมองทั้งสังคม กระบวนการของสังคมทั้งหมดนั้นที่จริงในแง่หนึ่งก็จัดเพื่อการศึกษานี้ เรามีวัฒนธรรม เมื่อเป็นสังคมแล้ว เราก็จะบอกว่าสังคมที่เจริญ ต้องมีวัฒนธรรม พอมีวัฒนธรรรม วัฒนธรรมก็คือ ลักษณะการดำเนินชีวิตหรือวิถีชีวิตของมนุษย์ที่อยู่ตัวในระดับหนึ่ง เหมือนกับเคยชินกันมา ทางพระเรียกว่าจัดเข้าทางวินัย แต่เป็นวินัยหรือกฎหมายชนิดที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร วัฒนธรรมก็ทำนองเดียวกัน เป็นแบบแผนของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสังคมนั้นที่ยอมรับกันแล้ว จนกระทั่งว่า เหมือนกับมาบังคับกลายๆว่าคนที่อยู่ในสังคมนี้ จะต้องดำเนินชีวิตอย่างนี้ เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ทางพระเรียกว่าเป็นวินัย เรามีวินัย ทีนี้วินัยที่เป็นวัฒนธรรมนี้จะมีความเข้มแข็งแค่ไหน นี่แหละ ตอนนี้ก็คือหน้าที่ส่วนหนึ่งของการศึกษา หมายความว่า วัฒนธรรมนี่เอง เป็นองค์ประกอบสำคัญในด้านกัลยาณมิตร ที่เราจัดสภาพแวดล้อมต่างๆ ความเป็นอยู่ให้เอื้อต่อการที่เขาจะเจริญในการศึกษา หรือไตรสิกขา เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมไทย ถ้าดูไปแล้ว การที่จะสร้างแบบแผนวิถีการดำเนินชีวิตให้คนไทยเข้าไปใน ทาน ศีล ภาวนา เข้าไปในไตรสิกขาได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นการที่มีการจัดโรงเรียนวิถีพุทธ แม้แต่มองในแง่วัฒนธรรม คือมองความเป็นพุทธในแง่ว่าไปบำเพ็ญทาน ตักบาตร ไหว้พระ ไปสวดมนต์ อะไรพวกนี้ เป็นต้น นี่มองในแง่วิถีชีวิต ที่จริงก็คือมองในแง่รูปแบบวัฒนธรรม แม้แต่มองในแง่นี้ก็น่าอนุโมทนา ก็ถือว่าเป็นฐานที่จะเริ่ม แต่ว่าเราจะหยุดแค่นี้ไม่ได้ อันนี้เป็นฐาน คนเราจะมาอยู่กับฐานเท่านั้นได้ยังไง ก็คือว่า วัฒนธรรมนี้เป็นพื้นฐาน เป็นสภาพแวดล้อม เป็นตัวเกื้อกูล เป็นวินัยแล้ว วินัยก็คือสภาพเอื้อโอกาส การจัดสรรโอกาส วินัยไม่ได้เป็นความหมายบังคับ ใช่ไหม แต่วินัยนั้นในทางพุทธศาสนา คือการนำไปให้วิเศษ ก็คือการจัดสรรสภาพแวดล้อม ระบบการดำเนินชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ให้มันเอื้อต่อการที่จะปฏิบัติ ดำเนินชีวิต ทำกิจการให้ก้าวไปสู่จุดหมาย พอมีวินัยแล้ว พระสงฆ์ก็บำเพ็ญสมณธรรมได้สะดวก สังคมมีวัฒนธรรมที่เอื้อแล้ว ต่อการก้าวไปในคุณความดี ต้องการอะไร เราต้องการให้มนุษย์ของเราก้าวไปในไตรสิกขา แล้วก็จัดวางระบบวิถีวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการก้าวไปในไตรสิกขา เพราะฉะนั้นหน้าที่สำคัญของโรงเรียนวิถีพุทธอันหนึ่งก็คือจะต้องจัดสรร สร้างสรรค์วัฒนธรรม วัฒนธรรมที่เป็นวิธีของชาวพุทธเนี่ย ซึ่งมันจะเอื้อ มันจะตะล่อม จนกระทั่งคนที่เกิดมาในวิถีนี้แล้ว มันแทบจะเดินไปได้เองส่วนหนึ่งเลย ในวิถีของไตรสิกขา มันเป็นอย่างนั้น ทีนี้ถ้าตอนนี้เราไม่เข้าใจวัฒนธรรม มันก็ไปติด ไปแยกส่วนเป็นความดี ความงาม อะไรต่ออะไร ส่วนนั้นส่วนนี้ มันมองไม่เห็นภาพรวมที่เป็นอยู่ ทั้งระบบ หรือเป็นกระบวนการก็แล้วแต่ ก็คือเรื่องของวัฒนธรรมว่า ให้เป็นวิถีชีวิต เป็นแบบแผน เป็นวินัย เป็นสภาพเอื้อ พอเรามีวัฒนธรรมที่ถูกต้อง เหมือนมีวินัยแล้ว ทีนี้การทำงานก็เข้าสู่ธรรมะได้สะดวก พอมีวินัยเป็นแบบแผนให้แล้ว การเดินตามธรรมได้สะดวก ตอนนี้ก็เดินตามธรรม ก็เข้าไตรสิกขา ทีนี้ธรรมะที่สำคัญนี่ วันนี้ตอนนี้อยากจะเน้น อยากจะฝากว่าตอนนี้ต้องเน้นมาก ธรรมมะในพุทธศาสนานั้น สอนไว้มากมาย ที่นี่เราคงไม่มีโอกาสมาพูดคุยกัน แต่ว่ามีแง่มุมที่อยากจะเน้น คือเราได้ยินคำสอนแบบหลักความจริง ว่าต้องปฏิบัติ ทำอย่างนี้นะ ว่าตนเป็นที่พึ่งของตน แทบทุกคนจำได้ อัตตาหิ อัตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน ก็บอกว่าพึ่งตนนะ เหมือนกับเป็นข้อปฏิบัติ แต่ว่าที่จริงอันนี้ ไม่ใช่ตัวสำคัญ ถ้าหยุดแค่นี้แล้วพุทธศาสนาไม่เข้าสู่วิถีชีวิตเท่าที่ควร ก็จะพึ่งตนยังไง ยังไม่มีความสามารถพึ่งตนได้ บอกว่าให้พี่งตน ก็ฉันพึ่งไม่ไหว เพราะฉะนั้น อันนี้เป็นการบอกหลักการเบื้องต้น ตั้งประเด็นขึ้นมา ตอนสำคัญอยู่ที่ตอนที่สอง พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสแค่ อัตตาหิ อัตโนนาโถ นะ บอกว่า อัตตาหิ อัตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน โก-หิ-นา-โส-ปะ-โร-สิ-ยา คือใครเล่าจะเป็นที่พึ่งแท้จริงได้ อัด-ตา-นา-หิ-สุ-ทัน-เต–นะ–นา –ถัง-นะ –ติ –ดุน-ละ-พัง มีตนที่ฝึกดีแล้วนั่นแหละได้ชื่อว่าหาที่พึ่งได้ไม่ยาก ตรงนี้คือข้อปฏิบัติ ตัวพระพุทธศาสตร์อยู่ที่นี่ ตัวพระพุทธศาสตร์สอนมากมายนั้น ต้องการตรงนี้ ให้รู้ว่าที่แท้ตนต้องพึ่งตนเอง จะพึ่งคนอื่น ท้ายที่สุดมันพึงไม่รอด แม้แต่เขาเอาข้าวมาป้อนใส่ปากแล้ว มันยังไม่ยอมเคี้ยว เคี้ยวไปแล้วยังไม่ยอมย่อย ใช่ไหม ก็ไปไม่รอด แต่ว่าทีนี้ข้อสำคัญที่พระพุทธเจ้าสอน ซึ่งอันนี้เป็นข้อปฏิบัติทางพุทธศาสนา เป็นธรรมะที่เราต้องการ ก็คือว่า ทำอย่างไรจะพึ่งตนได้ ธรรมะที่สอนนี่อยู่ที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้น ไตรสิกขา คืออันนี้ ไตรสิกขาที่สอนทั้งหมดนี้คือ คำสอนที่ว่าทำอย่างไรจะพึ่งตนเองได้ เท่านั้นเอง ไตรสิกขา นี้ เพราะฉะนั้นวิธีการหรือข้อปฏิบัติในการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ เรียนรู้ฝึกฝนฝึกหัดพัฒนาตนยังไงก็ตาม การศึกษาทั้งหมดนี้ก็คือการทำตนให้สามารถพึ่งตนได้ ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ นี่คือตัวพุทธศาสนา ที่เป็นภาคปฏิบัติการณ์ อันนี้จะต้องเน้น เวลานี้พุทธศาสนาในเมืองไทย ก้าวมา อาตมาภาพยกเป็นตัวอย่าง วันนี้เป็นตัวอย่างว่าเราก้าวไปไม่ได้เท่าที่ควร ตอนนี้โรงเรียนวิถีพุทธจะต้องนำสังคมไทยก้าวต่อไป ก้าวต่อไปถึงขั้นที่เอาธรรมะมาสู่การปฏิบัติ ในสภาพแวดล้อมของวินัย ต้องสร้างวินัย วิถีชีวิต วัฒนธรรมด้วย แล้วก็ต้องนำธรรมะสู่การปฏิบัติแท้จริง ไม่ใช่อยู่แค่หลักที่บอก ตนเป็นที่พึ่งของตน เธอก็พึ่งตนไปสิ แล้วก็ไม่ไปดูว่าเขาพึ่งตนไหวหรือเปล่า อันนั้นก็ตรงนี้ที่พระพุทธเจ้าสอน สอนนักสอนหนา เพียรพยายามไป ก็เพื่ออันนี้เท่านั้น เพื่อว่าทำอย่างไรให้เขาพึ่งตนเองได้ สอนทุกอย่างเลย เพราะฉะนั้นตัวพุทธศาสนาต้องจับให้ได้ โรงเรียนวิถีพุทธจะต้องทำหน้าที่อันนี้ อาตมาภาพจะยกอีกตัวอย่างหนึ่ง เราได้ยินกันนักหนา บอกว่าเวรไม่ระงับด้วยการจองเวร ตอนนี้ย้ำบ่อย เพราะว่าเขาต้องการสันติภาพ เพราะว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสันติภาพโดยตรง ฝรั่งเขาแปลเวรว่า hated ความเกลียด หรือเกลียดชัง ก็กลายเป็นว่าความชิงชังไม่ระงับด้วยความชิงชัง ความชิงชังระงับได้ด้วยการเลิกชิงชัง นี่แปลแบบฝรั่ง ของเรารู้กันง่าย เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร ท่านก็สอนไว้ เราก็ เอ้อ จริงๆ ทางปฏิบัติก็คือไม่จองเวร จบ ใช้ได้หรืออย่างนี้ อย่างนี้ก็ไปไม่ไหวล่ะ อาจจะถูกฆ่าตายหมด วันนั้นก็พูดไปทีหนึ่งแล้ว เขามาถามเรื่องสันติภาพ ก็เลยบอกว่า อ้าว เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร มันมีหลายแบบ
หนึ่ง เพราะว่าคนที่จะไปจองเวร มันถูกกำจัดสิ้น ไม่เหลือเลย ไม่รู้ ไม่มีโอกาสจะไปจองเวร หนึ่งนะ เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร เพราะมันเอาเวรอย่างรุนแรงจนกระทั่งไม่มีโอกาสจะไปจองเวรเลย
สอง ก็คือว่าพัฒนาคนที่รู้เข้าใจ อันนี้เป็นความจริงอย่างนี้นะ ให้เขาพัฒนาความสามารถที่จะทำให้ไม่ต้องไปจองเวร เช่นว่า ชนะได้โดยไม่ต้องจองเวร เอาชนะด้วยความดี เป็นต้น หรือทำให้เขาทำอะไรเราไม่ได้ เขาต้องการทำร้าย เรามีความสามารถจนกระทั่งเขาทำอะไรไม่ได้
ขั้นที่สาม ก็คือว่าทำให้ไม่มีการก่อเวรกันอีกเลย แล้วถ้าทำได้ถึงขั้นที่สามนี่ก็เก่งมาก แต่ขั้นที่สองนี่ให้ได้ก่อน
ทีนี้ในคำสอนในพระพุทธศาสนา เน้นมากนะข้อสองเนี่ย คือทำอย่างไรจะได้ไม่ต้องจองเวร หรือทำอย่างไรจึงทำให้เขาทำเวรไม่สำเร็จ อันนี้มีแม้แต่ในคำสอนระดับชาดก แม้แต่ชาดกที่ถือว่าเลิศทางปัญญา มโหสถชาดก ก็เพื่ออันนี้ คือทำยังไงจะให้บรรลุจุดหมาย คือความเป็นอยู่ดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย โดยไม่ต้องไปจองเวร แล้วพระโคมโหสถก็คือต้องมีความสามารถเหนือกว่าฝ่ายเขาทำเวรเยอะ อย่าเรียกทำเวรเลย เดี๋ยวไปสับสน เรียกก่อเวร ฝ่ายที่เขาก่อเวร เขาดุร้าย เขาใช้กำลังกันต่างๆ เนี่ย ฝ่ายที่จะไม่จองเวรต้องเก่งกว่านั้นเป็นสิบๆเท่า คนที่ไม่ต้องจองเวร เริ่มแต่ชนะโดยไม่ต้องจองเวรเนี่ย จะต้องเก่งกว่าฝ่ายที่ก่อเวรอย่างมากมายมหาศาล นี่คือเรื่องที่พุทธศาสนาเอาใจใส่ว่า ทำยังไงจะพัฒนาคนให้มีความสามารถอันนี้ แล้วชาวพุทธ ขออภัย ไม่เคยคิดเลย อยู่แค่ว่า พระพุทธเจ้าบอกว่า เอ้อ เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร ทำเวรหรือก่อเวรมา เราก็ไม่จอง จบใช่ไหม พอดีไม่ได้อะไร ดีไม่ดีก็ตายเปล่า อันนี้ทำไมพระพุทธเจ้า ขออภัยใช้คำแบบชาวบ้าน อุตส่าห์สอนมากมายเพื่อให้เราพัฒนา แล้วทำไมไม่ทำ ชาดกตั้งหลายเรื่อง อาตมาจะยกเรื่องอื่นๆก็ได้ เวลาไม่พอ เอามโหสถชาดก ลองไปอ่านดู ก็คือการที่ว่าฝ่ายหนึ่งเขาถึงกับคขั้นประเทศชาติเลย เขายกทัพมา จะมาทำลาย จะมาแย่งชิงความเป็นใหญ่ จะเอาทรัพย์สมบัติไป มโหสถก็ต้องคิดว่า ทำยังไงจะไม่ทำร้ายเขา แล้วเราก็จะอยู่ดี ประชาชนก็ไม่เดือนร้อน ถ้าพูดกันง่ายๆ คือทำไงจะชนะเขาโดยไม่ต้องทำร้ายเขา แล้วในที่สุดก็ทำให้เขายอม นอกจากยอมแล้ว เขายังมีไมตรีด้วยกันในความสงบสุข มีสันติภาพ นี่คือสันติภาพที่แท้จริง ถ้าเอาหลักพุทธศาสนามาใช้ แล้วก็สร้างสันติภาพได้ เวลานี้พูดกันเรื่องสันติภาพๆ เราลองเอาหลักพุทธศาสนามาใช้ ใช้ได้ทันที เพราะฉะนั้นคนที่จะสร้างสันติภาพ จะต้องมีความสามารถมากกว่าคนที่ก่อสงครามเป็นสิบๆเท่า แต่มโหสถเก่งจริงๆ ต้องเก่งจนกระทั่งว่าฝ่ายนั้นจะใช้กำลังรุนแรงยังไง ทำร้ายไม่สำเร็จเลย แล้วท่านก็ทำให้เขาเห็นว่าท่านจะทำยังไงเขาก็ได้ แต่ท่านไม่ทำ ในที่สุด พูดง่ายๆ สรุปว่าท่านไปเอามเหสี โอรส ธิดา ของศัตรู กษัตริย์ของฝ่ายที่ยกมารุก มาถึงนี่แล้ว ไม่รู้ตัว ท่านไปอ้อมหลัง เอาลูกบุตร ภรรยา มเหสี ไปเก็บหมดแล้ว อยู่ในเงื้อมมือเลย ใช่ไหม ฝ่ายนี้ไม่มีทางเลย ต้องยอมอย่างเดียว แต่ท่านไม่เอาอะไร ก็สันติภาพ อยู่ด้วยกันสงบสุข แล้วชาดกอื่นๆ ก็อย่างเนี่ย ในพุทธศาสนาจะสอนอย่างนี้มากมาย นี่คือตัวข้อปฏิบัติทางธรรมะที่แท้จริง เราสร้างวินัย วัฒนธรรม เอื้อมา นี่เอื้อแล้ว ถ้าไม่เอื้อ ต้องมีวิธีการสร้างสันติภาพ เพราะฉะนั้นคนที่จะสร้างสันติภาพ ย้ำอีกทีว่าต้องเก่งจริงๆ ขนาดสามารถมีปัญญาเหนือกว่าฝ่ายที่เขาก่อเวรเป็นสิบๆเท่า จึงจะทำการณ์สำเร็จ เพราะฉะนั้นการที่เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆไม่จองเวร มันต้องพัฒนาความสามารถที่จะทำอย่างไรจึงจะไม่ต้องจองเวร ทำอย่างไรจึงจะไม่มีการก่อเวร อันนี้ต้องคิดกันให้มาก ชาวพุทธต้องคิดอันนี้ นี่ก็คือธรรมะภาคปฎิบัติที่เป็นภารกิจของโรงเรียนวิถีพุทธ ที่โรงเรียนวิถีพุทธจะต้องไปคิดเรื่องอย่างนี้ ทำนองนี้ นี่อาตมาภาพยกตัวอย่างเท่านั้น เช่น ตนเป็นที่พึ่งของตน ต้องคิดว่าทำยังไงเขาจึงจะพึ่งตนได้ แล้วไปเอาตัวนี้ ตัวสำคัญเลย แล้วคำสอนในพุทธศาสนาจะมีชีวิตชีวาขึ้นมาเลย แล้วเราก็จะเห็นเลยว่า อ๋อ มันเป็นอย่างนี้เอง เอาให้ได้อย่างนี้ แล้วก็สังคมเราจะก้าวไป สังคมไทยที่ก้าวมาในพุทธศาสนาได้แค่นี้ ควรจะก้าวต่อไปอีก ก้าวไปในทางระดับปัญญาแล้ว อาตมาภาพก็พูดเน้นบ่อยๆว่าสังคมไทยเราก้าวมาในพระพุทธศาสนา จนกระทั่งสร้างวิถีชีวิตเป็นแบบแผนวัฒนธรรมไทย เป็นวัฒนธรรมแห่งเมตตาเนี่ย ดีแสนดีแล้ว แต่ด้านวัฒนธรรมแสวงปัญญานี้เราอ่อนเหลือเกิน ทั้งๆที่เป็นตัวแท้ที่จะให้บรรลุจุดหมายของพุทธศาสนา เรากลับไม่ไป ทีนี้โรงเรียนวิถีพุทธนี้ บอกแล้วหน้าที่โดยตรง ต้องมาพาสังคมไทยก้าวไปสู่วัฒนธรรมแห่งปัญญาให้ได้ แล้วเราก็จะครบทั้งสองด้าน ส่วนด้านศีลอยู่ด้วยในตัวแล้ววัฒนธรรม วัฒนธรรมพื้นฐาน การอยู่ร่วมกัน ตอนนี้ก็จะได้ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา
แล้วเวลามืดค่ำแล้ว ก็ขอฝากเป็นเรื่องสุดท้ายก็แล้วกัน เมื่อกี้พูดถึง หนึ่ง วินัย นี่เป็นพื้นฐานวัฒนธรรมการสร้างสรรค์จัดระบบสังคม เป็นต้น วิถีชีวิตให้มันเอื้อ แล้วก็ตัวธรรมะ ภาคปฏิบัติการ การที่จะทำอย่างไรมันถึงจะเป็นผลตามหลักนั้น อย่างว่าไฟมันร้อน แล้วจะทำยังไงจึงหลีกเลี่ยงโทษจากไฟ แล้วนำไฟไปใช้ประโยชน์ได้ เรื่องนี้ศึกษากันแทบไม่จบ ว่าจะเอาไฟไปใช้ประโยชน์ยังไงเนี่ย เรียนเข้าไปเถอะ ก็ไปได้เรื่อยๆ เอาละ ทีนี่อีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า ในขั้นจุดหมาย เพราะว่าเราทำอะไรก็ต้องมีจุดหมาย จุดหมายของพระพุทธศาสนานั้น เราพูดได้เลยว่าสูงสุด พูดคำเดียวเด็ดขาดไปเลย จบ นิพพาน แต่ว่ามันไม่จบแค่นี้ เพราะจุดหมายนั้นเป็นจุดหมายของแต่ละคน การศึกษาเรื่องไตรสิกขาก็เพื่อบรรลุจุดหมายนี้ นิพพาน หลุดพ้น นิพพาน แต่ว่าพุทธศาสนามีจุดหมายเพื่อสังคมเพื่อโลก ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ทั่วไปหมดเลยในพระไตรปิฎก ตั้งแต่ว่าพระที่ท่านบรรลุจุดหมายนิพพาน แล้วพระพุทธเจ้าส่งไปประกาศพระศาสนา ??? จา-ริ-กะ พะ-หุ-ชะ-นะ-หิ-ตา-ยะ พะ-หุ-ชะ-นะ-สุ-ขา-ยะ-โล-กา-นุ-กัม-ปา-ยะ นี่คือจุดหมายเพื่อโลก เพราะฉะนั้น 2 อันนี้จะคู่กัน ถ้าบุคคลนิพพานก็พร้อมจะทำงานเพื่อ พะ-หุ-ชะ-นะ-หิ-ตา-ยะ พะ-หุ-ชะ-นะ-สุ-ขา-ยะ-โล-กา-นุ-กัม-ปา-ยะ เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก แล้ว 2 อันนี้จะต้องประสานกลมกลืนกัน ไม่ใช่เป็นระบบขัดแย้งอย่างที่เป็นอยู่ คนได้ประโยชน์ สังคมเสีย แต่ว่าในการศึกษาแบบพระพุทธศาสนา บุคคลยิ่งบรรลุจุดหมายก้าวไปสู่การพัฒนา ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้โลกเป็นสุขมากเท่านั้น แล้วเขาจะทำงาน แล้วพร้อมที่จะทำงานเพื่อประโยชน์สุขของชาวโลกด้วย เพราะฉะนั้นพระอรหันต์เหล่านั้น ซึ่งบรรลุนิพพาน จึงไม่ต้องมีอะไรกังวลเลย ไปทำงานเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลกอย่างเดียว ดังนั้น 2 อันนี้คู่กัน จุดหมายของพระพุทธศาสนา เราพูดในที่นี้ว่ามี 2 ด้าน
หนึ่ง จุดหมายเพื่อบุคคล คือ นิพพาน
สอง จุดหมายเพื่อโลก คือ พะ-หุ-ชะ-นะ-หิ-ตา-ยะ พะ-หุ-ชะ-นะ-สุ-ขา-ยะ-โล-กา-นุ-กัม-ปา-ยะ เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก แล้วผู้ใดนิพพาน ผู้นั้นก็ยิ่งพร้อมที่จะบำเพ็ญเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก เพราะว่าเป็นผู้เต็ม ผู้อิ่ม ผู้เป็นสุข ไม่มีอะไรต้องทำ ต้องเอาเพื่อตัวเอง เมื่อไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเอง แม้แต่ความสุขก็ไม่ต้องหา เพราะมันอยู่กับตัว ก็หมายความว่าพระอรหันต์ ท่านนิพพานหมดทุกข์แล้ว มีแต่ความสุขประจำเต็มอยู่ในตัว แล้วท่านจะไปหาความสุขอะไร ท่านไม่ต้องไปหาความสุข ท่านมีความสุขแล้ว ท่านก็ทำเพื่อผู้อื่นได้เต็มที่ เพราะฉะนั้นคตินี้จะต้องให้เห็นจุดหมายที่ประสานเอื้อเกื้อกูลต่อกัน ระหว่างจุดหมายชีวิตของบุคคลกับจุดหมายเพื่อโลก แล้วอันนี้จะเป็นการศึกษาที่พุทธศาสนาจะช่วยโลกได้เต็มที่ บรรลุสันติภาพ สันติสุขที่แท้จริง
วันนี้อาตมาภาพก็ได้พูดมายืดยาวแล้ว เดี๋ยวมืดค่ำแล้ว เพราะฉะนั้นก็ควรได้ตัดตอนยุติ ก็ถือว่าเป็นข้อที่ขอฝากไว้ที่เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างนี้จะสำเร็จด้วยการบูรณาการ ต้องใครครบ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วปัญญาเป็นตัวยอด อย่างที่กล่าวไว้ว่า สร้างเรือนยอด ต้องยอดลงเมื่อไหร่ จึงจะลงตัวทุกอย่าง จัดการให้สำเร็จผล วันนี้ก็ขออนุโมทนาต่อท่านรัฐมนตรี พร้อมทั้งคณะท่านผู้บริหาร ครู-อาจารย์ ทุกท่าน อีกครั้งหนึ่ง ว่าตอนนี้พื้นฐานของเราดีแล้ว เจตนาก็ดี แล้วก็ได้เคยทำงานมีประสบการณ์กันมา ความปรารถนาดีมีเมตตา ที่เป็นรู้ใจกันดีอยู่แล้วเนี่ย แล้วเราก็มีพื้นทางสังคมวัฒนธรรมของเราเอื้ออยู่ด้วยแล้ว เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ให้หมด แล้วเราก็ก้าวไปศึกษาด้วยตนเอง ให้ชัดเจนในหลักการของพระพุทธศาสนา แล้วนำมาสู่การปฏิบัติให้เกิดผล สู่จุดมุ่งหมายที่จะให้ชีวิตของเด็กเป็นชีวิตที่ดีงาม มีความสุข แล้วสังคมก็ร่มเย็นเป็นสุข ก็ต้องอนุโมทนา ในแง่ของการทำงานด้วยว่า ต้องขอพูดตรงๆ ท่านรัฐมนตรีมีความจริงจังมาก พร้อมทั้งคณะด้วย ว่าทำงานกันมีความมุ่งหมายจริง แต่ความมุ่งหมายที่แท้จริง จริงจัง แล้วก็ชัดเจนเนี่ย ก็จะนำไปสู่ความสำเร็จ แต่ความชัดเจนนี่มันจะต้องมีเรื่อยๆไป แล้วเราจะต้องหาความชัดเจนเพิ่มเรื่อยไป อันนี้ท่านเรียกว่าไม่ประมาท อย่างน้อยไม่ประมาทในการศึกษา อย่าไปนึกว่าเรารู้แล้ว เราพอแล้ว หาการศึกษา ศึกษาเรียนรู้เรื่อยไป ไม่ประมาทในการศึกษา อันนี้จะเป็นตัวสำคัญ ไม่ประมาทในกิจการทุกอย่าง จะนำไปสู่ความสำเร็จ เพราะเป็นตัวสติที่จะกระตุ้นเราให้ได้ใช้ปัญญาอย่างจริงจัง ก็อนุโมทนาทางทุกโรงเรียน ที่ได้ดำเนินกิจการงานกันมา ด้วยความตั้งใจดีต่อเด็ก ต่อสังคม ต่อประเทศชาติ ต่อชาวโลก แล้วท่านก็ได้ทำงานกันมา มาหลายๆปีก็มี แล้วก็อย่างน้อยก็บนฐานวัฒนธรรมไทยนี่แหละ เราก็เป็นโรงเรียนพุทธไปในตัว แต่ว่าตอนนี้เอาจริงๆจังๆสักที อย่างที่ว่า ยกขึ้นมาให้เด่น ให้ชัด แล้วก็มาทำกันให้เป็นระบบ ให้เป็นงานเป็นการ ก็ขอให้การเริ่มต้นที่ดีเนี่ย ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ว่าเราพร้อม เราชัด เรามั่นใจในกำลัง ก็จะเป็นการริเริ่มก้าวไปอย่างมั่นคงแข็งแรง เมื่อก้าวไปอย่างมั่นคงแข็งแรงแล้ว ก็จะก้าวหน้าไปสู่จุดหมายได้ดี ก็ขอให้กุศลเจตนาที่ตั้งขึ้นในจิตใจของทุกท่านนี้ มาประกอบคุณพระรัตนตรัย ที่จะได้นำพวกเราก้าวไปสู่ความเจริญงอกงาม ในการดำเนินชีวิตและกิจการทั้งหลาย ให้ก้าวหน้า บรรลุผลสำเร็จ สมความมุ่งหมาย แล้วขอทุกท่านจงเจริญด้วย จตุรพิธพรชัย เพื่อมีพลังพรั่งพร้อมที่จะทำงานนี้ ให้บรรลุจุดหมายเพื่อประโยชน์สุข แก่ชีวิต แก่ครอบครัว แก่สังคม ประเทศชาติ และแก่ชาวโลกทั้งหมด ตลอดกาลยืดยาวนาน อย่างมั่นคงยั่งยืนตลอดไปเทอญ