แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ที่อาตมาพูดไว้ว่าความหมายของความสุขเป็นการสนองความต้องการ เป็นความหมายที่ไม่ครอบคลุม ทำไมจึงไม่ครอบคลุม คือมันคลุมในระดับโลกียะ ทีนี้ความสุขมันเลยไปอีก มันมีความสุขในระดับโลกุตระ มันก็เลยยังมีอีก เพื่อให้ชัดก็เลยต้องพูดขั้นระดับของความสุข คือแบ่งตามประเภทของความต้องการ ก็แบ่งขั้นระดับของความสุข คือหนึ่ง-เป็นความสุขที่เกิดจากการสนองความต้องการที่เป็นอกุศล ก็ที่ว่าเมื่อกี้ก็คือ ความสุขจากการสนองตัณหา นี่อันที่หนึ่ง แล้วก็สอง ความสุขจากการได้สนองความต้องการหรือความอยากที่เป็นกุศล ก็คือความสุขแบบสนองฉันทะ แล้วก็ต่อไปอันที่สามเนี่ย จะเห็นว่ามันไม่เข้ากับความหมายที่ว่ามาเลย อันที่สามก็คือความสุขที่ไม่ต้องขึ้นต่อการสนองความอยากใดๆ ไม่ต้องขึ้นต่อการสนองตัณหา ไม่ต้องขึ้นต่อการสนองฉันทะ เป็นความสุขที่เป็นอิสระ ความสุขระดับนี้เป็นความสุขที่มีอยู่ในตัวเลย ถ้าเราต้องสนองก็หมายความว่าเหมือนกับยังไม่มีใช่ไหม ก็ต้องทำให้มีขึ้นมา ต้องหาบ้าง ต้องสร้างขึ้นมาบ้าง แต่ขั้นที่สามนี่ความสุขที่มีในตัว เป็นคุณสมบัติหนึ่ง ก็เลยไม่ต้องขึ้นต่อการสนอง แต่ว่าท่านที่ถึงขั้นนี้แล้วมีฉันทะอยู่เต็มที่ เพียงแต่ว่าความสุขของท่านไม่ต้องขึ้นกับการสนองฉันทะนั้น ต้องย้ำตรงนี้นะ
หนึ่ง-ความสุขที่เกิดจากการสนองตัณหา
สอง-ความสุขเกิดจากการสนองฉันทะ
สาม-ความสุขที่ไม่ขึ้นต่อการสนองทั้งตัณหาและฉันทะ โดยที่ผู้นั้นก็มีฉันทะอยู่เต็มเปี่ยม เพราะได้พัฒนาชีวิตมากว่าจะถึงขั้นนี้ มีแต่ฉันทะแล้ว ยกตัวอย่างพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านี่มีคุณสมบัติอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่าพุทธธรรม 18 ประการ 18 ประการ เราไม่ต้องพูดว่าอะไรบ้าง แต่เอาข้อที่ตรงในที่นี้ คือพระพุทธเจ้าทรงมีฉันทะไม่ลดถอยเลย คำบาลีว่า นัด-ถิ-ฉัน-ทะ-สะ-หา-นิ แปลว่าฉันทะนี่ไม่มีลดน้อยเลย ก็อยู่ในฉันทะที่บำเพ็ญพุทธกิจ แล้วก็แสดงเมตตากรุณา ใช่ไหม พระพุทธเจ้าไม่ต้องหยุดเลย 45 พรรษา เรียกภาษาชาวบ้านว่านอนกลางดินกินกลางทราย เดินไปตลอดวันตลอดคืน ไปทำเรียกว่าหน้าที่พระพุทธเจ้า จริงๆ ก็ไม่ใช่หน้าที่หรอก ทำด้วยความเต็มใจ พระองค์ก็ไปด้วยมหากรุณา ใช่ไหม กรุณาก็อยู่บนฉันทะนั่นเอง แล้วฉันทะก็คือการไปทำงานไปสอนไปอะไรต่ออะไร พระพุทธเจ้าไม่มีลดน้อยฉันทะ เพราะฉะนั้นเป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าเลยนะ ที่มีฉันทะเต็มเปี่ยมไม่มีลดน้อยเลย เป็นพุทธธรรมประการหนึ่งใน 18 ประการ พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย มีฉันทะเต็มที่ แต่ความสุขของท่านไม่ขึ้นกับการสนองฉันทะ คือท่านมีความสุขอยู่แล้วเป็นธรรมดาอย่างนั้น ในที่นี้ก็เป็นอันว่าอาตมาแบ่งความสุขให้ 3 ขั้น หรือ 3 ระดับนี้แล้ว ถ้าเราจะแยกสุข 3 ระดับเป็นภาษาง่ายๆ ใช้คำทำนองนี้เสนอไป ชัดไม่ชัดก็ลองไปช่วยหาคำมาให้ดียิ่งขึ้นก็ได้ คือมันมีสุขที่ต้องหา ก็ความสุขประเภทที่หนึ่ง ความสุขที่สนองตัณหาเป็นความสุขประเภทที่ต้องหา เพราะว่าสิ่งสนองผัสสะนี่มันเป็นวัตถุ มันอยู่ภายนอก ต้องไปหาเอา เป็นความสุขที่ต้องหา ทีนี้ประเภทที่สอง เป็นความสุขที่สร้างขึ้นได้ สร้างขึ้นเองได้ อยากเรียนอยากรู้อยากศึกษา อยากทำโน่นให้ดี ทำนี่ให้ดี ชื่นชมธรรมชาติอะไรต่างๆเนี่ย ก็เป็นความสุขที่สร้างเองได้ แล้วความสุขประเภทที่สามก็คือความสุขที่มีอยู่ทุกเวลา มีอยู่ประจำทุกเวลา ก็สุขไม่ต้องหา สุขที่สร้างเองได้ และสุขที่มีอยู่กับตัวอยู่ตลอดทุกเวลา ก็สุข 3 ประเภทนี้
ตอนนี้ก็ขอแทรกอันหนึ่ง มีพระสูตรหนึ่งเรียกว่า มา-คัน-ทะ-นะ-สูด ตรัสเรื่องเกี่ยวกับความสุข ความสุขที่ไปถึงขั้นสูงสุด ถึงนิพพานเลย พระพุทธเจ้าก็ตรัสทำนองอุปมายกตัวอย่างให้ฟังถึงการหาความสุขของคน ซึ่งแม้แต่ในชีวิตปกติของคนก็ยังมีการพัฒนาในด้านความสุขอยู่แล้ว ท่านยกตัวอย่างว่าเด็กเล็กๆ เกิดใหม่ อยู่ในวัยที่ยังไม่ลุกเดินด้วยซ้ำ เล่นสนุกแม้แต่มูตรครูดของตัวเอง ทีนี้พอเด็กโตขึ้นแล้ว คนโตสนุกไหมอย่างนั้น สุขไหมในการอย่างนั้น ไม่เลย เด็กโตขึ้นมาหน่อย 7 ขวบ 10 ขวบ 12 ขวบ อะไรเนี่ย ก็สนุกกับการเล่นของเล่นทั้งหลาย ตุ๊กตาบ้าง อะไร รถเล็กๆ รถไฟคันน้อยๆ ขบวนเล็กๆ อะไรต่างๆ เหล่านี้ เครื่องบินลำเล็กๆ ก็เครื่องเล่นทั้งหลาย ก็สนุกับของเล่นก็มีความสุขในการได้เล่นสิ่งเหล่านี้ ต่อมาเด็กนั้นก็โตขึ้นเป็นหนุ่มเป็นสาว ตอนนี้สนุกไหมกับของเล่นนั้น ไม่สนุกแล้ว จะเอามาให้ก็ไม่ชอบ ไม่เอา ไม่เห็นมีความสุขอะไร แต่สำหรับเด็กนั้นมีความสุขอย่างยิ่ง เป็นของจริงจัง ถ้าไปแย่งเขามาจะเป็นจะตายเลยนะ อย่างแม้แต่หมอนที่เขารักสุดชีวิตเนี่ย ดำปี๋แล้วยังรักของเขามาก แต่ว่าพอโตขึ้นมาแล้ว ไม่ได้มีความสุขอย่างนั้นอีกแล้ว หนุ่มสาวก็จะมีความสุขอีกประเภทหนึ่ง ในเรื่องรูป รส กลิ่นเสียง สัมผัส มาอีกขั้นหนึ่ง แล้วต่อไปก็จะมีความสุขที่พัฒนาต่อ ซึ่งคนที่พัฒนาไปในขั้นสูงขึ้นไปเนี่ย ก็จะมารับทราบ มองดู แล้วมีความรู้สึกต่อคนที่เขากำลังแสวงสุขแบบนั้นด้วยความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง เหมือนอย่างกับคนโต ผู้ใหญ่ ไปเห็นเด็กเล่นของเล่นมีความสุข ก็จะมีความรู้สึกของตนเองต่อเด็กที่เล่นอย่างนั้น ท่านก็เลยเทียบว่าความสุขมีการพัฒนาอย่างนี้ แล้วก็ยกตัวอย่างอันหนึ่ง คนเป็นโรคเรื้อน คนเป็นโรคเรื้อนก็คัน ก็เกาๆ ยิ่งเกาก็ยิ่งคัน ยิ่งคันก็ยิ่งเกา แล้วความสุขก็ได้จากการเกา เกาแล้วก็มีความสุข มีความสุขจากการเกา ยิ่งกว่านั้นยังอยากจะเอาตัวไปย่างไฟอีก แหม ให้มันสมใจอยาก มันไม่สบายเลย เอาตัวไปย่างไฟ ร้อนเหลือเกิน คนธรรมดาทนไม่ไหว เพราะว่านั่นมีความสุข เอาละ แปลว่าคนเป็นโรคเรื้อนนี่เขาเป็นโรคอยู่ แล้วเพราะเป็นโรคนั้นเขามีอาการที่คัน แล้วได้ความสุขจากการเกา แล้วก็จากการย่างตัว พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามพราหมณ์ที่พระองค์สนทนากัน บอกว่าเนี่ย ถ้าเกิดว่าคนนี้เขาได้พบหมอดี หมอมียาดี แล้วรักษาเขาจนหายจากโรคเรื้อนนั้น เขาก็ไม่คันไม่อะไรแล้ว แล้วเขายังอยากจะเกา หาความสุขจากการเกาที่คันไหม ยังอยากจะเอาตัวไปย่างไฟไหม พราหมณ์ก็บอกไม่หรอก มีแต่ตรงข้าม ตอนนี้ถ้าใครพาเขาไปหาไฟแล้วเขาจะหนีสุดชีวิตเลย ตรงข้ามเลย พระพุทธเจ้าก็ตรัสอุปมา เพราะความสุขก็อย่างนี้ ก็เป็นอันว่าในมนุษย์ระดับหนึ่งก็มีความสุขจากการเกาที่คัน แล้วมนุษย์ที่พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งก็จะมีความสุขจากการที่ไม่มีที่คันจะต้องเกา ทีนี้อันไหนจะเป็นความสุขแท้ แต่ว่าอันหนึ่งที่เป็นสาระตอนนี้ก็คือว่าสุขภาวะ โยมพูดถึงสุขภาวะ สุขภาพ อย่างคนที่ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์เนี่ย ไม่มีโรคอะไร ก็ถือเป็นความสุขไหม เป็นความสุข ถ้าไม่มีทุกข์ไม่มีอะไรระคายเสียดแทงเลย โรคนี่แปลว่าสิ่งที่เสียดแทง อาพาธแปลว่าบีบคั้น ไม่มีอะไรเสียดแทง ไม่มีอะไรบีบคั้นเนี่ย มันก็สมบูรณ์ ภาวะที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ทำหน้าที่ของอวัยวะทุกอย่างได้เต็มที่เลยนี่ก็ถือว่าเป็นสุขภาวะในตัว ในทางจิตใจก็คล้ายกันเหมือนกัน จิตใจที่ไม่มีอะไรระคายเคือง กระทบกระทั่ง เสียดแทงเลย เป็นจิตใจที่มีความสมบูรณ์ในตัว ก็เป็นสุขภาวะ เป็นความสุขชนิดหนึ่ง แต่ว่าเรายังจะพูดกันต่อไปในเรื่องนี้ เอาละ เอาเป็นว่าตอนนี้ก็พูดถึงเรื่องระดับของความสุข ซึ่งไปสัมผัสกับเรื่องความต้องการที่ว่ามา เมื่อพูดถึงขั้นระดับความสุขแล้ว ก็เลยไปพูดถึงประเภทของความสุข เรื่องประเภทของความสุขนี้ ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้มากมาย เช่นแห่งหนึ่งตรัสความสุขไว้ 13 คู่ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้ต้องการให้ไปสนใจอะไร เพราะว่าความ 13 คู่ แสดงว่าความสุขนี่สามารถแบ่งจำแนกได้เยอะแยะไปหมด แล้วความสุขที่เป็นประเภท 13 คู่เนี่ย ก็เป็นประเภทในขั้นเดียวกันบ้าง หรือว่าคาบเกี่ยวเกยกันบ้างในระดับต่างๆ เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น กา-ยิ-กะ-สุข กับ เจ-ตะ-ติ-กะ-สุข ความสุขทางกายเรียกว่า กา-ยิ-กะ-สุข ความสุขทางใจเรียกว่า เจ-ตะ-ติ-กะ-สุข นี่ก็คู่หนึ่งแล้ว แล้วก็เช่น สา-มิด-สะ-สุข มิ-รา-มิด-สะ-สุข ความสุขที่อาศัยอามิส ต้องอาศัยวัตถุสิ่งของที่จะเสพอย่างหนึ่ง แล้วความสุขที่ไม่ต้องขึ้นกับอามิส ไม่ต้องขึ้นกับสิ่งของอะไร ก็เรียกว่าเริ่มเป็นอิสระแล้ว อีกแบบหนึ่ง นี่ก็คู่หนึ่ง หรืออย่าง คิ-หิ-สุข กับ ปะ-ปา-ชิ-ตะ-สุข ความสุขของคฤหัสถ์ ความสุขของบรรพชิต อันนี้ก็คู่หนึ่ง หรือว่ากามสุข เนกขัมสุข นี่ก็คู่หนึ่ง คู่อย่างนี้ก็เป็นอันว่ามีเยอะแยะ พระพุทธเจ้าตรัสด้วยเห็นแง่มุมที่จะจำแนกแยกแยะกันให้แตกต่างเท่านั้น ไม่ได้ต้องการให้เป็นเรื่องหลักอะไรมากมาย เพราะว่าหลักจะอยู่ในสิ่งที่พูดกันไป แล้วบางแห่งนี่แบ่งสุขไปตั้ง 10 อย่าง ก็แบ่งได้เยอะแยะ ทีนี้เรากำลังพูดถึงหลักรวมๆ ทั่วไป ทีนี้เราก็มาดูประเภท ประเภทความสุขนี้ ว่าไปแล้วก็มีทั้งความสุขจากการเสพ จากการได้สนองผัสสะในเรื่องรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แล้วก็ความสุขทางสังคม การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ให้จิตมีเมตตา กรุณา เป็นต้น นี่ก็ความสุขทางทางสังคม แล้วความสุขกับธรรมชาติ การไปอยู่กับธรรมชาติ มีความชื่นชม มีความงามของสิ่งทั้งหลาย อย่างพระอรหันต์นี่ ในคัมภีร์มีที่ท่านกล่าวคาถาไว้ แสดงความสุขเวลาอยู่กับความสงัดกับธรรมชาติบนภูเขาอะไรต่างๆ อย่างพระมหากัสสปะท่านไปอยู่บนภูเขา ท่านก็กล่าวเป็นคาถา แสดงความชื่นชมธรรมชาติ อันนี้ก็มีอยู่ทั่วๆ ไป หรืออย่างพระกาฬุทายี นิมนต์พระพุทธเจ้าเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์ พรรณนาถิ่นพรรณนาทางเสด็จ เป็นคาถาพรรณนาธรรมชาติงดงาม เท่าไหร่อาตมาจำไม่แม่น 160 คาถาหรือไงเนี่ย พรรณนาถิ่นพรรณนาความงามของธรรมชาติ บนเส้นทางเสด็จ เพื่อจะนิมนต์พระพุทธเจ้าให้เสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์แล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงรับนิมนต์ คือพระอรหันต์จะชื่นชมมีความสุขกับเรื่องของธรรมชาติมาก อยู่กับธรรมชาติอะไรก็มีความสุข แล้วก็ความสุขที่สร้างขึ้นเองภายใน มีความสามารถที่จะสร้างเองได้ ความสุขที่ได้พัฒนาชีวิตนี่ก็จะมีความสุขไปด้วย โดยเฉพาะเกิดจากฉันทะนั่นเอง ในการศึกษา ในทางจริยธรรม จนกระทั่งว่าความสุขสุดท้ายก็คือความสุขในทางปัญญา แล้วความสุขที่เป็นอิสระ ความเป็นอิสรภาพที่สมบูรณ์ มันเยอะแยะไปหมด แต่อยากจะเน้น 3 อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสบ่อย ความสุขของมนุษย์ที่ตรัสบ่อยนี่ก็คือ หนึ่ง-เรื่องกามสุข เพราะอันนี้เกี่ยวข้องกับมนุษย์ส่วนใหญ่ แล้วมันก็เป็นปัญหาที่มนุษย์จะต้องแก้ จะต้องจัดการให้ถูกต้อง ก็เป็นสุขอย่างที่บอกแล้วว่าเป็นสุขสนองผัสสะอาศัยอามิสเป็น สา-มิส-สะ-สุข ความสุขอีก 2 อย่าง ก็คือความสุขทางสังคม ความสุขด้วยมิตรไมตรีจิต มิตรภาพ การอยู่ร่วมกันในสังคม ความมีเมตตา กรุณา ตั้งแต่ในบ้าน ความสุขกับคุณพ่อคุณแม่ที่เห็นลูกอยู่ดีมีสุข เวลาอธิบายเรื่องพรมวิหาร 4 เมตตา กรุณาเนี่ย ท่านจะยกเรื่องพ่อแม่เป็นหลัก เป็นตัวอย่าง อธิบายเริ่มที่พ่อแม่ เพราะธรรมชาติเอื้ออยู่แล้วให้พ่อแม่มีคุณธรรม โดยเฉพาะแม่ ท่านจะยกแม่เป็นหลักเลย เวลาอธิบายเรื่องเมตตากรุณาก็จะยกแม่ขึ้นมา เป็นตัวอย่างว่าแม่เนี่ยอยากให้ลูกมีความสุข เห็นลูกร่างกายสมบูรณ์ไม่เจ็บไม่ไข้ไม่ป่วย ก็สุขสบาย อยากให้ลูกสมบูรณ์แข็งแรงอยู่อย่างนี้ นี่เรียกว่ามีเมตตา ทีนี้พอลูกเจ็บไข้ได้ป่วยนิดหน่อย พ่อแม่ก็มีจิตใจหวั่นไหว ทนอยู่ไม่ได้ ต้องไปหาทางแก้ไขบำบัดเยียวยาให้หายเจ็บหายไข้หายป่วยให้ได้ พอลูกหายป่วยขึ้นมา พ่อแม่ก็มีความสุข ถ้าลูกยังไม่สุข ยังไม่หายทุกข์ พ่อแม่ก็สุขไม่ได้ แล้วก็ถ้าลูกประสบความสำเร็จ เรียนหนังสือ สอบได้ดี เลื่อนชั้นได้สำเร็จ ก้าวหน้า ได้งานทำดี พ่อแม่ก็มุทิตา พลอยมีใจยินดี เบิกบานใจ มีความสุขไปด้วย อันนี้มาครบเลย แล้วก็อย่าลืมว่า อุเบกขา ต้องมาด้วยนะ เรียกว่าลูกเขาโตเขาแล้ว เขารับผิดชอบตัวเองได้แล้ว เขาแต่งงานมีครอบครัวไปแล้ว อย่าไปเที่ยวยุ่มย่าม แทรกแซง ในบ้านเขามากไป ต้องมีอุเบกขา ไม่ใช่ว่าฉันจะทำนี่ให้เธอ ฉันจะทำนั่นให้เธอ ต้องจัดอย่างนั้น ต้องจัดอย่างนี้ในบ้าน อะไรอย่างนี้ อยากจะให้ลูกมีสุข เลยลูกไม่สุขเลย เลยกลายเป็นตัวเองเป็นเหตุให้ลูกทุกข์ เพราะฉะนั้นท่านก็เลยบอกว่าเนี่ยตัวอย่างอุเบกขา อุเบกขาที่ว่ารู้อยู่แล้วว่า ลูกเขาโตแล้ว เชารับผิดชอบตัวเองได้ ถึงเวลาเขาต้องรับผิดชอบตัวเอง เราก็คอยดู อุเบกขาแปลว่าคอยดูนะ คอยดูด้วยปัญญาว่ามีอะไรที่จะต้องเกื้อกูลช่วยเหลือแก้ปัญหา คอยดูอยู่ ไม่ใช่ทิ้ง แต่ว่าไม่เข้าไปยุ่มย่ามแทรกแซง นี่เรียกว่าอุเบกขา ทีนี้พ่อแม่ก็เป็นตัวอย่างของการมีความสุขเชิวสังคมอันนี้ ซึ่งจะต้องปลูกฝังให้มนุษย์มีอันนี้ มนุษย์มีอันนี้แล้ว ก็จะมีจิตไม่แต่เพียงว่าอยากได้โน่นได้นี่ แล้วได้เสพแล้วสมปรารถนา แล้วมีความสุข ตอนนี้มันจะมีความสุขอย่างน้อยก็เพิ่มขึ้นมาอีกประเภทหนึ่ง พอได้มาถ่วงมาดุลกันบ้าง ก็คือความสุขเชิงสังคมที่ว่านี้ ก็คือเห็นใครแล้วอยากให้เขาหน้าตาดี ร่างกายสมบูรณ์งดงาม ผ่องใสมีความสุข อะไรอย่างนี้ อยากให้เขามีความสุขก็เรียกว่าเมตตา อยากให้เขาพ้นจากทุกข์ก็เรียกว่ากรุณา เขามีความสุขสำเร็จยิ่งขึ้นไป ก็พลอยสุขด้วย ก็เรียกว่ามุทิตา แล้วเมื่อเขาจะทำอะไรผิดพลาด เราก็วางใจอยากให้เขาดี แต่ต้องเป็นในทางที่ถูกต้องชอบธรรม ก็อยู่ในอุเบกขาไป ก็ลักษณะ 4 อย่างนี้ คือธรรมะอันนี้จะทำให้คนมีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะเป็นความสุขร่วมกัน ถ้าเป็นความสุขแบบกามสุข ความสุขที่อาศัย อามิส วัตถุภายนอก จะเป็นความสุขแย่งกัน แย่งกันสุข ชิงกันสุข ฉันได้คุณเสีย หรือฉันได้คุณอด บางทีไม่ถึงกับเสียแต่ว่าอด แย่งกัน ถ้าฉันสุข เขาก็ไม่ได้ว่าจะสุข หรือเขาอาจจะทุกข์ด้วย ก็ไม่สุขร่วมกัน เป็นการแย่งกันสุข แต่ว่าถ้าเป็นสุขในเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี่ร่วมกันสุข เขาสุขเราจึงสุขด้วย อันนี้ก็คือการพัฒนา ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจะเน้นมากเรื่องสุขทางสังคม จึงเน้นเหลือเกินเรื่อง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไม่รู้กี่แห่ง ในด้านหนึ่งก็ตรัสเรื่องกามสูตร ว่าจะจัดการยังไงให้มันถูกต้องชอบธรรม ให้มันไม่เสียหาย พระองค์ก็ยอมรับว่าเป็นสุข กามะ ก็มี อะ-สา-ทะ อา-ที-นะ-วะ แล้วก็ ติ-สะ-ระ-ณะ ก็มาสู่การพัฒนาความสุขที่สูงขึ้นไป ก็เริ่มด้วยการพัฒนาความสุขทางสังคม ความสุขทางสังคมที่มันช่วย ที่เราไม่เอาใจมามัววุ่นวายอยู่กับตัวเองเกินไป บางทีไม่รู้ว่าการหาความสุขให้กับตัวเองเนี่ย ทำให้ทุกข์ง่าย ความสุขอย่างเมตตาก็เช่นอย่างที่ว่า เราเห็นคนทั้งหลายมีความสุข อยู่ดีกินดี เราก็มีความสุขไปด้วย มีเมตตา ทีนี้กรุณานี่นอกจากว่าเราอยากเห็นเขาพ้นจากทุกข์ หายป่วยหายไข้ มีร่างกายสมบูรณ์ดีแล้ว แล้วเราก็มีความสุข แม้แต่ว่าเราเจ็บไข้ขึ้นมา พอเราเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เป็นโรคนั้นโรคนี้ ทุกข์ทรมานเหลือเกิน ถ้าเรามัวแต่เอาใจใส่ตัวเอง นึกถึงตัวเอง ทำไมฉันต้องเป็นอย่างนั้น ทำไมฉันต้องเป็นอย่างนี้ ตายเลย ทีนี้ถ้ามีกรุณานะ พอเราเจ็บไข้ได้ป่วย โอ นี่เราเจ็บไข้เป็นโรคนี้ แล้วคนที่อยู่ในโลกในเมืองไทยเรานี้ ที่ยากจนข้นแค้น ไร้ญาติขาดมิตร เขาจะเป็นยังไง เราเจ็บป่วยขนาดนี้ เรายังมีญาติมิตรดูแล เรายังมีคนพาไปหาคุณหมอ บางทีคุณหมอก็มาช่วยรักษา นี่ยังน้อยกว่ามีที่กิน ที่อยู่ ที่นอน แล้วคนที่เขาป่วยอย่างนี้แล้วเขาไม่มีทีกินที่อยู่ที่นอน แล้วเขาจะเป็นยังไง นึกขึ้นมาอย่างนี้แล้วทีนี้ โรคเจ็บป่วยของตัวเองนี่เบาเลย หมดความหมาย คือแทบไม่รู้สึกเลยว่าสำคัญอะไรเลย กลับเป็นเครื่องเตือนใจให้นึกว่า เราจะไปช่วยเขายังไงดี มันกลับมาเป็นสัญญานเตือนว่า เราจะต้องเร่งหาทางไปช่วยเพื่อนมนุษย์เหล่านี้ ซึ่งมีอยู่มากมาย ยากจนข้นแค้น มีความทุกข์ ญาติมิตรไม่มี อะไรต่างๆ ขาดคนดูแลเอาใจใส่ ต้องไปช่วยคนเหล่านั้นให้พ้นทุกข์ ก็กลายเป็นว่าไอ้โรคนี้มากระตุ้นเร้ากรุณา แล้วก็กลายเป็นว่าทำให้ทุกข์ของตัวนั้นน้อย หรือบางทีก็เลยไม่ทุกข์ ก็คือหมดความหมายไป คุณธรรมพวกนี้สำคัญมาก เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นการพัฒนามนุษย์ เรื่องการพัฒนาพวกคุณธรรม ฉันทะที่มีในเชิงสังคม อันนี้อาตมาก็เพียงแต่ยกตัวอย่างวันนี้ให้ฟังว่ามันเป็นเรื่องที่เราจะต้องเอาใจใส่ อย่างนี้ก็มีกามสุขที่อาศัยอามิส เสพได้เอาเพื่อตัว แล้วความสุขเชิงสังคม ทีท่าที่เป็นไปต่อเพื่อนมนุษย์ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่ทำให้เรามีความสุขร่วมกับเพื่อนมนุษย์ กระตุ้นเร้าให้ไปทำความดี ช่วยเหลือกัน อะไรต่างๆ แล้วมีความสุขจากการช่วยเหลือผู้อื่น แล้วก็มีความสุขอีกประเภทหนึ่งก็คือความสุขที่เป็นภายใน ที่ว่าสร้างขึ้นเองได้ โดยเฉพาะความสุขที่เกิดพร้อมกันไปกับการพัฒนาของชีวิต หรือความสุขที่ดำเนินไปด้วยกันกับพัฒนาการของชีวิต พอเราพัฒนาชีวิตของเรา จะเรียกว่าการปฏิบัติธรรมอะไรก็ได้ การปฏิบัติธรรมเมื่อเดินหน้าไปมันจะมีความสุขชุดนี้ขึ้นมา เป็นความสุขข้างใน ความสุขชุดนี้มี ไม่เรียกว่าความสุขเพราะความสุขเป็นส่วนหนึ่งมัน เป็นสุขภาพจิต จะเรียกว่าสุขภาวะ หรืออะไรก็แล้วแต่ สภาพจิต 5 ข้อนี้ พระพุทธเจ้าจะเน้นอยู่เสมอ ถ้าปฏิบัติธรรมได้ผลแล้ว ท่านจะต้องก้าวไปใน 5 ข้อนี้ ถ้าใครไปปฏิบัติธรรมแล้วไม่มี 5 ข้อนี้ อย่าไปหวังที่จะประสบความสำเร็จ พระพุทธเจ้าตรัสยกตัวอย่างอะไร แม้แต่ไปฟังธรรมมา เอาธรรมมาวิจัย แล้วก็พิจารณา เดี๋ยวก็เกิดแล้วชุดนี้ ทีนี้ความสุขที่เนื่องในพัฒนาการของชีวิต หรือจะเรียกว่าปฏิบัติธรรมก็แล้วแต่ 5 ข้อนี้ก็เหมือนกันแหละ ก็เหมือนทางสังคม ก็มีฉันทะเป็นฐาน แสดงออกโดยตรงกับตัวเอง ท่านเรียกว่า ธรรมสมาธิ 5 ข้อ ชื่อก็แปลกนะ ธรรมสมาธิมี 5 ข้อ หนึ่ง-ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกบานใจ ความร่าเริงบันเทิงใจ ปราโมทย์นี่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของจิตใจ ซึ่งทุกคนควรจะมีตลอดเวลา มีพุทธพจน์ตรัสไว้อย่างในธรรมบทเนี่ย ปรา-โมท-ชะ-พะ-หุ-โล-ภิก-ขุ-ปะ-สา-โน-พุด-ทะ-สา-สะ-เน แล้วก็จะลงท้ายบอกว่า อะ-ทิ-คัด-เฉ-ปะ-ทัง-สัน-ตัง-สัง-ขา-รู-ปะ-สะ-มัง-สุข-ขัง เขาบอกว่าภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์ เลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้า จะบรรลุถึงสันตบท คือนิพพาน อันเป็นที่สงบแห่งสังขาร หรือบางแห่งก็บอก ทุก-ขะ-สัน-ตัง-หะ-ริ-สะ-ติ จะทำทุกข์ให้หมดสิ้นไป ก็หมายความว่าคุณสมบัติประจำใจของมนุษย์อันที่สำคัญที่แสดงว่ามีทางพัฒนาการ แล้วกำลังพัฒนาอยู่ ก็คือมีปราโมทย์ คือร่าเริงเบิกบานใจชื่นใจตลอดเวลา ถ้ามีมากเรามีหวังไปนิพพานได้ อยู่ใกล้นิพพานแล้ว ปรา-โมท-ชะ-พะ-หุ-โล ผู้มากด้วยปราโมทย์ ต่อไปข้อสอง หนึ่ง-ปราโมทย์ ร่าเริง บันเทิง เบิกบานใจ สองก็ปิติ ความอิ่มใจ ปลื้มใจ สาม-ปัสสัทธิ ความสงบเย็นผ่อนคลาย ไม่มีควมเครียด ปัสสัทธิ ตัวความผ่อนคลายนี้ มันเป็นตัวเชื่อมกายกับใจ ถ้ากายเครียดใจจะเครียด ถ้าใจเครียดกายก็เครียด จุดนี้เป็นจุดที่เชื่อมต่อกายกับใจ สำคัญ ปัสสัทธิ ฉะนั้นท่านให้มีปัสสัทธิ พอมีปิติอิ่มใจแล้ว ปัสสัทธิ ก็จะเกิดขึ้นมา ก็จะสงบเย็นผ่อนคลาย พอปัสสัทธิมาแล้ว สุขก็จะมา สุขมาแล้วสมาธิก็เกิดได้ ถ้าสมาธิมาแล้วคราวนี้ก็เป็นฐานทางจิตใจให้กับการทำงานของปัญญา ปัญญาก็พัฒนาได้ จะพัฒนาอะไรต่ออะไรทางด้านชีวิตจิตใจก็ไปได้ ตกลงว่าการพัฒนามนุษย์นี่ต้องให้เกิด 5 ตัว การเล่าเรียนศึกษา การทำงานต้องมี 5 อย่างทั้งนั้น ถ้าถูกทาง ถ้าไม่ถูกละก็ยุ่งแหละ มันก็ตรงข้าม ความเครียดเป็นต้น มันก็มา ปราโมทย์ก็ไม่มี ปิติก็ไม่มี ปัสสัทธิปัสสัทธิก็ไม่มี สุขก็ไม่มี สมาธิก็เกิดยาก นี่ด้านในเลย แล้วอันนี้มันเชื่อมหมด เพราะว่าคุณธรรมในทางสังคม กับคุณธรรมในตัวเองเนี่ยมันโยงกัน พอเราไปมีเมตตาต่อผู้อื่น คือตัวเราปฏิบัติธรรม มันก็เป็นการพัฒนาตัวเอง การทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็เป็นการพัฒนาชีวิตของตัวเอง เป็นการปฏิบัติธรรมของตัวเอง ปฏิบัติธรรมตัวเองก็เจริญงอกงาม พอไปมีเมตตา ปราโมทย์ก็เกิดได้ด้วย ปิติก็เกิดได้ด้วย ไปช่วยคนที่เขามีความทุกข์ด้วยกรุณา เห็นเขาร่างกายดีขึ้น หาบเจ็บหายไข้หายป่วย สบาย เราก็ปิติ อิ่มใจ แล้วก็ความสุขอะไรต่างๆ ก็มา เป็นเรื่องพัวพันกันไปหมด เป็นเรื่องเดียวกัน ตกลงว่ามีความสุขประเภทที่หนึ่ง พวกกามสุข พวกความสุขประเภทอามิสนี่ ที่ท่านตรัสไว้บ่อย แต่ว่าตรัสในแง่ต้องจัดให้ดี ต้องรู้จักควบคุม ตรัสศีล 5 ก็เพื่อมาช่วยคุมเรื่องนี้ คุมมนุษย์ให้การแสวงหา การเสพวัตถุ เรื่องกามสุขเนี่ยมันอยู่ในขอบเขตที่ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่กันและกัน ก็เลยเอาศีล 5 มาคุม หมายความว่าความสุขประเภทนี้ต้องอยู่ในควบคุม แต่ความสุขอีก 2 ประเภท คือประเภททางสังคม คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แล้วประเภทพัฒนาการของชีวิต ชุด 5 เมื่อกี้นี้ เป็นความสุขประเภทเอื้อเกื้อหนุนต่อการพัฒนาของชีวิตและสังคมไปเอง ก็ตรงข้ามเลย แทนที่จะมาเป็นตัวบีบคั้นบั่นรอน ถ้าเป็นกามสุขนี่มีหวังทำให้เบียดเบียนกันบั่นรอนกัน ก็เลยต้องคุม แต่อันนี้กลายเป็นต้องหนุน สุขสองอันนี้มันหนุนการพัฒนาชีวิต เป็นไปในทางที่ดี ทีนี้เรื่องสุขในทางสังคมนี่ ทางพุทธศาสนาเน้นมาก ไม่ได้มองข้าม ธรรมะอะไรที่พระพุทธเจ้าตรัสเน้นบ่อยที่สุดสำหรับคฤหัสถ์ ทาน พุทธศาสนานี่เริ่มก่อน ทาน บุญกิริยาวัตถุ 3 หลักปฏิบัติของคฤหัสถ์ ที่คู่กับไตรสิกขาของพระ ของโยมเรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ มี 3 คือ ทาน ศีล ภาวนา เริ่มทานแล้ว แล้วก็ทศพิธราชธรรม ธรรมของพระราชา 10 อย่าง หนึ่ง-ทาน ก่อน ทานเป็นข้อแรกทั้งนั้น พระโพธิสัตว์จะบำเพ็ญบารมี บารมี 10 ประการ เริ่มข้อไหน ทาน ข้อที่หนึ่ง ทาน ทั้งนั้น ก็คือเรื่องของมนุษย์นี้ การเสพวัตถุ การจัดสรรวัตถุ การแสวงหาวัตถุเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด มนุษย์มีแนวคิดอย่างน้อยก็แรงบีบคั้นจากความต้องการอยู่รอด จะทำให้เขาดิ้นรนแสวงหาเพื่อตัวเอง จนกระทั่งจะได้จะเอาๆ จนเป็นความเคยชินติดใจ เป็นนิสัย ธรรมะมาเริ่มต้นก็ต้องเริ่ม ทาน สร้างบุญด้วยตัวนี้ก่อน คุณอย่าคิดแต่อยากจะได้อยากจะเอากันนัก มันจะเบียดเบียนกัน แล้วคุณเองก็เดือดร้อนด้วย ต้องมีการให้บ้าง ก็เลยมีทานขึ้นมาเพื่อคู่กัน คู่กับในเรื่องพฤติกรรมแรกพื้นฐานของมนุษย์ ที่แสวงหา เพื่อได้ เพื่อเอา เสพเพื่อตนเอง ก็เป็นการให้ปันแก่ผู้อื่นบ้าง เพราะฉะนั้นทานมาเป็นข้อแรก แล้วทานนี่ก็จะเป็นทานที่คู่กันไปอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ที่อยู่ในชุดทาน ศีล ภาวนา นี่ก็มากที่สุด อยู่ในชุดของพระเจ้าแผ่นดิน ทศพิธราชธรรม อยู่ในชุดของบารมี 10 ประการ ของพระโพธิสัตว์ก็ได้ อยู่ในชุดอะไรต่างๆ อยู่ในชุดสังคหวัตถุ 4 สำหรับสังคมทั้งหมด ทาน ปิยวาจา อัตถกิริยา สมานัตตตา ทานทั้งนั้น ทีนี้ ทาน นี่ก็มาเป็นตัวประกอบ หนึ่ง-ก็เป็นตัวหนุนศีล พอให้ไปแล้ว มันทำให้มนุษย์รักษาศีลง่าย มีการที่จะไม่เบียดเบียนกัน พอมันมีการให้แล้ว มนุษย์จะ มีมนุษย์บางจำพวกที่ว่ามีแรงภูมิคุ้มกันทางศีลธรรมนี่น้อย พอขาดแคลนนิดหน่อย หรือแม้แต่ไม่ขาดแคลน เห็นของใครก็อยากได้ แต่บางคนก็ดีขึ้นไปอีกหน่อย มีความเข้มแข็งทางศีลธรรมขึ้นมาอีกหน่อย ถ้าหากว่าไม่ขาดแคลนมากนักก็ไม่เอา ไม่ไปลักไปขโมย ไม่ไปเบียดเบียน แต่พอมากเข้า ขาดแคลนมาก ไม่ไหวเหมือนกันนะ ก็ต้องเอา อย่างนี้เป็นต้น มนุษย์ก็มีหลายระดับ เพราะฉะนั้นท่านก็ให้มีทานไว้ พอเรามามีแบ่งปันกัน คอยดูใครขาดแคลนก็ให้เขา อะไรต่างๆ การเบียดเบียน การลัก แย่งชิงอะไรมันก็น้อยลงไป เพราะฉะนั้นก็มาเกื้อหนุนกับการรัษาศีลในสังคม ก็เป็นตัวฐานที่จะช่วยศีลไว้ ไม่ให้มนุษย์ต้องไปเบียดเบียนกันมาก แล้วจะรักษาศีลได้สะดวกขึ้น ทีนี้ทานต่อไปมันก็เป็นตัวประโยชน์เป็นตัวประกอบกับศีล แล้วก็ไปประกอบภาวนา ทีนี้การให้ทาน แม้แต่ผู้ที่บำเพ็ญสมถะวิปัสสนาพระพุทธเจ้ายังตรัสถึงการบำเพ็ญสมถะภาวนาที่ได้ทาน ท่านเรียกทานนี้ว่าเป็นจิตบริขาร การบำเพ็ญทานของผู้บำเพ็ญสมถะภาวนานี่เป็นจิตบริขาร แล้วเป็น จิตตลังการ เป็นจิตบริขาร จิตตลังการ เป็นอลังการของจิต แล้วก็เป็นบริขารของจิต เป็นเครื่องช่วยประดับจิต ทำให้จิตมันงดงาม ทำให้เดินหน้าไปในการพัฒนาได้ อย่างบำเพ็ญสมถะวิปัสสนา ก็ช่วยให้บำเพ็ญสมถะวิปัสสนาได้ง่าย จิตมันเปิด มันทำให้จิตโล่งออกไป การไปให้ ไปสละอะไรต่ออะไร เพราะฉะนั้นไม่ให้ขาด คฤหัสถ์นี้ไม่ว่าจะไปบรรลุธรรมชั้นไหนก็ต้องบำเพ็ญทางทั้งนั้น ทานในที่นี้หมายความกว้างนะ คือการให้ การเผื่อแผ่ การแบ่งปัน การช่วยเหลือกันในสังคมมนุษย์ ให้มนุษย์อยู่กันดีมีความสุขเนี่ยสำคัญมาก เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาเนี่ย ทาน นี่เป็นเรื่องเด่นจนกระทั่งว่ามองเห็นเมืองไทยเรานี่เป็นคนให้ง่าย สละง่าย มีน้ำใจแบ่งปันอะไรต่างๆ แต่ว่าต้องทำให้ถูก แล้วก็ต้องไปประสานกับการปฏิบัติธรรมอื่น อย่าไปนึกว่า ฉัมาถึงขั้นภาวนาแล้ว ฉันไม่ต้อง ทาน แล้ว อะไรอย่างนี้ ไม่ได้ๆ ต้องมี ทาน อยู่ ต้องช่วยเหลือ แล้วมันจะมาเป็นอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส เป็นจิตตลังการ เป็นจิตบริขาร แล้วช่วยให้การบำเพ็ญสมถะวิปัสสนานั้นได้ผลดียิ่งขึ้น มันเปิดจิต ทำให้จิตโล่ง โปร่งเบา สลัดออกไป ผ่อนคลาย นั่นในแง่คฤหัสถ์ ทีนี้ในแง่พระ แล้วในแง่พระภิกษุล่ะ สังคมของพระ อย่าไปนึกว่าพระทำไมมัวปฏิบัติธรรมวิปัสสนา ดูวินัย หลักธรรมของท่าน เรื่องของพระนี่ พื้นฐานต้องเน้นก่อน เพราะมีหลักธรรมที่เน้นทั้งในพระสุตตันตปิฎก วินัยปิฎก นะ หลักธรรมชุดนี้แปลก เน้นทั้งวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎก คือหลักธรรมที่เรียกว่า สาราณียธรรม 6 ประการ หลักธรรมนี้เป็นหลักธรรมทางสังคมโดยตรง เอาเมตตาอะไรนี่ไปรวมอยู่ในนี้เสร็จ ออกสู่การปฏิบัติ มีอะไรบ้าง เอาก่อนว่าพระพุทธเจ้าตรัสเน้นสำหรับพระนี่คือการแบ่งปันลาภ เพราะพระไม่ได้เป็นผู้ประกอบอาชีพ หาวัตถุสิ่งของด้วยตนเอง ครอบครองทรัพย์สมบัติ โยมมีทรัพย์สมบัติเพราะฉะนั้นจึงให้มีทาน แต่พระนี่ท่านไม่มีข้อทาน มีเหมือนกัน มีธรรมทาน ให้ธรรม ทีนี้ถ้าเป็นวัตถุท่านบอกว่าแบ่งปันลาภ แบ่งปันลาภนี่ก็จะมีในวินัยมากมาย ถึงหลักการ กฎเกณ์กติกาในการแบ่งปันลาภให้เป็นธรรม ให้ทั่วถึงอะไรต่างๆ แล้วก็มีหลักธรรมในข้อสาราณียธรรม
สาราณียธรรมก็เลยเอามาทวนสักนิดหนึ่ง 6 ข้อ หนึ่ง-อะไร เมตตากายกรรม การแสดงออกต่อกันทางกายด้วยเมตตา ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน มีอะไรต้องช่วยก็ช่วยกันไป สอง-เมตตาวจีกรรม พูดจาด้วยใจรักกัน ด้วยใจปรารถนาดี ถ้อยคำสุภาพอ่อนโยน ปรารถนาดี แนะนำอะไรต่างๆ สาม-เมตตามโนกรรม คิดต่อกันในทางที่ดี มีใจหวังดีปรารถนาดีต่อกัน แล้วก็ สี่-สาธารณโภคี หรือสาธารณโภคิตา พอได้มาแบ่งปันกินใช้ หมายความว่ามีของมาแล้วก็เผื่อแผ่แบ่งปันกันให้ทั่วถึง สาธารณโภคี โภคี โภคะ แปลว่าเสวยหรือบริโภคของสาธารณะให้เป็นของสาธารณะทั่วกัน นี่ข้อที่สี่แล้ว วัตถุ พระพุทธเจ้าเน้นเรื่องวัตถุนี้ เน้นมาก สำหรับพระนี่ วินัยมีแต่เรื่องวัตถุกับสังคม เพราะฉะนั้นอย่าไปมองดูธรรมะพุทธศาสนาเฉพาะในหลักธรรมอย่างเดียว ท่านเรียกว่า ธรรมวินัย ต้องดูให้ครบ วินัยนี่ด้านวัตถุกับด้านสังคมทั้งนั้นเลย แล้วก็ต่อไป สีลสามัญญตา
มีศีลเสมอกัน เสมอกันต่อหน้ากฎหมาย นอกจากนั้นก็คือว่าประพฤติให้มันเสมอกัน ให้มีคุณธรรม มีศีล มีการปฏิบัติตามพระวินัยเสมอกัน ไม่ทำตัวให้เป็นที่น่ารังเกียจ แล้วก็ ทิฏฐิสามัญญตา มีทิฐิ มีหลักการที่ยึดถือร่วมกัน เสมอกัน ก็ 6 ข้อนี้ อันนี้จะเน้นมากสำหรับพระ ก็เป็นหลักธรรมในการอยู่ร่วมกัน สำหรับคฤหัสถ์ก็จะไปเน้นทาน แล้วก็โยงไปหา ถ้าชุดพัฒนาตัวเองก็ ทาน ศีล ภาวนา ถ้าชุดที่อยู่ร่วมกันก็ สังคหวัตถุ 4 ท่านคงจำกันได้แล้ว มันเป็นชุดที่ประสานคู่กับชุดภายใน ภายในเรามีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นชุดประจำใจ เรียกว่า พรหมวิหาร ธรรมประจำใจของพรหม หรือธรรมประจำใจอันประเสริฐ ที่นี้มีแต่ธรรมะประจำใจอันเดียวนี่จะเหมือนฝรั่งคนหนึ่งเขาไปเขียนว่าสังคมพุทธ บอกว่าได้แต่นอนแผ่เมตตาอยู่ในมุ้ง เขาบอก เคยอ่านไหม เมื่อสัก 40-50 ปีแล้ว มีฝรั่งคนหนึ่งเขาเขียนเรื่องสังคม south east asia วิเคราะห์ประเทศไทยอะไรนี้ด้วย แล้วก็พูดถึงการปฏิบัติธรรม ท่านนี้ เดี๋ยวนึกชื่อไม่ออก มาอยู่ในคณะตอนที่จะตั้งคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ไปเป็นนิด้า จากธรรมศาสตร์ตอนนั้น ไปมีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ตั้งที่นิด้า เกิดสถาบันพัฒนาบริหารศาสตร์ อาจารย์ท่านนี้มาจากมหาวิทยาลัยอินเดียน่า มาอยู่ในโครงการนี้ แล้วท่านก็มาวิเคราห์สังคมไทย เรื่องพุทธศาสนากับการพัฒนาด้วย แล้วก็มีฝรั่งคนอื่นก็ไปอ้างฝรั่งอีกคนหนึ่ง หรือจะไปอ้าง อัลเบิร์ต ชไวท์เซอร์ คือท่านเหล่านี้ ก็อย่าไปโทษท่าน คนไทยเราคงจะประพฤติไม่ถูกตามธรรมะ ทำให้เขาเห็นแล้วเขาก็เอาไปตั้งข้อรังเกียจ เขาบอกคนไทยนี่ที่ว่าทำความดีก็คือนั่งแผ่เมตตาอยู่ในมุ้ง ขออภัย นอนแผ่เลย ก็ไม่ต้องทำอะไร บอกประพฤติดีแล้ว นอนแผ่เมตตา ธรรมะมีเป็นคู่เป็นชุด พรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นธรรมะประจำใจ แล้วภาคแสดงออกนั้นเป็นสังคหวัตถุ 4 ลองจับคู่สิ 4 เท่ากัน แล้วมันเป็นชุดกันเลย หนึ่ง-เมตตา ก็ไปแสดงออกให้เพื่อแสดงความรักความปรารถนาดี แบ่งปัน เขาไม่ได้เดือดร้อนอะไร ก็ให้แบ่งปันกัน เอื้อเฟื้อ โอบอ้อมอารี เรียกว่าให้ด้วยเมตตา อันนั้นก็เป็นทางเหมือนกันนะ ทานด้วยเมตตา ทีนี้ถ้าเขามีความทุกข์เดือดร้อน ยากไร้ เจ็บไข้ได้ป่วย ก็ไปให้ ให้ด้วยกรุณา สาม-เขาทำความดี สร้างสรรค์สิ่งที่เจริญงอกงามของสังคม เป็นนักประดิษฐ์อะไรต่ออะไร ขาดแคลนเงิน เราก็ไปช่วย เรียกว่าให้ด้วยมุทิตา ไปให้ไปส่งเสริม เอาละ ทานข้อเดียวเนี่ย แสดงออกใน 3 ข้อ ในสังคหวัตถุ 4 ต่อไปก็ปิยวาจา พูดดี พูดด้วยใจรัก หนึ่ง พูดด้วยเมตตาก็อยู่กันตามปกติ ก็พูดด้วยความรัก ความปรารถนาดี วาจาสุภาพอ่อนโยนต่อกัน นี่ก็เป็นปิยวาจาด้วยเมตตา ทีนี้คนนั้นเขาเดือดร้อน มีความทุกข์ มีปัญหาชีวิต แล้วก็ไปพูดปลอบโยน ปิยวาจา ก็ไปแนะนำ หาทางแก้ไขอะไรต่ออะไร ให้กำลังใจ อันนี้เรียกว่าปิยวาจา ทีนี้เขาทำความดี สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ไปทำบุญทำกุศล เราต้องพูดอนุโมทนา ส่งเสริม เรียกว่าปิยวาจาด้วยมุทิตา ทีนี้ต่อไปก็ สาม-อัตถกิริยา บำเพ็ญประโยชน์ ทำประโยชน์แก่เขา ทำด้วยความรัก ความปรารถนาดียามปกตินี้ก็ได้ เขาเรียกว่าอัตถกิริยาด้วยเมตตา ทีนี้ต่อไปเขามีความทุกข์เดือดร้อน ต้องการกำลัง เรี่ยวแรงกำลังช่วยเหลือ เราก็ไปช่วยให้เขาพ้นจากปัญหา แก้ปัญหา ไปช่วยด้วยกำลังเรี่ยวแรง กำลังกาย กำลังปัญญา ความสามารถ ก็ไปแก้ไขให้เขาพ้นทุกข์พ้นปัญหาได้ ก็เป็นการอัตถกิริยาด้วยกรุณา แล้วก็ไปช่วยส่งเสริมการทำความดี เช่น แต่ก่อนนี้มีงานวัด มาทำงานวัด มาจัดเตรียมการต่างๆ กัน ญาติโยมก็มา อัตถกิริยา บำเพ็ญประโยชน์ ช่วยจัด ช่วยเตรียมงานต่างๆ ส่งเสริมการทำความดี ก็เป็นอัตถกิริยาด้วยมุทิตา ภาคสังคหวัตถุคือภาคแสดงออก จะไปมัวจมกับแค่เมตตา กรุณา มุทิตา ไม่ได้ เดี๋ยวฝรั่งว่าอย่างที่ว่า อย่าไปให้สมกับที่ฝรั่งเขาว่า ก็สมให้เขาว่าแหละ อย่าไปด่าเขา ทีนี้ก็ต่อไป ข้อสุดท้าย สมานัตตตา เพราะมีตนเสมอ มีตนเสมอก็หมายความว่า เสมอกัน มีความเป็นธรรม เที่ยงธรรม ก็เข้าข้ออุเบกขา ใช่ไหม อุเบกขาก็มาแสดงออกที่สมานัตตตา มีตนเสมอกัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หรือไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง แล้วก็ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน แล้วก็มีความเป็นธรรม แล้วก็ทำตนให้เขากันได้ดีที่สุด สมานัตตตาก็เข้ากันได้ มีความเป็นธรรมแล้วไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน แล้วก็เข้ากันได้ ก็ชุดนี้ก็จะมีสร้างความเป็นสุขในทางสังคม แล้วตัวเราเองเวลาเราไปปฏิบัติ ธรรมมะเหล่านี้ก็คือการปฏิบัติธรรมของตัวเองนั่นแหละ การทำเพื่อผู้อื่นก็คือการปฏิบัติธรรม เราก็พัฒนาชีวิตตัวเอง ให้ดูพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ท่านปฏิบัติธรรมบำเพ็ญบารมีด้วยการช่วยคนอื่นใช่ไหม การช่วยผู้อื่นนั้น ปฏิบัติธรรมอย่างดีเลย เพราะมันต้องใช้ปัญญาความสามารถ การฝึกตนอย่างสูง ไปช่วยแก้ปัญหาเขาทีหนึ่งนี่ แหม กว่าจะแก้สำเร็จ เรานี่พัฒนาเยอะเลย สติปัญญา ความสามารถ อะไรต่ออะไรนี่พัฒนาเยอะ ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมก็ต้องไปในลักษณะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ พระพุทธเจ้าตรัสเป็นคู่ไว้นี่ คู่ที่หนึ่ง-ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ต่อมาก็ทำประโยชน์ตน ทำประโยชน์ผู้อื่น คู่กัน อัด-ตะ-ถะ กับ ปะ-รัด-ถะ คู่กัน ถ้าแยกเป็นสามก็ อัด-ตะ-ถะ ปะ-รัด-ถะ อุ-ปะ-รัด-ถะ ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์ร่วมกัน โดยมากก็แบ่งแค่ 2 พอ ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น 2 อันนี้จะเป็นคู่กันอยู่เสมอ ก็ให้โยมสังเกตไว้ ก็เป็นอันว่าเอาเรื่องนี้มาเน้นไว้หน่อย แล้วของพระนี่นอกจากเน้นเรื่องปันลาภ นี่ก็เน้นเรื่องความสามัคคี ถือเรื่องสังฆสามัคคีนี้สำคัญมาก ตรงข้าม สังฆเภท ถือเป็น อนันตริยกรรม บาปหนักที่สุดเลย เพราะฉะนั้นถือเรื่องความสามัคคีของหมู่ชนนี่เป็นอันดับหนึ่ง อย่างสาวกฝ่ายคฤหัสถ์ ที่ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ มี 2 ท่านที่เป็นคล้ายๆ กับอัครสาวก คือพระพุทธเจ้าทรงมีอัครสาวกเป็นพระภิกษุ 2 องค์ คือพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เป็นอัครสาวิกาก็ 2 องค์ ก็คือพระเขมา เลิศทางปัญญา กับพระอุบลวรรณา แล้วต่อมาทางคฤหัสถ์ ก็มีคู่อัครจะเรียกว่าอัครอุบาสกก็ได้ อุบาสกที่เป็นยอดผู้หนึ่ง ก็คือจิตตคหบดี เป็นเลิศทางธรรมกถึก เป็นนักแสดงธรรม เก่ง ในประไตรปิฎก มีหลายแห่งที่พระสูตรของท่านคหบดีไปพูดธรรมะให้พระฟังเลย เป็นเอตทัคคะ แล้วอีกท่านหนึ่งชื่อ
หัตถาลาวะกะ เป็นเอกทัคคะในทางรวมใจหมู่ชน หมายความว่าสร้างความสามัคคีเป็นปึกแผ่นในสังคม ด้วยหลักสังคหวัตถุ 4 ก็คือท่านหัตถาลาวะกะ นี่เป็นผู้สามารถในการใช้สังคหวัตถุ 4 ทำให้หมู่ชนของท่านอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคีแน่นแฟ้น ก็เป็นอัครอุบาสก เป็นเอตทัคคะด้วย แล้วก็อุบาสิกา เอตทัคคะท่านหนึ่งก็ขุชชุตตรา เป็นเอกถัตคะทางพหูสูต พหูสูตก็คือเป็นผู้ที่ได้เรียนได้ทรงจำมาก มีพระสูตรอยู่ในราวสัก 80 สูตรได้ หรือใกล้จำนวนนี้ ที่มาจากท่านขุชชุตตรา เป็นผู้รักษาไว้ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 15 คือท่านเป็นอุบาสิกา แล้วก็ท่านไปฟังตอนที่พระพุทธเจ้าประทับที่เมืองโกสัมพี ไปฟังประจำทุกวัน แล้วท่านเป็นผู้มีความจำเลิศ เก่ง ท่านก็จำได้ แล้วก็เอามาสาธยายให้ภิกษุณีฟัง ภิษุณีก็เอามาบอกภิกษุทั้งหลาย เวลาสังคยนาก็เอามาแสดงสาธยายด้วย ก็เลยมาอยู่ในพระไตรปิฎก เป็นพระสูตรของพระพุทธเจ้าแหละ แต่ว่าท่านอุบาสิกาผู้นี้ที่เป็นเอตทัคคะ ทางพหูสูต แล้วก็เป็นอัครอุปถานิกา เป็นผู้ที่รักษาไว้ให้ ก็มีบทบาทสำคัญ แล้วอีกท่านหนึ่งชื่อ นันทมารดา เอตทัคคะทางฌาน ก็หมายความว่าทั้งในทั้งนอกต้องคู่กัน เอาละ อันนี้ก็นอกเรื่องไปแล้ว ว่าไป ท่านก็เน้นความสามัคคีที่ว่านี้ในหมู่สงฆ์ แล้วคฤหัสถ์ ก็เน้นสังคหวัตถุ สามัคคีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นในหมู่ชน พุทธศาสนาถือสำคัญมาก อย่าไปนึกว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวเฉพาะตน เฉพาะตัวก็หมายความ เราจะพัฒนาได้ เราก็ต้องพึ่งตนเอง ทำด้วยตนเอง แล้วว่าคนอื่นช่วยเราได้ไหม ช่วยได้ ช่วยได้เป็นปัจจัยภายนอก ก็เราไม่เรียน ไม่มีครูมาสอน แล้วเราจะรู้ได้ยังไง ทีนี้ครูเอาปัญญามายัดให้เราได้ไหม บอก ไม่ได้ ใช่ไหม บอกปัญญามาใส่ให้กันได้ไหม ไม่ได้ เราก็ต้องใช้ปัจจัยภายในของเรา รู้จักฟัง ตั้งใจฟัง รู้จักพิจารณา มีโยนิโสมนสิการ แล้วสิ่งที่สดับมาเป็นข้อมูลเป็นสุตตะ มันก็เกิดเป็นปัญญาของเรา ไม่ใช่ว่าครูอาจารย์เอาปัญญามายัดใส่ให้ ใช่ไหม คือย้ำบ่อยๆ บอกโยม ขอศีลพระ พระบอกฉันให้ไม่ได้หรอกศีล โยมต้องปฏิบัติเอาเอง อ้าว แล้วทำไงล่ะ โยมมาขอศีล มยังภันเต ติสรเณนะสหปัญจะ สีลานิยาจามะ ท่านก็รับ กระผมทั้งหลาย ดิฉันทั้งหลาย ขอศีล 5 พระนี่พูดในใจบอกว่าฉันให้ไม่ได้หรอกโยมศีล ใครจะไปให้กันได้ล่ะโยม ศีลนี่ให้ไม่ได้หรอก ศีลมันเกิดในตัวจากการปฏิบัติ จะให้อะไรได้ โยมอยากได้ศีลนะ โยมเอาอันนี้ไปรักษา ไปปฏิบัติ แล้วโยมจะมีศีลเอง ก็บอกสิกขาบทให้ โยมขอศีล พระบอกสิกขาบทให้ ไม่ใช่ให้นะ บอกให้ บอกให้ไปปฏบัติ โยมบอกตกลงๆ ก็ ปาณาติปาตา เวระมณี สิกขาปะทังสมานิยามิ ข้าพเจ้าตกลงยอมรับว่าจะไปสมาทาน เอามาปฏิบัติจากการงดเว้นทำ ??? ให้ตกร่วง คำว่า สิกขาบท แปลว่า ข้อฝึก โยมขอศีล พระบอกข้อศึกให้ แล้วโยมฝึกปฏิบัติตามนั้น โยมก็มีศีลเอง โยมขอสมาธิ พระบอกว่าฉันให้ไม่ได้หรอก สมาธิ ให้ได้ยังไงโยมต้องปฏิบัติเอาเอง เอายังไง ฉันบอกกรรมฐานให้ บอกกรรมฐานก็คือวิธีปฏิบัติ สิ่งที่จะไปใช้ฏิบัติ บอกกรรมฐาน พระท่านบอกได้แต่กรรมฐาน ท่านให้สมาธิไม่ได้ ถ้าโยมพอได้รับบอกกรรมฐานไปแล้ว ก็เอาไปใช้ปฏิบัติ ฝึกตัวเองก็ได้เกิดสมาธิขึ้นมา โยมขอปัญญาพระก็เหมือนกันแหละ ก็บอกว่ามันให้ไม่ได้หรอปัญญาเนี่ย ฉันบอกสุตตะให้ ฉันบอกข้อมูล ฉันบอกคำสอน แล้วคุณก็ไปพิจารณาใตร่ตรองเอาสิ่งต่างๆ นี้ แล้วก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจ อย่างนี้เป็นต้น เป็นอันว่าเรื่องนี้ก็ผ่านๆ ไป ก็คือแทรกๆ เข้ามา คือการที่เราปฏิบัติธรรมในเชิงสังคม มันมีผลทั้ง 2 ประการ หนึ่ง-ตัวเราเวลาเราปฏิบัติธรรมทางสังคม ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เราต้องปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง เป็นการฝึกตนอย่างดีมาก แล้วก็สอง ก็คือว่า เราสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อ ที่กลับมาหนุนให้เราปฏิบัติธรรมได้สะดวกขึ้น เหมือนกับสังคมนี่ มีแต่ความวุ่นวาย เบียดเบียนกัน แล้วเราจะไปปฏิบัติยังไง โดยเฉพาะในหมู่สงฆ์นี้อยู่ร่วมกัน ก็ต้องทำสังฆะให้เรียบร้อย มีความสามัคคี ร่วมกันดีแล้ว ก็เป็นบรรยากาศที่เอื้อ แต่ละคนนั้นจะปฏิบัติธรรม จะทำงานทำการอะไรในชีวิตประจำวัน ไม่เฉพาะต้องเขามาช่วยให้แรงหรอก แม้แต่เขาไม่มาให้แรง เราก็ทำด้วยความสบายใจ คือสภาพแวดล้อม สภาพสังคมนั้น เป็นสภาพที่เอื้อเกื้อหนุนต่อการปฏิบัติ ต่อการทำงานทำการอะไรต่ออะไร ทุกอย่างของเราเอง มันกลับมา 2 ทาง ทั้งตัวเองก็ได้โดยตรง ทั้งเอื้อกลับมาด้วย ฉะนั้นในทางสังคมนี้ พุทธศาสนาจึงเน้นนักหนา เราจะมองพุทธศาสนาเราจะมองเฉพาะธรรมมะไม่ได้ ต้องมองวินัยด้วย แล้วก็มันจะมีธรรมะประเภทหนึ่งที่โยงระหว่างธรรมะกับวินัย ซึ่งจะเน้นมากในเชิงวัตถุกับสังคม เรื่องนี้ก็มีมากมายแหละ เพราะว่าอย่างน้อยเราไปปฏิบัติธรรมเชิงสังคม จะได้ปิติ ปราโมทย์ ก็ได้คุณธรรมสำคัญประจำใจ การที่จะพัฒนาชีวิต ขอให้โยมจำไว้ยังไงก็ให้คู่กัน 2 ชุดนี้ คือในเชิงสังคมก็มีพรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แล้วจะออกสู่การปฏิบัติก็สังคหวัตถุ 4 แต่ในใจก็คือให้มีพรหมวิหาร 4 ซึ่งจะเป็นตัวทำให้เกิดความสุขร่วมกัน แล้วก็อีกอันหนึ่งพร้อมกันนั้นในใจของตัวเองเพื่อพัฒนาการในชีวิตของตน ก็ให้มีชุด 5 ธรรมสมาธิ เนี่ย ปราโมทย์ ปิติ ปัสสัทธิ สุขสมาธิ อันนี้ต้องให้มี อย่างน้อยข้อที่ 1 ต้องให้มีประจำใจ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสเน้นไว้เสมอ แม้แต่พระโสดาบัน พระพุทธเจ่ายังตรัส พระโสดาบันท่านปฏิบัติธรรมของท่านไป พระองค์ทรงอุปมาว่า เหมือนอย่างแม่โค แม่โคเล็มหญ้าไปก็ดูแลลูกน้อยไปด้วย ว่างั้นนะ ให้คนทั้งหลายถ้าจะประพฤติอย่างพระโสดาบัน ก็ต้องประพฤติอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเอาแต่ตัว ท่านจำไว้นะ พระโสดาบันเนี่ย แม่โคที่เล็มหญ้าไป ก็ดูแลลูกน้อยไปด้วย เขาได้กินไหม เขาอิ่มไหม ดูเขาไปด้วย เอาละ อันนี้ก็ขอผ่านไป