แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพร ท่านผู้สนใจเจริญภาวนาทุกท่าน ตอนนี้ก็จะได้มาพูดกันถึงเรื่องที่เกี่ยวกับการเจริญภาวนาต่อไปอีก สำหรับครั้งนี้ก็จะพูดในหัวข้อที่ว่าด้วย ข้อปฏิบัติในทางด้านจิตใจอยู่ในตำแหน่งหรือฐานะใดในระบบของพระพุทธศาสนา ที่ต้องพูดเรื่องนี้ก็เพราะว่า คำสอนในทางพระพุทธศาสนานั้น มีความกว้างขวางครอบคลุมมากเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตหรือความเป็นอยู่ของมนุษย์ทุกด้าน ทั้งเรื่องชีวิตส่วนบุคคล และก็เรื่องของสังคม ถ้าหากว่าเราได้รู้ว่าคำสอนที่เกี่ยวกับข้อปฏิบัติทางจิตใจอยู่ในตำแหน่งฐานะไหน เราก็จะได้เห็นภาพของคำสอนนั้นชัดเจนและที่สำคัญก็คือว่า เราจะได้มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างข้อปฏิบัติทางด้านจิตใจนั้นกับคำสอนด้านอื่นๆ ด้วย เพราะว่าคำสอนในทางพระพุทธศาสนานั้นเป็นระบบทุกส่วนมีความเชื่อมโยงถึงกันหมด ในตอนแรกนี้ ก่อนที่จะรู้ว่าข้อปฏิบัติทางจิตใจอยู่ในส่วนไหนของระบบนั้น เราก็ควรจะพูดกันถึงตัวระบบเสียก่อนว่าระบบของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร อันนี้ การที่จะเข้าใจระบบของพระพุทธศาสนานั้น ก็ให้มามองดูตัวพระพุทธศาสนาอย่างที่เรียกว่ากว้างขวางครอบคลุมเราอาจจะนำเอาหลักธรรมบางอย่างมาเป็นข้อพิจารณาคือมาเป็นหลักมาเป็นการมองดูภาพรวมนี้ หลักที่จะนำมาพิจารณาอย่างหนึ่งก็คือ ชื่อของพระพุทธศาสนา นั้นเอง หรือคำเรียกพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนานั้นมีคำเรียกหลายอย่าง แต่เดิมทีเดียวนี้ ท่านมักจะใช้คำว่าพระธรรมวินัย หรือธรรมวินัย อย่างผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาในสมัยก่อนท่านก็เรียกว่า เข้ามาบวชในพระธรรมวินัยนี้ เพราะฉะนั้นคำว่าธรรมวินัยก็เป็นชื่อเรียกพระพุทธศาสนา และก็เป็นชื่อเรียกที่เป็นความหมายแสดงถึงระบบของพระพุทธศาสนาด้วย คำว่า ธรรมวินัยนี้ ก็ประกอบขึ้นจากคำ ๒ คำ คือ คำว่า “ธรรม” กับคำว่า “วินัย” แล้วสองคำนี้รวมเข้าด้วยกันเป็นคำเดียวเป็น “ธรรมวินัย” เวลาใช้ในทางหลักภาษาก็ถือเป็นคำเอกพจน์
ทั้งๆ ที่เกิดจากสองคำ แต่รวมกันแล้วเป็นอันหนึ่งอันเดียวแสดงว่า ท่านไม่แยกธรรมวินัยนั้นในฐานะเป็นสองอย่างต่างหากกัน ก็ถือว่า แม้จะมีองค์ประกอบสอง แต่ก็รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทีนี้ธรรมกับวินัยที่เป็นองค์ประกอบสองอย่างนั้นมีความหมายอย่างไร ถ้าเราเข้าใจความหมายของธรรมกับวินัยแล้วก็รู้ว่า สองอย่างนี้ประกอบกันเข้าเป็นพระพุทธศาสนาเราจะมองพระพุทธศาสนาด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนแล้วก็ทั่วถึงครบถ้วนสมบูรณ์ ธรรมนั้นก็คือ หลักความจริงตามธรรมดาว่าโดยทั่วไปก็คือ กฎธรรมชาติ ที่นี้ วินัยนั้น ตรงกันข้าม วินัยนั้นเป็นแบบแผนระเบียบที่บัญญัติขึ้นสำหรับสังคม เราจะเห็นว่า ธรรม นั้นเป็นความจริงมีอยู่ตามธรรมดาอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “พระองค์จะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ธรรมคือความจริงก็คงอยู่อย่างนั้น” พระองค์ก็ได้ทรงค้นพบเมื่อค้นพบแล้วก็นำมาทรงแสดงเปิดเผยอธิบายชี้แจงให้เข้าใจง่ายขึ้น ตลอดจนกระทั้งวางเป็นหลักซึ่งหลักนั้นก็เป็นไปตามความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาหรือตามธรรมชาติ ส่วนวินัยนั้นเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติวางขึ้นใหม่เพื่อควบคุมสังคมหรือชุมชน ซึ่งในที่นี้ก็คือ สงฆ์ คือหมู่แห่งภิกษุทั้งหลายหรือสังคมที่พระองค์ได้ตั้งขึ้นให้อยู่ในความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะฉะนั้นความแตกต่างในเบื้องต้นนี้ก็ชัดเจนว่า ธรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดา พระพุทธเจ้าได้แต่ทรงค้นพบ ส่วนวินัยนั้นเป็นสิ่งที่พระองค์ได้ทรงบัญญัติวางขึ้นใหม่ แต่ว่าสองอย่างนั้นก็อิงอาศัยสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน จึงได้รวมกันเข้าเป็นระบบเดียวกัน กล่าวคือ การที่จะบัญญัติวินัยขึ้นมาก็เพื่อธรรมนั้นเอง นอกจากเพื่อธรรมก็ต้องอิงอาศัยตั้งอยู่บนฐานของธรรมด้วย หมายความว่าตัวธรรมนี้เป็นตัวแกนกลางเป็นตัวหลักเพราะเป็นความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาและก็เป็นจุดมุ่งหมายคือว่า เราต้องรู้สัจจะธรรมเข้าถึงสัจจะธรรมแล้วก็ประพฤติตามธรรม แล้วก็เข้าถึงธรรม ธรรมเป็นทั้งสิ่งที่เราต้องรู้ต้องปฏิบัติแล้วก็ต้องเข้าถึง แต่ว่าเราจะรู้เข้าใจปฏิบัติธรรมได้ผล พร้อมทั้งบรรลุธรรมในฐานะที่เป็นจุดหมายได้นี่ มันก็ต้องระบบวิธีที่มาช่วย ยิ่งคนอยู่กันมากๆ จะนำคนจำนวนมากให้ปฏิบัติธรรมได้ ให้เข้าถึงธรรมได้นี่ เป็นเรื่องที่ต้องมีการจัดตั้งมีการจัดระเบียบหรือมีการจัดสภาพแวดล้อมให้เกื้อกูลเพื่อประโยชน์อันนี้แหละก็จึงต้องมีการจัดระเบียบชีวิตจัดระเบียบความเป็นอยู่จัดระเบียบชุมชนหรือสังคมขึ้นมาแล้วก็กลายเป็นวินัย จากนี้เราจะเห็นได้ชัดว่า การที่มีวินัยขึ้นเพื่อธรรมนั้นเอง คือว่า เพื่อให้คนได้ สามารถที่จะได้มาศึกษารู้เข้าใจธรรม จะได้ปฏิบัติธรรมได้สะดวกได้ผลดีขึ้น ตลอดจนกระทั่งถึงธรรมที่เป็นจุดหมายในที่สุด วินัยก็จึงได้รับการจัดวางขึ้นเป็นรูปแบบตามความเหมาะสมกับกาละเทศะเป็นสิ่งที่มนุษย์บัญญัติวางขึ้น เช่นอย่างกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นเรื่องของสิ่งที่เรียกว่า “บัญญัติ” ที่นี้ธรรมนี้ก็เป็นฐานด้วย คือการที่จะบัญญัติวินัยอย่างไร เราก็ต้องดูว่า ธรรมคือหลักความจริงเป็นอย่างไร และบัญญัติให้สอดคล้อง เพราะฉะนั้น ธรรมนอกจากว่าเป็นตัวเป้าหมาย คือเราบัญญัติวินัยเพื่อธรรมแล้ว แล้วก็ต้องทำบัญญัติวินัยนั้นให้สอดคล้องกับธรรมโดยมีธรรมเป็นฐานด้วย
พูดสั้นๆ ก็คือ ธรรมเป็นทั้งฐานของวินัยแล้วก็เป็นจุดหมายของวินัยด้วยพร้อมกัน อันนี้ถ้าหากว่าวินัยนั้น ไม่อาศัยธรรมเป็นฐาน วินัยนั้นก็จะไม่ได้ผลดี แล้วก็จะเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย อันนี้ก็เป็นความสัมพันธ์ระหว่างธรรม กับวินัย ที่นี้มองในแง่หนึ่ง ธรรมนี้เป็นความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาซึ่งในที่สุดแล้วมนุษย์ต้องเข้าถึงได้ด้วยความรู้ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นมันจะกลายเป็นเรื่องแต่ละบุคคล เป็นเรื่องเฉพาะตัวเฉพาะตัว ส่วนวินัยนั้นเป็นเรื่องของระเบียบการจัดหมู่คณะ การจัดระเบียบระบบสังคมเพราะฉะนั้นวินัยก็จึงเป็นเรื่องของสังคม ในแง่นี้เราจะเห็นความต่างกันว่า ธรรมเป็นเรื่องของบุคคล วินัยเป็นเรื่องของสังคม นี่ก็เป็นแง่ต่างๆ ของควรทราบเกี่ยวกับธรรมและวินัย ถ้าเรามองพระพุทธศาสนาก็ต้องมองให้ครบทั้งสองด้าน ทั้งด้านธรรมและก็ด้านวินัย ถ้ามิฉะนั้นแล้ว การมองของเราจะขาดไป เช่นมองเห็นว่า ธรรมนี่เป็นเรื่องของบุคคลหรือพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของบุคคล ตลอดจนกระทั่งมองว่าพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของจิตใจเท่านั้น แต่ที่จริงไม่ใช่เช่นนั้น แสดงว่าเรานี้มองด้านเดียวของพระพุทธศาสนา ที่แท้แล้วพระพุทธศาสนามีองค์ประกอบอีกด้านหนึ่งก็คือ วินัย ด้วย วินัยนี้ ถ้าเรามองเห็นเราก็จะรู้ว่า พระพุทธศาสนานั้นเกี่ยวกับเรื่องสังคมด้วย เกี่ยวกับเรื่องระบบด้วย และเกี่ยวกับเรื่องรูปแบบ เกี่ยวกับเรื่องรูปธรรม ถ้ามองในแง่นี้ก็คือ ธรรมนั้นก็คือเป็นสาระ เป็นตัวแก่น เป็นตัวเนื้อหา และก็วินัยก็เป็นเรื่องรูปแบบเป็นเหมือนสิ่งที่ห่อหุ้มไว้ ซึ่งเราจะเปรียบเทียบได้หลายอย่าง ถ้ามองว่าธรรมนี้เป็นเนื้อหา เหมือนกับเนื้อของผลไม้ วินัยนั้นก็เหมือนกับเปลือกหุ้ม เราจะบอกว่าเปลือกไม่มีประโยชน์ก็ไม่ได้ เพราะถ้าหากว่าไม่มีเปลือกเนื้อก็อยู่ไม่ได้ แต่ในทำนองเดียวกัน ถ้าหากว่าไม่มีเปลือก เนื้อก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน หรือเหมือนภาชนะใส่ของใส่น้ำใส่อาหารสิ่งที่เราต้องการเนื้อแท้ที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ก็คือ น้ำหรืออาหารที่อยู่ในภาชนะ แต่ถ้าไม่มีภาชนะ ไม่มีแก้วน้ำ น้ำหรืออาหารก็อยู่ไม่ได้ อาจจะไม่สำเร็จประโยชน์แก่ชีวิตของเรา เราเอามาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งๆ ที่ว่าเราก็ไม่ได้รับประทานแก้ว ไม่ได้รับประทานภาชนะ แต่เราก็ต้องเห็นคุณค่าของแก้วหรือภาชนะ นี่ก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราต้องมองให้เข้าใจความหมายของสิ่งเหล่านี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงวางไว้ทั้งธรรมและวินัย ธรรมนั้นพระองค์ค้นพบมาแสดงไว้ โดยมากพูดถึงธรรมเราจะบอกว่าแสดง เพราะว่าเป็นของมีจริงๆ อยู่อย่างนั้น ก็เป็นเพียงแสดง แต่วินัยนั้นเป็นสิ่งที่บัญญัติหรือวางกันขึ้นคล้ายๆ ว่า สมมติขึ้นนั้นเอง แม้แต่มองชีวิตของบุคคลในอุดมคติของพระพุทธศาสนา เช่นอย่างมองพระอรหันต์ พระอรหันต์ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นบุคคลที่บรรลุจุดหมายของพระพุทธศาสนาแล้ว เรามักจะมองในแง่ธรรม ถ้ามองในแง่ธรรมเราก็มองว่าท่านเป็นผู้ที่หมดกิเลส บริสุทธิ์ ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นผู้มีปัญญาสูงสุดรู้สัจจะธรรม เราก็มองไปในแง่ของจิตใจในแง่ของส่วนตัวท่าน นี่เป็นการมองในแง่ธรรม แต่อีกด้านหนึ่งละ ด้านวินัยเป็นอย่างไร ด้านวินัยก็คือความสัมพันธ์กับชีวิตหมู่คณะหรือการอยู่ในสังคม ในด้านนี้นอกจากมองถึงพฤติกรรมที่ออกมาจากจิตใจของท่านที่มีเมตตากรุณาเป็นต้น เป็นผู้บริสุทธิ์ มีความประพฤติสุจริตปราศจากมลทินแล้ว ยังจะต้องมองพฤติกรรมในเชิงสังคมที่เกี่ยวกับวินัยด้วย ถ้ามองในแง่วินัยเราจะเห็นว่า พระอรหันต์นั้นก็จะอนุวัตตามหลักวินัยที่บัญญัติวางไว้สำหรับหมู่คณะเป็นผู้ที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินตามวินัยหรือระเบียบแบบแผนในการที่จะให้สังคมนั้น หรือหมู่คณะนั้นหรือชุมชนนั้นดำรงค์อยู่ด้วยดีโดยสันติสุข เช่นหลักของวินัยจะมีว่า ให้ถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นใหญ่ ให้ถือสงฆ์เป็นใหญ่ อันนี้หลักของวินัย หลักวินัยว่าถือสงฆ์เป็นใหญ่ คือถือส่วนรวมเป็นใหญ่ ถือมติที่ประชุมเป็นใหญ่ พระอรหันต์ก็จะต้องเป็นผู้นำในการปฏิบัติตามหลักการนี้ คือในการที่จะถือประโยชน์ของหมู่คณะหรือประโยชน์ของส่วนรวมของสังคมทั้งหมดนี้เป็นสำคัญ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว อันนี้ก็มีความหมายไปถึงว่า เมื่อมีเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อประโยชน์สุขของส่วนรวมของสังคม พระอรหันต์ก็จะเป็นผู้ที่เอาใจใส่อย่างที่เรียกว่า ออกหน้าในการที่จะแก้ไขปัญหาซึ่งเราจะเห็นได้ในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพาน เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพานมีพระภิกษุรูปหนึ่งที่กล่าววาจาแสดงความพอใจว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพานแล้ว เราก็จะประพฤติปฏิบัติอะไรต่างๆ ได้ตามชอบใจ สบายไม่มีคนคอยต้องมาชี้มาจี้ว่าทำนั้นได้ ทำนี่ไม่ได้ เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น ต้องระวังตัวแจ แต่ว่าเมื่อพระองค์ปรินิพานแล้ว ก็โล่งไป พระอรหันต์ในที่นี้คือ พระมหากัสสปะได้ยินคำของพระภิกษุรูปนี้แล้วก็คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมคือตัวพระศาสนาว่า ระยะยาวถ้าหากว่าไม่ได้วางระเบียบแบบแผนไม่ได้รวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ให้เป็นหลักฐานแล้วก็จะไม่มีหลัก ก็จะทำให้ต่างคนต่างประพฤติปฏิบัติตามพอใจ พระศาสนาก็จะเสื่อมโทรมก็เป็นผู้นำยกเรื่องนี้มาประชุมกันเรียกประชุมพระผู้ใหญ่พระอรหันต์พระเถระผู้รับผิดชอบพระศาสนาหรือว่าผู้รับส่วนรวม แล้วก็มาพิจารณาเรื่องนี้แล้ว ตกลงกันว่าให้มีการสังคายนาก็เป็นผู้นำในการสังคายนาประชุมพระสงฆ์ในการรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้า นี่ก็เป็นตัวอย่าง แม้ต่อมาในยุคหลังๆ ก็เช่นเดียวกันมีเหตุการณ์อะไรที่กระทบกระเทือนประโยชน์สุขของสงฆ์ส่วนรวมแล้วพระอรหันต์ก็จะเป็นผู้นำการที่จะจัดประชุมขึ้นพิจารณาเรื่องราวและก็หาทางแก้ไขปัญหา พระอรหันต์รูปใดไม่อยู่ในที่ประชุมนั้น มิได้มาในที่ประชุมก็จะมีเรื่องว่าถูกลงโทษท่านเรียกว่าถูกลงทัณฑกรรมให้ไปทำงานบางอย่างชดใช้อะไรทำนองนี้ นี่ก็เป็นตัวอย่างของการที่มองชีวิตของพระอรหันต์ในแง่ของพระวินัยซึ่งถ้ามองในแง่นี้แล้วเราจะเห็นแง่มุมที่ต่างออกไปเป็นอีกด้านหนึ่ง เพราะนั้นปัจจุบันนี้เรามักจะมองด้านเดียว คือ ด้านธรรม ซึ่งทำให้เกิดข้อบกพร่อง ก็เป็นอันว่าพระพุทธศาสนานี้ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญสองส่วนคือ “ธรรม” กับ “วินัย” และรวมสองอย่างนี้ แล้วก็เรียกว่าเป็นพระพุทธศาสนาและก็เรียกรวมๆ ว่า พระธรรมวินัยนี้ เมื่อมองพระพุทธศาสนาก็ต้องมองให้ครบทั้งสองด้าน สำหรับองค์ประกอบสองอย่างคือธรรมวินัยนี้ ที่เป็นระบบของพระพุทธศาสนานี้ อาตมาขอเรียกว่าเป็นการมององค์ประกอบแบบแนวราบหรือแนวนอนคือมองแล้วก็เห็นว่ามีสองอย่างตั้งคู่กันอยู่
ที่นี้มองอีกแบบหนึ่งมองระบบของพระพุทธศาสนาแบบแนวตั้งบ้าง แบบแนวตั้งหรือมองเป็นวงจรก็ได้ มองเป็นตัวขั้นตอนที่เป็นลำดับต่อเนื่องกันไป แล้วก็หมุนเป็นวงกลม ถ้ามองในแง่นี้ก็จะได้ระบบของพระพุทธศาสนาอีกแบบหนึ่งซึ่งที่จริงก็อันเดียวกันนั้นแหละ แต่เป็นการที่ว่ามองแทนที่จะมองแนวราบก็มองแนวตั้ง มองแนวตั้งหรือมองแบบวงจรที่เป็นลำดับขั้นตอนนี้ ก็จะมีคำที่เรียกพระพุทธศาสนาอีกแบบหนึ่งว่า เป็นสัทธรรม ๓ สัทธรรม ๓ นี้ ประกอบด้วยอะไรบ้าง ประกอบด้วย ๑) ปริยัติ ๒) ปฏิบัติ ๓) ปฏิเวธ อันนี้ก็เป็นคำที่เรียกพระพุทธศาสนาได้อย่างครบถ้วนเช่นเดียวกัน เพราะว่าพระพุทธศาสนาก็มีนี่แหละ ประกอบด้วยองค์ประกอบสามอย่าง ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ที่เป็นขั้นตอนต่อเนื่องกัน ปริยัติคืออะไร ปริยัติเราแปลกันง่ายๆ ว่า การเล่าเรียน แต่ในที่นี้มีความหมายพิเศษเฉพาะเป็นศัพท์วิชาการหรือเป็นเทคนิคคอลเทอม (Technical term) ก็หมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะต้องเล่าเรียน คำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะต้องเล่าเรียนก็หมายความว่า สิ่งที่พระองค์สั่งสอนทั้งหมดนั้นหนะ เรารวมมาไว้แล้ว เราก็เรียกกันว่า ปริยัติ อย่างคำสอนในพระไตรปิฏกทั้งหมดนี้ ก็รวมเรียกว่าเป็น ปริยัติ ในสมัยก่อนนี้เมื่อพระพุทธเจ้าดำรงค์พระชนม์อยู่เราก็อาจจะไปฟังคำสอนจากพระองค์โดยตรง แล้วพระองค์ก็จะทรงสอนให้เหมาะกับอุปนิสัยของบุคคลที่เข้าไปหา แต่ในปัจจุบันนี้ พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงดำรงค์พระชนม์อยู่แล้ว ปรินิพานไปนานแล้ว เราจะรู้จักคำสอนของพระองค์ได้ก็จากคำสอนที่นำสืบๆ กันมาที่โดยที่ใช้วิธีการเล่าเรียนต่อกันมานั้นเอง ซึ่งอันนี้ก็คือ ปริยัติ ที่นี้คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เล่าเรียนต่อกันมานี้ ก็เป็นปริยัติ เป็นอันที่ ๑ เป็นสิ่งสำคัญ เป็นตัวเชื่อมโยงเรากับพระพุทธเจ้าให้เรารู้จักพระพุทธเจ้า ถ้าไม่มีปริยัติเราก็ไม่สามารถรู้จักพระพุทธเจ้าได้ ที่นี้พอเราได้เห็นปริยัติรู้ปริยัติคือรู้คำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เราก็สามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง เราอาจจะเรียนปริยัติเพียงแค่จำเป็นแก่การใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติส่วนตัวของเราก็ได้ หรือเราจะเรียนเพื่อจะให้มีความรู้กว้างขวางสามารถที่จะนำไปสั่งสอนผู้อื่นเรียกว่าเป็นคลังของความรู้ คลังปริยัติอะไรทำนองนั้นก็ได้ แต่ว่ารวมแล้วก็คือ ว่าเล่าเรียน เมื่อเล่าเรียนแล้วเราก็เอาไปใช้ก็คือการปฏิบัตินี้ ปริยัติก็เป็นฐานแก่การปฏิบัติ เมื่อเราเรียนเท่าที่จำเป็นเราก็ปฏิบัติตามนั้น คือปริยัติก็สัมพันธ์กับการปฏิบัติ ในแง่ที่ว่าเรียนเพื่อเอาไปปฏิบัติ เช่นว่าเรียนจากครูอาจารย์ครูอาจารย์แม้ว่าจะรู้มากมายแต่ท่านก็สอนเราในบางกรณีท่านเห็นว่าควรจะรู้เพียงเท่านี้ ท่านก็เลือกให้เพียงที่ว่า เท่าที่เราจะต้องใช้ปฏิบัติเท่านั้น อันนี้ก็เรียกว่าเราฝากความไว้วางใจไว้แก่พระอาจารย์ในด้านปริยัติให้ท่านเป็นผู้ที่ถ่ายทอดปริยัติ เลือกปริยัติให้เรา แต่ก็นี่ก็ รวมแล้วก็คือการที่ต้องรู้ปริยัติได้บ้างไม่มากก็น้อยแล้วก็นำไปปฏิบัติ คือนำไปลงมือทำ เมื่อลงมือทำปฏิบัติไปตามนั้นแล้วก็เกิดความสำเร็จขึ้นมาก็เป็นผล ผลที่สำเร็จจากการปฏิบัตินี้ ที่เป็นจุดมุ่งหมายแท้จริงในทางพระพุทธศาสนาที่ถือว่าเป็นผลสำเร็จ จริงๆ ก็ท่านเรียกว่า มรรคผลนิพพาน แต่นี้ผลในระหว่างนั้น ก่อนที่จะถึงขั้นสูงสุดที่นับเป็นผลอันเป็นเนื้อแท้จริงๆ นั้นก็จะมีผลในระหว่างอีกมากมายเป็นความก้าวหน้าในทางปฏิบัตินั้น ที่นี้ผลที่เป็นเนื้อแท้จริงๆ เนี่ยก็เป็น ปฏิเวธ คือการเข้าถึง หรือการแทงตลอดคือการที่มีปัญญารู้สัจจะธรรมจนกระทั่งรู้ผลแก่ชีวิต เพราะนั้นปฏิบัติก็นำไปสู่ปฏิเวธ คือผล ก็รวมแล้ว เมื่อครบสามอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าครบวงจร ก็เป็นระบบของพระพุทธศาสนาแบบหนึ่ง มีปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ปริยัติ คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เราต้องเล่าเรียน แล้วก็ปฏิบัติก็คือการนำเอาคำสอนที่เราเล่าเรียนนั้นมาใช้มาลงมือทำ แล้วปฏิเวธก็คือการบรรลุผลสำเร็จจาการปฏิบัตินั้น ก็เป็นอันว่า นี่เป็นระบบของพระพุทธศาสนาในอีกรูปหนึ่งที่เราใช้ชื่อเรียกว่า สัทธรรม ๓ ประการ อาตมาก็จะขอผ่านไป
ที่นี้ขอมองแคบเข้าไปจำกัดวงเข้าไป เมื่อกี้นี้ได้พูดถึงว่า ระบบของพระพุทธศาสนาข้อที่ ๑ นั้น มองตามแนวราบก็เป็นธรรมกับวินัย ได้คู่หนึ่ง นี้ข้อที่ ๒ นั้น มองตามแนวตั้งหรือเป็นวงจรเป็นลำดับขั้นตอนต่อเนื่องกันไปก็เป็นสาม ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธที่นี้ในแง่ที่ว่า แยกเป็นธรรม กับวินัยนั้น ได้บอกแล้วว่า ตัวแท้ตัวจริงก็คือธรรม วินัยนั้นก็เป็นสิ่งที่บัญญัติวางขึ้นมาเพื่อให้การเข้าถึงธรรมนั้นได้เกิดผลจริงจังหรือว่าบัญญัติขึ้นเพื่อธรรมนั้นเอง คนจะได้เข้าถึงธรรมได้ มิฉะนั้นธรรมก็มีอยู่ตามธรรมชาติเราบัญญัติวินัยขึ้นเพื่อช่วยให้คนไปเข้าถึงธรรมนั้น ที่นี้ในแง่ธรรมนี้ ก็เลยอยากจะมาแยกอีกให้เห็นระบบของธรรม ตัวธรรมะนั้นถ้าจะให้เห็นตัวระบบก็มองในแง่ว่าตัวธรรมนั้นมีอะไรบ้าง ได้แก่ สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นเอง เราก็มองว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ที่นี้พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไรนี่ ถ้าจะตอบกันแบบว่าบรรยายมันก็ไม่รู้มีสิ้นสุดคือมากมายเหลือเกิน ธรรมต่างๆ ที่ตรัสรู้นำมาสอนนั้นก็นำมาพูดกันได้ไม่มีที่สิ้นสุดก็ต้องหาวิธีที่จะพูดให้รวบรัดหรือเป็นคำสรุปและก็การสรุปนี้ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้เอง นี้เราก็ดูว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร นั้นก็เป็นระบบคำสอนของพระองค์ในแง่ธรรม เมื่อตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จออกประกาศพระศาสนา พระองค์ได้ทรงปรารภว่า ธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้นี้ลึกซึ้งเข้าใจได้ยากมองเห็นได้ยากโดยเฉพาะหมู่สัตว์ทั้งหลายประชาชนที่มีความหลงระเริงอยู่ในความสุขความสำราญอย่างชาวบ้านก็ยากที่เข้าถึงความจริงอันนี้ได้ ทำให้พระองค์ได้ทรงโน้มพระทัยไปว่าจะไม่ทรงสั่งสอน นี่เป็นขั้นต้น ที่นี้ธรรมที่พระองค์ตรัสว่าพระองค์ได้ตรัสรู้นั้นก็เข้าใจได้ยากลึกซึ้งนี้พระองค์ก็ได้ขยายความไว้เสร็จว่าได้แก่ ๑. หลักอิทัปปัจยตา ปฏิจสมุปบาท จะเรียกอิทัปปัจยตา ก็ได้ ปฏิจสมุปบาทก็ได้ สองคำนี้บางที่เราใช้เป็นชื่อเรียกโดยเรียกได้ตามความพอใจถือเป็นไวพจน์สำหรับหลักการอันเดียวกัน ถ้าพูดกันง่ายๆ ก็คือ หลักเป็นไปตามเหตุปัจจัย อันนี้ก็เป็นหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาคือการที่สิ่งทั้งหลายนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย หลักเหตุผล นั่นเอง แล้วก็ประการที่ ๒ ที่พระองค์ตรัสรู้แล้วก็ประชาชนทั้งหลายเข้าใจได้ยากก็คือ พระนิพพาน ก็เป็นอันว่ามี ๒ อย่าง คือ ๑. “อิทัปปัจยตา ปฏิจสมุปบาท” กับ ๒. “นิพพาน” อิทัปปัจยตา ปฏิจสมุปบาท นั้นก็เป็นหลักการใหญ่ครอบคลุมธรรมชาติทั้งหมดในส่วนที่เป็นเรียกว่า “สังขตธรรม” หรือเป็นตัวสังขารหรือเป็นสิ่งที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็พ้นไปจากนั้นก็คือ นิพพาน ซึ่งเป็นสภาวะธรรมชาติแต่ว่าเป็นส่วนของอสังขตธรรมก็สองอย่างนี้แหละรวมแล้วก็เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นคำสอนทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าได้นำมาประกาศเรียกว่าสาระสำคัญหรือแก่นแท้ของตัวธรรมที่พระองค์ได้สั่งสอนเนี้ยเกิดจาการตรัสรู้ก็คือ อันนี้แหละ นี่ก็เป็นการมองตัวธรรมให้เห็นหลักการใหญ่ก่อนคือ กฎธรรมชาติกับสภาวะที่เป็นจุดหมายเมื่อรู้กฏธรรมชาตินั้นแล้วเราก็จะเข้าถึงภาวะที่เรียกว่า นิพพาน ๒ อันนี้เป็นแก่นแท้เป็นสาระที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา เรียกได้ว่า เป็นตัวธรรมล้วนๆ หรือแก่นธรรม ที่นี้อาตมาก็จะขอผ่านไป ในที่นี้เราจะไม่ลงไปในรายละเอียดว่า อิทัปปัจยตา ปฏิจสมุปบาท เป็นอย่างไร นิพพานเป็นอย่างไร เพราะว่าเป็นเรื่องที่มีความหมายลึกซึ้งเวลาเราเรียนกันจริงเราก็ไปเที่ยวเรียนในหลักปลีกย่อยต่างๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อจะมาเข้าถึงหลักใหญ่อันนี้นั้นเอง พอพูดหลักใหญ่เพียงเท่านี้แต่ว่ารายละเอียดที่จะต้องเรียนนั้นมากมายเหลือเกิน
ที่นี้อาตมาขอผ่านไปสู่ระบบที่วางหรือว่ามองได้ในแบบที่ ๔ คือมองธรรมนั้นในอีกรูปแบบหนึ่งหรือในอีกระบบหนึ่ง สำหรับสิ่งที่จะจัดถือได้ว่าเป็นระบบอันที่ ๔ นี้ ก็คือว่า เราเอาตัวธรรมหรือแก่นธรรมนั้น ที่มันเป็นเรื่องของสภาวะตามธรรมชาติ กฎตามธรรมชาตินั้นมาจัดให้เหมาะกับการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ หรือมาจัดวางขึ้นพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ในการที่จะนำมาใช้ในชีวิตจริงเพื่อเขาจะได้ปฏิบัติตามได้ดำเนินตามได้ นี้ตัวธรรมเมื่อนำมาจัดวางเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ในเชิงปฏิบัติการนี้ก็จะออกมาในรูปแบบหนึ่งได้แก่หลักที่เรียกว่า “อริยสัจจ์ ๔” อริยสัจจ์ ๔ พร้อมทั้งนำหน้า ที่เรียกว่า “หลักพระรัตนตรัย” ก็เรียกกันง่ายๆ ว่า พระรัตนตรัยหรือรัตนตรัยและอริยสัจจ์ ๔ อันนี้ก็เป็นระบบใหญ่ของพระพุทธศาสนาครอบคลุมหมดทั้งสิ้น ตัวแท้ตัวจริงนั้นสิ่งที่ท่านต้องการก็คือ ตัวอริยสัจจ์ คือ หลักความจริงทั้งที่มีอยู่ ตามธรรมชาติแล้วก็ที่จัดวางเป็นข้อปฏิบัติสำหรับมนุษย์จะได้เข้าถึงธรรมชาตินั้น แต่ที่นี้เพื่อจะได้นำให้มนุษย์เข้าถึงอริยสัจจ์ท่านก็วางหลักพระรัตนตรัยไว้ให้เป็นตัวนำ ก็เลยรวมสองอย่างนี้เข้าเป็นระบบพระพุทธศาสนาทั้งหมด พระรัตนตรัยนั้น ถ้าพูดเป็นภาษาง่ายๆ เราเรียกได้ว่าเป็น หลักของศรัทธา ส่วนอริยสัจจ์เป็นหลักของปัญญา เราก็จะเห็นหลักสำคัญในเชิงปฏิบัติก็คือว่า เป็นเรื่องศรัทธาอย่างหนึ่ง แล้วก็ปัญญาอย่างหนึ่ง ศรัทธาก็อยู่ช่วงต้น ตอนที่เกี่ยวข้องกับพระรัตนตรัยตัวเชื่อมโยงเราเข้ากับพระรัตนตรัยก็ศรัทธา แล้วก็ตัวเชื่อมโยงเราเข้ากับอริยสัจจ์ก็คือ ปัญญา แล้วเมื่อเรามีศรัทธาในพระรัตนตรัย ศรัทธาในพระรัตนตรัยนั้นก็จะได้นำเราไปสู่ปัญญาที่รู้อริยสัจจ์รู้ทั้งในแง่ที่ว่ารู้เข้าใจรู้เข้าแล้วก็รู้ที่จะปฏิบัติ แล้วก็รู้ด้วยการเข้าถึงความจริงแล้วก็ได้รับผลสำเร็จด้วย ที่นี้หลักพระรัตนตรัยกับอริยสัจจ์นี้ก็เป็นสิ่งที่ควรจะอธิบายให้เข้าใจ เมื่อกี้ได้บอกว่าเป็นการนำเอาเนื้อธรรมนี้มาจัดวางเพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติของมนุษย์เพราะอย่างหลักอิทัปปัจยตา ปฏิจสมุปบาท และนิพพานนั้นเป็นตัวสภาวะเป็นกฎธรรมชาติ เราจะเข้าถึงได้อย่างไร ไม่มีเครื่องนำทางไม่มีตัวเชื่อมโยงชัดเจนเพราะฉะนั้นท่านจึงต้องนำมาจัดวางเป็นระบบที่เรียกว่า อริยสัจจ์ พอนำมาเป็นระบบที่เรียกว่า อริยสัจจ์ เราจะเห็นทางปฏิบัติชัดเจน คือเราจะเห็นว่าท่านวางเอาทุกข์ ตัวปัญหาของมนุษย์ขึ้นเป็นอันดับแรก ก็คือ สิ่งที่มนุษย์จะต้องประสบเป็นตัวปัญหาก็เริ่มจากปัญหาของมนุษย์สิ่งที่มนุษย์จะต้องเผชิญเราก็เจอปัญหาเข้าก่อน ท่านก็ตั้งตัวปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ทุกข์” หรือปัญหานี่ขึ้นมา พอเราประสบตัวปัญหาคือทุกข์แล้วเผชิญแล้ว มันก็เป็นตัวเริ่มต้นให้แก่เราได้ พอมาถึงตัวนี้เราเริ่มต้นได้แล้ว ทางปฏิบัติการที่จะเข้าใจการนำมาใช้ประโยชน์แก่ชีวิต ก็เริ่มได้ทันที พอเริ่มจากทุกข์ปัญหา ท่านก็บอกต่อไปว่า ปัญหาหรือปรากฏการณ์ที่เราเผชิญนี้มันมีสาเหตุให้สืบสาวลงไป เพราะนั้นจากทุกข์ก็กลายเป็นว่า ทุกข์เป็นปรากฎการณ์ที่เป็นส่วนผล เราก็จะต้องสืบสาวลงไปหาเหตุ เหตุของทุกข์สืบสาวลงไปแล้ว ไอ้ตัวสาเหตุนี้ท่านเรียกว่า “สมุหทัย” เพราะฉะนั้นอริยสัจจ์ที่ ๒ ก็คือ สมุหทัย แล้วต่อไปเมื่อเราสืบสาวหาเหตุของทุกข์หรือตัวปัญหาตัวสาเหตุของปัญหาได้แล้ว ที่นี้ก็มองในแง่จุดหมายบ้าง คือด้านตรงข้าม ด้านตรงข้ามกับทุกข์ หรือปัญหาก็คือสภาวะที่ไร้ปัญหาหรือความดับทุกข์ อันนี้ก็จะมองในแง่ส่วนผลที่ต้องการ เมื่อกี้นี้เราเริ่มด้วยหลักปรากฏการณ์ที่เป็นผลคือ ทุกข์ ซึ่งเป็นส่วนที่มันเป็นปัญหาแก่เรา ที่นี้เราก็ผ่านอันนั้นไปแล้ว จนหาเหตุไปแล้ว ก็มามองในด้านตรงข้ามก็คือว่าส่วนที่เราต้องการสภาวะที่เรามุ่งประสงค์เป็นจุดหมาย อันนี้เราก็วางลงไปก็ได้แก่อริยสัจจ์ที่ ๓ ที่เรียกว่า “นิโรธ” พอเราวางเป้าหมายได้ เรามีความเข้าใจว่า ตัวจุดหมายนี้ เป็นสิ่งที่เราควรจะเข้าถึง ท่านก็บอกว่าให้ดำเนินตามหลักการของเหตุปัจจัยอีก หรือเหตุและผลอีก เมื่อนิโรธ หรือภาวะไร้ปัญหาดับทุกข์นี้เป็นผลที่เราต้องการเราก็จับหาตัวเหตุคือ ข้อปฏิบัติที่จะนำเราไปสู่ความดับทุกข์ หรือเข้าถึงจุดหมายนี้ ก็จะได้อริยสัจจ์ข้อที่ ๔ คือ “มรรค” ก็เป็นคู่กัน คู่ที่ ๑ ก็ คือทุกข์เป็นผล สมุหัยเป็นเหตุ และคู่ที่ ๒ นิโรธเป็นผลมรรคเป็นเหตุ คู่แรกนั้นเป็นฝ่ายที่ไม่พึงประสงค์เป็นสิ่งที่เราเผชิญอยู่ก่อนเป็นตัวพื้นเดิม เสร็จแล้วฝ่ายคู่ที่สองก็เป็นคู่ที่เราต้องการ แล้วก็เป็นคู่ที่เราจะต้องปฏิบัติด้วย อันนี้ก็เกิดความชัดเจนในเชิงปฏิบัติขึ้นมาซึ่งเมื่อถ้าเราเทียบกับหลักที่กล่าวมาเมื่อกี้ คือสาระหรือเนื้อแท้ของพุทธศาสนา ที่ว่า อิทัปปัจยตา ปฏิจสมุปบาท และนิพพาน อริยสัจจ์ ๔ นั้นก็คือ รูปแบบที่มาจัดวางเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ซึ่งก็โยงไปหาหลัก อิทัปปัจยตา ปฏิจสมุปบาท และนิพพานนั้นเอง เพราะว่า สมุทัยนั้นก็คือ กระบวนการของปฏิจสมุปบาท ท่านก็จะบอกว่าที่ทุกข์เกิดขึ้นมานั้นปัญหาเกิดขึ้นมาเพราะกระบวนการของเหตุปัจจัยอย่างไร แล้วก็ปลายสุดของกระบวนการเหตุปัจจัยนี่ก็ออกเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นอิทัปปัจยตา ปฏิจสมุปบาทในสายหนึ่งก็จะออกมาเป็น “ทุกข์กับสมุทัย” หรือสมุทัยแล้วนำไปสู่ทุกข์ ที่นี้ อิทัปปัจยตา ปฏิจสมุปบาทนั้นแหละ เมื่อจัดวางในรูปที่เรียกว่า ปฏิโลม ย้อนกลับมันก็จะได้คู่ที่สองเกิดขึ้น คือการปฏิบัติตามมรรคนั้นจะทำให้เกิดกระบวนการธรรมชาติที่เรียกว่า เป็นอิทัปปัจจยตา ปฏิจสมุปบาท ฝ่ายย้อนกลับ แล้วก็เกิดผลคือ นิโรธ และก็ เมื่อถึงนิโรธ ก็เข้าถึงนิพพาน ก็เป็นอันว่า หลักอริยสัจจ์นี้ก็เป็นรูปหรือระบบที่จัดให้มนุษย์นำมาใช้ปฏิบัติได้ซึ่งก็คือ รูปแสดงของอิทัปปัจยตา ปฏิจสมุปบาท และนิพพานนั่นเอง ที่นี้ก่อนที่มนุษย์จะเข้ามารู้เข้าใจอริยสัจจ์ ๔ นี้ และก็จะปฏิบัติตามได้เราก็ควรจะมีเครื่องหมายนำเข้ามา สิ่งที่จะช่วยนำเข้ามานั้น ก็คือ พระรัตนตรัย ซึ่งอาศัยศรัทธาความเชื่อนี้พระรัตนตรัยนั้น ก็เป็นหลักที่บ่งบอกถึงธรรมชาติของมนุษย์นี่แหละที่ว่าจะสามารถมารู้เข้าใจอริยสัจจ์ได้และก็รู้ความจริงที่เข้าถึงหลักอริยสัจจ์ได้ นี่ถ้าหากว่า คนมีศรัทธาตามหลักพระรัตนตรัยอย่างแท้จริงแล้วจะเป็นไปเองอัตโนมัติที่เขาจะมาปฏิบัติตามหลักอริยสัจจ์และเข้าถึงความจริงของอริยสัจจ์ที่กล่าวอย่างนี้ ก็เพราะอะไร ก็เพราะว่า ความหมายของพระรัตนตรัยนั้นจะเชื่อมโยงมาหาอริยสัจจ์นี้เอง อันนี้เป็นอย่างไร ก็ขออธิบายความหมายของพระรัตนตรัยเล็กน้อย ความจริงในหัวข้อก่อนก็ได้พูดถึงพระรัตนตรัยไปบ้างแล้ว พูดในที่นี้ ก็เหมือนเป็นการทบทวนพระรัตนตรัยนั้นก็ประกอบด้วย พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าคือใคร ได้บอกแล้วว่า พระพุทธเจ้าก็คือมนุษย์ ที่ท่านได้ฝึกฝนพัฒนาตนจนกระทั่งบรรลุถึงความสูงสุดแห่งศักยภาพซึ่งแบ่งเป็นแบบอย่างให้มนุษย์ได้ระลึกถึงและเตือนใจตนเกิดกำลังใจว่าเรานี้เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ พัฒนาตนได้ มีศักยภาพจะพัฒนาตนได้สูงสุดดังมีพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง อันนี้เมื่อเราเชื่อในพระพุทธเจ้าเราก็เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ด้วยก็หมายความว่าเราก็มองเห็นว่า เราจะสามารถพัฒนาตนได้แก้ปัญหาของมนุษย์ได้อันนี้เป็นหลักการที่ ๑ ทำให้เกิดความมั่นใจที่จะแก้ไขปัญหาที่จะแก้ปัญหาคือความทุกข์หรือสิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญเป็นความบีบคั้นติดขัดคับข้องทั้งหลาย ที่นี้ต่อไปข้อที่ ๒ จากพระพุทธเจ้าก็มาสู่พระธรรม ก็จะบอกว่า การที่พระพุทธเจ้าพัฒนาพระองค์ได้จนกระทั่งเป็นผู้ที่ประเสริฐสุดเราเรียกว่าเป็นพุทธะ อันนี้ก็เป็นเพราะว่า พระองค์รู้เข้าใจธรรมคือหลักความจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติแล้วก็นำความรู้ในกฎธรรมชาตินั้นมาใช้ประโยชน์ นำมาประพฤติปฏิบัติธรรมทำตามหลักเกณฑ์ของความเป็นไปตามหลักเหตุปัจจัยนั้น พัฒนาพระองค์ขึ้นมาตามหลักของกฎธรรมชาตินั้นเอง เพราะนั้นหลักพุทธะก็โยงไปสู่หลักที่ ๒ คือ ธรรม เมื่อเราต้องการพัฒนาศักยภาพของเรา เราก็ต้องปฏิบัติตามหลักธรรม ต้องถือธรรมเป็นแนวนำในการที่จะมาดำเนินชีวิตของตนเอง นี่ต่อไปเมื่อนึกถึงธรรมเตือนใจของเราว่าให้ปฏิบัติตามหลักการเหตุผลเข้าใจกฏธรรมชาติแล้วก็มองในแง่ของสังคมมนุษย์ก็คือ การที่มองว่า มนุษย์ทั้งหลายนอกจากพระพุทธเจ้าแล้วที่เป็นตัวอย่าง แบบอย่างเป็นผู้นำนั้นก็มีตัวอย่างบุคคลที่สามารถพัฒนาตนตามอย่างนั้นแล้วก็เข้าถึงสัจจธรรมมีความก้าวหน้าในการดำเนินชีวิตที่ดีงามนั้นในระดับต่างๆ คือหมายความว่า มีคนที่พัฒนาตนในระดับต่างๆ หรือแม้กำลังพัฒนาตนอยู่ได้จริงๆ โดยใช้หลักการของธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น คนเหล่านี้จะประกอบกันขึ้นเป็นชุมชนที่ดีงาม ซึ่งชุมชนอย่างนี้ ถ้ามีแล้วก็จะเป็นชุมชนที่ดีจริงๆ เป็นชุมชน หรือสังคมแบบอุดมคติ เป็นชุมชนที่น่าปรารถนาเป็นชุมชนที่มีสันติสุขอย่างแท้จริง ชุมชนอย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่ให้กำลังใจในแง่ที่ว่า เมื่อเป็นสิ่งที่ดีจริงเราก็ควรพยายามสร้างให้เกิดขึ้น แล้วก็เป็นชุมชนที่เป็นเครื่องพิสูจน์แสดงผลปรากฏของการที่มนุษย์ได้เพียรพยายามนำเอาหลักกฎธรรมชาติ หรือ ธรรมนั้นมาปฏิบัติให้เห็นผลจริง เป็นเครื่องพิสูจน์ผลการปฏิบัติตามธรรมนั้น และเมื่อปฏิบัติตามแล้วชุมชนนี้ก็จะดำรงค์รักษาธรรมเอาไว้ทำให้ธรรมนี้ปรากฏอยู่ในโลกทำให้ธรรมถ่ายทอดบอกต่อๆ กันไป ชุมชนคือสงฆ์นี้ ก็เป็นอุดมคติเป็นหลักการหนึ่งก็จริงเป็นหลักที่เรียกว่า รัตนตรัยข้อที่สาม ก็รวมกันเรียกว่า พระพุทธเจ้า พระธรรมและ พระสงฆ์ หลักพระรัตนตรัยนี้ เราจะต้อรู้เข้าใจพอสมควร เมื่อเรารู้เข้าใจดี เราก็เกิดความเชื่อมั่นเมื่อเรามั่นใจในพระรัตนตรัยแล้วเราก็จะต้องปฏิบัติตามหลักอริยสัจจ์ ต้องรู้อริยสัจจ์ อันนี้เป็นหลักธรรมดา เพราะว่า ข้อที่ ๒ นั้นบ่งบอกอยู่แล้วว่า การที่เราจะพัฒนาศักยภาพได้สูงสุดนั้น เราจะต้องปฏิบัติตามหลักกฎธรรมชาติ ที่เรียกว่า ธรรม เราจะต้องรู้เข้าใจ ธรรม ที่นี้ตัว ธรรมนั้น ก็นำมาขยายออกในรูปที่เรียกว่าอริยสัจจ์นั้นเอง เมื่อเราตกลงใจว่า เราจะต้องรู้เข้าใจหลักความจริงของธรรมชาติ ปฏิบัติตามหลักเหตุปัจจัยนั้น ก็นำมาขยายออกในรูปของการปฏิบัติหรือว่าเป็นระบบในเชิงปฏิบัติการก็ออกมาในรูปของอริยสัจจ์ ก็เริ่มตั้งแต่การเผชิญกับปรากฏการณ์ที่เป็นปัญหาคือทุกข์นั้น แล้วก็สืบสาวหาเหตุ ได้แก่ สมุทัย แล้วก็ได้พบกระบวนการอิทัปปัจยตา ปฏิจสมุปบาท พอเราพบกฎเกณฑ์อันนี้แล้ว เราก็ย้อนกฎเกณฑ์นี้กลับในทางตรงข้ามเราก็กลับได้ผลในคู่ที่ ๒ ก็คือว่า ได้มรรคเป็นข้อปฏิบัติเพื่อที่จะให้เกิดปฏิจสมุปบาทย้อนกลับนี้แล้วก็นำไปสู่ผลคือนิโรธ เข้าถึงจุดหมายคือ นิพพาน เพราะนั้น หลักอริยสัจจ์นี้ ก็เป็นระบบพระพุทธศาสนาอีกระบบที่วางในเชิงปฏิบัติการเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ อันนี้ก็เลยโยงเข้าไปหาหลักพระรัตนตรัยเพื่อจะเป็นตัวช่วยนำไปหาอริยสัจจ์ด้วย เมื่อเรามีศรัทธาในพระรัตนตรัยแล้ว ศรัทธานั้นก็จะนำเรามาสู่ปัญญาที่รู้อริยสัจจ์ ถ้าเราเข้าใจหลักพระรัตนตรัยผิด หลักพระรัตนตรัยนั้นก็จะไม่นำเข้าสู่ปัญญาที่รู้อริยสัจจ์ ก็จะเป็นพระรัตนตรัยที่ไม่ถูกต้อง อันนี้ก็เป็นอีกระบบหนึ่ง คือระบบเดียวกันแต่ว่าเป็นการจัดในรูปแบบที่บอกเมื่อกี้ว่า เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติของมนุษย์ ก็นี้ก็คือ ระบบของพระพุทธศาสนา เป็นภาพรวมที่อาตมานำมาอธิบายไว้ในที่นี้เข้าใจว่าท่านผู้ฟังก็คงจะมองเห็นภาพรวมของพระพุทธศาสนาพอสมควร ถ้าหากว่าเข้าใจตามนี้แล้วอาตมาก็จะถือว่า เรื่องระบบของพระพุทธศาสนานี้จะผ่านไปได้ เมื่อเรามองเห็นระบบของพระพุทธศาสนาแล้ว ต่อไปนี้เราก็มามองดูว่า อ้าวแล้วข้อปฏิบัติทางจิตใจเนี้ยอยู่ในส่วนไหนของระบบที่ว่านี้
ตอนนี้อาตมาจะโยงให้ดู ที่อาตมาได้พูดมาตั้งแต่ข้อธรรมวินัยจนถึงข้อสุดท้ายคือ พระรัตนตรัยและอริยสัจจ์ ๔ ตอนจุดสุดท้ายนี้แหละจะมองเห็นชัดเจนเพราะบอกแล้วว่า อริยสัจจ์ ๔ นั้นเป็นรูปของตัวธรรมที่นำมาจัดวางเพื่อประโยชน์ทางปฏิบัติการของมนุษย์เพื่อประโยชน์ที่แท้จริงแก่ชีวิตนี้ แม้แต่ในการสั่งสอนอธิบายก็อธิบายในรูปอริยสัจจ์มนุษย์จะได้เข้าใจได้ง่ายนำไปปฏิบัติการก็ปฏิบัติตามแนวอริยสัจจ์ นี้ตัวเชื่อมโยงที่เราจะเห็นง่ายมาสู่ข้อปฏิบัติก็อยู่ในอริยสัจจ์นั่นเอง อริยสัจจ์นั้นมี ๔ ข้อ ตอนแรกเราบอกว่า เราเผชิญตัวปัญหาของมนุษย์ คือความทุกข์ เราก็มีจุดเริ่มแล้ว เราก็สืบสาวหาเหตุปัจจัยก็พบกระบวนการอิทัปปัจยตา ปฏิจสมุปบาท คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เกิดปรากฏการณ์ขึ้น และเราก็ตั้งเป้าหมายที่ตรงข้ามกับด้านทุกข์ที่ตรงข้ามกับด้านปัญหาก็คือ ภาวะสิ้นปัญหา ไร้ปัญหา แล้วก็เลยวางเป็นข้อปฏิบัติขึ้นมา เรียกว่า มรรค ได้อริยสัจจ์ข้อที่ ๔ พอถึงตอนนี้ก็จะเห็นว่า อ๋อ ข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาก็อยู่ในอริยสัจจ์ข้อ ๔ นั้นเอง คือมรรค เพราะถ้าเราปฏิบัติตามมรรคแล้ว มันก็จะเกิดผล คือ กระบวนการปฏิจสมุปบาทย้อนกลับแล้วก็แก้ปัญหาได้ อันนี้ตกลงว่า อริยสัจจ์ข้อที่ ๔ คือมรรคนี่แหละเป็นข้อปฏิบัติทั้งหมดในทางพระพุทธศาสนา แต่ในที่นี้ยังไม่ได้แยกออกไปว่าข้อปฏิบัตินั้นเป็นส่วนใดบ้าง ที่นี้ ในที่นี้เราเจาะจงจะพูดถึงข้อปฏิบัติทางด้านจิตใจ เอาหละอย่างน้อย ตอนนี้เป็นอันว่าจับได้แล้วว่าในระบบทั้งหมดของพุทธศาสนาในข้อสุดท้ายที่จัดวางเป็นอริยสัจจ์ ๔ นั้น หนะ ข้อปฏิบัติทั้งหมดไปรวมอยู่ในข้อที่ ๔ เรียกว่า มรรค เราก็จะเอามรรคนี้แหละมาขยาย ตอนนี้ ก็เป็นอันว่า อาตมาให้มองเห็นระบบของพุทธศาสนาทั้งหมดข้อสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของมนุษย์คือ อริยสัจจ์ ๔ และที่เป็นข้อปฏิบัติก็คือ ข้อที่ ๔ ได้แก่ มรรค แต่ยังเป็นข้อปฏิบัติทั้งหมด ที่นี้เราก็มาแยกข้อปฏิบัติทั้งหมดซึ่งอาจเรียกว่า ระบบปฏิบัติทั้งหมดของพุทธศาสนาที่เรียกว่า มรรคนี้ออกไป แล้วเราก็จะเห็นได้ว่าข้อปฏิบัติทางจิตใจอยู่ที่ไหน
ตอนนี้ก็ถือว่าตัดตอนเอายกเอามรรคออกมา ยกเอามรรคออกมาขึ้นหัวข้อใหม่ไว้ว่าเป็นระบบการปฏิบัติทั้งหมดของพระพุทธศาสนาพอวางเป็นระบบปฏิบัติทั้งหมดของพุทธศาสนคือ มรรค เราก็มาขยายเข้าสู่รายละเอียดของมรรคต่อไป อ้าว ที่นี้มรรคมีรายละเอียดอย่างไร ท่านบอกว่า มรรคนี้มีองค์ ๘ ประการ มรรคมีองค์ประกอบทั้งหมด ๘ ข้อ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น ลงท้ายเป็นสัมมาสมาธิ อันนี้ก็คือระบบข้อปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ที่นี้อาตมาจะยังไม่ชี้ละว่า ข้อปฏิบัติทางด้านจิตใจอยู่ตรงไหน ให้เราดูกันต่อต่อไปก่อน คือว่ามรรคนี้ก็มีสิ่งที่ควรจะเรียนรู้หลายอย่าง เราจะเข้าใจมรรคชัดเจน บางทีเราดูจากชื่อที่ท่านเรียกมรรคต่างๆ บางทีเราก็อาจจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น คือได้มองเห็นมรรคแง่ด้านแง่มุมเพิ่มขึ้น มรรคนั้นบางทีเราเรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” อย่างในตอนที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งแรกที่เรียกว่า ปฐมเทศนา พระองค์ก็บอกว่าพระองค์ได้ตรัสรู้ค้นพบมัชฌิมาปฏิปทาแล้วก็นำมัชฌิมาปฏิปทานี้มาเสนอเพื่อจะแก้ไขการปฏิบัติที่ผิดพลาดที่มีกันมาในยุคสมัยก่อน ซึ่งการที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาแปลว่าทางสายกลางนี้ก็โดยเทียบกับข้อปฏิบัติที่ผิดพลาดในสมัยพุทธกาลนั้นข้อปฏิบัติที่ผิดพลาดถือว่าเอียงสุดหรือไปสุดโต่งสองสายก็มีสายหนึ่งเรียกว่า “กามสุขัลลิกานุโยค” การที่มัวเมาหมกมุ่นในกามสุข แล้วก็สุดทางหรือเอียงสุดที่สองก็เรียกว่า “อัตตกิลมถานุโยค” การทรมานตนเองให้ลำบากทำให้เกิดทุกข์เดือดร้อนเปล่าๆ ที่นี้มัชฌิมาปฏิปทานั้นเป็นทางสายกลางที่พอดี แต่ความหมายที่ต้องการก็คือว่า มัชฌิมาปฏิปทานั้นก็คือข้อปฏิบัติที่พอดีพอดีนั่นเอง มัชฌิมา ที่ว่าสายกลางนั้นก็คือความพอดี พอดีอย่างไร พอดีคือพอดีที่จะให้ถึงจุดหมาย ไม่ใช่ว่าพอดีเพราะไปอยู่ตรงกลางของสองอย่าง ความพอดีนี่สำคัญมาก มันไม่ใช่เป็นเพียงว่าเพราะไปอยู่กลางระหว่างสองอัน ถ้าหากว่าไปอยู่กลางระหว่างสองอันแล้วมันก็ไม่แน่ไม่นอนคือว่าความเป็นกลางนั้นขึ้นอยู่กับสองอย่างนั้นสองอย่างนั้นขยับไปไหนความเป็นกลางก็ขยับตามไปกลางนั้นก็เลยไม่มีจุดยืนไม่มีหลักเกณฑ์ นี้ความเป็นกลางที่แท้จริงนั้นคืออยู่ที่ความพอดี มัชฌิมาหมายความว่า จุดกลางที่พอดีที่จะให้ตรงเป้าหมายที่จะนำไปสู่จุดหมายคือความเป็นอิสระความดับสิ้นปัญหาความไร้ทุกข์ได้ อันนี้ข้อปฏิบัติที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทานี่ก็เป็นข้อปฏิบัติที่พอดีอย่างที่ว่านี้ นี้ก็เป็นคำอธิบายอย่างง่ายๆ นี้เป็นความหมายหนึ่งซึ่งความพอดีนี้ก็อยู่ที่ความที่เรียกว่า มีดุลยภาพเป็นต้น ซึ่งจะไม่ต้องอธิบายในที่นี้ อันนี้ชื่อต่อไปที่เรียก มรรคนี้ บางทีมรรคนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พรหมจริยะ พระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าเองบางครั้งเรียกว่าเป็น พรหมจริยะ เวลาส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาก็ตรัสตอนหนึ่งว่า ให้ไปประกาศพรหมจริยะ หรือเราเรียกกันว่า พรหมจรรย์ พรหมจริยะนี้แปลว่าอะไร ก็ได้แก่คำว่า พรหม บวกกับคำว่า จริยะ จริยะนั้นก็แปลว่า การดำเนินชีวิต หรือเราแปลแบบไทยให้เข้ากับศัพท์ที่ใช้ในปัจจุบันคือ จริยธรรมนั้นเอง จริยะ ก็คือ จริยธรรม ที่นี้จริยนี้มีความหมายที่จะต้องทำความเข้าใจกันเล็กน้อย เพราะอาจเข้าใจผิด เดี๋ยวนี้เรามักจะเข้าใจกันคับแคบ เวลาพูดถึงจริยะเราก็มองเป็นว่าความประพฤติแล้วก็มองความประพฤติในความหมายที่แคบเป็นความเป็นอยู่ร่วมกันการแสดงออกในเชิงสังคมอะไรต่างๆ เหล่านี้ จริยนั้นให้ดูศัพท์ก็จะเข้าใจง่ายขึ้น จริยนั้นก็เป็นเรื่องของรูปศัพท์ทางไวยากรณ์มาจากตัวต้นศัพท์หรือรากศัพท์ว่า จร จร (จะ-ระ) นั้น ในทางรูปธรรมคือตัวศัพท์เดิมเองนั้นเองมันเป็นรูปธรรม มีความหมายว่า เดินไปเดินมาเที่ยวไป พูดกันง่ายๆ ก็คือ เดินนั่นเอง จร ก็เดิน เดินทางหรือท่องเที่ยวไป ที่นี้เดินทางในทางรูปธรรมก็อาจจะเดินตามถนนเดินในป่า เดินในท้องทุ่ง ที่นี้เอามาใช้ในทางนามธรรมก็คือ การดำเนินชีวิตนั่นเอง ดำเนินชีวิตก็เป็นจร นี้มาประกอบรูปศัพท์ทางไวยากรณ์ให้เป็นนาม จรนั้นเป็นกิริยา พอเป็นนามมันก็เป็น จริยะ แปลว่า การดำเนินชีวิต ถ้าเป็นรูปธรรมก็คือ การเดินทาง ถ้าเป็นนามธรรมก็เป็นการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้น จริย ก็คือการดำเนินชีวิต นี้พรหม นั้นแปลว่าประเสริฐหรือที่เป็นอุดมคติ พรหมจริยะ ก็แปลว่า จริยอันประเสริฐหรือจริยะที่เป็นอุดมคติ ก็คือการดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ การดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ ถ้าพูดภาษาไทยง่ายๆ ก็พูดว่า ชีวิตประเสริฐก็ได้ ที่นี้ มรรคนั้นเรียกชื่ออย่างหนึ่งว่า พรหมจริย นี้เอง ก็คือเป็นการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ พระพุทธเจ้าตรัสบอกพระสาวกของพระองค์ให้ไปประกาศพรหมจริย ก็คือให้ไปประกาศแนวทางดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐก็คือการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ ๘ นี้ ซึ่งในแง่ของการปฏิบัติแล้วก็ถือว่าเป็นพุทธศาสนาทั้งหมด เพราะนั้น จริยธรรมอันประเสริฐหรือพรหมจริยะนี้ก็คือ ตัวพระพุทธศาสนาในแง่ปฏิบัติการคือระบบปฏิบัติทั้งหมด เพราะนั้นถ้าเราเอาแง่ปฏิบัติ เราก็ถือว่า ตัวการปฏิบัตินี้เป็นพระพุทธศาสนาและมันก็คือพรหมจริย นั้นเอง เอาละ นี่ก็เป็นชื่อหนึ่งของมรรคมีองค์ ๘ ประการ นี้ต่อไปอีก ในบางแห่งพระพุทธเจ้าตรัสสรุปมรรคมีองค์ ๘ ง่ายๆ เป็นคำสอนแบบชาวบ้านง่ายๆ มรรคมีองค์ ๘ บางที่ก็จำยากมีตั้ง ๘ ข้อ นี้ถ้าหากว่าจะสรุปก็สรุปได้ให้ย่อเหลือ ๓ อย่างก็ได้ ที่นี้ย่อแบบเทคนิคเชิงวิชาการชาวบ้านบางทีก็ต้องไปอธิบายกันอีกบางครั้งพระองค์ก็สรุปเป็นถ้อยคำง่ายๆ ซะเลย อย่างครั้งหนึ่งพระองค์สรุปในคำสอนที่เรามาเทศน์กันในวันมาฆบูชาที่ว่าพระองค์ได้แสดงหลักคำสอนแบบว่าเป็นหัวใจพุทธศาสนาเป็นคำสอนหลักประธานที่เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ ในที่นั้นก็จะมีคาถาหนึ่งที่สรุปคำสอนนี้ หรือ หลักมรรคมีองค์ ๘ หรือพรหมจริย ชีวิตอันประเสริฐนี้ ง่ายๆ บอกว่า ๑. ไม่ทำชั่ว ๒. ทำดี ๓. ทำจิตให้บริสุทธิ์ อันนี้พุทธศาสนิกชนจำง่ายที่สุด เรามักจะเรียกว่า “หัวใจพระพุทธศาสนา” ที่จริง ก็คือคำสรุปของมรรคมีองค์ ๘ ในแง่หนึ่งนั่นเอง จาก ๘ ก็เหลือ ๓ อย่าง อันนี้เป็นบาลีท่านบอกว่า “สพฺพปาปสฺส อกรณํ (สัพพะปาปัสสะ อะการะนัง) การไม่ทำความชั่วทั้งปวง” “กุสลสฺสูปสมฺปทา (กุสะลัสสูปสัมปะทา) การทำกุศลความดีให้ถึงพร้อม” “สจิตฺตปริโยทปนํ (สะจิตตะปะริโยทะปะนัง) ทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส” และมีคำสรุปท้าย บอกว่า “เอตํ พุทฺธาน สาสนํ (เอตังพุททะสาสะนัง)” นี่คือ คำสอนของพระพุทธะทั้งหลาย หรือถ้าจะไม่แปลเป็นไทยจะบอกว่า นี้คือศาสนาของพุทธะทั้งหลาย ศาสนาของพุทธะทั้งหลาย หรือ พุทธานะสาสนะ นั้น เวลาพูดเป็นไทยง่ายๆ ตัดตัวหลักไวยากรณ์ออกเสียก็เหลือว่า พุทธศาสนา เพราะฉะนั้นที่บอกว่าไม่ทำช่วยทำดีทำใจให้ผ่องใส คำสรุปนี้คือพุทธศาสนา เพราะนั้นนี้คือพุทธศาสนาก็มา ณ ตรงนี้ เพราะนั้นพุทธศาสนานั้นคืออะไร พูดอย่างง่ายๆ พุทธศาสนาคือ ไม่ทำชั่ว ทำความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ตกลงที่บอกว่าหัวใจพุทธศาสนาคือ ไม่มำชั่ว ทำความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ก็ใช้ได้ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้เองว่า บอกว่า ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสนี้คือพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสรุปไว้เองอย่างนั้น แล้วก็พุทธศาสนาที่ว่าเป็นคำสรุป ๓ อย่างนี้ ก็คือ มรรคมีองค์ ๘ อันเดียวกันนั้นเอง เอาหละอาตมาก็จะขอผ่านไป
นี้ต่อไปบางครั้งพระพุทธเจ้าสรุปมรรคมีองค์ ๘ นี้ เป็น ๓ เหมือนกันแต่ใช้ศัพท์ที่เราเรียกว่าเป็นวิชาการมากขึ้นเป็นคำศัพท์สั้นๆ ในกรณีนั้น มีชื่อเฉพาะ ๓ อย่างนี้ สั้นๆ สรุปว่า เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญานี้ เวลาเรียกชื่อสั้นๆ เรามักจะเรียกกันว่า “ไตรสิกขา” ก็ออกมาจากรูปของมรรคการดำเนินชีวิตหรือวิถีทางดำเนินชีวิตมีองค์ประกอบ ๘ อย่างก็มาสรุปเป็นข้อปฏิบัติในการฝึกฝนตนเพื่อให้ดำเนินชีวิตอย่างนั้น เป็นหลัก ๓ ประการ คือ ไตรสิกขา ไตรสิกขาแปลว่าคือการศึกษาสามส่วน การศึกษาสามส่วนนั้น ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งก็หมายถึงการฝึกฝนพัฒนาตนในการที่จะให้มีวิถีชีวิตให้เป็นมรรคนั้นเอง มรรคกับไตรสิกขานั้นเนื่องอยู่ด้วยกันเป็นอันเดียวกัน สิกขาคือการฝึกฝนพัฒนา บุคคลหรือพัฒนาตนเอง เพื่ออะไร ก็เพื่อให้มีวิถีชีวิตที่เป็นมรรค คือเมื่อเราดำเนินชีวิตอย่างนั้นแล้ววิถีชีวิตของเราเป็นมรรคแต่การฝึกฝนปฏิบัติให้เป็นอย่างนั้นเรียกว่าเป็นสิกขา ที่จริงก็อันเดียวกัน ฝึกฝนอย่างไร ฝึกฝนปฏิบัติในเรื่องไหน ก็ในเรื่องเหล่านี้แหละ ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อให้เป็นคนที่ชีวิตเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นอันว่า นี่เป็นหลักที่เรียกว่าไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นองค์ประกอบสามอย่างของการศึกษานี่ก็เป็นระบบของพุทธศาสนาเหมือนกัน จากมรรคก็เป็นไตรสิกขาได้ ถ้าเราดูองค์ประกอบสามอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส เวลาท่านเทียบ ท่านจะเทียบง่ายๆ บอกว่า ไม่ทำชั่วก็คือ ศีล ทำดีให้ถึงพร้อมก็คือ สมาธิ แล้วก็ทำใจให้ผ่องใส คือ ปัญญา อันนี้เป็นการ ว่ากันในความหมายสูงสุด เพราะว่าถ้าจะเถียงก็เถียงได้บอกว่า ไม่มำชั่วเอาละเป็นศีล ทำดีเป็นศีลก็มีหนิเป็นระดับความประพฤติก็จริง แต่การที่จะทำดีให้มันเป็นลงลึกให้ลงลึกไปถึงเนื้อแท้มันต้องถึงจิตใจ ต้องพัฒนาให้เป็นคุณธรรมขึ้นมาในจิตใจนั้นที่ว่าทำดีปลูกฝังความดีในภาษาพระท่านใช้คำว่า กุสลสฺสูปสมฺปทา (กุสะลัสสสูปสัมปะทา) หมายความ ทำให้มันเกิดมีขึ้นมาเป็นจริงเป็นจังเต็มที่ขึ้นมาเรียกว่าเข้าถึงกันทีเดียว เพราะนั้นการจะเข้าถึงความดีให้ความดีเกิดขึ้นจริงนั้นมันจะลึกลงถึงจิตใจ เพราะฉะนั้นการทำดีปลูกฝังสร้างความดีนั้นจึงอยู่ในข้อที่เรียกว่า สมาธิ และก็การทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ก็เถียงว่าอ้าวการทำสมาธิก็ทำจิตให้บริสุทธิ์บอกว่าถ้าหากว่าไม่ได้ถึงปัญญาแล้วจิตจะบริสุทธิ์ไม่ได้ คนเราจิตสงบ แต่กิเลสยังอยู่ การที่ว่าทำจิตบริสุทธิ์นั้น ถ้าหากว่าได้แค่สมาธิ ก็เป็นขั้นที่ทำให้ กิเลส อยู่นิ่งเฉยๆ เท่านั้นเอง มันก็ยังอยู่ในจิตใจ การที่จะกำจัดกิเลสให้หมดไปจากจิตใจนั้นต้องถึงขั้นปัญญา เพราะนั้นที่บอกให้ทำจิตให้บริสุทธิ์อย่างแท้จริงนั้นก็ต้องปัญญา เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า ข้อทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใสนั้นเป็นข้อปัญญา นี้เป็นการเทียบในความหมายขั้นสูงสุด เพราะเทียบในขั้นต้นๆ ก็ยอมได้ว่าแม้แต่ไม่ทำชั่ว ทำดี ไม่ทำชั่วก็อยู่ในขั้นศีลถึงทำดีก็อยู่ในขั้นศีลบ้างสมาธิบ้างทำใจให้ผ่องใสก็อยู่ในขั้นสมาธิบ้างปัญญาบ้างอันนี้ก็ยอมได้ แต่ในขั้นเด็ดขาดกันละต้องเอาอย่างที่ว่าแบ่งกันไปเลยชัดศีล สมาธิ ปัญญา นี่ที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นคำศัพท์แบบเรียกง่ายๆ เป็นการจัดหมวดมรรคมีองค์ ๘ ให้เหลือ ๓ หมวด นี้ถ้าเรียกเป็นสิกขาแล้ว ท่านใช้ศัพท์ที่เป็นวิชาการกว่านี้ คือจะเรียกว่า อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ซึ่งถ้าหากว่าใช้ศัพท์อย่างนี้ บางทีจะเห็นความหมายชัดยิ่งขึ้น อธิกศีลสิกขาก็การฝึกฝนหรือการศึกษาในเรื่องพัฒนาเรื่องศีลเรื่องความประพฤตินี่ให้ยิ่งขึ้นไป อธิจิตสิกขาก็คือการฝึกฝนศึกษาพัฒนาในเรื่องจิตใจให้ยิ่งขึ้นไป แล้วก็อธิปัญญาสิกขาการฝึกฝนพัฒนาในปัญญาที่สูงยิ่งขึ้นไป เอาละอันนี้ก็เป็นระบบในการปฏิบัติและก็มองเห็นมรรคมีองค์ ๘ มากลายเป็นไตรสิกขา นี้หลักไตรสิกขานี้แหละเวลาเอามาใช้ในเชิงปฏิบัติจริงเนี้ยก็จะไปโยงเอาหลักในวินัยเข้ามาด้วยในข้อที่ ๑ ที่อาตมาพูดไปแล้วว่า พุทธศาสนาทั้งหมดนี้ประกอบด้วยองค์ ๒ คือ ธรรมกับวินัย ธรรมกับวินัย ธรรมนั้นในเชิงปฏิบัติก็ออกมาเป็นมรรคอย่างที่เห็นกันอยู่แล้ว ออกมาเป็นมรรคก็มาเป็นไตรสิกขาได้ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่นี้วินัยหละจะหาตำแหน่งที่ไหน วินัยก็มาอยู่รองรับไตรสิกขานี้ ก็คือ ส่วนเบื้องต้นของศีล เราจะเห็นว่า เวลาเราพูดถึงวินัยบางทีเราเรียกว่าศีลก็มีจนกระทั่งบางทีเอาศีลกับวินัยเป็นคำเดียวกันแยกกันไม่ออก แต่ที่จริงวินัยนั้นคือส่วนเบื้องต้นที่จะนำเข้าสู่ศีล วินัยนั้นเป็นเรียกศีลก็ได้ แต่ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสังคมมนุษย์บัญญัติขึ้น อย่างพระพุทธเจ้าบัญญัติวางข้อกำหนดระเบียบบัญญัติข้อห้ามข้อคำสั่งอะไรต่างๆ นี้สำหรับชุมชนที่เรียกว่า สงฆ์ ขึ้นมา อันนี้เป็นวินัยเป็นแบบแผนเป็นระเบียบเป็นกฎเกณฑ์แล้วเราปฏิบัติตามนั้นมันก็คือ ข้อปฏิบัติที่เป็นศีลนั้นเอง พอเราปฏิบัติตามก็เป็นเรื่องของศีล มันก็กลายเป็นเรื่องวิถีชีวิตตามธรรมชาติไป มันจะโยงจากบัญญัติของมนุษย์ไปสู่ธรรมชาติ พอเราปฏิบัติตามบัญญัติของสังคมมนุษย์ด้วยความเข้าใจความมุ่งหมายที่วินัยนี้บัญญัติขึ้นเพื่อธรรมนั้นเอง เพื่อให้เราเข้าถึงธรรม เราก็จะดำเนินเข้าสู่ศีล เพราะฉะนั้นวินัยเป็นฐานนำเข้าสู่ศีล แล้วก็ศีลก็เป็นฐานนำต่อไปในระบบของไตรสิกขา นอกจากจะเห็นความเชื่อมโยงว่าไตรสิกขานี้ก็จะมานำเอาวินัย เอาวินัยเข้ามาเป็นฐานด้วย ธรรมวินัยก็เข้ามาอยู่ในไตรสิกขาได้ทั้งหมด นี้ก็เป็นระบบอันหนึ่งในทางปฏิบัตินอกจากนี้ ยังเห็นอีกว่า พระพุทธเจ้าวางระบบการปฏิบัติไว้ในรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตที่มนุษย์นี้ บางทีก็มีความเป็นอยู่ไม่เหมือนกันอย่างน้อยที่เห็นง่ายๆ ก็คือ การดำเนินชีวิตวิถีชีวิตแบบหนึ่งมาเป็นพระภิกษุที่มาเป็นอยู่โดยมุ่งปฏิบัติอย่างจริงจังโดยสละให้ความเป็นอยู่ภายนอกการที่จะอยู่ในโลกของการดำเนินชีวิตที่มีเครื่องห่วงกังวลมากมายนี่ตัดกังวลให้เหลือน้อยแล้วมาอุทิศชีวิตให้แก่การดำเนินไตรสิกขาเต็มที่ ที่นี้สำหรับชาวบ้านทั่วไปจะมีวิถีชีวิตอีกอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าก็จะตรัสระบบปฏิบัติอย่างนี้ให้เหมาะสำหรับชาวบ้านแทนที่จะตรัสในรูปของไตรสิกขาพระองค์ก็ตรัสยักเยื้องไปสักอีกแบบหนึ่งจะเน้นไปในเรื่องของการทำความดี ไตรสิกขานี้ จะไม่พูดถึงการทำความดีอะไรชัดเจนออกมาก็เป็นระบบการปฏิบัติที่ตรงไปตรงมาตามธรรมซึ่งเรื่องของการทำความดีก็เป็นส่วนประกอบอยู่ในนั้น นี่พอถึงเรื่องของชาวบ้านนี้ จะเน้นในเรื่องความดี เพราะนั้นแทนที่จะวางเป็นไตรสิกขาพระองค์ก็วางอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งมีสามส่วนเหมือนกัน แต่เรียกเสียใหม่ว่า บุญกิริยา ๓ บางทีก็เรียก บุญสิกขา คือการฝึกฝนตนในความดีสามประการเหมือนกัน แต่ว่าสามข้อนี้เรียกชื่อต่างไปนิดหน่อย คือแทนที่จะเป็นไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นบุญสิกขา ๓ ประการได้แก่ ทาน ศีล และภาวนา โดยมากเรานิยมเรียกกันว่า บุญกิริยา หรือบุญกิริยาวัตถุ ๓ คือหลักของการทำความดีสามประการ แต่ถ้าเรียกบุญสิกขาก็คือการที่เราฝึกฝนพัฒนาตนในเรื่องความดีฝึกฝนตนในการทำความดีให้ยิ่งขึ้นไปนั้นเอง ก็บุญสิกขาหรือบุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้ก็ ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนาอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ที่นี้ขอให้เทียบหลักบุญกิริยาวัตถุ ๓ นี้กับหลักไตรสิกขา ไตรสิกขาบอกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา บุญสิกขาแปลว่า ทาน ศีล ภาวนา ข้อสังเกตที่ ๑ ไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา นั้น ศีลเป็นเรื่องความประพฤติทางกายวาจาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแสดงออกภายนอกเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมแล้วเรื่องการแสดงออกภายนอกเรื่องทางสังคมมีข้อเดียวคือ ศีลนี้ พอถึงข้อที่ ๒ สมาธิ ข้อที่ ๓ ปัญญา เป็นเรื่องในจิตใจ เป็นเรื่องทางปัญญาลึกเข้าไปอยู่ภายในจะเห็นว่าภายนอกอยู่ที่ศีลภายในสมาธิปัญญาสองข้อ ภายนอกข้อเดียว ที่นี้พอมาบุญกิริยาวัตถุ ๓ หรือบุญสิกขา ๓ ทาน ศีล ภาวนา ทานการให้ การแบ่งปัน เป็นเรื่องภายนอก แล้วก็ศีลการแสดงออกเป็นความประพฤติพฤติกรรมทางกายวาจาก็ภายนอก จะเห็นว่าส่วนภายนอกเกี่ยวกับสังคมนี้มี ๒ ข้อ ภาวนาเรื่องภายในฝึกอบรมจิตใจแม้ตลอดจนฝึกอบรมพัฒนาปัญญามีข้อเดียวสำหรับข้อบุญกิริยาวัตถุที่ตรัสสำหรับให้เหมาะกับชีวิตชาวบ้านมี ๓ ข้อเหมือนกัน แต่ว่าเน้นด้านภายนอกเป็นภายนอกเสีย ๒ ข้อ แล้วก็เป็นภายในข้อเดียวนี่จะเห็นจุดเน้นต่างกันไป แล้วสำหรับชาวบ้านนั้นมีข้อที่ ๑ คือ ทาน เข้ามาเพราะว่าชีวิตของชาวบ้านนั้นอยู่กับการทำมาหาเลี้ยงชีพ การสั่งสมหาวัตถุภายนอกมาเพื่อจะได้มาช่วยดำเนินชีวิตสร้างความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตนั้น สิ่งของทรัพย์สมบัตินั้นจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตชาวบ้านซึ่งสำหรับพระภิกษุสงฆ์นั้นตัดไปเลย เพราะนั้นไม่มีข้อทาน ที่นี้สำหรับชาวบ้านจะมีเน้นข้อทาน ก็เป็นส่วนขยายของศีล ศีลนั้นมุ่งหมายเพื่อไม่ให้เบียดเบียนกันและมีชีวิตที่เกื้อกูลต่อสังคม นี้การเกื้อกูลต่อกันได้แก่การปฏิบัติตามหลักทาน คือการให้ การแบ่งปัน การให้การแบ่งปันนี้ ก็เป็นเรื่องที่ว่าจะช่วยให้สังคมนี้อยู่ได้โดยปราศจากการเบียดเบียนก็เป็นหลักของการเกื้อกูลกัน การสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามเช่นเดียวกัน ฉะนั้นทานก็เลยมาเป็นข้อที่ ๑ ศีลนั้นเป็นการแสดงออกพฤติกรรมในภายนอกสังคมแต่ยังไม่ออกเป็นตัววัตถุสิ่งของชัดเจน แต่พอมาเป็นทานแล้วจะเป็นการปฏิบัติต่อกันที่ออกมาเป็นรูปวัตถุเป็นการกระทำโดยมีวัตถุสิ่งของที่นำมาประกอบพฤติกรรมด้วย ฉะนั้นทานนี้จะออกมาเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้นจนกระทั่งพูดกันได้ว่า การทำบุญหรือ บุญกิริยา ๓ ประการ ทาน ศีล ภาวนา นั้น อันที่ ๑ ทำที่นอกตัว ทานนี้ทำที่นอกตัว เพราะว่าไอ้สิ่งของการให้นั้นอยู่นอกตัว แต่ศีลนั้นทำที่ตัว ศีลนั้นทำที่ตัว คือยังไม่ถึงกับนอกตัว ไม่ใช่ในตัวก็จริง แต่ก็ยังอยู่ที่ตัว คืออยู่ที่กาย วาจาของตัวเอง แล้วก็ภาวนานั้นเข้าไปในตัว สามชั้น ทานนอกตัว ศีลที่ตัว แล้วก็ ภาวนาในตัว แล้วเสร็จแล้วภาวนานั้นแหละเมื่อไปขยายก็คือการพัฒนาจิตพัฒนาปัญญาได้แก่ สมาธิ และปัญญา หมายความว่าสำหรับชีวิตชาวบ้านนั้น ท่านเอาองค์ประกอบในไตรสิกขา ข้อ ๒ ข้อ ๓ คือ สมาธิ และปัญญานั้นไปรวมเป็นข้อเดียวกันคือ ภาวนา ภาวนาก็คือ การเจริญสมาธิและการเจริญปัญญา ตกลงว่าที่จริงนั้นก็เท่ากัน แต่เปลี่ยนจุดเน้น แล้วการภาวนานั้นสำหรับคฤหัสถ์ ท่านก็จะไปเน้นที่เมตตาธรรมเนี้ยสัมพันธ์กันออกเป็นศีลและทาน เพราะฉะนั้นมันจะสอดคล้องกันหมด เวลาพูดถึงภาวนาสำหรับคฤหัสถ์ชาวบ้านจะเน้นเรื่องการเมตตาภาวนาคือ การเจริญเมตตาความปราถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ความมีไมตรีต่อกันแล้วออกมาสู่ศีลการไม่เบียดเบียนกันความประพฤติที่เกื้อกูลแล้วออกมาสู่ทานการแบ่งปันเผื่อแผ่โอบอ้อมอารีย์ต่อกัน อันนี้ก็คือหลักบุญกิริยาวัตถุ ๓ เป็นคล้ายๆ อีกรูปแบบหนึ่งของระบบการปฏิบัติในพุทธศาสนาที่จัดมาให้เหมาะกับชีวิตของชาวบ้าน เอาละอาตมาก็ขอผ่านไป
ที่นี้จะไปสู่ข้อที่สุดท้าย อันนี้ก็จะเป็นระบบปฏิบัติในพุทธศาสนาอีกแบบหนึ่ง นอกจากจัดวางระบบปฏิบัติที่เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ นี้ในรูปที่เป็นไตรสิกขาเป็นบุญกิริยาอะไรต่างๆ แล้ว บางครั้งพระพุทธเจ้าตรัสในรูปแบบที่เรียกว่า ภาวนา ๔ ภาวนาก็คือ การพัฒนาการทำให้เจริญขึ้น เรียกกันง่ายๆ ว่า การฝึกอบรม แต่ว่าเรามักจะแปลกันว่า การเจริญ เช่นว่า สมถะภาวนา การเจริญสมถะ เมตตาภาวนาการเจริญเมตตา วิปัสสนาภาวนาการเจริญวิปัสสนา คำว่าภาวนานี้แปลว่า การเจริญ ที่นี้ภาวนานี้ถ้าว่ากันให้เป็นระบบเราจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าแสดงไว้ครบถ้วนมี ๔ ประการ เราได้ยินภาวนาบ่อยๆ กระจัดกระจายบางทีเราก็รวมไม่ติดว่าภาวนามีอะไรบ้าง แต่ว่าถ้าจับให้ดีแล้วจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงวางไว้เป็น ๔ ข้อด้วยกัน เรียกว่า ภาวนา ๔ ภาวนา ๔ หรือการพัฒนา หรือการเจริญหรือการฝึกอบรม ๔ ด้านสำหรับมนุษย์ที่เป็นข้อปฏิบัติเนี้ย ก็พระองค์ก็แยกเป็น ๑. กายภาวนา การพัฒนากาย หรือทำกายให้เจริญ แล้วก็ ๒. ศีลภาวนา การพัฒนาศีล การทำศีลให้เจริญ หรือฝึกอบรมในเรื่องศีล แล้วก็ ๓. จิตภาวนา การฝึกอบรมเจริญจิตใจ แล้วก็ ๔. ปัญญาภาวนา การฝึกอบรมเจริญปัญญา ก็มี ๔ ข้อด้วยกัน อันนี้ก็ถือว่าเป็นระบบปฏิบัติที่ครบถ้วนสมบูรณ์เหมือนกันที่จริงมันก็เป็นการจัดรูปแบบไตรสิกขารูปแบบหนึ่งนั้นเอง แต่ว่าการเน้นในด้านภายนอกนี้ให้เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้น อันนี้เวลาก็ล่วงไปมากแล้ว อาตมาก็จะขออธิบายพอสมควรโดยสรุปพอให้เข้าใจบ้างว่าภาวนา ๔ หรือการพัฒนาบุคคล ๔ อย่างเนี้ยมีอะไรบ้าง ๑. กายภาวนา การฝึกอบรมด้านร่างกาย ร่างกายนี้พัฒนากายเรามักจะนึกถึงเรื่องพัฒนาในด้านสุขภาพร่างกายความแข็งแรงเติบโตของร่างกาย แต่ทางพุทธศาสนานั้นท่านถือเรื่องนั้นเป็นเรื่องรอง เรื่องสำคัญสำหรับความเป็นมนุษย์แล้วมันไม่ใช้อยู่ที่แค่ตัวร่างกายที่เป็นเนื้อหนัง ท่านบอกว่าการพัฒนากายเนี้ยกายที่ดำเนินชีวิตอยู่เนี้ย ส่วนกายของเราที่ดำเนินชีวิตอยู่ในโลกที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมเนี้ยคืออะไร ก็คือตา หู จมูก ลิ้น กายของเรา คือ การเห็นการได้ยินเป็นต้น เราอยู่ในโลกนี้ดำเนินชีวิต กายของเราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมโดยทางตาหูจมูกลิ้นกาย ได้แก่ การได้เห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การถูกต้องสัมผัส ที่นี้ท่านบอกว่าไอ้การรับรู้ต่างๆ ที่เข้ามาทางด้านอินทรีย์หรือายตนะหรือประสาทเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์มาก ถ้าเรารู้จักรับเป็น มันก็จะเกิดประโยชน์แก่ชีวิตมาก เพราะนั้นเราจะต้องมีการฝึกอบรมในเรื่องการรับรู้ให้ถูกต้อง คือการใช้อินทรีย์ให้เป็นนั้นเอง เพราะนั้นกายภาวนา การพัฒนากายที่สำคัญคือ การพัฒนาในเรื่องการใช้อินทรีย์ การที่ว่าดูเป็นฟังเป็นจนกระทั่งกินเป็นบริโภคเป็น ต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่สำคัญ การพัฒนาด้านร่างกายก็ถือเป็นการศึกษาด้านแรก ถ้าหากว่ามนุษย์ไม่มีการศึกษาไม่มีการฝึกอบรมพัฒนาในด้านการใช้อินทรีย์แล้วจะเป็นปัญหาต่อไปได้มาก การศึกษาที่ขาดเรื่องนี้ก็จะถือว่าขาดฐานที่สำคัญเพราะว่ามันเป็นส่วนแรกที่มนุษย์ไปเกี่ยวข้องรับรู้ความรู้เข้ามา องค์ของความรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ผ่านตาหูจมูกลิ้นกายนี้รวมทั้งใจในขั้นลึกซึ้งเข้าไป อันนี้ง่ายๆ ว่านี้คือการพัฒนาด้านร่างกาย ต่อไปก็พัฒนาศีล ศีลภาวนาพัฒนาศีลก็คือ การอยู่ร่วมกันในสังคม การพัฒนาเรื่องการควบคุมตนเองในทางกายวาจาให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี เริ่มจากไม่เบียดเบียนซึ่งกันให้มีความประพฤติที่เกื้อกูลต่อความอยู่ร่วมกันในสังคมก็เป็นเรื่องศีลถ้าใช้ศัพท์สมัยนี้ก็คือ พัฒนาการทางสังคม นั้นเอง แต่ความหมายทางพระนั้นที่ท่านใช้ว่าศีลนี้มันมีความหมายโยงที่จะสัมพันธ์เข้ากับใจได้ต่อไป เพราะว่าคนที่รู้จักควบคุมกายวาจาของตนได้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นเขาต้องใช้กำลังจิตการที่เขาสามารถควบคุมกายวาจาได้นั้นคือการเริ่มฝึกจิตใจแล้วนั้นการที่ฝึกศีลนั้นจะมีการที่เริ่มในการที่พัฒนาทางจิตใจไปด้วย มันต่อเนื่องกันไปเหมือนอย่างกับว่าการพัฒนากายที่ด้านการใช้อินทรีย์เป็น มันก็จะทำให้เราพัฒนาศีลไปด้วยจนกระทั่งท่านถือว่าการสำรวมอินทรีย์นั้นแหละเป็นการที่จะทำให้เรามีศีล ศีลอย่างหนึ่งก็คือ อินทรียสังวร การสำรวมอินทรีย์ เพราะว่าเมื่อสำรวมอินทรีย์แล้ว สำรวมอินทรีย์เรารับรู้อย่างถูกต้องไม่เกิดความเข้าใจผิดมองผิดเราก็ไม่เกิดความโลภอทินนาทานการลักทรัพย์ก็ไม่เกิดอย่างนี้เป็นต้น เพราะนั้นอินทรียสังวรการพัฒนากายก็โยงไปหาศีลในตัว นี้ต่อไปข้อที่ ๓. เมื่อผ่านพัฒนาศีลก็พัฒนาจิตใจ จิตตภาวนา พัฒนาจิตใจก็เป็นเรื่องของการที่สร้างจิตใจเสริมให้ดีงามมีคุณธรรมเรียกว่ามีสุขภาพจิตดี แล้วก็ให้จิตใจเข้มแข็งมั่นคงมีความอดทนมีความเพียรพยายามมีความเข้มแข็งแน่วแน่นที่ เรียกว่า มีสมาธิ เรียกว่ามีสมรรถภาพจิต และก็พัฒนาในด้านความสุขใจความเอิบอิ่มความผ่องใสที่เรียกว่า สุขภาพจิต ก็เป็นการพัฒนาทางด้านจิตใจ เมื่อพัฒนาจิตใจดีมันก็จะเป็นฐานในการที่ว่าจะใช้ปัญญาได้ดีผู้ที่มีจิตใจสงบผ่องใสการคิดการอะไรต่างๆ มันก็ทั้งคงทนลึกซึ้งทั้งมองเห็นแจ่มชัดเป็นฐานแก่การพัฒนาปัญญา ก็ไปสู่ข้อสุดท้ายแล้วก็ปัญญาภาวนาการพัฒนาปัญญา ทำปัญญาให้เจริญรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงซึ่งมีหลายระดับขั้นอันนี้ก็รวมแล้วก็เรียกว่าเป็นการภาวนา ๔ อย่าง และถ้าว่ากันไปแล้วภาวนานี้ก็เป็นชื่อของมรรคด้วยเพราะว่ามรรคนี้ท่านบอกว่าเป็นสิ่งที่เราจะต้องภาวนาคือจะต้องปฏิบัติก็รวมแล้วก็เป็น ๔ อย่างเป็นภาวนา ๔ ภาวนานั้นเรียกได้ว่าเป็นคำเรียกมรรค เพราะนั้น มรรคมีองค์ ๘ ก็คือภาวนา ๔ นี่ก็ได้ ตกลงว่าจากมรรคมีองค์ ๘ อาตมาก็ได้นำมาแสดงให้เห็นระบบการปฏิบัติเป็นระบบในรูปแบบต่างๆ ที่จัดไว้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจมองเห็นแง่มุมต่างๆ เพื่อความชัดเจนบ้างหรือเพื่อให้เหมาะสมได้ผลแก่การดำเนินชีวิตที่ผู้ที่ปฏิบัตินั้น อยู่ในสภาพชีวิตที่แตกต่างกันบ้าง ก็คิดว่าน่าจะผ่านไปได้ ที่นี้ ที่ดูเหมือนจะลืมไปอันหนึ่งข้ามไปก็คือตอนที่บอกว่าระบบของพระพุทธศาสนาทั้งหมดนั้น ในระบบของพุทธศาสนาทั้งหมด
ข้อสุดท้ายที่อาตมาได้แสดงในรูปของหลักอริยสัจจ์ ๔ อันนั้นมีข้อที่ควรจะพูดเพิ่มอีกนิดหน่อย ตอนนั้นข้ามไป คืออริยสัจจ์ ๔ เนี้ยมันยังโยงไปหาระบบของสิ่งทั้งหลายที่เราจะต้องเกี่ยวข้องด้วยซึ่งบอกให้ทราบว่าเราจะเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร หลักอริยสัจจ์ ๔ ที่โยงไปหาหลักนั้น ก็คือหลักหน้าที่ต่ออริยสัจจ์หรือเราเรียกว่า กิจต่ออริยสัจจ์ คือเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสอริยสัจจ์ ๔ นี้พระองค์ก็ตรัสถึงหน้าที่ของเราต่ออริยสัจจ์แต่ละข้อไว้เสร็จ เพราะอาตมาได้บอกแล้วว่าอริยสัจจ์ ๔ นั้นก็คือ ธรรมในรูปที่จัดให้เหมาะแก่การใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติของมนุษย์ ที่นี้เมื่อให้เหมาะแก่การปฏิบัติในการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ท่านก็บอกให้เลยว่า แต่ละข้อละข้อเราควรต้องทำอย่างไร เนี้ยเป็นลักษณะสำคัญที่มีความชัดเจนเป็นระบบในพระพุทธศาสนา ที่นี้ เอาละตั้งแต่ข้อที่ ๑. ทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เสร็จว่าหน้าที่ต่อทุกข์ก็คือ เราต้อง กำหนดรู้ คือทำความรู้จักตามเป็นจริง ท่านใช้ศัพท์ธรรมเรียกว่า “ปริญญา” หมายความ ว่าหน้าที่หรือกิจของเราต่อทุกข์ก็คือ ปริญญา การกำหนดรู้ อันนี้เป็นการบอกที่ชัดเจนให้เรารู้หน้าที่ต่อทุกข์ไม่ใช่เราต้องไปเป็นทุกข์ ถ้าเราเรียนรู้เรื่องทุกข์แล้วไปเป็นทุกข์ว่า เรานี่ผิด ผิดอย่าเต็มประตูทีเดียว เพราะว่าท่านบอกไว้แล้วว่าหน้าที่ต่อทุกข์คือรู้จักมันเท่านั้นเอง หน้าที่ต่อทุกข์คือปริญญารู้จักมัน ต่อไปหน้าที่ต่อสมุทัย หน้าที่ต่อสมุทัย ท่านบอกให้ละมัน ได้แก่ “ปหาน” (ปะหานะ) ศัพท์พระ เรียกว่า ปหาน คือ การละ ทำให้ไม่มี ก็เมื่อไม่มีเหตุมันก็ไม่มีทุกข์ หรือมีแล้วก็กำจัดมันไปเสีย คำว่า ละ นะที่จริงไม่ได้มีความหมาย ว่ามีอยู่แล้วว่ากำจัดมัน ที่จริงละนี่มีความหมายว่า ไม่เอากับมัน หรือว่า ไม่ทำให้มันมีขึ้นด้วยซ้ำ นี่ภาษาไทยสมัยหลังนี้คำว่า ละนี้มีความหมายไปเป็นว่ามีอยู่แล้ว แล้วไปเลิก ที่จริงเป็นความหมายที่แคบเข้าไป คำว่า ละ นี้มีความหมายกว้างทั้งที่ว่ายังไม่มีก็ไม่ให้มีขึ้นมา มีแล้วก็กำจัดไปได้ อันนี้เป็นหน้าที่ต่ออริยสัจจ์ข้อ ๒ คือ สมุทัย ต่อไป ข้อที่ ๓. นิโรธ หน้าที่ต่อนิโรธ ก็คือ การเข้าถึงหรือการบรรลุหรือการทำให้แจ้ง ภาษาพระ พระ เรียกว่า การทำให้แจ้ง การทำให้เป็นจริงขึ้นมาก็คือ การเข้าถึงนั่นเอง คือจุดหมายนั้นเราต้องบรรลุถึง ทางพระเรียกว่า สัจฉิกิริยา แล้วต่อไปข้อสุดท้าย มรรคเรามีหน้าที่ คือ จะต้องภาวนาจะต้องทำให้เกิดให้มีให้เป็นขึ้นมา หรือเรียกว่าเจริญ เพราะนั้นหน้าที่ต่อมรรค คือ ภาวนา คือการปฏิบัติ ลงมือทำนั้นเอง ภาวนาคือการลงมือปฏิบัติลงมือทำทำให้เกิดมีเป็นจริงขึ้นหรือเจริญฝึกอบรมขึ้นมา นี่แหละอาตมาจึงโยงไปบอกว่า ในที่สุดพระพุทธเจ้าแสดงมรรคในรูปที่เรียกว่าภาวนา ๔ มันก็คือหน้าที่ต่อมรรคนั้นเอง ภาวนา ๔ ประการ อันนั้นก็เป็นอันว่า มรรคนั้นเรามีหน้าที่จะต้องปฏิบัติ นี่คือหน้าที่ต่ออริยสัจจ์ ๔ และจากหน้าที่ต่ออริยสัจจ์ ๔ นี้ เราก็สามารถจัดธรรมะทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารู้จักที่เราเรียกว่า ธรรม เนี้ยเข้าในระบบนี้ เป็น ๔ อย่าง ตามหน้าที่ต่ออริยสัจจ์ได้คือ ธรรมหรือสิ่งทั้งหลายเท่าที่มนุษย์จะรู้จักได้นี่มีจำพวกหนึ่งก็เข้าอยู่ในกลุ่มที่ ๑. เรียกว่าเป็นธรรมที่เราควรรู้จัก เป็นสิ่งที่เราควรรู้จัก คือ เราควรจะปริญญา เรียกศัพท์ตามภาษาพระเรียกว่า “ปริญไญยธรรม” ก็คือมา ก็คือธรรมที่ควรปริญญานั่นเอง อันนี้เราก็จะต้องศึกษาให้เข้าใจว่า เออสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องอันนี้เป็นธรรมประเภทไหน เป็นประเภทที่ ๑. ปริญไญยธรรม เป็นสิ่งที่เราควรจะปริญญา คือ รู้จักมัน ที่นี้ประเภทที่ ๒ เป็นประเภทที่เราจะต้องแก้ไขละเลิก ท่านเรียกว่า “ปหาตัพพะธรรม” คือธรรมที่ควรละ หรือสิ่งที่ควรละ และก็ประเภทที่ ๓. สิ่งทั้งหลายประเภทที่ ๓ นี้ ก็เป็นประเภทที่ดีงามที่ควรจะบรรลุทำให้เป็นจริงขึ้นมาเรียกศัพท์ธรรมก็คือ“สัจฉิกาตัพพธรรม” ธรรมที่ควรสัจฉิกิริยา เช่นอย่างความสงบใจ ความมีสันติ ความรู้เข้าใจแจ่มแจ้งอะไรอย่างงี้ ความบริสุทธิ์อะไรเป็นต้นความสะอาด ความปลอดโปร่งผ่องใสอย่างเงี้ยก็เป็นสิ่งที่เป็นสัจฉิกาตัพพธรรม ธรรมที่ควรสัจฉิกิริยา ทำให้เกิดมีเป็นจริงขึ้น ธรรมที่เราควรจะเข้าถึงมัน ต่อไปธรรมหรือสิ่งทั้งหลายประเภทที่ ๔ ก็คือพวกที่เราควรภาวนา เรียกเป็นภาษาพระว่า “ภเวตัพพธรรม” ธรรมที่ควรภาวนา คือควรปฏิบัติ สิ่งทั้งหลายที่มนุษย์เกี่ยวข้องนั้นในโลกนี้ก็จัดเข้าได้ใน ๔ ประเภทนี้แหละ คือ ๑.เป็นประเภทที่เราควรรู้จักมันรู้ตามที่มันเป็น ๒. ก็ควรจะละกำจัดเสียแก้ไขเสีย และก็ ๓. ควรจะเข้าถึงบรรลุเป็นจุดหมาย แล้วก็ ๔. เป็นประเภทที่เราจัดต้องทำต้องลงมือเอามาปฏิบัติ อันนี้ก็เป็นการจัดตามหลักอริยสัจจ์ เราก็ได้ระบบของธรรมเป็นอีกหมวดหนึ่งเป็นหมวด ๔ เป็นปริญไญยธรรม ปหาตัพพธรรม สัจฉิกาตัพพธรรม ภาเวตัพพธรรม อันนี้ เมื่อกี้นี้ตอนแรกอาตมาข้ามไปเสียตอนพูดอริยสัจจ์แล้วไม่ได้พูดก็เลยถือโอกาสมาพูดซะตอนนี้ถือว่าอยู่ในตอนที่ ๑.เรื่องระบบของพระพุทธศาสนา
แต่ตอนนี้เราพูดถึงตอนที่ ๒ ในแง่ของระบบปฏิบัติแล้ว เอาละเป็นอันว่าในระบบใหญ่ของพุทธศาสนาเราก็มองเห็นส่วนย่อยที่เรียกว่า ระบบปฏิบัติแล้ว ที่นี้ระบบปฏิบัติทั้งหมดนี้เราก็จะต้องชี้ลงไปว่าส่วนไหนเป็นข้อปฏิบัติทางจิตใจ เพราะระบบทั้งหมดที่เรียกว่า พรหมจริย หรือไตรสิกขาอะไรต่างๆ นั้นหนะ มันมีครอบคลุมการดำเนินชีวิตทั้งหมดอย่าง ทาน ศีล ภาวนา ระบบของบุญสิกขา หรือบุญกิริยานี้ ก็มีทั้งเรื่องทานการปฏิบัติต่อกัน การช่วยเหลือกันในภายนอกก็ไม่ใช่เรื่องของจิตใจโดยตรง เรื่องศีลก็ยังไม่ใช่เรื่องของจิตใจ ภาวนา เอาละมาถึงด้านจิตใจ เรียกว่าไตรสิกขานี่ก็ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ศีลก็เป็นเรื่องความประพฤติการแสดงออกภายนอกการอยู่ร่วมสังคม ก็ไม่ชัดเป็นเรื่องจิตใจ พอมาถึงสมาธิก็ชัดละว่าเป็นเรื่องของจิตใจ นี่ถ้าเราเห็นระบบปฏิบัติของพุทธศาสนาแบบที่อาตมากล่าวเมื่อกี้ อาตมาแทบไม่ต้องชี้ท่านที่ฟังก็ชี้ได้เองว่าข้อปฏิบัติทางจิตใจของพุทธศาสนาอยู่ที่ไหน คือเราสามารถชี้ได้เป็นขั้นเป็นตอนขั้นที่ ๑. ชี้ได้ว่าอยู่ในระบบปฏิบัติส่วนไหนแล้วพอมองในระบบใหญ่ทั้งหมดของพุทธศาสนาเราก็ชี้ได้อีกว่าอยู่ในตำแหน่งใดนะ มันก็จะว่ากันเป็นชั้นๆ คลุมกันให้เห็นทั้งระบบใหญ่ระบบย่อย แต่เพื่อความชัดเจนอาตมาก็จะช่วยชี้หน่อย ที่จะช่วยชี้นี้ก็ไม่ยากอะไร ก็เป็นการย้ำนั้นเอง เอาอะไรดีเอาระบบที่เรียกว่า ๑. พุทธศาสนาหรือโอวาท ๓ ละชั่ว ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส ให้สังเกตุว่าเวลาเราพูดภาษาไทยเนี้ยมักจะพูดว่าละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส ละชั่วแต่ของภาษาบาลีนั้นท่านไม่ได้ใช้ว่า ละชั่ว ท่านใช้ว่า ไม่ทำชั่ว แต่นี่ภาษาไทยเดิมละชั่วก็อย่างที่อาตมาพูดแล้วคำว่า ละ ละไม่ได้หมายความว่ามีอยู่แล้วจึงไปกำจัดมันเดิมหมายความว่า ไม่เอากับมันไม่เกี่ยวข้องก็ได้ ภาษาไทยมันเลือนทำให้เข้าผิดได้ว่า ความชั่วมันอยู่มีอยู่ในตัวเราแล้วมันก็ทำให้เกิดใจไขว่เขวถ้าหากว่าเราเข้าใจคำว่าละอาตมาว่าต้องเปลี่ยนกลับไปใช้ ท่าน สัพพะปาปัสสะอะกะระนัง การไม่กระทำชั่ว ไม่กระทำชั่ว ไม่ได้หมายความว่าความชั่วมันมีอยู่แล้วในตัวเราแล้วแล้วก็ไปเลิกมัน เน้อ มันไม่มาเกี่ยวกับเรา เราไม่ไปทำมัน อันนี้ก็เป็นเกร็ด รวมความอันนี้ก็เป็นข้อที่ ๑. ละชั่วไม่ทำชั่ว ๒.ทำดี แล้วก็ ๓. ทำใจให้บริสุทธิ์ ที่นี้ใน ๓ ข้อนี้ที่เรียกว่าพุทธศาสนา หรือพุทธโอวาท ๓ อันไหนเป็นข้อปฏิบัติทางจิตใจ อาตมาได้ชี้แจงไปตอนต้นนั้นว่า ทำดีนั้นที่จะทำให้เข้าถึงความดีจริงๆ ความดีเกิดขึ้นมาจริงๆเนี้ยมันต้องเข้าถึงในจิตใจคือเป็นคุณธรรมขึ้นมาในจิตใจเพราะฉะนั้นนี่แหละข้อทำดีนี่แหละเป็นข้อปฏิบัติทางจิตใจ การทำความดี ทำสิ่งที่ดีให้เกิดมีขึ้นแม้แต่ภาวะจิตใจปลอดโปร่งผ่องใสมีความสุขมันก็เป็นสิ่งที่ดีนี่ก็ความดีเหมือนกันท่านเรียกว่ามีปราโมทย์ความร่าเริงเบิกบานใจมีปีติมีความเอิบอิ่มใจ มีปัสสัทธิความผ่อนคลาย กายใจมีความสุขคล่องใจ มันก็เป็นภาวะที่ดีในจิตใจ แม้คุณธรรมต่างๆ ความเมตตากรุณา มุทิตา อุเบกขามันก็เป็นภาวะทางจิตใจการทำดีเนี้ยก็เป็นเรื่องจิตใจ งั้นข้อปฏิบัติทางจิตใจนั้นก็เป็นเรื่องทำดีใน โอวาท ๓ หรือในพุทธศาสนา ๓ ส่วนทำจิตใจให้ผ่องใสบริสุทธิ์นั้น อาตมาบอกแล้วว่าถ้าทำในระดับจิตใจเป็นข้อปฏิบัติทางจิตใจนี้จะได้แค่ทำให้ใจมันสงบโดยที่ว่าเชื้อของสิ่งที่จะทำให้ใจไม่ดีทำให้ใจเศร้าหมองมันยังอยู่ในใจตามเดิม อันนี้ใจเองมันเอาไอ้พวกสิ่งที่ชั่วในใจออกไปไม่ได้ หมายความว่าใจเรามีข้อปฏิบัติต่อมันที่เป็นเรื่องจิตใจล้วนๆ คือเราก็ยังอยู่กับใจ ใจนั้นก็อยู่อย่างนั้น แต่ว่าทำให้ใจมันดีมันสงบมันเรียบร้อย มันผ่องใสได้ชั่วคราว แต่ไอ้ที่อยู่ในใจมันก็อยู่อย่างนั้น อันนี้ท่านจึงบอกว่า แม้จะทำเรื่องของใจ แต่ถ้าจะทำให้ใจนี้บริสุทธิ์ให้สิ่งที่มีอยู่ในใจนี้ออกไป โดยที่เอาสิ่งที่ไม่ดีออกไปได้ มันต้องมีข้อปฏิบัติอื่นมาช่วย นั้นคือข้อปฏิบัติในระดับที่ ๓. เรียกว่า ปัญญา ปัญญานี้เป็นการปฏิบัติอีกระดับหนึ่ง แต่มันกลับช่วยใจที่ว่ามันมากวาดล้างเอาสิ่งที่อยู่ในใจที่ไม่พึงประสงค์นี้ออกไปจากใจได้ กลายเป็นว่าข้อปฏิบัติในเรื่องจิตใจนี้ต้องอาศัยการปฏิบัติส่วนนอกใจ ที่เราพูดอย่างภาพพจน์นี้ว่านอกนี้เอามาช่วยกวาดล้างสภาพที่ไม่ดีทางจิตใจออกไปก็คือด้านระดับปัญญา เพราะฉะนั้นข้อปฏิบัติที่เป็นเรื่องของจิตใจเองก็คือด้านระดับที่เรียกว่า สมาธิ คือเป็นเรื่องของการทำดี แต่ว่าจะให้ถึงทำใจให้บริสุทธิ์จะต้องเป็นถึงปัญญาก็เลยเป็นข้อปฏิบัติในแง่ที่เกี่ยวกับจิตใจ การทำใจให้บริสุทธิ์อย่างแท้จริงนั้น ก็เป็นเรื่องข้อปฏิบัติในระดับปัญญา แต่เป็นการปฏิบัติที่เกี่ยวกับจิตใจไม่ใช่เป็นการปฏิบัติที่เป็นเรื่องของจิตใจเอง เพราะนั้นต้องแยกว่าการปฏิบัติที่เป็นเรื่องของจิตใจเองกับการปฏิบัติที่เกี่ยวกับจิตใจมันจะมีความหมายกว้างแคบไม่เท่ากันคือการปฏิบัติที่เกี่ยวกับจิตใจนี้จะกว้างกว่าหรือแม้ไม่ใชเรื่องของจิตใจเอง แต่มันเกี่ยวกับจิตใจก็ต้องถือว่าอยู่ในขอบเขตของธรรมนี้ด้วย ในที่นี้ก็อยู่ที่ว่าเราจะพูดอยู่ในขอบเขตไหน ถ้าเอาเป็นข้อปฏิบัติที่เอาเรื่องของจิตใจเองล้วนๆ มันก็อยู่ระดับของการทำดีแล้วก็ทำที่เกี่ยวกับจิตใจก็จะคลุมไปถึงปัญญาด้วย คือการทำใจให้ผ่องใส อ้าวนี่อาตมาก็เท่ากับพูดล้ำเข้าไปในข้อที่ว่าด้วยไตรสิกขา เมื่อกี้นี่ชี้เข้าไปในโอวาท ๓ ละชั่วทำดีทำใจให้บริสุทธิ์ว่าตัวทำดีนั้นแหละเป็นข้อปฏิบัติโดยตรงในระดับจิตใจ ที่นี้ในแง่ไตรสิกขาก็เท่ากับอธิบายไปพร้อมกันแล้ว ไตรสิกขาก็ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลก็เป็นเรื่องระดับความประพฤติเชิงสังคมการแสดงออกทางกายวาจา ที่นี้ในด้านจิตแท้ๆ ก็คือสมาธิ หรือเรียกในศัพท์วิชาการให้ตรงแท้ๆ ก็คือ อธิจิตตสิกขา ซึ่งตรงอยู่เลยที่เดียว อธิจิตเป็นการฝึกฝนการศึกษาการพัฒนาในเรื่องจิตใจโดยตรงเป็น อธิจิตตสิกขาแล้วก็ไปข้อสุดท้ายอธิปัญญาสิกขาก็คือการฝึกฝนในเรื่องปัญญาอันนี้แหละที่ว่าไม่ใช่เรื่องของจิตใจโดยตรงแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจที่จะทำให้แก้ปัญหาของจิตใจ ได้สิ้นเชิง ก็รวมความก็คือว่าเราเอาข้อปฏิบัติที่เกี่ยวกับจิตใจเนี้ยรวมไปถึงขั้นระดับปัญญาด้วย นี้ถ้ามองในแง่ของบุญกิริยาวัตถุ ก็ทาน ศีล ก็เป็นเรื่องในระดับภายนอกไม่ใช่เรื่องจิตใจโดยตรง ภาวนาก็เป็นเรื่องจิตใจ แต่โยงไปถึงปัญญาด้วย นี่ถ้าเราใช้คำว่าภาวนาเฉยๆ เป็นกลางๆ เนี้ยมันจะคลุม คือว่าจะคลุมทั้งการพัฒนาทางด้านจิตใจและพัฒนาปัญญาด้วย พัฒนาจิตใจแท้ๆ เป็นเรื่องสมาธิ หรืออธิจิตตสิกขาแล้วก็พัฒนาปัญญาที่เรียกว่า ปัญญาภาวนา ก็สามารถรวมในคำว่าภาวนาด้วย แล้วที่นี้ถ้าไปหมวดภาวนา ๔ ก็เป็นการแจกแจงที่ชัดเจนเต็มที่ ก็ ๑. กายภาวนา ก็พัฒนากาย ๒. ศีลภาวนา ก็พัฒนาศีล เรื่องทางสังคม และต่อไปข้อที่ ๓ ก็จิตตภาวนา ก็พัฒนาจิตใจเรื่องของจิตใจโดยตรง แล้วก็ ๔. ปัญญาภาวนา พัฒนาปัญญา พัฒนาปัญญาจุดมุ่งหมายขั้นสุดท้ายเพื่อกลับมาช่วยจิตใจให้หลุดพ้นเป็นอิสระโดยสิ้นเชิง ก็เป็นอันว่าในแง่ภาวนา ๔ นี้ก็ข้อตรงก็คือ จิตภาวนา ภาวนาข้อที่ ๓ แล้วก็ข้อที่มาเสริมเป็นข้อปฏิบัติทางจิตใจแต่เป็นเรื่องเกี่ยวแก่จิตใจก็เอาปัญญาภาวนาเข้ามาได้ด้วย แต่ถ้าเราจะแยกกันให้ชัดเจนก็ต้องพูดกันไปเลยว่า จิตตภาวนาการพัฒนาจิตใจ ปัญญาภาวนาพัฒนาปัญญา แต่ทั้งหมดนั้นมันเป็นระบบที่มันโยงเข้ามาหากันได้หมด เพราะฉะนั้น ความจริงแล้วเนี้ยในเรื่องของพระพุทธศาสนาแล้ว ระบบปฏิบัติทั้งหลายมันโยงมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มันสัมพันธ์กัน ก็ชีวิตมนุษย์นั้นความเป็นมนุษย์นั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียว มันแยกการดำเนินชีวิตออกไป พฤติกรรมการเป็นอยู่ อะไรต่างๆ แสดงออกมันเป็นด้านต่างๆ แต่ทุกอย่างนั้นมันโยงถึงกันหมดมันอิงอาศัยซึ่งกันและกัน การที่เราจะทำทานก็ต้องมีจิตใจที่คิดจะสละให้ไม่ว่าเราจะคิดจะให้จริงคิดเอาผลตอบแทนหรือคิดเสียสละคิดเพื่อให้เพื่อกำจัดกิเลสมันก็ต้องออกมาจากจิตใจนั่นแหละจะมีแรงจูงใจอย่างไร จะออกเป็นทานได้ก็ออกมาจากใจ จะอยู่ในศีล ประพฤติศีลมันก็ต้องอาศัยจิตใจเหมือนกัน เราก็ต้องมีความตั้งใจมีการควบคุมจิตใจของตนเอง แล้วก็กายออกมาแสดงออกเป็นการควบคุมกายวาจามันก็เป็นศีล แล้วก็ในแง่ของความสัมพันธ์ย้อนกลับอย่างที่บอกเมื่อกี้แล้ว บอกว่าการที่เราประพฤติศีลเมื่อเราควบคุมกายวาจาของเรานั้นก็คือการที่เราควบคุมจิตใจด้วย เพราะนั้นการประพฤติในเรื่องศีลมันก็ย้อนกลับมาให้มีผลต่อด้านจิตใจเป็นการพัฒนาจิตใจไปด้วยเหมือนเราประพฤติตัวดีตั้งอยู่ในสุจริตเรามีศีลเรามีความสบายใจในความประพฤติของเราก็ทำให้เราเกิดความปีติ เอิบอิ่มใจ มันก็เกิดผลต่อจิตใจย้อนกลับมาจิตใจเราสงบไม่ฟุ้งซ่ายไม่หวาดระแวงภัยอันตรายมันก็มีสมาธิง่ายขึ้น ศีลมันก็กลับมาเกื้อกูลกับจิตใจ เพราะนั้นแม้เราจะฝึกอบรมพัฒนาในเรื่องจิตใจแต่เสร็จแล้วเราก็ต้องอาศัยศีลพฤติกรรมในทางภายนอกด้วย เสร็จแล้วจิตใจเราดีจิตใจเราสงบเราไม่มีเรื่องฟุ้งซ่านรบกวนจิตใจเวลาคิดเรื่องอะไรเราก็อยู่กับเรื่องนั้นได้ คิดได้ลึกซึ้งมองอะไรก็ชัดเจนผ่องใส ก็จิตใจที่ดีมันก็ช่วยปัญญาไปด้วย นี่ปัญญาที่ดี ก็กลับมาช่วยจิตใจเพราะรู้เข้าใจความจริงว่า จิตใจของเราขณะนี้ที่เรามีความสุข แม้แต่ว่าในสิ่งที่เรามีความสุขเราพอใจติดใจกับสิ่งนี้ทำให้เรามีความสุขเนี้ย สิ่งที่เราพอใจเนี้ยถูกต้องหรือเปล่า มีคุณ มีโทษอย่างไร ปัญญาจะเป็นตัวบอก ปัญญาทำให้เรารู้และทำให้เราละเลิกได้ เช่น เรามีความสุขกับสิ่งเนี้ย จิตใจของเราเป็นสุขจริง แต่เป็นโทษแก่ชีวิตของเรา อย่างแม้แต่ว่าคนที่ได้บรรลุธรรมชั้นสูงได้ฌาณได้สมาธิแล้วก็ติดสมาธิเพราะมีความสุขได้ฌาณแล้ว แหมมีความสุขกับฌาณดีเหลือเกินเสร็จแล้วก็สุขกับฌาณก็ติดใจอยู่กับฌาณนั้น ปัญญาจะไปเป็นตัวบอกว่าเนี้ย การที่ท่านมาติดใจอยู่กับฌาณเนี้ย ทำให้ท่านเกิดผลเสียนะ อะไรท่านไม่สามารถจะก้าวไปสู่การทำจิตให้บริสุทธิ์สิ้นเชิงไม่มีอิสรภาพ อ้าวปัญญาก็จะเป็นตัวบอกตัดสินทำให้เราละเลิกสิ่งนั้นไปได้ช่วยจิตให้พ้นออกไปอีกรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง บางทีความสุขสบายหรือสิ่งที่เรานึกว่าดีในทางจิตใจ มันไม่ได้ดีแท้จริง มันดีในระดับหนึ่ง มันไม่ดีโดยสิ้นเชิง เพราะนั้นปัญญาจะมาเป็นตัวช่วย และการที่เรารู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายก็ทำให้จิตใจของเราปลอดโปร่งเป็นอิสระ ถ้าเรายังมีปัญหาติดข้องคิดไม่ออกอยู่ ทั้งๆ ที่เราตามปกติจะมีจิตใจดี แต่เราก็เกิดความคับข้องจิตใจของเราก็อึดอัด มันก็ต้องอาศัยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญารู้เข้าใจความจริงแก้ปัญหาไม่ได้ไม่เห็นทางออกมันก็ไม่สามารถทำให้ใจปลอดโปร่งผ่องใสขึ้นมาได้แล้ว เพราะนั้นปัญญามันก็กลับมาช่วยจิตใจ โดยเฉพาะช่วยในขั้นสุดท้าย แล้วปัญญาก็เป็นตัวบอกว่าเราควรจะประพฤติอะไรเพื่อจะช่วยให้เป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างแท้จริง เราควรจะทำทานแค่ไหน ทานที่เราทำนี้ มันถูกต้องมั้ย ควรให้แก่อะไร ใครควรให้อะไร ควรให้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์ ไม่เกิดโทษ ไม่ใช่ให้ทานไปแล้วเกิดโทษ ปัญญาก็เป็นตัวบอก ปัญญาก็จะคุมทานด้วย ชี้ช่องให้ทานด้วย เป็นตัวบอกด้วยในเรื่องศีลว่าจะต้องประพฤติอะไร อย่างไร แค่ไหน แล้วประพฤติอย่างไร จะถูกต้องบริสุทธิ์ ศีลของเราจึงจะเป็นศีลที่เป็นประโยชน์แท้จริง มันก็มีปัญญาเป็นตัวบอกอย่างน้อยเป็นตัวนำในเบื้องต้น แล้วเสร็จแล้วเราพัฒนาศีลจิตใจดีขึ้นไปปัญญาก็สามารถพัฒนาไปด้วย ศีลพัฒนาดีขึ้น จิตก็พัฒนาไป ปัญญาก็พัฒนาดีขึ้น จิตใจพัฒนาขึ้นก็ไปช่วยปัญญา ปัญญาดียิ่งขึ้นยิ่งชี้นำให้ทานศีล การพัฒนาจิตอะไรทั้งหมดดีขึ้นไปตามตามกัน มันเป็นกระบวนการที่ไปกันทั้งระบบ แต่ในการฝึกคนนั้น ท่านจะเน้นว่าให้ทำเป็นขั้นตอน ในตอนแรกๆ การฝึกในขั้น ถ้าเอาไตรสิกขาเป็นหลัก การฝึกในขั้นศีลมันก็จะเด่นก่อนเพราะเป็นขั้นหยาบทำได้ง่าย แล้วพอฝึกไปในระดับขั้นที่สอง การฝึกในเรื่องจิตก็จะเด่นขึ้นมาแล้วการฝึกในขั้นสุดท้ายปัญญาจะเป็นตัวเด่น แต่ว่าในกระบวนการของมันนั้น ที่จริงมันเป็นกระบวนการที่สัมพันธ์กันเป็นองค์รวมองค์ประกอบทุกอย่างนั้นเกื้อกูลกันไปโดยตลอด หมายความว่าในแต่ละขั้นนั้น มีครบทั้งสามองค์ประกอบ แต่ว่าเวลาที่เราแยกเรียกเราเรียกตามความเด่น ในขั้นต้นนั้นเน้นที่ศีล หรือศีลเป็นตัวเด่น ในขั้นที่สอง จิต สมาธิ เป็นตัวเด่น ในขั้นที่ ๓ ปัญญาเป็นตัวเด่นก็เลยเรียกออกมาชัดๆคล้ายๆ ว่า เป็นการเป็นขั้นเป็นตอนเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา แต่ในความเป็นจริงนั้นในกระบวนการทั้งหมดนั้นเป็นองค์ประกอบต่างๆ อิงอาศัยกันไปตลอดเวลา ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราจะมองระบบของพระพุทธศาสนาได้ชัดเจนยิ่งขึ้นทั้งในแง่ของความสัมพันธ์อิงอาศัยกันตลอดเวลา และในแง่ของการจัดเป็นขั้นเป็นตอน ทำไมจะจัดเป็นขั้นเป็นตอนก็ได้ในแง่ของการที่ว่าองค์ประกอบทุกอย่างอยู่ด้วยกันพร้อมกันก็ได้ อาตมาก็คิดว่าเท่าที่อธิบายมานี้คงจะเพียงพอที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องตำแหน่งฐานะของข้อปฏิบัติทางจิตใจในระบบของพุทธศาสนาให้เห็นระบบของพุทธศาสนาทั้งหมด แล้วก็มองเห็นระบบปฏิบัติที่เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในระบบของพุทธศาสนานั้น แล้วก็ชี้ถึงข้อปฏิบัติทางจิตใจที่อยู่ในระบบปฏิบัตินั้น และก็ให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงอิงอาศัยสัมพันธ์กันขององค์ประกอบระบบปฏิบัติทั้งหมด ก็คิดว่าพอสมควรแก่เวลา อาตมาก็ขอยุติการบรรยายในหัวข้อนี้เพียงเท่านี้ ขอเจริญพร