แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญสุข สวัสดี ผู้ดู-ผู้ฟังทุกท่าน ทุกคน
เวลานี้คนไทยแทบจะทุกคนกำลังมีใจรวมกันอยู่อย่างหนึ่ง และก็ไม่ใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้น คงจะเป็นคนทั่วทั้งโลกนี้ กำลังมีใจรวมกันในเรื่องหนึ่ง เรื่องที่ว่านี้ก็คือ เรื่องกาลเวลา ที่ปีเก่ากำลังจะสิ้นสุดไป ก็ขึ้นสู่ปีใหม่
ใจรวมกันนี้เป็นเรื่องที่ดี เรียกว่า ความสามัคคี แต่ว่า ทำอย่างไรเราจะใช้ความสามัคคีที่รวมใจนี้ให้ได้ผลเป็นประโยชน์ แต่เอาละ ถึงอย่างไรก็ตาม ตอนนี้ก็จะมีใจรวมกัน ใจรวมกันตอนส่งปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เราก็เลยสนุกสนาน บันเทิง จัดงานกันทั่วไปหมด
ตอนนี้ได้ยินศัพท์ฝรั่ง มีการใช้คำว่า เคานต์ดาวน์ (Countdown) แต่ก่อนนี้ก็ไม่ค่อยได้ยินหรือแทบไม่ได้ยินเลย มาปีนี้ได้ยินบ่อย อันนี้ก็เป็นส่วนที่น่าสังเกตอันหนึ่ง เค้าเรียกว่าเป็นเรื่องของกระแสสังคม แต่ว่า พูดโดยรวมก็คือ เป็นเรื่องของความสนุกสนานบันเทิง เป็นเรื่องที่ว่า ใจเราจะมีความสุข การที่มีความสุขนั้นก็เป็นเรื่องที่ดี ถ้าพูดทางภาษาพระศาสนาก็ เรียกว่า เป็นสิริมงคล
แล้วโดยเฉพาะปีใหม่ที่จะถึงนี้ คือ ปีพ.ศ. ๒๕๔๙ เราไม่เรียกตามแบบฝรั่ง ถ้าแบบฝรั่งก็ ๒๐๐๖ อันนี้ปีใหม่คราวนี้ เสียง หรือตัวหนังสือตัวเลขเนี่ย ของพุทธศักราชแบบไทยเรา รู้สึกว่า จะมีความหมายดีกว่า ๒๐๐๖ นี้ฟังดูก็ยังงั้นๆ แต่ว่าถ้าฟัง ๒๕๔๙ คนไทยนี่ไปติดใจเลข ๙ ตอนนี้ได้ยินเยอะเลย อ่านหนังสือพิมพ์เมื่อวานนี้ ดูได้เห็นภาพต่างๆ ก็มีเรื่องเกี่ยวกับเก้าๆ โดยถือเป็นเรื่องพิธีมงคล ที่เกี่ยวกับการขึ้นปีใหม่ ๒๕๔๙
ก็หมายความว่า คนไทยเรานี้ก็เป็นคนที่ค่อนข้างถือโชคลางกันพอสมควร พอเห็นเลข ๙ ก็ชอบ พอบอกว่าขึ้นปีใหม่ ๒๕๔๙ ก็ดีใจว่า เออปีใหม่ปีนี้ดีนะ เป็นปีดี เป็นปี ๔๙ เราจะได้มีความเจริญก้าวหน้า ก็มองอย่างนี้ถึงแม้จะเป็นเรื่องโชคลาง แต่ว่าเป็นการมองในแง่ดี ก็ดีเหมือนกัน และเราก็ถือโอกาสอวยชัยให้พรกันด้วย ในเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสิริมงคล เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องความดีความงามอย่างหนึ่ง แม้จะเป็นเรื่องโชคลาง ก็เอาเป็นว่า เราก้าวไปสู่ปีที่ดี ปี ๒๕๔๙ แล้วเราก็อวยชัยให้พรกัน ในเบื้องต้นว่า ขอให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
แต่ว่าอย่างไรก็ตาม แค่นั้นคงไม่พอ เพราะว่าเพียงคิดว่าจะให้ตัวเลขมามีความหมายดี แต่เราไม่ทำอะไรนี่ มันจะก้าวไปได้อย่างไร ตัวเลขอย่างเดียวก็เป็นเลขเก้า แล้วเราไม่เดินก้าวไป เนี่ยมันจะก้าวไปได้หรือเปล่า เพราะฉะนั้นต้องคิดให้ดีๆ
แล้วก็เรื่องโชคลางนี้ บางทีก็เอาไปประสาน ไปบรรจบกับเรื่องของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ อย่างที่เห็นในหนังสือพิมพ์เมื่อวานนี้ ก็จะมีพิธีมงคล เอาพระมาตั้ง ๙,๙๙๙ องค์ ก็เป็นเรื่องของการเชื่อถือ ในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อะไรต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ว่า เราจะต้องวางใจให้ถูกต้อง แต่ว่าเป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับสังคมไทยของเราว่า เราเนี่ยมีความเชื่อถือในเรื่องของโชคลาง พึ่งอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มาก
ทีนี้โชคลาง มันก็เป็นเรื่องของความแล้วแต่จะเป็นไป คล้ายๆ ลัทธิที่เรียกว่าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย ถ้าเป็นเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ มันก็เข้าแนวของลัทธิหวังผลดลบันดาล ก็ต้องระวังเหมือนกัน นี้ก็เฉียดๆ กันอยู่กับพระพุทธศาสนา บางทีเราเรียกว่าพระพุทธศาสนา แต่วิเคราะห์กันดูแล้วก็ยังน่าสงสัย น่าแคลงใจอยู่
อย่างไรก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ทางพุทธศาสนา ชาวพุทธเราจะต้องวางใจให้ถูกในเรื่องของปีใหม่ ๒๕๔๙ นี้ ถ้ามองในแง่ที่บอกเมื่อกี้เนี้ย เรื่องฤทธิ์ เรื่องปาฏิหาริย์ คนไทยเราชอบมาก ก็ให้มองในแง่ดี แต่ว่าต้องวิเคราะห์ตัวเองด้วย ว่าอย่าติดอยู่แค่นั้น
พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้มาเถียงกันว่า ปาฏิหาริย์หรือฤทธิ์นี่ จริงหรือไม่จริง ท่านสอนไว้ว่า ถึงจริงก็ไม่หวังพึ่ง นี่จุดสำคัญ คำสอนของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ตรงนี้ คือ จริงยอมรับได้เลย แต่ว่าไม่ให้หวังพึ่ง
ก็หลักการใหญ่เราก็จำกันได้ทุกคนว่า ให้รู้จักพึ่งตนเอง แล้วไปหวังพึ่งฤทธิ์ ก็ฤทธิ์ของคนอื่น มันก็แสดงว่า เรานี่ไม่ปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาที่แท้
ฤทธิ์นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่า พอให้คนอื่นบันดาลให้ แล้วต้องดูตัวเองว่ารอให้เค้าบันดาลให้เนี่ย เราอ่อนแอหรือเปล่า ถ้าเราไม่ทำเอง ไม่ทำให้เกิดความสำเร็จนี่ กลายเป็นความอ่อนแอมั้ย เรื่องฤทธิ์ เรื่องปาฏิหาริย์ เราจะต้องทำให้เกิดมีของตนเอง พระพุทธศาสนานี่ท่านไม่ให้รอหวังพึ่งฤทธิ์ผู้อื่น แต่ให้สร้างฤทธิ์ให้เกิดมีของตนเองขึ้นมา เพราะฉะนั้น ก็จะมีหลักธรรมที่สอนไว้ชัดเจน ทุกคน ชาวพุทธรู้จักหมดเลย หลักธรรมข้อนี้ แต่ว่าบางทีไม่ได้นึก
คำว่า “ฤทธิ์” ภาษาบาลี เรียกว่า อิทธิ ฤทธิ์ นี่เป็นสันสกฤต แล้วบาลีเรียกว่า อิทธิ บางทีเราก็พูดควบกันว่า “อิทธิฤทธิ์” คือว่า บาลี-อิทธิ สันสกฤต-ฤทธิ์ ก็เป็น อิทธิฤทธิ์ พูดซ้อน เป็นคำซ้อนกัน ซ้ำซ้อน ทีนี้บางทีเราก็พูดว่า อิทธิปาฏิหาริย์ บางทีก็พูดว่า ฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ก็คือคำเดียวกันนั่นแหล่ะ นี้เรื่องฤทธิ์ เรื่องปาฏิหาริย์เนี่ย อย่างที่บอกเมื่อกี้ ท่านไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่จริง แต่ท่านบอกว่าจริงก็ไม่หวังพึ่ง ข้อสำคัญคือว่า ต้องสร้างฤทธิ์ขึ้นมาเอง
หลักธรรมให้สร้างฤทธิ์ เมื่อกี้บอกแล้วว่า ฤทธิ์คือ อิทธิ แล้วหลักธรรมอะไรที่สร้างฤทธิ์ หลักธรรมนี้รู้จักกันทั่วหมดแล้ว ก็คือ อิทธิบาทนั่นเอง อิทธิก็ฤทธิ์ ฤทธิ์ แปลว่า ความสำเร็จก็ได้ ความรุ่งเรืองก็ได้ แล้วบาทแปลว่าอะไร บาท ก็บาทา บาทาก็เท้า เท้าก็คือเครื่องมือที่จะก้าวไป ก้าวไปสู่อิทธิ ก็คือ เท้าที่จะก้าวไปสู่ฤทธิ์นั่นเอง เท้าที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จ ความรุ่งเรือง นี้ถ้าใครได้ปฏิบัติตามหลักอิทธิบาทสี่ นี้ก็จะเป็นผู้มีฤทธิ์ และเป็นผู้มีฤทธิ์ที่เราทำเอง และก็จะสมชื่อกับปี ๒๕๔๙ ที่ก้าวไป เพราะว่ามีสี่เท้าเลยตอนนี้ เรามีสองเท้านี่เราไม่ค่อยก้าว ท่านเลยให้สี่เท้าเลย ตอนนี้มีอิทธิบาท สี่เท้า บาทาสี่ ให้ตั้งสี่แล้วยังไม่ยอมก้าว ก็เห็นจะแย่แล้วคราวนี้ เพราะฉะนั้นก็ขอให้ใช้เท้าสี่อิทธิบาทนี้ ก้าวกันไปซะที อิทธิบาท ๔ นี้ ถ้ามีแล้ว ก้าวแน่นอน ก้าวไปสู่ความสำเร็จ เพราะฉะนั้น เราต้องมานึกว่า เราจะไปหวังแต่เพียงว่า ตัวเลขเป็นสิริมงคล ๔๙ เท่านั้น แต่เราต้องก้าวด้วย
ถ้าเราอยู่เฉยๆ นี่ กาลเวลามันก้าวตลอดเวลา จริงหรือไม่ กาลเวลานี่ไม่เคยหยุด ไม่ว่าเราจะหลับ จะตื่น จะนอน จะพัก ยังไงก็ตามเนี่ย กาลเวลาไม่เคยหยุดเลย เมื่อกาลเวลาก้าวไปตลอดเวลา ถ้าเราหยุด เรานิ่ง เราก็กลายเป็นคนประมาท ไม่เจริญก้าวหน้า
เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของคนเนี่ยจะต้องก้าว อย่างน้อยก็แข่งกับกาลเวลา ให้ทันกาลเวลา แล้วท่านที่ประสบความสำเร็จในอิทธิบาท ก้าวไปด้วยอิทธิบาทก็จะเป็นผู้เหนือกาลเวลาได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปมัวปล่อยตัวเรื่อยเปื่อยไปตามกระแส แล้วก็หวังพึ่งฤทธิ์อิทธิเดช สิ่งดลบันดาลจากภายนอก ให้เรามาสร้างฤทธิ์ด้วยตนเอง โดยใช้อย่างน้อย อิทธิบาท ๔
เรื่องอิทธิบาท ๔ นี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องอธิบาย เพราะว่าเป็นธรรมะที่ชาวพุทธทุกคนรู้จักกันดี ก็เรียกว่า เป็นธรรมะง่ายๆ เอาแต่เพียงหัวข้อก็แล้วกัน แม้แต่เด็กๆ ถ้าเรียนพุทธศาสนามาแล้วต้องถือว่าจำได้ทุกคน ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
ถ้าจำง่ายๆ ก็อะไรดี ก็เอาว่ากันให้เป็นคำคล้องจองนิดหน่อย ท่านบอกว่า
ข้อหนึ่ง ใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์
ข้อสอง เพียรขยันก้าวไป นี่ล่ะก้าวละข้อสอง
ข้อสาม ใจมุ่งมั่นอุทิศตัว คือทำอะไรก็ใจมุ่งมั่นอุทิศตัว
ข้อสี่ ใช้หัวคิดพินิจการ คือ ไม่ทำแบบว่าเรื่อยเปื่อย รู้จักใช้หัวคิดด้วย
อันนี้ก็เป็นหลักอิทธิบาท ๔ แบบง่ายๆ ภาษาไทย “ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา” หรือจะใช้อีกชุดหนึ่งก็ได้ง่ายๆ “ใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน” จะใช้ชุดไหนก็ได้ แต่ว่ารวมความก็คือ เป็นหลักธรรมเบื้องต้น ง่ายๆ ตอนนี้ถ้าทำเราใช้อิทธิบาท เป็นอันว่า เรามีสี่เท้า ก้าวไปสู่ความสำเร็จ ก้าวไปสู่ฤทธิ์ ก้าวไปสู่ความรุ่งเรือง ความเจริญ
ถ้าเป็นชีวิตบุคคล ชีวิตบุคคลนั้นก็เจริญรุ่งเรือง แล้วก็ไปรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนก็เจริญงอกงาม ไปเป็นประเทศชาติ ประเทศชาติก็เจริญก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ ยุคนี้เค้าบอกเป็นยุคแห่งการแข่งขัน เราไม่ต้องกลัวการแข่งขันนั้น มีความสำเร็จแน่ ประสบชัยชนะในการแข่งขันได้ ถ้ามีอิทธิบาท ๔ ประการ
เพราะฉะนั้น เวลาปีใหม่ที่มาถึงนี่ เป็นเครื่องเตือนใจเราแล้วว่า กาลเวลานั้นก้าวไปแล้วนะ มันกำลังทิ้งปีเก่า ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ แล้วเขาจะไม่รอเราเลยเป็นอันขาด เพราะฉะนั้น เราจะต้องก้าว เราจะไปหยุดนิ่งไม่ได้
อันนี้คือ คติที่เหนือกว่าการที่จะไปเอาแค่ เลข ๙ เป็นสิริมงคล จริงๆ ก็คือทำให้ ตัว ๙ เนี่ย มีผลที่แท้จริงขึ้นมา ด้วยการที่เราก้าวไป
ทีนี้เป็นอันว่า ขั้นที่หนึ่ง ไม่หยุด ไม่นิ่ง ไม่เฉย แต่ต้องก้าวไป พร้อมกับ คู่กับ แข่งกับ กาลเวลานั้น นี่ขั้นที่หนึ่งละไม่หยุด ก้าวไป แต่ว่าแม้ว่าก้าวไปก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะประสบความสำเร็จ ก็ต้องระวังอีก บางคนนี่จะก้าวเดินไป แต่ไม่มีกำลัง ไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อม อ่อนแอ แล้วจะก้าวไปอย่างไร ก็ไม่มีกำลังจะก้าวไป บางคนไม่มีกำลัง ไม่ได้พัฒนา ทำตัวให้พร้อม จะไปก้าวเป็นส่วนตัว หรือก้าวเป็นสังคม ประเทศชาติก็ตาม แต่ชอบโก้ เอาอะไรต่อไร มาประดับตกแต่ง แต่งตัวซะโก้ หรือทำเป็นพะรุงพะรัง เสร็จแล้วก้าวไปนี่ ก้าวไปเนื้อตัวมันไม่ได้แข็งแรงจริง มันพอกเอาไว้ข้างนอก ก็กลายเป็นว่า สิ่งที่พอกไว้ข้างนอกเป็นภาระรุงรัง จะทำให้ตัวเองยิ่งยอบแยบ ดีไม่ดีจะล้ม หรือว่าจะไปป่วยไข้กลางทาง จะไปไม่ไหวเอา จะทรุดหนัก
เพราะฉะนั้น คนที่ก้าวไปนี่ ก็คือจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม จะต้องพัฒนาตน ทำตนให้แข็งแรง ให้เป็นคนที่มีคุณภาพ
อย่างสังคมไทยนี่ ต้องดูว่า คนไทยเราเนี่ยมีความเข้มแข็ง มีความพร้อม มีสติปัญญาความสามารถเพียงพอไหม ที่จะก้าวไปในการแข่งขัน เป็นต้น ในระดับโลก หรือในระหว่างประเทศอะไรเนี่ย เรามีความพร้อมหรือเปล่า คิดจะก้าวไปก็ต้องมีความพร้อม เตรียมตัวให้พร้อม เสริมสร้างพัฒนาคุณสมบัติที่ดี ก็คือ สติปัญญาความสามารถ เป็นต้น ให้เกิดมีขึ้นมา ไม่ใช่ก้าวไปโดยที่เอาอะไรต่ออะไรมาพอก เป็นของคนอื่นทั้งนั้น ถ้าอย่างนั้นก็ไปไม่ไหวเหมือนกัน อันนี้เป็นประการที่สอง
ต่อไปประการที่สาม ก็ต้องมีปัญญาอีก ต้องมีปัญญารู้ว่านี่เราจะก้าวไปไหน มีจุดหมายที่ชัดเจน แล้วก็รอบข้างทางทั้งสองข้างทางนี้ จะมีอะไร จะต้องเจออะไร มีอุปสรรคอะไรบ้างที่เราจะต้องแก้ไข ดูให้รอบด้าน สถานการณ์ปัญหาอะไรต่างๆ ที่จะต้องพบ ต้องมีความสามารถในการที่จะบุกฝ่าแก้ปัญหาข้างหน้า แล้วไปให้บรรลุจุดหมายให้ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ว่าจะต้องใช้ตัวสำคัญ ก็ปัญญานี่แหล่ะ
ฉะนั้นการที่จะก้าวไปสู่จุดหมายนี่ แม้จะมีกำลังพรั่งพร้อมแล้ว ถ้าก้าวไม่เป็น ก้าวไม่ถูก อาจจะลงหลุม ลงเหวไปเลย ก้าวผิดที่ จุดหมายไม่ได้ตั้งไว้ให้ดี อย่างบางสังคม หรือโดยเฉพาะสังคมไทยนี่ น่าสังเกตว่าขาดจุดหมายที่ชัดเจน ไม่มีจุดหมายรวมของสังคม ใช่หรือเปล่าก็ขอให้เราช่วยกันพิจารณาดูด้วย ถ้าหากว่ามันบกพร่องอะไร ก็เป็นเวลาที่จะมาสำรวจตรวจสอบตัวเอง แล้วก็ปีใหม่นี่เป็นเวลาที่จะได้มาตั้งตัว ตรวจสอบตัวเอง แล้วก็มาพัฒนาแก้ไขปัญหา ทำตัวให้พร้อมจริงๆ ให้ปี ๔๙ เป็นปีแห่งการก้าวหน้าที่แท้จริง ฉะนั้นตกลงว่า
๑. ต้องก้าวไป ไม่ใช่หยุดอยู่นิ่ง
๒. ในการก้าวไปนั้น ต้องมีกำลัง มีความพร้อม มีสติปัญญาความสามารถ เป็นต้น ที่จะก้าวไปได้ โดยที่พลังในการก้าวนั้น อยู่ในเนื้อในตัวของตัวเอง ไม่ใช่ไปเที่ยวเอาอะไรต่ออะไรมาพอกอวดโก้กันไป หรือเป็นของฉาบฉวยล่อตาอะไรเท่านั้น เพราะคนไทยเรามีค่านิยมอันหนึ่ง คือ ชอบโก้ อันนี้ต้องระวังมาก ถ้าเอามาแค่อวดโก้กันเท่านั้น นี่ก็จะเป็นอันตราย
๓. อย่างที่บอกแล้วก็คือ ต้องรู้จุดหมาย แล้วก็ไปให้ถึงจุดหมาย โดยไม่ตกหลุมตกเหวในระหว่างทางเสียก่อน
ถ้าได้แค่นี้ ละอย่างนี้ก็ถือว่า การก้าวไปในปี ๒๕๔๙ นี้ ก็จะเป็นการก้าวที่แท้จริง จะประสบความสำเร็จ แต่อย่าลืมว่าทั้งหมดนี้ ก็ใช้อิทธิบาท สี่เท้านี่ก้าวไป จะประสบความสำเร็จแน่นอน
ที่นี้ว่า เรามีอิทธิบาท ๔ ประการแล้ว นี้เราก้าวไปประสบความสำเร็จด้วยดี ก็เรียกว่า สี่เท้านี่ เราจะก้าวไปในการทำอะไรบ้าง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา ก้าวไปในการทำอะไร
ก็ขอยกตัวอย่างสักชุดหนึ่ง อันนี้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น เราสามารถจะทำการต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการเจริญงอกงาม ทุกระดับ ทั้งระดับตัวบุคคลส่วนตัว ทั้งระดับชุมชน ทั้งระดับประเทศชาติ แล้วก็เกื้อกูลระดับโลกไปด้วย
อันที่หนึ่ง ก็คือ หลักพุทธศาสนาท่านสอน ให้เราทำถิ่นที่อยู่ ถ้าเป็นตัวเอง บ้าน ครอบครัว ก็คือ บ้านเรือนที่อยู่อาศัย และก็ถ้าเป็นชุมชน ก็ท้องถิ่นทั้งหมด แล้วขยายออกไป ก็ประเทศชาติของเราเนี่ย ทำให้เป็นท้องถิ่นดินแดนที่น่าอยู่น่าอาศัย หรือเป็นถิ่นที่เหมาะสม เป็นดินแดนที่ดีงาม มีความสงบ เรียบร้อย ปลอดภัย มีความมั่นคง แล้วก็มีธรรมชาติ มีสิ่งแวดล้อมที่รื่นรมย์น่าอยู่อาศัย เป็นต้น อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จำเป็น ถ้าหากว่า เราขาดที่อยู่อาศัย ท้องถิ่นสภาพแวดล้อมที่ดีงามแล้ว มันก็ไม่ชวนให้น่าอยู่ แล้วจะไม่เกื้อหนุน ทางพระเรียกว่า ไม่เป็นสัปปายะ ในการที่จะไปสร้างสรรค์ความเจริญอย่างอื่น
เพราะฉะนั้นจะต้องทำถิ่นที่อยู่อาศัยประเทศชาติ บ้านเมืองของตัวเองเนี่ย ให้ดีงาม เรียบร้อย สงบ มั่นคง ปลอดภัย ไม่ใช่มัวแต่ มีการรบราฆ่าฟัน มีโจรผู้ร้ายมากมาย เบียดเบียนแย่งชิงซึ่งกันและกัน สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ มีแต่ขยะ มีแต่ควันพิษ อย่างนั้นก็เสีย เพราะฉะนั้นจะต้องคิดแก้ไขกันทำให้ดี ถ้าถิ่นที่อยู่ของเรา สิ่งแวดล้อม ประเทศชาติบ้านเมือง เรียบร้อย น่ารื่นรมย์ น่าอยู่อาศัย อย่างนี้แล้ว จิตใจเราก็จะมีความสุข และก็จะสามารถก้าวไปในการพัฒนา
ต่อไปเมื่อด้านวัตถุ สิ่งแวดล้อม อะไรต่อไรดีแล้ว ก็ต่อไป
อันที่สอง คือ คน คนก็คือ คนที่เราคบหา อยู่ร่วมเนี่ย ก็ให้เป็นคนดี ถ้าเป็นเด็กก็รู้จักคบหาเพื่อนที่ดี รู้จักที่จะรับประโยชน์จากคุณพ่อคุณแม่ รับประโยชน์จากครูบาอาจารย์ เป็นต้น รับประโยชน์จากสื่อมวลชน การดูการฟังทีวี การใช้อินเทอร์เน็ต (Internet) อะไรต่างๆ พวกนี้ การใช้ไอที (IT) จะต้องรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็คือ การคบหาสิ่งแวดล้อม การสื่อสารกับสิ่งแวดล้อมทางสังคมต่างๆ เนี่ยให้ได้ประโยชน์ ให้ได้สิ่งที่เป็นคุณค่า อันนี้มีทุกระดับ ขยายขึ้นไปอย่างในระดับของผู้บริหารประเทศชาติ ก็เราจะต้องมี ข้าราชการที่ดี มีที่ปรึกษาที่ดี มีนักการเมืองที่ดี มีผู้บริหารทุกระดับชั้น ข้าราชการทุกระดับชั้นที่ดีงาม ซื่อตรง ขยันหมั่นเพียร ตั้งใจดี ทำงานเพื่อประเทศชาติ ถ้าผู้บริหารประเทศชาติ ผู้นำ มีคนที่ดีแวดล้อม ก็เรียกว่า “คบคนดี” ถ้าคบคนดี ก็มีหวังที่ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองงอกงาม
ตั้งแต่ในบ้าน แต่ละบุคคลก็เช่นเดียวกัน เด็กแต่ละคนก็ต้องรู้จักฝึกที่จะคบหาคนดี มีเพื่อนที่ดี แล้วเพื่อนที่ดีนี่พระท่านไม่ได้จำกัดเฉพาะเพื่อนที่มีวัยเดียวกัน แม้แต่พ่อ แม่ ครูอาจารย์ ท่านก็เรียกว่าเป็นเพื่อน ในชื่อว่า “กัลยาณมิตร” นี้ก็รู้จักคบหา ได้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี อันนี้ก็จะเจริญก้าวหน้าไป ก็เป็นองค์ประกอบที่จะต้องสร้างสรรค์ ในการเตรียมก้าวไปให้ได้ผลดี
ต่อไปประการที่สาม ก็คือ ความพร้อมในตัวเอง คุณสมบัติในตัวเอง เค้าเรียกว่า “บุญ” ความดีงามต่างๆ สติปัญญา ความสามารถ ความมีคุณธรรมต่างๆ ความขยันหมั่นเพียร ความมีสติ สมาธิ ความรับผิดชอบ ความมีวินัย ความมีศีล ต่างๆ เหล่านี้ไปสิ้นสุดที่ปัญญา คุณสมบัติเหล่านี้จะต้องสร้างให้มีขึ้นในตน เป็นทุนดีที่ต้องเตรียมไว้ตลอดเวลา เตรียมให้พร้อมไว้แต่ต้น เมื่อเตรียมขึ้นมาไว้มีในตัวอยู่ก่อนพร้อมแล้ว เรียกว่าเป็น “ปุพเพกตปุญญตา” แปลว่า มีบุญที่เตรียมทำไว้ก่อนแต่ต้น เตรียมพร้อมแล้วนี้ พอมีสถานการณ์ที่ต้องใช้ขึ้นมา เราก็พร้อมที่จะปฏิบัติการได้ทันที แต่คนที่ไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้สร้างทุนดีเตรียมพร้อมไว้ ไม่มีปัญญา ไม่ได้รับการศึกษา เป็นต้น พอเจอสถานการณ์ที่ต้องทำ ต้องปฏิบัติขึ้นมา ก็ไม่พร้อมที่จะทำ ก็เกิดติดขัด
เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีการศึกษาให้เด็กเล่าเรียนกันไว้แต่ต้น ตั้งแต่วัยเด็กวัยเล็ก ก็เพราะอะไร ก็เพราะว่า ให้เขาเป็นผู้มีทุนดีได้เตรียมไว้
ต่อไปข้อที่สี่ ก็คือ พอมีทุนดีอะไรต่างๆ แล้ว ทีนี้ก็ตั้งตัวให้แน่วไปเลย ตั้งตัวแน่วสู่จุดหมาย จุดหมายของตัวเอง ของชีวิตเป็นอย่างไร ของชุมชนเป็นอย่างไร ของสังคมประเทศชาติมันต้องมี
เวลานี้เราต้องสำรวจว่า ชีวิตเรานี่มีจุดหมายชัดเจนไหม ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ ทั้งจุดหมายระยะยาว จุดหมายระยะสั้น เฉพาะหน้า
อย่างน้อยจุดหมายในปี ๒๕๔๙ นี่ที่เด่นที่สุดคืออะไร เราจะต้องทำอะไรให้สำเร็จตั้งไว้ แล้วก็ตั้งตนให้แน่วแน่มุ่งหน้าสู่จุดหมายนั้นให้บรรลุผลให้ได้ แล้วไม่ไขว้ไม่เขว ไม่แฉลบไถลเถลออกไปนอกทาง อันนี้สำคัญมาก เพราะว่า ยุคปัจจุบันนี้มีสิ่งล่อเร้าเย้ายวนมาก เด็กๆ นี่มักจะถูกสิ่งล่อเร้าเย้ายวนเนี่ยจูงให้ไถล เฉออกไปจากทาง ฉะนั้นเราจะต้องมุ่งมั่นแน่วแน่ในการเดินทางนี้ไปสู่จุดหมาย
ข้อนี้ท่านเรียกว่า “ตั้งตนไว้ชอบ” หรือ “ตั้งตนให้ถูกที่” เรียกว่า “อัตตสัมมาปณิธิ”
สี่ข้อนี้ ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็จะประสบความสำเร็จก้าวหน้าได้อย่างแน่นอน ไม่เฉพาะในระดับบุคคล แม้แต่ในระดับประเทศชาติก็เช่นเดียวกัน อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่า ประเทศชาติ สังคม จะต้องมีจุดหมายรวมบ้าง อย่างประเทศสมัยก่อนที่เขาบรรลุเป้าหมายเป็นประเทศยิ่งใหญ่ เป็นมหาอำนาจอะไรนี่ ปกติเขาต้องมีจุดหมายรวม ในบางประเทศก็มีชาตินิยมที่แกร่งกล้า แต่ว่าสำหรับเรา เราต้องมาคิดกันว่า จุดหมายอะไรจะดีที่สุด ซึ่งเป็นจุดหมายที่เป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์แท้จริง ที่เป็นคุณทั้งแก่ประเทศของตนเอง สังคมของตนเอง แล้วก็เกื้อกูลต่อโลก ไม่ไปเบียดเบียนคนอื่นด้วย แต่ว่าต้องมี ไม่ใช่อยู่กันไปเรื่อยๆ เปื่อยๆ วันๆ เคว้งคว้างเลื่อนลอย
ก็เอาละ นี่ทุกระดับจะต้องมีจุดหมาย แล้วก็ตั้งตัวแน่วแน่ ดำเนินก้าวหน้าไปสู่จุดหมายนั้น ธรรมะ ๔ ประการนี้ขอทวนอีกครั้งหนึ่ง ก็คือ
๑. ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในถิ่นที่เหมาะ ถ้าถิ่นนั้นมันยังไม่เหมาะ เช่น บ้านเมืองยังไม่ดีไม่เรียบร้อย ก็ต้องทำให้มันเหมาะ ก็ต้องช่วยกันทำให้มันดีให้ได้ ใครอยู่บ้านของตัว บ้านของเรายังไม่ดี ยังไม่น่าอยู่อาศัย ยังไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง ก็มาแก้ไขปรับปรุง ทำให้เรียบร้อยดี
๒. สัปปุริสูปัสสยะ คบหาคนดี ก็นี่ก็ทุกระดับไป จนกระทั่งผู้บริหารประเทศชาติ ก็ต้องมีคนที่มาแวดล้อม ที่มารับใช้ ทำงานทำการที่ดีงาม ที่ตั้งใจจริง ซื่อตรง มีความมุ่งหมายที่จะสร้างสรรค์ประเทศชาติ เป็นต้น
๓. ปุพเพกตปุญญตา มีคุณความดีที่เตรียมไว้ให้พร้อมแต่ต้น
๔. อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งต้นไว้ชอบ
ธรรมะ ๔ ข้อนี้ ชาวพุทธจำนวนมากรู้ดี เรียกว่าอะไร เรียกว่า “จักร ๔”
จักร ๔ นี้ก็มาต่อกับอิทธิบาท ๔ อิทธิบาท ๔ นั้นแปลว่า เท้าสี่เท้าที่นำไปสู่ความสำเร็จ ที่นี้เรามีจักร ๔ ทีนี้เป็น สี่ล้อเลย เมื่อกี้นี้เอาแค่เท้า ตอนนี้ติดล้อเลย ได้สี่เท้าก็ก้าวไปสู่ความสำเร็จแล้ว นี่ไม่ใช่แค่ก้าวเท่านั้นละ ติดล้อแล้ว ได้จักร ๔ นี่ติดล้อเลย ถ้าเป็นประเทศชาติ ก้าวหน้าไปแข่งขันในระดับโลกได้สบาย ไปสู่ความสำเร็จ ไม่ต้องห่วง
ฉะนั้นวันนี้ เราเตรียมพร้อมที่จะก้าวไปในปีใหม่ ๒๕๔๙ นี่ เราเตรียมทั้งเท้า ทั้งล้อเลย นี้เท้านี่ท่านให้ตั้งสี่เท้า เราแค่สองเท้ายังไม่ค่อยจะยอมก้าว ท่านแถมให้อีกสองเท้า เป็นอิทธิบาท ๔ เท้าสี่เท้าไปสู่ความสำเร็จ แล้วก็ติดล้ออีกสี่ล้อ อย่างนี้เราก็เดินก้าวหน้าไปได้ เข้าหลักที่ว่า เราจะทำตนให้พร้อมที่จะพึ่งตนเองได้
อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ได้พูดแต่ต้นแล้วนี่ ตอนนี้เราต้องพึ่งตนเอง ไม่ใช่ไปมัวหวังพึ่งภายนอก อย่างที่ว่า ไม่ใช่ไปมัวหวังพึ่งฤทธิ์ การดลบันดาลของคนอื่น ไปหวังพี่งเลข ๔๙ ก็ไม่พอ ต้องก้าวด้วยตัวเองให้ได้ การก้าวด้วยตนเองก็คือการพึ่งตนเอง
การพึ่งตนเองนี่ก็ พึ่งได้ยังไง คนที่จะพึ่งตนเอง ก็ต้องมีตนที่พึ่งได้ อันนี้สำคัญมากนะ ต้องถามตัวเองบอก ฉันจะพึ่งตน อ้าวแล้วคุณมีตนที่พึ่งได้หรือเปล่า ถ้าคุณจะพึ่งตน แต่คุณมีตนที่พึ่งไม่ได้ เช่นว่า ไปตกน้ำ ว่ายน้ำไม่เป็น ก็คือมีตนที่พึ่งไม่ได้ แล้วจะพึ่งตนยังไง ก็ตาย จมน้ำอีก
เพราะฉะนั้น หลักพึ่งตนเนี่ย ท่านบอกต่อไปว่า ฉันจะพึ่งตน ถามว่าแล้วมีตนที่พึ่งได้หรือยัง และถ้ามีตนที่ยังพึ่งไม่ได้ ทำไง ก็ต้องฝึก ศึกษาพัฒนาตนนั้นขึ้นไป เพื่อทำตนนั้นให้เป็นที่พึ่งได้ ตอนนี้แหละ พุทธศาสนาจะมา ตรงนี้จุดสำคัญมาก นั้นต้องทำให้ครบ ๓ ขั้นตอน คือ
หลักความจริงมันมีอยู่ว่า ในที่สุดแล้ว ที่พึ่งที่แท้ก็คือตัวเรานี่แหละ ใครจะช่วย จะให้เราพึ่งแค่ไหน พ่อแม่จะรักเราแค่ไหน ทำให้เราทั้งหมดแค่ไหน ในที่สุด แม้จะเอาข้าวใส่ปากแล้วยังไม่ยอมเคี้ยวเลย ไม่ยอมพึ่งตน มันไปไม่รอด
หรืออย่างที่ว่า ไปตกน้ำเนี่ย แล้วก็ไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัดไว้ ก็เรียกว่า พึ่งตนไม่ได้ ก็ลำบาก ใครจะไปช่วยยังไง มันก็สู้ตัวเองไม่ได้
ในที่สุดแล้ว จิตใจของตัวเอง ที่เรามีทุกข์ มีอะไรต่างๆเนี่ย ในที่สุดก็ต้องพึ่งตัวเอง เราก็ต้องอยู่กับจิตใจของตัวเอง นั้นเราจะต้องพัฒนาตัวเรา ทั้งทางด้านร่างกาย ทางด้านจิตใจ โดยเฉพาะปัญญาให้พร้อม ถ้าเรามีปัญญาพร้อมนี่ เราจะพึ่งตนได้อย่างแท้จริง มีปัญหาทุกอย่างแก้ได้ มีปัญหาในจิตใจของตัวเองก็แก้ได้ มีทุกข์เกิดขึ้นก็แก้ได้ คนอื่นมาช่วย มาแนะนำอะไรต่างๆ ถ้าเราไม่เกิดปัญญา ไม่ยอมเข้าใจนี่มันไปไม่ไหว
นั้นในที่สุดท่านบอกความจริงแล้ว ก็คือตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตน แต่อย่างที่บอกเมื่อกี้ จะพึ่งตนก็ต้องมีตนที่พึ่งได้ และทำไงจะมีตนที่พึ่งได้ ก็ต้องฝึกศึกษาพัฒนาตนนั้นขึ้นไป อันนี้หลักใหญ่ที่สุด ฉะนั้นปี ๒๕๔๙ ก็คือ เป็นปีที่เราจะต้องใช้หลักนี้ให้เต็มที่ เพราะหลักเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นหลักพึ่งตนเอง ที่ในหลวงพระราชทานไว้ แล้วก็หลักอะไรก็แล้วแต่ที่เราสอนกัน พระศาสนาก็สอนมาตลอดเวลาให้พึ่งตน แล้วเราก็ย้ำกันตลอดเวลาว่า ให้พึ่งตัวเอง
แต่ว่าอย่าลืมว่า จะพึ่งตนนั้น ต้องมีตนที่พึ่งได้ ทีนี้จะมีตนที่พี่งได้ก็ต้องฝึกศึกษาพัฒนาตนนั้นขึ้นไป ก็คือกระบวนการที่จะทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ อันนี้คือพุทธศาสนาทั้งหมด ขอให้เข้าใจด้วยนะ พระพุทธศาสนาทั้งหมด คือ กระบวนการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ไม่ใช่มาติดอยู่แค่ให้พึ่งตน เพราะว่าถ้าสอนแค่นั้นแล้ว แล้วมีตนที่พึ่งไม่ได้ จะไปพึ่งยังไง
คนจำนวนมากเนี่ย บอกพึ่งตน เจอคนตกน้ำ เค้าว่ายน้ำไม่เป็น ก็บอกเขาว่า คุณ อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตนนะ ทำไงล่ะ คนที่ว่ายน้ำไม่เป็น แกก็ตายเท่านั้น
เพราะฉะนั้น อย่าไปเอาแค่นั้น ตนเป็นที่พึ่งของตน นั้นเป็นหลักความจริง แต่ว่าสิ่งที่ต้องทำก็คือ หลักต่อไปว่า ต้องมีตนที่พึ่งได้ แล้วจะมีตนเป็นที่พึ่งได้ ก็ต้องฝึกศึกษาพัฒนาตนนั้นขึ้นไป แล้วเราก็จะมีตนที่พึ่งได้ในทุกระดับ เริ่มแต่ระดับบุคคล ถามว่า ระดับส่วนตัวเรา พึ่งตนเองได้มั้ย มีตนที่พึ่งได้หรือเปล่า เด็กทุกคนจะต้องถามตัวเอง เรามีตนที่พึ่งได้มั้ย ที่คุณพ่อคุณแม่มาให้เราเล่าเรียนศึกษาอะไรต่างๆ นี่ก็เพื่อให้เธอมีตนที่พึ่งได้ ให้หนูมีตนที่พึ่งได้ เพราะตอนนี้เรายังมีตนที่พึ่งไม่ได้ ก็เลยต้องมาทำตนให้เป็นที่พึ่งให้ได้
ทีนี้มีตนที่พึ่งได้ระดับบุคคล ต่อไปก็มีตนที่พึ่งได้ระดับชุมชน ชุมชนแต่ละชุมชนก็ต้องมีตนที่พึ่งตนได้เหมือนกัน ก็ต้องฝึกศึกษาพัฒนาตนขึ้นไป
ต่อไปก็มีตนที่พึ่งได้ในระดับประเทศชาติ ก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องพัฒนาประเทศชาติ ก็คือ พัฒนาคน พัฒนาคุณภาพคนเนี่ย ให้มีสติปัญญา มีความสามารถ แล้วเราก็จึงจะสามารถพึ่งตนได้อย่างแท้จริง
ปีใหม่ ๒๕๔๙ นี้ ก็อย่างที่กล่าวแล้ว เป็นปีที่เราจะต้องก้าว ไม่ใช่หยุดอยู่กับที่ และก้าวโดยไม่ใช่อาศัยเพียงลำพังโชคลาง ตัวเลข ให้เค้าก้าวไป แล้วตัวเองไม่ทำอะไร ต้องก้าวไป แล้วต้องก้าวโดยมีกำลังที่จะก้าว แล้วก็ก้าวไปโดยมีสติปัญญารู้ว่าจะก้าวไปไหน แล้วก็มีภัยอันตรายอุปสรรคอยู่ตรงไหน มีหลุมมีเหวอยู่ตรงไหน จะต้องไม่ตกหลุมตกเหวนั้น แล้วก็สามารถใช้เท้าทั้งสี่ ใช้ล้อทั้งสี่นี้ ก้าวไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้บรรลุผลสมความมุ่งหมายนั้น แล้วกระบวนการนี้ก็จะทำให้เรานี่มีความสามารถในการพึ่งตนขึ้นตลอดเวลา
การพัฒนาที่ดีที่สุดในตอนนี้ก็คือ การพัฒนาความสามารถในการพึ่งตนเอง ฉะนั้นคนไทยนี่จะต้องใช้หลักนี่ให้เต็มที่ในปี ๒๕๔๙ ถ้าต้องการให้ปี ๒๕๔๙ เป็นปีแห่งการก้าวไป ก็จะต้องไม่ลืมหลักนี้เป็นอันขาด เราจะไปมัวหวังพึ่งภายนอกอยู่ พึ่งไม่ได้ ตอนนี้เราเพียงแต่ว่า ทำใจดีๆ เริ่มต้นด้วยจิตใจสบายผ่องใสเบิกบาน แต่ว่าอย่าไปหยุดแค่นั้น ถ้าไปหยุดแค่ว่า เอ้อ ปี ๔๙ เป็นเลขดีนะ เป็นสิริมงคล เพราะฉะนั้นแค่นั้น แล้วทีนี้ก็ปล่อยอยู่เคว้งคว้างเลื่อนลอย กลายเป็นคนประมาท ท่านบอกว่า ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย เพราะฉะนั้นหยุดไม่ได้ ต้องก้าวด้วยตนเอง
วันนี้เป็นอันว่า เรามาพูดกันถึงเรื่องปีใหม่ แล้วทุกคนก็มีใจร่วมกันว่า กำลังจะทิ้งปีเก่า ไปขึ้นปีใหม่ อย่าทิ้งร้ายนะ ต้องทิ้งดีๆ ด้วย ปีเก่าก็ต้องทิ้งให้ดี ทิ้งให้มันมีความหมายในเชิงที่ ที่จริงแล้ว ปีเก่านี่ดีเป็นประโยชน์มาก ก็คือเป็นทุน ของเราที่จะทำให้เราก้าวไปได้ในปี ๔๙ ถ้าเราไม่มีปี ๔๘ ที่ดี เราจะก้าวไปสู่ปี ๔๙ ให้ดีได้ยาก ฉะนั้นเราก็ต้องทำปี ๔๘ ให้ดี ถ้ามันไม่ดี ก็ถือเป็น ตัวเตือนสติ เป็นบทเรียนแก่เรา ในการที่เราจะได้เตรียมการก้าวไปในปี ๔๙ ให้ดีที่สุด
วันนี้ก็ขอให้กำลังใจสนับสนุนแก่ทุกท่าน ในการที่จะสร้างความพร้อม ในการที่จะก้าวไปในปี ๒๕๔๙ โดยที่ว่าเวลานี้ต้องดูว่า ข้างๆ เรานั้น กาลเวลาเค้ากำลังก้าวอยู่ ไม่ใช่ว่าเราจะก้าวเท่านั้น ที่จริงนั้นตัวแท้ก็คือ กาลเวลานั่นล่ะที่ก้าวไป ที่ทำให้เกิดปีเก่า ปีใหม่ เมื่อเกิดกาลเวลาก้าวไป เราก็กำลังจะก้าวด้วย แล้วเราจะก้าวอย่างดีที่สุด ให้ประสบความดีงามและความสำเร็จ
แล้วจะสำเร็จได้อย่างไร ก็สำเร็จด้วยการใช้หลักที่ว่ามาแล้ว คือว่า ถ้าถือหลักพึ่งตน ก็ต้องมีตนที่พึ่งได้ แล้วจะมีตนที่พึ่งได้ ก็ต้องฝึกศึกษาพัฒนาตนนั้นขึ้นไป แล้วจะฝึกศึกษาพัฒนาตนขึ้นไป สามารถใช้หลักอิทธิบาท ๔ ก็ได้ ก็คือใช้เท้าทั้งสี่นั้น ก้าวไปสู่ความสำเร็จ แล้วก็ติดล้อทั้งสี่อีก ก็เลยก้าวไปอย่างรวดเร็วเลย บรรลุจุดหมายแน่นอน
วันนี้ก็ถือว่าเป็นเวลาดีงาม เป็นสิริมงคล เพราะเรามาพูดกันในทางที่ถูกต้องดีงาม พูดธรรมะกัน เราก็ทำให้กาลเวลานี้ ที่จริงเป็นของกลางๆ กลายเป็นกาลเวลาที่ดี เป็นสิริมงคล ก็เริ่มต้นดีละ ต่อไปนี้เมื่อเริ่มต้นดีก็จะได้เดินหน้าไปอย่างดี อย่างมีประสิทธิภาพ ก้าวไปสู่ความสำเร็จ ความสุข ความเจริญงอกงาม
ในโอกาสนี้ ที่ถือว่าเป็นสิริมงคลแล้ว ก็ขอให้เราทั้งหลายมาทำให้เป็นสิริมงคลสมตามที่ถือนั้น ด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรมที่กล่าวมา ซึ่งวันนี้ได้นำเอาธรรมะของพระพุทธเจ้า มาแสดงไว้หลายหมวดหลายตอน เลือกใช้ได้ แต่คนไหนทำได้ครบ อันนั้นก็ดีที่สุด
เพราะฉะนั้นก็ต้องแข่งกันด้วย ว่าไม่ใช่แค่เลือก เราจะทำให้ครบ ถ้าคนไหนทำได้ครบก็จะช่วยตัวเอง และช่วยสังคม ประเทศชาติ ให้ก้าวไปในปี ๒๕๔๙ สู่ความเจริญงอกงามและความสำเร็จได้อย่างแน่นอน
ในโอกาสมงคลนี้ ที่จะก้าวไปสู่ปีใหม่ ๒๕๔๙ ก็ขอตั้งจิตตั้งใจส่งเสริมกำลังใจของท่านทั้งหลาย โดยอาราธนาคุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พร
ระตะนัตตะยานุภาเวนะ ระตะนัตตะยะเตชะสา ด้วยเดชานุภาพคุณพระรัตนตรัย พร้อมทั้งบุญกุศลคุณความดีที่เราทั้งหลาย ได้บำเพ็ญ ได้สั่งสมกันมา และตั้งใจทำความดีข้างหน้าต่อไปนี้ จงเป็นพลังที่จะทำให้ทุกคนได้ประสบ จตุรพิธพรชัย เจริญก้าวหน้าในการศึกษาเล่าเรียน ในอาชีพการงาน ในการสร้างสรรค์ชีวิต ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และเกื้อหนุนโลกนี้ให้ก้าวหน้าไปในสันติสุข ตลอดกาล ยั่งยืนนานทุกเมื่อ เทอญ.