แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[00:00] หลักธรรมบริหารบุคคล หลักยึดเหนี่ยวจิตใจ
[00:00] ผู้ฟัง (ผู้ชาย): อยากให้ท่านช่วยแสดงธรรมสั้นๆ เกี่ยวกับการนำหลักธรรมะไปประยุกต์ใช้ในการบริหารบุคคล เราจะเอาหลักธรรมที่เราได้ศึกษามาเวลานี้ ไปประยุกต์ใช้ในการบริหารบุคคลได้อย่างไร อาจจะเป็นหลักกว้างๆ ก็ได้ครับท่าน
[00:20] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต): อันนี้ก็เคยพูดไป ก่อนที่ท่านจะลา ท่านก็เคยถาม แต่ถามกว้าง ๆ เรื่องการทำงาน ก็โยงมาเรื่องการบริหารบุคคล การทำงานร่วมกันเหล่านี้ ก็พอถึงหลักใหญ่มันก็อันเดียวกันละนะ ทีนี้ก็ไปกระจายเอา แล้วก็มีวิธีการปลีกย่อยเทคนิคต่างๆ ซึ่งบางทีก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวเหมือนกัน
[00:53] ทว่าถึงในสายงานอย่างของรัฐ ก็จะไม่เหมือนกันกับการทำเอกชน ที่เป็นส่วนของเราเป็นอิสระ เช่นว่า ก็จะมีระบบที่ถ้าว่า โดยทั่วไปก็มีตัวผู้ทำงาน ก็จะมีคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่า หรือผู้บังคับบัญชา ในระดับสูงขึ้นไป ในระดับเพื่อนร่วมงานคือระดับเดียวกัน แล้วก็มีระดับล่าง หรือใต้บังคับบัญชา คนเราก็จะมี ๓ ระดับนี้ ต่อจากนั้น ก็คนภายนอกที่เราต้องสัมพันธ์เกี่ยวข้อง ยิ่งกิจการธุรกิจนี่ก็จะเกี่ยวข้องกับคนนอกเยอะ เรียกว่าถึงในสายงานของตัวเองก็ ๓ ระดับนี่ก็ไม่ใช่ง่ายแล้วนะ จะทำยังไงให้ทำงานไปได้ด้วยดี ประสานกันทั้ง ๓ ระดับ บางคนก็ถนัดทำกับผู้บังคับบัญชา ไปกันได้กับคนที่เหนือกว่า แต่กับผู้ร่วมงานก็ไม่ได้ดี บางคนไปกันได้กับเพื่อนร่วมงาน แต่ไปกันไม่ได้กับผู้บังคับบัญชา หรือใต้บังคับบัญชา บางคนก็ได้ในแง่ผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ส่วนอื่นไม่ดี อะไรอย่างนี้ มันก็เป็นกันมาก ยากที่จะได้ครบ อันนี้ก็เลยว่าต้องมีวิธีปฏิบัติต่างๆ
[02:34] แต่หลักการใหญ่ ถ้าเราจะเอาหลักธรรมะเป็นหมวด ๆ ก็มี ๒ หมวดใหญ่ก่อน หมวดที่ ๑ ก็รู้กันแน่คือ พรหมวิหาร ๔ เป็นธรรมะฝ่ายประจำใจ หรือด้านใน คือเพื่อให้ภาวะจิตพร้อม พร้อมที่จะสนองตอบในการสัมพันธ์อย่างถูกต้อง ก็คงเข้าใจความหมายดีแล้วใช่ไหม พรหมวิหาร ๔ ว่าใช้ยังไง มันเป็นระบบสัมพันธ์ของธรรมะที่ต้องมีให้ครบ ๔ ถ้ามีไม่ครบแล้ว ก็จะเกิดผลเสีย อย่างที่เคยย้ำบ่อยๆ ว่า สังคมไทยเรานี่เอาพรหมวิหาร ๔ มาใช้ก็ไม่ครบ รู้จักกันดีแต่เมตตากรุณา ทีนี้เมตตากรุณามา ก็ได้แค่สองสถานการณ์สองระดับ แล้วก็พออันที่สาม มุทิตา การสนับสนุนผู้ที่ประสบความสำเร็จ หรือสนับสนุนผู้ทำดี มันก็ไม่ค่อยมี โดยเฉพาะสี่ รักษาความเป็นธรรม รักษาหลักการ รักษากฎกติกา ในข้ออุเบกขา ก็ขาดไป ใช่ไหม
[04:04] อันนี้คงทราบกันดีแล้วนะ เมตตาใช้สำหรับสถานการณ์ปกติ ก็คือปรารถนาดี เป็นมิตรต่อทุกคน ก็เกื้อกูลกัน ทีนี้สอง-ในสถานการณ์ที่เขาตกต่ำลง ก็มีกรุณา หาทางช่วยเหลือ ทำให้เขาพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน สาม-ก็คือเขาก้าวหน้าประสบความสำเร็จ ทำสิ่งที่ดี ก็พลอยยินดีส่งเสริมสนับสนุน แล้วก็สี่-สถานการณ์ที่ต้องรักษาความถูกต้อง ความจริง หลักการ กฎกติกา อันนี้ก็จะต้องวางใจเป็นกลาง ก็จะหยุดสามข้อแรก ท่านเรียกว่า “หยุดขวนขวาย” เพราะว่าสามข้อแรก ก็คือการขวนขวาย ปฏิบัติต่อเขา เพื่อช่วยเหลือ เป็นเรื่องของบุคคล แต่พอข้อสี่นี่เป็นเรื่องของหลักการ เรื่องของความเป็นธรรม เรื่องของการรักษาความเป็นธรรม มันก็เลยไปถึงสังคม ชุมชน หรือหมู่คณะ ที่ว่ารักษาความเป็นธรรมในหมู่ชน ความเสมอภาค ความถูกต้อง ความยุติธรรม
[05:22] ข้อสี่นี่ยากหน่อย ที่คนไม่ค่อยเข้าใจ ก็มองว่าอุเบกขา ว่าเฉย ทีนี้ว่าเฉยนี่ ท่านก็แบ่งเป็น ๒ อย่าง เฉยด้วยปัญญา คือวางใจเป็นกลาง แล้วก็ปฏิบัติให้ถูก กับเฉยเพราะไม่รู้เรื่อง เรียกว่าเฉยโง่ ที่ว่า “อัญญานุเบกขา” เรียนแล้วใช่ไหม อันนั้นก็ต้องระวัง แล้วก็ต้องไปให้ความรู้ให้ถูกต้อง เฉยเมย เฉยด้วยไม่มีน้ำใจก็เฉยเมย เฉยเมินก็แบบเดียวกัน ไม่เอาใจใส่ เฉยไม่รู้ไม่ชี้ ไม่รู้เรื่องรู้ราว พวกนี้ใช้ไม่ได้ทั้งนั้น ก็ต้องเฉยด้วยปัญญา เหมือนอย่างพ่อแม่ก็ต้องรู้จักวางใจเป็นกลางต่อลูก ไม่งั้นก็ไม่เข้าใจลูกตามความเป็นจริง ก็มองลำเอียงหมด มองไปในแง่ที่ว่ารักลูก ใจก็เอียงไปตามหมด แต่ว่าถ้าจะพัฒนาลูกก็ต้องวางใจเป็นกลาง แล้วก็จะเห็นลูกตามเป็นจริง
[06:38] อุเบกขานี่จะช่วย หนึ่ง-มองตามความเป็นจริง สอง-รักษาความถูกต้องความเป็นธรรม แล้วก็รักษาหลักการกฎเกณฑ์กติกา แล้วก็ทำให้ฝึกคน ให้เขารู้จักพัฒนาตนเอง แก้ไขปัญหา พึ่งตนเองได้ เพราะถ้าเมตตา กรุณา เราก็ไปช่วยเขาหมด อย่างพ่อแม่รักลูกมากก็ทำให้ลูกหมดทุกอย่าง ลูกก็เลยไม่รู้จักฝึกตัวเอง พ่อแม่ที่ฉลาดก็ต้องใช้ปัญญา เมื่อเราไม่ได้อยู่กับลูกตลอดไป มีอะไรที่ลูกจะต้องไปทำ รับผิดชอบตัวเองได้ ต้องให้เขาเตรียมฝึกความสามารถไว้แต่บัดนี้ พ่อแม่ใช้ปัญญาแบบนี้ก็จะไม่ประมาท ก็จะเตรียมวางแผนคิดว่ามีอะไรบ้างที่ลูกต้องเตรียมฝึก ก็จะหาเรื่องมาให้ลูกทำ ให้หัดทำ แล้วพ่อแม่ก็คอยดู คอยคุม คอยเป็นที่ปรึกษาให้ลูกทำ ให้ลูกทำ ตัวก็ดูลูกทำอยู่ อะไรผิดพลาด แก้ไข ทำไม่ได้ผล ก็จะได้แนะนำ แล้วก็ปรับแก้ให้ได้ผลดี ลูกไม่รู้ไม่เข้าใจก็ถามได้ เพราะอยู่ด้วยกันไง เพราะถ้าตัวไม่รีบทำเรื่องนี้แต่บัดนี้ ต่อไปตัวไม่อยู่แล้ว ลูกก็หมดโอกาส ไม่มีที่ปรึกษา ไม่มีผู้แนะนำ ก็ลำบาก เขาก็จะพัฒนายาก
[08:14] ข้อที่สี่นี่แม้แต่พ่อแม่กับลูกก็จะได้ผลที่สุดในข้อสี่ ลูกจะเก่งมาก พ่อแม่ที่มีพรหมวิหาร ๔ ครบ พอถึงข้อที่สี่นี่ลูกจะเก่งมาก ถ้าพ่อแม่มีแต่เมตตากรุณามุทิตา ช่วยทำให้ลูกหมดเลย ลูกก็อ่อนแอ กลายเป็นผู้ที่เลี้ยงไม่โต พึ่งตัวเองไม่ได้ ถ้าหากว่ารักมากกลายเป็นตามใจนัก ก็กลายเป็นลูกนี่เป็นนักเรียกร้อง เรียกร้องก็จะกลายเป็นคน แทนที่จะมีน้ำใจ กลับตรงข้ามเลย จะเรียกร้องจะเอาท่าเดียว ท่านก็เลยให้มีว่า มันจะพอดีกันเอง พอสี่ข้อครบปั๊บ เมตตา กรุณา มุทิตา ก็ทำให้ภาวะจิตดี อบอุ่น มีความรักกัน หวังดี ซาบซึ้งในน้ำใจ แต่พร้อมกันนั้นลูกก็จะได้รู้จักฝึกตัวเองด้วย รับผิดชอบตัวเองเป็น ก็เติบโตพัฒนาจริงจัง
[09:19] ทีนี้แม้แต่การทำงานร่วมกันก็เหมือนกัน ก็ต้องใช้หลักการนี้ หลักอันนี้ แม้จะปฏิบัติต่อคนผู้ใต้บังคับบัญชา ลูกน้อง ก็ต้องมีทั้งสี่อย่าง สถานการณ์ปกติก็ต้องแสดงให้เขาเห็นว่าเราปรารถนาดีกับเขา เราก็ไปเอาหลัก เช่นว่าในทิศ ๖ ใช่ไหม ทิศเบื้องล่าง คือผู้ใต้บังคับบัญชา นายงานกับลูกจ้างปฏิบัติต่อกัน ฉะนั้นก็คือการที่ให้ทั้งสองฝ่ายมีความปรารถนาดีต่อกัน นายจ้างก็มีความหวังดีต่อลูกจ้าง ทั้งการจัดงานอะไรต่ออะไร ก็ให้เหมาะกับอุปนิสัย ความถนัด ความสามารถ ไม่ให้เกินกำลัง ไม่ให้เขาเดือดร้อน แล้วก็ให้มีโอกาสได้แบ่งปันผลประโยชน์ในส่วนที่เป็นพิเศษ แล้วก็ให้มีเวลาพักผ่อน อะไรต่าง ๆ เหล่านี้นะ คือให้เห็นว่ามีความปรารถนาดี ไม่คิดเอาเปรียบเขา
ฝ่ายลูกจ้างก็ต้องมีความปรารถนาดีต่อนายงาน แล้วมองจะรู้สึกว่าเป็นงานของเรา ถ้าเขามีความรู้สึกร่วมได้ว่าเขาไม่ได้เป็นแค่ลูกจ้าง แต่นี่เป็นกิจการร่วมกันที่เราเป็นเจ้าของด้วยหรือมีส่วนด้วย ให้เขาเกิดความรู้สึกนี้ แล้วเขาอยากให้กิจการเจริญงอกงาม ตั้งใจทำว่าทำไงให้กิจการของเรา ร้านของเราเจริญงอกงาม ถ้าได้ความรู้สึกร่วมอันนี้ ก็แสดงว่าประสบความสำเร็จ ก็คือต้องมีการมีน้ำใจ ตั้งแต่ข้อเมตตาไปเลย คล้าย ๆ ว่าเราก็เอาใจใส่เขา ในยามปกติก็แสดงให้เห็นว่ามีความปรารถนาดี แล้วก็เวลาเขามีความทุกข์ความเดือดร้อนก็เอาใจใส่ ทุกข์ร้อนของเขา ครอบครัวของเขา แล้วก็มีมุทิตาส่งเสริม เวลาเขาทำอะไรได้ดีประสบความสำเร็จก็สนับสนุน แต่พร้อมกันนั้นก็ต้องมีความเป็นธรรมต่อทุกคน มีความเสมอภาค
[11:48] ตอนนี้ที่ว่าพรหมวิหาร ๔ นี่ มันก็จะออกมาสู่หลักปฏิบัติการที่เรียกว่า สังคหวัตถุ ๔ รู้จักหมดแล้วใช่ไหม สังคหวัตถุ ๔ นี้ มันเป็นภาคปฏิบัติการ คือพรหมวิหาร ๔ เป็นภาคในจิตใจ ทำให้ใจเราพร้อม แล้วมันจะแสดงออกที่สังคหวัตถุ ๔ อย่างได้ผลเลย สังคหวัตถุ ๔ ที่ว่าเป็นภาคปฏิบัติการ ก็หลักการสงเคราะห์ แต่ที่จริงก็แปลว่า “หลักการประสานหมู่ชน หรือชุมชน หรือกิจการนั้นให้มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” หลักการประสานหมู่ชนให้มีความสามัคคี มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หรือมีเอกภาพ ก็ออกมาจากเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ก็คือว่า ๑. ต้องมีการให้ มีการแบ่งปัน ซึ่งรวมไปถึงเรื่องของผลประโยชน์ เรื่องของการให้ค่าจ้างแรงงานที่สมควร ใช่ไหม แล้วก็อาจจะมีเรื่องของการให้พิเศษแสดงน้ำใจอะไรบ้าง ซึ่งแสดงว่าเราไม่ได้ทอดทิ้ง หรือละเลยมองข้ามเขา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ท่านก็เลยมีข้อหนึ่งเรียกว่า “ทาน” แปลว่าการให้ การแบ่งปัน
ทีนี้การให้มันก็มาจากหนึ่ง-ให้ด้วยเมตตา นี่แหละที่ว่าพรหมวิหาร ๔ มันออกมา ให้ด้วยเมตตาก็คือว่าแสดงความรัก ความปรารถนาดี ตามปกติ คือในโอกาสพิเศษอะไร ถึงวันพิเศษอย่างที่เขามีการให้ของที่ระลึกอะไรกันบ้าง ก็ให้ด้วยเมตตา หรือมีของเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือมีโอกาสอะไร ก็เอามาให้กินกันบ้างอะไรบ้างพวกนี้ ก็คือหมายความว่า แสดงน้ำใจกันธรรมดา สอง-ก็ให้ด้วยกรุณา ก็หมายความว่า ถ้าเกิดคนไหนเกิดประสบทุกภัยพิบัติเดือดร้อน อันนี้ก็ให้ความช่วยเหลือ ให้ด้วยกรุณา สาม-ก็ให้ด้วยมุทิตา ก็หมายความว่า มีการประสบความสำเร็จ หรือทำสิ่งที่ดีงามถูกต้อง ก็สนับสนุน ก็ให้สนับสนุน ก็หมายความว่า เรื่องทานให้นี้ ก็ให้ด้วยเมตตาบ้าง ด้วยกรุณา ด้วยมุทิตา ก็ ๓ อันนี้ คนเราก็จะให้กันในแบบนี้ ตามปกติแม้แต่ให้ค่าจ้างอะไรต่าง ๆ ก็แสดงว่าให้ด้วยเมตตาอยู่แล้ว ตามปกติ คือมีความปรารถนาดี ก็ให้เขาเป็นอยู่ได้ ไม่เดือดร้อน แต่ทีนี้บางครั้งเขาก็ประสบความเดือดร้อน มีการเจ็บไข้ได้ป่วยหรืออะไรอย่างนี้นะ ก็ต้องมีการช่วยเหลือด้วยกรุณา เอาละ ข้อที่หนึ่ง-ทาน การให้ การแบ่งปัน
ทีนี้ก็ ๒. เรื่องการพูด วาจา ท่านเรียกว่า “ปิยวาจา” ต้องมีวาจาที่แสดงน้ำใจ แสดงเรื่องว่า ถ้าแปลตามศัพท์ก็คือ วาจาที่น่ารัก คือพูดแบบกันเอง หรือพูดแสดงว่าเราไม่ดูถูกเหยียดหยาม เป็นต้น ตามปกติก็คือ พูดแสดงน้ำใจตามปกติ จะเป็นสุภาพอ่อนโยนก็แล้วแต่ลักษณะของคน ก็แสดงว่าพูดด้วยน้ำใจดีต่อเขานั่นแหละ เป็นเมตตา สอง-ก็วาจาด้วยกรุณา ก็คือยามเขามีทุกข์เดือดร้อน ก็จะปลอบโยน หรือว่าแนะนำ ให้คำแนะนำปรึกษา ว่ามีทุกข์มีเดือดร้อน มีปัญหาในครอบครัว หรือมีปัญหาในการงานอาชีพ อะไรก็ให้คำปรึกษาวาจา แล้วก็สาม-ก็วาจาสนับสนุน ในเรื่องของการที่เขาทำอะไรได้ดี ได้ประสบความสำเร็จก้าวหน้า ก็เหมือนกัน ๓ สถานการณ์ เรียกว่าวาจาประกอบด้วยเมตตาในสถาการณ์ปกติ วาจาประกอบด้วยกรุณาในสถานการณ์ที่เขาเดือดร้อน และวาจาประกอบด้วยมุทิตาในยามที่เขาก้าวหน้าประสบความสำเร็จทำได้ดี
ต่อไปก็สังคหวัตถุที่ ๓. “อัตถจริยา” บำเพ็ญประโยชน์ ช่วยเหลือด้วยเรี่ยวแรงกำลังความสามารถ ตั้งแต่กำลังกายเป็นต้นไป อันที่หนึ่งมันให้สิ่งของวัตถุเงินทอง อันที่สองมันใช้วาจา อันที่สามก็เรี่ยวแรงกำลัง ก็หมายความว่า อันนี้ก็เป็นทั้งสองฝ่ายต่อกัน อย่างลูกจ้างก็ต้องมีต่อเจ้านาย หรือนายงาน ที่ว่ามีอะไรที่มันหนักหนา ต้องช่วยเหลือกัน ก็มาทำให้ช่วยกัน เอาเรี่ยวแรงมา มาร่วมมือนั่นเอง อย่างน้อยก็ร่วมมือ หรือว่ายามปกติก็ทำประโยชน์ให้แก่กัน ช่วยเหลือ แม้แต่การต้อนรับขับสู้ อย่างลูกน้องนี้ เจ้านายมีแขกมา เราก็ไม่ดูดาย ช่วยยกโต๊ะยกเก้าอี้มาต้อนรับคนแขก อะไรอย่างนี้นะ ทีนี้ฝ่ายเจ้านาย ผู้บังคับบัญชาก็เหมือนกัน ก็มีน้ำใจต่อลูกน้อง มีอะไรที่จะช่วยจะทำได้ เราก็ทำไป โดยไม่ถือเนื้อถือตัว มันก็ทำให้ผูกน้ำใจกันอยู่
อัตถจริยาก็เรี่ยวแรงกำลังในยามปกติเมตตา อย่างที่เป็นเพื่อนกัน เดินไปไหน คนหนึ่งมีของมากกว่า มาช่วยแบ่งถือกัน อะไรอย่างนี้นะ อันนี้ก็อัตถจริยาในยามที่เขาเดือดร้อนด้วยกรุณา ก็หมายความว่า มีเรื่องราวต้องใช้กำลังมาก มีฝ่ายหนึ่งเจ็บป่วย ล้มลงไป อะไรอย่างนี้นะ ก็ต้องมาช่วย แม้แต่การรักษาพยาบาล อะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นเรื่องของการใช้อัตถจริยาด้วยความกรุณา แล้วต่อไปก็สาม อัตถจริยาด้วยมุทิตาก็คือ เวลาเขาจะทำสิ่งที่ดีงาม ก็ไปช่วยเรี่ยวแรง เหมือนอย่างสมัยก่อน ก็มองเห็นถึงเช่นว่า กิจกรรมส่วนรวม อย่างคนสมัยก่อนชาวพุทธ มีงานวัด ก็มาช่วยงานวัดกัน ก็เรียกว่าบำเพ็ญประโยชน์ด้วยมุทิตา ก็คือส่งเสริมความดีงาม อย่างที่เขาขนทรายเข้าวัด เป็นต้น อันนี้ก็คือว่า พอมีกิจกรรมร่วมกันของบริษัทหรือกิจการนี้ ทุกคนก็มาบำเพ็ญอัตถจริยา มาบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของกิจการของเรา อันนี้ก็จะเป็นอัตถจริยาด้วยมุทิตา
มันก็แสดงออกได้เรื่อยแหละ ๓ ข้อนี้ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา ก็เป็นอันว่า หนึ่ง-วัตถุสิ่งของเงินทอง สอง-ถ้อยคำพูดจา แล้วสาม-ก็เรี่ยวแรงกำลัง ทำประโยชน์ให้แก่กัน ทีนี้ข้อหนึ่งที่ให้ นอกจากให้วัตถุสิ่งของเงินทองแล้ว ก็ให้อีกอย่างคือให้ความรู้ ก็มีด้วย หมายความว่า ถ้าเรามีสถานการณ์ที่เหมาะ เราก็ให้ความรู้แนะนำด้วย ก็จะช่วยในการทำงานให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ก็เป็นให้วิทยา ก็ถือเป็นสำคัญ
ทีนี้ต่อไปก็ไปข้อที่ ๔. ท่านเรียกว่า “สมานัตตตา” แปลตามตัวว่า การมีตนเสมอ ก็คือให้ความเสมอภาค อันนี้แหละเป็นหลักการยุติธรรมที่ไปโยงกับอุเบกขา คือหมายความว่า ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หรือเขาเรียกว่า ไม่เลือกมักผลักชัง ไม่ใช่ว่าคอยลำเอียงเข้าคนโน้นคนนี้ ทีนี้ตัวนี้สำคัญมาก มันก็ยากเหมือนกัน เพราะว่าบางทีมันรักษา ถ้าเราวางใจไม่ดีเนี่ย จะทำให้เกิดความรู้สึกระแวงกัน แม้จะมีเมตตากรุณามุทิตา แต่ถ้าไม่สามารถรักษาความเป็นธรรมความเสมอภาค จะเกิดปัญหาเรื่องการแตกแยกง่าย
[20:38] ฉะนั้นอันนี้ท่านก็เน้น คือว่าต้องมีความเสมอภาค เพื่อให้ความเป็นธรรม ก็หลักความมีตนเสมอ เสมอภาคนี้ ก็เสมอภาคกันนี้ด้วย อย่างที่ว่าไม่เลือกรักผลักชัง แล้วก็ไม่เอารัดเอาเปรียบ การไม่เอารัดเอาเปรียบ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่แสดงว่า มีความเสมอ ถ้าไปเอารัดเอาเปรียบปั๊บ ก็เกิดปัญหาทันที แล้วสามก็ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน การดูถูกดูหมิ่น ก็แสดงว่าไม่เสมอภาคแล้ว ฉะนั้นจุดสำคัญก็มีอันนี้ ๓ อย่างนี้ ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่ดูถูกเหยียดหยาม
[21:24] แล้วอีกอันหนึ่งก็คือร่วมสุขร่วมทุกข์กัน ท่านเรียกว่า “สมานสุขทุกขตา” อันนี้ก็เป็นความตีตนเสมอข้อสำคัญ เพราะร่วมสุขร่วมทุกข์นี่ จะทำให้รู้สึกมีน้ำใจ แล้วก็มีความรักสนิทสนมกันได้มาก เหมือนอย่างเพื่อนไม่ทิ้งกัน มีสุขทุกข์ เขาเรียกว่ามีสุขทุกข์เสมอกัน ก็คือว่าร่วมสุขร่วมทุกข์ เหมือนอย่างพ่อแม่ก็ร่วมสุขร่วมทุกข์กับลูก อะไรอย่างนี้นะ อันนี้เราเป็นผู้ใหญ่ ก็ทำงาน ก็เหมือนกัน เราก็ไม่ละทิ้งลูกน้อง ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน ใช่ไหม มันก็ทำให้ยึดเหนี่ยวน้ำใจกันไว้ได้
[22:08] ทีนี้คำว่า สะ-มา-นะ เสมอ ในภาษาพระ “สมาน” แปลว่า เสมอ พอมาเป็นไทยเป็น สะ-หมาน แล้ว “สมาน” ในภาษาไทย มีความหมายเปลี่ยนไปเป็นว่า ประสานกัน ก็เพราะคำว่า สมาน เสมอ ในภาษาพระนี้ มีความหมายเชิงประสาน หรือเข้ากันได้ ไม่ใช่เสมอในแบบสมัยปัจจุบัน เสมอปัจจุบันนี้ไปเน้นในแง่เศรษฐกิจ แล้วก็ทำให้เกิดความรู้สึกเชิงแบ่งแยกง่าย คือมันคอยดูผลประโยชน์ ว่าฉันได้เท่าเขาไหม เขาได้เท่านี้ เราได้หรือเปล่า ถ้าอย่างนี้มันก็คอยจ้อง พอจ้องมันก็กลายเป็นว่า รู้สึกแบ่งแยก แล้วก็ทำให้เสียสามัคคีง่าย
[23:04] แต่สมานเสมอของพระ ก็หมายความว่า เสมอแบบที่ว่าเมื่อกี้ ซึ่งเป็นความเสมออย่างที่ว่า เสมอในสุขและทุกข์ มันกลายเป็นเสมอแบบประสาน ฉะนั้นก็ต้องระวังไม่ให้เป็นเสมอแบบสมัยปัจจุบัน ซึ่งจะล่อแหลมต่อความแตกแยก ก็ต้องพยายามให้พรหมวิหาร ๔ มันออกมาสู่สังคหวัตถุ ๔ แล้วข้อที่สี่นี้ จะเป็นตัวที่ทำให้มันเกิดความกลมกลืน แล้วก็ทุกอย่างมันก็เข้าดุลยภาพหมด หลักทั่วไปมันก็เป็นแบบนี้ เรียกว่าถ้าเรายึดใจเขาไว้ได้ ทุกอย่างก็ไปได้ดี
[23:52] ฉะนั้นท่านก็เลยเรียกว่า “หลักยึดเหนี่ยวจิตใจ” พอยึดเหนี่ยวจิตใจได้ก็ประสานชุมชนนั้น หมู่ชนนั้น คณะนั้น กิจการนั้น ให้อยู่ได้ดี ก็ให้เกิดมีความร่วมใจ ใจร่วม พอใจร่วมแล้ว มันก็ไม่ใช่มาเฉพาะระหว่างคน มันจะไปร่วมที่กิจการ ที่คล้ายๆ ว่ารักกิจการนี้ อยากให้เจริญ แล้วผู้เป็นเจ้างานนายงาน ก็อยากให้กิจการเจริญ คนทำงานลูกจ้าง ก็พลอยนึกอยากให้กิจการของเราเจริญ ใจก็กลายเป็นอันเดียวกันไป อันนี้ถ้าทำได้สำเร็จจุดนี้ก็เดินหน้าแล้ว
[24:43] มองงานให้ถูกต้อง พัฒนาตนด้วยการงาน
[24:43] ผู้ฟัง (ผู้ชาย): ทีนี้เมื่อถ้าเราทำให้ทุกคนในองค์กร มีจิตใจร่วมกันแล้วนะครับ เราจะมีวิธียังไงที่จะพัฒนาบุคลากรของเรานี้ ให้มีความเจริญ ในแง่ของหลาย ๆ อย่าง เราสามารถที่จะนำหลักธรรมะ ที่ใช้ในการพัฒนาตัวเองนี้ มาประยุกต์ใช้ เพื่อจะหาเส้นทางแนวทาง ที่จะพัฒนาบุคลากรของเราได้ยังไงครับท่าน
[25:08] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต): ก็ต้อง คืออย่างที่เคยพูดแล้ว เช่น ให้เขามองงานให้ถูกต้อง อย่างที่เคยพูดว่า งานที่เราทำนี่เรื่องใหญ่นะ ชีวิตของเรานี่มาอุทิศให้แก่งานตั้งวันหนึ่ง หมดไป ๑ ใน ๓ ของชีวิตเลย เพราะฉะนั้นเราต้องเอาดีจากงานนี้ ดีในที่นี้ไม่ได้เอาดีในแง่อะไร ก็คือว่าชีวิตของเรา เช่น ความสุข แล้วก็คนเราอยู่ในโลก มีชีวิตอยู่ ก็ต้องการความเจริญงอกงาม เราก็สามารถพัฒนาตัว พัฒนาความสามารถอะไรต่าง ๆ จากงานนี้แหละ
[25:48] แล้วก็พอเราตั้งจิตถูกต่องาน มันก็ทำงานมีความสุข มีความสนุกกับงาน อย่างเกิดตั้งใจต่อลูกค้า เรามองเป็นเรื่องของการที่ว่า ไอ้นี่คืองานที่เป็นโอกาสในการพัฒนาตัว เรามองลูกค้ามา ก็เอาละ มาแล้ว เราจะได้ฝึกตัว ดูท่าที เกิดเป็นความรู้สึก เหมือนกับว่า จะเรียกว่าท้าทายหรืออะไรได้ทุกอย่าง ก็คือมันได้โอกาสแล้ว โอกาสที่ว่าเขามาแล้ว เราจะเข้าท่าไหน พูดกับเขายังไง แล้วเขาจะซื้อสินค้าเรา แล้วก็มีไมตรีต่อกัน อะไรอย่างนี้นะ ก็กลายเป็นว่า มันท้าทาย มันชวนให้สนุก อยากจะทดสอบความสามารถของตัว แล้วก็ฝึกตัวว่าเราเข้าท่านี้ดีไหม พูดกับเขายังไง อะไรอย่างนี้ คือจิตใจมันอยู่กับการงานนั้นและมีชีวิตชีวา
[26:53] ถ้าไม่ตั้งความรู้สึก ไม่มีท่าทีนี้นะ มันก็จะมองเห็นงานเป็นเรื่องเหน็ดเหนื่อย ที่เราจะต้องมายุ่ง แล้วเราก็รอความสุข ความสุขของเราก็คือต้องหลังเลิกงาน ทีนี้เวลาทำงานมันก็เบื่อ แล้วก็อะไรที่เข้ามาในกระแสของงาน ก็ไม่อยากเจอ เจอลูกค้าก็เอาอีกแล้ว เราลำบาก ยุ่งอีกแล้ว ใช่ไหม ตั้งท่าทีผิดอย่างนี้ก็เสียงานด้วย แล้วตัวเองก็ไม่มีความสุข ทีนี้พอตั้งใจถูกแล้วเนี่ย ก็ได้หมดทุกอย่าง มันก็กลายเป็นงานก็มีชีวิตชีวา ตัวเองก็สนุกสนาน มีความสุขไป ถ้าทำอันนี้ได้ มันก็ประสบความสำเร็จ ก็ต้องทำให้คนทำงาน ตั้งท่าทีมีทัศนคติต่องานให้ถูกต้อง ให้เห็นว่าชีวิตของเรามันอยู่ที่งาน ให้เวลามันตั้งเยอะแยะ แล้วทำยังไง เราทำงานแล้วต้องเอาจากมันให้ได้ เอาดีให้กับชีวิตนี้ เอาความสุขอะไรต่ออะไรให้ได้ แล้วทั้งชีวิตของเราก็จะดี
[28:00] อันนี้ก็เป็นเรื่องการแนะนำ หมายความเราก็ต้องมีโอกาสที่ว่า มีช่วงเวลาหนึ่งที่ว่า เมื่อทำงานไปก็มีการกำหนดไว้ว่า วันนั้นวันนี้เราอาจจะพบพร้อมกันทีหนึ่ง แล้วก็คุยกัน มีปัญหาอะไรในวงงานของเรา พร้อมกันนั้นเราก็พูดไปด้วยว่า เรามานึกถึงงานกันอย่างนี้นะ ตั้งท่าทีอย่างนี้ ก็พูดด้วยความปรารถนาดีต่อเขา แนะแนวทางให้เขา แล้วก็อาจจะยกตัวอย่างคนโน้นคนนี้ ที่เขาทำงานให้ประสบความสำเร็จ แล้วก็โยงไปหาครอบครัวเขา ให้เห็นว่ามีความปรารถนาดีต่อกัน แล้วผลดีที่เขาทำงาน เขาก็จะได้มีความสุขในครอบครัว ครอบครัวของเขาก็จะพลอยชื่นชมอะไรไปด้วย พูดให้มันคลุมไปถึงกันหมด
[28:55] ทีนี้ถ้าเขาตั้งท่าทีต่องานได้ถูก เราก็สบายแล้ว ถ้าเขามองงานถูก คืองานตอนนี้ คนโดยมากจะมองเป็นว่า งานคือเรื่องเหน็ดเหนื่อย แล้วก็เป็นทุกข์ ทำให้เขาลำบาก ก็รอเวลาเลิกงาน เวลาทำงานไม่มีความสุขเลย มันก็รอว่าเมื่อไหร่เลิกงานสักที อย่างนั้นจิตใจมันก็แย่ แล้วก็เลยทำให้ผลงานก็เสียไปด้วย ตรงนี้เป็นจุดสำคัญมาก ที่ว่าทำยังไงจะให้คนเปลี่ยนทัศนคติต่องาน มันก็เป็นไปเองแหละ ชีวิตชีวาในงาน เพราะงานมีชีวิตชีวามันก็ได้ผลแล้ว ทำไป ๆ มันก็สนุกไปในตัว แล้วพอคนจิตใจดีแล้ว การสื่อสารก็พลอยดีไปด้วย ก็พูดกันดี ใช่ไหม ทีนี้ถ้าเกิดจิตใจไม่ดี อารมณ์มันเสีย มันขุ่นมัว มันว้า มีเรื่องมาอีกแล้ว เดี๋ยววันนี้เราจะต้องเลิกช้า อะไรอย่างนี้ มันก็หงุดหงิด เพราะใจมันรออย่างเดียว จะเลิกงาน ปัญหามันเป็นที่อย่างนี้ เราก็มาแก้จุดนี้ ถ้าแก้ได้ ก็ประสบความสำเร็จ
[30:21] ก็เป็นอันว่าทัศนคติต่อกัน ระหว่างผู้ทำงานทั้งนายงานลูกจ้างอะไรนี่หนึ่ง แล้วก็ทัศนคติต่อกิจการ ทั้งหมดให้มีใจร่วมกัน เพื่อความเจริญงอกงามของงาน แล้วก็ทัศนคติต่อตัวงานที่ทำ ให้มันลงร่องลงทางที่ถูกให้หมด พอจะเป็นไปได้ไหม
[30:52] ผู้ฟัง (ผู้ชาย): ก็ดีครับท่าน ทีนี้ถ้าเรามองว่า ถ้าเราเวลาพัฒนาตัวเองใช่ไหมครับ ทางพุทธศาสนาก็จะคือแบ่งเป็น ๓ อย่าง คือพัฒนาในเรื่องพฤติกรรม หรือว่าศีล ใช่ไหมครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต): การพัฒนาศีล ก็คือ ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ทั้งด้านกายภาพ พวกวัตถุ แล้วก็ทั้งด้านเพื่อนมนุษย์ แล้วก็จิตใจ ก็มี ๓ ด้าน ด้านคุณธรรมความดี ด้านสมรรถภาพ กำลังความเข้มแข็ง ขยัน อดทน หมั่นเพียร ความมีวินัย สติ สมาธิ แล้วก็ด้านความสุข ความสดชื่นเบิกบานผ่องใสของจิตใจ แล้วก็ด้านปัญญา ด้านปัญญาที่จะมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ผู้ฟัง (ผู้ชาย): เราก็ต้องคอยถ่ายทอดความรู้ให้เขา ให้กับพนักงาน
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อันนั้นถ้ามีโอกาสเราก็ให้ แต่ว่าถ้าเขาตั้งท่าทีถูกแล้วเขารู้เอง แล้วเขาก็เจริญในตัวเขาเอง เราก็เพียงแต่ว่า ได้โอกาสจากท่าทีของเขานั่นแหละ ที่จะได้เสริมเขาเลย ก็คือเสริมให้การพัฒนาแก่เขาในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านความรู้ ความเข้าใจ ปัญญา ให้ทำงานได้ดีขึ้น ก็พัฒนาตัวไปเรื่อย
เราถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการ ท่าทีของเรานี่ทำให้เขารู้สึกมีส่วนร่วม มันก็อยู่ที่เราด้วยนะ ถ้าเราตั้งท่าทีไม่ถูก เขาก็ไม่รู้สึกมีส่วนร่วมอะไร ใช่ไหม เขาก็อาจจะนึกว่า เอ้ย มันเป็นเรื่องของเขา ไม่เอาด้วย เราก็สักแต่ว่าทำไปอย่างนั้นเอง ทีนี้ถ้าหากว่ามีความรู้สึกร่วมด้วย เขามีความซาบซึ้งในน้ำใจของเรา หรือเขารู้ว่าเราปรารถนาดีต่อเขา เขาก็มีความรู้สึกตอบสนอง ปรารถนาดีต่อเราด้วย แล้วเขาก็รู้ว่าเวลาทำงานนี่ กิจการมันเดินไปดี ผลดูดีด้วยกัน ใช่ไหม ทั้งเขาก็พอใจ รักเรา เห็นน้ำใจเราด้วย เขาก็เห็นว่าเมื่องานกิจกรรมมันดี มันก็เป็นประโยชน์ด้วยกัน เขาเองเขาก็ได้ประโยชน์ ก็มีความรู้สึกเป็นส่วนร่วมในกิจการนี้ มันก็ดีทั้งต่อเรา ในฐานะต่อระหว่างบุคคล ทั้งต่อกิจการ แล้วทีนี้ก็มาตัวงานที่ทำ ก็ต้องให้มีทัศนคติที่เกิดมีชีวิตชีวา แล้วก็ให้เขาตั้งท่าทีต่องานนั้นถูกต้องอย่างที่ว่า
เพราะว่างานมันมีจุดสำคัญพลิกผันตรงนี้ ตรงที่ว่าคนส่วนมาก จะมองงานว่าตรงข้ามกับการพักผ่อน คนจะรู้สึกว่าความสุขอยู่ที่ตอนได้พักผ่อน แล้วไปเสพไปหาสนุกสนานบันเทิงหลังจากงาน ก็เลยกลายเป็นว่า งานนี้เป็นเรื่องฝืนใจ เป็นเรื่องลำบาก เป็นเรื่องทุกข์ ทำไงจะจบๆ สักที รอเวลาเท่านี้ท่าเดียว ทีนี้งานเป็นทุกข์อย่างนี้ก็ทำไม่เต็มใจ ก็รออย่างเดียวว่าเลิกงาน แล้วก็สิ้นสุดเดือน หรือว่าสิ้นสุดครึ่งเดือน อะไรก็แล้วแต่ ก็จ่ายได้เงินไปหาความสนุกสนาน อันนี้งานตัวเอง ตัวเองไม่มีชีวิตชีวา จิตใจก็ไม่อยู่กับงานแล้ว จิตใจมันหนีอยู่เรื่อย เวลาทำงาน ใจมันไปนึกถึงตอนว่า เดี๋ยวเลิกงานแล้ว เราจะไปสนุกที่นั่น ไปโน่นไปนี่ มันนึกอย่างนี้ ใจมันไม่อยู่ เพราะฉะนั้นสมาธิมันก็ไม่เกิด
[34:26] ทีนี้พอตั้งท่าทีถูกว่า ชีวิตของเรามันอยู่กับงาน ยังไงก็ของแน่นอนอยู่แล้ว ตั้ง ๑ ใน ๓ ส่วน เอาดีให้ได้จากนี่นะ แล้วเราหาทางเอาประโยชน์จากตัวงานการทำงานให้ได้ แล้วก็ชี้ให้เขาเห็นว่า ทางที่จะได้จากงาน มันมีอะไรบ้าง ถ้าเราตั้งทัศนคติถูกต้องแล้ว มันได้หมด พัฒนาชีวิตของคุณ คนทุกคนต้องการมีปัญญามากขึ้น พัฒนาชีวิต พัฒนาความสามารถอะไรต่าง ๆ เรากลับไปบ้านแล้ว เราก็ยังไปเป็นตัวอย่างให้กับลูกอีก เราต้องไปฝึกลูกอีก ถ้าเราพัฒนาตัวเองในงานได้ดีแล้ว เราก็มีอะไรที่จะไปช่วยสอนลูก ช่วยแนะนำอะไรต่าง ๆ อีก ให้เขาเห็นประโยชน์จากงาน ใจก็เห็นงานเป็นเรื่องที่มีค่ากับชีวิตมาก ทั้งในแง่ของการพัฒนาชีวิต ทั้งในแง่ของความสุข แล้วพองานเป็นอย่างนี้ก็มีชีวิตชีวา แล้วก็ตั้งใจทำ ทำไปจนกระทั่งเหมือนกับว่า มันกลายเป็นว่าตัวเองเข้าไปอยู่ในงานเลย จิตใจมันไปอยู่ในตัวงานแล้ว มันกลมกลืนกันไป มันก็ไม่รู้ว่าเวลาผ่านไปแล้ว ก็เป็นไปเอง มันก็เลยหมดปัญหาไปเลย บางทีหมดเวลาทำงานก็ยังไม่อยากหยุด ถ้าได้ถึงขนาดนั้นก็สบาย
[35:59] แต่เราต้องยอมรับจริงนะ มันจะมีคนพวกหนึ่งที่เขาไปไม่ไหว คือพวกนี้มันก็เป็นเพราะ หนึ่ง-เขาได้สะสมมาในทางตรงข้าม จนกระทั่งมันลงลึกเสียแล้ว พวกนี้ก็ไปไม่ไหว มันจะปรับใจเข้ากับสภาวะพวกที่เราเห็นว่าดีนั้นไม่ได้ เช่น ปรับใจเข้ากับงาน เขาเคย เช่น เขาเป็นคนที่สะสมมาในเรื่องสนุกสนานบันเทิงมาก ใจก็ไปอยู่เรื่องนั้น เขาทำใจไม่ได้ที่จะมาสนุกกับงาน มีชีวิตชีวากับงาน ใจเขาจะลอยไปที่อื่น ใจไม่อยู่กับงาน ไปเรื่อย พวกนี้เราก็ต้องรู้ทัน เราก็ต้องค่อย ๆ แก้ไข ถ้ามันไม่ไหวจริง ๆ เราก็ต้องหาคนแทน ใช่ไหม ถ้าไม่งั้นก็ดูงานที่มันเหมาะ ๆ กัน คนไหนควรส่งเสริมสนับสนุน คนไหนควรจะอยู่งานไหน อันนี้เป็นเรื่องใหญ่นะ การจัดคนให้อยู่กับงาน เรื่องใหญ่มากเลย
[37:09] ความสำเร็จอันหนึ่งของการทำกิจการก็คือ จัดคนให้เหมาะกับงาน รู้ว่าคนนี้มีความถนัด มีความสามารถ มีความรักงานประเภทไหน คือหนึ่ง ใจเขาก็รัก บางคนเขารักงานประเภทนี้ เขาไม่ชอบงานประเภทนี้ เราก็ต้องดูเขาด้วย แล้วก็มีโอกาสก็คุยพอให้รู้ อะไรอย่างนี้ แนว แล้วก็นอกจากว่าใจรักแล้ว ถนัดไหม ทำได้ดีหรือเปล่า ซึ่งบางทีก็ต้องมีการให้ทดสอบงานด้วย อันนี้ก็เป็นเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ต้องมีการทดลองงานก่อน ใช่ไหม อันนี้ก็อยู่ที่ว่าเราก็ต้องรู้จักสังเกตด้วยเหมือนกัน
[37:59] ก่อจุดหมายรวม สร้างผลประโยชน์ร่วม ด้วยใจรักด้วยปัญญา
[37:59] ผู้ฟัง (ผู้ชาย): ทีนี้ถ้าพูดถึงในแง่ของการบริหารงานนะครับ ก็จะมีการบริหารงานจะต้องดิวกับคนเยอะ แต่ละคนก็จะมีความสนใจของตัวเอง เพราะฉะนั้นเราอยู่ตรงกลาง เราก็ต้องพยายามที่จะบริหารความขัดแย้ง พอจะมีวิธียังไงที่จะทำให้ทุกคนได้ผลประโยชน์ร่วมกัน แล้วบางทีเราอาจจะต้องทำบางอย่างที่คนอาจจะไม่ชอบ แต่ว่ามันได้ประโยชน์กับองค์กรนะครับ จะมีวิธีที่บอกเขายังไงว่า หลักการมันควรจะเป็นอย่างนี้
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต): ตอนแรกเราก็ต้องให้เขาเห็นว่า เรานี่มีความปรารถนาดีต่อทุกคน แต่พร้อมกันนั้นก็มีความเป็นธรรมเสมอภาค แล้วก็ทุกคนต้องปรารถนาดีต่อกิจการร่วมกัน เมื่อมันเป็นเรื่องของประโยชน์แก่กิจการ บางครั้งมันก็อาจจะเป็นได้ที่ว่า มันจะต้องเหมือนไปกระทบกระเทือน ความพอใจชอบใจของบางคนบ้าง ให้เขารู้ว่าที่เราทำอย่างนี้ ก็เพื่อประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน ใช่ไหม ก็สร้างความรู้สึกในทางที่ว่าแต่ละคนต้องมีความพร้อมที่จะเสียสละบ้าง เพื่อส่วนรวม
[39:07] แบบนี้ได้ทราบว่าญี่ปุ่นเขาจะฝึกสะสมมาก คือให้มีความภักดีต่อกิจการ ซึ่งพอใจมันภักดี หรือว่ามันเห็นแก่กิจการส่วนรวมแล้ว ความรู้สึกที่จะยอมตัวเองให้แก่ส่วนรวม ก็เหมือนกับตั้งไว้แล้ว พอมีเรื่องกระทบก็พอจะพูดกันง่าย แต่ถ้าเขามีตัวปัจจัยเอื้อนะ หนึ่ง-ทำกันมาจนกระทั่งรู้สึกรักประโยชน์ส่วนรวม แล้วก็มีความรู้สึกว่าเรามีน้ำใจดีต่อเขา ปรารถนาดี ยิ่งถ้าเขาเกิดความรักต่อเราด้วย เวลามีอะไร พูดกันง่ายนะ เวลาจะอะไรก็ยอม คล้าย ๆ มันพร้อมจะยอมอยู่แล้ว ก็ให้รู้สึกว่ามันก็ยังมีความเป็นธรรมนั่นเอง ไม่ใช่เป็นเพราะว่ารังเกียจรังงอน หรือจะเอาเปรียบคุณ ใช่ไหม แต่ว่าเป็นการที่ว่า มันเป็นเรื่องของสถานการณ์ ที่เป็นไปโดยเหตุโดยผล โดยความถูกต้อง ที่จะต้องมีการเสียสละอย่างนี้ หรือกระทบต่อความชอบใจไม่ชอบใจ ก็คือความพร้อมของใจนั่นเอง ถ้าเขามีใจพร้อมก็ไปได้
แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราต้องมีการกระตุ้น คือทางพระท่านบอกว่า ในกิจการอย่างแม้แต่รัฐนี่ ผู้นำจะต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาท แล้วก็ทำให้คนที่อยู่ในรัฐหรือกิจการ เกิดความกระตือรือร้น ตื่นตัว ไม่ประมาท ฉะนั้นเราก็จะต้องมีวิธีการต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดความไม่ประมาท เช่น ข่าวสารข้อมูล ให้เขารู้ร่วมกับเราด้วยว่า กิจการประเภทนี้ เดี๋ยวนี้มันมีการเคลื่อนไหวยังไงบ้าง ทีนี้ถ้าใจเขาร่วมอยู่แล้วว่า อยากให้กิจการเจริญ ใช่ไหม เขาก็จะสนใจความเคลื่อนไหว เช่น การตลาดเคลื่อนไหวอย่างไร กระแสของความนิยมของประชาชน ชาวบ้านและลูกค้าเป็นยังไง ให้รู้ความเคลื่อนไหว ข่าวสารอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ก็มีความตื่นตัวและกระตือรือร้น ก็อยากจะรู้ว่าตอนนี้จะทำยังไง จะให้กิจการไปรูปไหน
[41:29] ในความมีส่วนร่วม ไม่ใช่ส่วนร่วมเฉพาะด้านจิตใจรักอย่างเดียว มันร่วมด้วยการที่มีปัญญารู้เข้าใจเรื่องราวด้วย พอรู้เรื่องราว กระแสมันไปยังไง การเคลื่อนไหวยังไง มันก็ตื่นตัว แล้วมันก็เลยมาประสานกันด้านจิตใจ อันนี้หลักการใหญ่ก็คือว่า โดยสาระว่าให้ไม่ประมาท แล้วกระตุ้นให้ไม่ประมาท ไม่ประมาทก็คือตื่นตัวเสมอ แล้วทำให้รู้สึกกระตือรือร้นขวนขวาย และตัวนี้ก็มาช่วยความมีชีวิตชีวา ไม่งั้นมันก็จะเฉื่อยลงเหมือนกัน ทีนี้คนที่เป็นผู้นำก็จะหาวิธีกระตุ้นต่าง ๆ ให้เกิดความไม่ประมาทแบบนี้ เกิดความตื่นตัว เช่น เรื่องข่าวสารอย่างที่ว่าเมื่อกี้ แล้วตัวนี้ก็ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกร่วมในกิจการมากขึ้น ใช่ไหม ถ้างั้นก็ข้อสำคัญเหมือนกัน ยิ่งโลกยุคนี้ยุคข่าวสารข้อมูลด้วย เราก็ยิ่งต้องเอาตัวนี้มากระตุ้น
[42:39] ผู้ฟัง (ผู้ชาย): แล้วถ้าจะพูดถึงในแง่ของการแข่งขันละครับท่าน เพราะว่าบางทีในปัจจุบันการแข่งขันค่อนข้างเยอะ แล้วเท่าที่ผมเห็นบางครั้งมันก็จะมีการใช้วิธีที่ไม่ค่อยถูกนัก ทีนี้เราที่ยึดหลักธรรมะในการปฏิบัติดำเนินชีวิต จะทำยังไงที่เราจะไม่ อย่างน้อยเราแข่งกับเขาได้ โดยที่ไม่เสียเปรียบ แต่ว่ายังยึดหลักธรรมะ ไม่เอาเปรียบ จะมีหลักการในการคิดยังไงครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อันนี้ก็คือว่าอย่างที่เคยบอก คนที่จะชนะเขาด้วยธรรม ต้องมีความสามารถเหนือกว่าเขา ซึ่งยากเหมือนกัน เราก็ต้องพัฒนาตัวมาก และใช้สติปัญญามาก เราก็ต้องตั้งไว้ก่อนว่าเราจะทำให้ได้ตามหลักการนี้ เราก็ไม่ให้เสียเปรียบเขา แล้วในการแข่งขันเราก็ต้องชนะโดยธรรม
แล้วเมื่อเราตั้งจุดเป้าอย่างนี้แล้ว ทำให้เราต้องใช้สติปัญญามาก ในการคิด ในการวางแผน ในการพัฒนาตัว อันนี้มันเป็นตัวบังคับ หรือเรียกร้องตัวเราเองในขั้นที่หนึ่ง สองก็คือว่ามันจะต้องมี ถ้าเป็นไปได้นะ อันนี้อยู่ที่กระแสของงานด้วย ก็คือการหากลุ่มหาพวก ที่จะมาร่วมแนวความคิด หรืออุดมการณ์ ใช่ไหม ที่จะทำงานกันไปโดยหลักการนี้ ซึ่งอันนี้มันจะต้องโยงไปหาประโยชน์ส่วนร่วมที่ใหญ่ออกไป ซึ่งก็คือประโยชน์ของสังคม ประโยชน์ของประเทศชาติ
แต่นี้ก็กลายเป็นว่า เราจะต้องมีความเป็นผู้นำมากขึ้น แต่ถ้าทำได้ก็ยิ่งดี ก็หมายความว่า เราไม่ได้อยู่เฉพาะตัวแล้ว ตอนนี้เราจะต้องหาพวกหากลุ่ม ที่มันจะเข้าสู่หลักการ แนวคิด อุดมการณ์นี้ แล้วเราก็ต้องให้เขาเห็นว่า ถึงยังไงที่เราทำกันเนี่ย แต่ละกิจการของแต่ละเอกชน เราทำจริงเพื่อประโยชน์ของตัวเองเจริญ แต่ในที่สุดการกระทำของพวกเราทั้งหมด มันกระทบกระเทือนต่อสังคมประเทศชาติ ต้องให้เขาสร้างความรู้สึกร่วมในเชิงรับผิดชอบสังคม ต่อประเทศชาติ ให้เขารู้สึกว่า ประเทศชาติเราจะปล่อยอย่างนี้ แข่งกันอยู่แบบนี้ เอาแต่ของแต่ละคนเนี่ย ในที่สุดประเทศชาติก็ไปไหนไม่ได้สักที
ฉะนั้นเราก็ต้องบอกว่า เรามาคิดถึงว่า ทำยังไงจะให้ประเทศชาติสังคมเจริญ ถ้าเราจะแข่งในระดับประเทศในระดับโลก เราจะมัวมาเอาแต่ตัวของพวกเราอย่างนี้ เราก็ไปไหนไม่ได้ ประเทศเราก็เจริญแข่งในระดับโลกไม่ได้สักที ฉะนั้นเราต้องมาคิดในแง่ว่า มาประสานกันบ้าง แล้วก็คอยกระตุ้นคอยชี้ให้ว่า มาช่วยกันทำตัวนี้เพื่อส่วนรวม เพื่อสังคม เพื่อประเทศชาติ เอาว่าแข่งขันในระดับโลก แล้วต่อไปเรายังต้องไปแก้ปัญหาของโลกอีกด้วยนะ ไม่ใช่แค่นี้ ถ้ามนุษย์เอาแต่ตัวแบบนี้ มันก็ไปไม่รอด อันนี้ถ้าเราทำได้สำเร็จอย่างนี้นะ ความเป็นผู้นำก็ยิ่งพัฒนา ถ้าเราทำได้จะยิ่งดีมาก
[46:08] ประเทศไทยยังขาดอันนี้ คือความสามารถในการพัฒนาเหนือขึ้นไปจากกิจการส่วนตัว ขึ้นไปสู่ระดับกลุ่ม แล้วก็ระดับของสังคมประเทศชาติ ถ้าทำได้ขั้นนั้น มันก็สามารถก้าวพ้น จากเพียงกิจการส่วนตัวขึ้นไป แล้วมันก็เป็นการพัฒนามนุษย์ด้วย ก็คือการสร้างความเป็นผู้นำ ก็ดูว่าสังคมไทยจะมีความเป็นผู้นำในเรื่องนี้ได้หรือไม่ ความเป็นผู้นำในระดับของสังคม ระดับประเทศชาติ ก็ต้องมีตรงนี้ ตรงที่ว่าเข้ารวมกลุ่มรวมหมู่ได้ แล้วก็สามารถที่จะมาสังสรรค์ และพูดจากัน แล้วก็ปลุกใจ หรือชี้แนะแนวทาง ให้เขาเห็นคุณค่าอันนี้ นี่ก็ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ก็ต้องพยายาม
[47:10] สังคมไทยยังขาดอันนี้มาก คือพูดรวม ๆ แล้ว นึกมานาน สังคมไทยขาดจุดหมายรวม จุดหมายรวมของสังคมไม่มีเลย ไม่มีใจร่วมเลย คือสังคมตอนที่จะพัฒนานะ อย่างญี่ปุ่นตอนที่จะพัฒนาได้ลิ่วเลยก็คือ จุดหมายรวมของชาติ เช่นบอกว่า ญี่ปุ่นจะต้องเป็นที่หนึ่งในโลก พอมานึกอย่างนี้ ใจมันรวมกัน ถ้าเพื่อญี่ปุ่นแล้วยอมได้ กิจการนั้นนี้ อาจจะทะเลาะกันได้ แต่พอบอกเพื่อญี่ปุ่น หยุดหมด ทุกคนยอม ใช่ไหม อันนี้จุดหมายรวมอย่างนี้ ไทยไม่มี คือประเทศต่างๆ ตอนที่สร้างตัวมันต้องมีอันนี้ ซึ่งบางทีก็มาจากแรงบีบคั้นข้างนอก
อย่างญี่ปุ่นก็เหมือนกัน ก็คือถูกบีบคั้นจากข้างนอก เพราะความรู้สึกกดดันว่า ตะวันตกมันมา จะครอบงำเรา แล้วจะมารังแกยังไงก็ได้ เราไม่มีกำลังสู้ ในแง่หนึ่งก็เหมือนเป็นปฏิกิริยา แต่ว่ามันก็ทำให้คนรวมใจกัน ก็ทำให้เกิดจุดหมายร่วมว่า เราจะต้องสร้างชาติญี่ปุ่นให้ยิ่งใหญ่ ให้ทันเขา หรือว่าให้เขามาครอบงำเราไม่ได้ ทำอะไรเราไม่ได้ ทีนี้จุดหมายพวกนี้ ของไทยเราไม่มี เคยพูดบ่อยอย่างประเทศไทยตอนแรกก็เหมือนญี่ปุ่น ไทยเรานำญี่ปุ่นนะ ตอนสมัยรัชกาลที่ ๕ ญี่ปุ่นต้องมาดูงานเมืองไทย
ทีนี้ต่อมามันผิดกัน คือญี่ปุ่นตอนที่เปิดประเทศ เขาปิดประเทศมา ๒๐๐ ปี จากยุคที่พวกฝรั่งเข้าไป แล้วก็พวกโชกุนได้รู้ความลับว่า พวกนี้จะมาเอาเป็นเมืองขึ้น ก็เลยปิดประเทศ ไล่ฝรั่งออกหมดเลย เขาปิดประเทศราว ๆ ๒๐๐ ปี แล้วก็อเมริกัน นายพลเพอร์รี่ ก็เอาเรือรบมาขู่ให้เปิดประเทศ ญี่ปุ่นไม่มีทางสู้ เทคโนโลยีสู้ไม่ได้ เลยต้องยอมเซ็นสัญญากับอเมริกัน เซ็นสัญญาก็เปิดประเทศการค้าขาย ตอนนี้มันรู้สึกว่าประเทศเราญี่ปุ่นนี่ เสียศักดิ์ศรีเหลือเกิน ต้องยอมฝรั่ง เขามาขู่ก็เลยต้องยอมหมดเลย พวกโชกุนต่างๆ ก็เลยยกความเป็นใหญ่ให้จักรพรรดิ เราจะร่วมใจกันเพื่อพระจักรพรรดิ ทำประเทศญี่ปุ่นให้ยิ่งใหญ่ ให้ฝรั่งมาทำอะไรเราไม่ได้ พอเริ่มจุดนั้น มันก็รุดหน้าเลย ทุกอย่างเพื่อความยิ่งใหญ่ เพื่อพระจักรพรรดิ เพื่อญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในโลก ก็เลยเป็นจุดที่สร้างพลังขึ้นมา เป็นจุดหมายรวม นี่ญี่ปุ่นเขามาแบบนี้
แม้แต่เขาส่งคนไปเรียน เขาก็ส่งไประยะเดียวกับไทย ไทยเราส่งเป็นคนๆ คนหนึ่งก็ไปเรียนจบมา เก่ง มีความสามารถ พอกลับมา ก็ทำอะไรไม่ได้ คนเดียว แล้วมาขัดแย้งกับคนเก่าที่เป็นนายอีก ไปไม่รอด แย่ ญี่ปุ่นส่งไปเป็นชุด งานอะไร คิดเลยว่าจะมาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทางนี้ ส่งไปเป็นทีมเลย ทั้งทีมกลับมาตั้งโรงงานได้เลย พร้อมพรึบ ทำได้เลย อ้าว ก็แพ้เขาสิ ใช่ไหม เขาทำมาเป็นชุด ๆ มาทำเลย ๆ ของเรามาคนหนึ่ง มานุงนัง ๆ ทะเลาะกันอยู่อย่างนั้น ไปไหนไม่ได้ ในที่สุดญี่ปุ่นก็เดินหน้าไปลิบเลย
[51:19] ทีนี้ไทยมีข้อเสียอีกอัน คือไทยตอนนั้นก็โดนฝรั่งคุกคาม ก็เริ่มมาจากสมัยพระนารายณ์ ก็เกิดพร้อมกับญี่ปุ่นนั่นแหละ สมัยพระนารายณ์ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ก็มาเป็นคล้ายๆ อัครเสนาบดี เป็นคนกรีก แล้วทีนี้เรื่องก็อาจจะเป็นได้ว่า แกไปสมคบกับพวกฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ก็เตรียมว่าจะหาทางยึดประเทศไทย เป็นเมืองขึ้น ทีนี้เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ ก็อาจจะมีเรื่องลึกลับ รู้กันกับพระเจ้าหลุยส์ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสถึงกับได้มีกองทัพ มีทหารเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองหลวงของไทย มีป้อมเลยนะ
ทีนี้ฝ่ายพระเพทราชา พระเจ้าเสือ ก็หาทางโค่นอำนาจเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ พระนารายณ์มหาราชตอนท้ายราชการ ก็ทรงประชวรหนัก พระนารายณ์ก็มีโอรสบุญธรรม ชื่อพระองค์เจ้าปีย์ พระองค์เจ้าปีย์ก็เปลี่ยนเป็นคริสต์แล้ว ก็จะขึ้นครองราชย์ ทีนี้พระเจ้าเสือ คือเราไม่รู้แน่หรอก แต่ว่าตามประวัติศาสตร์ หรือตามตำนานเรื่องพงศาวดารเขาว่า พระเจ้าเสือเป็นโอรสนอกราชบัลลังก์ของพระนารายณ์ แล้วไปฝากพระเพทราชาเลี้ยงไว้ ก็เป็นลูกพระเพทราชา ที่จริงเป็นลูกของพระนารายณ์ พระเพทราชาก็จึงยิ่งใหญ่มาก คล้ายๆ ว่าพระเจ้าแผ่นดินก็ไว้พระทัย พอพระนารายณ์มหาราชประชวรหนัก พระเพทราชาเตรียมยึดอำนาจ ก็ได้สังหารองค์เจ้าปีย์ แล้วก็เตรียมล้อมวังหมด พอสวรรคตปั๊บ ก็ยึดอำนาจเลย
ทีนี้พระนารายณ์มหาราชทรงรู้ตัวแล้ว ไม่มีทาง เพราะพระองค์ไม่มีแรง ได้แต่พิโรธ ก็เลยว่าข้าราชบริพารจำนวนมากนี้ เมื่อเขายึดอำนาจแล้วจะต้องถูกฆ่า พระองค์ก็ช่วยได้แค่ว่า สมัยนั้นมันมีธรรมเนียมทางราชประเพณี คือถ้าใครบวชแล้วก็พ้นภัย พระนารายณ์ก็ให้ข้าราชบริพาร ไปนิมนต์สมเด็จพระสังฆราชมาพร้อมด้วยพระสงฆ์ ให้มาพร้อมมีพอที่จะมาบวชพระได้ ก็นิมนต์มา แล้วพอมาเสร็จแล้ว พระองค์ก็กล่าวคำถวายวังนี้แก่สงฆ์ พอถวายวังปั๊บ พระสงฆ์ก็ผูกสีมาเลย เอาวังนี้เป็นสีมา เป็นโบสถ์ พอผูกเสร็จ ข้าราชบริพารที่จะมีอันตราย ก็เอามาบวช พอบวชเสร็จแล้ว พระสังฆราชก็พาพวกพระใหม่เหล่านี้ไปวัด พ้นอันตรายไป แล้วไม่ช้าพระนารายณ์ก็สวรรคต พอสวรรคต พระเพทราชาก็ยึดอำนาจ ก็จับเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ฆ่า สังหาร แล้วก็ไล่ทหารฝรั่งเศสออก ปิดประเทศเลย
ไทยกับญี่ปุ่นปิดประเทศเกือบพร้อมกัน ใกล้กันมาก แล้วไทยก็มาเปิดรัชกาลที่ ๔ พระนางวิกตอเรีย ส่งทูตของพระองค์ชื่อเบาว์ริงเข้ามา แล้วก็มาทำสัญญาการค้า เรียกว่า Bowring Treaty อะไรเนี่ย สนธิสัญญาเบาว์ริง ก็เกือบพร้อมญี่ปุ่นเปิดประเทศ ไทยก็เข้าสู่วงการสากล ทีนี้ต่อจากนี้ไทยก็ประสบปัญหา เรื่องพวกอังกฤษ ฝรั่งเศสจะมาเอาเป็นเมืองขึ้น ใช่ไหม ก็ถูกบีบคั้นมาก ตอนนี้แหละไทยก็หาทางที่จะต้องมีความเข้มแข็ง รัชกาลที่ ๕ ก็วางแผนต่าง ๆ เพราะว่าต่อแล้ว รัชกาลที่ ๔ ก็มา ๕ ตอนนี้ภัยจากอาณานิคม ลัทธิอาณานิคมมีมาก
รัชกาลที่ ๕ ก็พยายามที่จะสร้างพลัง ที่ส่งราชโอรสไปเรียนเมืองนอกต่าง ๆ แล้วจัดการปรับปรุงระบบราชการอะไรต่าง ๆ ทุกอย่าง แล้วก็ศูนย์รวมอำนาจให้มาอยู่ที่ศูนย์กลางอะไรเนี่ย ตอนนี้คนไทยเริ่มมีความรู้สึกชาตินิยม แต่ทีนี้ชาตินิยมเป็นตัวที่ทำให้คนมีใจร่วมกัน เราจะมุ่งมั่นสร้างประเทศชาติ อะไรต่ออะไรเนี่ย ยอมเสียสละตัวเองได้ แต่ทีนี้คนไทยเรานี่ ภัยจากอาณานิคมมันไม่ยาวนานพอ พอต่อมาไม่นาน ภัยอันตรายมันน้อย ใช่ไหม มันเคยมีอย่างฝรั่งเศสเอาเรือรบมาปิดแม่น้ำเจ้าพระยาเลยนะ ไทยเราก็ต้องเดือดแค้น การเดือดแค้นถูกเขาข่มขี่ มันทำให้จิตใจมันรักชาติมาก
แต่ต่อมาภัยมันก็ไม่นาน แล้วฝรั่งก็มีสินค้าอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เข้ามา คนไทยก็กลับหันไปเพลิดเพลิน กับการรับผลิตภัณฑ์สินค้าใหม่ ๆ ชอบโก้หรู มีพวกกล้องถ่ายรูปบ้าง อะไรบ้าง โก้เก๋ เข้าตอนนั้น ก็เพลิน หันไปเพลินกับพวกสินค้าฝรั่ง แล้วก็เอามาอวดกัน ก็กลายเป็นว่ามาอวดโก้ อวดพวกตัวเอง เริ่มนิสัยแบบนี้แล้ว ทีนี้ความรู้สึกชาตินิยมก็หมด มันสั้นเหลือเกิน ก็เลยกลายเป็นว่า แต่ละคนก็หาความเพลิดเพลินสนุกสนาน รอสินค้าฝรั่งเข้ามา มีอะไรจะบริโภค มาจนกระทั่งปัจจุบัน เข้าแนวนี้ ก็กลายเป็นเรื่องของแต่ละคน ใช่ไหม แล้วก็มาแข่งกัน ใครจะมีบริโภคมากกว่า ใครจะโก้กว่ากัน อะไรแบบนี้ สังคมไทยเลยไม่มีจุดรวม ความเข้มแข็งในการสร้างประเทศชาติก็ไม่มี ก็เลยเป็นจุดที่ทำให้ไม่มีความเข้มแข็ง ถึงว่าทำยังไงให้ประเทศไทยมีจุดรวม มีจุดหมายร่วมกัน จุดหมายร่วมของสังคม แล้วมันก็จะเข้มแข็งขึ้นมา
[57:51] ก็อย่างสังคมอเมริกัน เขาก็เป็นเพราะภัยอันตรายใช่ไหม เขาหนีมาจากยุโรป เสร็จแล้วเขามาขึ้นที่ฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก แล้วพอขึ้นปั๊บ มีแต่ทุ่งนาป่าเขา ไม่ใช่ทุ่งนาหรอก มีแต่ป่าเขา ป่าดงพงพี แล้วก็อินเดียนแดง ทีนี้ตัวเองก็แย่สิ ใช่ไหม ของที่มาจากโน่นก็มาได้จำกัด ข้ามทะเลมา บางทีตายตั้งครึ่งลำ แล้วมาเหลือนี่ก็เดือดร้อน ลำบากมาก ความหวังมันก็อยู่ที่ว่า จะต้องบุกเข้าไปในแผ่นดิน จากฝั่งทะเล ก็หวังไปข้างหน้าว่า เราจะได้ไปพบทรัพยากร เราจะได้ไปสามารถหักล้างถางพง สร้างที่อยู่อาศัยเป็นบ้านเป็นเมือง แล้วก็มีกินมีใช้ ก็หวังอย่างนี้ ก็คือต้องบุกเรื่อย เขาเรียกว่า เริ่มยุคฟรอนเทียร์ คำว่า “ฟรอนเทียร์” จึงเป็นคำสำคัญอย่างยิ่งในสังคมอเมริกัน ฝังใจลึกมาก
ยุคฟรอนเทียร์ เรียกเต็มว่า Frontier expansion การขยายพรมแดน หมายความว่าขึ้นฝั่งมหาสมุทรปั๊บ ต่อจากนี้ก็เป็นพรมแดนแล้ว ไปถึงไหนพรมแดนก็อยู่แค่นั้น ก็ขยายไป ก็บุกไป นี่ยุคขยายพรมแดน บุกฝ่าพรมแดน เริ่มต้นใน ค.ศ. ๑๖๒๐ โดยประมาณ ก็บุกกันไป ๆ ก็สู้กับอินเดียนแดง ต้องแย่งแผ่นดินเขา อะไรต่ออะไร มันเต็มไปด้วยการต่อสู้ แล้วก็มีพวกฝรั่งด้วยกันอีกที่เข้ามา มีฝรั่งเศส ฝ่ายอังกฤษ มีสเปนอีก แย่งกันอีก เพราะฉะนั้นมันต่อสู้ผจญภัยตลอดเลย ฝรั่งเขาก็บอกว่า ยุคฟรอนเทียร์ของเขา ๓๐๐ ปี เฉลี่ยเขาไปได้ปีละ ๑๐ไมล์ แล้ว ๓๐๐ ปี ก็ได้ ๓,๐๐๐ ไมล์ จากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ก็ไปจรดมหาสมุทรแปซิฟิก พอสุดท้ายก็ปราบอินเดียนแดงพวกสุดท้ายลงได้ ก็ ๑๘๐๐ กว่า ๑๘๙๐ อะไรแถวนั้น ก็คือครบ ๓๐๐ ปี เขาเรียกว่า the closing of the frontier ปิดพรมแดน หมายความว่า จบยุคพรมแดน เขาก็ได้ดินแดนหมด
ก็ ๓๐๐ ปี เขาบอกว่า มันก็ได้ปลูกฝังนิสัยใจคอ ในการผจญภัย ในการที่ตื่นตัว ต้องระวังภัยเต็มที่ สร้างนิสัยแข่งขันต่อสู้กันมาตลอดเลย เป็นคนที่กระตือรือร้น ขวนขวาย อันนี้ก็คือใจมันต้องมุ่งไปข้างหน้า ด้วยความหวังที่จะสร้าง ฝรั่งอเมริกันก็จะมีคำสำคัญที่สุดอยู่ ๒ คำ (๑) “freedom” มาจากยุโรปนี่ ก็คือหนีภัยการข่มเหง persecution แล้วก็สงคราม มาหา freedom อิสระ เสรีภาพ นั่นก็เป็นตัวยอดปรารถนา ก็ให้สังคมอเมริกัน เป็นสังคมแห่ง freedom (๒) “opportunity” คือ สังคมแห่งโอกาส โอกาสของเราก็คือการบุกฝ่าไป โอกาสนี้ก็อยู่ในแนวคิด frontier ฉะนั้นคำว่า frontier ก็คือความสำเร็จของอเมริกัน ก็คือการบุกฝ่าขยายพรมแดนมา ๓๐๐ ปี
Frontier นี่อเมริกาก็จะเอามาใช้ในทุกเรื่อง ไปอวกาศเขาก็เรียก frontier of space ใช่ไหม space frontier แม้แต่เรื่องคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต ก็ยังเอามาใช้ frontier เลย electronic frontier หรือจะเรียก cyber space frontier แล้วก็วิชาการต่างๆ เขาก็เรียก frontier หมด frontier of science เรียกว่า พรมแดนแห่งวิชาการ คำนี้ก็ฝังใจ อย่างเคนเนดี้แกจะหาเสียง แกก็ปลุกใจคนอเมริกัน โดยบอกว่า frontier เก่าขยายดินแดนจบไปแล้ว แกบอก new frontier นโยบายของเคนเนดี้ก็คือ new frontier ในการหาเสียง แล้วก็เอามาใช้ในการดำเนินนโยบาย หลังจากได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้ว นโยบายของรัฐก็เป็นนโยบาย new frontier นี่ก็ดูตัวอย่างอเมริกัน ก็คือต้องบุกไปข้างหน้า ความหวังอยู่ข้างหน้า มันก็เป็นเหมือนกับว่า มันมีอะไรอย่างหนึ่ง ที่มันทำให้ใจมันเป็นหนึ่งเป็นเดียวกัน
[01:03:02] ทีนี้ไทยเราไม่มี ไทยเราตรงข้ามกับอเมริกัน คืออเมริกันมันต้องบุกฝ่าไปข้างหน้า ของไทยเราบอกว่า ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ก็คืออยู่กับที่ ใช่ไหม เราบอกอยู่ที่นี่ดีแล้ว สบาย อุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องไปไหน ของอเมริกันบอกอยู่ที่นี่ไม่ได้ จะตาย อด ต้องไปข้างหน้า ความสำเร็จคือบุกฝ่าไป ฉะนั้นพื้นฐานจิตใจนี่คนละแบบ ทีนี้ของไทยเรา ถ้าเราไม่พัฒนาคนให้ดี คนของเราจะเฉื่อยชามาก คล้าย ๆ สภาพแวดล้อมธรรมชาติ อะไรต่ออะไร มันอุดมสมบูรณ์ มันเอื้อไปหมด มันก็มีแนวโน้มของจิตใจที่จะผัดเพี้ยน เฉื่อยชา อยู่สบาย ๆ ไม่อยากทำอะไร นี่ของเขาต้องกระตือรือร้น ต้องขวนขวาย ต้องทำตลอดเวลา ภัยอันตรายก็มาคุกคามอยู่ เดี๋ยวอินเดียนแดงมันจะเข้ามาเมื่อไหร่ หรือว่าฝ่ายสเปนจะบุกเมื่อไหร่ แล้วชีวิตที่ว่าจะประสบความสำเร็จ ภัยอันตรายอยู่รอบด้าน จะต้องบุกไป ความหวังอยู่ข้างหน้า อะไรเนี่ย ไปเรื่อย
ทีนี้สังคมไทยก็ต้องมาคิดว่าตัวเองจะสร้างชาติได้ยังไง แต่ว่าตอนนี้ก็คือว่า เราเหมือนกับว่าไม่รู้ตัว ความจริงตอนนี้เราอยู่ในสภาพที่ถูกบีบคั้นแล้วนะ ภัยอันตรายเยอะแล้ว ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นจริงแล้ว พูดกันไปงั้นแหละ ใช่ไหม มันยังมีบ้าง แต่ที่จริงมันไม่ได้อย่างเก่าแล้ว ในน้ำมีปลา ก็มีไม่มากนักแล้ว ใช่ไหม ต้องไปบุกเอาดินแดนคนอื่นแล้ว คนประมงไทยไปแย่ง ไปรุกน่านน้ำของชาติอื่น ในน้ำจืดก็ปลาน้อยลง ในนามีข้าว ข้าวก็ชักจะไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์แล้ว ก็ไม่รู้ตัว ยังเพลินอยู่ ก็เพลินแต่พวกสินค้าเสพบริโภค ที่มันมีใหม่ ๆ มาจ้องที่เขาส่งเข้ามา มันก็เลยเพลิน มันก็ไม่ได้คิดว่า ที่จริงตัวเองมีอันตรายอยู่ ก็คือภัยของการอยู่ร่วมกันในโลก ที่ประเทศอื่นเขาอาจจะเอาเปรียบเรา หรืออะไรต่าง ๆ ไม่รู้ตัว เพราะเพลินกับเรื่องการเสพบริโภค
ทีนี้ถ้าเรารู้ตัวขึ้นมา คอยเน้นจุดนี้ว่านี่นะ อยู่ในโลกของการแข่งขัน ตอนนี้อยู่ในภาวะอ่อนและเสียเปรียบนะ จะลำบากระยะยาว ก็ต้องให้จี้จุด ให้เห็นภัยอันตราย แล้วก็จะได้มีใจร่วมกัน แล้วมันก็จะได้สร้างพัฒนาความเข้มแข็ง ไม่มัวมาเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว ถ้าเราให้เกิดความรู้ข่าวสารข้อมูลในทางที่ถูกต้อง คนไทยก็จะมีทางตื่นได้บ้าง แต่ทีนี้ข่าวสารข้อมูลของเรา โดยมากมันเป็นข้อมูลในทางสนองผลประโยชน์เสียมาก มันก็เลยมากล่อม มันมาล่อ ให้ลุ่มหลงกับสิ่งเสพบริโภค ใช่ไหม ได้รอสิ่งผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปมาจากเมืองนอก มันเลยไม่มีข่าวสารที่บอกให้รู้ว่า เรานี่อยู่ในสถานะอย่างไรในโลกนี้ ในสภาพการแข่งขัน มีการเสียเปรียบอย่างไร อันตรายที่รอหน้าเป็นยังไง ไม่รู้เลย
[01:06:38] ทีนี้ถ้าหากว่า ผู้นำใช้ข่าวสารข้อมูลให้เป็นประโยชน์ ก็ต้องมาปลุกใจประชาชนให้ไม่ประมาท ถ้าทำได้อย่างนี้ คนก็จะมีใจตื่นตัว แล้วก็มีใจร่วมกันได้ ไม่รู้สินโยบายรัฐบาลนี้เป็นยังไง ทำให้คนไม่ประมาทหรือเปล่า อันนี้เป็นจุดวินิจฉัยด้วยนะ ตัดสิน ผู้นำต้องสามารถทำให้ประชาชนไม่ประมาท ไม่ประมาทก็ต้องด้วยปัญญา ด้วยที่รู้ความจริง รู้สถานการณ์ตามเป็นจริง แล้วก็มีใจร่วมในการที่ว่า ต้องแก้ไขปัญหา ทำให้พ้นภัยอันตรายปัญหาที่บีบคั้นอยู่ ไม่ใช่มัวหลงระเริงกับสิ่งเสพบริโภค ทีนี้ถ้าหากว่ามันเพลินไปนาน ๆ เนี่ย ภัยบีบรัดมันจะหนักเข้าไปทุกที จนกระทั่งแก้ตัวหลุดยาก อันนั้นเราก็ต้องมองหลายชั้นอย่างที่ว่า มองในระดับของผู้ร่วมงาน ในวงงาน ต่อไประดับสังคม ประเทศชาติ ขยายไปจนถึงระดับโลกเลย ถ้ามองด้วยทัศนะแนวคิดที่กว้างไปอย่างนี้ มันก็มีทางเดินไปได้เรื่อย ๆ
[01:07:52] สู่การพัฒนาที่ไม่มีที่สิ้นสุด
[01:07:52] ผู้ฟัง (ผู้ชาย): ก็เหมือนกับว่า เราก็ต้องพยายามที่จะชักจูงให้บุคคลที่เราบริหาร มีจิตใจหนึ่งเดียวกัน และมีเป้าที่ขึ้นสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ใช่ ก็ขึ้นไป ขยับเป็นระดับ หมายความว่า ในวงงานของเรา กิจกรรมของพวกเรา มีลูกจ้างมีอะไรก็ให้มีจิตใจมาร่วมกันในกิจการ ใช่ไหม ได้ขั้นหนึ่งแล้ว ทีนี้ในกิจการแบบเดียวกัน ในกลุ่มที่เราจะเข้าใจกันได้ มีพวกมีหมู่มาสร้างความรู้เข้าใจ แล้วมีจิตใจร่วมเป้าหมายใหญ่ เพื่อสังคมเพื่อประเทศชาติ ขยับขึ้นไป อันนี้มันก็จะขึ้นไปเป็นระดับ
[01:08:29] แล้วในการนี้ก็คือ การพัฒนาความเป็นผู้นำของตัวเองขึ้นไป แล้วข่าวสารข้อมูล อะไรต่ออะไรก็จะเป็นประโยชน์ เดี๋ยวนี้คนไทยเราใช้ข่าวสารข้อมูลไม่เป็น ก็ไม่ค่อยได้ประโยชน์อะไร ก็เป็นสายข้อมูลประเภทลุ่มหลง บันเทิง ล่อ ทำให้มัวเมา ก็ต้องแก้ ต้องช่วยกัน พอเราจี้จุดถูก มันก็จะมีการปลุกใจไปในตัว พอปลุกใจได้ ใจมันมา มันมองเห็นจุด ตัวความรู้เป็นเรื่องสำคัญ พอคนไม่รู้มันก็มัวเมา มันเพลิน จมอยู่ วนเวียนอยู่กับเรื่องเฉพาะหน้า ทีนี้เราต้องการผู้นำ ที่สามารถชี้จุดต่างๆ ที่ประชาชนควรรู้ แล้วจะได้ตื่นตัวขึ้นมา แต่ว่าถึงยังไงเราก็ต้องเริ่มกับกิจการของเราก่อน ว่าไปเป็นระดับ ๆ แล้วพอตื่นตัวอย่างนี้นะ เราจะเห็นทางเดินไปข้างหน้า มันจะไม่จบ
[01:09:27] ก็เคยพูดบ่อยว่าต้องมี หนึ่ง-มองกว้าง ก็คืออย่ามัวมองอยู่แค่กิจการของตัวเอง มองให้ทั่วสังคม มองให้ทั่วโลก แม้แต่กิจการแบบของเราเอง มันก็มีไปทั่วโลก อย่างน้อยก็ต้องรู้ว่า กิจการแบบนี้ในโลกนี้มันเป็นยังไง กระแสเคลื่อนไหวยังไง และก็ไม่ใช่เฉพาะกิจการของเรา เรื่องอื่นๆ ทั้งหลายต้องมองให้เห็นภาพกว้างภาพรวม สอง-คิดไกล คิดไปไกลว่า ในอนาคตมันจะเดินหน้าไปยังไง สาวไปถึงอดีต เหตุปัจจัยมันมายังไง รู้จักเมืองนอกเมืองฝรั่ง รู้ภูมิหลังของเขา มันมายังไง เหตุปัจจัยมายังไง มันถึงมาเป็นอย่างนี้ อะไรอย่างนี้นะ นี่เรียกว่าคิดไกล ได้รู้เหตุปัจจัยในอดีตโยงมาปัจจุบัน แล้ววางแผนอนาคตได้
แล้วสาม-ใฝ่สูง ในที่นี้ไม่ใช่ใฝ่สูงแบบที่เคยพูดกัน อยากใหญ่อยากโตคนเดียว ไม่ใช่อย่างนั้น ใฝ่สูงก็คือหมายความว่าสิ่งที่เป็นจุดหมายที่ดีงาม เพื่อสังคมเพื่อประเทศชาติ อะไรเนี่ย การสร้างสรรค์ที่สำคัญ เช่นว่าสังคมไทยจะต้องพ้นจากความล้าหลัง ความด้อยพัฒนาอะไรต่าง ๆ ไปสู่ความเข้มแข็ง อยู่ในสังคมโลกอย่างมีศักดิ์ศรี หรืออะไรก็แล้วแต่ มีความภูมิใจ สามารถมีบทบาทร่วมในอารยธรรมโลก สามารถแก้ปัญหาโลกได้ อะไรอย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่าใฝ่สูง มีจุดหมายที่สูงไปในทางสร้างสรรค์ แม้แต่ว่าเราจะทำกิจการของเราให้เจริญงอกงาม มีส่วนในการสร้างสรรค์ประเทศชาติได้อย่างนั้นอย่างนี้นะ อันนี้ก็อยู่ในจุดหมายที่สูง
ถ้าได้ ๓ อันนี้ มันจะเป็นพลัง แล้วมันก็จะเดินหน้าไปได้เรื่อย ๆ ทีนี้ถ้าคนมองแคบ เดี๋ยวมันก็วนเวียน มันก็ตัน คิดใกล้ก็อยู่แค่นี้ เสร็จสักที ๆ ๆ แล้วความมีชีวิตชีวาก็หมด ไม่ใฝ่สูงมันก็ไม่มีจุดหมายอะไร มันก็อยู่แค่นี้ ทำไป ๆ มันก็ขยายไปเรื่อยแบบนี้ ออกไปจากตัว ออกไปสู่กิจการ ไปสู่สังคม ประเทศชาติ โลก
[01:11:51] ผู้ฟัง (ผู้ชาย): คำถามสุดท้ายครับ คือ ก่อนที่ผมจะจบออกมา อาจารย์ก็จะพูดคำสุดท้ายว่า การที่เราจะเก่งกว่าคนอื่น เราต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น อันนี้ผมเชื่อ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ท่านว่าจริงหรือเปล่าครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อันนี้มันก็จริง แต่ว่ามันก็ให้มีจุดหมายที่เหนือกว่านั้นด้วย คือว่าอันนี้มันก็เป็นเรื่องเหมือนกับอยู่ในระบบแข่งขัน แล้วก็มองไปในแง่ระหว่างบุคคล ระหว่างกิจการนี้เท่านั้น แต่ว่ามันจะต้องมีที่เหนือขึ้นไปกว่านั้น ก็คือเราไม่เอาแค่ว่า มาแข่งขันกันในหมู่ในพวกในคนแบบเดียวกัน ทำยังไงที่ว่า จะมาเป็นพลังสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ใช่ไหม
[01:12:34] อันนี้สิที่สำคัญ เป้าหมายที่สูงขึ้นไป ให้มันมีโอกาสขยายต่อ ไม่งั้นมันก็มาจบแค่แข่งกัน ในขอบเขตที่จำกัด เราไม่ใช่เฉพาะมาแข่งกันเท่านี้ แต่เราจะต้องมารวมกำลังด้วย เพื่อจะไปสู่ที่สูง ทีนี้พอมองอย่างนี้นะ มันก็ไม่ใช่เพียงว่ามามองแค่ว่า ฉันต้องทำงานให้หนักกว่าพวกนั้น คนอื่นนี้ แล้วก็เพ่งกันอยู่แค่นี้ แต่ว่ามันจะมีทางที่ว่า แม้แต่พวกกลุ่มเรา จะต้องมาร่วมกันทำงานให้เหนือกว่า เช่นพวกประเทศอื่น อะไรอย่างนี้นะ ในระดับนี้ มันก็กลายเป็นว่า ไม่ใช่ทำคนเดียวแล้ว มาเร่งพลังความสามารถที่ทำหนักกว่าเขา ในระดับกลุ่ม หรือทั้งสังคม
[01:13:22] แล้วอีกอันหนึ่งก็คือ มันมีการแข่ง ๒ แบบ คือ แข่งกันกับคนอื่น กับแข่งกับตัวเอง คนที่เก่งมันไม่ใช่แค่แข่งกับคนอื่นเสมอไปนะ มันแข่งกับตัวเอง แข่งกับตัวเองก็คือ ต้องทำให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ คือเรานี่เคยทำได้แค่นี้ เราจะต้องทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก การแข่งกับตัวเอง บางทีได้ผลกว่าแข่งกับคนอื่น เพราะการแข่งกับคนอื่นนี่ บางทีไป ๆ แล้วมันมีเรื่องของการเบียดเบียนกัน การขัดขากัน การที่จะมาหาทางที่จะเอาเปรียบกัน ก็มันมีเอาเปรียบกัน ขัดขากัน เรื่องของการแข่งขันแบบนี้ ทีนี้ถ้าแข่งกับตัวเองนี่มันไม่มีอันนั้น แล้วไม่มีที่สิ้นสุด ทีนี้การแข่งกับคนอื่นก็เอามาเป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่ต้องทำเสมอ ต้องพยายามมองในแง่แข่งกับตัวเอง ต้องทำตัวเองให้พัฒนาไปเรื่อย ๆ วันนี้ทำดีได้แค่นี้ ต้องทำดีขึ้นไปอีก เห็นทางไหม แข่งกับตัวเอง ก็คือการพัฒนาที่ไม่มีที่สิ้นสุด
[01:14:37] ในการทำงานหนักกว่าคนอื่น มันก็เป็นตัวกระตุ้นเรา ให้เราหยุดไม่ได้ แต่ว่าก็จะต้องคอยจ้องคนอื่น ว่าเขาไปถึงไหน แล้วก็ทำแค่ไหน ในระยะยาว มันก็มีปัญหาได้ ในแง่เกิดทัศนคติ ในทางที่ไม่ค่อยจริงใจ ในสังคมแบบนี้ สังคมที่แข่งขันกันระหว่างคน จะค่อย ๆ สูญเสียความจริงใจ แล้วไมตรีจิตมิตรภาพที่แท้จริงระหว่างมนุษย์ก็น้อยลงไป ก็จะเห็นปัญหาอันนี้ แล้วต่อไป คนก็จะมีความหวาดระแวงกันมาก แล้วก็ตีกลับมาส่งผลต่อตัวบุคคลนั้น ในแง่ของความเครียด ความหวาดระแวง ว่าเขาจะเอายังไง จะมาท่าไหน เขาจะไปเหนือเราหรือเปล่า อะไรอย่างนี้ มันก็เครียด ใจคอไม่สบาย กระวนกระวาย ก็เป็นผลเสียอย่างนี้ สังคมฝรั่งมาในรูปนี้
[01:15:42] สังคมอเมริกันมีความเครียดมาก เพราะต้องจ้องระหว่างกัน เขามีคติอันหนึ่ง แม้แต่เลี้ยงลูกเขาเรียกว่า one up ก็คือต้องให้เหนือเพื่อนไว้ พ่อแม่ก็จะคอยดู แล้วก็คอยเสี้ยมสอนลูก ให้เหนือพวกไว้ มันก็ต้องจ้องต้องเพ่งกันอยู่เรื่อยแหละ ทีนี้ก็ทำให้เป็นสังคมที่ไม่ค่อยมีความจริงใจ จริงใจกันยาก แล้วก็หวาดระแวง แล้วก็ทำให้ไม่เป็นสุข เพราะกลัวว่าเขาจะเหนือกว่าเรา แล้วก็เครียดอย่างที่ว่า มันก็เลยกลายเป็นผลเสีย มันได้หนึ่ง ก็ได้ในแง่เร่งรัดกระตือรือร้น ไม่รู้จักหยุดจักหย่อน มันก็มาเป็นผลรวม ก็เป็นความเจริญของประเทศได้ แต่พร้อมกันนั้นจิตใจคนไม่ดี มีความทุกข์มาก ก็คือสภาพสังคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างอเมริกันในปัจจุบัน
[01:16:43] จุดนี้ที่อเมริกันมีแง่บางแง่ที่แพ้ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็มีแง่เสียที่ว่าเป็นตามการเร่งรัดแบบนี้ด้วย แต่ญี่ปุ่นมีระบบงานอันหนึ่งก็คือ ความภักดีต่อกิจการ เช่น ภักดีต่อบริษัท ใช่ไหม อันนี้ก็จะต่างจากอเมริกัน อเมริกันเขาก็มาดูเหมือนกัน ว่าญี่ปุ่นพัฒนายังไงหนอ เขาเก่งไปได้รวดเร็ว แล้วก็เห็นว่าต่างกัน ก็คือของอเมริกันมันเป็น individualism ปัจเจกชนนิยมแบบเต็มที่เลย ก็ competition แข่งขันกันเต็มที่ แต่ละคนก็แข่งกันเต็มที่เลย แล้วก็แต่ละคนหาผลประโยชน์ส่วนตัว เขาก็มีหลักทางเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจแบบปัจเจกชนนิยมนี้แหละ เมื่อบุคคลหรือปัจเจกชนนี่ประสบความสำเร็จ มีผลประโยชน์ได้มาก มามองรวมก็คือประเทศชาติก็เจริญ ใช่ไหม อันนี้ของญี่ปุ่นนี่ มองในแง่ของกิจการต่าง ๆ ให้ผู้ที่ทำงานนี้มีความจงรักภักดี มันก็อาจจะเป็นเชื้อมาจากชาตินิยมเก่า ที่ภักดีต่อพระจักรพรรดิ อะไรอย่างนี้ ภักดีต่อประเทศ
[01:18:00] ทีนี้เราก็ต้องมีวิธีการของเรา ว่าทำยังไงเราจะหาภูมิหลังรู้จักตัวเองให้เข้าใจ แล้วจัดระบบให้เหมาะ เพื่อจะสร้างสังคมให้ได้สักที ไม่ใช่เป็นสังคมที่สับสน หาจุดหมายไม่ได้ ไม่มีจุดหมายร่วมกันอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ต่างคนต่างก็ว่ากันไป หาผลประโยชน์ส่วนตัว บางทีก็สนุกสนานไปวัน ๆ จบ จบแล้วจบไป ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ใช่ไหม ทำยังไงจะแก้สังคมไทยนี้ สังคมอื่นบางทีมันก็เป็นเพราะว่า ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ สถานการณ์มันบีบคั้น ก็เลยต้องเป็นไปอย่างนั้นเอง อย่างสังคมอเมริกันก็เหมือนสถานการณ์มาบีบเอง พอมันเป็นไปอย่างนั้น ก็เขาหนีมาจากยุโรปแล้วก็มาขึ้นที่นี่ สภาพแวดล้อมก็บังคับเขาเอง เขาก็จะต้องดิ้นรน ใช่ไหม มันก็เกิดคติอะไรตามมาสอดคล้องกันไป
[01:18:59] นี่ถ้าเราปล่อยให้มันเป็นไปตามแบบนั้น เราก็ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ก็สบาย นอนอยู่นี่แหละ ใช่ไหม แต่ที่จริงภัยเดี๋ยวนี้มันรอบหมดแล้ว ไม่ตื่นตัว แล้วก็ต้องเตือนเรื่องนี้กันให้มาก เตือนเรื่อง อย่ามัวประมาทอยู่นะ อย่าหลงเพลินว่ามีความสุขสบายนะ สังคมนี้ภัยอันตรายไม่น้อยอยู่ แล้วถ้ามองไปไกล ๆ ไม่ได้เตรียมตัวเลย จะลำบากมาก ก็พยายามปลุกกันนี้ ก็ข่าวสารข้อมูล ในกระแสนี้มันก็จะค่อย ๆ โผล่ แล้วก็รู้ตัว รู้ตัวขึ้นมาก็จะปลุกใจกันได้ง่ายขึ้น ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็เป็นทางที่จะพัฒนาได้จริง ประเทศไทยก็จุดนี้ที่ยังตันอยู่ตรงนี้ ก็คือทำยังไงจะให้คนเราข้ามขั้นจากการหาผลประโยชน์เฉพาะตัว หรือกิจการส่วนตัวเท่านั้น ให้ขยับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ให้ไปสู่ความเป็นผู้นำในระดับกลุ่ม ระดับชุมชนสังคมให้ได้
ตอนนี้ไม่มีแม้แต่เราจะพยายามสร้างชุมชน ใช่ไหม มี อบต. อบจ. แต่ละคนก็จะเอาผลประโยชน์ตัวเอง ใช่ไหม หาผลประโยชน์ตัวเองทั้งนั้นเลย มันไม่มีเลย แรงคิดที่ว่า จะสร้างสรรค์ให้ชุมชนของเรามีความเจริญ ใจร่วมกันนี้ไม่มีเลย ต้องจับจุดนี้ให้ได้ พอเห็นทางไหม ก็ไปปลุกใจกันต่อ ฉะนั้นเราก็จะต้องไม่ประมาท แล้วก็พยายามที่จะชี้แจง ชักชวนคนที่อยู่ในขอบเขตของเรา ที่พอจะพูดกันได้ ค่อย ๆ ขยายออกไป แต่ในการทำอย่างนี้เราสร้างความเป็นผู้นำของตัวเองด้วยนะ ถ้าเราสามารถชี้แจงให้คนที่อยู่ในวงงานประเภทเดียวกับเรา ให้เห็นร่วมกับเรา เข้าใจปัญหาอย่างเรา มีใจไปด้วยกันได้เนี่ย มันจะเกิดความเป็นผู้นำ แล้วกระแสมันก็จะเกิดขึ้นเอง เพราะฉะนั้นการที่จะทำกิจการใหญ่ ก็เริ่มจากย่อยนี่แหละ ต้องค่อย ๆ ทำให้เป็นไป ให้มีจุดเริ่มขึ้นมาให้ได้ เอาล่ะ ถ้างั้นก็อนุโมทนา
ประเด็นสำคัญ
[00:00] หลักธรรมบริหารบุคคล หลักยึดเหนี่ยวจิตใจ
[24:43] มองงานให้ถูกต้อง พัฒนาตนด้วยการงาน
[37:59] ก่อจุดหมายรวม สร้างผลประโยชน์ร่วม ด้วยใจรักด้วยปัญญา
[01:07:52] สู่การพัฒนาที่ไม่มีที่สิ้นสุด
คำโปรย
... [00:30] เรื่องการบริหารบุคคลการทำงานร่วมกัน … [02:34] หลักธรรมะ ... ๒ หมวดใหญ่ … คือ พรหมวิหาร ๔ เป็นธรรมะฝ่ายประจำใจ คือเพื่อให้ภาวะจิตพร้อมที่จะสนองตอบในการสัมพันธ์อย่างถูกต้อง … [11:48] ออกมาสู่หลักปฏิบัติการที่เรียกว่า สังคหวัตถุ ๔ … หลักการประสานหมู่ชนหรือชุมชนหรือกิจการนั้น ให้มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน … [23:52] ฉะนั้นท่านก็เลยเรียกว่า “หลักยึดเหนี่ยวจิตใจ” … ถ้าทำได้สำเร็จจุดนี้ก็เดินหน้าแล้ว
… [25:12] “มองงานให้ถูกต้อง” … ชีวิตของเรามาอุทิศให้แก่งาน … หมดไป ๑ ใน ๓ ของชีวิต เพราะฉะนั้นเราต้องเอาดีจากงาน … เราก็สามารถพัฒนาตัว พัฒนาความสามารถอะไรต่าง ๆ จากงาน ... [25:48] พอเราตั้งจิตถูกต่องาน … จิตใจมันอยู่กับการงานนั้นและมีชีวิตชีวา ... [30:21] ก็เป็นอันว่าทัศนคติต่อกันระหว่างผู้ทำงาน ... ทัศนคติต่อกิจการทั้งหมด ให้มีใจร่วมกันเพื่อความเจริญงอกงามของงาน แล้วก็ทัศนคติต่อตัวงานที่ทำ ให้มันลงร่องลงทางที่ถูกให้หมด
... [38:33] พร้อมกันนั้นก็มี “ความเป็นธรรมเสมอภาค” ... เพื่อประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน ... [41:29] ในความมีส่วนร่วม ไม่ใช่ส่วนร่วมเฉพาะด้านจิตใจรักอย่างเดียว มันร่วมด้วยการที่มีปัญญารู้เข้าใจเรื่องราวด้วย ... [43:09] คนที่จะชนะเขาด้วยธรรม … ก็ต้องพัฒนาตัวมากและใช้สติปัญญามาก … แล้วในการแข่งขันเราก็ต้อง “ชนะโดยธรรม” ... [01:13:22] มีการแข่ง ๒ แบบ คือ แข่งกันกับคนอื่น กับแข่งกับตัวเอง … แต่ที่ต้องทำเสมอ ต้องพยายามมองในแง่แข่งกับตัวเอง ต้องทำตัวเองให้พัฒนาไปเรื่อย ๆ … แข่งกับตัวเองก็คือ “การพัฒนาที่ไม่มีที่สิ้นสุด”
คำคม
[02:34] พรหมวิหาร ๔ เป็นธรรมะฝ่ายประจำใจหรือด้านใน ... ออกมาสู่หลักปฏิบัติการที่เรียกว่า สังคหวัตถุ ๔ … ท่านเรียก “หลักยึดเหนี่ยวจิตใจ”
[05:38] “อุเบกขา” เฉยด้วยปัญญา คือวางใจเป็นกลางแล้วก็ปฏิบัติให้ถูก “อัญญานุเบกขา” เรียกว่าเฉยโง่ เฉยเพราะไม่รู้เรื่อง
[06:38] อุเบกขาจะช่วย หนึ่ง-มองตามความเป็นจริง สอง-รักษาความถูกต้องความเป็นธรรม รักษาหลักการกฎเกณฑ์กติกา แล้วก็ทำให้ฝึกคน ให้เขารู้จักพัฒนาตนเอง แก้ไขปัญหา พึ่งตนเองได้
[23:04] “เสมอ” ของพระ เป็นความเสมอในสุขและทุกข์ เป็นเสมอแบบประสาน เกิดความกลมกลืน เข้าดุลยภาพ
[25:48] พอเราตั้งจิตถูกต่องาน ก็ทำงานมีความสุขมีความสนุกกับงาน งานเป็นโอกาสในการพัฒนาตัว
[01:13:22] แข่งกับตัวเองคือการพัฒนาที่ไม่มีที่สิ้นสุด
[01:21:13] การที่จะทำกิจการใหญ่ ก็เริ่มจากย่อยนี่แหละ ต้องค่อย ๆ ทำให้เป็นไป ให้มีจุดเริ่มขึ้นมาให้ได้
คำค้น