แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
[00:00] การทำบุญอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ
ขอเจริญพรโยมญาติมิตรทุกท่าน วันนี้อาตมาภาพในนามของพระสงฆ์ ทั้งที่อยู่ประจำวัดวชิรธรรมปทีป นครนิวยอร์ก และพระสงฆ์ที่เป็นอาคันตุกะ เดินทางมาจากเมืองไทย มาพำนักที่นี่ชั่วคราวในระหว่างเดินทางไปที่ต่าง ๆ โยมญาติมิตรทุกท่านที่ได้มาทำบุญถวายภัตตาหารพร้อมกัน ในการถวายภัตตาหารทำบุญเพลวันนี้ ก็ได้ทราบว่าโยมได้มีเหตุปรารภ 2 ประการด้วยกัน จะเรียกว่าเป็น 2 คณะก็ได้ คือทางวัดมีคณะกรรมการวัด มีโยมสนิท ศรีสุโร เป็นเจ้าภาพ ได้ปรารภเรื่องเหตุการณ์ที่เมืองไทย ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ ซึ่งเป็นเรื่องของการเรียกร้องประชาธิปไตย แล้วในเหตุการณ์นั้นมีผู้เสียชีวิต เนื่องจากว่ามีเรื่องรุนแรงขึ้นมา ผู้เสียชีวิตจำนวนหลายคนซึ่งยังไม่ทราบแน่นอน ทางญาติโยมก็มีน้ำใจระลึกถึงท่านเหล่านั้น ว่าสิ้นชีวิตไปเพื่อความเป็นธรรม ความเจริญก้าวหน้าของประชาธิปไตยในประเทศไทย จึงได้มาทำบุญอุทิศกุศลให้ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่ง อีกคณะหนึ่งคือคณะเพื่อน ๆ ของคุณสมถวิล ตู้จินดา ได้ระลึกถึงท่านที่เดินทางไปในทวีปยุโรป แล้วไปสิ้นชีวิตในระหว่างเดินทาง ในฐานะที่เป็นเพื่อนสนิท ได้ทราบว่าคุณสมพักตร์ ศิริกิจ ก็เป็นเพื่อนที่สนิทมากของคุณสมถวิล ตู้จินดา ระลึกถึงคุณความดีของท่าน มาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน เป็น 2 คณะด้วยกัน แต่รวมแล้วมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือเป็นเรื่องของการอุทิศกุศลแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
การทำบุญอุทิศกุศลแก่ผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น ว่าตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เราทำโดยมีวัตถุประสงค์ 5 ประการด้วยกัน ตามที่พระสงฆ์นำมาเป็นบทสวดในเวลาที่อนุโมทนาในงานบำเพ็ญกุศลอย่างนี้ ซึ่งเรียกว่าบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน ทักษิณานุประทานแปลว่าการร่วมให้ทักษิณา ทักษิณาคืออะไร ทักษิณาคือการทำบุญให้ท่านผู้ล่วงลับ เป็นทานที่ถวายแก่พระสงฆ์ด้วยการเชื่อบุญเชื่อกรรม แล้วอุทิศให้ผู้ล่วงลับ ทีนี้เรามาให้ทักษิณาเป็นครั้งคราว เพื่อให้ท่านผู้ล่วงลับได้อนุโมทนา จะได้รับผลมีความสุข การทำบุญอย่างนี้นั้น มีวัตถุประสงค์อย่างที่อาตมากล่าวเมื่อกี้ว่า มี 5 ประการด้วยกัน
ประการที่หนึ่ง ก็ตามที่เราพูดกันอยู่เมื่อกี้ คือว่าวัตถุประสงค์ที่เด่นชัด ได้แก่การอุทิศกุศลให้ท่านผู้วายชนม์
ประการที่สอง เป็นการบำเพ็ญสิ่งที่เรียกว่า ญาติธรรม แปลว่าธรรมะของญาติ รวมทั้งมิตรด้วย ธรรมะหรือหน้าที่ของญาติมิตรต่อท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว คือว่าเราทุกคนที่มาทำบุญอุทิศกุศลก็มีความสัมพันธ์กับผู้ล่วงลับไปประการหนึ่ง ถ้าว่าถึงผู้ล่วงลับในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมก็คือว่า สัมพันธ์ในฐานะเป็นเพื่อนร่วมชาติ ส่วนคุณสมถวิล ตู้จินดา ทำในฐานะที่เป็นเพื่อน เป็นมิตรสหาย เช่น เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกัน เป็นต้น เมื่อมีความสัมพันธ์กันอยู่อย่างนี้แล้ว ก็มีหน้าที่ต่อกัน หน้าที่ที่ช่วยเหลือกันในยามอยู่เป็นปกติสุข เราคบหาสมาคม มีความสุขรื่นเริง สนุกสนานด้วยกัน มีทุกข์ก็ทุกข์ร่วมกัน เป็นต้น ยามท่านล่วงลับไปแล้ว เราจะไปทำอย่างนั้นอีกก็ไม่ได้ เพราะท่านไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ในทางพระศาสนาก็มีทางเดียวที่จะทำได้ คือการทำบุญอุทิศกุศลให้ ซึ่งถ้าหากว่าเป็นลูกเป็นหลาน เราก็เรียกว่าเป็นการแสดงกตัญญูกตเวที หรือถ้าเป็นเพื่อนเป็นญาติเป็นมิตร เราเรียกว่าบำเพ็ญสังคหธรรม ธรรมะคือการสงเคราะห์ แต่รวมแล้วก็อยู่ในคำที่เรียกว่าญาติธรรม ธรรมะหรือหน้าที่ของญาติมิตรต่อกัน การมาทำบุญให้อย่างนี้เรียกว่าเป็นหน้าที่ของญาติมิตร หากว่าญาติมิตรไม่ทำหน้าที่ให้ ก็คงไม่มีใครมาระลึกถึง ท่านผู้ล่วงลับก็ไม่มีใครอุทิศกุศลให้ ฉะนั้น การที่เรามาทำบุญให้เป็นการทำหน้าที่ของญาติมิตรต่อญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นหน้าที่ นี่ก็เป็นวัตถุประสงค์ประการที่สอง
ประการที่สาม ท่านบอกว่าเป็นการบูชาคุณของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว ทำไมถึงว่าเป็นการบูชาคุณ บูชาแปลว่าการยกย่องเทิดทูน ให้เกียรติ อย่างน้อยก็เป็นการแสดงน้ำใจ หมายความว่าคนที่มีชีวิตอยู่มีน้ำใจระลึกถึงคนที่ล่วงลับไป ไม่ทอดทิ้ง แล้วมาเชิดชูคุณความดีของท่าน แสดงให้ปรากฏ เวลาเรามาทำบุญอย่างนี้ เป็นการบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า บุคคลที่ล่วงลับไปแล้วนี้ต้องมีความดีทำไว้ ต่อเราก็ตาม ต่อคนอื่นก็ตาม มีคุณความดีแล้วจึงมาแสดงออก ถ้าหากว่าคนที่สิ้นไปนั้นไม่มีความดีอยู่ในจิตใจของใครเลย จะมีใครมาระลึกถึง ก็อาจจะล่วงลับหายสูญไป ทีนี้เราไม่ได้ทอดทิ้งท่าน มีใจระลึก เพื่อระลึกถึงความดีของท่าน ก็มาทำพิธีอย่างนี้ การทำพิธีนั้นเป็นการประกาศเกียรติคุณของท่านที่ล่วงลับไปด้วย บอกให้รู้ว่าท่านผู้นี้เป็นญาติ เป็นมิตรของข้าพเจ้า เป็นผู้มีคุณความดีที่เคยทำไว้ต่อกัน ข้าพเจ้าระลึกถึงจึงได้มาแสดงออก ถ้าเป็นคนที่ทำความดีกับส่วนรวม การทำพิธีนี้ก็เป็นการบูชาเทิดทูนให้เป็นแบบอย่างต่อไปข้างหน้า ไว้ให้คนอื่นระลึกถึง แล้วทำความดีอย่างนี้ต่อไป ข้อนี้เป็นประการที่สาม เรียกว่าเป็นการบูชาคุณความดีของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
ประการที่สี่ ได้แก่การได้ถวายกำลัง คือให้กำลังแก่พระภิกษุสงฆ์ที่ทำหน้าที่สืบต่อพระพุทธศาสนา เวลาญาติโยมมาทำบุญอุทิศกุศลไปให้ ก็มาถวายภัตตาหาร เป็นต้น ตลอดจนถวายวัตถุสิ่งของที่ถวายแด่พระ ที่เราเรียกกันว่าไทยธรรม หรือปัจจัยสี่ถวายแด่พระสงฆ์ พระสงฆ์อยู่ได้โดยอาศัยปัจจัยสี่ที่โยมถวาย แล้วทำหน้าที่ของท่าน ที่เราเรียกว่าปฏิบัติศาสนกิจ ทำให้พระศาสนาอยู่ได้ มีญาติโยมมาทำบุญแบบนี้ ก็เท่ากับถวายกำลังแด่พระสงฆ์ ให้ท่านสามารถปฏิบัติศาสนกิจ ก็เป็นการบำรุงพระศาสนาไปด้วย ญาติโยมได้ชื่อว่ามีส่วนร่วมสืบต่อพระศาสนา เพราะฉะนั้น วิธีบำเพ็ญกุศลนี้มีผลพลอยได้อีกประการหนึ่ง คือการให้กำลังแก่พระสงฆ์ในการสืบต่ออายุพระศาสนา แล้วประการสุดท้าย ก็เข้ามาถึงตัวเอง เราทำบุญให้ผู้ล่วงลับไป ถวายทานให้พระสงฆ์ได้มีกำลังบ้าง บำรุงพระศาสนาบ้าง เรามองว่าเป็นการให้กับผู้นั้นผู้นี้คนอื่นรอบตัว แต่ในที่สุดแล้วมาถึงตัวเอง เมื่อเราทำบุญอุทิศกุศล คือตัวเราเป็นผู้ที่ได้ทำบุญ
เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์ประการสุดท้าย คือตัวเราเอง การทำบุญในทางพระศาสนาก็แยกไว้หลายอย่างหลายประการ แล้วมี 3 อย่าง คือ ทาน ศีล ภาวนา เมื่อโยมมาทำบุญทำกุศลก็ได้บำเพ็ญทาน ได้บำเพ็ญศีล ได้สมาทานศีล ได้ตั้งกาย วาจา อยู่ในสุจริต อยู่ในความสงบเรียบร้อย อยู่ในระเบียบวินัย แล้วได้บำเพ็ญภาวนา คือการที่ว่าได้ทำจิตใจของตัวเองให้ดี ให้อยู่ในธรรมะ ให้อยู่ในบุญในกุศล ให้เป็นจิตใจที่มีความสงบโน้มน้อมไปในความดีในคุณธรรม ในความมีเมตตา ในศรัทธา จิตใจก็เป็นจิตใจที่ดีงาม เรียกว่าพัฒนาจิตใจ นั่นคือการเจริญภาวนา นอกจากนั้นแล้วก็จะได้ฟังธรรมะ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริงยิ่งขึ้น เป็นส่วนของการเจริญปัญญา เรียกว่าปัญญาภาวนา รวมทั้งเจริญจิตใจหรือพัฒนาจิตใจ และเจริญปัญญาหรือพัฒนาปัญญา ก็เป็นส่วนที่เรียกว่าภาวนา ฉะนั้น อันนี้เป็นส่วนที่ตัวเองจะได้
เมื่อมาทำบุญอุทิศกุศลแก่ผู้ล่วงลับ ทำแล้วท่านบอกว่าให้ได้ 5 ประการนี้ ถ้าได้ 5 ประการนี้ก็ได้ชื่อว่าได้ครบถ้วน ให้โยมใช้เป็นหลักในการสำรวจตัวเอง เวลาเรามาทำบุญอุทิศกุศลแก่ใคร ก็พยายามให้ได้ทั้ง 5 ประการ คิดว่าวันนี้โยมญาติมิตรทุกท่านคงได้บำเพ็ญกุศลนี้ตามวัตถุประสงค์ 5 ประการนี้
[10:54] ทำบุญอุทิศผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์พฤษภา ๒๕๓๕
ดังที่อาตมาภาพได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า โยมมาทำบุญวันนี้ ระลึกถึงผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะทางกรรมการวัดระลึกถึงเหตุการณ์พฤษภาคมที่ประเทศไทย ที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น มีการเสียชีวิตเกิดขึ้น เนื่องจากการเรียกร้องประชาธิปไตย โยมญาติมิตรนึกถึงท่านเหล่านี้ในฐานะที่ว่า การเสียชีวิตของท่านเหล่านี้ คงจะเป็นส่วนที่ช่วยให้ประชาธิปไตยในประเทศไทยเจริญก้าวหน้าไปอีก คือวัตถุประสงค์ในเหตุการณ์ครั้งนี้ที่มีการชุมนุมก็ต้องการเรียกร้องประชาธิปไตย เราไม่ได้มีเจตนาว่าจะให้มีการเสียชีวิต แต่ว่าเมื่อมีการเสียชีวิตแล้ว ก็ควรจะคิดให้หนักยิ่งขึ้น จะทำอย่างไร เหตุการณ์ที่เป็นเรื่องสำคัญยิ่งใหญ่ถึงขนาดมีการเสียชีวิตนี้จะไม่ให้เป็นของว่างเปล่า เลื่อนลอย แต่ว่าให้เป็นสิ่งที่มีค่ามีประโยชน์ ไม่ให้ท่านที่เสียชีวิตไปแล้ว เสียชีวิตเปล่า การเสียชีวิตของท่านจะไม่เป็นของว่างเปล่าก็ต่อเมื่อคนที่อยู่ข้างหลังยังมีชีวิตอยู่ ได้สืบต่อสิ่งที่ดีงามที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยต่อไป ทำอย่างไรจะเกิดประชาธิปไตย ที่เป็นวัตถุประสงค์ที่แท้จริง
[12:28] ๑. ประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่รูปร่างแต่ต้องมีเนื้อใน
ประชาธิปไตยที่เรานึกถึงกันนั้น โดยมากจะนึกถึงในเรื่องของรูปแบบ รูปแบบที่เป็นรูปธรรม ที่เป็นระบบ เรานึกถึงว่า จะต้องมีรัฐสภา จะต้องมีคณะรัฐมนตรี มีศาล อะไรต่าง ๆ ที่เรียกว่าอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ต้องมีจำนวนผู้แทนเท่านั้นเท่านี้ อะไรต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องรูปธรรม รูปแบบนี่คิดกันมาก แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ที่ไม่ควรจะมองข้าม คือสิ่งที่เรียกว่าเป็นสาระธรรม สาระธรรมของประชาธิปไตย ซึ่งเป็นตัวนามธรรม สิ่งนี้เป็นตัวเนื้อเป็นตัวแก่น ถ้าหากว่าไม่มีเนื้อหาไม่มีแก่นสารอยู่แล้ว รูปแบบนั้นก็จะไม่มีความหมาย เพราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องการประชาธิปไตยก็จะต้องคิดพิจารณาให้ลึกซึ้งลงไปถึงเรื่องของเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยด้วย ไม่ใช่เราจะนึกถึงแต่รูปแบบ พอวนเวียนอยู่ในรูปแบบแล้ว ประชาธิปไตยก็คงจะเจริญก้าวหน้าไปด้วยดีไม่ได้ จริงอยู่ รูปแบบก็มีความสำคัญ สิ่งทั้งหลายต้องอาศัยรูปแบบเป็นเครื่องห่อหุ้ม เนื้อมะม่วงต้องมีเปลือกมะม่วง ถ้าไม่มีเปลือกมะม่วง เนื้อมะม่วงก็ไม่อยู่ให้เรารับประทาน หรือน้ำ ถ้าไม่มีแก้ว ถ้วย เราก็รับประทานได้ยาก จะเอามือวักก็ได้นิดหน่อย หรือจะเอาปากไปดื่มเลยก็ยิ่งยุ่งยากลำบากมาก ต้องอาศัยแก้ว อาศัยขวดบรรจุน้ำ น้ำจะได้อยู่ในสภาพที่บริบูรณ์ แล้วใช้ได้เต็มตามวัตถุประสงค์ เพราะฉะนั้น เปลือกหรือเครื่องห่อหุ้มก็มีความสำคัญ แต่ในเวลาเดียวกันถ้ามีแต่เปลือก ไม่มีเนื้อ ก็ไม่มีประโยชน์ มีแต่แก้วไม่มีน้ำ แหม ชื่นชมว่าเรามีแก้ว เสร็จแล้วไม่มีน้ำจะดื่ม ก็ไม่ได้ความ หรือว่ามีแต่เปลือกมะม่วง ไม่มีเนื้อมะม่วงก็แย่เลย ไม่รู้จะเอาไว้ทำอะไร เพราะฉะนั้น เนื้อหากับเปลือก หรือว่าสาระกับรูปแบบนี่จะต้องคู่กัน จะมีแต่อย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่สำเร็จความประสงค์ได้เต็มที่ แต่ตัวที่เราประสงค์แท้จริงคือเนื้อหา ไม่ใช่รูปแบบ รูปแบบเป็นสิ่งที่คงไว้ รักษาไว้ซึ่งเนื้อหา ฉะนั้น ในเรื่องประชาธิปไตยก็เหมือนกัน มีทั้งเรื่องรูปแบบและเนื้อหาสาระ แต่สิ่งที่เราได้พิจารณามองเห็นกันมากก็เป็นเรื่องของรูปแบบ ซึ่งเราถือว่าสำคัญเหมือนกัน แต่ทำอย่างไรเราจะให้รูปแบบนี้คงไว้ซึ่งเนื้อหาด้วย ให้เนื้อหามีอยู่ในรูปแบบ นี่คือเรื่องสำคัญที่จะต้องคิดกันให้หนัก ฉะนั้น การพัฒนาประชาธิปไตย จะมองเฉพาะรูปแบบไม่เพียงพอ เนื้อหาสาระเป็นเรื่องสำคัญมาก
[15:38] ถ้ามีเสรีภาพ แต่ไม่มีดุลยภาพ ก็ไม่เป็นประชาธิปไตย
การปกครองแบบประชาธิปไตยก็มีเนื้อหาสาระของมัน เนื้อหามีหลายอย่างหลายประการ หลักการอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยคือ แต่ก่อนนี้เรามีการปกครองชนิดที่ว่ามีคนหนึ่งมีอำนาจเต็ม อาจจะเป็นพระมหากษัตริย์ เราเรียกพระราชา มีอำนาจปกครองตัดสินลงโทษอะไรทุกอย่าง เราก็ถือว่า เรามองคล้าย ๆ กับว่าคนทั่วไปนี้ยังปกครองตัวเองไม่ได้ ต้องมีคนหนึ่งที่มีความเก่งกล้าสามารถมาช่วยปกครอง จัดการให้คนอยู่กันได้สงบเรียบร้อย ต่อมาเราเห็นว่าคนทั้งหลายนี้น่าจะปกครองกันเองได้ โดยเฉพาะในเมื่อคนมีสติปัญญาดีขึ้น มีความรู้ความเข้าใจ สามารถคิดได้ด้วยตนเอง สามารถพิจารณาเหตุผล เราก็คิดว่าจะปกครองกันเอง การที่ประชาชนปกครองกันเองก็มีหลักการอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย คนที่จะปกครองกันเองนี่ ข้อสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ควรจะเป็นคนที่ปกครองตัวเองได้ ถ้าปกครองตัวเองไม่ได้ ก็มาปกครองกันเองไม่ได้ เพราะฉะนั้น [17:00] การปกครองแบบประชาธิปไตย ก็คือการปกครองของประชาชนที่แต่ละคนปกครองตัวเองได้ ถ้าเมื่อไหร่แต่ละคนปกครองตัวเองได้ ได้ผลดีแล้ว เราก็ช่วยกันปกครองร่วมกัน เป็นการปกครองของประชาชนที่ประชาชนปกครองกันเอง นี่เป็นสิ่งสำคัญ คือเราจะต้องพัฒนาคนให้สามารถปกครองตนเองได้ ถ้าเขาไม่สามารถปกครองตนเองได้แล้ว การที่จะมาร่วมกันปกครองประเทศชาติก็เป็นไปได้ยาก จะยกตัวอย่าง
หลักของการปกครองตนเองในการปกครองแบบประชาธิปไตย เรามีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าเสรีภาพ เสรีภาพก็มีความหมายของมัน
เสรีภาพคืออะไร คนจำนวนมากมองว่าเสรีภาพคือ การทำได้ตามใจนั่นเอง หรือเสรีภาพคือการทำได้ตามชอบใจ คนจำนวนมากเข้าใจว่าอย่างนี้ แต่ว่าขอให้โยมญาติมิตรพิจารณาว่า เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องหรือเปล่า ในเมืองไทยนี้คิดว่าคนไม่น้อยเลยเข้าใจว่าเสรีภาพคือการทำได้ตามชอบใจ ถ้าหากว่าคิดแค่นี้แล้วจะปกครองตนเองได้ไหม ถ้าคนคิดว่าเสรีภาพคือการทำได้ตามชอบใจ คิดว่าปกครองตนเองไม่ได้ เพราะอะไร ๆ ก็จะเอาอย่างใจของตัวเอง เพราะฉะนั้น ก็จะมีคำจำกัดความให้ความหมายอย่างหนึ่งของเสรีภาพ แต่ไม่ใช่ความหมายที่แท้จริง เพียงแต่จะพูดว่าเสรีภาพต้องมีขอบเขต คนที่พูดอย่างนี้บางทีก็เข้าใจเสรีภาพในความหมายว่า เป็นการทำได้ตามชอบใจ แต่ว่าทำได้ตามชอบใจแต่อยู่ในขอบเขต ก็คิดแค่นั้น ซึ่งแค่นี้ก็ยังไม่ใช่ความหมายของเสรีภาพ
เสรีภาพคืออะไร พิจารณาได้หลายชั้น เราลองมาดูเนื้อหาสาระในทางธรรมหน่อย ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะของคนที่มีเสรี บุคคลที่บรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาสูงสุดแล้ว ท่านเรียกว่าเป็นคนเสรีที่แท้ ถ้ายังไม่บรรลุธรรม ยังไม่เสรี แต่จะมีเสรีได้เป็นขั้น ๆ เอาละ อย่างที่บอกเมื่อกี้ เสรีที่ต่ำที่สุด ก็คือเสรีภาพของคนที่เข้าใจว่าทำได้ตามชอบใจ ต่อมาสูงขึ้นอีกหน่อยก็คือคนที่บอกว่าทำได้ตามชอบใจ แต่ต้องมีขอบเขต แสดงว่ามีกรอบขึ้นมาหน่อย ต่อมาความหมายที่สูงขึ้น เป็นสาระในทางธรรมะมากขึ้น ก็คือความหมายนี้ จะเป็นความหมายแบบดุลยภาพ คือความสมดุลเกิดขึ้น อันหนึ่งก็คือจะต้องมองว่าตัวเองนี่มีเสรีภาพโดยสัมพันธ์กับเสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งก็ใกล้กับเสรีภาพในกรอบ หรือในขอบเขต ที่ว่าเสรีภาพของตนเองสัมพันธ์กับเสรีภาพของผู้อื่น ก็คือการไม่ล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น หรือยอมรับสิทธิของผู้อื่น อย่างนี้จะเป็นการมองแบบง่าย ๆ แต่อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ ความมีเสรีภาพนั้นคือความพร้อมที่จะยอมให้โอกาสแก่ผู้อื่นด้วย นี่คือสำคัญ คนที่จะปกครองตนเองได้ จะต้องมีคุณสมบัตินี้ เมื่อเราจะมีเสรีภาพนั้น เราต้องพร้อมที่จะให้โอกาสแก่คนอื่นด้วย มิฉะนั้นแล้วเสรีภาพจะมีความหมายเป็นของฉันแต่ผู้เดียว คนอื่นก็จะมีเสรีภาพไม่ได้ ฉะนั้นสิ่งที่คู่กันเขาเรียกว่าดุลยภาพ เป็นสิ่งที่คานกันอยู่ ก็คือว่า เสรีภาพมีการยอมให้โอกาสแก่ผู้อื่นด้วย อันนี้ก็ได้ดุลยภาพขึ้นมา แต่ความหมายก็ยังไม่เต็มอยู่นั่น ว่ากันเป็นขั้น ๆ ลึกลงไปอีก
[21:09] มีเสรีภาพในประชาธิปไตย เพื่อให้ศักยภาพอำนวยผล
เสรีภาพก็มีความหมายแยกเป็นสองด้าน เสรีภาพที่แยกเป็น 2 ด้านคือ เสรีภาพนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อจะได้อย่างหนึ่ง กับเพื่อจะให้อย่างหนึ่ง ทั้งการได้และการให้ เป็นความหมายของเสรีภาพ
โดยมากคนจะมองในแง่ได้ แต่ว่าไม่มองเสรีภาพในการให้ ไม่มองว่าคนเรามีเสรีภาพในการให้ด้วย เรามองเสรีภาพแต่จะเอาจะได้ เสรีภาพที่มองเป็นสองด้านที่ว่าเสรีภาพในการได้กับการให้นี้เป็นอย่างไร พูดถึงการได้ก่อน เพราะคนเราต้องชอบที่ได้ เรื่องให้นี่เอาไว้ทีหลัง ที่ได้เป็นอย่างไร ก็คือว่าเรามีโอกาส การที่มีเสรีภาพคือการที่เรามีโอกาสจะเข้าถึงผลประโยชน์ที่ตนจะพึงได้จากระบบการปกครองแบบนี้ ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ มีประโยชน์อะไรที่เราพึงได้ เราอยู่ในสังคมนี้ เราก็ควรจะเข้าถึงประโยชน์นั้นด้วย ไม่ใช่ว่าถูกกดไว้ ถูกบีบ ปิดกั้นคนอื่นเขา หรือบางคน หรือคนสองคนเท่านั้นในสังคมนี้ที่เข้าถึงประโยชน์นั้นได้ แต่คนอื่นเข้าถึงไม่ได้ อย่างนี้คนพวกนี้ก็เรียกว่าเราไม่มีเสรีภาพ
การที่มีเสรีภาพคือ แต่ละคนมีโอกาสที่จะเข้าถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในสังคมนั้นร่วมกัน เอาละ เรามีโอกาสนี้เรียกว่าโอกาสที่จะเสวยผล เป็นเรื่องของการได้ ทีนี้โอกาสที่จะให้ ก็ต้องดูเสรีด้วย โอกาสที่จะให้ก็เป็นสิ่งสำคัญ เป็นเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย เป็นส่วนของเหตุ เสรีภาพในการได้นี่เป็นส่วนผล ก่อนที่เราจะได้ผล เราต้องทำเหตุก่อน ถ้าไม่มีเสรีภาพในการให้ เสรีภาพในการได้ก็จะเป็นไปได้ยาก เพราะเสรีภาพในการได้นี่เป็นระดับผล ก่อนจะได้ผลต้องทำเหตุ ต้องมีเสรีภาพในการให้ ซึ่งเป็นด้านเหตุก่อน
เสรีภาพในด้านเหตุที่เป็นการให้นี้เป็นอย่างไร ก็คือการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการปกครองที่พยายามจะเข้ามาเอาศักยภาพของมนุษย์แต่ละคนออกไปใช้เป็นส่วนรวมที่เป็นประโยชน์แก่สังคม การที่เรามีเสรีภาพคือการที่ว่าเราสามารถเอาศักยภาพของเราให้สังคมของเรา ไปเป็นส่วนร่วมที่เป็นประโยชน์ คนนี้มีความสามารถ คนนี้มีสติปัญญา แต่ไม่มีเสรีภาพเลยไม่สามารถพูด ไม่สามารถแสดงออก ไม่สามารถให้ความคิดเห็น ไม่สามารถเอาสติปัญญาของตนไปช่วยสังคมได้
การปกครองที่ไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีเสรีภาพ จะมีลักษณะปิดกั้นสติปัญญาของมนุษย์ ทำให้ความสามารถที่แต่ละคนมีอยู่ไม่เป็นประโยชน์แก่สังคมเท่าที่ควร พอมีเสรีภาพเข้า ด้วยความสามารถ สติปัญญาที่แต่ละคนมี มีโอกาสที่จะออกไปร่วมกับสังคม ออกไปเป็นประโยชน์แก่สังคม ฉะนั้นการปกครองประชาธิปไตยสำคัญอยู่ตรงนี้มาก เป็นส่วนเหตุเลย ถ้าไม่ได้ส่วนนี้แล้ว เราจะไปชื่นชมเรื่องผลที่ได้ เป็นไปได้ยาก มันไม่มั่นคงยั่งยืน แล้วก็ต้องมองเสรีภาพในส่วนเหตุนี้ให้หนัก ว่าทำอย่างไรจะให้ศักยภาพที่มีอยู่ของแต่ละคนไปเป็นประโยชน์แก่สังคม นี่คือลักษณะของการให้
เสรีภาพส่วนนี้แหละที่คนมักจะมองข้าม การปกครองประชาธิปไตย เนื้อหาสาระสำคัญมีเรื่องนี้มาก เสรีภาพส่วนนี้คือสังคมที่ดีพัฒนาดีแล้ว ในประชาธิปไตยนี่เขาจะพยายามมาเอาศักยภาพของแต่ละคนออกมาใช้ประโยชน์ให้สังคมได้เต็มที่ เรามีเท่าไหร่เราก็ทำประโยชน์ให้สังคมได้เท่านั้น ถ้าได้อย่างนี้เมื่อไหร่ละก็ สังคมประชาธิปไตยจะพัฒนาจะก้าวหน้า นี่แหละเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
เพราะฉะนั้น เรามองเสรีภาพกัน มักจะมองแค่ความหมาย หนึ่ง ก็คือเรื่องรูปแบบการแสดงออกการทำได้ตามชอบใจ แล้วก็สอง มองในแง่ของการที่จะเอาผลเท่านั้น ไม่ได้นึกถึงการที่ทำเหตุขึ้นมา อันนี้ก็เป็นความหมายอีกระดับหนึ่ง
[25:42] มีเสรีภาพทั้งภายนอกภายใน ประชาธิปไตยจึงจะสมบูรณ์
ต่อไปอีกระดับหนึ่ง ยังมีเสรีภาพอีกระดับหนึ่ง เสรีภาพอีกระดับหนึ่งก็คือการที่คนเราจะมีเสรีภาพแท้จริงภายนอกได้ เราจะต้องมีเสรีภาพภายในด้วย คือจิตใจจะต้องเสรี
เสรีก็คือเป็นอิสระจากการครอบงำของอำนาจ ที่จะมาชักจูงเราให้ผิดไปจากธรรมะ อำนาจที่จะมาครอบงำจิตใจให้หันเหเขวออกไปจากธรรมะ ก็คือกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือ ตัณหา มานะ ทิฐิ ถ้าให้พวกนี้เข้ามาครอบงำจิตใจแล้ว ทำให้เราไม่อยู่ในธรรมะ เราเขวออกจากธรรมะ พอเราเขวออกจากธรรมะ จิตใจเขวออกไปแล้ว การแสดงออกมาภายนอกก็เขวหมด จะทำการเพื่อประโยชน์ส่วนตัวคือความโลภ ทำการด้วยความเกลียดชังเคียดแค้นเขา จะทำลายเขา ก็เป็นโทสะ ทำการด้วยความลุ่มหลงมัวเมาเป็นโมหะ เมื่อเสรีภาพถูกกิเลสเหล่านี้ครอบงำ ก็เป็นการทำตามความชอบใจอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ทำเพื่อผลประโยชน์ตัว ทำด้วยความเคียดแค้นจะทำลายเขา ทำด้วยความลุ่มหลง แล้วเสรีภาพก็จะเสียทันที จะเกิดผลร้าย เพราะที่แท้จริงนั้น ในใจของเขาไม่มีเสรีภาพ ใจของเขาเป็นทาส เป็นทาสของกิเลส ก่อนที่คนจะแสดงออกมา พูดออกมาว่าฉันจะทำตามเสรีภาพของฉัน เขาไม่รู้ตัวว่าที่จริงในใจของเขาเป็นทาสแล้ว
ฉะนั้น ข้อสำคัญที่สุด ในใจจะต้องมีเสรีภาพ คือเสรีภาพจากกิเลส ไม่ตกอยู่ในอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ จะใช้ปัญญาต้องใช้ด้วยความเที่ยงธรรม ด้วยความสุจริตใจจริง ๆ ซึ่งความสุจริตใจในการใช้ปัญญาเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าใจถูกครอบงำด้วยกิเลส ถ้าคนมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ ใช้ปัญญาคิดการ ก็คิดแค่จะเอาประโยชน์ให้แก่ตน ไปทำลายเขาบ้าง คิดด้วยความลุ่มหลงมัวเมาบ้าง แล้วผลดีจะเกิดขึ้นกับสังคมได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องมีเสรีภาพภายในด้วย เสรีภาพระดับนี้ไม่ค่อยมีคนคิดถึง มีแต่บอกว่า ฉันคิดว่าอย่างนี้ต้องทำให้ได้ มีเสรีภาพ แต่ไม่ได้ถามตัวเองว่า ใจของตัวมีเสรีภาพหรือยัง เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะมีเสรีภาพภายนอกได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องมีเสรีภาพทางจิตใจก่อน เป็นขั้นสุดท้าย เพราะฉะนั้น ในทางธรรมจึงถือว่าคนที่จะมีเสรีอย่างแท้จริงคือคนที่บรรลุธรรม อย่างพระอรหันต์ไม่ได้ทำอะไรเพื่อตนเองเลย ไม่ได้ทำอะไรเพื่อผลประโยชน์แก่ตน ไม่ได้ทำอะไรด้วยความเคียดแค้นชิงชัง ไม่ได้ทำอะไรด้วยความลุ่มหลงมัวเมา เพราะฉะนั้น การแสดงออกของท่านในภายนอกจึงเป็นเสรีภาพที่แท้จริง
เสรีทั้งใน เสรีทั้งนอก นี่แหละเป็นความหมายของเสรีภาพ ซึ่งมีหลายชั้น เพราะฉะนั้น เราจะมามองความหมายของเสรีภาพแค่ทำตามชอบใจ หรือเรียกว่าเป็นขั้นที่ จะเรียกว่าอย่างไร มันมีความหมาย มีสติปัญญาน้อยที่สุด คล้าย ๆ อย่างนั้น คือไม่ได้เรื่องเลย เพราะฉะนั้น จะต้องมองกันให้หลายชั้น จนกระทั่งถึงเสรีภาพของจิตใจ อย่างที่ว่า พ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลส แล้วเราจะได้เสรีภาพที่แท้จริง เสรีภาพในตอนนี้ก็จะเกี่ยวถึงว่า พอเราพ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลสแล้ว ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ เข้ามาครอบงำแล้ว ปัญญาเราจะบริสุทธิ์ผ่องใส
[29:44] เสรีภาพที่เป็นฐานของปัญญา คือธงนำหน้าของประชาธิปไตย
ฉะนั้น คนที่อยู่ในสังคมประชาธิปไตย คนที่จะปกครองตนเองได้ ปกครองกันเองได้ จะต้องใช้ปัญญากันให้มาก จะต้องใช้การคิดพิจารณาเหตุผล สิ่งที่จะทำนั้นจะต้องเกิดจากปัญญา แล้วก็รู้เข้าใจข้อมูลของเรื่องราวได้ชัดเจน รู้เข้าใจเหตุเข้าใจผลในเรื่องนั้น ๆ รู้เข้าใจเหตุปัจจัยว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นมาอย่างไร มีเหตุปัจจัยมาอย่างไร สืบสาวให้ได้ต้นตออย่างถูกต้อง ก็จะต้องมีการใช้ปัญญาอย่างจริงจัง
การใช้ปัญญาอย่างจริงจังจึงเป็นสาระของประชาธิปไตย เมื่อเราพ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลส เราก็สามารถใช้ปัญญาได้บริสุทธิ์และเต็มที่ด้วย แล้วเราก็เอาปัญญามาใช้ในการที่จะปกครองกันเอง ในการที่จะจัดสรรอะไรต่าง ๆ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ฉะนั้น คนที่จะปกครองตนเองได้ก็หมุนกลับมาสู่ปัญญานี่เอง [30:49] คนที่ปกครองตนเองได้คือคนที่ต้องมีปัญญา ปัญญาที่มีเสรีภาพ ที่ไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลส ถ้ามีเพียงความหมายแค่นี้ มีประชาธิปไตยก็ไปได้แล้ว ในส่วนอื่นเป็นส่วนประกอบ คนที่มีปัญญาอย่างนี้ มีเสรีภาพอย่างนี้ รู้จักปกครองตนเองได้อย่างนี้แล้ว จะมาจัดสรรรูปแบบประชาธิปไตยอะไรต่าง ๆ ก็จัดสรรรูปแบบที่เที่ยงธรรม เป็นรูปแบบที่ดี เป็นรูปแบบที่เลือกสรรแล้ว ด้วยความเข้าใจเหตุ เข้าใจผล จัดปรับให้เหมาะกับตัวเองอย่างดี มิฉะนั้น ก็จะได้แต่รูปแบบกันอยู่ แล้ววุ่นวายทุ่มเถียงกันอยู่กับรูปแบบเรื่อยไป เพราะฉะนั้น เราจะต้องสร้างสาระของประชาธิปไตยนี้ให้ได้ เพราะว่าผลที่สุดแล้วก็เป็นการปกครองด้วยปัญญา ปัญญาที่สำคัญก็คือปัญญาที่รู้ธรรม รู้ธรรมะคืออะไร รู้ความจริง รู้ความถูกต้อง รู้ความดีงาม นั่นเอง เป็นตัวปัญญาที่เป็นสิ่งแท้จริง แล้วการที่จะสร้างประชาธิปไตย หรือพัฒนาประชาธิปไตยได้ จะต้องมีการกระทำอย่างจริงจัง ซึ่งหมายถึงการใช้ปัญญาอย่างจริงจัง ยั่งยืน
การที่ทำจริงจังไม่ได้หมายความว่ารุนแรง คำว่าจริงจังไม่ได้หมายความว่ารุนแรง แต่ความจริงจังหมายถึงความที่มีใจแน่วแน่ที่จะทำสิ่งนี้ด้วยความอดทน ไม่ใช่ทำผลีผลามไปชั่ววูบ แล้วผ่านไป ฉะนั้น อาตมาจึงบอกว่า เพื่อจะให้คนที่สิ้นชีวิตไปไม่สิ้นไปเปล่า คนที่อยู่ข้างหลังจะต้องมีจิตสำนึกในประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง ที่จะมีความจริงจัง ไม่ใช่ว่าตื่นขึ้นไปกับเหตุการณ์ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แล้วล้มเลิกไป ต้องมีการกระทำที่เรียกว่าระยะยาว ที่ทำด้วยความอดทน ตั้งใจทำจริง ซึ่งความตั้งใจทำจริงนี้ ที่แท้จริงคือการใช้ปัญญาอย่างจริงจัง
มาคิดกันพิจารณาเหตุผลให้ถ่องแท้ว่า อะไรกันแน่เป็นเหตุเป็นผลในสังคมของเรา เราจะจัดการอย่างไร เราจึงจะวางรูปแบบที่เหมาะสมกับสังคมของเราขึ้นได้ คิดกันโดยใช้ปัญญาอย่างจริงจัง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สถาปนากันมาได้ในชั่ววันเดียววันพรุ่งจึงเสร็จ ไม่ใช่อย่างนั้น สถาปนาประชาธิปไตย ต้องทำถึงระยะยาว ฉะนั้น ความคิดที่จะทำอะไรที่เป็นเรื่องระยะยาว เป็นสิ่งที่สำคัญมาก นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่นำขึ้นมาเสนอเพื่อให้เห็นว่า โดยแท้จริงแล้ว เราจะต้องพัฒนาประชาธิปไตยให้ครบถ้วน ทั้งรูปแบบและเนื้อหาสาระ ในส่วนหลักการใหญ่ ๆ อาตมาก็ขอพูดเป็นตัวอย่างเพียงเท่านี้
[33:43] สาราณียธรรมเป็นเครื่องผูกพันคนให้มีความสามัคคี
ทีนี้จะพูดหลักธรรมบางประการเป็นตัวประกอบ ที่พูดไปแล้วนั้นเป็นหลักใหญ่ ๆ แต่หลักธรรมสำหรับสังคมประชาธิปไตยยังมีอีกหลายอย่าง ยกตัวอย่างหลักธรรมอย่างหนึ่ง ก็คือการที่สังคมประชาธิปไตยต้องมีเครื่องผูกพันคนให้มีความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจกัน อย่างคนที่จะเอาศักยภาพของตนมาร่วมสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตยได้ คนนั้นก็ควรจะมีความสามัคคีร่วมมือกัน การร่วมมือกันก็มีลักษณะการแสดงออกต่าง ๆ อย่างหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้บทหนึ่ง เรียกว่า สาราณียธรรม แปลว่าธรรมะสำหรับเป็นเครื่องระลึกถึงกัน ธรรมะสำหรับเป็นเครื่องระลึกถึงกัน ซึ่งทำให้เกิดความพร้อมเพรียงและความเป็นเอกภาพ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จะต้องมีเป็นพื้นฐาน
แล้วคนเราจะใช้ปัญญาโดยที่ว่ามีเมตตาเข้าประกอบ ถ้ามีเมตตา ไม่มีปัญญา ก็อาจจะมีความลำเอียง เช่นว่า เรามีเมตตาต่อใครคนหนึ่ง แล้วเราไม่ใช้ปัญญา เราลำเอียงเข้าข้างคนนั้นเต็มที่ พอมีปัญญาเรารู้จักพิจารณาเหตุผล เราก็ไม่ลำเอียง แต่ถ้ามีปัญญาแล้วไม่มีเมตตา เราอาจจะใช้ปัญญาโดยที่ว่าไม่คำนึงถึงใคร ไม่เห็นใคร ไม่มีความรักเพื่อนมนุษย์ แล้วทำให้เราคิดทำโดยไม่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูล หรือไม่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ได้
ฉะนั้นจะต้องมีประกอบกัน 2 อย่าง ปัญญากับเมตตา ลักษณะของสังคมที่จะอยู่ร่วมกันได้ดี เป็นสังคมที่มีเมตตา ท่านบอกเป็นสาราณียธรรมไว้
ประการที่หนึ่ง ท่านบอกว่าจะทำอะไรก็ทำต่อกันด้วยเมตตา หมายความว่า ทำด้วยความรักความปรารถนาดีแก่กัน มีการช่วยเหลือ มีการร่วมมือ มีการพร้อมประสานงานกัน นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เกิดความผูกพัน ให้สังคมนี้อยู่ร่วมกันได้ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว
แล้วประการที่สอง จะพูดอะไรก็พูดด้วยเมตตา คำพูดด้วยเมตตานั้นในเวลาที่เราใช้เหตุผล เราจะใช้ปัญญาโดยไม่มีโทสะมาทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งกัน คือพูดด้วยความหวังดี ฉะนั้น เวลามีเหตุการณ์อะไรต่าง ๆ ก็หันหน้าเข้ามาพูดจาปรับความเข้าใจกันได้ ถ้าคนไม่มีเมตตาต่อกันแล้ว พอมีปัญหาขึ้นมาก็ชวนให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งและความขัดแย้ง แล้วผลที่สุดก็นำไปสู่ความรุนแรง นำไปสู่ปัญหา เพราะฉะนั้น ต้องพูดด้วยความปรารถนาดีต่อกัน ว่าที่เราพูดนี่ เราเห็นแก่กัน เราหวังประโยชน์สุขแก่กัน เราจึงพูด แต่ว่าอาจจะเห็นว่า ที่ท่านทำนั้นทำไม่ถูก แม้ท่านจะทำไม่ถูก แต่ข้าพเจ้าก็ยังมีความรักท่านอยู่ ปรารถนาดีต่อท่าน ปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคม ฉะนั้น เราพูดด้วยความปรารถนาดี ถ้าอย่างนี้ก็มีทางที่จะให้แก้ปัญหาได้ แต่ถ้าพูดแล้ว พูดไม่มีเมตตา ก็มีแต่ทะเลาะเบาะแว้ง แล้วมนุษย์แต่ละคนนี้ พอถึงขั้นหนึ่งก็มีแต่ปัญหาเรื่องศักดิ์ศรีบ้าง เรื่องของมานะบ้าง อะไรต่าง ๆ ก็ยิ่งรุนแรงขึ้น รุนแรงขึ้น ก็ยอมกันไม่ได้ ยิ่งในสังคมไทยเรามีลักษณะที่เราเรียกว่า ความถือตัว ยอมกันยาก ปัญหาก็ยิ่งรุนแรง ดังนั้นจะแก้ปัญหาได้ต้องมีเมตตา ต้องมีความปรารถนาดีต่อกัน พูดอะไรก็พูดต่อกันด้วยเมตตา แต่ไม่ใช่ว่าพูดเพียงเพื่อเอาใจกันนะ ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องพูดโดยเหตุโดยผล ใช้ปัญญาพิจารณา พูดเหตุผล แต่พูดด้วยความปรารถนาดี
แล้วต่อไปประการที่สาม ท่านบอกว่าคิดอะไรก็คิดต่อกันด้วยเมตตา คือมีความหวังดีต่อกัน ปรารถนาดีต่อกัน มีจิตใจที่มีความยิ้มแย้ม เวลาพบหน้ากันก็จะยิ้มได้ อะไรอย่างนี้ จึงนำไปสู่การที่จะพูดจากันได้ดีขึ้น ก็เป็นประการที่สาม
ต่อไปประการที่สี่ คนที่เอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว ยึดมั่นยึดติดในผลประโยชน์นั้น ไม่สามารถเฉลี่ยเจือจานกันได้ ทำให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันมาก เมื่อมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในเรื่องรายได้ เรื่องทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สินสิ่งที่ครอบครอง ก็เป็นทางที่ทำให้เกิดความแตกแยก ฉะนั้น สังคมจะต้องมีความโอบอ้อมอารี เผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในสังคมของพระ ท่านจะถือเป็นหลักสำคัญ เรียกว่าสาธารณโภคี แปลว่ามีกินมีใช้ร่วมกัน มีอะไรต่ออะไรก็เอามาแบ่งกันกินใช้อย่างนี้ สิ่งนี้สำคัญ ถ้าหากว่าสังคมเราจะถือหลักพระพุทธศาสนาข้อนี้แล้วจะช่วยได้มาก คือเราจะไม่หวงแหนไว้เฉพาะผู้เดียว มีพุทธภาษิตบทหนึ่งท่านบอก เนกาสี ลภเต สุขํ กินคนเดียวไม่ได้ความสุข บางคนอาจจะบอกว่ามีความสุข แต่ว่ามันไม่สุขจริง มีความรู้สึกคับแคบในตัว ถ้าเราได้แบ่งกัน และได้รู้สึกว่ามีความสุขจากการที่ได้เห็นคนอื่นมีความสุขด้วย คือในพุทธศาสนา ท่านบอกว่าคนเรานี้มีจิตใจพัฒนาขึ้นตามลำดับ คนที่ยังไม่พัฒนาเลยจะมีความสุขจากการได้อย่างเดียว ต้องได้ ต้องเอา ใช่ไหม ถ้าฉันได้ฉันเอา ฉันกินฉันใช้คนเดียว ฉันก็มีความสุข ถ้าให้คนอื่นไปแล้วมันไม่มีความสุขเลย มันเบียดเบียนจิตใจ ไม่สบายเลย เสียดาย อย่างน้อยก็มีความเสียดาย ไม่มีความสุข แต่ถ้าหากคนเราพัฒนาตัวเองขึ้นไป ท่านบอกว่าเราจะรู้จักความสุขเพิ่มขึ้น จะมีความสุขอีกแบบหนึ่งเกิดขึ้น ซึ่งเป็นความสุขที่เกิดจากการให้ คนที่มีคุณธรรมในจิตใจเท่านั้นจึงจะมีความสุขแบบนี้เกิดขึ้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือ พ่อแม่ พ่อแม่ให้แก่ลูกได้ ให้แล้วมีความสุข ใช่หรือเปล่า เอ๊ะ ธรรมดาคนเราต้องได้จึงจะมีความสุข ทำไมให้จึงมีความสุขได้ ทำไมพ่อแม่ให้แก่ลูกแล้วตัวเองมีความสุข ทั้ง ๆ ที่ของนี่ ฉันก็อยากจะกินนะ ฉันก็ชอบ แต่ลูกขอ ให้ลูกแล้ว ยินดีให้เลย ให้ไปแล้ว เห็นลูกกินเราก็มีความสุขด้วย ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ตอบได้ว่าเพราะในใจพ่อแม่มีเมตตา ในใจของแม่มีเมตตามีความรัก พอในใจมีเมตตามีความรักแล้ว แม้ให้แก่เขาเราก็ได้ความสุข พ่อแม่มีเมตตากับลูก ให้กับลูก ก็มีความสุข ถ้าเพื่อนมีเมตตารักเพื่อนล่ะ ให้แก่เพื่อนก็มีความสุข
ถ้าเราแผ่เมตตาขยายกว้างออกไป รักเพื่อนมนุษย์ รักเพื่อนร่วมโลก เราให้แก่ใคร เราก็มีความสุขได้ทั้งนั้น การที่เราเห็นเขามีความสุข เราก็มีความสุข ให้ความสุขก็ได้ความสุข เมื่อจิตใจพัฒนาแล้ว มีเมตตา ฉะนั้น ในพุทธภาษิต ในคำสวดของพระท่านจะเตือนญาติโยมอยู่เสมอ แต่เราแปลไม่ออก เวลาพระสวดอนุโมทนา ที่บทหนึ่งบอกว่า สุขัสสะ ทาตา เมธาวี สุขัง โส อะธิคัจฉะติ บอกคนมีปัญญา ให้เขาไป ให้ความสุขก็ได้ความสุข คนมีปัญญาให้ความสุขก็ได้ความสุข ในเมื่อเรามีธรรมะ เราให้ เราก็ได้ความสุข ที่เราให้ของเขาไปนี่คือเราให้ความสุขแก่เขา เสร็จแล้วเราก็ได้ความสุขด้วย ฉะนั้น คนที่พัฒนาจิตใจของตัวเองมีคุณธรรมความดี จะได้ความสุขเพิ่มขึ้นมาพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือความสุขจากการให้ หมายความว่ามนุษย์ที่ยังไม่พัฒนาก็มีความสุขจากการได้อย่างเดียว พอเราพัฒนาจิตใจของเราแล้ว เราก็มีความสุขจากการให้ด้วย นี่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ฉะนั้น เป็นลักษณะของความก้าวหน้า
ความสุขจากการให้เป็นความสุขที่ปลอดโปร่ง กว้างขวาง เป็นความสุขที่ประณีต เป็นความสุขอีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่เกิดความสุขเพียงแต่การได้ ฉะนั้น สำหรับมนุษย์ปุถุชน ท่านก็ให้ฝึกตัวเองให้มีความสุขจากการให้ด้วย ให้เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง เป็นการแสดงลักษณะของจิตใจที่พัฒนา อย่างน้อยก็มีจิตใจที่มีเมตตาแบบพ่อแม่ แบบเพื่อนฝูงที่มีความปรารถนาดีต่อกันขยายออกไป อันนี้ก็อยู่ในเรื่องของการที่ว่ามีอะไรต่ออะไรก็รู้จักแบ่งกันกินใช้ อย่างน้อยก็เติมคำว่าบ้าง หมายถึงว่าไม่ใช่ทั้งหมดนะ ถ้ามีอะไรก็แบ่งกันกินแบ่งกันใช้หมด ถ้าอย่างนั้นเราก็ต้องเป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันท่านบอกไว้อย่างนั้นเลย ลักษณะของพระโสดาบันคือไม่มีการหวงแหนอะไรทั้งสิ้น ลักษณะอย่างหนึ่งที่กำหนดจิตใจของพระโสดาบันคือไม่มีมัจฉริยะ ไม่มีความตระหนี่ ไม่มีความหวงแหน มีอะไรที่ถ้าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น พร้อมที่จะให้ได้ ส่วนสำหรับปุถุชนนั้น เราจะพูดว่ามีอะไรก็แบ่งกันกินแบ่งกันใช้หมดเห็นจะไม่ไหว ฉะนั้น ก็บอกว่า มีอะไรก็แบ่งกันกินแบ่งกันใช้บ้าง เอาแค่นี้ก่อน ก็ยังดี ก็ได้ลักษณะข้อที่สี่
ต่อไปข้อที่ห้า ท่านบอกว่าต้องมี สีลสามัญญตา มีศีลเสมอกัน มีความประพฤติดี มีความประพฤติกายวาจาสุจริตเสมอกัน หมายความว่าเราอยู่ร่วมสังคมนี้เราก็มีศีล คือไม่เบียดเบียน ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม ถ้าคนในสังคมนี้มีความประพฤติไม่สม่ำเสมอกัน อย่างน้อยว่าไปด้วยกันไม่ได้ ที่ว่าคนพวกหนึ่งจะเอาแต่เบียดเบียน ไปทำร้ายคนอื่น แย่งชิงสมบัติเขา อย่างนี้สังคมประชาธิปไตยอยู่ไม่เป็นสุข ก็ไม่ยั่งยืน อย่างน้อยต้องมีศีลเบื้องต้นกันก่อน มีศีลเสมอกัน แล้วตั้งอยู่ในระเบียบวินัย มีกฎเกณฑ์อะไร กติกาอะไร ก็ต้องรู้จักรักษา ความมีระเบียบวินัยเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในสังคมประชาธิปไตย ในเมืองไทยเรา อาตมาภาพว่าก็ยังเป็นปัญหามาก เรื่องความมีระเบียบวินัย คือถ้าไม่มีระเบียบวินัยแล้ว การสถาปนาและพัฒนาประชาธิปไตยจะทำได้ยาก กฎเกณฑ์กติการะเบียบวินัยของสังคม เราไม่รักษากันเลย แล้วจะไปอยู่กันได้อย่างไรล่ะ สังคมที่ดีต้องมีกติกา แล้วคนในสังคมต้องรักษากติกา เพราะฉะนั้น ท่านก็เลยถือความมีระเบียบวินัยเป็นหลักข้อที่ห้า
แล้วต่อไปก็ข้อที่หก ทิฐิสามัญญาตา ทิฐิ มีความเห็นมีความยึดถือในหลักการอุดมคติที่ไปกันได้ ฉะนั้น คนในสังคมประชาธิปไตย หรืออย่างน้อยก็ต้องมีการเห็นในหลักการของประชาธิปไตยร่วมกัน ต้องมีความรู้ความเข้าใจเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย อย่างที่อาตมาภาพกล่าวเมื่อกี้ อย่างน้อยต้องเข้าใจเรื่องเสรีภาพ ความหมายคืออะไร ถ้าไม่มีความเข้าใจร่วมกัน มีความเข้าใจผิดพลาด มันก็ยุ่ง แค่ว่าเข้าใจว่าเสรีภาพเป็นการทำตามชอบใจอย่างนี้แค่นี้ก็ยุ่งแล้วใช่ไหม เจริญพร จนกระทั่งในเมืองไทยเรามีคำพูดบอกว่า ทำได้ตามใจคือไทยแท้ ทำนองนี้ ไทยแท้ต้องทำได้ตามใจ ฉะนั้น เห็นจะต้องปรับใหม่ ว่าอย่างไร ไม่ใช่ทำได้ตามชอบใจคือไทยแท้ ตามใจคือไทยแท้ ต้องเป็นใจที่มีเสรีภาพ ใช่ไหม ถ้าทำได้ตามชอบใจที่มีเสรีภาพ ในนั้นมีเสรีภาพ อาตมาว่าไม่เป็นปัญหา นั่นคือไทยแท้ ไทยแท้ก็คือคนที่มีเสรี ไท แปลว่าเป็นผู้ที่เป็นอิสระ คือคนที่มีเสรีภาพที่แท้จริง คนที่มีเสรีภาพที่แท้จริงคือคนที่มีจิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลส ฉะนั้น ที่บอกว่าทำได้ตามใจคือไทยแท้ ถูก แต่ต้องพูดในความหมายใหม่ คือหมายความว่าทำได้ตามใจที่มีเสรี ทำได้ตามใจที่มีเสรีแล้วก็จะเป็นไทยแท้ ๆ ตกลงว่าข้อสุดท้ายนี้เป็นเรื่องสำคัญ คลุมได้หมดว่าจะต้องมีทิฐิ คือความเข้าใจ หลักความเชื่อถือ หลักการที่ยึดมั่นในเรื่องประชาธิปไตยสอดคล้องไปกันได้ ถ้าอย่างนี้แล้ว ประชาธิปไตยก็ไปไหว
หลัก 6 ประการนี้ พระท่านเรียกว่า สาราณียธรรม พระพุทธเจ้าสอนพระสงฆ์ก่อน เพราะพระสงฆ์จะต้องอยู่กันด้วยหลัก 6 ประการนี้ ถ้าอยู่ด้วยหลัก 6 ประการนี้แล้ว แต่ละคนก็ระลึกถึงกัน ไปไหน ๆ ก็ระลึกถึงกัน เพราะว่าทางกายเรามีเมตตาต่อกัน ปฏิบัติต่อกันด้วยเมตตา ช่วยเหลือเผื่อแผ่กัน แล้วทางวาจาเราพูดกันด้วยน้ำใจรักกัน ในจิตใจเราคิดดีปรารถนาดีต่อกัน มีของอะไรเราก็มากินใช้กันได้ แบ่งปันกัน เรารักษาระเบียบวินัย มีศีลเสมอกัน ไม่เบียดเบียนก่อความเดือดร้อนแก่กัน มีความเข้าใจหลักการอะไรต่าง ๆ ร่วมกัน แค่นี้อยู่เป็นสุขแล้ว แต่ละคนมีการระลึกถึงกัน มีน้ำใจต่อกัน สังคมก็ยึดเหนี่ยวกันให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า เอกีภาพ
[48:21] สถาปนาสาระของประชาธิปไตย
วันนี้อาตมาภาพเอาหลักเรื่องประชาธิปไตยมาพูด เพราะว่าโยมตั้งใจทำบุญอุทิศกุศลแก่ท่านที่ได้เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่เรียกร้องประชาธิปไตย ที่พูดอย่างนี้ก็เพื่อให้ท่านที่เสียชีวิตไปแล้วนั้น ไม่เสียชีวิตเปล่า เพราะเราจะสถาปนาประชาธิปไตยได้ เราต้องสถาปนาสาระของประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นด้วย อย่างที่บอกแต่ต้นแล้ว รูปแบบก็สำคัญ แต่ว่าอย่าเอาแต่รูปแบบอย่างเดียว ถ้าไม่มีเนื้อหาสาระแล้วก็หมดความหมาย ฉะนั้น เราก็ต้องเตือนกันว่าจะต้องทำสิ่งที่มีผลระยะยาว การสร้างเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยด้วย แล้วเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยที่ว่านี้ก็คือธรรมะนั่นเอง ไม่หนีไปไหนเลย เรื่องของประชาธิปไตยนั้น ในที่สุดก็หนีธรรมะไม่พ้น ก็เอาธรรมะไป เอาธรรมะไปแล้ว เพื่อให้ตรงกับเรื่องราว เลือกให้ตรงเรื่องราว แล้วก็นำไปใช้สร้างสรรค์ประชาธิปไตยให้สำเร็จผล เราก็จะมีครบบริบูรณ์ทั้งรูปแบบหรือระบบ แล้วก็เนื้อหาสาระธรรมด้วย ก็จะเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ก็ขอตั้งความหวังไว้ว่า สังคมไทยเราจะได้พัฒนาประชาธิปไตยในความหมายที่แท้จริง ตามที่อาตมาภาพได้ยกตัวอย่างมากล่าวนี้ แล้วขออนุโมทนาน้ำใจโยมญาติมิตรทุกท่านที่ได้ระลึกถึงท่านผู้ล่วงลับ เสียชีวิตไป เป็นการระลึกถึงท่านผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์พฤษภาคมก็ตาม แล้วท่านที่ระลึกถึงเพื่อนคุณสมถวิล ตู้จินดา ก็ตาม ก็เป็นน้ำใจประกอบด้วยธรรมะทั้งสิ้น เมื่อน้ำใจประกอบด้วยธรรมะแล้ว ก็เป็นบุญเป็นกุศลอยู่ในตัว ขอให้บุญกุศลนี้ไปประกอบเข้ากับคุณพระรัตนตรัย เป็นอานุภาพที่จะช่วยอภิบาลรักษาให้โยมญาติมิตรทุกท่านได้มีความเจริญมั่นคง มีความก้าวหน้า ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต และการประกอบกิจอาชีพการงาน ระตะนัตตะยานุภาเวนะ ระตะนัตตะยะเตชะสา ขออานุภาพคุณพระรัตนตรัยคุ้มครองรักษาให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นเป็นสุขในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่วกันทุกท่าน ตลอดกาลนานเทอญ
[50:56] ผู้ฟังถาม : หาวิธีไหนที่จะเอาชนะกิเลสในใจ ???
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เจริญพร มีโยมถามเรื่องว่า กิเลสหรือตัวมารเกิดขึ้นในจิตใจ ทำอย่างไรจึงเอาชนะได้ วิธีเอาชนะมีหลายอย่าง วิธีหนึ่งก็คือเอาตัวปฏิปักษ์ของมันเข้ามาแทน ใช้วิธีเรียกว่าวิธีทดแทน อีกวิธีหนึ่งคือใช้ปัญญาพิจารณา ให้เข้าใจผลดีผลเสีย คุณโทษอะไรของมัน แล้วละไปเลย สำหรับคนทั่วไปนั้น บางทีต้องใช้วิธีแรกก่อน คือวิธีเอาตัวปฏิปักษ์ของมันมาใส่ใจแทน เช่นว่า เกิดความโกรธขึ้นมาก็เอาเมตตามาแทน ทีนี้ว่าเอามาใส่ได้อย่างไร บางทีก็เอามาใส่เฉย ๆ ไม่ได้ กำลังโกรธอยู่ เอาเมตตามาใส่ ยากจริง ๆ นะ เจริญพร ก็เลยต้องมีวิธีพิจารณา วิธีพิจารณาตอนนี้ท่านเรียกว่าเป็นมนสิการ วิธีมนสิการมีหลายอย่าง เช่น เวลาเราโกรธใคร เราจะนึกอย่างไรดี ท่านก็สอนวิธีพิจารณาไว้ถึงประมาณ 10 วิธี นี่แม้แต่วิธีแก้ความโกรธอย่างเดียว จะเอาเมตตามาใส่ต้องมีวิธีพิจารณาต่าง ๆ เช่นว่าเป็นคนที่อยู่ร่วมกันก็กระทบกระทั่งกันบ้าง แล้วบางทีเขาก็มีกิริยาอาการต่าง ๆ ซึ่งเป็นลักษณะประจำตัวของเขา ซึ่งไม่ถูกใจเรา เอาอย่างนี้ก็ต้องกระทบกันอยู่เรื่อย แล้วทำอย่างไร มันก็ยาก ต้องพิจารณาว่า เช่น พิจารณาบอกว่า เรามองในแง่ความดีของเขา ว่าเขามีความดีนั้น ๆ อยู่ เพราะฉะนั้น แม้เขาจะมีส่วนเสียนี้บ้าง ก็ให้อภัยเขาเถิด เพราะเขามีส่วนนั้น ๆ นึกถึงความดีของเขา ก็ทำให้เราระงับความโกรธได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็บรรเทาเบาบาง นี่เป็นตัวอย่าง หรือว่าพิจารณาในแง่กรรม เขาทำไม่ดีก็เป็นกรรมของเขา เราขืนไปโกรธเขาตอบ เราก็สร้างกรรมใหม่ ไม่ดีกับตัวเอง เราทำกรรมไม่ดีขึ้นมาอีก เกิดโทษแก่ตัวเอง อย่างนี้เป็นต้น พิจารณาในแง่ของกรรมก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง มีหลายวิธี หรือวิธีที่บอกว่าเขาโกรธอยู่แล้ว ถ้าเขาไม่ได้โกรธก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทีนี้ถ้าเราโกรธ ความโกรธนี่เป็นตัวประทุษร้ายตัวเอง ใครโกรธนี่ทำให้จิตใจเดือดร้อน ขุ่นมัว เศร้าหมอง เพราะเราไปโกรธก็คือเราทำร้ายตัวเอง เพราะฉะนั้น เราอย่าไปทำร้ายตัวเองเลย เราก็ไม่โกรธ นึกถึงผลประโยชน์ของตัวเอง เอามาเป็นข้อพิจารณาแล้วก็ไม่โกรธ พอโกรธปั๊บก็จะนึกว่า เอ๊ะ นี่เรากำลังทำร้ายตัวเองแล้ว ไม่ได้ความแล้ว ต้องหยุด ก็เป็นการได้สติอย่างหนึ่ง นี่เป็นวิธีคิดแบบต่าง ๆ ของท่าน เสนอแนะไว้ประมาณ 10 วิธีด้วยกัน อาตมายกมาเป็นตัวอย่าง นี่ก็เป็นเรื่องของวิธีการซึ่งไม่ตายตัว หมายความว่าในการแก้กิเลสในใจนี่ ต้องแล้วแต่ว่ากิเลสชนิดไหน แล้วก็มีวิธีพิจารณาที่จะมาแก้กิเลสชนิดนั้น หรืออย่างน้อย ทำกรรมฐานเลยในตอนนั้น ใช่ไหม มีอารมณ์อะไรอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมา ซึ่งเป็นความโลภ ความโกรธ ก็ตาม เราจะไม่สบายใจ เรารีบกำหนดกรรมฐาน การกำหนดกรรมฐาน จะเป็น อานาปานสติ ก็ได้ หรือจะเป็นการกำหนดสติแบบว่าการเคลื่อนไหวอะไรก็ได้ เช่นว่าเรากำลังเกิดความโกรธขึ้นมา แล้วเราคิดถึงใคร จิตเราปรุงแต่งแล้ว เราออกเดินซะ แต่ไม่ได้เดินแบบเสือติดจั่น เดินโดยกำหนดมีสติ เอาสติอย่างที่ว่า เอาสติไปกำหนดอยู่ที่ส้นเท้าที่เรากำลังเดิน ย่างหนอ ย่างหนอ ก็เดินไป กำหนดย่างหนอ ๆ ความโกรธหายไปเลย หรือความคิดที่ไม่ดีนั้นก็หายไป หรือกำลังรับประทานอาหารอยู่ เกิดความโกรธหรือคิดอะไรขึ้นมาที่เป็นอันตรายต่อจิตใจ เราก็ไปทำกรรมฐานขณะนั้น ในการรับประทานอาหาร เช่นว่าถือช้อนอยู่ เราเคลื่อนไหวช้อนไปหาชาม ตักข้าว ตักกับอะไรต่าง ๆ ยกมาใส่ปาก ให้สติกำหนดอยู่กับการเคลื่อนไหวเหล่านั้นเสีย เราจะพูดในใจกำกับไปด้วยก็ได้ ว่ายกหนอ ยื่นหนอ ลงหนอ ตักหนอ มาหนอ ใส่ปากหนอ เคี้ยวหนอ อยู่อย่างนี้ ความโกรธความอะไรหายเลย นี่เป็นการเอาอารมณ์มาแทน แล้วได้ผลจริง ๆ สติ ใช้แค่สติเท่านั้น หยุด หาย ที่จริงวิธีนี้ได้ผลชะงัดมากเลย เจริญพร เพราะในขณะนั้น จิตของเราจะไม่สามารถคิดโกรธอะไรได้เลย มันจะหายไปทันที ไม่มีเหลือเลย เรากำลังทำอะไรอยู่ก็ตาม เราเอาสติกำหนดการกระทำนั้น เข้าไปแทนที่ปั๊บ ความคิดปรุงแต่งนั้นหายทันที เพราะคนจะคิดฟุ้งซ่านในเวลาที่ทำอะไรที่ใช้เวลานาน ๆ เช่น รับประทานอาหาร บางคนตอนรับประทานอาหารจะคิดมาก กำลังมีเรื่องราวกับใคร ตอนรับประทานอาหารก็เอามาคิด ใช่ไหม เจริญพร บางทีก็เป็นอย่างนั้น คิดโกรธ คิดอะไร ถ้าทำอย่างนี้ก็จะหยุด หายไปเลย หรือถ้าบางคนมีเวลา พอว่างหน่อยก็มานั่ง ๆ คิดแล้ว ก็ยุ่ง ฉะนั้น เอาตัวนี้ อารมณ์นี้มาใส่ เป็นสติมาแทน พอเอาสติมากำหนดปั๊บ สิ่งนั้นก็หายหมด
ผู้ฟังถาม : เรื่องโลภะ กับโมหะ ก็เหมือนกัน แบบเดียวกันใช่ไหม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็ใช้แทนได้เลย ถ้าเอาสติไปกำหนดตรงอย่างนี้แทน มันก็หายไป
[58:09] ผู้ฟังถาม : อยากจะกราบเรียนถามพระคุณเจ้าว่า การที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ??? โดยทั่วไปก็แปลกันว่า สิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ??? แล้วก็มีผู้รู้กล่าวว่าสิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงต้อง???เป็นธรรมดา แปลคำว่า นิโรธ นั้น เป็นการดับ ???
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อ๋อ คือท่านมีความหมายว่า ถ้าสิ่งใดเกิดขึ้นหรือเริ่มต้นก็ต้องมีสิ้นสุดเป็นธรรมดา ทีนี้ไม่เกิดขึ้น นั่นหมายถึงว่าเราต้องทำเหตุ เช่นว่าการดับทุกข์ เป็นคำแปลของคำว่านิโรธ นิโรธมีความหมายที่เราแปลกันทั่วไปว่า ดับ ทีนี้ความหมายอย่างหนึ่งก็คือ การที่มันไม่เกิดขึ้น เช่นว่าเมื่อเราแก้เหตุของทุกข์แล้ว ทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้นอีก อย่างนั้นก็ถือว่าเป็นนิโรธเหมือนกัน
ผู้ฟังถาม : ???ประการแรกจะทำให้เห็นว่าเรานั้นมีทุกข์ แล้วเรามีทุกข์อยู่ก่อนแล้ว ทุกข์มันเกิดตลอด เวลา ดูจะให้เรามองเห็นว่า เราจะแก้ไขทุกข์ไม่ได้ แต่ถ้าเราเห็นว่าทุกข์นั้นเพิ่งเกิด ??? เราจะมีช่องทางแก้ไข
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : นั่นแหละ ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ หมายความว่าเป็นการแปลคำว่านิโรธ คือนิโรธในภาษาบาลี ความหมายกว้างกว่าภาษาไทย เวลาเราแปลเป็นภาษาไทย เราไม่รู้จะใช้คำอะไรแทน เราก็แปลว่า ดับ ทีนี้คำว่า ดับ ทำให้เข้าใจเขวได้หน่อย คือ ดับ แสดงว่าต้องเกิดขึ้นแล้วจึงดับ ใช่ไหม ??? แปลว่า ดับ ก็ได้ แต่ว่าต้องเข้าใจความหมายให้คลุมที่ว่านี้ คือว่าเอาภาษาเป็นเพียงสื่อ ส่วนความเข้าใจนั้น เราต้องทำความหมายให้คลุม หมายความว่าไม่ติดแค่ตัวอักษร ต้องอธิบายก่อน แล้วเราก็ทำความเข้าใจ คล้าย ๆ เป็น definition เฉพาะไป หมายความว่าคำต่าง ๆ มากมาย จะเข้าใจเพียงตามตัวอักษรไม่พอ ต้องมี definition ด้วย อันนี้ก็เหมือนกัน คือคำว่าดับในที่นี้หมายความว่าไม่เกิดด้วย เพราะเวลาที่บอกว่าทุกข์ดับนั้น บางทีเป็นการทำให้มันไม่เกิดขึ้นเลย ใช่ไหม ทำให้ไม่เกิดขึ้น ก็เรียกว่า ดับ เหมือนกัน เพราะคำว่า เกิดขึ้นแล้วดับไป หรือคำว่า ดับ เฉย ๆ เวลาพูดว่าดับแสดงต้องเกิดมาก่อน แล้วจึงดับ มันทำให้เกิดความรู้สึกมองแง่เดียวว่า ต้องเกิดขึ้นก่อนแล้วดับ แล้วดับทุกข์ก็แสดงว่าทุกข์เราต้องมีอยู่แล้ว แล้วจะดับไป ทีนี้ทำอย่างไรไม่ให้ทุกข์เกิด สำคัญ ใช่ไหม เจริญพร ทำให้ทุกข์ดับ