แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระเดชพระคุณที่เคารพอย่างสูง วันนี้ก็พวกเราก็ได้มีโอกาสนะคะ ได้ฟังธรรมะในหัวข้อเรื่องหลักพุทธจริยธรรมเพื่อการปฏิบัติธรรม ซึ่งความจริงการปฏิบัติธรรมเป็นการปฏิบัติใจตามหลักของพุทธศาสนา ในวิชานี้เป็นพื้นฐานการศึกษาพุทธศาสนาและจริยธรรม ก็ได้ไปปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา คือได้พิจารณาทั้งศีล สมาธิและปัญญา เมื่อปีก่อนนั้นเราได้ไปปฏิบัติสมาธิที่วัดป่า ใน จ.หนองคาย หินหมากเป้ง??? ก่อนจะไปเราก็พิจารณาว่า ทำอย่างไรจะได้ทั้งปฏิบัติและปริยัติ จึงได้กราบเรียนนมัสการพระคุณเจ้าว่าอยากจะขอหลักธรรมที่เป็นประโยชน์ เป็นพื้นฐานของลูกศิษย์ที่จะไปสอน มิใช่เฉพาะหลักสูตรเท่านั้น อยากจะสอนนักเรียนของเราให้ปฏิบัติใจเป็น เพราะฉะนั้นในวันนี้ก็เป็นโอกาสอันดี ซึ่งท่านได้มาให้วิทยาทาน และในขณะเดียวกันยังให้วิทยาทานอย่างอื่น คือค่าสอนในวันนี้ท่านขอบริจาคให้กับลูกศิษย์ให้ซื้อหนังสือ ก็ขอกราบพระคุณในที่นี้ และขออาราธนาพระคุณเจ้า
ขอเจริญพรท่านอาจารย์เจ้าของวิชา ท่านอาจารย์ที่ได้มาร่วมฟังในรายการนี้ นิสิตทุกท่าน พร้อมด้วยท่านผู้ที่สนใจใฝ่ธรรมที่ได้มาร่วมในรายการ วันนี้ตามกำหนดนั้นว่ามาพบกับกลุ่มเล็กๆ ว่ามีนิสิตอยู่ ๙ คน แต่ว่ามีผู้ที่มาร่วมหลายท่านก็เลยกลายเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น แต่ถึงจะเป็นกลุ่มใหญ่ๆ แต่ว่าเราก็มาพูดกันแบบสบายๆ อาตมาก็คิดว่าจะมาพูดเรื่องเบาๆ หรือว่าถ้ามันจะหนักบ้างก็ไม่ให้หนักนัก คือหนักขนาดเบา แล้วก็อาจจะเป็นเรื่องซ้ำๆ ไปบ้าง เพราะว่าโน้มใจไปจะพูดเรื่องเป็นข้อสังเกตต่างๆ ข้อสังเกตต่างๆ อาจเป็นเรื่องซ้ำซากไปบ้าง เอาเรื่องเก่าๆ มาพูดกันใหม่ แต่ว่าก็เป็นการประมวล แม้จะเป็นการซ้ำ ก็ถือว่ามาทบทวนข้อที่น่ารู้บางอย่าง
ทีนี้หัวข้อเรื่องที่ตั้งไว้ก็น่าพิจารณาก่อนแล้ว บอกว่าหลักพุทธธรรมเพื่อการปฏิบัติธรรม จุดที่น่าสนใจคือหลักปฏิบัติธรรมหรือการปฏิบัติธรรมนี่แหละ คือคำว่าการปฏิบัติธรรมนี่ ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อาตมาว่าความหมายค่อนข้างจะถูกจำกัดคับแคบลงมาก แล้วก็บางครั้งก็ทำให้เกิดความเข้าใจที่อาจจะไม่สู้ตรงกับความจริง หรือว่าแม้จะตรงก็ไม่เท่ากับความจริง ไม่พอดีกับความจริง อย่างที่บอกตอนต้นว่าออกจะคับแคบไป เราเข้าใจความหมายของการปฏิบัติธรรมอย่างไร เวลานี้เวลาพูดถึงปฏิบัติธรรมนี่ หลายท่านนึกถึงการไปนั่งทำสมาธิ การที่ปลีกตัวออกไปจากสังคมไปอยู่ในที่สงบเงียบ แล้วก็บำเพ็ญเพียรทางจิตใจ ฝึกฝนที่เรียกว่าจิตตภาวนา คำว่าปฏิบัติธรรม ปัจจุบันมักจะใช้ในความหมายแคบๆ อย่างนี้ นี้ก็เลยเป็นเรื่องที่เราควรจะมาพูดกันทำความเข้าใจตั้งแต่ต้น เพื่อให้มีความแจ่มชัดเกี่ยวกับเรื่องถ้อยคำ คำว่าปฏิบัติธรรมนั้น หมายความว่าอย่างไร
ปฏิบัติธรรมก็คือเอามาใช้ทำ เอามาใช้ทำงาน อย่างเช่นลงมือเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริงนั่นเอง เมื่อปฏิบัติธรรมเราก็หมายถึงเอาธรรมะมาใช้ในชีวิตจริง หรือเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิต ถ้าหากว่ามันยังไม่เกิดประโยชน์กับชีวิต เอามาใช้เราก็ไม่เรียกเป็นการปฏิบัติ แต่ว่าถึงคำว่าปฏิบัติเองนี่ เดิมนั้นมันแปลว่า เดินทาง มาจากภาษาบาลี ของเดิมนี่มันจะมีคำคล้ายๆ กัน อยู่คำหนึ่ง คำว่า ปฏิปทา ปฏิปทาแปลว่าอะไร ปฏิปทาเราจะเห็นได้ในคำว่า มัชฌิมา ปฏิปทา แล้วเราก็แปล มัชฌิมา ปฏิปทา ว่า ทางสายกลาง มัชฌิมา แปลว่า สายกลาง ปฏิปทา ก็แปลว่า ทาง ทางนั้นคืออะไร ทางนั้นคือ ที่ที่จะเดิน คำว่าปฏิปทา คือที่ที่จะเดิน คำว่า ปฏิปทา กับคำว่า ปฏิบัติ เป็นคำเดียวกัน รากศัพท์อันเดียวกัน ถ้าเป็นกิริยาเขาเรียกว่า ..ปะ ติ ปัก ชัด ติ.. ในภาษาบาลีจะมีคำว่า..มัช ทัง ปะ ติ ปัก ชัด ติ... แปลว่าเดินทาง เพราะฉะนั้น ..ปะ ติ ปัก ชัด ติ.. มาเป็นปฏิบัติ หรือว่าเป็นปฏิปทา ก็ตามก็แปลว่า การเดินทาง หรือแปลว่าทางที่เดิน ถ้าเป็นการเดินทางนิยมใช้ในรูปปฏิปตฺติ หรือว่าไทยใช้ ปฏิบัติ ถ้าใช้ทางที่เดินก็เป็น ปฏิปทา
เพราะฉะนั้นเราเอาความหมายของสิ่งที่เป็นรูปธรรมนั่นเองมาใช้ แล้วเรามาใช้ประยุกต์ใหม่ในทางนามธรรม ทีนี้เดินทางนี้เป็นเดินในทางภายนอก เดินทางที่เป็นวัตถุ เอาเท้าเดิน หรือแม้จะมีรถแล้วเอารถวิ่งไป เป็นการเดินทาง ทีนี้ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ชีวิตมันก็เป็นการเดินชนิดหนึ่ง คือการดำเนิน เราเปลี่ยนจากการเดินเป็นดำเนิน ที่จริงเดินกับดำเนินมันก็ศัพท์เดียวกันนั่นแหละ เดินก็แผลงมาเป็นดำเนิน แล้วเราก็มีการดำเนินชีวิต ในการดำเนินชีวิตนั้นก็เหมือนกับว่า เราเอาชีวิตนี้ไปเดินทาง หรือว่าการเป็นอยู่ของเรานั้นเปรียบเสมือนทาง ถ้าหากว่าเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ก็เรียกว่าเดินทางชีวิตถูกต้อง เราก็เรียกว่าดำเนินชีวิตได้ดี ถ้าหากว่าเดินทางชีวิตไม่ถูกต้อง ก็เรียกว่าดำเนินชีวิตที่ผิด
ทีนี้ในเมื่อปฏิปทาหรือปฏิบัติ แปลว่าการเดินทาง หรือทางที่เดิน เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมก็คือ การเอาธรรมะมาใช้ในการเดินทางชีวิต หรือมาดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง มาช่วยในการเดินทางชีวิต เพื่อให้การดำเนินชีวิตมันถูกต้อง หมายความว่า ถ้าเราไม่เอาธรรมะมาใช้ การเดินทางชีวิตของเราอาจจะผิด อาจจะเขว อาจจะพลาด อาจจะหลง อาจจะไปในทางที่ทำให้เกิดความเสื่อม ความพินาศ แทนที่จะเป็นทางแห่งความสุข ความเจริญ เราก็เลยเอาธรรมะมาช่วย เอาธรรมะมาปฏิบัติ ก็คือเอาธรรมะมาใช้ช่วยให้การเดินทางชีวิตนี้มันถูกต้อง เกิดประโยชน์ขึ้น
เป็นอันว่าพูดง่ายๆ การปฏิบัติธรรม คือการเอาธรรมะมาใช้นั่นเอง ใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตของเรา มันก็เลย เป็นเรื่องกว้างๆ ไม่เฉพาะการที่จะไปปลีกตัวออกจากสังคม ไปอยู่ที่วัด หรือไปอยู่ที่ป่าแล้วก็ไปนั่งบำเพ็ญสมาธิอะไรอย่างนั้น ไม่ใช่แค่นั้นหรอก อันนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เป็นการที่ว่าพยามนำเอาธรรมะมาใช้ในขั้นลึก ในการที่จะมาฝึกฝนจิตใจอย่างจริงๆ จังๆ จะเรียกว่าเป็นภาษาสมัยใหม่ เรียกว่าการปลีกตัวไปปฏิบัติแบบนั้นเป็นการปฏิบัติแบบ Intensive ก็ได้
จริงๆ แล้วการปฏิบัติต้องมีตลอดเวลา เรานั่งกันอยู่ในที่นี้ ก็ต้องมีการปฏิบัติธรรม แล้วเอาธรรมะมาใช้ หรือปฏิบัติสิ่งนั้นทำสิ่งนั้นอย่างถูกต้อง มันก็เป็นการปฏิบัติธรรม ทำงานของตน ถ้าตนมีหน้าที่ศึกษาเล่าเรียน ก็ศึกษาเล่าเรียนอย่างถูกต้อง มีความขยันหมั่นเพียร ตั้งใจเล่าเรียน เล่าเรียนให้ได้ผล มันก็เป็นการปฏิบัติธรรม หรือว่าเล่าเรียนโดยมีอิทธิบาท ๔ มีฉันทะ ความพอใจรักในการเรียนนั้น มีวิริยะมีความเพียรใจสู้ และก็มีจิตตะ ความเอาใจใส่ รับผิดชอบ มีวิมังสา การตรวจตรา ไตร่ตรองตรวจสอบ ทดสอบ ทดลองให้ได้ผลดียิ่งดีขึ้นไป อย่างนี้ หรือในการทำงานก็เหมือนกัน ทำจนมีอิทธิบาท ๔ เอาอิทธิบาท ๔ มาใช้ในการทำงานนั้น มันก็เป็นการปฏิบัติธรรม
แม้แต่ออกไปในท้องถนน ไปขับรถ ขับรถโดยรักษากฎจราจร ขับให้ดี แล้วก็มีความสุภาพ หรือลึกขึ้นไป แม้กระทั่งว่าทำให้จิตใจสบาย ไม่เครียด มีความผ่องใสสบายใจ ในเวลาที่ขับรถนั้นได้ อันนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมในระดับต่างๆ ก็แล้วแต่ว่าใครจะสามารถเอาธรรมะมาใช้ในการดำเนินชีวิต หรือในการทำกิจหน้าที่นั้นๆ ให้ได้ผลแค่ไหน เพียงไร ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมที่แท้จริงนั้น มันมีตลอดเวลา อย่างนั่งฟังปาฐกถานี่ ก็ต้องปฏิบัติธรรม ท่านก็บอกว่าฟังธรรมตามกาล เป็นมงคลอันอุดมในมงคล ๓๘ ก็มีแล้ว บอกว่า กาเลน ธมฺมสฺสวนํ นี่ก็เป็นธรรมะข้อหนึ่ง การฟังธรรมโดยกาล ตั้งใจฟัง ฟังเป็น ใช้ความคิดพิจารณา แล้วก็ไตร่ตรองสิ่งที่รับฟังนั้นให้เกิดปัญญาขึ้น มันเป็นการปฏิบัติธรรมทั้งนั้น เป็นอันว่าเรื่องปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องที่กว้างมาก การเอาธรรมะมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับชีวิต หรือการทำกิจทำงานนั้นให้ถูกต้องนั่นเอง เป็นการปฏิบัติธรรม
ทำทุกเรื่องทุกอย่างให้ถูกต้องให้ดี ให้เกิดผลเป็นประโยชน์ แต่ว่าเราใช้ในความหมายแคบๆ ก็คือว่า การปฏิบัติธรรมที่มุ่งเน้น ที่จะฝึกฝนกันอย่างจริงจัง ในทางจิตใจอย่างที่อาตมาได้บอกเมื่อกี้แล้ว เป็นขั้น Intensive เราก็เลยมาเรียกเป็นว่าการปฏิบัติธรรม คือสงวนคำในความหมายนั้น หรือนิยมกันใช้ในความหมายนั้น ถ้าหากว่าจะพูดให้ถูก ก็บอกว่าปฏิบัติธรรมด้านนั้น ด้านนี้ ที่เราปลีกตัวไปทำกรรมฐาน ไปบำเพ็ญสมาธิ ก็คงจะเรียกว่าปฏิบัติธรรมด้านภาวนา อย่างนี้ได้ คือเรียกให้เต็ม หรือปฏิบัติธรรมขั้นจิตตภาวนา แต่ว่าเราพูดสั้นๆ เพื่อให้เข้าใจกันเอง เพราฉะนั้นถ้าหากว่าจะใช้คำนั้นต่อไป ต้องใช้อย่างรู้กัน คือใช้ในความหมายที่ถือว่าเข้าใจกันอยู่แล้ว คล้ายๆ left as understood??? ถือว่าเป็นคำที่รู้กันอยู่แล้ว แล้วทีนี้ นี่ก็เป็นข้อที่ ๑ ที่ควรจะทำความเข้าใจกัน
ทีนี้ต่อไปประการที่ ๒ เวลาเราเอาธรรมะมาใช้ เอามาลงมือทำนี่ มันก็จะมาเข้าคู่กับธรรมะที่ยังไม่ได้เอามาใช้ ตอนที่ยังไม่เอามาใช้ ไม่เอามาทำ ธรรมะนั้นก็จะเป็นเพียงธรรมะที่ได้ฟังมา ได้เล่าเรียนมา ธรรมะที่ยังไม่ได้ใช้ ไม่ได้ลงมือทำ ยังเป็นเพียงสิ่งที่รับฟังมา แล้วก็เล่าเรียนมา มันก็มีชื่ออีกอย่างหนึ่ง อันนี้ ตอนที่มาใช้มาทำเรียกว่า ปฏิบัติ ตอนที่ยังไม่ได้ใช้ ไม่ได้ทำ เป็นเพียงเล่าเรียนจะเรียกว่าอะไร หลายท่านก็จะบอกว่า การปฏิบัตินี้จะคู่กับการศึกษา คู่กับการศึกษาก็มีปัญหาอีกแล้ว คำว่าการศึกษานี้ในเมืองไทยมาใช้ เป็นคำคู่กับการปฏิบัติ ศึกษาหมายถึง เล่าเรียน ยังไม่ได้ทำ เข้าใจกันว่าอย่างนั้น เข้าใจว่าถ้าศึกษาแล้วก็คือยังไม่ได้ทำ เพียงเล่าเรียนมา และเสร็จแล้วปฏิบัติก็คือเอาที่ศึกษานั้นมาลงมือทำ ความเข้าใจอย่างนี้ก็ไม่ถูกต้องอีก คำว่าศึกษานั้นเดิมไม่ได้คู่กับคำว่า ปฏิบัติ อันนี้จะต้องแยกจากความหมายที่แท้จริง กับความหมายที่เข้าใจในสังคมไทยปัจจุบัน
คำว่าศึกษานั้นไม่ใช้คู่กับคำว่าปฏิบัติ คำที่มาใช้คู่กันนี่เป็นเรื่องของสังคมไทย เป็นเรื่องของภาษาไทยที่กลายหรือเพี้ยนไปเท่านั้น คำที่คู่กับปฏิบัติ เป็นเพียงความรู้ที่เล่าเรียนและรับฟังมานั้น มีศัพท์เฉพาะของมันแล้ว เรียกว่าปริยัติ คำที่คู่กับปฏิบัติ ก็คือคำว่า ปริยัติ ปริยัติ ก็เล่าเรียนมา แล้วปฏิบัติก็เอามาลงมือทำ ทีนี้ทำไมเราจึงกลายความหมายมาเป็นศึกษา เพราะว่าการศึกษาเดิมนั้นความหมายมันกว้าง มันหมายถึงการที่ว่าตั้งแต่เรียนรู้ไปจนกระทั่งลงมือฝึกหัด ลงมือปฏิบัติ ปฏิบัตินี้ ปฏิบัติในแง่ที่ ๑ ก็คือปฏิบัติเพื่อทำให้เป็น ทั้งหมดตลอดกระบวนการนั้นเราเรียกว่าการศึกษา ทีนี้การศึกษานี้ต่อมาอาจจะเป็นไปได้ว่า ได้เน้นการเล่าเรียนหนังสือ ตำรา คัมภีร์มากไป พอเน้นไปเน้นมา ความหมายของการศึกษาก็เลยแคบลง เหลือเป็นเพียงเล่าเรียน เล่าเรียนตำราไป พอเหลือเล่าเรียนตำราก็ได้แค่ปริยัติ ที่จริงคำว่าศึกษานั้นมีความหมายเท่ากับ ปริยัติและปฏิบัติรวมกัน
อาตมาเคยมาพูดในที่นี้ครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นจะไม่ขอพูดซ้ำ คือยกบาลีมาอ้างด้วยซ้ำให้เห็นว่า คำว่าศึกษาที่จริงมีความหมายคลุมตั้งแต่ปริยัติไปจนถึงปฏิบัติอย่างไร ถ้ารวมทั้งปริยัติและปฏิบัติ คือทั้งเล่าเรียนให้รู้ แล้วก็มาฝึกทำให้เป็น ตลอดกระบวนการนี้เรียกว่า ศึกษา แม้แต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ตอนที่เริ่มมีการศึกษากันใหม่ๆ การศึกษาสมัยปัจจุบันนี่ ก็ปรากฏว่าตอนนั้นก็ได้มีหลงแล้ว หลงเพี้ยนในความหมายคำว่าการศึกษา จนกระทั่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ต้องทรงเขียนชี้แจงบอกว่าการศึกษานั้น ไม่ใช่หมายถึงเล่าเรียนตำรา แต่หมายถึงการที่ ท่านใช้คำว่าสำเหนียกทำให้เป็นในอาชีพนั้นๆ ก็เรียกว่าการศึกษา แม้แต่ว่าเด็กอยู่กับบ้าน เรียนรู้ แล้วก็หัดทำ การทำไร่ไถนา การทำไร่ทำสวน อะไรต่างๆ นี่ก็เรียกว่าการศึกษาทั้งสิ้น ท่านเขียนอธิบายไว้ทำนองนี้
เพราะฉะนั้นอันนี้ก็ต้องเป็นเรื่องที่มาทำความเข้าใจอีกอันหนึ่งคือ คำว่าการศึกษานั้น ที่จริงไม่ได้คู่กับคำว่าปฏิบัติ แต่ปัจจุบันนี้เราใช้ลงตัวแล้ว เราก็เลยกลายเป็นจำเป็นต้องใช้แบบยอมๆ ตามกันไป แต่สำหรับผู้ที่ได้มารับทราบแล้ว ก็ควรมาทำความเข้าใจแล้วใช้อย่างรู้ทัน คือรู้ว่าใช้กันไปอย่างนั้นเองตามความนิยม แต่ความหมายที่แท้จริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ความหมายที่แท้จริงนั้น ปฏิบัติคู่กับปริยัติ เพราะเล่าเรียนแล้ว เป็นเพียงความรู้ เป็นธรรมะที่ฟังเขามาอย่างนั้นก็เป็นขั้นปริยัติ ถ้าหากว่าเป็นขั้นที่เอามาลงมือทำ ก็เป็นการปฏิบัติ ทั้งสองอย่างนี้ รวมกันเรียกว่าเป็นการศึกษา นี่ก็เป็นความหมายที่สองที่อยากจะมาพูดในที่นี่
ทีนี้เมื่อมีปริยัติคู่กับการปฏิบัติรวมเข้าเป็นการศึกษาแล้วนี่ เมื่อลงมือทำแล้วมันก็จะเกิดผลขึ้นมา ผลจากการศึกษา ซึ่งเป็นขั้นปฏิบัติ ผลจากศึกษาในขั้นปฏิบัติ ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า ปฏิเวธ เราต้องแยกคำว่าการศึกษาในขั้นปฏิบัติ หมายความว่าการศึกษามีสองขั้น การศึกษาขั้นปริยัติ กับการศึกษาขั้นปฏิบัติ ทีนี้พอการศึกษาขั้นปริยัติมาแล้ว ก็ต้องต่อด้วยการศึกษาขั้นปฏิบัติ พอการศึกษาขั้นปฏิบัติมาแล้ว ก็จะส่งผลสู่คือปฏิเวธ ปฏิเวธก็เป็นลำดับที่สาม คือผลจากการปฏิบัตินั่นเอง เพราะฉะนั้นในทางพุทธศาสนา ท่านจึงมีคำใช้ ๓ คำ คือเรียงลำดับกันว่า ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ถ้าใช้สองก็เหลือเป็น ศึกษา กับปฏิเวธ ในพระไตรปิฎก จะมีที่ใช้แบบว่าศึกษาคู่กับปฏิเวธไปเลย เพราะว่าศึกษานั้นรวมทั้งปริยัติ และปฏิบัติไปแล้ว อันนี้ก็มีความหมายกว้างมาถึงการใช้คำว่าการศึกษาในปัจจุบันด้วยว่า ถ้าเราจะถึงความหมายที่แท้จริงแล้ว จะต้องให้คำว่าการศึกษาคลุมไปถึงการฝึกหัด การลงมือทำ การปฏิบัติด้วย เอาละตอนนี้ก็มาถึงความหมายที่ศัพท์ที่มีความสัมพันธ์กัน ๓ คำคือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ
ปริยัติ ก็เป็นขั้นเล่าเรียน รับฟังผู้อื่นมา สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้สืบต่อกันมาในพระไตรปิฎก แล้วเราก็มีครูอาจารย์ แนะนำบอกกล่าว เอามาท่อง มาบ่นอะไรกันนี่ มาสอบสวน ทบทวนกันนี่ ส่วนทั้งหมดเรียกว่า ปริยัติ แล้วเมื่อเอามาลงมือทำก็เป็นปฏิบัติ การปฏิบัติ คืออะไร ท่านก็จะอธิบายเลย
การปฏิบัติก็คือ ตัว ศีล สมาธิ ปัญญา หรือถ้าขยาย สำหรับคฤหัสถ์นิยมใช้ ทาน ศีล ภาวนา เรามาเน้นด้านต้น ส่วนแรกที่ออกด้านภายนอกก่อน เพราะ ๓ อย่างนี้ ทาน ศีล ภาวนา นี่เราจะเห็นว่า มันเรียงลำดับจากข้างนอกไปหาข้างใน เอาอันแรกก่อน ชุดที่นิยมกันมาก ที่เรียกว่าเป็น ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วคำว่าปฏิบัติ ก็จะต้องมีความหมายครบศีล สมาธิ ปัญญา แต่ปัจจุบันเราไปเน้นที่คำว่าสมาธิซะมาก อันนี้ ศีล สมาธิ ปัญญา จะเห็นว่ามันเรียงจากข้างนอกไปหาข้างใน เพราะศีลนี้อยู่ที่ตัวของเรา อยู่ที่ตัวของเราที่มองเห็น คือตัวของเราที่แสดงออกมาภายนอก ทางกายและทางวาจา เราไปเคลื่อนไหวทางกายนี้ ก็เป็นเรื่องของศีล ประเภทที่เรียกว่าทางกาย หรือการกระทำทางกายเป็นกายกรรม ถ้าหากว่าเป็นทางด้านวาจาหรือคำพูด มันก็เป็นวจีกรรม แต่ทั้งหมดนั้นมันจะออกมาจากใจคือเจตนา แต่ว่ากำหนดศีลนั้นกำหนดที่พฤติกรรมที่ออกมาทางกาย และวาจา
ทีนี้ อันนี้มันก็อยู่ที่ตัวเรา ตัวที่ต่อกับภายนอก ต่อไปพอสมาธินี่มันลงเข้าไปข้างใน มองไม่เห็นแล้ว มาอยู่ที่ตัวข้างนอก ไม่มองเห็นที่กาย วาจา ไปอยู่ที่ตัวจิตใจ แล้วสุดท้ายก็ไปปัญญา ไปปัญญาก็เป็นขั้นที่อาศัยจิตนั่นแหละทำงาน เมื่อใช้จิตนั้นทำงานให้เกิดความรู้ความเข้าใจ สิ่งทั้งหลายก็เกิดปัญญาขึ้นมา เป็นอีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนที่มาเสริม เพื่อปรับปรุงคุณภาพของจิตใจ แล้วก็จิตใจ ที่มีความรู้ มีปัญญาก็เอาความรู้นั้น มาใช้ปรับปรุงคุณภาพชีวิตด้านกาย วาจา อีกต่อหนึ่ง อันนี้ก็เป็นเรื่องของการปฏิบัติที่ว่าอยู่ที่ตัวเรา แต่ว่าตัวเราที่ติดต่อกับภายนอกอันหนึ่ง แล้วก็ตัวเราที่อยู่ข้างในอันหนึ่ง
ทีนี้มาชุดที่สองที่อาตมาบอกว่า ที่ท่านเน้นสำหรับคฤหัสถ์ ที่เน้นสำหรับคฤหัสถ์นั้นนิยมชุดว่าทาน ศีล และภาวนา ชุดทาน ศีล ภาวนา นี่จะเห็นว่าเน้นส่วนภายนอกมากขึ้น ส่วนภายนอกคือเริ่มจากทานเลย ทานนี่ไปจับที่ของนอกตัวเลย พอศีลนี่ยังอยู่ที่ตัว พอทานนี่ของนอกตัว เราเอาสิ่งของไปให้ผู้อื่น มีการเสียสละ เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือ เผื่อแผ่กัน อันนั้นเป็นทาน ทานนั้นเป็นของนอกตัว แล้วพอมาศีลมาอยู่ที่ตัว ของนอกตัวแล้วมาอยู่ที่ตัว แล้วเสร็จแล้วพอภาวนาเข้าไปในตัว ภาวนาเข้ามาในตัวก็มาแยกเป็น ๒ ส่วนคือ ด้านจิตที่เป็นสมาธิ กับด้านปัญญา ของศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิ กับปัญญานั้นมารวมเข้าด้วยกันในคำว่า ภาวนา
คำว่าภาวนานั้นหมายถึง ทั้งภาวนา คือฝึกอบรมด้านจิต ที่เรียกว่า จิตตภาวนา แล้วก็การฝึกอบรมด้านปัญญาที่เรียกว่า ปัญญาภาวนา ภาวนาก็แบ่งเป็นสองคือ จิตตภาวนา และปัญญาภาวนา มันแยกออกไปก็คือเป็นสมาธิและปัญญานั่นเอง เพราะฉะนั้นสองชุดนี่ ที่จริงก็เข้ากันได้ แต่ว่าอันหนึ่งมาเน้นด้านภายนอก เน้นด้านหยาบ ทาน ศีล และภาวนา เอาข้างในนี้ไปยุบรวม ๒ อย่างเป็นอย่างเดียว ส่วนด้านชุด ศีล สมาธิ ปัญญา นั้น เอาชุดในคือด้านจิตใจกับปัญญานี้ ไปแยกละเอียด แต่ว่าอันขั้นศีลนั้นรวมเป็นอันเดียว เพราะว่าศีลนั้นหลักการก็คือการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดีในสังคม ทีนี้เรื่องทานก็เป็นส่วนประกอบในการที่อยู่ร่วมกันได้ดีกับผู้อื่นในสังคม ก็เลยมารวมอยู่ในคำว่า ศีล
เพราะฉะนั้นท่านได้ฟังคำว่า ทาน ศีล ภาวนา กับ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่ก็ให้ทราบอันที่จริง มันก็ระบบอันเดียวกัน แต่ว่าเราแยกเพื่อให้จุดเน้นที่ต่างกัน สำหรับคฤหัสถ์นั้นจะเน้นเรื่อง ทาน ศีล ภาวนา สำหรับพระสงฆ์จะไปเน้นคำว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วชื่อเรียกก็คล้ายๆ กัน ชุด ศีล สมาธิ ปัญญา ทุกท่านรู้จักกันดีแล้วเรียกว่าไตรสิกขา ไตรสิกขาก็ ไตรก็สาม สิกขาคือ การศึกษา การศึกษา ๓ อย่าง ทีนี้ของชุด ทาน ศีล ภาวนา นั้นเรียกชื่อว่า บุญสิกขา เรียกชื่อต่างกันนิดนึง บุญสิกขา ก็คือการฝึกในเรื่องความดีนั่นเอง บุญญ ความดี สิกขา การฝึกอบรม การฝึกฝนปฏิบัติอบรมในเรื่องความดี การทำให้คนเจริญงอกงามขึ้นในความดีต่างๆ ด้วยทาน ศีล ภาวนา ทั้งสองอย่างก็เป็นอันเดียวกัน แล้วก็ต่างกันที่จุดเน้นดังกล่าว มาแล้ว
หลังจากที่อาตมาพูดมานี้ ก็จะเห็นได้ทันทีว่า เรื่องการศึกษานั้น จุดสำคัญของมันมาปรากฏเด่นที่การปฏิบัติ เพราะว่าการศึกษานั้น ท่านให้ความหมายว่า สิกขา แล้วสิกขาคืออะไร ไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือทาน ศีล ภาวนา นั้น เพราะฉะนั้นการศึกษาอยู่ที่ไหน อยู่ที่ตัวการปฏิบัติ นี่อยู่ที่ทาน ศีล ภาวนา อยู่ที่ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเรื่องของการทำทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นการศึกษานี่ต้องเน้นที่การปฏิบัติ ไม่ใช่ความหมายที่ว่ามาเพียงเล่าเรียน ตำรับตำรา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจกันเบื้องต้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็เป็นอันว่า เมื่อรู้เท่าทันแล้ว ต่อไปเราสามารถใช้ศัพท์ตามที่นิยมกันได้ ถึงแม้จะบอกว่าใช้ปฏิบัติธรรม ก็รู้ตามเขา จะไปทำสมาธิก็เอา แต่เรารู้ว่าที่จริงนั้นความหมายมันกว้าง เอาธรรมะมาใช้ดำเนินชีวิตทั้งหมด ในการกระทำทุกอย่าง หรือว่าเมื่อพูดว่าศึกษาและปฏิบัติ เราก็ต้องรู้ว่าศึกษาอันนั้นคือการปฏิบัติอยู่แล้ว
เอาล่ะทีนี้อาตมาขอก้าวต่อไป อันนี้เป็นการทำความเข้าใจกันเบื้องต้น เพื่อปรับตัวความรู้ความเข้าใจให้เข้ากันดีก่อน นี้ต่อไปมีผู้มาถกเถียงกันเรื่องว่า ไปปฏิบัติเลย โดยไม่ต้องมีปริยัติก็ได้ บอกไปเข้าป่า ไปอยู่กับอาจารย์ ไปถึงก็ลงมือบำเพ็ญสมาธิเลย ไม่ต้องมีปริยัติ แล้วเราก็มีการติเตียนว่า ถ้าปริยัติอย่างเดียว ไม่ปฏิบัตินี้มันก็ทำให้ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา เพราะไม่มีการปฏิบัติก็ไม่มีการเกิดผลเป็น ปฏิเวธ อันนี้ก็เป็นเรื่องทำความเข้าใจ ก่อนจะทำความเข้าใจก็ต้องรู้ความสัมพันธ์ระหว่าง ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เล็กน้อย
อย่างที่กล่าวมาเบื้องต้นแล้ว ปริยัตินั้นคือการปฏิบัติเล่าเรียน สดับรับฟังผู้อื่น แม้แต่ว่าเป็นพระไตรปิฎก เป็นพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เป็นการรับฟังมาจากผู้อื่น ก็คือรับฟังจากที่พระพุทธเจ้าเอามาสอนไว้ แต่ว่าที่พระพุทธเจ้ามาสอนได้คืออะไร ก็คือประสบการณ์ที่เป็นผลจากการปฏิบัติของพระองค์ใช่หรือไม่ คือพระพุทธเจ้านี่ ไปปฏิบัติมาแล้ว แล้วก็ได้รับผล พระองค์ก็มีประสบการณ์จากการปฏิบัติและได้รับผลนั้นมา พระองค์ก็เอาประสบการณ์นั้นแหละ มาจัดเรียบเรียงขึ้นมา แล้วนำมาถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่น ความรู้จากประสบการณ์ จากการปฏิบัติของพระองค์นี้ก็กลายมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า ปริยัติ เพราะฉะนั้นปริยัติที่แท้จริงนี่ เกิดจากปฏิบัติและปฏิเวธ ถ้าหากว่าปฏิบัติ ปฏิเวธนั้น ไม่ถูก เราจะได้ปริยัติที่ผิด อันนี้จะเป็นของแน่นอน
เพราะฉะนั้นตอนนี้เราไปยอมรับปริยัตินี้ เพราะเราเชื่อในพระพุทธเจ้าใช่หรือไม่ เราไว้ใจพระพุทธเจ้านี่ ว่าปฏิบัติถูกและได้รับผลจริง เพราะฉะนั้นประสบการณ์ที่พระองค์เอามาเล่า มาเป็นปริยัติสำหรับเรา เราจึงเชื่อถือด้วย อันนี้เป็นขั้นที่หนึ่ง เพราะฉะนั้นปริยัติไม่ได้มาจากไหน มาจากประสบการณ์ของการปฏิบัติ ทีนี้ปริยัตินี้ก็จะมาช่วยเป็นเครื่องให้เราได้ปฏิบัติได้ถูกต้องต่อไป เพราะเป็นประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติมาแล้ว เหมือนกับคนที่เดินทางมาแล้ว เขาเดินทางนี้จนกระทั่งบรรลุมุ่งหมายสำเร็จแล้ว เราจะเดินทางบ้าง เราไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไม่รู้ทาง ไม่รู้ไปแล้วเป็นอย่างไร เจออะไร เราก็เดินทางปฏิบัติ ที่บอกแล้วคือเดินทาง เราเดินทางเองไม่ถูก เราไม่แน่ใจตนเอง เราก็เลยขอความรู้จากท่านที่เคยมีประสบการณ์ก่อน เราก็มาเรียนปริยัติ เหตุผลที่เราเรียนปริยัติ ก็เพื่อให้ปริยัตินั้นแหละมาช่วย คือเอาประสบการณ์ของท่านที่เคยผ่านมาแล้ว มาช่วยให้เราได้สะดวกขึ้นในการเดินทาง
ทีนี้ถ้าเราไม่อาศัยปริยัติ มันจะเป็นอย่างไร เราก็สุ่มสี่สุ่มห้า เริ่มต้นใหม่ เราก็ลองผิดลองถูก ถามว่าทำได้ ปฏิบัติท่านไม่ได้ห้ามนี่ ใครจะปฏิบัติก็ได้ แต่ว่าท่านไม่เคยเดินทางนี่ ก็รับรองไม่ได้ ท่านอาจจะตกหลุมตกบ่อ อาจจะหล่นถนนไปเสียก่อน ระหว่างทางหรืออาจจะไปทางผิด เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ออกนอกลู่นอกทางไปก็ได้ เพราะทางที่ในระหว่างมีเลี้ยว มีแยก เยอะแยะไปหมดเลย เพราะฉะนั้น ทางในการปฏิบัติก็เป็นความจริงอย่างนั้น การปฏิบัติหลักการในพระพุทธศาสนานั้น ในระหว่างทางมันมีทางลด ทางเลี้ยว ทางบ่อ ทางหลุม ทางแยก มากมาย หากว่าเราไม่มีความรู้ เราก็อาจจะไปผิดทาง ก็ขึ้นอยู่กับความฉลาดของเราด้วย ทีนี้เราก็เลยนึกว่าถ้าเราได้ประสบการณ์ของผู้ที่เคยผ่านมาแล้ว เอามาใช้ประโยชน์ได้นี่ มันจะช่วยเรา เราก็เลยเรียนปริยัติ ทีนี้ถ้าเราไม่เอาปริยัติเลยนี้ เราก็เสี่ยง เราก็เสี่ยงต่อการปฏิบัติเดินทางผิดพลาด
เพราะฉะนั้นปริยัติ บางทีท่านเปรียบก็เหมือนกับเข็มทิศบ้าง เหมือนกับแสงไฟส่องทางบ้าง ถ้าเหมือนเข็มทิศทำให้เรารู้ทิศทางไปถูก ถ้าเหมือนกับแสงไฟส่องทางหรือไฟฉายก็ทำให้เราเห็นทางที่จะเดิน ไม่ใช่เดินไปในความมืด แล้วก็ลองผิดลองถูกไป แล้วก็อีกอย่างหนึ่งเหมือนความรู้ทางภูมิศาสตร์ ความรู้ทางภูมิศาสตร์ก็ช่วยให้เรารู้ว่า เดินไปทางนี้ไปไหน แล้วในระหว่างทางที่เป็นทางที่ถูกต้องจะพบปะอะไรบ้าง ทำให้เราเตรียมตัวได้ถูกต้องทุกอย่าง นี้ถ้าหาก ว่าไม่มีปริยัติเลย ก็เสี่ยงต่อการที่จะเดินทางผิดดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ทีนี้บางทีเราไม่ได้เรียนปริยัติโดยตรงจากพระพุทธเจ้า เราก็เรียนผ่านอาจารย์ บางทีอาจารย์ไม่ได้ให้เราเรียนตำราคัมภีร์ทั้งหมดหรอก อาจารย์สอนเรานิดๆ หน่อยๆ บางทีเราไปหาอาจารย์ปุ๊บ อาจารย์บอกเลยให้ทำนั้นๆ อันนี้คืออะไร อันนี้คือปริยัติแล้ว เพียงแต่ว่าพบกันแล้วอาจารย์บอกให้เธอทำอย่างนี้ อย่างนี้นะ นี่คือ ปริยัติแล้ว
หลายท่านไม่เข้าใจนึกว่าตัวเองไม่ได้ผ่านปริยัติ ที่จริงผ่านโดยไม่รู้ตัว อาจารย์มีหน้าที่อย่างหนึ่งที่สำคัญ คือความสามารถในการคัดเลือกปริยัติที่เหมาะกับตัวผู้ปฏิบัติ แทนที่เราจะต้องไปค้นปริยัติ เรียนปริยัติทั้งเล่มห้าหกร้อยหน้า หรือเรียนพระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม สองหมื่นสองพันหน้า อาจารย์ท่านมีความชำนาญ ท่านได้เคยใช้ปริยัตินั้นในการปฏิบัติ มีประสบการณ์ของตนเองแล้ว ท่านก็เลยรู้ว่าอันไหนที่จำเป็นต้องใช้เมื่อไร ท่านก็คัดเลือกปริยัตินั้นมาให้เรา ตรงนี้เธอจะเริ่มแรก เอาตรงนี้พอ แล้วท่านก็ให้ปริยัติมาแค่นั้น
คือท่านคัดเลือกปริยัติให้เรา ลัดเวลาให้เรา ประหยัดเวลาให้เรา แล้วเสร็จแล้วพอเราก้าวไปอีกสักนิด อาจารย์ก็มาตรวจสอบเราว่าเราปฏิบัติไปได้แค่ไหน แล้วท่านก็ให้ปริยัติต่อ ก็คือคำแนะนำต่อไปให้ทำอย่างนั้น หรือได้ประสบการณ์อันนี้มันผิดพลาดนะ ให้แก้ไขอย่างนั้นๆ นี้คือปริยัติทั้งสิ้น คนที่บอกว่าปฏิบัติโดยไม่มีปริยัตินั้น หาไม่ได้ มันมีปริยัติ แต่เป็นปริยัติในรูปที่เป็นวัตถุดิบ ข้อมูลดิบเกินไป หรือเป็นปริยัติแบบที่อาจารย์ช่วยคัดเลือกมาให้
ถ้าปริยัติจะได้ผลดีนั้นก็อยู่ที่เรา นอกจากจะมีพระพุทธเจ้าให้ไว้ พระพุทธเจ้าไม่มาสอนเราโดยตรง เราไม่ได้พบพระพุทธเจ้าโดยตรง เรามาพบอาจารย์ ถ้าอาจารย์นี้เป็นผู้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติมาแล้วก็มาช่วยเราอีกขั้นหนึ่ง มันจะทุ่นเวลา เพราะฉะนั้นอาจารย์นี้ก็มีประโยชน์มาก ในทางพระพุทธศาสนา ท่านจึงเน้นว่าเวลาเราจะเริ่มปฏิบัติให้ไปพบกับอาจารย์ ถึงกับเรียกว่าเป็นกัลยาณมิตร เพราะเหตุนี้ เพราะอาจารย์จะได้ช่วยเลือกเฟ้นปริยัติให้เรา ให้มันเหมาะ จำเป็นที่จะต้องใช้ในการปฏิบัติ จำเป็นสำหรับจุดนี้ เช่นว่าตอนนี้จะตั้งต้นจะใช้ปริยัติอะไร จำเป็นสำหรับท่านนั้นท่านนี้ แล้วก็จำเป็นสำหรับบุคคลนี้ เพราะปริยัตินั้นบางทีก็เหมาะสำหรับคนนั้นคนนี้ไม่เหมือนกัน เพราะคนเราในการปฏิบัตินั้น มีความแตกต่างระหว่างบุคคล พระพุทธเจ้าสอนปริยัตินั้นไว้น่ะ พระองค์สอนคนนั้นบ้างคนนี้บ้างมากมาย พระองค์สอนให้เหมาะกับบุคคล ให้เหมาะที่จะได้ผลกับบุคคลนั้นๆ
ทีนี้เราจะเรียนปริยัติทั้งดุ้น เป็นวัตถุดิบทั้งหมด ไอ้หลายอย่างเลยมันไม่เหมาะสมกับเราเลย มันก็ไม่ค่อยได้ผล เอามาใช้ก็ใช้ไม่เป็น ปรับไม่ถูก ทีนี้อาจารย์มาเลือกเฟ้นให้เหมาะกับตัวบุคคลด้วย เพราฉะนั้นการเลือกเฟ้นปริยัตินั้นให้เหมาะสมกับขั้นตอนอย่างหนึ่ง แล้วก็ให้เหมาะสมกับตัวบุคคลอย่างหนึ่ง แล้วก็ให้เฉพาะใช้เท่าที่จำเป็นอย่างหนึ่ง นี้ก็เป็นความสัมพันธ์ระหว่างปริยัติกับปฏิบัติ เพราะฉะนั้นเราจะได้ปริยัติโดยการเลือกเฟ้นของท่านผู้ชำนาญมาให้เรา หรือเราจะไปรับปริยัติโดยตรงทั้งดุ้นก็แล้วแต่ อันนี้ก็อยู่ที่ว่าเรามีความประสงค์อย่างไร ถ้าเราไม่ไว้ใจอาจารย์ เราก็อาจะนึกว่าสติปัญญาของเราก็ดีพอสมควร เราจะเลือกเฟ้นปริยัติด้วยตนเอง เราก็อาจจะไปศึกษาตำรับตำราคัมภีร์ด้วยตนเอง แล้วก็อาจจะเอาประสบการณ์ของอาจารย์ทั้งหลายมาประกอบการพิจารณา มาเสริมความรู้ในปริยัติของเราในการปฏิบัติ ในการที่จะนำมาใช้ปฏิบัติต่อไป นี้ก็เป็นเรื่องของเรา
แต่บางคนนั้นมีการเรียนปริยัติเพื่อความมุ่งหมายอีกอย่างหนึ่ง เช่นอย่างพระอรหันต์ ท่านบอกแม้แต่พระอรหันต์นี่ซึ่งปฏิบัติเสร็จแล้ว บรรลุผล คือบรรลุปฏิเวธแล้ว หลายท่านก็ยังกลับมาเรียนปริยัติอีก เรียนเพื่ออะไร เรียนเพื่อว่าจะได้สามารถในการสั่งสอนผู้อื่น เพราะว่าประสบการณ์เฉพาะตัวนี้ มันอาจจะไม่เหมาะสมกับคนอื่นก็ได้ พระอรหันต์นั้นท่านก็แบบเดียวกับเรา บางทีท่านมาเจออาจารย์เลย อาจารย์นั้นเลือกเฟ้นปริยัติที่เหมาะกับตัวท่านเท่าที่จำเป็นเฉพาะตัวท่าน และเฉพาะขั้นตอนนั้นๆ ท่านก็เรียนรู้มาเฉพาะเท่าที่จำเป็นในวงแคบ แล้วท่านก็ปฏิบัติจนสำเร็จ แต่ความรู้ที่จะไปสอนผู้อื่นมันกว้างขวางจะให้เหมาะสมกับคนโน้นคนนี้มากมาย มันต้องมีการ มีข้อมูลที่จะประยุกต์ ก็เลยท่านก็เรียนปริยัติเพิ่มเติมอีก ก็มีเลยปริยัติที่ท่านเรียกว่า ภัณฑาคาริกปริยัติ ปริยัติเหมือนกับขุนคลัง เพราะว่ามีคลังมีที่เก็บของซึ่งจะให้เหมาะกับความต้องการของผู้ใช้คนอื่นๆ ด้วย ไม่เฉพาะตัวคนเดียว นี่ก็คือความมุ่งหมายที่เกี่ยวข้องกับการปริยัติ ตอนนี้เรารู้ความสัมพันธ์ระหว่างปริยัติกับปฏิบัติ นี้เมื่อปฏิบัติแล้ว ถ้าปฏิบัติถูกต้องก็เกิดผลคือปฏิเวธ ถ้าปฏิบัติไม่ถูก ก็ผิดไปเลย ก็เกิดความผิดพลาดก็เกิดความล้มเหลวขึ้นมา
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติที่จะถูกต้องอาศัยปริยัติเป็นฐาน ตกลง ๓ อย่างนี้ก็สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ แต่หลายคนเรียนปริยัติแล้ว ไม่ได้เอามาใช้ลงมือทำ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะว่า ตัวปฏิบัติเป็นตัวที่ต่อระหว่างปริยัติ กับปฏิเวธ ในเมื่อปริยัติไม่มาสู่การปฏิบัติ ไม่มีตัวต่อปริยัติมันก็ไม่นำมาสู่ปฏิเวธ ปฏิเวธก็ไม่เกิดขึ้น ก็ไม่ครบวงจร ตกลงนี่ก็เป็นข้อหนึ่งที่อาตมายกมาพูดเพื่อให้เข้าใจถึง เรื่องปริยัติ ปฏิบัติว่า ปริยัติโดยไม่ปฏิบัติ ปฏิบัติโดยไม่ปริยัติเป็นอย่างไร
ทีนี้ต่อไปสังเกต แล้วมาทำความเข้าใจกันคือ หลายคนมีรู้สึกว่าถ้ามาปฏิบัติธรรม หรือแม้แต่ผู้ปฏิบัติธรรมได้ผลแล้ว ก็จะไม่ได้อยากได้อยากดีอะไร เป็นคนไม่มีความอยาก จะเป็นชาวพุทธที่นักปฏิบัติก็ให้รู้สึกถึงความไม่สบายใจที่จะพูดถึงความอยาก แล้วก็จะพยายามหนี เลี่ยงให้คนอื่นรู้สึกว่าตัวเราไม่มีความอยาก อันนี้ก็เป็นเรื่องอันตรายอย่างหนึ่ง จนกระทั่งให้เกิดความรู้สึก หรือมีภาพ มีภาพพจน์ของผู้ปฏิบัติหรือแม้แต่ชาวพุทธทั่วไปว่าไม่อยาก ทีนี้ความอยากนี้เป็นคำที่ยังน่าสงสัยอยู่ ยังจะต้องทำความเข้าใจ เหตุที่เราไปจำกัดว่าเราจะต้องไม่อยาก ถ้าเป็นนักปฏิบัติแล้ว ต้จะองกำจัดความอยาก อยากให้น้อย เลิก ไม่ให้มีความอยาก เพราะเราเข้าใจความอยากเป็นตัณหา เป็นอกุศลธรรม และเราก็เข้าใจความอยากมีประเภทเดียวคือ ตัณหาเท่านั้น
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ตัณหา ความอยากเป็นเหตุของความทุกข์ เราจะต้องตัด ต้องละ ต้องเลิกให้หมด เราก็เลยต้องพยายามไม่อยาก ต้องพยายามละเลิกความอยาก ต้องพยายามเป็นคนที่ไม่มีความอยาก แสดงตัวว่าเป็นคนปราศจากความอยาก อะไรทำนองนี้ ตอนนี้จะต้องมาทำความเข้าใจความอยากนั้นมี ๒ อย่าง มีทั้งที่ถูกต้อง และไม่ถูกต้อง อย่ารังเกียจความอยาก ต้องระวังว่าถ้าหากไม่มีความอยาก บางทีอาจจะเป็นตัวมาขัดขวางการปฏิบัติก็ได้
ความอยากมี ๒ แบบคืออะไร ความอยากนั้นในศัพท์ภาษาพระ ใช้คำกลางๆ ว่าฉันทะ ฉันทะแปลว่า ความอยาก เรากลับไปเริ่มต้นความอยากที่ฉันทะ ไม่มาเริ่มต้นที่ตัณหา ความอยากเรียกว่า ฉันทะ หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า ฉันทะ ทีนี้ฉันทะนั้น ที่แปลว่าความอยากนั้นมี ๒ แบบ ฉันทะประเภทที่หนึ่งเรียกว่า ตัณหาฉันทะ ตัณหาฉันทะคือความอยากแบบตัณหา ความอยากแบบตัณหา คือความอยากได้สิ่งปรนเปรอตน ปรนเปรอตา ปรนเปรอหู ปรนเปรอจมูก ปรนเปรอลิ้น ปรนเปรอกาย ปรนเปรอใจ คือได้สิ่งที่ทำให้เกิดความสุขสบายทางประสาทสัมผัส ความอยากประเภทนี้ มันมีธรรมดาของมันเอง โดยที่มนุษย์ไม่ต้องมีความรู้อะไรเลย พอมนุษย์เกิดมามันจะมีความปรารถนาความอยากที่จะได้สิ่งมาบำรุง บำเรอ ตาหูจมูกลิ้นกาย โดยไม่ต้องมีความรู้ ว่าอะไรเป็นคุณกับชีวิตหรือไม่ ทีนี้ในเมื่อความอยากเป็นแบบไม่ต้องมีความรู้ เขาเรียกว่า อยากแบบนี้เกิดจากอวิชชา
เพราะฉะนั้นความอยากที่เรียกว่าตัณหา จึงสัมพันธ์กับอวิชชา ไม่ต้องมีความรู้อะไรเลย อยากได้สิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรอตนเอง มันอยากทั้งนั้น ทีนี้พออยากขึ้นมาแบบนี้เลยไม่แน่ใจ ว่าจะเกิดคุณค่าแก่ชีวิตหรือไม่ สิ่งที่บำรุงปรนเปรอตนเองนั้น อาจจะทำให้เกิดโทษเกิดภัยกับชีวิตก็ได้ อาจจะเกิดประโยชน์ก็ได้ สมัยปัจจุบันนี้ก็เรียกว่า เป็นความอยากที่ทำให้เกิดคุณภาพชีวิต หรือทำลายคุณภาพชีวิต คือพอเราอยากปรนเปรอตนเอง บางทีมันมาทำลายคุณภาพชีวิต เหมือนอย่างง่ายๆ ยกตัวอย่างบ่อยๆ เหมือนอยากในรสอาหาร ใครๆ ก็พอเกิดมาไม่ต้องเรียนรู้อะไร รู้ว่าอะไรมันอร่อย ไม่อร่อย แล้วก็อยากในสิ่งที่อร่อย พออยากในสิ่งที่อร่อย ถ้าไม่มีความรู้เลย ก็อาจจะทำไปตามความอยาก กินจนกระทั่งเป็นพิษ เป็นอันตราย เรียกว่า ทำลายคุณภาพชีวิต
ถ้าหากว่า ถ้ามีความรู้ขึ้นมามันจะมีความอยากอีกประเภทหนึ่งเกิดขึ้น ความอยากที่สัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตต้องเกิดจากความรู้ ความรู้ว่าอันนี้จะทำให้เกิดคุณภาพชีวิต เป็นประโยชน์กับชีวิตหรือไม่ ความอยากอันนี้ท่านเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า กุศลฉันทะ หรือ ธรรมฉันทะ กุศลฉันทะ หรือ ธรรมฉันทะ ความอยากในธรรมะ ก็ตอนนี้เราก็เลยได้ความอยาก ๒ แบบ ความอยากประเภทที่ ๒ ความอยากในสิ่งที่เป็นคุณค่า เกิดคุณภาพชีวิต ซึ่งสัมพันธ์กับความรู้ ต้องมีการทำลายอวิชชา ลดอวิชชา ต้องมีวิชชาเกิดขึ้นบ้าง พอเริ่มมีวิชชา มีความรู้เราก็เริ่มรู้จักแยกว่า อะไรจะเกิดประโยชน์ ไม่เกิดประโยชน์กับชีวิต
แล้วจะมีความอยากประเภทที่ ๒ ความอยากประเภทที่ ๒ ที่เรียก กุศลฉันทะ ก็เรียกสั้นๆ เลย เวลาท่านเรียกสั้นๆ ก็เรียกแค่ว่า ฉันทะ นี่ระวังจะสับสนตรงนี้นะ ทีนี้ความอยากประเภทที่ ๑ ที่เรียกว่า ตัณหาฉันทะ เวลาเรียกสั้นๆ เขาเรียกสั้นเหลือแค่ตัณหา ฉะนั้นคำว่าตัณหา กับคำว่าฉันทะ ก็เลยเป็นความอยากคนละประเภทไปเลย แต่ที่จริงนั้น ถ้าเรียกให้เต็ม ตัณหา ก็เป็นตัณหาฉันทะ และฉันทะที่เป็นฝ่ายเอามาใช้กับความอยากฝ่ายดี มันก็เป็นกุศลฉันทะ ชื่อเต็มมันว่าอย่างนั้น หรือธรรมฉันทะ เลยเรียกสั้นๆ ว่า ฉันทะ ตกลงตอนนี้เพื่อให้จำได้ง่ายๆ ก็เป็นความอยาก ๒ อย่าง คือ ตัณหาอย่างหนึ่ง กับ ฉันทะอย่างหนึ่ง ตัณหาคือความอยากโดยไม่มีความรู้ เพียงแต่ว่าจะมาบำรุงบำเรอ ปรนเปรอในประสาทสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของตนเอง แล้วก็ความอยากประเภทที่ ๒ คือความอยากในคุณภาพชีวิต ในสิ่งที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ ที่เรียกว่า ฉันทะ ซึ่งสัมพันธ์กับความรู้ เริ่มตั้งแต่ต้องรู้จักแยกอะไรเป็นอะไร อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจไว้ก่อน
ทีนี้ในทางธรรมะนั้นก็แยกวิธีปฏิบัติต่อความอยาก ๒ ประสบการณ์นี้ ความอยากประเภทที่ ๑ คือตัณหาที่เกิดจากความไม่รู้ หรือเป็นไปโดยไม่ต้องมีความรู้ ที่เป็นไปเพื่อการบำรุง บำเรอ ปรนเปรอประสาทสัมผัสนั้น ท่านบอกว่า มันเกิดขึ้นมาแล้วเราต้องควบคุมทันที หรือแม้แต่ว่าละ เลิกมันได้ สามารถระงับมันได้ คุมมันได้ คุมมันอยู่ ถ้าหากว่าเรายังไม่มีฉันทะ ไม่มีปัญญามาก ตัณหานี้จะต้องใช้ในลักษณะของการควบคุมหรือเบนมาใช้ ให้มันมาเป็นปัจจัยแก่ตัวความอยากประเภทที่ ๒ ต้องหันเหให้เข้าสู่ความอยากประเภทที่ ๒ ให้ได้ นี้ความอยากประเภทที่ ๒ นั้นที่เรียกว่า ฉันทะ นั้นเกิดขึ้นแล้วให้ระงับด้วยการทำให้สำเร็จแล้ว เมื่อทำสำเร็จแล้ว ฉันทะนี้จะระงับไปเอง อันที่ ๑ นั้นระงับทันทีหรือควบคุมทันที เหมือนกันเมื่อเกิดขึ้น ตัณหาเป็นความอยากประเภทที่ว่าพอมันเกิดขึ้นปั๊บ เราระงับทันที หรือว่าคุมทันที หรือเบนทันที ให้มันมาเชื่อมกับฉันทะให้ได้ ส่วนฉันทะประเภทที่ ๒ มันอาจจะมาจากตัณหาก็ตาม หรือเกิดขึ้นจากความรู้โดยตรงก็ตาม ก็ให้ระงับด้วยการทำให้สำเร็จ
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็ถือว่าต้องระงับเหมือนกัน ฉันทะก็ต้องระงับ แต่ระงับด้วยการทำให้สำเร็จ ไม่ใช่ปล่อยให้มันค้างอยู่นะ ฉันทะก็ต้องพยายามทำให้สำเร็จ นี่คือตัวสำคัญในการที่เราจะปฏิบัติธรรมให้ก้าวหน้า คนที่จะปฏิบัติธรรมจะต้องมีฉันทะเป็นตัวเริ่มต้น ท่านถือว่าฉันทะเป็นบุญของธรรมทั้งปวง เราจะต้องมีฉันทะเป็นตัวเริ่มต้น เพราะฉะนั้นก็ต้องให้รู้จักแยกกันให้ดีระหว่างความอยากที่ถูกต้อง ความอยากที่เป็นธรรมชอบธรรม กับความอยากที่ไม่ถูกต้อง หรือความอยากไม่ชอบธรรม แล้วก็เลือกปฏิบัติในความอยากที่ถูกต้อง ชอบธรรม แล้วเร้าให้มันเกิดขึ้นด้วย เพราะว่าฉันทะนี่เป็นแรงจูงใจที่ถูกต้อง ในภาษาสมัยใหม่เราใช้ในคำว่า แรงจูงใจ แล้วเราก็แบ่งแรงจูงใจเป็น ๒ ประเภท คือแรงจูงใจประเภทตัณหาที่ไม่สัมพันธ์กับความรู้ ความเข้าใจ และไม่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิต ไม่รู้ว่ามันจะเกิดหรือทำลายคุณภาพชีวิต กับฉันทะที่ว่าเป็นไปด้วยความรู้ และส่งเสริมคุณภาพชีวิต
ทีนี้ฉันทะหรือความรู้ ฉันทะหรือความอยากประเภทที่ ๒ นี่ ถ้าเราใช้ภาษาชาวบ้าน เราจะแยกจากฉันทะประเภทที่ ๑ ได้ง่ายๆ ฉันทะประเภทที่ ๑ นั้น ขออภัย ความอยากประเภทที่ ๑ หรือตัณหานั้น ถ้าแปลเป็นภาษาไทยจะใช้ได้ง่ายๆ ว่า อยากได้ อยากมี อยากได้ อยากมี ขออภัยถ้าใช้อีกคำเขาใช้อีกคำว่า อยากเสพ
ทีนี้ถ้าใช้ฉันทะสำหรับฝ่ายกุศล อยากรู้ อยากทำ อันหนึ่ง ตัณหา อยากได้อยากมี แล้วก็ฉันทะ อยากรู้ อยากทำ หรือแปลเป็นภาษาไทยอีกอย่าง ใฝ่รู้ ใฝ่ธรรม ต้องการที่จะทำ เวลาท่านแปลเป็นภาษาบาลี เวลาคำศัพท์เต็ม ฉันทะพอท่านขยายคำว่า จะ ตุ กรรม มะ ญัต ตา ฉันทะ ฉันทะคือความต้องการจะทำ หรือว่าเป็นสิ่งที่ดี อันนี้มาใช้ในภาษาสมัยใหม่ มันสัมพันธ์กับค่านิยม คืออยากได้ อยากมี นั้นเขาเรียกค่านิยมบริโภค อยากบริโภค ถ้าอยากทำ อยากรู้ อยากทำนี่เรียกว่าค่านิยมผลิต มันสัมพันธ์กับอันนี้
อันนี้เป็นเรื่องไม่ใช่เฉพาะในการปฏิบัติธรรมในความหมายแคบๆ ที่เราจะใช้นะ มันใช้ได้ในการพัฒนาประเทศด้วย ปัจจุบันประเทศของเรามีปัญหาเรื่องค่านิยม แล้วก็เรื่องแรงจูงใจนี้มาก มีแรงจูงใจประเภทตัณหา แล้วทำให้เกิดค่านิยมบริโภค แล้วทำให้ไม่เกิดการสร้างสรรค์ พัฒนาประเทศไม่สำเร็จ
ทีนี้คนไทยเรานี่ มองสิ่งทั้งหลายด้วยการที่อยากจะมี อยากจะใช้เท่านั้น ไม่ได้คิดอยากจะผลิต ทีนี้จะทำอย่างไรเราจึงเปลี่ยนให้คนของเรา เห็นอะไร เห็นสิ่งที่เป็นความเจริญแล้ว อยากจะทำให้ได้อย่างนั้น จากที่ว่าแม้แต่ความเข้าใจคำว่าเจริญ คนไทยเราเข้าใจในความหมายนักบริโภค เจริญคืออย่างไร เห็นฝรั่งเจริญเราก็บอกว่า เจริญคือมีใช้อย่างฝรั่ง เพราะฉะนั้นเราก็เป็นนักบริโภค เราก็หาทางให้มีอย่างเขา
ทีนี้ถ้าเจริญอย่างนักผลิต มันจะมองใหม่ เจริญอย่างนักผลิต จะมองว่าเจริญคือทำได้อย่างเขา เราเคยมองอย่างนี้ไหมเด็กหรือคนของเรา มองภาพความเจริญว่าคือทำได้อย่างเขา แม้แต่ว่าเด็กๆ ของเราเล่น เรามักจะเล่นเพียงเพื่อสนุกสนาน เล่นแบบนักบริโภค นักเสพ เราไม่ค่อยฝึกเด็ก หรือเด็กของเราไม่ได้เล่นแบบนักผลิต นักทำ คือแม้แต่เล่นมันก็ต้องให้มีความหมายว่าเล่นแบบนักทำ ทำอะไรต่ออะไรให้เป็น พยายามเล่นแบบ พยายามเล่น เล่นคือเล่นทำอะไรต่างๆ ให้เป็น อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากมันสัมพันธ์กันหมด เพราะฉะนั้นมันมาจากอันนี้คือแรงจูงใจที่ผิดพลาด ถ้ามีแรงจูงใจแบบตัณหาอยู่แล้ว ก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้ แล้วเราจะมัวมาลบล้างตัณหากันอยู่ไม่ไหว มันเป็นการแก้ด้านเดียว คือเราไปเน้นมากแม้แต่วงการที่เรียกว่านักปฏิบัตินี่ ก็ไปเน้นแต่ลด ละ ตัณหา ลด ละ ความอยาก ไม่ไปเน้นในด้านบวก เน้นด้านบวก ก็คือว่าต้องส่งเสริมฉันทะขึ้นมา ทำอย่างไรจึงจะส่งเสริมฉันทะ อันนี้จะเป็นตัวที่ดีกว่า มัวไปเน้นด้านลบ คือส่งเสริมตัวบวกมาแทนเลย เอาตัวฉันทะมาแทนตัณหาจะดีกว่า
ฉะนั้นผู้ที่ปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน จะต้องมีฉันทะแล้วก็บอกเมื่อกี้บอกว่า ให้ระงับความอยากที่เรียกว่าฉันทะด้วยการทำให้สำเร็จ แล้วก็อันนี้ก็เป็นหัวใจของการพัฒนาของประเทศด้วย เพราะอยากมี อยากใช้ อยากบริโภคนั้น มันตัวทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนา ก็จะต้องมีความอยากทำ อยากผลิต แล้วอยากทำ อยากผลิตแล้วมีอีกอันหนึ่ง อยากรู้ ของคนเมืองไทยเรา ธรรมะแปลว่าอะไร ธรรมะแปลว่าสิ่งที่ดีงามและความจริง ความจริง ความถูกต้องดีงาม ความจริง ฉันทะ คำว่าฉันทะแปลว่าอยากในธรรมะ คืออยากในความจริง เมื่ออยากในความจริง ต้องการเข้าถึงความจริง ก็ต้องอยากรู้ เพราะฉะนั้นอยากในความจริงจึงต้องมีความอยากรู้ ก็จึงมีความหมายของฉันทะอันที่หนึ่ง ว่าอยากรู้หรือใฝ่รู้ และอันที่สองก็คือธรรมะ แปลว่า สิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามก็ต้องทำให้เกิดให้มีขึ้น สิ่งดีงามที่ทำให้เกิดให้มีขึ้น ก็ต้องสำเร็จด้วยการทำ
เพราะฉะนั้นก็เลยมีความหมายว่าอยากทำ เพราะว่าต้องการให้เข้าถึงความจริง และต้องการให้สิ่งดีงามเกิดขึ้น เมื่อต้องการให้เข้าถึงความจริงและทำให้สิ่งดีงามเกิดขึ้น จึงต้องอยากรู้ และอยากทำ อยากรู้ก็จะได้เข้าถึงความจริง อยากทำก็เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีงามเกิดมีเป็นจริงขึ้นมา เพราะฉะนั้นจึงแปลฉันทะว่าอยากรู้ อยากทำ ในเมืองไทย ปัจจุบันนี้จะต้องส่งเสริมนี้ให้มาก ส่งเสริมความใฝ่รู้ และใฝ่ทำ และอันนี้ก็เป็นสิ่งที่กำลังขาดมากในสังคมไทยปัจจุบัน
นี้ก็ขอผ่านไปว่า ตกลงว่าในหลักของพุทธศาสนานี้ ก็มีความอยาก ๒ ประเภทที่เราจะต้องแยกให้ถูกต้อง อย่าไปนึกว่า ปฏิบัติธรรมนั้นเป็นการพยายามที่จะลด ละ ความอยาก แล้วก็ไปรังเกียจ แล้วก็กลัว แล้วก็พยายามแสดงตัวไม่มีความอยาก อาจจะทำให้เกิดท่าทีที่ผิดพลาด แล้วก็เป็นภาพที่ไม่ดี ทำให้เกิดผลเสีย แล้วอย่างที่อาตมาบอกแล้วว่า ไอ้เรื่องความอยากที่ถูกต้องสัมพันธ์กับปัญญา ตอนแรกจะต้องรู้ ก่อนที่จะรู้ว่า อะไรเป็นอะไรเป็นความจริงและอะไรเป็นสิ่งดีงาม ต้องมีปัญญา คนเราจึงต้องมีการเรียนรู้ขึ้นมา เพราะฉะนั้นการศึกษานี่เพื่อสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องด้วย การศึกษาความมุ่งหมายประการหนึ่ง เพื่อสนองแรงจูงใจที่ถูกต้อง เพราะแรงจูงใจที่ถูกต้องนั้นจะเดินหน้าไปไม่ได้ ในเมื่อยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่รู้ว่าความจริงคืออะไร ไม่รู้ว่าสิ่งถูกต้องดีงามคืออะไร
แล้วทีนี้ เมื่อทำไปถูกต้องแล้ว ทำให้คนมีปัญญา การศึกษานั้นทำให้คนเกิดปัญญา มีความรู้ ความเข้าใจ เขาก็เรียกว่ามีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ซึ่งเป็นลักษณะของการดำเนินชีวิตในพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนานั้นบอกว่าชีวิตที่ประเสริฐ คือชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา ตอนนี้ไม่ได้เป็นอยู่ด้วยตัณหาแล้ว ไม่ได้เป็นอยู่ด้วยอวิชชา คือความไม่รู้ ที่ดิ้นรนเป็นไปตามความอยาก ที่บำรุงบำเรอตนเอง แต่ว่ารู้อะไรเป็นอะไรแล้ว จึงมีความต้องการในสิ่งนั้นอย่างถูกต้อง ก็เลยไปเริ่มต้นด้วยความรู้ก่อน ความต้องการหรือแรงจูงใจที่ถูกต้อง เริ่มจากตัวความรู้ ก็เลยต้องมีชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา อันนี้ก็อันหนึ่งทำความเข้าใจกันก่อน
ต่อไปอีก สิ่งที่ต้องการทำความเข้าใจอีกก็คือ ในวงการนักปฏิบัติไม่น้อยเลย ได้มีความโน้มเอียงที่จะรู้สึกกันว่า ถ้าเป็นนักปฏิบัติ หรือปฏิบัติสำเร็จแล้วนี่ จะเป็นคนเฉยๆ ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไร ความรู้สึกนี้ หรือทัศนคตินี้ ถ้าจะเป็นไปมาก ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าจะรีบยกมาพิจารณา แล้วถ้ามันผิดพลาดจะต้องแก้ไข ทีนี้ว่าเรารู้สึกว่า ใครไม่เอาเรื่องเอาราวอะไร เกิดเรื่องอะไรแล้วเฉยๆ เป็นคนที่หมดกิเลส ถ้าอย่างนี้ก็อันตรายมาก ต้องมาทำความเข้าใจแม้แต่คำว่าเฉยก่อน คำว่าเฉยนี้ ศัพท์พระมักจะเอาไปโยงกับคำว่าอุเบกขา อุเบกขา แปลว่า วางเฉย
ทีนี้ทางพระท่านบอกวางเฉยมี ๒ แบบ วางเฉยแบบที่เป็นอกุศลเป็นบาป เป็นบาปเป็นอกุศลเป็นสิ่งที่ควรจะกำจัด เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เรียกว่า อัญญาณุเบกขา อัญญาณุเบกขา มาจากคำว่า อัญญาณ อัญญาณก็คือ ไม่รู้ ญาณ แปลว่า ความรู้ อัญญาณ แปลว่า ความไม่รู้ แล้วไปบวกกับ อุเบกขา คือ ความวางเฉย อัญญาณุเบกขา ก็คือ วางเฉยโดยไม่รู้ เฉยเป็นภาษาไทยง่ายๆ แปลว่า เฉยโง่ เฉยเขลา อันนี้อันที่ ๑ คนจำนวนมากเฉยเพราะไม่รู้เรื่องรู้ราว เมื่อไม่รู้ก็เลยเฉย ทีนี้ประการที่ ๒ ที่เป็นกุศลธรรมนั้น คือเฉยด้วยความรู้ เพราะวางใจเป็นกลางในสิ่งต่างๆ เฉยด้วยความรู้ ก็เรียกกันอุเบกขาตรงๆ อันนี้ไม่ต้องมีคำมานำหน้า เป็นอุเบกขาแท้ๆ เป็นอุเบกขาที่บริสุทธิ์ อันนี้เป็นเรื่องของการวางท่าทีที่ถูกต้อง
ในสถานการณ์ที่เกิดวุ่นวายขึ้นมา มีปัญหาอย่างหนึ่ง เราจะเห็นคน ๓ ประเภท คนพวกที่ ๑ นั้นเฉยเพราะไม่รู้เรื่องรู้ราว มีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่รู้ มีเรื่องราวเดือดร้อน มีปัญหาเกิดขึ้นก็ไม่รู้ พวกนี้ก็เฉยเหมือนกัน แล้วพวกที่ ๒ คือ พวกเอะอะโวยวาย ตื่นตูม พอมีเรื่องราวปัญหาอะไรขึ้นมาก็ตื่นเต้น โวยวาย โว๊กว๊ากต่างๆ เลย พวกนี้ก็ไปอีกแบบหนึ่ง แล้วพวกที่ ๓ คือพวกที่รู้ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วรู้ด้วยว่าจะทำอะไรเมื่อไร พวกนี้รู้จังหวะ รู้ขั้นตอน รู้ว่าจะทำอย่างไร รู้วิธีแก้ไข พวกนี้ก็เฉยเหมือนกัน มี ๓ พวก ท่านว่าพวกไหนปฏิบัติถูกต้อง
พวกที่ ๑ แน่นอนไม่ถูกต้องเรียกว่า อัญญาณุเบกขา เฉยไม่รู้เรื่อง เพราะไม่รู้ก็เลยเฉย พวกที่ ๒ นั้นเอะอะ โวยวาย พวกนี้รู้ครึ่ง ไม่รู้ครึ่ง ก็เลยตื่นเต้นโวยวายไป พวกนี้แก้ปัญหาไม่ค่อยสำเร็จ บางทีก็ปะเหมาะเคราะห์ดี ถูกต้อง แก้ถูกก็ดีไป แก้ไม่ถูกก็พลาดก็เสียไป แต่พวกที่ ๓ คือพวกที่จะแก้ปัญหาที่แท้จริง มีความรู้แล้ววางใจเฉยนิ่งได้ แต่รู้จังหวะว่าจะทำอะไรเมื่อไร แต่พวกนี้ไม่ใช่เฉย ไม่ได้เฉยไปเลยนะ เฉยเตรียมพร้อม เฉยพร้อมที่จะทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ให้ถูกจังหวะ อันนี้คือสิ่งที่ต้องการในทางธรรมะ ในการปฏิบัติธรรมนั้นเรามีการวางเฉย คือการวางใจเป็นกลาง วางใจเป็นกลางต่อบุคคล วางใจเป็นกลางต่อสภาพแวดล้อม วางใจเป็นกลางต่อธรรมะ แม้แต่ธรรมะต่างๆ นี่ก็มีการวางใจเป็นกลาง
ท่านยกตัวอย่างเหมือนกับสารถี ขี่ม้าหรือแม้แต่ขี่รถก็ตาม ตอนแรกขับรถ รถมันยังไม่เข้าที่ ต้องเร่ง ต้องอะไรต่างๆ ต้องใช้ความเพียรพยายาม เรี่ยวแรง หันพลิกอะไรต่างๆ ดึงรั้งอะไรมากมาย แต่พอรถวิ่งเข้าที่ เช่นถ้าเป็นรถม้า ม้าวิ่งเรียบสนิทแล้ว สารถีแกจะนิ่งเลยนะ แกจะวางเฉยได้ แต่ว่าเฉยนี่เตรียมพร้อม คำว่าอุเบกขานั้นแปลตามตัวว่า เข้าไปมองดู คอยมองดู อุเบกขา มาจากอุป อิกขะ อิกขะ แปลว่า เห็น มอง อุปแปลว่า คอย เข้าไปมอง หรือคอยมองอยู่ แสดงว่าเขาไม่ได้เฉยอยู่เฉยๆ นะ เขาเฉยคอยมองอยู่นะ มองนี่เตรียมพร้อม สารถีนี่ขับรถเก่งแล้ว ขี่ม้าเก่งแล้วนี่ เขาจะไม่ตื่นเต้นโวยวาย เหมือนอย่างคนขับใหม่ๆ ถ้าคนขี่ม้าใหม่ๆ คงวุ่นวายหมดเลย กระวนกระวาย อยู่ไม่เป็นสุข แต่คนที่เขาขี่ม้าได้เก่งแล้วนี่ พอม้าวิ่งเรียบเข้าที่แล้ว เขานั่งนิ่งสบายเลย เนียบ แต่ว่าเขาพร้อมตลอดเวลาที่จะแก้ไข มีอะไรแก้ไข ม้าวิ่งผิดท่าอย่างไร เขาแก้ได้ทันทีทันควัน คนขับรถสมัยปัจจุบันก็เหมือนกัน ถือพวงมาลัยอยู่นี่ ขับชำนาญแล้วแกก็ไม่วุ่นวาย ไม่กระวนกระวาย ไม่ทุรนทุราย อย่างคนขับใหม่ๆ แกก็จะนั่งสบาย และพร้อมที่จะแก้ไขเหตุการณ์ได้ทุกเวลา
นี่เรียกว่า อุเบกขา อุเบกขาจะอยู่ที่คนลักษณะที่ขับรถหรือขี่ม้าได้นิ่งสนิทแล้ว พร้อมที่จะแก้ไขเหตุการณ์ได้ทันที เหมือนอย่างพ่อแม่ พ่อแม่เห็นลูกอยู่เป็นปกติสุข สบาย รับผิดชอบตัวเองได้ ก็วางอุเบกขา แต่พร้อมที่จะแสดงเมตตา กรุณา มุทิตาได้ทันทีเหมือนกัน อย่างนี้เรียกว่า อุเบกขา เป็นธรรมะที่สำคัญ ต้องมีปัญญาจึงทำได้
ทีนี้ก็เลยเอาพูดเพราะว่า เราไปเข้าใจเป็นว่าถ้าเป็นผู้สำเร็จแล้ว ต้องเป็นผู้วางเฉยไม่เอาเรื่องเอาราว และกลายเป็นไม่มีกิเลสไป คนที่หมดกิเลสแล้ว เป็นเหตุให้ไม่ต้องทำอะไรเพื่อตนเอง เพราะฉะนั้นท่านก็ทำเพื่อผู้อื่นได้เต็มที่ เพราะไม่มีกิเลสมาเหนี่ยวรั้งว่าคอยให้เห็นประโยชน์ของตนเอง แม้แต่ขี้เกียจนะ เพราะว่าคนที่เห็นประโยชน์แก่ตนเอง ขี้เกียจก็เห็นประโยชน์แก่ตนเอง ใช่หรือเปล่า คือไม่อยากทำอะไรเพราะมันเห็นแก่สบาย ตัวเองสบายเห็นแก่ตนก็ขี้เกียจไป ทีนี้คนที่หมดกิเลสนั้น แกไม่มีกิเลสแม้แต่ความขี้เกียจที่จะมาเหนี่ยวรั้งให้แกทำเพื่อตนเอง
เพราะฉะนั้นท่านก็ทำเพื่อผู้อื่นได้เต็มที่ เพราะฉะนั้นพระอรหันต์จึงเป็นตัวอย่างของคนที่บำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น พระพุทธเจ้าเป็นผู้นำเลย เป็นโลกนาถะ เป็นผู้บำเพ็ญ โลกัตถจริยา เป็นผู้ไม่อยู่นิ่ง พระพุทธเจ้านั้น บำเพ็ญพุทธกิจแต่ละวันไม่อยู่เฉยเลย ทำงานตลอดวัน ทำงานเดินไปไหนต่อไหน เห็นใคร แต่ละวันตื่นเช้าขึ้นมา เอาแล้วทำอะไรก่อน นึกถึงคนอื่นแล้ว พอตื่นขึ้นพระพุทธเจ้าทำอะไร พุทธกิจประการแรกคือ พิจารณาว่าวันนี้ จะไปโปรดใคร คือใครสมควร เป็นผู้มีปัญหาอยู่ เป็นผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า เราควรจะไปชุมชนไหน กลุ่มไหน บุคคลไหน พระพุทธเจ้าพิจารณาก่อน เวลามีเหตุการณ์กระทบกระเทือนประโยชน์ส่วนรวมเกิดขึ้น พระอรหันต์นำก่อน ขอให้นึกถึงพระมหากัสสปะ ท่านอาจจะได้ระลึกไว้เป็นเครื่องเตือนใจ ถึงปฏิปทาของผู้ที่สำเร็จแล้วหมดกิเลส เพราะท่านไม่อยู่นิ่งเฉย
พระมหากัสสปะนั้นเป็นพระประเภทอยู่ป่า อยู่ป่าตลอดชีวิตเลย เราเป็นนักถือธุดงค์ พระพุทธเจ้ายกย่องว่าเป็น เอตทัคคะในทางถือธุดงค์ พระมหากัสสปะนั้นพอมีเรื่องกระทบกระเทือนส่วนรวมขึ้นมาก็คือ พอพระพุทธเจ้าปรินิพพาน มีพระองค์หนึ่งพูดขึ้นมาในทางที่ไม่น่าไว้ใจ อาจจะกระทบกระเทือนต่อพระพุทธศาสนา พระมหากัสสปะเป็นองค์แรกที่ยกเรื่องขึ้นมาพิจารณา นำเรื่องเข้าที่ประชุมบอกว่านี่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว มีผู้กล่าวถ้อยคำทำนองนี้เป็นที่ไม่น่าไว้วางใจว่า ถ้าเราไม่ประมวลหลักธรรมคำสอน ให้เป็นหมวดเป็นหมู่ให้ชัดเจน แล้ววินิจฉัยให้ชัดเจนไว้ ต่อไปธรรมะจะเลอะเลือนกันหมด คนก็จะถือเอาความสะดวกสบาย ประพฤติกันตามใจชอบ ก็เลยเป็นเหตุให้มีสังคายนาเกิดขึ้น หรือเมื่อเหตุการณ์ระยะหลังต่อมาในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาก็เหมือนกัน เวลามีเหตุการณ์อะไรกระทบกระเทือน ประโยชน์ส่วนรวมต่อพระพุทธศาสนา พระอรหันต์จะเป็นบุคคลที่ริเริ่มในการยกเรื่องขึ้นมาเข้ามาที่ประชุม แล้วพระอรหันต์ก็จะมาพร้อมเพรียงกันในการประชุม
การประชุมกันของสงฆ์ การประชุมกันถือเป็นกิจสำคัญของสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์มีขึ้นก็คือแปลว่า ส่วนรวม แล้วสังฆกรรมก็คือ การกระทำของสงฆ์ได้แก่การประชุมกัน การประชุมพิจารณาจัดการแก้ไขเรื่องราวต่างๆ เรียกว่า สังฆกรรม สังฆกรรมก็เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ เป็นสิ่งสำคัญที่เรียกว่า ในวินัย เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ก็เป็นผู้นำในเรื่องของการที่จะกระตือรือร้น แก้ไขปัญหาและสิ่งที่กระทบกระเทือนต่อประโยชน์ส่วนรวม เพราะฉะนั้นก็มีคติอยู่ว่า ไม่มีความเคารพสงฆ์ ให้ถือวินัยเป็นสำคัญ หัวใจสำคัญของวินัย คือความเคารพสงฆ์ ต้องถือสงฆ์เป็นใหญ่ แล้วก็ถือเคารพสงฆ์ ก็คือเห็นความสำคัญของประโยชน์ส่วนรวมนั้นเอง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องนำมากล่าวไว้ เพราะว่ามิฉะนั้นแล้ว ก็จะทำให้เรามีความไขว้เขว แล้วมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง อาตมามองดูว่าในสังคมไทยเรากำลังมีภาพอย่างนี้ มีภาพที่รู้สึกว่าถ้าใครไม่เอาเรื่อง เอาราวอะไรหมดกิเลส ถ้าอย่างนี้แล้วอันตรายจะเกิดขึ้น
ฉะนั้นต่อไปในการตัดสินผลของการปฏิบัติ อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าพิจารณาว่าใครก้าวหน้าในการปฏิบัติแค่ไหน ใครเป็นผู้สำเร็จ ใครบรรลุอรหันต์หรือไม่นี่ เรามักจะตื่นเต้นกัน คนเราจะตื่นเต้นเรื่องอะไรบ้าง บางทีก็ตื่นเต้นด้วยอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ เห็นท่านไหนมีอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ คงจะสำเร็จแล้ว เป็นพระอรหันต์แล้ว นี่ก็มีทำโน่นทำนี่ได้ที่เป็นพิเศษ บางทีก็ถือว่าเข้าสมาธิได้เห็นโน่น เห็นนี่ มองเห็นแม้แต่สวรรค์ วิมาน ไปพบพระพุทธเจ้าได้ ก็กลายเป็นว่าสำเร็จไป อันนี้ก็มี
หรือบางทีถ้าถือศีลเคร่งครัดมากเป็นพิเศษ เราก็อาจจะนึกว่านี่เป็นความสำเร็จ ก็เป็นเรื่องที่มองกันไปต่างๆ แต่ว่าการตรวจสอบผลสำเร็จที่แท้จริงนั้น ตรวจสอบได้ที่ประสบการณ์ตรงที่ในใจของทุกคนนั่นเอง พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เพราะทรงเห็นแล้วว่าคนเรานี่จะเขวได้ง่าย ให้ตรวจสอบด้วยประสบการณ์ตรงคืออะไร ให้ดูว่าในใจของตนเอง มีโลภ มีโกรธ มีหลงไหม แล้วละ คลายไปได้แค่ไหน มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้แค่ไหน เพียงไร มีความคิดประทุษร้ายกับผู้อื่นอยู่หรือไม่ มีความเกลียดชังคนอื่นอยู่หรือไม่ มีความต้องการอยากได้เอามาเพื่อตน มีความต้องการเพื่อเห็นแก่ตนมากมายแค่ไหน เพียงไร มีความลุ่มหลง เพลิดเพลินมัวเมา แค่ไหน เพียงไร