แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
วันนี้ก็มาเยี่ยมพระใหม่รุ่นน้องสุด นี้ก็คุยกันบ้าง คุยกับพระใหม่ก็เท่ากับว่าเป็นตัวแทนของพระเก่านะคุยกับพระใหม่ นี่ก็มาเยี่ยมกันแล้วก็ถามสุขทุกข์ ก็ควรจะถามองค์หัวหน้าสิ ท่าน??ธีรวัณโณ??องค์ไหนล่ะ ได้ชื่อไม่รู้องค์ไหน อ้อนี่เป็นไงสุขสบายกันดีทุกรูปนะ เอ้อ สบายกันดีนี่หมายความว่าสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยเสนาสนะเป็นสัปปายะเกื้อกูลกับสุขภาพและการที่จะเล่าเรียนศึกษาดี เอ้า โมทนาด้วยนะ เอ้า เอาละท่าน??ธีรวัณโณ??ช่วยตอบ
ทีนี้ก็ถามในแง่การเล่าเรียนมั่ง ถาม??ท่านวรุตตโม??สินะ เอ้อ เป็นไง อ้อ อยู่ข้างหน้านี่ เป็นไงบ้างการเล่าเรียนพอใจดีไหม ไหน...ได้ความรู้ดี (เสียง??ท่านวรุตตโมตอบฟังไม่ได้ยิน??) อ้า โมทนา อันนี้เรียกว่ายังมีฉันทะที่จะเรียนนะ
นี้ก็ถามท่าน??จีรภัทโท??ซี่นะ เออ อยู่ไหนล่ะทีนี้ เป็นไงเรียนแล้วก็ตอนนี้นอกจากเรียนในชั้นนี่ ตอนที่บวชก็ได้มอบหนังสือให้รูปละ ๑ เล่มๆ เล็กๆ ฝากไว้ให้ช่วยลองอ่านดู นี้ท่าน??จีรภัทโท??เป็นไงอ่านจบไหม (เสียงท่าน??จีรภัทโท??ตอบ “เรียนตรงๆ ก็ยังไม่จบสักเล่มเลยครับ”) ยังไม่จบเลย (หัวเราะ) (เสียงท่าน??จีรภัทโท?? “คือบางเล่มก็ภาษาแบบ... ภาษาไม่ค่อยเหมือนกับที่เคยอ่านหนังสือทางโลกมาอะไรยังงี้ครับ”) ไหน อ๋อ ยังใหม่มาก ก็ต้องเห็นใจ (เสียงท่าน??จีรภัทโท?? “ครับ”) เพราะว่าเป็นถ้อยคำภาษาบาลีไม่รู้จักมาก่อน แต่ว่าบางองค์นี่ก่อนที่จะมาบวชนี่ก็เล่าเรียนศึกษามามากเหมือนกัน
เอ้า ลองถามท่าน??ภูริวัฒโธ??บ้างนะ เอ้อ ไม่รู้จักองค์แต่ว่าจะได้เป็นการทำความรู้จักกันไปด้วย ??ภูริวัฒโธ??เป็นไง (เสียงตอบ “ครับ”) ได้อ่านจบไหม (เสียงตอบ “ยังครับ”) ยังเหมือนกันเหรอ แหม ๒๔ หน้ายังไม่จบนะ เอ้อ อ้าว??ภูริวัฒโธ??ยังไม่จบ ยังไม่จบก็ตอบไม่ได้ซี่นะ (เสียงตอบ “ครับ”) ถ้าจะถามอะไรก็ยังตอบไม่ได้
เอ้า ท่าน??สุภโว??บ้าง เอ้อ ??สุภโว??องค์ไหนล่ะทีนี้ (เสียงตอบ “ครับ ผมครับ”) อ่านจบไหมครับ ไหนว่าไงนะ (เสียงตอบ “อ่านจบแล้วรอบหนึ่งครับ”) จบแล้วเหรอ เอาละทีนี้ถ้าจบก็มีถามกันหน่อย จบแล้วมีสะดุดใจตรงไหนบ้าง เอาสักแห่งก็ได้ หรือสะดุดหลายแห่งก็บอกมาหลายแห่งก็ได้ (เสียงตอบ “ก็หลักๆ ก็คือทาน ศีล แล้วก็ภาวนานะครับ”) ทาน ศีล ภาวนา อันนั้นก็เป็นของ ไตรพิธบุญกิริยา ใช่ไหม (เสียงตอบ “ครับ”) ของญาติโยม ทำไมติดใจตรงนั้นล่ะ (เสียงตอบ “ผมอ่านแล้วจริงๆ ไม่ได้ติดใจครับท่านก็คือ...”) สะดุด...สะดุดหมายความว่าสนใจมากเป็นพิเศษหรืออะไรยังงี้ (เสียงตอบ “ครับ”) เป็นไงจึงสนใจอันนั้นล่ะ (เสียงตอบ “ก็คือว่าบางอย่างนี่อย่างจิตตภาวนาอย่างนี้น่ะครับ จากแต่ก่อนไม่ค่อยได้เข้าใจมากน่ะครับ ก็มีความเข้าใจมากขึ้น”) อ๋อ ในนั้นก็แยกไว้ให้แล้วนี่ บอกว่า ภาวนา แยกเป็น ๑ จิตตภาวนา แล้วก็ ๒ ปัญญาภาวนา ใช่ไหม (เสียงตอบ “ครับ”) เอาละ เอ้าพอได้เค้าว่าท่านสะดุดใจ ชอบ สนใจตรงนี้ (เสียงตอบ “ครับ”)
นี้องค์ต่อไป นี้??สุภโว??หรือ... (เสียงตอบ “??สุภโว??ครับ”) ??สุภโว??นะ ทีนี้ก็??สีติภูโต??ซี่นะ เอ้อ เป็นไง??สีติภูโต??มีอ่านจบหรือยัง (เสียงตอบ “ยังไม่ได้อ่านเลยครับ”) ยังเลยเหรอ (เสียงตอบ “ครับ”) เอ้า บอกเหตุผลมาหน่อยว่าเพราะอะไรจึงยังไม่อ่าน (เสียงตอบ “พอดีเริ่มจากฟัง...ฟังธรรมจาก mp3 ก่อนน่ะครับ”) อ๋อ ฟังก่อน ฟังนี้หมายถึงฟังในชั้นหรือฟังซีดี (เสียงตอบ “ฟังใน เอ่อ ซีดีครับ”) mp3 น่ะนะ (เสียงตอบ “ใช่ครับ”) ฟังอันไหน ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (เสียงตอบ “ตามพระใหม่ไปเรียนธรรมครับ”) อันนี้กำลังฟัง ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม ฟังไปเยอะหรือยัง (เสียงตอบ “ก็ฟังประมาณถึง... ฟังข้ามๆ น่ะครับ เหมือนประมาณว่าฟังเกี่ยวกับเรื่อง ความอยาก อยู่น่ะครับ”) จวนจะจบยังน่ะ เอ้อ (เสียงตอบ “ก็... แล้วก็รวมไปฟังกับตรงหอฉันด้วยครับ”) อะไรนะ (มีเสียงพระอีกรูป “ตรงหอฉันเขาเปิด”) อ๋อ หอฉันเขาเปิดด้วยเหรอ อ๋อ (เสียงพระ “ใช่”) ก็เยอะหน่อย ก็เห็นใจเพราะ ๖๐ ตอนไม่ใช่น้อย อ๊ะ ฟังไปแล้วสักกี่ตอนล่ะ (เสียงตอบ “สักประมาณ ๔ ตอนครับ”) ๔ ตอนเหรอ เท่าไหร่ล่ะ ๑ ในเท่าไร (หัวเราะ) ๑๕ x ๔ = ๖๐ ก็ได้ ๑ ใน ๑๕ จะฟังจบไหมเนี่ย ไหวไหม (เสียงตอบ “ไหวครับ”) เอ่อ (เสียงตอบ “หรือถ้าไม่จบก็เอากลับไปฟังต่อได้ครับ”) เหรอ เอ้า ฟังซะให้จบซี่ไหนๆ มาบวชแล้ว เอ้อ ให้จบซะตอนบวชนี่แหละดี ตอนลาสิกขาไปแล้วก็จะได้ไปเผื่อแผ่ไปสอนญาติโยมต่อนะ (เสียงตอบ “ครับ”) ก็เอา... นี้ก็ท่าน??สีติภูโต??ใช่ไหม (เสียงตอบ “ครับผม”)
ทีนี้ก็??อัคคพโล??ซี่ เอ้า ??อัคคพโล??เป็นไง อ่านจบยัง (เสียงตอบ “ครับ อ่านยังไม่จบครับ”) ยังเหมือนกัน ได้สักเท่าไรล่ะ (เสียงตอบ “ได้ ๖ หน้าครับ”) ยากหรือยังไง (เสียงตอบ “คืออ่านแล้วไม่เข้าใจน่ะครับ ด้วยภาษา ด้วยศัพท์น่ะครับ”) อ๋อ ยากนะ เอ้า จะได้ทราบไว้ว่าพระใหม่ไม่คุ้นนี่ยากเหมือนกัน คือถ้าไม่ถามเราไม่รู้หรอก เรานึกว่า เออ มันน่าจะง่ายๆ เนอะ เอ้อ พอถามท่านจึงรู้ว่าท่านว่ายาก แต่ว่าภาษาบาลีเยอะใช่ไหม (เสียงตอบ “ใช่ครับ แล้วก็ภาษาที่ไม่ใช่บาลีมัน... พออ่านแล้วมันวกไปวนมา ผมเลยไม่ค่อยเข้าใจครับ”) เหรอ อ๋อ มันก็... จะว่าไปมันก็เป็นตำราอย่างหนึ่ง เพราะว่ามันต้องอธิบายตัวหลักเลย ก็เอาทำไงก็พยายาม...ยังมีความพยายามต่อไหมล่ะ (เสียงตอบ “มีครับ ถ้าพยายามทุกวันครับ”) เอ้า ดีแล้วโมทนา ก็คิดว่าจะอ่านจบไหวไหม (เสียงตอบ “อ่านจบไหวครับ แต่จะพยายามเข้าใจให้ได้ครับ”) เอาๆ โมทนาด้วย นี่แสดงว่ามีความเพียร ใจสู้ ความเพียรนี่แปลว่า “ใจสู้” นะ
คนไม่ค่อยรู้หรอกว่าเพียรแปลว่าอะไร เพียรนี่ วิริยะ ภาษาบาลีมาจากคำว่า วีระ นะ ความเพียรนี่คำเดียวกับคำว่า วีระ ที่เราเป็น วีรชน วีรบุรุษ นะ วีระ ภาษาบาลีทำตามหลักไวยากรณ์แล้วกลายเป็นนาม เป็นภาวะนามว่า วิริยะ แต่นิยมเป็น วีริยะ ไทยเรามาเรียกเป็น วิริยะ ภาษาบาลีนิยมเป็น วีริยะ แต่ว่าในพระไตรปิฎกและอรรถกถาของไทยนี่เป็น วิ บ้าง เป็น วี บ้าง ก็มาจาก วีระ ที่แปลว่าแกล้วกล้า ใจสู้ คนที่ทำอะไรแล้วใจสู้นี่ก็คือมีความเพียรนั่นเองนะ
เอ้า ทีนี้ก็??อัคคพโล??แล้ว ทีนี้ก็??ธนกโร??ซี่ เออ (เสียงตอบ “ครับ”) อ่านจบไหมครับ (เสียงตอบ “ยังไม่จบครับ”) ได้เท่าไร (เสียงตอบ “อ้า ได้ ๒-๓ หน้า ผมก็ข้ามไปอ่านพุทธธรรมเลยครับ” หัวเราะ) เอ้า ทำไมล่ะ อ่านนี่แล้วมันดี เอ้อ ดูซี่ (เสียงตอบ “เพราะว่าผมชอบอ่านที่มียกตัวอย่างเป็นเนื้อเรื่องมากกว่าน่ะครับ”) เหรอ (เสียงตอบ “ครับ”) แต่อันนี้มันเป็นการสรุปหลักให้ คือถ้าทำความเข้าใจอันนี้แล้วเราจะมองเห็นภาพรวม มันจะช่วยได้ พยายามอ่านนะ ไหวไหม (เสียงตอบ “ครับผม ไหวครับ”) อ้าว พยายาม ไหวก็แสดงว่ามีวิริยะอยู่นะ ใจสู้ และวิริยะนี่ที่จริงมันต้องเริ่มด้วยฉันทะ ฉันทะแปลว่าพอใจ อยากทำ อยากรู้ อย่างนี้เรียกว่ามีฉันทะ ถ้ามีฉันทะแล้วก็เริ่มต้นได้ (เสียงตอบ “ครับ”) ฉันทะเป็นตัวต้นเลยในอิทธิบาท ๔ ก็ฉันทะ นี้ก็โมทนาท่าน??ธนกโร??นะ
??ธนกโร??แล้วก็ไปท่าน... ต่อไปก็ท่าน... ??ธนกโร??แล้วก็ไปมีโน่นเลย เดี๋ยวมองข้ามไปองค์โน้นองค์ท้าย??สีสิวกโร?? เอ้า ไม่เป็นไร เอาน้องเล็กก่อนเอาน้องเล็ก (เสียงตอบ “ไม่ใช่ครับ ผมต่อจาก...”) ใช่ แต่ว่าอยากจะถามน้องเล็กก่อน (เสียงตอบ “อ๋อ ครับผม”) เดี๋ยวๆๆ จะย้อนมาท่านอีกทีนึงนะ เอ้า น้องเล็กว่าไง (เสียงตอบ “อ่านจบแล้วครับ”) ไหน อ่านจบเหรอ (เสียงตอบ “อ่านจบแล้วครับ”) แล้วเข้าใจดีหรือเปล่า (เสียงตอบ “แต่ว่า (หัวเราะ) ลืมไปเกือบหมดแล้ว เพราะว่าไปอ่านเล่มอื่นต่อ”) เป็นไงนะ เป็นไงลืมหมด (เสียงพระอีกรูปช่วยตอบ “ไปอ่านเล่มอื่นต่อก็เลยลืมหมด”) อ๋อ เอาจับหลักให้ได้ซี่ อันนี้ที่จริงสำคัญให้ไว้
เอ่อ เอ้าก็เอาย้อนมาท่าน??ธีระจิตโต?? แล้วเดี๋ยวค่อยวนกลับมาอีกองค์ที่ ๓ นะ ??ธีระจิตโต??อ่านจบไหม “เสียงตอบ“ครับ อ่านแค่บทเดียวครับ ภาวนา ๔ ครับ”) ภาวนา ๔ ก็เยอะเหมือนกันนะ ๔ ข้อนั้นนะ (เสียงตอบ “ครับ”) นี้หมายถึงว่าอ่านมาได้แค่นี้ (เสียงตอบ “ใช่ครับ”) แล้วยังจะอ่านต่อไหมล่ะ (เสียงตอบ “ก็จะอ่านต่อครับ แต่ว่าก็ต้องทำความเข้าใจก่อนครับ”) อ๋อ ทำความเข้าใจ เอ้อ ยังมีฉันทะอยู่ว่างั้นเถอะนะ (เสียงตอบ “ครับ”) ก็ดีแล้ว ก็โมทนาด้วย ก็อันนี้เป็นหลักสำคัญที่ควรจะรู้ไว้เพราะว่าเป็นการสรุปหลักพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะในภาคที่นำมาใช้ปฏิบัตินะ
เนี่ย ดูซี่นึกอีกท่านหนึ่งนี่อีกองค์ๆ ที่ ๓ นี่นึกชื่อไม่ทัน เอ้า บอกชื่อเอง (เสียงตอบ “??ฐิตวิโภ??ครับ”) เออนี่??ฐิตวิโภ??แหม ชื่อนี้สำคัญเสียด้วยนะ??ฐิตวิโภ?? วิโภ วิภา แปลว่า แสงสว่าง ฐิตะ แปลว่า ที่มั่นคง ให้เป็นแสงสว่างแห่งปัญญาที่มั่นคง นี่ไปอ่านจบหรือยังล่ะ (เสียงตอบ “อ่านไปครึ่งเล่มครับ”) ครึ่งเล่ม แล้วยังตั้งใจจะอ่านต่อ (เสียงตอบ “มีฉันทะจะอ่านต่อครับ”) อ๋อ ดีแล้ว โมทนาด้วย อ่านให้จบ แล้วเท่าที่อ่านพอจะเข้าใจดีไหม (เสียงตอบ “เอ่อ คือผมพยายาม... อ่านแล้วพยายามจับใจความครับ ทีนี้เวลาอ่านไปเรื่อยๆ เนี่ย จะมีการอ้างถึงสิ่งที่อ่านก่อนหน้านี้ครับ ทำให้ต้องพลิกไปพลิกมาครับผม”) อ๋อ ก็ถ้าเข้าใจตอนต้นแล้ว พออ้างถึงก็จะชัดขึ้น (เสียงตอบ “ครับ”) แต่นี้ตอนนี้แสดงว่าข้างต้นก็เผลอลืมไปบ้างนะ (เสียงตอบ “ครับ อาจจะไม่คุ้นชินกับ... อ้า”) ก็ดีแล้วนี่แหละก็ยังมีฉันทะก็โมทนาด้วย (เสียงตอบ “สาธุครับ”)
เอาละ ได้ถามกันทั่วๆ ไปพอทราบ นี้ก็ได้เล่าให้ฟังจะได้เข้าใจสิ่งที่ได้มอบให้ด้วย คือเป็นหนังสือที่เกิดโดยตัวเองก็ไม่ได้คิดจะทำหรอก เขาถามคำถามมาเป็นองค์กรใหญ่มาก นี่ก็เอ้าจำเป็นต้องตอบเขา ตอบไปแล้วมานึกดู เอ้อ ที่ตอบไปนี่ขยายความออกมาซะก็จะเป็นประโยชน์ ขยายไปขยายมาก็เลยกลายเป็นหนังสือ ๒๔ หน้า ก็ไม่มากอะไร นี้ก็เป็นหลักสำคัญที่เหมือนกับนำเข้าสู่พุทธธรรมได้ ก็เลยตั้งชื่อว่า บทนำสู่พุทธธรรม นี้ก็เลยตั้งชื่อเป็นนามสร้อยหรือชื่อย่อยออกไปว่า ชีวิตงาม สังคมดี ธรรมชาติเป็นรมณีย์ อันนี้ก็เป็นจุดย้ำสำคัญในพุทธศาสนาซึ่งเราข้ามกันไปมากนะ แล้วก็อยู่ในหลักนั่นแหละ
นี้ในหนังสือนี่ที่ได้พูดไว้สำคัญก็คือหลักเรื่องการพัฒนามนุษย์นะ พัฒนามนุษย์ที่มี ๔ ข้อ แล้วเดี๋ยวจะทวนท่านว่ามีอะไรบ้าง ภาวนา-พัฒนา ภาวนานี้การพัฒนา ในนั้นบอกแล้วบอกภาษาพระพัฒนาคนเรียกว่า “ภาวนา” ภาษาไทย ภาวนา แปลว่าท่องบ่น (หัวเราะ) แปลว่ามุบมิบมุบมิบนะ ภาษาพระ ภาวนา แปลว่าการพัฒนามนุษย์ ส่วนคำว่า พัฒนา ในภาษาพระภาษาบาลีเนี่ยเป็นคำสามัญใช้กับได้ทุกอย่าง อะไรที่มันเจริญเติบโตใหญ่ขึ้นก็เรียกว่า พัฒนา ฉะนั้นในที่นั้นก็เลยยกตัวอย่างให้ดูว่าในภาษาบาลีเนี่ย แม้แต่กองขยะใหญ่ขึ้น ท่านก็เรียกว่าพัฒนา (หัวเราะ) ภาษาไทยเนี่ยเอา พัฒนา มาใช้เพราะว่าคำว่าพัฒนานี้... คำว่า ภาวนา ในภาษาไทยนี่มันเพี้ยนไปแล้ว ถ้าเอามาใช้คนเข้าใจผิด ก็เลยกลายเป็นสับสนกันใหญ่ในภาษาไทยนี้วุ่นไปหมดนะ นี้เราก็พยายามมาทบทวนหลักให้มันรู้กันให้ถูกต้องว่าการพัฒนามนุษย์เรียกว่า ภาวนา แล้วมี ๔ อย่าง นี้เดี๋ยวจะค่อยย่อยออกไป
ที่จริง ภาวนา นี้ต้องตั้งขึ้นก่อนด้วยซ้ำ แต่ในที่นั้นไปพูดเอาสิ่งที่คนไทย ชาวพุทธไทย พระไทย รู้จักกันมากก่อน ก็เลยไปขึ้นด้วยเรื่องบุญกิริยา เรื่องไตรสิกขา ที่จริงนะหลักใหญ่มันอยู่ที่ภาวนาหรอกนะ ต้องเริ่มที่นั่น ในที่นี้เริ่มสิ่งที่คนรู้จักก็เลยเอาบุญกิริยากับสิกขา นอกจากนั้นก็จะไปพูดถึงเรื่องรมณีย์...สภาพรมณีย์ ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่คนไทยลืมแทบหมดสิ้นเลยนะ พระไทยนี่แทบจะไม่เหลือเลยนะรมณีย์ ทั้งๆ ที่ในพุทธศาสนาเป็นจุดตั้งต้นเลย พระพุทธเจ้าจะบำเพ็ญเพียรก็หาที่รมณีย์ก่อน พอพบแล้ว รมณีโย วต ภูมิภาโค ตรัสขึ้นมาเลยนะ แล้วก็ “เอาละ” นี่ตรัสนะ “เอาละ” (อลํ) นี่ อลํ แปลว่าเอาละ เอาละเราเอาที่นี่ละเป็นที่บำเพ็ญเพียรนะ ต้องขึ้นว่า รมณีโย วต ภูมิภาโค นะ นี้จุดตั้งต้นของพุทธศาสนามาจาก รมณียภูมิภาค หรือสถานที่รมณีย์ ก็เลยเน้นเรื่องรมณีย์แล้วไปสัมพันธ์กับเรื่องหลักภาวนาด้วย
แล้วก็ต่อไปก็เรื่องบุญ คนไทยก็ไม่รู้เรื่องแล้วบุญเดี๋ยวนี้เป็นอะไรว่ากันนัวเนียหมดนะ ไปทำบุญ...ทำบุญ ไม่รู้ว่าชีวิตของตัวที่อยู่ในชุมชนของตัว ในบ้านของตัวนี้แหละเป็นจุดเริ่มของการทำบุญ นี้ในสมัยก่อนที่ผมจำได้เป็นเณรเนี่ย มีการเทศน์เรื่องวัตรบท ๗ ของพระอินทร์นะ อันนี้หายไปเลย นี้วัตรบท ๗ ของพระอินทร์นี้ก็คือพระอินทร์ในพุทธศาสนา พระอินทร์ของอารยัน ศาสนาพราหมณ์เดิมนะที่หันมานับถือพุทธศาสนาแล้วก็เปลี่ยนเป็นพระอินทร์ใหม่นะ พระอินทร์ท่านนี้ก็ถือวัตรบท ๗ ก่อนที่จะไปเกิดเป็นพระอินทร์ เนี่ยถ้าคนไทยถือวัตรบท ๗ ได้แล้วเป็นพลเมืองดีแน่นะ เอาละก็ทำบุญชื่อแกท่านผู้นี้ตอนเดิมเป็นมาณพชื่อว่า มฆะ แต่ก่อนนี้จะมีการเทศน์เรื่องมฆมาณพ มฆมาณพนี่เป็นหัวหน้ากลุ่มคนหนุ่มที่บำเพ็ญประโยชน์ ก็ไปเริ่มต้นด้วยการทำในที่ทำงานอะไรของตัวเองเนี่ยที่เล่าไว้ในนั้นน่ะให้สะอาด ให้มันเป็นรมณีย์ ท่านเรียกว่าเป็นรมณีย์ ทำให้สะอาด ทำให้มันน่าดูน่าชม เรียกว่ารมณีย์ ทีนี้คนอื่นก็มาก็ “เอ้อ ตรงนี้มันดีนี่” ก็เลยผลักแกไปนะ ผลักตามฆมาณพออกไป “ฉันขอเอาละ” มฆมาณพก็ไม่ว่าอะไร เอ้า ไปทำตรงอื่นเป็นรมณีย์ใหม่ ไปกวาด ไปทำความสะอาดเสร็จนั่งพักทำงาน คนอื่นมาเห็น “เอ๊ย ตรงนี้ดีนี่” ผลักมฆมาณพออกไปอีก เข้าอยู่แทน มฆมาณพไม่ว่าอะไร ท่านก็ไปทำที่ใหม่ก็ไปยังงี้ นี้ต่อมาก็เห็น “เอ้อ เราทำให้คนอื่นมีความสุข ดีแล้วนะ” นี่แหละบุญแล้ว นี่แน่ะนี่เนี่ยบุญนี่เนี่ยบุญ ให้จำไว้บุญคืออย่างนี้นะ
นี้ก็เลยเอาละคนเขาจะได้อยู่กันสบาย ก็วันต่อมาก็เห็นคนอื่นเขาอยากได้อยู่ที่สบาย สะอาด เป็นรมณีย์เหมือนกัน ก็เลยไปเอาเสียมเอาจอบอะไรมา ทีนี้ก็มาจัดแต่งลานที่ประชาชนชาวบ้านนั้นแหละ ชุมชนนั้น หมู่บ้านนั้นมาทำงานกัน ก็ไปขุด ไปแต่ง ไปจัด จนกระทั่งสะอาดเรียบร้อยเป็นรมณีย์ นี้พวกชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นก็สบายสิทีนี้นะ ก็มาใช้ที่นั้น นี้หนุ่มมฆะนี่ก็ไม่หยุดแค่นั้น เอ้อ ได้เห็นว่าคนเขาสบายมีความสุขนะ เอ้อ เราก็มาทำให้หมู่บ้านของเราเนี่ย ถนนหนทางมันไม่สะอาด มันไม่ราบเรียบสม่ำเสมอคนลำบาก เราไปทำเถอะนะ แกก็ไม่ว่าใครทั้งนั้นน่ะ ตั้งใจอยากจะทำให้คนอื่นมีความสุขนะแล้วก็ทำให้ดี บอกว่า เอ้อ เราก็ได้เห็นว่าคนชอบรมณีย์ ก็เอาเสียม เอาจอบ เอาอะไรต่ออะไรมีดพร้าไปขุดไปแต่งถนนหนทางในหมู่บ้าน
ต่อมาแกไปทำงานนี้แกเหนื่อยนี่กว่าจะได้กลับบ้านเย็นค่ำ หนุ่มบ้านใกล้เห็นเข้าก็ถามว่า “ไปไหนมา มืดค่ำเพิ่งกลับมา ไม่เห็นหน้าทั้งวัน”ว่างั้น ก็บอกว่า “ไปทำทางสวรรค์” ว่างั้นนะ “ไปทำบุญ” บอกว่าไปทำบุญ ไปชำระทางสวรรค์ว่างั้น ก็หนทางแกทำให้สะอาดใช่ไหม แกใช้คำนี้ “ไปทำบุญ ชำระทางสวรรค์” ก็เพื่อนก็คงถามต่อสนใจก็เลย “เอ้อ ดีนี่ เอาเราเอาด้วย” ก็เลยได้เพื่อนอีกคน คนนี้ก็พอเช้าก็ฉวยจอบเสียมไปด้วยกันนี่ไปขุดแต่งอะไรต่ออะไร เออ คนอื่นเห็นก็ชอบใจเอาบ้าง เลยมีอาสาสมัครแบบนี้มาร่วมกลุ่มกับมฆมาณพได้ ๓๓ คนนะ
นี้ก็???ทำกันใหญ่ นอกจากขุดแต่งถนนหนทางแล้วก็ขุดสระน้ำนะ สระน้ำนี่สำคัญ แล้วก็ทำสะพานนะ ที่ไหนมันต้องข้ามแม่น้ำก็ทำสะพานไปอะไรงี้ ทำไปจนกระทั่งไปถึงหมู่บ้านอื่น เขาก็เห็นประโยชน์อะไรต่ออะไรก็เลยทำให้ดีจนกระทั่งว่าในหมู่บ้านใน... เขาเรียกนายบ้าน??คามโภชกะ?? อะไรพวกนี้ แกก็ “เอ๊ะ ไอ้พวกนี้มันทำอะไรกันเนาะ” ว่างั้นนะ เอ้อ แล้วก็มฆะนี้แกก็เมื่อแกทำความดีไปคนก็นับถือ คนก็เชื่อถือมาก แกก็ชวนชาวบ้านว่า “เออ พวกเราอย่าเลยนะ อย่ากินสุราเมรัย อบายมุขอย่าเอา ถือศีลห้าช่วยกัน” คนก็เชื่อถือก็เลิกสุรากันมากมาย ทีนี้นายหมู่บ้านเนี่ยเคยได้เงินเขาเรียกเก็บส่วยจากไอ้พวกต้มเหล้าอะไรต่ออะไรพวกนี้นะก็เลยไม่พอใจกลุ่มหนุ่มนี้ ว่าพวกนี้มาทำให้เราเสียรายได้ ไม่เอาละ จะต้องกำจัดเจ้าพวกนี้ละนะ เอาไว้ไม่ได้แหละ นี่เห็นไหมผู้ปกครองต้องระวังเหมือนกัน
นี้ก็ เอ้า เรียกมาบอกต้องใช้คำว่า “พวกแกทำอะไรกัน” บอก “พวกผมทำบุญชำระทางสวรรค์ขอรับ” ว่างั้นนะ นี่นายบ้านก็บอก “มันไม่ใช่เรื่องของแกนะ พวกแกนี่ต้องเข้าป่านู่น แล้วมาเอาเก็บเหล้ายาปลาปิ้ง ไปเอาปลาเอาอะไรมาแล้วก็ทำเหล้าต้มกินกัน” ว่างั้นนะจึงจะถูกต้อง พวกนี้ก็ไม่ยอมฟัง ไม่เชื่อถือ ไม่เชื่อนายบ้าน ก็ชวนกันไปทำงานบำเพ็ญประโยชน์อย่างนั้นต่อ นายบ้านก็โกรธมากต้องหาทางกำจัดให้ได้ ก็เลยไปฟ้องถึงพระราชา ก็เล่าเรื่องไว้ในนั้นแล้วไม่ต้องเอาให้จบ ก็เอาเป็นเพียงว่าพระราชาก็ให้จับมา จับมาแล้วก็จะให้ช้างเหยียบลงโทษ ช้างก็ไม่เหยียบ เอาเสื่อลำแพนมาปูทับ มันจะได้ไม่เห็นตัวคนว่าคนมันเยอะตั้ง ๓๓ คน ช้างอาจจะไม่กล้า ปูเสร็จแล้วช้างก็ไม่เหยียบ พระราชาเอะใจก็เลยทรงสอบสวน พอรู้ว่าพวกนี้บำเพ็ญประโยชน์ก็เลยอนุโมทนา เอาช้างที่จะเหยียบนั้นล่ะมอบให้เลยเอาไปใช้งาน แล้วก็มอบนายบ้านนั้นให้เป็นคนรับใช้ของคณะนี้ไป
เนี่ยอันนี้เป็น... สมัยก่อนนี่เทศน์เรื่องบุญเนี่ย บุญนี้แหละ...นี้แหละทำบุญ คนเดี๋ยวนี้เข้าใจไหมทำบุญแบบนี้ ไม่เข้าใจไหมครับ ไม่รู้เรื่องเลยใช่ไหม เพราะฉะนั้นควรจะเอามาเทศน์กันเนี่ยมันเพี้ยนไปมากแล้ว ก็เลยยกเรื่องทำบุญนี่ทำบุญทำชุมชนของตัวให้อยู่กันดี ให้อยู่กันดีสภาพแวดล้อมท้องถิ่นดีเป็นรมณีย์เนี่ยเน้นตัวนี้ด้วย ใจความสำคัญของหนุ่มมฆะนี่ก็พยายามทำท้องถิ่นให้เป็นรมณีย์ แล้วก็สร้างศาลาที่สี่แยก พวกผู้หญิงก็มาช่วยกัน มาปลูกสวนดอกไม้อะไรต่ออะไร ทำไม้แล้วก็ไล่พูดเรื่องรมณีย์ให้เห็นว่ารมณีย์เนี่ยเป็นเรื่องสำคัญในพุทธศาสนาอย่างไรก็เล่าให้ฟังไป
เอ่อ จะให้ยกตัวอย่างในนั้นเยอะว่าในพุทธศาสนา ในพระไตรปิฎกนี้ท่านเน้นเรื่องรมณีย์อย่างไร แล้วก็ในอรรถกถาก็จะบรรยาย เราก็จะได้เห็นว่าสภาพรมณีย์นี่ หนึ่ง ต้องมีน้ำและร่มเงา อันที่หนึ่งองค์ประกอบสำคัญ น้ำ ร่มเงา น้ำก็แม่น้ำ แหล่งน้ำ สระน้ำอะไรก็ได้ สอง ร่มเงาก็ต้นไม้ใช่ไหม เนี่ยนี่คือใจความของการอนุรักษ์ธรรมชาติเลยใช่ไหม เนี่ยพุทธศาสนาสอนไว้เรื่องนี้พื้นฐานเลย เริ่มต้นต้องให้มีสภาพรมณีย์ พระจะอยู่ จะปฏิบัติธรรม พระต่างถิ่นมาถาม “เอ้อ ท่านจะมาทำอะไร” บอก “จะมาขออยู่ด้วย จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรม” “เอ้อ ที่นี่เป็นรมณีย์ เชิญท่าน” ให้ว่างี้ ก็หมายความว่าท่านมีสภาพรมณีย์พร้อมที่จะต้อนรับพระอื่น เพราะว่าสภาพที่นั่นเหมาะแก่การที่จะปฏิบัติธรรม นั้นสภาพรมณีย์นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่คนไทยไม่น่าจะลืมจึงได้ยกมานะ
รมณีย์ก็มีหนึ่งก็ ฉายูทก ร่มเงาและน้ำนะ ก็คือต้นไม้และน้ำนี้สำคัญที่สุด ต่อไปก็มี ภูมิภาคสมบัติ ถึงพร้อมด้วยภูมิภาค ถิ่นที่นั้นทิวทัศน์สวยงาม สะอาดเรียบร้อย ลมเย็นสบาย ท้องฟ้าแจ่มใส มองเห็นภูเขาอะไรทิวเขาแล้วแต่ ก็ท้องฟ้าก็ไม่มีหมอกควันอะไรต่ออะไรท่านก็ว่าไป แม้แต่กลางคืนท่านก็พูดถึงว่าจันทร์กระจ่างฟ้า ราตรีแจ่มใสไร้หมอกควันอะไรต่ออะไร ในคัมภีร์บาลีท่านว่าไว้ มันมาตกกับคนสมัยนี้หมดเลยใช่ไหมสภาพแวดล้อมที่มันเป็นปัญหาน่ะ ถ้ารักษาหลักพุทธศาสนามาล่ะไม่มีปัญหาเลย ท่านเน้นเรื่องนี้มาก
เอาแล้วนั้น ๑) ฉายูทก ฉายูทกสมบัติ ถึงพร้อมด้วยน้ำและร่มเงา ๒) ภูมิภาคสมบัติ ถึงพร้อมด้วยถิ่นทำเลที่งดงาม หมายความว่าท่านบรรยายแม้กระทั่งว่าเนี่ยมีชายหาดนี้จะต้องอยู่ริมน้ำ ริมทะเล ชายหาดที่ทรายเหมือนกับ... พื้นทรายเหมือนกับปูลาดด้วยแผ่นเงินนะ หรือลาดด้วยแผ่นทองอะไรทำนองนี้นะอย่างนี้เลยนะ คัมภีร์บาลีนี่จะพยายามพรรณนาความงดงามพวกรมณียสถานเนี่ยนะ ท่านจะเน้นความสำคัญของพวกนี้มาก เราลืมหมดเลยนะ ไปเน้นอะไรกันก็ไม่รู้
เอานะ เป็นอันว่า ๒) ภูมิภาคสมบัติ ทิวทัศน์สวยงาม เดินสบาย อยากเดินเล่นอะไรอย่างนี้ ต่อไปก็ คมนาคมนสมบัติ ถึงพร้อมด้วยคมนาคม แปลว่าเดินทางได้สะดวก ไม่ใกล้เกินไป ไม่ไกลเกินไป แล้วก็ ปุคคลสมบัติ ถึงพร้อมด้วยบุคคล ก็คือไม่มีคนที่เป็นภัยอันตราย แต่ว่ามีคนที่ดี คนที่มีสติปัญญา เป็นต้น ที่จะเป็นที่ปรึกษา ได้เข้าไปหา เข้าไปฟัง เข้าไปถามปัญหา หรืออะไรก็แล้วแต่ได้ อย่างวัดนี่ก็ต้องเป็นรมณีย์แบบนี้นะ เอาละนี่ก็เล่าให้ฟังนี่ที่ท่านเน้นเรื่องรมณีย์นะ ถึงกับพูดถึงคุณสมบัติของสภาพรมณีย์ไว้นะ ก็เลยยกเอาเรื่องรมณีย์นี้มาเน้น ตอนนี้จะเน้นเรื่องนี้มากเพราะควรจะฟื้นกันเสียที
อันนี้ก็พูดเรื่องบุญใช่ไหมกับเรื่องรมณีย์นี่จะเน้นมาก บุญให้เข้าใจว่ามันไม่ใช่มาแค่เอาของไปถวายพระที่วัดนะ อยู่กันให้ดีนะ ในหมู่บ้านนี่ช่วยเหลือกัน ทำท้องถิ่นให้ดี แล้วก็อยู่กันได้ดีมีศีลมีธรรม แล้วต่อไปก็จะมีความสัมพันธ์กับพระ ว่าพระมีความประพฤติดี เอ้อ ท่านมาท่านจะได้ให้ธรรมเราเป็นกัลยาณมิตร เรารู้ธรรมไม่พอ เราก็เลยมีหลักอามิสทาน ธรรมทาน เป็น อญฺโญญฺญนิสฺสิตา พึ่งพาอาศัยกัน เพื่อให้พระอยู่ สร้างกุฏิให้อยู่ แล้วก็จะได้ฟังธรรมถามปัญหาอะไรท่านเนี่ย ก็นี้ก็เป็นหลักการพื้นฐานของพุทธศาสนาในการที่จะมาพัฒนามนุษย์
ทีนี้เอาก็เข้ามาสู่หลักนี้ ฟังไว้แล้วก็ลองไปดู อ่านโดยมีพื้นความเข้าใจนี้จะช่วยได้ ภาวนา ๔ ก็มี กายภาวนา การพัฒนากาย เอ้อ คนที่เรียนนักการศึกษานี่สมัยก่อนนี่เน้นนัก John Dewey ว่างั้นนะ Child Center Education ว่างั้นนะ จะเน้นไอ้เรื่อง Development 4 พัฒนาการ ๔ ด้านนะ พัฒนาการทางกาย พัฒนาการทาง...นี่แหละแปลกันผิด เดี๋ยวนี้ได้ยินวิทยุยังแปลผิดเรื่อย บอกไปไม่รู้กี่ครั้งแล้วบอกอย่าแปลยังงี้ ไปแปล Mental Development ว่า การพัฒนาทางจิต ใช้ไม่ได้ Mental ในที่นี้ไม่ใช่จิตใจนะ ภาษาอังกฤษนี่มันเป็นคำกำกวม Mind แปลว่าจิตใจนี่มันคลุมจริง แต่ว่าจะเห็นว่าภาษาอังกฤษนี่เวลาจะเอาจริง Mind มันไปเน้นที่สมอง เวลาฝรั่งจะเอาด้านความรู้สึกจิตใจมันพูดไม่ได้แล้ว Mind ต้องไปเอาศัพท์รูปธรรมมาใช้ ก็เป็น Mind and Heart คือถ้าไปพูดถึงเรื่องความรู้สึกจิตใจนี้จะเป็น Heart เพราะเขาไม่มีศัพท์นะ แล้วทีนี้ก็เลยเอาไอ้ Mind นั้นมาเป็น Head เป็น Head กับ Heart คู่กัน Head ก็คือหัวสมอง ได้แก่ Mind แล้วก็ Heart นั้นก็เป็น Emotion นะ Heart ก็เป็นข้อ Emotion อันนั้นก็แปลกันผิดพลาดหมด Mental ในที่นี้แปลว่าสติปัญญา ...ปัญญา (อย่างเดียว) ห้ามแปลว่าสติ สติไม่ต้อง พัฒนาปัญญา แล้วฝรั่งเขาจะมี ??End Alternative Term?? และใช้ Mental แล้วก็ได้ ใช้ Intellectual ก็ได้ ใช้ Cognitive ก็ได้ ใช้ ๓ คำนี้สำหรับข้อนี้นะ ถ้าไปงง Mental ไปแปลเป็นจิตใจก็เอา Intellectual หรือ Cognitive แทน
แล้วก็ข้อต่อไปก็ Emotional Development การพัฒนานี่แหละคนไทยได้ยินวิทยุบ่อยมากในระยะเป็นสิบๆ ปีนี้ พัฒนาการทางอารมณ์ ผิด นี่แหละ อารมณ์ ภาษาพระน่ะมันแปลว่าสิ่งที่จิตยึดเหนี่ยวจิต สิ่งที่จิตรับรู้เรียกว่า อารมณ์ สิ่งที่ถูกรับรู้เนี่ยเรียกว่า อารมณ์ Emotional ก็คือจิตใจนี่แหละ Emotional ก็ด้านจิตใจ ด้าน Heart อันนั้นก็เลยต้องแปลใหม่ ด้านจิตใจก็คือข้อ Emotional Development พัฒนาการทางจิตใจ อย่าไปแปล พัฒนาการทางอารมณ์ แล้วก็ข้อสุดท้ายเขามักจะสับกันบ้าง Social Development ก็ การพัฒนาทางสังคม
ทีนี้พุทธศาสนามีมาก่อนนานละ ท่าน Dewey นี่ก็ร้อยกว่าปีนี้เนี่ยนะ นี้พุทธศาสนาสอนมา ๒ พันกว่าปี เราลืมหมดเลย ภาวนา ๔ นี้มีใครพูดถึงบ้าง...พูดไหม
๔ ข้อ ก็เริ่มข้อ ๑ ภายภาวนา (พัฒนากาย) ของพระไม่ใช่พัฒนาร่างกายให้เจริญเติบโต มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ใช่อย่างนั้น ของพระท่านอธิบายเลย กายภาวนา หมายถึง พัฒนาเบญจทวารกาย เข้าใจไหมเบญจทวารกายคืออะไร หมายถึงพัฒนากายได้แก่ทางรับรู้ ๕ ช่องนี่ พัฒนาทางรับรู้ก็การศึกษามันต้องเริ่มที่นี่นะ พัฒนาทางรับรู้ ๕ ช่อง กายของเรานี่เป็นที่ประชุม กายแปลว่าที่ประชุมนะ ที่ประชุมของทวาร (ช่องทาง) ของผัสสะ ผัสสทวาร คือเบญจทวารกายนี่แปลว่าประชุม ประตู หรือช่องทาง ๕ ช่อง ก็ต้องขยายว่าไอ้เบญจทวารนี้คืออะไร ทวารในที่นี้ท่านก็จะขยายความว่าผัสสทวาร ผัสสทวารก็แปลว่าทางรับรู้ ทางรับรู้มีอะไรบ้าง
ตา รับรู้ด้วยการดู เห็น
หู รับรู้ด้วยการฟัง ได้ยิน
จมูก รับรู้ด้วยการดมกลิ่น
ลิ้น รับรู้ด้วยการลิ้มรส
กาย รับรู้ด้วยการสัมผัส แตะต้อง จับอะไรพวกนี้
นี่แหละทางรับรู้ ๕ ช่องนี่ก็คือการพัฒนากาย เริ่มต้นจะต้องพัฒนาการรับรู้ทางทวารทั้ง ๕ นี้ให้ได้นะ นี่แหละรมณีย์ก็มาตรงนี้นะ
รมณีย์ ก็คือว่าเราได้เห็นก็เห็นแต่ภาพที่สบายใจ ร่าเริง เบิกบาน สงบ สดใส ไม่ใช่ใจรุ่มร้อนกระวนกระวายนะ เพราะฉะนั้นท่านก็เน้นรมณีย์นี่ข้อ กายภาวนา คือให้ได้เห็น ได้ยิน ได้ยินก็เป็นเสียงที่มันสบาย นกเนิ้กอะไรต่ออะไรร้องกันนะตามป่าตามเขานะ ให้มีธรรมชาติที่เนี่ยร่มรื่น สบาย เพราะฉะนั้นวัดแต่โบราณก็ถือสำคัญจะต้องกวาดวัด ต้องทำวัดให้สะอาด ก็มาจากข้อรมณีย์นี่
เอานะก็เป็นอันว่าหนึ่ง กายภาวนา พัฒนากายอันเป็นที่ประชุมของผัสสทวาร คือช่องทางรับรู้ ๕ ทาง ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างน้อย ตา หู นี้เน้นมากว่าให้รับรู้เป็น รับรู้แล้ว ได้เห็น ได้ยิน เนี่ยไม่ใช่อยู่แค่ชอบใจ/ไม่ชอบใจ แต่ให้ได้เรียนรู้นี่สำคัญนะ ถ้ารับรู้ไม่เป็นใช่ไหม ก็เจอสิ่งไม่ชอบใจก็ไม่สบายใจ ไม่ชอบใจ เป็นทุกข์ละ เจอสิ่งที่ชอบใจก็อยากได้อยากเอา ไปโน่นมีแต่ความรู้สึก นี้ท่านบอกอย่าอยู่แค่นั้น ให้รู้จัก เอ้อ มันไม่น่าชอบใจ เอ๊อะ แต่มันเป็นอะไร มันคืออะไร เราน่าจะเรียนรู้นี่ ก็ถามแค่นี้ก็ เอ้อ มันคืออะไร มันเป็นอย่างไร มันเป็นโทษเป็นประโยชน์อย่างไร เอาไปใช้อย่างไร เอาละได้การเรียนรู้มาละ นี่แหละท่านให้รับรู้อย่างนี้ ฝึกๆ การรับรู้ว่าให้เป็นการเรียน แล้วให้ได้ความรู้สึกที่ดี ให้ได้ความรู้สึกสดชื่น เบิกบาน จิตใจสงบ มีความสุข เป็นกุศล เอ้อ น้อมใจไปสู่การที่จะทำความดีงามอะไรอย่างนี้ เนี่ยสำคัญมากเพราะฉะนั้นจึงต้องยกมาเน้นกันอีกสักทีหนึ่ง...ลืมหมด (หัวเราะ)
กายภาวนาเท่านั้นก็ไปไกลแล้วใช่ไหม รับรู้ทางตาแค่นี้ก็เยอะแยะแล้ว อย่าให้เป็นแค่ชอบใจ/ไม่ชอบใจ แต่ให้รับรู้แล้วเป็นการเรียนรู้ แล้วได้ปัญญา แล้วก็ได้กุศลธรรม ได้ความชื่นอกชื่นใจ สบายใจ สงบใจ จิตใจร่าเริง เบิกบาน ผ่องใส มีปราโมทย์อะไรต่างๆ เนี่ย เอาละนะแล้วหูก็เช่นเดียวกัน หูก็ฝึกฟัง อย่างในนั้นก็เล่าบอกว่าพระบางองค์เนี่ยท่านไปในหมู่บ้าน ท่านเลือกไม่ได้นี่ ไปบิณฑบาตมีคนร้องเพลง เอ้อ เขาร้องเพลงไพเราะ ท่านฟังเพลงแล้วท่านมีโยนิโสมนสิการรู้จักฟัง ท่านได้พิจารณาเห็นความจริงของชีวิต ตรัสรู้...เอ๊ย ขออภัย บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เลยนะ แค่ได้ยินเสียงเพลงนี่
อันนี้แหละข้อกายภาวนาสำคัญขนาดไหน ฝึกการรับรู้ รับรู้โดยเฉพาะตา หู นี่รับรู้ให้เป็น ให้เป็นการเรียนรู้ ให้ได้ปัญญา ให้ได้กุศลธรรม เนี่ยกายภาวนาเริ่มที่นี่ เป็นข้อที่หนึ่ง เราเอาไปไหนกันหมด (หัวเราะ)
เอ้อ ทีนี้ข้อ ๒ ศีลภาวนา จึงมาเรื่องสังคม การอยู่ร่วมกับผู้อื่นว่าไม่เบียดเบียนกัน เริ่มจากศีล ๕ เป็นต้น แล้วก็ว่าไปพัฒนาศีล แล้วก็ไปสงเคราะห์เกื้อกูล ศีลไม่ใช่มีแค่เว้น ศีลสังคหวัตถุนี่ท่านจัดเป็นศีล เป็นฝ่ายบวก ให้ช่วยเหลือกัน มีทานให้ ปิยวาจาพูดให้ไพเราะ พูดด้วยหวังดี อัตถจริยาบำเพ็ญประโยชน์ สมานัตตตามีตัวที่เข้ากันได้ มีความอะไร...เสมอภาคนะ มีตนเสมอสมานแปลว่าอย่างนั้น ทั้งเสมอและสมาน เสมอแบบพุทธนี่เสมอสมาน เสมอแบบฝรั่งบางทีเสมอตีกัน (หัวเราะ) แกเท่านี้ ข้าก็เท่าแก เพราะฉะนั้นเราต้องสู้กันแล้วใช่ไหม ทีนี้ เสมอ ของพระนี่เสมอกันก็มาสมาน เอ้อ เอามาร่วมกัน ให้จับให้ได้นะ เสมอ ของเรานี้เป็นเสมอสมาน เสมอภาค นี่ดีไม่ดีก็เอาแต่ว่า เอ๊ย เธอจะมาใหญ่กว่าฉันยังไง เท่ากันเลยนี้ก็ตีกันเท่านั้นเองใช่ไหม
เพราะฉะนั้นก็ต้องระวังไอ้เรื่องแนวคิดนี้ เอาละนะ กายภาวนา ศีลภาวนา ต่อไปก็ จิตตภาวนา ก็เน้นสมาธิ แล้วก็ตัวสำคัญก็เจตนาใช่ไหม เป็นตัวนำอะไรอย่างนี้ ในนั้นก็เขียนบอกไว้พอให้เห็นแนว สมาธิทำไมจึงเอามาเป็นแกนของจิตตภาวนาบอกไว้
แล้วต่อไปก็ ปัญญาภาวนา ก็พัฒนาปัญญา ตัวนี้ตัวสำคัญสุดยอดที่จะแก้ปัญหาได้ ที่จะบรรลุธรรมในพุทธศาสนา แล้วก็ลืมใส่ในที่ชุดนี้ที่ให้มานี้ ลืมใส่ โยนิโสมนสิการ ที่จะเขียนพิมพ์ครั้งใหม่นี้เลยเอา โยนิโสมนสิการ ใส่เข้าไปด้วย ให้สัก ๕-๖ บรรทัด เพราะโยนิโสมนสิการนี่เป็นตัวสำคัญในการสร้างปัญญา มันเป็นเครื่องมือจัดการกับจิตใจนะโยนิโสมนสิการ มันไม่ใช่ตัวปัญญา แต่มันเป็นตัวจัดการจิตใจให้ได้ปัญญา ถ้าจัดการจิตใจไม่เป็น คุณไม่ได้ปัญญาหรอกนะ อันนี้เครื่องมือของปัญญาก็คือโยนิโสมนสิการ มาจัดแจงจิตใจให้มันพร้อมที่จะได้ปัญญา ให้มันหันเหทิศทางไปในทางได้ปัญญา
เอาละนะนี่ก็เลยเนี่ย ภาวนา ๔ นี่คือหลักการพุทธศาสนา เราวัดด้วยภาวนา ๔ นี้แหละว่าเป็นพระอรหันต์หรือยัง ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วก็ภาวนา ๔ ครบก็เป็น ภาวิต ผู้ที่พัฒนาแล้วเนี่ยท่านเรียกว่า ภาวิต ภาวนานี่มันเป็นคำนาม ทีนี้พอเป็น ภาวิต เป็นคุณนามของคนเรียกว่า ภาวิต แปลว่าผู้พัฒนาแล้ว ก็เป็น ภาวิตกาย ผู้มีกายพัฒนาแล้วนี่ ฝึกกายดีแล้ว พระอรหันต์นี่เป็นภาวิตกายขนาดที่ว่าไปเห็นของที่ไม่สวย/ไม่งาม มองให้งามก็ได้ เอ้อนะ (หัวเราะ) ไปเห็นของที่งาม จะมองสิ่งที่ไม่งามให้เห็นในนั้นก็ได้ เอ้อ เก่งขนาดนั้นนี่ท่านเรียกว่า อินทรียภาวนา นี่ข้อกายภาวนาของท่านภาวิตกาย
ภาวิตศีล ก็มีศีลที่พัฒนาแล้วนะ ก็ไปดูเอา พอพูดอย่างนี้ก็เข้าใจละ แล้ว ภาวิตจิต มีจิตใจที่พัฒนาแล้วนะ จนกระทั่งบังคับจิตของตัวเองได้ ต้องการคิดเรื่องอะไรก็คิด ไม่ต้องการคิดเรื่องอะไรไม่ต้องคิด นี่ ภาวิตจิต ต้องถึงขนาดนั้นนะ ท่านเรียกว่า เจโตวสี มีจิตอยู่ในอำนาจ เอาล่ะซี่บังคับจิตใจได้ คนทั่วไปนี่ไม่ไหวใช่ไหม เนี่ยเจโตวสีนะพระอรหันต์เนี่ย นี่ภาวิตจิต แล้วก็ ภาวิตปัญญา มีปัญญาที่พัฒนาแล้ว ก็คือบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์นี่แหละ ภาวิตปัญญาก็เป็นอันว่าจบ เป็นอิสรภาพถึงวิมุตติ หลุดพ้น ไม่มีทุกข์ ไม่มีปัญหา แก้ปัญหาในใจได้หมดแล้ว
๔ ภาวนานี่เป็นหลักการใหญ่พุทธศาสนา แต่ทีนี้ว่ามันใช้ในการพัฒนามนุษย์ แต่ในทางปฏิบัติจะทำไงล่ะ แล้วมนุษย์นี้อยู่ในสิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน สภาพชีวิต การดำเนินชีวิต วิถีชีวิต สภาพสังคม สิ่งแวดล้อม สถานการณ์ เจอไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ แบ่งสังคมใหญ่ ๒ สังคม สังคมชาวบ้าน ๑ แล้วก็สังคมพระเรียกว่าสังฆะอีกอันหนึ่งเนี่ย จะเห็นว่าสภาพความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม สถานการณ์นี่คนละอย่างเลย นั้นท่านก็ต้องให้ข้อปฏิบัติเพื่อจะมาพัฒนามนุษย์นี่ไม่เหมือนกัน
ก็เลยแยกเป็น ๒ ระบบใหญ่ ระบบสำหรับชาวบ้านเรียกว่า ไตรพิธบุญกิริยา มีบุญกิริยา ๓ มีทาน ศีล ภาวนา ชาวบ้านนี่ต้องเริ่มด้วยวัตถุก่อน เพราะฉะนั้นเอาทานมาก่อนเลย แบ่งปันวัตถุกัน ให้วัตถุมันมี อย่าให้คนขัดสนจนกระทั่งต้องไปลักขโมยเขาเบียดเบียนกัน คนเรามันต้องอยู่ด้วยวัตถุพออยู่ได้ก่อน เพราะฉะนั้นท่านเอาทานมาเพื่อให้คนนี่รู้จักแบ่งปันกัน แล้วก็มีวัตถุพออยู่ได้แล้วทีนี้ก็เน้นศีล ศีลไม่ให้เบียดเบียนกัน พอมันมีวัตถุไม่ขาดแคลน มันมีการสงเคราะห์กัน มันก็ไม่ค่อยละเมิดศีลละ นี้ก็ทานก็มาเป็นหนึ่ง แล้วก็ศีลก็มาเป็นสอง แล้วต่อจากนั้นเมื่อศีลคุณอยู่ในสังคมเขาเรียบร้อยดีแล้ว ทีนี้คุณก็พัฒนาจิตใจและปัญญา แต่คุณมีเวลาน้อย โอกาสสถานการณ์โอกาสในชีวิตมันน้อยก็เลยเอามารวมกัน ทั้งจิตและปัญญามาเป็นภาวนา ก็เลย ภาวนา ก็สำหรับคฤหัสถ์ก็ไปอยู่ข้อเดียว เป็นทาน ศีล ภาวนา แล้วแยกภาวนาเป็นจิตตภาวนา ปัญญาภาวนา
เอาละทีนี้สำหรับพระสภาพแวดล้อมก็ไปอีกอย่างหนึ่ง การดำเนินชีวิตอีกอย่างหนึ่ง สถานการณ์เจอไม่เหมือนกัน แล้วจะต้องเน้นการพัฒนาฉันเต็มที่เลย เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็ให้ไตรสิกขาเลย เออ ทานนี่ไม่ต้องแหละ เพราะว่าพระนี่ไม่ต้อง... ไปอาศัยเขาอยู่นี่ ไม่ต้องมายุ่งกับเรื่องทานแหละ วัตถุไม่เอา ก็มาศีล พัฒนาเรื่องการเป็นอยู่วินัย การใช้กาย วาจา ให้ถูกต้อง ไม่มีการเบียดเบียนกัน ให้เกื้อกูลกัน แล้วก็มาจิต...จิตใจ เรื่องสมาธิ เรื่องอะไรต่างๆ เรื่องเจตนา เรื่องคุณสมบัติของจิต พัฒนากันไป แล้วก็ไปปัญญาอย่างที่ว่าแล้ว ก็ฝึกโยนิโสมนสิการ
นี่แหละเพราะฉะนั้นไอ้ตัวหลักใหญ่นี่มันเป็นภาวนา ๔ แล้วเพื่อจะวางหลักปฏิบัติให้มันเหมาะกับสภาพชีวิตสังคมก็จัดเป็น ๒ ระบบ ระบบปฏิบัติแบบไตรพิธบุญกิริยา บุญกิริยา ๓ นะ ท่านเห็นเหตุผลแล้วนะทำไมจึงมีทาน ศีล ภาวนา แล้วก็สำหรับพระเป็นไตรสิกขา ไม่ต้องยุ่งกับวัตถุ
เนี่ยจึงได้บอกว่าเนี่ยเอาเป็น บทนำเข้าสู่พุทธธรรม นะ อ่านให้...จับให้ได้ แม้แต่ในนี้ไม่พูดถึงอริยสัจหรอก พูดแต่เพียงว่าเมื่อท่านไปบำเพ็ญปัญญาภาวนา เจริญปัญญาดีแล้วก็จะรู้อริยสัจหมด พูดถึงแค่นั้น ไม่ได้พูดถึงเรื่องเนื้อหาเลย เอาภาคปฏิบัติเป็นสำคัญ
นี้คือ บทนำเข้าสู่พุทธธรรม ถ้าอ่านอันนี้เข้าใจ ท่านจะมองเห็นภาพพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นแค่ภายภาวนาเดี๋ยวนี้เราก็ขาดมากใช่ไหม ยอมรับไหม (หัวเราะ) ยอมรับไหมท่าน เอ้อ เพราะฉะนั้นสภาพรมณีย์นี้ควรจะเอามาเน้นกันเสียทีนะ น้ำ ต้นไม้ ๑ เลย พระพุทธเจ้าต้องบอกพุทธศาสนาเริ่มต้นที่สภาพรมณีย์ใช่ไหม พระพุทธเจ้าไม่เอาแล้วพวกสำนักต่างๆ เหล่านั้น อาฬารดาบสกาลามโคตร อุททกดาบสรามบุตร พระองค์จบแล้วเห็นว่าไม่ใช่ทาง ก็เสด็จออกมา แล้วมาทรงค้นคว้าด้วยตัวเอง ก็เริ่มการค้นคว้าก็หาที่เหมาะ ก็มาเจออุรุเวลาเสนานิคม บอก “รมณีโย วต ภูมิภาโค” บอก “ภูมิภาคนี้เป็นรมณีย์หนอ” แล้วก็พรรณนาบอกว่ามีไพรสณฑ์ร่มรื่น แล้วก็มีแม่น้ำไหลผ่าน น้ำก็ใสไหลเย็นอะไรต่างๆ เนี่ย หาดทรายและชายแม่น้ำก็ราบเรียบอะไรต่ออะไรนะ เป็นที่รื่นรมย์น่ะ “นี่แหละ เอาละ” พระพุทธเจ้าตรัส “เราจะใช้ที่นี่บำเพ็ญเพียร”
นี่คือจุดตั้งต้นพระพุทธศาสนานะ ก็เลยบอกไว้ในนั้นบอกว่า เด็กคนไหนมีฝีมือดีช่วยวาดภาพหน่อย วาดภาพตรงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้น่ะ พระพุทธเจ้าประทับนั่งที่ใต้ร่มโพธิ์ แล้วก็หลังต้นโพธิ์ก็คือไพรสณฑ์ดงไม้ป่าไม้ แล้วก็เบื้องพระพักตร์ข้างหน้าก็มีแม่น้ำเนรัญชราไหลผ่าน ก็มีน้ำกับร่มเงา เนี่ยคือคุณสมบัติ ๒ ประการเบื้องต้นของรมณีย์นะ ก็เอาอันนี้เป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนาได้ ของการอนุรักษ์ธรรมชาติก็ได้นะ อันเดียวกันเลย พุทธศาสนาเริ่มที่นี่ แล้วก็จะมีพระพุทธรูปหรือไม่มีก็ได้ มีต้นโพธิ์ก็แล้วกัน ถ้ามีพระพุทธรูปก็ได้แค่ตอนตรัสรู้ ถ้ามีแต่ต้นโพธิ์กับไพรสณฑ์และแม่น้ำเนรัญชราก็หมายถึงว่าที่นี้เป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ตั้งแต่มาพบจนกระทั่งตรัสรู้ แล้วก็เสด็จจากที่นี่ไปบำเพ็ญพุทธกิจ ก็พูดแค่มีต้นโพธิ์ แล้วก็มีป่า แล้วก็มีแม่น้ำ
นี่แหละมันจะเป็นความร่มเย็นแล้วก็มันจะมีความหมายเยอะเลย ก็เลยเขียนให้หน้าว่างไว้บอกว่า “เด็กที่มีฝีมือช่วยวาดภาพหน่อย” (หัวเราะ) เพราะว่าพระองค์ที่เขียนหนังสือนี้เขียนภาพไม่เป็น แล้วเด็กๆ ก็ต้องช่วยนี่แหละ เด็กเป็นคนสำคัญที่จะช่วยได้ดี ก็เลยเล่าให้ฟัง อันนี้คิดว่าเข้าใจแล้วนะ แล้วก็ไปอ่านดู นี่แหละเรื่องที่เขียนไว้ในนั้นน่ะก็คืออันนี้นะ จะได้เข้าใจเรื่องหลักการพุทธศาสนา การปฏิบัติ การพัฒนามนุษย์ที่เรามาบวชกันนี่เพื่อพัฒนา ๔ ด้านนี่ให้ได้ แต่ว่าของเรานี่แทนที่จะพัฒนาด้วยระบบไตรพิธบุญกิริยาอย่างญาติโยม ก็เราก็เข้มข้นด้วยหลักไตรสิกขานะ แล้วก็เราก็ต้องมีสภาพเริ่มด้วยภายภาวนาให้มีสภาพรมณีย์นะ แล้วก็มีการรู้จักถ้าเป็นชาวบ้านก็รู้จักทำบุญให้มันเป็นชุมชนที่อยู่กันดีนะ ถ้าเข้าใจหลักพุทธศาสนานี้แล้วเมืองไทยพัฒนา...คิดว่าดีแน่นะใช่ไหม มันจะเข้าเรื่องเข้าราว ไม่ใช่อยู่กันแบบ...ขออภัยจะเรียกว่าหลงไหม ไม่รู้อะไรเป็นอะไรเลยนะ ทำบุญก็ไม่รู้ความหมายชัดเจนนะ ทำไมทำทานมันเรื่องอะไร (หัวเราะ)
อ้าว ก็นี่แหละจึงได้เขียนมาแค่ ๒๔ หน้า ขอให้อ่านหน่อยนะ อ่านแล้วก็จับภาพให้ได้ว่ามันคืออย่างนี้นะ แล้วก็จะเห็นว่า อ๋อ ที่ทำไมจึงเรียกว่า บทนำสู่พุทธธรรม แล้วก็ให้คำสร้อยไว้ด้วยบอก ชีวิตงาม สังคมดี ธรรมชาติเป็นรมณีย์ ต้องครบ ๓ นะ ทีนี้พูดกันแต่ชีวิต สังคม ธรรมชาติไม่พูด...ก็ขาดใช่ไหม พระพุทธเจ้าต้องเริ่ม...ต้องเป็นองค์ประกอบที่มาร่วมกันทำให้สมบูรณ์ ก็เอาหลักภาวนา ๔ นี้ไปตั้งไว้ในใจให้แม่น แล้วทีนี้ท่านจะขยายเป็นบุญกิริยา ๓ (หรือ) ไตรสิกขาก็ว่าไปนะ แล้วก็รู้เหตุผลว่าทำไมจึงต้องมาวางระบบนี้ ถ้าท่านปฏิบัติในไตรสิกขาแล้วก็เอาภาวนา ๔ นี้มาวัดผล ถ้าวัดผลไม่สำเร็จ ภาวนา ๔ ไม่ไปเลยแสดงว่าไตรสิกขาของท่านก็ไม่สำเร็จแล้วนะ (หัวเราะ) บำเพ็ญบุญกิริยา ๓ เหมือนกัน ก็ต้องมาวัดผลด้วยภาวนา ๔ นี้นะ ถ้าทำบุญกันบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุต่างๆ แล้วภาวนาไม่ไปก็ไม่ได้ผลนะ เพราะฉะนั้นก็อันนี้เลยขอเอามาย้ำไว้ แล้วก็เลย...ในวันนี้ก็เลย... แล้วตอนที่เขียนก็เลยมานึกถึงโรงเรียนวิถีพุทธว่าต้องเน้นเรื่องนี้ให้มากนะ ถ้าจัดระบบนี้ล่ะก็สบายเลยนะ ท่านก็ต้องเข้าใจตั้งแต่กายภาวนาของพุทธ กับ Physical Development ของฝรั่งไม่เหมือนกันนะ เอาล่ะครับ เบญจทวารกาย หรือเรียกเต็มว่า เบญจผัสสทวารกาย นะ
อ้าว พูดเยอะแล้วนะ เอ้า มีอะไรสงสัยไหมครับ ถ้ามีก็ถามจะได้แก้ข้อสงสัยกันไปเท่าที่ทำได้ ถ้าไม่มีก็เดี๋ยวก็ลากลับ เออ เอานะ ไม่มีละ