แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
จะได้กล่าวความหมายของการบวชให้เข้าใจ ก็ตอนนี้ พระพุทธลักษณ์ ต้นและเต็ม ได้นำผ้าจีวรเข้ามาขอให้ช่วยบวชเป็นเณรให้เรียกว่าเป็นการบรรพชา การบวชนั้นผู้บวชจะต้องมีศรัทธา มีความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หรือเรียกให้ชัดขึ้นไปก็คือ มีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็นอกจากนั้นก็ต้องมีความตั้งใจจริงที่จะบวช แล้วก็ความตั้งใจจริงว่าที่จะบวชนี้หมายถึงจะประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง เมื่อเป็นเณรแล้วก็จะประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบในชีวิตความเป็นอยู่ของสามเณรด้วย การบวชที่เรียกว่าบรรพชานั้น ถ้าแปลตามตัวความหมายในแง่หนึ่งก็แปลว่า การสละละเว้น นี้ความหมายอย่างหนึ่ง สละละเว้นนี้หมายความว่าละเว้นสิ่งที่ไม่ดีสิ่งที่เป็นความชั่วสลัดมันออกไปให้หมด คือการชำระล้าง อย่างร่างกายของเรานี่เราก็ต้องมีการรักษามีการดูแล เรียกว่าการบริหารร่างกาย การบริหารร่างกายนี้เราต้องทำตลอดเวลา วัน ๆ หนึ่งเดี๋ยวมีเหงื่อบ้างหรือไปทำงาน ไปเปื้อนอะไรข้างโน่น แม้แต่เฉพาะมื้อนี่ไปทำงานนู่น ทำงานจับนู่นจับนี่เดี๋ยวก็ต้องล้าง ต้องมีการชำระล้างกันอยู่เรื่อย ร่างกายของเราจึงจะบริสุทธิ์สะอาด นี่เป็นด้านร่างกายจิตใจ จิตใจของเราต้องพบโน่นพบนี่พบสิ่งที่ดีบ้างไม่ดีบ้างสะอาดบ้างสกปรกบ้าง สิ่งที่ไม่ดีสิ่งที่สกปรกเราก็ต้องชำระล้างเหมือนกัน ที่นี้เราเคยมองแต่เรื่องชำระล้างร่างกายเราจะเอาใจใส่มากกับเรื่องร่างกายต้องชำระให้สะอาด บางคนอาบน้ำวันละหลายครั้ง แต่ว่าเราไม่ได้อาบใจเลย ใจของเรา ๆ ก็ปล่อยไปไม่รู้อะไรอะไรเข้ามาก็ปล่อยจนกระทั่งมันเข้าไปปนแทรกซึมเปื้อนอยู่ในใจ
บางทีใจของเราปล่อยไว้นาน ๆ ใจก็เปื้อนมากจนกระทั่งเป็นใจดำไปเลยสกปรกมากก็ได้ เพราะฉะนั้นนี่ถ้าเราจะให้ชีวิตของเราดีสมบูรณ์ นี่เราต้องรู้จักชำระล้างใจบ้าง ฉะนั้นการบวชนี่เป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการที่สิ่งที่ดีไว้ แล้วก็เพิ่มความดีนอกจากว่าแต่ว่าสละล้างสิ่งที่ไม่ดีเว้นออกไปหมดแล้วก็เพิ่มสิ่งที่ดีงามเข้าไป ทีนี้การที่เราจะละเว้นสิ่งที่ไม่ดีแล้วเพิ่มสิ่งที่ดีเข้าไปนี่ มันก็ต้องมีการฝึกฝนตนเองเพราะว่าจิตใจของคนนี้เรานี้ เวลาเราชำระล้างเราก็อยู่ที่ว่าเราใจของเราต้องการนั่นเอง ใจของเราพอใจอย่างนั้นก็ไปทำ ที่นี้ใจของเราบางทีมันไม่ต้องการไปชำระล้างสิ่งที่ไม่ดี มันเกิดพอใจ เราก็ต้องฝึก เรียกว่ามีการพัฒนาตัวเอง การฝึกฝนตนเองนี่อย่างง่าย ๆ เราเรียกว่า การเรียน
ฉะนั้นการที่จะบวชให้ได้ผลดีก็ต้องมีการเรียนด้วย โบราณท่านจึงเรียก บวชเรียน เวลาบวชก็ให้มีการเรียน หมายความว่า เราจะชำระชีวิตของเราให้บริสุทธิ์ แล้วก็เพิ่มสิ่งที่ดีงามได้ด้วยการเรียน เราก็เรียนรู้ เรียนรู้ด้วยพระธรรมคำสอนที่พระท่านเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาแนะนำพูดให้เราฟังบ้าง เรียนด้วยการฝึกฝนตนเองต่าง ๆ บ้าง การฝึกฝนตนเองก็มีวิธีการ อย่างในชีวิตประจำวันนี่ มาอยู่วัดแล้วเราก็บวชเป็นเณร ท่านก็จะบอกวันหนึ่งให้ทำอะไรบ้าง แล้วก็มีระเบียบวินัย นี่ก็เป็นวิธีฝึกฝนเรียกกันง่าย ๆ ว่าเรียน นั้นเป็นคำคู่กับคำว่าบวชเรียน บวชเรียน บวชเพื่อเรียน แล้วบวชด้วยการเรียน นั้นบวชพร้อมกับการเรียนด้วย การเรียนก็จะมีการทำกันต่อไป
ทีนี้ผู้จะเรียนต้องมีศรัทธาที่ได้กล่าวเบื้องต้น มีความเชื่อ มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย นี่ที่เรียกว่าเชื่อเลื่อมใสในพระรัตนตรัยก็ความหมายกว้างขวาง ว่าเชื่อในพระรัตนตรัยก็คือเชื่อในพระพุทธเจ้า เชื่อในพระธรรม เชื่อในพระสงฆ์ เชื่อในพระพุทธเจ้าเชื่ออย่างไร พระพุทธเจ้าคือใคร พระพุทธเจ้านี่เดิมคือมนุษย์คนหนึ่ง เป็นคนธรรมดานี่แหละ แต่ว่าป็นคนที่มองเห็นความจำเป็นของการที่ต้องฝึกฝนพัฒนาตัวเอง มนุษย์นั้นถ้าไม่ฝึกฝนตนเองแล้ว ก็อาจจะไม่ดีความสามารถเลย ไม่มีความดีไม่มีความสามารถเลย จะต้องมีการฝึก มีการพัฒนาตนเอง อย่างเราจะทำอะไรเป็นสักอย่างหนึ่งเราต้องมีการฝึก ถ้าไม่มีการฝึกก็ทำไม่เป็น ฉะนั้นคนเรานี่มีเรื่องที่จะต้องทำมากมายในชีวิต เราจะมีความเจริญก้าวหน้าเราจะต้องฝึก ไม่เฉพาะคนเท่านั้นแม้แต่สัตว์ต่าง ๆ ถ้าจะให้ดีก็ต้องมีการฝึก ฉะนั้นการเราจะเอาสัตว์ทั้งหลายเอามาทำงาน มันก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องฝึกมันก่อน เมื่อฝึกแล้วมันก็ทำได้ เช่นอย่างช้างนี่ฝึกให้ดีแล้วก็ไปลากซุงไปทำงานทำการต่าง ๆไปเล่นละครสัตว์ สัตว์อื่น ๆ ก็เอาไปใช้งาน อย่างลิงก็เอาขึ้นต้นไม้ ไปขึ้นมะพร้าวอะไรต่าง ๆ ได้ แล้วสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นก็ ฝึกได้น้อย ฝึกได้แค่ที่คนฝึกให้ แล้วก็ฝึกตามที่คนเขาจะไปใช้งาน ก็แต่อย่างไรก็ตามด้วยการฝึกทำให้สัตว์ทั้งหลายมีความสามารพิเศษขึ้นมา แต่มันก็แค่นั้นเองไม่เหมือนมนุษย์ มนุษย์นี่ฝึกตัวเองได้ สัตว์ฝึกตัวเองไม่ได้ แล้วฝึกตัวเองได้ฝึก ๆ ได้มากมาย โดยเฉพาะคือว่านอกจากฝึกด้านอื่น ๆ ก็ฝึกปัญญาได้ด้วย พวกสัตว์ทั้งหลายมันไม่มีปัญญาฝึกขึ้นมา ก็ฝึกขึ้นในแง่ที่ว่าโดยปัญญาของคน คืออาศัยปัญญาของคนไปฝึกสัตว์ให้ทำได้อย่างนั้น ทีนี้คนมีปัญญาของตัวเองก็ฝึกพัฒนาปัญญาได้ด้วย นี่จึงเป็นความประเสริฐของคน ความประเสริฐของคนก็อยู่ที่มีความสามารถที่จะฝึกตนเองได้ ท่านเรียกว่า คนเป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก ไม่ใช่อยู่เฉย ๆ ก็ประเสริฐต้องฝึกจึงประเสริฐ ฉะนั้นเราต้องฝึกฝนพัฒนาตนเอง
ทีนี้พระพุทธเจ้านี้จากเดิมก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่ด้วยการที่พระองค์ฝึกฝนพัฒนาตนเอง ทุกด้านเลยทั้งด้านร่างกาย ทั้งด้านจิตใจ ทั้งด้านสติปัญญา ฝึกฝนพัฒนาขึ้นมาจนกระทั่งเป็นบุคคลที่ประเสริฐ เป็นคนที่มีความดีงามที่เราว่านับถือว่าครบถ้วนสมบูรณ์มีจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ แล้วมีความสุขไม่มีความทุกข์มีปัญหาก็แก้ได้หมด แล้วก็ยังช่วยคนอื่นได้มากมาย เราก็เลยนับถือ โอ้ว่าบุคคลผู้นี้เป็นบุคคลที่ดีงามจริง ๆ เราเรียกกันว่าเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ ก็ด้วยการฝึกตนเองขึ้นไป นี่เรานับถือในพระพุทธเจ้า เราก็เชื่อโอ้เป็นบุคคลที่ดีพี่ประเสริฐอย่างไม่มี ซึ่งเป็นคนฝึกด้วยอย่างนี้ก็เป็นด้วยการฝึกด้วยการพัฒนาขึ้นไป มนุษย์ แสดงว่ามนุษย์เราทุกคนนี้มีความสามารถฝึกได้อย่างนี้ เมื่อเราเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ก็คือ เราก็มองตัวเองว่าเราก็มีความสามารถที่จะฝึกได้ การที่เราเชื่อเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ก็คือเชื่อในความสามารถของมนุษย์ที่จะฝึกตัวเองได้เพราะฉะนั้นเวลาเราก็เลื่อมใสพระพุทธเจ้าก็คือทำให้เรามามองตนเองว่า เนี่ยเราจะเป็นบุคคลที่ดีงามเรามีความสามารถอย่างแท้จริงก็ต้องฝึกตนเอง เมื่อเราเลื่อมใสพระพุทธเจ้าอย่างนี้เราก็มีกำลังใจที่จะฝึกตนเอง โอ้คนต้องฝึกได้ เราต้องพัฒนาตัวเองได้ อันนี้จะเป็นกำลังใจเนึกถึงพระพุทธเจ้า ก็นึกว่าเราจะต้องฝึกตัวเองให้ดีให้ประเสริฐตามแนวทางอย่างนั้นแล้วเราก็สามารถฝึกได้ ประวัติพระพุทธเจ้า นี่พระองค์ก็ทำด้วยความลำบากยากเย็น บางอย่างนี่ฝึกยากเหลือเกิน แต่พระองค์ก็มีความเพียรพยามฝึกจนได้ อันนี้การระลึกถึงพระพุทธเจ้ามีความหมายว่าคนเรานี่ฝึกตนเองได้ให้ประเสริฐได้ เป็นสัตว์ที่ประเสริฐได้ด้วยการฝึก
ที่นี่การที่เราบอกว่าบุคคลหรือมนุษย์เรานี่ฝึกฝนพัฒนาให้ประเสริฐได้นี่ เราใช้อะไรเป็นเครื่องฝึก อ้อ ก็มาถึงธรรมะแล้วธรรมะเป็นหลักที่ 2 เราจะฝึกฝนพัฒนาตนเองให้ดีงามให้ประเสริฐให้เป็นคนที่สมบูรณ์ นี่เราต้องปฏิบัติตามหลักธรรมะ ธรรมะคืออะไร คือความจริง ความจริงของธรรมชาติคือสิ่งทั้งหลายนี่เป็นไปตามเหตุปัจจัย คือความจริงเป็นเรื่องแรก มันกว้างขวางแต่อย่างง่ายที่สุด เราต้องรู้ก่อนว่าธรรมชาติกฎเกณฑ์ขั้นต้นที่สุดคือสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นหลักของเหตุและผล มนุษย์เราก็เหมือนกันทั้งกายและใจ นี่เป็นไปตามกฎธรรมชาตินี้ คือเป็นเหตุเป็นผล จิตใจของเรานี้เมื่อเราใช้หลักการฝึก การฝึกก็เป็นเหตุ ผลที่เกิดขึ้นก็คือความดีงามความสามารถ นี่คือการที่เชื่อในหลักเหตุปัจจัย ถ้าเราเลือกเชื่อในหลักธรรมะเราก็เชื่อในหลักเกณฑ์ของเหตุผล เหตุปัจจัยเราก็จะฝึกตนเองได้ ถ้าผมเห็นว่าไม่เชื่อในธรรมะ ไม่รู้จะฝึกไปทำไม ฝึกไปก็ไม่เกิดอะไรเพราะเราก็ไม่เห็นเหตุเห็นผล แต่เราเห็นเหตุปัจจัยเราเชื่อ ว่าทำเหตุคือการฝึก มันต้องได้ผลคือการที่พัฒนาตัวให้ดีขึ้นมา ฉะนั้นเราต้องเชื่อหลักเหตุปัจจัยนี้ ทีนี้ธรรมะ นั้นความหมายนอกจากกฏธรรมชาติของเหตุปัจจัย ก็คือเราเชื่อ เราต้องการความดีงาม ความสามารถ ความสมบูรณ์ นี้ธรรมะที่เราต้องการใช้ก็คือธรรมะในด้านดี ความดี ความเจริญงอกงาม ความสามารถ เพราะฉะนั้นธรรมะในความหมาย อันนี้คือความดีงาม ความจริงและความดีงาม ฉะนั้นเราต้องเชื่อในความจริงและความดีงามกฎเกณฑ์ของพระเจ้าเราจะทำตามนี้ คือเชื่อในธรรมะ
ทีนี้ต่อไปข้อที่ 3 สงฆ์ เชื่อในพระสงฆ์ พระสงฆ์คืออะไร ก็คือคนทั้งหลายที่เชื่อในหลักของการฝึกฝนในการพัฒนาตนเอง และเชื่อในการที่จะนำเอาเอาหลักความจริงที่เรียกว่าธรรมะนี้มาใช้ แล้วพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น ให้มีสติปัญญามีคุณธรรมอะไรต่าง ๆ พร้อมบริบูรณ์มากขึ้น แล้วทุกคนเหล่านั้นต่างคนก็ต่างพัฒนาฝึกตนเองแล้วมาช่วยเหลือกัน คนเหล่านี้มารวม ๆ กัน เราเรียกว่าสงฆ์ ทีนี้คนเหล่านี้มีจริง และคนที่ทำได้อย่างนี้ได้จะรวมกันเป็นชุมชนที่ดี เรียกว่าสงฆ์ เพราะฉะนั้นเราก็เชื่อในชุมชนที่เรียกว่าสงฆ์ เราจะเข้าร่วมด้วย นี่คือหลัก 3 ประการที่เรียกว่าพระรัตนตรัย เชื่อในพระพุทธเจ้า เชื่อในพระธรรม เชื่อในพระสงฆ์ ถ้าเราเชื่ออย่างนี้แล้วเราจะมีความมั่นใจในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเอง นี่เราจะเรียนได้ งั้นผู้ที่จะบวชจะเรียน ก็ต้องมีความเชื่อมั่นอันนี้ แล้วจะเป็นกำลังใจ แล้วไม่ถอย ที่นี้เราไม่ต้องอาศัยกำลังใจอย่างอื่นเลยเนี่ย จากหลักของมนุษย์ของธรรมชาตินี้เอง เราก็สามารถพัฒนาตนเองได้ เพราะฉะนั้นนี่คือหลักเบื้องต้นที่ผู้บวชจะต้องมีความเข้าใจ มีความเชื่อ มีความเลื่อมใส ถ้าเชื่อในหลักธรรมดานี่เองเรื่องพระรัตนตรัยแต่เป็นสิ่งที่ประเสริฐ ถ้าเราเข้าใจแล้ว เรานำมาใช้เป็นหลักดำเนินชีวิตก็เป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าอะไรทั้งหมด เพราะว่าทำให้ชีวิตของเราดีงามได้ สิ่งทั้งหลายทรัพย์สมบัติภายนอก บางทีมันก็ไม่ได้ช่วยชีวิตอย่างแท้จริงมันเป็นเพียงเครื่องอำนวยความสะดวก เราจะให้ชีวิตของเราสมบูรณ์แท้จริงนี้เราต้องเชื่อในหลักการ เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่าเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด นี่คือเรียกว่าศรัทธา เอาล่ะ
ทีนี้พอเรามีศรัทธาในพระรัตนตรัย เราก็พร้อมที่จะบวช เราก็ตั้งใจแน่แน่ว เอาล่ะ เราจะบวช เราจะประพฤติตัวให้ดีที่สุด ตั้งใจบวชให้ได้ผลดีจริง ๆ ซึ่งการบวชนี้มีก็เป็นไปด้วยความดี ความเจริญงอกงามของชีวิตของแต่ละคน แต่ในเวลานี้เฉพาะหน้าก็คือว่า นอกจากว่าตัวเองที่จะได้บวชก็คือว่าเราอยู่ในสังคม และโดยเฉพาะก็ยังเป็นเด็ก ยังเป็นเด็กนักเรียนเนี่ยอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ บุคคลที่ใกล้ชิดเราที่สุดก็คือคุณพ่อคุณแม่ แล้วก็เป็นบุคคลที่เราเชื่อได้แน่ว่าเป็นผู้ความหวังดีต่อเรามากที่สุด มีความรักเรามากที่สุด มีความรักโดยบริสุทธิ์ใจที่สุด ที่นี่ท่านมีความบริสุทธิ์ใจแล้วรักเราจริง เพราะฉะนั้นท่านปรารถนาดีอยากให้ชีวิตของเรามีความสุขความเจริญ ฉะนั้นการที่ว่าท่านมีความรักอยากให้เรามีความสุขความเจริญ แล้วท่านอยากให้เราบวชแสดงว่าการที่ท่านอยากให้เราบวช คือความหวังดีต่อเรา ท่านเชื่อว่าการบวชจะทำให้เกิดประโยชน์แก่เรา นี้ในการบวชนี้เท่ากับว่าในแง่หนึ่งก็เป็นการสนองความปรารถนาดีของคุณพ่อคุณแม่ด้วย นี้เมื่อท่านมีความรักนี่ ใครมีความรักต่อเรา ปกติเราก็รัก เราก็อยากให้คนที่รักเรา คนที่เรารักนั้นมีความสุข ผู้ที่เรารักจะมีความสุขได้อย่างไร จะมีความสุขได้ ก็ด้วยการที่เราทำให้ท่านสมความปรารถนาในสิ่งที่ดีงาม ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีงามเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วก็ทำให้สมใจปรารถนาของท่านก็ทำให้ท่านมีความสุขก็เป็นสิ่งที่เราควรจะทำ ในเมื่อสิ่งที่ท่านปรารถนาก็คือ ให้เรามีความสุขมีความเจริญนั่นเอง ท่านไม่ต้องการผลประโยชน์อะไรจากเรา ท่านต้องการเพียงให้เรานี่ได้รับประโยชน์ รับความดีงาม การบวชให้ท่านเห็นว่า โอ้เป็นสิ่งที่ดีงาม ก็อเราอยากให้เรารับแต่สิ่งที่ดีงาม เพราะฉะนั้นอยากให้พ่อแม่มีความสุข เราก็ตั้งใจบวชเรียนจริงตั้งใจบวชให้จริงตามนั้น ว่าเชื่อมั่นได้แน่นอนว่าจะทำให้คุณพ่อคุณแม่มีความสุขนั้นเป็นเหตุหนึ่งว่าเป็นเหตุผลในการที่จะทำตั้งใจบวชเรียน ในการบวชนี้ไม่ใช่ตัวเราเองเท่านั้นนะ มีคนที่คอยตั้งความหวังจากเราอยู่ ที่ใกล้ชิดที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ และความสุขของท่านก็ฝากไว้กับเราด้วย โดยปกตินั้นความสุขของพ่อแม่จะฝากไว้กับลูก ความทุกข์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าลูกทำไม่ดีก็ย่อมทำให้พ่อแม่มีความทุกข์มาก แล้วพ่อแม่บางทีทุกข์ยิ่งกว่าลูกอีก บางที่ลูกไม่รู้ตัวหรอกไม่เห็นด้วยซ้ำว่าสิ่งนั้นไม่ดี แล้วไม่เห็นว่าจะต้องทุกข์อะไรเลย แต่ว่าไปเราไม่ได้เหลียวไปดูอีกด้านหนึ่งอยู่เบื้อหลังเรา คุณพ่อคุณแม่กำลังมีจิตใจที่บีบคั้นมีความทุกข์มาก เพราะเห็นว่าเราจะไม่มีความสุขความเจริญ เกรงว่าชีวิตข้างหน้าความดีงามความเจริญ งั้นความทุกข์ก็ฝากไว้กับลูก แต่ความสุขก็เช่นเดียวกัน ถ้าเห็นว่าลูกมีความสุข แม้แต่เพียงเห็นว่าลูกมีสุขภาพดีร่างกายแข็งแรง พ่อแม่ก็สบายใจแล้ว แค่นี้ก็เป็นความสบายใจเบื้องต้น เมื่อเห็นลูกสอบได้ขยันเล่าเรียน โอ้พ่อแม่วางใจได้ความสุขเต็มที่ พอลูกเรียนสำเร็จสอบได้ดีพ่อแม่ดีใจยิ่งกว่าลูกอีก เพราะฉะนั้นความสุขของพ่อแม่ก็อยู่ที่ลูกมาก แล้วเราก็ทำสิ่งที่ดีงามให้เกิดเป็นว่า ให้พ่อแม่มั่นใจว่าลูกจะทำดีและมีความเจริญก้าวหน้าก็จะทำให้พ่อแม่มีความสุข อันนี้ก็เป็นการที่ช่วยให้ ฉะนั้นการบวชนี้ช่วยทำให้ความประสงค์ของพ่อแม่ โดยที่ว่าเป็นสิ่งที่ดีงามแล้วก็เป็นการแสดงความปรารถนาดีของท่านแล้วท่านก็รักเราอย่างนี้ก็เราก็ตั้งใจดีต่อท่านด้วย ตั้งใจเรียนกับการบวชตั้งใจว่าเราจะทำให้ท่านได้สมความปรารถนาในสิ่งที่ดีงามนี้ให้คุณพ่อคุณแม่มีความสุข โดยที่พยายามจะบวชเรียนให้ได้ผลจริงจัง นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งเป็นเหตุผลที่สำคัญและอีกประการหนึ่งที่จริงก็คือว่า ผลดีที่แท้จริงก็เกิดกับตัวเอง เพราะว่าการบวชนี้ที่พ่อแม่ปรารถนาก็คือ เพราะเห็นว่าลูกได้มีความดีนี่เองเพราะฉะนั้นผลดีที่แท้จริงก็เกิดที่ตัวเราเอง
นั้นเมื่อการบวชนี้จะได้ผลดีเป็นประโยชน์การฝึกฝนพัฒนาตนเองแล้ว โอกาสที่มาถึงนี้เราก็จะต้องพยายามตั้งใจทำให้ได้ผลจริง ๆ เวลานี้ไม่ยาวนานเลย เดือนเดียวเอง ถ้าเรามองไปข้างหน้าอีก 20 30 40 50 บางทีอาจจะอยู่จนไปถึง 7 เวลาช่วงเดือนเดียวนี้มันนิดเดียวเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นมันสั้น ไอ้การที่เราจะทำความดี เพราะฉะนั้นต้องตักตวงความดีให้เต็มที่ ในระยะ 1 เดือนนี้ตั้งใจไว้แต่ต้นเลยว่าเราจะต้องทำดีให้เต็มที่ มันจะยากจะเย็นยังไงไม่ยอม คนที่ตั้งใจจริงอย่างนี้ตั้งแต่ต้นแล้วไม่แพ้ ก็ยิ่งเรามองข้างหน้าอย่างที่ว่า เราบวชไปเดือนหนึ่งไม่ช้า เดือนเดียว เดี๋ยวเราก็สึกไปแล้วเราก็มองการบวชนี่เป็นความหลัง และเป็นความหลังที่สั้นก็ขอให้ความหลังที่ดีที่สุด ว่าชีวิตที่เราผ่านเข้ามาเดือนหนึ่งในผ้าเหลืองที่เราเข้ามาบวชในตอนนี้ เราจะระลึกถึงด้วยความสุขใจฉะนั้นให้ตั้งใจ ให้เราระลึกนึกถึงด้วยความสุขใจก็เพราเราทำดีที่สุด ฉะนั้นก็ให้นึกอย่างนี้ว่าตั้งใจ อันนี้จะเป็นกำไรชีวิตด้วยว่าได้ทำ ได้เรียน ได้ตั้งใจมาบวชแล้ว เป็นความสุขใจเมื่อนึกถึงภายหลัง เป็นโอกาสของเราที่ได้ฝึกฝนพัฒนามีอะไรที่ทำได้ในตอนนี้ที่เป็นที่ดีงามและเป็นประโยชน์ทำไม่ถอยเลย ก็ขอให้ตั้งใจอย่างนี้ อันนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบวช
ทีนี้พอบวชเข้ามาแล้ว มันก็ต้องมาเผชิญกับความจริงล่ะ ก็จะต้องดำเนินกิจวัตร เรียกว่ากิจวัตร คือดำเนินชีวิตอย่างพระอย่างเณร นี้เราก็ต้องตั้งใจเรียน ตั้งใจบวชอยู่อย่างพระอย่างเณร ธรรมดาจิตใจของคนเราก็ต้องมีเรื่องโน้นเรื่องนี้เข้ามา ทำให้จิตใจวุ่นวายฟุ้งซ่าน คนเรามีจิตใจฟุ้งซ่านเก่ง นึกไปนู่นนึกไปนี่ แล้วก็บางทีก็นึกไปแล้วบางทีก็อยากได้นู่นได้นี่บ้างโกรธบ้าง โกรธขัเคืองใจ พบอะไรที่ไม่ดีไม่ถูกใจก็โกรธเคือง แม้แต่อยู่ร่วมกันนี่ เจอคนนู้นคนนี้ บางทีก็ทำอะไรไม่ถูกใจเราบ้าง เราก็เคืองว่าคนนั้นทำไมถึงมาทำอย่างนี้อะไรต่ออะไรก็ไปคิดคนนั้นคนนี้ คนนั้นเป็นอย่างนี้ อันนี้ทำให้ไม่สบายใจแล้วแทนที่จะได้ตั้งใจเรียนหนังสือหรือตั้งใจเวลาบวชทำจิตใจของเราให้ดีที่สุด ก็เลยทำจิตใจก็เลยขุ่นมัวศร้าหมองก็ไม่ดี
นี้จะทำอย่างไร ท่านก็หาวิธีแก้ ก็หางานไม่ให้ใจ เวลาที่ใจไม่สบาย หรือว่าเราว่างจากเรื่องอื่นไม่มีอะไรทำ ท่านก็หางานมาให้ใจทำ ให้ใจมันเอาเรื่องที่มันไม่เสียหายมา ท่านเรียกว่ากรรมฐาน กรรมฐานแปลว่าสิ่งที่ แปลตามตัวก็เป็นสิ่งที่ตั้งแห่งการงาน ก็หมายถึงหมายความว่าสิ่งที่เอามาให้ใจทำงาน เอาใจมาได้ทำงานก็ไม่วุ่นไม่วาย มันก็ไปอยู่กับงานนั้น เอาอะไรมาให้ใจทำงานล่ะ เอางานง่าย ๆ งานที่มันไม่เหนื่อย ท่านก็เลยบอกว่าเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน คนเราอย่างเวลานี้เราจะพบกับคนนู้นคนนี้อย่างที่ว่าบางทีมีเรื่องกระทบกระทั่งใจหรือคิดเรื่องวุ่นวายไป
นี่ก็ให้พิจารณากรรมฐานว่า คนเรานี่ที่เห็น ๆ กันนี่มีไม่อะไรหรอก เห็นก็มีร่างกายของเราทั้งตัวมีอวัยวะเยอะแยะไปหมด แต่ที่เห็น ๆ กันนี้มีอะไร ถ้ามองลงไปในส่วนที่มองเห็นนี่ มี 1 ผม 2 ขน 3 เล็บ 4 ฟัน 5 หนัง ปรากฏมาเท่านี้ นอกนั้นเรามองไม่เห็นเลย อันนั้นเวลาเรามีอะไรก็คิดถึงคนนู้นคนนี้ แต่ที่เราเห็นที่จริงก็คือธรรมชาติ แค่ ผมขนเล็บฟันหนัง ที่นี้เวลาเราคิดเรื่องวุ่นวายกับคนอื่น มีความขัดอกขัดใจ ท่านก็ให้คิดง่าย ๆ ว่า ไอ้ว่าที่เราเห็นไม่มีอะไรมีแค่ ผมขนเล็บฟันหนัง ได้แค่นั้นพอแล้ว แล้วเราก็ไม่คิดวุ่นวายต่อไป พอเรานึกถึงคนนั้นก็นึก ผมขนเล็บฟันหนัง ก็จบ ไม่มีอะไรนึกต่อ ก็เห็นแค่ ผมขนเล็บฟันหนัง ไม่ต้องนึกอะไรใช่ไหม มีเท่านั้นเอง เวลาเราพบคนหนึ่ง เราก็เห็นแค่นั้น เราก็คิดถึงคนนั้นทำอย่างนี้ คนนี้วุ่นวายใจเปล่า ๆ เราเอาเวลามาใช้ทำสิ่งที่เราเล่าเรียนศึกษาหรือดำเนินชีวิตของเรา ทำใจให้สบาย ถ้าอารมณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นมาก็ ทำในใจ พูดในใจ ผมขนเล็บฟันหนัง หรือแม้แต่ไม่มีเรื่องราวกับใครเลย ไม่ต้องนึกถึงใครหรอกสิ่งเหล่านี้ ผมขนเล็บฟันหนัง เนี่ย มันเป็นคำธรรมดาที่มันนึกขึ้นมาแล้วก็ไม่มีความรู้สึกอะไรมากมาย เราไม่นึกอยากว่าอยากจะดูมัน หรือคิดโกรธเคืองมัน มันไม่เป็นทั้งสองอย่าง มันเป็นของกลาง ๆ นึกขึ้นมาก็เฉย ๆ ถ้านึกขึ้นมาในใจแล้วทำให้ใจของเราไม่วุ่นวาย ไม่คิดไปเรื่องอื่น ก็เป็นประโยชน์ นั้นเพียงแต่ว่าอย่างนี้ก็ทำให้ใจเป็นสมาธิได้ เราเรียกว่า เป็นที่เอามาภาวนา เอามาพูดในใจมันอยู่ไปไม่หนีไปไหนไม่ฟุ้งซ่าน แค่นี้เรียกว่าวิธีทำสมาธิ ฉะนั้นท่านจึงเรียกว่า เอาผมขนเล็บฟันหนัง นี่มันง่ายดี มาสำหรับให้ใจมันอยู่แล้วก็เป็นสมาธิได้ ท่านเรียกว่ากรรมฐานเบื้องต้น คนที่บวชตอนแรกนี่ยังไม่มีวิธีทำสมาธิอย่างอื่น เพราะเวลาเรียนบางทีมันยาก ก็เลยเอาอย่างนี้ง่ายที่สุดเพราะว่าอยู่กับตัวเราก็มองเห็นที่คนอื่นด้วย มองเห็นตัวเราด้วย ฉะนั้นท่านก็ให้กรรมฐานขั้นแรกฝึกก่อนที่จะเรียนอย่างอื่นต่อไป ผมขนเล็บฟันหนัง อันนี้ก็ให้ว่าเป็นภาษาบาลี ยิ่งว่าเป็นภาษาบาลีบางทีไม่ได้นึกเลย ก็เป็นเพียงถ้อยคำให้ใจมันอยู่ไม่ฟุ้งซ่าน ก็นี้เรียกว่าเป็นการหัดใจ ถ้าหากรู้จักหัดใจเบื้องต้น ให้ใจมันอยู่กับถ้อยคำที่เราว่า ก็เริ่มรู้จักสมาธิ แล้วเราค่อยฝึกต่อไปให้มากขึ้น ตอนแรกนี้เอาแค่นี้ก่อน ก็เลยให้กรรมฐานเบื้องต้น ตอนนี้ก็จะให้เรียนนี้ กรรมฐานเบื้องต้น ที่จริงก็ท่องกันมาแล้ว ก็หัดว่าให้ได้ ผมนี่ภาษาพระบาลี ท่านเรียกว่าเกสา ขนท่านเรียกว่าโลมา เล็บท่านเรียกว่านขา ฟันท่านเรียกว่าทันตา แล้วหนังท่านเรียกว่าสะโจ เกสาโลมานขาทันตาสะโจ ทีนี้แม้ไม่นึกความหมาย ว่าในใจ เกสาโลมานขาทันตาสะโจ มันก็ทำให้เราเอาใจเป็นสมาธิได้ เป็นวิธีหัดใจทำให้ใจมาอยู่กับถ้อยคำที่เรานึกถึง แล้วก็เกรงว่าเดี๋ยวใจมันจะหลุดจะลอยไปง่าย ๆ ให้ว่ากลับ เวลาว่ากลับใจก็ระวังตัว มันทำให้ใจไม่ฟุ้งซ่าน ท่านก็ว่ากลับด้วย สะโจทันตานขาโลมาเกสา ก็ว่าไปได้สองด้าน ว่าไปตามลำดับ เกสาโลมานขานันตาสะโจ ว่าย้อนเรียกว่าปฏิโลม ว่าตามลำดับเรียกอนุโลม ที่นี้ว่าย้อน เรียกปฏิโลม สะโจทันตานขาโลมาเกสา เอาละว่าตาม เกสาโลมานขานันตาสะโจ ว่าพร้อมกันทั้ง 4 เกสาโลมานขานันตาสะโจ เอ้าว่าเอง เกสาโลมานขานันตาสะโจ ที่นี้ว่าย้อน สะโจทันตานาขาโลมาเกสา สะโจทันตานาขาโลมาเกสา ที่นีว่าให้จบ ทั้งตามลำดับและย้อนลำดับ เกสาโลมานขานันตาสะโจ สะโจทันตานาขาโลมาเกสา เอ้าพลาดเอาใหม่อีกที เกสาโลมานะขานันตาสะโจ สะโจทันตานาขาโลมาเกสา เอาล่ะแค่นี้ ทีนี้เป็นวิธีสำหรับเอาไปฝึกสมาธิเบื้องต้น ก็ง่าย ๆ เดี๋ยวจะว่าพระท่านเอาอะไรไม่รู้ไม่มีสาระอะไรมาให้ท่องนี่แหละ คำที่ไม่มีความอะไรมากนี่ทำให้ใจเราฟุ้งซ่าน ถ้าเอาเรื่องอะไรมาคิดเดี๋ยวมันก็ทำให้เกิดโลภ โกรธ หลงบ้าง วุ่นวาย เราวุ่นวาย มันยิ่งเหลวไหลไร้สาระมันให้ใจไม่สบายด้วย ไอ้อย่างนี้ไม่เสียหายอะไร เบื้องต้นแล้วค่อยเรียน ฝึกสมาธิอะไรต่อไป ก็เวลาบวชไปแล้วก็เรียนเพิ่มได้ แต่ว่าเบื้องต้นเป็นวิธีการก่อน ยังไม่มีครูอาจารย์สอนอะไร ก็เป็นอันว่าได้เรียนรู้หลักเบื้องต้นแล้ว ทีนี้ต่อจากนี้ไปเมื่อบวชแล้วก็จะได้มีการศึกษาเล่าเรียน ศึกษาด้วยของจริง ก็คือว่าเราก็ดำเนินชีวิตแบบเณร มีกิจวัตรต่าง ๆ
ตอนนี้ก็เป็นเวลาพอสมควรแล้วก็จะได้มอบให้นำเอาผ้ากาสาวพัสตร์ ที่เราเรียกว่า ผ้าจีวรหรือผ้าเหลือง ไปห่มเรียกภาษาพระเณรว่า ไปครอง ก็จะได้เข้าสู่เพศสมาเณรต่อไป เดี๋ยวก็จะเตรียมตัวให้พร้อมแล้วก็มาบวชกันอีกที อันนี้การให้เข้าใจซักซ้อมกันก่อน