แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เมื่อก่อนพูดเรื่องสันโดษ และไม่สันโดษ ก็โยงไปอีก โยงไปหาหลักธรรมข้ออื่นๆ ที่จริงธรรมะนั้นโยงกันหมด แต่คราวนี้โยงไปหาหลักธรรมพื้นฐาน เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของคนเรา คนที่ไม่สันโดษในวัตถุสิ่งเสพต่างๆ ก็เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติในจิตใจ คือความอยาก ความอยากเสพวัตถุทั้งหลายก็ทำให้ถ้าอยากแสวงหาและไม่รู้จักอิ่มจักพอ เรียกว่าไม่สันโดษ ก็เนื่องมาจากความอยากชนิดหนึ่งนั้น ความอยากนี้ก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ว่าเป็นธรรมชาติฝ่ายที่ไม่พีงปรารถนาหรือเป็นโทษได้ก็เลยให้สันโดษ สันโดษก็เท่ากับว่ามาคุมไอ้เจ้าความอยากอันนี้ อันนี้ก็ด้านหนึ่ง
ที่นี้ก็บอกว่าให้ไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่สันโดษในสิ่งที่ดีงาม ก็แสดงว่าต้องมีความอยากในสิ่งที่ดีงามหรือในกุศลธรรมนั้น ก็จะช่วยหนุนให้ไม่สันโดษ ถ้าเราจะไม่สันโดษแต่เราไม่อยาก พอไม่อยาก มันก็จะสันโดษ นั่นสิใช่ไหม ไม่อยากนี่ทำให้สันโดษ ทำให้รู้จักพอ ทำให้เอาแค่นั้นแหละ นี่ถ้าเราอยาก เราก็ไม่พอ เราก็เลยไม่สันโดษ เพราะฉะนั้นตัวความอยากนี้ทำให้ไม่สันโดษ
ทีนี้ความอยาก ๒ อย่างนี้ต่างกัน ความอยากประเภทที่ ๑ ก็ทำให้ไม่สันโดษการเสพวัตถุในการเสพสิ่งต่างๆ ภายนอก ส่วนความอยากในกุศลธรรมก็เป็นเหตุให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม ก็เท่ากับว่ามีความอยากอยู่ ๒ ประเภท และเจ้าความอยากนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญเป็นอย่างยิ่งในเรื่องความเป็นอยู่ของมนุษย์ในการทำความดีความชั่ว นั้นลงลึกไปยิ่งกว่าเรื่องสันโดษ ไม่สันโดษแล้ว ลงไปถึงธรรมชาติในใจของคนเลย ความอยาก ๒ ประเภทนี้ก็สรุปง่ายๆว่าเป็นความอยากที่เป็นอกุศลหรือไม่ดีประเภทหนึ่ง แล้วก็ความอยากที่เป็นกุศลประเภทหนึ่ง
ความอยากที่เป็นอกุศลไม่ดีเป็นเหตุให้เราไม่สันโดษในวัตถุ มีชื่อเรียกว่า “ตัณหา” ส่วนความอยากในกุศลธรรมก็มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ฉันทะ” ให้ชื่อไปซะเลย ทีนี้ความอยาก ๒ ประเภทนี้ต่างกันอย่างไร ความอยากประเภทที่ ๑ ที่เรียกว่า ตัณหา ความอยากเสพในสิ่งบำรุงบำเรอต่าง ๆ จากภายนอกนี้มันมาพร้อมกับเราเกิดมาพร้อมกับเกิดอย่างไร ก็คือเวลาเราเกิดมานี้ เรามีอายตนะหรืออินทรีย์ อายตนะหรืออินทรีย์ที่สำหรับรับรู้ติดต่อกับโลกภายนอกก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายรวมทั้งใจของเราด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รับรู้โลกภายนอก เวลารับรู้นั้นก็ได้ข้อมูลสิ่งต่างๆเข้ามา แต่ว่าไม่ใช่รับรู้ว่าเป็นอะไร สีเขียว สีแดง อย่างเดียวเท่านั้น
เวลารับรู้นั้นก็จะมีอีกอย่างหนึ่งด้วยคือ ความรู้สึก เพราะฉะนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เรียกว่า อินทรีย์หรืออายตนะนี้ หน้าที่หลักสองอย่างคือ รับรู้เป็นความรู้ข้อมูล แล้วก็รับรู้ความรู้สึก เวลาเรารับรู้ เขียว แดง เหลือง เห็นอะไรก็ตาม หรือได้ยินอะไรก็ตาม เราจะมีความรู้สึกด้วยความรู้สึกสบาย ไม่สบาย เสียงเพราะ ไม่เพราะ สีสวยไม่สวย ความรู้สึกอันนี้ที่สุขสบายหรือไม่สบายเป็นทุกข์ก็เป็นตัวสำคัญ ถ้ามองในแง่ด้านความรู้สึก เราจะมีปฎิกิริยา พอรู้สึกสบาย เราจะมีปฎิกิริยาคืออะไร ก็คือชอบใจใช่ไหม ถ้าหากไม่สบายเป็นทุกข์ เราก็มีปฎิกิริยาคือไม่ชอบใจ ชอบใจพูดง่ายๆสั้นๆว่าชอบหรือยินดี แล้วก็ไม่ชอบไม่ยินดี ก็คือยินร้าย ภาษาเก่าว่ายินร้ายหรือชัง ก็เรียกว่ายินดียินร้ายหรือชอบชัง อันนี้จะเป็นความรู้สึกประจำใจของมนุษย์ที่สืบเนื่องมาจากการมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้รับรู้โลกภายนอกที่รับรู้ความรู้สึกด้วย ให้สังเกตเป็น ๒ ตอน ตอนหนึ่งรับรู้แล้วก็มีความรู้สึก ที่มีความรู้สึกตอนนี้ที่สบาย ไม่สบายนี้ถือว่าเป็นฝ่ายรับ ถ้าใช้ภาษาอังกฤษก็เรียกว่าเป็นฝ่าย Passive แต่ตอนที่ชอบหรือไม่ชอบ อันนี้เป็นฝ่ายแสดงออก เป็นฝ่ายกระทำเป็น Active บางที่แยกไม่ออก ๒ ตอน ที่จริงมันแยกได้ ท่านว่าเราแยกได้ไหม รู้สึกสบาย ไม่สบาย แล้วก็ชอบไม่ชอบ คนละตอนได้นะ ฉะนั้นตอนรู้สึกสบายไม่สบายนี้เป็น Passive เป็นฝ่ายรับ พอชอบไม่ชอบเป็นฝ่ายกระทำ ทีนี้ตอนที่ชอบ ไม่ชอบ ชอบก็คือจะเอาใช่ไหม ไม่ชอบก็ไม่เอา จะหนี จะทำลาย ตอนที่ชอบหรือไม่ชอบเป็นกระบวนการที่เริ่มเป็นฝ่ายกระทำนี้ ก็คือกระบวนการของความอยาก อยากเอา อยากไม่เอา อยากหนี อยากทำลาย หากความอยากประเภทนี้มาในเมื่อเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดมากับตัวเราติดตัว เวลารับรู้ต่างๆ มีความรู้สึก มันก็จะมีอาการชอบใจ ไม่ชอบใจ อยากเอา อยากหนี มาได้เลย เป็นกระบวนการของมันใช่ไหม เพราะฉะนั้น คนเรามีอายตนะไว้รับรู้ก็เลยพลอยมีสิ่งเหล่านี้ โดยที่ว่าเป็นไปเองของมนุษย์ปุถุชน ไม่ต้องมีการฝึกฝนพัฒนาอะไร คนเราก็มีสิ่งเหล่านี ความอยากประเภทนี้เป็นความอยากพื้นฐานที่เรียกได้ว่ามากับตัวมนุษย์ แล้วมันก็เป็นตัวนำชีวิตของเรา นำพฤติกรรมของเราว่าเราอยากได้อยากเอา เราก็ขวนขวาย ดิ้นรน เคลื่อนไหวอยากจะไปเอา ถ้าหากว่าเราไม่ชอบใจ เราก็อยากหนี เราก็ขะขยับเขยื่อนเคลื่อนไหวทางหนี แล้วก็ถ้ามีอำนาจกำลังมากกว่า เราก็อาจทำลายมันเลย แต่ว่าเราก็อยู่ด้วยความอยากอย่างนี้แล้วความอยากอย่างนี้มีโทษหรือมีประโยชน์ ถ้าว่าในเบื่องต้น มนุษย์เราก็อาศัยความอยากชนิดนี้ช่วยให้ชีวิตดำเนินไปได้ ตอนแรกเรายังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร คือเรายังไม่รู้ว่าสิ่งที่เราไปเกี่ยวข้องนี้มีคุณ มีโทษต่อชีวิตของเรา ตอนแรกเราไม่รู้ ก็ได้เพียงว่า เรารู้สึกสบาย เราก็เอามันแล้ว อันไหนทำให้เราสบาย เราก็อยากเอา เราก็เอา อันไหนไม่สบายเป็นทุกข์ เราก็ไม่เอา มันก็อยู่แคนี้ นี่คือชีวิตของมนุษย์ที่เกิดมา ซึ่งเรียกว่าเป็นไปโดยธรรมชาติพื้นฐานเลย ก็ที่ง่ายๆ ก็คืออย่างอาหารนี้ เมื่อเสพรสก็รู้สึกสบายสุขก็คืออร่อย เมื่ออร่อยเราก็เอา ไม่อร่อยเราก็ไม่เอาใช่ไหมก็เท่านั้น เราก็อยู่ได้เท่านี้ อร่อยก็อยากเอา เราก็ขวยขวายเอา ถ้าไม่อร่อย ฉันก็เลี่ยง ฉันก็หนีไม่เอาด้วย นี้ความอยากประเภทนี้เป็นพื้นฐานของมนุษย์ เรียกว่าเป็นมนุษย์ปุถุชน ทีนี้คำถามก็คือว่าแล้วมันมีคุณมีโทษต่อชีวิตแค่ไหนเพียงไร ถ้าเราอยู่ด้วยความอยากอย่างนี้แล้ว มันก็ดีแล้วนี่ ทำให้ชีวิตของเราดี มันก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร แต่ปัญหาก็คือว่ามันดีหรือเปล่า มันช่วยชีวิตได้ในขณะที่ยังไม่มีปัญญาไม่มีความรู้ แต่ว่ามันปลอดภัยไหมถ้าเราจะอยู่ด้วยความอยากอย่างนี้ เรียกว่ากินอาหารเพียงเพราะอร่อย ผู้มีการศึกษาแล้วก็จะตอบได้ว่าไม่ปลอดภัยใช่ไหม กินอร่อยเวลาเอาจริงเข้าละเอียดลึกซึ้งเข้า กินอร่อยกินมากไป พอตัดสินด้วยความอร่อยนี่มันไม่มีขีดจำกัดขอบเขต กินมากไปก็มีโทษกับร่างกาย ทั้งขณะปัจจุบันที่ลุกไม่ขึ้น หรือทั้งอนาคตที่ทำให้สุขภาพทรุดโทรม หรือกินเพราะอร่อยอย่างเดียว อาหารนั้นอาจจะเป็นโทษก็ได้ ยิ่งในสมัยนี้ อาหารต่างๆ ก็ปรุงแต่งกลิ่นสีรสด้วยสารเคมี ถ้ากินตามอร่อยก็เป็นโทษได้มาก เพราะฉะนั้นกินด้วยความอร่อยด้วยความรู้สึกอย่างเดียวโดยที่ว่าเอาความรู้สึกมาตัดสินแล้วก็อยากไม่อยากไปตามนั้นนี่ไม่ปลอดภัย ทีนี้ทำยังไงจะปลอดภัยขึ้น คนเราจะปลอดภัยขึ้นเมื่อมีความรู้เข้าใจสิ่งนั้นว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษจริง เริ่มตั้งแต่เราเรียนรู้ว่า เอ้อ เรากินเพื่ออะไร ถ้าเราบอกว่าเรากินเพื่อสุขภาพ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ดำเนินชีวิตได้ดี ร่างกายอยู่ผาสุข ชีวิตก็จะดี มีสุขภาพแข็งแรง ทำกิจการอะไรต่างๆได้ ตกลงถ้าเรามุ่งหมายว่ากินนั้นมันคือเพื่อสุขภาพ เราก็จะเริ่มมาดู มาปรับพฤติกรรมในการกินอาหารว่าควรจะกินโดยปริมาณแค่ไหน ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป พอแต่ความต้องการของร่างกาย เราก็เลือกประเภทอาหารที่กินว่ากินอาหารที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ตอนนี้แหละที่เราจะเกิดการควบคุมไอ้เจ้าความอยากประเภทที่ ๑ คือ เอ๊ะ! อาหารนี้กินเกินไปแล้วนะ จะกินตามรสไม่ได้ อย่างนั้นต้องหยุด อย่างนี้เรียกว่าคุมแล้วความอยากประเภทที่ว่าชอบใจไม่ชอบใจนี้ หยุดต้องคุมไว้ในขอบเขต หรือว่าอาหารนี้อร่อยจริง แต่เป็นโทษต่อร่างกายก็ไม่เอาไม่กิน ความอยากนี้ถูกคุมแล้วใช่ไหม ที่คุมได้เพราะอะไร เพราะมีความรู้ ปัญญาเกิดขึ้น ก็คือมีการเรียนรู้ นี่หมายความว่ามนุษย์มีการศึกษา พอมีการเรียนรู้แล้วว่าอะไรเป็นโทษ เป็นประโยชน์ที่แท้จริง ก็ทำให้ปฎิบัติต่อสิ่งนั้นได้ผลดียิ่งขึ้น ให้เกิดคุณแก่ตนเองอย่างแท้จริง ทีนี้นอกจากว่าจะรู้คุณรู้โทษแล้ว มันก็จะตามมาด้วยความอยากอีกประเภทหนึ่งด้วย พอเรารู้ว่าอะไรมีคุณที่แท้จริง เราก็อยากในสิ่งนั้น แล้วอะไรที่เป็นโทษเราก็ไม่อยาก จะเป็นความอยากที่ต่างจากประเภทที่ ๑ ประเภทแรกนี้ อยากตามความรู้สีก รู้สึกที่สบาย ไม่สบาย สุขทุกข์ เช่นอร่อย ไม่อร่อย ก็อยากไม่อยากไปตามนั้น แต่อันที่๒นี้ อยากไปตามความรู้ใช่ไหม
อันที่๑ อยากไปตามความรู้สึก อันที่๒อยากไปตามความรู้ ตามความรู้ก็คือรู้ว่าอันนี้มันมีคุณเป็นประโยชน์ เราก็อยาก อันไหนเป็นโทษ เราไม่อยาก นี้แหละคือความต่างระหว่างความอยากประเภทที่๑ ที่ ๒ ตอนนี้คนเรามีความอยากเกิดขึ้น ๒ ประเภทแล้ว คนที่ยังไม่ได้มีการศึกษา ไม่มีการเรียนรู้เลยก็มีแต่ความอยากประเภทที่๑ อยากไปตามความรู้สึก ความอยากประเภทที่๑ นี้เรียกว่า “ตัณหา” เป็นความอยากที่ไม่ได้อาศัยปัญญา มีตาหูจมูกลิ้นกายใจก็มีความอยากประเภทนี้ได้เลยโดยไม่ต้องมีความรู้ เพราะฉะนั้นความอยากประเภทที่ ๑ นี้ท่านจึงเรียกว่ามีอวิชชาเป็นปัจจัย อวิชชาคือความไม่รู้ คำว่าเป็นปัจจัยคือเอื้อโอกาสให้ พอเกิดความรู้ปั๊บ ไอ้ความอยากประเภทนี้ถูกคุมทันทีใช่ไหม เพราะฉะนั้นอวิชชาจึงเป็นปัจจัยอยู่ ตราบใดที่ไม่รู้ว่าความอยากประเภทนี้ทำงานเต็มที่ พอเกิดปัญญารู้ขึ้นมาปั๊บ ความอยากประเภทนี้ถูกขัดขวางเลย ทีนี้พอมีปัญญารู้ขึ้นมาก็เกิดความอยากประเภทที่๒ รู้คุณค่าเป็นประโยชน์ปั๊บ เกิดความอยากประเภทที่๒ จึงต่างจากความอยากประเภทที่๑ ถ้ามองในแง่นี้แล้ว ตรงข้ามเลย ไอ้ความอยากประเภทที่ ๑ นั้นอาศัยความไม่รู้ ความอยากประเภทที่ ๒ อาศัยความรู้ พอรู้ว่าสิ่งนี้มีคุณค่าปั๊บอยาก ไอ้ตอนก่อนนี้มันไม่มีรสอร่อย มันก็ไม่อยาก ใช่ไหม พอรู้ว่ามันมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายก็อยาก ทีนี้ทั้งๆที่อร่อยแต่มันเป็นโทษ เรากลับไม่อยากในความหมายของความอยากประเภทที่๒ ความอยากประเภทที่๒ ที่อาศัยความรู้หรือปัญญานี้ เรียกว่า”ฉันทะ” ความอยากที่เป็นกุศล ต้องมีการเรียนรู้ ต้องมีการฝึกฝนพัฒนา เพราะฉะนั้นมาจากการศึกษา ตกลงตอนนี้เราแยกได้แล้วความหมาย๒ประเภทนี้ ความอยากประเภทที่๑ ก็สรุปอีกทีที่เรียกว่า “ตัณหา” เป็นความอยากฝ่ายอกุศล อาศัยอวิชชาเป็นตัวเอื้อ ไม่ต้องมีการเรียนรู้ ไม่ต้องศีกษา เกิดมีตาหูจมูกลิ้นกายใจ มีความรู้สึกก็มีความอยากประเภทนี้ได้ ส่วนความอยากประเภทที่๒ นึ้นต้องอาศัยปัญญา ต้องมีการเรียนรู้ ทีนี้ความอยากประเภทที่ ๒ที่เรียกว่า ฉันทะ มีความต่างที่ต้องมาเทียบกันตลอดไปกับเรื่องความอยากประเภทที่ ๑ ที่เรียกว่าตัณหา แต่ตอนนี้ในตัวความหมายย่อๆนี้ เอาว่าเข้าใจกันแน่ชัดพอสมควรนะ (ท่านสาโรจน์)เข้าใจ (ท่านมารอง) ก็เข้าใจ แยกได้เลยนะคราวนี้ เรียกว่าตอนนี้ได้ความอยาก ๒ ประเภทแล้ว
ที่นี้ความหมายของประเภทที่๑ ถ้าเราจะให้ความหมายชัดซึ่งก็คือความอยากเสพ อยากเสพให้เกิดความรู้สึกที่สบายที่มีความสุข ทีนี้ความอยากประเภทที่๒ล่ะ อยากในสิ่งที่ดี อยากในสิ่งที่เป็นคุณ ก็จะมองเห็นความแตกต่างเป็นขั้นๆไปเลยคือความอยากประเภทฉันทะนี้มันเกี่ยวกับปัญญา ก็หมายความว่าปัญญาไปรู้คุณค่าของสิ่งนั้นแล้วก็เกิดความอยากขึ้นมา เพราะฉะนั้นในความอยากนั้น เรารู้ว่าอันนี้มันจะดี จะทำให้เกิดความดีงามเช่นว่าสุขภาพดี เป็นชีวิตที่ดีเป็นต้น เราอยากให้มันเกิดความดีงามอันนั้น เพราะฉะนั้นตัวฉันทะให้ความหมายว่าอยากในสิ่งดีงาม อยากในสิ่งที่เป็นกุศล อยากในสิ่งที่เป็นกุศลก็กุศลนั้นอะไรหละ กุศลเป็นสิ่งที่เกื้อกูล เกื้อกูลเป็นคุณต่อชีวิต เราพูดภาษาไทยว่าอยากได้ในสิ่งที่ดีงาม ให้ชีวิตดีงามเป็นต้น แล้วความดีงามอันนี้มันถูกต้องสอดคล้องกับธรรมะ คือว่ามันเป็นไปตามหลักการที่จะทำให้ชีวิตอยู่ดีมีสุข อันนั้นเป็นความอยากที่สอดคล้องกับธรรมะ คือเราให้ความหมายจำกัดความ ท่านก็บอกว่าเป็นความอยากที่เป็นกุศล หรือเป็นความอยากในกุศล หรือเป็นความอยากในธรรมะ ความอยากประเภทนี้มันจะมีลักษณะที่อยากจะทำให้ความดีงามหรือสิ่งที่ดีงามเกิดขึ้น เช่นว่าเราอยากในสิ่งนั้นที่เป็นคุณต่อชีวิตหรือเราอยากให้ชีวิตของเราดีงาม อยากให้มีสุขภาพที่ดี เมื่อเราอยากให้สุขภาพของเราดี เราก็อยากทำให้มันมีสุขภาพดี เช่นว่าร่างกายนี้อยากให้มันเป็นร่างกายที่ดีมีสุขภาพ เราก็อยากทำให้มันมีสุขภาพดี ไอ้เจ้าความอยากประเภทที่ ๑ นั้น ไม่มีเรื่องทำ มันอยากจะเสพ เพราะฉะนั้นมันอยากจะเสพ มันก็อยากได้ อยากเสพก็อยากได้มาเสพ ส่วนไอ้นี่มันอยากให้เกิดความดี มันต้องอยากทำให้ดี เพราะฉะนั้นลักษณะอย่างหนึ่งที่ต่างกันคือ ฝ่ายหนึ่งอยากได้ อีกฝ่ายหนึ่งอยากทำ ถ้าฝ่ายเสพมันไม่ต้องการทำ ถ้าจะทำเพราะเป็นเงื่อนไข แกจะได้สิ่งนี้ แกต้องทำ ถ้าแกไม่ทำแกไม่ได้ ก็เลยจำใจทำ การทำเป็นเรื่องจำใจทำ เพราะว่าไม่ต้องการทำ ต้องการเสพเท่านั้น เสพคู่กับได้ ได้มาเสพพอแล้ว ส่วนว่าอยากให้ดีคู่กับต้องทำใช่ไหม จะมีความหมายโยงไปหาธรรม ทำให้มันดี เพราะฉะนั้นคนที่มีฉันทะ ก็จะมีลักษณะว่าไปเกี่ยวข้องกับอะไร ถ้าจิตใจเขาทีพัฒนาฉันทะนี้ เกิดขึ้นเป็นประจำ จะกลายเป็นลักษณะประจำใจว่าไปเกี่ยวข้องกับอะไร ก็อยากให้สิ่งนั้นดี อยากทำให้สิ่งนั้นดีที่สุด ไปนั่งที่ไหนก็อยากให้ที่นั้นสะอาด เดินไปบนถนนหนทาง เห็นของเกะกะก็อยากให้ถนนเรียบร้อยสวยงาม อยากจะทำให้สะอาด ไม่รู้ล่ะ ไปเกี่ยวข้องกับอะไรก็อยากให้มันดี อยากทำให้มันดีไปหมดเลย หมายความว่าถ้าหากปลูกฝังไปเรื่อยๆจนกระทั่งกลายเป็นลักษณะประจำใจ ไอ้ตัวนี้แหละจะเป็นต้นทางของการสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ฉันทะเปรียบเหมือนแสงอรุณหรือแสงเงินแสงทอง ถ้าเกิดขึ้นมาแล้วก็มีหวังว่าชีวิตที่ดีงามจะตามมา พระพุทธเจ้าตรัสว่า ก่อนที่อาทิตย์อุทัย จะมีแสงเงินแสงทองขึ้นมาก่อนฉันใด ชีวิตที่ดีงามจะเกิดขึ้นก็มีฉันทะหรือความอยากอันนี้เป็นตัวนำ เพราะฉะนั้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเราอยากให้มันดี เราก็พยายามทำให้มันดี เราไปเกี่ยวข้องอะไร ไปทำการงานอะไร เราอยากทำให้มันดีหมด นี้คือปัญหาของยุคปัจจุบันในระหว่างสองอันนี้ ความอยากเสพ อยากได้ผลประโยชน์ ถ้าคนทำงานอยากได้ผลประโยน์อย่างเดียว อยากจะเสพอย่างเดียว เขาก็จะไม่เอาใจใส่เรื่องงานการที่ทำใช่ไหม เพราะสิ่งที่เขามุ่งหมายนั้นคือผลประโยชน์ ขณะการทำงานนั้นคือการที่ทำให้เขาต้องถ่วงเวลาที่จะได้ผลประโยชน์ เขากลับรังเกียจไม่พอใจ ทำด้วยความไม่เต็มใจทำแล้วก็สักแต่ว่าทำ พยายามหลีกเลี่ยงการกระทำนั้น เป็นปัญหาว่าทำยังไง งานการต่างๆ ระบบงานที่ให้คนไปทำงานต่อๆกัน รับจ้างกันเป็นช่วงๆ เสร็จแล้วคนที่ทำงานก็ไม่ตั้งใจทำงาน ทำเสร็จก็เสร็จ จะขุดถนนทำอะไรก็ตาม ทำสักแต่ว่าทำ นี้ถ้าหากว่าเราสามารถสร้างไอ้ตัวฉันทะ ความอยากให้มันดี อยากทำให้ดีทุกอย่างที่ตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง เมื่อทำให้สำเร็จแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วงเลยไม่ต้องคุม เพียงแต่ให้รู้เท่านั้นเองว่า เออ ไอ้ที่ว่ามันดี มันเป็นอย่างไร แล้วเขาก็อยากให้มันดีที่สุด เหมือนกับคนที่มาทำสวน ถ้าเขาต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงามคือให้สิ่งที่เขาไปเกี่ยวข้องคือ ต้นไม้นั้นมันดี มันเจริญงอกงาม มันดีที่สุดของมัน เขาก็จะทำงานเต็มที่เองใช่ไหม ไม่ต้องไปคุม แต่ถ้าหากว่าอยากได้เพียงแต่ผลประโยชน์ คือเงินทองไปซื้อของมาเสพ อันนี้เราไว้ใจไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นวิธีการแก้ปัญหาสังคมที่สำคัญ ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นเพราะคนมีแต่ตัณหา ไม่มีฉันทะ เวลานี้เป็นปัญหาอย่างยิ่งเลย แก้ไปถึงฐานเลย เรียกว่าแทบจะไม่ต้องไปตั้งระบบควบคุมเลยถ้าคนมีฉันทะ นี้ในสังคมต่างๆ ที่เขาประสบความสำเร็จสามารถทำให้คนมีฉันทะได้ ไม่รู้ล่ะตัวทำอะไรเกี่ยวข้องกับอะไร อยากให้มันดี่สุด ทีนี้ไอ้การอยากทำให้มันดี มันต้องมีความรู้ มันต้องรู้เข้าใจ มันต้องเรียกร้องให้เราต้องอยากรู้ เพราฉะนั้นฉันทะมันจะตามมาด้วยอยากรู้ ใฝ่รู้ อยากรู้ว่ามันทำอย่างไร มันจึงจะเกิดผลที่ต้องการได้ และก็อยากทำคือทำให้มันดี เพราฉะนั้นตัวฉันทะแปลได้ ๒ อย่าง ซึ่งก็อยู่ด้วยกันนั่นแหละ คือ อยากรู้ และอยากทำ ความอยากรู้อยากทำทางพระท่านแปลว่า กัตตุกัมยตา แปลว่าผู้ปรารถนาจะทำ อยากจะทำ ทำให้มันดี ถ้าพูดเป็นภาษาไทยก็คืออยากสร้างสรรค์ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์อันนี้เรียกว่าฉันทะ ในสังคมไทยของเรานี้ขาดมากนะ ความใฝ่รู้ไม่ค่อยมี ใฝ่สร้างสรรค์ไม่ค่อยมี เพราะเราไปติดเรื่องความเพลิดเพลิน สนุกสนาน ก็เกี่ยวคู่กับการอยากเสพสิ อยากเสพก็อยากได้ คิดแต่เพียงจะได้ ถ้าเราไม่สามารถปลูกฝังฉันทะขึ้นมา ในการแก้ปัญหาสังคมเป็นไปได้ยาก อย่างที่ยกตัวอย่างบ่อยๆ สมมติว่าเราเข้าเรียนหนังสือ เราเรียนวิชาต่างๆ ค่านิยมของสังคมก็จะให้เรามองในแง่ว่าเรียนวิชาอะไรจะให้เงินตอบแทนมากที่สุดใช่ไหม นี้คำนิยมในสังคม รายได้ดีที่สุด พอเราเรียนโดยเลือกตามความอยากได้ วิชาการนั้นเราอาจจะไม่รักเลยหรือไม่ก็รัก แต่เราไปรักผลตอบแทนใช่ไหม อันนี้ก็ถือว่าเราเลือกด้วยตัณหา ตัณหาเป็นแรงจูงใจในการเรียนวิชา ทีนี้เมื่อเราเรียนวิชาด้วยตัณหา ไอ้ความอยากเรียนวิชานั้นที่จริงไม่มี เพราะฉะนั้นเราก็เรียนไปโดยที่ว่า ต้องการเพียงผลสำเร็จ ผลตอบแทน ไปได้ใบปริญญา แล้วก็ไปทำงานได้รายได้ดี ความเอาใจใส่ในเนื้อหาสาระโดยเฉพาะในผลที่แท้ของตัววิชานี้จะไม่ค่อยมี นี้ถ้าหากว่าเราอยากได้แบบฉันทะจะต่างกันยังไง แต่ว่าจะเรียนวิชาอะไร เรียนเพราะอยากได้ผลประโยชน์ตอบแทนให้มาก อันนี้เรียกว่าตัณหาใช่ไหม ฉะนั้นการเรียนวิชานั้นเป็นหตุ แล้วผลคืออะไร คือการได้ผลตอบแทนหรือรายได้มากใช่ไหม การเรียนวิชานี้เป็นเหตุ เงินรายได้มากเป็นผล ก็ถูกต้อง เช่นว่า วิชาที่ในสังคมไทยเราถือกันว่ารายได้ดีที่สุดก็คือวิชาแพทย์ เดี๋ยวนี้ไม่แน่แล้วนะ แต่ว่าแพทย์เดี๋ยวนี้ก็ยังรายได้ดีมากอยู่ สมมติว่าคนในสังคมนี้เลือกเรียนแพทย์เพราะแรงจูงใจนี้เยอะใช่ไหม เวลาเลือกเรียน เอ้อ เรียนแพทย์รายได้ดี การเรียนแพทย์เป็นเหตุ การได้รายได้มากเป็นผล นี่เหตุผลใช่ไหม ตรงไหมๆ ??? ก็ใช่สิเป็นสิ่งสมมติแน่นอน ก็ตามข้อตกลงของมนุษย์ใช่ไหม ถ้ามนุษย์ไม่ได้ยอมรับตกลงมันก็ไม่มีรายได้อะไรขึ้นมา เอาล่ะชัดไหม ตอนนี้การเรียนวิชาแพทย์เป็นเหตุ การได้รายได้มากเป็นผลใช่ไหม นี้คือระบบตัณหาใช่ไหม ทีนี้เราไปมองว่าผลที่แท้ของการเรียนวิชาแพทย์คืออะไร โดยธรรมชาติผลที่แท้คืออะไรครับ ??? ครับ การเรียนวิชาแพทย์เป็นเหตุ ความสามารถรักษาคนให้หายป่วยไข้และมีสุขภาพดีเป็นผล ถูกไหม แน่นอนใช่ไหม อันนี้แน่นอนเลยชัดเจน ผลที่ตรงโดยธรรมชาติเลย ก็คุณเรียนวิชาแพทย์ คุณก็เก่งที่จะรักษาคน ทีนี้คนที่ต้องการผลตรง อยากได้ที่เป็นฉันทะคือตรงนี้ใช่ไหม อยากให้คนหายโรค หรืออยากรักษาคนให้หายโรค อยากมีความสามารถที่จะทำให้คนหายป่วยมีสุขภาพดี การสามารถรักษาคนให้หายโรคเป็นผลใช่ไหม ก็เลยอยากเรียนวิชาแพทย์ การอยากเรียนวิชาแพทพย์อันนี้เพื่อต้องการผลคือ การรักษาคนได้ อันนี้เป็นเหตุผลตรงใช่ไหมครับโดยธรรมชาติ อันนี้รียกว่าฉันทะ เพราะฉะนั้น ถ้าเขาอยากรักษาคนให้หายป่วยให้หายโรค มีสุขภาพดี แล้วเขามาเรียนวิชาแพทย์อย่างนี้เป็นฉันทะ ลองคิดสิครับ อันไหนจะทำให้เกิดปัญหาสังคม อันไหนจะแก้ปัญหาสังคม ชัดไหมครับ ชัดใช่ไหมครับ นี้ถ้าหากเราจะแก้ปัญหาสังคมก็คือว่าเรายอมรับค่านิยมสังคมในระดับหนึ่งก็คือ สมมติว่าคนอยากได้รายได้ดี แต่เป็นหน้าที่ของผู้ให้การศึกษา สถาบันการศึกษาจะต้องสร้างฉันทะให้ได้ ถ้าหากสร้างไม่ได้จะเป็นปัญหามาก คนนั้นไม่ตั้งใจเรียนวิชาแพทย์อย่างจริงจัง การเอาใจใส่ในการรักษาคนก็ไม่มี จะมุ่งไปแต่รายได้ มันจะเกิดความสับสนซับซ้อนในสังคมมากมาย แต่ถ้าเราให้มีความอยากได้แต่พอประมาณใช่ไหม เอ้ารู้เท่าทันสมมติว่าเราอยู่ในโลกก็ต้องมีรายได้ อย่างนี้มันก็จำเป็นอยู่ แต่ว่าเราอย่าหลงใหล อยู่ด้วยความรู้เท่าทันสมมติแต่ว่าต้องให้ได้ตัวจริง เพราะเราจะต้องทำสิ่งที่ดีงาม แก้ไขปัญหาสังคม สร้างสรรสังคมนี้ เราก็มีความอยากประเภทที่อยากให้คนมีสุขภาพดี อยากมีความสามารถในการรักษาโรค อันนี้การเรียนแทพย์จะเป็นเหตุ และจะเป็นสิ่งที่เขาทำด้วยความตั้งใจใช่ไหม ลองใครอยากจะมีความสามารถรักษาโรค เขาจะเรียนวิชาแพทย์ด้วยความตั้งใจ เชื่อไหม ตั้งใจเรียน เอาใจใส่ ทำยังไงเขาจะมีความสามารถนั้น อันนี้เรียกว่าฉันทะ
ตกลงว่าในเรื่องเดียวกันนี้ เราจะเห็นได้ทันทีว่า ตัณหากับฉันทะ มันคู่กันมาเลยนะ ทีนี้ถ้าเราจับไม่ถูก เราไปอยู่ในฝ่ายตัณหาปั๊บ ปัญหาก็เกิดขึ้นใช่ไหม พอเป็นสายอวิชชา ตัณหาแล้วก็ปัญหา อวิชชา ตัณหา ปัญหา ทีนี้ถ้ามาฝ่ายวิชชา ฉันทะ แก้ปัญหา แก้ปัญหาใช่ไหมครับ สร้างสรรนี่แหละครับ ตอนนี้ปัญหาของสังคมไทยเรื่องนี้สำคัญคือคนไม่ค่อยมีฉันทะ พอมีฉันทะในระยะยาว ยกตัวอย่างเช่นว่า เรียนวิชาแพทย์เป็นอันว่าได้ผลดีในทุกขณะ อย่างที่บอกเมื่อกี้ เราไปเกี่ยวข้องกับใคร เราอยากให้สิ่งนั้นดี ดีที่สุด อยากจะทำให้ดีที่สุด พอไปทำงานทำการอะไร เราอยากทำให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้น สบายใจเลย อยู่ในตัวตลอดเวลา เพราะฉะนั้นหลักประกันในการที่จะให้งานได้ผลดีมีอยู่ที่ตัวแล้ว ไม่ต้องไปหาจากข้างนอก ไม่ต้องมีใครมาคุมแล้วทีนี้ ไอ้การคุมก็เป็นเพียงช่วยประสานงาน ช่วยทำให้งานที่ประสานได้ผลยิ่งขึ้น เพราะมีความรู้กรอกว่าเราควรทำอะไร เราก็ได้แล้วนะ ตัวฉันทะ ตัวฉันทะมันอยากได้ในความดีในสิ่งที่เป็นกุศลธรรม ท่านก็บอกว่าเอาเลยอยากไปเลย อันนี้ไม่ต้องรู้จักพอ อยากไปแล้วพอถือว่าสันโดษถือว่าประมาทด้วยซ้ำ ให้อยากไป อยากสร้างสรรค์ความดี สิ่งที่ดีงาม สิ่งทีเป็นประโยชน์ ได้เท่านี้แล้วอย่าไปหยุด อย่าไปพอ เอาอีกต่อไป ฉันทะก็เลยมาด้วยกันกับความไม่สันโดษในกุศลธรรม หนุนเป็นพวกเดียวกัน พอมีฉันทะแล้วก็ความเพียรพยายามอยากทำให้สำเร็จ แต่ถ้าหากว่ามีตัณหาปั๊บ มันอยากได้อยากเสพท่าเดียว ทีนี้มันไม่เอาเรื่อง งานการไม่เอา อยากได้ อยากเสพ มันไม่สน ไม่สันโดษในวัตถุ มันก็ยุ่งสิ เพราะฉะนันจึงบอกว่า คุมๆให้สันโดษในวัตถุซะ เอาแต่พอให้รู้จักพอ ก็คุมตัณหาไว้ แล้วก็มาเร่งเจ้าตัวฉันทะดันให้มันไปทางไม่สันโดษในกุศลธรรม อันนี้ก็ลงไปถึงตัวฐานของความสันโดษ ไม่สันโดษอีกที
ดูก็ไม่ยากอะไรนะเรื่องนี้ แยกกันได้ ชัดเจน มีข้อสงสัยในแง่อื่นไหม นอกจากความหมายของมัน ไม่มีเลยนะ