แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ณ บัดนี้อาตมาภาพจะได้แสดงธรรมกถา อนุโมทนาในโอกาสที่ทางกรมสามัญศึกษาจะได้เริ่มเปิดโครงการหัวใจสีแดง ซึ่งในวันนี้ก็เป็นการมาประชุมร่วมกันในสถานที่ที่มีความร่มรื่น เป็นที่ที่มีความร่มเย็นไปพร้อมด้วย เพราะเป็นสถานที่ในทางธรรมะ แล้วก็ในเวลาที่สดชื่นผ่องใส นับว่าเป็นความดำริดีงาม ก็ขออนุโมทนาท่านอธิบดีกรมสามัญศึกษาที่ได้ริเริ่มกิจการอันนี้ ทีนี้ในการต่อจากนี้นั้น กำหนดไว้ก็เรียกปฐกถาธรรมจัดขึ้นในลักษณะของพิธีกรรมที่เป็นลักษณะเป็นการแสดงพระธรรมเทศนนา ก็คงมุ่งจะให้สอดคล้องกับบรรยากาศของสถานที่ แต่ว่าการแสดงนั้นก็จะเป็นไปในลักษณะของการแสดงปฐกถาธรรมตามกำหนดการที่ได้วางไว้ แต่ว่าที่จริงแล้วจะเป็นปฐกถาธรรม หรือจะเป็นพระธรรมเทศนาก็ตาม โดยสาระแล้วก็อย่างเดียวกัน ต่างโดยชื่อ โดยสมมติ โดยบัญญัติ โดยวัฒนธรรมประเพณี สิ่งที่ต้องการก็คือว่าตัวธรรมะ ทีนี้ในบรรยากาศที่เบาๆ สบายๆ อย่างนี้ ก็ควรจะนำเรื่องเบาๆ มาพูดกัน สำหรับหลายคนเห็นว่าถ้าจะพูดธรรมะก็จะเป็นเรื่องที่หนัก เพราะฉะนั้นก็จะแสดงธรรม แต่จะแสดงธรรมที่เบาๆ บางทีเบาจนไม่รู้ว่าแสดงธรรมด้วยซ้ำไป ทีนี้ในวันนี้นั้นก็นอกจากว่าจะให้เป็นเรื่องแสดงธรรม แล้วจะให้เบาๆ ผมก็เลยไม่เอาเรื่องที่แน่นอนลงไป ยกขึ้นมาพูดเป็นหัวข้อย่อยๆ ต่างๆ เป็นสิ่งละอันพันละน้อย ในวันนี้ก็อยากจะพูด 3 เรื่อง ความจริงไม่ควรจะบอกหัวข้อเรื่อง แต่วันนี้ก็บอกซะ อาจจะเป็นแนวกำหนดในใจ เพราะไม่แน่ใจว่าจะพูดได้หมดครบทั้ง 3 เรื่องหรือเปล่า ก็เลยบอกกล่าวไว้ว่าความจริงตั้งใจจะพูดสัก 3 เรื่อง
เรื่องที่หนึ่งก็คือ เรื่องเจตคติวิทยาศาสตร์ นำมาพูดโดยเปรียบเทียบกับเจตคติแบบพุทธศาสตร์ หรือเจตคติพุทธนั่นเอง
เรื่องที่สอง ที่อยากจะพูด ก็คือเรื่องคิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น แล้วแก้ปัญหาเป็น
เรื่องที่สาม ก็คือเรื่องแนวคิดแบบองค์รวม อันนี้ก็เป็นเรื่องที่อาจจะเป็นที่สำคัญในยุคปัจจุบันนี้ พอสมควร
อันนี้ก็จะพูดไปตามลำดับ ความจริงก็ไม่จำเป็นจะต้องพูดตามลำดับ คือบอกแล้วว่าพูดตามแต่ว่าจะนึกขึ้นได้เป็นสิ่งละอันพันละน้อย ทีนี้เราก็มาปรารภกันถึงชีวิตในโลกปัจจุบันนี้ซะก่อน โลกปัจจุบันนี้ก็นับว่ามีความเจริญ พัฒนากันมามากมายเหลือเกิน มีสิ่งต่างๆ ที่อำนวยความสะดวก ความสบาย แม้แต่ถึงขั้นที่เป็นการบำรุงบำเรอก็มากมาย สิ่งที่อำนวยความสะดวกสบายเหล่านี้นั้นเกิดจากอะไร สิ่งที่จะช่วยให้เกิดความสะดวกสบายเหล่านี้ ก็มองง่ายๆ ว่าเทคโนโลยีนั่นเอง เทคโนโลยีนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมากสำหรับชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน แม้แต่เหตุการณ์ที่กำลังจะสงบลงไป เวลานี้ก็คือสงครามที่อ่าวเปอร์เซียโน้น เราจะเห็นถึงการที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการสงคราม ซึ่งเป็นความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก อันนั้นก็มีความหมายซึ่งแล้วแต่จะมองด้านหนึ่งก็เป็นความก้าวหน้าในทางการทำลายก็ได้ แต่ว่าผู้ที่ใช้ก็จะบอกว่าใช้เพื่อความสงบเพื่อสร้างสันติภาพ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ปรากฏชัดก็คือ บทบาทของเทคโนโลยี ทีนี้เทคโนโลยีนั้น ในรูปปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีแบบก้าวหน้า ซึ่งอาศัยวิทยาศาสตร์ คือเทคโนโลยีทั้งหมดนี้อาศัยความเจริญทางวิทยาศาสตร์เป็นรากฐานอีกทีหนึ่ง เทคโนโลยีนั้น ที่มีอยู่ได้นี้ ก็ต้องพัฒนาไปพร้อมกับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ด้วย ในยุคนี้เรามีความเจริญก้าวหน้ามาก จนกระทั่งประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังก้าวพ้นจากสังคมอุตสาหกรรม ไปเป็นสังคมยุคข่าวสารข้อมูล แต่จะพัฒนาเป็นสังคมยุคอุตสาหกรรมก็ตาม เป็นยุคข่าวสารข้อมูลก็ตาม ก็อาศัยบทบาทของเทคโนโลยีเป็นตัวกำกับทั้งสิ้น จะต่างกันก็แต่ว่าในยุคอุตสาหกรรมนั้น เทคโนโลยีเป็นเทคโนโลยีประเภทจักรกลเป็นใหญ่ พอมาในการที่เราจะก้าวสู่ยุคข่าวสารข้อมูลนี้ เทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญ จะเป็นเทคโนโลยีในด้านอิเล็กทรอนิกส์ อันนี้ก็เป็นเรื่องของความก้าวหน้า ซึ่งเอาเป็นว่าความก้าวหน้าทั้งหมดนั้นต้องอาศัยเทคโนโลยี โดยมีรากฐานมาจากวิทยาศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเจริญพัฒนาเหล่านี้ โลกปัจจุบันก็ได้ประจักษ์ชัดอันหนึ่ง ก็คือด้านของความเสื่อมโทรมหรือปัญหาต่างๆ มากมาย ปัญหามากมายที่กำลังปรากฏขึ้นที่กำลังว่ากันมากในประเทศที่พัฒนาแล้ว คือเรื่องธรรมชาติแวดล้อมเสีย อันนี้เป็นที่ตื่นเต้นตระหนกตกใจกันเป็นอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนานั้น กำลังพูดกันถึงการที่จะก้าวไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม เป็นนิกส์ เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในทำนองนี้ กับประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจะไม่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ แต่กำลังถกเถียงกันเรื่องทำอย่างไรจะแก้ปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสีย อุณหภูมิในโลกกำลังเพิ่มขึ้น เรื่องช่องว่างโอโซนบรรยากาศกำลังขยายตัว อะไรทำนองนี้ จนกระทั่งว่าปัญหาเหล่านี้จะนำมาซึ่งความสูญสิ้นของมนุษชาติ นอกจากเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเสียก็คือ เรื่องด้านสังคม ปัญหาสังคมในยุคนี้ก็เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากเช่นเดียวกัน เช่นการติดยาเสพติดในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างประเทศอเมริกา ซึ่งอยู่ในขั้นที่หลายคนบอกหมดหวังกว่าจะแก้ไขได้ แล้วในด้านต่อไปก็คือตัวชีวิตของมนุษย์เอง ทั้งกายและใจ โลกภัยไข้เจ็บนั้น เราก็ถือว่าวิทยาศาสตร์เจริญ การแพทย์เจริญ ก็ได้แก้ปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ จนกระทั่งว่าโรคภัยไข้เจ็บหลายอย่างนี่หมดไปจากโลก เราไม่มีไข้ทรพิษหรือฝีดาษอีกแล้ว อหิวาต์ก็ดูเหมือนจะหายไปจากประเทศไทยหลายปี แต่ว่าตอนนี้ก็เริ่มเป็นห่วงกันอีก เราก็เริ่มมีโรคทางกายที่น่ากลัว คือโรคเอดส์ มันแก้ไขไม่ได้ นอกจากนั้นโรคระบาดบางอย่างที่เคยคิดว่าจะพิชิตสำเร็จ ขณะนี้ทางองค์การอนามัยโลกก็ ประกาศออกมาว่าไม่สามารถแก้ไขได้ คือโรคมาเลเรีย ขณะนี้กำลังฟื้นฟู มีเชื้อชนิดใหม่ที่ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ปัจจุบันยังไม่สามารถที่จะค้นพบยาที่จะมาแก้ไข แล้วโรคนี้กำลังลุกลาม ขณะนี้อหิวาตกโรคก็เกิดระบาดขึ้นมาอีกในประเทศเปรู ซึ่งเขาบอกว่าในประเทศตะวันตก หรือซีกโลกตะวันตก ไม่เคยมีอหิวาต์เลย ในรอบศตวรรษที่ผ่านมา อันนี้ก็เป็นครั้งแรกที่หิวาตกโรคเกิดระบาดขึ้นมา แล้วโรคทางกายปัญหาทางกายก็เป็นเรื่องที่ยังคุกคามมนุษยชาติอยู่ อีกด้านหนึ่งก็คือชีวิตด้านจิตใจ ด้านจิตใจก็มีปัญหามาก คนในประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นปัญหาเรื่องโรคเครียดเป็นอย่างยิ่ง โรคเครียด แล้วก็โรคจิตใจ การฆ่าตัวตาย แม้แต่เด็กวัยรุ่นก็ฆ่าตัวตายมากในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในประเทศที่ยังไม่พัฒนานั้น อย่าว่าแต่เด็กวัยรุ่นเลย คนแก่ก็ยังไม่ยอมฆ่าตัวตาย แล้วในประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น เริ่มมีคนแก่คนสูงอายุฆ่าตัวตายมากกว่า มาถึงปัจจุบันนี้คนวัยรุ่นคนหนุ่มสาวฆ่าตัวตายกันมากมาย จนกระทั่งเป็นที่น่าตระหนกตกใจ แล้วสืบหาสาเหตุก็ยังไม่แน่ใจ อันนี้ก็เป็นปัญหาต่างๆ ซึ่งคุกคามมนุษยชาติ แล้วปัญหาเหล่านี้ทั้งหมดก็มาจากการพัฒนา การสร้างความเจริญแบบยุคปัจจุบันนั้นเอง ซึ่งมาจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เมื่อเทคโนโลยีนี้ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์เป็นรากฐาน บางคนมีการทบทวนเรื่องการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญกัน ก็เลยการกล่าวโทษ นอกจากจะกล่าวโทษเทคโนโลยีแล้ว ก็เลยลามไปกล่าวโทษวิทยาศาสตร์ด้วย ทั้งๆ ที่วิทยาศาสตร์นั้นไม่ได้ทำอะไร เป็นเพียงการค้นหาความจริงมาให้ ส่วนว่าใครจะไปประยุกต์ใช้เทคโนโลยียังไง ก็เป็นเรื่องของมนุษย์เอง แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีแง่หนึ่งที่ควรจะพิจารณา ก็คือว่าควรจะพิจารณาในแง่ที่ว่ามนุษย์ในปัจจุบันนี้อาจจะมีความหลงใหลคลั่งไคล้ในวิทยาศาสตร์มากเกินไป ทำคำหนึ่งที่เคยใช้ในอดีต คือคำว่า scientism แปลว่า ลัทธิคลั่งวิทยาศาสตร์ หรือความหลงใหลในวิทยาศาสตร์ คำนี้เป็นคำที่เก่าที่ใช้มานาน แต่ว่าไม่ค่อยเป็นที่ใช้แพร่หลายนัก คือใช้ในบางพวกบางกลุ่ม แต่ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่าคำนี้เริ่มใช้มากขึ้น แล้วก็ใช้ในวงการนักวิทยาศาสตร์ด้วย นักวิทยาศาสตร์เองได้เริ่มหันกลับมาทบทวนถึงความคิดในทางวิทยาศาสตร์ ว่าได้พัฒนาไปอย่างถูกต้องหรือไม่ คนที่เชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์นั้น ก็จะเชื่อมั่นไปถึงขั้นที่ว่า วิทยาศาสตร์นี้จะแก้ปัญหาอะไรได้ทุกอย่าง หรือว่าวิทยาศาสตร์จะตอบปัญหาได้ทุกอย่าง คนที่เชื่ออย่างนี้ปัจจุบันเขาเรียกว่าเป็นพวกที่คือลัทธิ scientism คือพวกที่คลั่งวิทยาศาสตร์ ทีนี้นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันนี้ก็ได้ยอมรับและพูดกันมาก ถึงการที่ว่าวิทยาศาสตร์นั้นไม่สามารถจะแก้ปัญหาทุกอย่าง วิทยาศาสตร์ไม่สามารถจะตอบปัญหาทุกอย่างของมนุษย์ได้ ความเข้าใจอย่างนี้กำลังเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นจึงมีการเคลื่อนไหวในวงการของวิทยาศาสตร์เอง นักวิทยาศาสตร์ก็พากันพูดถึงฟิสิกส์ใหม่ หรือนิวฟิสิกส์ หรือเป็น new science วิทยาศาสตร์ใหม่ มีการคิดค้นในวงการวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นนักวิทยาศาสตร์ในระดับที่หัวก้าวหน้า คือได้มีการดิ้นรนที่จะค้นหาทางออกให้กับวิทยาศาสตร์ มีความเชื่อว่าวิทยาศาสตร์จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดพื้นฐานเสียใหม่ แนวความคิดเดิมที่มีมาจากนิวตัน มีเดคาร์ก เป็นผู้นำอะไรพวกนี้ กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นอันนี้ก็เป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งหมดนี้เราก็กำลังพิจารณาในการที่จะหันเหทิศทางของการพัฒนาเสียใหม่ แล้วในวงการการพัฒนา ก็ได้มาเห็นกันแล้วว่าที่ผ่านมานั้น การผิดพลาดของการพัฒนานั้น เป็นเพราะเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าบทบาท เป็นแกนกลางของการพัฒนา โดยมุ่งความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ ความขยายตัวพรั่งพร้อมทางวัตถุ ปัจจุบันนี้พูดกันมากจนกระทั่งองค์การอนามัยโลกก็ได้ยอมรับแล้ว องค์การยูเนสโกซึ่งเป็นองค์การที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และการศึกษา ก็เป็นผู้เสนอเองให้เปลี่ยนแนวทางการพัฒนาใหม่ แล้วองค์การสหประชาชาติ คือยูเอ็น ก็ได้ยอมรับแล้ว แต่ถึงจะประกาศออกมาว่าต่อไปนี้ให้เปลี่ยนแนวทางของการพัฒนาใหม่ แทนที่จะเอาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เป็นแกนกลางของการพัฒนา ก็ให้หันไปเน้นความสำคัญของด้านวัฒนธรรมและจิตใจ ตอนนี้ปรากฏว่าได้มีการประกาศช่วงเวลาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2531 – พ.ศ. 2540 เป็น world decade for cultural development หรือทศวรรษโลกของการพัฒนาวัฒนธรรม อันนี้ก็เป็นเรื่องของการเคลื่อนไหว ซึ่งการที่เขาจะประกาศมานี้ได้ เขาก็จะต้องชี้แจงเหตุผล ให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น มาใช้หรือนำมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาโดยไม่ได้คำนึงถึงองค์ประกอบด้านอื่น แล้วจะเกิดผลเสียหายอย่างไร จนกระทั่งออกมาเป็นมติเช่นนี้ อันนี้ก็มีแนวโน้มใหม่ที่เราจะต้องตามรู้ตามทัน อย่างไรก็ตามเราจะไปสุดโต่งจากการที่ว่าความเชื่อมั่นคลั่งไคล้ในวิทยาศาสตร์ แล้วไปสู่การปฏิเสธวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสียโดยสิ้นเชิงก็ไม่สมควร ไม่ควรจะทำอย่างในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งคนมักจะมีนิสัยที่ว่าไปสุดโต่ง สมัยหนึ่งก็ไปสุดโต่งทางวัตถุ ต้องการที่จะพัฒนาวัตถุให้พรั่งพร้อมเต็มที่ พอมายุคหนึ่ง พอเห็นเป็นโทษไม่ดีก็ปฏิเสธเต็มที่ ดังจะเห็นว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วนี้ คนบางพวกก็จะปฏิเสธเทคโนโลยีโดยสิ้นเชิง ไม่ยอมใช้เทคโนโลยีทั้งสิ้น จะอยู่แบบธรรมชาติอย่างเดียว อะไรทำนองนี้ ทำยังไงเราจึงจะวางจิตใจให้ถูกต้อง วิทยาศาสตร์นั้นนำอะไรมา วิทยาศาสตร์นั้นพยายามค้นพบความจริง แต่ว่าสิ่งที่วิทยาศาสตร์นำมาให้แก่มนุษยชาตินั้น น่าสังเกตว่าเราได้นำมาใช้ให้ถูกต้องแค่ไหน อย่างไร วิทยาศาสตร์นั้นด้านหนึ่งก็อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ ก็คือว่าได้ค้นพบความจริงของธรรมชาติ ทำให้เราได้ค้นพบแล้วพยายามนำเอาความรู้ในความจริงของธรรมชาตินี้ มาใช้ประโยชน์ในการจัดสรรควบคุมธรรมชาติ สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาพัฒนาสิ่งต่างขึ้นมาใช้ ด้านนี้เราจะเน้นไปในการที่ว่าเราได้มีสิ่งต่างๆ ที่จะอำนวยความสุข ความสะดวกสบาย คือสิ่งบริโภคต่างๆ เพิ่มมากขึ้น มีอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะใช้ ในการที่จะเป็นอยู่ ให้มีความสุขพรั่งพร้อมบริบูรณ์ แต่สิ่งหนึ่งที่วิทยาศาสตร์นำมาซึ่งเป็นคุณประโยชน์มาก ก็คือสิ่งที่เรียกว่า เจตคติวิทยาศาสตร์ มนุษย์ในยุคที่ที่พัฒนาแล้วนี้ บางทีไปมองเพลิดเพลินหลงอยู่กับสิ่งที่เป็นวัตถุบริโภคที่วิทยาศาสตร์ เพื่อนำมาให้โดยผ่านทางเทคโนโลยี จนกระทั่งลืมไปถึงว่าสิ่งสำคัญของวิทยาศาสตร์ คือตัววิทยาศาสตร์เน้นมาก ก็คือเจตคติวิทยาศาสตร์ บางทีคนที่อยู่ในโลกที่เจริญแล้วที่คลั่งไคล้วิทยาศาสตร์นั้นเอง ได้แต่เพลิดเพลินกับสิ่งที่วิทยาศาสตร์นำมาทางเทคโนโลยี จนกระทั่งไม่ได้คำนึงถึงเจตคติของวิทยาศาสตร์ ทั้งๆ ที่ตัวเองอยู่กับวิทยาศาสตร์ และที่เป็นผลิตผลทางวิทยาศาสตร์ แต่มิได้มีเจตคติทางวิทยาศาสตร์เลย อย่างที่ปรากฏในปัจจุบันนี้เป็นอย่างมาก กลายเป็นว่าในที่สุดแม้แต่ตัววิทยาศาสตร์เองนั้น เราก็ไม่ได้มีเจตคติวิทยาศาสตร์กับมัน หมายความว่าเรามีเจตคติที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ต่อวิทยาศาตร์ เพราะฉะนั้นมันจึงเกิดลักษณะที่เรียกว่าเป็น scientism หรือการคลั่งไคล้วิทยาศาสตร์ขึ้นมา ถ้าหากว่าเรามีเจตคติที่ถูกต้องต่อวิทยาศาสตร์ คือมีเจตคติวิทยาศาสตร์ต่อวิทยาศาสตร์เองแล้ว มันก็จะไม่เกิดสภาพอย่างนี้ขึ้น ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่วิทยาศาสตร์นำมาซึ่งมนุษยชาติควรได้อย่างยิ่งคือ เจตคติวิทยาศาสตร์นี้ ซึ่งอาจจะสำคัญยิ่งกว่าการค้นพบความจริงที่วิทยาศาสตร์นำมาให้ด้วยซ้ำไป เพราะอะไร เพราะว่าสิ่งที่วิทยาศาสตร์ค้นพบเป็นความจริงในแง่ต่างๆ แล้วทำให้เทคโนโลยีสามารถผลิตขึ้นมา มารับใช้สนองความต้องการของมนุษย์นั้นเป็นด้านการบริโภค ที่ไม่ได้เป็นการพัฒนามนุษย์โดยตรง แต่เจตคติวิทยาศาสตร์นี่แหละเป็นตัวพัฒนามนุษย์โดยตรง เป็นการทำให้จิตใจและปัญญาของมนุษย์เจริญก้าวหน้าขึ้น การพัฒนานมนุษย์นี้เป็นการศึกษา การศึกษาที่แท้จริงนั้นสัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์ในการสร้างเจตคติวิทยาศาสตร์มากกว่าที่จะไปมัวเพลิดเพลินกับการได้เห็น ได้พบ ได้ใช้ สิ่งที่วิทยาศาสตร์ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาในทางเทคโนโลยี ทีนี้ในขณะนี้ โลกนี้แม้แต่การศึกษาเอง บางทีก็เดินทางที่อาจจะไม่ถูกต้องนัก โดยแทนที่จะเน้นเจตคติวิทยาศาสตร์ก็ไปเน้นสิ่งที่เป็นผลิตผลของวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ความจริงนั้นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ค้นพบว่าเป็นความจริงนั้น ก็หาได้แน่นอนไม่ ในสมัยหนึ่งเราค้นพบว่า วิทยาศาสตร์ว่าอย่างนี้เป็นความจริง แต่ต่อมาอีก 10 ปี 20 ปี ก็ได้ค้นพบใหม่ว่าสิ่งที่เคยค้นพบไว้เมื่อ 10 ปี 20 ปีก่อน ไม่เป็นความจริง วิทยาศาสตร์จะเป็นอย่างนี้อยู่เสมอ ในสมัยก่อนโน้นนิวตันก็ค้นพบเรื่องเป็นกฏแห่งความดึงดูด ว่าโลกนี้สิ่งทั้งหลายมวลสารต่างๆ มีความดึงดูด เสร็จแล้วต่อมาเราก็ต้องได้ทฤษฏีสัมพัทธ์ว่า theory of relativity ของไอสไตน์ ซึ่งจะประกาศให้เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องของความดึงดูดประการใด อะไรทำนองนี้ ทางวิทยาศาสตร์จะเป็นการค้นพบความจริงที่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นความจริงที่ยังไม่แน่นอน ฉะนั้นสิ่งที่เราเชื่อในปัจจุบันว่าเป็นวิทยาศาสตร์นั้น ต่อไปก็อาจจะไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ฉะนั้นอย่ามัวหลงใหลคลั่งไคล้กับสิ่งที่วิทยาศาสตร์ค้นพบนั้น หาได้ไม่ สิ่งสำคัญที่แน่นอนก็คือเจตคติวิทยาศาสตร์ ถ้าคนที่ไม่มีเจตคติทางวิทยาศาสตร์ต่อวิทยาศาสตร์ ก็อาจจะหลงใหลคลั่งไคล้ต่อสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบในปัจจุบัน ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งที่เท็จในโอกาสต่อไป ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือเจตคติวิทยาศาสตร์นี้ที่เราจะต้องพัฒนาขึ้นให้ได้ อาตมาจะยกตัวอย่างเช่นว่าในไม่นานมานี้ ก็มีในวงการวิทยาศาสตร์เกิดมีการมาคิดพิจารณากันเรื่องอิทธิพลของดวงดาวต่างๆ เช่น ดวงจันทร์ คือดวงจันทร์นี้เราเชื่อกันอยู่แล้ว วิทยาศาสตร์ก็บอกเรา เราเรียนภูมิศาสตร์เบื้องต้น เรียนวิทยาศาสตร์เบื้องต้น ดาราศาสตร์เบื้องต้น เราก็ได้ทราบว่าดวงจันทร์นี้มีอิทธิพลต่อโลกในด้านวัตถุอย่างไร พระจันทร์ในวัน 8 ค่ำ 15 ค่ำ จะมีอิทธิพลต่อสภาพความเป็นไปบนผืนโลกอย่างไร เด็กนักเรียนก็ตอบได้ ก็คือทำให้เกิดน้ำขึ้น-น้ำลง เวลาขึ้น 15 ค่ำ แรม 15 ค่ำ ก็จะทำให้น้ำขึ้น-น้ำลงมาก อันนี้ก็เป็นด้วยแรงดึงดูดของพระจันทร์ที่ว่าเป็นดวงดาวที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด อยู่ใกล้โลกที่สุดก็มีแรงดึงดูดที่มาถึง ก็ทำให้เกิดอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลง อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่รู้กันอยู่แล้ว แต่ต่อมานักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งเกิดความสงสัยว่าอิทธิพลของดวงจันทร์นี้จะมีต่อชีวิตจิตใจของมนุษย์ด้วย จนกระทั่งได้พยายามมีการพิสูจน์ตามหาหลักฐาน ด้วยการที่ว่าจะรวบรวมสถิติว่าในวันเท่านั้นค่ำๆ จะมีอาชญากรรมประเภทนี้มาก ประเภทนั้นมาก แล้วเขาก็อธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ บอกว่าในการที่พระจันทร์มีอิทธิพลต่อโลกทำให้น้ำขึ้น-น้ำลงนั้นมันมีอิทธิพลไปถึงชีวิตของคนได้อย่างไร ถ้าน้ำขึ้นนั้นมันไม่ได้ขึ้นเฉพาะบนผิวโลกเท่านั้น ในร่างกายของมนุษย์ก็มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเรื่องของน้ำในร่างกายด้วย ความเปลี่ยนแปลงของน้ำในร่างกายก็มีอิทธิพลต่อสารต่างๆ ในร่างกายของเรานี้ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจด้วย เพราะกายกับใจนั้นเป็นสิ่งที่สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นในระยะเดือนเพ็ญ เดือนดับ อะไรทำนองนี้ ก็จะมีความเปลี่ยนแปลงของน้ำในร่างกายซึ่งมีอิทธิพลต่อจิตใจ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งก็พยายามที่จะค้นคว้าเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง แต่นักวิทยาศาสตร์อีกพวกหนึ่งก็ยังไม่เชื่อ ก็ยังคัดค้านกันอยู่ อันนี้ไม่ได้หมายความว่าจะมาพูดให้เชื่อในเรื่องนี้ ไม่จำเป็นอะไรเลย จะเห็นว่าวิทยาศาสตร์นั้นไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น แต่จะมีการค้นคว้าหาทางกันอยู่เรื่อยไป สิ่งสำคัญที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้มาค้นคว้าเรื่องเหล่านี้ก็มีเจตคติทางวิทยาศาสตร์ ถ้าไม่มีเจตคติทางวิทยาศาสตร์ก็จะมีเป็นแบบว่า หนึ่ง-ก็ยอมรับไปเลย เชื่อมาแบบโหราศาสตร์ว่าดวงดาวต่างๆ มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์ เชื่อไปโดยไม่ต้องสืบค้นหาเหตุหาผล แต่พวกหนึ่งก็เห็นว่านี่ไม่ใช่ความคิดวิทยาศาสตร์ก็ปฏิเสธเลย ปฏิเสธทันทีทันควัน การยอมรับก็ตาม การปฏิเสธก็ตามนี้มีผลในทางลบทั้งคู่ ก็คือตัดความเพียรพยายามของเราในการที่จะคิดสืบสาวหาเหตุปัจจัย ฉะนั้นมิใช่แต่การยอมรับโดยงมงายเท่านั้น แม้แต่การปฏิเสธก็อาจจะเป็นความงมงายด้วย บางคนที่มีเจตคติวิทยาศาสตร์ จะไม่ยอมรับและปฏิเสธอะไรง่ายๆ ฉะนั้นสิ่งที่เรายังไม่รู้แน่นอน เรายังไม่ยอมรับ แต่เราก็ไม่ปฏิเสธ เพราะเป็นสิ่งที่เรายังไม่รู้เหตุปัจจัยของมัน เมื่อใดเราสืบสาวหาเหตุปัจจัยของมันพบ จะเป็นเรื่องธรรมดาตามความธรรมของเหตุปัจจัยนั้นเอง ฉะนั้นการที่นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ มาค้นพบแม้แต่อิทธิพลของดวงจันทร์ต่อชีวิตจิตใจของมนุษย์นั้น เขาก็ทำด้วยท่าทีของวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ทำด้วยความงมงาย ฉะนั้นพอผู้ที่มีเจตคติวิทยาศาสตร์จึงอย่างที่กล่าวแล้ว ไม่ยอมรับอะไรหรือปฏิเสธอะไรง่ายๆ โดยที่ว่าไม่ได้ใช้ความคิดพิจารณาสืบสาวหาเหตุปัจจัย ฉะนั้นเรื่องเจตคติวิทยาศาสตร์จึงเป็นสิ่งสำคัญ การพัฒนาการศึกษา ถ้ามุ่งหวังเรื่องการศึกษาวิทยาศาสตร์แล้ว การที่เราจะไปเชื่อในสิ่งที่ค้นพบทางวิทยาศาสตร์นั้น หาเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอนไม่ สิ่งที่ค้นพบไปแล้วในปัจจุบันนี้ อีก 20 ปีข้างหน้า ศตวรรษหน้าอาจจะเห็นเป็นเรื่องเหลวไหล ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือเจตคติวิทยาศาสตร์ ที่วิทยาศาสตร์ได้มอบให้แก่มนุษยชาติอย่างแท้จริง เป็นความเจริญก้าวหน้าของอารยธรรมของมนุษย์ พอพูดมาถึงเจตคติวิทยาศาสตร์แล้วก็ขอวกเข้าหาเจตคตินี้ที่มีในพระพุทธศาสนา เจตคติวิทยาศาสตร์นี้ที่เราให้คิดสืบสาวหาเหตุปัจจัยให้สิ่งทั้งหลายนั้น อันนี้ก็คือแนวความคิดพื้นฐานของพระพุทธศาสนา เป็นที่หน้าพอใจ หรือจะถือว่าเป็นคุณค่าทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่งที่ว่าอาจจะมาช่วยกระตุ้นให้เราได้รื้อฟื้นเจตคติของพุทธศาสนาขึ้นมาในขณะที่ว่าชาวพุทธเองจำนวนมากอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นความเชื่อแบบสมัยโบราณ ลัทธิต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนพุทธศาสนามีมากมาย เสร็จแล้วชาวพุทธก็พลอยไม่ได้ใช้เจตคติแบบพุทธ เจตคติแบบพุทธเป็นอย่างไร ก็ไม่เคยคิดเช่นเดียวกัน เช่นเดียวกับที่คนจำนวนมากมิได้มีเจตคติวิทยาศาสตร์ต่อวิทยาศาสตร์ ชาวพุทธจำนวนมากก็ไม่ได้มีเจตคติแบบพุทธต่อพระพุทธศาสนา เราก็นับถือพุทธศาสนากันมาโดยที่มีท่าทีของความเชื่ออย่างที่เป็นมาในลัทธิศาสนาอื่นๆ ก็ถือกันมายังไง ฟังกันมายังไง ก็ว่ากันไปอย่างนั้น ยอมรับปฏิบัติโดยหลักของศรัทธาอย่างเดียว บางทีก็เป็นอย่างนั้น ดังนั้นเจตคติแบบพุทธรู้สึกจะเลือนรางหายไป หรือถูกกลบทับห่อหุ้มครอบคลุมไว้ไม่ปรากฏ ทีนี้เจตคติวิทยาศาสตร์เข้ามานี้ ก็จะมาช่วยกระตุ้นให้ชาวพุทธได้รื้อฟื้นเจตคติแบบพุทธของตนขึ้นมา เจตคติแบบพุทธนั้นเป็นอย่างไร ชาวพุทธมีหลักท่าทีของจิตใจที่เป็นพื้นฐานคืออะไร คือหลักการของการมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย อันนี้เป็นหลักการพื้นฐานของพุทธศาสนา แล้วแต่ความเชื่อพื้นฐานก็คือ ความเชื่อในหลักการแห่งเหตุปัจจัย ซึ่งเราเรียกชื่อว่าสัมมาทิฐิ ถ้าจะตอบว่าสัมมาทิฐิคืออะไร ตอบให้ง่ายที่สุดคือ การถือหลักการแห่งความเป็นจริงไปตามเหตุปัจจัย หรืออย่างน้อยแม้แต่เป็นความเชื่อก็เป็นความเชื่อในหลักการแห่งเหตุปัจจัย แล้วเพราะฉะนั้นออกมาเป็นท่าที เป็นเจตคติก็คือการมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย อันนี้เป็นหลักการพื้นฐานของพุทธศาสนา พุทธศาสนาจะเริ่มต้นที่นี่ คือการที่มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นท่าทีเดียวกับวิทยาศาสตร์ อันนี้เป็นท่าทีของการที่จะแสวงหาความจริง เพราะฉะนั้นในยุคนี้ เราจะต้องรื้อฟื้นเจตคติแบบพุทธนี้ขึ้นมา คือการมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย แต่ทีนี้มองในงแง่นี้แล้ว เราจะเห็นคล้ายๆ ว่า เจตคติแบบพุทธกับแบบวิทยาศาสตร์นี้คล้ายกัน หรือเหมือนกัน แต่ที่จริงยังไม่เท่ากันแท้ เจตคติแบบวิทยาศาสตร์กับแบบพุทธศาสตร์นั้นต่างกันอย่างไร ในแง่ของการมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัยการไม่ยอมรับเชื่ออะไรง่ายๆ การไม่ปฏิเสธอะไรง่ายๆ การที่จะต้องพยายามค้นคิดหาเหตุหาปัจจัยของมันการสืบทอดของกระบวนการของความเป็นไปนี้ อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ใกล้เคียงกัน แต่มีอีกส่วนหนึ่งที่วิทยาศาสตร์กับพุทธศาสตร์ยังมีเจตคติที่ต่างกัน คือเจตคติวิทยาศาสตร์นั้นเป็นเรื่องของการแสวงหาความจริง ขอบเขตของมันจะเน้นอยู่ที่จุดนี้ เจตคติของพุทธศาสตร์ที่ว่าให้มองอะไรไปตามเหตุปัจจัยนั้นก็เป็นเรื่องของการแสวงหาความจริงเช่นเดียวกัน แต่ว่ามันไม่ใช่มีขอบเขตจำกัดอยู่แค่นั้น เจตคติแบบพุทธนั้นมีความหมายของการนำมาใช้เพื่อสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงามด้วย อันนี้เป็นจุดที่มีขอบเขตที่แตกต่างกัน คืออันหนึ่งนั้นมีขอบเขตของการแสวงหาความจริง แต่ตอนนี้เราขยายขอบเขตมาสู่การที่ว่าจะนำเจตคตินี้มาใช้ในการสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงามอย่างไร คือการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคม ตอนนี้ก็คือการที่ว่าถ้าเทียบสมัยปัจจุบันนั้น เจตคติแบบพุทธไม่ได้จำกัดอยู่แค่วิทยาศาสตร์ แต่ขยายออกมาสู่มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เราจะให้เจตคติแบบพุทธนี้มีความหมายในการดำเนินชีวิตอย่างไร อันนี้ก็คือท่าทีของการที่ว่าเราจะนำเอาเจตคติแบบวิทยาศาสตร์นั้นมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของเราอย่างไร เพื่อให้เป็นชีวิตที่ดีงาม ไม่ใช่เป็นเพียงแง่ของการแสวงหาความจริงเท่านั้น เรื่องของการเอามาใช้ในการดำเนินชีวิตทีดีงาม ก็คือไม่ใช่ว่าบางอย่างเรายังแสวงหาความจริงอยู่ บางอย่างเรายังหาคำตอบไม่ได้ มีสิ่งทั้งหลายในโลกนี้มากมายที่เราแสวงหาคำตอบไม่ได้ วิทยาศาสตร์ก็ยังตอบไม่ได้ ขณะนี้วิทยาศาสตร์ก็ยังค้นกันอยู่ต่อไป