แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เรามาคุยกันต่อ ก็คุยกันไปเรื่อยๆ มีบางท่านสนใจอรรถกถา พระพุทธโฆษาจารย์ไปศรีลังกา เรียบเรียงวิสุทธิมรรค แปลอรรถกถานั้น พ.ศ.900 เศษ เนี่ยเรื่องประวัติศาสตร์นี่ก็สำคัญ บางทีอย่างพระไทยเราเรียนคำภีร์อรรถกถาเล่มนี้เล่มนั้น ไม่รู้ว่าคัมภีร์นี้ ไม่รู้แม้แต่ว่าใครแต่ง เรียนกันไปแปลจนกระทั่งจบ ไม่รู้ว่าคัมภีร์เล่มที่ตัวเรียนเนี่ยใครแต่ง แล้วก็แต่งยุคสมัยไหน ก็เลยยิ่งไม่รู้ใหญ่ เนี่ยก็เลยกลายเป็นว่าดูแต่เนื้อในนั้น เค้าเอามาแปลฉันแปลได้จบพอ นิมนต์นะ จะถามอะไร
พระนวกะ : แล้วพระไตรปิฎกอักษรไทยอ่ะครับ ไม่ทราบ เราคัดลอกมาจากอักษรภาษาอะไรครับ
ท่านป.อ.ปยุตฺโต : อ้อ อักษรไทย แต่ว่าเป็นภาษาบาลี คือ คำว่าไทยนี้ต้องแยกว่า พระไตรปิฎกบาลีอักษรไทย หรือพระไตรปิฎกแปลเป็นไทย แปลเป็นไทยก็คือแปลเป็นภาษาไทย พระไตรปิฎกบาลีอักษรไทยก็คือ พระไตรปิฎกเดิมที่สืบกันมา ที่ผมบอกเมื่อกี้ว่า ต้องพยายามรักษาให้คงเดิมเท่าที่มีมาถึงเราเนี่ย ไม่ให้ผิดเพี้ยนไปเลย
อันนี้ก็คือตั้งแต่สังคายนาครั้งที่ 1 อ้าว ก็พอพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ใช่ไหม ท่านอาจจะได้เรียนแล้วมั้ง พุทธประวัติจบรึยัง จบ จบก็ชัดแล้วนี่ พอพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ก็รอพระมหากัสสปะ ท่านเดินทางอยู่ ทีนี้พอได้ข่าวจากอาชีวกว่า พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน สุภัททะวุฑฒบรรชิต พระสุภัททะที่บวชเมื่อตอนสูงอายุเนี่ย ท่านก็แสดงความ คล้ายๆ ว่าดีอกดีใจ ก็อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่ก็แสดงความโล่งใจ พระทั้งหลายก็พากันโศกเศร้าร้องไห้ พระองค์นี้ก็บอก โอ้ย อย่าไปร้องไห้อะไร พระพุทธเจ้าปรินิพพานนี้ก็ดีอยู่ ทำไมอ่ะ ก็ตอนที่พระองค์อยู่นี่ พระองค์ก็บัญญัติโน่นบัญญัตินี้ พวกเราลำบาก ปฏิบัติกันยาก ก็ต้องคอยฟัง เดี๋ยวทำอันนี้ พระองค์จะบัญญัติห้ามอีกหรือเปล่า ทีนี้พระองค์ปรินิพพานแล้วไม่มีใครมา จะเรียกภาษาปัจจุบัน ก็ไม่มีใครมาจ้ำจี้จ้ำไชแหละ ก็สบายแล้วแหละ โล่งกันสักที พระสุภัททะว่าอย่างนี้
พระมหากัสสปะได้ยิน ท่านก็เลยเป็นห่วงว่า โอ้ นี่ขนาดพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ ก็ยังมีพระที่คิดอย่างนี้ แล้วต่อไปทำไง ก็ต้องพยายามรักษาพุทธพจน์ไว้ให้ดีที่สุด เมื่อไปถึงที่ปรินิพพานแล้ว จัดงานถวายพระเพลิงพุทธสรีระเสร็จแล้ว ก็เลยปรึกษากับพระเถระที่อยู่ในที่นั้นว่า เราจะมาสังคายนากันดีไหม ก็ตกลง กำหนด แล้วท่านสงสัยอะไรฮะ
พระนวกะ : คือสงสัยว่า ประเทศไทยเพิ่งจะตั้งเมื่อ อาจจะตั้ง 700 ปีที่แล้ว แล้วภาษาอักษรไทยเนี่ย ไม่ทราบว่าคัดลอกหรือว่าแปลมาจากอักษรภาษาอะไร อย่างนี้ครับ
ท่าน ป.อ.ปยุตฺโต : อ้อๆ เดี๋ยวอันนี้ก็ว่ากันไปอีกขั้นนึง เอาเป็นว่าพอตกลงกันทำสังคายนา สังคายนาก็คือรวบรวมคำสอน พุทธพจน์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสเนี่ย มารักษาไว้ มาให้ได้รับทราบกัน ตกลงกัน แล้วก็ช่วยกันรักษาต่อไป นี้ตอนแรกก็ต้องรวบรวม สังคายนาก็คือสวดพร้อมกัน คำว่า สัง-คะ-ยา แปลว่าสวดพร้อมกัน ที่นี้ภาษาไทยปัจจุบันเนี่ยเพี้ยนแหละ สังคายนากลายเป็น มาชำระสะสาง เดี๋ยวนี้คำว่าสังคายนาแปลว่า ชำระสะสาง ใช่ไหม เนี่ยเพี้ยน สังคายนาเดิมไม่ได้แปลอย่างนั้นเลย เข้าใจเถอะ มารวบรวมเอามาวางเป็นหลักไว้ แล้วก็มาช่วยกันรักษาไว้ให้ดี เรื่องของพระพุทธศาสนาสำคัญที่อันนี้ ก็คือว่า มุ่งไปที่คำสอนของพระพุทธเจ้าว่าจะรักษาไว้ให้พร้อมเพียง ก็มารวบรวมกันตอนสังคายนานั้นแหละ แล้วที่ประชุมก็ตกลงกันว่าให้รักษาอันนี้ไว้ให้ดี
ต่อมาก็มีวิวัฒนาการนิดหน่อย ตอนนี้เราไม่รู้ชัด ในช่วงประมาณสัก 100 ปีแรก หรือแม้กระทั่งสังคายนาครั้งที่สาม สมัยพระเจ้าอโศก พ.ศ. 235 หรือ 236 ช่วงนี้ ที่เป็นระยะที่ว่า นอกจากพระพุทธพจน์ที่รวมรวมในการสังคายนาครั้งที่หนึ่งแล้วเนี่ย ก็ยังมีคัมภีร์เพิ่มอีก จนกระทั่งสมัยสังคายนาครั้งที่สามก็มีเพิ่ม แต่ก็ถือว่าลงตัวซะที นี้คำภีร์ที่เป็นรุ่นแรกๆ มากก็พวกพระสูตรนี่แหละ พระสูตรที่เป็นแกนนี่ มีมาแต่ต้นเลย นี้ก็รักษากันมา ก็รักษาเป็นภาษาบาลี
ทีนี้สมัยเดิมรักษาด้วยการสาธยาย สาธยายก็คือด้วยปากเปล่า ปากเปล่าก็เรียกว่า มุขปาฐะ หรือ มุขบาฐ มุขปาฐะ สวดเป็นภาษาบาลีด้วยปากเปล่า การสวดภาษาบาลีด้วยปากเปล่านี้เป็นวิธีรักษาพุทธพจน์ที่ถือว่าแม่นยำที่สุด คนสมัยหลังนี้เข้าใจผิด นึกว่าไม่มีเป็นตัวหนังสือ ไม่ได้บันทึกไว้แล้วมันจะอยู่ได้ยังไง
สมัยก่อนนั้น เค้าถือว่าถ้าไปเขียนแล้วก็มีหวังแหละ จะต้องคลาดเคลื่อน แล้วก็เลือนหาย แล้วก็สูญในเวลารวดเร็ว เพราะฉะนั้นสมัยนั้นเค้าถือการบันทึกเป็นตัวอักษรนี้ เป็นวิธีที่ต่ำที่สุด จะเรียกว่าต่ำก็ไม่ใช่ คือท่านก็ให้เกียรติ เป็นวิธีที่คุณภาพต่ำที่สุด เออ คุณภาพต่ำ เพราะอะไรล่ะครับ มองเห็นเหตุผลง่ายๆ ผมจะอธิบาย ไม่ยากหรอก
คือการรักษาสมัยก่อนที่ว่าใช้ปากเปล่าเนี่ย มันไม่ใช่ว่า สักแต่ว่า บอกให้แล้วก็ไปจำกันเฉยๆ นะ มันต้องมีระบบ เพราะท่านถือเป็นสำคัญใช่ไหม จัดเป็นระบบเป็นหมู่คณะ เอาล่ะ หนึ่ง ลูกศิษย์เรียนกับครูอาจารย์ สมัยก่อนเค้าเรียนว่าต่อหนังสือ เคยได้ยินไหมต่อหนังสือ ต่อหนังสือก็ต้องเอาตัวบทก่อน แล้วก็อธิบาย มันก็มีตัวบท แล้วก็อธิบาย ตอนแรกก็ให้ตัวบท เช่นว่าพุทธพจน์พระสูตรนี้ เอ้า ลูกศิษย์คนนี้มาเรียน หรือมากันเป็นกลุ่ม พระอาจารย์นี้ต้องแม่นใช่ไหม บอกให้ เอ้า ท่านว่ามา ว่าไม่ถูก ต้องว่าจนให้ถูก ก็ว่าให้ถูกจนได้ คราวนี้ยังไม่ได้ เอ้า กลับไป วันหน้านัดมาใหม่ ต้องว่าตัวบทไม่ให้ผิดเลย แล้วทีนี้ตัวบทไปก็อธิบายด้วย ว่าเนื้อความมันเป็นอย่างนี้ แต่ตัวบทนี้ต้องแม่น ทุกองค์ต้องให้แม่นลงกันหมด นี้หนึ่งแล้วนะวิธีต่อหนังสือ เค้าเรียกว่าถือการรักษาตัวบทนี่สำคัญเพราะเป็นแม่แบบเลยนิ
อ้าว สอง ทีนี้ การรักษาทำเป็นหมู่คณะ หมู่คณะต้องสวดพร้อมกัน สวดพร้อมกันแล้วใครจะไปเพี้ยนได้อะทีนี้ ถูกไหม จะตัดจะเพิ่มไม่ได้ทั้งนั้นถูกไหม สวดร้อยองค์ สวดพร้อมกันนี่ใครจะไปเที่ยวผิดกับพวกคำเดียวก็ไม่ได้ถูกไหม มันก็เลยกลายเป็นการรักษาที่แม่นยำ ทีนี้ท่านถือเป็นเรื่องใหญ่นี่ พระมีหน้าที่จะต้องสาธยายทรงจำพุทธพจน์ไว้ แล้วก็มาประชุมกันสวดนี้แหละ ประเพณีสวดมนต์ก็เกิดจากการสาธยายรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรามาทำวัตรทำเวิตนี้มันเรื่องค่อยๆ วิวัฒนาการมา วัตถุประสงค์เดิมก็คือการสาธยายรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็มาประชุมกันสวด
นี้นอกจากนั้นแล้วก็แบ่งกันอีก วัดโน้นวัดนี้นะฮะ เป็นหมู่คณะ หมู่คณะนี้ชำนาญในพระสูตรหมวดนั้นเฉพาะเลย กลุ่มนี้ชำนาญในส่วนนี้ เค้าเรียกว่าทีฆนิกายพวกหนึ่ง มัชฌิมนิกายพวกหนึ่ง อะไรนี่แหละ แยกกันไป ชำนาญต้องรักษาตัวบท แล้วก็ชำนาญในคำอธิบายด้วยนะ แล้วพวกอาจารย์พวกกลุ่มนี้ก็จะมีชื่อเสียง เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เลย ในหมวดกลุ่มนี้ พวกอื่นเค้าก็รักษานะ แต่ว่าพวกนี้จะชำนาญ ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ นี้ก็รักษากันมาแบบนี้นะ ก็คือว่าต้องทรงจำตัวบท รู้คำอธิบาย ก็มีอาจารย์เป็น จะเรียกว่าเจ้าสำนัก หัวหน้าหมู่คณะ เป็นผู้ที่จะเป็นแม่แบบอีกที ก็เนี่ย วิธีทั้งการเรียนแต่ละองค์ ทั้งการรักษาเป็นหมู่คณะ สวดร่วมกัน มันก็อยู่อย่างเนี่ย แล้วก็ถือสำคัญมากนิ พระมาเจอต่างถิ่นกันก็ต้องตรวจสอบความรู้กันได้นะ ก็ต้องเป็นแบบแผนเดียวกันหมด
นี้สมัยก่อนเค้าถือว่าการบันทึก การเขียนเป็นหนังสือนี้ มันเป็นวิธีการที่ประมาท เพราะว่าพอไปเขียนแล้ว หนึ่งเราไปลอกสิ สมัยก่อนมันไม่มีระบบการพิมพ์เป็นแม่แบบที่ว่า พิมพ์ทีเดียวเป็นหมื่นเป็นพัน ถูกไหม ที่มันลงตัวนี่ เนี่ยการพิมพ์ที่มันมีแม่แบบที่คนจีนคิดขึ้นนี่ มันดีอย่างเนี่ย ที่มันมีแม่แบบ พิมพ์ทีเดียวพันนึง มันก็เหมือนกันหมด ที่นี้สมัยที่คัดลอกนะครับ หน้าหนึ่งเนี่ยไม่มีอะที่จะไม่ผิดเลย ใช่ไหม พอไปคัดลอก เอ้า ไปแหละ หน้านี้ตกไปตัวหนึ่งหรือเพื้ยนไปตัวหนึ่ง บางทีเห็นไม่ชัด ไปลอกตัว ว เป็นตัว จ หรือ ตัว ว เป็น สระ อา อะไรไปซะอย่างเนี่ย เพราะฉะนั้นพวกคัดลอกนี้ก็อันตราย คิดลอกทีก็เพี้ยนที ไม่มากก็น้อย นี้ถ้าเป็นทั้งเล่มทั้งคัมภีร์เนี่ยจะเพี้ยนขนาดไหน งั้นเค้าก็เลยไม่ไว้ใจ
สมัยก่อนก็เลยใช้การคัดลอกเนี่ยเพียงสำหรับการเล่าเรียนชั่วคราว ก็หมายความว่าเวลาเราจะเรียนต่อกัน ก็อาศัยการเขียนเนี่ยมาเป็นเครื่องมือช่วยในการทรงจำที่เรายังไม่แม่น เราก็มาช่วยในตัวเขียน ทีนี้ถ้าฝากเนื้อหาไว้กับตัวเขียนเมื่อไหร่ก็ถือว่าประมาท คล้ายๆ ว่า เอ้อ มันมีอยู่ในเขียนแล้ว ตัวเองก็ไม่เอาใจใส่ ไอ้ข้อมูลนั้นก็เลยไปอยู่ในสมุด ในหัวไม่มีแหละ ก็กลายเป็นคนประมาท ตัวจริงหายหมด ท่านก็เลยต้องให้ระวังว่า ถ้าไปเขียนแล้วนี่จะประมาท
ทีนี้ยุคที่ไม่เขียนเนี่ย จะต้องเอาใจใส่ กลัวนิใช่ไหม หายไปนิดนึงก็แย่แล้ว ต้องเอาจริงเอาจังกันมาก เพราะฉะนั้นตอนยุคเดิมเนี่ย ใช้ไอ้พวกเขียนเนี่ย เป็นเครื่องช่วยในการเรียน เฉพาะหน้าแต่ละคราว ละคราว ในสมัยพุทธกาลก็มี ในพระวินัยไตรปิฏกท่านไปดู ตรงโน้นตรงนี้ จะมีการเขียนแล้ว ไม่ใช่ไม่มี อย่าไปนึกว่าสมัยพุทธกาลเค้าไม่มีการเขียน
เช่น โจรชนิดหนึ่งเนี่ย โจรที่ทางการออกหมายเรียก ในพระไตรปิฎกมีนะ โจรชนิดหนึ่งเนี่ย ท่านมีชื่อเลย โจรที่ทางการออกหมายเรียก ก็คือต้องมีหมายประกาศ เอาไปติดไว้ในทางสี่แพร่งหรืออะไรอย่างเนี่ยว่า โจรคนเนี่ยให้จับตัวมา อะไรอย่างนี้นะ
ก็เอาเป็นว่ามีมานานแล้วเรื่องการเขียนหนังสือ แต่ท่านถือว่าไม่ใช่วิธีรักษาพุทธพจน์ที่ไว้ใจได้ ไม่น่าไว้วางใจ แต่น่ากลัวสูญหาย เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช้ ก็จะใช้เป็นเพียงเครื่องประกอบในการสื่อสารกันธรรมดา ในการช่วยการเล่าเรียนศึกษา ส่วนการรักษาที่แท้นี่ก็คือรักษาด้วยการสวดพร้อมกัน แล้วก็มีการแบ่งหน้าที่อะไรกันอย่างที่ว่า มีการสืบสาย สายนี้ชำนาญด้านนี้ สายนี้ชำนาญด้านวินัย สายนี้ชำนาญพระสูตรในหมวดนั้น หมวดนั้นไป
อันนี้ก็เป็นมาอย่างนี้จนถึงกระทั่งว่า มาถึงสมัย พ.ศ. 400 เศษ ที่ว่ามีสังคายนาครั้งที่ 5 ในลังกานะ ตอนนั้นมีสงคราม มีไรต่อไรวุ่นวาย พระก็อยู่ไม่เป็นสุข ท่านก็เลยมาปรารภว่าต่อไปนี้ การที่จะใช้วิธีรักษาพุทธพจน์ด้วยการสวด ในการทรงจำไว้ด้วยปากเปล่านี้จะไปเป็นได้ยาก ฉะนั้นก็เลยจะต้องจำเป็น แม้จะไม่น่าไว้วางใจนัก ก็พยายามทำให้ดีที่สุด ก็จำเป็นจะต้องจารึกลงไปเป็นลายลักษณ์อักษร ท่านทำด้วยความจำใจ ให้ไปอ่านประวัติดู การที่ท่านบันทึกพระไตรปิฎกจารึกลงเป็นลายลักษณ์อักษรเนี่ย ท่านทำด้วยความจำใจ คือถือว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ไม่น่าไว้วางใจ แต่จำใจต้องทำ เพราะสถานการณ์นี้มันไม่น่าไว้วางใจอย่างที่ว่า เมื่อสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ ก็เลยต้องเอาสิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจน้อยกว่ามาช่วย ก็ถือว่าไอ้พวกเอกสารนะ อาจจะมีทางรักษาไว้ได้บ้าง แล้วก็ถือเป็นสำคัญว่าจะต้องมีการตรวจชำระกันอย่างหนัก เมื่อมีการมาจารึกนี้จะต้องมาทำเป็นส่วนรวม เป็นการของหมู่คณะมาประชุม เช่น พระสงฆ์ทั้งประเทศนี่ต้องมาตกลงกัน แล้วก็มาทำด้วยกันแล้วก็ตรวจสอบกันให้ดี เสร็จแล้วก็ตั้งฉบับที่เป็นแบบไว้ ว่านี่นะฉบับที่เป็นแบบ
อย่างประเทศไทยเราก็ถือเป็นฉบับที่เป็นแบบของประเทศ ซึ่งประเพณีนี้ทำมา ก็ต้องเอาพระเจ้าแผ่นดินนี่เป็นผู้อุปถัมภ์ทุกทีเลยนะ เวลาทำเรื่องของการจารึกคัดลอกพระไตรปิฎกเนี่ย จะไว้เป็นแบบของแผ่นดิน ก็อย่างสมัยอยุธยาแตก พอสมเด็จพระเจ้าตากสินขึ้นครองราชย์ พอจัดการบ้านเมืองจะเข้าที่ สิ่งที่พระองค์รีบทำคืออะไรรู้ไหม จะเห็นเลย รีบให้รวบรวมพระไตรปิฎกจากเมืองเหนือเมืองใต้ ใช่ไหม เนี่ยๆ พระเจ้าตากเอาเลย คือถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการแผ่นดิน รบมาบ้านเมืองแตกกระจัดกระจายวุ่นวายใช่ไหม พอรวมได้ก็เอาเลย บอกว่าให้พระสงฆ์ ให้ข้าราชการอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมรราช จังหวัดเชียงใหม่อะไร เมืองเหนือเมืองใต้รวบรวมพระไตรปิฎกส่งมา แล้วก็ให้ประชุมพระสงฆ์ ตอนแรกพระเจ้าตากยังไม่มีเวลาก็ได้แค่รวบรวมเอาไว้ก่อน
พอสมัยรัชกาลที่ 1 ก็ทรงมีเวลา การแผ่นดินก็เรียบร้อยมากขึ้น เอ้า ประชุมพระสงฆ์ มาจารึกทำฉบับแม่บทแม่แบบขึ้นมา ก็เอาคัมภีร์ต่างๆ มา แล้วก็มาเทียบ มา เค้าเรียกว่าชำระนะ มาตรวจสอบกัน มาสอบทานกัน องค์นั้นอ่าน อันนี้มาจากเมืองนครศรีธรรมราช อันนี้มาจากเชียงใหม่ มาตรวจสอบกัน เช็ค แล้วลงกันเรียบร้อยดี ถ้ามันไม่ลงกันตรงไหนมีวิปลาส ทำฟุตโน้ตไว้ว่า ฉบับโน้นเป็นอย่างนี้ ฉบับนี้เป็นอย่างนั้น คือต้องพยายามรักษาไว้ให้คงเดิมที่สุด เสร็จแล้วก็จารึกเป็นแม่แบบ ทำเป็นการแผ่นดิน ของในหลวงรัชกาลที่ 1 นี้ แหม ทำกี่ฉบับไม่รู้ล่ะนะ ทาทองทาเทิงอย่างดีเลย ทรงให้เกียรติมากเหลือเกิน แล้วก็ทำหอมนเฑียรธรรมขึ้น เก็บไว้รักษา เป็นแม่แบบของประเทศเลยนะ เนี่ยเอากันอย่างนี้
ของแต่ละประเทศก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ แต่ละประเทศก็แทบจะอวดกันเลยนะ ของฉันนี่ มีแม่บทอยู่ที่นี่ ทีนี้เวลาประเทศต้องการจะชำระก็จะส่งทูตมาขอสักฉบับหนึ่งไปตรวจสอบกับของประเทศของตัว งั้นเวลาที่เราเรียกว่าสังคายนาปัจจุบัน ก็จะต้องเอาของประเทศต่างๆ เท่าที่มีเนี่ย มาตรวจสอบกัน เราก็จะบันทึก เออดูหน้านี้ คำนี้ เอ้อ เกิดไม่ตรงกัน ฉบับของเรากับฉบับของพม่า ฉบับของพม่านี่เค้าเป็นตัว จ ของเรามาเป็นตัว ว ว่างั้นนะ เอ้าบันทึกไว้ ว่าของเรา จ บอกว่าฉบับพม่าเป็น ว แม้แต่ตัวอักษรนึงก็ต้องบันทึก
เนี้ย เรียกว่าการสังคายนาพระไตรปิฎก ไม่ใช่ว่าไปเที่ยวสะสางพระไตรปิฎก ฉันเห็นว่าอย่างนี้ ไปจัดการไม่ใช่นะ เข้าใจผิด คนปัจจุบันไม่รู้เรื่องสังคายนา สังคายนาคือรักษาพุทธพจน์ที่มีมาให้บริสุทธิ์ที่สุด แม่นยำที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะฉะนั้นพระไตรปิฎกของเรานี่ จะอยู่ที่ไหนก็เหมือนกันหมด จะไปอยู่เมืองฝรั่ง เมืองอินเดีย เมืองพม่า เมืองอะไรก็เหมือนกันหมด แต่ว่าก็อดไม่ได้ เพราะมากมายพิมพ์เป็นเล่มตั้งสองหมื่นสองพันหน้า เป็นฉบับภาษาบาลี ฉะนั้นมันก็ต้องมีบ้างนะ ที่มันอาจจะเผลอยังไงก็ไม่ทราบ อย่างเล่ม 33 นี่ ของไทยหายไปเป็นคาถาเลย เอออย่างเงี้ย ก็เป็นตัวอย่าง มันยากมากในการที่จะรักษา แต่ก็เรียกว่าเก่งมากเชียวนะ รักษาได้อย่างนี้ เค้าเรียกว่า แสดงว่าท่านต้องมีน้ำใจ ตระหนักถึงความสำคัญอย่างยิ่ง
ทีนี้ที่ท่านถามเรื่องตัวอักษร นี้ตัวอักษร เพราะอย่างที่ว่า ภาษาบาลีเดิมรักษามาด้วยปากเปล่า ก็ไม่ต้องใช้ตัวอักษร นี้พอมามีตัวอักษรก็ตกลงกันสิ ว่าตัวอักษรนี่แทนเสียงนี้ ทีนี้พวกอักษรในประเทศเหล่านี้มันถึงกัน มีประวัติความเป็นมาในการเกิดอักษรของชาติต่างๆ แถวนี้ คล้ายกันๆ เนี้ย อักษรของอินเดียก็เป็นที่มา ส่วนหนึ่งของอักษรไทยเราด้วยนะ อย่างตัวเลขอารบิกนี้ก็มาจากอินเดีย ฝรั่งตอนแรกนึกว่าเป็นของอาหรับ ก็ไปเรียกอารบิก ตอนหลังนี้ฝรั่งรู้แล้ว บอกว่า อาหรับไปเอาจากอินเดีย เลยตอนหลังนี้ฝรั่งเรียกเต็มว่า ตัวเลขฮินดูอารบิก เค้าไม่เรียกอารบิกแล้วนะ เรียกเต็ม ต้องเรียกว่าตัวเลขฮินดูอารบิก เพราะว่าอาหรับแกไปเอามาจากอินเดียอีกทีนึง แล้วก็ไปถึงฝรั่งก็ ฝรั่งเอาจากอาหรับ
ทีนี้ ตัวเลขตัวอักษรพวกเนี่ย ก็เป็นที่มา มาถึงเมืองไทยไรต่อไร ไปเมืองมอญเมืองอะไร แล้วก็มีการมาชำระ มาคิด มาตกแต่ง ปรุงอะไรขึ้นมา จนกระทั่งเป็นอักษรของชาตินั้นๆ นี้อักษรพวกนี้ก็คล้ายกันอยู่แล้ว ก็มาเทียบกัน อักษรนี้ตรงกับอักษรนี้ เราก็มาตกลงกัน ที่นี้เขียนภาษาบาลีจะเขียนด้วยอักษรของชาติไหนก็ได้ เมื่อตกลงกันแล้วว่าอักษรนี้เสียงนี้ จะเทียบกับอีกชาติหนึ่งคืออันนี้ ก็เท่านั้น ก็จบ
เพราะฉะนั้น เราจะเขียนภาษาบาลีเป็นอักษรไทย ฝรั่งจะมาอ่านก็มาดูอักษรไทยตัวนี้ เทียบกับของตัวอักษรที่ตัวเคยเรียนมา ปั๊ปเดียวเลยอ่านได้แหละ ไม่ต้องรู้ภาษาไทยเลย เราจะอ่านพระไตรปิฎกบาลีอักษรพม่า เราก็ไปเรียนอักษรพม่า อักษรนี้เท่ากับตัวนี้ๆ ตัวนี้เท่ากับ ก ตัวนี้เท่ากับ ข ของเรา เท่ากับ สระอะ สระอา ของเรา พอจำได้ปั๊ป อ่านพระไตรปิฎกได้เลย พระไตรปิฎกพม่า เอาอ่านได้หมด เป็นสากลหมด อักษรโรมันก็ฝรั่งก็มาบัญญัติ อ้อ ไอ้ตัวสระอะ ก็เอาเป็นเท่ากับ ตัวเอ ( a ) สระอา ก็เป็น ตัวเอ มีขีดบน สระอิ เท่ากับ ไอ ( I ) สระอี เท่ากับ ไอ มีขีดบน สระอุ เท่ากับ ยู ( u ) สระอู เท่ากับ ยู มีเขียนบน ไรอย่างเนี่ยนะ เอ ก็เท่ากับ อี ( e ) โอก็เท่ากับ โอ ( o ) อะไรงี้ เอาล่ะ แค่นี้ละครับ เดี๋ยวก็อ่านได้แล้ว
พระไตรปิฎกอักษรโรมันมาปั๊ป เราอ่านได้หมดแหละ สากลเลย แล้วแน่นอน ไม่เหมือนภาษาอังกฤษนี่ ทีโอ ทู ( TO ) จีโอ โก ( G0 ) มันไม่แน่นอนนิ เออ อะไรกันเนี่ย ทำไม ทีโอ ทำไมเป็นทู ( TO ) จีโอ ทำไมกลายเป็นโก ( Go ) ไป ใช่ไหม ภาษาไทยก็เหมือนกัน บางคำก็อ่านไม่แน่นอน แต่ถ้าบาลีแล้ว เด็ดขาดเลย บาลีนี้แน่นอน ตัวไรเป็นตัวนั้น ก เป็น ก ข เป็น ข สระไหน สระนั้น ฉะนั้นจะไปเทียบอักษรไหนเหมือนกันหมด สบายเลย ภาษาบาลีก็เลยกลายเป็นว่าพระไตรปิฎกอรรถกถา ไปอยู่ในประเทศไหนก็ใช้อักษรประเทศนั้น ใครไปก็เรียนรู้แล้วเทียบได้หมด อ่านได้หมด เข้าใจนะฮะ มีอะไรอีกล่ะ
พระนวกะ : คือไม่ทราบว่า แสดงว่า เราก็ไม่ได้คัดลอกมาโดยตรงจากภาษาสิงหลใช่ไหมครับ
ท่าน ป.อ.ปยุตฺโต : อ้อ เราก็สืบๆ กันมา สายไทยเราก็ต้องยอมให้เกียรติลังกา ลังกาก็เนี่ย เป็นแหล่งการศึกษาใหญ่ ในสมัยที่ทางอินเดียเสื่อมแล้ว พระไตรปิฎกนี่ก็มารักษาไว้ดีที่ลังกา แล้วก็ตอนที่ลังกาเค้าฟื้นฟูพุทธศาสนา เล่าเรียนศึกษาใหญ่ แล้วทางไทยเราก็มีพระไปเรียนเยอะ เอ้า ท่านอ่านประวัติพระพุทธ ศาสนาในตอนสุโขทัยไง พระไทยแล้วก็พระลังกา ก็มาจากลังกา ก็มาอยู่ที่นครศรีธรรมราช แล้วก็พ่อขุนของเราที่สุโขทัยก็ส่งทูตไปนิมนต์พระมหาสวามีสังฆราชมาสุโขทัย ถูกไหมครับ แล้วก็ถวายที่ให้อยู่ที่วัดอรัญญิกหรืออะไรนั้นแหละ ถูกไหม ได้ยินไหม เคยได้ยิน นั่นแหละครับ นั่นแหละ เนี่ยก็คือฟื้นฟูพุทธศาสนาเอาลังกาเป็นแม่แบบ แต่ว่าพระไตรปิฎกเอง อันที่จริงมีมาก่อนแล้ว มีมาแล้วก็รักษากันสืบมา ทีนี้การเล่าเรียนศึกษาก็ถือว่า บางทีมันชักจะเสื่อมลงไป ก็ไปฟื้นฟูไปเล่าเรียนกันมา คัมภีร์ไหนที่มันขาดตกบกพร่องก็ไปเอามาให้ครบ ก็ลังกานี่เป็นศูนย์กลางใหญ่ตอนยุคนั้น มีอะไรสงสัยอีกไหมฮะ
พระนวกะ : คือบางที่ที่กำลังพยายามแปลจากอักษรขอมอ่ะครับ มาเป็นอักษรไทย ก็เลยไม่ทราบว่า อันนี้คือเพื่อที่จะศึกษาหรือว่าเพื่ออะไร ไม่ทราบ
ท่าน ป.อ.ปยุตฺโต : แปลจากอักษรขอมเป็นอักษรอะไร
พระนวกะ : เป็นอักษรไทยครับ
ท่าน ป.อ.ปยุตฺโต : เอ้า ก็ธรรมดาเพราะคนสมัยนี้ ไทยอ่านขอมไม่เป็น คือในเมืองไทยเราเนี่ยนะ แต่เมื่อก่อนเราก็ใช้อักษรขอม แล้วพอเรามีอักษรไทยขึ้น คนไทยก็เกิดไปยึดติดอักษรขอม เกิดมีปัญหาเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาอีก ถือว่าอักษรไทยเนี่ยไม่ศักดิ์สิทธิ์ ต้องใช้อักษรขอม เพราะฉะนั้นจะเขียนภาษาบาลีนี่ต้องใช้อักษรขอม กลายเป็นอย่างนั้นไป ยึดมั่น เพราะงั้นสมัยผมยังเป็นเณรเนี่ย คัมภีร์ใบลานเป็นอักษรขอมเยอะแยะไปหมดเลย ตามวัดบ้านนอก เวลาจะเทศน์หลวงพ่อก็กล่าว ก็ต้องอ่านอักษรขอม ทีนี้ท่านก็ชำนาญอักษรขอมกัน แม้แต่ว่าอาณาจักรขอมเนี่ยมันหมดไปนานเนแล้ว แต่เมืองไทยกลายเป็นว่าช่วยรักษาอักษรขอมไว้ด้วย ก็เรียนภาษาบาลี อะไรต่อไร คัมภีร์ใบลานก็ใช้อักษรขอมกันมา เพราะถือเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ ถ้ามาเขียนเป็นอักษรไทยก็กลายเป็นไม่ศักดิ์สิทธิ์ไป
จนกระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 5 มาทรงพัฒนาขึ้น ว่าเรามีความเจริญแบบฝรั่ง การพิมพ์เข้ามา ทำหลังสือเป็นเล่มได้แล้ว ไม่ต้องเป็นคัมภีร์ใบลาน พอพิมพ์เป็นเล่มแล้ว ทีนี้ในหลวงก็ต้องการจะให้เผยแพร่ แล้วก็ให้คนสมัยใหม่อ่านได้สะดวก จะเป็นตัวอักษรขอมอยู่ คนสมัยนี้ไม่รู้เรื่อง แย่แล้ว อ่านได้ไม่กี่คน ก็เลยให้แปลง ถ่ายทอดจากอักษรขอมเป็นอักษรไทย แล้วก็พิมพ์เป็นเล่มขึ้น เลยในหลวงรัชกาลที่ 5 เนี่ย เป็นต้นแบบเป็นต้นคิดเลย ในการที่มาพิมพ์คัมภีร์เป็นอักษรไทย ตอนนั้นก็โดนค้านเยอะเลย ถ้าไม่ใช่รัชกาลที่ 5 อาจจะสำเร็จยาก เพราะว่าในหลวงรัชกาลที่ 5 นี่ทรงเป็นที่รักใช่ไหม คนก็เชื่อถือมาก แม้กระนั้นก็โดนค้านเยอะ พระก็ไม่พอใจเยอะ ชาวบ้านก็ เอ้ จะมาทำลายความศักดิ์สิทธิ์ไรใช่ไหม โอ้ เล่นเอาทำลำบาก แต่ในหลวงก็ทำได้สำเร็จ ก็เลยพิมพ์พระไตรปิฎกออกมาเป็นเล่ม เป็นอักษรไทยครั้งแรกเลย ตอนแรกมี 39 เล่ม ขาดคัมภีร์อภิธรรม 6 เล่มสุดท้าย ไม่ครบ 45 เล่ม ขาดไป 6 เล่ม คัมภีร์ปัฏฐานนี่สุดท้ายในอภิธรรมมี 6 เล่ม เมื่อขาดไปก็เลยมี 39 เล่ม
ทีนี้ส่วนที่สิงหลเค้าใช้อักษรสิงหล ไม่ใช่ภาษาสิงหลนะครับ ต้องแยกก่อน ลังกาเค้าก็เขียนภาษาบาลีด้วยอักษรสิงหล ไทยเราก็เขียนภาษาบาลีด้วยอักษรไทย พม่าเค้าก็เขียนภาษาบาลีด้วยอักษรพม่า มอญก็เขียนภาษาบาลีด้วยอักษรมอญ ลาวก็เขียนภาษาบาลีด้วยอักษรลาว เขมรก็เขียนด้วยอักษรของเขมรหรือขอม ไทยเหนือเราก็มีอักษรของตัวเองอีก ทางนั้นเรียกว่าอักษรธรรม ก็เลยมีพระไตรปิฎกบาลีฉบับอักษรธรรมของเมืองเหนือขึ้นมาอีก ก็เป็นอีกฉบับ แล้วฝรั่งก็มาคัดลอกเอาไป ตอนแรกเอาจากฉบับอักษรสิงหล ก็ได้ฉบับอักษรสิงหลไป ก็ใช้อักษรโรมัน อักษรฝรั่งเนี่ย ท่านเรียกว่าอักษรโรมัน ก็ไปใช้เขียนภาษาบาลีด้วยอักษรโรมัน เราก็เลยมีพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ เช่นอรรถกถานี่เป็นฉบับอักษรต่างๆ เยอะแยะไปหมดเลยนะ ที่ญี่ปุ่นก็เอาไปแล้วนะ ญี่ปุ่นในที่สุดเค้าก็รู้ว่ามหายานเนี่ย คัมภีร์เดิมหายหมดแล้ว แล้วพระไตรปิฎกบาลีที่เป็นของต้นเดิมเท่าที่มีเก่าที่สุด ญี่ปุ่นก็เลยมาเอาคัมภีร์พระไตรปิฎกบาลีของเราไป แล้วก็เอาไปคัดไว้ที่ญี่ปุ่น ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นก็มีพระไตรปิฎกบาลีด้วย
พูดเยอะแล้ว ท่านว่าไงนะ ก็ดีไหม เรื่องเก่าๆ อย่างนี้ เรื่องความเป็นมา จะได้รู้ แม้จะไม่ใช่เนื้อหาธรรมะนะ รู้เรื่องประกอบก็แล้วแต่ รู้เรื่องประกอบก็เป็นประโยชน์ ถ้าท่านสนใจมากอาจจะต้องมาเล่าเรื่องพระไตรปิฎกในแง่ของการที่มาพูดให้เห็น รูปร่างของพระไตรปิฎก การจัดแบ่งหมวดหมู่พระไตรปิฏก ให้เห็นว่ารูปร่างเป็นยังไง เนื้อหาเค้าโครงเรื่อง สาระสำคัญในแต่ละหมวดละตอนเป็นยังไงเนี่ย ถ้าท่านสนใจจริงๆ แล้วเรียนไว้จะเป็นประโยชน์มาก คือมองพระไตรปิฎกปั๊ปเนี่ย มองออกเลย ว่า อ้อ เนื้อหาส่วนนี้จะหาได้จากเล่มไหน ส่วนไหน ไม่งั้นเรามองเห็น ก็ เอ้อ เป็นพระไตรปิฎกก็จบ อย่างเก่งขึ้นมาก็แบ่งได้เป็นพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม แต่ก็ไม่รู้อีกว่า วินัยส่วนนั้น เอ้ จะหาเรื่องเกี่ยวกับเรื่องการผูกสีมา เรื่องของการลงโบสถ์ อุโบสถ เอ้ จะไปหาตอนไหน งี้นึกไม่ออกเลย หรืออย่างเรื่องพระสูตรก็เหมือนกัน จะไปหาเรื่องขันธ์ 5 จะไปหาเรื่องทิศ 6 จะไปหาเรื่องของภิกษุณี เออจะไปหาตรงไหน เอายังไง อะไรเนี่ยนะ นี้ถ้าหากว่าเราเรียนรู้เรื่องพระไตรปิฎกเนี่ย เรามองปั๊ป เราก็ออกเลยว่า อ้อ เรื่องนี้ควรจะไปหาที่เล่มนั้นๆ ตอนนั้น ถ้าท่านสนใจก็อาจจะมาค่อยคุยอีก ถ้าสนใจนะ ถ้าไม่สนใจก็แล้วไป
แต่ว่ามันก็เป็นพื้นฐานในการเล่าเรียน ถ้าเราจะลงลึกในเรื่องของพระพุทธศาสนาเนี่ย เรารู้เค้าโครงพระไตรปิฎกไว้เป็นประโยชน์มาก เพราะแหล่งที่แท้ก็ต้องมาจากนี่ คือว่าเราอาศัยครูอาจารย์นี้เป็นสื่อให้เรา เพื่อไปโยงเข้าหาหรือนำเข้าหาพระไตรปิฎก เราไม่ใช่ไปติดอยู่แค่ครูอาจารย์ ใช่ไหมฮะ เอ้า มีอะไรอีกไหมครับ สงสัยอะไรอีกไหม ไม่มีนะ ถ้าไม่มีก็เท่านี้ก่อน งั้นก็นิมนต์ สุขสวัสดี.