แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร อาตมภาพเคยพูดเรื่องปัญญาไว้ แล้วก็ ได้เล่าอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวกับปัญญาหลายครั้ง ต่อมาก็เลยออกไปเล่าเรื่องอื่นๆ หลายครั้งแล้วเหมือนกัน คิดว่าตอนนี้กลับมาเรื่องปัญญาอีกที แต่ก็จะเล่าเรื่องตัวอย่างประกอบเกี่ยวกับการใช้ปัญญา คือว่าปัญญานั้นใช้งานได้หลายระดับ ในระดับของความเป็นอยู่ประจำวัน การทำธุระหรือว่าการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่น อันนี้ก็จะเอาตัวอย่างที่เกี่ยวกับการใช้งานในชีวิตประจำวันมาเล่าอีก จะเป็นเรื่องประเภทนิทานชาดก เป็นเรื่องของการที่ใช้ปัญญาเพื่อจะเอาชีวิตให้รอด แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
ก็มีนิทานชาดกเรื่องหนึ่ง เล่าเรื่องนกสองชนิด คือนกเหยี่ยวกับนกมูลไถ นกมูลไถนี่ก็เป็นนกเล็กๆ ชนิดหนึ่ง ซึ่งหากินอยู่ตามท้องนา แล้วก็เป็นนกที่เป็นเหยื่อของเหยี่ยวของกาได้ เรื่องก็เล่าว่า วันหนึ่งนกมูลไถหากินอยู่ที่ในท้องนา แล้วก็มีเหยี่ยวตัวหนึ่งมาโฉบเฉี่ยวเอาไป นกมูลไถนั้นก็ได้รับความทุกข์เป็นอันมาก แต่ว่าเป็นสัตว์ที่มีปัญญา ระหว่างที่อยู่ในกรงเล็บของเหยี่ยวที่กำลังบินไปอยู่นั้นก็นึกถึงความตายที่อยู่ข้างหน้าแต่ด้วยปฏิภาณไหวพริบก็คิดเอาตัวรอดแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า ก็เลยทำเป็นอุบายขึ้นมาทำเป็นร้องคร่ำครวญ บ่นเพ้อ บอกว่า เออเนี่ยเราไม่น่าเลยนะ หากินอยู่ในถิ่นของตนดีๆ ก็ไม่เอาออกมาเที่ยวหากินนอกถิ่นนอกแดน ก็เลยถูกเหยี่ยวมาเฉี่ยวเอาไปได้ นี่ถ้าเรายังอยู่ในถิ่นของเราละก็อย่าว่าแต่เหยี่ยวอย่างนี้เลยให้นกอะไรใหญ่กว่านี้ หรือเก่งกว่านี้ก็ไม่สามารถจะทำอะไรเราได้ ก็พูดบ่นเพ้อไปเรื่อยๆ ฝ่ายเหยี่ยวได้ยินคำที่นกมูลไถว่า มากระทบตัวเองคล้ายๆดูถูกก็ชักฉุน ก็บอกเอ้ย แกว่า ถ้าแกอยู่ในถิ่นของแกแล้วใครจะทำอะไรไม่ได้ใช่ไหม นกมูลไถก็บอกว่า ฉันก็ว่าอย่างนั้นแหละท่าน เหยี่ยวก็เลยบอก อ้าวลองดูก็ได้ทีนี้แกลองไปอยู่ในถิ่นของแกสิ แล้วฉันจะเฉี่ยวได้ ถ้าฉันเฉี่ยวไม่ได้ก็ให้รู้ไป แกก็จะได้รอดชีวิต นกมูลไถก็ตกลงก็เลย เหยี่ยวก็ด้วยความที่มีความหยิ่งในความสามารถของตนเองก็เลยนึกไม่เท่าทันอุบายของนกมูลไถ ก็เอานกมูลไถกลับมาปล่อยที่ท้องนา แล้วก็ไปปล่อยที่ที่นกมูลไถบอกว่าเป็นถิ่นของตนด้วย คือธรรมดาว่าสัตว์ที่เค้าหากินในถิ่นที่เคยนั้นก็ย่อมชำนาญในที่ สามารถหลบหลีกได้ดีกว่าที่ไปหากินในถิ่นอื่น เมื่อนกมูลไถไปถึงถิ่นของตัวแล้วก็เตรียมพร้อมที่จะหลบหลีกเหยี่ยวให้เหยี่ยวโฉบไม่ได้ ก็ทำอุบายขึ้นไปเกาะบนก้อนดินใหญ่ๆ ก้อนหนึ่งที่สูงขึ้นมาเด่นเป็นพิเศษ ตอนนั้นเมื่อพร้อมแล้วเหยี่ยวก็โฉบลงมา พอเหยี่ยวโฉบลงมาถึงกลางอากาศ ลงมา ยังไม่ทันถึงข้างล่าง นกมูลไถก็หลบลงไปในซอกดิน ฝ่ายเหยี่ยวตัวใหญ่นั้นโฉบลงมาด้วยกำลังแรงมาก แรงพุ่งนั้นทำให้ยั้งไม่ทัน เมื่อไม่มีตัวนกมูลไถอยู่บนก้อนดินใหญ่ ตัวของนกเหยี่ยวนั้นก็เลยมาปะทะที่ก้อนดินเอง ก็ปรากฎว่าเหยี่ยวนั้นถึงแก่ความตายด้วยกำลังแรงพุ่งลงมาของตนเอง อันนี้ก็เป็นนิทานชาดกที่แสดงถึงคติธรรมในการใช้ปัญญา ถ้าหากว่ามีสติและก็ใช้ปัญญาก็แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าให้ผ่านพ้นไปได้เหมือนกับนกมูลไถนี้ แล้วก็ในทางตรงข้าม เหยี่ยวนั้นก็ด้วยกิเลสของตนเองที่มัวแต่นึกถึงว่าถูกเขาดูถูกเหยียดหยาม ก็ไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาว่าอาจจะเป็นอุบายของเขาก็เลยพาตัวเองไปได้รับความทุกข์เดือดร้อนเป็นอันมาก อันนี้ก็เป็นนิทานอันหนึ่งที่แสดงถึงการใช้ปัญญาในระดับสามัญ อย่างที่อาตมภาพกล่าวมาแล้ว ทีนี้การใช้ปัญญานี้บางทีก็ใช้ไปในทางที่ไม่ดี ก็เป็นโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ก็จะเล่าตัวอย่างการใช้ปัญญาอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งผู้ที่จะใช้ปัญญานั้นก็คงจะมีความสามารถไม่แพ้กับนกมูลไถอย่างเมื่อกี้ แต่ว่าใช้ไปในทางที่เสียหายก็เลยกลายเป็นโทษ
ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพ่อค้า เป็นพ่อค้าบ้านนอกกับพ่อค้าชาวกรุง พ่อค้าบ้านนอกคนหนึ่งเข้ามาค้าขายในกรุง นำเอาผานไถ มาฝากไว้ที่บ้านของพ่อค้าชาวกรุงจำนวน 500 อัน เมื่อฝากไว้แล้วก็ไปทำธุระอย่างอื่น ต่อมาเป็นเวลานานก็กลับมาที่บ้านของพ่อค้าชาวกรุงนั้น เพื่อทวงเอาผานไถกลับคืนเอาไปค้าขายต่อ ฝ่ายพ่อค้าชาวกรุงนั้น ได้นำเอาผานไถ 500 อันไปขายเอาเงินหมดแล้ว เมื่อเขามาทวงตัวเองก็ไม่มีจะให้ นึกอะไรไม่ทันก็เลยบอกว่าหนูมันกินหมดแล้ว หนูกินผานไถหมด ฝ่ายพ่อค้าชาวบ้านชาวบ้านนอก เค้าบอกว่าอย่างนั้นตัวเองก็ไม่รู้จะทำยังไงก็ของมันไม่มีให้แล้ว ก็หมดทางก็คิดแค้นอยู่ในใจว่าต้องหาทางแก้เผ็ด ก็เลยวันหนึ่งก็เลยมาชวนเอาลูก ลูกชายเล็กๆ ของพ่อค้าชาวกรุงนี้ไปเที่ยวเล่น บอกว่าจะพาไปอาบน้ำไปเล่นน้ำในแม่น้ำ พาไปแล้วแล้วก็กลับมาคนเดียว ฝ่ายพ่อค้าชาวกรุงก็ถามว่า อ้าวลูกฉันไปไหนล่ะไม่กลับมาด้วย บอกว่าโอ้ต้องเสียใจด้วยระหว่างที่ผมไปอาบน้ำไปเล่นน้ำในแม่น้ำนั้น ลูกของคุณถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไปว่างั้น ฝ่ายพ่อค้าชาวกรุงก็บอกมันเป็นไปไม่ได้ ลูกฉันตัวแค่นี้เหยี่ยวมันจะไปเฉี่ยวไปได้อย่างไร เหยี่ยวมันตัวเล็กนิดเดียว ก็บอกไม่ทราบสิก็เหยี่ยวมาเฉี่ยวไปแล้ว ผมก็ทำอะไรไม่ได้ พ่อค้าชาวกรุงก็เลยไปฟ้อง เมื่อสมัยนั้นก็เรียกมหาอำมาตย์ ไปฟ้องอำมาตย์ก็คือเจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมนั่นเอง ให้ช่วยตัดสินคดีเล่าให้ฟังบอกว่า นายคนนี้พาลูกของตนไปอาบน้ำ แล้วก็ทำให้ลูกของตนหายไป ก็ขอให้ช่วยตัดสินด้วย เค้าบอกว่าเหยี่ยวเฉี่ยวเอาไปซึ่งเป็นไปไม่ได้ ฝ่ายพ่อค้าชาวบ้านก็เลยเล่าให้ฟังบ้างบอกว่า ผมก็เคยได้นำเอาผานไถ 500 อันมาฝากไว้ที่บ้านของพ่อค้าชาวกรุงคนนี้ แล้วเสร็จแล้วเค้าก็ทำหายหมดไป ก็คงจะโกงเอาไปนั้นแหละ แล้วเค้าก็บอกว่าถูกหนูกินหมด แล้วก็ขอให้ท่านช่วยตัดสินคดีให้ ฝ่ายอำมาตย์นั้นก็รู้เท่าทันว่าอันนี้ก็เป็นเรื่องโกงกัน แสดงว่าถ้าหากว่าพ่อค้าคนแรกโกงเค้าไปแล้วโดยใช้อุบายบอกในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ฝ่ายนี้เค้าก็ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน ก็เลยบอกว่าเอ่อถ้าหากว่าหนูมันกินผานไถได้ เหยี่ยวมันก็เฉี่ยวเด็กไปได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็ท่านก็เอาผานไถมาคืนเค้าซะเถอะเค้าก็จะเอาลูกมาคืนท่านเอง ก็เลยพ่อค้าชาวกรุงก็เลยหมดทางไปต้องยินยอม ก็ต้องไปนำเอาผานไถกลับคืนหรือชดใช้ค่าเสียหาย แล้วพ่อค้าชาวบ้านนอกนั้นก็เลยเอานำเอาเด็กมาคืนให้ เรื่องก็จบลงไป อันนี้ก็เป็นเรื่องของการใช้ปัญญา ที่เป็นการใช้ปัญญาที่สำคัญก็คือผู้ตัดสินคดีซึ่งจะต้องรู้เท่าทันว่าอะไรเป็นอะไร เพื่อจะตัดสินคดีให้ได้ผลโดยยุติธรรม
อันนี้ก็เป็นตัวอย่างต่างๆ ซึ่งในนิทานชาดกท่านเล่าไว้มากมายหลายเรื่อง เพื่อแสดงถึงการใช้ปัญญาพร้อมทั้งคติธรรมต่างๆ เพื่อสอนให้คนเราใช้ปัญญาในทางที่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง เช่นในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นต้น แล้วก็ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นไม่ใช้ในทางเสียหาย อาตมภาพคิดว่าวันนี้ ก็เล่าเป็นนิทานประกอบไว้เป็นส่วนหนึ่งของคุณธรรมเรื่องปัญญา พอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติเพียงเท่านี้ เจริญพร