แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาพรฯ : เอ้ามาคุยกันต่อไป ใครมีเรื่องอะไรก็ว่ากัน สงสัยอะไร
พระนวกะ: มีเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา เรื่องภาพวาดภิกษุสันดานกา เรื่องกรณีลักษณะแบบนี้มีเกิดขึ้นบ่อยครับ ฝ่ายคนที่ทำมักจะอ้างเรื่องอิสระเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ทราบว่าเราจะใช้หลักอะไรเข้าไปคิดว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม
พระพรหมคุณาพรฯ : อ๋อ เรื่องภาพวาดภิกษุสันดานกา
พระนวกะ: ที่เขาเอาจีวรไปทำเป็นผืนผ้าใบครับ
พระพรหมคุณาพรฯ : แล้วก็อีกภาพก็เรียกว่าหมานุษย์ ใช่มั้ย ก็ทุกท่านได้เห็นแล้วใช่มั้ย
พระนวกะ: จริงๆ แล้ว ศิลปินคนนี้ที่ผมเคยดูมาสัก 4-5 ปี เขาวาดภาพแนวเสียดสีพระแบบนี้มาตลอดครับ
พระพรหมคุณาพรฯ : หมายถึงคนนื้น่ะหรือ
พระนวกะ: ครับ แต่ว่ารูปก็จะเป็นลักษณะแบบนี้ครับ เพียงแต่ครั้งนี้ที่ดังขึ้นมาเพราะว่าเขาไปได้รางวัลเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง
พระพรหมคุณาพรฯ :อ้าว แล้วนึกยังงัยมาถามวันนี้ล่ะ ห่างเหตุการณ์เยอะเลย
พระนวกะ: ??? เพียงแต่ว่าเอาไว้เป็นหลักตัดสินว่าอะไรเหมาะสม ไม่เหมาะสม
พระพรหมคุณาพรฯ : ที่จริงถ้าจะตอบเนี่ย ผมอยากจะฟังไอ้ที่เค้าพิมพ์เป็นเล่ม เค้ามีเป็นเล่มเล็กๆ นะ เป็นคำตอบหรือความเห็นของพระบ้าง ญาติโยมบ้างที่เขาถือว่าเป็นผู้ใหญ่ เป็นที่มีชื่อเสียงในประเทศนี้ แล้วเขาก็ไปถาม แล้วก็บันทึกมาพิมพ์ ที่จริงถ้าได้อ่านอันนั้นสักก่อนก็ดี ว่าจะรอให้ท่านกุศลนันท์โทรไปอ่านให้ฟัง
พระนวกะ: ที่นี่ก็มีครับ
พระพรหมคุณาพรฯ : มีที่กุฏิก็มี เขาให้มาแล้ว ท่านเอาไปให้ ผมก็เอาไว้เล่มนึง ทีนี้ก็รอว่าถ้าได้อ่าน หรือฟัง อ่านซะทั้งหมดก่อนจะดี เพราะว่าจะได้รู้ความคิดเห็น ว่าเขาว่ากันว่ายังไง อ้าวแล้วท่านเองล่ะ ผมอยากจะฟังบ้าง ว่ามีความเห็นกันยังไง
พระนวกะ: โดยส่วนตัวผม เอาหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสกับอภัยราชกุมาร ว่าจริง ที่พระองค์เลือกตรัสจริง เป็นประโยชน์แต่ว่าไม่เป็นที่รัก พระองค์ก็เลิกตรัส แต่ถ้าจริงเป็นประโยชน์ และเป็นที่รักพระองค์ถึงจะตรัส แต่นี่ผมว่ามันจริงแต่ว่ามัน
พระพรหมคุณาพรฯ : ไม่เป็นประโยชน์เหรอ
พระนวกะ: ไม่ควร
พระพรหมคุณาพรฯ :อย่างนั้นเลยหรือ
พระนวกะ:อีกหลัก ก็คือหลักเรื่องทิศ 6 ที่ว่าคฤหัสถ์ควรปฏิบัติต่อพระ ประกอบด้วยเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม เตือนกันด้วยเมตตามากกว่า มากกว่าจะเสียดสี และก็มีนิทานชาดกอีกเรื่องครับ เรื่องลิงที่ว่า ไม่ทราบว่าเจ้าของลิงหรือว่า ผู้หญิงด้วยกันที่บอกว่าให้ลิงอีกตัวนึงไปดูแลต้นไม้ในช่วงที่ตัวเองไม่อยู่ ลิงก็เลยปรารถนาดี เลยถอนต้นไม้ขึ้นมา แล้วก็เอาไปลาก...
พระพรหมคุณาพรฯ : อ๋อ เรื่องลิงเฝ้าสวน เลยต้นไม้ตายหมด
พระนวกะ: ปรารถนาดี แต่ว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ต้นไม้ปรากฏว่าตายหมด
พระพรหมคุณาพรฯ : อ้าวใครอยากแสดงความเห็นมั้ย ถ้าไม่มีผมก็จะคุย แม้ว่าจะยังไม่ได้อ่านหรือไม่ได้ฟังเล่มนั้น อยากจะให้ได้ฟังทั้งเล่ม ให้อ่านให้ฟัง มันก็ยาวเหมือนกันนะ แต่ก็ไม่เป็นไร ถึงจะยังไม่ได้ข้อมูลอันนั้นเพียงพอ เราก็คุยไปพลางๆ ไหนๆ ท่านถามแล้ว เรื่องนี้มันก็ควรจะมองเป็นขั้นๆ แล้วก็เป็นแง่ๆ ขั้นที่หนึ่งเนี่ย เราก็สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีเจตนายังไง ทีนี้ในขั้นแรกนี้ เพราะว่าภาพนี้มาโดยมีคณะกรรมการผู้ใหญ่ตัดสิน อะไรต่ออะไรกัน เราก็มองไปในแง่ตัวสถาบันหรือว่างานการทั่วไปของส่วนรวมอะไรเนี้ย ถือว่าได้มีการพิจารณาแล้ว ก็สันนิษฐานอนุโลมตามไว้ก่อนว่ามีเจตนาดี แต่ทีนี้ว่า อีกด้านนึงก็คือว่า มีผู้ที่ท่านออกมาแสดงการคัดค้าน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่โด่งดังพอสมควร ก็ต้องมองทางด้านนี้ด้วย อ่อ ลืมเล่าไปว่าทั้งสองฝ่ายที่จริงก็มาที่วัดนี้แล้ว ทราบแล้วใช่มั้ย คือ แรกสุดก็มี ท่านกุศลนันโทนี่แหละ วันหนึ่ง ก็ด้วยตอนบ่ายก็เข้ามาแจ้งบอกว่า มีรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมด้วยศิลปินหรือจิตรกร ผู้ที่วาดภาพนี้ได้มาที่วัดนี้ อยากจะพบ ขอฟังความคิดเห็น ที่นี้วันนั้นน่ะที่จริง มีจดหมาย มีหนังสือเป็นทางการจากมหาจุฬาฯ อยู่ก่อนแล้วว่า ทางรองอธิการบดีมหาจุฬา ก็จะขอพานักศึกษา ซึ่งเป็นพระบ้าง โยมบ้าง ในโครงการปริญญาเอกต่างประเทศจะมาขอเยี่ยมวัด ผมก็เขียนบันทึกไปที่ท้ายหนังสือที่ติดต่อขอมาของมหาจุฬาฯ นี้ละ บอกว่าตอนนี้ไม่ไหว พูดต้องเค้นหน้าอก ก็ขอขอบคุณที่ท่านมาเยี่ยม จะให้พระ ให้ท่านคุณวโรไปถวายการต้อนรับแทน ทีนี้ในเมื่อคณะนี้มาอีก แต่ว่าคณะนี้กลับมาก่อน แต่ว่าคณะโน้นมีหนังสือเอกสารซึ่งผมบันทึกไว้ ก็เลยว่าถึงอย่างไรก็ไม่ได้ออกไปแล้ว ก็เลย ตกลงกับท่านกุศลนันโทว่า บันทึกของมหาจุฬาฯ นี่เขียนไปแล้ว ก็ง่ายดี ก็เอาบันทึกนี้ไปให้อ่านเสียเลย เพราะมหาจุฬาก็มา ก็ไม่ได้ออกไป ปัญหาก็เป็นอย่างนี้ชัดเลย ก็เป็นอันว่าไม่ได้ออกไป เลยจดหมายฉบับนั้นได้ประโยชน์ 2 ชั้น ใช้กับมหาจุฬาฯ ด้วย กับศิลปากรด้วย ทีนี้พอวันรุ่งขึ้นหรืออีก 2 วันต่อมา ตอนค่ำแล้ว ท่านคุณวโร ท่านก็โทรมาแจ้งบอกว่ามี คณะหนึ่งจากศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา นำโดยพระ เป็นพระครู แล้วก็มีญาติโยม 4, 5 ท่าน จะมาขอพบ ทำนองขอฟังความคิดเห็นเช่นเดียวกัน ก็ถ้าพูดง่ายๆ ก็ฝ่ายตรงข้ามกับวันแรก ผมก็บอกท่านคุณวโรไป บอกว่าเนี่ยไม่ไหว ตอนนั้นก็ 2 วันต่อมาจะยิ่งแย่กว่าวันโน้นอีก บอกว่าเค้นหน้าอกพูดไม่ไหว ไว้ให้ค่อยว่ากันใหม่ ทีนี้ทางศิลปากรนั้นเค้าบอกฝากไว้แล้วว่าเขาจะขอมาใหม่ จะนัดเมื่อไหร่ผมก็บอกไม่ได้ นี่ทางศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาก็อยากจะให้นัดมาใหม่เมื่อไหร่ ผมก็เลยบอกท่านคุณวโรว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกันว่า 2 คณะก็มาเรื่องเดียวกัน ให้ 2 คณะนี้ไปตกลงกันแล้วก็นัดกันมาพร้อมกันได้มั้ย จะได้พูดทีเดียว หมดเรื่องไป 2 ครั้ง เราก็เหนื่อยแย่ ครั้งเดียวเราก็แทบแย่อยู่แล้ว ก็เลยทางฝ่ายศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาก็รับเรื่องไป จะไปติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วต่อมาก็ได้ทราบจากท่านกุศลนันโทว่า ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรก็โทรมา แฟกซ์เป็นหนังสือทางการมาขอพบนั่นแหละ และก็ได้พูดโทรศัพท์กันด้วย ทางนี้ท่านก็บอกไว้ว่าอยากจะให้นัดกันเองกับทางศูนย์พิทักษ์ฯ แล้วก็มาด้วยกันซะ แล้วก็ทางศิลปากรบอกทำนองว่า ไม่อยากมาด้วย ไม่อยากมาพบพร้อมกัน คล้ายๆ ว่าเกรงว่าจะมาแล้วจะเกิดการมาโต้แย้งขัดแย้งอะไรกัน ข้อเท็จจริงมันก็เป็นเรื่องที่ว่า เรื่องของส่วนรวมมาพบกันก็พูดกัน พบกันต่อหน้าดีกว่าด้วยซ้ำ ก็เป็นอันว่าถ้าฟังทางมหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ไม่อยากจะมาพบกัน ก็หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้ข่าวอีกทั้ง 2 ทาง ว่าจะมาเมื่อไหร่ ก็เรื่องก็เงียบมาจนป่านนี้ จนกระทั่งมีหนังสือเล่มที่ว่าออกมาแล้ว ก็ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็คล้ายๆ ว่า หนังสือพิมพ์ออกมาแล้ว คงไม่ต้องมาแล้วใช่มั้ย
พระนวกะ: แต่ว่าที่ผมมองประเด็น เอาคำพูดไปโยงพิมพ์
พระพรหมคุณาพรฯ : นั่นแหละในนี้ด้วย ก็ทีนี้ออกมาแล้ว ก็แสดงว่าจบไป นี่ว่า ก็มาสู่เรื่องที่ว่า เหมือนกับผมก็ค้างอยู่ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นให้ทั้งสองแห่งนั้นฟัง นี้ก็ในกรณีที่ว่าถ้าทั้งสองฝ่ายนั้นมาแล้วจะว่าอย่างไร ก็อย่างที่ว่านี้แหละคือเราก็ดูว่า
1 สันนิษฐานเบื้องต้น ก็อนุโลมไปตามที่มีคณะกรรมการตัดสินอะไรต่ออะไร ก็มองไปว่ามีเจตนาดี ทีนี้ทางฝ่ายผู้ที่ออกมาคัดค้าน มาติเตียน โต้แย้ง จะเป็นศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา หรือที่ไหนก็ตาม ก็มองก็ว่าเจตนาดี ก็ทำด้วยความรักพุทธศาสนา นี่ก็เป็นอันว่าในการสันนิษฐานเบื้องต้น ทั้งสองฝ่ายก็มีเจตนาดีด้วยกัน นี้ทางฝ่ายศูนย์พิทักษ์และทางฝ่ายค้านทั่วๆ ไปนี่ ผมก็ไม่ได้ดูทีวี แต่ได้ยินว่ามีผู้เล่ารุนแรงหน่อย เอาละ รุนแรงนั้นก็เป็นเรื่องของวิธีการหรือความสามารถ แต่ว่ามองในแง่หนึ่งก็หมายความว่าในวงการพุทธศาสนา ไม่ค่อยมีการปรับขบวน หรือการจัดการคัดสรร ตัวแทนหรืออะไรต่ออะไรให้มันเป็นระบบ อาจจะเป็นได้ รู้สึกเท่าที่ได้ยินเนี่ย ไม่ค่อยได้ผลดีใช่เปล่า เท่าที่ฟัง เป็นทำนองว่าฝ่ายที่ค้านเนี่ย ค้านแล้วเสียงออกมาแล้วผู้ฟังผู้ชมไม่ค่อยจะนิยมชื่นชมด้วยใช่หรือเปล่า ได้ยินทำนองนี้
พระนวกะ: คือเท่าที่ดูรายการนี่ก็ ฟังดูทางฝ่ายพระอาจารย์ มีเหตุผล มีน้ำหนักมากกว่า
พระพรหมคุณาพรฯ : หรือ อ่อ ไม่รู้สิ แต่ผมได้ยินนี่ ก็มีว่า โยมมาติเตียนว่า พระรุนแรงอะไรต่างๆ
พระนวกะ: นี่คือ อ่านหนังสือพิมพ์ช่วงวันใกล้ๆ น่าจะเห็นทำนองนั้น ช่วงนั้นจะมีเหตุการณ์ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ในพม่าด้วยครับ ก็จะมีคอลัมนิสต์ที่เปรียบเทียบเหมือนกับว่า พระในพม่านี้ออกมาต่อสู้เพื่อประชาชน แต่ว่าพระในเมืองไทยต่อสู้เพื่อองค์กรหรือว่าเพื่อตนเองซะมากอะไรอย่างนี้
พระพรหมคุณาพรฯ : แต่เราจะว่าเพื่อตนเองคงจะไม่ชัด เพราะว่ามันก็เป็นความในแง่หนึ่ง ก็เหมือนกับว่าแบบชาวบ้านทั่วไป หรือพระเณร ถ้าเราไม่มองลึกซึ้งนะ พระพุทธศาสนาถูกกระทบกระเทือนก็เป็นเจ็บเป็นแค้นแทนอะไรทำนองนี้ พูดแบบภาษาเบื้องต้นก็มีปฏิกิริยาได้ เอาละ อย่างไรก็ตาม ก็ขั้นต้นก็สันนิษฐานว่าทั้งสองฝ่ายมีเจตนาดี ผู้ที่แสดงออกคัดค้านก็มีความรักพระพุทธศาสนาเมื่อมีอะไรมากระทบกระเทือนก็ไม่พอใจ แต่ว่าจะมีความรอบคอบหรืออะไร วิธีแสดงจะเหมาะสมแค่ไหนนั้นเป็นการพิจารณาอีกขั้นหนึ่ง ต้องลึกลงไปอีกที เอาขั้นตอนก่อน ทีนี้ก็มามองดูต่อไป นี้เราจะมองแค่นี้พอมั้ย ก็ต้องบอกว่าไม่พอ มองขั้นที่หนึ่งว่าไม่พอ เพราะว่าเป็นธรรมดาว่าเรื่องเจตนานี้ แม้มีเจตนาดี คนที่มีเจตนาดีบางทีก็ทำผิดพลาดโดยรู้ไม่เท่าถึงการณ์ก็มีเยอะแยะไป นั้นข้อสำคัญก็คือ ต้องพิจารณาอีกขึ้น คือ ขั้นสติและปัญญา มีเจตนาดีทำโดยมีสติดีพอมั้ย มีปัญญารู้เข้าใจดีมั้ย เช่นว่า รู้เรื่องราวของสิ่งที่ตัวจะทำ ไม่ใช่แค่นั้น รู้ไปถึงผล มองไปเห็นว่าเออ ทำไปแล้วมันจะเกิดผลอะไร กระทบกระเทือน มีผลเสียหรือผลดีอย่างไร นี้เป็นเรื่องปัญญาล้วนๆ ปัญญานี้เป็นเรื่องกว้างขวาง แล้วก็แม้แต่เจตนาดี ก็ต้องมาดูอีกทีหนึ่งว่าเจตนานี้ บางการกระทำมันไม่ชัด คือตามหลัก เช่นอย่างกฎหมายเค้าก็ถือการกระทำส่อเจตนา ในการกระทำบางอย่างนี่ครั้งเดียวยังไม่ชัด ต้องมีการกระทำอื่นมาหนุนว่ามีเจตนาอย่างไรแน่ ดูการกระทำครั้งเดียวไม่ออก ต้องดูการกระทำหลายครั้ง จึงจะพิสูจน์เจตนาได้ ใช่มั้ย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ พูดแค่ขั้นเดียวแล้วจบ มันไม่จบหรอก ต้องดู เอาละ ทีนี้เราก็มาดูขั้นสติปัญญา สติก็ทำการโดยรอบคอบมั้ยและก็ปัญญาด้วยความรู้เข้าใจ รู้เท่าถึงการณ์เป็นต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่าไปแล้วกลายเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันยาว อันนี้ก็เป็นการพิจารณาเพื่อไม่ให้ประมาท เพราะมันเป็นเรื่องของส่วนรวม เรื่องของสังคม การณ์ใดที่เกิดขึ้นแล้วนี่มันมีผลดีผลร้ายต่อสังคมส่วนรวมเรื่องของอันนี้มันเกี่ยวกับพระศาสนา จะเรียกว่าเป็นสถาบันอันหนึ่งสำคัญของชาติ แต่ว่ารวมแล้วมันก็เป็นเรื่องใหญ่ของสังคม เพราะฉะนั้นเราก็ควรพิจารณาด้วยความไม่ประมาท ไม่ใช่ว่ามองผ่านไปแล้วก็จบ เอาละเพื่อความไม่ประมาท เราก็ต้องพิจารณาในขั้นสอง ขั้นสติและปัญญา ทีนี้เจตนาก็มองไปในแง่ว่า ท่านเป็นศิลปินก็ทำโดยที่ว่าเป็นศิลปะที่เค้าเรียกว่าสะท้อนสภาพสังคมในแง่นี้ สะท้อนสภาพสังคมก็จริงอยู่ แต่ว่าไอ้ได้ทราบว่า ทางคณะทั้งผู้ที่เป็นกรรมการหรือเปล่าไม่ทราบ หรืออย่างน้อยก็เป็นผู้ใกล้ชิดเป็นผู้ใหญ่ในนั้น ตัวท่านจิตกรเองก็บอกท่านเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา นี้ถ้าหากว่าเป็นศิลปินจะวาดภาพสะท้อนภาพสังคม ถ้าเป็นศิลปินขั้นหนึ่ง มองแค่สะท้อนภาพสังคมก็อาจจะพอ แต่ถ้าเป็นชาวพุทธด้วยนี่ น่าจะคิดมากกว่านั้น ใช่มั้ย ไม่ใช่คิดแค่ว่าเราจะสะท้อนภาพสังคม มันต้องมองด้วยว่าจะมีผลอย่างไรต่อพระพุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นชาวพุทธก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนา มีความปรารถนาดี พูดง่ายๆ ปรารถนาดีต่อพระพุทธศาสนา ก็ต้องมองว่าทำไปแล้วมันจะเกิดผลอะไรขึ้นต่อพระพุทธศาสนา หรือไม่งั้นก็ ถ้าหากมีเจตนาดีจริงก็จะต้องมีขั้นตอนที่จะทำอะไรต่อไปเพื่อให้มันเกิดผลดี เพราะเราทำการณ์นี้ขึ้นมาแน่นอนมันเป็นเรื่องใหญ่ มันมีความกระทบกระเทือนพระพุทธศาสนาแต่เราหวังดี มีเจตนาดี มันก็ต้องมีขั้นตอนว่าต่อไปนี้เราจะทำอะไร เพื่อให้มั่นใจว่าการกระทำของเรานี้มันเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา อันนี้น่าจะต้องพิสูจน์เจตนาของตนเอง อันนี้ก็เลย ขั้นตอนนี้เหมือนกับทิ้งไว้ยังรอการพิสูจน์ รอการพิสูจน์เจตนาของชาวพุทธ ว่าถ้ามีความปรารถนาดีต่อพระพุทธศาสนา ทำในฐานะชาวพุทธ อันนี้มันก็จะมาโยงกันว่า ตอนนี้ผมอาจจะโยงมาไวไปหน่อย คือว่า ทางฝ่ายค้านนี้ก็ มีความรัก ความปรารถนาดีต่อพระพุทธศาสนา และทางนี้ผู้เขียนก็มีความปรารถนาดีต่อพระพุทธศาสนาการกระทำไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเจตนาดีเหมือนกัน อ้าวทำไมไม่มาร่วมมือกันซะเลย ก็ต้องมาพูดจากันซิว่า เออเราจะมาร่วมมือกันอย่างไร ว่าผมทำนี้เจตนาดีต่อพระพุทธศาสนานะ ทางฝ่ายนั้นก็บอกว่ามันอาจจะมีช่องทางที่ทำให้เกิดโทษได้ เราก็ปิดช่องนี้ซิ มาช่วยกัน ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้อันนี้มันเกิดผลดีต่อพระพุทธศาสนาจริง ๆ ก็พิสูจน์เจตนาได้นิ ใช่มั้ย อันนี้มันไม่ควรจะไปหยุดแค่นั้นไม่ใช่ไปมัวเถียง มัวด่า มัวว่ากันอยู่ แต่ควรจะเดินหน้าไป มาร่วมมือ มาทำอะไรแสดงให้สังคมประจักษ์ซะว่า เออ ฉันทำฉันปรารถนาดีต่อพระพุทธศาสนา อันนี้ก็เป็นเรื่องในแง่หนึ่งเหมือนกับรอพิสูจน์ รอพิสูจน์ว่าท่านทำมิใช่เฉพาะแค่เป็นศิลปิน แต่ท่านเป็นชาวพุทธด้วย ก็พิสูจน์เจตนาของชาวพุทธออกมา แล้วการกระทำบางทีอย่างที่บอก บางทีมันไม่พอที่จะพิสูจน์เจตนา ต้องมีการกระทำอื่นต่อไปอีก เพราะฉะนั้นก็ต้องรอกันนานไปเลยนะ ไม่รู้ว่าจะรอไปพิสูจน์ได้เมื่อไหร่ ก็เป็นเรื่องที่ว่าถ้าจะให้ดีท่านบอกท่านเป็นชาวพุทธ ท่านก็ต้องรีบพิสูจน์เจตนาซิ ว่าท่านปรารถนาดี อ้าวที่นี้เรามามองในแง่ของเป็นศิลปะ ว่าเป็นศิลปะ ก็เป็นเรื่องของจะเรียกว่าวิชาการหรือเป็น เรื่องของงานที่เป็น เรื่องของศิลปะเป็นเรื่องของวงการศิลปะก็ทำอย่างนี้แหละ อ้าวก็ศิลปะก็ทำอย่างนี้ ก็เป็นงานศิลปะ ทีนี้วงการแต่ละวงการถ้าถือแบบนี้ก็เป็นการมองอะไรต่ออะไรจากมุมของตัวเอง แต่ละฝ่ายก็ยืนอยู่ที่มุมของตนแล้วก็ส่งเสียงใส่กันอยู่อย่างนี้ ถ้าหากว่าสิ่งที่ทำกันมาในอดีตเป็นอย่างนี้ เราควรจะได้ตระหนักซะทีว่า มันไม่ใช่วิธีการที่ดี คนที่อยู่ในวงการนั้น ฉันก็ทำตามแบบของวงการของฉัน ศิลปะก็ทำอย่างนี้แหละ อีกคนหนึ่งก็อยู่ในสายอีกสายนึงก็ พูดมาจากมุมของตัวเองว่า ฉันก็อย่างนี้แหละ แล้วก็พูดใส่กันไปใส่กันมามันไม่เป็นผลดีกับสังคม วิธีการนี้ควรจะเปลี่ยนแล้ว โดยเฉพาะสังคมของเรา เราก็ติเตียนกันว่าที่ผ่านแก้ปัญหาอย่างแยกส่วน ถ้าท่านทำอย่างนี้ก็แก้ปัญหาอย่างแยกส่วน แต่ละคนก็มองจากมุมของตนเอง ฉันเป็นศิลปะฉันก็ทำอย่างนี้แหละ อีกฝ่ายนึงก็ฉันเป็นพวกนี้ ฉันก็ทำอย่างนี้แหละ แล้วควรจะคิดว่าสังคมเรานี้มันเสื่อมโทรมมาหนักหนาแล้ว ควรจะร่วมมือกัน ถึงเวลาแล้วที่จะเลิกซะทีวิธีการที่จะคิดแยกส่วนอยู่ในมุมของตัวเองแล้วก็พูดใส่กัน หันมาร่วมมือกันหาทางที่จะทำ ประสานความเพียรพยายามหรือกิจกรรมในการที่จะแก้ไขปัญหาของสังคมนี้ เพราะสังคมของเรานี้มันก็แย่ ทรุดโทรม เหลวเละเต็มทีแล้วใช่มั้ย มาช่วยกันถ้าเรามีความปรารถนาดีจริงๆ ต้องมาช่วยกันแรกๆ ว่าจะทำอย่างไร มาแก้ปัญหาสังคม ไม่ใช่ว่าพอบอกว่า เออฉันเขียนภาพศิลปะนี้ขึ้นมาก็สะท้อนภาพสังคม แล้วฉันก็จบ มันก็หมดหน้าที่เท่านี้หรือ เราควรจะก้าวไปมากกว่านั้นแล้วมั้ง เดี๋ยวนี้ก้าวไปถึงขั้นที่ว่าทำอย่างไร จะช่วยแก้ปัญหาสังคมให้เป็นจริงเป็นจังได้ด้วย นี่ก็อีกขั้นนึง อ้าวทีนี้ ต่อไปเท่าที่ได้ยินนี่ก็ มีบางท่านอ้างว่า ภาพอย่างนี้โบราณก็มีแล้ว ตามภาพกิจกรรมฝาผนังในวัดวาอาราม อ้าว บางทีก็หยาบโลนอะไรต่ออะไรใช่มั้ย อันนี้ก็เป็นการพูดในแง่หนึ่ง แต่ว่าพิจารณาดูแล้วมันไม่เหมือนกันหรอก ภาพเหล่านั้นแม้จะหยาบโลนอะไรต่างๆ อันนี้มันมีภาพแวดล้อม มันอยู่ในเครื่องประกอบ มีส่วนประกอบต่างๆ ที่มันช่วยบอก ช่วยทำกำกับให้แสดงจุดมุ่งหมายและความหมาย ความหมายมันจะจำกัดด้วยสภาพแวดล้อมเป็นต้นใช่มั้ย อันนี่มันออกมาโด่เด่ขึ้นมา ลอยขึ้นมา แล้วก็เป็นอันใหญ่อันเดียวเลย เราจะต้องไม่ประมาทนะ คือ ถ้าภาพนี้มันไปอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนัง ไปเป็นภาพประกอบอยู่หน่อยนึงในฝาผนังโบสถ์ ภาพส่วนใหญ่มันชัดอยู่แล้วว่า มันมีความหมายในเชิงที่เป็นสุนทรียะในทางที่ส่งเสริมความดีความงาม ซึ่งบุญและกุศลใช่มั้ย อันส่วนนี้มันก็ไปแทรก คนก็ตีความหมายได้ง่าย มันเป็นส่วนที่ชัด คือว่าอันที่เป็นส่วนประกอบต่าง ๆ มันมาช่วยกำกับความหมายนี้ แล้วก็บางทีศิลปินในสมัยโบราณ ก็เขียนแทรกๆ ไว้ สนุก ๆ ของท่านเอง เท่านั้นเองไม่ได้มีอะไร ภาพเหล่านั้นก็ คนไปเห็นก็รู้ว่าสนุก ก็รู้ว่าไม่ได้มีความหมายอะไรหรอก ไม่ได้มีความหมายแม้แต่ในการสอนศีลธรรม แล้วแต่คนตีความหมายเอาเอง ศิลปินอาจจะขี้เล่นใส่เข้าไป ทีนี้ ในภาพแบบนี้มันเป็นภาพที่ จำเพาะที่จะต้องใช้ความเพียรพยายามเอาจริงเอาจัง และควรจะทำด้วยความไม่ประมาท มันก็ไม่เหมือนกัน จะไปอ้างถึงว่า เออ โบราณภาพเก่าก่อนในภาพฝาผนังจิตรกรรม ก็ทำกันมาแล้ว ผมว่าไม่เหมือนกัน
และอีกประการหนึ่งแม้แต่เรื่องดีๆ อย่างเรื่องศิลปะ เราก็ต้องมองว่า บางทีที่บอกว่าเป็นศิลปะ เราเหมือนกับบอกไปในตัวว่าบริสุทธิ์ ไอ้ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์ มันก็ไม่ชัดมันอยู่ที่เจตนาด้วย บางทีคนในวงการนั้น เอาสิ่งที่แม้แต่สิ่งที่ดีมาใช้เป็นเครื่องมือสนองความต้องการหรือเจตนาของตนเองก็ได้ใช่มั้ย เอ้อมันอาจจะใช้สิ่งที่ดีไปสนองเจตนาสิ่งที่ไม่ดีก็ได้ ตอนนี้เราจะไปพิสูจน์ได้อย่างไร ใครจะไปรับประกันใครได้ ถ้ามันไม่มีการกระทำที่มาช่วยกำกับให้ชัดถึงเจตนานั้นใช่มั้ย อันนี้ไม่ใช่รับรองได้ยังไง คนที่มาออกความเห็น บางทีผมได้ยินนะ ว่ายังไม่ได้อ่านหมด ยังไม่ได้ฟังหมด แต่ว่าเหมือนกับว่าบางคนไปรับรองเจตนาของศิลปิน ใครไปรับรองใครได้ ใช่มั้ย เราไม่รู้นี่ เราต้องพูดเป็นกลางๆ ก่อน เราไม่รู้แหละ อันนี้ก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง แต่ออกมาผู้เขียนจะมีเจตนาอย่างไร เราไม่สามารถไปรับประกัน เพราะสิ่งที่ดีงามก็มีคนที่สามารถเอาไปใช้ในทางไม่ดีได้ ก็เหมือนกันแหละ ในกรณีอย่างนี้ก็เหมือนกับว่า ภิกษุสันดานกา หรือพระที่ไม่ดีทั้งหลาย ก็ใช้สิ่งที่ดีคือ พุทธศาสนา เป็นเครื่องมือในการทำสิ่งที่ไม่ดี เช่น เพื่อผลประโยชน์แก่ตัวเอง หรือเพื่ออะไรก็แล้วแต่ คือ เจตนาที่ไม่ดี ในทำนองเดียวกัน ศิลปะก็เป็นไปได้ไหมที่ว่า ผู้ที่เขียน ผู้ที่ทำ ผู้ที่ใช้ศิลปะหรือชิ้นงานศิลปะนั้น อาศัยชื่อว่าศิลปะมาทำการหรือใช้สิ่งนั้นเพื่อจุดมุ่งหมายอันใด ก็ในกรณีนี้ก็จะบอกนะ พระที่มาใช้สถาบันพุทธศาสนาในการทำสิ่งที่ไม่ดี แล้วก็ศิลปินที่ใช้ศิลปะของตนเอง ทำการเพื่อจุดมุ่งหมายอะไรอย่างหนึ่ง จะต่างกันอย่างไร ใช่มั้ย ต่างกันมั้ย อ้าวนี่ ก็ลองพิจารณาดู อันนี้ก็เป็นข้อที่ผมเสนอให้พิจารณา ให้เป็นเรื่องสติ ที่รอบคอบขึ้น แล้วก็ปัญญา ก็คือใช้ปัญญาพยายามมองให้กว้าง แง่มุมต่าง ๆ ความรู้ เข้าใจ มองถึงเหตุถึงผล การที่ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วมันจะมีผลกระทบกระเทือนอย่างไร ต้องมองหมด เพื่อความรอบคอบปัญญามันต้องประกอบกับสติ สติมาช่วยเตือนแล้วปัญญามันก็พิจารณา สนองความต้องการให้สตินี้มันได้ผล ก็เรียกว่าความรอบคอบหรือความไม่ประมาท นี่ก็เป็นตัวอย่าง คือหมายความว่า ผมเสนอให้เห็นตัวอย่างว่าในการพิจารณาเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่พูดแง่เดียวชัด ต้องมองกันเป็นขั้น ๆ และก็หลายแง่ ไปมองได้ยังไง โดยมากพูดกันมา ได้ยินพูดปั๊บ ตีไปแง่หนึ่งจบ ตีแง่หนึ่งจบ เหมือนกับยืนยันอะไรต่ออะไรไป เราเองยังไม่รู้ชัดจะไปยืนยันอะไร เราอาจจะต้องพูดมีข้อแม้ว่าถ้าอย่างนั้นมันต้องเป็นอย่างนี้ มันอาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ ทีนี้เราก็ไม่ได้ไปว่า ว่าเขามีเจตนาร้าย เจตนาดีโดยตรง สันนิษฐานเบื้องต้นว่าน่าจะมีเจตนาดี แต่เพื่อความรอบคอบสติปัญญาจะต้องมา แล้วก็ดูว่ามันมีทางเป็นไปได้ แต่อันนึงมันมีทางเป็นไปได้ ถ้าบอกว่าท่านเป็นชาวพุทธนี่ ก็น่าจะมีการพิสูจน์เจตนาดีด้วยการกระทำสืบต่อนั้น ให้เห็นว่าทำเพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ปรารถนาดีต่อสังคมชาวพุทธจริงๆ ใช่มั้ย อันนี้เลยเรื่องนี้กลายเป็นไม่จบ ก็เป็นข้อผูกพันตัวท่านศิลปินเองด้วย ว่าท่านจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อพิสูจน์เจตนาดี แล้วเราก็ไม่ยอมรับการที่ว่าวงการต่างๆ จะมาตัดตัวเองว่าวงการของฉันเป็นอย่างนี้ วงการของฉันเป็นอย่างนี้ วิธีการนั้นควรจะจบไปแล้ว เวลานี้เราควรจะรับผิดชอบสังคม ช่วยกันแก้ปัญหาสังคมที่มันกำลังตกต่ำ อันนี้ก็เป็นขั้นนึงนะ ขั้นความไม่ประมาท ขั้นสติปัญญา ทีนี้ก็อีกขั้นหนึ่ง อีกขั้นหนึ่งก็คือว่า ไหน ๆ เรื่องมันก็เกิดขึ้นแล้ว เราทำอย่างไรจึงจะเอาประโยชน์จากสถานการณ์นี้ได้ ไม่ว่าร้ายว่าดีนี่ สังคมที่ดีจะต้องสามารถเอาประโยชน์ เอามันมาใช้ประโยชน์ให้ได้ ก็ในแง่นี้ก็ ตอนนี้เราก็กลับเป็นว่า เราได้พูดขั้นตอนต้นๆ มาแล้ว ถึงขั้นว่า เราก็ไม่สามารถไปยืนยันอะไรได้เด็ดขาด แต่ว่าถึงอย่างไรมันก็ใช้ประโยชน์ได้ นี้สำหรับฝ่ายผู้ค้านเนี่ย อ้อ ลืมพูดไปเมื่อกี้ด้วยเหมือนกัน เพราะไปพูดซะด้านโน้น ด้านของผู้ค้านที่ออกไปพูด ไม่ต้องพูดถึงว่าไปทำรุนแรงอะไรต่างๆ มันก็เสียความรอบคอบอะไรต่างๆ เป็นที่ตำหนิได้ อีกอันหนึ่งก็คือ ถ้าทำไม่ระมัดระวัง ตัวเองอาจจะเจตนาดีไม่รอบคอบ ก็กลายเป็นว่าไปให้ท้ายพระที่ไม่ดีจริงๆ ซึ่งมีอยู่ หมายความว่าทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายศิลปิน ทั้งฝ่ายพระที่ค้าน หรือว่าวงการชาวพุทธที่ค้าน ถ้าแม้มีเจตนาดีก็อาจจะมีช่องเสียทั้งคู่ ตัวฝ่ายศิลปินนั้น ก็เมื่องานนี้ออกมาแล้ว แม้เจตนาตัวดี เอานะ ในกรณีที่เจตนาของศิลปินดี คนที่มุ่งร้ายต่อพุทธศาสนาเอาไปใช้ประโยชน์ได้มั้ย ได้ใช่มั้ย นี่ก็อันหนึ่งเลย เพราะเจตนาดีนี่ไม่ใช่ปลอดภัยทีเดียว แม้ท่านจะเจตนาดี แต่ว่าท่านต้องระวังไว้ว่า ไอ้สิ่งนี้เขาอาจจะมีคนที่ปรารถนาร้ายต่อพุทธศาสนาเอาไปใช้ในทางไม่ดี แล้วโดยเฉพาะมันเป็นอย่างที่บอกเมื่อกี้ มันเป็นชิ้นงานที่โดดเดี่ยวขึ้นมา มันไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งที่ประกอบมากำกับความหมาย ก็อันตรายมาก แล้วถ้าไปๆ เนี่ย เอ้าถ้ามองอีกชั้นนึงนะ พุทธศาสนาขนาดนี้ก็บอบช้ำมากอยู่แล้ว บอบช้ำอยู่แล้วเนี่ย การกระทำนี้ถ้าหากว่าไม่รอบคอบ อาจจะกลายเป็นการซ้ำเติมพุทธศาสนาก็ได้ เป็นไปได้มั้ย ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณานะ ซ้ำเติมได้นะ มันบอบช้ำอยู่แล้ว คนทั่วไป คนที่ไม่ได้รู้เรื่อง ไม่ได้มีสติปัญญา ไม่พิจารณารอบคอบ แล้วเขาไม่มีตัวกำกับอะไรนี่ มาเห็นชิ้นศิลปะนี้ ได้โอกาสนำมาถล่มพระได้ใช่มั้ย มาถล่มพุทธศาสนา ทำไมเราจึงไปว่าพวกต่างประเทศที่เขามาทำรูปภาพอะไรต่ออะไรไม่ดีใช่มั้ย พวกนั้นก็อ้างศิลปะใช่มั้ย อ้าวทำไมงั้นล่ะ ก็แสดงว่าศิลปะที่ใช้ในทางอย่างนี้มันก็มากระทบกระเทือนต่อพุทธศาสนา ใช้ในทางที่ทำร้ายพุทธศาสนา ท่านต้องระวัง ทีนี้สำหรับพวกต่างประเทศนั้นเราอาจจะมองได้หลายอย่าง แง่หนึ่งที่เราพิจารณา เวลานี้มีบ่อยก็คือว่าในประเทศฝรั่งมีการทำรูปพุทธศาสนาในทางไม่ดีต่อพระพุทธเจ้าบ้างอะไรบ้างนี่ ก็มีแง่ที่ต้องพิจารณาหลายอย่าง แต่อย่างหนึ่งที่มองได้ก็คือ เราต้องมองด้วย คือไม่มองข้าม ก็คือว่า ขณะนี้พุทธศาสนากำลังก้าวมากในประเทศทางตะวันตก ทางยุโรป ทางอเมริกา กำลังก้าวไป พวกที่ไม่พอใจก็มี แล้วพวกที่ไม่พอใจนี้ก็อาจจะแสดงออกอย่างหนึ่ง โดยแสดง โดยที่เหมือนกับเป็นแรงกดดันของตัวเอง ทำอะไรต่ออะไรออกมาโดยที่สักแต่ว่าทำ หรือว่าทำให้มันสาใจ นั่นก็ต้องไม่ลืมมอง ไม่มองข้ามประเด็นนี้ เขาไม่พอใจการที่พุทธศาสนากำลังเจริญก้าวหน้ามาก ในประเทศตะวันตก ก็เป็นปฏิกิริยาออกมา ทีนี้เรื่องนี้ก็พิจารณาได้หลายแง่ อยู่ที่ว่า แต่ว่าอย่างน้อยก็คือว่า ถ้าใช้ทำไม่ดีก็กลายเป็นการซ้ำเติมพุทธศาสนา หรือแม้ท่านไม่ได้ตั้งใจซ้ำเติมแต่คนอื่นเอามาซ้ำเติมก็ได้ใช่มั้ย ทีนี้ในกรณีนี้ก็หมายความว่า นี้เราพูดถึงแม้ว่าเรามีเจตนาดีนะ แม้แต่ผู้เขียนเจตนาดีก็ต้องถือว่าอาจจะไม่รอบคอบ ไม่ได้ใช้หลักความไม่ประมาท เช่นเดียวกับฝ่ายที่ค้าน ถ้าไปค้านโดยที่รุนแรงไป และก็ไม่ได้รอบคอบ ก็เช่นเดียวกัน ก็จะกลายเป็นไปให้ท้ายแก่พวกพระที่เขาเรียกว่าสันดานกาจริงๆ พวกนั้นก็เลยพ้นไป เหมือนกับว่าได้ใจ หรือว่าเหมือนกับพ้นไป เพราะฉะนั้นก็ต้องทำให้รอบคอบทั้งสองฝ่ายแหละ ว่าทั้งคู่ อ้าวทีนี้ก็มาทำอย่างไรจะให้เกิดประโยชน์ ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ก็ หนึ่ง ก็ที่เขาบอกสะท้อนภาพสังคมนั้นมันก็มีประโยชน์ ก็คือสะท้อนภาพปัญหาพุทธศาสนา ในอีกแง่หนึ่ง มันก็อาจจะสะท้อนหลายอย่างล่ะ สะท้อนเจตนาผู้เขียน สะท้อนอะไรต่างๆ อันนั้นเราไม่พูด เราพูดในแง่ที่จะเอามาใช้ประโยชน์ ที่ว่าเพราะว่าเวลานี้ปัญหาของพุทธศาสนามันเยอะ มีความเสื่อมโทรมเยอะแล้ว เราก็มาใช้ประโยชน์ว่า เดี๋ยวนี้นะเราอย่าประมาทนะ อย่างน้อยก็ให้มองว่าพระทั้งหลายอย่างประมาทนะ คนเขามองแล้วมันเป็นช่อง อย่างน้อยเจตนาอย่างไรก็ตาม มันเป็นช่องให้เขาแล้ว ทำให้เกิดช่องที่เขาจะมาโจมตีได้ แม้ไม่ทำภาพอย่างนี้ก็โจมตีอย่างอื่นได้ เพราะฉะนั้นควรจะไม่ประมาท และต้องไปสำทับพระกัน พระที่ดีก็ให้ดำรงอยู่ในความดีแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แล้วก็ไปแก้ไขปัญหาพระที่เลวร้ายทั้งหลาย นี่ก็คือว่าเอาประโยชน์ให้ได้ ทีนี้ อีกด้านนึงก็คือว่า เราก็ต้องมองว่า เรื่องของศิลปะ มันมีความรอบคอบ มันมีผลต่อสังคม อะไรต่ออะไร อย่างไร ถ้ามันมีช่องเสีย เราก็ควรทำให้เกิดความรอบคอบยิ่งขึ้น ปิดช่องเสียนั้นเสีย ไม่ใช่มองแต่แง่เดียวแล้วก็ปล่อยมันไป มันก็จะทำให้อะไรต่ออะไรในสังคมมันดีขึ้น ทั้งในแง่ศาสนา แง่ศิลปะ ผมว่ามันต้องมีการปรับปรุงแก้ไขทั้งนั้น ไม่ใช่ นี้พูดกันไปแง่เดียว ตู๊ม ตูม ตูม ก็เป็นเอกังสวาส เอกังสวาส ก็พูดแง่เดียว ผางลงไปทีเดียว ท่านก็ลองคิดซิช่วยกันคิดซิว่า เราจะเอาประโยชน์จากสถานการณ์นี้อย่างไร ทีนี้ก็พวกที่มากระตือรือร้นนี่แหละ อันนั้นเราพูดกว้างๆ ท่านที่มามีกิจกรรมแสดงออกนี่แหละ ที่จะต้องเป็นผู้นำ หรือเอาจริงเอาจังในการที่จะมาใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ เพราะฉะนั้น เราควรจะถึงกะเรียกร้องเลย พระทั้งหลายที่มาแสดงออกเหล่านี้ต้องช่วยกันแก้ไข ปรับปรุง สถานการณ์พุทธศาสนา ฟื้นฟูอะไรก็แล้วแต่ แล้วก็ทางด้านศิลปินก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ศิลปินท่านผู้นั้นเท่านั้น แต่วงการศิลปินทั้งหลาย จะต้องมาช่วยกันในแง่กอบกู้สังคมนี้ซึ่งไม่ใช่แง่กอบกู้พุทธศาสนาเท่านั้น ซึ่งพุทธศาสนาก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วย เพราะฉะนั้นเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนา ก็มาดูด้วยว่าจะทำกันอย่างไร เพื่อให้เป็นการส่งเสริม สร้างสรรค์ ให้สังคมนี้มันดีขึ้น เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะกรรมการ ก็ควรจะคิดกันต่อว่า เราควรจะทำอะไร เพื่อให้งานศิลปะแบบนี้ ทำนองนี้ ชิ้นนี้ หรือต่อไปข้างหน้า เป็นไปได้ดี เพื่อประโยชน์แก่สังคม แก่พุทธศาสนา แก่การฟื้นฟู สร้างสรรค์ยิ่งขึ้น คิดกันให้ดี ในกาลข้างหน้าด้วย ไม่ใช่มาจบกันแค่นี้ว่าฉันป้องกันตัวได้เสร็จฉันพอใจอะไรอย่างนี้ อ้าว ผมก็ให้ทัศนะไว้อีกขั้นนึงแล้ว ท่านจะว่าอย่างไร
พระนวกะ: ในแวดวงศิลปะช่วงปี 37-38 ยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ลงเรื่องศิลปินขายภาพราคาแพงๆ ถูกวิจารณ์ว่าขายจิตวิญญาณหากิน เขาก็เลยเอาภาพอนุสาวรีย์ อาจารย์ศิลป์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ไปขึ้นหน้าหนึ่งแล้วก็เขียนฐานอนุสาวรีย์ว่าฟอสซิล ใช้เวลาติดที่ภาพเขียน
พระพรหมคุณาพรฯ : เรียกว่า ตีกันแรงพอสมควร ก็เตือนสตินั่นแหละ
พระนวกะ: คล้ายๆ ว่า ใจเขาใจเราเหมือนกัน ตอนทีเรา เราไม่นึกถึงเขา
พระพรหมคุณาพรฯ : เออ นี่ ไม่มีใครเอาเรื่องนี้มาเตือนนะ เอาเรื่องนี้มาเตือนสติว่า นี่ศิลปิน โดนเข้าก็หนักเหมือนกัน ใช่ อาจารย์ศิลป์ ก็เป็นผู้ปั้นพระพุทธรูป หลวงพ่อพุทธลีลา ที่พุทธมณฑล อ้าว ผมพูดไปยังมีแง่อะไรที่ควรจะเตือน ก็ช่วยกันด้วย ก็เป็นอันว่า 3 ขั้นนะ
แล้วก็ไปอันที่ 3 ก็คือว่า เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราจะเอามันมาใช้เป็นประโยชน์อย่างไร ครบแล้ว อ๋อว่ากันไป เอ้า ใครมีความเห็นอย่างไรก็คุยกันบ้างซิครับ