แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
คำถาม : ขอถาม 2 คำถาม คำถามแรกนี่มีข้อสงสัยว่าที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อบอกว่า บุคคลนิพพานทำการเพื่อโลก นี่ ทีนี้พอไปทางมหายาน เขาบอกว่าคติพระโพธิสัตว์เขาคือ กระทำการเพื่อโลกก่อน แต่ว่ายังไม่ต้องนิพพานก็ได้ พระโพธิสัตว์นี่คือยอมไม่นิพพาน ถามในแง่ที่อยากทราบว่า คติอย่างนี้ที่มาที่ไปยังไง แล้วก็มันมีความหมายในเชิงสังคมยังไง
อีกคำถามหนึ่ง จะถามตรงไปเรื่องเศรษฐกิจ ที่เมื่อกี้พระเดชพระคุณหลวงพ่อพูดเรื่องรัฐบาลกำลังหาความสุขจากเสพ ก็มีความสุขได้ยากขึ้น แล้วมีโอกาสได้อ่านหนังสือพุทธศาสนากับโลกธุรกิจ ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อให้สัมภาษณ์นักหนังสือพิมพ์ชาวเยอรมัน ตอนนี้กำลังจะเริ่มอ่านเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อเขียนไว้ ในพุทธศาสนากับโลกธุรกิจนี้ เท่าที่ผมจับความได้ก็คือว่า พระเดชพระคุณหลวงพ่อก็วิเคราะห์วิชาเศรษศาสตร์ที่เป็นพื้นฐาน ปัจจุบันนี้โลกของเรานี้ก็เรียกว่าขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจซะมาก เป็นตัวหลักเลย แบบทุนนิยม พอเป็นแบบนี้ หลักวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เป็นพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจในโลกที่เป็นทั้งหมดอยู่นี่ มันมีพื้นฐานมาจากการแข่งขัน จะใช้อีกคำหนึ่งก็คือ จะเรียกว่าแก่งแย่งกันก็ได้ ตรงนี้พอดีกำลังจะเริ่มอ่าน ศาสนาแนวพุทธ ก็เลยอยากจะขออรัมภบทจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อ แนววิเคราะห์ไปด้วย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : โมทนา แต่จะตอบไหวหรือเปล่า คำถามเดียวนี้ก็ใหญ่นะ เรื่องพระโพธิสัตว์เรื่องเดียวก็เรียกว่าใช้เวลากันเป็นชั่วโมง มันยากเหมือนกันนะ กลายเป็นว่าต้องรู้เรื่องราวความเป็นมา คือเรื่องพระโพธิสัตว์นี่ถ้าเราจะเข้าใจชัด เราก็ต้องรู้เรื่องหลักการเดิม ใช่ไหม ว่าความหมายเดิมของพระโพธิสัตว์คืออย่างไร พระโพธิสัตว์ก็มีมาแต่เดิม ตั้งแต่ในพุทธศาสนาดั้งเดิม ที่พระพุทธเจ้าก่อนที่ตรัสรู้ พระองค์ก็เป็นพระโพธิสัตว์ เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสสอนแสดงธรรมที่มีในพระไตรปิฎกเนี่ย เวลาพระองค์ตรัสถึงพระองค์เอง ก่อนที่จะตรัสรู้เนี่ย พระองค์ก็เรียกพระองค์ว่าเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ ฉะนั้นต่อมาเมื่อมีการเทศน์ มีการแสดงธรรมมากมาย เรื่องมันยืดยาวไปก็ย้อนว่าแม้แต่ก่อนที่จะมาประสูติในชาตินี้ อ้าว เคยเกิดมาๆๆ แล้วตอนนั้นถ้าเริ่มที่จะตั้งใจจะเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว คิดจะบรรลุธรรมแล้ว จะเป็นพระพุทธเจ้า ตั้งใจขึ้นมา แล้วในขั้นตอนของการนี้ก็คือว่าตอนนั้นจะเริ่มบำเพ็ญบารมี แล้วก็จะเป็นพระโพธิสัตว์ กลายเป็นว่าพระพุทธเจ้าเนี่ย ก่อนตรัสรู้ เมื่อได้เริ่มเพียรพยายามที่จะก้าวไปสู่การตรัสรู้ ระยะระหว่างนั้น ก่อนตรัสรู้ทั้งหมดเรียกว่าพระโพธิสัตว์ ก็แปลว่าสัตว์ผู้มุ่งโพธิ ก็มาจาก โพธิสัตต สัตตะก็หมายถึงคนนี่แหละ คือภาษาบาลีไม่ได้รังเกียจคำว่าสัตว์ แต่ภาษาไทยนี่มารังเกียจ สัตว์นี้ท่านหมายถึงคนก่อนเลยนะ เวลาพูดถึงสัตว์ปั๊บ ต้องนึกถึงคนก่อน เช่น มหาสัตว์ ก็คือมหาบุรุษ พระโพธิสัตว์ก็คือสัตว์ผู้มุ่งตรัสรู้ ทีนี้คำว่าสัตว์ก็เป็นธรรมดา สัตว์ผู้มุ่งตรัสรู้ ทีนี้โพธิสัตว์ ทีนี้ก็ เอาล่ะ ความหมายเดิมก็คือก่อนตรัสรู้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสในความหมายอย่างนี้ หนึ่ง-โพธิสัตว์ยังไม่ได้ตรัสรู้ เมื่อเป็นอย่างนี้พระองค์ก็เป็นปุถุชน
ทีนี้พระพุทธเจ้าเล่าเรื่องพระโพธิสัตว์มานี่ พระโพธิสัตว์จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ ก็ต้องเพียรพยายาม ท่านเรียกว่าบำเพ็ญบารมี ถ้าพูดภาษาสมัยใหม่ในความหมายง่ายๆ อย่างหนึ่งก็คือพัฒนาตน พัฒนาปัญญานี่เป็นใหญ่ที่สุด พัฒนาปัญญาได้ ก็ต้องพัฒนาฌาน ก็ต้องพัฒนาศีล หรือพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา รวมแล้วก็คือเพื่อให้ได้ปัญญา จนกระทั่งได้ตรัสรู้ได้ เพราะโพธินั่นก็ปัญญา แทบจะเป็นปัญญาขั้นที่เรียกว่าตื่นโพลง รู้ความจริงของสัจธรรม นี่ถ้าเป็นปัญญาธรรมดาก็ใช้กว้างๆ หมด รู้อะไรก็ปัญญาเหมือนกัน ปัญญาที่ถึงขั้นท่านเรียกโพธิ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็บำเพ็ญเพียรพยายามมา ตอนนั้นยังไม่ได้ตรัสรู้ ก็เป็นพระโพธิสัตว์ หนึ่งล่ะ ต่อมาก็เพื่อมาสอนคนให้ทำความดี ก็เลยยกตัวอย่างว่าพระโพธิสัตว์ในระหว่างที่เพียรพยายามทำความดี บำเพ็ญบารมีอะไรต่างๆ มาเพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้านี่ ท่านต้องตั้งใจจริง ขนาดเสียสละชีวิต ขนาดเสียสละอวัยวะ ทำทุกอย่างด้วยความเพียรอย่างยิ่ง ท่านต้องทำต้องสู้เต็มที่เนี่ย ท่านก็สู้ได้ เอาเป็นว่าพระโพธิสัตว์ท่านบำเพ็ญบารมีอย่างยวดยิ่งเลย เสียสละชีวิตก็ได้ ทีนี้คนเรา พระพุทธเจ้าก็สอนให้ทำความดี ให้เว้นความชั่ว แต่คนทั่วไปยังอ่อนแอ บางทีพอไปเจอเรื่องยากเข้า ก็ท้อใจ จะทำความดี หรือว่าไปเจอสิ่งยั่วยวน ล่อเร้า ก็จะละเมิดทำชั่ว พระพุทธเจ้าก็เลยเล่าเรื่องของที่จะเป็นแบบอย่างที่เสียสละ เพียรพยายามเหลือเกินเนี่ย ทำความดีได้สำเร็จมา ก็คือผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ก็คือพระองค์นี่แหละ ก่อนที่จะตรัสรู้ เมื่อเราพูดเรื่องชาติก่อน ก็เลยเล่าว่าสมัยก่อนนี้ เคยทำความดีอย่างนี้ เคยประสบปัญหาถูกคนแกล้งอย่างนั้น ทำความดีเขาก็แกล้งนะ พระพุทธเจ้านี่ถูกแกล้งอย่างหนักเลย พระพุทธเจ้าก็ไม่ท้อ แล้วก็ไม่เบียดเบียนเขา พระองค์ก็ยืนหยัดในความดี จะต้องชนะเขาด้วยความดี ชนะโดยธรรม พระพุทธเจ้าก็ต้องเอาพระโพธิสัตว์นี้มาเป็นตัวอย่าง เพื่อเล่าให้คนเกิดกำลังใจ ที่จะ หนึ่ง- ละชั่ว ทนทานที่จะไม่ถูกชักจูงไป สอง-ในการทำความดีอย่างไม่ท้อถอย พระพุทธเจ้านี่สละชีวิตเพื่อเขาได้ อย่างพระองค์นี่เคยไปเกิดเป็นวานรก็คือลิง ไปเจอนายคนหนึ่งหลงป่า พระองค์ก็มีกรุณา ก็เอามาช่วยเขา อุตสาห์พาออกจนพ้นป่า เจ้าคนนี้มันนึกถึงว่ามันก็หิวเหมือนกัน แต่ลิงหรือพญาวานรนี่ก็ช่วยให้ได้กินอาหารไปพอปะทะปะทัง แต่แกไม่รู้จักพอ แกก็นึกว่าเจ้าลิงตัวนี้มันเนื้อมันดี เราพ้นจาป่านี้ไปได้ก็ฆ่ามันกินเนื้อมันเลย ก็เลยคิดอุบาย ตอนนี้ก็ต้องอาศัยมันพาพ้นป่าไปก่อน พอพ้นป่าได้ก็เพลียด้วยกัน ก็นอนหลับ พอนอนหลับ เจ้าคนนี้ เจ้ามนุษย์ซึ่งร้ายกว่าลิง ก็ไปหาก้อนหินมา จะมาทุ่มหัวมัน จะให้มันตาย แต่เจ้าลิงนี้เป็นลิงโพธิสัตว์ ปัญญาไว แล้วก็สติดี ตื่นไว ก็ตื่นรู้ทัน รู้ทันก็หลบได้ หลบได้แล้วก็ลุกขึ้นมาพูด ก็เลยสั่งสอนมนุษย์ซะ พญาวานรก็เลยสั่งสอนคน แต่พระองค์ไม่ใช่ไม่ถูกนะ ถูกก้อนหินนั้นบาดเจ็บเหมือนกัน ก็ช้ำไป แต่ก็ไม่ทำอันตราย ก็บอกว่าก็ขอให้ท่านเดินทางต่อไปโดยสวัสดี แต่ว่าก็ให้รู้ว่าคนเรานี้ควรปฏิบัติต่อกันยังไง แม้แต่กับสัตว์ทั้งหลาย หรือว่าก็ควรจะมีเจตนาที่ดี มีน้ำใจต่อกัน ไม่เบียดเบียนกัน พระองค์สอน อย่างนี้เป็นต้น พระองค์ก็จะต้องเล่าเรื่องแบบนี้ของพระโพธิสัตว์มาเป็นตัวอย่างให้คนเกิดกำลังใจที่จะทำความดี อย่างที่ว่านี้ ก็เป็นอันว่าเรื่องพระโพธิสัตว์ หนึ่ง-ก็คือท่านที่ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นปุถุชนอยู่ บำเพ็ญความดี เรียกว่าบารมีอย่างเต็มที่ เพื่อจะได้เป็นพระพุทธเจ้า สอง-การเล่าเรื่องพระโพธิสัตว์นั้นก็เพื่อเป็นตัวอย่างที่จะกระตุ้นเตือนจิตใจของคนทั่วไป ให้เกิดกำลังใจ และเห็นแบบอย่างในการทำความดี นี่สองอย่าง แล้วพยายามทำตัวเป็นพระโพธิสัตว์บ้าง ให้ทำความดีอย่างพระโพธิสัตว์ นี่เข้าใจนะข้อที่หนึ่ง ต่อมาเมื่อเราได้รู้ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ผูกขาด ไม่มีตำแหน่งผูกขาดว่าพระพุทธเจ้าองค์นี้เท่านั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสบอกว่า ในสังสารวัฏที่เวียนว่ายตายเกิดกันไปเนี่ย พระพุทธเจ้าก็ไม่ใช่องค์เดียวหรอก โลกมันเปลี่ยนแปลงไป มันก็เปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัย ยุคของพระพุทธเจ้าองค์นี้สิ้นไปแล้ว ไม่มีคนรู้จัก โลกมันเจริญไป ต่อมาคนประพฤติผิดอะไรต่างๆ ไม่ดี ก็มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติอีก ก็จะมีพระพุทธเจ้าเกิดมาอย่างนี้เรื่อยไป นี่ถ้าเราพูดในแง่หนึ่งก็ไม่ผูกขาด ความเป็นพระพุทธเจ้าก็อยู่ที่เรื่องของการพัฒนาตัวเองให้เกิดปัญญานั้น ตามความหมายที่ว่าได้บรรลุธรรมด้วยตัวเอง แล้วก็สามารถสั่งสอนทำประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ เรื่องก็เป็นอย่างนี้ ก็เลยว่าเราก็เลยมีตัวอย่างรายนามพระพุทธเจ้า รายพระนามพระพุทธเจ้าเยอะแยะไปหมด อย่างเราเรียกกันพระพุทธเจ้า 25 พระองค์ พระพุทธเจ้า 27 พระองค์ อะไรอย่างนี้นะ เยอะไปหมด ก็จะให้เห็นว่าพระพุทธเจ้านี้มีมาเยอะ แล้วนี่เป็นเพียงตัวอย่าง ยังมีอีกเยอะแยะ แล้วเมื่อพูดถึงพระพุทธเจ้า แล้วก่อนนั้นพระองค์ก็เป็นโพธิสัตว์หมด ตกลงก็เลยกลายเป็นว่าพระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าแต่ละองค์ก็มีพระโพธิสัตว์มาก่อนนั้น ซึ่งอาจจะเกิดมาไม่รู้กี่ชาติ เอาละ นี่คือหลักการ ทีนี้ต่อมาพระพุทธศาสนาก็เจริญงอกงามขึ้นมาในประเทศอินเดีย ประมาณ 400-500 ปี ศาสนาพราหมณ์ เมื่อพุทธศาสนาเกิดขึ้นเจริญ นี่แกก็ฟุบ เหี่ยวแห้ง แย่ลงไป จนกระทั่งว่าแกก็หาทางที่จะฟื้นฟู เรียกง่ายๆ ว่าจะยึดอำนาจคืน เพราะว่าพราหมณ์สูญเสียอำนาจ สูญเสียความยิ่งใหญ่ สูญเสียสถานะ พระพุทธเจ้าให้เลิกบูชายัญ ซึ่งเป็นตัวทำลายผลประโยชน์อย่างยิ่ง ของศาสนาพราหมณ์ สอง-ให้เลิกถือวรรณะ ก็เป็นการทำลายสถานะความยิ่งใหญ่ของพราหมณ์ ที่ถือตัวว่าเป็นวรรณะสูงสุด หมดเลย หลักการของพระพุทธเจ้าก็เปลี่ยนหมด พรหมที่เป็นใหญ่ สร้างโลก ก็กลายเป็นว่า ธรรมะสูงสุด พระพรหมเป็นเทพไม่ได้สูงสุด ต้องอยู่ใต้ธรรมะ ที่ว่าเป็นหลักการสูงสุดเปลี่ยนไม่ได้ ก็กลายเป็นพระพุทธเจ้าคัมภีร์ไตรเวท ไม่ได้นับถือ ให้อยู่ที่มนุษย์ที่ต้องแสวงหาความจริงด้วยหลักการสิกขา พัฒนาให้เกิดปัญญาอะไรต่างๆ ทีนี้แกก็เกิดความ พูดได้ง่ายๆ ก็แค้น หาทางที่ว่าจะกำจัดพุทธศาสนา แล้วยิ่งมาพรเจ้าอโศกถึงกับไม่ใช่แค่สอน พระพุทธเจ้าแค่ทรงสอน อย่าไปเบียดเบียนสัตว์เลย บูชายัญกัน จะทำให้เกิดการทำลายชีวต เราควรจะบำเพ็ญบูชายัญด้วยการที่เสียสละช่วยเหลือกันในสังคมแล้วเนี่ย ทีนี้พระเจ้าอโศกไม่ใช่แค่นั้น ไม่ใช่ทรงสอน พระองค์เป็นนักปกครอง เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แม้จะอุปถัมภ์ศาสนาต่างๆ เหมือนกัน ไม่มีเบียดเบียนใคร แต่ว่าเรื่องการปกครองก็เป็นการปกครอง พระองค์ไม่ต้องการให้เบียดเบียนชีวิต ก็เขียนประกาศเลย ในสมัยนั้นใช้ศิลาจาลึกนะ ก็จะปรากฏเยอะเลย ในถิ่นนี้มิให้มีการฆ่าสัตว์บูชายัญ เอาล่ะสิทีนี้ มันก็คือการไปห้ามศาสนาพราหมณ์ล่าสัตว์บูชายัญ คราวนี้มันเป็นเรื่องของการปกครอง แล้วพราหมณ์ก็ไม่มีสิทธิพิเศษ ก็แล้วแต่คนมีคุณสมบัติ มีปัญญาดี ท่านก็รับเข้าราชการ ก็มีความสามารถยังไงก็ว่ากันไปตามนั้น ทีนี้พราหมณ์ก็หาทางกำจัดราชวงศ์นี้ พอถึงเหลนหลานได้โอกาสก็เลยคบคิดกันกำจัด ฆ่าเหลนของพระเจ้าอโศกมหาราช แล้วพราหมณ์ก็ขึ้นครองตั้งวงศ์ใหม่เรียกว่าราชวงศ์ศุงคะ พราหมณ์ชื่อ ปุษยมิตร ก็ขึ้นเป็นกษัตริย์ องค์แรกของราชวงศ์นี้ แล้วก็ฟื้นฟูการบูชายัญเลยทันที ศาสนาพราหมณ์ วรรณะ ก็กลับมาหมด แล้วก็พยายามกำจัดพุทธศาสนา ทีนี้ศาสนาพราหมณ์ก็พยายามฟื้นฟูว่าจะทำยังไงตัวเองจะอยู่ได้อย่างดี ก็เห็นว่าคำสอนพุทธศาสนานี้ มีจุดแข็งมาก ก็ต้องหาทางเอาจุดแข็งในพุทธศาสนานี่ไป ก็ศึกษาเอาหลักพุทธศาสนาไปใช้ในศาสนาพราหมณ์ ตอนนี้พัฒนานเป็นฮินดู ยุคศาสนาฮินดูก็เกิดขึ้น ในช่วงระยะที่ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศก เขาเรียกถือว่าเป็นยุค classical hindu ก่อนนั้นเรียกว่าศาสนาพรหมณ์ ศาสนาอินดูก็คือศาสนาที่ฟื้นฟูตัวเองเพื่อจะมาทำให้เข้มแข็งขึ้นมา สู้กับพุทธศาสนา เป็นต้นได้ ทีนี้ศาสนาฮินดูเกิดขึ้นมาได้ก็เอาหลักพุทธศาสนาไปใช้ด้วย จนกระทั่งว่ามาสู้กันด้วยหลักอหิงสา แต่ก่อนนี้เคยฆ่าสัตว์บูชายัญ ตอนหลังศาสนาฮินดูถึงกับว่าไม่กินเนื้อสัตว์ เป็น vegetarian เลย เป็นมังสวิรัติ ซึ่งศาสนาพราหมณ์ให้ฆ่าสัตว์บูชายัญ จะมาไม่กินเนื้อสัตว์ได้ยังไง เดินนะ ก็เปลี่ยนมาเป็นถึงขนาดนี้ เพื่อแข่งพุทธศาสนา เอาหลักธรรมอะไรต่ออะไรไป เขาก็ฟื้นฟูตัวเองมา ทีนี้พอศาสนาฮินดูเข้มแข็งขึ้น แล้วเขาตั้งตัวเป็นกษัตริย์ อะไรต่ออะไร เขาก็ใหญ่ด้วย พุทธศาสนายุคหลังนี่ก็พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้อยู่แล้วด้วย ใช่ไหม ความสามารถก็ชักน้อยลง ทีนี้พระส่วนหนึ่งก็ยังยืนหยัดที่จะสอนหลักการเดิม ทีนี้พระอีกส่วนหนึ่งก็เห็นว่าสู่กับศาสนาฮินดู ศาสนาฮินดูเขามีเทพเจ้าให้บูชา มันสนองความต้องการของคนจำนวนมาก ที่เอาง่ายๆ ชอบบูชา บวงสรวง อ้อนวอน หมายความว่าอยากได้อะไรก็ไปหาเทพเจ้า แล้วก็บูชายัญ ก็คือบวงสรวงอ้อนวอนเอา เมืองไทยยังชอบเลยใช่ไหม นับถือพุทธศาสนานี้ ดูสิเนี่ย แล้วในอินเดียจะไม่ชอบยังไง เขามีพื้นอย่างนั้นอยู่ ศาสนาฮินดูเขาก็เป็นช่องง่ายนี่ มีเทพเจ้าต่างๆ ให้บูชายัญ ให้บวงสรวงอ้อนวอน แล้วก็สร้างเทพเจ้าใหม่ในยุค classical hindu แต่เดิมมีแต่พระพรหม ตอนนี้เขามีพระวิษณุคือนารายณ์ แล้วก็พระอิศวร เรียกว่าพระศิวะ ยุค classical hindu เกิดเทพเจ้าใหญ่ขึ้นมาอีก 2 องค์ ซึ่งต่อมานี้เหนือกว่าพรหม 2 องค์นี้เขาถือว่าใหญ่กว่าพรหมณ์นะ แล้ว 2 อันนี้ก็แข่งกันเป็นคนละนิกาย เป็นวิษณุ นิกายไวษณพ นิกายพระนารายณ์ แล้วก็นิกายไศวะ นิกายพระศิวะ พระอิศวร แล้ว 2 นิกายนี้ก็แข่งกัน เมื่อ 2 นิกายนี้แข่งกันใหญ่ แล้วก็มีการนับถือเทพเจ้าอะไรต่างๆ ก็ให้มีความภักดี ลัทธิของเขาก็ยิ่งย้ำเรื่องนี้มากขึ้น ทีนี้พระส่วนหนึ่ง โอ้โห จะทำไงดี ใช่ไหม ก็เห็นว่าพวกศาสนาฮินดู ชาวบ้านเขามีเทพเจ้าให้อ้อนวอน ก็เลยได้รับความเชื่อถือ มีคนนิยมมาก เอ เราจะทำยังไง เราไม่มีอะไรให้อ้อนวอน ก็มาช่วยหน่อย เราต้องใช้ความเพียรพยายามตัวเอง ต้องใช้สติปัญญาพัฒนาชีวิตของตัวเองให้ดี เอ จำทำไงจะสู้ศาสนาฮินดูได้ พระพวกหนึ่งก็เลยคิดว่า เรามีคติโพธิสัตว์อยู่ พระโพธิสัตว์นี่ก็คือท่านที่มีความเพียรพยายาม มีน้ำใจช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ จนกระทั่งสละชีวิตของตัวเอง เพื่อผู้อื่นได้ อย่างพญาวานรเมื่อกี้ สละชีวิตของตัวเองเพื่อคนนั้นก็ได้ เราก็มีหลักนี้อยู่นี่ เพราะฉะนั้นเราก็เอาหลักพระโพธิสัตว์นี้มาฟื้นฟูดูสิ เอาเลยทีนี้ว่า เอาพระโพธิสัตว์ขึ้นมาตั้ง ว่าพระพุทธเจ่าก่อนที่จะบรรลุโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้านี้ เป็นพระโพธิสัตว์มาก่อน แล้วพระโพธิสัตว์นี่มีมหากรุณามาก บำเพ็ญบารมีช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลาย ไม่เห็นแก่ทุกข์ร้อนของพระองค์เอง เอาละทีนี้ ก็จะพร้อมมาช่วยแล้ว พวกเราก็มีเหมือนกันนะ ไม่ต้องรอเทพเจ้ามาช่วย พระโพธิสัตว์ช่วยได้ ทีนี้จุดยืนมันเปลี่ยน พอพระโพธิสัตว์นี้จะมาช่วย คนนี่แทนว่าจะเอาอย่างพระโพธิสัตว์ในการทำความดี คติเดิมพระโพธิสัตว์ท่านทำความดีด้วยความเพียร เสียสละอย่างยิ่ง เราจะต้องทำอย่างท่านบ้าง ใช่ไหม นี่คือทำความเพียรอย่างท่าน เสียสละอย่างท่าน ทำความดีให้เต็มที่อย่างท่าน แต่ตอนนั้มันกลายเป็นว่าพระโพธิสัตว์ท่านใจดี ท่านพร้อมจะช่วยเรา แทนที่เราจะทำความดีอย่างท่าน กลายเป็นว่าไปขอให้ท่านช่วยเหลือ มันกลับตรงนี้แหละ พระโพธิสัตว์ฟื้นใหม่คราวนี้ คติมันกลายเป็นว่า มาตอนแรกพระที่ท่านพัฒนา คตินี้ท่านก็รู้คติเดิมอยู่ ในด้านหนึ่งท่านก็สอนด้วยว่าให้เราพยายามทำตัวเป็นพระโพธิสัตว์ แต่สำหรับคนทั่วไปไม่ใช่พระโพธิสัตว์ เทพเจ้าฮินดูว่าท่านพร้อมจะมาช่วยพวกเรา สำหรับชาวบ้านก็เป็นที่มาอ้อนวอนขอสิ ใช่ไหม นี่แหละคติมันจึงเปลี่ยน จนกระทั่งพระโพธิสัตว์นี่กลายเป็นที่อ้อนวอน นี่มันเปลี่ยนมาอย่างนี้ แล้วทีนี้พระโพธิสัตว์เพื่อให้เห็นว่าท่านเป็นมหากรุณามาก ก็พัฒนาความคิดจนกระทั่งว่าพระโพธิสัตว์นี่ท่านจะบรรลุนิพพานได้แล้ว แต่ท่านยังไม่บรรลุหรอก เพราะท่านจะไม่เข้านิพพาน เพราะท่านต้องการที่จะมาช่วยพวกเราก่อน มีมหากรุณายิ่งใหญ่เพื่อย้ำความมีมหากรุณาเข้าไป แต่ทีนี้คติธรรมดาของธรรมชาตินี่ เมื่อคนเราบรรลุนิพพานมันก็คือนิพพาน จะรอว่าฉันจะรอไม่เข้านิพพาน ทีนี้ท่านก็ต้องมาพัฒนาทฤษฎี กลายเป็นว่าพระโพธิสัตว์นี้ไม่ใช่เพียงว่าเป็นผู้ที่ยังไม่บรรลุนิพพาน ยังไม่รู้ ยังไม่มีปัญญาถึง กำลังพัฒนาอยู่ แล้วก็ยังไม่บรรลุนิพพาน ถ้ากลายเป็นว่าท่านมีความสามารถมีคุณสมบัติพร้อมบรรลุนิพพานได้ แต่ท่านยั้งตัวเองไว้ไม่ให้บรรลุ มันกลายเป็นอย่างนั้นไป นี่แหละเรื่องมันก็อย่างนั้น ทีนี้ถ้ามองในแง่ของเรา เราก็ถือว่ามันผิดธรรมชาติ ความจริงมันก็เป็นความจริง เมื่อเราบรรลุนิพพานก็คือบรรลุนิพพาน ใช่ไหม จะไปถอยไปถอน ไปรั้งรอได้ยังไง ทีนี้ถ้าตัวเองยังไม่บรรลุนิพพานจริง ก็คือยังมีปัญญาไม่เต็มที่ เมื่อเป็นปัญญาไม่เต็มที่ การที่จะช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลายมันจะมีจุดอ่อน ข้อบกพร่อง ท่านคิดว่าบกพร่องอะไร หนึ่ง-ปัญญาไม่เต็มที่ ก็ตัดสินได้เลย เมื่อบุคคลยังมีปัญญารู้แจ้งโลกและชีวิตไม่สมบูรณ์ ก็จะรู้เข้าใจอะไรเป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์ไม่เต็มที่ด้วย จริงไหม พระพุทธเจ้ารู้ชัดว่าอะไรจึงจะเป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์ในขั้นสูงสุดเลย ทีนี้เมื่อพระโพธิสัตว์ยังไม่ได้มีปัญญาพระโพธิญาณ ท่านก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์แท้จริงไม่เป็นประโยชน์แท้จริง ท่านอาจจะมาช่วยผิดก็ได้ เหมือนพระโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้าองค์นี้ ตอนที่ก่อนตรัสรู้ บางชาติท่านก็บรรลุฌานสมาบัติ แบบฤษีชีไพร แล้วท่านก็สิ้นชีวิต ก็ไปเกิดเป็นคนบนโลก ซึ่งเมื่อมาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์คงจะบอกผิด เพราะคิดว่าบำเพ็ญฌานสมาบัตินี่ นึกว่าสมบูรณ์แล้วใช่แล้ว พระโพธิสัตว์นี่ก็เป็นปุถุชนที่ดีที่สุด แต่ท่านก็เป็นปุถุชนอยู่นั่นแหละ หนึ่งการกระทำความดีของท่าน ทำด้วยปณิธานที่ตั้งใจจะเป็นพระพุทธเจ้า ท่านยังไม่บรรลุนิพพาน ท่านยังไม่หมดกิจของตนเอง ท่านยังไม่ใช้ว่าเป็นผู้ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเอง ท่านไม่ใช่อย่างนั้น ท่านกำลังต้องทำเพื่อตัวเองเต็มที่เพื่อบรรลุนิพพาน เพียรบำเพ็ญบารมี ท่านยังไม่สมบูรณ์ ฉะนั้นที่ท่านทำความดี ไม่ได้ทำความดีแบบพระอรหันต์ พระพุทธเจ้า ท่านทำความดีด้วยปณิธาน อันว่าท่านตั้งใจว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า ส่วนพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ท่านทำความดีเพราะท่านไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเอง แยกได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นไม่เหมือนกัน ฉะนั้นพระโพธิสัตว์จะทำด้วยแรงของปณิธาน ความตั้งใจ เสียสละชีวิตอะไรต่ออะไร ซึ่งบาง??? ก็ไม่ถึงกับเป็นตัณหา เป็นฉันทะนี่แหละ แต่ว่าเรี่ยวแรงที่ทำคล้ายมันยังไม่พ้นตัณหา คล้ายๆ กับตัณหายังแทรกได้อยู่ ก็หมายความว่าฉันทะอาจจะยังไม่บริสุทธิ์ แล้วก็อย่างที่ว่า หนึ่ง-ท่านทำความดีไม่ใช่ท่านหมดกิจเพื่อตัวเอง แต่ท่านทำด้วยปณิธาน สอง-ท่านมีปัญญายังไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท่านรู้เข้าใจว่าเป็นประโยชน์ หรือเป็นโทษแก่ชีวิตเป็นต้น ท่านก็ยังไม่แจ่มแจ้งหมด ฉะนั้นความพลาดก็มีได้ เพราะฉะนั้นก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ ทีนี้พระโพธิสัตว์ของมหายานก็เลยกลายเป็นว่าความหมายเหมือนกับกำกวมอยู่ บางทีก็เหมือนว่าผู้ยังไม่ตรัสรู้เต็มที่ บางทีก็บอกตรัสรู้เหมือนพระพุทธเจ้าได้แล้วแต่ว่ายั้งตัวเองไว้ไม่ยอมบรรลุนิพพาน ซึ่งมันก็มีแง่เถียงกันทั้งนั้นแหละ เอาละ พอเข้าใจใช่ไหม รู้ว่าเหตุผลเป็นมายังไง ให้รู้ความแตกต่างด้วย ระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระโพธิสัตว์