แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ขอเจริญพรโยมญาติมิตรผู้ที่สนใจใฝ่ธรรมทุกท่าน ขออนุโมทนาโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาสุขภาวะและชุมชนเรียนรู้จินตปัญญาอย่างมีส่วนร่วม ที่ได้มีความดำริเป็นกุศล ปรารภวันมงคลที่โยมคุณหมอคุณสาคร ธนมิตต์ ท่านจะมีอายุครบ 80 ปี แล้วก็จัดรายการที่เป็นกุศลนี้ขึ้น ทั้งเป็นการแสดงมุทิตาจิตแก่ท่านเจ้าของวันเกิด แล้วก็เป็นการแสดงมุทิตาจิตนั้นด้วยกุศลวิธี คือวิธีการที่จะทำให้เกิดประโยชน์แผ่กว้างออกไปด้วย คือการจัดรายการที่จะทำให้เกิดความเจริญงอกงามทางธรรมทางปัญญาแก่ประชาชน ทีนี้สำหรับเรื่องที่จะบรรยาย ท่านก็เขียนไว้กว้างๆว่าเป็นการบรรยายธรรมเรื่องแนวทางการพัฒนาสุขภาวะ ก็สุดแต่จะพูด อาตมาภาพก็จำได้ว่าเมื่อ 4 ปีก่อนโน้น โยมคุณหมอก็ได้นิมนต์ไว้ แล้วก็ผลัดท่านมานี่ 4 ปีแล้ว ก็จำได้ว่าเป็นเรื่องความสุข ซึ่งเป็นชื่อเรื่องง่ายๆ แม้จะทำได้ยาก ทีนี้ก็เลยจำติดมา เอาเป็นว่าใช้ชื่อเรื่องนี้แหละ คือไม่ต้องไปตั้งใหม่อะไร ตามที่ได้ยินว่าเรื่องความสุข ก็เอาเรื่องที่ง่ายที่สุดนี้ ทีนี้เรื่องความสุขที่จะพูดนี้ ความจริงนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่บอกอย่างเมื่อกี้ว่าทำยาก แล้วเป็นเรื่องใหญ่เหลือเกิน ว่ากันไปแล้วในแง่หนึ่งเราพูดได้เป็นเรื่องทั้งหมดของพุทธศาสนาก็ได้ ที่นี้ก็ต้องเป็นเรื่องที่ขอทำความเข้าใจกัน เป็นการออกตัวไว้ก่อนแต่ต้น คือในฐานะที่เป็นเรื่องใหญ่ คิดจะพูดกันจริงๆ เนี่ย ต้องใช้เวลา 5-10 ชั่วโมง ไม่น้อยกว่านั้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ก็จะต้องพูดกันเฉพาะเป็นหลักๆ เพราะฉะนั้นก็อาจจะไม่สามารถอธิบายในรายละเอียดให้ชัดเจนไปได้มากนัก ก็มุ่งเอาที่ตัวหลักให้เห็นรูปร่าง เค้าโครงอะไรทำนองนี้ไว้ แล้วก็เลยเอาใบแสดงหัวข้อสั้นๆ ให้ท่านที่ร่วมในการจัดรายการ เผื่อจะแจกญาติโยมดู ไม่ทราบแจกหรือยัง ถ้าแจกแล้วก็คิดว่าพูดตามนั้นแหละ แล้วก็ถ้าพูดไม่ครบก็จะได้ทวงได้ ว่าหัวข้อไหนยังไม่ได้พูด ประการต่อไปก็คือว่าในเมื่อเป็นเรื่องใหญ่และมีเนื้อหามาก ที่นี้การพูดเรื่องพระพุทธศาสนนา หรือเกี่ยวกับพุทธศาสนา หรือจากแง่มุมของพุทธศาสนา ก็ควรจะมีหลักฐาน เช่นพุทธพจน์ มาเยอะๆ แต่วันนี้ได้แค่เป็นการเอาหลัก หรือเอาเนื้อหาทั้งหลายมาประมวลสรุปให้เท่านั้น ฉะนั้นก็เลยต้องแยกในส่วนที่เป็นหลักฐานข้อมูลเดิมอย่างพุทธพจน์เนี่ย ก็จะไม่มารวมไว้ในที่นี้ คือแยกไว้ต่างหากเลย ซึ่งสามารถทำให้ต่างหากเพื่อเป็นฐานให้แก่พวกนี้ได้อีกส่วนหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่ยาวทีเดียว แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องขอบอกตรงๆ ว่าเป็นการเอาพระอาพาธมาพูด ก็เกรงอยู่ เพราะว่าผลัดท่านมา 4 ปี ถ้าตอนนี้ไม่รับเดี๋ยวต่อไปตัวผู้พูดจะไม่มีตัวเหลือที่จะมาพูด แล้วอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือว่าเป็นวังมงคลวารของท่านด้วย เพราะฉะนั้นคิดว่าถึงเวลาจำเป็นต้องมาพูดแล้ว ก็มาพูดกันในเรื่องที่เรียกง่ายๆว่าความสุขนั้น
สำหรับชาวพุทธเนี่ย เวลาพูดถึง ความสุข หลายท่านก็คงจำพุทธพจน์อันหนึ่งได้ ซึ่งเป็นพุทธพจน์ง่ายๆ แล้วถ้าเข้าใจพุทธพจน์นี้ซึ่งเป็นเรื่องพูดถึงความสุขโดยตรง ถ้ามีความเข้าใจในพุทธพจน์นี้พอ ก็คิดว่าจบเรื่องความสุข ก็คือว่า เรื่องความสุขพูดเท่านี้ก็พอ จบแล้ว คือพุทธพจน์ว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง ก็แปลว่านิพพานเป็นบรมสุข หรือเป็นสุขอย่างสูงสุด ใครเข้าใจความหมายนี้หรือความหมายของพุทธพจน์นี้ก็แปลว่าเข้าใจเรื่องความสุข ก็เลยพอ แต่ทีนี้ว่า เอาละ พุทธพจน์นี้ในความเข้าใจเนี่ย นอกจากจะเข้าใจความหมายของพุทธพจน์โดยตรงแล้วก็ยังมีสาระซ่อนอยู่ในนี้ด้วย ความเข้าใจอีกชั้นหนึ่ง ก็คือในพุทธพจน์นี้เท่ากับให้เรารู้ว่ามีการยอมรับความสุขว่ามีเยอะแยะมากมาย ความสุขแตกต่างหลากหลาย ทั้งโดยขั้นและโดยประเภท ความสุขมีเยอะแยะ แล้วพระพุทธองต์จึงตรัสถึงความสุขสูงสุด อันนี้ความสุขอื่นนะมี แต่ว่าไม่ใช่สูงสุด แต่การที่มีความสุขอย่างอื่นๆ มากมายนี้ เมื่อยอมรับแล้วก็คือการบอกให้รู้ถึงการที่เราจะต้องมีการก้าวหน้าหรือพัฒนาในความสุขนั้นด้วย ก็หมายความว่าความสุขนั้นมีมากมาย มีหลายขั้นหลายระดับหลายประเภท แล้วความสุขนั้นพัฒนาได้ แล้วสุขทุกขั้นนั้นท่านก็ยอมรับว่าเป็นสุข ไม่ได้บอกว่าเสียหาย แต่มันมีข้อที่ยังไม่สมบูรณ์ เขาเรียกภาษาพระว่ามีข้อดีและข้อด้อย เวลาพระพุทธศาสนาพูดถึงอะไร ก็มักจะพูดว่าให้ดูทั้งข้อดีและข้อด้อย หรือข้อดีข้อเสีย ทางข้อดีนั้นท่านเรียกว่า อะ-สา-ทะ ข้อด้อยเรียกว่า อา-ที-นะ-วะ แล้วอันที่สามก็จะต้องมี นิ-สะ-ระ-นะ ทางออก หรือจุดที่พ้นออกไปจากข้อดีข้อด้อยนี้ ก็หมายความว่าไปสู่ความสมบูรณ์หรือดีกว่านั้น เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงเรื่องอะไรก็จะมีหลัก 3 ประการนี้ให้ดูเรื่อย ว่าอันนี้ก็ดีนะ ความสุขอย่างนี้ แต่ว่ามันมีอา-ที-นะ-วะ อยู่นะ มีข้อเสียอย่างนี้ มันมีข้อดีก่อน อะ-สา-ทะ ข้อดีอย่างนี้ แล้วก็มี อา-ที-นะ-วะ ข้อด้อยอย่างนี้ แล้วเมื่อไม่สมบูรณ์อย่างนี้ เราจะออกยังไง ก็เดินหน้าต่อไป เท่าที่พูดนี้ก็เป็นการบอกให้รู้ว่า ทางพุทธศาสนาถือว่ามีความสุขมากมายแตกต่างหลากหลาย แล้วความสุขนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนา แล้วการพัฒนาความสุขก็เลยเป็นเรื่องใหญ่ เราจะเรียกว่าพระพุทธศาสนาคือระบบการพัฒนาความสุขก็ได้ ทีนี้ในการพัฒนาความสุขเนี่ย ก็จะเป็นการพัฒนาชีวิต เป็นการพัฒนาสังคม เป็นการพัฒนาธรรมะอื่นๆ ไปด้วยหมดเลย โดยเฉพาะเรามักจะพูดกันบ่อยๆ เวลาพูดถึงเรื่องศาสนา เรามักจะพูดถึงเรื่องจริยธรรม บางทีก็พูดคู่กันว่าศาสนากับจริยธรรม โดยโยงเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องของศาสนา ในเมื่อพูดถึงจริยธรรม ก็ขอตั้งข้อสังเกตแทรกไว้เป็นพิเศษ ว่าจริยธรรมในความหมายที่เราใช้กันนี้ มักจะเป็นไปในเชิงที่ทำให้เกิดความรู้สึกค่อนข้างจะฝืนใจจำใจ จะให้คนประพฤติดี ไม่ทำโน่นทำนี่ที่เป็นการเสียหาย ไม่ทำความชั่วเนี่ย รู้สึกเหมือนกับว่าฝืนใจ หรือจำใจต้องทำ ทีนี้ถ้ามองตามหลักธรรมเนี่ย การพัฒนาจริยธรรมก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาความสุข ถ้าเป็นจริยธรรมที่แท้ ก็จะต้องเป็นจริยธรรมแห่งความสุข ถ้าเป็นจริยธรรมที่ฝืนใจหรือมีความทุกข์ ก็ยังเป็นจริยธรรมจริงไม่ได้ อันนี้ก็ขอให้ตั้งเป็นข้อสังเกตสำคัญไว้ ซึ่งถ้ามีโอกาสก็จะพูดกันอีก ในเมื่อพูดถึงจริยธรรมแล้ว ก็โยงไปถึงการศึกษา ก็เลยซ้อนเข้ามาด้วย คือคนเราเนี่ยทางพระท่านเรียกว่าเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก จะดีเลิศประเสริฐได้ก็ด้วยการฝึก การฝึกก็คือการศึกษา การศึกษาก็คือพัฒนา พัฒนาชีวิตด้วยการศึกษา โดยคนนั้นต้องฝึกตนให้ดียิ่งขึ้น ก็เรียกว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ หมายความว่าธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์ต้องฝึก จะดีจะประเสริฐได้ด้วยการฝึกนี้ มันส่องให้เห็นอยู่แล้วว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ ถ้าการศึกษาเดินไปถูกทาง เป็นไปได้ดี ก็ต้องเป็นการศึกษาที่เป็นความสุข ก็ศึกษาด้วยความสุข หรือเป็นการศึกษาแห่งความสุข ยังไม่มีความสุข ก็ให้สงสัยว่ายังไม่ใช่การศึกษาที่แท้ ยังไม่ใช่การศึกษาที่ถูกต้อง แล้วการศึกษานั้นก็พัฒนาชีวิตคน เมื่อคนได้รับการพัฒนาด้วยการศึกษา เขาก็ดำเนินชีวิตได้ดี ได้ถูกต้อง การดำเนินชีวิตที่ดีที่ถูกต้องเรียกว่าจริยธรรม เพราะฉะนั้นจริยธรรมกับการศึกษาก็มาด้วยกัน ก็หมายความว่าตัวมนุษย์เนี่ย เป็นสัตว์ที่มีธรรมชาติต้องฝึกฝนพัฒนา มีการศึกษา แล้วเมื่อศึกษาถูกต้องก็เป็นไปตามธรรมชาติของเขานั้น สอดคล้องกัน เขาก็จะยิ่งเจริญงอกงามในความสุข การศึกษาก็จะเป็นการพัฒนาความสุขไปด้วย พัฒนาชีวิตพัฒนาทุกอย่างในตัวคนนั้น ทีนี้การศึกษาก็เป็นการพัฒนามนุษย์ให้มีความสุข และมีคุณสมบัติอื่นๆ ที่ดียิ่งขึ้นๆ แล้วเมื่อเขาดำเนินชีวิตที่ดีงามได้ การดำเนินชีวิตที่ดีงามนั้นเราเรียกว่าจริยธรรม อันนี้คือความหมายที่ตามหลักพุทธศาสนา แล้วที่เราพูดคำว่าพุทธศาสนาในทีนี้ก็เป็นการพูดโดยการเอาภาษามาเป็นเครื่องสื่อสาร คือถ้าหากว่าเป็นความจริงแล้วมันก็เป็นธรรมชาติเอง เป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง พระพุทธศาสนาก็ว่าไปตามสิ่งที่มันเป็นนั้นเอง เราก็มาใช้คำว่าพุทธศาสนาเพื่อเป็นเครื่องสื่อสารให้เข้าใจกันได้ง่าย อันนี้ขอแทรกเข้ามาให้สังเกตก่อน คือเรื่องการศึกษาจริยธรรมเนี่ย จะต้องเป็นการศึกษาแห่งความสุข เป็นจริยธรรมแห่งความสุขจึงจะเป็นของแท้จริง ฉะนั้นมันก็เลยเป็นเรื่องเดียวกับการพัฒนาความสุข ถ้าการศึกษาเป็นไปด้วยการฝืนใจ ขาดการใฝ่ฝึก หรือไม่ต้องการฝึกตนเอง มันก็ไม่สามารถจะมีความสุขได้ ก็ไม่สามารถเป็นการศึกษาที่แท้ แล้วจริยธรรมก็เป็นจริยธรรมแห่งการจำใจ เมื่อเป็นจริยธรรมแห่งการจำใจ ก็ไม่สามารถเป็นจริยธรรมที่จริงได้ ก็ขอผ่านตรงนี้ไปก่อน
ทีนี้เรามาดูกันต่อไป เวลาเราพูดถึงการพัฒนาความสุข เราก็ไม่ควรมองข้ามคำว่าทุกข์ คือมองอะไรก็ต้องมองให้ครบ มองตามความเป็นจริง ทีนี้เราบอกว่ามีความสุข แต่ยังมีทุกข์อยู่นี่ มันก็เป็นสุขแท้สุขจริงไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่ว่าพัฒนาความสุขก็หมายถึงว่าภาวะที่หมดทุกข์ บำราศทุกข์ ปลอดทุกข์ ดับทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นพูดถึงกระบวนการพัฒนาความสุข ก็อาจจะพูดอีกแนวหนึ่ง โดยเอาคำว่าทุกข์มาแทนคำว่าสุข ก็กลายเป็นกระบวนการดับทุกข์ไป ก็อันเดียวกันนั่นแหละ แต่กระบวนการดับทุกข์นี้จะพูดชนิดที่ว่าคุณจะสุขยังไงก็ตาม ต้องถึงขั้นไม่มีทุกข์เหลือ จึงจะจบ ก็ตามหลักวิชาแล้วจะใช้สำนวนนี้ หรือแนวนี้ว่าใช้เป็นการดับทุกข์ แต่อย่างไรก็ตามคำว่าการดับทุกข์นี่ ที่ภาษาพระเราใช้คำว่านิโรธ มันก็เป็นปัญหาเรื่องภาษาอย่างหนึ่ง เวลาเราพูดว่ากับทุกข์ เราก็รู้สึกว่าทุกข์มีอยู่แล้วกก็ดับ แล้วก็ต้องคอยดับทุกข์กันอยู่อย่างนี้ ความจริงแล้วนิโรธนี่ ในภาวะที่แท้ มีปัญหาเรื่องภาษานะ หมายถึงการไม่มีความทุกข์เกิดขึ้น นี่คือความหมายที่ต้องการ ขั้นที่เป็นนิพพาน ก็คือเป็นภาวะที่ไม่มีทุกข์เกิดขึ้น บางครั้งท่านอธิบายด้วยคำว่า อะ-นุ-ปา-ทะ-นิ-โรธ นิโรธคือการไม่เกิดขึ้น ก็หมายความว่า นิโรธแห่งทุกข์ การดับแห่งทุกข์นั้น หมายถึงการไม่เกิดขึ้นแห่งทุกข์ ทีนี้เราจะไม่พูดถึงกระบวนการดับทุกข์ในภาษาที่ใช้คำว่าทุกข์ แต่เราไปใช้คำว่าสุขแทน กระบวนการพัฒนาความสุข แต่ว่าเราก็ไม่มองข้ามเรื่องทุกข์มันจะไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงกระบวนการพัฒนาความสุขมันก็จะมีการจัดการในเรื่องความทุกข์ไปด้วย เบื้องต้นต้องพูดไว้ก่อนอันหนึ่งก็คือท่าทีต่อความทุกข์ อันนี้ต้องชัด ทางพระท่านเรียกว่าหน้าที่ต่อทุกข์ หรือกิจในอริยสัจข้อทุกข์ อันนี้ถ้าผิดล่ะก็หมดเลย เสียกระบวนตั้งแต่ต้น แล้วคนก็มักจะมองข้ามอันนี้ไป ท่าทีวิธีปฏิบัติต่อทุกข์คือยังไง อริยสัจ 4 นั้น ทุกท่านทราบว่ามี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ แล้วก็มรรค แล้วก็รู้ว่าความหมายคือยังไงๆ แต่ว่าลืมไปว่าแล้วเราจะต้องทำยังไงต่อ อริยสัจแต่ละข้อ ท่านเรียกว่ากิจต่ออริยสัจ ต้องทำให้ถูก ถ้าไม่ถูกเราไม่มีทางตรัสรู้เลย อันนี้หน้าที่ต่อทุกข์ก็พูดรวบรัดไปเลยว่าหน้าที่ต่อทุกข์ท่านเรียกว่า ปริญญา ทุกขัง ปริญเญยยัง ทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่จะต้องรู้เข้าใจด้วยปัญญา หมายถึงว่าทุกข์นั้นสำหรับรู้ สำหรับเข้าใจ เอาง่ายๆ เหมือนเราแก้ปัญหาต้องรู้ปัญหา แต่ใครไปเอาทุกข์มาปฏิบัติในทางที่ผิด เช่นว่าพอเจอเรื่องทุกข์เราก็เป็นทุกข์เลย อย่างนี้ก็หมดทางแล้ว เราผิดเลย เอาเป็นว่าทุกข์นั้นท่านสอนไว้ให้รู้ให้เข้าใจ ทุกข์นั้นสำหรับปัญญารู้ เพราะฉะนั้นอันนี้อย่าให้พลาดตั้งแต่ต้นเลย พอเราเข้าใจทีนี้ก็ขอต่อไปได้ ทีนี้เมื่อเราจะพัฒนาความสุข เราก็มาดูความหมายของความสุขกัน ว่าความสุขมีความหมายว่าอย่างไร ก็จะให้ความหมายหนึ่ง แต่ต้องทำความเข้าใจกันไว้ก่อนว่าไม่ใช่ความหมายที่ครอบคลุมทั้งหมด ครอบคลุมในระดับหนึ่ง แต่เป็นความหมายที่สำคัญมาก ว่าไปความสุขก็คือการได้สนองความต้องการ หรือถ้าใช้ภาษาง่ายๆก็ ความสมอยาก สมปรารถนา เราอยากจะอาบน้ำ ได้อาบน้ำก็มีความสุข อยากรับประทานอะไร ได้รับประทานก็มีความสุข เด็กอยากจะเล่น ได้เล่นก็มีความสุข ก็ได้สนองความต้องการ สนองความอยากความปรารถนานั่นเอง ในที่นี้ก็ขอแทรกอีกเหมือนกัน คือปัญหาเรื่องภาษา อย่างคำว่า ต้องการ กับ ปรารถนา กับ อยาก เดี๋ยวนี้ก็มีการใช้แยกกันว่า ความต้องการกับความอยากให้เป็นคนละอย่าง ขอโอกาสใช้ภาษาอังกฤษนิดนึง บางทีก็ใช้คำว่าความต้องการให้ดูคำว่า need เป็นความต้องการที่มันจำเป็น อะไรทำนองนี้ แล้วความอยาก ความปรารถนาก็ใช้ desire หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งมีได้หลายศัพท์ ทีนี้ศัพท์เหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ยังไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง สมัยโบราณท่านก็มีนะศัพท์ เขาเรียกว่าเล่าสู่กันฟัง คำว่า need ที่เรามาแปลว่าต้องการ สมัยก่อนท่านใช้คำว่า จำปรารถนา ไม่ทราบเคยได้ยินไหม ยกตัวอย่างเช่น สะ-ติ-สำ-พัด-ถะ-ปัด-ถะ-ยา แปลว่าสติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง หมายความว่าสตินี่เป็นธรรมที่ต้องใช้ในทุกกรณี หมายความว่าจะทำอะไรก็ตามต้องมีสติ สติจำปรารถนา เป็นสิ่งจำเป็น ใกล้ๆกับคำว่าจำเป็น แต่จำปรารถนา ท่านยกตัวอย่างเช่นว่า มีกระท่อมหลังหนึ่งแล้วจะเข้าไปนอน ทีนี้กระท่อมหลังนั้นไม่มีอะไรเลย มีแต่พื้นดิน พื้นเป็นดินแล้วก็อาจจะเฉอะแฉะ ขรุขระด้วย ก็บอกว่าผู้ที่จะนอนในกระท่อมนี้จำปรารถนาเตียง ว่างั้น อย่างนี้เรียกว่าจำปรารถนา คือเขาอยากได้หรือเปล่าก็ไม่รู้นะ แต่มันจำปรารถนา นี่ภาษาเก่ามีเยอะแยะ คำว่าจำปรารถนา หรืออย่างคนเจ็บป่วยก็จำปรารถนายา อย่างนี้ โบราณมีแล้วคำนี้ ก็ไม่สับสนกับคำว่าต้องการกับปรารถนา ทีนี้ในที่นี้จะใช้คำว่าต้องการกับปรารถนาแบบปนกันไปเลย ไม่แยก ให้เหมือนกับอย่างเดียวกัน ก็เอาเป็นว่าเป็น desire ไปหมด ความสุขคือการได้สนองความต้องการหรือการได้สมอยากสมปรารถนา พอเราพูดว่าความสุขในการสนองความต้องการ มันก็โยงไปหาคำว่าต้องการหรือปรารถนา ก็ต้องมาทำความเข้าใจ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องความต้องการหรือปรารถนานี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ขอยกบาลี ท่านบอกว่า ฉัน-ทะ-บู-ระ-กา-สัพ-เพ-ทำ-มา ธรรมทั้งปวง หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างนี้เรื่องของมนุษย์ มีความอยากเป็นมูล เอาละทีนี้ มันเป็นต้นทางเลย เฉพาะฉะนั้นเราจะต้องทำความเข้าใจเรื่องความอยากความปรารถนา ความต้องการนี้ให้ได้ แล้วในเมื่อความสุขเป็นการได้สนองความปรารถนาหรือความต้องการนี้ ความต้องการนี้ก็เลยเป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนา หมายความว่าจะพัฒนาความสุขก็ต้องพัฒนาความปรารถนาหรือพัฒนาความอยาก หรือพัฒนาความต้องการ ไม่งั้นก็ไม่สำเร็จ ก็จึงต้องมาทำความเข้าใจเรื่องความต้องการหรือความปรารถนา นี่ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก การศึกษาจริยธรรมอะไรต่ออะไร ถ้าจับจุดนี้ไม่ได้ ก็เป็นอันว่าไม่ถึงตัวมัน ไปไม่ได้ ทีนี้ความต้องการหรือความปรารถนานี้ ในทางพระศาสนาท่านแยกเป็น 2 อย่าง ท่านใช้คำว่า ปัด-ทะ-นา แปลว่าปรารถนา ก็คืออยากนั่นแหละ มี 2 อย่าง คืออะไร คือ กุ-ศะ-ระ-ปัด-ทะ-นา ความปรารถนาที่เป็นกุศล หรือความอยากที่เป็นกุศล กับ อะ-กุ-ศะ-ระ-ปัด-ทะ-นา ความปรารถนาหรือความอยากที่เป็นอกุศล อันนี้ก็เป็นข้อสังเกตว่าคนไทยนี่พอพูดถึงความอยากแล้วไม่ได้ ก็จะบอไม่ดี ไม่ถูก ไม่ได้ ใช้ไม่ได้ จะไม่ให้อยาก อันนี้อันตราย ทีนี้ดีไม่ดีก็กลายเป็นว่าทำร้ายตัวเอง ตัดรอนการที่จะพัฒนา ความอยากต้องรู้จักแล้วต้องแยกให้ได้ แล้วก็มีความอยากที่ถูดต้อง ทีนี้ความอยาก 2 อย่างนี้ ศัพท์เดิมศัพท์เดียวกันก็คือ ฉันทะ แต่เพื่อไม่ให้สับสน ก็เลยแยก เดี๋ยวจะมีศัพท์มา เหมือนจะมาแทน คำว่า ฉันทะ ใช้ในเรื่องไม่ดีก็มี เช่น กามฉันทะ หรืออะไร ฉันทะๆ ในเรื่องที่เป็นอกุศลได้ แล้วธรรมในทางที่ดีก็ ธรรมฉันทะ กุศลฉันทะ ก็อะไรอย่างที่ว่า ทีนี้เพื่อไม่ให้สับสน ทางคล้ายกับวิชาการ ก็เลยแยกศัพท์กันไปซะเลย ความปรารถนา ความอยากที่เป็นอกุศล ทางฝ่ายไม่ดีเนี่ยก็ใช่ศัพท์ตัวหนึ่งค่อนข้างยืนตัวว่า ตัณหา แล้วส่วนคำว่าความอยากหรือความปรารถนาที่เป็นกุศล ก็ใช้ตัวฉันทะยืน ถ้าใช้เต็มก็ใช้ว่ากุศลฉันทะบ้าง ธรรมฉันทะบ้าง กุศลธรรมฉันทะบ้าง
กัตตุกัมยตาฉันทะ บ้าง มีหลายคำ อันนี้เดี๋ยวความหมายมันจะค่อยๆมาเอง ตอนแรกก็จะต้องมาทำความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างความอยาก 2 แบบนี้ก่อน ต้องแยกให้ได้ แล้วอะไรต่ออะไรจะชัดขึ้น เรื่องความสุขก็จะเกี่ยวข้องโดยตรง ตอนนี้ก็เป็นอันว่าเพื่อจะพัฒนาความสุข ก็ต้องพัฒนาความอยาก หรือพัฒนาความต้องการ ทีนี้ความต้องการเป็น 2 อย่าง เป็นอกุศล นิยมใช้คำว่า ตัณหา และที่เป็นกุศลนิยมใช้คำว่าฉันทะ ทีนี้มาดูลักษณะทั่วไปว่างต่างกันอย่างไร เพื่อสนองความต้องการทางผัสสะ ต้องการรูป รส กลิ่น เสียง อาราณ์ที่มันน่าพอใจ ที่ชอบใจ เรามักจะใช้ศัพท์ว่ากาม หรือจะใช้คำว่า อามิส สามิส อะไรพวกนี้ อามิส ก็ได้ เพราะฉะนั้นก็จะบอกว่า กาม คนมันก็ต้องมีสิอย่างนี้ๆ อ้าว ก็ไปดูความอยากอันที่สอง แล้วค่อยมาเทียบความหมายให้ชัด ความอยากอัรที่สองที่เป็นกุศล ที่เรียกว่าฉันทะ ถ้าแปลง่ายๆเบื้องต้นก็คือ ความชื่นชมยินดี พอใจ ในความดีความงามความสมบูรณ์ของสิ่งนั้นๆ ที่นี้พอใจ ความดีงามสมบูรณ์ของสิ่งนั้นๆ แม้กระทั่งของคนนั้นๆ ถ้ามันยังไม่ดี หรือดียังไม่เต็มที่ ก็อยากให้มันดี อยากให้มันงาม อยากให้มันสมบูรณ์ ทีนี้ต่อไปความอยากประเภทนี้จะมีการพัฒนา เดี๋ยวจะมาเทียบกัน
ความอยากประเภทที่หนึ่งที่เป็นอกุศล ความอยาก ความพอใจในรูปเสียง กลิ่น รส ที่มาสนองความต้องการในการเสพว่างั้นเถอะ เรียกง่ายๆ ว่าการเสพ อยากเสพ พออยากเสพเนี่ยมันเป็นการอยากได้อยากเอาเพื่อตัวเอง ตรงนี้ที่มันมาล่ะ คือพออยากแบบนี้มันจะต้องมีตัวขึ้นมาเลย มีตัวที่จะเป็นผู้ได้ผู้เอา ก็อยากได้อยากเอา เพื่อตัวมาให้กับตัว ตัวจะได้เสพ
แต่ถ้าเป็นความอยากประเภทที่สองนี่มันไม่มี ความอยากในความดีงาม ความพอใจ ชื่นชมในความดีความงามของสิ่งนั้นๆ ก็อยากให้สิ่งนั้นมันสมบูรณ์ของมัน อยากให้มันดีของมัน อยากให้มันงามของมัน เห็นมันดีมันงามก็ชื่นชม เราก็สบาย อย่างนี้แค่เห็นมันดีงามก็มีความสุขแล้ว ไม่ต้องทำอะไรเลย ทีนี้ถ้ามันยังไม่ดี ก็อยากให้มันดีมันงาม ทีนี้ทำไง อยากให้มันดีมันงาม มันก็ตอบไปบอกว่า มันยังไม่ดีไม่งาม ก็อยากให้มันดีมันงาม อยากทำให้มันดีมันงาม ให้มันสมบูรณ์ ก็จะทำมัน แล้วไม่รู้ว่าทำไง ก็เลยอยากรู้ อยากรู้ว่าทำไงมันจึงจะดีงามสมบูรณ์ ก็เลยกลายว่าความหมายคำว่าฉันทะนี่ ว่าตั้งแตชื่นชมยินดีในความดีความงามความสมบูรณ์ของสิ่งนั้นๆ แล้วก็อยากให้เขาหรือสิ่งนั้นๆ ดีงามสมบูรณ์ มีความสุข แล้วก็อยากทำให้เขามีความดีงาม ความสมบูรณ์ ความสุข แล้วก็อยากรู้ว่าจะทำยังไงจึงจะได้มีความสมบูรณ์มีความสุขนั้นๆ เพราะฉะนั้นคำว่าฉันทะ หรือความอยากที่เป็นกุศลเนี่ย ท่านมักจะให้ความหมายว่า กัตตุกัมยตาฉันทะไปที่ไหนพอเจอก็เอาละ ฉันทะ ฉันโทติ กัตตุกัมยตาฉันโท ก็หมายถึงว่าความอยากที่เป็นกุศล อยากทำ (ทำให้มันดีให้มันงามให้มันสมบูรณ์) อันนี้สำคัญมาก แล้วตรงนี้มันเป็นต้นทางเหลือเกินที่มันจะไปสู่การพัฒนามนุษย์ ทีนี้พอเราอยากให้อะไรมันดีมันงามเข้า เราเห็นพื้น พอมันสะอาดดีงาม เราก็ชื่นชม สบายใจ มันสปกรก ยังไม่สะอาด เราก็อยากให้มันสะอาด ให้มันดี ถ้ามันยังไม่ดี เราก็อยากจะทำให้มันสะอาด เราก็ไปฉวยไม้กวาดมา เราก็ทำ ถ้าเราไม่รู้วิธีกวาดเราก็ไปหาวิธีเรียนเอา กระบวนการนี้ทั้งหมดเรียกว่าเป็นการศึกษา เพราะฉะนั้นฉันทะตัวนี้จึงเป็นต้นรากของกระบวนการศึกษาหรือพัฒนามนุษย์ แต่ถ้าเป็นตัณหาจะไม่เกิดอันนี้เลย อยากจะได้อยากจะเอาเพื่อตัวมาเสพ จบ ทีนี้ก็หาทางจะได้จะเอา กระบวนการแบบเงื่อนไข ไม่ใช่กระบวนการแบบเหตุปัจจัยจะมา อันนี้ให้สังเกตนะ ถ้าเป็นความอยากประเภทตัณหา เดี๋ยวจะเถียงว่ามันก็ทำให้อยากทำเหมือนกัน เปล่า เราไม่ได้อยากทำ มันอยากจะเสพ อยากจะได้ อยากจะเอา แต่มันเป็นเงื่อนไขว่าถ้าคุณไม่ทำแล้วมันไม่ได้ เพราะฉะนั้นตัณหามันทำให้เกิดการกระทำตามเงื่อนไข แล้วการกระทำนั้นมันเลยเป็นความทุกข์ ทำตามเงื่อนไขเท่านั้น เพราะว่าถ้าตัวไม่ทำแล้วมันไม่ได้มาเสพ ต้องรอกว่าจะได้ความสุขเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ต้องรอเสพ แต่ถ้าเจ้าพวกฉันทะ อยากจะทำให้มันดีนี่มันสุขตลอดเวลา เพราะมันเป็นความสุขที่เกิดโดยตรงตามเหตุปัจจัย โดยตรงตามเหตุปัจจัยในกระบวนการของมัน ฉะนั้นนี่คือสำคัญมาก ท่านจึงถือว่าฉันทะนี่เริ่ม พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเกิดขึ้นของฉันทะเป็นเหมือนแสดงอรุณ บอกว่าก่อนที่ดวงอาทิตย์อุทัยนั้น มีแสดงอรุณมาก่อนฉันใด ถ้าฉันทะเกิดขึ้นแล้ว ก็หวังได้เลยว่าจะเจริญงอกงามในมรรคา ในอริยมรรคมีองค์ 8 หรือในสิกขาในการศึกษา ไปได้แน่ๆ ไม่ต้องห่วง เป็นกระบวนการธรรมชาติ เป็นไปเองเพราะเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็ยกตัวอย่างให้ฟังบ่อยๆ อย่างโลกในเวลานี้เราอยู่ในระบบเงื่อนไข มนุษย์มีความฉลาด เราก็มีระบบสมมติขึ้นมา ซ้อนกับกฎระบบของธรรมชาติ เรียกว่ากฎสมมติของมนุษย์ กับกฎธรรมชาติ กฎธรรมชาติก็คือกฎของความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมนุษย์ แล้วเราก็มีกฎสมมติที่มนุษย์มาตั้งตกลงกัน แล้วก็เป็นเหตุปัจจัยตามสมมติตามตกลง อันนี้เราจะเห็นว่ากฎสองกฎนี้ ซ้อนกันอยู่ในโลกมนุษย์ปัจจุบันที่มีอารยธรรมทั่วไป ยกตัวอย่างอยู่เสมอก็คือเรื่องการทำงาน ที่ง่ายๆ ก็บอกว่าเรามีสถานที่ราชการหรืออะไรก็แล้วแต่ มหาวิทยาลัยอะไรที่มีอาคารสวยงามเราก็อยากให้บริเวณร่มรื่น มีสนามหญ้าเขียวขจี มีต้นไม้มีดอกสวยงามใบสะพรั่งอย่างนี้ เราก็ทำไง มนุษย์มีความฉลาดก็รู้จักแบ่งงานกันทำ ก็เลยจัดระบบขึ้นมาว่า กฎธรรมชาติมันมีอยู่ว่า ต้นไม้แม้แต่หญ้าจะงอกงามเขียวขจีสดชื่นได้ ก็ด้วยการที่ได้รับอาหาร ได้รับปุ๋ยอะไร เป็นต้น การบำรุงดี แล้วส่วนจะแต่งอะไรต่ออะไรก็เพิ่มเข้าไป อันนี้เป็นกฎธรรมชาติ ใบไม้ ดอกไม้ จะสมบูรณ์ก็ต้องเป็นไปตามกฎนี้แน่นอน ตามเหตุตามปัจจัย แล้วเราก็อยากให้ต้นไม้นี้พรั่งพร้อมสมบูรณ์เขียวขจี สะพรั่ง เอาละ ตามกฎธรรมชาติเรารู้แล้วจะต้องมีการบำรุงมาพรวนดินมารดน้ำอะไรต่างๆ ทีนี้จะทำยังไง เราก็ต้องตั้งกฎมนุษย์ขึ้นมา กฎมนุษย์ก็เป็นสมมติคือข้อตกลง ใฝ่รู้ร่วมกัน สมมติแปลว่ารู้ร่วมกัน รู้ร่วมกันขึ้นมาก็คือตกลงว่าฉันจะจ้างคนมานะ ให้มาเป็นคนสวน มาช่วนรดน้ำพรวนดินตัดแต่งต้นไม้ ดูแลให้สวนมันสวยงาม จะให้เงินเดือน 7,000 บาท ใครมาทำงานนี้ก็ได้ตามกฎนี้ ก็คือทำสวน 1 เดือน ได้เงินเดือน 7,000 บาท การทำสวนเป็นเหตุ การได้เงินเดือน 7,000 บาทเป็นผล เป็นเหตุเป็นผล เป็นเหตุปัจจัยโดยตรงเลยนะ มองดูแล้วจริง ก็ต้องทำสวนรดน้ำพรวนดินอยู่ 1 เดือน ก็ได้เงินเดือน 7,000 บาท เงินเดือน 7,000 บาทเป็นผลของการทำสวน เวลานี้ที่จริงมี 2 กฎซ้อนกันอยู่ คือกฎธรรมชาติว่าต้นไม้จะงอกงามได้เพราะมีปุ๋ยมีอาหารมีอะไรต่างๆที่เรียบร้อยสมบูรณ์ อันนี้กฎธรรมชาติ แน่นอน เด็ดขาด แล้วก็มีกฎมนุษย์ซ้อนเข้ามาเพื่อให้เกิดเป็นผลตามกฎธรรมชาติ เพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งเหตุปัจจัยธรรมชาตินี้ เราก็มีกฎเหตุปัจจัยของมนุษย์ขึ้นมาเรียกว่ากฎสมมติ หรือกฎมนุษย์ หรือกฎหมาย ก็แล้วแต่ ว่าให้มีคนมาทำงานนี้ที่เรียกว่าการทำสวนนี้ แล้วทำ 1 เดือน ได้เงินเดือน 7,000 บาท ก็เป็นกฎ กฎมนุษย์นี่เป็นกฎสมมติตามตกลงกัน ทำเสร็จแล้ว 7,000 บาท อาจจะไม่ให้ก็ได้ ไปให้แค่ 5,000 บาท หรือตาคนที่ได้รับจ้างมาทำสวน 7,000 บาท อาจจะไม่ตั้งใจทำงาน แกก็หลบๆ เลี่ยงๆ อะไรต่างๆ ถึงวันก็เอาเงินเดือนไป ก็ไม่ได้ทำตามกฎธรรมชาติ ปรากฏว่าถ้าแกไม่ทำตามกฎธรรมชาติ แกจะได้เงินเดือน 7,000 หรือ 10,000 ต้นไม้มันก็ไม่งาม 2 กฎนี้มันซ้อนกันอยู่ ทีนี้กฎมนุษย์มันเบี้ยวได้ คือหมายความว่าไม่ยอมทำตาม พอไม่ทำตามก็เป็นไง มนุษย์ก็ทะเลาะกัน มนุษย์ก็มาทะเลาะกันเรื่องกฎสมมติของมนุษย์ ระบบสมมตินี่ยุ่งที่สุดเลย เสร็จแล้วมันก็ไม่ใช่ของจริงสักอันหนึ่ง ทีนี้เจ้ากฎสมมติของมนุษย์นี่ มันเป็นระบบเงื่อนไขใช่ไหม คุณต้องมาทำสวน 1 เดือน แล้วคุณจะได้เงินเดือน 7,000 บาท คือการทำสวน 1 เดือนมันไม่ทำให้เงิน 7,000 บาท เกิดขึ้นมาได้เลยโดยธรรมชาติ มันไม่มีหรอก แต่ว่ามันมีเงื่อนไขว่าเมื่อทำได้ครบ 1 เดือนแล้ว จะมีการให้เงิน 7,000 บาท นี่เรียกว่าระบบเงื่อนไข เมื่อมันเป็นระบบเงื่อนไข เขาไม่ได้ต้องการการที่ต้นไม่จะงาม ถ้าคนที่มาทำสวนนี่เขาต้องการแต่เงิน 7,000 บาท ไม่ได้ต้องการให้ต้นไม้งาม เป็นไปได้ไหม ก็เป็นไปได้สิ เพราะเขามาทำสวนเพราะต้องการเงิน ถ้าเขาต้องการแต่ผลตามกฎมนุษย์ ไม่ได้ตรงการผลที่ตรงไปตรงมาตามธรรมชาติ ความอยากที่เป็นกุศล คืออยากให้ต้นไม้มันดี มันไม่มี ความอยากให้ต้นไม้มันดีมันงามมันสมบูรณ์ มันไม่มีหรอก เรียกว่าฉันทะมันไม่มี แต่มันมีตัณหาคืออยากจะได้เงิน 7,000 บาท ตัณหามันก็ทำให้เกิดกระทำตามระบบเงื่อนไข ก็คือไปทำสวน การไปทำสวนนี่ที่จะให้ต้นไม้มันดีมันงาม เขาไม่ได้ต้องการเลย เพราะฉะนั้นเขาก็จำใจทำ เพราะฉะนั้นเขาก็ทำงานด้วยความทุกข์ เพราะฉะนั้นคนในโลกปัจจุบันนี้ ที่ปัญหาหนึ่ง ที่ทำงานทำการเรียนหนังสือด้วยความทุกข์นี่เพราะมันอยู่ในระบบเงื่อนไขซะมาก ระบบตัณหานั่นเอง พูดตรงๆ ตัณหามันจะพ่วงมา 3 มาเป็นชุด ตัณหา มานะ ทิฐิ อยากได้ อยากใหญ่ แล้วก็ใจแคบ 3 อันนี้มันก็มุ่งเพื่อตัวเองทั้งนั้น แล้วก็เข้าสู่ระบบเงื่อนไขที่ว่า เพราะฉะนั้นการทำงาน การเล่าเรียนศึกษาเป็นทุกข์หมด แล้วก็ทำให้เกิดปัญหาสารพัดในโลกนี้ เมื่อทุกข์มันเกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะต้องโยง ถ้ามนุษย์ฉลาดจะต้องพยามกฎสมมติของมนุษย์ให้ไปหนุนกฎธรรมชาติให้ได้ มนุษย์ที่ฉลาดตั้งกฎสมมติเพื่ออะไร เพื่อมาหนุนให้กระบวนการนี้เป็นไปตามกฎธรรมชาติ เราอยากให้ต้นไม้มันงาม ต้นไม้จะงามได้ต้องมีการดูแล ต้องมีการตัดแต่งให้ปุ๋ยอะไรต่างๆ เราก็เลยแบ่งงานกันทำ ให้คนมาทำจริงทำจัง ไม่ต้องกังวลอะไร ก็ไม่ต้องเดือดร้อน ตั้งหน้าตั้งตาทำงานนี้ไป แล้วได้เงินเดือนมาจะได้ไม่ต้องมายุ่งยากอะไร มันก็จบ ตัวกฎมนุษย์ก็มาหนุนให้คนที่ทำเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติได้ทำได้ผลขึ้น ทำเต็มที่เลย แกอยากจะทำอยู่แล้ว อยากเห็นต้นไม้ดีต้นไม้งามสมบูรณ์อยู่แล้วนี่ พอไม่ต้องห่วงอะไรแล้วเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ แกก็ทำเต็มที่ สบายไปเลย ก็ได้ทั้งสุข ได้ทั้งเงินเครื่องยังชีพไปด้วย ทีนี้เกิดถ้าแกไม่มีตัวฉันทะ ที่เป็นเหตุปัจจัยในกระบวนการของกฎธรรมชาติ มันจบ มันมีแต่ตัณหา มีแต่เงื่อนไข ตัวเองแกก็ทำด้วยความทุกข์ พอแกจำใจทำ งานก็ไม่ค่อยได้ผล งานไม่ได้ผล ระบบของโลกมนุษย์มันก็เสียหมดเสียอีก ฉะนั้นงานก็ไม่ได้ผล คนก็ไม่เป็นสุข มีแต่ความทุกข์อย่างเดียว นี่เป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เรื่องใหญ่มาก ต้องย้ำ เราไม่ได้จับที่จุดนี้ เรื่องอยากอย่าไปเลี่ยงที่จะพูดถึงมัน ต้องยอมรับว่าความอยากนี่มีทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศล แล้วรู้จักมันให้ถูกต้อง ทีนี้ความอยากที่เป็นกุศลก็บอกแล้วว่าเรียกว่าฉันทะ ทีนี้ฉันทะนี่ก็มีต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ไปไหนเราเห็นอะไรมันดีมันงามเราก็ชื่นชม สบาย มีความสุข เราอยากให้มันดีมันงามอยู่อย่างนั้น อะไรต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นว่าเรามาในวัด ไปบริเวณที่มีต้นไม้มากๆ ก็เห็นเจ้ากระรอกกระแตมันกระโดดโลดเต้น เราก็ชื่นชม คนหนึ่งก็ว่าเจ้ากระรอกนี่ร่างกายมันสมบูรณ์ มันอ้วนท้วน มันกระโดดไปกระโดดมา ดีนะ มันเป็นภาพที่งามตา แล้วมาช่วยให้สวนได้งาม น่าชื่นชม อย่างนี้ก็เรียกว่ามีความอยากประเภทกุศล ทีนี้อีกคนหนึ่งว่าเจ้ากระรอกตัวนี้มันอ้วนดีนะเนี่ย ถ้าเราเอาไปลงหม้อแกงได้นี่น่ากลัวอร่อย นี่มันอยากได้เพื่อตัวแล้ว ก็เรียกว่าตัณหาเกิด ก็อย่างนี้ คนเราก็มีฉันทะกับตัณหา เป็นอยู่ตลอด ทีนี้จะต้องพัฒนาให้ถูก อย่าไปพัฒนาตัณหา คืออย่าไปส่งเสริมหนุน ตัณหามันจะไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ แล้วมันเป็นเงื่อนไขเรื่อย ทีนี้ก็มาสู่ฉันทะ ฉันทะนี่ก็เป็นอันว่าอยากให้มันดี อยากให้มันงาม อยากให้มันสมบูรณ์ มันก็มีต่อสิ่งทั้งหลายทั่วไปได้หมด ทีนี้พอมามีต่อเพื่อนมนุษย์ท่านก็มีศัพท์พิเศษให้ ตัวฉันทะนี่มามีต่อมนุษย์ เพราะมนุษย์ด้วยกันนี่เป็นส่วนสำคัญที่มนุษย์จะต้องเกี่ยวข้องในชีวิต เป็นเรื่องใหญ่สำหรับมนุษย์ทุกคน ก็คือตัวคนแต่ละคนก็เป็นมนุษย์อยู่แล้ว อยู่กับเพื่อนมนุษย์แล้วก็อยู่กับสัตว์ทั้งหลายอื่น เพราะฉะนั้นฉันทะที่มีต่อมนุษย์หรือต่อสัตว์ทั้งหลายนี่ ท่านก็เลยมาแยกแยะให้เป็นพิเศษ ถ้ามีฉันทะนั้นตามปกติ ต่อเพื่อนมนุษย์ พอเห็นใครก็อยากให้เขามีร่างกายสมบูรณ์งดงาม หน้าตาอิ่มเอิบผ่องใส ให้เขามีความสุขนะ อยากอย่างนี้เขาเรียกว่า เมตตา ตัวที่หนึ่งก็คือเป็นการอยากเพื่อคนนั้นสิ่งนั้นเอง ไม่ได้เกี่ยวกับตัว ทีนี้ต่อไปถ้ามนุษย์หรือสัตว์อื่นก็ตามเขาไม่อยู่ในสภาพที่เป็นปกติ ไม่สมบูรณ์ ไม่งดงาม ท่านก็แยกให้ว่าสำหรับเพื่อนมนุษย์ สัตว์ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ จะเรียกแยกศัพท์ไปเลย ถ้าเขายังไม่งามไม่สมบูรณ์ หรือเขาบกพร่องย่อหย่อน มีความทุกข์มีความลำบาก ก็อยากให้เขาพ้นจากความบกพร่องขาดแคลน ความยากไร้ ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นต้นนั้น ให้มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ความอยากที่ให้เขาพ้นจากความเดือดร้อนไปทั่ว ยกฐานะขึ้นมาเนี่ย เรียกว่า กรุณา หมายความว่าความพอใจปรารถนาให้เขามีความสุขในยามเขาเป็นปกติเราเรียกว่าเมตตา ถ้ายามเขาตกต่ำลงไป อยากให้พ้นให้ถอนขึ้นมาสู่สภาวะดี ปกติ ก็เรียกว่ากรุณา ทีนี้เขาเป็นปกติดีอยู่แล้ว เรามีเมตตา เขาเกิดไปเจริญงอกงามสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เด็กนี่ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์เติบโตขึ้น หน้าตาสวยงามผ่องใส เราก็มีมุทิตา หรือใครทำดีงามสำเร็จ เราก็พลอยชื่นชมยินดี อันนี้ก็เรียกว่าเหนือกว่าปกติขึ้นสูง ก็เรียกว่ามุทิตา ก็เนี่ย 3 อย่างนี้เรียกว่าเป็นฉันทะทั้งนั้น แต่ว่ามนุษย์นี่ต้องไปถึงขั้นปัญญา 3 ข้อนี้ยังเป็นแค่ขั้นความรู้สึก ขั้น emotion ทีนี้จะต้องมีปัญญามาปรับอีกที ขั้นปัญญาเป็นข้อที่ 4 คืออารมณ์หรือ emotion หรือความรู้สึกเนี่ย มันมีฝ่ายร้ายฝ่ายดี ฝ่ายดีก็เมตตา กรุณา มุทิตา เป็นต้น เป็นฝ่ายดี แต่มันก็ยังแค่ความรู้สึก มันก็ต้องไปถึงปัญญา เพราะว่าถ้ามนุษย์ไม่มีปัญญาอีกตัวหนึ่งแก้ปัญหา ไม่จบ ความรู้สึกที่ดีก็ใช้ผิดได้ ก็เลยกลายเป็นว่าในกรณีนั้น เขาได้สมปรารถนา เหมือนกับว่ามีความสุข ได้ดีไปลักเงินเขามาได้ 5,000 บาท เออ คนนี้ประสบความสำเร็จ มุทิตา ยินดี อย่างนี้ไม่ได้แล้ว คงยุ่งแน่ สังคมก็จะเดือดร้อน ลักขโมยกันใหญ่ ส่งเสริมไม่ได้ อันนี้ท่านให้มาข้ออุเบกขา ก็มีฉันทะอยากจะให้เขาดีให้งามสมบูรณ์แหละ แต่ว่าไปพลอยยินดีส่งเสริมไม่ได้ ในกรณีนี้ก็วางใจเป็นกลาง เป็นอุเบกขา แล้วก็เพื่อจะได้ดำเนินการต่อไป ตามกฎกติกาเป็นต้น ตามธรรมนั้นเอง อุเบกขาเพื่อรักษาธรรม 3 ข้อนี้ก็รักษาคนนะ เมตตา กรุณา มุทิตา นี่รักษาคน พอถึงอุเบกขานี่รักษาธรรม บางคนไปละเมิดธรรม ต้องเอาธรรมะไว้ ก็เลยต้องรักษาธรรม ความถูกต้อง ความยุติธรรม ความเป็นธรรม เป็นต้น ก็เลยต้องถึงข้ออุเบกขา ข้ออุเบกขาเป็นตัวนำปัญญา เป็นความรู้สึกที่เกิดจากปัญญา เอาเข้ามาร่วมด้วย เป็นตัวสร้างความสมดุลให้ 4 ข้อมันครบบริบูรณ์เต็มที่นั่นเอง
วันนี้อาตมาก็เลยอธิบายเรื่องความหมายของความปรารถนาความต้องการนี่มาซะเยอะ ก็ใช้เวลากันหน่อย แต่ขอย้ำว่าต้องเข้าใจให้ชัดเรื่องความอยากความต้องการ แล้วก็ความต่างระหว่างความอยากความต้องการแต่ละประเภทนี้ คิดว่าไม่มีข้อสงสัยแล้วนะ อันนี้มันจะเป็นความสำคัญอย่างยิ่งเลย ขอแทรกอีกนิดเพราะมันเกี่ยวกับการศึกษา ในการศึกษาเราต้องให้ฉันทะเกิดให้ได้ ถ้าฉันทะไม่เกิด การเรียนก็จะไม่มีความสุข และถ้าเกิดฉันทะเราจะให้กระบวนการเรียนสนุกสนานหรือไม่ เป็นเรื่องเบาแล้ว เป็นเรื่องเพียงแต่มาช่วยเสริมให้เด็กได้รับการกระตุ้นให้เกิดความสนใจ แต่เขาต้องมีฉันทะของเขา ไม่งั้นก็ครูเหนื่อย ต้องมากระตุ้นกันอยู่อย่างนี้ หาทางให้สนุก เวลาจะมาสอนที ก็ไปคิดทำไงจะให้นักเรียนสนุก หาวิธีทำให้สนุก ทีนี้สนุกแบบตัณหานี่ คราวนี้มันสนุก สนุกมากแล้ว ต่อไปก็เบื่อ ชิน คราวหน้าต้องหาทางให้สนุกเพิ่มดีกรีตัณหา ทีนี้สนองกันไม่หยุด หมดแรง คุณครูเหนื่อย ตกลงไปในที่สุดนักเรียนก็หมดเหมือนกัน คือตัณหามันไปไม่ไหว มันก็เลยไม่มีทาง เพราะฉะนั้นต้องระวังนะความหมายก็คือการที่ให้เด็กสนุกในการเรียน การทำให้สนุกคือการกระตุ้นความสนใจเป็นเบื้องต้น เรียกว่าเป็น
บุพภาค เป็นขั้นของปัจจัยภายนอก แล้วเป้าหมายคือการสร้างปัจจัยภายในให้เกิดขึ้น หมายความว่าครูอาจารย์ท่านเรียกว่าเป็น ปะ-ระ-โต-โค-สะ ถ้าเป็น ปะ-ระ-โต-โค-สะ ท่านเรียกว่าเป็นกัลยาณมิตร ก็ไปช่วยกระตุ้น ความหมายก็คือจะต้องไปสร้างปัจัยภายในทำให้เด็กเกิดปัจจัยภายในคือเจ้าตัวฉันทะที่ว่า ถ้าหากว่าไม่มีเป้าหมายก็ไปกระตุ้นกันอยู่อย่างนั้นแหละ อย่างที่ว่าชินชาหนักเข้าก็เบื่อหน่าย แล้วก็กระตุ้นไม่ไหว หมดแรง ถ้าครูมีเป้าหมายไปกระตุ้น เราหาทางให้เด็กเกิดฉันทะ เขาอยากเรียน ใฝ่รู้ขึ้นมา อยากรู้ อยากทำขึ้นมา เอาแล้ว เดี๋ยวเขาเดินหน้าเอง ครูไม่มายังอยากทำเลย ครูไม่มาฉันก็อยากค้น อยากเข้าห้องสมุด อยากไปหาหนังสือดู แล้วดูด้วยความสุข เพราะว่ามันได้สนองความอยาก สนองความอยากที่เรียกว่าฉันทะ เพราะฉะนั้นการศึกษามันมา เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญ พอคนเราเกิดมีความอยากที่เป็นฉันทะ เป็นกุศลเริ่มต้นในการศึกษาก็มาแล้ว แล้วมันจะเปลี่ยนวิถีชีวิต ความสุขมันจะเปลี่ยน มันจะเพิ่มขึ้นมาชนิดที่นึกไม่ถึง แต่ก่อนนี้ยังมีแต่ตัณหา มันอยากได้ อยากเอา อยากเสพ มันได้ มันเอา มันเสพ ก็ต้องสิ่งที่ชอบใจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่พอใจ ที่มันชอบ พอได้สิ่งที่ชอบ ได้เสพก็ชอบใจมีความสุข ความสุขขึ้นกับการเสพสิ่งที่ชอบ แล้วพอเจอสิ่งที่ไม่ชอบ ตรงข้าม ก็ไม่พอใจ ขัดใจ ก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นสุขทุกข์ของเขาก็ขึ้นกับความชอบใจไม่ชอบใจที่เป็นไปตามตัณหา แต่พอฉันทะเกิดขึ้นมันจะเป็นยังไง อยากรู้ อยากทำให้มันดี พอเจออะไร ไอ้นี่มันไม่น่าชอบใจ ไม่ชอบ แต่อยากรู้ว่าจะเป็นยังไง สิ่งที่ไม่ชอบ ก็ชอบ เราสามารถเอาฉันทะมาเปลี่ยนให้คนชอบสิ่งที่ไม่ชอบ แล้วพอเขามีปัญญา คือฉันทะนี่มันต้องมาก่อนปัญญา ไม่เหมือนตัณหา ตัณหานี่ไม่ต้องมีปัญญาหรอกมาเรื่อย แต่ว่าฉันทะจะพัฒนาได้ด้วยปัญญา พอมารู้เข้าใจว่าสิ่งนี้ดีนะเป็นประโยชน์นะ เอาไปใช้นั่นได้นี่ได้ ไม่ได้ชอบเลย แต่พอมีปัญญารู้ขึ้นบ้าง อยากรู้ พออยากรู้ว่าเป็นยังไง สิ่งที่ไม่ชอบ พอรู้ ชอบเลย ชอบเพราะอยากรู้ ทีนี้ทั้งที่สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ชอบ แต่ก็กลายเป็นทำให้มีความสุข ทำให้มนุษย์เมื่อเริ่มมีการศึกษาแล้วเขาจะสามารถมีความสุขได้ แม้กับสิ่งที่ไม่ชอบ แล้วก็จะพัฒนาต่อไป ต่อไปความชอบใจไม่ชอบใจก็จะค่อยๆ หมดความหมายไป เพราะมันไปอยู่ที่การรู้การทำ ทีนี้กระบวนการมันก็มาตามนี้ ก็คืออยากให้มันดี อยากให้มันงาม อยากให้มันสมบูรณ์ แล้วก็อยากทำให้มันเป็นอย่างนั้น อยากรู้ว่าจะทำยังไงให้เป็นอย่างนั้น หรือแม้แต่อยากรู้ก่อนก็ได้ พออยากรู้ว่าเออๆ อันนี้มันเป็นอย่างนี้ ถ้าทำแล้วเป็นอย่างนั้น พอรู้แล้วก็อยากจะทำให้มันเป็นจริงสมตามที่รู้อีก แล้วอยากรู้อยากทำนี่คู่กัน เพราะฉะนั้นเราก็บอกว่าอยากรู้คู่กับอยากทำ แล้วก็จะนำมาซึ่งการศึกษา ถ้าไม่เกิด 2 อันนี้ก็หวังยาก แล้วเด็กก็เรียนอย่างไม่มีความสุข ก็จะเป็นการศึกษาที่ฝืนใจ เพราะฉะนั้นต้องเน้นจุดนี้ ก็คือสร้างฉันทะขึ้นมาให้ได้ แล้วการศึกษาก็จะเดินหน้าไป ตอนนี้ก็มีย้ำอยู่ 2 เรื่องคือ ด้านหนึ่งก็คือฉันทะที่มันขยายมาทางด้านสังคม ก็คือความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ที่ออกมาในคุณธรรมที่เราเรียกว่า พรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี้ โยงกันหมด ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องย้ำไว้ ถ้าเราจับจุดนี้ได้แล้ว คิดว่าพอมองเห็นกระบวนการพัฒนาความสุขเลยว่าจะไปยังไง อ้าว ก็ขอต่อไปนิดหนึ่ง ทีนี้พอเราพัฒนาความต้องการได้ เราก็พัฒนาความสุขได้ มันก็ไปด้วยกัน ก็คือการพัฒนาความต้องการนั้นเอง เป็นการพัฒนาความสุข พอเปลี่ยนตัณหามาเป็นฉันทะ หรือทำให้ฉันทะมากขึ้นได้ เราก็พัฒนาความสุขของเขาได้แล้ว ความสุขของเขาก็เพิ่มขึ้น มีมิติขยายออกไป