แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นะมัตถุ ระตะนัตตะยัสสะ
ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขอความผาสุกความเจริญในธรรม
จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
จากนี้ไป ก็จะได้ปรารภธรรมะ
ตามหลักคำสั่งสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า
นี่ก็ฝนตกตลอด
พรุ่งนี้เช้าเป็นพิธีหล่อพระพุทธรูป หกโมงกว่า
ถ้าฝนตกก็ต้องเลื่อนเวลาไป
พรุ่งนี้เวียนเทียนปฏิบัติธรรมที่โบราณสถาน
ถ้าฝนตกก็ต้องว่าไปตามสภาพ
เราไม่สามารถที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้อย่างใจ
แต่เราสามารถทำใจของเราให้เข้ากับสิ่งต่างต่าง
เรามีสิทธิ์ไหมที่จะทำใจของเรา
ให้เข้ากับเหตุการณ์ กับสิ่งที่เกิดขึ้น
ถ้าเราจะเอาทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้อย่างใจ
มันไม่ใช่เป็นเรื่องวิสัยที่จะทำได้
ถ้าเราไปตั้งความคิด ตั้งเจตนาอย่างนั้น
เราก็จะผิดหวัง เกิดการผิดหวัง
เหมือนอย่างฝนตก
ถ้าเราอยากให้ฝนมันไม่ตก แล้วฝนก็ยังตก
เราก็จะทุกข์ใจว่า มันทำไมมาตก ทำไมไม่หายตก
แต่ถ้าเราทำใจของเราให้ยอมรับ ตกก็ดีเหมือนกัน
ทำใจยอมรับว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างเขาก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
หน้าที่ของเราก็คือต้องทำใจ
ทำจิตใจของเราให้ยอมรับ ซึ่งมีสิทธิ์จะทำได้
เราไปทำฝนไม่ให้ตก เราทำไม่ได้
แต่เราทำใจของเราให้ยอมรับกับฝนตก ทำได้ไหม
ทำจิตใจของเรายอมรับ มันก็เป็นสิ่งที่เราทำได้
ฉะนั้น เราควรจะมาสนใจใส่ใจที่จิตใจของตัวเอง
มากกว่าที่เราจะไปสนใจใส่ใจที่สิ่งอื่น
ถ้าเราฝึกจิตใจของเราได้ เราก็จะอยู่ได้เสมอ
ทั้งเหตุการณ์ที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง
เหมือนกับชีวิตที่เกิดมา
เราห้ามได้ไหมว่า อย่าแก่ อย่าเจ็บป่วย อย่าตาย
อย่าพลัดพราก อย่าเผชิญกับสิ่งที่ไม่ดีต่างต่าง
เราห้ามได้ไหม
ถ้าเราไปมุ่งหวังที่จะห้ามสิ่งเหล่านี้
เราก็จะทุกข์เปล่าเปล่า คือเราจะต้องผิดหวัง
แต่ถ้าเราทำใจลงปลงได้
ความแก่มาถึง เราก็ไม่ทุกข์ใจ
ความเจ็บป่วยมาถึง เราก็ไม่ทุกข์ใจ
ความตายมาถึง เราก็ไม่ทุกข์ใจ
เจอเหตุการณ์ที่ไม่ดีไม่งาม เราก็จะไม่ทุกข์ใจ
ถ้าเราทำใจได้
ถ้าเราทำใจให้เป็น เราก็จะเย็นเมื่อนั้น
ความผิดหวังเป็นทุกข์ไหม
ความสูญเสีย ความพลัดพรากเป็นทุกข์ไหม
ถามว่าที่เราผิดหวัง เพราะอะไรจึงผิดหวัง
ทำไมเราจึงต้องผิดหวัง
ที่ผิดหวังก็เพราะหวังผิด
เพราะหวังผิดนี่เองจึงผิดหวัง ใช่ไหม
ไปหวังในสิ่งที่ไม่เที่ยง จะให้มันเที่ยง
หวังสิ่งที่ไม่ใช่ของเรา ก็ไปหวังว่าเป็นของเรา
จะเอาสิ่งทั้งหลายให้ได้อย่างปรารถนา
มันก็เลยผิดหวัง
เพราะสิ่งที่ไม่เที่ยง ก็ยังต้องคงความไม่เที่ยง
สิ่งที่มีความแตกดับเป็นธรรมดา
สิ่งที่จะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเป็นธรรมดา
เขาก็จะต้องเป็นอย่างนั้น
มันก็จะผิดหวัง เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา
ฉะนั้น ต่อไปเราก็หวังให้ถูก
หวังให้ถูก เราไม่หวังผิด เราก็จะไม่ผิดหวัง
มีสิ่งใดเราก็เข้าใจว่า เรามีสิ่งที่ไม่เที่ยง
มีบุคคล มีสิ่งของ มีอะไรก็ตาม
เราก็รู้ว่าไม่เที่ยง ไม่ได้ตั้งอยู่ ไม่ได้คงที่
ไม่ใช่ของเราโดยแท้
จริงไหม มีอะไรเป็นของเราบ้าง
มีอะไรที่เป็นของเราจริงจริงบ้าง มีหรือ
ที่เราไปยึดถือว่า นี่คือคนของเรา
สามีของเรา ภรรยาของเรา เป็นของเราจริงหรือ
อะไรที่เป็นของเรา
สิ่งนั้นเราจะต้องมีอำนาจในการบังคับได้
บังคับได้ไหม บังคับให้คงที่ อย่าเปลี่ยนแปลง
บังคับได้ไหม มันไม่ได้
แม้แต่ตัวของตนเอง บังคับได้ไหม
บังคับตนเองอย่าแก่ ได้ไหม
อย่าเจ็บป่วย อย่าตาย บังคับได้ไหม
แม้แต่จิตใจตัวเอง บังคับให้คิดดีดีนะ อย่าคิดเสีย
อย่าคิดร้าย อย่าเสียใจ บังคับได้ไหม
เพราะฉะนั้น ชีวิตสังขารร่างกายนี้ก็ไม่ใช่เราเหมือนกัน
ไม่ใช่ตัวเรา เป็นอนัตตาทั้งหมด
ในเมื่อตัวของตัวเอง ก็ยังไม่ใช่ตัวของตนเอง
ยังไม่ใช่ตัวเราของเรา
บุคคลอื่นสิ่งอื่น จะใช่ของเราได้อย่างไร
ถ้าไม่มีเรา จะมีของเราได้ไหม
ถ้าไม่มีตัวเรา มีของเราได้ไหม
การจะมีของเรา มันต้องมีตัวเราใช่ไหม
อันนี้ตัวเราก็ยังไม่มี ของของเราจะมีได้อย่างไร
คำสอนของพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าอย่างไร
ชีวิตสังขารนี้ เที่ยง หรือไม่เที่ยง
สังขารคืออะไร ร่างกาย และจิตใจ
ร่างกายเที่ยง หรือไม่เที่ยง
ไม่เที่ยง ต้องแก่ ต้องป่วย ต้องเจ็บ
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุข หรือเป็นทุกข์เล่า
เป็นทุกข์หมายถึงอย่างไร
หมายถึงทนอยู่ตั้งอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
มีความแปรผันเป็นธรรมดา
ควรหรือจะยึดถือว่า นั่นคือของเรา
นั่นคือตัวเรา นั่นคือตัวตนของเรา
จิตใจ ชีวิตจิตใจขณะนี้มีอยู่ จิตวิญญาณมีอยู่
การรับรู้ รู้สึก ใช่ตัวเราหรือ
การเห็นใช่ตัวเราไหม
ได้ยินใช่ตัวเราหรือเปล่า
คิดนึกใช่ตัวเราไหมขณะนี้
เห็นแล้วดับไปไหม เห็นแล้วเปลี่ยนแปลงไหม
ได้ยินแล้วเปลี่ยนแปลงไหม
บังคับได้ไหมว่า เห็นอย่าดับ เห็นอย่าเกิดมาอีก
ได้ยินอย่าดับ ได้ยินอย่าเกิด บังคับได้ไหม
ถ้าเป็นตัวเราก็ต้องบังคับได้
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่าอย่างไร
เวลาที่เราทำวัตรสวดมนต์ มีคำแปลอยู่
ทำวัตรเช้า ลองเปิดดูซิทำวัตรเช้า
ตรงที่ว่า มีบอกไหมว่า อะไรคือทุกข์
อะไรคือความทุกข์
พระพุทธเจ้าบอกไว้ไหมว่าอะไรคือทุกข์
เวลาที่กระทะใส่น้ำมัน พอมีความร้อนก็เดือดปุด
ความร้อน น้ำก็เดือดผุดผัดผุดผัด
แล้วจนกระทั่งเคี่ยวไป เคี่ยวไป จนแห้ง
โยมว่าอันไหนมันร้อนกว่ากัน
ระหว่างที่มีน้ำมันเดือด กับกระทะที่แห้งลงไป
ขณะความโศกเทียบกับน้ำมันที่เดือด
ปริเทวะเสียงคร่ำครวญ เสียงดังปุดปัดปุดปัดเดือด
จนมันแห้งไปนี่เทียบเท่ากับอุปายาส คับเเค้นใจ
ฉะนั้น คับแค้นใจนี่ ทุกข์มากที่สุด
ไม่มีน้ำตาจะไหล เคยเป็นไหม
เสียใจจนไม่มีน้ำตาจะไหล
บางคนมันเสียอะไรพร้อมพร้อมกัน
ถูกโกง ถูกใส่ร้าย ทั้งเสียทรัพย์ เป็นหนี้ทุกอย่าง
อะไรก็หมด คนที่รักก็จากไป
คนที่เป็นมิตรก็ตีจาก ทุกอย่าง
บางคนไฟไหม้ น้ำท่วม ทุกอย่าง
มันคับเเค้นจนไม่มีน้ำตาจะไหล ทุกข์ที่สุด
นี่ ทุกข์ของชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย
แต่ถ้าว่าโดยย่อแล้ว อะไรคือทุกข์
อุปาทานขันธ์ มีกี่อย่าง ได้แก่อะไรบ้าง
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
มีความรู้สึกสะเทือนอะไรบ้างไหม
สะเทือนสันหลังอะไรบ้างไหม หรือเฉยเฉยอยู่
พวกเราทั้งหลายเป็นผู้ถูกครอบงำแล้ว
โดยอะไร ความเกิด ความแก่ ความตาย
ความเศร้าโศกร่ำไรรำพัน ไม่สบายใจ คับแค้นใจ
ทุกโขติณณา เป็นผู้ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว
สะเทือนบ้างไหม
ทุกขะปะเรตา เป็นผู้มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว
สลดใจบ้างไหม
พวกเราทั้งหลายเป็นผู้ถูกครอบงำแล้ว
ยังจะมัวทำอะไรอยู่
ถูกครอบงำแล้วโดยความเกิด ความแก่ ความเจ็บ
ความตาย ความพลัดพราก ความทุกข์ทั้งหลาย
ทุกโขติณณา เป็นผู้ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว
เป็นผู้มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว
ยังมีรอข้างหน้าอีกด้วยอย่างนี้
ถ้าเราทบทวนตรงนี้ให้มาก ให้จิตเราเกิด
เราจะเกิดธรรมสังเวช
เราจะรู้สึกว่า ชีวิตนี้เราตกอยู่ในกองทุกข์
ปัจจุบันก็เจอทุกข์ผ่านมาแล้ว
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
น้ำตาที่หลั่งไหลเพราะความเศร้าโศก
บางครั้งเสียพ่อ บางครั้งเสียแม่
บางครั้งเสียพี่ เสียน้อง เสียบุคคลอันเป็นที่รัก
ต้องหลั่งน้ำตาเศร้าโศก
น้ำตาแต่ละชาติที่ร้องไห้เศร้าโศก เก็บรวมไว้ได้
จะมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้งสี่
โยมที่ร้องไห้ในอดีตที่ผ่านมา
ร้องไห้จนน้ำตามากกว่าน้ำในมหาสมุทร
โยมลองคิดว่า
โยมจะผ่านความทุกข์มานานยาวขนาดไหน
ที่จะได้น้ำตามากกว่าน้ำในมหาสมุทร
ชาติหนึ่งร้องทั้งวันทั้งปี ได้น้ำตาเท่าไร
ถึงปี๊บไหม แล้วกี่ชาติ ร้องกี่ชาติ กี่ชาติ
ถึงจะมีน้ำตา เท่ากับน้ำในมหาสมุทร
นี่คือการเวียนว่ายตายเกิดที่มันยาวนาน ที่เราผ่านมา
ไม่ปรากฏเบื้องต้นเบื้องปลาย แต่เราจำไม่ได้
แต่นี่คือพุทธดำรัสนะโยม
พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัส
พระพุทธเจ้าตรัสโกหกใครได้ไหม ไม่มีโกหก
เพราะฉะนั้นเราจำไม่ได้ เราก็จำได้เพียงชาตินี้
ชาตินี้บางทีก็ลืมไปเยอะแล้ว
แต่เอาเพียงแค่ชาตินี้
ผ่านความทุกข์มาเท่าไรแล้ว
ระหว่างความสุข ความทุกข์
ลองเทียบลองชั่งกันดูซิ อันไหนมากกว่ากัน
ความสุขกับความทุกข์ อันไหนมาก
เป็นผู้ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว โดยความเกิด
โดยความแก่ โดยความเจ็บ โดยความตาย
เป็นผู้มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว
ยังรออยู่ข้างหน้าอีก
ถ้าโยมไม่หาทางออกจากทุกข์ ไม่ปฏิบัติธรรม
ไม่สร้างสติปัญญารู้แจ้ง ไม่หลุดพ้น
การเป็นอย่างนี้ จะรออย่างนี้ไปอีกนับไม่ถ้วน
ไม่กลัวหรือ ไม่ห่วง ไม่สงสารตัวเองหรือว่า
เราจะต้องไปร้องไห้คับเเค้นใจอีกเยอะข้างหน้า
ทำไฉน การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้
จะพึงปรากฏชัดแก่เราได้
นั่งบ่นเพ้อกันอยู่มานานแล้ว ใช่ไหม
สวด ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้
จะพึงปรากฏชัดแก่เราได้
ทำอย่างไร ทำไฉน
เราทั้งหลายต้องถึงพระพุทธเจ้า
ต้องถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
ถึงพระธรรมเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก
ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก
จะทำในใจอยู่ ปฏิบัติตามอยู่
ทุกวันนี้ปฏิบัติตามหรือเปล่า
ซึ่งคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทำในใจอยู่ ปฏิบัติตามอยู่
ซึ่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นั้นตามสติกำลัง
ขอให้ความปฏิบัตินั้นนั้นของเราทั้งหลาย
จงเป็นไปเพื่อการทำที่สุดแห่งกองทุกข์
ปฏิบัติเพื่อที่สุดแห่งทุกข์
เราบอกตัวเองว่า ขอการปฏิบัติของเรา
เพื่อเป็นไปเพื่อการดับทุกข์
เราจะต้องปฏิบัติอย่างไร เพื่อความดับทุกข์
เราไปเล่น ไปเที่ยว ไปกิน ไปสนุกสนาน
พ้นทุกข์ไหม ปฏิบัติอย่างนั้น
ไปคด ไปโกง ไปเบียดเบียนเขา ไปทำร้ายเขา
ทุจริตโกหกหลอกลวง
นั่นคือข้อปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์หรือเปล่า
เพราะฉะนั้นเมื่อเราปฏิญาณว่า
เราจะปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ เราต้องปฏิบัติอย่างไร
ต้องมีกายสุจริต วาจาสุจริต มโนสุจริต
ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
แล้วก็พิจารณาให้เห็นแจ้ง
ในชีวิตสังขารของตัวเองตามความเป็นจริง
ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้อย่างไร
คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น
มีเป็นไปในสาวกส่วนมาก ว่าอย่างไร
คำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ที่ตรัสสั่งสอนไว้เป็นส่วนมาก รวมลงที่อย่างไร
รูปังอนิจจัง รูปไม่เที่ยง
ตรงไหนคือรูป
สรีระร่างกาย ตาหูจมูกลิ้นอวัยวะต่างต่าง เรียกว่ารูป
สีเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เย็นร้อนอ่อนแข็ง นี่รูปขันธ์
พระพุทธเจ้าตรัสว่า รูปังอนิจจัง รูปไม่เที่ยง
เวทนาอนิจจา แปลว่าอะไร อะไรคือเวทนา
ตอนนี้มีหรือยัง ความปวดเมื่อย
ปวด เมื่อย เจ็บ เหนื่อย มีมาหรือยัง
สบาย หรือไม่สบาย
บางส่วนของร่างกาย ปวดเมื่อยไปทั้งหมดไหม
หรือมีสบายบ้าง
อากาศขนาดนี้สบายไหม
บางคนไม่สบาย บางคนสบาย
หายใจเข้าสบาย หรือไม่สบาย
หายใจออกสบาย หรือไม่สบาย
บางส่วนสบาย บางส่วนไม่สบาย นี่คือเวทนา
ใจเป็นอย่างไรขณะนี้
สบายใจ หรือไม่สบายใจ หรือเฉยเฉย
หยั่งดูซิ เรามีสติเข้าไปหยั่งรู้ว่า ใจขณะนี้
รู้สึกสบายใจ หรือไม่สบายใจ หรือเฉยเฉย
อ่านใจให้ออก
เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า เวทนาอนิจจา
เวทนาไม่เที่ยง
ความสบายไม่สบาย เฉยเฉย เที่ยงหรือไม่เที่ยง
ดูซิว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่ามันไม่เที่ยงนะ
มันเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงตลอด
ให้เห็นตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างนี้
แล้วจะออกจากทุกข์ได้
นี่คือการทำที่สุดแห่งทุกข์ที่เราบอก
ปฏิบัติตามคำสอน ใส่ใจ
ดูให้เห็นตามที่พระพุทธเจ้าตรัส
รูป รูปที่นั่งอยู่ หายใจเข้าออกอยู่นี่ เที่ยงหรือไม่เที่ยง
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุข หรือเป็นทุกข์
เป็นทุกข์หมายความว่าอย่างไร
ทุกข์หมายถึงการตั้งอยู่ คงทนอยู่ไม่ได้
ต้องแตกต้องดับไป
รูป พอมันแปรเปลี่ยน แล้วมันก็ดับ
แปรแล้วก็ดับ แปรแล้วเปลี่ยน
การที่มันต้องเกิดเเล้วต้องดับไป
อาการเหล่านี้คือ ทุกขลักษณะ
ส่วนทุกขเวทนาคือมันปวด มันเจ็บ มันไม่สบาย
สี เสียง กลิ่น รส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
มันแปรเปลี่ยนแล้วมันก็ดับไป นี่เป็นทุกข์
สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์
มีความแปรผันเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นเป็นอัตตา หรือเป็นอนัตตา
อัตตาแปลว่าตัวตน อนัตตาแปลว่าไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น สรีระร่างกายนี้ ใช่ตัวเราหรือ
ไม่ใช่ตัวเรา
แต่เป็นของเราหรือ
เป็นของเราไหม ไม่ใช่
แต่อยู่ในเราใช่ไหม
ใช่ ก็ยึดมั่นถือมั่นจนได้ อุปาทานยังมีอยู่
แต่ความจริงแล้วร่างกายนี้
รูปเหล่านี้อยู่ในเราหรือไม่ ไม่ได้อยู่ในเรา
มีเรามาอยู่ในร่างกายนี้ไหม มีไหม ไม่มี
แต่มีเราอยู่ต่างหากใช่ไหม มีไหม
การยึดถือยึดมั่น มันจะยึดอยู่สี่ประการ
ยึดขันธ์ห้านี่ หนึ่งยึดว่าเป็นตัวเรา
สองยึดว่าเป็นของเรา
สามยึดว่าอยู่ในเรา
สี่ยึดว่ามีเรามาอยู่ในขันธ์ห้า
มันยึดอยู่สี่ประการ
เอาสี่ไปยึดขันธ์ห้าเป็นเท่าไร สี่คูณห้า
ยี่สิบประการ เรียกว่าสักกายทิฏฐิ
สักกายทิฏฐิ ยึดขันธ์ห้าเป็นตัวตนยี่สิบประการ
เพราะฉะนั้นโยมต้องละให้ได้ แล้วก็หลุดพ้น
ทำไฉนการทำที่สุด
พระพุทธเจ้าแสดง ปัญจวัคคีย์
จะถึงอยู่แล้ววันพรุ่งนี้ ครบรอบอาสาฬห
แสดงธรรมจักร อัญญาโกณฑัญญะบรรลุเป็นโสดาบัน
และอยู่มาอีก วันต่อต่อมาที่เหลือ
โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ (ขอเติม อัสสชิ ให้ครบค่ะ ขอตัดชื่อแรกทิ้งเพราะผิดจากเนื้อความ 2 บรรทัดที่ผ่านมา )
ก็บรรลุพระโสดาบันแล้วก็บวชทั้งหมด
อัญญาโกณฑัญญะบวชวันแรก
จากนั้นพระพุทธเจ้าก็แสดง อนัตตลักขณสูตร
แสดงเรื่องขันธ์ห้า ให้เห็นเป็นอนัตตา
พระองค์ถาม ถามแล้วตอบ ถามสาวกปัญจวัคคีย์
รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง
สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นสุข หรือเป็นทุกข์
เมื่อสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
มีความแปรผันเป็นธรรมดา
ควรหรือเธอจะยึดถือว่านั่นเป็นตัวเรา นั่นคือตัวตน
ก็ถามไปทีละข้อ เวทนาเที่ยง หรือไม่เที่ยง
เพราะฉะนั้น ก็เอามาถามโยม เผื่อจะได้บรรลุ
ครั้งหนึ่งมีพระนันทกะ
พระพุทธเจ้าให้ไปสอนภิกษุณี
ท่านไปถึงสำนักภิกษุณี
ท่านก็ไม่ได้เทศน์อะไร ถามเลย
ดูก่อนน้องหญิง รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง
สมัยนั้นเขาเรียกกัน
พระจะเรียกภิกษุณีว่าน้องหญิง
เพราะพระเปรียบเหมือนพี่ชาย
ภิกษุณีก็ดี อุบาสิกาก็ดี เทียบกับเป็นน้อง
อุบาสกก็เป็นน้องชาย
เพราะฉะนั้น อุบาสิกาหรือภิกษุณี ก็เป็นน้องหญิง
ที่จริงท่านเรียกถูกแล้ว น้องหญิง สมัยก่อนนี้
ท่านก็ไปถาม ดูก่อนน้องหญิง
รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง ไม่เที่ยงเจ้าข้า
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุข หรือเป็นทุกข์เล่า
เป็นทุกข์เจ้าข้า
เมื่อสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
มีความแปรผันเป็นธรรมดา
ควรหรือที่เธอจะยึดถือว่า นั่นเป็นของเรา
เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตน
ไม่ควรยึดถือเจ้าข้า
แล้วถามไปทีละข้อ เวทนาเที่ยง หรือไม่เที่ยง
สัญญา สังขาร วิญญาณ ตอบทั้งหมด
เอามาถามโยมบ้าง เผื่อจะบรรลุ
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
มีความแปรผันเป็นธรรมดา
ควรหรือที่เธอจะยึดถือว่า นั่นเป็นของเรา
เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา
สังขารขันธ์ในที่นี้หมายถึงสิ่งที่ปรุงแต่งจิต
สังขารแบบทั่วไปก็ สังขารคือร่างกาย และจิตใจ
แต่สังขารขันธ์หมายถึง สิ่งที่ปรุงแต่งอยู่ในจิตใจ
ปรุงแต่งให้รักบ้าง ปรุงแต่งให้โกรธ ให้เกลียดให้กลัว
บางครั้งปรุงแต่งให้กลัวได้ไหม
นอนไป มันจะโผล่มาหรือเปล่า
ได้ข่าวว่ามเหยงค์ผีดุ
จำมาแล้วก็เอามาคิดปรุงแต่ง มันก็กลัว
ความกลัวไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง มันเกิดจากความปรุงแต่ง
เราต้องมาคิดนึกปรุงแต่ง มีข้อมูลมาปรุง
มันก็กลัว จิตเรามันปรุงแต่งไว
คนสองคนเดินไปด้วยกัน
มันไปกันมืดมืดสลัวสลัว
คนหน้ามันเห็นมีอะไรพาดกลางถนน
มันกระโดดหนีเลย มันบอกงู
คนหลังก็กระโดดตาม
คนหลังก็บอก เกือบโดนฉกเลย
มันเห็นแว็บ เห็นงูฉกขามัน
คนหน้าหันกลับมามอง งูตายนี่
คนหลังบอก เหม็นเลย เหม็นเน่าทันทีเลย
มันได้กลิ่นเหม็นเลยทันที
พอบอกว่างูตายมันเหม็นเลย นี่มันปรุงแต่ง
คนหน้าดูไปดูมา ไม่ใช่งู เป็นเชือก
เห็นไหม เชือกมันจะเหม็นเน่าได้อย่างไร
คือจิตมันปรุงแต่งไว
พอได้ข้อมูลว่างู มันเห็นว่าฉกเลย
มันคิดว่างูมันฉกได้ใช่ไหม
จิตเรานี่ปรุงไปขนาดนั้น ปรุงภาพงู
พอว่างูตาย มันปรุงว่าเหม็นเน่า
เพราะความตายมันจะต้องเหม็นใช่ไหม เน่า
จิตมันปรุงได้ คนเราบางทีมันปรุง
เหมือนเหม็นเลย เขาก็ไม่ได้โกหก
แต่จิตมันไปอย่างนั้นได้จริงจริง
บางทีจิตมันปรุงไปเอง
ปรุงให้กลัว ปรุงให้ห่วงให้หวง ให้วิตกกังวลได้หมด
นี่คือสังขาร
ตัวสังขารที่ตรึกนึกปรุงแต่งนี่
ถามว่า เที่ยงหรือไม่เที่ยง ตั้งอยู่ได้ไหม
ต้องแตกดับไปอยู่เรื่อยเรื่อย เป็นสุข หรือเป็นทุกข์
เป็นทุกข์หมายถึง ทนอยู่ตั้งอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้
แปรแล้วก็ดับไป ดับไป บังคับได้ไหม
ควรหรือจะยึดถือว่า สังขารเหล่านี้เป็นของเรา
เราเป็นสังขาร สังขารเป็นตัวตนของเรา
ควรยึดถือไหม
เพราะฉะนั้น สังขารเหล่านี้ใช่ตัวเราหรือ
ที่ปรุงแต่งอยู่นี่ ใช่ตัวเราหรือ
เป็นของเราหรือ อยู่ในเราหรือ
มีเรามาอยู่ในสังขารนี้หรือ
ขันธ์สุดท้ายคืออะไร วิญญาณขันธ์
วิญญาณมีลักษณะอย่างไร
เป็นธาตุรู้ รับรู้ รู้เรื่องรู้ราว รู้สึก นึกคิด
ขึ้นมาทางตาก็เห็น
ฉะนั้น ขณะนี้มีวิญญาณอยู่ในตัวไหม
มีวิญญาณมาแฝงอยู่ในร่างนี้ไหม
แต่ละคน มีไหม
คนที่ไม่มีวิญญาณแฝงอยู่คืออย่างไร คนตาย
ฉะนั้น ขณะนี้มีวิญญาณอยู่ทุกคน
บังคับให้นั่งอยู่นี่ ปวดขาก็ยังต้องนั่งอยู่
วิญญาณมันบอก ไม่ได้เรามาบวชอยู่
นั่งอยู่ แล้วต้องทนอยู่อย่างนี้
กายก็จะแย่อยู่แล้ว ปวดเจ็บ
แต่วิญญาณมันบังคับอยู่
วิญญาณที่เกิดขึ้นทางตา ทำหน้าที่อะไร เห็น
ถ้าวิญญาณมาเกิดที่หู ทำหน้าที่ ได้ยิน
มาเกิดที่ลิ้น รู้รส เกิดที่จมูก รู้กลิ่น
เกิดที่กาย รู้สึกโผฏฐัพพะ
รู้สึกเย็น ร้อน อ่อน เเข็ง หย่อน ตึง
เกิดที่ใจ มันก็นึกคิด รับรู้ รู้เรื่องรู้ราวต่างต่าง
แล้วมันดับไหม เห็นแล้วดับไหม ได้ยินดับไหม
รู้กลิ่นดับไหม รู้รสดับไหม รู้เย็นร้อนดับไหม
คิดนึกดับไหม มันดับไป
เพราะฉะนั้น วิญญาณเที่ยง หรือไม่เที่ยง
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุข หรือเป็นทุกข์เล่า
เมื่อสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
มีความแปรผันเป็นธรรมดา
ควรหรือจะยึดถือว่า นั่นเป็นของเรา
เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา
ฉะนั้น สรุปแล้วในชีวิตนี้มีอะไรอยู่
ชีวิตนี้ประกอบด้วย ขันธ์ห้าคืออะไรบ้าง
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ถามว่าจิตวิญญาณที่รับรู้ขณะนี้ ใช่ตัวเราไหม
ไม่ใช่ตัวเรา แต่มันอยู่ในเรา ใช่ไหม
ไม่ใช่ ไม่ได้อยู่ในเรา
แต่มันเป็นของเราใช่ไหม
แต่มีเรามาอยู่ที่วิญญาณนี้ใช่ไหม ไม่มี
แต่มีเราอยู่ต่างหากใช่ไหม
ต้องละความยึดถือให้หมด
ฟังไปนี่ ถ้าเรากำหนดไป
จิตเราปล่อยวางได้ จิตเราก็จะหลุดพ้น ก็เบา
จิตที่ยังยึด ยังเอา ยังหนัก
ยิ่งเอา ยิ่งหนัก ยิ่งยึดยิ่งหนัก
หนักอกหนักใจ เพราะจิตเราไปยึดถือ
ถ้าวางก็จะเบา เอาก็หนัก
วางลงปลงได้ ปลดปลงลงวาง ก็ว่างสบาย
เพราะฉะนั้นต้องวาง
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ขันธ์ห้าเป็นของหนักเน้อ
บุคคลแหละเป็นผู้แบกของหนักพาไป
โยมมีกี่ขันธ์ห้า ตัวของตัวเองมีกี่ขันธ์
ห้าขันธ์ แล้วแบกอีกกี่ขันธ์
ตนเองมีห้าขันธ์ สามีอีกกี่ขันธ์
สามีภรรยาอีกห้าขันธ์
ลูกอีกกี่ขันธ์ คนละห้าขันธ์ มีกี่ลูก แล้วไหวเหรอ
มีฝรั่งที่สวิส(Swiss)สอบอารมณ์
คนไทยเขาบอกว่าอาจารย์ ฉันไปรับขันธ์มา
ฉันไปรับขันธ์มา ฉันจะไปคืนดีไหม คืนขันธ์
อาตมาก็บอกว่า เฉพาะตนเองก็ห้าขันธ์แล้ว
ยังไปรับมา ห้าขันธ์นี่ก็หนักอยู่แล้ว
ยังไปรับเพิ่มอีก โยมก็คิดเอาเอง
ฝรั่งหัวเราะก๊ากเลย
ไม่รู้ไปรับขันธ์อะไรมาอีกไม่รู้ เขาว่า
ขันธ์ตัวเองก็หนัก
ฉะนั้นชีวิตนี้มันเป็นของหนัก
ที่เราหนักเพราะเรายึด
วางลงปลงได้ ปลดปลงลงวางก็เบา
พระที่พระพุทธเจ้าส่งไปถามภิกษุณี
ท่านก็ถาม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ดูก่อนน้องหญิง รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง
ถามไปจนจบ กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า
ภิกษุณีเหล่านั้นยังไม่ได้บรรลุธรรม
ตอบได้ทุกข้อเลยแต่ไม่ได้บรรลุ
ให้เธอกลับไปสอนอีก พระรูปนั้นท่านก็ไป
ไปแล้วก็ไม่ได้สอนอย่างอื่น เหมือนเดิมอีก
ดูก่อนน้องหญิง รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง
ถามไปหมด ทุกข้อทุกข้อ ตอบ
กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ก็รับรองว่า ครั้งนี้ภิกษุณีบรรลุธรรม
รอบแรกไม่บรรลุ พอไปรอบที่สองบรรลุธรรม
โยมนี่จะสักกี่รอบดีไม่รู้ ถึงจะบรรลุ
เวทนาเที่ยง หรือไม่เที่ยง
พอบอกว่าเวทนา มันก็ต้องมาอธิบายอีก
เวทนาคืออะไร ของเขาน่ะรู้อยู่แล้ว เวทนา
รูป เวทนา สัญญา สังขาร
ของเราต้องมาอธิบาย เวทนาคืออะไร
ลืมไปอีก แล้วมันจะเห็นชัดได้อย่างไร
เวทนาคือเสวยอารมณ์ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยบ้าง
เที่ยง หรือไม่เที่ยง
เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ บังคับได้ไหม
ฉะนั้นเวทนานี้ ใช่ของเราหรือ
เป็นตัวเราหรือ
อยู่ในเราหรือ
มีเรามาอยู่ในเวทนานี้หรือ
มีเราอยู่ต่างหากหรือ
สัญญาจำได้หมายรู้ เที่ยง หรือไม่เที่ยง
เป็นสุข หรือเป็นทุกข์
เป็นตัวตน หรือไม่ใช่ตัวตน
ใช่ของเราหรือ
เป็นตัวเราหรือ
อยู่ในเราหรือ
มีเรามาอยู่ในสัญญานี้หรือ
มีเราอยู่ต่างหากหรือ
สังขารเที่ยงหรือไม่เที่ยง
สังขารคืออะไร สิ่งที่ปรุงแต่งในจิตใจ
เดี๋ยวรักเดี๋ยวชัง ปรุงแต่ง วิตก วิจารณ์ วิจัย สงสัย
เที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นสุขหรือเป็นทุกข์
เป็นทุกข์หมายถึง ตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องดับไป
บังคับได้ไหม
อย่าเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนไหม
บังคับว่าอย่าเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนไหม เปลี่ยน
บังคับว่าอย่าเกิดมาอีก เกิดไหม
บังคับอย่าดับ มันดับไหม ไม่ได้อยู่ในอำนาจ
เพราะฉะนั้น สังขารใช่ตัวเราหรือ
เป็นของเราหรือ
อยู่ในเราหรือ
มีเรามาอยู่ในสังขารนี้หรือ
วิญญาณเที่ยง หรือไม่เที่ยง
วิญญาณคืออะไร วิญญาณคือธาตุรู้ รับรู้
รู้เห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส นึกคิด
รับรู้ รู้เรื่องรู้ราว หรือเรียกว่าจิต
หรือเรียกว่าวิญญาณขันธ์ เรียกว่าจิต
เรียกว่ามโน เรียกว่าใจ
เที่ยงหรือไม่เที่ยง
เป็นสุขหรือเป็นทุกข์
เป็นทุกข์ หมายถึง ตั้งอยู่ไม่ได้ต้องดับไป
บังคับได้ไหม
ให้คิดดีดีได้ไหม
สิ่งที่คิดดีแล้วอย่าดับไปได้ไหม
คิดไม่ดี บังคับอย่าให้เกิดได้ไหม
เพราะฉะนั้น วิญญาณใช่ตัวเราหรือ
เป็นของเราหรือ อยู่ในเราหรือ
มีเราอยู่ในวิญญาณนี้หรือ
ขันธ์ห้านี้ใช่ตัวเราหรือ
เป็นของเราหรือ
อยู่ในเราหรือ
มีเรามาอยู่ในขันธ์ห้านี้หรือ
มีเราอยู่ต่างหากหรือ
แล้วที่รู้ว่านี่คือขันธ์ห้า นั้นคือเราใช่ไหม
ที่ฟังอยู่นี่คือเรา ที่ได้ยินอยู่นี่คือเราใช่ไหม
เป็นของเราหรือ
เพราะฉะนั้น ขันธ์ห้านี้ ไม่ใช่เราหรือ
ไม่ใช่ตัวเราหรือ
ไม่ได้อยู่ในเราหรือ
ไม่ได้มีเรามาอยู่ในขันธ์ห้านี้หรือ
ที่ฟังอยู่นี้คือตัวเราหรือ
ขันธ์ห้าไม่ใช่ตัวเราหรือ ตอบว่าอย่างไร
ขันธ์ห้าไม่ได้อยู่ในเราหรือ
ขันธ์ห้าไม่ใช่ของเราหรือ
ขันธ์ห้าไม่ได้อยู่ในเราหรือ
ไม่มีเรามาอยู่ในขันธ์ห้านี้หรือ
มีเราอยู่ต่างหากหรือ
มองเห็นอยู่นี้ คือไม่ใช่ตัวเราหรือ
แต่เป็นของเราหรือ
ฟังอยู่นี้คือตัวเราหรือ
ปวดอยู่นี้ไม่ใช่ตัวเราหรือ ไม่ใช่ของเราหรือ
เพราะฉะนั้นก็ปล่อยเขาไป ปวดไม่ใช่เรา
เดือดร้อนอะไร ไม่ใช่ตัวเรา เดือดร้อนไหม
ไม่เดือดร้อน ก็นั่งไปเรื่อยเรื่อย
ถามจริงจริง มันเดือดร้อนหรือเปล่า
ไม่เดือดร้อนก็เทศน์ไปเรื่อยเรื่อยยาวยาว
ที่ปวดที่เจ็บอยู่นี่ เดือดร้อนไหม เป็นทุกข์ไหม
ใครทุกข์ ที่ทุกข์นี่ใครทุกข์
เราทุกข์จนได้ นึกว่าจะหลุด นึกว่าจะหลุดพ้นจริง
ตัวเราอีก ยังไม่หลุด
ที่ตอบมาทีแรกแสดงว่า
ตอบเพราะเห็นแจ้ง หรือตอบเพราะคิดเอา
จำตอบ หรือว่ารู้แจ้ง
ฉะนั้น ต้องฟังหลายหลายรอบ
ก็โมทนาสาธุ ขอให้จิตใจพิจารณาบ่อยบ่อย
แล้วก็จะได้หลุดพ้น
พระพุทธเจ้าตรัสว่าอริยสาวกผู้ได้สดับ
เมื่อพิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้
พิจารณาอยู่อย่างนี้มากขึ้นบ่อยบ่อยขึ้น
ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย แม้ในรูป
เบื่อหน่ายแม้ในเวทนา
เบื่อหน่ายในสัญญา สังขาร วิญญาณ
เมื่อเบื่อหน่าย จิตก็จะคลายกำหนัด
เมื่อคลายกำหนัด จิตก็หลุดพ้น
เมื่อหลุดพ้น ก็จะมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว
ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ได้ทำจบแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มีอีกแล้ว
ขอให้ทุกท่านได้เข้าถึงความพ้นทุกข์
โดยถ้วนหน้ากันทุกท่านเทอญ
----------------------------------------------