แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นะมัตถุ ระตะนัตตะยัสสะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขอความผาสุกความเจริญในธรรม
จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
ต่อไปนี้ก็จะได้ปรารภธรรมะ
ตามหลักคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ให้ได้มีโอกาสศึกษาแนวทางการปฏิบัติตนให้ถูกต้อง
ตามหลักในทางพระพุทธศาสนา
การได้ฟัง การได้ศึกษา การได้ปฏิบัติคำสอน
ตามหลักในพระพุทธศาสนา
เราก็จะมีที่พึ่ง มีที่อาศัย เป็นไปที่ถูกต้อง
พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงที่พึ่งไว้
ให้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง
มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง
อันนี้ก็ได้ตรัสกับพระอานนท์ในพรรษาสุดท้าย
ก่อนที่พระองค์จะดับขันธปรินิพพาน
ในครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคได้ทรงประชวรหนัก
พรรษาสุดท้าย พระองค์ประชวรหนักที่เมืองเวสาลี
ท้าวสักกเทวราชได้ทราบ ได้ลงมาปรนนิบัติ
มานวดพระบาทของพระผู้มีพระภาค
พระองค์ได้ตรัสถามว่า นั่นใคร
ข้าพระองค์เองท้าวสักกเทวราช พระพุทธเจ้าข้า
พระพุทธองค์ตรัสว่า ธรรมดากลิ่นของมนุษย์
มนุษย์นี่ปรากฏแก่เทวดาทั้งหลายดุจซากศพ
ฉะนั้น ขอให้ท่านกลับไปเถิด
คิลานุปัฏฐากของเรามีอยู่แล้ว
ท้าวสักกเทวราชกราบทูลว่า ข้าพระองค์มาด้วยกลิ่นศีล
ถึงจะอยู่ไกลแต่กลิ่นศีลของพระองค์ มาด้วยกลิ่นศีล
แล้วได้นำภาชนะบังคนหนัก
ภาชนะที่สำหรับถ่ายหนักของพระพุทธเจ้า
ท้าวสักกะได้นำภาชนะบังคนหนัก ทูนบนพระเศียร
เดินไปโดยไม่ให้ใครต้องแตะต้อง
เหมือนถือภาชนะของหอมไปฉะนั้น
จะเห็นว่า ความเคารพ ความศรัทธา ความเลื่อมใส
ของท้าวสักกเทวราช หรือพระอินทร์
ที่มีต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทำให้มองข้ามสิ่งที่น่ารังเกียจได้
ภาชนะบังคนหนัก ก็คือที่ใส่อุจจาระนั่นเอง
ถือทูนไปบนพระเศียร
ธรรมดาเทวดา ถ้าไม่จำเป็นเขาก็ไม่มาใกล้มนุษย์
เพราะว่ามนุษย์จะมีกลิ่นเหม็นสำหรับเทวดา
ปรากฏเหมือนซากศพ เหมือนเราเหม็นซากศพ
เทวดาก็เหมือนกัน เขาจะเหม็นกลิ่นมนุษย์ดุจซากศพ
แต่สำหรับผู้มีศีล ผู้มีความบริสุทธิ์ เทวดาเข้ามาใกล้
ยังเอาภาชนะใส่ถ่ายหนักทูนบนเศียรเดินไปด้วยซ้ำ
ความศรัทธา ความเคารพ มาด้วยกลิ่นศีล
จนกระทั่งพระผู้มีพระภาคเจ้าค่อยยังชั่ว
คลายจากพระโรคาพาธ
ท้าวสักกเทวราชจึงได้กลับไปสู่สวรรค์
พระพุทธเจ้าก็ได้ออกมานั่งหลังวิหาร
พระอานนท์ก็ได้เข้าไปกราบทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ข้าพระองค์ เมื่อเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า
หายจากโรคาพาธ ก็ค่อยเบาใจ
เห็นความอดทนของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วก็เบาใจ
แต่แม้กระนั้น กายของข้าพระองค์ก็หนักอึ้ง
ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏ ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้ง
แต่ข้าพระองค์ก็ยังเบาใจว่า
ตราบใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่ปรารภสงฆ์
ตรัสอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว
พระองค์ก็จะยังไม่ปรินิพพาน
พระอานนท์เข้าใจอย่างนั้นว่า ธรรมดาแล้วว่า
ถ้าพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานจริงจริง
จะต้องมีการประชุมสงฆ์
จะต้องมีการตรัสอย่างใดอย่างหนึ่งกับสงฆ์ก่อน
ก็เป็นความจริงอย่างนั้น
พระพุทธองค์จึงตรัสว่า อานนท์
ภิกษุสงฆ์จะหวังอะไรจากตถาคตอีกเล่า
ตถาคตได้แสดงธรรมแก่พวกเธอทั้งหลาย
ไม่มีนอก ไม่มีใน ไม่มีอะไรซ่อนเร้น
ไม่มีอะไรปิดบัง บอกให้ทุกอย่างทุกสิ่ง
ตถาคตจะปรารภสงฆ์อีกคราวเดียว
แล้วได้ตรัสว่า อานนท์
สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดา
พวกเธอทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด
ในครั้งนั้น พระองค์ได้ตรัสเตือนสติ
ให้พระสงฆ์ไม่ประมาท ได้ตรัสประพันธ์เป็นคาถาว่า
สัตว์โลกทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้า
ภาชนะดินไม่ว่าชนิดใด
ย่อมมีความแตกทำลายไปในที่สุด
ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน
ก็จะต้องแตกทำลายในที่สุด
วัยของเราแก่หง่อมแล้ว
ผ่านวัยมาถึงแปดสิบปี ล่วงวัยมาถึงแปดสิบปี
เกวียนเก่าคร่ำคร่าที่ยังใช้การได้
เพราะซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ ฉันใด
กายของตถาคตที่ดำรงอยู่ได้ ก็ฉันนั้น
อานนท์ พวกเธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง
จงมีธรรมเป็นเกาะเป็นที่พึ่งเถิด
ภิกษุมีตนเป็นเกาะเป็นที่พึ่งอย่างไร
มีธรรมเป็นเกาะเป็นที่พึ่งอย่างไร
ก็คือมีสติปัฏฐานสี่
มีการเจริญสติปัฏฐานสี่ ปรารภความเพียร
ในการพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เนืองเนือง
พิจารณาเวทนาในเวทนาอยู่เนืองเนือง
พิจารณาจิตในจิตอยู่เนืองเนือง
พิจารณาธรรมในธรรมอยู่เนืองเนือง
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้
ดูก่อนอานนท์ ภิกษุทั้งหลาย
ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลที่ตถาคตล่วงลับไปแล้วก็ดี
ภิกษุใดเป็นผู้ใคร่ในการศึกษาสติปัฏฐานสี่เหล่านี้อยู่
ภิกษุนั้นจะเป็นผู้ประเสริฐสุด จะเป็นผู้ประเสริฐสุด
แสดงให้เห็นถึงสติปัฏฐานสี่นี่มีความสำคัญ
ตรัสถึงที่พึ่ง ให้มีที่พึ่ง คือ มีสติปัฏฐานสี่
สงฆ์จะหวังอะไรจากตถาคตอีกเล่า
ธรรมที่เราแสดงแล้ว บอกแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย
ไม่มีนอก ไม่มีในแล้ว ไม่มีอะไรปิดบังซ่อนเร้น
เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสให้พึ่งตน
มีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ
มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นสรณะ
มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นสรณะ อยู่เถิด
ภิกษุมีตนเป็นเกาะ เป็นสรณะ
มีธรรมเป็นเกาะเป็นสรณะ ก็คือการมีสติปัฏฐานสี่
สติปัฏฐานสี่
การกำหนดพิจารณากายในกายอยู่เนืองเนือง
เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมอยู่เนืองเนือง
กายก็คือลมหายใจเข้าออก
กำหนดพิจารณารู้กาย ก็คือรู้ลม
หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้ อยู่เนืองเนืองอยู่
หายใจเข้ายาวออกยาว รู้ชัด
หายใจเข้าสั้นออกสั้น รู้ชัด
รู้ตลอดกองลมหายใจเข้าออก
ปรับผ่อน ผ่อนระงับลมหายใจเข้าออก
ปรารภความเพียรอยู่ ด้วยความไม่ประมาท
อาตาปี คือความเพียร
สัมปชาโน ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม
สติมา ความระลึกได้
กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้
อภิชฌา ก็คือการเพ่งเล็งจะเอาให้ได้ ต้องละออกไป
โทมนัส ก็เป็นความยินร้ายปฏิเสธหักล้าง
ต้องละเช่นเดียวกัน
ระลึกศึกษาด้วยจิตใจที่เป็นกลาง
กายในกาย กายลมหายใจเข้าออก
กายอิริยาบถใหญ่ทั้งสี่ ยืน เดิน นั่ง นอน
ก็ต้องคอยรู้ตัวอยู่ ยืนอยู่ก็รู้ตัว เดินอยู่ก็รู้ตัว
นั่งอยู่ก็รู้ตัว นอนอยู่ก็รู้ตัว
กายอิริยาบถย่อย อิริยาบถต่างต่าง
การคู้ การเหยียด การก้ม การเงย
การเหลียวซ้าย แลขวา เดินหน้า ถอยหลัง
ทำความรู้สึกตัวอยู่เสมอเสมอกับกาย
กาย อาการสามสิบสอง
พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก
หัวใจ ตับ ปอด เลือด น้ำเหลือง น้ำตา น้ำลาย เป็นต้น
ให้เห็นเป็นของน่าเกลียด เป็นของปฏิกูล
เป็นของไม่สะอาด
ใจสงบระงับจากนิวรณ์ จากกามราคะ
จึงน้อมเข้ามาพิจารณาดูสภาวธรรม
ให้เห็นตามความเป็นจริง
สังขารทั้งหลายนี้ไม่เที่ยง
สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์
ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา
เวทนาในเวทนา การเสวยอารมณ์
สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยเฉยบ้าง
ก็ระลึกรู้อยู่เนืองเนืองไว้
เพื่อให้เห็นว่า เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา
ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่
จิตมีราคะขึ้นมาก็รู้ จิตปราศจากราคะก็รู้
จิตมีโทสะอยู่ก็รู้ จิตปราศจากโทสะอยู่ก็รู้
จิตมีโมหะอยู่ก็รู้ จิตปราศจากโมหะอยู่ก็รู้
จิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่านกำหนดอยู่
จิตมีสมาธิ จิตไม่มีสมาธิก็ตาม
ประการที่สี่ พิจารณาธรรมในธรรมอยู่เนืองเนือง
เวลามันเกิดราคะขึ้นในใจ เกิดโทสะขึ้นมาในใจ
เกิดฟุ้งซ่านรำคาญ เกิดความสงสัย
เกิดความท้อถอย กำหนดรู้
ละได้อย่างไร กำหนดรู้
หรือปฏิบัติไป ธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้น ก็ต้องรู้
มีสติตั้งมั่นก็กำหนดดู
มีปัญญาพิจารณาสอดส่องในธรรม ก็กำหนดรู้
มีความเพียรไม่ย่อหย่อน ก็กำหนดรู้
มีปีติความอิ่มเอิบใจเกิดขึ้น กำหนดรู้
มีความสงบกาย สงบใจเกิดขึ้น ก็กำหนดรู้
มีสมาธิ จิตใจตั้งมั่น กำหนดรู้
มีจิตใจเป็นกลาง ปล่อยวาง วางเฉย
ก็กำหนดรู้ไว้ เนืองเนือง
ตามดูรู้เท่าทันกายในกาย เวทนา จิต ธรรมอยู่
นี่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง
เป็นผู้มีธรรม เป็นเกาะเป็นที่พึ่ง
จะเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ได้
ในพรรษาสุดท้ายใกล้ที่พระองค์จะดับขันธปรินิพพาน
ในครั้งที่ประทับอยู่ ที่ปาวาลเจดีย์
ตรัสกับพระอานนท์ว่า อานนท์
บุคคลใดเจริญอิทธิบาทสี่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
ฉันทะเป็นความพอใจ วิริยะความเพียร
จิตตะตั้งใจจดจ่ออยู่ วิมังสาปัญญาพิจารณา
บุคคลใดเจริญอิทธิบาทสี่มาอย่างดี
ผู้นั้นปรารถนาจะมีชีวิตอยู่กัปหนึ่ง
หรือมากกว่านั้นก็ทำได้
อานนท์ ตถาคตเป็นผู้เจริญอิทธิบาทสี่มาอย่างดีแล้ว
พระพุทธองค์ได้ตรัสเป็นนัยนัยให้พระอานนท์
เพื่อจะได้ทูลขอ แต่พระอานนท์ก็ฟังไม่ออก
ไม่ได้ทูลขอ พระองค์จึงตรัสว่า
อานนท์ ถ้าเช่นนั้นเธอจงรู้กาลอันสมควรเถิด
พระอานนท์ก็ปลีกตัว กระทำประทักษิณ
แล้วก็ปลีกออกไปพัก
ก็อยู่ไม่ห่างที่พระองค์ประทับอยู่
จากนั้นมารก็เข้ามา ทูลขอให้พระองค์ปรินิพพาน
ว่า ก่อนนั้นข้าพระองค์เคย
ตอนที่พระองค์ตรัสรู้ใหม่ใหม่ก็
เข้าไปทูลขอให้พระองค์ปรินิพพาน
พระองค์ก็ผัดมา ว่าตราบใดที่บริษัทของเรา
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่ฉลาดในธรรม
ยังไม่มีธรรมที่มีความเจริญแล้ว
ก็ยังจะไม่ปรินิพพาน
แต่บัดนี้บริษัทสี่ของพระองค์เป็นผู้แตกฉาน
เป็นผู้เจริญในธรรมได้ดีแล้ว
ถึงเวลาขอให้พระองค์ปรินิพพานเถิด
พระพุทธองค์ก็รับปากมารว่า ดูก่อนมารผู้มีบาป
ท่านจงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด
เอาเถอะ นับตั้งแต่นี้ไป อีกสามเดือน
ตถาคตจะปรินิพพาน
พระพุทธเจ้าทรงพระสติสัมปชัญญะ ปลง
เรียกว่าปลงอายุสังขาร คือตัดสินพระทัยว่า
จะดับขันธปรินิพพาน อีกสามเดือน
วันที่พระพุทธองค์ปลงอายุสังขาร
เป็นวันเพ็ญเดือนสาม
ฉะนั้น อีกสามเดือนจะปรินิพพาน
ก็จะตรงกับเพ็ญเดือนหก
พอพระพุทธองค์ปลงอายุสังขาร แผ่นดินก็ไหว
เสียงกลองทิพย์บันลือลั่น
พระอานนท์ตกใจ ก็เข้ามากราบพระผู้มีพระภาคเจ้า
สอบถามว่า เกิดอะไรขึ้นพระพุทธเจ้าข้า
พระองค์จึงตรัสเหตุแห่งแผ่นดินไหวไว้แปดประการ
เหตุที่จะทำให้แผ่นดินไหวมีได้แปดประการ
หนึ่งก็คือ แผ่นดินนี้ตั้งอยู่บนน้ำ
ใต้ดินลงไปมีน้ำ พระพุทธเจ้าตรัสไว้
น้ำนั้นตั้งอยู่บนลม ใต้น้ำลงไปเป็นลม
เมื่อลมพัด เมื่อลมใหญ่พัด น้ำก็จะไหว
เมื่อน้ำไหว แผ่นดินก็ไหว
นี่เป็นสาเหตุประการที่หนึ่ง ที่ทำให้แผ่นดินไหว
อย่างที่ทุกวันนี้แผ่นดินไหวมาก
เพราะว่ามันมี ด้านล่างมันมีความเคลื่อนตัว
ลม แล้วก็น้ำ แผ่นดิน เคลื่อนตัวไหว
เหตุประการที่สองคือ ผู้มีฤทธิ์ หรือเทวดาผู้มีฤทธิ์
เจริญกสิณ ทำให้แผ่นดินไหวได้
เจริญปฐวีกสิณ อาโปกสิณ มากกว่ากัน
แผ่นดินไหวได้ ผู้มีฤทธิ์เขาทำได้
แล้วก็ประการที่สามก็คือ
พระโพธิสัตว์จุติลงสู่พระครรภ์มารดา แผ่นดินไหว
ประการที่สี่
พระโพธิสัตว์ประสูติจากครรภ์ของพระมารดา
ประการที่ห้า พระพุทธเจ้าตรัสรู้
วันที่พระองค์ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
แผ่นดินไหว
แล้วก็ประการที่หก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
แสดงธรรมครั้งแรก แผ่นดินไหว
เพราะว่าเทวดาตั้งแต่ภุมมัฏฐเทวดาขึ้นไป
ทั่วพรหมโลก ทั่วหมื่นจักรวาล
แซ่ซ้องสาธุการ แผ่นดินไหว
ประการที่เจ็ด
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีสติสัมปชัญญะ
ปลงอายุสังขาร แผ่นดินไหว
แล้วประการที่แปดก็คือ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน
แผ่นดินก็ไหว
พระพุทธองค์ตรัสอย่างนี้
ทำให้พระอานนท์ทราบได้ทันทีว่า
พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขารแล้ว
จึงห่มเฉวียงบ่าเข้าไปกราบเบญจางคประดิษฐ์
อาราธนาขอพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงพระชนม์ชีพอยู่ต่อเถิด
เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่ออนุเคราะห์
เพื่อความสุขของมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า อานนท์
เราได้แสดงนิมิตโอภาสให้เธอได้ทราบ
ถึงสิบหกครั้ง สิบหกแห่งว่า
ผู้ที่เจริญอิทธิบาทสี่มาอย่างดีแล้ว
หวังจะมีชีวิตอยู่กัปหนึ่ง หรือมากกว่านั้น ก็ทำได้
ตถาคตเป็นผู้เจริญอิทธิบาทสี่มาอย่างดี
เธอก็ไม่ได้ทูลอาราธนาขอตอนนั้น
แต่ตอนนี้ ตถาคตได้รับปากกับมารแล้ว
พระอานนท์ก็ไม่วายทูลขออ้อนวอนอยู่อย่างนั้น
ถึงสามครั้ง พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า
การที่ตถาคตจะคืนคำเพื่อชีวิตนั้น
ไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้
ถ้าหากเธอขอเราเมื่อตอนก่อนนั้น
เราจะห้ามไว้สองครั้ง ครั้งที่สามก็จะรับ
ฉะนั้น เป็นความผิดของเธอเอง ที่เธอไม่ได้ขอตอนนั้น
พระอานนท์ก็จนใจ เสียใจตนเอง ไม่เฉลียว
ที่จริงท่านพระอานนท์นั้นเป็นผู้ฉลาด
แต่ว่าท่านถูกมารดลใจ มารนี่ก็เอาเรื่องเหมือนกัน
สามารถจะบัง บดบังจิตใจคนได้
จากนั้นพระพุทธองค์ก็จึงรับสั่ง
อานนท์ เธอจงไปตามภิกษุสงฆ์
ที่พำนักอยู่รอบรอบกรุงเวสาลีมาประชุมพร้อมกัน
เมื่อพระภิกษุมาประชุมแล้ว
พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย โพธิปักขิยธรรมสามสิบเจ็ดประการ
อันมีสติปัฏฐานสี่ สัมมัปปธานสี่ อิทธิบาทสี่
อินทรีย์ห้า พละห้า โพชฌงค์เจ็ด
เราได้แสดงแล้ว เพื่อความรู้ยิ่งแก่พวกเธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงศึกษา จงเจริญ
จงกระทำให้มากด้วยดีเถิด
เพื่อพรหมจรรย์นี้จะได้ยั่งยืน
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่ออนุเคราะห์
เพื่อความสุขต่อเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
พระพุทธเจ้าตรัส โพธิปักขิยธรรม
โพธิปักขิยธรรม หมายถึง
ธรรมที่เป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้
ธรรมที่เป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้
สามสิบเจ็ดประการ
อันมีสติปัฏฐานสี่ สติที่ตามระลึกรู้
พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม
หมวดที่สองก็คือสัมมัปปธานสี่
สัมมัปปธานนี่เป็นความเพียร ความเพียรสี่ประการ
อิทธิบาทสี่ ธรรมที่ให้เกิดความสำเร็จ
ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
อินทรีย์ห้า ความเป็นใหญ่เรียกว่าอินทรีย์
สัทธินทรีย์ ความเป็นใหญ่ในความเชื่อ
วิริยินทรีย์ ความเป็นใหญ่ในความเพียร
ศรัทธา วิริยะ สติ
สตินทรีย์ ความเป็นใหญ่ในการระลึกได้
สมาธินทรีย์ ความเป็นใหญ่ในความตั้งมั่น
ปัญญินทรีย์ ความเป็นใหญ่ในความรู้
พละห้า ศรัทธาพละ วิริยะพละ
สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ
ศรัทธาที่มีกำลัง ก็เป็นศรัทธาพละ
ความเพียรที่มีกำลัง ก็เป็นวิริยะพละ
สติที่มีกำลัง ก็เป็นสติพละ
สมาธิที่มีกำลัง ก็เป็นสมาธิพละ
ปัญญาที่มีกำลัง ก็เป็นปัญญาพละ
โพชฌงค์เจ็ด องค์แห่งความตรัสรู้เจ็ดประการ
สติสัมโพชฌงค์ สติที่ตั้งมั่น ไม่หลงลืมแล้ว
ฝึกจนสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม ไม่ส่งออกนอก
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ สอดส่องพิจารณาในธรรม
วิริยสัมโพชฌงค์ ความเพียรที่ไม่ย่อหย่อน
ปีติสัมโพชฌงค์ ความอิ่มเอิบใจ
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ความสงบกายใจ
สมาธิสัมโพชฌงค์ จิตเข้าถึงความตั้งมั่น
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ วางเฉยต่อจิตที่ตั้งมั่นเป็นอย่างดี
จิตเข้าถึงความเป็นกลาง
เป็นองค์แห่งความตรัสรู้
แล้วก็อริยมรรคมีองค์แปด
ข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงความดับทุกข์ พ้นทุกข์
ความเห็นชอบ ความเห็นที่ถูกต้อง
ดำริที่ถูกต้อง ดำริชอบ เจรจาที่ถูกต้อง เป็นเจรจาชอบ
การกระทำที่ถูกต้อง อาชีพที่ถูกต้อง
ความเพียรที่ถูกต้อง
สติที่ชอบ สติถูกต้อง
สมาธิชอบ สมาธิที่ตั้งมั่นถูกต้อง
นี่สามสิบเจ็ดประการ พระพุทธองค์ตรัสว่า
เราได้แสดงแล้ว เพื่อความรู้ยิ่งแก่พวกเธอทั้งหลาย
จงศึกษา จงเจริญ จงกระทำให้มากด้วยดี
เพื่อพรหมจรรย์นี้จะได้ยั่งยืน
พระพุทธองค์ใช้คำว่าพรหมจรรย์ ก็คือศาสนา
หรือบางครั้งก็ใช้คำว่า พระธรรมวินัย
เราเรียกปัจจุบันว่า พระศาสนา
พระพุทธองค์ใช้คำว่า พรหมจรรย์ จะยั่งยืน
เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่ออนุเคราะห์
เพื่อความสุขต่อมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าประมาท
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง
จงยังประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อม
นับตั้งแต่นี้ไปอีกสามเดือน ตถาคตจะปรินิพพาน
ตรัสกับหมู่พระสงฆ์
คือพระพุทธเจ้าจะไม่ปรินิพพานโดยไม่สั่งเสียอะไร
ประชุมสงฆ์ดำรัสสั่งไว้เรียบร้อย
ฉะนั้น ตรัสถึงว่าสัตว์โลกทั้งหลาย
ล้วนแล้วแต่ต้องไปสู่ความตาย
เหมือนภาชนะดินไม่ว่าจะชนิดใด
ก็จะต้องมีความแตกทำลายเป็นที่สุด
จึงไม่ให้ประมาท มีตนเป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง
มีธรรมเป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง ก็ต้องมีสติปัฏฐานสี่
ฉะนั้น ในพรรษาสุดท้าย
ก่อนที่พระพุทธองค์จะดับขันธปรินิพพาน
เสด็จรอนแรมที่จะไปดับขันธปรินิพพานที่กุสินารา
ได้เข้าไปฉันภัตตาหารในบ้านของนายจุนทะ
นายจุนทะถวายอาหารมีชื่อว่า สูกรมัททวะ
พระพุทธเจ้ารับสั่งว่า จุนทะ
เธอจงนำภัตตาหารที่ชื่อว่า สูกรมัททวะนี่
ถวายเฉพาะตถาคตเท่านั้น ไม่ต้องถวายภิกษุรูปอื่นอื่น
ส่วนที่เหลือให้นำไปฝังดินไว้ทั้งหมด
เราไม่เห็นใครในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก
ที่จะฉันแล้วจะย่อยอาหารชนิดนี้ได้ นอกจากตถาคต
นายจุนทะก็ทำตาม
พระพุทธองค์รู้ด้วยนะว่าฉันไป
จะต้องเกิดอาพาธอย่างรุนแรง แต่พระพุทธองค์ก็ฉัน
ก็เป็นการปลงอายุสังขารว่า
จะต้องยอมรับที่จะต้องปรินิพพาน
ฉะนั้น หลังจากนั้นพอฉันเสร็จ
พระพุทธองค์ออกจากบ้านของนายจุนทะมาแล้ว
ก็เกิดปักขันทิกาพาธ คือเกิดถ่ายเป็นเลือดรุนแรงมาก
ถ่ายเป็นเลือดเลย
แต่พระพุทธองค์ก็ใช้ขันติความอดทน ควบคุม
จนกระทั่งอาพาธคลายลง เสด็จเดินทางไป
พอไประยะหนึ่งก็ให้พระอานนท์
นำผ้าสังฆาฏิปูเป็นสี่ชั้น
เราจะขอนั่งพักก่อน เหนื่อยแล้ว
แล้วรับสั่งว่า อานนท์ เธอจงเอาบาตรไปตักน้ำมา
ตถาคตกระหายน้ำ พระอานนท์ก็บอกว่า
เกวียนห้าร้อยเล่มเพิ่งผ่านไปหยกหยก น้ำขุ่น
ขอให้พระองค์ได้อดใจรออีกสักระยะหนึ่ง
ถ้าเดินจากนี้ไปอีกสักระยะหนึ่ง จะถึงแม่น้ำกกุธานที
ที่นั่นท่าเรียบ น้ำใสสะอาดพระพุทธเจ้าข้า
พระองค์ตรัสซ้ำว่า อานนท์เอาเถอะ
เธอจงไปตักน้ำมาเถอะ ตถาคตกระหายน้ำมาก
คือพระพุทธเจ้าไม่มีกิเลสแล้ว
จิตไม่มีเศร้าหมอง จิตไม่มีกระวนกระวาย
แต่ว่าร่างกายนี้เป็นธรรมดาที่จะต้องเจ็บปวด
จะต้องทุกข์ จะต้องมีทุกข์ตามสภาพของขันธ์
การหิวกระหายน้ำ เพราะว่า
ถ่ายเป็นเลือดอย่างมาก กระหายน้ำ
เป็นทุกขเวทนาทางกาย ต้องเสวยอยู่แล้ว
แต่จิตไม่เศร้าหมอง
ปุถุชนเรา มันเป็นทุกข์ทั้งสองด้าน
กายทุกข์ ใจก็ทุกข์
พอกายปวด ใจก็คร่ำครวญเศร้าหมอง ถ้าไม่ได้ฝึกจิต
ถ้าเป็นปุถุชนที่ยังได้ฝึกจิตใจเป็น
ฝึกหัดกรรมฐานก็จะบรรเทาลง
เวลากายมันเจ็บมันปวด ก็รู้จักวางลง
ดูใจรักษาใจ ไม่ไปทุกข์กระวนกระวายกับกาย
ก็ยังค่อยยังชั่วขึ้น
เมื่อพระองค์ตรัสรับสั่งถึงสามครั้ง
พระอานนท์จึงเอาบาตรไปตัก
ปรากฏว่า พอเอาบาตรไปจ้วงตัก น้ำก็กลับใส
พระอานนท์ก็อุทาน พุทธานุภาพ
อานุภาพของพระพุทธเจ้ายิ่งใหญ่ น้ำขุ่นขุ่นนี่ใสได้
ก็น้อมน้ำมาถวายพระพุทธองค์
พระพุทธองค์ก็เสวยน้ำ แล้วก็ออกเดินทาง
เดินทางก็เดินด้วยเท้า จนไปถึงแม่น้ำกกุธานที
พระองค์ก็ลงสรงสนาน
ฉะนั้น ในช่วงที่พระองค์ใกล้จะปรินิพพาน
เสด็จเดินทางเรื่อยเรื่อยมา
แล้วก็ตรัสสอนภิกษุสงฆ์มาตามลำดับ
ในเรื่องศีล ในเรื่องสมาธิ ในเรื่องปัญญา
ศีลเป็นอย่างนี้ สมาธิเป็นอย่างนี้ ปัญญา
คือตลอดชีวิตของพระองค์จะสอนตลอด
สอนธรรมะตลอด ตรัสถึงว่า
ศีลที่บุคคลอบรมดีแล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
สมาธิที่ศีลอบรมดีแล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ปัญญาที่สมาธิอบรมดีแล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
จิตที่ปัญญาอบรมดีแล้ว ย่อมเข้าถึงวิมุตติ
หลุดพ้นจากอาสวกิเลสได้
จะเห็นว่ามันต้องมีศีลเป็นฐาน
เข้าถึงสมาธิ จึงเข้าถึงปัญญา
ถ้าเราเจริญกรรมฐาน เราไม่มีศีลมันไปไม่รอด
ล้มเหลว บางคนผิดเพี้ยน ต้องมีศีลที่บริสุทธิ์
เดินทางมาเรื่อยจนกระทั่งมาถึงที่กุสินารา
สาลวโนทยาน ที่เป็นสวนต้นสาละทั้งหมดแถวนั้น
รับสั่งว่า อานนท์
เธอจงตั้งเตียงหันศีรษะไปทางทิศเหนือ
เราเหนื่อยมากแล้ว เราจะนอน
จากนั้นพระพุทธองค์ก็ประทับนอน
นอนตะแคงข้างขวา
เป็นการนอนครั้งสุดท้ายที่จะไม่ลุกขึ้นมาอีกแล้ว
เรียกว่าอนุฏฐานไสยา เป็นการนอนครั้งสุดท้าย
ที่วัดได้แกะสลักหินปางปรินิพพาน
จะไม่เหมือนที่อื่น ที่เวลาพระนอนแล้ว
จะเห็นศีรษะตั้งสูงสูง อันนั้นนอนพัก
นอนแล้วเดี๋ยวพระองค์ก็ลุกขึ้นมาใหม่ได้
แต่ว่า อนุฏฐานไสยา เป็นการนอนครั้งสุดท้าย
นอนเพื่อปรินิพพาน ศีรษะจะแนบลงไป
โดยเฉพาะดับขันธ์
แต่ในขณะนั้น พระองค์ก็ยังตรัสสอนธรรมะภิกษุอีก
ลุกไม่ขึ้นแล้ว นอนก็ยังสอนธรรมะ
นี่คือ การเสียสละของพระพุทธเจ้ายิ่งใหญ่
ถ้าเรานึกถึงอย่างนี้
จะทำให้เรานึกถึงการเสียสละของเรา
บางท่านนำไปเปรียบเทียบกับการเสียสละ
ของพระพุทธเจ้า
ของเราก็จะเป็นเพียงเล็กน้อยเหลือเกิน
ตรัสสอนต่างต่างว่า ภิกษุทั้งหลาย
เธออย่าเข้าใจว่า เมื่อเราไม่มีศาสดาแล้ว
ศาสดาของเราดับขันธปรินิพพานแล้ว
เมื่อตถาคตดับขันธปรินิพพานไปแล้ว
เธออย่าเข้าใจว่า เราไม่มีศาสดาแล้ว
ศาสดาของเรามรณภาพไปแล้ว
ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว
แก่พวกเธอทั้งหลาย
แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้น
จะเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย
ในกาลที่ตถาคตล่วงลับไปแล้ว
พระพุทธองค์ไม่ได้แต่งตั้งใครเป็นศาสดาแทน
แต่ได้มอบพระธรรมวินัยเป็นศาสดา ให้ถือตามนั้น
คือให้ศึกษา ให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย
ได้ให้ภิกษุสงฆ์ได้ถามว่า
ใครมีข้อสงสัยอะไรก็ถามเสีย
ถ้าไม่กล้าถามด้วยตนเอง ก็ให้เพื่อนช่วยถาม
บอกถึงขนาดนั้น
เพื่อเธอจะได้ไม่ต้องมาเสียใจในภายหลังว่า
ตอนที่พระพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่ เราไม่ได้มีโอกาสได้ถาม
เปิดโอกาสให้ถามทั้งหมด
ใครมีอะไรที่สงสัยให้ถาม ก็ไม่มีใครถาม
ไม่มีใครถามในที่นั้น เงียบกันหมด
พระอานนท์ปลีกตัวออกไป ไปยืนเกาะกิ่งไม้ร้องไห้
พระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐาก ติดตามพระพุทธเจ้า
ดูแลพระพุทธองค์มาตลอด
ท่านก็เป็นโสดาบันยังมีเศร้าโศกได้
นึกถึงว่าบัดนี้พระศาสดา
คืนนี้แล้วพระพุทธองค์จะปรินิพพาน
วันพรุ่งนี้เราจะปูอาสนะให้ใคร
เราจะตั้งน้ำดื่มให้ใคร
เราจะล้างพระบาทให้ใคร
เพราะท่านจัด ดูแลพระพุทธเจ้ามา
นึกไปว่าเราจะทำอย่างนี้ให้ใครได้อีก
พระพุทธเจ้าเห็นพระอานนท์หายไปนาน
ถามภิกษุสงฆ์ว่า อานนท์หายไปไหน
พระสงฆ์ก็กราบทูลว่า
พระอานนท์ไปยืนเกาะกิ่งไม้ร้องไห้อยู่ พระพุทธเจ้าข้า
ถ้าเช่นนั้นเธอจงไปตามพระอานนท์มา
เมื่อพระอานนท์เข้ามาแล้ว
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า อานนท์
เธออย่าได้เศร้าโศกพิไรรำพันไปนักเลย
เราได้บอกแก่เธอไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า
สังขาร มีความไม่เที่ยง
สิ่งทั้งหลายจะต้องเปลี่ยนแปลง
สังขารที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมาจะต้องแตกดับ
เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายไป
การที่จะปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นสิ่งนี้
บุคคลนั้นบุคคลนี้อันเป็นที่รัก อย่าแตกทำลายเลยนั้น
ไม่ใช่วิสัยที่จะเป็นไปได้ ไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้
สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา
ก็จะต้องแตกทำลายไปเป็นธรรมดา
อานนท์ เธอได้ดูแลอุปัฏฐากตถาคตมาด้วยดี
ด้วยกายกรรม ที่อันประกอบด้วยเมตตา
วจีกรรม อันประกอบด้วยเมตตา
มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา
ที่จะหาใครเทียบมากกว่านี้ไม่มี
เมื่อเธอพากเพียรปฏิบัติ
เธอก็จะได้ทำลายอาสวะให้สิ้นไปโดยพลันได้
ให้กำลังใจว่า
เธอก็จะได้มีโอกาสบรรลุธรรมชั้นสูงเหมือนกัน
แล้วก็ได้ตรัส ยกย่องพระอานนท์
คือพระพุทธเจ้าจะเข้าใจเรื่องจิต
คนกำลังเศร้าโศกอยู่
ถ้าได้ถูกยกย่องขึ้นมาให้ประจักษ์ ก็จะคลายลงไปได้
พระพุทธองค์หันมาตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า
ภิกษุทั้งหลาย อานนท์ เป็นบุคคลที่พิเศษ
เรียกว่า หนึ่งก็คือ คนทั้งหลายปรารถนาจะได้เห็น
ใครใครก็อยากเห็นพระอานนท์
สอง เมื่อเห็นแล้วก็ไม่อิ่ม ไม่เบื่อ
ประการที่สาม ไม่อิ่มในการฟังธรรม
พระอานนท์แสดงแล้วผู้ฟังไม่อิ่มเลย
คืออยากฟังไม่จบ ฟังแล้วฟังอยู่อย่างนั้น
เป็นความอัศจรรย์ แสดงธรรมแล้วก็ คนฟังไม่เบื่อ
ไม่อิ่มในการฟังธรรม ไม่อิ่มในการได้เห็น
ไม่อิ่ม ฟังธรรมแล้วก็อยากฟังอีก
ฉะนั้น พระองค์ได้เตือนภิกษุให้ถาม ก็ไม่มีใครถาม
จนกระทั่ง พระองค์จึงได้ตรัสเป็นปัจฉิมโอวาท
คือเป็นวาจาสุดท้าย ก็ยังสอน
หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว
วะยะธัมมา สังขารา
อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ
อะยัง ตะถาคะตัสสะ ปัจฉิมา วาจา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า
สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดา
เธอทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด
นี่เป็นพระวาจามีในครั้งสุดท้ายของพระตถาคตเจ้า
จากนั้นพระองค์ก็ไม่ตรัสอะไรอีก
เตือนให้ไม่ประมาทในชีวิต ว่าสังขารไม่จีรังยั่งยืน
จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม
คือทำประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น
ด้วยความไม่ประมาท
นั่นก็คือต้อง เป็นผู้มีสติอยู่เสมอ
การเป็นผู้มีสติ ชื่อว่าไม่ประมาท
ขณะใดไม่เจริญสติ ถือว่าประมาท
เห็นแล้วขาดสติ เดี๋ยวกิเลสเกิดขึ้นแล้ว
ไม่โกรธก็โลภ ไม่โลภก็หลง
ได้ยินเสียงครั้งหนึ่งไม่เจริญสติ
เสียงไพเราะ ก็พอใจติดใจ
เสียงหนวกหู เสียงด่าก็โกรธ
เสียงกลางกลาง ก็หลงไปในเสียง
แล้ววันหนึ่งหนึ่งเราเห็นกี่ครั้ง ได้ยินกี่ครั้ง
ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสถูกต้อง คิดนึก
ถ้าขาดการเจริญสติแล้ว กิเลสมันท่วมทับจิตใจ
ทำให้เราเต็มไปด้วยอกุศล เศร้าหมอง
แต่ถ้าเป็นผู้มีสติระลึกรู้เท่าทัน
ปล่อยวางเป็น ใจก็เบาลงคลายลง สั่งสมสติปัญญา
นี่ธรรมที่ไม่ประมาท
ความเป็นผู้มีสติอยู่เสมอ ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท
ถ้าขาดการเจริญสติถือว่าประมาท
ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย
คนถ้าประมาท คนไม่ทำความดีก็เท่ากับคนตาย
คนตายทำอะไรไม่ได้
คนเป็นถ้าประมาท ไม่ทำความดี ไม่ละความชั่ว
มันก็เท่ากับคนตายแล้ว
ผู้ไม่ประมาทชื่อว่าไม่ตาย
ถ้าเป็นผู้ไม่ประมาทปฏิบัติธรรม
มีโอกาสเข้าถึงอมตธรรม
เป็นธรรมที่ไม่ตาย ได้แก่นิพพาน
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสเป็นวาระสุดท้ายแล้ว
จากนั้นพระองค์ก็เข้าฌานสมาบัติ
ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน
อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน
อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ
แล้วก็ถอยลงมา ถอยลงมาถึงปฐมฌาน
แล้วก็เข้าไปใหม่ พอถึงฌานที่สี่
ออกจากฌานที่สี่ พระองค์ก็ดับขันธปรินิพพาน
แผ่นดินไหว กลองทิพย์บันลือ เสียงดังสนั่นหวั่นไหว
เพราะว่าเทวดาเขามาแห่ จากทั่วหมื่นจักรวาลพากันมา
ดอกไม้ออกดอกบานสะพรั่ง
ดอกมณฑารพร่วงหล่นโปรยปราย
มาสู่สรีระของพระพุทธเจ้า ดอกไม้สวรรค์
ตอนที่พระพุทธองค์ประทับนอนตะแคงอยู่
ตั้งแต่ยังไม่ปรินิพพาน เทวดามาบูชา
ทั้งมนุษย์ทั้งเทวดา พระอานนท์ถาม
ตอนนั้นพระพุทธองค์ไล่พระอุปวาณะ
มายืนถวายงานพัดอยู่ตรงหน้า พระองค์ก็ไล่ออกไป
พระอานนท์ก็ถามว่า ทำไมจึงไล่พระอุปวาณะ
ท่านก็เป็นพระที่เคยอุปัฏฐากมาก่อน
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
เทวดาทั้งหลายมากันไกลจากหมื่นจักรวาล
บ่นกันว่าพระรูปนี้มาบังหน้าเทวดา มายืนบังเทวดา
พระอานนท์ถามว่า
เทวดาเหล่านั้นเขามีลักษณะอาการอย่างไร
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
บางองค์ก็เนรมิตอากาศให้เป็นแผ่นดิน
สยายผม ประคองแขนคร่ำครวญ ปริเทวนาการว่า
พระบรมศาสดาช่างปรินิพพานเร็วนัก
เทวดาคร่ำครวญเหมือนคนเท้าขาด
ดอกไม้มณฑารพ ดอกไม้สวรรค์โปรยปรายลงมา
พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า อานนท์
อามิสบูชา การบูชาด้วยดอกไม้ของหอม
จุณจันทน์ทั้งหลายเหล่านี้
ไม่สามารถยังพระศาสนาให้ดำรงอยู่ได้
ใครทำก็เป็นบุญของเฉพาะคนนั้น
ก็เป็นบุญ แต่มันเป็นของเฉพาะคนนั้น
ไม่ได้ยังพระศาสนาให้ดำรงอยู่ได้
แต่การปฏิบัติบูชา ปฏิบัติธรรม
ปฏิบัติบูชา ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
การประพฤติตามพระธรรมวินัย ปฏิบัติตามธรรม
พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างไร ปฏิบัติตามนั้น
มีพระธรรมวินัยอย่างไร ปฏิบัติตามนั้น
จะยังพระศาสนาให้ดำรงอยู่ได้ ปฏิบัติธรรมนี่
เพราะฉะนั้น บริษัททั้งสี่
ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ปฏิบัติธรรมอยู่ จะยังพระศาสนาให้ดำรงอยู่ได้
ชื่อว่าเป็นผู้เคารพบูชา สักการะต่อตถาคต
อันเป็นการบูชาอย่างสูง
ปฏิบัติบูชานี่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ชื่อว่าเป็นการบูชาต่อตถาคต สมควรแก่การบูชา
เป็นการบูชาอย่างสูงที่เราปฏิบัติธรรมกัน
ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยให้ถูกต้อง
จะยังพระศาสนาให้ดำรงอยู่ได้
ฉะนั้น ก็ขออนุโมทนาสาธุการ
ที่ท่านทั้งหลายได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม
ให้เป็นผู้เจริญในธรรมยิ่งขึ้นไป
จนเข้าถึงซึ่งความพ้นทุกข์
คือพระนิพพาน ทุกท่านเทอญ
-----------------------------