แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[00:18]
นะมัตถุ ระตะนัตตะยัสสะ ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขอความผาสุกความเจริญในธรรม จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย โอกาสนี้ไปก็จะได้ปรารภธรรมะ ตามหลักคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อส่งเสริมศรัทธาปสาทะ คือความเชื่อความเลื่อมใส ให้เกิดความพากเพียรในการละความชั่ว ในการสั่งสมความดี ในการพัฒนาจิตใจให้ผ่องใส ให้บริสุทธิ์ ฉะนั้น การฟังธรรมเป็นสิ่งที่ต้องสนใจ ใฝ่ธรรม ฟังธรรมอยู่เนืองนิตย์ ให้จิตเราผ่องใส เบิกบานในธรรม ชีวิตของเราเกิดมาผ่านวัยกันมาหลายหลายสิบปี และก็ที่สุดก็จะต้องหมดชีวิตนี้ไป แต่ละท่านเหลือเวลากันอีกไม่มากเท่าไร ชีวิตในสมัยปัจจุบันนี้ มากก็ไม่เกินร้อยปี
ยุคปัจจุบันเป็นยุคขาลง อายุของมนุษย์จะสั้นลงเรื่อย ๆ เนื่องจากว่าคนมีกิเลส เมื่อคนมีกิเลสมีความเห็นแก่ตัว มีความละโมบโลภมาก มันมีการทุจริต มีการฉ้อโกง มีการปลอมปน ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน เราทั้งหลายก็ได้รับสารพิษ ร่างกายก็เจ็บป่วย เป็นโรคภัยไข้เจ็บ อากาศก็เป็นพิษ สิ่งแวดล้อมเสียไป เพราะความเห็นแก่ตัวของคนทั้งหลาย ทุกอย่างมันขาดความสมดุล ต้นไม้ถูกทำลาย โลกก็ร้อนขึ้น ภัยพิบัติก็เกิดขึ้นมากขึ้น เพราะโลกมันไม่สมดุล ฤดูกาลมันก็จะเปลี่ยนแปลง บางประเทศที่ไม่เคยหนาวมาก ก็จะหนาวจัด บางประเทศที่เคยหนาวก็กลับร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย เพราะฉะนั้น ชีวิตก็มีความทุกข์ มีปัญหาเพิ่มขึ้นจากสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นน้ำ เป็นอากาศ ทุกอย่างมันปรวนแปร ยิ่งในยุคต่อต่อไป รุ่นลูกรุ่นหลานเรา ก็ยิ่งเลวร้ายมากขึ้น ผู้คนมีกิเลสหนาแน่นมากขึ้น มีความเห็นแก่ตัว มีความเบียดเบียนกันมาก สังคมมันก็จะวุ่นวาย
อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันถ้าเทียบกับสมัยก่อน รุ่นปู่ยาตายาย มันก็จะผิดกันไปเยอะคนมีกิเลสหนาแน่น คนก็จะฆ่ากันง่าย ทุจริตฉ้อโกงกันมาก ล่วงละเมิดทางเพศกันมาก เสพสิ่งเสพติดกันมาก แล้วก็เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง เกิดการเบียดเบียน เกิดการทำร้ายกันมากขึ้น คนก็จะอยู่กันยากขึ้น ลำบากขึ้น พืชพันธุ์ธัญญาหารหาได้ยากขึ้น คนมาก แก่งแย่ง เบียดเบียน มันก็จะเป็นสมัยที่ไม่สงบ ฉะนั้นพวกเราทั้งหลายจึงให้ถือโอกาสที่เรายังอยู่ในยุคในสมัยที่พระพุทธศาสนายังดำรงคงอยู่ซึ่งจะเป็นยุคสมัยที่ผ่านกาลมา สองพันห้าร้อยกว่าปี แต่ก็ยังพอที่เราจะได้รับคำสอนน้อมนำมาศึกษา นำมาปฏิบัติได้อยู่ แต่ถ้าพ้นจากนี้ไปแล้วก็จะไม่มี พระพุทธศาสนาก็จะหมดไป คนจะไม่รู้จักอะไรที่เป็นสัจธรรมเป็นความจริง อะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นความดับทุกข์ อะไรเป็นข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ก็จะไม่รู้เรื่องแล้ว คำสอนมันก็จะไปอย่างอื่น ผิดเพี้ยนไปอย่างอื่น เราก็อาจจะฟังแล้วก็เห็นผิดตาม ฆ่าสัตว์บูชายัญ ฆ่าศัตรูให้ได้มากมาก เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า มันจะไปอย่างนั้น
ความเห็นผิด คนก็จะสอนผิด ปฏิบัติผิด เพราะไม่มีพระพุทธศาสนาที่จะชี้ทางถูก
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ถูกต้องสมบูรณ์สูงสุด ผู้ใดปฏิบัติตามหลักคำสอนพระพุทธศาสนา บุคคลนั้นก็จะเข้าถึงความพ้นทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้น ให้เราต้องเร่งขวนขวายศึกษาปฏิบัติเสียช่วงนี้ และยิ่งมาดูในสังขารของตัวเอง นับวันร่างกายเราก็จะแก่ชราลงไป สมอง สติ ร่างกายที่จะเอามาประพฤติปฏิบัติ ที่จะเอามาศึกษาปฏิบัติมันยาก ความเสื่อมของสังขาร ฟังอะไร บางทีก็ฟังจับเรื่องราวประเด็นไม่ถูก จำไม่ได้ ฟังแล้วก็จำไม่ได้ หูตาฝ้าฟาง ทุกอย่างมันเสื่อม แล้วก็มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน มันรอคอยเราอยู่ เราดูจากผู้คนทั้งหลายจะมีความเจ็บป่วยตามตามกันไป สิ่งเหล่านี้ให้เราได้หมั่นพิจารณา จะทำให้เราจะได้ไม่ประมาทในชีวิต ไม่ประมาทในวัย ไม่ประมาทในความที่เรายังแข็งแรงอยู่ เพราะคนประมาทชื่อว่าเป็นทางแห่งความตาย ถ้าประมาท คนตายไม่สามารถทำอะไรได้ จะสร้างคุณงามความดีก็ทำไม่ได้ เขาเอาใส่โลงประดับประดาดอกไม้วิจิตรสวยงาม ถึงเวลาก็มีพระมาสวดมนต์ สวดอภิธรรม ญาติก็ไปเคาะโลงโป๊กโป๊ก ลุกขึ้นมานะตั้งใจนะ พระจะสวดอภิธรรม ถ้าลุกขึ้นมาได้จริงก็ คงจะกระเจิงกันไปหมด
เขาเคาะเพื่อเตือนคนที่อยู่เบื้องหลังว่าตายแล้วไม่สามารถจะลุกขึ้นมาฟังอะไรได้ คนเป็น คนยังมีชีวิตอยู่ อย่าประมาท เพราะยังเป็นอยู่ มันฟังได้ ปฏิบัติได้ สร้างคุณงามความดีได้ ตายแล้วทำอะไรไม่ได้ เอาอาหารไปตั้งไว้ข้างโลง จะกินได้หรือเปล่า เขาเป็นเครื่องเตือนใจให้ลูกหลานยังมีชีวิตอยู่ ตอนพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ให้กินให้ทานเสีย ตายแล้วไปตั้งก็กินไม่ได้ บางทีตอนยังมีชีวิตอยู่ไม่ค่อยดูแล ไม่ดูแลพ่อแม่ หรือบางทีไปดูแลเอาตอนป่วยหนัก จัดอาหารอย่างดีไปให้กิน ก็กินไม่ค่อยได้ เพราะฉะนั้นถือโอกาสตอบแทนพระคุณเสียตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ถ้าตายแล้วเราจะไปป้อนอาหาร จะซื้อของไปให้ มันก็ไม่ได้แล้ว นอกจากทำบุญอุทิศไปให้ จะได้ก็ไม่แน่นอน ไปอยู่ในภพภูมิที่รับไม่ได้ ก็รับไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเราอุทิศกุศลแล้วจะรับได้เสมอไป รับได้ก็มี รับไม่ได้ก็มี ตกทุกข์ได้ยากเกินขนาด มีแต่เวลาทุกข์ทรมาน ไม่มีโอกาสจะมารับรู้ ไม่มีโอกาสจะได้อนุโมทนา ก็รับไม่ได้ เพราะฉะนั้น โบราณก็มักจะแฝงปริศนาธรรมสอนคนเป็น รวมทั้งตัวเราทั้งหลายซึ่งจะต้องตาย จะต้องจากโลกนี้ไป
คนตายเวลาตายปุ๊บ เขาก็เอาน้ำมารด ให้ไปรดน้ำ พากันไปรดน้ำ ดึงมือคนตายมา เพื่อจะเตือนให้ผู้อยู่เบื้องหลังได้สำนึกว่าตอนเกิดมาทุกคนเป็นเด็กกำมือแน่นเหมือนจะไขว่คว้า จะเอาทุกสิ่ง จะเอานู่นเอานี่ จะไขว่คว้าทุกอย่าง แต่เมื่อทุกคนตายลง เมื่อถึงเวลาสิ้นลมหายใจทุกคนก็แบมือออก เหมือนกันหมด เป็นสัญลักษณ์ว่า เขาเอาอะไรไปไม่ได้เลย แม้แต่น้ำที่เอาไปรดให้ก็ไหลออกหมด ไม่มีอะไรที่ติดตัวไปได้ นอกจากบุญกับบาป บุญบาปนั่นแหละที่จะติดตามบุคคลนั้นไป เราจะเอาเพชรนิลจินดาเงินทองใส่โลงไปให้ ก็ไม่ได้ ได้ไปคือบุญกุศลคุณงามความดี ที่จะไปเป็นที่พึ่ง เพราะฉะนั้นทุกคนต้องไปสู่ความตายด้วยกันทั้งนั้น เราประมาทอยู่ไหมไม่เป็นไร ไว้ก่อน เดี๋ยวให้อายุเท่านั้นเท่านี้จะเข้าวัดปฏิบัติให้เต็มที่ ความคิดอย่างนี้จะมีไปตลอดจนกระทั่งถึงวันตาย ถึงเวลาตาย มันก็เลยไม่ได้ปฏิบัติธรรม นี่เรียกว่าประมาท ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย คนตายทำอะไรไม่ได้ ดังที่กล่าวแล้ว
[13:55]
ผู้ประมาทถึงมีชีวิตอยู่ ก็ชื่อว่าตายแล้ว
เพราะอะไร เพราะว่า ถ้าไม่ทำความดี มีชีวิตอยู่มันก็เท่ากับคนตาย คือไม่ได้ทำอะไรได้ มีแต่ชีวิตไปวันวัน คุณงามความดีไม่ได้สร้างสมอะไร มันเท่ากับคนตาย หรืออาจจะแย่กว่าคนตาย ถ้าไปทำชั่ว ใช้ชีวิตอยู่ทำชั่ว ทำบาป คดโกง ฉ้อโกง ฆ่าสัตว์ เบียดเบียน ประพฤติล่วงละเมิดทางเพศ โกหกหลอกลวง อย่างนี้มีชีวิตยาวเท่าไรก็ยิ่งสร้างบาปมากเท่านั้น คนสร้างบาปต้องรู้ไว้ว่า คือคนทำร้ายตัวเอง เพราะบาปจะส่งผลเป็นความทุกข์ให้บุคคลที่กระทำนั่นเอง ถ้าคนใดเกิดมา ใช้ชีวิตอยู่กับการทำบาปทำชั่ว เท่ากับเกิดมาเพื่อทำร้ายตัวเอง ชีวิตขาดทุน มีชีวิตยืนยาวเท่าไร ก็ขาดทุนมากเท่านั้น ตกต่ำ ภพต่อไปตกต่ำย่ำแย่ หนักกว่าชาตินี้เข้าไปอีก แต่ถ้าเราไม่ประมาท รู้ว่าชีวิตมันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย แล้วก็ความตายมาถึงเราเมื่อไรก็ไม่รู้ เอาเสียตอนนี้ ปฏิบัติธรรม สั่งสมความดีเสียตอนนี้ ให้อุ่นใจ ให้เต็มที่ เมื่อเราทำอะไรที่เต็มที่ เต็มอิ่ม เต็มกำลัง พร้อมเสมอ ตายเมื่อไรก็ได้ เหมือนคนที่จะเดินทางไกลแล้วสั่งสมเตรียมเสบียงไว้เพียงพอ มีเงินติดกระเป๋า มีพร้อมทุกอย่าง ไปไหนก็ไปได้ ถ้าเรามีทุน แต่ถ้าคนไม่มีทุนไม่มีทรัพย์ แล้วต้องเดินทาง ก็จะเดือดร้อน ไม่มีเสบียง การที่ต้องเกิดต้องตาย ต้องเวียนว่ายตายเกิดมันเหมือนยังต้องเดินทางอยู่ เราเดินทางไปต่างประเทศ ก็ยังมีโอกาสกลับมา เดินทางไปต่างจังหวัดก็กลับมาได้ แต่ถ้าเดินทางไปในสัมปรายภพ ไปในภพภูมิอื่น เราไม่ได้กลับมาได้อีก ตายแล้วตายเลย มีไหม มีใครกลับ มีน้อยคนที่ฟื้นขึ้นมา ฟื้นขึ้นมาได้พักหนึ่ง เดี๋ยวที่สุดก็ต้องตายอยู่ดี
พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ระลึกถึงความตายไว้เนืองนิตย์เพื่อไม่ประมาทในชีวิต เพราะอะไร เพราะว่าสัตว์โลกทั้งหลายมักมัวเมา คอยจะเมาในชีวิต เรายังไม่ตายง่าย เรายังมีชีวิตอยู่ เรายังอายุเท่านั้น มันไม่แน่นอน คนอายุน้อยตายได้ไหม เป็นเด็ก เป็นหนุ่ม เป็นสาวตายได้ไหมตายได้ทั้งหมด การพิจารณาถึงความตายมากมาก ทำให้เราไม่ประมาทในชีวิต เมื่อไม่ประมาทแล้วก็จะต้องทำอะไรที่จะเป็นที่พึ่งของเราในสัมปรายภพ คุณงามความดี สั่งสมบารมี ทาน ศีล ภาวนาต้องสั่งสมให้มากโดยเฉพาะเวลาจะตาย ถ้าตายด้วยความหลง ตายด้วยจิตเศร้าหมอง ก็จะไปเกิดในอบายภูมิ เป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง เพราะฉะนั้น เราต้องเตรียมตัวไว้ก่อนตายจริงว่าเวลาจะตาย สมมติตัวเองมันจะตาย ทำอย่างไร เราฝึกนอน นอนสมมติตัวเองถึงความตายมาถึง พิจารณาว่าตอนนี้ถ้าเกิดมันจะตาย เราจะทำอย่างไร เพื่อให้จิตเราไม่เศร้าหมอง เพื่อจะได้ไปเกิดใหม่ที่ดี หรืออาจจะได้เห็นธรรมะ บรรลุธรรมในเวลาจะตายก็ได้ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันบังคับ ร่างกายอ่อนแรงลงทุกอย่าง ทุกอย่างมันอ่อนทั้งหมด ระบบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายมันย่อลง
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมเป็น มันก็จะดูความตาย ดูความทุกข์ ดูความป่วย ความเจ็บ ดูความแตกดับ ดูความจะเป็นจะตายนั้น ดูอันนั้นแหละ กำหนดดูสิ่งเหล่านี้ด้วยใจที่สงบ ด้วยใจที่วางได้ ด้วยใจที่ปล่อยได้ ด้วยใจที่เฉยได้ ถ้าเราทำตรงนี้ได้ เราอาจจะได้บรรลุธรรม เพราะมันมีตัวอย่าง เรื่องราวในพระไตรปิฎกอยู่หลายหลายเรื่อง ที่บรรลุธรรมในขณะจะตาย สำเร็จเป็นพระอรหันต์เลยก็มี ดูความเป็นความตาย ก็คือดูในสังขารนี่แหละ มันบีบคั้น มันแสดงอาการอย่างไร มันจะแตกจะดับ หัวใจมันเป็นอย่างไร สภาพระบบทุกอย่าง คนป่วยนอนอยู่ ถ้าไม่ปฏิบัติธรรมเป็น จะทุกข์ 2 ด้าน
จิตเหล่านี้เศร้าหมองหมด เป็นทุกข์ด้วย แล้วก็เศร้าหมองด้วย ตายไปก็จะไปอบาย เราจะคอยฝึกตอนจะตาย คงจะช้าไป อาจจะลืมด้วย ถึงไม่ลืมก็ทำไม่ได้ ไม่เคยฝึก มันทำไม่ลง ปลงไม่ได้ ฝึกจิตวางเฉย วางไม่ได้ มันไม่ใช่ทำได้ง่าย สังขารร่างกายที่เป็นทุกข์ แล้วเราจะทำใจรู้อย่างยอมรับ รู้อย่างวางเฉย มันไม่ใช่ทำได้ง่าย เพราะฉะนั้น เราต้องไม่ประมาท ต้องฝึกเสียตอนดีดี ตอนนี้ที่เราป่วยเจ็บบ้าง หรือว่าตอนเรานั่งกรรมฐาน นั่งไปนานนาน มันก็ปวดแล้วใช่ไหม เราก็อย่าเพิ่งขยับ ลองดู ปวดก็ปวด มันเหมือนว่าป่วย มันปวด เวลาป่วย มันปวดทุกอย่างในร่างกาย หัดลองฝึกใจให้มันวางเฉย วางเฉยต่อความทุกข์ แล้วมีสติมากำหนดรู้จิตตัวเอง กำหนดดูจิตใจให้เป็น วางใจให้ถูกว่า เราจะต้องหัดวางเฉยต่อความทุกข์ อาศัยความทุกข์เพื่อให้เห็นธรรม บุคคลจะพ้นทุกข์ต้องอาศัยกำหนดรู้ทุกข์ เพราะฉะนั้นความทุกข์ที่มันแสดงตัวนั้นมันจะสอน มันจะเปิดเผยความจริงให้เกิดปัญญารู้แจ้ง ถ้าเผชิญหน้ากับความทุกข์อย่างวางใจ อย่างถูกต้อง เราจะได้ประโยชน์ต่อความทุกข์ จะได้ธรรมะจากความทุกข์ ถ้าเรากำหนดรู้ทุกข์ วางเฉยต่อทุกข์ จิตจะเข้าถึงความพ้นทุกข์ได้
เพราะฉะนั้น ความป่วยเจ็บ จริงอยู่มันเป็นผลของบาป ของอกุศลกรรมที่เราทำไว้ในอดีต เราเคยเข่นฆ่า เราเคยทำร้ายร่างกาย เคยทรมานสังขารเขาไว้อย่างไร มันก็ต้องมารับผลกรรมอันนั้น ทำให้เราต้องมีโรคภัยเบียดเบียนทุกข์ทรมานสังขาร แต่ถ้าเรารู้จักปฏิบัติ เมื่อมันมีทุกข์ก็พิจารณาทุกข์ กำหนดรู้ทุกข์ วางเฉยต่อทุกข์ รักษาจิตให้วางเฉย ให้มีปัญญาเห็นแจ้งว่า ทุกข์มันเป็นอย่างนี้เอง สังขารมันมีการเปลี่ยนแปลง มีการแตกดับ มันมีการบีบคั้น มันเป็นสังขารที่บังคับไม่ได้ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บีบคั้น เป็นของน่าเบื่อหน่าย จิตเบื่อหน่าย จิตก็จะคลายกำหนัด ความทุกข์กลายเป็นทำให้ถึงธรรม ทำให้พ้นทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีทุกข์ก็ไม่ได้เห็นทุกข์ ไม่ได้พิจารณาทุกข์ ไม่ได้ละ ไม่ได้ฝึกจิต เหมือนเรา ถ้าไม่มีข้อสอบ ไม่มีเครื่องฝึกซ้อม เราจะเก่งไม่ได้ เป็นนักกีฬาอย่างเช่น นักมวยจะเก่ง นอนกิน กินนอนอยู่อย่างนั้นจะเก่งไหม มันไม่ได้หรอก ต่อให้กินมากขนาดไหนก็ไม่แข็งแรง มันต้องไปฝึกซ้อม หาคู่ต่อสู้ที่เก่ง ๆ มาต่อยกับตัวเอง มันจะได้เก่ง ซ้อมมาก ต่อยมาก อันนี้ก็เหมือนกัน ความทุกข์ทั้งหลายมันก็เหมือนคู่ฝึกซ้อมให้เรา ตอนที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราจะต้องรู้ว่า เราได้คู่ฝึกซ้อมที่ จะมาสร้างให้เรามีสมรรถภาพสูง ให้เรามีความสามารถสูง
[25:25]
เพราะฉะนั้น เวลาที่มีทุกข์ ทุกข์ทางกาย ความป่วย ความเจ็บ ความไม่สบาย ก็อย่าให้ไปทุกข์ถึงทางใจ ถ้าทุกข์ถึงทางใจมันก็เหมือนเราทุกข์ 2 ด้าน ทุกข์กายแล้วก็ทุกข์ใจ ใจกลุ้มใจ ใจเสียใจ ใจกระวนกระวาย มันก็ตีกลับมาที่ร่างกายอีก สมองมันเครียด ถ้าเรากลุ้มใจ เสียใจ สมองมันจะเครียด พอสมองเครียดมันก็มาเบียดสังขารร่างกาย เป็นทุกข์เพิ่มขึ้นอีก ต้องหัดวางเฉย มันวางยาก แต่มันก็ต้องฝึก ทำอย่างไรได้ ต้องฝึก เพราะฉะนั้น เวลานั่งกรรมฐานไปก็ลองฝึกอดทนดูก่อน จะนั่งไปปวดเมื่อย เจ็บปวดไป ปล่อยดูซิ ให้เห็นว่าปวดเป็นอย่างหนึ่ง จิตใจเป็นอย่างหนึ่ง ใจไม่ใช่กายที่ปวด กายที่ปวดไม่ใช่ใจ เห็นมันเป็นคนละอย่าง แยกสภาวะเป็นปัญญาเบื้องต้น ปัญญาเบื้องต้นเกิดขึ้น วิปัสสนาเกิดขึ้น ถ้าแยกสภาวะได้ เห็นสภาวะทางกาย เช่น ความปวดความเจ็บเป็นอย่างหนึ่ง เห็นสภาพของจิตใจเป็นธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง ปกติคนเราจะเอาไปปนกันหมด ใจกับกาย
ปวดกับใจที่รู้ มันปนเป็นอันเดียวกัน เป็นตัวเราปวด มันก็เลยทุกข์
เมื่อพิจารณาแยกสภาวะ เห็นปวดอย่างหนึ่ง เห็นจิตใจที่รู้เป็นอย่างหนึ่ง แล้วเราก็มีแนวทางในการฝึก ว่าเราจะฝึกใจให้วางเฉย วางเฉยต่อทุกข์ เมื่อมีแนวทางแล้วก็มีสติดูใจ ฝึกไปหนักเข้าหนักเข้า จิตก็มีโอกาสวางเฉย แม้ร่างกายเป็นทุกข์ปวดเจ็บ แต่ใจมันวางเฉย มีบางคนมีความสุขใจเสียอีกด้วยซ้ำ โยมที่ปฏิบัติกรรมฐานไป เวลาสอบอารมณ์ เขาก็บอกว่าร่างกายมันปวดอยู่ ทำไมใจมันมีความสุข อย่างนี้ยังมีได้เลย ปวดก็รู้สึกมันมีอยู่ที่ร่างกาย แต่ใจมันมีความสุข เพราะใจมันกำลังมีความอิ่มเอิบในธรรม ปลื้มปีติในธรรม เกิดความอิ่มใจในธรรม มีความสุขในธรรมที่ได้เห็นธรรมะ ที่ได้เข้าใจธรรมะ เข้าใจธรรมะว่าสังขารมันเป็นอย่างนี้ มันมีสภาพที่ต่างกัน กายเป็นรูปธรรม ใจเป็นนามธรรม เห็นว่ามันเป็นเหตุเป็นปัจจัยกัน สิ่งนี้เป็นปัจจัยต่อสิ่งนี้ สิ่งนี้ดับไป อีกสิ่งที่เป็นผลดับ พอมันเห็นสภาวะ มันเข้าใจ ความเข้าใจในธรรม ทำให้จิตมันเบิกบาน จิตมันอิ่มเอิบ จิตมันมีความสุข อย่างนี้ก็มีได้ หรือว่าอย่างน้อย ให้จิตมันเฉย คำว่าเฉยในที่นี้ หมายถึงไม่ยินดียินร้าย ไม่ทุกข์ด้วย ไม่กังวล ไม่ทุกข์กับความทุกข์ จิตมันจะเป็นอุเบกขาหรือจะเป็นความปีติโสมนัสก็ตาม แต่มันไม่ยินดียินร้ายต่ออารมณ์
แนวทางของการฝึกจิตในทางของวิปัสสนา การฝึกจิตไม่ให้ยินดียินร้ายต่ออารมณ์ เจออารมณ์ดี มีความสุขความสงบ ก็วางเฉย เจออารมณ์ร้ายมันเป็นทุกข์ มันเดือดร้อน ก็วางเฉย แนวทางเป็นอย่างนั้น แต่เป็นความวางเฉยที่ไม่ใช่เฉยเมย ไม่ใช่เฉยแบบไม่รู้ไม่ชี้ เฉยแบบนั้นมันก็มีทั่วไป คนบางคนสติฟั่นเฟือน มันก็เฉย ไปไหนมันก็เฉยของมัน ใครจะมาใครจะไปมันเฉย ไม่เดือดร้อนด้วย อันนี้มันเฉยแบบโมหะ แต่ว่าเฉยในทางวิปัสสนา มันต้องเฉยอย่างผู้รู้ มันต้องมีความรู้ตื่นในความเฉย คำว่าเฉยในที่นี้หมายถึง ไม่ยินดียินร้ายต่ออารมณ์ แต่พิจารณาในธรรมได้อยู่ เข้าใจในธรรม พิจารณาในธรรม สอดส่องพิจารณาในสภาวธรรม มันมีการเปลี่ยนแปลง มันมีความแตกดับ มันมีความหมดไป มันเป็นเหตุเป็นปัจจัย อันนี้มันต้องมีการพิจารณา ถ้าไม่พิจารณา เฉยแบบไม่รู้ไม่ชี้ หรืออย่างดีก็ได้แค่สมาธิ ได้ความนิ่ง ได้ความเฉย ได้ความสงบ แต่ไม่มีปัญญารู้แจ้ง มันก็จะเป็นแค่สมถกรรมฐาน ซึ่งมันยังไม่หลุดพ้นจากสังสารวัฏได้ สงบก็ชั่วระยะที่มีสมาธิ พอเจออารมณ์กระทบ กิเลสมันก็ฟูขึ้นมาได้อีก เราจะต้องฝึกให้เข้าถึงปัญญา รู้แจ้งแทงตลอดในสัจธรรม เราจึงจะเรียกว่าสงบจากกิเลส
ความสงบจากกิเลสคือใจไม่วุ่นวาย ใจไม่เศร้าหมอง แม้จิตใจจะต้องรับรู้อารมณ์ต่างต่าง ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องรู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส คิดนึก แต่ว่าจิตไม่วุ่นวาย จิตไม่เศร้าหมอง นี่เรียกว่าสงบเหมือนกัน สงบจากกิเลส แต่ไม่สงบจากอารมณ์ เพราะยังรับอารมณ์ต่างต่าง แต่ถ้าสงบจากอารมณ์นั้น มันเป็นแนวของสมถะ คือนิ่งอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่รับรู้อะไรทั้งหมด นิ่งๆ ดิ่งดับ อย่างนี้เรียกว่าสงบจากอารมณ์ สมถะก็จะเป็นอย่างนั้น แต่วิปัสสนาไม่ใช่สงบจากอารมณ์ ต้องรับรู้อารมณ์ต่างต่าง แต่ว่าสงบจากกิเลสได้ ไม่เร่าร้อนใจ อันนี้ถ้าเราฝึกเป็น เราก็เอาไปใช้กับชีวิตจริง ชีวิตประจำวัน โดยที่เราตาเห็นรูป หูฟังเสียง ยืน เดิน นั่ง นอน ทำการงาน เรามีสติรักษาจิตไม่ให้ยินดียินร้าย ใจเราก็สงบ แต่ก็ยังทำงานได้อยู่ ยังคิดยังนึก แต่ว่าสงบจากราคะ โทสะ โมหะได้ เพราะฉะนั้น ให้ไม่ประมาทในชีวิต ไม่ประมาทในความเป็นหนุ่มเป็นสาว ว่าเรายังหนุ่มยังสาวอยู่ เรายังไม่แก่ชรา เรายังไม่ตายง่าย เมื่อประมาท มันก็จะพลาดไปทำความชั่ว ทำชั่วทางกาย ทำชั่วทางวาจา ทำชั่วทางใจ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทุจริตฉ้อโกง ล่วงละเมิดทางเพศ โกหกหลอกลวง ส่อเสียด หยาบคาย เพ้อเจ้อ พอประมาทแล้วมันจะพลาดไปทำชั่ว
เพราะฉะนั้น เมื่อนึกถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาว มันไม่เนิ่นนาน เดี๋ยวมันก็แก่ชรา ครั้นเมื่อถึงคราวเป็นผู้แก่ชราก็พิจารณาความแก่ที่อยู่กับตัว หรือคนหนุ่มสาว ก็พิจารณาคนแก่ที่เราเห็นทั่วทั่วไป พยายามพิจารณาดูว่า คนแก่เป็นอย่างไร มันทุกข์ไหม มันเป็นอย่างไร มันลำบากขนาดไหน แล้วก็น้อมมาสู่ตัวเองว่า เราเองก็หนีความเป็นอย่างนี้ไม่พ้น สักวันเราก็ต้องเหมือนกัน ความแก่นี้ แล้วมันไม่นานเลย วัยของเรามันผ่านไปผ่านไป เป็นหนุ่มเป็นสาวไม่นานมันก็แก่ พิจารณาถึงความที่ชีวิตเรามันต้องมีความเจ็บป่วย แม้ว่าตอนนี้เราแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เราก็ต้องไม่ประมาทว่าโรคภัยไข้เจ็บมันมาได้เสมอ เราจะต้องเร่งขวนขวาย ทำคุณงามความดีเสียตอนที่ยังแข็งแรง หรือว่าพิจารณาถึงความพลัดพราก ต้องจาก ต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา เป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น มีสิ่งใดเราก็ต้องสูญเสีย ต้องพลัดพรากสิ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ ยศ ลาภ ตำแหน่ง เกียรติยศ ทุกอย่างต้องพลัดพราก ต้องหลุดร่วงจากสิ่งเหล่านั้น ไม่มีใครที่ตั้งอยู่ได้เลย เหมือนพลุที่ขึ้นไปสูงสุด เดี๋ยวมันก็ต้องตกลงมา จะอยู่ในตำแหน่งสูงขนาดไหน มันก็ต้องหมดตำแหน่ง หมดวาระ จะมียศถาบรรดาศักดิ์ขนาดไหนก็ต้องหมด จะมีเงินทองมากมายขนาดไหน เดี๋ยวมันก็หมดไป จะมีบุคคลที่เราเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสามีภรรยา ลูกหลาน พ่อแม่ เพื่อนฝูง ทุกอย่างก็ต้องพลัดพรากจากกันหมด อย่างแน่นอน ไม่จากเป็น ก็ต้องจากตาย เขาไม่จากเรา เราก็ต้องจากเขาอย่างแน่นอน
[36:32]
พิจารณาถึงความสูญเสีย ถึงความพลัดพรากให้มันได้ธรรมสังเวช เห็นทุกข์เห็นโทษว่า ทำไมต้องมีการพลัดพราก ทำไมต้องมีการสูญเสีย ทำไมต้องมาแก่ มาเจ็บ มาตายกันอยู่ ถ้าหากยังมีการเวียนว่ายตายเกิด ก็จะต้องหนีไม่พ้น ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก หนีไม่พ้น ถ้ายังเกิดอยู่ เมื่อพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของการสูญเสีย ของการพลัดพราก เห็นโทษของความแก่ ความเจ็บ ความตาย เราก็จะเห็นโทษของการเวียนว่ายตายเกิด เห็นโทษของสังสารวัฏว่าการยังเกิดขึ้นมา แม้จะเป็นมนุษย์ เราก็ยังพบว่ามันเป็นทุกข์ขนาดนี้ จึงเห็นโทษ แล้วก็หาทางที่จะพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดเสีย ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จะปรากฏชัดแก่เราได้ จะเกิดขึ้น ทำอย่างไรเราจะพ้นทุกข์ได้ รู้ว่าความเกิดก็มาจากกรรม การกระทำกรรมไว้ กรรมก็มาจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน กิเลส ตัณหา อุปาทานก็มาจากอวิชชา ความไม่รู้ตามความเป็นจริง ถ้ายังปล่อยให้อวิชชาคือ ความไม่รู้ มันอยู่ในจิตใจเราไปเรื่อยเรื่อย เราก็จะมีกิเลส ตัณหา อุปาทานไปเรื่อยเรื่อย ทำกรรมไปเรื่อย ๆ แล้วก็เกิดไปเรื่อย ๆ เมื่อเกิดไปเรื่อย ๆ ก็แก่ไปเรื่อย ๆ เจ็บไปเรื่อย ๆ พลัดพรากไปเรื่อย ๆ ตายไปเรื่อย ๆ เราพอใจหรือที่มันจะต้องมาเป็นอย่างนี้ ซ้ำซาก ซ้ำซ้ำอยู่อย่างนี้
เพราะฉะนั้น เห็นทุกข์เห็นโทษก็หาทางหลุดพ้น รู้ว่ามันมาจากอวิชชา ความไม่รู้ตามความเป็นจริง เราก็ต้องสร้างปัญญาขึ้นมา เพื่อทำลายอวิชชา เราไปเอาอย่างอื่นทำลายก็ไม่ได้ ต้องใช้ปัญญา ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง แล้วปัญญานี้จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร จะไปซื้อไปหาที่ไหนได้ จะให้ใครมามอบให้เราได้ ก็ไม่มี นอกจากเราจะต้องภาวนา เราจะต้องปฏิบัติขึ้นมา เราจะต้องเจริญภาวนา ต้องเจริญสติขึ้นมา เราจึงจะเกิดปัญญารู้แจ้ง ไม่มีใครทำให้เราได้ เราจะต้องมาเจริญสติ ภาวนาอยู่เสมอต่อเนื่องต่อเนื่อง ปัญญาให้เกิดขึ้น การเจริญสติทำอย่างไรจะถูกต้อง ถ้าเราเจริญไม่ถูกต้อง มันก็ไม่ได้ผล มันก็ไม่มีปัญญารู้แจ้ง เราจะเจริญสติได้ถูกต้อง เราก็ต้องอาศัยการฟัง การศึกษา เราไม่สามารถไปคลำเอาได้เอง เรื่องปัญญา เรื่องวิปัสสนานี่ ไม่เหมือนสมถะ ไม่เหมือนสมาธิ เราฝึกสมถะ เราอาจจะคลำเอาเองก็ได้ ฝึกเพ่งโน่นเพ่งนี่ จิตก็สงบ แต่ทางปัญญาเราคลำเองไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้ฟังคำสอนที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ เราจะทำไม่ถูกเลย เขาให้กำหนดดูขันธ์ห้า กำหนดดูรู้รูปนาม กำหนดดูสภาวะ กำหนดดูปรมัตถ์ เราก็ไม่รู้จักแล้ว ไม่รู้ว่าจะกำหนดอย่างไร ทำอย่างไร
เพราะฉะนั้น จึงต้องหมั่นฟังธรรม ฟังให้เข้าใจว่า สภาวะคือสิ่งที่มันมีอยู่จริงจริงที่กายที่ใจ ที่มันเป็นตัวปรมัตถธรรม เป็นรูปเป็นนาม กำหนดรู้มาที่ตัวสภาวะ สิ่งที่มันเป็นชื่อเป็นภาษาก็เป็นสมมุติ สิ่งที่เป็นรูปทรงสัณฐาน เวลาจิตเรานึกมาถึงกายเป็นรูปร่างสัณฐาน มันก็เป็นสมมติ การตีความหมาย การใส่ค่า อันนี้เข้านี้ออก นี้ยาวนี้สั้น นี้พองนี้ยุบ นี้ขวานี้ซ้าย มันก็เป็นสมมุติ แต่เราก็อาศัยสมมุติไปก่อน เพื่อให้จิตใจเราตั้งมั่นมีสมาธิ อย่างที่เราฝึกใหม่ มันต้องมีสมมุติ เดินจงกรมก็อาจจะต้องมีขวามีซ้าย มีนับก้าว แล้วแต่เราจะใช้ เหมือนคนฝึกว่ายน้ำ แล้วแต่จะใช้ชูชีพอะไร ห่วงยางก็ได้ โฟมก็ได้ คำบริกรรมต่างต่าง มันเหมือนชูชีพฝึกว่ายน้ำ เราจะใช้อย่างไรก็ได้ที่มันเหมาะสม ที่มันถนัด พุทโธ ถ้าว่าพุทโธ จิตใจเราอยู่ดีก็เอาพุทโธ หรือเราจะนับ หนึ่ง สอง สาม หายใจเข้านับ หนึ่ง หายใจออกนับ หนึ่ง หายใจเข้านับ สอง หายใจออกนับ สอง หายใจเข้านับ สาม หายใจออกนับ สาม หายใจเข้านับ สี่ หายใจออกนับ สี่ หายใจเข้านับ ห้า หายใจออกนับ ห้า นับเป็นคู่ ๆ กัน แล้วก็มาขึ้น หนึ่ง ๆ สอง ๆ สาม ๆ สี่ ๆ ห้า ๆ หก ๆ แล้วก็มาขึ้น หนึ่ง ๆ ไปถึง เจ็ด ๆ อย่างนี้คือการฝึกทำสมาธิก่อน ใช้บัญญัติ ใช้คำบริกรรม ใช้การนับ หรือว่าหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พุทโธ ๆ คำบริกรรมก็จะช่วยกำกับจิต ให้อยู่กับลมหายใจ
หรือดูเฉยเฉย ว่านี่ลมหายใจเข้า นี่ลมหายใจออก นี่ลมหายใจเข้ายาว ออกยาว นี่เข้าสั้น ออกสั้น จิตมันก็จะอยู่กับลมหายใจ พออยู่ไปนานนาน มันก็เกิดสมาธิ พอมีสมาธิ เราก็ค่อยพิจารณาลึกซึ้งเข้าไป ดูสภาวะรูปนามที่จะเป็นปัญญารู้แจ้ง หรือว่าเบื้องต้นเราไม่ถนัดจะดูลมหายใจ เราก็มาดูอิริยาบถแทน นั่งอยู่ก็รู้ตัวว่านั่งอยู่ ยืนอยู่ก็รู้ตัวว่ายืนอยู่ เดินก็รู้ตัวว่าเดิน นอนก็รู้ตัวว่านอนคู้ เหยียด เคลื่อนไหวก็รู้ตัวอยู่ หรือเราทำทั้งหมด บางทีมีการไปเดินจงกรม แล้วก็ยืนปฏิบัติ เดินปฏิบัติ แล้วก็มานั่ง นั่งจะดูท่านั่ง หรือจะดูลมหายใจ หรือดูทั้งสองอย่างสลับกัน มันก็ได้ทั้งหมด ดูว่าทำแล้ว จิตเราอยู่ก็แล้วกัน เบื้องแรกทำอย่างไรให้จิตมันอยู่กับเนื้อกับตัว ฝึกภาวนาให้จิตมันอยู่กับตัวให้ได้ก่อน มันไม่อยู่ มันไปก็ตามกลับมาใหม่ๆ ทำไปทำมา เดี๋ยวมันก็อยู่ พอมันอยู่มันก็จะสงบ พอสงบตอนนี้เราก็เริ่มพิจารณาในธรรมได้ ดูสภาวะ เข้าไปที่กายที่ใจ ดูจิตดูใจ ดูใจผู้รู้ เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นความหมดไป เห็นสังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดปัญญารู้แจ้ง เพราะฉะนั้น เราต้องหมั่นฟัง ฟังครั้งเดียวมันไม่รู้เรื่อง ก็ฟังหลายหลายครั้ง ฟังเรื่อยเรื่อย ฟังแล้วเราต้องลงมือภาวนา ข้อสำคัญฟังอย่างเดียว ไม่ปฏิบัติ มันก็ไม่เป็น รู้จักตัวยาทุกอย่าง ป่วยอย่างนี้ต้องกินยาอย่างนั้น แต่เราไม่ได้กินยา มันก็ไม่หายโรค การภาวนาเหมือนการกินยา การฟังก็เหมือนการรู้จักตัวยา เรามาภาวนาแล้วก็ปฏิบัติ
[45:01]
เพราะฉะนั้น วันนี้ก็เป็นวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 สุดเขตการทอดกฐิน วันนี้ก็ยังทอดได้ คืนนี้ก็ยังทอดได้ ถ้าวัดไหนที่ยังไม่ได้ทอด แต่พ้นสว่างไปแล้วหมดเขตแล้ว วันคืนในพระพุทธศาสนา ท่านเอารุ่งอรุณของวันใหม่ถึงจะหมดเขต ไม่ใช่หกทุ่มไปแล้วเป็นวันใหม่ ต้องสว่างรุ่งอรุณ วันนี้ก็ถือว่าสิ้นฤดูฝน ฤดูฝนสี่เดือนหมดเขต ประเพณีไทยเราก็มีการลอยกระทง เพราะฉะนั้น ไม่ใช่กิจการของพระศาสนา เรื่องลอยกระทงเป็นเรื่องของประเพณีไทย ไม่ใช่เป็นงานทางพระศาสนา แต่โยมก็โยงกันมาให้เกี่ยว ในการลอยระลึกบูชารอยพระบาท บูชาระพุทธเจ้า ก็เป็นบุญกุศลได้อย่างหนึ่ง โบราณเราก็ทำประเพณีนี้ขึ้นมา ให้มันเป็นกุศล การขอขมาลาโทษ มันก็เป็นกุศลอย่างหนึ่ง การรู้สึกสำนึกในความผิดพลาดบกพร่อง แล้วก็แก้ไขใหม่เสีย เวลาที่เราทำอะไรบกพร่องผิดพลาด เราขอขมาลาโทษกัน แล้วเราก็ตั้งใจทำใหม่ให้ดี อย่างนี้ก็จะเป็นความดีในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น พระก็จะมีการปลงอาบัติ ที่มันผิดพลาดไป อาบัติเล็กน้อยก็ปลง ก็คือไปสารภาพกับพระด้วยกัน ตั้งใจจะรักษาใหม่ให้ดี
โยมก็เหมือนกัน เราผิดพลาดบกพร่องไป เราก็รับศีลใหม่ ต่อศีลใหม่ แล้วก็ตั้งใจทำให้ดีใหม่ หรือเราไปขอขมากัน ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจที่ประมาทพลาดพลั้งล่วงเกิน ก็ขอขมาลาโทษ เขาได้อโหสิกรรมให้เรา เช่น พ่อแม่ หรือใครก็ตาม กรรมอันนั้นมันก็จะยุติแค่นั้น เพราะฉะนั้น โบราณก็ขอขมาแม่พระคงคา อาจจะล่วงเกิน บางทีก็เอาของเสียของเน่า อุจจาระปัสสาวะลงไป ขอขมาลาโทษ ก็ให้เกิดความสำนึก ที่สำคัญก็คือเราอย่าไปทำอีก มีความสำนึกว่าอะไรที่มันไม่ดี ทำให้แม่น้ำลำคลองสกปรก ต่อไปเราก็อย่าไปทำอีก ต้นไม้เขาให้ความร่มเงาต่อเรา ให้ความร่มเย็นต่อโลก เรามีความกตัญญู เห็นคุณค่า ก็อย่าไปตัดต้นไม้ นอกจากไม่ตัดแล้วก็พยายามปลูก ต่างคนต่างพยายามปลูก โลกก็จะร่มเย็นเป็นสุข หรือเราลอยเพื่อระลึกบูชาต่อรอยพระพุทธบาท พระบาทพระพุทธเจ้าก็ได้ เป็นกุศล แต่ว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับพระ จะให้พระเราไปทำพิธี มันไม่เกี่ยว โยมก็ทำเอาเอง แล้วแต่จะทำ สมัยนี้ก็ทำกระทงเป็นขนมปังให้ปลากินเสร็จเรียบร้อย ให้ทานไปในตัว ก็ทำพอดีพอดี ทุกอย่าง
ข้อสำคัญให้เราลอยกระทงใจของเรา ให้มันสูงส่ง ให้มันพ้นจากบาปมลทินทั้งหลาย ให้จิตใจของเราสูงส่ง คุณงามความดีบารมีสูงส่ง ให้พ้นจากบาป ถึงจะเรียกว่าลอยบาป
คือทำความดีจนถึงที่สุดหลุดพ้นจากกิเลส คือลอยบาป ก็คือพ้นจากบาปได้ เหนือบุญเหนือบาป พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่เหนือบุญเหนือบาปเพราะฉะนั้น วันนี้ก็ขออนุโมทนาสาธุการ ขอคุณงามความดี บารมีที่ท่านทั้งหลายได้บำเพ็ญ ให้ร่มเย็นเป็นสุข ดับร้อนผ่อนทุกข์ เข้าถึงบรมสุข คือมรรคผลนิพพานทุกท่านเทอญ