แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นะมัตถุ ระตะนัตตะยัสสะ
ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขอความความผาสุกความเจริญในธรรม
จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
โอกาสนี้ไปจะได้ปรารภธรรมะ
ตามหลักคำสั่งสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ก็พึงตั้งใจฟังด้วยดี เอามือลงได้ นั่งสงบสำรวม
ถ้าเราพนมมือก็อาจจะเมื่อย
นั่งพนมมือไปนานนานเมื่อย
เมื่อยก็จิตกระสับกระส่าย ก็จะรู้สึกว่าทรมาน
เทศน์เมื่อไรจะจบสักที
ฉะนั้น ก็วางมือตามปกติได้
แต่ว่าเพียงตั้งใจฟัง ไม่หลับเท่านั้นแหละ
ไม่หลับ ไม่ส่งจิตไปเรื่องอื่น
ตั้งใจฟังย่อมได้ปัญญา
ที่ว่า สุสสูสัง ละภะเต ปัญญัง
ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา
ฟังด้วยการใคร่ครวญพิจารณาด้วย
ไม่ส่งจิตไปอย่างอื่น
มีถ่ายรูปอีก ส่งจิตไปเรื่องอื่น
ให้เห็นคุณค่าของธรรมะมากกว่าอย่างอื่น
จิตเราเป็นธรรมชาติที่ดิ้นรน กวัดแกว่ง ซัดส่าย
ตรึกยาก ห้ามยาก
มักตกไปสู่อารมณ์อันน่าใคร่น่าปรารถนา
จิตมันจะเป็นธรรมชาติอย่างนั้น
กวัดแกว่ง ดิ้นรน ซัดส่าย แล้วก็เป็นทุกข์เอง
เวลาจิตที่ดิ้นรนกวัดแกว่งไปเรื่องต่างต่าง
ทำให้คิดมาก ทำให้ฟุ้งซ่าน เป็นทุกข์ขึ้นมา
จิตเองเป็นทุกข์
ฉะนั้น วิธีการที่จะไม่ให้จิตเป็นทุกข์
จิตไม่คิดไปเรื่องต่างต่าง
หรือคิดแล้วก็ ละอารมณ์เหล่านั้นได้
ก็ด้วยวิธีการต้องมีสติ มีสติสัมปชัญญะ
ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นมา
โดยเฉพาะการรู้เท่าทันต่อจิต
เมื่อมีการรู้เท่าทันต่อจิตใจ อย่างปล่อยวาง
จิตอยู่กับปัจจุบัน อย่างปล่อยวางอดีตอนาคต
จิตก็จะเบา เบาใจ เบิกบานใจขึ้น
วันนี้ก็ไปสอบอารมณ์พระที่เข้ากรรมฐานสามเดือน
พระใหม่บวชในพรรษา
ก็จะนำไปรวมกันเข้าปฏิบัติที่ยุวพุทธ
ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธ เขมรังสี นครหลวง
อาตมาก็ไปสอบอารมณ์เป็นระยะระยะ
องค์หนึ่งก็ปฏิบัติมา ตอนแรกก็กำลังสงบสบายดี
เกิดอยากจะทำให้มันไว อยากจะบรรลุให้มันไวขึ้น
ก็ไปเร่งทำ พยายามที่จะทำ พยายามที่จะควบคุม
เลยเครียด เป็นโรคไมเกรน ปวดหัว
ที่เคยรู้สึกตัวทั่วพร้อมหายไปหมด
อันนี้ก็เพราะ ติดกับกิเลส
กิเลสมันล่อหลอก จนกระทั่งติดกับเข้าไป
ทำมากำลังสงบระงับดี เบาอก เบาใจ
ความอยากจะให้มันสำเร็จไวขึ้น
อยากจะให้มันดีขึ้น มากขึ้นไปอีก
ก็เลยไปเพ่งเล็ง ทะยานอยากจะเร่งเอาให้ได้
กิเลสมันล่อหลอกไป จนติดกับเข้าจนได้
จิตใจก็กลับกลายเป็นปั่นป่วน เครียดปวดหัวเลย
ทีนี้มาแก้ไข คอยตามดู ตามรู้เท่าทันจิต
ก็ยังไม่คลี่คลาย
ก็เลยวันนี้ก็แนะว่า
การปฏิบัติจะต้องรู้จักปล่อยวางด้วย
ต้องมีการรู้จักปล่อยวางด้วย รู้แล้วปล่อยวาง
ถ้ารู้แบบไม่ปล่อยไม่วาง ไปตามจี้ตามจับ
มันก็จะติดกับกิเลส
บางครั้งก็ต้องปล่อย ปล่อยวางทั้งหมด
เก็บใจอยู่นิ่งนิ่ง ไม่วิ่งไปตามอารมณ์
อุปมาให้ฟังว่า จิตใจเหมือนเจ้าของบ้าน
ออกไปนอกบ้าน เห็นเขาวุ่นวาย
ฝูงชนกำลังจะวุ่นวาย ก็จะไปควบคุมเขา
ควบคุมฝูงชนให้สงบให้นิ่ง
คุมเขาไม่อยู่ก็จะเดือดร้อนตัวเอง หนักเข้าไปอีก
ทำอย่างไร
ก็ต้องปล่อย ปล่อยฝูงชนเขาไป เก็บตัวเข้าบ้าน
ก็เหมือนกับการที่จะไปควบคุมจิตใจทุกอย่าง
ให้นิ่งให้สงบ
เขากลับเดือดดาลวุ่นวายหนักกว่าเดิม
ก็ต้องปล่อย รู้สึกตัวแล้วปล่อยวางออกไป
อีกองค์หนึ่งก็ว่า นั่งกรรมฐานไปแล้ว
มันเห็นแสง เป็นดวงไฟสว่าง
แล้วมันวิ่งเข้ามาที่ตัว ขนหัวลุก
ถามว่ามันคืออะไร อย่างไร
อันนี้มันก็เป็นนิมิต
แสงสว่างดวงไฟ ก็เกิดจากจิตของตัวเอง
มันไม่ได้มีมาจากภายนอก ไม่ได้มีมาจริง
มันเกิดจากจิตของตัวเอง
จิตพอมีสมาธิ ก็สร้างเป็นแสงเป็นภาพขึ้นมา
เขาเรียกว่าเป็นมโนภาพ
ถ้าสมาธิมากแสงก็สว่างมาก สมาธิน้อยก็สว่างน้อย
แล้วนิมิตนี่ จิตเราซูมได้
นึกให้มันไกลให้มันใกล้ ให้มันใหญ่ให้มันเล็ก
มันก็จะเป็นไปตามกระแสจิต
มันกลับซูมเข้ามาเข้ามาหาตัว ตกใจขนหัวลุก
ที่จริงที่ขนหัวลุก เพราะมันมาจากความกลัว
เกิดความกลัวขึ้นมา มันก็ขนหัวลุกได้ ใช่ไหม
อย่างโยมไปเดินที่เปลี่ยว กลัวผีขึ้นมาขนหัวลุก
มันไม่ใช่ผีมาทำให้ขนหัวลุก
แต่จิตของตัวเอง จิตเวลามันกลัวมันหวาดขึ้นมา
มันจะทำให้ขนหัวลุก
เกิดจากจิต จิตมันมีอิทธิพลมันมีอำนาจ
ไปสู่ระบบร่างกายต่างต่างได้
จริงจริงแล้วเวลาเห็นนิมิต เห็นดวงไฟ เห็นแสงสว่าง
ปกติก็จะทำให้จิตผู้นั้นเกิดความสงบ เกิดความสุข
เกิดความสุขใจ อิ่มเอิบใจ
แต่ว่า เพราะพระรูปนี้ท่านฟังข้อมูลมาก่อน
ฟังข้อมูลอาจารย์องค์อื่นมาก่อนว่า
เวลาเห็นแสง อย่าดึงเข้ามาหาตัว
พอมันวิ่งเข้ามา ท่านก็เลยกลัว ขนหัวลุก
จริงจริงมันก็ไม่เป็นไรหรอก
ถึงแม้มันจะมาอยู่ในตัว ร่างกายจะสว่างทั้งตัว
ถ้าจิตไม่ได้กลัว ไม่ได้คิดนึกหวาดกลัว
มันก็จะกลับสงบ สบาย เป็นสุข
เพราะจิตมันมีสมาธิ มันให้ความสุขได้
ก็เลยบอกว่าเวลากลัวให้กำหนดดูที่ใจ ดูใจที่กลัว
ใจเกิดความตื่นเต้นหวั่นไหว ให้ดูมาที่จิตใจ
ดูเฉยเฉย มันก็จะคลายลง
โยมก็จำไว้เวลาเกิดความตกใจ
ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม
บางครั้งมันเกิดเหตุ เสียงอะไรมันดังปึงปังขึ้นมา (คำ “ปึ้งปั้ง” ไม่มีในพจนานุกรมฯ)
ตกใจ ให้มีสติน้อมเข้ามารู้ที่ใจ
ดูอาการตื่นเต้นของจิตใจ ดูเฉยเฉย
ความตกใจมันจะหายไป มันจะคลายลง
จิตมันจะคืนความเป็นปกติได้ไว
แต่ถ้าไม่ดูใจ ใจมันก็จะคิดไปในสิ่งที่ได้ยิน
อะไรเป็นอย่างไร แล้วก็ปรุงแต่ง
ทำให้กลัว ทำให้หวั่น
หัวใจมันก็จะเต้นแรง แรง แรง
ใจก็ตกใจ เหงื่อแตก มันแปรปรวนไปหมด (เติมให้เป็น “ แปรปรวน” ตามพจนานุกรมฯดีไหมคะ )
จิตนี่ พอมันกลัวมันตกใจ
ร่างกายมันจะแปรปรวนไปหมด (เติมให้เป็น “ แปรปรวน” ตามพจนานุกรมฯ ดีไหมคะ)
ดีไม่ดีหัวใจวาย
มีไหมบางคนตกใจหัวใจวาย เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว
ฉะนั้น ต้องหัดฝึกการรู้เท่าทันต่อจิตไว้ให้เก่ง
มีอะไรก็จะดูจิต รู้จิตรู้ใจขึ้นมา
อีกองค์หนึ่งว่า ปฏิบัติไปแล้ว
มันว่างไปหมด มันไม่รู้สึกร่างกาย
ร่างกายมันก็ไม่มี เหมือนไม่มีตัวตน
ถามว่า เดินทางผิดหรือเปล่า
จริงจริงแล้วก็ เมื่อจิตไปอยู่กับความว่างเปล่านั้น
ก็แสดงถึงว่า มีสมาธิ
ถนัดในการเอาจิตไปอยู่กับความว่างว่าง
มันก็จะไม่รับรู้ในร่างกาย มันก็เหมือนไม่มีร่างกาย
ถ้าเราเอาจิตน้อมไปอยู่กับความว่าง
ความว่างว่าง ความไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน
มันก็จะไม่รู้สึกที่ร่างกาย เหมือนร่างกายไม่มี
ถามว่า จะต่อจะเข้ามาทางวิปัสสนาได้อย่างไร
ก็ต้องดูใจอีก ดูใจขณะนั้นขึ้นมา
ถ้าดูอยู่กับความว่าง มันก็จะว่างอยู่อย่างนั้น
แค่นิ่ง แค่ว่าง แค่สงบ เป็นสมถะอีก
เรียกว่าสมถกรรมฐาน
แต่ถ้าระลึกรู้เข้ามาที่ใจผู้รู้ มันก็จะต่อยอดขึ้นมา
จากสมถะมาเป็นวิปัสสนา
เพราะว่าการรู้ที่ใจนี่ ใจมันเป็นสภาวะ
ใจมันเป็นปรมัตถธรรม เป็นของจริง
สติมารู้ใจได้ มันก็จะกลับมาสู่ปรมัตถ์
มันไม่ใช่ว่างเปล่าอย่างเดียว มีตัวรู้
มีจิตใจที่เป็นผู้รู้ ผู้ดู
การดูใจ บางคนก็บอกว่ามันเฉย
บางท่านบอกว่า มันดูได้บางคราว
แต่เมื่อใจมันไม่มีอะไรมากระทบ มันเฉยเฉย
ก็ไม่เห็นว่ามันจะมีอะไร
ไม่เห็นว่ามันจะมีจิตใจรู้สึกอย่างไร มันเฉยเฉย
ก็บอกว่า การดู รู้จิตใจ
ไม่ใช่ไปรู้เฉพาะเรื่องอาการของมัน
หรือความรู้สึกของจิตใจเท่านั้น
ถ้าเราจะดูเฉพาะความรู้สึก
พอมันรู้สึกเฉยเฉย มันไม่สุขไม่ทุกข์
มันไม่ได้ชอบ มันไม่มีชอบมีชัง
มันเฉยเฉย มันก็จะดูไม่ออกอีก
ถ้าไปหาเฉพาะว่าใจมันสุข หรือทุกข์
ใจมันชอบ หรือมันชัง
ถ้ามันเฉยเฉยมันก็ดูไม่ออก
จึงบอกว่าการดูใจ ไม่ใช่จะดูเฉพาะว่า
มันมีความรู้สึก มันมีอาการเท่านั้น
แต่ให้ดูในแง่ของ ความเป็นสภาพรู้
ของความเป็นธาตุรู้
เพราะฉะนั้น จิตไม่ว่าจะเฉย มันก็ยังเป็นธาตุรู้อยู่
ยังเป็นสภาพที่รู้อยู่ เห็นอยู่ ดูอยู่ รู้อยู่
จิตจะเฉยก็ตาม แต่มันก็เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้
ถ้าสังเกตได้ว่าจิตเป็นธาตุรู้
ก็จะได้เห็นความหมดไปของมัน
รู้หายไป รู้หายไป
มันไม่ได้รู้ตลอดเวลา มีเกิด มีหมดไป
เพราะฉะนั้น มันจึงดูยาก เป็นขั้นที่ดูยาก
จึงแนะว่า หัดดูแต่เนิ่นเนิ่น
จะไปคอยตอนมีสมาธิแล้วดูจิต
มันไม่คุ้นเคย มันก็ดูไม่ออก
ดูตั้งแต่ว่า แม้เคลื่อนไหวอยู่ ก็หัดดูใจได้
เวลาทำอะไร ทำกิจใดใด
ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว
ก็ให้รู้คู่คู่กันได้ ว่ามันมีกายเคลื่อนไหว
และก็มีใจเป็นธาตุรู้อยู่
มันไม่ใช่มีแต่ร่างกายอยู่ มันมีจิตใจอยู่ด้วย
กายก็เคลื่อนไหวอยู่ กายก็ยืน เดิน นั่ง นอน
กายก็หายใจเข้าออก
กายก็หลับสัปหงกอยู่ขณะนี้
ดูกายแล้วก็ดูใจ ไม่ดูใจก็หลับสัปหงก
แล้วก็จะฟังไม่ออกด้วยว่า พูดอะไร
แต่เวลาจะจบทีไร ตื่นทุกที
พอพระทำท่าว่า แสดงธรรมมาพอสมควร
ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการ
ตื่นเลย ทีอย่างนี้ตื่น
ฉะนั้น ก็ต้องแกล้งพูดจบอยู่เรื่อยเรื่อย
จบแล้ว ตื่น จิตมันเป็นอย่างนี้
จะให้หลับกลับตื่น เวลาจะให้ตื่นกลับหลับ
เวลาให้ไปนอนจริงจริงไม่หลับอีก
ฉะนั้น ถ้านอนไม่หลับก็แกล้งตื่น
ลุกขึ้นมานั่ง นั่งกรรมฐานไป ไม่ยอมนอน
เดี๋ยวมันก็อยากจะหลับอีก
ฉะนั้น ถ้ามันจะหลับก็ลองหลับดูซิ
ลองหลับดู ปล่อยให้เขาหลับ
แต่ดูเขาไว้ จงหลับ มันก็จะตื่นขึ้นมาอีก
ปฏิบัติ ถามว่าจะถูกทาง
เข้าสู่เส้นทางวิปัสสนาได้อย่างไร
ก็ต้องกำหนดดูสภาวะ
ระลึกรู้ที่สภาวะที่กำลังปรากฏ
ถ้าไม่รู้สภาวะที่ปรากฏอยู่
มันก็ยังไม่เข้าทางวิปัสสนา
แม้ว่าจะทำจิตให้นิ่งได้ จิตนิ่ง จิตสงบ
แต่ถ้าไม่รู้สภาวะ จิตนิ่งก็ไม่รู้ จิตสงบก็ไม่รู้
จิตเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ มันก็ยังไม่เข้าสู่ทางวิปัสสนา
เราก็จะอยู่แค่สมถะ
สมถะ คือการฝึกจิตให้มีสมาธิ
จิตที่อยู่กับนิมิต อยู่กับภาพนิมิต
อยู่กับดวงไฟ ดวงแก้ว แสงสว่าง
มันเกิดสมาธิ สงบได้ ตั้งมั่นได้
แต่มันยังไม่ได้ขึ้นวิปัสสนา
ถ้าไม่มีการระลึกรู้สภาวะ ไม่รู้จิตรู้ใจในขณะนั้น
ทำสมาธิไปได้มากกว่านั้น จนดับการรับรู้
เพราะสมาธิมากมาก มันก็จะดับ
ประสาทสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่รู้ ไม่รับรู้
แม้ทำได้ระดับนั้น มันก็ยังไม่เป็นวิปัสสนาอยู่ดี
แม้จะทำไป เกิดฤทธิ์ขึ้นมา แสดงฤทธิ์ต่างต่าง
หรือเกิดบุพเพนิวาสานุสติ ระลึกชาติได้
หรือมีทิพพจักษุ ตาทิพย์
ทิพพโสต หูทิพย์ รู้วาระจิตผู้อื่น
ก็ยังไม่เป็นวิปัสสนาอยู่ดี ยังไม่เป็นวิปัสสนา
มีฤทธิ์ มีคุณวิเศษ ตาทิพย์ หูทิพย์
ระลึกชาติได้ รู้วาระจิต
ก็ยังไม่เข้าถึงวิปัสสนา ยังอยู่แค่สมถะ
ยังอยู่แค่การทำเพียงแค่สงบ
ระงับนิวรณ์ ระงับกิเลส ด้วยการข่มไว้เท่านั้น
กิเลสทั้งหลายไม่ได้ถูกประหาณ ไม่ได้ถูกตัดขาด
เขาเรียกว่า วิขัมภนปหาน ข่มไว้ได้นานนาน
ต่อต่อไป เดี๋ยวมารับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น
สมาธิเสื่อม กิเลสมันก็เกิดได้เต็มที่อีก
บางคนอาจจะโกรธ แรงกว่าเดิมก็มี
เจริญกรรมฐาน กลับเป็นคนโกรธแรง
แต่ถ้าไม่เข้าถึงวิปัสสนา อยู่แค่สมถะ
เคยทำจิตอยู่กับความนิ่งนิ่งสงบสงบ มีความสุขสงบ
แต่พอมาอยู่กับเสียงวุ่นวาย วุ่นวาย โกรธแรงเลย
เพราะมันเคยอยู่กับความสงบสงบ
พอเจออารมณ์กระทบ โกรธแรง
ไม่ได้ตัดกิเลสขาด
ถ้าเพียงแค่สมถะ มันตัดกิเลสไม่ได้ ได้ข่มไว้
การปฏิบัติจึงต้องเข้าถึงวิปัสสนา
อารมณ์ของวิปัสสนาจะระลึกรู้ที่ตัวสภาวะ
เรียกว่าสภาวะ คือสิ่งที่มี เป็นอยู่จริงจริง
เรียกว่าปรมัตถธรรม ประกอบด้วยรูป จิต เจตสิก
หรือเรียกว่าให้กำหนดเข้าถึงตัวขันธ์ห้า
เข้าไปรู้ถึงรูป ถึงเวทนา ถึงสัญญา สังขาร วิญญาณ
จึงจะเข้าทางวิปัสสนา
วิปัสสนาก็คือ ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง
การจะรู้แจ้งเห็นจริง
จำเป็นต้องกำหนดรู้ที่ สิ่งที่เป็นจริงไหม
ถ้าเราไปดูของปลอม จะรู้แจ้งเห็นจริงได้อย่างไร
ต้องดูของจริง ต้องกำหนดมาที่ตัวของจริง
เขาเรียกว่าปรมัตถ์ หรือสภาวะ
เมื่อกำหนดดูสภาพที่เป็นจริง
ที่สุดก็จะเห็นตามความเป็นจริงว่า
ไม่เที่ยงหนอ เป็นทุกข์หนอ ไม่ใช่ตัวตนหนอ
เห็นขันธ์ห้า รูปนาม มันเปลี่ยนแปลง
มันเกิดขึ้น มันดับไป มันหมดไป
มันบังคับไม่ได้ มันไม่ใช่ตัวตน
เห็นแจ้ง รู้แจ้งเห็นจริงอย่างนี้
เรียกว่าจัดเป็นวิปัสสนา เป็นปัญญาขึ้นมา
การจะกำหนดสภาวะเป็น ก็ต้องเข้าใจเรื่องสภาวะ
จะกำหนดดูรูปนาม ขันธ์ห้า
ก็ต้องเข้าใจเรื่องรูปนาม ขันธ์ห้า
สภาวะที่เกิดขึ้นที่ปรากฏอยู่ที่ร่างกาย หรือที่จิตใจ
ตลอดทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น
มันก็จะมีรูปต่างต่าง นามต่างต่าง
หรือพูดง่ายง่าย รวมรวม ย่อย่อ คือดูความรู้สึก
ของจริง ก็จะเป็นความรู้สึกรู้สึก
ไม่ใช่การคิดเอา
ถ้าเราคิดคิดเอา มันจะไม่ใช่รู้ของจริง
วิปัสสนาจึงไม่ใช่เรื่องความนึกคิด
ไม่ใช่การนึก แต่เป็นการระลึก ต้องระลึกรู้
อย่างขณะนี้ ปัจจุบันร่างกายนั่งอยู่ขณะนี้
ให้ระลึกรู้ในปัจจุบัน
ใส่ใจระลึกรู้มาที่ร่างกายในปัจจุบัน
จึงจะเจอสภาวะ
ลองระลึกดูซิ เจออะไรบ้าง
พอใส่ใจมาที่ร่างกายแล้ว ก็สังเกต สังเกตดู
ความรู้สึกที่มันปรากฏที่ร่างกาย
มันก็จะเจอตัวสภาวะ
เจอไหมความเย็น รู้สึกไหมเย็นเย็น กระทบเย็นเย็น
ร้อนมีไหม บางส่วนร้อน
กระทบความเย็นเย็น แล้วรู้สึกอย่างไร
สบาย หรือไม่สบาย
มันก็จะมีความรู้สึกสบาย
เจอร้อนร้อนอยู่ สบายไหม ไม่สบาย
ใส่ใจมาที่ร่างกาย เจอไหมปวดเมื่อย
มีไหมปวดขา ปวดเมื่อย มี นี่คือสภาวะ
นั่งสัมผัส กายสัมผัสอยู่กับพื้น
มันนิ่ม หรือว่ามันแข็ง
รู้สึกไหมว่าแข็ง หรือนิ่ม อ่อน
มีเบาะรองนั่งก็นิ่มบางส่วน แต่บางส่วนแข็ง
พับขาอยู่ ต้องตั้งตัวตรงอยู่ ตึงไหมหลัง
หลังตึงไหม ขาตึงไหม นี่คือสภาวะ
วิปัสสนาก็จะระลึกรู้สภาวะ
รู้ความเย็น รู้ความร้อน รู้อ่อน แข็ง หย่อน ตึง
รับรู้ความรู้สึกสบายบ้าง ไม่สบายบ้าง
ซึ่งมันมีอยู่ทั่วทั่วตัวไหม ระลึกไปอย่างนี้
มันไม่ต้องคิด ไม่ต้องนึก
เพียงระลึก เพียงใส่ใจตรงตรง แล้วก็เจอ
เจอความรู้สึกเหล่านี้
แม้จะไม่ต้องพูดว่า มันคืออะไร ชื่ออะไร
ก็ชื่อว่าได้รู้สภาพธรรม รู้ของจริง
เวลาเราทานอาหารต่างประเทศ
ไม่รู้ว่ามันคือชื่ออะไร อาหาร
แต่เราสามารถกินได้ไหม
ลิ้มรสเขา รู้จักรสชาติมันได้ไหม
เราก็จะสังเกตรสชาติของมัน
บอกไม่ถูกว่ามันชื่ออะไร แต่รู้รสชาติของมันได้
กินไปเรียบร้อยอิ่มหนำสำราญอย่างนี้
อุปมาเหมือนกับ เวลาใส่ใจระลึกสิ่งที่ปรากฏในกาย
รู้ตามสภาพที่มันปรากฏ
แม้จะไม่รู้ชื่อของมัน มันคืออะไร
ชื่อรูป ชื่อนาม ชื่ออะไรก็แล้วแต่
แต่รู้ลักษณะของสภาวะ
นี่ก็คือรู้ความจริง สติรู้ความจริง
ถ้าสติอยู่กับสิ่งที่เป็นจริง ที่เป็นสภาวะ
ที่สุดก็ทิ้งสมมุติไปได้
หลับตาอยู่ จิตทิ้งสมมุติ มันก็จะไม่มีรูปร่าง
ไม่มีรูปทรง แขนขา หน้าตา
มันจะเหลือแต่ความรู้สึก รู้สึก
มือไม่มี ขาไม่มี หัวไม่มี ตัวไม่มี กลัวไหม
บางคนกลัวอีก ตัวไม่มี หัวไม่มี กลัวอีก
เคลื่อนย้ายกลับ เสียสมาธิ
ถ้าเราเข้าใจมันก็ จะไปกลัวทำไม
ก็มันเป็นสมมุติ
เหมือนอย่างโยมมองดูพระพุทธรูปขณะนี้
มองเห็นไหม
จะเห็นได้อย่างไรหลับ หลับในไปแล้ว
ลืมตามองดูว่าพระพุทธรูป รูปร่างลักษณะอย่างไร
สวยงามไหม สีทองทอง
มองแล้วก็จำ แล้วก็ค่อยค่อยหลับตาดูว่า
หลับตาแล้วเห็นพระพุทธรูปสีทองทองอยู่ในใจไหม
ถ้าไม่เห็น ก็ลืมตาขึ้นมามองใหม่ (เติมคำ “ตา”)
มองแล้วก็มอง แล้วก็จำ แล้วก็หลับตา
หลับตาเห็นไหม
ถ้าไม่เห็น ก็ลืมตาขึ้นมามอง
มองมอง เพ่งมองนานนาน แล้วค่อยค่อยหลับ
หลับตาไปยังเห็นพระพุทธรูปอยู่ไหม
ถามว่าพระพุทธรูปไปอยู่ในใจ
ของท่านทั้งหลายใช่หรือไม่ อยู่ไหม
หนักแย่สิ ถ้าอยู่
พระพุทธรูปอยู่ในใจ หรืออยู่ที่เดิม
ลืมตามา ก็ยังอยู่ที่เดิมอยู่
แต่ที่ปรากฏในใจนั้นเป็นของจริง หรือของปลอม
ของปลอม เป็นภาพจำลอง
จิตเราสามารถจำลองภาพได้
จิตก็มีสัญญาความจำ เขาก็จะจำ จำ จำ
แล้วก็จำลองเป็นภาพในใจ
ฉะนั้น ภาพในใจ มันเป็นสมมุติ เป็นบัญญัติ
เป็นของปลอม ไม่ใช่ของจริง
ถ้าเปลี่ยนจากภาพพระพุทธรูป
มาเป็นภาพตัวของตัวเอง
ลืมตาอยู่ เห็นรูปร่างตัวเองไหม
เราเห็นมาแต่ไหนแต่ไร รูปทรงแขนขาหน้าตา
เป็นทรวดทรงนี้ ศีรษะก็กลมกลม
แขนแบบยาวยาว ลำตัว ขา
พอหลับตาแล้วก็ยังเห็นไหม
เห็นเลาเลาว่า มีรูปร่าง หน้าตา แขนขา
ถามว่า รูปร่างไปอยู่ในใจ หรืออยู่ที่เดิม
ก็อยู่ที่เดิม ที่เห็นอยู่ในใจเป็นภาพจำลอง
จิตเขาจำลองภาพตัวเราเอง
เพราะฉะนั้น พอถึงระดับหนึ่งปฏิบัติไป
จิตมันไม่จำลองแล้ว
รูปร่างกายมันจะหายไปในใจ
หัวหาย ตัวหาย ขาหาย มือหาย
หายก็หายไป มันเป็นภาพจำลอง
มันจะเหลืออยู่กับสิ่งที่เป็นจริง
ก็คือเหลือความรู้สึก เหลือความไหว
ก้นสัมผัสรู้สึกแข็งแข็ง มือสัมผัสรู้สึก
ยังรู้สึกกระเพื่อมกระเพื่อมในกาย ในใจ
แต่ไม่มีรูปทรงของแขนขา
เรียกว่าเขาทิ้งบัญญัติออกไป จิตเขาไม่จำลองภาพ
ก็เหลือแต่ของจริงที่เป็นความรู้สึก
ก็ไม่ต้องไปตามหา
ไม่ต้องไปนึกหาว่าตัวอยู่ตรงไหน
นั่งไปแล้วบางทีมัน บอกไม่ได้ว่าอยู่ที่ไหน
นั่งอยู่ที่ไหน เป็นใคร ก็ไม่ต้องไปสนใจ
เพราะการบอกได้ว่านี่เป็นใคร
อยู่ที่ไหน นั่งอยู่ที่ไหน มันเป็นสมมุติทั้งหมด
ถ้าจิตไปอยู่กับตัวสภาวะแล้ว
มันก็จะเหลือแต่ความรู้สึก
หรือมีสมาธิมาก ความรู้สึกทางกายไม่รู้สึก
แต่มัน มีใจอยู่ไหม
มันมีจิตมีใจที่เป็นธาตุรู้อยู่
จะอยู่ที่ไหนก็ช่าง ก็ดูใจผู้รู้ไว้
หยั่งรู้สึกว่ามีใจรู้อยู่
ไม่ต้องไปนึกหาตัวตน แขนขา หน้าตา
ไม่ต้องไปนึกหาว่า นั่งอยู่ที่ไหน
ให้รู้ที่ใจที่มันรู้ จะอยู่ที่ไหนก็ช่าง
มันว่างไปหมดเหมือนอยู่ในอากาศเวิ้งว้าง
แต่มีใจอยู่
มันจะอยู่เป็นอย่างไร แต่มันมีใจที่รู้
อันนี้ใจมันเป็นสภาวะ ก็จะดูใจนี้ไป
อยู่ที่ไหนก็ช่าง ดูใจ
ถ้าโยม ฝึกตรงนี้เป็น
มันก็จะอยู่ในทางของวิปัสสนา
แม้ทำไปมีสมาธิ ก็ยังอยู่ในเรื่องของวิปัสสนาได้
หรือว่า การปฏิบัติ มันก็จะทำให้เดินหน้าต่อยอด
ไม่ไปตัน
ถ้าดูใจไม่เป็น มันจะตันอยู่แค่ว่างเปล่า
เฉย นิ่ง ว่าง แล้วก็ไปไหนก็ไม่ได้
ไปไม่ถูกอยู่อย่างนั้น
แต่ถ้าดูใจได้ มันก็มีทางไป เห็นจิตใจ
ใจนี้มันก็มีธาตุรู้ มีความรู้สึก มีความสงบ มีปีติ
เปลี่ยนแปลง เกิดดับ หมดไป ดับไป รู้ หายไป
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน
ละความยึดถือเป็นตัวตน
ถ้าไม่ดู อุปาทานมันจะมายึดเป็นตัวเราไหม
ที่รู้รู้อยู่ มันก็ยึดว่าเป็นตัวเรารู้
มีสติอยู่ มันก็ยึดเอาเป็นตัวเรามีสติ
อุปาทานยึด เพราะมีอวิชชาความไม่รู้บังไว้
การปฏิบัติจึงต้องสร้าง ความรู้แจ้งเห็นจริง
ทำลายอวิชชา
อวิชชาดับไป กิเลสตัณหาดับไป
ก็จะสิ้นกรรม สิ้นภพชาติ
พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
พ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง
ถ้ายังไม่รู้แจ้งเห็นจริง ยังหลงอยู่
ตัณหาอุปาทานยังมี ก็ทำกรรม
ก็เกิดเวียนว่ายตายเกิด
เกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก
เศร้าโศก ทุกข์อยู่อย่างนี้ นับไม่ถ้วน
น้ำตานองหน้า น้ำตาหลั่งไหล
ที่ผ่านมา เวียนว่ายตายเกิด
น้ำตามากกว่าน้ำในมหาสมุทร
พระพุทธเจ้าตรัสไว้
และยังรอคอยอยู่ข้างหน้าอีก
ถ้าไม่หาทางหลุดพ้นเสียก่อน
แค่ชาติเดียวที่เราจำได้ ก็ยังเหลือทนแล้ว ใช่ไหม
เกิดมาทุกข์ ทุกข์มากกว่าสุขไหม
โตขึ้นมาแล้วอายุมาก ลองมาวัดดูว่า
เกิดมา สุขหรือทุกข์มากกว่ากัน
ความสุขก็ไม่ใช่ว่ามันจะไม่มี
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คุณของเขาก็มีอยู่
ก็คือมันสุขโสมนัสเกิดขึ้น
ได้รูปสวยสวย เสียงไพเราะ
กลิ่นหอมหอม รสอร่อย ก็เกิดสุขโสมนัส
นี่ก็คุณของเขา
ถ้ามันไม่มีคุณอย่างนี้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่ติด
ไม่เข้าไปติดยึดในรูป เสียง กลิ่น
แต่เพราะมันมี มันมีคุณตรงนี้
คือมันก็ให้ความสุขโสมนัส
แต่มันมีโทษของมันอยู่
โทษของมันก็คือ มันไม่เที่ยง
มันไม่เที่ยง มันไม่ยั่งยืน
เมื่อสัตว์ทั้งหลายเข้าไปติดใจ
แล้วก็ถึงเวลา ก็ต้องเจอความเปลี่ยนแปลง
เจอความสูญเสีย เจอความพลัดพราก
ก็เกิดความเศร้าโศกเป็นทุกข์ มันจะเป็นอยู่อย่างนี้
ฉะนั้น ท่านจึงให้มากำหนด
พิจารณาให้เห็นแจ้งเห็นจริง
เพื่อจะได้ชำระความยึดติด ละตัณหากิเลสในใจเรา
เจออารมณ์อันใดที่น่าใคร่ น่าปรารถนา
ก็รู้เท่าทัน ไม่หลงไม่ติด
มีความสุขได้ แต่ไม่ติด ไม่ติด ไม่ยึด
มีความทุกข์ก็ไม่ทุกข์ด้วย มีความสุขก็รู้เท่าทัน
ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่มันไม่มีความสุข
ปฏิบัติธรรม จิตใจมันผ่องใส เบิกบานร่าเริงในธรรม
ใจที่มีธรรม ใจมันก็มีความสุข
แต่เขาไม่ติดเขาไม่หลง
รู้ว่ามันไม่เที่ยง มันไม่ยั่งยืน
มีความทุกข์ก็รู้ทุกข์ แต่ไม่ทุกข์ด้วย
รักษาใจวางเฉยได้อยู่
ถ้าไม่รู้แจ้ง มันทุกข์ด้วย
เจอความทุกข์ แล้วก็ทุกข์ด้วย
มันก็ทุกข์กันใหญ่ ทุกข์กายแล้วก็ทุกข์ใจ
ทุกข์ใจแล้วก็ไปทุกข์กาย เครียดอีก
แต่ผู้รู้ฝึกจิตใจมันก็จะทุกข์ มีอยู่จริง แต่ไม่ทุกข์
ใจที่มันไม่ทุกข์ ใจมันก็ไม่โดนลูกศรเสียบอก
เป็นทุกข์เฉพาะกาย ใจไม่ทุกข์
นี้มันมีสิทธิ์ที่จะทำได้
ฉะนั้นก็ขอให้พวกเราได้ฝึก ภาวนา
ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม
นำตนให้พ้นทุกข์ เข้าถึงบรมสุขคือพระนิพพาน
โดยทั่วหน้ากันทุกท่าน เทอญ