แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นะมัตถุ ระตะนัตตะยัสสะ
ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขอความผาสุก ความเจริญในธรรม
จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
จากนี้ไปก็จะได้ปรารภธรรมะ
ตามหลักคำสั่งสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ในโอกาสที่ท่านทั้งหลายได้นำตน
เข้ามาสู่สถานสำนักปฏิบัติธรรม
ก็ต้องปฏิบัติธรรม เจริญพระกรรมฐาน
บวชเนกขัมมภาวนา
ภาวนาก็เป็นความเจริญ หมายถึงการเจริญสติ
ต้องเป็นผู้เจริญสติสัมปชัญญะ
ปรารภความเพียรในการภาวนา
เพราะว่าจิตใจที่จะสงบมีความสุข ไม่ทุกข์
เข้าถึงสุข สงบร่มเย็น
มีปัญญารู้แจ้ง แทงตลอดในสัจจธรรม
เข้าถึงมรรคผลนิพพานได้
ขึ้นอยู่กับการต้องเจริญภาวนา
ฉะนั้น ศาสนาก็จะมีทั้ง ปริยัติศาสนา
ปฏิบัติศาสนา และปฏิเวธศาสนา
ปริยัติศาสนาก็คือการศึกษาเล่าเรียน เรียกว่าทฤษฎี
ต้องรู้คำสอนที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ก่อน เป็นแผนที่
แล้วก็มาสู่ปฏิบัติภาวนา
ลงมือปฏิบัติเจริญพระกรรมฐาน
จึงเข้าถึงปฏิเวธศาสนา
เข้าถึงมรรคผลนิพพาน เข้าถึงความพ้นทุกข์
เข้าถึงบรมสุขคือพระนิพพานได้
การศึกษาก็มีทั้งการศึกษาโดยละเอียด
อย่างที่พระภิกษุท่านเข้าศึกษา
การศึกษานักธรรม ศึกษาบาลี
ศึกษาอภิธรรม ศึกษาพระไตรปิฎก
เข้าไปศึกษาคำสอนที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้
ซึ่งคำสอนนั้นได้ถูกจารึกมา
ปัจจุบันก็พิมพ์เป็นหนังสือขึ้นมา
เล่มหนาหนา สี่สิบห้าเล่ม
เท่ากับอายุที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศพระศาสนา
สี่สิบห้าพรรษา หลังจากตรัสรู้แล้ว
พระพุทธองค์ตรัสรู้เมื่อพระชนมายุสามสิบห้า
ประกาศพระศาสนาหลังจากที่ตรัสรู้แล้ว อีกสี่สิบห้า
รวมเป็นเท่าไร แปดสิบ
พระพุทธเจ้ามีพระชนมายุแปดสิบปี
แล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ออกบวชพระชนมายุเท่าไร ยี่สิบเก้าปี
บำเพ็ญภาวนาอยู่หกปี
จึงได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระไตรปิฎกก็เป็นการจารึกคำสอน
ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้
สมัยแรกแรกก็ใช้การจดจำ
พระภิกษุสงฆ์ก็จะจดจำ แล้วก็เอามาสาธยายพร้อมกัน
มีการสวดสาธยายพร้อมพร้อมกัน เพื่อจะได้ไม่ลืม
ถ้าใครจำผิดก็จะว่าเข้าไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น มันก็เป็นการทบทวนกันไปในตัว
ถ่ายทอดกัน ก็มีการแบ่งจำกันเป็นสูตรสูตรไป
บางท่านก็สามารถจำได้ทั้งหมด
จำพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด
ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีที่พม่า
พระพม่านี่จำพระไตรปิฎกได้ หลายรูปด้วยกัน
ที่จำได้ด้วย อธิบายขยายความ เข้าใจเนื้อหาด้วย
ฉะนั้น ถ้าเราเข้าถึงคำสอนพระพุทธเจ้า
เราก็จะได้รู้ หูตาสว่างขึ้น
และในพระไตรปิฎกก็จะสอนไว้ทุกแง่ทุกมุมทุกอย่าง
เพียงแต่ว่าภาษาอาจจะซ้ำซ้ำ ข้อความซ้ำซ้ำ
คนปัจจุบันนี้ฟังอะไรยาวยาว แล้วจำไม่ได้
ประโยคอะไรยาวยาว ยาวยาว ลืมต้นเลย
เราปัจจุบันก็จะพูดกันสั้น สั้น สั้น
แล้วก็เป็นที่เข้าใจกันเอง
นู่นนี่นั่นไปอย่างนั้น รู้เอาเอง คนปัจจุบันจะไปอย่างนั้น
แต่ว่าถ้าคนสมัยก่อนเขาจะพูดซ้ำ
ครบข้อความทุกคำทุกประโยค
เวลาจะเล่าอะไรต่อ ก็จะเล่าทั้งหมด
ฟังมาอย่างนี้ อย่างนี้ ผู้นั้นกล่าวอย่างนั้น อย่างนั้น
ก็จะเล่าทั้งหมด
เราบางทีอ่านยาวยาว เลยจำจุดใจความไม่ถูก
ก็ต้องอาศัยอ่านบ่อยบ่อย
ฉะนั้น คำสอนพระพุทธเจ้าจะตรง
จะเหมาะสม จะถูกต้อง เป็นสัพพัญญูรู้ทุกอย่าง
ตรัสอะไร สอนอะไร จะเหมาะเจาะหมด
เหมาะสมหมด
ถ้าเราค่อยศึกษาไปเราจะเห็น
เราจะเห็นปัญญาธิคุณ เห็นปัญญาของพระพุทธเจ้า
แล้วก็จะเชื่อมาก มีศรัทธาเชื่อมั่น
เชื่อคำสอนพระพุทธเจ้า
ว่าพระองค์ตรัสอะไรต่างต่างนี่เป็นความจริง
ก็จะเงี่ยโสตลงสดับตรับฟังทุกคำ
แล้วก็ทำให้เกิดความปราโมทย์ เกิดปีติในธรรม
ปัจจุบันก็จะมีหนังสือขยายความ
หนังสือที่ขยายพระไตรปิฎก
เขาเรียกว่าอรรถกถาจารย์
มีมาแปดร้อยเก้าร้อยปีมาแล้ว
สมัยพระพุทธเจ้าปรินิพพานไป
แปดร้อยปีบ้าง เก้าร้อยปี
ก็จะมีอรรถกถาจารย์ขยายความไว้
พระอรหันต์สมัยนั้น
มายุคนี้ฟังไม่ค่อยรู้เรื่องอีก ก็ต้องมีฎีกาจารย์ขยาย
ขยายอรรถกถาจารย์อีกทีหนึ่ง
มีฎีกา พอมามาไม่เข้าใจ ก็มีอนุฎีกาจารย์ขยายฎีกา
จนมาเป็นเกจิอาจารย์ปัจจุบัน
หนังสือต่างต่างที่เขียนปัจจุบันก็ขยายต่อต่อกัน
แต่ถ้าต้นขั้วก็คือพระไตรปิฎก
เพราะฉะนั้น ถ้าเราศึกษา เราก็เข้าไปหาต้นขั้ว
คือพระไตรปิฎก ที่จะแน่นอน
เพราะบางครั้งตีความกันไปคนละอย่าง
มีใครได้เคยอ่านพระไตรปิฎกบ้าง
โยมคนไหนได้อ่านพระไตรปิฎก มีไหมยกมือซิ
มีเหมือนกัน สามสี่ท่าน
ที่วัดก็มีอยู่ในตู้หลายชุด
อ่าน ก็เหมือนเราได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ใจเราจะอยู่กับพระพุทธเจ้า นึกถึงพระพุทธเจ้า
ไปไหนมาไหนก็นึกถึง เหตุการณ์
ถ้าใครอ่านไม่ไหวก็ใช้ฟังเอา
เดี๋ยวนี้เขาก็มีอ่านพระไตรปิฎก บันทึกเสียงไว้
จนครบครันหมด เปิดฟังได้สบาย
อย่างที่เอามาเปิดให้พระฟังตอนฉันข้าว
พระเวลาฉันข้าว ก็จะเปิดพระไตรปิฎกเสียงอ่าน
มีโยมลูกศิษย์บันทึกเสียงไว้
อ่าน แล้วมาฟังสบายเลย
เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีไว้ มีชุดเสียงพระไตรปิฎก
ปัจจุบันก็คงหาจาก โหลดเอาจากอินเทอร์เน็ตได้
ปัจจุบันเยอะแยะ ต้องสนใจเอามาฟัง
ทำงานไปเปิดฟังไปก็ยังดี ก่อนนอนเปิดฟัง ได้ธรรมะ
พระพุทธเจ้าสอนไว้ทุกอย่าง
ธรรมะของฆราวาสก็สอนไว้
ลูกจะปฏิบัติอย่างไรต่อพ่อแม่
พ่อแม่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างไรต่อลูก
สามีจะต้องปฏิบัติต่อภรรยาอย่างไร
ภรรยาจะต้องทำหน้าที่ต่อสามีอย่างไร
เป็นผู้บังคับบัญชา เป็นหัวหน้า เป็นเจ้านาย
จะปฏิบัติต่อลูกน้องอย่างไร
ลูกน้องจะปฏิบัติต่อหัวหน้า ต่อเจ้านาย สอนไว้หมด
จะปฏิบัติอย่างไร ต่อบ่าวไพร่ ลูกจ้าง
จะปฏิบัติอย่างไรต่อสมณะพราหมณ์ทั้งหลายก็สอนไว้
แต่ว่าธรรมะทั้งหลายก็จะรวมมาอยู่เรื่อง
การเข้ามารู้ในตัวเอง
เข้ามาพิจารณาศึกษาให้เข้าใจในชีวิตของตัวเอง
โดยที่สุดแล้ว ที่จะดับทุกข์ได้จริงจริง
คือต้องมารู้ในตัวเอง
ระลึกศึกษา พิจารณาในกาย ในใจตัวเอง
จะศึกษากำหนดพิจารณาในอิริยาบถนั่งก็ได้
หรือในอิริยาบถยืนก็ได้
กำหนดพิจารณาในอิริยาบถเดินก็ได้
ตลอดทั้งนอน นอนระลึกศึกษาภาวนา
ร่างกายจิตใจตัวเอง จนกระทั่งหลับไปก็ได้
คู้เหยียดเคลื่อนไหว ทำกิจใดใดอยู่ ก็ระลึกศึกษาได้
ค่อยกำหนดไปเรื่อยเรื่อย จนมีสติตั้งมั่นดี
ไม่หลงไม่ลืม ไม่เผลอ ไม่หลุดลอย
ถ้าเราฝึกใหม่ใหม่ จิตมันจะหลุด หลุดไปหมด
ก็ต้องพยายามไปเรื่อยเรื่อย
ใหม่ใหม่ทุกคนก็จะเป็นอย่างนั้น
กำหนดภาวนา ดูลมหายใจเข้า ดูลมหายใจออก
ไปไม่ได้กี่ครั้ง จิตหลุดไปอีกแล้ว
ไปไหนไหน ไหนไหน
ต้องรู้สึกตัวกลับเข้ามาใหม่
กลับเข้ามารู้ใหม่ เดี๋ยวไปอีก รู้สึกตัวกลับมาอีก
เรียกว่าปรารภความเพียร
จิตนี่มันฝึกได้ ท่านอุปมาจิตเหมือนกับโค
โคเปลี่ยว โคที่ยังไม่ได้รับการฝึก
การจะฝึกโคเปลี่ยวโคป่าเอามาอย่างไร
ก็ต้องเอาเชือกมา ผูกโคไว้กับหลัก
มีหลักแน่นหนาให้ดี ผูกไว้
โคมันก็ดิ้นไป ดิ้นมา เชือกขาด
เจ้าของโคทำอย่างไร ก็ต้องไปตามมา
เอาเชือกมาผูกไว้อีก ขาดอีกก็ตามมาผูกไว้อีก
หลักคือลมหายใจเข้าออก โคคือจิต เชือกคือสติ
พระพุทธเจ้าอุปมาไว้
จิตที่ยังไม่ได้รับการฝึก มันดิ้นรน
มันกวัดแกว่ง มันซัดส่าย
ก็ต้องมีสติเอามาผูกไว้กับลมหายใจ
ลมหายใจเหมือนกับหลัก
คอยระลึกว่าหายใจเข้าก็รู้อยู่ หายใจออกก็รู้อยู่
ขณะนี้หายใจเข้ายาว นี้ออกยาว
นี่หายใจเข้าสั้น ออกสั้น
ให้รู้อยู่ว่ากำลังหายใจเข้า เริ่มหายใจเข้า
กำลังหายใจเข้า สุดลมหายใจเข้า
เริ่มหายใจออก กำลังหายใจออก สุดลม
ก็ต้องคอยสังเกตไว้อย่างนี้
เดี๋ยวโคไปอีกแล้ว เชือกขาด โคจรไปอีกแล้ว
ไปเรื่องการงาน ไปเรื่องอดีต ไปเรื่องอนาคต
คิดไปคนนั้นทำไม่ดีกับเรา โกรธอีก
คิดไปถึงคนนั้นคนนี้ เกิดราคะ เกิดโทสะ
รู้สึกตัว โคหลุดไปแล้ว รู้สึกตัวมีสติเอาเชือกผูก
กลับเข้ามาใหม่ กลับมาดูลมหายใจเข้าออก
เดี๋ยวหลุดไปอีก ก็ตามมาผูกไว้ใหม่
ถ้าทำบ่อยบ่อยเข้า โคมันก็เลยเชื่อง
มันก็จะนอนอยู่ที่โคนหลัก
จิตนี่ก็เหมือนกัน เมื่อฝึกบ่อยบ่อยเข้า มันก็จะเชื่อง
มันก็จะสงบอยู่กับลมหายใจ
มันก็จะเกิดสมาธิขึ้นมา
จิตมีสมาธิ จิตก็จะตั้งมั่น
เกิดความสงบ เกิดปีติ เกิดความสุขขึ้นมา
แล้วจึงเข้าไปถึงขั้นของการพิจารณาธรรม
เข้าไปกำหนดดูสภาวธรรมในกายในใจ
ความไหว ความกระเพื่อม ความสั่นสะเทือนในกาย
ความรู้สึกสบายไม่สบาย
เข้าไปรู้ถึงจิตใจที่รับรู้ ที่รู้สึก
พิจารณาเห็นความเปลี่ยนแปลง
เห็นความหมดไปดับไป
เกิดปัญญารู้แจ้งความเป็นจริงว่า
ทุกสิ่งมันเป็นอย่างนี้เอง
มันเกิดขึ้นด้วยมีเหตุมีปัจจัย ดับไปหมดเหตุปัจจัย
ไม่จีรังยั่งยืน ไม่เที่ยงแท้ถาวร
บังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวเราของเรา
อย่างนี้ก็จะเป็นวิปัสสนาญาณขึ้นมา
เข้าถึงวิปัสสนาญาณ รู้เห็นความจริงของชีวิต
จิตก็จะเข้าไปสู่ความละ สละ วาง
เข้าไปถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น
ก็ดับทุกข์ให้ตัวเอง ใจสะอาด ใจบริสุทธิ์
หมดจดจากความโลภโกรธหลงได้
ดีไหม ใจที่สะอาด
ใจเวลาที่มันมีความโลภ โกรธ หลง มันไม่สะอาด
มันขุ่นมัว มันเศร้าหมอง มันเร่าร้อน
เป็นเหมือนไฟไหม้อก เศร้าหมอง
ชีวิต ถ้าเรามีจิตใจที่เศร้าหมอง
เราจะมีความสุขได้อย่างไร
ต่อให้นอนบนที่นอนหนาหนานุ่มนวล
ถ้าใจมันกระวนกระวาย ใจมันมีกิเลส
มันก็ไม่มีความสุข
แต่คนที่มีธรรมะ เขาฝึกจิตใจได้
เขานอนอยู่กับดิน เขานอนอยู่กับต้นไม้โคนไม้
เขาก็มีความสุขได้ ถ้าใจเขาไม่เร่าร้อน
ทุกคนที่เป็นปุถุชน มันหนาแน่นด้วยกิเลส
คำว่าปุถุชน แปลว่า ผู้หนาแน่นด้วยกิเลส
อริยชน คือ ผู้ที่ละกิเลส ผู้เข้าถึงความประเสริฐ
ตัดกิเลสขาดได้บางส่วน
ปุถุชนเรานี่กิเลสหนาแน่น
ก็ลองดูว่ามีไหม กิเลสเหล่านี้
อกุศลธรรมเหล่านี้มีไหม
ความหลงมีไหม ความไม่ละอายต่อบาป มีไหม
ไม่เกรงกลัวต่อบาป ความฟุ้งซ่าน มีไหม
ความโลภ มีไหม ความเห็นผิด มีไหม
ยึดมั่นถือมั่น ความเป็นตัวตน
ความเย่อหยิ่งถือตัว มีไหม ความโกรธ มีไหม
ความอิจฉาริษยามีไหม ความตระหนี่หวงแหน
ความรำคาญ หงุดหงิดรำคาญ มีไหม
ความท้อแท้ท้อถอย มีไหม
บางครั้งจิตใจมันหดหู่ท้อถอย
บางคนหดหู่มากมาก เป็นโรคซึมเศร้าเลย
จะตายท่าเดียว ท้อแท้สิ้นหวัง หมดหวังไปหมด
วิจิกิจฉา สงสัยลังเลใจ มีไหม
สิ่งเหล่านี้มันเป็นอกุศลที่มันมีอยู่ในจิตใจของปุถุชน
ถามว่ามันเป็นทุกข์หรือไม่
เวลาเกิดความโลภ โกรธ หลง เป็นทุกข์หรือไม่
เวลาจิตใจฟุ้งซ่าน หงุดหงิด เร่าร้อน เป็นทุกข์ไหม
แม้เราจะมีเครื่องปรนเปรอทางร่างกายทุกอย่าง
แต่ถ้าจิตใจเรามันเศร้าหมอง มันก็ไม่มีความสุข
จึงจำเป็นที่เราต้องฝึกจิต ต้องฝึกต้องภาวนา
เราต้องทำเองไหม
ไหว้วานคนอื่นช่วยทำให้ได้ไหม
ฝากเขาไปนั่งกรรมฐานได้ไหม
ตนเองขี้เกียจนั่งกรรมฐาน ขี้เกียจเดินจงกรม
จ้างคนอื่นไปช่วยเดินจงกรม นั่งกรรมฐานให้ได้ไหม
ตนแลเป็นที่พึ่งของตน โก หิ นาโถ ปโร สิยา
คนอื่นใครอื่นเล่า จะเป็นที่พึ่งแก่เราได้
เป็นเรื่องที่เราต้องพากเพียร ขวนขวายเอาเอง
ภาวนาครั้งเดียว จิตใจสงบได้ไหม
กำหนดภาวนาจิตใจแน่วแน่ ตั้งมั่นได้ไหม
ต้องทำกันบ่อยบ่อยกี่ครั้ง ถึงจะสงบระงับ
ต้องรู้ว่าเราต้องฝึกเยอะ ต้องทำมาก
ขับรถกว่าจะชำนาญต้องขับนานแค่ไหน
ใหม่ใหม่เป็นอย่างไร สะเปะสะปะ ติดขัด
คนถีบจักรยานใหม่ใหม่ล้มไหม กว่าจะชำนาญ
ทำกรรมฐานมันก็ต้องล้ม ล้มลุกคลุกคลานไป
ต้องยอมรับว่ามันเป็นอย่างนี้
มันไม่ใช่เฉพาะแต่เราคนเดียว
ไม่ใช่จะไปคิดว่า ทำไมเราไม่สงบ
ทำไมจิตเราไม่ตั้งมั่น เราทำแค่ไหน
เขาฝึกกันตั้งมาก เรามาจุ่มได้หน่อย
จะเอาอย่างนั้น จะเอาอย่างนี้ มันไม่ได้
ต้องพอใจเพียงว่า เรากำลังสั่งสม
ฝึกปัจจุบันให้มันดี ให้มันถูกในปัจจุบัน
การปฏิบัติมันก็จะมีทั้งการทำสมาธิ
กับการทำทางปัญญา สมถะกับวิปัสสนา
ทำสมาธิ เรียกว่าแนวของสมถะ
ทำปัญญา แนวของวิปัสสนา
ถ้าเราจะเดินสายวิปัสสนาเลย
ก็ใช้ฝึกการรู้สึกตัวทั่วพร้อมเอา
ฝึกความรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นมา
อย่างขณะนี้ ก็ฝึกได้
กำลังมองอยู่ ก็มองอย่างรู้สึกตัวทั่วพร้อม
กำลังฟังอยู่ ก็ฟังอย่างรู้สึกตัวทั่วพร้อม ไม่ลืมตัว
มองแล้วก็ลืมตัว เรียกว่าขาดสติ
ฟังแล้วก็ลืมตัว ขาดสติ
มองอยู่แต่ไม่ลืม รู้สึกตัวว่ามีกายมีใจอยู่
รู้ตัวเองได้ กำลังนั่งอยู่ กำลังฟังอยู่
ได้ยินอยู่ สบายไม่สบายอยู่ รับรู้อยู่
การรู้สึกตัวทั่วพร้อม เป็นแนวที่เรียกว่า
เราทำวิปัสสนาไปเลย
โดยเฉพาะว่า เวลารู้สึกตัวทีไร ก็รู้ตัวสภาวะ
รู้สภาวะไปตรงตรง
สภาวะที่กายก็จะมีความรู้สึกเย็นบ้าง
ร้อนบ้าง อ่อนแข็งบ้าง หย่อนตึงบ้าง
รู้สึกสบายบ้าง ไม่สบายบ้าง
เวลารู้สึกตัวก็จะไปสังเกตที่ความรู้สึกเหล่านี้
มันมีอยู่ทั่วทั่วร่างกาย
นั่งอยู่ขณะนี้มีไหม ปวดเมื่อย ปวดขามีไหม
ง่วงมีไหม เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ก็ดู
ได้ยินเสียง มีไหมขณะนี้
เห็นอยู่ขณะนี้มีไหม หายใจอยู่ขณะนี้มีไหม
นั่งอยู่ กายที่นั่งอยู่อย่างไรรู้ไหม
หายใจเข้ารู้สึกอย่างไร สบายหรือไม่สบาย
หายใจออก สบายหรือไม่สบาย
หายใจเข้า ท้องตึงหรือหย่อน
หายใจออก หย่อนหรือตึง สังเกตดู
ขาที่ทับอยู่นี่รู้สึกตึงไหม หนักไหม ปวดเมื่อยไหม
แล้วมีใครเป็นผู้รู้ ผู้ดู อยู่ไหม
ก็จะมีจิตใจอยู่ ฟังอยู่นี่มีใจอยู่ ใช่ตัวเราไหม
พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่มีตัวตน ไม่มีตัวเราของเรา
แต่เพราะไม่เห็นแจ้ง ก็จะมีการยึดถือยึดมั่นไว้อย่างนี้
ขอให้ทราบว่า การที่ยังรู้สึกยึดถือว่าเป็นตัวเรา
เป็นตัวเราเป็นตัวตนของเรา เป็นความยึดผิดอยู่
เห็นผิด ยึดผิด ติดมาแต่ไหนแต่ไร
จึงต้องเวียนว่ายตายเกิด เกิดแก่เจ็บตายไปในสังสารวัฏ
ตกอยู่ในกองทุกข์อยู่นี่
เกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บป่วย ต้องตาย
ต้องพลัดพราก ต้องเผชิญกับภัย กับปัญหาต่างต่าง
ต้องสูญเสียพลัดพรากสิ่งที่รัก บุคคลที่รักที่พอใจ
ต้องผิดหวังบ้าง ต้องเศร้าโศกพิไรรำพันบ้าง
ทุกข์กาย ทุกข์ใจ คับแค้นใจ
ชีวิตมันเป็นอย่างนี้ที่มันเป็นทุกข์
มีใครหนีความแก่ได้ไหม ความเจ็บป่วยหนีได้ไหม
ความตายหนีพ้นไหม
ความสูญเสีย ความพลัดพราก พ้นไหม
จะต้องเจอไหมสิ่งเหล่านี้
เราพิจารณาให้เห็นทุกข์ของขันธ์ ของสังสารวัฏ
เพื่อจะน้อมไปสู่ความพ้นทุกข์
ทำไมจึงมีขันธ์มาอย่างนี้
มีกาย มีใจ มีก้อนทุกข์มานี่ เพราะอะไร
เพราะมีกรรมที่ทำไว้
กรรมดี ก็นำมาเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา
กรรมชั่วก็นำไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน
ทำไมจึงมีกรรม ก็เพราะมีกิเลส ตัณหา อุปาทาน
กิเลสก็เครื่องเศร้าหมองจิตใจ
อันมีความโลภ โกรธ หลง
อุปาทานยึดมั่นถือมั่น ตัณหาความทะยานอยาก
ทำไมจึงมีกิเลส ตัณหาอุปาทาน
ก็เพราะมีอวิชชาความไม่รู้ หลงอยู่อย่างนี้
เกิดมาแล้วก็ยังหลง เกิดมาแก่ มาเจ็บ มาตาย
ก็ยังไม่รู้ความจริงของชีวิต
รู้แบบสมมุติ ว่าเป็นตัวเรา เป็นสัตว์เป็นบุคคล
ชื่อนั้นชื่อนี้ อันนี้มันเป็นสมมุติ
แต่เนื้อแท้ของชีวิต มันเป็นธรรมชาติ
มันเป็นรูป เป็นนาม เป็นขันธ์ห้า เป็นสภาวะ
ผู้ใดเข้าไปกำหนดพิจารณาในขันธ์
ให้เห็นตามความเป็นจริง จะได้ละความเห็นผิดยึดผิด
ฉะนั้น การเข้ามาวัด
ไม่ใช่เรามาเพียงแค่ถือศีล ให้หมดไปวันวัน
เอาบุญแค่ถือศีลอย่างนี้ มันก็ยังไม่ได้สมบูรณ์แบบ
เราจะต้องเข้าถึงการภาวนา
บวชมาแล้วต้องภาวนา ต้องปฏิบัติ
เจริญภาวนาอย่างที่กล่าว เราต้องหยั่งรู้เข้ามาในกายใจ
ทำสมาธิก็ดูลมหายใจไป
ดูลมหายใจเข้า ดูลมหายใจออก
ถ้าเราจะเน้นสมาธิก่อน เราก็ดูเฉพาะลมอย่างเดียว
บริกรรมอยู่กับลม นับลมหายใจเข้าออกไป
จนกว่าจิตจะตั้งมั่นอยู่กับลมเป็นสมาธิ
ก็มาต่อวิปัสสนา ดูสภาวะ
ถ้ามีสมาธิมาก สภาวะก็จะไปอยู่ทางใจ
ใจสงบเป็นอย่างไร ใจผู้รู้เป็นอย่างไร
ใจมีสติเป็นอย่างไร พิจารณาสังขารร่างกาย
ให้เห็นตามความเป็นจริง
สั่งสมบารมีให้มาก ให้ยิ่งขึ้นไป
แม้ว่าจะยังไม่สำเร็จ แต่เรามีโอกาสจะรู้ความจริง
บรรเทากิเลสในใจเราลง
ชีวิตเราจะได้มีความสุขสงบร่มเย็น
มีทางออกของชีวิต ทางหลุดรอด ทางหลุดพ้น
ปฏิบัติจนกระทั่งจิตใจผ่องใส ดีงาม เบิกบาน
จิตที่ฝึกดีแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่าจะนำความสุขมาให้
ฉะนั้น ก็ขออนุโมทนากับทุกท่าน
ที่ได้ตั้งใจพากเพียรปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไป
นำตนให้พ้นทุกข์ เข้าถึงบรมสุข
คือพระนิพพานทุกท่านเทอญ
--------------------------------------------------------