แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นะมัตถุ ระตะนัตตะยัสสะ
ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขอความผาสุกความเจริญในธรรม
จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
ต่อไปนี้ก็จะได้ปรารภธรรมะ
ตามหลักคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข
เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ให้เป็นไปที่ถูกต้อง
เพื่อปราศจากโทษ
การที่เราจะกระทำ แล้วก็มีโทษหรือมีประโยชน์นั้น
เราก็จะมีการกระทำได้ทั้งสามทาง
ทางกาย ทางวาจา แล้วก็ทางใจ
เรียกว่ากายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
อันประกอบด้วยเจตนา คือความจงใจ
ถ้ามีความจงใจในการฆ่าสัตว์ ในการลักทรัพย์
ในการประพฤติผิดในกาม
มันก็เป็นกายทุจริต
เป็นการประพฤติผิดทางกาย
นำมาซึ่งทุกข์โทษให้กับตนเอง
การกล่าววาจา คำเท็จ คำส่อเสียด
คำหยาบคาย คำเพ้อเจ้อ
ก็เป็นการกระทำวจีทุจริตให้กับตนเอง
อันเป็นโทษเป็นทุกข์นำมาสู่ตนเอง
การเพ่งเล็งจะเอาของเขา โดยไม่ชอบธรรม
ความพยาบาทอาฆาตแค้น โกรธแค้นพยาบาท
หรือการเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
ปฏิเสธบุญบาป ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
ปฏิเสธเรื่องกรรม ผลของกรรม
อย่างนี้แล้วก็จะเป็นมโนทุจริต
นำมาซึ่งความทุกข์ให้กับตนเอง
เพราะฉะนั้น เมื่อเราฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้
เราก็จะได้เว้นบาปทั้งปวง
คือเว้นกายทุจริต เว้นวจีทุจริต เว้นมโนทุจริตออกไป
คำพูด วาจา จะต้องรักษาให้ถูกต้อง
การพูดอย่างไร
พระพุทธเจ้าได้ตรัส ถึงหลักของการพูด
คำที่เป็นสุภาษิต คำพูดที่ดีงาม ไม่มีโทษ
ผู้รู้ทั้งหลายไม่ติเตียน
คำพูดนั้นต้องประกอบด้วยองค์ทั้งห้า
หนึ่งเป็นคำที่จริง ต้องเป็นการพูดคำจริง
สองก็ต้องถูกกาล ต้องถูกกาลเทศะด้วย
เราพูดคำจริง แต่มันไม่ถูกเวลาเหมาะสม
บางทีมันก็ไม่ได้ประโยชน์
ต้องดูกาลเวลาเหมาะสม
แล้วก็ต้องเป็นคำไพเราะอ่อนหวาน
สี่ก็ต้องประกอบด้วยประโยชน์
ห้าต้องประกอบด้วยเมตตาจิต
ถ้าการพูดที่จะเป็นสุภาษิต
เป็นคำที่ไม่มีโทษ เป็นคำที่มีประโยชน์
เป็นคำที่โลก ที่ผู้รู้ไม่ติเตียน
ต้องประกอบด้วยองค์ทั้งห้า
คือต้องเป็นคำที่พูดจริง ไม่พูดโกหกหลอกลวง
พูดคำจริงก็ต้องดูกาลเทศะเหมาะสม
พูดคำไพเราะอ่อนหวาน
อันประกอบด้วยประโยชน์ด้วย มุ่งประโยชน์
แล้วก็ประกอบด้วยเมตตาจิตไว้
ถ้าเราไม่ประกอบด้วยองค์ทั้งห้า
มันก็จะเป็นวาจาที่มีโทษ
เป็นทุกข์เป็นโทษมาสู่ตนด้วย
อันนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน วาจาสูตร
องค์ประกอบห้าประการที่จะเป็นคำสุภาษิต
แล้วพระองค์ก็ได้ตรัส
ถึงการตรัส ถึงการกล่าว ของพระองค์เอง
ดูว่าพระพุทธเจ้าเวลาจะตรัส
ตรัสอย่างไร ใช้วาจาอย่างไร
มีครั้งหนึ่งอภัยราชกุมาร
ได้รับการยุยงจากนิครนถ์นาฏบุตร
ให้ไปโต้วาทะกับพระพุทธเจ้า
อันนี้ก็เป็นเรื่องมาในอภัยราชกุมารสูตร
ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ (ตัดสังยุตตนิกายซึ่งไม่มีสูตรนี้ออก ซึ่งพอจ.พูดใหม่เป็นมัชฌิมนิกาย)
มีอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่สิบสาม
มีเรื่องเล่าว่า อภัยราชกุมาร ก็คือเป็นลูกกษัตริย์
ได้เข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่
เมื่อได้ไหว้แล้วก็ได้นั่งที่สมควรส่วนหนึ่ง
นิครนถ์นาฏบุตรก็เป็นเจ้าลัทธิหนึ่งในสมัยพุทธกาล
ที่มีชื่อเสียง มีคนเคารพนับถือมาก
นิครนถ์นาฏบุตรก็ได้ยุอภัยราชกุมารว่า
ให้พระองค์ไปโต้วาทะกับพระสมณโคดมเถิด
เมื่อพระองค์ไปโต้วาทะกับสมณโคดมได้
พระองค์ก็จะมีชื่อเสียง
มีชื่อเสียง เพราะว่าเป็นผู้ที่เก่ง
สามารถไปโต้วาทะกับสมณโคดม
ที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากได้
อภัยราชกุมารก็ได้ตรัสว่า
ข้าพเจ้าจะไปโต้วาทะกับสมณโคดมได้อย่างไร
เพราะว่าท่านเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
นิครนถ์นาฏบุตรก็ได้ยุว่า
ให้พระองค์ไปกราบทูลอย่างนี้ว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
พระองค์เคยตรัสคำที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจ
แก่คนอื่นบ้างไหม
ถ้าพระองค์ตรัสถามไปอย่างนี้
พระสมณโคดมก็จะตอบว่า เคย เคยตรัส
พระองค์ก็ให้โต้แย้งว่า
ถ้าเช่นนั้น คำกล่าวของพระองค์จะต่างอะไรกับปุถุชน
เพราะว่าปุถุชนเขาก็กล่าวเหมือนกัน
กล่าวคำเป็นที่รักที่ชอบใจเหมือนกัน
แต่ถ้าหากพระสมณโคดม กลับตอบว่า
เราไม่กล่าวคำที่ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่น
พระองค์ก็ให้โต้แย้งว่า
แล้วเหตุไฉนพระองค์จึงพยากรณ์พระเทวทัต
ว่าพระเทวทัตจะต้องตกอบาย จะต้องตกนรก
อยู่ในนรกสิ้นหนึ่งกัป ใครใครจะเยียวยาไม่ได้เลย
ทำให้พระเทวทัตโกรธเสียใจ
เพราะคำพยากรณ์ของพระองค์
นิครนถ์นาฏบุตรก็ยุไปอย่างนั้น
ให้ไปถาม ไปโต้แย้งอย่างนี้
ว่าถ้าพระสมณโคดมตอบว่า
กล่าวคำเป็นที่รักที่พอใจกับคนอื่นเหมือนกัน
ก็ยังไม่ต่างอะไรกับปุถุชนเขากล่าว
ปุถุชนเขาก็กล่าวเหมือนกัน เป็นที่รักที่พอใจ
แล้วถ้ามหาสมณะบอกว่า
ไม่กล่าวคำอันเป็นที่ไม่เป็นที่รักที่พอใจ
พระองค์ก็แย้งถึงว่า
แล้วทำไมพระองค์พยากรณ์ว่าพระเทวทัตจะตกนรก
ทำให้พระเทวทัตเสียใจโกรธเล่า
เมื่อพระองค์ไปโต้แย้งอย่างนี้
สมณโคดมจะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
เหมือนกับบุรุษที่กลืนกระจับเหล็ก ติดคอ
กระจับเหล็กติดคอ กลืนก็ไม่เข้า คายก็ไม่ออก
ที่สุดอภัยราชกุมารก็รับคำ
ว่าจะไปโต้วาทะกับสมณะโคดม
ก็เดินทางไป เฝ้าถึงที่อยู่ของพระผู้มีพระภาค
เมื่อไปถึงแล้วก็ยังไม่กล้าถาม
มองแหงนดูดวงตะวัน ก็ยังไม่ใช่ฤกษ์ดี
เอาไว้ก่อนพรุ่งนี้ก็แล้วกัน เลยกราบทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ขอนิมนต์พระองค์พร้อมด้วยพระภิกษุ
รวมทั้งพระองค์ด้วยสี่รูป ไปรับไปฉันภัตตาหาร
ในวังของข้าพระองค์ในวันรุ่งขึ้น
พระพุทธเจ้าก็ทรงรับโดยดุษณีภาพ
เวลาพระพุทธเจ้ารับนี่ พระองค์จะนิ่งนิ่งเฉยเฉย
เรียกว่าดุษณีภาพ
พอรุ่งเช้าไปแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปพร้อมด้วยพระภิกษุ
รวมทั้งพระองค์ด้วยสี่รูป
เข้าไปถึงวังของเจ้าอภัยราชกุมาร
อภัยราชกุมารก็ให้การต้อนรับ จัดเสนาสนะให้นั่ง
แล้วก็อังคาสอาหารขาทนียโภชนียะ
ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ก็ถวายของอันประณีต
และเมื่อพระพุทธเจ้าฉันภัตตาหารเรียบร้อย
วางพระหัตถ์แล้ว
อภัยราชกุมารก็เข้าไปนั่ง ณ ที่สมควร
ส่วนข้างหนึ่ง ที่ต่ำกว่า
แล้วก็ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
มีบ้างไหมหนอที่พระองค์กล่าววาจา
เป็นที่รักที่พอใจแก่คนอื่น
พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า อภัยราชกุมาร
ในการถามนี้ การที่จะวิสัชนานั้นจะตอบทันทีไม่ได้
ต้องมีการแยกตอบ
คำตอบพระองค์ไม่เป็นไปดังที่ตั้งใจว่าจะโต้
อภัยราชกุมารก็อุทานว่า
นิครนถ์นาฏบุตรฉิบหายเสียแล้ว
พระพุทธเจ้าถามว่า ทำไมพระองค์กล่าวอย่างนั้น
อภัยราชกุมารก็เลยเล่าความจริงให้ฟัง
นิครนถ์นาฏบุตรยุให้มาโต้วาทีกับพระองค์
ถ้าพระองค์ตอบว่า (ตัดส่วนที่พอจ.พูดเกินออก)
เคยกล่าวคำเป็นที่รักที่พอใจกับคนอื่น
ก็จะตอบก็จะแย้งอย่างนี้ว่า
อย่างนั้นจะต่างอะไรกับปุถุชน
ปุถุชนก็กล่าวเหมือนกันแบบนี้
ถ้าพระองค์ตอบว่า ไม่กล่าวคำอันไม่เป็นที่รักที่พอใจ
ก็จะแย้งว่า ทำไมตรัสพยากรณ์พระเทวทัต
ว่าจะต้องตกนรก ใครใครเยียวยาไม่ได้
ทำให้พระเทวทัตเสียใจ โกรธเล่า
ก็เล่าความนี้ให้พระพุทธเจ้าฟัง
พระองค์จึงต้องตรัสเรื่อง วิธีการกล่าวของพระองค์
แต่ก่อนที่พระองค์จะตรัส
ตรัสบอกวิธีการพูดของพระองค์
ว่าพระองค์เวลาจะตรัสพูด ตรัสอย่างไร
พระองค์ก็อุปมาให้ฟังเสียก่อน
คือในขณะนั้นโอรสน้อยกำลังอยู่ในตัก
ยังนอนหงายอยู่บนตัก
อยู่ในพระเพลาของอภัยราชกุมารอยู่
ก็เหมือนกับว่า ไปนั่งเฝ้าพระพุทธเจ้า
โอรสน้อยก็นั่งนอนอยู่บนพระเพลาด้วย
พระองค์ก็ใช้เรื่องนี้เป็นข้ออุปมาเลย
คือพระพุทธเจ้าจะแสดงธรรมอะไร
จะทำทีได้ ยกได้หมด สิ่งรอบข้างทุกอย่าง
เอามาเป็นข้ออุปมาได้หมด
พระพุทธเจ้าถามว่า อภัยราชกุมาร
ท่านจะสำคัญความข้อนั้นว่าอย่างไร
ถ้าหากว่าพระองค์เกิดประมาท
หรือว่าพี่เลี้ยงที่เลี้ยงกุมารน้อยเกิดประมาท
คือไม่ได้ดูแลให้ดี
กุมารน้อยนี้เกิดไปเอาไม้เข้าไปในปาก
หรือว่าก้อนกรวดเข้าไปในปาก
พระองค์เห็นอย่างนี้จะทำประการใด
อภัยราชกุมารก็กราบทูลตอบว่า
ข้าพระองค์ก็จะต้องรีบเอาออก
ถ้ายังเอาออกไม่ได้
ก็จะใช้พระหัตถ์ซ้ายประคองศีรษะ
แล้วก็ใช้นิ้วพระหัตถ์ข้างขวางอ
ล้วงเอาออกจากปาก
แม้จะต้องมีเลือดออกมาก็ตาม
เพราะว่าข้าพระองค์มีความเอ็นดูในโอรสน้อยนี้
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ตถาคตก็เช่นเดียวกัน
ก็คือมีความเอ็นดูต่อสัตว์ทั้งหลาย
ตถาคตเวลาจะกล่าว
พระองค์รู้ว่าวาจานี้ เป็นวาจาที่ไม่จริง ไม่ถูก
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
และก็ไม่เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนอื่น
ตถาคตจะไม่กล่าววาจานี้
ข้อที่หนึ่ง ถ้าเป็นวาจาที่ไม่จริง
แล้วก็ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ไม่เป็นที่รักที่พอใจคนอื่น
พระพุทธเจ้าก็จะไม่ตรัสคำนี้เด็ดขาด คำที่ไม่จริง
ประการที่สอง วาจาที่ไม่จริง ไม่ถูก
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
แต่เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนอื่น
โยมว่าพระพุทธเจ้าจะตรัสไหม
พระองค์ตรัสว่า เราจะไม่กล่าวคำนั้น
วาจาที่ไม่จริง ที่ไม่ถูก ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
แม้ว่า กล่าวแล้วจะเป็นที่ชอบใจ
เป็นที่รักที่ชอบใจของคนฟังก็ตาม
พระองค์ก็จะไม่ตรัสคำนั้น
ประการที่สาม วาจาที่จริง ที่ถูก
แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น
ตถาคตจะไม่ตรัสคำนั้น
เป็นวาจาที่จริงนะ คำพูดที่จริง
แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ถึงจะเป็นคำที่จริง แต่มันไม่เป็นประโยชน์
คำพูดอะไรที่พูดไปแล้วมันเป็นความจริงก็ตาม
แต่มันไม่เป็นประโยชน์
ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น
พระองค์ก็จะไม่ตรัส
ซึ่งเราจะต้องดูแบบ ดูพระองค์เป็นแบบ
เป็นตัวอย่างของการพูด
คำที่ไม่จริง ไม่กล่าวแน่นอนอยู่แล้ว ไม่ตรัส
คำที่จริงก็ไม่ใช่ว่าจะตรัสเสมอไป
ถ้ามันไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์ก็จะไม่ตรัส
ในประการที่สี่ใช่ไหม
คำวาจาที่จริง ที่ถูก ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
แต่เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของคนอื่น
ตถาคตจะไม่ตรัสคำนั้น
คำนั้นจะเป็นที่ถูกใจ พูดไปแล้วคนถูกอกถูกใจชอบ
เป็นคำจริงใช่ไหม เป็นคำที่จริง
แต่มันไม่ประกอบด้วยประโยชน์
แม้จะเป็นที่ถูกใจของคนฟัง พระองค์ก็จะไม่ตรัส
แสดงว่าจริงอย่างเดียวไม่พอ
ต้องประกอบด้วยประโยชน์ด้วย
ประการที่ห้า วาจาที่จริง ที่ถูก ประกอบด้วยประโยชน์
ไม่เป็นคำที่คนฟังชอบ คนฟังถูกใจ
โยมว่าพระพุทธเจ้าจะตรัสไหม
เป็นคำที่จริง ที่ถูก ประกอบด้วยประโยชน์
แต่ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น จะตรัสไหม
ข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลอันเหมาะสม
ในการจะตรัสคำนั้น
ตรัสนะ คำที่จริง ที่ประกอบด้วยประโยชน์
แม้ว่าจะไม่เป็นที่ถูกใจของคนฟัง ไม่เป็นที่รัก
แต่เวลาตรัสก็ยังต้องมองกาลเทศะด้วย
มองกาลที่เหมาะสม
ไม่ใช่ จริงซะอย่าง พูดไปเลย ไม่ได้
แม้จะเป็นประโยชน์ก็ตาม แต่มันไม่ถูกกาลเทศะ
ต้องดูกาลเหมาะสม
ส่วนประการที่หก วาจาที่จริง
ประกอบด้วยประโยชน์
เป็นที่รัก ที่ชอบใจต่อผู้อื่น
ตรัสเลยไหม ก็ไม่ใช่ตรัสเลยนะ
ตถาคตย่อมรู้กาลในการที่จะตรัสคำนั้น
แสดงว่า รวมทั้งหกข้อนี้
มีสองข้อเท่านั้นที่พระพุทธเจ้าจะตรัส มีอะไร
คือต้องเป็นคำที่จริง
คำที่ไม่จริง ไม่ตรัสแน่นอน
คำที่ไม่จริง จะถูกใจหรือไม่ถูกใจคนฟัง
ถึงจะถูกใจก็ไม่ตรัส ถ้าไม่จริงไม่ประกอบด้วยประโยชน์
คำที่จริง ก็ยังต้องดูว่าเป็นประโยชน์ไหม
ถ้าไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ตรัส
ต้องเป็นประโยชน์ แล้วก็ต้อง
คำที่จริงแล้วก็เป็นประโยชน์
ถูกใจคนฟัง คนฟังชอบใจ
ก็ดูกาลอันเหมาะสมในการจะตรัส
คำพูดที่จริง ที่ถูก ประกอบด้วยประโยชน์
แม้ไม่ถูกใจคนฟัง คนฟังไม่รักไม่ชอบ
พระองค์ก็รู้กาลอันเหมาะสมในการจัดการ
อันนี้ก็เป็นแนวทางตัวอย่าง ของการที่เราจะใช้คำพูด
ไม่ใช่ว่านึกจะพูดก็พูดเรื่อย
จริงเสียอย่าง บางทีพูดไปแล้วมันเดือดร้อน
ก็คนทะเลาะกันบ้าง คนบาดหมางกัน
คำที่จริงก็ตาม มันเสียประโยชน์ มันไม่ได้ประโยชน์
ต้องดูว่าคำจริง และคำนั้นต้องเป็นประโยชน์
พูดแล้ว พูดไปแล้ว ต้องเป็นประโยชน์
แม้เป็นประโยชน์ ก็ต้องพิจารณาให้มันถูกกาล
ถูกเวลา เหมาะสม
ถ้ามันไม่ถูกเวลา เหมาะสม มันก็ไม่เหมาะ
นี้ก็เป็นเรื่องวิธีการพูด
ในฐานสูตร
สิ่งที่บุคคลไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เทวดา มาร พรหม
หรือบุคคลใดใด หวังไม่ได้
พระองค์แสดงไว้มีห้าอย่าง
หนึ่งมีความแก่เป็นธรรมดา
สัตว์ทั้งหลายมีความแก่เป็นธรรมดา
ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
ขอให้เราอย่าแก่เลย นี่คือสิ่งที่หวังไม่ได้ข้อที่หนึ่ง
สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาอยู่ ขออย่าแก่เลย
ได้ไหม มันไม่ได้
เพราะฉะนั้น คนที่ไม่พิจารณาให้ดีอย่างนี้
ก็จะมีความเศร้าโศก โทมนัส
เสียอกเสียใจ กับความแก่ที่มาถึง
ถูกลูกศรยาพิษ คือความเศร้าโศก
ทุกข์อกทุกข์ใจ คร่ำครวญ เป็นทุกข์เดือดร้อน
เรียกว่าปุถุชนผู้ไม่สดับจะเป็นอย่างนั้น
อริยบุคคลผู้ได้สดับ ก็จะมาพิจารณาได้ว่า
สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา ก็ไม่ใช่มีแต่เรา
ใช่ไหม แก่กันทั้งนั้น
สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ทั้งหมด
จะต้องมีความแก่เป็นธรรมดา
ไม่ล่วงพ้นความแก่ มันไม่ใช่มีแต่เราแก่
การที่เราจะมาเศร้าโศก คร่ำครวญ
เราก็จะกลายเป็นผู้ที่ทุกข์
แล้วก็อาหารก็ไม่อยากรับประทาน
ใช่ไหมเวลาเศร้าโศก
อาหารก็ไม่อยากรับประทาน
การงานก็หยุดชะงักเวลาเศร้าโศก
ศัตรูก็จะดีใจ มิตรสหายก็จะพากันเสียใจ
เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว ก็อย่าเศร้าโศก
ประการที่สอง สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา
ขออย่าเจ็บไข้เลย นี่ก็หวังไม่ได้อีก ได้ไหม
สิ่งทั้งหลายที่ต้องมีความเจ็บไข้ไปเป็นธรรมดา
จะมาหวังว่าอย่าเจ็บป่วยเจ็บไข้เลยหนอ
หวังได้ไหม มันไม่ได้
ประการที่สาม สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา
ขออย่าตายเลย ได้ไหม
ก็หวังไม่ได้อีก ไม่มีใครไปยับยั้งได้เลย
ประการที่สี่ สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา
ขออย่าสิ้นไปเลย ได้ไหม
อะไรต่างต่างที่มันจะต้องสิ้นไป เสื่อมไป
ทุกอย่าง ไม่ว่าจะทรัพย์สินเงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์
ขึ้นสูงขนาดไหน ก็อยู่ไม่ได้ ก็ต้องตกลงมาทั้งนั้น
ประการที่ห้า สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา
ขออย่าฉิบหายไปเลย ได้ไหม ก็ไม่ได้
เสียหาย ที่จริงมันไม่ใช่คำหยาบนะ
แต่เราเอามาด่ากันจนดูเป็นคำหยาบ
พระพุทธเจ้าก็ใช้คำ ฉิบหาย
ก็คือ มันทำลายเสียแล้ว
มันหมด มันหมดสภาพ มันทำลาย มันเสียหาย
บุคคลที่เรียกว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
เมื่อเจอเหตุการณ์อย่างนี้ ความสูญเสีย ความพลัดพราก
ก็จะเกิดความเศร้าโศก ตีอกชกตัว คร่ำครวญ
ไม่น่าอย่างนั้นไม่เป็นอย่างนี้ ใช่ไหม
มีบางคนแทบจะตาย ความสูญเสียลูกกะทันหัน
ข่าวแต่ละวัน มารดาอยู่ต่างจังหวัด
ลูกสาวมาทำงานในกรุงเทพ เช่าหอพัก
มีบุรุษแอบเข้าไปในห้อง หมายจะข่มขืน
เธอก็ขัด เธอก็ต่อสู้ ร้องให้คนช่วย
บุรุษนั้นก็แทง แทงจนตาย
แม่ได้ยินข่าวลูกตายเป็นอย่างไร
ความเศร้าโศกเสียดแทง ร้องไห้ทุกข์อกทุกข์ใจ
ข่าวเหล่านี้มันก็จะมีอยู่เป็นประจำ
บางทีญาติอันเป็นที่รัก อุบัติเหตุรถคว่ำ รถชนตาย
ความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ
เป็นเหมือนลูกศรมียาพิษ
ลูกศรยาพิษเสียบมา ทุกข์คร่ำครวญ เสียอกเสียใจ
ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้สดับตรับฟัง
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับธรรม
ไม่ฝึก ไม่พิจารณา ไม่ฝึกตนเอง
เวลาสูญเสีย เวลาเหตุการณ์เหล่านี้มันเกิดขึ้น
เขาจะตกอยู่ในความเศร้าโศกมาก
กินไม่ได้นอนไม่หลับ อาหารไม่อยากรับประทาน
กินข้าวไม่ลง การงานหยุดชะงัก เป็นอย่างนั้น
แต่อริยสาวกผู้ได้สดับ
อย่างที่เราได้สดับตรับฟังธรรมะกันบ่อยบ่อย
เรื่องเหล่านี้ เรื่องความแก่ ความเจ็บ
ความตาย ความพลัดพราก
มันเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นกับทุกชีวิต ใช่หรือไม่
มันมีเฉพาะเราหรือ ที่จะต้องเจอความแก่ ความเจ็บ
ความตาย ความสูญเสีย ความพลัดพราก
มีเฉพาะเราหรือ
มันเป็นอย่างนี้ทั่วไปทั้งหมด
และมันเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ อย่าแก่เลย ห้ามได้ไหม
อย่าเจ็บเลย อย่าตายเลย อย่าสิ้นไปเลย
มันห้ามได้ไหม มันหวังไม่ได้
พิจารณาอย่างนี้แล้ว เขาก็จะบรรเทาความเศร้าโศกลง
ไม่ถูกลูกศรยาพิษเสียบ ต้องเศร้าโศกได้
เพราะฉะนั้น อาหารที่จะรับประทานไม่ลง
ก็จะได้ทานลง การงานก็ไม่หยุดชะงัก
ก็ดำเนินงาน ดำเนินชีวิตไปได้
ศัตรูก็จะได้ไม่ต้องมาดีใจ
ศัตรูจะดีใจนะเห็นเราเศร้าโศก
ญาติพี่น้องจะได้ไม่ต้องมาเสียใจ
ถ้าอีกคนหนึ่งยังเศร้าโศกอยู่
ญาติพี่น้องที่อยู่ ก็เศร้าโศกเสียอกเสียใจ
พิจารณาอย่างนี้แล้ว
ก็จะได้ละ ความเศร้าโศกพิไรรำพัน
เพราะฉะนั้น มันจะต้องหัดมาพิจารณาบ่อยบ่อย
แม้แต่เรื่องความตาย
มันจะต้องมาพิจารณาไหมความตาย
ถ้าคนไหนไม่อยากจะพิจารณา ไม่อยากฟัง
ไม่อยากจะสนใจ ไม่อยากจะพิจารณาเรื่องตาย
ถามว่าจะต้องตายไหม
ถ้าไม่คิดเรื่องตายแล้วไม่ต้องตาย ก็ไม่ต้องคิดก็ได้
แต่นี่มันต้องตาย
แล้วถ้าไม่คิดไว้ก่อนไม่เตรียมใจไว้ก่อน
ไม่ทำใจให้เป็น ความตายมาถึง มันจะทำใจได้ไหม
แล้วคนที่ไม่นึกถึงความตาย จะประมาทในชีวิตหรือไม่
ไม่เป็นไรเราไม่ตายง่ายง่าย เรายังอยู่
จะคิดไปอย่างนี้จนถึงเวลาที่ตาย มันก็ทำอะไรไม่ทัน
คนที่ตายไปแล้ว ทำอะไรได้ไหม
จะทำความดีทำอะไรได้ไหม ก็ไม่ได้
คนที่อยู่ถ้าประมาท ไม่ได้ทำความดีอะไร
ก็เท่ากับคนที่ตายไปแล้ว
ความประมาทก็เหมือนคนที่ตายแล้วเหมือนกัน
พระพุทธเจ้าให้พิจารณาเรื่องความตาย
พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
มรณสติการระลึกถึงความตาย
ทำแล้วทำให้มากแล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะได้ หยั่งลงสู่อมตธรรมได้เลย
ระลึกถึงความตาย
แล้วพระองค์ก็ถามว่า ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายเจริญมรณสติ หรือไม่
ภิกษุรูปหนึ่งก็กราบทูลว่า
ข้าพระองค์เจริญพระพุทธเจ้าข้า
ภิกษุเธอเจริญอย่างไร
ข้าพระองค์มาพิจารณาว่า
วันคืนผ่านไป วันหนึ่งคืนหนึ่งผ่านไป
เราอาจจะตายได้ บางทีเราก็อาจจะตายได้
อย่ากระนั้นเลย เราอย่าประมาท
เราจะศึกษาธรรมะ ปฏิบัติ
เพื่อละบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย ที่ยังละไม่ได้
ภิกษุรูปหนึ่งก็กราบทูลว่า
ข้าพระองค์ก็เจริญมรณานุสติเหมือนกัน
ภิกษุเธอเจริญอย่างไร
ข้าพระองค์มาพิจารณาว่า
เมื่อวันหนึ่งผ่านไป เราอาจจะตาย
ชั่วกลางวันผ่านไป เราอาจจะตาย
องค์แรกพิจารณาว่าวันหนึ่งคืนหนึ่ง
แต่องค์นี้ว่าหนึ่งวัน กลางวัน อาจตายก็ได้
อย่ากระนั้นเลย เราควรจะขวนขวาย
ศึกษาปฏิบัติพระธรรม เพื่อละบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย
ภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลว่า
ข้าพระองค์ก็เจริญมรณานุสติเหมือนกัน
ภิกษุเธอเจริญอย่างไร
ข้าพระองค์มาพิจารณาว่า ชั่วขณะที่ฉันข้าวมื้อหนึ่ง
ฉันข้าวไปมื้อหนึ่ง เราอาจจะตายก็ได้ ใช่ไหม
อย่ากระนั้นเลย เราอย่าประมาท
ขวนขวายพากเพียรภาวนา เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์
ภิกษุอีกรูปหนึ่งก็กราบทูลว่า
ข้าพระองค์ก็เจริญมรณานุสติเหมือนกัน
เธอเจริญอย่างไรภิกษุ
ข้าพระองค์มาพิจารณาว่า
ชั่วฉันข้าวแค่สี่ห้าคำ เราอาจจะตายได้
อย่ากระนั้นเลย เราควรขวนขวายศึกษาปฏิบัติ
เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์
ภิกษุอีกรูปหนึ่งก็กราบทูลว่า
ข้าพระองค์เจริญมรณานุสติเหมือนกัน พระพุทธเจ้าข้า
ภิกษุ เธอเจริญอย่างไร
ข้าพระองค์มาพิจารณาว่า
ชั่วฉันข้าวคำเดียว เราตายได้เหมือนกัน
อย่ากระนั้นเลย เราควรขวนขวายศึกษาปฏิบัติ
เพื่อละบาปอกุศลธรรมทั้งหลายเถิด
ภิกษุอีกรูปหนึ่งก็กราบทูลว่า
ข้าพระองค์ก็เจริญมรณานุสติเหมือนกันพระพุทธเจ้าข้า
ภิกษุ เธอเจริญอย่างไร
ข้าพระองค์ก็มาพิจารณาว่า
ชั่วหายใจเข้า และหายใจออก ก็ตายได้
หรือหายใจออก หายใจเข้า มันตายได้
อย่ากระนั้นเลย เราอย่าได้ประมาท
เพราะมันตายได้แค่หายใจเข้าออกแค่นี้เอง
เราควรขวนขวายศึกษาปฏิบัติเพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์เถิด
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุรูปที่เจริญมรณานุสติ โดยมาพิจารณาว่า
หนึ่งวันหนึ่งคืนผ่านไป เราอาจจะตาย
ภิกษุที่เจริญว่า วันหนึ่งผ่านไป เราอาจจะตาย
กับภิกษุที่เจริญว่า ชั่วฉันข้าวมื้อหนึ่ง เราอาจจะตาย
กับภิกษุที่เจริญว่า ชั่วเราฉันข้าวสี่ห้าคำ เราอาจจะตาย
อย่ากระนั้นเลยเราควรขวนขวาย ศึกษาพากเพียรปฏิบัติ
เรากล่าวว่าประมาทอยู่ ยังประมาท
เจริญมรณานุสติอย่างเพลา
พิจารณาความตายวันหนึ่งคืนหนึ่ง
หรือว่าชั่วกลางวันวันเดียว
หรือว่าฉันข้าวไปมื้อหนึ่ง
หรือว่าฉันข้าวสี่ห้าคำ
แล้วมาระลึกถึงเราอาจจะตายได้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ยังประมาทอยู่
เป็นการเจริญมรณานุสติอย่างเพลา ยังเพลาอยู่
ส่วนภิกษุที่เจริญมรณานุสติโดยระลึกว่า
ชั่วเราฉันข้าวคำเดียว เราอาจจะมรณภาพ
กับภิกษุที่เจริญว่า ชั่วหายใจเข้าออก
หรือออกแล้วเข้า เราตายได้
จึงขวนขวายพากเพียร ศึกษาปฏิบัติ
เรากล่าวว่า เป็นผู้ไม่ประมาท
ในการเจริญมรณานุสติอย่างแรงกล้า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลาย
จงเจริญมรณานุสติอย่างแรงกล้าเถิด
แล้วพวกเราเจริญแค่ไหน
วันหนึ่งได้เจริญบ้างหรือยัง กี่วันได้เจริญครั้งหนึ่ง
เดือนหนึ่งได้เจริญบ้างไหม มรณานุสติ
หรือตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดมายังไม่ได้เจริญเลย
มันไกลเยอะเลยนะ
ชั่วฉันข้าวสี่ห้าคำมรณะ นึกแค่นี้
พระพุทธเจ้ายังตรัสว่าประมาทอยู่เลย
มันต้องระดับ ชั่วคำข้าวคำเดียวตาย
ชั่วหายใจเข้า ไม่หายใจออกตาย
หายใจออกไม่หายใจเข้า มันตายได้ทุกขณะ
แล้วพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า
ที่ว่าเจริญมรณานุสติทำแล้วทำให้มากแล้ว
มีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตธรรมได้
อมตะก็คือนิพพาน นิพพานเป็นชื่อของอมตธรรม
คือธรรมที่ไม่ตาย เข้าถึงความไม่ตาย
ทำอย่างไรที่เรียกว่า
เจริญมรณานุสติแล้วเข้าถึงอมตธรรม
พระองค์ตรัสว่า ภิกษุมาพิจารณาว่า
เมื่อกลางวันผ่านไป กลางคืนย่างเข้ามา
ในยามกลางคืน เหตุแห่งความตายมันมีมาก
เราอาจจะตายในคืน อาจจะถูกงูกัดตายก็ได้
ตะขาบกัด หรือว่าสัตว์อะไรไม่รู้ ทำให้ตาย
บางทีเป็นลม บางทีล้มหัวฟาดพื้น
บางทีหัวใจวาย ดีกำเริบ เสมหะกำเริบ ตายหมด
ปุ๊บปั๊บตายได้
อย่ากระนั้นเลย เราควรจะพากเพียร
มีฉันทะความพอใจ
ในการที่จะพากเพียรพยายามอุตสาหะ
ขะมักเขม้นไม่ย่นย่อท้อถอย
ในการที่จะชำระบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย
เป็นเสมือนว่า คนที่มีไฟไหม้ผ้า มีไฟไหม้ศีรษะอยู่
เขาจะต้องรีบขวนขวายในการจะดับไฟ
ให้พากเพียรแบบนั้นเลย
คนที่ไฟไหม้ศีรษะจะทำอะไร
ไปนอน หรือไปเที่ยว หรือไปเล่นหรือ มันไม่ใช่
ไฟมันไหม้ศีรษะ ไหม้ผ้า จะทำอะไร
เขาต้องรีบดับไฟใช่ไหม ท่านให้พิจารณาอย่างนั้น
ชีวิตเรานี้มันมีไฟไหม้ ความแก่
ไฟแห่งความแก่ ไฟแห่งความเจ็บไข้ได้ป่วย
ไฟแห่งความตาย มีไหม ไหม้อยู่
ไฟแห่งราคะ ไฟแห่งโทสะ ไฟแห่งโมหะ
มันเผาไหม้จิตใจ
สังสารวัฏยังรอคอยอยู่
ข้อที่สองภิกษุมาพิจารณาว่า
เมื่อกลางคืนผ่านไป กลางวันย่างเข้ามา
แม้กลางวันก็ตายได้ ใช่ไหม
ถูกงูกัดตายก็มีกลางวัน หกล้มตาย
เกิดลมปัจจุบันทันด่วน หัวใจวาย เส้นเลือดสมองแตก
ดีกำเริบ เสมหะกำเริบติดคอตาย
เมื่อพิจารณาอย่างนี้ว่า ความตายมันมีได้ทุกขณะ
อย่ากระนั้นเลย เราจะสร้างฉันทะความพอใจ
ในการปรารภความเพียร
มีความพยายาม มีความอุตสาหะขะมักเขม้น
ไม่ย่นย่อท้อถอย ในการที่จะปฏิบัติธรรม
ที่จะละบาปอกุศลธรรมทั้งหลายให้หมดสิ้นไป
เมื่อมีความขวนขวาย
พากเพียรพยายามประพฤติปฏิบัติอยู่
เข้าไปรู้ว่าทุกข์ รู้ชัดซึ่งทุกข์ นี่ทุกข์
นี่เหตุให้เกิดทุกข์ นี่ความดับทุกข์
นี่ข้อปฏิบัติถึงความดับ
ขันธ์ห้าเป็นทุกข์ เข้าไปกำหนดรู้ชัดว่าขันธ์ห้า
ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จะต้องละ
เมื่อละตัณหาได้ ก็เข้าไปแจ้งนิโรธ
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
ด้วยมรรคที่เข้าไปรู้ทุกข์
เมื่อมีความไม่ประมาทแล้ว
ก็จะลุกขึ้นมาทำความเพียรใช่ไหม
ภาวนาปฏิบัติ หยั่งรู้
กำหนดพิจารณาขะมักเขม้น ไม่ย่นย่อท้อถอย
จนที่สุดก็รู้ชัดตามความเป็นจริง
สังขารชีวิตนี้มันก็เป็นเพียง สภาพธรรมที่เปลี่ยนแปลง
เสื่อมสลายไปตามเหตุตามปัจจัย
เพราะสิ่งนี้มี อีกสิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับไป
บังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา
จิตก็รู้ชัดและยอมรับ ปลดปลงลงวาง ว่างสบาย
ยอมรับ ยอมเป็นก็เย็นได้ ยอมลงก็ปลงได้
ยอมสนิทก็พิชิตชัยชนะ
จิตเข้าถึงความอิสระหลุดพ้น
หยั่งลงสู่อมตธรรม คือพระนิพพาน
นี้มันมาจากการไม่ประมาท
เพราะฉะนั้น การพิจารณาระลึกถึงความตาย
มันช่วยให้ไม่ประมาท
เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน
ให้พยายามพิจารณาไว้เนืองเนือง
ก็จะทำให้เราได้ดำเนินเจริญชีวิตของเราไม่ประมาท
จะได้เข้าสู่อมตธรรมเป็นที่สุด ดับทุกข์ให้ตัวเองได้
ตามที่ได้แสดงมา ก็พอสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
ขอความสุขความเจริญในธรรม
จงมีแก่ทุกท่าน เทอญ
---------------------------------------------------------------