แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นะมัตถุ ระตะนัตตะยัสสะ
ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขอความผาสุกความเจริญในธรรม
จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
โอกาสนี้ไปก็จะได้ปรารภธรรมะ
ตามหลักคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ส่งเสริมศรัทธาปสาทะ สติปัญญา
และพัฒนาชีวิตจิตใจของตนเอง
ให้เข้าถึงความสะอาด ความบริสุทธิ์
ความหลุดพ้นจากกิเลส
การที่จะเข้าถึงความบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากกิเลสนั้น
เราต้องมาสู่การเจริญภาวนา
ต้องทำกรรมฐานเจริญภาวนา
เข้ามาที่นี่ ก็ต้องรู้ว่ามาบวชเพื่อภาวนา
เรียกว่าเนกขัมมภาวนา
เนกขัมมะคืออะไร
คำว่าเนกขัมมะก็คือ การบวช ออกบวช
เนกขัมมะคือ การออกจากกาม
ออกจากกาม ออกจากครองเรือนมา
ภาวนาคืออะไร ภาวนา
ภาวนาก็แปลว่า เจริญ
เจริญ ทำให้เกิดขึ้น ทำให้เจริญขึ้น
เจริญนั้นหมายถึง เจริญอะไร
เจริญสติ ให้สติเกิดขึ้น ให้เจริญขึ้น
มีสติ มีสมาธิ มีปัญญาเกิดขึ้น เรียกว่าภาวนา
เนกขัมมภาวนาจึงหมายถึงว่าออกบวช เพื่อปฏิบัติ
เพื่อเจริญภาวนา เจริญสติ
ท่านทั้งหลายก็ได้ออกมาแล้ว ออกจากครองเรือนมา
เนกขัมมะมาแล้ว แต่ว่าไม่ได้ออกมาโดยเด็ดขาด
เป็นการออกมาชั่วคราว ใช่ไหม
เดี๋ยวก็กลับไปอีก
กลับไปสู่ครองเรือน ตัดบ่วงมาได้ชั่วคราว
ทรัพย์ สมบัติ การงานเป็นบ่วง
ผูกข้อเท้าไว้ บ่วงผูกบาทา
สามีภรรยาเป็นบ่วงผูกข้อมือ
ลูกหลานเป็นบ่วงผูกคอ
เจอสามบ่วงไป ก็หลุดยากแล้ว
ท่านทั้งหลายมาบวชได้ แสดงว่าสลัดบ่วงออกมา
มีบ่วง บางคนมีสามบ่วง
สมบัติการงาน สามีภรรยา ลูกอีก สามบ่วง
บางคนก็อาจจะมีแค่ สองบ่วง หรือบางคนมีบ่วงเดียว
ตัดบ่วงมาได้ ถือว่าต้องมีความเข้าใจ
มีความสนใจ ถึงการที่จะมาสั่งสมบุญ
เชื่อว่าส่วนใหญ่มาบวช ก็เพื่อมาสั่งสมบุญ
บำเพ็ญบุญกุศล คุณงามความดี ก็ออกมา
ถอดบ่วงมาได้ชั่วคราว เดี๋ยวก็กลับไปให้สวมใหม่อีก
ฉะนั้น เป็นเรื่องยาก
จำเป็นไหมที่เรา จะต้องปฏิบัติธรรม
ถ้าไม่ปฏิบัติธรรม ไม่เจริญภาวนา
ก็ไม่หลุดพ้นจากกิเลส
เมื่อมีกิเลสหนาแน่น
เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ถามว่า กิเลสทำให้เป็นทุกข์หรือไม่
เวลาเกิดความโกรธเป็นทุกข์ไหม
จิตใจเป็นทุกข์ไหม หน้าตา สมอง เครียดไหม
จิตใจเล่า เหมือนถูกไฟเผาหรือไม่
โทสัคคิ ไฟคือโทสะเผา เผาไหม้ เผาลนจิตใจ
เผาไปถึงกายด้วย หน้าตาเคร่งเครียด
ร่างกายอ่อนเพลียหมด มันเผา
คนไหนที่มีความโกรธ หรือมีความเศร้าโศก
มีความเสียใจ มีความแค้นใจ มีความน้อยใจ
ถ้าปล่อยให้ไฟคือโทสะเหล่านี้ มันเผาอยู่
มันจะหมดกำลัง ใจหมดพลัง หมดกำลัง
อ่อนล้า อ่อนเพลีย ร่างกายก็อ่อนล้า หมดแรง นอนซม
เคยเป็นไหมโยม โทสัคคิ เผา หมดแรง
เผาจนหมดกำลัง อ่อนล้า อ่อนแรง
ฉะนั้น ควรหรือที่จะปล่อยให้ไฟเผาเราอยู่ โทสัคคิ
ควรจะดับไปไหม ดับไฟอันนี้ซะ
โทสัคคินี่ จะดับได้อย่างไร ต้องเจริญเมตตา
ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เจริญเมตตาก็ได้
ได้เพียงระงับไว้ ระงับไว้ได้แต่ไม่ตัดขาด
เจริญวิปัสสนาถึงขั้น อนาคามิมรรคเกิดขึ้น
ตัดขาดแล้ว จะไม่มีโทสะ ความโกรธ ความเสียใจ
แค้นใจ น้อยใจ เกิดขึ้นมาในจิตใจได้อีก
ดับสนิท พระพุทธศาสนาบอกวิธีไว้ให้
ถึงการจะดับโทสะได้อย่างสนิทเลย
ถ้าดับได้ โดยการข่มไว้ได้นานนาน
ก็คือเจริญเมตตาให้ได้
วิปัสสนายังไม่เก่งก็มีเมตตาช่วยไว้ก่อน บรรเทา
เจริญเมตตาทำอย่างไร
วันนี้ได้เจริญไหมเมตตา แผ่เมตตาได้ทำหรือยัง
ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น มีบทแผ่เมตตาใช่ไหม
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์
เกิดแก่เจ็บตาย แผ่ว่าไปจบแล้ว
จิตมีเมตตาเกิดขึ้นไหม
ใจมีเมตตาหรือยัง ได้ไวขนาดนั้นเลยหรือ
ว่ารอบเดียว จิตมีเมตตาเลยก็เก่งมาก
พระยังต้องว่ากันซ้ำซ้ำ ต้องแผ่กันมาก ทำกันมาก
จิตมันไม่ใช่ว่าจะเชื่อฟังง่าย มันดื้อ
ไม่ได้โทษว่าโยมเป็นคนดื้อนะ โทษจิต
จิตไม่ใช่โยม จิตดื้อ มันไม่ใช่จะคล้อยตามง่ายหรอก
ที่จะแผ่รอบเดียวแล้วมีเมตตา
ถ้าเมตตาเกิดขึ้นได้จริง สภาพจิตจะต้องดีงาม
จิตจะต้องมีความแช่มชื่น แจ่มใส
จิตจะมีความแช่มชื่น แจ่มใส อิ่มเอิบ
จนกระทั่งขยายไปสู่ใบหน้า
ใบหน้า แววตา จะคลี่คลาย ใจจะอิ่ม ปากจะยิ้มได้
ถ้าเมตตาเกิดขึ้นจริง จะสัมผัสได้ว่าใจมีความสุข
ใจที่มีเมตตาจะมีความแช่มชื่น มีความสุข
หน้าตาก็คลี่คลายแจ่มใส
ฉะนั้น อานิสงส์ของการแผ่เมตตา หนึ่งในสิบเอ็ดข้อ
พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า หน้าตาผ่องใส
ดีไหมหน้าตาผ่องใส หรือชอบหม่นหมอง
อย่าว่าแต่ตัวของตัวเองเลย
เราไปเห็นหน้าตาคนอื่นหม่นหมอง
อยากดูไหม อยากเข้าใกล้ไหม
ก็ไม่อยากจะมอง ไม่อยากจะเข้าใกล้
แต่ถ้าคนไหนมีเมตตา หน้าตาจะผ่องใส
หน้าตาเป็นมิตร คนก็อยากจะเข้าใกล้
อยากเห็น อยากมอง มันสบายตา มันสบายใจ
ฉะนั้น อานิสงส์ของการแผ่เมตตา จึงมีว่า
เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
ดีไหมเป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
คนไหนมีเมตตาไปไหนมาไหนใครก็ชอบ
คนอยากต้อนรับ อยากช่วยเหลือ
เพราะว่าอานิสงส์ของเมตตา
จะเป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทำงานก็ เจ้านาย ลูกน้อง บริวารชอบหมด
ถ้ามีเมตตา ค้าขายก็ขายดีเพราะว่าลูกค้าชอบ
เห็นแล้วหน้าตา แหมสบาย ชื่นใจ
แต่ถ้าคนไหนไม่มีเมตตา บอกบุญไม่รับ
ประเภทรอนาน หน้าบึ้ง รอนาน
ใครเขาจะอยากมาซื้ออีก
พอจิตไม่มีเมตตา มันมีความโกรธขุ่น
พอพูดจามันก็จะไม่เพราะ
เป็นคำพูดที่มันแข็งกระด้าง
คนฟังก็ไม่ชอบ ไม่อยากฟัง
ฉะนั้น คนมีเมตตาได้อานิสงส์
จะเป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
และก็เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลายด้วย
อมนุษย์คืออะไร อะ แปลว่าไม่
อมนุษย์ก็แปลว่า ไม่ใช่มนุษย์
มีใครบ้างที่ไม่ใช่มนุษย์
เรามองไม่เห็นตัวมีไหม อมนุษย์
ถ้าเราแผ่เมตตา เขาก็จะมีความรัก
รักใคร่ เมตตาเราเหมือนลูกในอก
ภิกษุไป เดินทางไป ผ่านป่าใหญ่
ได้ถึงวันต้องสมาทานเข้าพรรษา
ตามพระวินัย ภิกษุทุกรูปจะต้องอธิษฐาน
อยู่จำพรรษาที่ใดที่หนึ่ง
เกิดถึงวันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษารู้ไหม วันอะไร
วันกี่ค่ำ เดือนอะไร เป็นชาวพุทธต้องรู้เรื่องบ้าง
เข้าพรรษา ออกพรรษา ไม่รู้เรื่อง ไม่ได้
วันแรมหนึ่งค่ำ เดือนอะไร เดือนแปด
หรือไม่รู้จัก เดือนแปด เดือนเก้า
รู้แต่ มกรา กุมภา เท่านั้น
พระพุทธศาสนายังใช้ ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องจันทรคติ
เขาเรียกว่านับแบบจันทรคติ
จันทรคติ คือนับเรื่องดวงจันทร์เป็นหลัก
สุริยคติ นับแบบพระอาทิตย์
วันจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ไปอย่าง
จันทรคติก็จะนับเอาดวงจันทร์เป็นหลัก
ก็จะมีข้างขึ้นข้างแรม
พระจันทร์เต็มดวงก็เป็น พระจันทร์เดือนหงาย
ท้องฟ้ามีดวงจันทร์ก็เรียกว่าข้างขึ้น
ถ้าข้างแรม ดวงจันทร์ก็จะหดลงจนกระทั่งดับ
ไม่มีปรากฏ
แรมหนึ่งค่ำ เดือนแปด เข้าพรรษา พระต้องอธิษฐาน
ภิกษุกลุ่มนี้ก็เลยต้องอธิษฐาน
อยู่จำพรรษาที่โค่นไม้ใหญ่นั่นเอง
ที่ต้นไม้จะมีเทวดาอยู่
เทวดาที่มีวิมาน อยู่ตามต้นไม้เรียกว่าอะไร
รุกขเทวดา รุกข ก็แปลว่าต้นไม้ มีวิมาน อยู่ในนั้น
เห็นพระสงฆ์หมู่ใหญ่ เห็นพระสงฆ์มาอยู่โคนไม้
เทวดาก็เลยไม่กล้าจะอยู่สูงกว่า
หอบลูกจูงหลานลงมาอยู่กับพื้นดิน
เทวดามีลูกเหมือนกัน
ชั้นรุกขเทวดาเป็นเทวดาชั้นไหน
เทวดามีหกชั้น จาตุมหาราชิกาชั้นที่หนึ่ง
ดาวดึงส์ชั้นที่สอง ยามาชั้นที่สาม ดุสิตชั้นที่สี่
นิมมานรดีชั้นที่ห้า ปรนิมมิตวสวัตตีชั้นที่หก
รุกขเทวดาเป็นเทวดาชั้นไหน
เดาได้ไหม อยู่ใกล้มนุษย์ ชั้นต่ำกว่าเพื่อน
ชั้นที่หนึ่ง จาตุมหาราชิกา
ชั้นที่หนึ่งแบ่งออกเป็นสามพวกใหญ่ใหญ่
รุกขเทวดา มีวิมานอยู่ที่ต้นไม้
อากาสัฏฐเทวดา มีวิมานอยู่บนอากาศ
ภุมมัฏฐเทวดา มีวิมานอยู่ตามพื้นดินนี่แหละ
เช่น ซุ้มประตู เขาสร้างซุ้มประตูหรืออาคาร
หรือเจดีย์สถาน พระพุทธรูป
หรือบางคนก็ไปสร้างบ้านให้เทวดาอยู่
มีไหมที่บ้าน ศาลพระภูมิ
อันนี้คือภุมมัฏฐเทวดา ชั้นที่หนึ่ง
เหล่านี้ก็ยังมีความแก่ พิกลพิการก็มี มีลูก
วินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไม่ให้พระภิกษุตัดต้นไม้
ก็มาจากเทวดานี่แหละ รุกขเทวดาโดนพระภิกษุฟัน
ลูกเทวดา แขนโดนฟัน แขนขาด
คือคราวหนึ่งมีพระภิกษุไปตัดต้นไม้ จะมาทำกุฏิ
รุกขเทวดาก็ออกมาห้ามอย่า อย่าตัด
อย่าตัดนะมีวิมานของฉันอยู่ ฉันอยู่ที่นี่
พระก็ไม่ฟัง จะตัดซะอย่าง
เทวดาก็เลยเอาลูกวางไว้ที่กิ่งไม้
คิดว่าพระก็คงจะไม่กล้าตัด
แต่พระเงื้อไปแล้วยั้งไม่ทัน ก็ตัด
ก็โดนแขนลูกเทวดาขาด เทวดาโกรธคิดจะฆ่าพระ
แต่ก็เลยมานึกถึงว่า เดี๋ยวเราจะบาปมาก
ดังนั้นเลยไปฟ้องพระพุทธเจ้าดีกว่า
เรื่องเกิดสมัยพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าก็ปลอบใจ เตือนใจ
โมทนา ดีแล้วที่ไม่ฆ่าพระภิกษุ ดีแล้ว
ถ้าเธอฆ่าพระภิกษุ
เธอจะต้องไปตกนรกอีกนานแสนนาน
สามารถเอาชนะใจตัวเองได้ โมทนา ดีแล้ว
แล้วพระองค์ก็ชี้ต้นไม้ที่ว่างว่างไม่มีวิมาน ไปอยู่
เลยพระพุทธเจ้าก็เรียกสงฆ์มาประชุม
แล้วก็บัญญัติห้ามภิกษุตัดต้นไม้
ภิกษุรูปใดตัดต้นไม้ หรือพรากของเขียว
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะชาวบ้านถือว่าต้นไม้มีชีวิต
ที่จริงต้นไม้จริงจริงมันไม่ได้มีชีวิตหรอก
แต่ว่ามีเทวดาอยู่ เลยชาวบ้านเขาถือว่ามีชีวิต
เขาก็จะโพนทะนา เห็นพระไปตัดต้นไม้
ถ้าโพนทะนาติเตียน พระพุทธเจ้าก็จะบัญญัติห้าม
เทวดาชุดนี้ก็ลงมา เห็นพระมาอยู่
หอบลูกหลานมาอยู่กับดิน
คิดว่าทนทนไปหน่อย เดี๋ยวพรุ่งนี้ท่านคงจะไป
พระไปไหม จำพรรษา อธิษฐานแล้วไปไหนได้ที่ไหน
สองวันก็ไม่ไป สามวันก็ไม่ไป
เทวดาชักยุ่งแล้ว เดือดร้อน
ทำอย่างไรถึงจะให้ท่านไป ก็ต้องทำผีหลอก
ทำให้เห็นเป็นผีหัวขาดบ้าง เป็นสัตว์ร้ายบ้าง
ทำให้มีเสียงน่ากลัวบ้าง เป็นภาพ
ภิกษุปฏิบัติไปก็กลัว ยังเป็นปุถุชนอยู่
เห็นนู่นเห็นนี่ ไปก็ไปไม่ได้อยู่ในพรรษา
จนกระทั่งออกพรรษา ก็ไม่อยู่แล้ว
ออกพรรษาก็แน่บ เก็บบาตร จีวร กลด
เดินทางไปที่วัดเชตวัน ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่
เข้าเฝ้ากราบพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระพุทธองค์ก็จึงตรัสถามว่า ในพรรษา จำพรรษาอยู่
พอเป็นสุขสบายดีหรือ ทำนองนี้
ภิกษุก็จึงเล่าให้ฟัง ไม่เป็นอันประพฤติปฏิบัติ
เห็นแต่ผีบ้าง เห็นแต่พวกสัตว์ร้ายน่ากลัว
พระพุทธองค์จึงให้เรียน บทแผ่เมตตา บทกรณีย
วันนี้ที่โยมสวด สวดเวลาวันจันทร์ วันอังคาร
มีบทกรณียสูตร เป็นบทแผ่เมตตา
แล้วพระพุทธองค์ก็ว่า ให้เธอกลับไปปฏิบัติที่นั่น
พระพุทธเจ้ารับสั่งอย่างนี้ พระก็ต้องไป
ไม่อยากไปก็ต้องไป
เรียนแผ่เมตตา ก็ไล่ไปตั้งแต่ออกจากวัดเชตวัน
แผ่เรื่อยเลย สวดแผ่ไปเรื่อยเรื่อย
เทวดาก็รับกระแสของการแผ่เมตตา
ก็มีความรู้สึกรักภิกษุเหล่านี้ เหมือนลูกในอก
ก็พากันดูแล ปกป้องรักษาไม่ให้มีเสียง
ไม่ให้มีอะไรมารบกวน
ภิกษุเหล่านั้นก็ปฏิบัติ จนกระทั่งสำเร็จบรรลุธรรม
ฉะนั้น ควรแผ่เมตตาหรือไม่
ได้แผ่ไหมทุกวันนี้ แผ่เมตตา
มีสูตรหนึ่งที่พระพุทธองค์ได้เคยตรัส
ถ้าแผ่เมตตาอยู่นี่ มารทำอันตรายได้ยากมาก
อุปมาเหมือนกับการห่อคมหอก คมดาบ ด้วยมือเปล่า
ยากไหมโยม การจะห่อม้วนดาบด้วยมือ หรือหอก
ทำได้ยากไหม
คนที่เจริญเมตตา มารจะทำอันตรายได้ยากขนาดนั้น
แต่ถ้าไม่มีเมตตา มารก็ได้ช่อง สบายมารเลย
ฉะนั้น เมตตามันเป็นเกราะคุ้มครองรักษา ต้องมีไว้
เวลาไปอยู่ที่ไหน แผ่เมตตา
ทีนี้เราแผ่ อย่างทำวัตรนี่พอหรือรอบเดียว
เกิดไหมเมตตา
ยังขุ่นใจอยู่ไหม แผ่ไปแล้วก็ยังขุ่น
มันทำครั้งเดียว มันไม่ไปหรอกจิต มันต้องแผ่เยอะ
ทำใจแผ่ออกจากใจ
ข้าพเจ้าขอแผ่ความปรารถนาดี ต่อสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด
ต้องทำใจออกไปด้วย ทำใจให้มันแผ่ความปรารถนา
เมตตาก็คือ ความปรารถนาดี ความรักในทางเมตตา
เมตตาก็คือความรัก แต่ว่าความรักแบบปรารถนาดี
ไม่ใช่รักแบบราคะ รักแบบหนุ่มสาว
มันเป็นรักเป็นเมตตาเทียม เป็นตัณหาเปมะ
พอไม่ได้อย่างใจ ไม่ถูกใจ
ไม่ได้อย่างใจก็จะโกรธแค้นเข่นฆ่ากัน
สามีภรรยาฆ่ากัน เข้าใจไหม
อันนั้นมันไม่ใช่ เมตตา
ไม่ใช่เป็นความรักแบบเมตตา
เป็นความรักแบบตัณหา
แต่ถ้าเป็นความรักแบบเมตตา
มันมีแต่ความปรารถนาดี
ขอให้เขามีความสุข ต้องการให้เขามีความสุข
เพราะฉะนั้น ถ้าเขามีความสุข ตัวเองก็จะชอบ
สบายใจ ดีใจ มันจะไม่มีความโกรธแค้นเข้ามา
จะไม่มีความเสียใจตามมา ความปรารถนาดี
ฉะนั้น เราต้องแผ่มากมาก ทำใจแผ่ไป
สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด
ทำใจแผ่ไป คล่องก็มีเมตตา
จิตก็จะมีความแช่มชื่นมีความสงบ
หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส
อานิสงส์การแผ่เมตตา มีสิบเอ็ดประการด้วยกัน
หนึ่งหลับเป็นสุข ดีไหมหลับเป็นสุข
หลับเป็นทุกข์มีไหม
หลับไม่สนิท หลับไม่ดี กระสับกระส่าย
ถ้าเรามีเมตตา แผ่เมตตาให้ดี หลับเป็นสุข
ตื่นเป็นสุข ตื่นมาก็แช่มชื่นมีความสุข
บางคนตื่นมา ไม่อยากจะตื่น ไม่อยากจะลุก
มันไม่มีความสุข พักผ่อนหลับมาไม่ดี
หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย
ใครที่คอยฝันร้ายต้องแผ่เมตตา
เพื่อจะได้ฝันดี ไม่ฝันร้าย
เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลายข้อที่สี่
ข้อห้า เป็นที่รักของมนุษย์ อมนุษย์ ทั้งหลาย
อมนุษย์ที่ไม่ใช่มนุษย์ เขาก็จะรักเรา เมตตา
หก เทวดารักษา คนที่มีเมตตา
เจ็ด ศัสตราอาวุธ ยาพิษทำอันตรายไม่ได้
อย่างพระนางสามาวดี ที่เป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทน
แล้วพระนางมาคันทิยามเหสีอีกองค์ใส่ร้าย
หาว่าพระนางสามาวดีคิดร้าย
คือในวันที่พระเจ้าอุเทนจะต้องไปประทับบรรทม
ที่ตำหนักของพระนางสามาวดี
พระนางมาคันทิยาก็แอบให้คนเอางูมาใส่ไว้ในพิณ
แล้วก็เอาดอกไม้ปิดไว้
แต่ว่าเอาเขี้ยวมันออกไว้ก่อน งูพิษ
แล้วพระเจ้าอุเทนไปไหนก็จะต้องมีพิณ
ติดตัวไว้เสมอประจำตัว
แล้วก็พระนางมาคันทิยาก็แกล้งบอก
เมื่อคืนฝันไม่ดีเลย
จะขอติดตามพระองค์ไปด้วย ก็ไปด้วย
ขณะที่พระเจ้าอุเทนประทับในตำหนัก
ห้องบรรทมของพระนางสามาวดี
พระนางมาคันทิยาก็ไป
แอบเอากลุ่มดอกไม้ออกจากพิณ
พระเจ้าอุเทนก็นอนหลับเอาพิณพาดศีรษะไว้
งู พอมันหิวมาหลายวัน
มันก็ออกมาแผ่พังพานเหนือเศียร
นางมาคันทิยาก็ร้อง พระเจ้าอุเทนก็ลุกขึ้นมา ตกใจ
นางมาคันทิยาก็ บอกแล้ว
ฉันฝันร้ายไม่อยากให้มาเลย
พระนางสามาวดีคิดร้ายต่อพระองค์
พระเจ้าอุเทนก็เชื่อ โกรธ สั่งจับพระนางสามาวดี
พร้อมด้วยบริวารห้าร้อย ยืนเรียงแถว
คือพระเจ้าอุเทน ท่านฝึกการยิงธนูมาอย่างเก่ง
มีพลังมาก สามารถจะยิงทีเดียวทะลุทั้งหมด
กะยิงทีเดียวฆ่าตายหมดเลย
พระนางสามาวดีก็บอกกับบริวารให้เจริญเมตตา
อย่าโกรธ อย่าโกรธพระองค์ ให้เจริญเมตตา
เพราะเขาก็ฝึกกันมาแล้ว
พอได้รับการเตือนทุกคนก็ไม่โกรธ
เจริญเมตตา ขอให้พระองค์มีความสุขเถิด
พระเจ้าอุเทนเงื้อธนูยิง
ปรากฏว่า ธนูมันออกจากแหล่ง มันหวนกลับล่ะซิ
ตกใจหมดเลย แล้วมันก็มืด มืดมัวไปหมดเลยทุกทิศ
กลัวมากเลย เหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิด
ก็ทรุดตัวลง สารภาพ ยอม ทรุดตัวลงขอ
สามาวดี ขอให้จงเป็นที่พึ่งกับเราด้วย
เรามืดมนไปหมดเลย
พระนางสามาวดีก็ยกโทษให้
นี่คือเมตตา ศัสตราอาวุธ ยาพิษทำอันตรายไม่ได้
ฉะนั้น กี่ข้อแล้ว หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย
เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย เทวดารักษา
ศัสตราอาวุธยาพิษทำอันตรายไม่ได้
ข้อแปด หน้าตาผ่องใส ดีไหม
เก้า สมาธิตั้งมั่นได้เร็ว คนเจริญมีเมตตาอยู่แล้ว
นั่งสมาธิจิตก็รวมเป็นสมาธิได้ง่ายได้เร็ว
สิบ ไม่หลงทำกาละ คือไม่หลงตาย
ตอนตายจะไม่ฟั่นเฟือนไม่หลง
เพราะคนที่ตายด้วยความหลง จิตเศร้าหมอง
เห็นนิมิตไม่ดี จิตเศร้าหมอง
จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคติ ปาฏิกังขา
เมื่อจิตเศร้าหมอง จะไปเกิดที่ไหน
ทุคติย่อมเป็นที่หวัง ทุคติไปไม่ดี
ก็คือนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน
เป็นอันหวังได้เลย ถ้าหลงตาย
ถ้าเศร้าหมองเวลาใกล้จะตาย
กระวนกระวายหวาดกลัว ร้องจะเป็นจะตาย
ตายไปตอนนั้นไปอบาย เพราะจิตเศร้าหมอง
คนที่เจริญเมตตาพระพุทธองค์ตรัสว่า
จะไม่หลงทำกาละ ไม่หลงตาย จะได้นิมิตที่ดี
ได้อารมณ์ที่ดี ไม่เศร้าหมอง จิตผ่องใส
จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขา
เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติย่อมเป็นที่หวัง
ต้องไปเกิดที่ดี
ข้อสิบเอ็ด ตายแล้วไปสู่พรหมโลก
เมตตาถ้าถึงขั้น เมตตาเจโตวิมุต
ได้ถึงฌาน ไปเป็นพรหม
ฉะนั้น ควรเจริญไหมเมตตา
ทำครั้งเดียวได้ไหมเมตตา ไม่ได้
ต้องเพียร พหุลีกตา ต้องเพียรแล้ว ต้องทำแล้วทำอีก
ภาวนาเรื่อยเรื่อย ต้องขยัน ต้องทำบริกรรม
ขอให้สัตว์ทั้งหลาย จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด
ทำใจไปด้วย ถึงเราจะไม่ได้เปล่งเป็นเสียงก็ได้
บริกรรมไว้ในใจ ทำใจแผ่ออกไป
จิตมีเมตตาเกิดขึ้น นี่เป็นกรรมฐาน
เมตตาเป็นคู่ปรับกับโทสะ
ถ้ามีเมตตา โทสะจะไม่เกิด ไม่มี
เวลามีโทสะ แสดงว่าไม่มีเมตตา
ฉะนั้น ถ้าคนไหนมีเมตตา อยู่เป็นพื้นจิต
ก็จะเป็นคนที่ไม่ขี้โกรธ ไม่โกรธง่าย
เหมือนคนที่ร่างกายไม่มีบาดเจ็บ
ไม่มีแผล ไม่มีอักเสบ
อะไรมากระทบกระแทกก็ไม่เจ็บง่าย ใช่ไหม
แต่ถ้าคนที่ไม่มีเมตตา จิตมันขุ่น มันขุ่นใจ
มันไม่เบิกบาน มันขุ่นขุ่นใจ
มันไม่รู้ว่าโกรธใครอยู่ เคืองอยู่อย่างนั้น
บางทีก็หาสาเหตุไม่ได้
โยมลองคิดดูว่า คือใจตัวเองไม่มีความสุขอยู่แล้ว
ใครจะมากระทบกระทั่ง
พูดนิดนิดหน่อยหน่อย มันก็จะโกรธง่าย
เหมือนคนที่มีบาดแผลเจ็บอยู่ อักเสบอยู่
อะไรกระทบนิดหน่อยก็เจ็บ ใช่ไหม
ผ้ามาโดนหน่อยก็เจ็บ ถ้ามันอักเสบอยู่แล้ว
ฉะนั้น คนที่ไม่มีเมตตา จิตมันเศร้าหมอง
จิตมันทุกข์อยู่แล้ว มันเหมือนใจเรามันมีทุกข์อยู่
ใครกระทบอะไรมันก็จะโกรธ
ใครพูดอะไรไม่ดีหน่อยก็โกรธ
ใครทำอะไรไม่ดีหน่อยก็โกรธ
หรือว่าเขาไม่เอาใจก็โกรธ
ครั้นเขาเอาใจก็โกรธอีก มันหาเรื่องโกรธจนได้
เวลาคนเราที่มันมีทุกข์อยู่แล้ว
เหมือนคนทุกข์ป่วยอยู่แล้ว มันพาลอยู่เรื่อยเลย
มีไหมในบ้านเดียวกัน พาลทะเลาะกันอยู่เรื่อย
คือใจตัวเองมันไม่มีความสุข
พอไม่มีความสุข เจออะไรนิดหน่อย นิดหน่อย
พูดอะไรก็ให้อภัยเขาไม่ได้หรอก
เพราะมันโกรธ โกรธง่าย
ฉะนั้น ถ้าเจริญเมตตา ใครทำอะไรไม่ดีอย่างไร
มันก็ไม่โกรธ เพราะว่าใจมันมีความสุขอยู่แล้ว
มันก็เกิดยอมรับ ให้อภัย ไม่ว่าอะไร
ฉะนั้น ก็ขอให้เจริญเมตตา เพื่อแก้ปัญหาความโกรธ
พิจารณาให้เห็นโทษ ความโกรธนำมาซึ่งความทุกข์
ทุกข์ไหมเวลาโกรธ
วิธีที่จะดับความโกรธ นอกจากเจริญเมตตาแล้ว
ก็ใช้การพิจารณาในธรรม
พิจารณาเรื่องกฎแห่งกรรม คนที่ทำไม่ดีกับเราไว้
เขาก็คือทำบาปไว้ เขาทำบาปกรรมไว้
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน
บุคคลนี้ที่ทำไม่ดีนี้ เขาก็จะต้องรับผลของกรรมของเขา
ทุกชีวิตมีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
จะต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมที่ทำไว้
มีกรรมเป็นกำเนิด
ทำกรรมอะไรไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม
ก็จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรม
เราจึงไม่ต้องไปโกรธใคร ไม่ต้องไปแช่งใคร
เพราะว่าเขามีกรรม เขาทำไม่ดีไว้
เขาก็จะต้องรับผลของกรรม
ถ้าเรานึกถึงว่า เขาจะต้องไปตกนรก
เดือดร้อนแสนสาหัส
จะต้องเสวยผลบาปกรรมที่เขาทำไว้
เราอาจจะเกิดความกรุณาขึ้นมา เกิดสงสารด้วย
เกิดความเห็นอกเห็นใจสงสาร
เขาไม่รู้เรื่องว่า เขากำลังทำในสิ่งที่
จะต้องเดือดร้อนแก่ตัวเอง
ทำบาปแบบนี้ แบบนี้ จะต้องไปเสวยผล
เกิดความกรุณาขึ้นมาได้
นี่คือการพิจารณาเรื่องกฎแห่งกรรม เรื่องกรรม
มันทำให้ชนะความโกรธ
ตัวของเราก็ต้องมีกรรมไว้ในอดีตเหมือนกัน
จึงต้องมารับผลกรรมถูกกระทำอย่างนี้
ถ้าไม่มีบาปกรรมที่ทำไว้แบบนี้
จะไม่ต้องโดนแบบนี้แน่นอน เพราะทำไว้เอง
เราเคยกลั่นแกล้งเขาไว้ เราเคยไม่ซื่อตรงต่อเขาไว้
เคยหักหลังเขาไว้ เคยทุจริตต่อเขาไว้
เคยไม่ซื่อสัตย์กับเขาไว้
ทำไว้แล้ว ถึงเวลากรรมมันให้ผล ก็ต้องรับผลกรรม
เมื่อรู้อย่างนี้จะโกรธเขาไหม มันเป็นเรื่องกฎแห่งกรรม
เราก็ยอมรับว่า ปลดหนี้กรรม
เราเป็นหนี้สินเขาไว้ ถึงเวลาเขามาทวง
แล้วเราก็ใช้คืนเขาไป ควรจะโกรธ หรือควรจะเบาใจ
สมมติว่าเราเป็นหนี้เขาหมื่นหนึ่ง
ถึงเวลาเจ้าหนี้มาทวง เราก็มีเงินใช้คืนเขาไป
เราจะโกรธแค้นเขาไหม หรือเราควรจะเบาใจ
เบาใจว่า ปลดหนี้กันที หมดเรื่องกันไป
ไม่ต้องเป็นหนี้ลำบาก ตามทวงกันอยู่
หมดหนี้สบาย ไม่มีหนี้สิน
เหมือนถึงเวลาที่เราทำกรรมทำบาปไว้ในอดีต
ถึงเวลาบาปมันมาทวง เราได้ใช้คืนเขาไป
เราก็ควรเบาใจ เช่นถูกโกง ถูกแกล้ง ถูกใส่ร้าย
ถูกกล่าวหา ถูกไม่ยุติธรรม กรรมมาทวงแล้ว
ฉะนั้น เราก็ควรจะโกรธ หรือควรจะเบาใจ
เบาใจว่า ปลดหนี้กันที ไม่ต้องไปใช้หนี้กันในนรก
หายโกรธ ดีไหม
เพราะความโกรธเป็นไฟเผาไหม้ เผาไหม้ใคร
เผาไหม้คนอื่น หรือเผาไหม้คนที่โกรธ
มันไม่ได้ไปเผาคนอื่น มันเผาตัวเอง ตัวคนโกรธ
ควรจะกรุณาตัวเองไหม ควรจะช่วยตัวเองไหม
ให้ไม่ต้องมาทุกข์กับความโกรธ
เวลาโกรธ คนอื่นเขาไม่ได้ทุกข์ แต่เราทุกข์เอง
ก็ควรสละออกไป พิจารณากฎแห่งกรรม
หรือพิจารณาถึงความเป็นญาติกัน
พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนที่เกิดมาพบกันเห็นกันนี่
ที่จะไม่ได้เคยเป็นญาติกัน หายาก
เป็นญาติกันทั้งนั้น
ฉะนั้น คนที่เราโกรธเขา เขาอาจจะ
เคยเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นพี่ เป็นน้องเรามา
นึกถึงความเป็นญาติ ให้อภัย
หรือพิจารณาถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร
ไม่ให้โกรธตอบ
โกรธตอบนี่ ถือว่าแย่กว่าเขาอีก ให้ชนะความโกรธ
ฆ่าความโกรธเสียได้อยู่เป็นสุข
เหมือนมีพราหมณ์ผู้หนึ่ง โกรธพระพุทธเจ้ามาก
เพราะภรรยานับถือพระพุทธเจ้า
เวลาตกใจอะไรมาก็อุทาน
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโตอยู่เรื่อย
แล้วพราหมณ์ตัวสามีก็ไม่ได้เลื่อมใสพระพุทธศาสนา
แต่ไปเลื่อมใสลัทธิชีเปลือย
ถึงเวลาก็จะนิมนต์พระชีเปลือยมาฉันอาหาร
ส่วนภรรยานับถือพระพุทธศาสนา
ไม่ใช่ชีเปลือยหรอก เป็นพวกพราหมณ์
พวกพราหมณ์ ลัทธิพราหมณ์
ทีนี้สามีก็บอกภรรยาว่า
วันนี้นิมนต์พวกพระสมณพราหมณ์ของเรามาฉัน
เธออย่าไปว่า นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต
น้อมนอบพระพุทธเจ้าต่อหน้าเขานะ มันเสียหาย
นางภรรยาก็บอกฉันรับปากไม่ได้หรอก ใครจะห้ามได้
ตกใจขึ้นมา มันก็ต้องเผลอต้องว่า
ก็จริงจริงนั่นแหละ ภรรยาถือถาดอาหารมา
เผอิญสะดุดพื้น ตกใจ อาหารจะตก
ตกใจก็ว่า นะโม ตัสสะ เลย
ต่อหน้าพวกพราหมณ์ทั้งหลาย
พวกนั้นคายอาหารออกเลย
เรามาบ้านผิดเสียแล้ว พากันกลับ
สามีก็เลยต่อว่า บอกแล้วอย่ามา นะโม ตัสสะ ต่อหน้า
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต
สัมมาสัมพุทธัสสะ
เหมือนเราเวลาตกใจ พุทโธ อย่างนี้
เอ่ยนามพระพุทธเจ้า ก็เลยโกรธพระพุทธเจ้า
สามี พราหมณ์แล่นไปวัดเลย
จะไปหาเรื่องต่อว่าพระพุทธเจ้า
ไปถึงก็หาเรื่อง สมณโคดม ฆ่าอะไรถึงจะดี
หาเรื่องจะทะเลาะ ฆ่าอะไรถึงจะดี
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า
ฆ่าความโกรธนั่นแหละจะมีความสุข
พูดไม่ออกเลย สงบ
ไปจะหาเรื่องทะเลาะ ฆ่าอะไรถึงจะมีความสุข
พระพุทธองค์ก็ตรัส ฆ่าความโกรธถึงจะมีความสุข
ตัวเองกำลังโกรธมา
แล้วตอนหลังฟังธรรม ได้บรรลุธรรม
เลยศรัทธาพระพุทธศาสนา
ฉะนั้น นึกถึงคำสอนพระพุทธเจ้า
สอนให้เอาชนะความโกรธ ให้อดทน ให้มีขันติ
เราเป็นพุทธบริษัท หมู่เหล่าของพระพุทธเจ้า
เราก็ต้องฟัง เชื่อฟังคำสอนพระพุทธองค์
พิจารณาแล้วก็จะได้หายโกรธ
ท่องคาถา ป้องกันความโกรธ ว่าตาม
ใจเอ๋ยใจ
(ผป) ใจเอ๋ยใจ
ทำไมเจ้าจึงขี้โกรธ
(ผป) ทำไมเจ้าจึงขี้โกรธ
ให้เป็นทุกข์เป็นโทษ
(ผป) ให้เป็นทุกข์เป็นโทษ
ไม่สุกใส
(ผป) ไม่สุกใส
โกรธ โกรธเขา
(ผป) โกรธ โกรธเขา
แล้วเราจะได้อะไร
(ผป) แล้วเราจะได้อะไร
มีแต่ไฟไหม้อก
(ผป) มีแต่ไฟไหม้อก
นรกทั้งเป็น
(ผป) นรกทั้งเป็น
จำได้ไหม ไปท่องเตือนใจตัวเองไว้ จะได้ไม่โกรธ
ใจเอ๋ยใจ
(ผป) ใจเอ๋ยใจ
ทำไมเจ้าจึงขี้โกรธ
(ผป) ทำไมเจ้าจึงขี้โกรธ
ให้เป็นทุกข์เป็นโทษ
(ผป) ให้เป็นทุกข์เป็นโทษ
ไม่สุกใส
(ผป) ไม่สุกใส
โกรธ โกรธเขา
(ผป) โกรธ โกรธเขา
แล้วเราจะได้อะไร
(ผป) แล้วเราจะได้อะไร
มีแต่ไฟไหม้อก
(ผป) มีแต่ไฟไหม้อก
นรกทั้งเป็น
(ผป) นรกทั้งเป็น
จำไว้ พิจารณาอย่างนี้ แล้วจะได้เอาชนะความโกรธ
แต่ที่จะตัดความโกรธได้เด็ดขาด
ก็คือต้องเจริญวิปัสสนา
ไม่ต้องคิดอะไร พอความโกรธเกิดขึ้น
กำหนดรู้ความโกรธอย่างวางเฉย
จำไว้ เวลาโกรธเกิดขึ้น กำหนดดูความโกรธ
แต่ต้องวางเฉยนะ
ดูใจที่โกรธอย่างวางเฉย ปล่อยวาง
ดูความโกรธ วางเฉย วางเฉย
ดูให้ตรงจิตที่มันโกรธ แล้วก็วางเฉยให้ดี
วางเฉย ดูอย่างวางเฉย
ถ้าฝึกอย่างนี้ให้เก่งขึ้น มันจะดับ
จนกระทั่ง มันดับทันทีเลย
พอกำหนดความโกรธ วาง มันดับ
ถ้าใหม่ใหม่ก็อาจจะ ยังไม่เก่ง
มันก็จะดูไปเฉยเฉย ดูไปเฉยเฉย มันจะค่อยค่อยจาง
รู้สึกมันจะเริ่มเบาลง เบาลง ค่อยค่อยหายไป
แต่ถ้าฝึกบ่อยบ่อย เก่งขึ้น มันจะดับไว
พอใจโกรธ กำหนดดูใจซิ โกรธหนอ
วางเฉย วางเฉย ไม่ว่า ดับ
นี่คือเป็นแนวของวิปัสสนา
วิปัสสนาก็คือ ระลึกรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏ
สภาวธรรมใดปรากฏ ให้กำหนดรู้สภาวธรรมอันนั้น
เมื่อฟุ้งปรากฏ ก็รู้ฟุ้ง
แต่ต้องรู้อย่างวางเฉย มันก็จะดับไป
ถ้าคิดปรากฏ ก็กำหนดรู้ความคิด
แต่ต้องวางเฉย ก็ดับไป
ไม่สบายใจเกิดขึ้น กำหนดรู้ความไม่สบายใจ
ไม่สบายใจ วางเฉย วางเฉย มันก็ดับไป
โกรธเกิดขึ้น กำหนดรู้ความโกรธ อย่างวางเฉย
วางเฉย มันก็ดับไป
ดับได้ทันทีได้ ถ้าเราฝึกให้เป็น ให้เก่งขึ้น
เป็นวิชาที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้
ที่สามารถดับได้ทันที
ท่านอุปมาเหมือนชั่วแค่กระพริบตา
พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนั้น นานไหมกระพริบตา
ชั่วแค่ลัดนิ้วมือ ดีดนิ้วมือ
ชั่วแค่ตะล่อมน้ำลายไว้ปลายลิ้น
แล้วก็ถ่มไปอย่างง่ายดาย
ชั่วแค่น้ำสองสามหยด ตกไปในกระทะที่ร้อนจัด
มันระเหยทันที
ชั่วแค่น้ำที่อยู่บนใบบัว
เอียงเล็กน้อย มันก็กลิ้งตกได้ทันที
วิชาของพระพุทธเจ้า สามารถชำระได้อย่างนั้นทันที
ถ้ากำหนดรู้
เวลาที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส
กายถูกต้องสัมผัส ใจคิดนึก
เกิดความพอใจ ไม่พอใจขึ้นมา ก็กำหนดรู้
ตั้งสติกำหนด ไม่พอใจแล้วหนอ โกรธแล้วหนอ ดูดู
วางเฉยนะ อย่าไปดูแบบจะเอาให้หายโกรธ
จะเอาอย่างนั้น ไม่เอาอย่างนี้
ต้องดูอย่างเฉยเฉย ดูอย่างวางเฉย อย่างปล่อยวาง
วางเฉย ไม่ว่าอะไร เป็นวิชาดับ นี่เป็นวิปัสสนา
ทำอย่างนี้ไปจนกระทั่ง ฝึกดูสภาวะต่างต่างมากขึ้น
จนกระทั่งบรรลุ ถึงขั้นอริยมรรค โสดา
โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค
อนาคามิมรรค มรรคที่สามอันนั้นตัดขาดเลย
คือจะไม่เกิดขึ้นอีกเลยโทสะ
แต่ว่าระหว่างที่ยังไม่ถึงโลกุตตรมรรค มันยังเกิดได้อีก
กำหนดรู้ มันดับไป
เดี๋ยวเผลอ มันเกิดอีก ก็รู้อีก ดับไปอีก รู้ ดับไปอีก
ยังดีได้รับความสงบเป็นขณะเป็นระยะระยะ ดีไหม
ความโกรธควรชำระไปไหม ไฟ โทสัคคิ
แต่มันไม่ใช่มีแค่โทสะนะ ไฟ
ราคัคคิ ไฟคือราคะ ความใคร่ ความกำหนัด
เร่าร้อน ลั่นใจ นี่ก็เป็นไฟเผาไหม้
โมหัคคิ ไฟคือโมหะ ก็เผาอีก ทำอย่างไรจะดับ
หมดเวลาก่อน ไว้ฟังตอนต่อไปก็แล้วกัน
วันนี้ก็ขออนุโมทนาสาธุการ
ขอให้ไปเจริญเมตตา ฟังแล้วต้องไปทำ
แผ่เมตตา กลับไปก็แผ่ แผ่เมตตามากมาก
แผ่จนกระทั่งรู้สึกจิตใจมันแช่มชื่น ใจอิ่ม ปากยิ้มได้
ตื่นขึ้นมาก็แผ่อีก เดินไปไหนก็แผ่
ไม่ใช่เอาแต่นอนแผ่อย่างเดียว
แผ่เมตตา แผ่เมตตา
โมทนาสาธุ ขอให้ทุกท่านได้ประสบความสุข
เจริญในธรรม นำตนให้พ้นทุกข์ เข้าถึงบรมสุข
คือพระนิพพานโดยทั่วหน้ากันทุกท่านเทอญ
-------------------------------------------------------