แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นะมัตถุ ระตะนัตตะยัสสะ ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขอความผาสุก ความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติสัมมาปฎิบัติธรรมทั้งหลาย
ต่อไปนี้ก็จะได้มาพบธรรมะตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นแนวทางแห่งการเจริญภาวนา การปฏิบัติกรรมฐาน ซึ่งจะได้กล่าวถึงการนำกรรมฐานไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพราะว่าชีวิตส่วนใหญ่ท่านทั้งหลาย ก็จะต้องอยู่กับสังคม อยู่กับครอบครัว อยู่กับการงาน ไม่ได้มาเก็บตัวปฏิบัติอยู่อย่างนี้ได้ตลอดไป
ชีวิตส่วนใหญ่จะต้องอยู่กับการงาน แล้วเราจะนำกรรมฐาน ไปประกอบกับการปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้อย่างไร เพราะถ้าเราปฏิบัติไม่ได้ ก็จะสูญเสียเวลาไป และจะคอยว่า ว่างๆ ปีหนึ่งมาเก็บตัว มาปฏิบัติ เจ็ดวัน เก้าวัน ส่วนที่เหลืออีก 350กว่าวัน ก็ไปตามเรื่องตามราว ปีหนึ่งมี 365 วัน เราปฏิบัติเก็บตัวสักเก้าวัน เหลืออีก 355 วันนั้น ไม่ได้ปฏิบัติ ก็คงไม่ทันกัน เวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้เจริญกรรมฐาน ย่อมจะเป็นเวลาที่กิเลสทั้งหลาย พอกพูนทับถม ในจิตใจ จิตจะต้องหมักหมมไปด้วยกิเลสนานัปการ หมักดอง ซ้ำ ทับถมไปเรื่อยๆ เวลาที่รับอารมณ์เกิดกิเลส ก็จะบันทึกสะสมลงไป กลายเป็นอาสวะ อาสวะเป็นเหมือนเขาหมักดองทำสุรา เอาแป้งมาหมัก ไปนานๆ เข้าก็กลายเป็นของมึนเมา กิเลสที่สะสมหมักหมมลงไป กลายเป็นอาสวะ หมักดองอยู่ในขันธสันดาน ก็จะเป็นเหตุให้เป็นทุกข์ เพราะมีกิเลสก็ยังจะต้องมีกรรม ทำกรรมลงไป มีกรรมก็ยังจะต้องมีเกิด มีเกิดก็ต้องมีแก่ มีเจ็บ มีตาย มีเศร้าโศก พลัดพราก ไม่สมปรารถนา เป็นทุกข์กายทุกข์ใจเรื่อยไปไม่จบไม่สิ้น
การที่จะพ้นทุกข์ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ก็ต้องสิ้นกรรม เช่นสิ้นการเกิด สิ้นกรรม จะสิ้นได้ก็ต้องทำลายกิเลส ตัดอาสวกิเลสให้หมดสิ้นไปกิเลสจะหมดสิ้นไปก็ต้องมีวิชชา หรือปัญญาไปทำลาย ไปประหารอวิชชาความไม่รู้ออกไป การปฏิบัติกรรมฐานการเจริญสติ เป็นการสะสมเหตุปัจจัยของปัญญา ที่จะพัฒนาระดับที่จะประหารอนุสัยกิเลส ให้ขาดสิ้นไปจากใจ จึงจะเป็นไปเพื่อความดับทุกข์พ้นทุกข์ การสะสมสติ สมาธิปัญญา เราก็จะต้องเพียรพยายามฝึกฝนทำอยู่บ่อยๆ เนืองๆ ต้องมีเวลา ให้เวลาในการฝึกหัดอบรมขัดเกลาจิตใจ เหมือนอย่างเรามาเก็บตัวมาปฏิบัติ เราก็จะทบทวนดูว่า ในวันแรกๆ จิตใจเราก็ยังวุ่นวาย แต่เมื่อผ่านไปหลายวัน ก็จะพบความคลี่คลาย เบาอกเบาใจ ปลอดโปร่งโล่งจิตใจขึ้น นี่คือการที่ธรรมะ พระธรรมคำสอนนั้นเป็นสาระ มีผลแห่งความคลี่คลายทุกข์ ดับทุกข์ได้ แต่เมื่อเราทำยังไม่ถึงที่สุด เราหยุดไป ก็เปิดโอกาสให้กิเลสเข้ามาแทนที่
เวลาที่กิเลสจะเกิด มันก็เกิด ตอนที่มีการผัสสะ มีการกระทบอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัส โผฏฐัพพะ ใจรับรู้ธรรมารมณ์ กิเลสจะเกิด ก็เกิดขึ้นตอนนั้น สติสมาธิปัญญาจะเกิด ก็อาศัยตอนที่ผัสสะ เพราะฉะนั้นแทนที่จะปล่อยให้กิเลสเกิด ผู้ปฏิบัติก็พยายามเจริญสติรู้เท่าทัน เพื่อให้สติปัญญาเกิดแทน เวลาที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียงเป็นต้น ถ้ามีสติสัมปชัญญะแล้ว สติสัมปชัญญะปัญญามาเกิดแทน อกุศลธรรมหรือกิเลสธรรมเหล่านั้นก็ตกไป ถ้าไม่ได้เจริญสติ กิเลสจะเกิดเวลาที่รับรู้อารมณ์ต่างๆ เราก็ลองพิจารณาดูว่า ในวันหนึ่งๆ เรามีการรับรู้อารมณ์กันกี่ครั้ง เห็นกี่ครั้ง ได้ยินกี่ครั้ง ได้ดมกลิ่น ลิ้มรส ได้สัมผัสโผฏฐัพพะ รับรู้อารมณ์ทางใจกี่ครั้ง ในวันหนึ่งๆ นับจำนวนไม่ได้ มีมากมาย พึงทราบว่าแต่ละขณะที่รับรู้อารมณ์ มีการเห็นการได้ยินเป็นต้น ถ้าขาดสติสัมปชัญญะแล้ว กิเลสจะเกิด ไม่โลภก็โกรธ ไม่โกรธก็หลง อยู่อย่างนั้น เมื่อเวลาที่ได้รับอารมณ์ที่ดี กามคุณอารมณ์ รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่น่าปรารถนา ก็จะเป็นเหตุเป็นเชื้อให้เกิดกิเลสประเภท โลภะ ความโลภ ความต้องการ ความติดใจ หรือจะเรียกว่าราคะ หรือจะเรียกว่ากามตัณหาก็แล้วแต่ มันจะเกิดขึ้น ในขณะที่ได้สัมผัสกับอารมณ์ที่ดี อารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา กิเลสสายพันธุ์โลภะ จะเกิดขึ้น
ถ้าขาดการพิจารณาโดยแยบคาย ขาดการเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะตัณหาจะเกิด ก็เป็นการสะสมเอาเหตุแห่งความทุกข์เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เห็นบ่อย ฟังบ่อย ก็เพิ่มกิเลสลงไป เพิ่มไป เพิ่มไป หนาแน่น กิเลสทับถมจนหนาแน่น จึงเรียกว่าปุถุชน ปุถุชน แปลว่าผู้หนาแน่นด้วยกิเลส เพราะฉะนั้นจิตที่มีความหนาแน่นด้วยกิเลส ก็จะนำความเศร้าหมอง ความทุกข์ความเดือดร้อน หรือพลาดไปทำบาปทำกรรมกันอยู่เรื่อยไป การปฏิบัติก็จะต้องมาชำระสะสางกิเลสทั้งหลาย อาสวกิเลสทั้งหลายให้เบาบางไป ให้น้อยไป จนกระทั่งหมดเกลี้ยงไปจากจิตใจ ด้วยการที่จะต้องพยายามเจริญสติ เพราะฉะนั้นเมื่อจำเป็น เรารู้แล้วว่ากิเลสมันจะเกิดขึ้น ตอนที่เกิดการผัสสะทางตา ทางหู เป็นต้น เราก็จะต้องเป็นผู้เจริญสติระมัดระวัง ในการรับรู้อารมณ์ทางตา ทางหู เป็นต้นเหล่านั้น การเป็นผู้สำรวมระวังมีสติสัมปชัญญะ นั่นแหละคือการปฎิบัติธรรม เพื่อการเจริญกรรมฐาน ซึ่งเราสามารถที่จะเจริญได้ ในชีวิตประจำวันของเรา
เราสามารถจะเจริญได้ ทั้งสมถะและวิปัสสนา ท่านทั้งหลายก็อาจจะรู้สึกว่า เอ้..จะเจริญได้อย่างไร โดยเฉพาะการเจริญวิปัสสนา ซึ่งต้องระลึกที่ปรมัตถธรรม เจริญวิปัสสนานั้นสติจะต้องระลึกรู้ตรงต่อปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ พยายามที่จะรู้เฉพาะปรมัตถธรรม คือรูปนามที่กำลังปรากฏ จะไม่พยายามไปตีความหมาย อะไรเป็นอะไร รู้เฉพาะสิ่งที่เป็นปรมัตถธรรม เราก็อาจจะคิดว่า เอ๊ะ..ถ้าอย่างนั้นเราจะทำงานได้อย่างไร รู้แต่ปรมัตถธรรม เราจะพูดกันรู้เรื่องได้อย่างไร เราจะฟังรู้เรื่องได้อย่างไร ถ้าเราจะกำหนดเพียงได้ยิน ได้ยิน ได้ยิน ไม่ตีความหมายสิ่งที่ได้ยินนั้นว่าหมายความว่าอย่างไร เราก็จะไม่สามารถปฏิบัติการงานให้รู้เรื่องได้ เขาสั่งมา บอกมา เราก็ระลึกแค่ได้ยิน ได้ยิน ก็ไม่รู้ว่าเค้าพูดอะไร แล้วจะทำอย่างไร ในเมื่อชีวิตประจำวันเราทำงานต้องให้รู้เรื่อง เวลาเขาสั่ง เขาบอกอะไรมา เราก็ต้องรู้ว่าเขาพูดอะไร ทำอย่างไร เวลาที่เดินทางไปทำงาน ก็ต้องรู้ความหมายว่าเดินไป จะเดินไปไหน จะหลบ จะเลี่ยงจะเลี้ยว จะกลับ จะต้องรู้ความหมาย ซึ่งเป็นสมมุติบัญญัติทั้งหมด ถ้าเราไม่ตีความหมาย เรากำหนดแต่เห็น แต่เห็น ไม่ตีความหมายว่าสิ่งที่เห็นเป็นรถ เดินข้ามถนนก็อาจจะรถชน กำหนดแต่เห็นสีไม่ตีความหมาย ยิ่งเราเป็นผู้ขับรถเอง ถ้ากำหนดแต่ปรมัตถธรรม ไม่ยอมตีความหมายในสิ่งที่เห็น ในสิ่งที่ฟัง มันจะขับรถไปไม่ได้หรอก ไปได้หน่อยก็ชนแล้ว ถ้าระลึกเพียงปรมัตถธรรม ไม่ตีความหมายว่าอะไรเป็นอะไร เพราะฉะนั้นการจะขับรถให้รู้ว่า จะหลบ จะเบรค จะเลี้ยว จะหยุด จิตจะต้องมีอารมณ์เป็นบัญญัติ เวลาเห็น จะต้องแปลออกมาได้ว่า นั่นหมายความว่าอย่างไร เวลาฟังก็จะต้องแปลความหมาย ซึ่งเป็นบัญญัติอารมณ์ทั้งหมด แต่การเจริญวิปัสสนา ให้ระลึกรู้ปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ โดยพยายามที่จะรู้เฉพาะปรมัตถธรรม ไม่ให้ใส่ใจในสมมุติบัญญัติ แล้วมันจะไม่ขัดกันหรือ แล้วเราจะไปทำได้อย่างไรในชีวิตประจำวัน
ความจริงเราสามารถที่จะปฏิบัติวิปัสสนาได้ในชีวิตประจำวัน ในการทำงาน ในการพูด ในการฟัง ในการขีดเขียนในการอ่านหนังสือ แม้แต่กำลังคิดนึกวางแผนงาน ซึ่งเป็นอารมณ์อนาคต มีอารมณ์เป็นสมมุติบัญญัติ จิตจะต้องนึกคิด สามารถที่จะเจริญวิปัสสนาได้ ในขณะนั้นๆ จึงเข้าหลักคำสอน ที่ว่าพระธรรมนั้นเป็นอกาลิโกปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล นั้นจะต้องเจริญสติ เจริญวิปัสสนาได้ เป็นเพียงแต่ว่า จะต้องมีการแบ่ง แบ่งกัน สลับกัน ระหว่างการระลึกรู้ปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ กับการที่จะต้องใช้จิตในการรู้ความหมาย อันเป็นสมมุติบัญญัติ เรียกว่าเราจะเจริญวิปัสสนาโดยเฉพาะอย่างเดียวไม่ได้ จะกำหนดแต่เห็น ได้ยิน รู้กลิ่นโดยไม่ตีความหมายนี่น่ะ เราทำงานไม่ได้ สำเร็จกิจการงานไม่ได้ จะต้องมีการแบ่งใจในการรู้ในสมมุติบัญญัติ สลับสับเปลี่ยนกับการที่จะมีสติระลึกรู้ปรมัตถธรรม เราก็สามารถจะเจริญสติไปได้ แม้ขณะที่เรากำลังเอาใจไปตีความหมายในสิ่งที่ฟัง ซึ่งเป็นสมมุติบัญญัติ ก็สามารถระลึกรู้สภาวะปรมัตถ์ที่กำลังปรากฏได้ อย่างที่ท่านทั้งหลายจะลองพิสูจน์ดูในขณะนี้ก็ได้โดยเฉพาะท่านที่เจริญสติเป็น กำหนดปรมัตถธรรมเป็น ก็ลองกำหนดรู้ดูในขณะนี้ ลองใส่ใจระลึกรู้ในกาย ในใจของตนเองขณะนี้ดูซิ ให้สติไปจับรู้ความรู้สึกในกาย ความไหว ความตึง ความเย็น ความแข็ง อ่อน เย็น ร้อน สบาย ไม่สบาย เจริญสติรับรู้ไป รู้ความเย็น รู้ความไหว รู้ใจไปด้วยก็ได้ รู้ใจที่รู้สึก รู้ความตรึก นึก ใจรู้สึกเป็นอย่างไร ขณะที่เจริญสติอย่างนี้รู้ปรมัตถธรรมอยู่ไหม ถามว่ายังฟังรู้เรื่องไหม ยังฟังเทศน์รู้เรื่องไหม รู้เรื่อง-การที่รู้เรื่อง แสดงว่าจิตจะต้องมีอารมณ์เป็นบัญญัติ จิตจะต้องตีความหมายในเสียง แปลความหมายออกมาได้ แต่ทำไมระลึกรู้สภาวะอยู่ได้ แสดงถึงความเร็วของจิต ในการที่จะกลับไปกลับมา ระหว่างปรมัตถธรรมกับบัญญัติอารมณ์
เพราะฉะนั้นเป็นการพิสูจน์ว่า ในชีวิตประจำวัน ซึ่งกำลังมีอารมณ์เป็นบัญญัตินั้น ก็สามารถที่จะมีสติระลึกรู้ปรมัตถ์สลับ สลับฉากไปได้ จิตจะสามารถกลับไปสู่อารมณ์บัญญัติ ปะติดปะต่อเรื่องราวที่ฟังได้ รู้เรื่องได้ สามารถจะพูดต่อได้ สามารถจะฟังได้ ทั้งๆ ที่สติระลึกรู้สภาวธรรม ที่กายที่ใจของตนเองอยู่นี่ เป็นเพียงแต่ว่าแบ่งใจไว้บ้าง ไม่ใช่ปิดเสียทีเดียวไม่ใช่ปิดสมมุติบัญญัติไปเสียทีเดียวโดยปกติจิตเรานั้นก็จะไปบัญญัติอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง มันคอยจะไปอยู่แล้ว ฟังปุ๊บมันก็จะรู้ความหมาย เห็นปุ๊บมันก็จะรู้อะไรเป็นอะไรอยู่แล้ว แต่การที่จะมีสติรู้ปรมัตถธรรม สภาวธรรมไม่ค่อยจะมี มันไม่ค่อยจะได้ เราก็มาฝึกดู ฝึกให้มีสติในการฟัง ในการพูด แม้ในการคิด เวลาคิดถือว่าเป็นเรื่องที่จิตไหลไปสู่สมมติอย่างมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะเราจงใจคิด ถ้าเกิดว่าเรามีอาชีพการงานที่จะต้องมีการคิดวางแผนงาน งานบางอย่างต้องมีการวางแผน จิตเราจะต้องนึกถึงอนาคต มันจะต้องมีมโนภาพ มีความหมายสมมติเหตุการณ์ ทำอย่างนั้นจะเกิดอะไร ทำอย่างนี้จะเป็นอย่างไร ขณะนั้นจิตจะต้องมีอารมณ์เป็นบัญญัติ เราสามารถที่จะเจริญสติระลึกรู้ปรมัตถธรรมสลับควบคู่กันไป แล้วก็จะเป็นผลดีต่อการปฎิบัติงาน มันจะช่วยให้เราคลายความเคร่งเครียด
โดยปกติเวลาที่จิตคิดถึงเรื่องอะไรมากๆ โดยเฉพาะเรื่องวางแผนงานต่างๆ เรื่องสมมติ อดีต อนาคต ถ้าเราคิดมากๆ สมองจะเครียด เพราะว่าสมองนี่เป็นเครื่องมือของจิต จิตนี่ ลำพังจิตอย่างเดียวทำอะไรไม่ได้กับร่างกาย ต้องอาศัยสมองเป็นตัวมาจัดการ เชื่อมโยง สั่งการต่อสรีระร่างกายอีกทีหนึ่ง ถ้ามีแต่จิต สมองเสีย ก็ทำอะไรไม่ได้ เหมือนคนเป็นอัมพาต มีจิตใจแต่ก็ขยับขาไม่ได้ เพราะสมองเสีย มีสมองแต่ไม่มีจิตก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่มีใครสั่งการ เวลานอนหลับ มีสมองอยู่ไหม เวลาสลบ มีสมองยังอยู่ไหม สมองก็ยังดี แต่ว่าจิตมันหลับไปแล้ว จิตไม่ขึ้นมารับสั่งการ ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันต้องอาศัยกัน จิตก็ต้องอาศัยสมอง สมองเป็นตัวรูปธรรมเป็นด้านสรีระ ไปจัดการเชื่อมโยงระบบประสาท อวัยวะให้ทำงาน เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าจิต จิตเป็นเหมือนตัวเจ้านาย สมองก็เป็นลูกน้อง แต่ว่าเป็นหัวหน้างานหน่อยเป็นหัวหน้าจัดการ เป็นศูนย์บัญชาการ ถ้าเจ้านายคือจิต สั่งการมากเหลือเกิน สมองก็ต้องทำงานมาก มันก็เครียด เคร่งเครียด เคร่งตึง พอสมองเคร่งตึงเคร่งเครียดแล้ว การสื่อ การเชื่อมโยงไปสู่อวัยวะส่วนอื่น ก็มีผลเสียไปด้วย เพราะฉะนั้นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เกิดจากความเครียดมีมาก บางทีหมอก็รักษา ใช้ยารักษาแต่ละโรค แต่ที่เป็นอยู่ โรคกระเพาะบ้าง โรคหัวใจ โรคความดัน โรคอะไรต่างๆ เขาก็แก้ตรงนั้น แก้ไป แก้ไป แต่ว่ามันก็เป็นใหม่อีก แก้ไปมันก็เป็นใหม่ เพราะว่าเหตุมันมาจากจิต จิตที่ฟุ้งซ่าน จิตที่คิดมาก จิตที่วุ่นวาย สมองมันเครียด เพราะฉะนั้นถ้าไม่ไปแก้ที่ความเครียดแล้ว ก็รักษาโรคไม่หาย ฉะนั้นบางคนถ้ารักษาจิตได้ดี สมองคลี่คลายหายเครียด ไม่ต้องกินยาอะไรก็หายได้ ถ้าโรคนั้นเป็นมาจากจิต สืบเนื่องมาจากจิต รักษาจิตดี โรคก็หาย หรือแม้แต่โรคที่เกิดจากทางกายโดยตรงก็ตาม ถ้าจิตดี จิตก็ไปช่วยให้โรคทางกายคลี่คลายเบาบางลงไปได้เหมือนกัน อย่างคนบางคนเป็นโรคมะเร็ง มาปฏิบัติธรรมทำจิตใจดีงาม แจ่มใส มีสติสมาธิ จิตก็ไปมีผลต่อเซลล์ ต่อเลือด ต่อระบบการหมุนเวียนการทำงาน ร่างกายมันก็ช่วยกัน ช่วยปรับสภาพ ชำระเซลล์ ชำระอวัยวะ มันก็เลยหายได้ บางคนปฎิบัติธรรมก็หายโรคภัยไข้เจ็บ แต่ว่าการปฏิบัติกรรมฐานไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อจะรักษาโรค โรคทางกาย ไม่ได้มีวัตถุประสงค์อย่างนั้น วัตถุประสงค์ของการปฎิบัติวิปัสสนาเพื่อจะรักษาโรคทางใจ ต้องการจะชำระกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิตใจต่างหาก แต่ว่าโรคทางกายนั้นเป็นผลพลอยได้ เป็นผลพลอยได้ สุขภาพ พลนามัยพลอยได้ผลตามมาด้วยเพราะฉะนั้นการปฎิบัติธรรม การเจริญกรรมฐานเป็นจะเป็นประโยชน์มีความจำเป็นต่อทุกชีวิต มีความจำเป็นต่อชีวิต การงานในชีวิตประจำวัน เพราะหากว่าชีวิตประจำวันเราไม่มีการเจริญกรรมฐาน อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเป็นคนคิดมาก มันก็ฟุ้ง มันก็เครียด แล้วจิตเรานี่ ถ้าปล่อยให้มันคิด มันก็จะเคยตัวในการคิดมาก เพราะฉะนั้นคนบางคนจึงเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ คิดแล้วคิดอยู่อย่างนั้น เลยกลายเป็นเสียประสาท ประสาทเสีย เป็นโรคประสาทไปก็มี ก็มาจากจิตใจนี่แหละ จิตมันเสียมากๆ แล้วสมองก็หลั่งสารอะไรที่มาทำลาย ทางวงการแพทย์เขาก็จะดูที่เรื่องหลั่งสาร ก็มาจากจิตใจนี่แหละสำคัญ คนที่เสียสติถ้าเราไปดูก่อนหน้านั้น เขาก็เป็นคนดีๆ แต่เพราะไปเจอปัญหา ทำให้เสียอกเสียใจ แล้วก็เครียด แล้วก็ฟุ้ง แล้วก็ไม่รู้จักวิธีการแก้ไขทางจิตใจเป็น ปล่อยอย่างนั้นนานๆ สมองก็ทนไม่ไหว ก็เสียคนเสียไป เพราะฉะนั้นการปฏิบัติกรรมฐานนี้ จำเป็นสำหรับทุกชีวิต ในฐานะที่เรามีปัญหากันอยู่ทุกคน คนที่ไม่มีปัญหา ก็คือคนที่ไม่มีกิเลส คนที่หมดทุกข์แล้วนั่นแหละหมดปัญหา ถ้าเรายังมีกิเลส แสดงว่าเราต้องมีปัญหาอยู่ ปัญหาทางใจ เรามีปัญหาใจอยู่นี่ คอยจะโลภ คอยจะโกรธ คอยจะหลง คอยจะฟุ้งซ่าน คอยจะเร่าร้อนจิตใจ นี่แหละคือปัญหาประจำตัวของเราที่เราจะต้องให้ความสำคัญ ในการที่จะหาทางแก้ไข ถ้าเราแก้ไขทางนี้ได้ ปัญหาอื่นๆ มันแก้ได้ มันอยู่ในนี้แหละ แต่ถ้าเราไปให้ความสำคัญปัญหาอื่นๆ เราแก้ได้ แต่มันก็ยังไม่จบ มันก็ยังกองอยู่นั่นแหละ อยู่ในกองทุกข์ แก้ปัญหาอื่นๆ แต่ถ้าเรายังไม่แก้ปัญหาใจเราได้ มันไม่สิ้นปัญหา เอาสิว่าถ้าเราจะแก้ปัญหาให้เรามีเงินมากๆ เราเป็นคนไม่มีทรัพย์ เราก็ไปหาเงิน หาเงินได้แล้วมันดับทุกข์ได้หรือยัง มันก็ยังฟุ้งซ่านอีกนั่นแหละ อาจจะต้องมาฟุ้งเพราะว่าเรามีเงินมาก เอ้..เราจะรักษามันได้อย่างไร เดี๋ยวคนโน้นจะเอา คนโน้นจะอะไร ปัญหามันมีได้ทั้งนั้น ถึงเราจะมีทรัพย์สมบัติเงินทอง ข้าทาสบริวารมากมายบ้านใหญ่โต แต่เราอาจจะนอนไม่หลับก็ได้ อาจจะฟุ้ง นอนฟุ้งซ่านก็ได้ เราอาจจะนอนห้องแอร์อันเย็นฉ่ำ แต่อาจจะร้อนใจอยู่ เพราะฉะนั้นถึงเราจะแก้ปัญหานั้นๆ มันก็ยังไม่จบปัญหาได้ เราต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทางใจให้ได้ ถ้าคนแก้ปัญหาทางใจได้ ปัญหาอื่นๆ นั้นมันมีมันก็เหมือนไม่มี หมายถึงว่าใจเรารู้จักปล่อยวางเป็น คิดเสียว่าเราเป็นคนที่ไม่มีเงิน ไม่มีทอง มันก็ไม่ทุกข์ได้ ถ้าทำใจเป็น หรือเช่นเรามีปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน แต่คนนั้นเป็นคนทำใจเป็น ทำใจได้ปล่อยวางเป็น ปลดปลงลงวางเป็น ถึงจะมีปัญหามันก็เหมือนไม่มีปัญหา เพราะมันไม่ทุกข์ มันไม่ทุกข์ใจเสียอย่าง ถ้าคนทำใจไม่เป็น ถึงร่างกายดี ไม่ได้มีโรคภัยไข้เจ็บ มันก็ยังทุกข์อยู่นั่นแหละ มีเงินมีทอง มันก็ยังทุกข์อยู่ฉะนั้นต้องมาให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาทางใจ ก็คือการที่จะต้องอบรมฝึกหัดเจริญกรรมฐานให้เป็น แล้วก็นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะเราจะคอยเก็บตัวปีหนึ่งครั้งหนึ่ง มันไม่ทันกัน เสื้อผ้าเรายังต้องพยายามซักกันอยู่แทบทุกวัน ใช่ไหม เพราะมันเปื้อนอยู่เรื่อย ใส่ไปต้องซักไป ถ้าเราใส่ไม่ซักเลย ปีหนึ่งแล้วมาซักเสียทีหนึ่ง มันเปื้อนมากๆแล้ว มันก็ซักยากซักลำบากแต่ถ้าเราใส่ไปซักไปเรื่อยๆ มันก็มีโอกาสสะอาดใจเราเหมือนเสื้อผ้า ถ้าอุปมาเหมือนเสื้อผ้า กิเลสเหมือนสิ่งสกปรกมาแปดเปื้อน ถ้าเราไม่ปฏิบัติเลย เราปล่อยใจไปตามกิเลส มันจะแปดเปื้อนมาก เวลาเราจะมาสะสาง ชำระมันจะยาก เราต้องพยายามซักฟอกจิตใจของเราอยู่ทุกวันทุกวัน โดยการเจริญสติ เจริญกรรมฐานให้เป็น ในชีวิตประจำวันคือ เวลาที่ฟัง เวลาที่เห็น เวลาที่สัมผัสทางกาย หัดให้รู้เนื้อรู้ตัวขึ้น มีสติระลึกรู้ตัวขึ้น ไม่ต้องกลัวว่าเราจะทำงานไม่ได้ เราเป็นฝ่ายฟัง เราจะเป็นฝ่ายพูด เจริญสติได้ทั้งหมด เวลาพูด ปากก็มีการขยับ ใจก็ต้องมีการตรึกนึก สติก็ระลึก รู้ปากเคลื่อนไหว รู้ใจที่ตรึกนึก หรือในขณะพูด มันก็ต้องมีเวทนา มีทุกขเวทนา สมองทำงานไปตามกระแสจิต มันก็ต้องมีความบีบคั้น มีตึงตามคอ ตามลำตัว มันก็ต้องมีปวด มีตึง มีเจ็บ มีเวทนา สติก็ระลึกไปได้ ระลึกความรู้สึกเหล่านี้ ระลึกปรมัตถธรรมไป แต่มันก็ยังปะติดปะต่อภาษาได้ คำพูดก็ยังไปต่อกันได้ มันไม่ใช่ลืมไปทีเดียว จิตมันไว จิตมีสติรู้ลึกสภาวธรรมต่างๆ กลับไปปะติดปะต่อ ร้อยถ้อยคำได้ กลับไปกลับมา
นี่คือการเจริญสติ เจริญวิปัสสนาได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งขณะที่เราไปพูดกับใคร ต้องเจริญสติ เวลาเราฟัง ยิ่งเจริญสติง่ายกว่าการพูดใช่ไหม พูดยังเจริญสติได้ ฟังก็ต้องเจริญสติได้ รู้เนื้อรู้ตัวได้ ระลึกความรู้สึกในกายในใจเราได้ แต่ก็ยังฟังได้ ฟังรู้เรื่องรู้ราวได้ เวลาที่เดินทางไปไหนมาไหน เราไปทำงาน นั่งรถนั่งเรือก็เจริญสติในขณะนั้น นั่งไปในรถ ตัวเราแกว่งไปแกว่งมา ไหวไปไหวมา ระลึกความรู้สึก จิตใจ ร้อนใจไหม จิตจะให้มันถึงที่ทำงาน ก็ยังรถติด เราก็ดูใจของเรา ใจกำลังเร่าร้อน เราทำงานไป เราพูดคุยมีประสบการณ์ เราเกิดโกรธขึ้นมา เวลาใครเขาพูด เขาทำไม่ดี เราโกรธ สติก็มารู้ที่ใจ ว่าใจมีลักษณะโกรธเกิดขึ้น ถ้าเราฝึกบ่อยๆ เราก็จะเริ่มเห็น ตั้งแต่ไฟเริ่มติดทีแรก โทสะก็เหมือนไฟอย่างหนึ่งโทสะคติมันจะติดขึ้นมาตอนที่กระทบอารมณ์ มีอารมณ์มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอเขาพูดมาได้ยินปั๊ป มันก็โกรธขึ้นมา ถ้าเป็นคำที่เราไม่ถูกใจ สติก็จะไปจับรู้ที่ใจ ก็จะเจอลักษณะความขุ่นใจ ไม่สบายใจ สติที่เข้าไปรู้ ไปรู้ ไปรู้ มันก็จะปรับ จะชำระกันในตัว เราไม่ต้องไปประหัตประหารด้วยการพยายามตัด พยายามข่ม พยายามไปทำอะไรอย่างนั้นหรอก เพียงระลึกรู้อย่างปกติ ระลึกรู้อย่างปล่อยวาง ระลึกรู้อย่างวางเฉย มันชำระกันเอง สติสัมปชัญญะจะชำระกัน เราพิสูจน์ได้ เราทดลองได้ ลองระลึกดู เวลาใจมันโกรธ ใจมันหงุดหงิด ใจมันฟุ้ง มีสติเข้าไประลึกรู้อาการเหล่านั้น อาการที่ฟุ้ง อาการที่หงุดหงิด อาการที่ขุ่นใจ โกรธ ด้วยความปล่อยวาง วางเฉย ก็จะพบว่าอาการที่มันเกิดขึ้น ที่เป็นกิเลสในจิตใจ มันจะคลายตัวลง คลี่คลายลงได้ โดยทั้งๆ ที่เราไม่ได้ไปทำอะไร บังคับอะไร เคี่ยวเข็ญอะไร เพียงระลึกรู้ไปด้วยความปล่อยวาง มันก็คลายของมันเอง
ทีนี้ถ้าเราไม่ปฏิบัติธรรม คนที่ไม่ได้เจริญสติ เจริญกรรมฐานอยู่เนืองๆ ไฟมันติดก็ไม่รู้ โทสะเกิดขึ้นมาก็ไม่รู้ตัว กว่าจะรู้มันก็มากเสียแล้ว โมโหโทโสรุนแรง หรือว่าลืมเนื้อลืมตัว พอมันแรงแล้วมันลืมตัว ก็จะไปทำชั่ว ผิดศีล ผิดธรรม ไปทำร้ายร่างกาย ด้วยทางกาย หรือไม่ก็ทางวาจา ไปด่า หยาบคาย เพราะอำนาจของกิเลส มันทนไม่ไหวมันก็ผลักดันให้บุคคลนั้นต้องทำกรรมลงไป และมันก็จะย้อนมาเป็นโทษให้บุคคลนั้น เรียกว่ามีตนทำร้ายตน เกิดมามีตนเพื่อทำร้ายตน เวลาที่ทำชั่วทำบาปทำกรรมให้รู้ให้ตระหนักว่ากำลังทำลายตนเอง เวลาเราไปทำร้ายผู้อื่น ก็คือทำร้ายตัวเอง มันย้อนมาสู่ตนเอง เพียงแค่เราคิดในใจ คิดให้คนอื่นเดือดร้อน อย่างเช่นเราแช่งให้คนนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นแหละคือเรากำลังทำร้ายตัวเราเอง เพราะเจตนาคิดร้ายผู้อื่นนั้นมันเป็นบาป บาปมันจะให้ผลเป็นความทุกข์กับบุคคลนั้นแหละ คนที่เขาถูกแช่งเขาไม่ได้เดือดร้อนอะไร คนที่จะเดือดร้อนคือคนที่เป็นผู้แช่งเขานั่นแหละ หรือคิดวางแผนอาฆาตมาดร้าย จะต้องทำให้มันเสียใจ ต้องทำให้มันเดือดร้อน ใจของบุคคลนั้นแหละเดือดร้อน
เราให้ตระหนักว่า ถ้าคิดร้ายต่อผู้อื่นเท่ากับทำร้ายตัวเราเอง ถ้าเราให้ร้ายผู้อื่นมันก็ย้อนมาสู่ตัวเราเอง ก็เหมือนกับคนที่เป่าฝุ่นทวนลม ในที่สุดมันก็เข้ามาใส่ตัวเราเองเหมือนถ่มน้ำลายรดฟ้า ก็ร่วงมาใส่ใบหน้าตัวเอง ให้ทุกข์กับท่านทุกข์นั้นถึงตน จำลักษณะนี้เอาไว้ ตรงกันข้ามถ้าเราให้ดีต่อผู้อื่น คิดดีต่อผู้อื่น ไม่ต้องไปทำทางกายวาจา เพียงแค่ใจที่เราคิดดีต่อผู้อื่น เราก็ได้ความสดชื่นมาใส่ตัวเราเอง คิดดีปรารถนาดีต่อผู้อื่น ความสดชื่นก็เกิดขึ้น ตอบสนองในใจเราแล้ว นี่คือความสุข ผลดีเกิดขึ้น ถ้าเราไม่คิด ไม่พิจารณา ไม่ตระหนักไว้ มันก็ลืมมันก็จะเผลอไปทำอะไร ทำชั่ว เห็นแก่ตัว การเห็นแก่ตัว การเอาเปรียบผู้อื่น การเห็นแก่ตัวยิ่งหมดยิ่งไม่ได้อะไร ยิ่งคับแคบก็ได้แต่ตัว เห็นแก่ตัวก็ได้แต่ตัว มีตัว ได้ตัวเปล่าๆ ไม่ได้อะไรขึ้นมา
เพราะฉะนั้นคนยิ่งให้ ยิ่งมี มันเป็นความดี ยิ่งให้ยิ่งมี ยิ่งคิดดี ก็ยิ่งมีความสุขเกิดขึ้น ต้องให้ ให้ในสิ่งที่ดี ถ้าให้ร้ายไม่ถือว่าเป็นการให้ประโยชน์แห่งความสุข ต้องคิดดี พูดดี ทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามครรลอง ประโยชน์ตนและคนอื่น สาระของชีวิตอยู่ที่คิดดี ทำดี พูดดี ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ตามครรลองประโยชน์ตนและคนอื่น เวลาเราทำสิ่งใด เราก็จะดูว่าเป็นประโยชน์ตนไหม เป็นประโยชน์คนอื่นไหม ให้มันอยู่ในประโยชน์สองอย่าง มันไม่ได้ประโยชน์คนอื่นแต่มันได้ประโยชน์ตน แต่ที่จริงทำประโยชน์ให้ตนเอง ก็ทำประโยชน์ให้คนอื่นโดยปริยายอยู่ในตัว อย่างเช่น เรารักษาศีล เราตั้งเจตนาจะไม่ฆ่าสัตว์ เราทำประโยชน์ตัวเราเอง ก็เท่ากับทำความปลอดภัยให้ชีวิตผู้อื่นเหมือนกัน เรามีเจตนาไม่ลักขโมยใคร นี่เราทำประโยชน์ให้ตนเอง คนอื่นก็ได้รับประโยชน์เขาก็ไม่เดือดร้อนจากฝีมือของเรา
ให้เรานำกรรมฐานปฏิบัติในชีวิตจำวัน ฝึกหัดให้เป็น ระลึกใส่ใจ พิจารณาสังเกต ทุกอิริยาบถ แล้วก็ไม่ต้องคอยเวลา เจริญสติอย่าไปคอยเวลา นึกขึ้นได้ก็รู้เลยในขณะนั้น ระลึกใส่ใจในขณะนั้น ไม่ใช่คอยเวลาว่า เอ..เดี๋ยวจะเจริญกรรมฐานเสียหน่อย เดินหาที่นั่ง ระหว่างที่เดินหา ไม่ได้เจริญสติอะไร นั่งเข้าที่เรียบร้อยแล้ว จึงจะเจริญสติ เช่นว่าเดี๋ยวจะเจริญสติในอิริยาบถเดินจงกรมเสียหน่อย ระหว่างที่เดินไปหาที่จงกรม ไม่ได้เจริญสติ อย่างนี้มันก็ขาดช่วง เราต้องหัด เป็นผู้ระลึกได้ทันที เดินจะไปหาที่นั่ง ขณะนั้นก็ต้องระลึกได้แล้ว เจริญสติ ย่อตัวลง ขยับตัวลง ก็ต้องมีสติ หัดให้รู้ได้ทันที ถ้าทำอย่างนี้สติมันจะเกิดขึ้น โดยที่เรากำลังทำอะไรอยู่ก็ตาม ไม่ได้นั่งเรียบร้อย กำลังขยับตัว กำลังก้ม กำลังเงย กำลังกราบ กำลังเช็ดถู รู้ตัวขึ้นมา ระลึกขึ้นมา สติเกิดขึ้นมาได้ในขณะนั้น เราก็สามารถจะเห็นธรรม รู้ธรรม เห็นธรรมได้ในขณะกำลังทำงานนั้นได้ จิตบางครั้งเกิดความรวมตัวได้จังหวะ มันก็จะเห็นธรรมะ เห็นสภาวธรรมขึ้นในขณะนั้น แต่ว่าเราต้องฝึกซ้อม ฝึกหัด บ่อยๆ เนืองๆ และก็ไม่ได้ฝึกอะไรที่ไหน ฝึกในตัวเอง ฝึกระลึกรู้ในตัวเองตรงที่มันเกิดผัสสะนี่แหละ ระลึกตรงนั้น ตรงที่รู้สึกการผัสสะ ผัสสะทางตาคือ กำลังเห็น ตรงที่เห็นนั่นแหละมันมีการผัสสะ ระหว่างสี ระหว่างตา ระหว่างการเห็น ระลึกตรงนั้น ตรงที่เห็นสี หรือการผัสสะขึ้นทางหูขณะที่ได้ยินเสียง ระลึกตรงนั้น ระลึกตรงได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส สัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง คิดนึกทางใจ รู้สึกทางใจ รู้สึกทางกาย สบาย ไม่สบาย รู้สึกทางใจ ก็สบาย ไม่สบาย ดีใจ เสียใจ หรือว่าวิตกวิจารณ์ วิจัยสงสัย ระลึกได้ ในขณะที่กำลังเคลื่อนไหวกาย ในขณะที่กำลังเดินทางไปไหนมาไหน ในขณะที่กำลังซักผ้า ในขณะที่อาบน้ำ กวาดถู หุงข้าว ต้มแกง ในขณะกำลังพูด ในขณะกำลังนุ่งห่มเสื้อผ้า ทุกอย่าง ให้รู้ว่าขณะนั้นเป็นเวลาของการเจริญสติได้ ทีนี้มันไม่มีสติจะทำอย่างไร มันลืม ลืมไปหมด ใหม่ๆ ที่สติยังไม่มีกำลัง มันไม่เกิดขึ้น เบื้องแรกเราก็ต้องทำความเข้าใจไว้ให้ดีก่อน อย่างที่เราฟังนี่ เรามาเริ่มทำความเข้าใจว่า การเจริญสตินี่ มันเจริญได้ทุกเวลานะ มันเป็นการเปิดประตูไว้ก่อนเปิดประตูรับ ถ้าเราไม่เข้าใจ เราคิดว่าเวลาทำงาน เวลาเดินไปไหนมาไหน เวลาทำ พูดคิดไม่ใช่เวลาปฏิบัติ ปฏิบัติต้องนั่ง นิ่งๆ มันจะปิดประตูไปเลย มันก็ไม่ได้มีสติ เพราะเราไม่ได้คิดว่ามันจะเจริญสติได้ อันนี้เรามาทำความเข้าใจว่า การเจริญสติได้ในเวลาทำงาน เป็นเหตุปัจจัยอันหนึ่ง ประการที่สองก็คือเราจะต้องมีความตั้งใจ ต้องกระตุ้น ต้องตั้งใจ มันยังไม่ระลึกขึ้นมาได้เอง เหตุปัจจัยมันยังอ่อน เราก็ตั้งใจไว้ก่อน ฝึกหัดน้อมไป ใส่ใจไป ตั้งใจว่าเอาล่ะเราจะเป็นผู้เจริญสติตั้งแต่เดี๋ยวนี้ไป แล้วก็ตั้งใจ ใส่ใจระลึก อย่างเช่นเราตั้งใจน้อมมารู้ที่กาย รู้ที่ลมหายใจขึ้นถ้าอยู่ดีๆ มันไม่ระลึก มันไม่ยอมระลึกถึงลมหายใจ ไม่ยอมระลึกถึงกาย สำหรับคนใหม่ๆ เราก็ต้องตั้งใจทำ มันต้องมีการกระทำ ใครจะว่ามันเป็นการจงใจบังคับ ก็ยอมรับในเบื้องแรก มันต้องทำต้องจงใจไปก่อนสำหรับคนใหม่ๆ ตั้งใจ จงใจ ถ้าไม่จงใจจะทำ ปล่อยไปเรื่อยๆ มันก็ไม่มีสติ มันไม่เกิดขึ้นเอง นอกจากคนที่เขาฝึกมากๆแล้ว ฝึกมามากๆแล้ว มันก็จะเป็นอัตโนมัติ มันจะเกิดขึ้นเอง จะขยับตัว จะทำอะไรก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาได้ แต่คนใหม่ๆ มันจะต้องมีความจงใจทำ ต้องตั้งใจทำก่อน จริงอยู่มันอาจจะทำมากๆ แล้ว มันเคร่งตึง อันนั้นอยู่ที่เราต้องรู้จักปรับแล้ว ตั้งใจมาก ตั้งใจทำแล้วเราก็ค่อยๆ ปรับผ่อนลงมา ตั้งใจขึ้น ที่เรามาฝึกนี้ เรามาตั้งใจทำ น้อมมา ใส่ใจมา เข้ามาหาตัว ตั้งสติดูว่า ดูสิลมหายใจมีไหม ตั้งสติดูที่กาย รู้สึกอะไรไหม ตั้งสติดูที่ใจ รู้สึกเป็นอย่างไร มันต้องมีความตั้งใจทำแล้วก็จะมีสติเกิดขึ้น แล้วเราก็ค่อยปรับ ต่อๆ ไปก็ค่อยปรับให้มันเป็นกลาง ให้พอดี ให้เหมาะสมขึ้น แล้วเราก็หาโอกาสฟังธรรมะบ่อยๆ เป็นเครื่องเตือนใจ ปลุกใจ ให้มีกำลังใจ มีศรัทธาเกิดขึ้น มันต้องมีศรัทธาเป็นแรง เราอ่านหนังสือธรรมะ ฟังพระธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ มันจะเกิดศรัทธา อ่านธรรมะมากๆ มีศรัทธาเกิดขึ้น ฟังธรรมะมากๆ ศรัทธาเกิดขึ้น คบหาบัณฑิตผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบศรัทธามันจะเกิดขึ้น มันก็มีกำลังใจที่จะประพฤติปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นก็ขอฝากให้เราทั้งหลาย ได้นำธรรมะไปประกอบกับการปฏิบัติ ดำเนินชีวิต ประจำวันของเรา สะสมไปวันละเล็กวันละน้อย บ่อยๆ เนืองๆ นับวัน นับเดือน นับปี มันก็ทวีความเข้มแข็งของสติมากขึ้น ก็จะได้เป็นผู้ที่ใกล้ไป น้อมไป สู่ความดับทุกข์ในที่สุดได้