แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นะมัตถุ ระตะนัตตะยัสสะ ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขอความผาสุกความเจริญในธรรม จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลายที่ตั้งใจการสดับฟังธรรมะในหลักธรรมคำสอนของทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติกรรมฐานและภาวนา สำหรับการเจริญภาวนาการปฏิบัติกรรมฐาน มีสิ่งที่ผู้ปฏิบัติควรต้องทำความเข้าใจหลายๆ อย่าง เพื่อให้การปฏิบัติดำเนินไปอย่างถูกต้อง เช่น ต้องเข้าใจถึงอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์อารมณ์ที่เป็นบัญญัติต้องเข้าใจถึงลักษณะของจิต ของสติ ต้องเข้าใจถึงความเป็นกลาง ความเหมาะสม ความถูกต้องในอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ อารมณ์ที่เป็นบัญญัติ แต่ถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็จะระลึกไม่ถูก จะระลึกรู้ปรมัตถ์แต่ไม่รู้จักปรมัตถธรรมก็จะระลึกไม่ถูกเพราะฉะนั้นต้องให้เข้าใจจากการฟังรู้จักจึงจะเกิดขึ้น เมื่อลงมือปฏิบัติ รู้จำ และรู้จักจึงจะเกิดความรู้แจ้งฟัง จดจำไว้ และก็ไปทำความรู้จัก เมื่อรู้จักก็จะเกิดความรู้แจ้ง เมื่อรู้แจ้งก็จะเป็นเหตุแห่งวิมุตความหลุดพ้น
อารมณ์อย่างไรที่เป็นปรมัตถ์ อารมณ์อย่างไรที่เป็นบัญญัติ ก่อนอื่นทำความเข้าใจคำว่าอารมณ์เสียก่อน ว่าอารมณ์นั้นหมายความว่าอย่างไร ภาษาที่พูดกันเป็นภาษาชาวบ้าน พอบอกว่าอารมณ์ก็จะนึกถึงความรู้สึกหรืออาการในจิตใจ เช่นมักจะกล่าวว่าวันนี้อารมณ์ไม่ดี โดยทั่วๆไปพอบอกว่าอารมณ์ ก็จะมุ่งไปสู่อาการในจิตใจ สภาพในจิตใจ เช่นเกิดหงุดหงิดฟุ้งซ่าน ก็บอกว่าอารมณ์ไม่ดี ถ้าเกิดสบายอกสบายใจก็จะบอกว่าวันนี้อารมณ์ดี ความเข้าใจของชาวบ้านหรือคนทั่วๆไป เข้าใจอย่างนั้น แต่ความจริงเป็นการหยิบเอาภาษาธรรมะไปใช้ไม่สมบูรณ์ไม่ถูกต้องโดยสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นถ้าไม่สื่อภาษาความหมายกันให้เข้าใจ ฟังธรรมไปก็ไขว้เขว เราต้องแปลศัพท์ภาษาธรรมะกันให้ถูกเสียก่อน
อารมณ์ หมายถึง สิ่งที่เป็นที่ยินดีหรือเป็นที่ยึดหน่วงของจิต สิ่งใดที่จิตเข้าไปรับรู้ สิ่งนั้นเรียกว่าอารมณ์ ท่านแปลว่าเป็นที่ยินดี คำว่ายินดี ในที่นี้หมายถึง เป็นที่ตั้งที่รับรู้ของจิต เป็นที่ยึดหน่วงของจิต จิตเกิดขึ้นมาก็ต้องรับรู้อารมณ์ จิตจะเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีการรับรู้อารมณ์ไม่ได้ อุปมาเหมือนกับคนพิการจะเดินได้ต้องอาศัยไม้เท้า คนขาด้วนเวลาเดินก็ต้องใช้ไม้ค้ำยัน ขาหยั่ง ขาดไม่ได้ ถ้าขาดขาหยั่งก็เดินไม่ได้ขาหยั่งนั้น อุปมาเหมือนกับอารมณ์ คนขาด้วนนั้นก็เหมือนกับจิต ต้องไปด้วยกัน อาศัยกัน จิตกับอารมณ์ต้องไปด้วยกัน แล้วจิตเป็นผู้รับรู้อารมณ์ เป็นฝ่ายรู้ เป็นฝ่ายผู้รู้ อารมณ์นั้นจึงเป็นสิ่งที่ถูกรู้ รู้ตรงที่ยึดหน่วงของจิต หรือเป็นสิ่งที่ถูกรู้ของจิต นี่แหละเราทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ถ้าเราได้ยินได้ฟังภาษาธรรมะ คำว่าอารมณ์นั้น ให้เข้าใจว่าหมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ของจิต สิ่งใดก็ตามที่จิตเข้าไปรู้ ไปรับรู้ สิ่งนั้นคืออารมณ์ทั้งหมด
คำว่ารู้ ก็ต้องทำความเข้าใจอีกเช่นกัน เป็นภาษาที่เราเอามาใช้ ความรู้มีหลายอย่าง ความรู้แบบสัญญา เรียกว่าจำได้หมายรู้ รู้ว่านี่คือต้นอะไร ต้นไม้ รู้ว่านี่คือเก้าอี้ นี่คือโต๊ะ นี่คือต้นประดู่ อย่างนี้เป็นหมายรู้ เป็นรู้แบบสัญญา จำได้หมายรู้ รูปแบบปัญญาก็อีกอย่างหนึ่ง ปัญญานั้นเป็นความรู้แบบเข้าใจ รอบรู้เข้าใจในสิ่งนั้นๆ ถ้าเป็นปัญญาทางโลก เขาเรียกว่า เข้าใจในวิชาการนั้นๆ ในเหตุในผล ในความเป็นไปของสิ่งเหล่านั้น แต่ความรู้ในทางธรรมนั้น หมายถึง รู้ รอบรู้ในความเป็นจริง รู้ตามสภาพที่เป็นจริง ความจริงเป็นอย่างไรก็เข้าไปเข้าใจ ไปรู้ไปเห็น ไปแจ่มแจ้งในความเป็นจริงนั้น นี่ก็เป็นความรู้แบบปัญญา ที่นี้ความรู้อีกอย่างหนึ่ง ความรู้แบบ รับรู้ อย่างนี้แหละก็คือความหมายของจิต จิตมีลักษณะแห่งการรู้อารมณ์ ธรรมชาติของจิต อารามมะนะวิชานานะลกฺขนํธรรมชาติที่รู้อารมณ์ จิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ คำว่ารู้อารมณ์ในความหมายของจิตก็คือ การเข้าไปรับรู้ อารมณ์จึงเป็นสิ่งที่ถูกรู้ เหมือนมือ ถ้าอุปมาจิตเหมือนมือ ถ้ามือไปจับสิ่งใด สิ่งนั้นก็เรียกว่าถูกจับใช่ไหม สิ่งที่ถูกจับก็คืออารมณ์ มือไปจับมันไม่รู้เรื่องอะไรแต่มันจับได้ มือไปจับนาฬิกา นาฬิกาก็คือถูกจับ จิตก็เป็นเพียงแค่รับรู้อารมณ์ จิต ไปรับเสียงได้ไหม ไปรับรู้เสียงได้ไหม ได้ ฉะนั้นเสียงก็คืออารมณ์ชนิดหนึ่ง จิตไปรับสีสันได้ไหม รับได้ ฉะนั้นสีสัน ก็เป็นอารมณ์ชนิดหนึ่ง เขาเรียกว่ารูปารมณ์ จิตไปรับรู้กลิ่นได้ไหม ได้ กลิ่นนั้นก็เป็นอารมณ์เรียกว่าคันธารมณ์ คันธารมณ์ ก็คือคันธะ+อารมณ์ เป็นคันธารมณ์ รูปะ หรือ รูป สีสัน เรียกว่า รูปะ หรือ รูป บวกกับคำว่า อารมณ์ ก็กลายเป็นรูปารมณ์ สัททะ ภาษาธรรมะ ภาษาบาลี สัททะก็คือเสียง เสียงในภาษาบาลีเรียกว่าสัททะ เอามาสนธิกับคำว่าอารมณ์ก็กลายเป็นสัททารมณ์ รส ภาษาบาลีเรียกว่า ระสะ ภาษาไทยเราก็เรียกว่ารส ที่ออกมาจากอาหารมีรสชาติ จิตไปรับรู้ได้ไหม รับรู้ได้ ฉะนั้น ระสะ หรือ รสนั้น ก็เป็นอารมณ์ชนิดหนึ่ง ระสะ + อารมณ์ก็กลายเป็น รสารมณ์โผฏฐัพพะเครื่องกระทบกาย มีอะไร เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง มากระทบกาย โผฏฐัพพะบวกกับคำว่าอารมณ์ ก็กลายเป็นโผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์ที่มากระทบทางใจ เรียกว่าธรรมะ
พอเอ่ยถึงคำว่าธรรมะ เราก็จะไปนึกถึงพระธรรมคำสอน สิ่งที่ดีๆ เรียกว่าธรรมะ อันนั้นเป็นความหมายแคบลงไปอย่างหนึ่ง แต่ธรรมะจริงๆ ก็หมายถึงธรรมชาติ ทั้งธรรมที่ดี ทั้งธรรมที่ไม่ดี บุญ บาป กุศล อกุศล เป็นธรรมะทั้งหมด ทั้งสิ่งที่ไม่ใช่บุญ ไม่ใช่บาป ก็เป็นธรรมะ ฉะนั้นอารมณ์อันใด อารมณ์ทั้งหมดก็เป็นธรรมะ มากระทบที่ใจ อารมณ์ที่กระทบทางใจ ธรรมะที่กระทบทางใจ เรียกว่าธรรมารมณ์
สรุปแล้วว่าอารมณ์นั้นไม่ได้หมายถึงความรู้สึกทางใจที่ชาวโลกพูดกันว่าสบายใจ ไม่สบายใจ อันนั้นแคบไป อารมณ์นั้น ต้องหมายถึง สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และก็ธรรมารมณ์ สิ่งใดที่จิตเข้าไปรับรู้ได้ สิ่งนั้นเรียกว่าอารมณ์ เพราะฉะนั้นจิตคืออะไร จิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ รู้แบบไหนรู้แบบรับรู้ ไม่ใช่ไปรู้แบบปัญญา ปัญญาเป็นความรู้แบบรู้เรื่องรู้ราวรู้เข้าใจ จิตนั้นเป็นเพียงรับอารมณ์รู้แบบรับรู้ คือเข้าไปรับไปรู้ อย่างเช่น “เห็น” นี่น่ะ“เห็น” ก็คือจิตชนิดหนึ่ง ไปรู้อะไรเห็นน่ะ เห็นอะไร เห็นสีสัน ฉะนั้นเห็น เป็นจิตชนิดหนึ่ง เพราะว่าไปรับสีสันได้ “ได้ยิน” ได้ยินนี้ไปรับรู้อะไร ได้ยินก็ไปรับเสียง เพราะฉะนั้นได้ยินก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง เรียกว่าโสตะวิญญาณ
จิตหรือคำว่าวิญญาณ เป็นไวพจน์เป็นภาษาเรียกต่างกัน โดยเนื้อแท้แล้วอย่างเดียวกัน แต่ว่าจิตมีหลายประเภทหลายชนิด จิตที่มาเกิดทางตา ทำหน้าที่เห็น เรียกว่าจักขุวิญญาณ “ตา” ภาษาธรรมะเรียกว่าจักขุ ฉะนั้นตามโรงพยาบาลจะเรียกว่าจักษุ จักษุประสาท แผนกจักษุประสาท จักษุถ้าเป็นภาษาบาลีก็จะเป็นจักขุ พอเป็นภาษาไทยก็จะเป็นจักษุ “ประสาท” ประสาทะเป็นภาษาบาลี จักขุประสาทะ ประสาทตานั่นเอง เป็นความใสใสอยู่ในตา ฉะนั้นจิตที่มาเกิดที่จักขุประสาท ก็เรียกไปตามชื่อนั้นว่า จักขุวิญญาณ วิญญาณที่มาเกิดขึ้นที่ประสาทตา ทำหน้าที่อะไร ทำหน้าที่เห็น เห็นอะไร ก็เห็นเพียงสีสัน เห็นนั่น ก็คือจิตหรือวิญญาณ ฉะนั้นสีสันเป็นอารมณ์ของการเห็น การเห็นเข้าไปรับสีสัน มันก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรหรอก สี-ก็ไม่รู้เรื่อง เห็น-ก็ไม่รู้เรื่อง มันเป็นธรรมชาติ สีสันก็เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง “เห็น” ก็เป็นวิญญาณชนิดหนึ่ง ก็เป็นธรรมชาติ แต่ที่ไปรู้เรื่องรู้ราว ว่าสีสันนั้นคืออะไรอย่างไรนั้น ไม่ใช่การเห็นแล้ว แต่มาเป็นมโนวิญญาณ มโนวิญญาณจิตคือจิตที่เกิดทางหทัยวัตถุ เกิดที่หัวใจที่ไปแปลสี ไปประมวลสี อาศัยมีประสบการณ์ มีสัญญา มีความปรุงแต่งนึกคิด ก็แปลออกมาว่า อะไรเป็นอะไร
นี่คือธรรมชาติของชีวิต ทำไมจะต้องมาทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านี้ ก็เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความจริง ถ้าไม่ทำความเข้าใจ ก็ปฏิบัติไม่ถูก ไม่รู้จะกำหนดรู้ให้ตรงตัวของธรรมชาติที่เป็นจริงอย่างไร เมื่อระลึกรู้ ดูไม่ตรงไม่ถูก มันก็จะเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงไม่ได้ เมื่อไม่มีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงก็ละกิเลสไม่ได้ เมื่อละกิเลสไม่ได้ วิมุตหลุดพ้นไม่ได้ก็ดับทุกข์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการที่จะวิมุตหลุดพ้น ดับทุกข์จะต้องมีปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในความเป็นจริง การจะมีปัญญารู้แจ้งแทงตลอดตามความเป็นจริงนั้น ก็ต้องระลึกกำหนดรู้ดูที่ของจริง ของจริงก็คือปรมัตถธรรม หรือธรรมชาติ หรือสภาวะ หรือรูปนาม แล้วจะระลึกรู้รูปนาม หรือปรมัตถ์ได้ตรงได้อย่างไร ถ้าไม่ทำความเข้าใจ ถ้าไม่ทำความเข้าใจเรื่องปรมัตถธรรม เรื่องรูปนาม จะระลึกไม่ถูกแน่นอน ไม่สามารถระลึกได้ เพราะขนาดฟังยังระลึกไม่ค่อยถูก ฟังยังไม่ค่อยจะได้ ถ้าไม่ฟังนี่ปิดประตูไปได้เลย เพราะว่าเป็นเรื่องอาศัยปัญญาของพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้นำมาแสดงไว้ ที่อาตมาพูดนี่ ก็พูดตามที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ ถ้าพระพุทธเจ้าไม่แสดงไว้ ก็เอามาพูดไม่ถูกเหมือนกัน เรื่องปรมัตถธรรม เรื่องสภาวธรรม เราคนธรรมดาปุถุชนทั่วไปจะไม่สามารถเข้าใจ เข้าถึงปรมัตถธรรมได้ ต้องอาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้า นอกจากบุคคลนั้น ที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าเสียเองก็ไม่ต้องฟังจากใคร อย่างนั้นแหละ-ได้ เป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง แต่ต้องไม่ใช่ชาตินี้นะ ไม่มีใครมาเป็นพระพุทธเจ้าซ้อนกันขึ้นมาอย่างนี้ไม่มี ถ้ามีก็ของปลอมแล้ว พระพุทธเจ้าจะไม่ตรัสรู้ซ้อนกันได้ในยุคหนึ่งๆ ไม่มีซ้อนกัน หรือถ้าไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าที่จะรู้ได้ด้วยตนเอง จะมีอีกบุคคลหนึ่งก็คือพระปัจเจกพุทธเจ้า อันนี้ได้ตรัสรู้เองได้ แต่ถ้าไม่ได้เป็นสองบุคคลนี้แล้ว ต้องฟัง จึงเรียกว่าสาวกผู้ฟัง สาวก นี่แปลว่าผู้ฟัง ต้องฟัง ฟังคำสอนให้ถูกต้อง
ถ้าหากว่าไม่ฟังให้เข้าใจเรื่องปรมัตถธรรม มันจะผ่านไปหมด มันจะระลึกรู้ไม่ได้ นี่ดูซิว่าอย่างเอาแค่ว่า ปฏิบัติไป นิ่งสงบว่าง ก็จะไปอยู่อย่างนั้น จะกำหนดปรมัตถธรรมไปไม่ถูกหรอก ทั้งๆ ที่ปรมัตถธรรมขณะนั้นมีอยู่ มีสภาพรู้ คือจิตใจมีสภาวะของจิตใจ ต้องฟังให้เข้าใจแล้วไปค้น ไปปฏิบัติ คอยสังเกต คลำไปคลำมาจึงจะเจอ ไม่ใช่ฟังแล้วจะทำได้เลยนะ เวลาภาคปฏิบัติมันยากกว่าการฟังเข้าไปอีก ถ้ายิ่งไม่ฟังเลย หาไม่เจอหรอก แล้วจะไปเพ่งความว่าง ดูความว่างก็เป็นเพียงความสงบเกิดขึ้น จะอยู่แค่สมถะ การเจริญสมถะไม่ต้องฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ได้ เจริญให้ได้สมาธิให้ได้ฌานไม่ต้องฟังก็ได้ ทำได้ จะเห็นว่าก่อนพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ เขาก็ทำกันอยู่แล้ว เรื่องสมถะเรื่องฌาน อย่าว่าแค่ได้ฌาน ได้สมาบัติ ได้อภิญญา แสดงฤทธิ์ เหาะเหินเดินอากาศ รู้วาระจิต ระลึกชาติได้ ต่างๆ เขาทำกันได้อยู่แล้ว ไม่ต้องฟังจากพระพุทธเจ้าหรอก แต่เรื่องการรู้สภาวะ รู้ปรมัตถธรรม รู้จักรูป นาม ปรมัตถ์ ขันธ์ห้า ต้องได้จากคำสอน ได้จากปัญญาของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่ได้ฟังแล้วหาไม่เจอหรอก ข้ามไปหมด มันจะกำหนดเป็นบัญญัติไปหมด
กำหนดมาที่ร่างกาย ก็ไปดูเป็นแขนเป็นขา เป็นรูปร่าง นึกว่านี่แหละคือความจริง แท้ที่ไหนได้เป็นของปลอม แล้วพอของปลอมจะหายไปก็ตกใจแล้ว ไปค้นหาอีก เอ้..นั่งไปขาไปไหน แขนไปไหน ตกใจ หาขา หาแขนให้ได้ เพราะความคุ้นเคยกับบัญญัติ เราคุ้นเคยอยู่กับสมมุติ คุ้นเคยอยู่กับของปลอม พอของปลอมหายไป เราก็นึกว่าเราแปลกประหลาดผิดปกติ ที่จริงมันผิดปกติมาตั้งแต่เวียนว่ายตายเกิดมาไม่รู้เท่าไหร่ เราอยู่กับสมมุติอยู่กับของหลอกอยู่ ถูกหลอกแล้วก็อยู่กับของหลอก จนเข้าใจว่าเป็นของจริง พอจะหลุดจากของหลอกของปลอม เรากลับรู้สึกแปลกประหลาดกลัวตายขึ้นมา เลิกปฏิบัติ กลัวตายพอไม่มีแขนขาหน้าตา นั่งไปเอ๊ะขาไม่มีแขนไม่มี กลัว แล้วอย่างนี้ก็ไปนิพพานไม่ได้ อยู่กับโลก กับสมมุติเรื่อยไป และยังกลัวอยู่
แต่ถ้าเราเข้าใจ รูปร่างสัณฐานเป็นสมมุติ มันจำขึ้นมา มันปรุงขึ้น เมื่อถึงเวลาปฏิบัติไประดับหนึ่ง มันไม่ปรุง ไม่จำ มันก็หายไปโดยธรรมชาติของมัน หายไปก็หายไปก็ดีแล้ว แต่ไม่ใช่หายแล้วก็ว่างเปล่าทั้งหมดนะ กลายเป็นว่าง ไม่มีอะไรเลย อย่างนั้นก็ไปอยู่กับของปลอมอีก ความว่างเปล่าก็เป็นของปลอมชนิดหนึ่ง เป็นสมมุติชนิดหนึ่ง ความไม่มีอะไรมันก็ไม่มีอะไรจริงๆ ไม่มีอะไรเกิดอะไรดับ ไม่มีคงมีอนิจจังทุกขังอนัตตา มันก็เกิดปัญญาไม่ได้อีก ปัญญาที่เป็นวิปัสสนานั้น ก็คือเห็นรู้แจ้งในความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อนิจจังทุกขังอนัตตา ต้องอยู่ที่ตัวรูปนาม หรืออยู่ที่ตัวปรมัตถ์ ถ้าไม่ใช่ปรมัตถ์แล้ว มันจะไม่มีอนิจจังทุกขังอนัตตาหรอก
บัญญัตินี่คือสมมุติ ไม่มีอนิจจังทุกขังอนัตตา ชื่อ ภาษา ไม่มีอนิจจังทุกขังอนัตตา รูปร่าง ความหมาย ไม่มีอนิจจังทุกขังอนัตตา ทำไมมันไม่มี ก็เพราะมันไม่มี มันจะมีอนิจจังทุกขังอนัตตาได้ยังไง คือตัวมันไม่มี มันไม่มีความเป็นของ มันไม่เป็นวัตถุ หรือสิ่งที่เป็นจริงปรากฏ มันจะเอาอะไรเป็นอะไรไม่ได้ คืออนิจจังจะต้องเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงๆ เมื่อสิ่งที่มีอยู่จริงๆ มันเกิดดับ มันปรวนแปร มันจึงแสดงความไม่เที่ยงได้ แสดงความเป็นทุกข์ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ แสดงอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ ป้อนให้เกิดปัญญา
ปัญญาที่เป็นวิปัสสนา ก็คือปัญญาเข้าไปเห็นความไม่เที่ยง เห็นทุกข์ เห็นอนัตตา ซึ่งอนิจจังทุกขังอนัตตามันอยู่ที่รูปนาม มันเป็นลักษณะ เป็นสภาพของรูปนามหรือปรมัตถ์ มันเกิดขึ้นมาแล้วมันจะดับทันที เกิดขึ้นแล้วดับทันที เกิดขึ้นแล้วดับทันที อาการที่เกิดดับแสดงถึงความปรวนแปร เกิดแล้วปรวนแปรและดับไป เกิดแล้วปรวนแปรแล้วดับไป ความปรวนแปรของมันแสดงถึงความไม่เที่ยงของมัน ความเป็นทุกข์ของมัน ความเป็นอนัตตาของมัน ทีนี้ถ้าหากจิตไปอยู่กับบัญญัติ ไปอยู่กับความว่าง มันก็ไม่มีอนิจจังทุกขังอนัตตา เพราะความว่างมันไม่มีจริง มันจะแสดงความเกิดดับไม่ได้ ของไม่จริง หรือเอาไปอยู่กับชื่ออย่างนี้ ชื่อภาษามันก็ไม่มีเกิดมีดับอะไร เพราะมันไม่มีจริง เอาไปอยู่กับรูปร่างสัณฐาน ไปอยู่กับความหมาย มันก็ไม่มีเกิดมีดับอะไร เพราะมันไม่มีจริง
เพราะฉะนั้นการเจริญสติจึงต้องเข้าถึงของจริงคือปรมัตถ์ สติต้องระลึกจรดสภาวะปรมัตถธรรม สภาพธรรม สภาวธรรมก็ได้ เรียกว่าสภาวธรรมก็ได้ เรียกว่าปรมัตถธรรมก็ได้ เรียกว่ารูปนามก็ได้ เรียกว่าขันธ์ห้าก็ได้ แล้วแต่จะเรียก เรียกว่าธาตุก็ได้ เรียกว่าธรรมชาติก็ได้ ระลึกให้ตรงต่อสภาพธรรมเหล่านี้ จึงจะเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ทำไมจะต้องให้เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาด้วย เพราะถ้าไม่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา จิตมันก็ไม่เกิดความหน่ายคลายความกำหนัดยินดี ไม่เกิดความสังเวช ไม่เบื่อไม่หน่ายไม่คลายความกำหนัดยินดี มันก็ยึดติดอยู่อย่างนั้น มันก็หลงอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป ยินดีพอใจหลงใหล ยึดถือยึดมั่น มันก็ต้องเป็นกิเลส ทำกรรมวนเวียนไม่จบไม่สิ้น
เมื่อเห็นความจริงในสภาพที่มันไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาย่อมเบื่อหน่าย พระพุทธเจ้าบอกว่านั่นแหละเป็นทางแห่งความหลุดพ้น เมื่อบุคคลมาพิจารณาเห็นว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงมีสภาพไม่เที่ยง เขาย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน เมื่อบุคคลมาพิจารณาเห็นว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์เขาย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด เมื่อบุคคลมาพิจารณาเห็นว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นอนัตตา เขาย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด ต้องเห็น ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาต้องผ่านการเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา และไม่ใช่เห็นครั้งเดียว เห็นแล้วเห็นอีก เห็นอยู่อย่างนั้นแหละ เห็นจนไม่ยินดียินร้าย เห็นจนไม่มีทางอย่างอื่น จนจิตปลงได้ หลุดจากความยึดถือได้ เพราะไปอย่างอื่นไม่ได้แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นอย่างนั้น แล้วจิตจึงยอมได้ อ้อ..เป็นอย่างนี้ เช่นนี้เอง ธรรมดาเป็นอย่างนี้ คือไม่เที่ยงอย่างนี้เอง ความไม่เที่ยงก็คือความไม่เที่ยง จะให้เที่ยงไม่ได้ ความเป็นทุกข์ก็ต้องเป็นทุกข์อย่างนั้น บังคับไม่ได้ก็บังคับไม่ได้อย่างนั้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่ทุกวันนี้จิตเรายังไม่ยอมคลาย ยังไม่ยอมหน่าย ยังไม่ยอมคลายความยึดถือ เพราะยังคิดว่าควรจะเป็นอย่างนั้นได้ อย่างนี้ได้ จะเอาอย่างนั้นได้ จะเอาอย่างนี้ได้ ก็เรียกว่ายังยึดในความเที่ยงอยู่ ยังไม่ยอมจริงหรอก ยังยึดในความสุขอยู่ ยังยึดความเป็นตัวตนอยู่ เพราะว่าไม่รู้ซึ้งไม่รู้แจ้งจริงๆ ถ้ารู้แจ้งจริงๆ ก็คลาย ก็ปล่อยได้ เหมือนกับเรายังไม่รู้ว่า สิ่งนี้เป็นทุกข์ เป็นโทษ มันก็ยังหลงไปยินดีอยู่นั่นแหละ ไปชอบอยู่นั่นแหละ แต่ถ้าเรารู้ว่า โอ..นี่มันโทษจริงๆ อย่างเหล็กที่เขาเผาไฟแดงๆ ถ้ารู้ว่าเป็นโทษแน่นอน ไปแตะต้องเหล็กเผาไหม้ ใครจะไปจับใช่ไหม ถ้ารู้ซึ้งจริงๆ แต่ถ้าคนไม่รู้เห็นแดงๆ ไม่เคยรู้จักความร้อนมาก่อน ไม่รู้จักเหล็กที่เผาไฟร้อนๆ เป็นอย่างไร เหมือนเด็กเล็กๆ เด็กไร้เดียงสาที่ไม่รู้เรื่อง มันก็ต้องจับจนได้ อันนี้อุปมาให้ฟัง เพราะฉะนั้นต้องเห็นความจริง คือทุกสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เรียกว่าเห็นจนสาแก่ใจถึงจะคลาย ถึงจะหน่ายได้
ทีนี้การจะเห็นอย่างนั้นได้ สติต้องระลึก ตรงต่อปรมัตถ์ที่กำลังปรากฏ เพราะว่าอนิจจังทุกขังอนัตตามันเป็นลวดลาย มันเป็นลักษณะของรูปนาม ของปรมัตถ์ ต้องระลึกให้ตรงปรมัตถ์ เรารู้จักปรมัตถ์หรือยัง ถ้าไม่รู้จักปรมัตถธรรมก็ต้องฟัง และก็พิจารณาให้เข้าใจจากการฟัง แล้วก็มาทำความรู้จัก คือมาฝึกหัดระลึกสังเกตในสังขารร่างกาย เมื่อรู้จักแล้วก็ ไปทำความรู้จักมันอยู่เรื่อย อยู่เรื่อย หนักเข้ามันก็รู้แจ้งเองแหละ รู้ตามความเป็นจริงฉะนั้นอารมณ์ คือสิ่งที่ถูกรู้ของจิต “ชื่อภาษา”น่ะเป็นอารมณ์ได้ไหม “ชื่อ” จิตเข้าไปรู้ชื่อได้ไหม เข้าไปรับรู้ชื่อได้ไหม ได้ จิตน่ะไปรู้ชื่อได้ ไปนึกชื่อของคนนั้นคนนี้ จึงเป็นอารมณ์ ชื่อก็เป็นอารมณ์ แต่เป็นธรรมารมณ์ในส่วนของบัญญัติ อารมณ์ทางใจ ชื่อน่ะเป็นอารมณ์ทางใจ คือเห็นไม่ได้ ฟังเสียงชื่อไม่ได้ มันรู้ด้วยทางใจ เค้าเรียกว่าธรรมารมณ์ แต่เป็นธรรมารมณ์ที่ไม่มีความเป็นจริง จึงเรียกว่าบัญญัติหรือเรียกว่าสมมุติ จิตไปรู้ความหมายได้ไหม ความหมายเช่น เข้า ออก ยาว สั้น ไป มา ยก ย่าง เหยียบ ซ้าย ขวา จิตไปรับรู้ได้ สิ่งเหล่านั้นก็เป็นอารมณ์ ความหมายก็เป็นอารมณ์ ที่รู้ได้ทางใจตาเห็นความหมายไม่ได้ หูฟังความหมายไม่ได้ รู้ได้ทางใจ เป็นธรรมอารมณ์ แต่เป็นธรรมอารมณ์ไม่ใช่สภาวะ ความหมายไม่ใช่สภาวะ ไม่ใช่ปรมัตถ์ เป็นสมมุติ แต่ก็เป็นอารมณ์ เป็นธรรมารมณ์ รูปร่างสัณฐานของวัตถุสิ่งของ กลม แบน เหลี่ยม ยาว สั้น กลมบ้าง แบนบ้าง เหลี่ยมบ้าง หรือรูปทรงสัณฐานของแขน ของขา หน้าตา นี่ก็ยังไม่ใช่ของจริง มันเป็นอารมณ์ที่จิตประมวลขึ้นมา ประดิษฐ์ขึ้นมา อย่างเช่นเวลามองไปเห็นสีสัน มองต้นไม้ก็มีสีสันต่างๆแล้วจิตก็ประมวลประมวล ประมวล สีต่างๆ ออกมา ฉายออกมาเป็นทรวดทรง เป็นทรง เป็นรูปร่างของสิ่งเหล่านั้นฉะนั้นรูปทรงสัณฐาน เกิดจากการปรุงแต่งของจิต จิตที่ต้องนึกต้องปรุง ปรุงมาแล้ว มันก็มีออกมาเป็นบัญญัติ แต่ว่าจิตมันชำนาญ มันไว มันปรุงไว มันสร้างไว ก็เลยเหมือนกับเราเห็นด้วยตา แต่ที่จริงไม่ได้เห็นด้วยตา รู้ด้วยใจ เพราะฉะนั้นรูปร่างสัณฐานนั้นเป็นสมมุติ หลับตาลงแล้วก็เห็นแขนขาหน้าตารูปร่างของกายตนเอง ด้วยใจ เหมือนเป็นภาพ เป็นมโนภาพ นี่ก็เกิดจากจิตมันนึก มันจำ มันปรุง ปรุง ปรุง ด้วยสัญญา ปรุงแต่ง แล้วมันก็ฉายออกมาเป็นรูปร่างปรากฏ เป็นมโนภาพของใจ มันจึงเป็นของปลอมเพราะฉะนั้นเมื่อปฏิบัติไป จิตมันขี้เกียจจะปรุงแล้ว พอสติระลึกตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน มันก็อันตรธานไป รูปร่างที่จิตปรุงจำไว้มันก็อันตรธานไป เจ้าตัวจึงเกิดแปลกประหลาด เอ๊ะ..ทำไมบางทีมันทิ้งไปบางส่วน มันปรุงไม่ครบ เมื่อปรุงไม่ครบก็หายไปบางส่วน ขาหายไป บางคนแขนหายไป บางคนปรุงไม่ครบส่วนบนหัวหายไป เกิดความกลัวตกใจ เอ๊ะ.เราหัวไม่มี ร้องห่มร้องไห้ ปฏิบัติไปหัวไม่มี แต่ที่จริงแล้ว ถึงมันมีก็เป็นสมมติอยู่ มันปรุง มันแต่ง มันจำไว้อยู่ บางทีมันก็ปรุงผิดเพี้ยน พอมันปรุงเพี้ยนไป เราก็ว่าเอ๊ะมือเราทำไมมันบิดไปได้ เอ๊ะ.ทำไมมือมันห่าง แต่ที่จริงมันก็อยู่เหมือนเดิม นี่มันเป็นของปลอม ของปลอมมันไปยังไงก็ได้ มันเป็นมายา ไม่เหมือนปรมัตถธรรม
ปรมัตถธรรมมีสภาพอย่างไรก็คงลักษณะอย่างนั้น ไม่ผิดเพี้ยนเป็นอย่างอื่น ไฟก็ต้องร้อน มันก็คงความร้อนของมัน ดินจะต้องแข็ง ก็คงความแข็ง จะแข็งมากแข็งน้อยก็แล้วแต่ ลมจะต้องเคร่งตึง ไหวพัด มันก็คงลักษณะของมันอย่างนั้น คือปรมัตถ์ ตาจะต้องทำหน้าที่ในการรับสีสัน มันก็ยังทำอย่างนั้นอยู่ ประสาทหูจะต้องรับเสียง มันก็ยังทำหน้าที่ของมันอย่างนั้น จึงเรียกว่าปรมัตถธรรม คือธรรมชาติที่คงลักษณะ เป็นสิ่งที่มีลักษณะอย่างไรก็คงลักษณะของมันอย่างนั้น เป็นความจริงของมันอย่างนั้น มีไหมที่เอาประสาทหูไปดูได้-ไม่มี เอาตามาฟังเสียง-ไม่ได้ เกิดกี่ชาติกี่ชาติมันก็เป็นอย่างนั้น มันเป็นสัจธรรมจึงคงทนต่อการพิสูจน์ จะพิสูจน์ในสมัยพุทธกาลก็เป็นอย่างนั้น พิสูจน์ในสมัยนี้ก็เป็นเหมือนกันหมด เกิดกี่ชาติกี่ชาติสภาวธรรมก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นบุคคลจึงสามารถพิสูจน์ได้ธรรมะ-ธรรมชาติพิสูจน์ได้ทุกยุคทุกสมัย สัจธรรมนี้เพราะฉะนั้นมาทำความเข้าใจอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ อารมณ์เป็นที่เป็นบัญญัติให้ถ่องแท้ เวลาที่สติจะไปรับรู้สภาวะปรมัตถธรรม เราจะสังเกตว่ามันไม่ต้องนึกคิด มันรับรู้ก็รับรู้กันตรงๆ ถ้าไปนึกไปคิดมันจะไปสมมติแล้ว อย่างเช่นจะรู้เข้ามาที่ร่างกายนี่ จะรู้ตรงๆ ต่อสภาวะปรมัตถธรรม ไม่ต้องคิดเพียงใส่ใจทำความรู้สึกตรงมาที่ร่างกาย แล้วจะเจอสภาวะปรมัตถ์ปรากฏโดยไม่ต้องคิดนึกอะไร วิปัสสนาจึงไม่ใช่การคิดนึก วิปัสสนาคือการเจริญสติ สตินี่ไม่ใช่การคิดนึก สติก็เป็นเพียงการระลึกรู้ มีสติระลึกรู้เท่านั้นแหละก็เจอธรรมชาติที่ปรากฏ อย่างขณะนี้ลองใส่ใจระลึกรู้ที่ร่างกายดู จะเจอปรมัตถธรรม เจอความเย็นไหม ลมพัดมากระทบรู้สึก แขนกระทบเย็นมีไหม นี่ไม่ต้องคิดนึกอะไร เจริญวิปัสสนาไม่ต้องคิดนึก ใส่ใจระลึก รู้ตรงที่รู้สึก เย็น ร้อนมีไหม ตึงมีไหม แข็งมีไหม ก้นกระทบพื้นแข็งหรือเปล่า ขากระทบขารู้สึกตึง แข็ง ร้อน เย็น ไม่ต้องคิดนึกอะไรจะเจอปรมัตถธรรม เพียงใส่ใจระลึกทำความรู้สึกไปที่ร่างกาย มันก็จะมีปรมัตถธรรมปรากฏให้รู้ ที่รู้สึกเย็น ร้อน ตึง หย่อน ไหว แข็ง อ่อน เย็น ร้อน นี่คือปรมัตถธรรม คืออารมณ์ที่เป็นจริง ของจริงๆ แท้ๆ และถ้าระลึกไปเรื่อยๆ ก็จะเจอความไม่เที่ยงของมัน จะเจอความเกิดดับ ความเปลี่ยนแปลงของมัน เย็น-มันก็ไม่ได้ตั้งอยู่ เย็นมันก็ดับ ร้อนก็ดับ ตึงก็ดับ แข็งก็ดับ เปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงตลอด แต่มันเกิดสืบต่อ สืบต่อ สืบต่อ ถ้าดูไม่ดี ก็เหมือนคงที่ ตั้งอยู่ คงอยู่ ที่จริงมันดับตลอด เปลี่ยนแปลงตลอด นอกจากความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง แล้วมีอะไรที่รู้สึกได้ที่ร่างกายการเข้าไปรู้เข้าไปพิสูจน์ เราจะคิดนึกเอาไม่ได้ วิปัสสนาน่ะ คิดเอามันก็ตอบตามตำรา แต่นั่นไม่ใช่การปฏิบัติ ปฏิบัติต้องใส่ใจรู้ในตนเองจริงๆ ระลึกไปตรงๆ จริงๆ และก็เจอธรรมชาติที่ปรากฏจริงๆ จึงจะเรียกว่าเป็นการเจริญวิปัสสนา เจริญสติใส่ใจลงไปที่กายแล้ว เจอความปวดความเมื่อยไหม เจอความไม่สบายกาย ความไม่สบายกายก็เป็นจริง ปวดเมื่อยเป็นจริง สบายเป็นสิ่งที่เป็นจริง แข็ง อ่อน เย็น ร้อน เป็นจริง แต่รูปร่างเป็นของปลอม พอเห็นเป็นแขนขาหน้าตา แสดงว่าจิตมันปรุงแต่ง มันจำ มันปรุงขึ้นมาเป็นรูปร่าง ฉะนั้นเวลาเจริญสติระลึกไปที่ร่างกายที่จะเป็นวิปัสสนา จึงไม่ต้องคิดนึกอะไร ระลึกรู้ไปที่รู้สึก รู้สึก แค่นั้น แค่นั้น หมดไปแค่นั้น ไม่ต้องไปคิดอะไร ระลึกให้ได้ปัจจุบัน หนัก บ่อยๆ เนืองๆ เข้า มันจะเจอความเปลี่ยนแปลง จะเจอสภาวะที่เปลี่ยนแปลง จะเจอสภาวะที่เกิดดับ จะเจออนัตตาของธรรมชาติเหล่านี้ ว่าสิ่งเหล่านี้มันบังคับไม่ได้จริงๆ มันเกิดขึ้นมาแล้วบังคับให้มันตั้งอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วมันดับ นี่บังคับมันไม่ได้ บังคับอะไรไม่ได้ มันเกิดแล้วดับไปทันที เกิดแล้วดับไปทันทีเพราะฉะนั้นปรมัตถธรรมที่กายก็จำไว้ แล้วก็ไปทำความรู้จัก บ่อยๆ เนืองๆ ว่ามันมีความรู้สึกเย็นบ้าง ร้อนบ้าง ตึงบ้าง หย่อนบ้าง แข็งบ้าง อ่อนบ้าง สบายบ้าง ไม่สบายบ้าง ปวดเมื่อย เจ็บ ชา ร้อน หนาว นี่รวมพูดย่อๆ ว่า คือความไม่สบาย ถ้ามันพอดีพอดี ก็อ๋อ..ค่อยยังชั่วสบายๆ ให้ใส่ใจระลึกรู้สิ่งเหล่านี้ไป ก็จะเจอความเปลี่ยนแปลงของมัน จะเจออนิจจังทุกขังอนัตตา แต่ว่าเวลาปฏิบัติจริงๆ ก็มีสิ่งที่จะต้องระลึกรู้มากกว่านี้ เพราะว่าธรรมชาติที่เป็นจริงนั้น ไม่ใช่มีแต่ร่างกาย ไม่ใช่มีแต่กาย ยังมีทางใจอีก ทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น โดยเฉพาะทางใจ จำเป็นที่จะต้องระลึกรู้ให้ถูกต้อง ให้ตรง เพราะว่าทางกายที่รับรู้อยู่ขณะนี้ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง สบาย ไม่สบาย ถึงระดับหนึ่งมันจะไม่รู้สึก มันจะละเอียดละเอียดไป เพราะว่าเกิดมีสมาธิ เบากาย เบาใจ ร่างกายไม่ปวด ไม่เมื่อย ไม่ชา ไม่ร้อน ไม่เย็น มันว่าง มันเบา จะทำยังไงล่ะ จับมันไม่ออก มันก็ไปอยู่กับความว่างเปล่า หายใจก็ไม่มี กายก็ไม่รู้สึก มันก็จะว่างอีก ในขณะที่มันว่างๆ นิ่งๆ ว่างๆ มันก็ต้องรู้จิตรู้ใจ เพราะว่าขณะนั้นมันมีจิตใจอยู่ มีธาตุรู้อยู่ ก็ต้องระลึกรู้ว่าความคิดมีไหม กำลังคิดนึก กำลังวิตกวิจารณ์วิจัยมีไหม กำลังรู้สึกสบายใจมีไหม ไม่สบายใจไหม ขุ่นมัว หรือว่าผ่องใส ชอบ ไม่ชอบ นี่คือสภาวะปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นทางใจ ผู้ปฏิบัติจะต้องระลึกศึกษาสภาวธรรมเหล่านี้ มิฉะนั้นก็จะไปตันอยู่ ไปตันอยู่แค่นิ่ง ว่าง สว่าง ไม่มีอะไร แต่ที่จริง มีจิต มีใจ มีธาตุรู้ มีสภาพรู้สึก ต้องฝึกหัดสังเกตสภาวะทางใจให้เป็น แล้วส่วนทางตา ทางหู มันขยายไปเอง ถ้ารู้ทางจิต ทางใจเก่ง เวลาได้ยินเสียง มันก็จะระลึกรู้ได้แค่ได้ยิน เห็นขึ้นมารู้สภาพเห็น กลิ่น รส กระทบก็จะรู้เพียงปรมัตถธรรม แต่ถ้าอยู่ดีๆ ก็จะมาฝึกกำหนดทางตาให้เพียงแค่เห็น มันเลยไปหมดแล้ว ไม่ได้หรอก เพราะว่าสติยังไม่เก่ง ยังไม่สัมพันธ์จิตใจได้ พอมากำหนดทางตามัน ก็เลยเป็นรูปร่าง เป็นสัตว์จิตมันไว จะมากำหนดทางหูให้เพียงแค่ปรมัตถ์แค่ได้ยิน ได้ยิน มันก็มักจะเลยไปเป็น เสียงรถ เสียงสุนัข คน สัตว์ ไปหมด แต่ถ้าเราฝึกดู รู้จิตรู้ใจได้เก่ง เวลาขึ้นมารับเสียงมันจะรับได้แค่เสียง แค่ได้ยินเวลามารับทางอื่นก็ตาม มันจะรับเพียงแค่ปรมัตถ์ได้ดีขึ้นได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นทาง ตา หู ก็อย่าไปห่วง ฝึกเบื้องแรก ฝึกทางกาย เพราะทางกายเป็นของหยาบ มันง่าย ฝึกรู้ความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง สบาย ไม่สบาย แล้วก็เชื่อมโยงไปฝึกรู้ใจ รู้ความคิด รู้จิตที่รู้สึกรู้ความสบายใจ ไม่สบายใจ สงบ ไม่สงบเป็นต้น สัมพันธ์กับทางกาย แล้วมันก็จะขยายรู้ ทางหู ทางตา ไปทางจมูกว่ามีกลิ่น มีรสกระทบทางลิ้น จะเจอสภาวธรรม เพียงแค่สภาวธรรมไม่ไปบัญญัติ แค่เห็น แค่ได้ยิน แค่รู้สึก ฉะนั้นก็จะเห็นความเกิดความดับของมัน ถ้าสติสัมผัสเพียงแค่ได้ยินเสียง มันก็จะเจอสภาพได้ยินนั้นก็มีความดับไป เสียงดับได้ยินดับ ถ้าสติระลึกรู้ กำหนดจิตกำหนดใจเป็น ก็จะเจอว่าจิตใจนี้ก็เกิดดับเหมือนกัน ความคิดดับ ความพอใจ ไม่พอใจ ความรับรู้ สภาพรู้สึกในจิตใจ เกิดดับทั้งหมด ไม่มีอะไรตั้งอยู่ คงอยู่ แล้วเวลาปฏิบัติไป มันก็จะเจอสภาวะสลับสับเปลี่ยนกัน อย่างเช่นนั่งอยู่นี่ ได้ยินเสียงก็มี คิดนึกก็มี เย็น ร้อน ตึง หย่อน ไหว สลับสับเปลี่ยน ก็จะเจอว่ามีสภาวธรรมที่สลับสับเปลี่ยน เกิดดับไปต่างๆ ผู้ปฏิบัติก็ทำใจเป็นกลางๆ ว่างๆ ไม่ได้ไปเพ่งตรงไหน ไม่ได้ไปบังคับตรงนั้นตรงนี้ รับรู้อยู่อย่างกลางๆ ปกตินี่แหละ จิตก็จะเบาสงบลงตัว เมื่อได้ฝึกหัดปฏิบัติได้ต่อเนื่อง ต่อเนื่อง ต่อเนื่องกันไปไม่จำเป็นต้องไปเพ่งบังคับให้จิตมันนิ่ง รับรู้ไปต่างๆ ด้วยความปล่อยวาง วางเฉยเป็นกลาง มันรวมตัวของมันเองได้ มันสงบของมันได้ จิตจะได้ไม่เดือดดาลใจ ถ้าเราไปบังคับจะให้สงบ พอไม่สงบก็จะยิ่งวุ่นวายใหญ่ ยิ่งเดือดดาลใจใหญ่ แสดงว่าวางพื้นฐานไม่ถูกต้อง เป็นการปฏิบัติด้วยตันหา จะเอาให้ได้อย่างนี้มันก็วุ่นวาย จึงต้องหัดทำใจให้เป็นกลาง วางเป็นปกติอย่าทะเยอทะยาน ให้ทำใจเสียใหม่ว่า อะไรจะเกิดก็เกิด ก็รับรู้ไป มีหน้าที่แค่ระลึกรู้ ปล่อยวาง มันคิดก็รู้คิด ไม่ได้ว่าอะไร คิดก็รู้คิดไป ถ้ามันไม่คิดก็ดูความไม่คิด ถ้ามันฟุ้งก็ฟุ้ง ก็ดูฟุ้งก็ไม่ได้ว่าอะไร อะไรเกิดขึ้นมาก็รับรู้ รับรู้ รับรู้ การที่ทำใจเป็นกลางไม่ว่าอะไรต่อในสิ่งทั้งหลาย มันก็จะทำให้เกิดความสงบ ความรวมตัว ความไม่วุ่นวายของจิตใจ จิตที่ปล่อยวาง จิตที่สักแต่ว่า จิตที่ไม่ยินดียินร้าย จิตที่ไม่ว่าอะไร ก็คือจิตที่จะปล่อยวางเป็นกลางได้ เพราะฉะนั้นก็พึงทำความเข้าใจและพากเพียร และก็จะได้ประสบความสำเร็จในที่สุด ตามที่ได้แสดงมาพอสมควรแก่เวลาขอยุติ