แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมต่ออีก เราได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ธรรมเทศนากัณฑ์แรกจบลงไป แล้วก็มาจนถึงสองพันกว่าปีมานี้ ก็ยังมีคนพูดเรื่องนี้ ผู้พูดเรื่องนี้อยู่ อย่างน้อยพวกเราก็ต้องศึกษาเรื่องนี้กัน ก็เป็นเรื่องทันสมัย ไม่ล้าสมัยเลย เหมาะแก่ทุกเพศทุกวัย ลัทธินิกายไหนไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ คือทันสมัย เราศึกษาอะไรก็เป็นเรื่องได้ผล เป็นปัจจัตตังทันที คือเรื่องชีวิตของเรานี้เอง
ธรรมจักรเกิดขึ้นที่นี่ ข้อปฏิบัติเกิดขึ้นที่นี่ ที่กายที่ใจเรานี่ มีทั้งหมดแล้ว ปัญหาก็มีที่นี่ ปัญญาก็มีอยู่ที่นี่ เราจึงมีความพร้อมที่สุด ถ้าเราทำเมื่อไหร่ก็ได้ทันที เห็นทันที สัมผัสได้ทันที เป็นปัจจัตตังทันที
เริ่มต้นจากการปฏิบัติ ปฏิบัติก็คือเอากายเป็นหลักสูตร เอาจิตใจเป็นหลักสูตร เอาสติเป็นการศึกษาเข้าไปให้เห็น มีสติไปในกายเป็นประจำ จะได้เห็นสิ่งที่เกิดกับกายนี้ เกิดกับใจนี้ มันโชว์ออกมา ตัวสติเป็นการศึกษาเข้าไปเห็น ดูเข้าไป มันจะแสดงอะไรจากกาย จะเป็นตัวเป็นตนเกิดขึ้นแบบไหน เราก็ได้เห็น ได้ไปเกี่ยวข้อง เช่น เห็นหลง เห็นรู้ เวลามันหลงมีนั่น เวลามันหลง ก็มีเวลามันรู้ ระหว่างหลงระหว่างรู้เป็นอย่างไร อะไรเป็นของปุถุชน อะไรเป็นของพระอริยเจ้า ควรดำเนินไปอย่างไร สัมผัสดู ควรเสพควรคบอย่างไร ต่างกันอย่างไร ระหว่างหลงระหว่างรู้นี่ เป็นประโยชน์อะไรที่ไหน เราทำอย่างไร มันเกิดขึ้นแก่เรา เราเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร เป็นข้อปฏิบัติลงไป สัมผัสลงไป ให้รู้จักรสชาติลงไป เห็นแจ้งลงไป เห็นหลง เห็นไม่หลง มันต่างกันไหม ระหว่างความหลง ระหว่างความไม่หลง
เริ่มต้นเป็นก้าวแรกไปอย่างนี้ มันก็จะเห็นทาง พบทางไป ขอให้ฉีกไปก่อน บุกเบิกไปก่อน เซอร์เวย์ไปก่อน หัดมองเป็นคู่ เมื่อมีหลงก็มีไม่หลง อย่าให้มันเป็นอันเดียว เปรียบเทียบ เรียกว่าเกณฑ์ชี้วัด ให้เราได้เลือกได้ เราก็เลือกเดินได้ อะไรมันผิดมันถูก นี่ก็คือข้อปฏิบัติ เวลามีสติมันก็เป็นตัวปฏิบัติไปในตัว ก็เกิดการเห็น ถ้าหลงเป็นหลง เป็นปุถุชน เป็นของปุถุชน ถ้าหลงเป็นรู้เป็นของบรรพชิต ผู้ที่เห็นควรดำเนินไปอย่างไร นี่คือระลึกฟัง ตามไปทันทัน ตามทันไปอย่างโกณฑัญญาฟังตามทันไป
สิ่งที่พระพุทธเจ้าแสดง มันเป็นเรื่องของเราทุกคน ตั้งใจฟังไป มีสติไป สัมผัสไป อย่างเห็นหลงเป็นหลง ถ้าเห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง อริยสัจเป็นอย่างนี้ เรียกว่ากำหนดรู้ กำหนดรู้โดยการรู้ กำหนดรู้โดยการแจกแจง กำหนดรู้โดยการละ อันเดียวกันมีสองขั้นตอน อันหนึ่งเห็น เป็นการกำหนดรู้โดยการรู้ ไม่ใช่เป็น ถ้าเป็น แล้วหลงเป็นหลง ไม่มีสิ่งไปเกี่ยวข้อง ถ้าหลงก็ยังเป็นหลงเรื่อยไป นี่หลงกำหนดรู้ เรียกว่า ญาตปริญญา แล้วก็มีอีกต่อไป กำหนดรู้โดยการแจกแจง ความหลง ความไม่หลงมันมี เรียกว่า ตีรณปริญญา อย่างเราสวด อย่างพระพุทธเจ้าแสดงให้เราฟัง มันเป็นสามขั้นตอน อันที่สุดท้ายก็คือ ปหานปริญญาติ ปหานปริญญาติ สังวัตตันติ อภิญญายะ ทำให้ละ ทำให้หมดไป แทนที่มันหลงเป็นหลง มันก็มีที่มันหลง เป็นที่ไม่หลงแล้ว มันเปลี่ยนที่ ก็เห็นช่องเห็นทางไปแบบนี้
แล้วเราก็ทำอย่างนี้ ปฏิบัติก็เป็นกอบเป็นกำไปอย่างนี้ ได้ผลจากความหลง ได้ผลจากเหตุ ได้ผลจากปัจจัย เอามาเป็นผล เรียกว่าตัวปฏิบัติ มันอยู่ที่ไหน มันก็อยู่ที่เรานี่แหละ ถ้าหลงเป็นหลง ก็ลึกลงไป เป็นกรรมลงไป ถ้าหลงเป็นรู้ มันก็ลบกรรม ลบชาติ ลบภพลงไป มันลึก รอยลึก ระหว่างหลงเป็นอกุศล ถ้าหลงเป็นรู้ เป็นกุศล แต่ว่ากุศลมันอ่อน อกุศลมันแข็งกว่า เราไม่เคยฝึกหัด ต้องเข้มแข็งตรงที่มันอ่อน แก้จุดอ่อน นี่คือตัวปฏิบัติ ใส่ใจสักหน่อย
เหมือนกับเราจะลบ อะไรที่มันผิดต้องแก้ การแก้มันก็ยากกว่าการผิด แก้มันหลงมันง่าย ไม่หลงนี่อาจจะทวนนิดหน่อย ทวนกระแสนิดหน่อย เวลาทุกข์เป็นทุกข์มันง่าย แต่ว่ามันมีผลข้างเคียงไปไกล ความหลงความทุกข์ก็ไปไกล ความหลงความไม่หลง มันไม่ไปถึงไหนแล้ว มันหยุดแล้ว ความทุกข์ก็ไม่ไป ถ้าเห็นมันทุกข์ไม่เป็นผู้ทุกข์ มันก็ไม่ไป มันก็มีผลระยะยาว เหมือนเรามีฝีมีหนอง มันเจ็บ แต่ถ้าจะรักษาให้มันหาย ต้องผ่า ต้องเอาหนองออก ก็มีความเจ็บนิดหน่อย
เหมือนคนติดเหล้า ติดบุหรี่ มันจะหยุดสูบ มันก็ลำบากนิดหน่อย ถ้าสูบมันก็ง่าย แต่ว่ามันเป็นผลระยะยาวถ้าสูบไป ถ้าหยุด ก็ทวนกระแสสักหน่อย มันก็จะดีขึ้น หมดเชื้อ ไม่มีเชื้อ ไม่เพิ่มเชื้อเข้าไป ก็สะดวกในภายหลัง กำหนดรู้โดยการรู้ กำหนดรู้โดยการแจกแจง กำหนดรู้ด้วยการละ ต่อไปมันก็จะเป็นไปเอง เรียกว่าสร้างกุศลให้มันแข็งขึ้นมา ตรงที่มันอ่อนแอ
ไม่ใช่ความคิด เราอยากได้กุศล มีแต่ความคิด ไม่มีการปฏิบัติ อยากได้ความไม่ทุกข์ มีแต่ปรารถนา ไม่ค่อยทำ เวลามันทุกข์ เห็นมันทุกข์ไม่เป็นผู้ทุกข์ ไม่ทำจุดนี้ ทุกข์ก็เป็นทุกข์ หลงก็เป็นหลง โกรธก็เป็นโกรธ พอใจ ไม่พอใจ ตกอยู่ในภาพแบบนั้น ไม่เคยเปลี่ยน มันก็เป็นไปตลอดภพตลอดชาติ ไปไกล ความหลงก็ไปไกล ความทุกข์ก็ไปไกล ความโกรธ ความโลภไปไกล ถ้าลองเปลี่ยนลองดู มันก็หยุดได้
เหมือนที่เคยพูดว่า รอยกรรมมันลึก เหมือนกับรอยขีดบนดิน ขีดบนหิน ขีดบนน้ำ ถ้าหลงเป็นหลงเรียกว่ารอยขีดบนหิน ถ้าหลงเห็นมันหลงเป็นรอยขีดบนดิน ถ้าหลงเห็นมันหลงไม่เป็นผู้หลงเป็นรอยขีดบนน้ำ อะไรมันจะลบง่าย จะเป็นชีวิตที่มีกรรมแบบรอยขีดบนหิน บนดิน บนน้ำ มันก็อยู่ที่ตัวเรานี้ ถ้ารอยขีดบนน้ำ มันก็ลบง่าย ถ้ามีกรรมก็ลบง่าย สิ้นกรรมก็สิ้นง่าย มันอยู่กับการกระทำ ถ้าหลง เห็นมันหลงไม่เป็นผู้หลง รอยขีดบนน้ำ อาจจะจบไวๆ เป็นการปฏิบัติสะดวก
ถ้าหลงเป็นหลง รอยขีดบนหิน เป็นการปฏิบัติไม่สะดวก อาจจะไม่ได้บรรลุธรรมเสียเลย ถ้าทุกข์เป็นทุกข์ รอยขีดบนหิน โกรธเป็นโกรธ รอยขีดบนหิน ถ้าทุกข์ เห็นมันทุกข์เป็นรอยขีดบนดิน ทุกข์เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์เป็นรอยขีดบนน้ำ ลักษณะเดียว เรียกว่า ปัจจยาสาม อาการสิบสอง มีสามอย่าง สามอย่างนี้ในเวลาเดียวกัน ถ้ามี ถ้าจะเป็นธรรมก็บุคลาธิษฐาน ธรรมาธิษฐาน หรือศาสนพิธี ศาสนธรรม เอาศาสนพิธี ศาสนวัตถุ มาเป็นศาสนาธรรม รวมเป็นศาสนธรรมมาเป็นธรรม เอาไว้ให้มันเกิดผล มองอะไร มองให้มันเกิดเป็นผลแบบนี้ มันก็จบง่ายๆ
ถ้าเป็นการปฏิบัติลำบาก คือหลง ไม่รู้ มันลำบาก ถ้าหลง เห็นมันหลงไม่เป็นผู้หลง เป็นการสะดวก ไม่ลำบาก เรียกว่า ทุกขาปฏิปทาปฏิบัติลำบาก สุขาปฏิปทาปฏิบัติสะดวก เราเอาความสะดวกความลำบากอยู่ที่การกระทำในรูปแบบ ไม่ใช่ ความสะดวกในการบรรลุธรรม ทำอย่างไรจึงจะสะดวก ไม่ใช่มองถึงรูปแบบ เช่น บางทีเห็นนั่ง เห็นครูปฏิบัตินั่ง สี่ชั่วโมง ห้าชั่วโมง เดินสี่ชั่วโมง ห้าชั่วโมง โอ๊ย ลำบาก อยู่เฉยๆ ก็ได้ บรรลุธรรมก็ไม่ต้องทำให้ยากขนาดนั้น อย่าเอาจุดนั้นเป็นการมอง อาจจะเป็นการสนุกของผู้ปฏิบัติ เป็นความขยันของผู้ปฏิบัติ
ทุกขาปฏิปทา หลงเป็นหลง ทุกข์เป็นทุกข์ โกรธเป็นโกรธ นั่นแหละทุกขาปฏิปทา รู้ธรรมได้ยาก ส่วนสุขาปฏิปทา ปฏิบัติสะดวก ถ้าหลงเห็นมันหลงไม่เป็นผู้หลง นั่นสะดวก มันทุกข์เห็นมันทุกข์ไม่เป็นผู้ทุกข์ นั่นก็สะดวก ปฏิบัติสะดวกแบบนี้ ไม่ใช่รูปแบบ เป็นตัวปฏิบัติลงไป อะไรก็ทำแบบนี้ทั้งหมด เป็นจุดเดียว เป็นเกณฑ์เดียว เป็นทฤษฎีเดียว ไม่หลาย ไม่มาก อันเดียวทั้งหมด เข้าไปกำหนดทั้งหมดได้ ในชีวิตของเราจะมีมาก กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด มีเรื่องนี้เรื่องเดียว แล้วมันก็แตกฉาน พระพุทธเจ้าเทศนากัณฑ์นี้เป็นกัณฑ์แรก ก็เกิดธรรมวินัยขึ้นมามากมาย ขยายออกไป จนเป็นสูตรเป็นปิฎกมากมาย เริ่มต้นจากจุดนี้ แต่ว่าสิ่งที่ทำให้เกิดในเรื่องอริยสัจสี่มีไม่มาก
สุขาปฏิปทาคือทำอย่างนี้ หลงเห็นมันหลงไม่เป็นผู้หลง จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะอยู่ลักษณะไหน ไม่เกี่ยวกับการนั่งสร้างจังหวะ ไม่เกี่ยวกับการเดินจงกรม ไม่เกี่ยวกับการยืน การเดิน การนั่ง การนอน อยู่กับตัวปฏิบัติ มันหลงในอิริยาบถไหนล่ะ มันก็ไม่เรียบ หลงได้ทุกโอกาส เราก็รู้ได้ทุกโอกาสเช่นกัน จะสะดวก ไม่ใช่เวลามันหลงจะมาเดินจงกรม จะมาสร้างจังหวะ จะมานั่งหลับตา จะมาคิดเห็น มองเห็นเฉยๆ ก็ไม่ได้ถ้าไม่ทำ ต้องเอามาทำดู เอาความหลงมาเป็นเหตุทำให้เกิดไม่หลง เอาความทุกข์มาเหตุทำให้เกิดไม่ทุกข์ เรียกว่าเหตุ ทุกสิ่งๆ เกิดแต่เหตุ จะดับก็ดับที่เหตุ มันเป็นอย่างนี้ในหลักการปฏิบัติ ตามหลักนี้ ทำตามหลักเทศนากัณฑ์แรกของพระพุทธเจ้าที่แสดง มันก็ไม่มาก
ถ้าเราเอามาปฏิบัติกับการใช้ชีวิตของเรา มันก็เห็นทุกอย่างทุกแง่ทุกมุมที่มันเกิด เหตุที่มันจะแก้ที่เหตุ ก็แก้ตรงนี้กัน จึงมาเป็นการกระทำ แต่พวกวิชากรรมฐานนี่ทันสมัยกับเรื่องนี้มาก มีสติไปในกาย เห็นกายเป็นประจำ แล้วกายมันแสดงอะไรออกมา เป็นตัวเป็นตนแบบไหน เห็น ไม่เป็นไปตามอาการของมัน เห็นกายสักว่ากาย เห็นกายก็เห็นเวทนาที่มันเกิดขึ้นกับกาย เกิดขึ้นกับใจด้วย เวทนาก็คือสุข คือทุกข์ ก็เห็นสักว่าเวทนา เห็นมันคิดในคิด ในจิต ในความคิดก็มี ที่มันเป็นรูป ที่เป็นนาม เห็นมันคิดก็สักว่าความคิด การที่เราได้เห็นกันอยู่จนชำนิชำนาญ มันก็มีเท่านี้
เราจะทำยังไง จะอ่อนแอตรงนี้ไม่ได้ ต้องเข้มแข็งสักหน่อย ให้มันทันสมัย ทุกคนต้องทำอันนี้อันเดียวกัน ให้มันเห็นแบบนี้ ถ้าหลุดตรงนี้ก็หลุดไปได้ง่ายๆ มันจะไปถึงไหนก็มีภาวะที่รู้ มีภาวะที่หลง ตั้งต้นที่นี่ให้ได้ก็ไปกันได้ ไปได้ ข้ามได้ เราจะหลงไปถึงไหน เราจะทุกข์ไปถึงไหน กุศล อกุศลมันก็มีเท่านี้ อกุศลคือหลง เมื่อหลงก็มีโกรธ มีโลภ มีทุกข์ กุศลคือไม่หลง ไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่ทุกข์ ไขกุญแจแก้โซ่ตรงนี้ จะหลงจนตาย จะโกรธจนตาย จะทุกข์จนตาย มันก็ไม่ใช่ อาจจะเสียชาติไปเปล่าๆ
ถ้าเรามาทำตรงนี้มันก็ไปกันได้ ภาวะที่หลง ไม่หลง นี่กลับอันนี้ ปฏิบัติคือกลับแบบนี้ จะปฏิบัติก็ทำแบบนี้ ถ้าไม่ปฏิบัติก็คือทิ้งเรื่องนี้ไป แทนที่จะเป็นงานเป็นการ มันมาให้เราทำ เกิดให้เราทำ มันก็จบไป ไม่ใช่จะหลงไปเรื่อยๆ ทุกข์ไปเรื่อยๆ โกรธไปเรื่อยๆ เมื่อหลงเป็นใหญ่ไปแล้วก็เป็นอกุศล อกุศลอื่นที่ไม่เกิดก็เกิดขึ้น สิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้น สิ่งที่ดีไม่ค่อยเกิด เช่น กุศลอย่างนี้ อกุศลมูลสาม หนึ่ง สอง สาม มีอยู่ อกุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ก็มีความหลง มีความโกรธ ความโลภ เพราะมีอกุศลอีก เกิดต่อไปมากมาย เกิดภพ เกิดชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ เป็นภพเป็นชาติไป ชาติแห่งความหลงก็มี ชาติแห่งความโกรธก็มี ชาติแห่งความทุกข์ก็มี ถ้าไม่หลงก็สิ้นชาติ ไม่โกรธก็สิ้นชาติ ไม่ทุกข์ก็สิ้นชาติ หมด จบ ไปเท่านั้นเอง
ตั้งต้นจากตรงนี้ จบก็จบตรงนี้ ตั้งต้นที่นี่ ท่ามกลางที่นี่ ที่สุดก็ที่นี่ ถ้าเรามีสติ มันก็เห็น สรุปให้เราเห็นได้ง่ายๆ เหมือนกับว่าอยู่ในกำมือของเรา มีสติ มีสัมปชัญญะ โต้ตอบ ทักท้วง ไม่ใช่เราสุ่มหา มันเกิดขึ้นมาให้เราเห็น ถ้าเรามีสติ ประกอบขึ้นมาก็มีได้ทันที ไม่ได้อ้างเวลาการอะไรทั้งสิ้น กำหนดที่ไหนก็ได้ เอากายเป็นที่ตั้ง เอากายเป็นการกระทำ เรียกว่ากรรมฐาน ที่ตั้งของการกระทำ กำหนดขึ้นมา ให้มันมี ให้มันเป็นเจ้าเรือน เห็น ยิ่งใหญ่ เห็น ไม่เป็น ยิ่งใหญ่ มาก่อน มาอยู่ในการกระทำก่อน
สมมุติเราจะเจ็บไข้ได้ป่วย เห็นมันเสียก่อน มีสติเสียก่อน เห็นให้เป็น ใหญ่ ส่วนยามาทีหลัง หมอมาทีหลัง ตั้งตัวนี้ไว้ก่อน เหมือนศิลาแท่งทึบไม่สะเทือนเพราะลม ผู้ที่ฝึกฝนตนดี ไม่หวั่นไหวเพราะโลกทั้งหลาย สิ่งใดที่มากระทบก็อาจจะจบลง ภูเขาศิลาแท่งทึบ เมื่อลมมาพัด ลมก็จบลงที่นั่น พื้นพัดพาก็จบลงที่นั่น เพราะมันยิ่งใหญ่ ภาวะที่เห็น ภาวะที่ไม่เป็น อะไรที่มันเกิดกับกายกับใจ เห็น ไม่เป็นนี่ยิ่งใหญ่ สิ่งที่มาทีหลังก็ไม่มีสิทธิ์ ถ้าภาวะที่เป็นนี่มันเล็กน้อย อ่อนแอ เป็นกามสุขัลลิกานุโยคไป ถ้าเห็นแล้วมันยิ่งใหญ่ เห็นกายสักว่ากาย ยิ่งใหญ่มาก เห็นเวทนาสักว่าเวทนายิ่งใหญ่ เห็นจิตที่มันคิดก็ยิ่งใหญ่ เห็นธรรมที่มันเกิดขึ้น เกี่ยวกับอารมณ์ อาการต่างๆ ความโกรธ ความโลภ ความหลง ความสุข ความทุกข์ เป็นธรรม เห็น ภาวะที่เห็น ภาวะที่ไม่เป็นมันใหญ่ ยิ่งใหญ่ เป็นตบะ แต่เหนือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ถ้าภาวะที่เป็นนี่มีแต่ภพแต่ชาติ เวียนว่ายเป็นวัฏฏะ
อย่างที่ธรรมจักรฯ ที่ได้กล่าวถึง กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา มันเกิดจากตรงนี้ ภาวะที่เป็นนี่ มันเป็นไปได้ กามตัณหา ตัณหาทั่วไป ภวตัณหา ตัณหาที่ทำให้เกิดภพเกิดชาติ อยากมีอยากเป็น มีแต่ความอยากมีอยากเป็น การกระทำไม่ค่อยมี วิภวตัณหา ตัณหาฉิบหาย ไม่อยากมีไม่อยากเป็นอะไร เช่น อยากมีเงินก็ไม่อยากทำงาน จะได้เงินมาโดยไม่ทำงาน จะได้วิธีใด อาจจะปล้นเอา จี้เอา ขโมยเอา อันนั้นตัณหาแปลว่าฉิบหาย วิภวตัณหา ตัณหาไม่อยากมี ไม่มีไม่เป็นนี่ อาจจะเป็นการแปลแบบทับศัพท์ ถ้าเป็นภาษาธรรมนี่ ตัณหาฉิบหาย วิภวตัณหา ตัณหาทำให้ฉิบหาย ความโกรธฉิบหายความไม่โกรธ ความทุกข์ฉิบหายความไม่ทุกข์ หมดไปแล้วความไม่ทุกข์ ความหลงเป็นหลง ฉิบหายแล้วความไม่หลง เรียกว่า ตายจากมรรคผลนิพพาน วิภวตัณหา ตัณหาที่ตายฉิบหายไปเลย มันเกิดดับ เกิดดับ ภพชาติแบบนี้มันเกิดดับ เกิดดับ เกิดทีไรก็เพื่อจะตาย เกิดโกรธ ก็ตายไปในความโกรธ สิ่งที่ไม่โกรธตายไป ทุกข์ ความไม่ทุกข์ก็ตายไป หลง ความไม่หลงก็ตายไป เรียกว่าอาการเกิดดับของภพของชาติ เวียนว่ายตายเกิดเป็นวัฏสงสาร
การสิ้นภพสิ้นชาติไม่ใช่สิ้นแบบนี้ คือไม่หลง ไม่ทุกข์ ไม่โกรธ เห็นไม่เป็น เห็น ไม่เป็น ไม่ใช่วิภวตัณหา วิภวตัณหามันปฏิเสธ อยากได้กุศล คิดเอา กุศลเปลี่ยนความหลงเป็นความไม่หลง เป็นกุศล ไม่เคยเปลี่ยน อยากมีศีล อยากได้บุญ มีพิธีทำเอา บุญคือใจดี บาปคือใจร้าย การเปลี่ยนความใจร้าย ตรงที่มันร้ายให้มันดีขึ้นมา พูดไม่ดี พูดดีๆ ซะ คิดไม่ดี คิดดีใหม่ คิดใหม่ ทำไม่ดี ทำใหม่ อยากได้กุศลต้องทำแบบนี้ ไม่ใช่ซื้อเอา ไม่ใช่คิดเอา อยากมีกุศลมีแต่คิด คิดก็ต่างกันไป เอาความคิดเป็นการทะเลาะวิวาทกันก็มี เหตุผลเหมือนกัน เช่น คนสองคน ลูกศิษย์ของสำนักหนึ่ง สองคนนั่งคุยกัน มองเห็นใบไม้มันปลิว เลยถามกันว่าใบไม้ทำไมจึงปลิว เพราะมันมีลม มันจึงปลิว คนหนึ่งบอกว่า ผมว่ามันมีใบไม้ มันจึงปลิว ไม่ใช่ ถ้ามีใบไม้ไม่มีลม มันก็ไม่ปลิว อะไรมันปลิวแน่นอน คนหนึ่งว่าลมทำให้ใบไม้ปลิว คนหนึ่งว่าใบไม้มันปลิว ก็เถียงกัน เลยไปหาอาจารย์ ว่าอะไรถูกอะไรผิด ถ้าเราตอบ จะตอบยังไง
ถ้าเราเป็นอาจารย์ คนสองคนมาถามเรา จะเอาเหตุเอาผลไปแก้กัน มันก็ไม่ได้ มันเกิดจากสมมุติบัญญัติ สองคนสมมุติเอา ความเห็นแตกต่างกัน สมมุติบัญญัติไม่ใช่ปรมัตถ์สัจจะ ไปตั้งให้อะไรมันผิดมันถูกไปซะ เอาวัตถุเป็นเรื่องผิด เอาวัตถุเป็นเรื่องถูก เอาเหตุผล เหตุผลไม่ใช่สัจธรรม มีคนสองคนคิดเอา ถูกรางวัลที่หนึ่งสามสิบล้านบาท จะเอาเงินไปซื้ออะไร คนหนึ่งจะเอาไปซื้อวัวมาเลี้ยง คนหนึ่งจะปลูกไร่ข้าวโพด ซื้อที่ปลูกข้าวโพด คนหนึ่งจะเลี้ยงวัว คิด เหตุผลต่างกัน คนที่สองก็บอกว่า ถ้าเลี้ยงวัวต้องระวังวัวจะมากินข้าวโพดนะ คนหนึ่งก็บอกว่า ข้าวโพดถ้าปลูกแล้วต้องล้อมรั้ว เพื่อวัวไม่ได้กิน อ้าว ถ้าไม่มีวัว ข้าวโพดอะไรจะมากิน ไม่ต้องล้อมรั้วก็ได้ เพราะมีวัว มันจึงกินข้าวโพดเรา เถียงกันไปเถียงกันมาต่างเอาเหตุเอาผลกัน คนที่มีวัวต้องเลี้ยงวัว คนที่ปลูกข้าวโพดต้องล้อมรั้ว ผลที่สุดทะเลาะกันได้ เพราะคิดเอา
กุศลก็คิดเอา ความดีก็คิดเอา เรียกว่าวิภวตัณหา ตัณหาแบบฉิบหาย กามตัณหาก็ไม่เท่าไหร่ ภวตัณหาก็ไม่เท่าไหร่ ถ้าเป็นตัณหาแบบโลกๆ ภวตัณหาอยากมีลูกมีเมียก็ต้องขยันหมั่นเพียร ทำตัวเป็นคนดี สร้างฐานะ เราอยากมีเมีย อยากมีเฉยๆ ไม่ได้ประกอบด้วยกรรมการกระทำหน้าที่ มันก็ฉิบหายได้ วิภวตัณหา มันจึงเดือดร้อนไปอีกหลายอย่าง หากอยากได้กุศลต้องทำกุศล ไม่ใช่คิด อย่างเราอยากมีสติต้องประกอบสติ ต้องใช้สติ เวลามันหลงเห็นมันหลงไม่เป็นผู้หลง นี่คือกุศล ไม่ได้วิ่งไปไหน อยากเป็นมรรค เปลี่ยนความหลงเป็นไม่หลง มรรค เห็นมันหลงเป็นมรรค เปลี่ยนความหลงเป็นไม่หลง พ้นจากความหลงเป็นผล กำลังทำอยู่นี่เป็นมรรค เห็นเป็นมรรค เข้าไปเกี่ยวข้อง ถูกต้องเป็นผล มันก็เป็นมรรคเป็นผลอยู่ ปฏิบัติลงไปเป็นมรรคเป็นผลทันที
อะไรจะสะดวก อะไรจะทันใจเหมือนกับการปฏิบัติ มันเป็นกอบเป็นกำขึ้นมา ไม่ใช่รอคอย ปัจจัตตัง เป็นปัจจัตตัง เป็นการเห็นเองรู้เอง ทำได้เอง ทำได้จริงๆ เรื่องนี้ ไม่ใช่ทำไม่ได้ มาเถอะ ความหลงจะเกิดขึ้นแบบไหน จะเปลี่ยนเป็นไม่หลงได้ทุกโอกาส ถ้ามันมีความทุกข์จะมาแบบไหน จะเปลี่ยนเป็นความไม่ทุกข์ได้อย่างง่ายๆ ความโกรธเกิดขึ้นเมื่อไร ขณะไหนก็ได้ จะเปลี่ยนเป็นความไม่ทุกข์ ไม่ต้องมีเครื่องมืออะไร ทำอย่างเดียว เปลี่ยนอย่างเดียว ปฏิบัติอย่างเดียว เป็นนักปฏิบัติอย่างเดียว ไปไหนก็ไปในโลกนี้ จะทำแบบนี้ ในโลกนี้ เป็นเกณฑ์อันเดียวเท่านี้ ตัดสินใจเท่านี้ จะเป็นความเจ็บก็จะเห็นมันเจ็บ ไม่เป็นผู้เจ็บ จะมีความทุกข์ก็จะเห็นมันทุกข์ไม่เป็นผู้ทุกข์ จะมีความโกรธก็จะเห็นมันโกรธไม่เป็นผู้โกรธ เอ้า อะไรจะเกิดขึ้นมา
นี่อริยสัจสี่ มีจักรธรรมหมุนไปแล้วแบบนี้ เหยียบมันย่ำยีไปเลย ให้มันแหลกไปเลย ทำไมเราไปค่อยไปกับเรื่องอย่างนี้ เหยียบมันไปเลย เตียนไปเลย เรียกว่าจักรธรรม ธรรมจักรเกิดขึ้นแล้ว วิ่งขึ้นแล้ว หมุนไปแล้ว จักรหมุนไปทางใด เรียบไปทางนั้น ความหลงก็เรียบลง ความโกรธก็เรียบลง ความทุกข์ก็เรียบลง ราบลงไป ก็เป็นคนๆ เดียวกัน ถ้าเราเป็นคนๆ เดียวกัน ก็เกิดศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย ต่างคนต่างเปลี่ยนความหลงไม่หลง เปลี่ยนความทุกข์ไม่ทุกข์ เปลี่ยนความโกรธเป็นไม่โกรธ ซึ่งเป็นอกุศลตัวต้นๆ จะมีกุศลตัวต้นๆ เกิดขึ้นไป แทนที่ ทุกที่ทุกทาง
ชีวิตเราก้อนเดียวจึงทันสมัย จะเป็นหญิง เป็นชาย เป็นเพศ เป็นวัยคนหนุ่ม คนแก่ เป็นนักบวช เป็นฆราวาสญาติโยม ก็เหมือนกัน อย่างศาสนสถานสารนาถที่เราได้สถูปธรรมเทศนานี่ เป็นฆราวาส เป็นอนาคาริกธรรมปาละ คนศรีลังกา ไปฟื้นฟูขึ้นมา ไปขอจากแขกอิสลาม แขกฮินดู เป็นของเก่าแล้วขอคืนมา อนาคาริกธรรมปาละนี่ เป็นโยม ไม่ใช่นักบวช ไปเรียนรู้จากฝรั่งที่เขามาเห็นร่องรอยพุทธศาสนา ที่ประเทศอังกฤษ ที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เห็นร่องรอย มาเล่าให้ธรรมปาละฟัง ธรรมปาละเกิดศรัทธา เข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้ามาฟื้นฟู เป็นโยมผู้ชายคนหนึ่งมาฟื้นฟูตรงนี้ เอาศาสนสถานสี่แห่งคืนมา ตั้งแต่พุทธคยา สารนาถ ที่ประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่แสดงธรรม ที่ปรินิพพาน ไม่ใช่ฝีมือของพระ เป็นโยม เป็นอุบาสกคนหนึ่ง
นี่คือทุกชีวิตทุกคนนะ เราจึงมาให้มันแข็งแรงสักหน่อยเถอะ รู้สักหน่อยลงไป เห็นกายสักว่ากายลงไป ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เห็นมันสุขมันทุกข์ สักว่าสุขว่าทุกข์ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เห็นความคิดที่มันจะคิดอะไรขึ้นมา ไม่เป็นไปในความคิด สักว่าความคิด ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เห็นธรรมารมณ์ที่มันเกิดเป็นสุขเป็นทุกข์ ความรักความพอใจ ก็สักว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แข็งแกร่งตรงนี้สักหน่อย ไปได้ง่ายๆ นะ บุกเบิกไปเรื่อยๆ ไป อาจใช้เวลาไม่นานนัก เหมือน อุคฆฏิตัญญูบุคคล รู้ธรรมได้ง่ายๆ ถ้าไม่เปลี่ยนเลยก็เป็น เนยยะ ปทปรมะบุคคล หนา ปึก หนาสาโหด หลงก็เฉย โกรธก็เฉย ทุกข์ก็เฉย ด้านไปเลย เป็นคนด้านไปเลย มันก็ไม่มีโอกาสบรรลุธรรม
น่าเสียดายไป เสียดายเวลาเราหลง ไม่เปลี่ยนหลงเป็นรู้ เสียดายเวลามันโกรธ ไม่เปลี่ยนโกรธเป็นรู้ มันมีโอกาสนั่นนะ ความสะอาดอยู่ในความสกปรกได้ ความไม่ทุกข์อยู่ในความทุกข์ได้ ตรงนั้นแหละที่มันจะได้ผล มีมรรคมันจึงมีผล มันมีงานจึงมีการทำงานเสร็จ
นี่ก็ วันนี้ก็จะรับกฐิน ก็คงเตรียมกันพอสมควร แล้วผมก็จะไปชัยภูมิกับอาจารย์ทรงศิลป์ อาจารย์วัฒนชัย หลวงพ่อกรม ตอนหกโมงเนี่ย แล้วแต่อาจารย์ทรงศิลป์จะพาไป มีงานใหญ่ แบบที่ไปเทศน์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาจัดที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครั้งหนึ่ง ครั้งที่สองมาจัดที่ชัยภูมินี่ มีคนฟังประมาณสองสามพันคน ไม่ได้รู้จัก เพียงแต่ว่าได้ข่าว อาจารย์ทรงศิลป์เพิ่งบอกเมื่อวานนี้ ผมไม่ไปก็ได้นะ ไม่ได้ ก็ต้องไป เป็นงานใหญ่ ก็เลยต้องไปดูก่อน แล้วแต่อาจารย์ทรงศิลป์จะพากลับมาเวลาไหน
สมควรแก่เวลา กราบพระพร้อมกัน