แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เจริญในธรรมแก่ท่านผู้ฟังทั้งหลาย ตอนเช้าวันนี้ก็มาปรารภธรรมสู่กันฟัง เพื่อเป็นการย้ำให้เราได้รู้จักบางสิ่งบางอย่างซึ่งเรากำลังทำอยู่ขณะนี้ ก็เกี่ยวกับกิจกรรมของงานกรรมฐาน เรามาฝึกหัดกัน การฝึกหัดปฏิบัติธรรมเราก็ได้ทำเป็นรูปแบบ การเจริญสติ การสร้างจังหวะ การเดินจงกรม เพื่อให้สติมันเห็นกายเห็นใจ ผู้ที่ไม่เคยทำ วันสองวันนี้ก็กำลังสับสนยุ่งยากไปหมดล่ะ ทั้งกายที่เรามาสร้างจังหวะก็เป็นเรื่องยาก มันยังไม่อ่อน อาจจะปวดขาล้าแข้งปวดข้อปวดแขน ทางด้านจิตใจก็อาจจะยังไม่รู้ทิศรู้ทาง กำลังเป็นทุกข์ สองสามวันสี่วันนี้ ถ้าพ้นจากนี้ไปก็สะดวก ร่างกายก็ปรับตัวได้ อาจจะอ่อน เดินง่าย ยกมือง่าย ทางด้านจิตใจก็อาจจะประสบพบเห็นกับหลายอย่าง เห็นความง่วงเหงาหาวนอน เห็นความอึดอัดขัดเคือง เห็นความฟุ้งซ่าน เห็นความสับสนตึงเครียดอะไรต่างๆ ผู้ที่ไม่เคยทุกข์ก็อาจจะทุกข์ มาปฏิบัติมีแต่ทุกข์ทั้งนั้น ยุ่งเหยิงสับสนไปหมด แต่ก่อนไม่ปฏิบัติไม่เห็นมีอะไร อย่างนี้ก็มี จนเกิดปัญหาขึ้น ก็คล้ายๆ กับว่าเรามาหา เรามาเสาะ เรามาหามากวนให้มันเห็นอะไรต่างๆ ที่มันมีอยู่ในชีวิตจิตใจเรา
ถ้าเห็นทุกข์แล้วเกี่ยวกับทุกข์อย่างไร เห็นความง่วง เราเกี่ยวกับความง่วงอย่างไร เห็นความตึงเครียดสับสนอึดอัดขัดเคือง เราทำกับสภาวะอย่างนั้นอย่างไร หรือยอมมันเลย แต่ตามหลักของพระธรรมคำสอน พระพุทธองค์ตรัสว่า เมื่อเห็นทุกข์ก็ให้กำหนดรู้มัน สมุทัยคือต้องละ มรรคก็คือทำให้เจริญ เมื่อเห็นทุกข์เรายอมแพ้มันเลย หรือว่าเรากำหนดรู้กับมันอย่างไร บางทีเราก็มีประสบการณ์เอาเอง หาทางออก เพราะฉะนั้นวิธีที่เรามาปฏิบัติธรรม บางคนก็อาจจะคิดว่า ทำไมเราต้องมาปฏิบัติธรรมศึกษาธรรม หลวงพ่อก็รู้ว่าพวกเราที่นั่งอยู่ที่นี่ไม่ได้เป็นคนชั่วเลวทรามที่ไหน ทำไมจึงมาปฏิบัติธรรม ทุกคนทำดี ทุกคนละชั่ว ทุกคนทำดีอยู่จนสำเร็จในอาชีพการงาน อันนี้เรียกว่าเราเป็นคนดีอยู่ แต่บางทีเราเป็นคนดีก็ยังมีทุกข์อยู่ ในด้านจิตใจก็ยังมีทุกข์อยู่ เรียกว่าละชั่วทำดีแต่จิตใจยังไม่บริสุทธิ์หมดจด อันนี้เราจึงต้องมาปฏิบัติธรรม
บางคนอาจจะถามว่าทำไมจึงต้องปฏิบัติธรรม หลวงพ่อเคยตอบเคยพูดให้ฟังหลายครั้งหลายคราว ชื่อว่าคนนี้ แต่ชื่อมันก็ยากอยู่แล้วล่ะ หลายอย่างความเป็นคนนี้ มันมีหลายอย่างปนกันอยู่ คุ้มร้ายคุ้มดี บางทีก็ร้ายบางทีก็ดี บางทีก็สุขบางทีก็ทุกข์ ของอันเดียวกันบางทีรัก บางทีพอใจ บางทีไม่พอใจ มันหลายอย่าง เพราะว่าคนปนกันอยู่ที่นี่ จำเป็นที่เราต้องมาศึกษามาปฏิบัติ ก็ให้มันรู้จักซะ ส่วนไหนเป็นอันใด ส่วนไหนเป็นอะไร ก็ให้รู้จักมัน ก็ตอบมันได้
แล้ววิธีที่เรามาปฏิบัติธรรม จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร เช่น รูปแบบที่เราทำอยู่ ต้องเดินจงกรม ต้องสร้างจังหวะ เป็นรูปแบบที่ไม่ค่อยจะเป็นสากลเท่าไหร่ การสร้างจังหวะการเดินจงกรมถือเป็นรูปแบบที่เราทำ ตัวนี้ไม่ใช่เป็นวิปัสสนา แต่เป็นวิธีการเพื่อเป็นนิมิตเครื่องหมาย เพื่อปลูกสร้างสติ เหมือนกับกิริยาที่เราไปขีดไปเขียนไปเรียนหนังสือ หัดเขียนหัดอ่าน พอเขียนได้อ่านออก เราก็ไม่ต้องไปหัด เราก็เขียนได้เลย เมื่อใดก็ได้ ที่ไหนก็ได้
การเจริญสติแบบการเคลื่อนไหวก็เหมือนกัน เป็นการกำหนดรู้ เป็นการเห็นสภาวธรรม เราอาจจะเห็น สองสามวันมานี้เราอาจจะเห็น เห็นกาย เห็นใจ เห็นความคิดของตนเอง อะไรที่มันคิดขึ้นมาเราเกี่ยวกับความคิดอย่างไร บางคนก็อาจจะจน จนกรอบต่อความคิด บัดนี้ เราก็มาศึกษามาเห็นมัน เวลามันคิดเราอาจจะเป็นผู้เห็น เป็นผู้ดูมัน ไม่ได้เข้าไปเป็นกับมัน เวลามันสุขเราก็ดูมันไม่ได้หมดเนื้อหมดตัวเพราะความสุข เวลามันทุกข์เราก็ดูมัน
เราเป็นผู้ดูมันนะ ตัวสติสัมปชัญญะคือเป็นผู้ดู ลักษณะที่ดู ดูอาการต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น เราก็แยกมันออก เราก็รู้จักแยกออก นั่นคือตัวทุกข์ นั่นคือตัวสุข นั่นคือความดีใจ นั่นคือความเสียใจ เราแยกมันออก เราดูมัน เมื่อเราเป็นผู้ดู มันก็ปลอดภัย เป็นทางผ่าน ถ้าจะพูดว่าการประพฤติพรหมจรรย์ก็คือลักษณะเป็นผู้ดูนี้ เมื่อดูแล้วก็ไม่ติดไม่ย้อมไม่เปรอะไม่เปื้อน ถ้าไปเป็นล่ะก็เปรอะเปื้อนไปหมดเลย เป็นสุขเป็นทุกข์ ดีใจเสียใจ แม้แต่ร้อนแต่หนาวแต่หิว แต่ก่อนเราไปเป็นเข้าไปแล้ว วันนี้เรามาเป็นผู้ดูมัน หัดลืมตาดูตัวเอง แต่ก่อนเราไม่ได้เคยลืมตาดูตัวเอง เราเป็นไปทั้งหมด ทั้งร้อนทั้งหนาวทั้งหิว เจ็บไข้ได้ป่วยที่ไหนก็เป็นไปทั้งหมด หมดเนื้อหมดตัวไปเลย
อันนี้จึงมีวิธีที่เราทำอยู่ ก็มาดู ทีแรกเราก็ชวนให้เห็น ให้เห็นรูปเห็นนาม เห็นสิ่งที่เราทำอยู่นี่ กายที่มันเคลื่อนไหวอยู่นี่มันเป็นอะไร ไม่ใช่ไปเห็นนอกไปจากที่นี่ไป บางคนก็อาจจะเห็น รู้เห็น พบเห็น เห็นของจริง เห็นความจริง แต่ส่วนนี้มันเป็นรูปธรรม เมื่อเราเห็นแล้ว เราก็เกี่ยวข้องกับมันถูก แต่ก่อนเราไม่เห็นมัน บางทีมันก็หลอกเรา ทำให้เราหมดเนื้อหมดตัวเพราะมัน เห็นนามคือเห็นชีวิตจิตใจ
รูปก็คือร่างกายที่เรานั่งอยู่ ที่เราเห็นเป็นดุ้นเป็นก้อน สัมผัสได้ ฉิบหายเพราะร้อนเพราะหนาวเพราะหิว พอได้มาตามธรรมชาติของเขา มันเป็นส่วนรูปธรรม รูปตัวนี้ตกอยู่ในสภาพไตรลักษณ์ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา รูปตัวนี้เกี่ยวข้องกับเขาไม่ได้ เพียงแต่เรากำหนดรู้ตามอาการต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นกับรูป เราก็รู้จักเกี่ยวข้องกับเขาถูก ความร้อน ความหนาว ความหิว ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความปวดขาล้าแข้ง เป็นลักษณะของรูป ทุกข์ในสภาพของรูปนี้แก้ไขไม่ได้ ละก็ไม่ได้ เพียงกำหนดรู้เท่านั้น เมื่อใดที่มันมีรูปอยู่ก็ต้องเป็นภาระอยู่ตลอดไป บางคนก็ไปทุกข์เพราะมัน อันนั้นมันไม่ถูก เมื่อเราเห็นอย่างนี้ก็ผ่านได้เรื่องของรูปธรรม อาการของรูปมันมีอะไรหลายอย่างเรารู้มันหมด เราเห็นมันหมด มันเปิดเผยออกมาให้เห็นหมด ผู้รู้บางท่านก็สอนไว้ ทุกข์ของไตรลักษณ์แก้ไขไม่ได้ อันนี้ที่เป็นรูปธรรม
ส่วนที่เป็นนามธรรม ทุกข์ของนามธรรมแก้ไขได้ เรียกว่าทุกขสมุทัย มันเกิดขึ้นเพราะเหตุเพราะปัจจัย นามธรรมก็คือจิตใจ ความคิดนึก ความปรุงแต่ง มันสั่งโน่นสั่งนี่ สั่งให้รูปทำดี สั่งให้รูปทำชั่ว เรียกว่านามทำ บางทีก็สั่งให้สุข บางทีก็สั่งให้ทุกข์ รูปนี้เป็นทาสของนาม เราก็จะเห็นมันไป นามมันเป็นใหญ่ ถ้านามไม่เคยฝึกหัดดัดแปลง มันก็มีแต่โทษมีแต่ภัย อย่างที่หลวงพ่อพูดให้ฟังเมื่อวานนี้ว่า มีใจก็พึ่งใจไม่ได้ ใจนี่แหละคือนามธรรม มีใจเอาไว้สำหรับเป็นทุกข์มันจะถูกที่ไหน แต่ก่อนเราเป็นอย่างนั้น มีใจเพื่อเป็นที่พึ่งจึงจะถูก เดี๋ยวนี้มีใจก็คอยที่จะเป็นทุกข์ ทุกข์ใจ ทุกข์ใจ ทุกข์ใจ หลายคน หลวงพ่อก็เป็น มีอะไรก็คอยที่จะทุกข์ใจเพราะมีลูกมีเต้า มีผัวมีเมีย มีทรัพย์มีสิน มีใจคอยที่จะเป็นทุกข์ เราไม่เคยฝึกหัดมันจึงง่ายที่จะเป็นทุกข์ พึ่งไม่ได้ มีใจก็พึ่งจิตพึ่งใจไม่ได้ มีแต่ลงโทษตัวเอง บางคนก็เจ็บไข้ได้ป่วยเพราะจิตเพราะใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับก็เพราะจิตเพราะใจ มันถูกหรือเปล่า
ถ้าเรามาดูจริงๆ มันไม่ใช่ เรามาเห็นมัน อ๋อ! อันตัวทุกข์ไม่ใช่ใจ มันเป็นเหตุเป็นปัจจัย มันมีสมุทัย มันมีที่รองรับอารมณ์ เมื่อใดที่เราเห็นอย่างนี้ เห็นธรรมารมณ์ที่มาย้อมใจ พอเรามีสติ เมื่อใดที่จิตใจมันคิดขึ้นมา เราก็เห็นนั่นเป็นความคิด นั่นเป็นความสุข นั่นเป็นความทุกข์ นั่นเป็นความดีใจ นั่นเป็นความเสียใจ เราก็เห็นมันเป็นคนละอันกัน รูปธรรม นามธรรม เป็นรูปธรรมนามธรรม เราก็บอกได้ เราหัดมันได้ ฝึกมันได้
แต่ก่อนเราไม่เคยฝึกหัด มันจึงเป็นพิษเป็นภัย เป็นอสรพิษ ลงโทษตัวเอง ฆ่าตัวเองก็ได้ ฆ่าผู้อื่นก็ได้ เกิดโรคภัยไข้เจ็บเพราะจิตเพราะใจก็ได้ เกิดโรคประสาท เกิดโรคอัมพาต เกิดโรคกระเพาะอาหาร ลงโทษตัวเอง ซ้ำเติมตัวเอง ไม่เคยฝึกฝนอบรม ทุกข์ก็เป็นของเราทั้งหมด สุขก็เป็นของเราทั้งหมด ที่แท้ก็คือคว้าน้ำเหลวทั้งเพ ไม่มีตัวตนที่ไหน เราก็ยังเอามันอยู่ ยังไปตู่เอามันอยู่ บางทีไปตู่เอาความทุกข์ ไปแย่งเอาความทุกข์ อะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็ทุกข์ อันนั้นมันไม่ถูก พอเรามาเห็นเป็นรูปธรรมนามธรรม กำหนดรู้ไป
แต่ก่อนเราไม่เคยดูตัวเอง ไม่เคยเห็นตัวเอง ไม่เคยตอบตัวเอง ไม่เคยสอนตัวเอง มีแต่เอาแต่เอา มีแต่เป็นแต่เป็น เป็นสุขก็เอา เป็นทุกข์ก็เอา ดีใจเสียใจ ร้อนหนาว หิว ปวด เจ็บไข้ได้ป่วย ไปกับมันทั้งหมด ไม่ได้กำหนดรู้ ทุกข์บางอย่างต้องกำหนดรู้ ทุกข์บางอย่างแก้ไข ทุกข์บางอย่างละได้ เช่น ทุกขเวทนา เวทนาของรูปธรรม เวทนาของนามธรรม เวทนาของรูปคือบรรเทา แก้ไม่ได้มีแต่บรรเทา เป็นความร้อนก็บรรเทา ไม่ใช่ทุกข์ หิวก็บรรเทา ไม่ใช่ทุกข์ หนาวก็บรรเทา ไม่ใช่ทุกข์ เจ็บไข้ได้ป่วยก็บรรเทา ไม่ใช่ทุกข์ เป็นเรื่องของรูปธรรมที่เป็นเวทนา เป็นการบรรเทา อย่าไปทุกข์ ไม่ต้องทุกข์ก็ได้
เราเห็นว่ามันเป็นสัจจะอันหนึ่ง อาการของเขาบอกไม่ได้ อาการของรูปธรรมบอกไม่ได้ อาการของนามธรรมบอกไม่ได้ เราเรียนได้อ่านออกเรื่องรูปเรื่องนาม ก็เหมือนกับเราเรียนหนังสือ มีโจทย์ขึ้นมาเมื่อไหร่ เราตอบได้เมื่อนั้น คณิตศาสตร์ หรือวิชาหัดอ่านหัดเขียน เขาถามอันใดเรื่องหนังสือไทย เรื่องเลขเรื่องคณิต เขามีโจทย์อะไร หรือบัญชีที่เราทำงานเป็นอาชีพ เราไม่จน เราฟ้องมันได้ผลลัพธ์ออกมา ปิดบัญชีได้ ผ่านได้ ไม่จน คนที่มีความรู้เรื่องเลขเรื่องหนังสือเรื่องทำงานอะไรต่างๆ เป็นศิลปะ ศิลปิน หัตถกรรม อะไรก็ตาม ไม่จน แก้ได้ หลุดได้ พ้นได้ เพราะเขามีความรู้ เขาเคยชิน วิชาใดสาขาใดเขาผ่านได้ เขาก็ทำได้
แต่นี่เรามีตัวมีตนมีกายมีใจ เรายังจนต่อมันอยู่ เกี่ยวกับความร้อนความหนาว ความหิว ความเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วก็ความคิดความนึก เรายังจนมันอยู่ ยังตอบมันไม่ได้ หาทางออกไปทางอื่น เวลาใดโกรธก็ว่าไปตามความโกรธ พาลพี่พาลน้อง พาลพ่อพาลแม่ พาลทรัพย์สินอะไรไปเที่ยวไป แก้ไม่ถูก เกี่ยวข้องกับมันไม่ถูก พอมาเห็นว่ามันเป็นรูปธรรมนามธรรม เมื่อใดที่มันเป็นทุกข์ มันไม่บอกเรา มันมีเหตุปัจจัยอะไรขึ้นมาอยู่ที่ไหนมันก็ไม่บอก บางทีมันเกิดที่ทำงาน ที่รถเมล์ ที่ไหนอะไรต่างๆ สังคม ชุมชน มันไม่บอก เราต้องมี เราต้องพร้อม
เพราะฉะนั้น เวลานี้เรามาฝึกหัด ยามสงบเรามาฝึก ยามศึกเราก็รบมัน เป็นนักรบ เป็นนักรบกับความทุกข์กับปัญหาต่างๆ อยู่ที่บ้าน อยู่ที่ไหนก็ได้ เราก็รู้แล้วนะว่า โอ! อันนั้นเป็นรูปธรรม อันนี้เป็นนามธรรม ส่วนนั้นเป็นทุกข์สามัญลักษณะ เป็นทุกข์ของไตรลักษณ์ ส่วนนั้นเป็นทุกขเวทนาที่เกี่ยวกับรูป ส่วนนั้นเป็นทุกข์อริยสัจที่มีเหตุมีปัจจัย ทุกข์อริยสัจมันเกิดขึ้นเพื่อให้เราละมัน ทุกขเวทนามันเกิดขึ้นเพื่อให้เราบรรเทามัน ทุกข์สามัญลักษณะมันเกิดขึ้นเพื่อให้เรากำหนดรู้ ยิ้มรับมันได้ทุกอย่าง ทุกข์สามัญลักษณะก็ยิ้มรับได้ ทุกขเวทนาก็ยิ้มรับได้ ทุกข์สมุทัยก็องอาจต่อมันได้ ไม่ต้องหมดเนื้อหมดตัวกับมัน ที่ไหนก็ได้ เมื่อใดก็ได้ เพราะปัญญาที่เกิดจากการศึกษาชีวิตจิตใจ มันไม่ได้เป็นตำราที่จะต้องหอบไป มันเป็นชุดที่เป็นอัตโนมัติ มันมาเอง เหมือนกับแสงสว่างมันก็มีโอกาสกำจัดความมืดของมันไปเอง เมื่อใดที่เปิดไฟฟ้านีออนขึ้นมาก็กำจัดความมืดไปเองเป็นอัตโนมัติ ไม่ต้องเรียกร้องไม่ต้องไปหาที่ไหน
ถ้าเราศึกษาเมื่อมันเป็นแล้ว มันพร้อมทุกขณะ ไม่ได้เจตนา ไม่ได้เอะใจอะไร มันมาเลย ช่วยเลย เหมือนกับเรามีหมู่มีมิตร มีทรัพย์มีสิน เมื่อใดที่มีปัญหาหิวข้าว มีเงินในกระเป๋า ซื้อเอามากินได้ทานได้ เมื่อใดเจ็บไข้ได้ป่วย มีเงินในกระเป๋าไปใช้จ่าย แก้ได้ใช้ได้ตามความประสงค์ อันนี้เป็นทรัพย์ภายนอก ใช้ได้ พึ่งพาอาศัยได้ ทรัพย์ภายในก็ยิ่งประเสริฐกว่านั้นอีก ไม่ใช่เป็นรูปวัตถุ คนมาลักเอาก็ไม่ได้ แบ่งปันกันก็ไม่ได้ ไฟไหม้ก็ไม่เสียหาย ไม่ฉิบหายเพราะภัย อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย ราชภัย ไม่ฉิบหายเพราะลักษณะแบบนั้น มันเป็นสมบัติของเราจริงๆ จะนอนจะนั่ง จะไปไหนมาไหนคอยติดสอยห้อยตาม เป็นธรรมรักษาคุ้มครอง พระพุทธเจ้าเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ พระธรรมเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ พระสงฆ์เป็นเครื่องกำจัดทุกข์ ไม่ใช่ผู้นะ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าเป็นผู้กำจัดทุกข์ ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ อาชีพกำจัดทุกข์จริงๆ
เพราะฉะนั้นหลวงพ่อได้พูดไว้ตั้งแต่ทีแรกแล้วว่า พวกเราไม่ได้เป็นคนชั่ว มีแต่คนดี มีอาชีพการงานมีหน้าที่ มีความสำเร็จในอาชีพการงาน ละชั่วทำดีอยู่แล้ว ไม่มีใครเป็นโจรเป็นผู้ร้ายที่ไหน ไม่ได้เคยฆ่าคน ไม่ทำชั่ว ไม่ติดคุกติดตาราง ไม่มีคดีอันใด แต่ยังมีทุกข์ในใจ อันนี้เราต้องมาฝึกหัด ยามสงบเราก็ฝึก ยามศึกเราก็รบ เพราะฉะนั้นให้รู้จักทิศทาง รู้จักศิลปวิทยา ทำไมเราจึงไม่รู้มัน มาฝึกหัดแท้ๆ หลวงพ่อก็ยังบอกให้ดู ดูกายที่มันเคลื่อนไหวอยู่นี้ ดูใจที่มันคิดมันนึก มันเกิดอะไรขึ้นมาดูมัน บางทีมันง่วง บางทีมันเบื่อ เห็นไหมเห็นมันง่วงไหม เห็น เห็นมันเบื่อไหม เห็น เครียดก็เห็น บางทีก็เห็นมันปวด คอตึงไปหมด เห็นไหม อาการที่มันเกิดขึ้นมากมาย มันมาผ่านให้เราเห็น เราแอบดูมัน
แต่ก่อนเราไม่เคยดูหรอก เดี๋ยวนี้เรามาแอบดูมัน ถ้าเราไม่ดูไม่ลืมตานี้ขึ้นก็ไม่เคยเห็น พอลืมตานี้ขึ้นเราก็เห็นอะไรต่างๆ มาก บางทีเห็นทุกข์ ความทุกข์ ความลังเลสงสัยอะไร โอ๊ย! สารพัด มีแต่ทุกข์ บางคนเป็นเข้าไปกับมันเลยไม่ได้ดูมัน มันทุกข์ก็ทุกข์หน้าดำคร่ำเครียด ไม่ได้กำหนดรู้บางอย่าง เพราะฉะนั้นนี่แหละประสบการณ์ คนที่เคยชินกับทุกข์ เขาก็มีอินทรีย์แก่กล้าขึ้นมา
อย่างหลวงพ่อเคยเห็นคนบางคนที่อยู่บ้านนอก ความหิว ความอดยาก คราวหนึ่งหลวงพ่อประชุมชาวบ้านในช่วงหน้าหนาว เมื่อเวลาคนมาประชุมที่วัด หลวงพ่อก็เดินดู เดินอ้อมๆ ไป คนหนึ่งเขาไม่มีผ้าก็นั่งกอดอยู่อย่างนี้ “อ้าวทำไมไม่ห่มผ้า ทำไมไม่ใส่ผ้า” “ผ้าผมเปียก เลยไม่มีผ้าใส่” เขาก็ไม่อะไรเลยแต่ถ้าเรานี่จะเป็นอย่างไร โอ๊ย! ไม่ไหว ไม่ไหว ตายแน่ ตายแน่ ไม่เคยเป็นอย่างนั้น แต่เขาเคยเป็นอย่างนั้น เขาไม่กลัว ไม่เป็นไรหนาวก็สู้ได้ บางทีนอนอยู่มันหนาว มันหนาวก็ขดเข้านอน บางทีก็ลุกไปผิงไฟ พอผิงไฟอุ่นแล้วก็มานอน อันนี้เขาก็เคยชิน เมื่อเขาเคยประสบกับปัญหาเรื่องใดเขาก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เพราะเขาเคยผ่านมา
อันนี้แหละ เพราะฉะนั้นเมื่อเราเห็นทุกข์บางอย่างที่มันเคยเกิดขึ้นกับตัวเรา เคยเสียใจ เคยดีใจ เคยพลัดพรากจากของรักของชอบใจ จนเคยชิน จนเก่ง จนเป็นศิลปะ เป็นเรื่องนิดหน่อยไม่ใช่เป็นเรื่องใหญ่โตอะไร เคยได้ เคยเสีย ใจไม่ค่อยกระทบกระเทือน ถ้าผู้ใดที่ไม่เคยประสบพบเห็นแล้วละก็ โอ๊ย! เจียนตาย เอาตัวไม่รอด เศร้าโศกรำพัน หงอยเหงาสร้อยเศร้า น้ำตาไหลอยู่ เพราะฉะนั้นเรามาฝึกหัด ให้มาเห็นมันซะ เห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม เห็นความคิด เห็นความทุกข์ อะไรต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นมา เราเป็นผู้ดู
หลวงพ่อจะสรุปให้ฟังการปฏิบัติทั้งหมด หลวงพ่อมีเอกลักษณ์อันหนึ่ง ศิลปะของหลวงพ่อนะ แต่ว่าไม่ใช่ของหลวงพ่อหรอก ของพระธรรม หลวงพ่อเคารพพระธรรม อยู่ที่ไหนเคารพพระธรรม เคารพจริงๆ เคารพพระธรรม ไม่ไปโกง รูปธรรมก็เคารพ นามธรรมก็เคารพ เคารพแม้กระทั่งความชั่ว เคารพแม้กระทั่งความทุกข์ เมื่อใดที่เห็นความทุกข์หลวงพ่อเคารพมาก นิดหน่อยไม่ให้มีเลย น้อยนิดไม่มี เคารพ
หลวงพ่อมีความรู้สึกว่าหลวงพ่อดู อะไรก็ตามเกิดขึ้น 84,000 เรื่องเกี่ยวกับกายเกี่ยวกับใจ หลวงพ่อดูทั้งนั้น หลวงพ่อไม่ได้เป็น จะเป็นความร้อน ความหนาว ความหิว ความเจ็บไข้ได้ป่วย ดีใจเสียใจ อึดอัดขัดเคือง หลวงพ่อดูเป็นคนละอันกับหลวงพ่อ หลวงพ่อดูมันตะพึดตะพือไป ดูแล้วมันเห็น ต้องเห็นล่ะ ปฏิเสธไม่ได้ ความทุกข์ ความร้อน ความหนาว ความหิว เราจะปฏิเสธไม่ได้ การได้ การเสีย การพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ปฏิเสธไม่ได้ เกิดขึ้นเมื่อไหร่หลวงพ่อดูมัน การสรรเสริญนินทาก็ตาม ดู หลวงพ่อดูมัน ดูแล้วก็เห็น เห็นจริงๆ เออ! ทุกข์จริงๆ นั่นน่ะ รูปธรรมก็เป็นทุกข์ เวทนาก็มีจริงๆ ไม่กลัว ไม่กลัว อะไรที่เกี่ยวกับรูปมากมายก่ายกองไม่กลัว เห็น เห็นแล้วหลวงพ่อไม่เป็นกับมัน ไม่ได้เป็นไปกับมัน มันร้อนก็ไม่ได้ร้อนกับมัน บอกคืนไปตามธรรมชาติ มันหนาวก็ไม่ได้หนาวกับมัน มันหิวก็ไม่ได้หิวกับมัน มันเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยกับมัน ไม่ได้เป็นไปกับมัน หลุดได้ทุกที หลุดได้ทุกที
นี่แหละทางหลุดพ้น ถ้าเราตั้งเป้าอยู่ตรงนี้หลุดพ้นแน่นอน ไม่จนตรอก ศิลปะแห่งการใช้ชีวิตประจำวัน ผ่านได้ตลอด เป็นทางผ่านไม่ใช่ทางตัน อะไรเกิดขึ้นก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ผ่านได้ตลอด หลุดทุกที หลุดทุกที ไม่จนตรอกต่ออาการต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นมา เท่านี้พอนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ไม่ต้องไปหอบตำราจำโน่นจำนี่หรอก เป็นชุดกระเป๋า นั่งอยู่บนรถเมล์ก็ได้ ใครจะทำอะไรก็ได้ เวลาเห็นก็อย่าไปเป็นกับมัน มันทุกข์ มันหิว มันร้อน มันหนาว มันสุข มันทุกข์ มันอะไรก็ตามที่มันเกี่ยวกับเรา ที่ได้เสียสรรเสริญนินทาอะไรก็ตาม มันมี สิ่งเหล่านั้นเป็นสมบัติของโลก เกิดก่อนที่เราจะเกิดมา เป็นสมบัติของโลกสิ่งเหล่านี้ อย่าไปตู่ อย่าไปแย่งเอาของเขา ปล่อยวางได้
ไม่มีอะไรที่จะได้ดังใจเราทุกอย่าง ใจเราก็ไม่เหมือนกับคนทั่วไป จะไปเกณฑ์ให้เหมือนกับเรา ได้อย่างเราไม่ได้ สิ่งที่ควรปล่อยก็ปล่อย สิ่งที่ควรวางก็วาง สิ่งที่ควรละก็ละ สิ่งที่เจริญให้มากก็มาก สิ่งที่ทำให้หมดก็หมด ไม่ต้องไปยึดไปถือ ง่ายที่จะหลุด ง่ายที่จะพ้น เพราะฉะนั้น ที่เรามาปฏิบัติ วันนี้เราอาจจะไม่รู้อะไร อาจจะสับสน ไม่เป็นไร วันนี้ไม่รู้ วันข้างหน้าก็ต้องรู้ ดีกว่าที่เราไม่เคยมาไม่เคยศึกษาปฏิบัติ ผู้ที่ไม่เคยศึกษาไม่เคยปฏิบัติก็มืดแปดด้าน ไม่เคยดูตัวเอง ถ้าเราฝึกหัดอย่างนี้ก็อาจจะเป็นนิมิตเอาไว้ หลวงพ่อพูดว่านะ หลวงพ่อพูดคำนวณคะเนคาดคะเน โน่น! เมื่อใดที่เราจวนเจียนหาทางออกไม่ได้ หมาจนตรอก อาจจะคิดถึงว่า โอ้! คราวหนึ่งในวันวิสาขบูชา ปี พ.ศ. 2531 เคยไปเจริญสติที่วัดสนามใน เขาทำอย่างนี้ กำหนดอย่างนี้ รู้อย่างนี้ อาจจะชวนให้เรามาที่นี่ก็ได้
หลวงพ่อเห็นโยมคนหนึ่ง เขาผ่าท้องนะ หลวงพ่อไปเยี่ยมเขา โอ๊ย! เจ็บ เจ็บ เขาคิดว่าเขาทำไมมาฆ่ากู มันมาฆ่ากู กูมีลูกกูมีหลาน มันมาฆ่ากู คือมันฝันไป เขาอาจจะใส่ยาสลบไม่สนิท ก็รู้สึกว่าคนมาฆ่าตัวเอง มาแทงอะไร รู้สึกเจ็บ หลวงพ่อก็ไป ตะโกนให้ฟัง “พ่อออก พ่อออก ฮู่จักบ่ หลวงพ่อ มืนตาเบิ่งดู หลวงพ่อมาเยี่ยม” ภาษาอีสานหลวงพ่อพูด “หลวงพ่อมาเยี่ยม” มืนตาขึ้น นบมือให้หลวงพ่อ “ฮู่จักหลวงพ่อบ่” งึกหัว “ฮู่จัก เดี๋ยวนี้พ่อใหญ่พ่อออกผู้ใดมาฆ่า” “พ่อออกบ่สบาย ลูกเต้าเอามารักษา หมอกำลังช่วยอยู่ บ่แม่นมีคนมาฆ่า พ่อใหญ่เคยเจริญสติบ่ หลวงพ่อเคยสอน จำได้บ่ มีมือบ่ มืออยู่ไส” ก็ยกมือขึ้น “พลิกมือขึ้นดู รู้สึกบ่” “รู้สึก” “เอามือลง” ไปๆ มาๆ หยุด หยุดร้องหยุดคราง มาอยู่ที่นี่ เงียบไปเลย
นี่ มันเป็นนิมิตเป็นเครื่องหมาย มันอาจจะช่วยเราช่วงนั้นก็ได้ หาทางออก ถ้าคนที่ไม่เคยเห็นหนทางมันก็มืดแปดด้าน หนีไม่เป็น ออกไม่เป็น เพราะฉะนั้น การมาปฏิบัติวันนี้ไม่รู้อะไร ไม่เป็นไร วันหน้ายังมีอยู่ แต่ต้องทำไปเรื่อยๆ กำหนดรู้เรื่อยๆ ไป นิดๆ หน่อยๆ