แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมนะ ก็จำเป็นเหมือนกันการฟังเนี่ย มันก็เกิดปัญญาได้ “สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ (สุสสูสัง ละภะเต ปัญญัง)” ผู้ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา เมื่อกี้เราฟังพระสูตรพระพุทธเจ้าแสดงธรรม ขอติดสอยห้อยตามคำสอนที่พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้นี่ เอามาทำ
เราสาธยายพระสูตรว่า ผู้ใดประมาทในอริยสัจ 4 ย่อมถึงความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือไปสู่นรกได้ อริยสัจ ๔ คืออะไร มันหลงเป็นหลง ประมาทในอริยสัจ 4 แล้ว ทุกข์เป็นทุกข์ ประมาทในอริยสัจ 4 แล้ว โกรธเป็นโกรธ เจ็บไข้ได้ป่วย ร้อนหนาว เป็นไปกับมันหมด เรียกว่า “ประมาทในอริยสัจ ๔” ถึงแก่ความเกิด ถึงแก่ความเจ็บความตายได้ ตายตรงนั้นแหละ ทุกข์เป็นทุกข์ ตายไปแล้วชีวิตเรา
ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยนะ ถ้ามันตายตั้งแต่นี้ไป ไม่ได้เห็นอริยสัจ 4 ตามความเป็นจริง ก็เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ เกิดมามีชีวิตมันก็เป็นอยู่นี้หรือ ต้องรอความเป็นที่มันจะเกิดขึ้น มันเกิดอะไรมาก็เป็นไปตามมันหมดเลย นี่คือ “ความประมาท”
ส่วนผู้ใดไม่ประมาท ก็ตรงนี้เหมือนกันแหละ มีเหมือนกัน ความหลงก็มีเหมือนกัน แต่หลง เห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง นี่คือ “อริยสัจ 4” มันโกรธ เห็นมันโกรธ ไม่เป็นผู้โกรธ นี่คืออริยสัจ 4 ก็ไม่ประมาทในอริยสัจ 4 แล้ว ได้ทำแล้ว ได้ใช้แล้ว ซื่อ ๆ เห็น..มันซื่อ ๆ ตรง ๆ ถ้าเป็นแล้ว..มันคดงอ พอใจ..คดไปแล้ว ไม่พอใจ..คดไปแล้ว ถูกไหม คำว่าคด แปลว่าข้องไปแล้ว ข้องไปแล้ว เสียเวลาไปแล้ว พอใจ ไม่พอใจ ชอบ ไม่ชอบ ผิด ถูก อะไรต่าง ๆ มันคดโค้งไปแล้ว อาจจะไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าเห็นนี่..มันตรง..มันซื่อ พอสวดในสังฆคุณ ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง นี่คือทาง คือมรรค ถึงง่าย สองสามก้าวก็ถึงแล้ว เห็นทุกข์..ไม่เป็นทุกข์..พ้นจากทุกข์ ถึงแล้ว นี่คือทาง เห็นความโกรธ..ไม่เป็นผู้โกรธ..พ้นจากความโกรธ คือทาง อริยสัจ 4 เป็นอย่างนี้
สามสี่อันที่มันจะต้องผ่านได้อย่างงดงาม ทุกข์มันก็ไม่มีดุ้น ๆ มันมีเหตุ ก็เห็นมันอีก เมื่อมันมีอย่างนี้ก็ต้องทำลงไป ทำแล้ว หรือว่ามันค้างคาอยู่ ทุกข์..เห็นแล้วหรือยัง ละแล้วหรือยัง ผ่านได้แล้วหรือยัง โกรธพวกนี้ อะไรก็เหมือนกันหมด ทำแล้วหรือยัง หรือเป็นงานค้าง เป็นงานยุ่งเหยิงสับสน มันก็ไม่ใช่ได้ไปทำ มันก็ไม่มีเหตุไม่มีผล ทุกข์เป็นผล สมุทัยเป็นเหตุ เหตุมันอยู่ที่นี่ นิโรธเป็นผล มรรคเป็นเหตุ มันก็สองอย่างเท่านี้ อะไรก็มีเท่านี้
มรรคเป็นเหตุ มรรคคือทำแล้ว พ้นแล้ว ออกไปแล้ว มรรคคือออกไป เห็น..ไม่เป็นนี่..เป็นมรรค เห็น..ไม่เป็นนี่..เป็นมรรค พ้นจากเป็น..เป็นผล เรียกว่า “นิโรธ” อยู่ที่ไหนล่ะ อยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่ใช่เข้านิโรธ ไม่กินข้าวได้ 7 วัน ไม่ใช่เด็ดขาด อย่างที่เขากำลังทำกันอยู่ โฆษณากันอยู่ อาจารย์หลวงพ่อองค์นั้นเข้านิโรธสมาบัติไม่กินข้าวได้ 7 วัน 8 วัน 10 วันแล้ว ไม่ใช่นิโรธแบบนั้น อาจจะเดินอยู่ นั่งอยู่ มันก็เป็นนิโรธได้ คือ เห็น..ไม่เป็น มันก็พ้นจากภาวะที่เป็น คือความถูกต้อง ปฏิบัติตรง ปฏิบัติดี ปฏิบัติออกจากทุกข์ ปฏิบัติสมควร มันคือเรื่องนี้ ผู้ใดทำเรื่องนี้ เรียกว่าสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ได้เอาเครื่องหมาย นุ่งผ้าถุง นุ่งสีดำ สีขาว สีเหลือง สีไหนก็ได้ ว่าแต่ทำอย่างนี้เป็น จึงเป็นสากลที่สุดคำสอน แล้วก็เป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่คนละอย่าง ก็ขอสนับสนุน ขอพูดอย่างนี้ ให้เอาไปใช้ลองดู ถ้าใช้ มันก็ใช้ได้ ถ้าไม่ใช้ มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย มันก็มีอยู่กับเรา แต่เราไม่ใช้มัน มันก็เลยไม่จบสักที แล้วก็ใช้ก็ใช้ไม่เป็น ก็เลยผิดฝาผิดหนังไป เราจึงมาศึกษา อย่าจนเถิดพวกเรา มันดี๊ดีนะ รสชาติ
คำว่ารู้ซื่อ ๆ เนี่ย มันเป็นรสพระธรรม มันชนะรสทั้งปวงได้ เวลามันหลง..เห็นมันหลง..ไม่เป็นผู้หลง โอ๊ย! มันมีรสชาติ มันซื่อ ๆ ถ้าความหลงมีรสเผ็ดรสเค็ม..ก็จืดไปเลย ถ้าทุกข์มีรสเปรี้ยวรสหวาน..ก็จืดไปเลย รู้ซื่อ ๆ นั่นนะ รสพระธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง เห็นมันเจ็บ..ไม่เป็นผู้เจ็บ..พ้นจากความเจ็บ เห็นมันแก่..ไม่เป็นผู้แก่..พ้นจากความแก่ เห็นมันตาย..ไม่เป็นผู้ตาย..พ้นจากความตาย มีรสที่สุดเลย มีรสชาติตรงนี้มาก รสพระธรรม ถ้ารสของโลก ก็อาจจะร้องห่มร้องไห้ เสียอกเสียใจ ทุกข์เป็นทุกข์ ...รสของโลก สุขเป็นสุข รสของโลก รักเป็นความรัก ชังเป็นความชัง เป็นรสของโลก สัตว์โลกย่อมติดรสอย่างนี้เป็นส่วนมาก ผู้ที่ถึงฝั่งแห่งพระนิพพานมีน้อยนัก คือมันเป็นอย่างนี้ ย่อมท่องเที่ยวอยู่ในลักษณะแบบนี้ หลงแล้วหลงอีก หลงเป็นหลง สุขเป็นสุข ทุกข์เป็นทุกข์ ท่องเที่ยว อยู่ในฝั่งนั้นไม่มาฝั่งนี้ ต้องตัวใครตัวมันนะ ไม่มีเรื่องที่จะอ้าง ถ้าทำอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องอะไรมาอ้าง เป็นเรื่องส่วนตัว
เราจึงจัดกิจกรรมอย่างนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นสิ่งแวดล้อมให้ได้ใช้กัน กาลอื่นเวลาอื่น อาจจะชีวิตไม่ใช่ส่วนตัวเท่าไร ถ้าเป็นครอบครัวก็ทุกอย่าง จะได้กินอะไร สิ่งที่ต้องกินจะหาได้ที่ไหน คนนั้นคนนี้จะเป็นอย่างไร ปัญหา สิ่งของเป็นอย่างไร อะไรอยู่ที่ไหน ก็ต้องรับทำอันอื่น ใช้ชีวิตแบ่งปันไปมากมายจนไม่เป็นงานที่ทำเป็นเรื่องของตัวเอง เป็นอัตตาธิปเตยยะ ไม่ได้ตั้งที่นี่ ไปตั้งที่โลกาธิปเตยยะ เพื่อโลกเพื่อโน่น เพื่อนี่ไป เวลานี้กาลนี้ จะกินอะไร จะอยู่ยังไง ไม่ต้องคิดแล้ว
ให้ท่านทำอย่างนี้ ให้มีสติเต็มที่ ไม่มีใครไปแบ่งปัน ใช้เต็มที่ ทุกวินาทีก็ว่าได้ อยู่ในกายของเราก็เอามาใช้ ใจก็เอามาใช้ เพื่อการนี้ลองดู เรียกว่า “ปรารภตนเป็นที่ตั้งไว้ก่อน” เมื่อปรารภตนเป็นที่ตั้งมันได้ทิศทางก็ปรารภโลกไปเอง ปรารภธรรมไปเอง เพื่อตน เพื่อโลก เพื่อธรรมไปเอง เหมือนพระศาสดา ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ประโยชน์โลก ประโยชน์พระธรรม อัตถจริยา ญาตัตถจริยา โลกัตถจริยา และพุทธัตถจริยา ไปเอง
เมื่อครั้งพระองค์ตรัสรู้ใหม่ ๆ มันก็ไปเอง เอ! มันเป็นอย่างนี้นะ จะไปสอนใครหนอเนี่ย ให้ใครมารู้เรื่องนี้อีกหนอ ก็คิดหาคนที่จะมารู้ คือเปรียบเทียบขึ้น หลายแบบ เปรียบเทียบกับบัวพ้นน้ำ บัวเพียงน้ำ บัวครึ่งน้ำ บัวใต้น้ำ เออ! มันก็มีอย่างนี้แน่นอน บัวพ้นน้ำมันจะต้องรู้ทันทีเรื่องนี้ ใครล่ะ เอาคนนี้มาก่อนเถอะ อย่าปล่อยทิ้ง มองเห็นใคร ปรารภโลกไปแล้ว ปรารภไม่ใช่ปรารภเฉย ๆ ไป เหมือนจะวิ่ง... เมื่อปรารภโลกก็ไปทำหน้าที่ของโลก มันมี...คนน่ะ ออกมาจากโลกมันออกมาอย่างนี้ ทำไมจะไม่เป็น เราก็เป็นอย่างนั้น บัดนี้เราไม่เป็นอย่างนั้น โลกมันเป็น... เพราะมีทุกข์จึงไม่มีทุกข์ เพราะมีโกรธจึงไม่มีโกรธ รู้เป็นอย่างนั้น เราต้องเป็นอย่างนี้ สอนไป สอนคน เพื่ออะไร เพื่อธรรม เขาหลง..เพื่อไม่หลง จึงจะเป็นเพื่อธรรม ทุกข์เพื่อไม่ทุกข์ แก่เพื่อไม่แก่ เจ็บเพื่อไม่เจ็บ ตายเพื่อไม่ตาย มันต้องเป็นอย่างนี้ เรียกว่าทำเต็มที่ นี่เป็นไปเอง เราจึงตั้งต้น
ในโอกาสเช่นนี้ เวลานี้เหมาะแล้ว มนุษย์สมบัติ มีกาย มีใจ มีรูป มีนาม มาใช้ เพื่อการนี้ ลองดู ให้รู้สึกตัว ไม่ต้องเดินจงกรม ไม่ต้องสร้างจังหวะก็ได้ เก็บได้ทั้งหมด เก็บตกหลาย ๆ อย่าง ยิ่งสร้างจังหวะ เข้ากรรมฐาน ยิ่งดีใหญ่ อยู่ในเส้นบรรทัด เมื่ออยู่ในเส้นบรรทัด มันจะบรรจง เมื่อมันบรรจงมันจะเป็นศิลปะ เหมือนเราเขียนหนังสือในเส้นบรรทัด หัดใหม่ ๆ ทำอะไรที่มันมีเส้นตรง เมื่อทำเสร็จใหม่ ๆ เอาไปเอามา มันก็ไม่ต้องอาศัยเส้นบรรทัด ไม่อาศัยกรอบ นอกกรอบ มันก็เก่งนอกกรอบ ไม่ใช่เก่งในกรอบ แต่มันเก่งในกรอบก่อน มันจึงเก่งนอกกรอบ อย่างเราเขียนหนังสือ ไม่ต้องอาศัยบรรทัด อย่างผู้ที่เรียนหัตถกรรม ศิลปกรรม นวกรรม ก็ไม่ต้องอาศัยตำรับตำรา ออกมาเมื่อไหร่ เขียนใบบัวก็เป็นใบบัว เขียนคนก็เป็นคน เขียนผู้หญิงเป็นผู้หญิง เขียนผู้ชายเป็นผู้ชาย เขียนนกเขียนหมาเป็นหมูเป็นหมาไปได้ เหมือนมันเป็นแล้ว คือทำเป็น ไม่ใช่รู้
เบื่อไหม พูดแต่เรื่องเก่านี่ (หัวเราะ) หลวงตาพูดว่า หลวงตาเป็นกา ร้อง...อยู่นี่ กา กา (หัวเราะ) อยู่ที่ไหนก็ขอร้องกา กา แบบนี้แหละ เป็นชาติกา ก็อย่าเอาอย่างกา บางทีกามันก็ไม่ค่อยดีเสมอไป ก็มีดีอยู่ แร้งก็ดีเหมือนกัน แต่มองอีกแบบหนึ่ง แร้งรูปลู่รุกรุย เศษสัตว์ตายกายสุยเขียดคุ้ม แต่จิตนั้นมุ่งสู่การกุศล แร้งไม่กินสัตว์ที่มีชีวิตเลย รุกรุย..เหม็นสาบเหม็นคาว แต่ส่วนที่กินไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน กินซากกินศพไป อย่ามามอง หลวงพ่อกรมหลังขดหลังงออาจจะเป็นแร้ง (หัวเราะ) ผู้เฒ่าแก่งก ๆ เงิ่น ๆ ขนุน..ขรุขระหนามหนา แต่ภายใน..รสโอชาแซ่บดี
นั้นก็มองให้มันเห็นแก่นแท้ อะไรก็ตาม มันหลง นั่นแหละแก่นมันไม่ใช่อันนี้ มันไม่หลงนั่นแหละ มองไป เลือกเอา เลือกได้ ในกายในใจเรานี้ เลือกได้ทุกอย่าง เอาให้แม่นยำถูกต้องไปเลย อะไรที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจเรานี้ เป็นของใช้ได้ ได้ประโยชน์จากมันทั้งหมด ไม่ใช่อะไรที่เป็นทุกข์เป็นโทษเลย มันมีให้เราใช้ มันมีให้เราฉลาด ถ้าเราใช้เป็นก็ได้ความฉลาด ถ้าใช้ไม่เป็นก็โง่ไปเลย โง่ไปเลย โง่ไอ้เง่าไปเลย
เคยพูดเรื่องไอ้โง่ไอ้เง่า ไอ้โง่..ลูกพ่อแม่มีเงินมีทอง พ่อแม่ตายไป มอบเงินมอบทองให้จำนวนมาก ไอ้โง่ไม่รู้จะเอาเงินไปไว้ที่ไหน มีแต่กลัวว่ามันจะหาย เลยเอาไปฝังไว้ในสวน ตอนกลางคืน เมื่อฝังแล้ว ก็เอาหญ้าแฝกมาปลูกไว้ข้างบน ก็ยังกลัวคนจะเอาอยู่ ก็เขียนป้ายไว้เลยว่า “ที่นี่นายโง่ไม่เอาทรัพย์มาฝังไว้เลย” (หัวเราะ) ฟังแล้ว เออ! นี่ถูกต้องแล้ว เท่านั้น คนมีความโง่คิดเท่านั้น แต่พอดีนายเง่าไปถ่ายในป่า ไปเห็นกอแฝกปลูกใหม่ ๆ แล้วเห็นป้ายว่า นายโง่ไม่ได้เอาทรัพย์มาฝังที่นี่เลย นายเง่าก็คิด อาจจะนายโง่เอาทรัพย์มาฝังที่นี่ ลองขุดดูสิ พอขุดไปเห็นเงินเห็นทองมากมาย ขนออกไปเลย (หัวเราะ) พอขนออกไปแล้ว กลัวว่าคนจะรู้ว่าตัวเองลักขโมยทรัพย์ไป เลยเขียนป้ายอีก “นายเง่าไม่ได้เอาทรัพย์ที่นี่ไปเลย” (หัวเราะ) มันก็ทั้งสองคนนั่นแหละ ผลที่สุด โง่ทั้งสองคน
เราโกรธ อ้างคน มึงไม่รู้จักกูโกรธเหรอ ทั้งโง่ทั้งเง่า อายพอแรงแล้ว โกรธ..ก็ยังไปบอกเขาอยู่แสดงว่าโง่ดับเบิ้ลโง่ไป แทนที่โกรธ..จะระงับไว้ มันเป็นเรื่องน่าอาย ไม่เอาเลย แสดงออกทันที ชี้หน้าชี้ตา ดุด่ากัน นายโง่นายเง่าอยู่ในเรานี้ มีเยอะแยะ เพราะนั้น โอ๊ย! เห็นความโกรธ... มันเป็นเพชรนิลจินดา เพียรไม่โกรธเนี่ย มันได้ของจริง อย่าประมาทเลย อริยสัจ 4 คือตรงนี้นะ
อริยสัจ 4 คืออะไร คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มันเป็นเกณฑ์ มันเป็นกฎเกณฑ์ในชีวิตเรานี้ ให้ใช้ ให้มันสำเร็จซะ อย่างมีหลง เห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง จบไปแล้ว ใช้ได้แล้วบัดนี้ แต่ก่อนหลง..เป็นคน เห็นมันหลง..ไม่เป็นผู้หลง..เป็นมนุษย์ขึ้นมา เลื่อนฐานะได้ และเมื่อมันเป็นครั้งใดก็ชำนาญเรียกว่าเกรดดี ง่าย ๆ แล้วบัดนี้ เหมือนเราเรียนหนังสือเกรดดี เลื่อนชั้นได้ง่าย อย่าเป็นคนไม่ใส่ใจ ทิ้งขว้าง ปึกหนาสาโหดตรงนี้ หัดตนให้ว่านอนสอนง่าย “โสวจัสสตา”
เป็นผู้ง่าย ๆ ไม่มีอะไรยาก เราจะทำอะไร อย่าไปเอายากเอาง่าย อย่าไปเอาผิดเอาถูก อย่าไปเอาความสะดวก ให้คนอื่นช่วย ไม่ต้องการความสะดวก ไม่ต้องการใครช่วย ให้มันยิ่งใหญ่ ช่วยตัวเองเสียก่อน เบื้องต้นต้องช่วยตัวเองก่อน อะไร ๆ ก็ให้คนช่วย มันจะอ่อนแอ หัดช่วยตัวเอง ถ้ามันมีทุกข์..ก็ช่วยตัวเอง..ขนส่ง ทุกข์มันหนัก..ขนส่งให้มันเบาออกมา รู้จักช่วยตัวเองไป ถ้าใครไม่ช่วยตัวเอง ก็ไม่มีคนอื่นช่วยได้ พระพุทธเจ้าช่วยคนที่ช่วยตัวเอง ถ้าใครช่วยตัวเอง ช่วยง่าย
บางทีเขาไม่ให้ช่วยก็มี คนบางคน แม้จะพยายามช่วยอยู่ ก็ไม่ยอม มีเหมือนกัน บอกให้รู้สึกตัวเอามือวางไว้บนหัวเข่า ยกมือขึ้น พอยกแป๊บไปแล้วคว้าใส่ตะกร้าหมาก พูดเรื่องอื่นไป เอาอีก เอาวางไว้ก่อนตะกร้าหมาก เอามา เอามือวางไว้ให้รู้สึกตัว ไปพบกับพระผู้ใหญ่..สนทนาธรรม มีกระโถนสูงครึ่งศอก ก็มีห่อหมากเชี่ยนหมากอย่างดี โยมทำให้ เดี๋ยวก็เอาแล้วเคี้ยวแจ๊บ ๆ เดี๋ยวก็จับกระโถนมา เราพยายามที่จะพูดเรื่องสติ มือไปไหนก็ให้รู้สึกตัว ใช้มัน เวลาท่านไปจับกระโถน ก็หลงแล้ว เวลาท่านคายน้ำมากทิ้งไป นั่งอยู่ไม่นานเท่าไหร่ เคี้ยวหมากกินแจ๊บ ๆ โอ๊ย! บวชมา 50 ปี แต่ว่าอยากสนทนาธรรม สนทนากับท่าน ไม่มีช่องเลย มันติดอะไร พะรุงพะรัง ดินพอกหางหมู โอ๊ย! น่ากลัวนะ แล้วบ่นแต่ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่สบาย พอเห็นหน้ากัน ผมเป็นอันนั้น ผมเป็นนี้ ดูท่าทางหน้าตาอิดโหยโรยแรง มันก็หนัก มันก็ไปสู่จุดนั้น
รสของโลก มันล้อมคอก เจ็บเป็นเจ็บ ทุกข์เป็นทุกข์ โกรธเป็นโกรธ หลงเป็นหลง แก่เป็นแก่ ยอมรับ หมดเนื้อหมดตัว แต่ถ้าอริยสัจ 4 นี่ ยอมรับ แต่ไม่จำนน ยอมรับว่าทุกข์มี แต่ไม่ได้ทุกข์เพราะความทุกข์ แก่มี แต่ไม่ได้แก่เพราะความแก่ ความแก่ทำอะไรให้เราไม่ได้ นี่คือชีวิตที่มันไม่เป็นอะไร ยิ่งใหญ่มาก ภาวะไม่เป็นอะไรเนี่ย เหมือนแสงอาทิตย์ แสงพระจันทร์ฝั่งทะเล ภูเขาแท่งทึบไม่สะเทือนเพราะลม ความไม่เป็นอะไรเนี่ย ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่ได้ทำให้ความไม่เป็นอะไรได้ ภาวะไม่เป็นอะไรได้ ภาวะไม่เป็นอะไร..ใหญ่..คือชีวิต
ไม่เป็นอะไรนี่..คือชีวิต มันเจ็บ..เห็นมันเจ็บ..ไม่เป็นผู้เจ็บ..นี่คือชีวิต นี่เป็นมาตรฐาน เป็น.. อะไรก็ไม่รู้ มีแต่เอาสมมติมาพูดกัน ถ้าจะต้องพูดเรื่องนี้ คืออะไร ปิดปาก ๆ ไม่ต้องพูดอะไร ไม่มีสิ่งที่ต้องพูด ถ้าพูดอะไรออกมาก็เป็นสมมติบัญญัติ จะต้องปิดปาก เหมือนสำนักอาจารย์ มีผู้ปฏิบัติมากมาย เข้าคอร์สแล้ว ถึงกำหนดแล้วอาจารย์ถาม สอบอารมณ์เป็นยังไง ก็มีคนให้อารมณ์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ รู้จักนู้นรู้จักนี้ เห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม เห็นรูปทุกข์ เห็นนามทุกข์ เห็นสมมติ เห็นบัญญัติ เห็นวัตถุอาการต่าง ๆ แล้วเขาก็พูดว่า เห็นกุศล อกุศล กุศลไปทางหนึ่ง อกุศลไปทางหนึ่ง แล้วเขาก็พูดถึง เรื่องมีสติ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มากกว่าเก่า หลายคนหลายพูดไปเหมือนกันหมด บางคนก็เป็นเหมือนกัน แต่มีคนหนึ่งยืนขึ้นเฉย ๆ อาจารย์ก็ถามว่าเป็นยังไง มันปิดปากไม่พูดอะไรเลย บอกว่าเป็นไร ไม่พูดเลย ปิดปาก ถามสองสามครั้งก็ไม่พูดอะไรเลย ปิดปากไปเลย อาจารย์เลยยกย่องคนที่ปิดปาก ว่าแก่นธรรม ได้แก่นไป คนที่พูดโน่นพูดนี่ได้เปลือก ได้กระพี้ ได้เกล็ด ไม่ถึงแก่น คนที่ไม่พูด คนนั้นได้แก่นไป อาจารย์ก็บอกว่าเอาขนของเราไป คนนี้เอาขนไป คนนี้เอาหนังไป คนนั้นเอาเนื้อไป คนที่ไม่พูดเอากระดูกฉันไป คือแก่น (หัวเราะ) เอาละนะ วันนี้ก็พอสมควรแก่เวลา กราบพระพร้อมกัน