แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรม พบกันตอนเช้าตอนเย็น พบกันกับศีลกับธรรม สาธยายธรรมร่วมกัน บทสวดมนต์มีแต่บทดีๆ แสดงออกทางวาจาทางกายทางจิต ให้หลายๆ ด้านไปต่อเอา ถ้าเป็นความเย็นมรรคผลนิพาน ก็เอาความเย็นไปต่อเอาความเย็น เอาความรู้ไปต่อเอาความรู้ เอาความเมตตากรุณาไปต่อเอาเมตตากรุณา การกระทำอันเลวของเราจะให้มันได้ของประเสริฐมันเป็นไปได้ยาก การกระทำอันประเสริฐมันก็ได้ของประเสริฐ
การกระทำใดๆ ก็ตามให้เริ่มต้นจากเรา เราเจริญสติก็ให้มีตัวรู้พร้อมที่จะรู้ อย่าให้มีการขัดแย้งใดๆ ให้มีความรู้สึกตัว ถ้าสองจิตสองใจมันก็ยาก มันก็ทวนกระแส มันหมดแรง เหน็ดเหนื่อยเข็ดหลาบ แต่ถ้าเราเริ่มจากแนวร่วมดีๆ เนี่ย ให้พออกพอใจยินดี เรียกว่าฉันทะ ฉันทะคือความพอใจ ทำอะไรมักมีความสำเร็จ เมื่อมีความพอใจแล้ว มันก็มีอย่างอื่นต่อไปอีก เรียกว่าวิริยะ คือความพากเพียรที่ต้องทำสิ่งนั้นๆ แล้วก็มีอีกพลัง ๓ จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ ไม่ทอดทิ้ง มีพลัง ๔ อีกเข้าไปอีก ตริตรองในเวลาที่เราทำ ปรับปรุงส่วนไหนอย่างไร ช่องโหว่ช่องว่างอย่างไร ดำเนินไปทิศใดทางใด ได้ข้อมูลไปเรื่อยๆ เรียกว่า วิมังสา ภาษาธรรม ถ้าตั้งอยู่ในคุณธรรมเนี่ยก็มีความสำเร็จได้ ขวนขวายเอาธุระหน้าที่ของเพื่อนภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา นักบวชเพื่อนกัลยาณมิตรที่อยู่ด้วยกัน แม่ครัวก็คิดถึงความหิวของเพื่อน เวลาคิดถึงความหิวของเพื่อน ขยันทำอาหารปรุงอาหาร อาหารก็รสชาติดี ถ้าแม่ครัวคิดว่าตัวเองยากลำบาก อาหารก็ไม่ค่อยมีรสมีชาติ ปลูกต้นไม้รดต้นไม้ก็เหมือนกัน ทำอะไรถ้ายุ่งๆ ยากๆ ไม่มีแนวร่วมในทางที่ดี ไม่มีพลัง
การฝึกพลังมันทำให้ศักดิ์สิทธิ์ สมัยก่อนหลวงพ่อเรียนคาถาไสยศาสตร์ ก่อนที่จะไล่ผีต้องมีพลังแห่งความดี ถ้ามีความชั่วไม่มีศีล ผีไม่กลัว ผีมันต้องกลัวผู้มีศีล คาถาอาคมมันจะดีต้องมีศีล มีสมาธิ มีจิตใจที่ดี นั่งดูก็ได้ สมมติว่าเราจะไปเอาคนออกลูก เวลาเขามาหาก็อย่าเพิ่งไปเลย นั่งต่อห้องพระสักหน่อย ทำใจลองดู เรามั่นใจเราก็สำเร็จ บางครั้งถึงกับบอกว่า ถ้าเขามาเอาไปไล่ผี ก็บอกเขาไปก่อน เขาก็ไม่เชื่อว่าเราจะไป กลัวว่าเราจะไม่ไป ถ้าไม่เช่นนั้น เอ้า นั่งรอสักหน่อย เขาก็เข้าไปนั่ง สงบต่อหน้าห้องพระ แล้วก็มาบอกเขาว่า มันหายแล้ว ปกติแล้ว ไม่เป็นไร เราก็ไม่เชื่อหรอก ก็บอกเขาไป เขาก็ไม่เชื่อ จำเป็นก็ต้องไปด้วยกัน สมัยก่อนถนนหนทางก็ไม่ค่อยดี มีแต่ลุยขี้ตมขี้โคลน ลุยโคลน เปะปะ เปะปะ กลางค่ำกลางคืน เราไปถึงมันก็นอนหลับสบายแล้ว บางทีมันก็มั่นใจ ความมั่นใจทำอะไรมันศักดิ์สิทธิ์ เริ่มตั้งที่ใจก่อน สำเร็จได้ด้วยจิตใจ
เราเจริญสตินี่ก็ไม่ใช่จะทำเฉพาะยกมือ เป็นสิบสามสิบสี่จังหวะ ยี่สิบแปดจังหวะ ยังไม่พอ ต้องมีคุณธรรมอย่างอื่นเข้าไปร่วม พูดอย่างนี้อย่าคิดว่ามันยุ่งยาก โอ๊ย ทำอะไรก็ยาก มันเป็นธรรมดา กินข้าวก็ยังมีหลายอย่าง มีถ้วย มีมือ มีตา มีช้อน มีอะไรต่างๆ อย่าไปคิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก เป็นเรื่องที่ช่วยให้เกิดความสะดวก เราเจริญสตินี่ก็เหมือนกันน่ะแหละ ก็หาแนวร่วมเยอะๆ สร้างศรัทธา ศรัทธาว่ายังไง ศรัทธาว่าทำดีได้ดี ทำชั่วต้องชั่ว ศรัทธาในคำสอนของพระศาสดา อย่าเหินห่าง อย่าอ่อนแอในศรัทธา จะเป็นตายร้ายดีอย่างใดก็อย่าไปทิ้งศรัทธา ศรัทธานี่ยังไงๆ เราก็เป็นของเราแล้ว มาก่อนอย่างอื่น เราเชื่อกรรมคือการกระทำ มันมาก่อน มันเป็นทุนแล้ว ศรัทธาเป็นทุนเป็นทรัพย์
ถ้าจะเปรียบการทำนาก็เหมือน “นา” เรา มีนาแล้ว เป็นหลักแหล่งแล้ว ตอนเราทำลงไปมีความเพียรเข้าไปอีก นาเรามีน้ำฝนแล้ว ใส่ความรู้สึกตัวเข้าไป มีข้าวปลูกแล้ว พรวนดินใส่ปุ๋ยลงไป เรียกว่ามีสมาธิมีปัญญาแล้ว มันหลงเราก็รู้ เปลี่ยนตัวหลงเป็นตัวรู้ ปัญญาไปพร้อมๆ กันน่ะแหละ ทำได้กับมือเราทันทีทันใด เราจึงมั่นใจ แล้วเราจะมองไป อดีตก็มองเห็นเงื่อนไขเห็นส้นเห็นรอยพระพุทธเจ้า หลักฐานก็คือเหล่าพระสาวก แล้วก็มีตัวมีตน เมื่อเราจะมองเข้ามาใกล้ๆ ตัวเราก็มีธรรม ธรรมก็คือธรรมวินัย มีอยู่ ธรรมวินัยอยู่ที่ไหน ก็อยู่กับเรา อยู่กับเราแท้ๆ สบายเลย
การทำความเพียร การเจริญสติ ไม่เหมือนการทำอันอื่น เช่น พวกเราปลูกป่า สร้างป่าสร้างน้ำ ก็มีส่วนประกอบหลายอย่าง ต้องมีต้นไม้ ต้องมีรถไถรถแทรกเตอร์ มาปราบหญ้าปราบพง มีน้ำเข้าไปอีก รอฟ้าฝนตกลงมา มีแรงงานนอกจากตัวเราเอง หาแรงงานอีก มีเงินทุนอีก สร้างป่าสร้างน้ำ มีรถแมคโคร มีเงินอีก มันยาก เงินน้อยๆ บาทสิบบาทก็ไม่พอ ต้องมีเงินมากมายมหาศาล เงินเราก็ไม่มี มีมือห้านิ้วสิบนิ้ว ก็มีคนเกิดแนวร่วม มีเมตตา คิดช่วยเหลือพวกเรา นี่ก็ยังมีคนที่จะช่วยเราอีก เขานัดให้ไปรับปัจจัย รวบรวมเงินทุนไว้เพื่อสร้างรั้ววัด ซึ่งเราก็ทำไปเสร็จแล้ว ทีแรกนัดวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ให้ไปรับที่วัดสนามใน แต่มาเมื่อวาน เขาก็โทรมาบอกว่าหลวงพ่อไม่ต้องมารับ เขาจะส่งไปรษณีย์ถึงก่อนวันที่ ๒ แน่นอน นี่ก็มีแนวร่วมมีศรัทธา มันยากกว่าพวกเราที่ทำความดี กว่าจะเกิดศรัทธาผู้คนให้แนวร่วม ทั้งๆ ที่เรามือเปล่า เริ่มต้นจากศูนย์
นี่เราทำความดีทำความเพียรไม่ต้องรออะไร ประกอบลงไปทันที รู้ลงไป ศรัทธาเราก็ได้ทันที ความเพียรเราก็ได้ สติเราก็ได้ทันที มีสมาธิปัญญาเกิดมาพร้อมกันทันที มันมีของที่แก้กันไปในตัว มันหลงก็รู้ทันที มันขี้เกียจขี้คร้าน หมดศรัทธาก็สร้างศรัทธาขึ้นมา หา มองเอาอย่างคนดี คนดีๆ มีเยอะแยะ เราก็เห็นอยู่ หลาย คนดีในปัจจุบัน วันนี้ก็มี พรุ่งนี้อาจจะมีอีก อย่างน้อยไม่มีใครเป็นคนดี เราก็สร้างตัวเอง ไม่มีใครเป็นมิตรกับเรา เราก็เป็นมิตรกับตัวเอง หากัลยาณมิตรที่อื่น หาได้ยาก เราก็เป็นกัลยาณมิตรกับตัวเอง ยิ่งดีกว่ากัลยาณมิตรภายนอก มีกัลยาณธรรม
กัลยาณธรรมก็คือ พวกศรัทธา พวกศีล พวกสมาธิ พวกความเพียร พวกสติปัญญา นี่เรียกว่ากัลยาณธรรม ไม่ยาก อย่าจน มีสิ่งที่เป็นคู่ คู่กันอยู่ ของที่มันคู่กัน มันหลงก็ไม่รู้ เราสร้างขึ้นมา จิตใจของเรานี่มันเป็นสารพัดนึก สิ่งไหนที่เกิดขึ้นกับใจ ทันทีเปลี่ยนได้ ทำไปทำมา ทำไปทำมา มันเป็นธรรมชาติในตัว ธรรมชาติสร้างธรรมชาติ ธรรมชาติที่มันสร้างธรรมชาตินับจากเส้นหญ้า นับจากรากฝอยเล็กๆ น้อยๆ ของต้นไม้ บางทีใบไม้ร่วงลงมา กิ่งไม้ร่วงลงตาม ทับถมใบไม้เอาไว้ วัชพืชต้นหญ้าเกิดขึ้นมาแทน ยึดต้นไม้ใบไม้ที่มันหล่นลงใต้พื้นดิน ทำให้ใบไม้ทำให้วัตถุต่างๆ ไม่หนีไปทางอื่น เวลาฝนตกลงมา มันถูกใบไม้ก็ค่อยปล่อยลงมา หย่อนลงมาถูกใบตองที่อยู่ข้างล่าง ค่อยๆ ซึมลงไป ไม่ได้ไหล ไม่เหมือนตกใส่พระลานหิน ไหลไปหมด ยังไม่ได้ซึมเลย
นับจากเล็กๆ น้อยๆ นับจากศรัทธา นับจากสติ นับจากสมาธิ นับจากความคิดเห็น ทำความเห็นให้ถูกต้อง บางอย่างแนวร่วมนะ บางทีเราไม่ได้เน้นเรื่องการเจริญสติ ขณะที่เรายกมือเคลื่อนไหว ถ้าอันไหนมันอ่อน-ปรับ เรียกว่า “ปรับอินทรีย์” ปรับอินทรีย์ให้พอดี ถ้าไม่ปรับอินทรีย์ในช่วงที่ควรปรับ มันก็ไม่งอกไม่งาม สติไม่งอกไม่งาม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อารมณ์ อาการต่างๆ สมมติว่า สติอินทรีย์ ศีลบางทีมันก็สู้ตา สู้หู สู้จมูก สู้ลิ้น สู้กาย สู้จิตใจไม่ได้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่มันเป็นภายใน มันเป็นเจ้าเรือน สตินี่ถึงแม้มันมีอยู่ก็จริง แต่ว่าไม่เคยเป็นใหญ่เท่าไหร่ อันอื่นเป็นใหญ่ บางทีอารมณ์เป็นใหญ่ นิสัยปัจจัยจริตเป็นใหญ่ จริตนิสัยเป็นใหญ่ ทิฏฐิมานะเป็นใหญ่ ความเห็นผิดเป็นใหญ่ เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ
การปรับอินทรีย์นี่มีได้หลายอย่าง เอาแบบอย่างบ้าง เอาดุ้นๆ บ้าง ชิมดู ยกมือดู รู้ตัวไป ก่อนที่สติมันจะเป็นใหญ่ก็ต้องเปิดทางเบิกทาง พอมันได้ที่ได้ทาง แป๊บเดียวมันก็งอกงามขึ้นแล้ว เหมือนเราปลูกต้นไม้ แต่ก่อนเราไม่ได้ไถ เราก็มีความเห็นว่า หลายๆ อย่างที่เราคิดสมัยก่อน ปลูกแล้วปลูกอีก ปลูกแล้วก็ไม่เหลือ ไม่ได้ปรับพื้น ต้นหญ้าต้นพงเกิดขึ้น ดายหญ้าหมดเงินหมดทอง ดายเท่าไหร่ก็เกิดขึ้นเท่านั้น ถึงฤดูแล้งมา วัชพืชต้นหญ้ากลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เผาไหม้ตายไป เราก็วางแผนปรับพื้นที่ ให้รถมาไถ พวกหญ้าคาเนี่ยมันไปเลย หญ้าพงก็ไปเลย แม้มีอยู่ก็อ่อนแอเต็มที่
สติก็เหมือนกัน ความพร้อมที่จะสร้างสติ แป๊บเดียวก็ไปได้งอกงามเลย เหมือนการเรียนโรงเรียนซัมเมอร์ฮิลล์เหรอ หลวงพ่อเคยไปดู โรงเรียนบ้านเด็กเมืองกาญจนบุรี ซัมเมอร์ฮิลล์ เคยไปศึกษาเพื่อจะมาสอนเด็ก สมัยก่อนก็ขวนขวายเหมือนกัน ขวนขวายเพื่อผู้อื่น ใช้ชีวิตเพื่อผู้อื่น ขวนขวายไปดูซัมเมอร์ฮิลล์ ซัมเมอร์ฮิลล์นี่ ถ้าเขาไม่สนใจ ไม่พร้อม ก็ไม่ต้องไปสอนเขา เราเรียนกว่าจะจบป.หก เรียนหกปี แต่ซัมเมอร์ฮิลล์นี่อาจจะเรียนไม่ถึงปี จบป.หกเลย ถ้าเขาพร้อม เรียนเอาๆ สอบเปรียบเทียบ มี กศน. เปรียบเทียบ พอที่จะได้พื้นฐานอย่างไร ได้ข้อมูลอย่างไร แล้วก็เทียบไปเลย สอบไปเลย แทนที่เรียนหกปี ก็เรียนปีเดียวจบ
เจริญสตินี่ก็เหมือนกันนะ ถ้าเราสร้างความพร้อมดีๆ อย่าได้ถ่อได้พายตัวเอง ให้มีความพร้อม เวลาใดเรานั่งสร้างจังหวะ พอใจ เวลาใดเราใส่สติลงไปเนี่ย โอ๊ย พอใจ ตื่นขึ้นมาดึกดื่นเที่ยงคืนนี่ ดี เมื่อไม่นานมานี้ พบอาจารย์ล้วน วัดป่าอกาลิโก ถามข่าวเรื่องวัดอกาลิโกเป็นอย่างไร อาจารย์ล้วนมีปัญหาอะไร “โอ๊ย ปัญหาเยอะแยะหลวงพ่อ ปัญหาของหลวงพ่อจรัญไม่มี ปัญหามากมาย เรื่องการทำมณฑปหลวงพ่อจรัญก็ขัดแย้งกัน บางกลุ่มก็จะสร้างโบสถ์ก่อน บางกลุ่มก็สร้างมณฑปก่อน แย่งกันไปแย่งกันมา” อาจารย์ล้วนเลยบอกว่า ถ้าทำโบสถ์แล้วสร้าง มันจะได้สวยงาม อันนี้เงินก็ไม่มี จะทำ มันก็จะไม่ได้ดี ไปๆมาๆ เขาก็เอาตามอาจารย์ล้วน เลยไม่ได้สร้าง มณฑปก็ยังไม่ได้สร้าง นอนไม่หลับ ทุกข์มาก คิด เอาใจคนนั้น เอาใจคนนี้ นอนไม่หลับ ทุกข์ “โอ้ ทุกข์มันก็ดีนะหลวงพ่อ ผมนี่มีความสุขเพราะว่ามันทุกข์ ผมนอนไม่หลับ ผมก็เดินจงกรม มันก็ดีนี่” นอนไม่หลับมันก็ดีนี่ มาเดินจงกรมซะ ถ้านอนไม่หลับจริงๆ เดินจงกรมจนโต้รุ่ง เออ ได้ทำความเพียร หนามยอกเอาหนามบ่ง เขาฉลาดนะ เขาคุยได้ก็ว่า ทุกข์แท้ๆ ทำให้เขาพ้นจากทุกข์ การนอนไม่หลับแท้ๆ ทำให้เขาได้ปรารภความเพียร
บางคนนอนไม่หลับ ไม่ใช่ปรารภเพียร ไปคิด ทำไมเรานอนไม่หลับ กลัวจะเป็นอันโน้นอันนี้ มันมีปัญหาอะไร ไปบ่นๆ “โอ๊ย หลวงพ่อ นอนไม่หลับ ทำไงจึงจะนอนหลับ” ไปหาหมอนอนไม่หลับ หมอก็ให้ยานอนหลับมากิน นอนหลับปุ๋ย เออ นี่ดีหน่อย ในที่สุดมันก็ล้มเหลว ลองเอาแบบอาจารย์ล้วนดู ถ้าใครตื่นดึกดื่น ตื่นขึ้นมาก็หายใจเข้าหายใจออก นอนเล่น เมื่อเช้าหลวงพ่อก็ตื่นตีหนึ่ง เอ้อ มันดึกเกินไปน้า นอนหายใจเข้าหายใจออก ดีนะ จากนี้ไปถึงตีสี่ มันก็ ๓ - ๔ ชั่วโมง เราก็จะได้ทำความเพียร ๔ ชั่วโมง หายใจเข้าหายใจออก ไม่รู้มันหลับไปเมื่อไหร่ ตื่นขึ้นมาได้ยินเสียงฆ้องๆ (หัวเราะ) อย่าไปคิดเลย
นอนไม่หลับก็ดี มองอะไรมองในแง่ดี มันหลงก็ดี หัวเราะความหลง มันทุกข์ก็ดี หัวเราะความทุกข์ เอาความถูกต้องไปต่อ อย่าให้มันขาดสะบั้นลงมา ไปกับเขาทั้งหมด ต่อไว้ๆ เวลานี้มันก็ชวนให้ตื่นดึก เพราะอะไร เพราะการหนักการเบา ถ้าวันใดดื่มน้ำมากๆ กลางคืนก็มีหนักมีเบา ตื่นขึ้นมาเราก็คนมีอายุก็ไม่อยากจะนอน ถ้าไม่อยากจะนอน ไปไหนล่ะ บางวันก็เดินเที่ยวไปนู้น ตามทาง รอบวัดไปนู่น สักไม้คนเฒ่า ไม้คนเฒ่าก็ดีนะ ดีอย่างไร เวลามีงูขวางทาง ได้ยินเสียงไม้คนเฒ่า งูก็จะหลีกทางให้เรา มีอะไรขวางทาง ก็สักไม้คนเฒ่าไป พวกสัตว์บางประเภทมันฟังอยู่กับพื้นดิน กึ้กๆ มันจะไปเลย นั่นอยู่ตรงนั้นมีงูจงอางลอกคราบอยู่ตรงนั้น ยาวเกือบสองวา ทำไมไปอยู่อย่างนั้น สงสัยมันไปลอกคราบตอนกลางคืน งูจงอาง ไม่ใช่อยู่ในป่า อยู่ในคูใกล้ๆ ศาลา ตัวใหญ่เท่าแขน มีไม้คนเฒ่าก็ดีนะ จ๊กๆ ไปเลย กลางคืน ถ้าหลวงพ่อเดินก็จะถือไม้คนเฒ่า ไปเลย ไม่ต้องมีไฟก็ได้ จ๊กๆ ไป
เนี่ย บางทีก็มองในแง่สนุกไป เหมือนกับเราอยู่คนเดียวในโลก ถ้ากลางคืนเรานอนแล้วอิ่ม เราตื่นขึ้นมาแล้ว โอ้ ในโลกนี้มีเราคนเดียว เงียบดีจริงๆ หลวงพ่อเทียนเคยทำแบบนี้เหมือนกัน เอากลางคืนเป็นกลางวัน เอากลางวันเป็นกลางคืน ทำไมจึงเอากลางคืนเป็นกลางวัน เอากลางวันเป็นกลางคืน กลางคืนนั่นเอาเวลาทำงานดีกว่ากลางวัน กลางวันนี่นอนซะเพื่อจะหลบหลีกการพูดการคุยการมองการเห็นอะไรต่างๆ เอากลางคืนเป็นเวลาทำความเพียร เอากลางวันเป็นเวลานอน แต่ว่าไม่ถูกต้อง หลวงพ่อเทียนก็เคยคิดแบบนั้น แล้วกายเป็นโรคกระเพาะ เพราะว่ากลางวันนอน เวลาคนนอนมันก็ไม่หิว ไม่รู้จักหิวก็ไม่ค่อยได้กินข้าว เหมือนเรานอนกลางคืน ถ้าหิวๆ ไปนอนหลับ มันก็หายหิวนะ ใช่มั้ย หลวงพ่อเทียนก็ไม่รู้ สมัยก่อน
หลวงพ่อก็เสียดายนะ เสียดายหลวงพ่อเทียน ถ้าไม่มีโรคเบียดเบียน หลวงพ่อเทียนจะมีอายุถึงร้อยปีนะ อายุ ๗๐ ปีนี่แข็งแรงกว่าหลวงพ่อนะ ยังเดินสะพายบาตร ขึ้นรถโดยสารไปสอนธรรมะ มีโรคเบียดเบียน เราก็ไม่รู้ เราก็โง่จริงๆ ตอนที่หลวงพ่อเทียนอายุ ๖๐ ปีเนี่ย บ่นร้อนท้องๆ หลวงพ่อเทียนเอาผ้าคลุมหัวไม่เป็นนะ มีแต่เอาผ้าพับๆ ปกเอา แล้วท่านก็สอนเราด้วย ไม่เอาผ้าคลุมหัวห่มเหมือนมุสลิม เอาผ้าพับๆ แล้วก็ปก เดินจงกรมกลางคืน แฟบๆๆ หลวงพ่อก็อยู่กุฏิไกลๆ ลงมาดู เอ๊ หลวงพ่อไม่นอน มาดู ก็เดินแทดๆ หลวงพ่อไม่นอนล่ะ “มันบ่นอนหัวมันแล้ว มันฮ้อนท้องแน่ะ นอนมันก็ฮ้อนหลาย ถ้าเดินจั๊งซี่ มันก็คลายแหน่ เดินมันอยู่นี่แหละ บ่นอนหัวมันแล้ว” ก็เดิน เอาผ้าปกหัว “จะทำจั๊งได๋ ทำจั๊งซี่เซ้าเหรอหลวงพ่อ” “ถ้ากินน้ำมะพร้าวก็คลายแด๊” ก็ไปหาน้ำมะพร้าวมาให้กิน พอกินลงไปก็คลาย
ไม่รู้ว่าท่านเป็นโรคกระเพาะ ถ้าเรารู้จักสมัยนั้น รีบรักษาซะ จะไม่ต้องกลายเป็นโรคมะเร็งตัดกระเพาะทิ้ง อายุ ๖๐, ๗๐ ยี่สิบปีน่ะก่อนหลวงพ่อจะไปตัดกระเพาะอาหาร เราสามารถรักษาทันอยู่ เพราะเราก็ไม่รู้ โง่จริงๆ เสียดายหลวงพ่อเทียน ถ้าใครบ่นว่าร้อนท้องเนี่ย อย่าไปหาน้ำมะพร้าวมาให้กิน ต้องพาไปหาหมอ มองไว้ก่อนต้องเป็นโรคกระเพาะอาหาร ร้อนท้อง แล้วก็ปวดท้อง เหตุที่หลวงพ่อเทียนเอากลางคืนเป็นกลางวัน เอากลางวันเป็นกลางคืนถือว่าไม่ถูกต้องนะ พวกเราไม่ต้องเอาอย่างนะ กลางคืนก็นอน กลางวันก็ทำงานต่อสู้
ถ้าหลวงพ่อจะบอกก็ว่า กลางวันนี่แหละเป็นเวลาทำความเพียร กลางคืนต้องนอน เวลานอนก็ต้องนอน อย่าไปคิดจนนอนไม่หลับ ถ้ามีใครยังคิดเวลานอนถือว่าไม่ถูกต้อง ต้องเปลี่ยน เวลานอนก็บอกตัวเองว่า เวลานี้เป็นเวลานอน ควรนอน หลับไม่หลับก็ช่างหัวมัน ว่าจะนอน กล่อมตัวเองให้รู้สึก หายใจเข้าก็รู้สึก หายใจออกก็รู้สึก มันจะหลับ ไม่ต้องไปคิดว่าอยากจะให้มันหลับ การคิดอยากจะให้หลับยิ่งไม่หลับนะ ถ้านอนเฉยๆ นอนสบายๆ มันจะหลับ อะไรก็ตามมันมีเทคนิคของมันอยู่
การเจริญสติการเปลี่ยนนิสัย มีอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา หลักเดียวเท่านั้น สติ สติเท่านั้น รู้สึกตัว วิธีที่รู้สึกตัวหลายอย่าง หายใจเข้าหายใจออก ยิ่งพวกเราสร้างจังหวะ ๑๔ จังหวะ ๒๘ จังหวะเนี่ย เพิ่มลงไป ทำลงไป ส่วนใดก็ส่วนนั้น กะพริบตาติดต่อกันสักสิบนาที กลืนน้ำลายติดต่อกันสักห้านาที ตั้งใจ นี่ มันก็เป็นไปได้ ความรู้สึกตัวก็พลิกขึ้นมามีกำลัง กำลังสติได้จาก “บัพพะ” บัพพะเป็นเครื่องชูกำลังให้สติมันงอกงาม บัพพะคือการเคลื่อนไหว กายบัพพะ จิตตะบัพพะ สัมปชัญญะบัพพะ เป็นสิ่งที่ทำให้สติมันงอกงามได้ไว ทันทีทันใด ถ้าไม่ใช่บัพพะมันจะช้า ต้องใช้บัพพะร่วม ให้เกิดความรู้สึกตัว กะพริบตา กลืนน้ำลาย พลิกมือสร้างจังหวะ หรือเดินจงกรม
เดินจงกรมนี่ดี๊ดีสำหรับคนใหม่ๆ นะ ดีกว่านั่ง มันจะไม่เสียเวลากับความง่วง นั่งมันเสียเวลากับความง่วง ความง่วงเข้ามาอาศัยเป็นอาคันตุกะมาบ่อย เดินจงกรมนี่จะไม่ได้อาศัย ชั่วโมงหนึ่งก็ล้วนๆ มีสติชั่วโมงหนึ่ง จะมีบ้างคือความคิด ความคิดมันก็ไม่ยากเหมือนกับความง่วง ความง่วงมันมีแนวร่วมเยอะแยะ ตาก็ลืมไม่ขึ้น มืออ่อนขาอ่อน ถ้าความคิดนี่มันยังเดินได้ ก็เอามารู้เนี่ย มันเหมาะกว่า อย่าไปง่วง ปล่อยให้มันง่วงกับการนั่ง ถ้าเราเข้มแข็งในการเดินจงกรมมีสติแล้วนะ พอไปใช้อิริยาบถนั่ง มันจะสบาย
ถ้าเอาอย่างหลวงพ่อ หลวงพ่อชอบเดินเวลาทำใหม่ๆ พอมีอารมณ์แล้ว รู้จักรูปจักนามแล้ว ค่อยนั่ง นั่งดีกว่าเดิน เพราะอะไร เพราะมันเห็นรายละเอียดกว่ากัน มันจะเห็นความง่วง มันจะเห็นความคิด เดินจงกรมแรงมันมากเกินไป เขย่ารู้ ตัวรู้มันมากเกินไป แต่พอมานั่ง มันจะค่อยโผล่มาให้เห็น นิสัยปัจจัยอะไรต่างๆ มันเกิดขึ้นมาละเอียดกว่าความง่วง ความรู้สึกตัวขณะที่เรายกมือสร้างจังหวะจะรู้เท่ารู้ทัน เหมือนกับความสะอาด มองเห็นขี้ฝุ่นได้ ถ้าสกปรกเหมือนกับถนนหนทาง มันก็มองไม่เห็น ถ้าพื้นดินคอนกรีต หินอ่อน กระเบื้องมันมองเห็นขี้ฝุ่นได้ ถ้ามันหยาบๆ มันมองไม่เห็น
ความรู้สึกตัวขณะที่เรานั่งมันละเอียดกว่าการเดินจงกรม ท่าทางได้หลายอย่าง หรือนอนก็ได้ ถ้าเราเก่งพอที่จะนอนก็นอนได้ นั่งได้ แต่ยืนนี่พวกเราไม่ค่อยสอนกัน ไม่เหมือนธัมมธโรของวัดไทรงาม วัดไทรงามก็ยืนเป็นหลายชั่วโมง พวกเราไม่สอนกัน หลวงพ่อเทียนก็ไม่สอน สอนอิริยาบถใหญ่ๆ เดินกับนั่งสร้างจังหวะ นอนก็ไม่ค่อยสอน ยืนก็ไม่ค่อยสอน แต่มีน้อยๆ หลวงพ่อเทียนสอน เพียงสาธิต การนอนหลวงพ่อก็สาธิต การยืนก็สาธิต แต่แน่นอนที่สุด การนั่งสร้างจังหวะได้สัดได้ส่วนพอดี การเดินพอดี๊พอดี
นี่อาชีพของพวกเรานะ ให้อย่าเกียจคร้านในอาชีพ ขอให้เราถือว่าเป็นอาชีพ ทิ้งไม่ได้ ถ้าทิ้งเราก็เป็นบาปนะ พวกเรามันเลี้ยงชีวิตเนื่องด้วยผู้อื่น ไม่ได้ทำมาหากินเอง อย่างที่เราสวด ถ้าเราประมาท บิณฑบาท เสนาสนะที่อยู่อาศัยเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค คนผู้ช่วยเราเขาจะไม่มีอานิสงส์ เขาช่วยโจรผู้ร้าย ถ้าเราปรารภความเพียร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานะเภสัชยารักษาโรค ผู้ให้ความอุปถัมภ์ เขาจะมีอานิสงส์ใหญ่เป็นผล เพราะเขาไม่ได้เลี้ยงโจร เขาเลี้ยงคนให้เป็นคนดี เป็นพระขึ้นมา แล้วเราจะได้ไปช่วยคนอื่น เราจะได้ไปสอนคนอื่น อย่างน้อยเราก็ช่วยตัวเราไม่ให้เป็นภัยปัญหาต่อสังคม สงบคนหนึ่งในโลก
ขอให้เราคิดอย่างนั้น ตัวเราสงบคนหนึ่ง ไม่ทะเลาะกับใคร ตัดไปเลย ไม่ทะเลาะวิวาทกับใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน แล้วไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน เอาอย่างนี้ก่อนก็ได้ ถ้ามีพลังมีกำลัง เอ๊า ไปช่วยผู้อื่นไม่ให้เขาไปเบียดเบียนผู้อื่น ก็ยิ่งดีใหญ่ ทีแรกก็เอาเท่านี้ก่อน