แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
จงเจริญในธรรม มีแก่ท่านผู้ฟังทุกคน ก็พูดสู่กันฟัง เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ที่เรากำลังทำอยู่ขณะนี้ ก็เพื่อให้เกิดประโยชน์ จึงอาศัยคำพูดคำสอน ช่วยชี้ช่วยแนะช่วยนำ เป็นการเตือนจิตสะกิดใจ เป็นการช่วยอันหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้ว ข้อวัตรปฏิบัติที่เราได้สัมผัสจริง ๆ นั่นแหละ เป็นอันถูกต้อง คำพูดที่หลวงพ่อพูดไป ถ้าพูดให้คนที่ไม่เคยปฏิบัติ ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้สัมผัสกับตัวสติ มันก็พูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง เพียงแต่จำ ๆ เอาไป ถ้าพูดให้ผู้ที่มีการปฏิบัติ มีการเดินจงกรม มีการสร้างจังหวะ ได้มีสติมันเป็นยังไง สัมปชัญญะมันคืออะไร รู้ตัว ระลึกได้ คราวใดระลึกได้ คราวใดหลงตัวลืมตน มันเป็นอย่างไร ก็จะรู้เรื่องกัน เพราะมีเครื่องรับ พูดในสิ่งที่เราทำ พูดในสิ่งที่เราเห็น ที่เรามี ก็ฟังรู้เรื่องกัน เพราะฉะนั้นในสิ่งที่พูด ก็พูดในสิ่งที่เราทุกคนที่อยู่ที่นี่ได้ทำกันอยู่ เช่น เราเจริญสติ เราสร้างสติ ให้มีสติดูกาย เราก็ได้ทำ
มีสติเห็นกายคือทำอย่างไร เราก็มีสติกำหนดรู้กาย เคลื่อนไหวกาย เป็นรูปแบบ การสร้างจังหวะ การเดินจงกรม บางทีเราก็นั่งสร้างจังหวะ ยกมือ เคลื่อนไหวให้มีสติ เห็นมันอยู่ รู้มันอยู่ บางทีเราพยายามที่จะรู้เห็นกาย บางทีมันก็มีอะไรมาลัก ลักเวลาเราไป ชวนให้ไปเห็นอย่างอื่น ไปคิดอย่างอื่น เราก็กลับมันมา ไม่ให้มันลักไป ให้มันเห็นอยู่ที่กาย ที่มันเคลื่อนไหวอยู่นี้ บางทีเราก็เดินจงกรม ขณะที่เราเคลื่อนไหวกาย เมื่อมันคิดไปทางอื่น เราก็กลับมา มาให้มันเห็นกายที่มันเคลื่อนไหว ที่มันสร้างจังหวะอยู่ มันคิดทีไรกลับมาทุกที อย่าให้มันเอาไปกินฟรี ๆ อย่าให้มันคิดฟรี ๆ เหมือนกับของที่มันอยู่ในมือเรา มีคนมาเอาไป เราก็นำเอากลับคืนมา อย่าให้มันเอาไปจนหมดเนื้อหมดตัว พยายามเอากลับคืนมาให้ได้ จะช้า จะไว จะเร็วจะไวขนาดไหน แล้วแต่ความคล่องแคล่วว่องไวของเราที่จะพยายามขวนขวาย ที่จะพยายามรู้สึกระลึกได้ เราก็ทำกัน ถ้าคราวใดมันรู้ตัวอยู่กับบริบท กับการเคลื่อนไหว เราก็ประคับประคองไป จนความลักคิดจนไม่มีโอกาส ก็ยิ่งดีใหญ่
เพราะฉะนั้น ความคิดก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี ถ้ามันคิดมาก ๆ กลุ้มมาก ๆ รู้ทันขณะที่มันคิด รู้ทันขณะที่มันผิด เราก็แก้ความผิดได้ ก็เป็นเรื่องที่ดีเหมือนกัน อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี เหมือนกับเราเขียนหนังสือ คราใดที่เขียนหนังสือผิดเราก็แก้คำผิด เมื่อเราอ่านทบทวนไปแล้วเราก็แก้คำผิด ถ้าเขียนไม่ผิด ขณะที่มันเขียนผิด มันอาจจะสอนให้เราเขียนไม่ผิด อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ดี การทำความเพียร การเจริญสติ ก็เหมือนกัน เราว่าจะพยายามมีสติดูกาย มันก็ไปคิดเรื่องอื่น เราก็พยายามรู้ทันมัน คราใดที่มันคิด มันหลงไป พยายามรู้มันทุกทีที่มันหลงมันลืม ทำอยู่เท่านี้แหละ ไม่ได้ทำอะไรมากมายไปกว่านี้ จนมันคล่องกับความหลง แก้ความหลงได้ทุกที กลับมาได้ทุกที มารู้ในส่วนที่เราต้องการจะรู้ ได้ทุกที ง่ายที่จะกลับ ทีแรกมันง่ายที่จะหลง ง่ายที่จะไป แต่เราก็กลับทุกที กลับทุกที จนมันง่ายที่จะกลับ ต่อไปง่ายที่จะรู้ ง่ายที่จะไม่คิด ทำใหม่ ๆ มันง่ายที่จะคิด เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก แต่ทำไป ทำไป มันก็ไม่ยุ่งไม่ยาก ง่ายที่จะรู้สึก ไม่อยากรู้มันก็รู้ ถ้าทำไปมันคล่องแคล่วว่องไวขึ้นมา จนมันอยู่แนบสนิทเป็นอันเดียวกัน เหมือนกับเราหัดขับรถจักรยาน หัดขับรถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ อะไรต่าง ๆ ทำใหม่ ๆ เหมือนกับมันเป็นคนละอันกัน หลวงพ่อเคยถามคนขับรถยนต์ เขาว่าเหมือนกับเราเดินนี่แหละหลวงพ่อ เขาว่าอย่างนั้น ถ้าจะให้เฉียดที่ตรงไหนนิดหน่อยก็ได้ นิ้วเดียวก็ได้ ก็เหมือนกับเราเดินนี่แหละ มันเป็นอันเดียวกัน รถคันใหญ่ ๆ เหมือนกับตัวเรา หลวงพ่อเคยขับเป็นแต่รถจักรยาน หัดใหม่ ๆ มันก็เหมือนคนละอัน จะเลี้ยวไปทางหนึ่งมันก็ไปอีกทางหนึ่ง ว่าไม่ให้มันล้มมันก็ล้ม มันไม่เป็น พอเป็นแล้ว ขี่เป็นแล้ว ขับเป็นแล้ว เหมือนคนเรานี่แหละ จะเลี้ยวจะไปอะไรเหมือนกับเราเดินเราวิ่งธรรมดา จะหลบจะหลีกยังไงเหมือนเป็นอันเดียวกัน ถ้ามันเป็น ความเป็น ความชำนิชำนาญ
การเจริญสตินี่ก็เหมือนกัน เมื่อมันชำนิชำนาญ มันเป็น มันเคยชิน ง่ายที่จะรู้สึกตัว แต่ก่อนสติตามหลัง มันหลงแล้วจึงรู้จัก มันคิดแล้วจึงรู้จัก เมื่อทำต่อไป ต่อไป สติมันจะออกหน้า จะเคลื่อนจะไหว จะทำอะไรก็ตาม สติมาก่อน สติมาก่อนเพราะมันชำนาญ ง่ายที่จะรู้ เมื่อขณะนั้น เมื่อมันเป็นถึงขณะนั้น มันก็เกิดความเข้าใจ รู้แจ้งเห็นจริง เห็นกายที่มันเคลื่อนอยู่นี้ เห็นจิตใจที่มันคิดมันนึก มีสติเป็นผู้เห็นเป็นผู้ดู ก็ยืนหยัดเป็นผู้ดู อะไรก็ตาม เราจะเป็นผู้ดู ก็เห็นว่าส่วนกายเป็นส่วนหนึ่ง ส่วนจิตใจก็เป็นส่วนหนึ่ง ก็เห็นว่ามันเป็นรูปเป็นนาม ส่วนรูปก็เป็นส่วนหนึ่ง ส่วนนามก็เป็นส่วนหนึ่ง ส่วนสติสัมปชัญญะเป็นผู้เห็น ก็ได้คำตอบออกมา ได้คำตอบออกมา เห็นสิ่งใดหลุดพ้นสิ่งนั้น ไม่ข้องไม่แวะ ไม่ติดไม่สงสัย มันได้คำตอบออกมา เห็นแจ้งรู้จริง ตอบได้ หลุดได้ พ้นได้ ไม่ข้องไม่ติด เห็นรูป เห็นนาม เห็นไม่ใช่เห็นเฉย ๆ รู้ด้วย เห็นรูปก็รู้อาการของรูป เห็นนามก็รู้อาการของนาม เห็นจนเป็นธรรมชาติของเขา ไม่มีที่หลบที่ซ่อน เปิดเผยออกมาให้เห็นหมด
พอมันเป็นการเปิดเผยในของที่ปิด หงายในของที่คว่ำ ก็เห็น แต่ก่อนเราไม่เห็น เพราะมันปิดอยู่ ถ้าเป็นทุกข์ก็นึกว่าตัวตนทั้งหมด ถ้าเป็นสุขก็นึกว่าตัวตนทั้งหมด ความโกรธก็นึกว่าตัวตนทั้งหมด ความหลงก็นึกว่าตัวตนทั้งหมด ความรักความชังก็นึกว่าตัวตนทั้งหมด พอมาดูเข้าจริง ๆ มันไม่ใช่ตัวใช่ตน ความโกรธก็ไม่ใช่ตัวใช่ตน ความรัก ความชัง ความทุกข์ ความสุข ไม่ใช่ตัวใช่ตน ถ้าเราดูจริง ๆ มันก็เห็นลักษณะเหล่านี้ เพราะว่านั่นคือทุกข์ อันนั้นคือหลง อันนั้นคือสุข อันนั้นคือทุกข์ เราก็ชี้ไปเรื่อย ๆ เห็นไปเรื่อย ๆ ไป มันก็หลอกเราไม่ได้ แม้แต่ความคิดก็หลอกเราไม่ได้ เพราะเราเห็นแล้ว มีตาแล้ว ถ้ามีตาลืมได้ เห็นได้ มันจะหลอกกันได้ยังไง ใครรูปพรรณสัณฐานยังไง มันก็จับได้ เหมือนกับเจ้าหน้าที่จับผู้ร้ายได้ เป็นคนนี้จริง ๆ ดูหน้าดูตา ลักษณะท่าทาง รูปพรรณสัณฐาน เป็นคนนี้จริง ๆ ก็จับไม่ผิด
ปัญญาญาณ สติสัมปชัญญะ จนเกิดเป็นปัญญาญาณ รู้แจ้งขึ้นมา มันก็จับได้ ไม่มีที่มาหลอก ไม่ได้ไปตู่เอา บอกเป็นเรื่องเป็นราวไป อันนั้นคือรูปธรรม อันนั้นคือนามธรรม ส่วนนั่นเป็นรูปโลก ส่วนนี้เป็นรูปทุกข์ ส่วนนั้นเป็นนามทุกข์ ส่วนนั้นเป็นนามโลก ก็รู้จัก จัดสรรไป ได้คำตอบไปเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ ไป ผ่านไป เหมือนกับเราสอบผ่าน เขียน ก ไก่ ข ไข่ อ่านได้ เขียนออก ก็ผ่านไปเรื่อย ๆ ไป ความรู้ก็สร้างความรู้ขึ้นไป เราไม่ได้สร้างนะ ความรู้มันแตกฉาน เหมือนกับท่านทั้งหลายที่เรียนวิชาอันใดมา คล่องแคล่ววิชาใดมา สาขาไหนมา มันก็แตกฉานในวิชานั้น ๆ อุปมาเหมือนกับหลวงพ่อเคยสานไม้ไผ่ เคยทำไม้ไผ่ แบบไหนก็ขอให้เป็นไม้ไผ่ ทำได้ทุกอย่าง จะเป็นลวดลายอะไรก็ทำได้ทุกอย่าง หรืออุปมาอย่างหนึ่งเหมือนกับหลวงพ่อเคยเล่นดนตรี เคยเป่าแคน ก็เป่าได้ทุกอย่าง เป่าแคนไปตามทำนองกลอนรำที่เขารำ เพลงที่เขาร้อง ไปได้ทุกอย่าง ถ้ามันชำนาญ ถ้ามันเป็นแล้ว พอรู้จักทิศทาง รู้จักโน้ตของมัน ก็ว่ากันไป เขาพูดยังไงก็พูดไปตามเขาได้เพราะมันคล่อง มันแตกฉาน มันสร้างขึ้นมาเอง ความรู้ความเป็นมันสร้างความรู้ความเป็นขึ้นมา เราไม่ได้สร้างนะ ตัวสัจธรรมจริง ๆ ธรรมชาติจริง ๆ ไม่ได้สร้าง
หลวงพ่อเคยพูด หลายครั้งหลายคราว ทีแรกเราเจริญสติ เราสร้างสติ ต่อไปสติจะสร้างเรา ทำให้เราเจริญ อยากจะหลงมันก็ไม่หลง อยากจะทุกข์มันก็ไม่ทุกข์ อยากโกรธมันก็ไม่โกรธ ไม่โกรธจริง ๆ อา! คนนี้มันน่ารักนะ รักดีไหม มันไม่รัก คนนี้น่าโกรธน่าชังนะ ชังดีไหม มันไม่ชัง มันบอก มันไม่เอา มันไม่เอามันรู้จัก ไม่ต้องไปสร้าง ไม่ต้องไประวัง ไม่ต้องไปนั่งหลับตา ไม่ต้องไปอด ไม่ต้องไปทน อดเอาก็ได้เวลามันโกรธ ไม่ต้องอย่างนั้น ไม่ต้องอดไม่ต้องทน มันเป็นไปเอง มันหลุดไปเอง เพราะมันเป็นตัวธรรมชาติ ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ เป็นกฎของธรรมชาติ ไม่อยากรู้มันก็รู้ ไม่อยากเห็นมันก็เห็น ชี้ออกไปเป็นขั้นเป็นตอน นี่รูปธรรม นี่นามธรรม รูปทุกข์ นามทุกข์ รูปสมมติ นามสมมติ รูปโลก นามโลก ส่วนไหนที่เป็นสมมติบัญญัติ ที่เราเข้าใจผิด ที่ยึดมั่นถือมั่น ในภาษา ในความคิด ที่เราเคยชิน ที่ว่าตัวว่าตน ความสุขความทุกข์ แต่ก่อนเราไปตู่เอา ว่าเป็นตัวเป็นตน พอมาเห็นแล้วไม่ใช่ตัวใช่ตน เป็นคนละอันกัน เพราะเรามีตาดูมัน เห็นนั่นเป็นทุกข์ นี่เป็นสุข นี่เป็นหลง นี่เป็นโกรธ นี่เป็นโลภ มันก็คนละส่วนกัน แต่ก่อนเราหมดเนื้อหมดตัวเพราะอาการเหล่านี้ เมื่อความโกรธเกิดขึ้น หมดเนื้อหมดตัวเพราะความโกรธ เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นก็หมดเนื้อหมดตัวเพราะความทุกข์ ดีใจเสียใจ ไปกับดีใจเสียใจทั้งหมด แต่เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น มันก็ขานรับ ขานรับบอกได้ ตอบได้ เป็นคนละอันกัน ส่วนที่ไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง ก็มีอยู่ต่างหาก ส่วนที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ก็มีต่างหาก เรื่องของรูปก็มอบให้รูปไป อาการของรูปก็มอบให้อาการของรูปไป เรื่องของนามก็มอบให้นามไป อาการของนามก็มอบให้นามไป ไม่ไปตู่เอาของเขา ไม่ไปโกงเอาของเขา ไม่ไปลักเอาของเขา ไม่ไปยุ่งกับเขา ไปตามเหตุตามปัจจัยบางอย่าง บางอย่างแก้ได้ บางอย่างบรรเทา บางอย่างเกี่ยวกับเขาไม่ได้เสียเลย ยุ่งกับเขาไม่ได้เสียเลย ต้องปล่อย ไม่เอา สิ่งที่ปล่อยก็ปล่อย สิ่งที่วางก็วาง สิ่งที่แก้ก็แก้ สิ่งที่ละก็ละ สิ่งใดควรเกี่ยวข้องก็เกี่ยวข้องถูก สิ่งใดไม่เกี่ยวข้องก็ไม่เกี่ยวข้องถูก ชีวิตของเรามีมากมายหลายอย่าง รู้ยิ่งเห็นจริงจริง ๆ การศึกษาการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้น เรามาตั้งต้นกันจริง ๆ ให้สัมผัสกับตัวสติสัมปชัญญะ ให้รู้นาน ๆ หลายรู้ มากรู้เข้า ให้รู้กันเป็นช่วงยาว ๆ ลองดู เหมือนกับเชือกที่มันยาว ๆ สามารถที่ใช้ประโยชน์ได้ ให้เราได้ช่วยตัวเองทำขึ้นมาเองจริง ๆ อย่าไปคิดหวังพึ่งอันใด พระธรรมคำสอนนี้อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนที่ไหน ไม่ใช่เป็นเรื่องขออ้อนขอวอน เป็นเรื่องที่ทำเอาจริง ๆ พระพุทธเจ้าก็เหมือนกับเรานี่แหละ มีกายมีใจเหมือนกับเรา มีร้อนมีหนาวเหมือนกับเรา มีหิวมีเจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนกับเรา มีหลงมีโกรธเหมือนกับเรานี่แหละแต่ก่อน พอมาเจอเข้าจริง ๆ ก็จึงรู้เห็นมัน เหมือนกับคนเราทุกส่วน มีความหิว ความทุกข์ ความปวดขาล้าแข้งเหมือนกับเรานี่แหละ บางทีก็คิดถึงพิมพาราหุลเหมือนกับเรานี่แหละ เกิดกิเลสตัณหาเหมือนกับเรานี่แหละ ไม่ต่างกันอะไรทั้งหมด
หลวงพ่อเคยไปสอนสถาบันต่างศาสนา เช่น ความโกรธ ประเทศใดภาษาใดถ้าโกรธ ก็เหมือนกันกับคนไทย ทุกคนโกรธเหมือนกัน หลงเหมือนกัน ความรักก็เหมือนกัน หัวเราะร้องไห้เหมือนกัน มันเป็นสัจจะ สิ่งเหล่านี้เรียกว่าเป็นสัจจะ ได้คำตอบอันเดียวกัน แม้แต่เราที่นั่งอยู่ที่นี่เหมือนกัน ความร้อนก็เหมือนกัน ความทุกข์เหมือนกัน ความสุขเหมือนกัน แต่ว่าต่างกันที่เราไปสมมติเอา บางคนไปสมมติ เอาสิ่งนั้นว่าเป็นสุข สิ่งนี้ว่าเป็นทุกข์ ไปบัญญัติเอา เรียกว่าบัญญัติ สมมติบัญญัติเอา แต่บัญญัตินี้ต่างกัน สมมติบัญญัติต่างกัน แต่ว่าผลของมันความสุขความทุกข์เหมือนกัน แต่เหตุที่บัญญัตินี้ต่างกัน ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเนี่ย ถ้าตอบตัวเองได้ รู้ตัวเองได้ ก็เท่ากับรู้คนอื่น สอนคนอื่นได้ เพราะคนเหมือนกัน มีรูปธรรมมีนามธรรม เป็นรูปทุกข์นามทุกข์ รูปโลกนามโลก รูปสมมตินามสมมติ ส่วนที่เป็นสมมติบัญญัติ ส่วนที่เป็นปรมัตถ์บัญญัติ เราก็มีเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นหลวงพ่อจึงชวนให้ดู ชวนให้เห็น ชวนให้ดู ชวนให้เห็น หลวงพ่อเห็นให้ไม่ได้ มีแต่พูดให้ฟัง อย่างสติ หลวงพ่อก็เอาให้ไม่ได้ สติคืออะไร สัมปชัญญะคืออะไร เอาให้ไม่ได้ เพียงแต่บอก ทำอย่างนี้ให้รู้สึก อย่างนี้มืออยู่ที่ไหน ให้รู้สึก เห็นไหม มือที่เคลื่อนอยู่เห็นไหม คนก็ตอบเอาเอง มันมีแต่คำตอบ สติคือยังไง หลวงพ่อตอบให้ สติคือความระลึกได้ หลวงพ่อตอบให้อย่างนี้ท่านก็เรียนเอาจำเอา อันนั้นเรียกว่าได้ของปลอมไป ถ้าพูดจริง ๆ ที่เป็นสัจธรรม มันมีแต่คำตอบ มันไม่มีคำถาม เช่น เรื่องบุญ บุญคืออะไร บาปคืออะไร ศีลคืออะไร สมาธิคืออะไร ปัญญาคืออะไร บางคนก็มาถาม ถ้าหลวงพ่อ ตามความรู้สึกของหลวงพ่อนะ ไม่มีคำถาม ว่าศีลคืออะไร สมาธิคืออะไร มันไม่มีคำถาม มีแต่คำตอบ คำตอบก็ไม่ใช่ให้คนอื่นตอบให้นะ ตัวเราต้องตอบเอาเอง นี่คือศีล ถ้าใครตอบได้ ได้ของจริง ได้สัจจะไป นี่คือสมาธิ นี่คือปัญญา นี่คือบุญ นี่คือบาป นี่คือกุศล เราจะตอบไป ตอบไป ๆ
เมื่อไม่นานมานี้ มีนักเรียนแพทย์คนหนึ่ง ไปปฏิบัติที่วัดป่าสุคะโตที่หลวงพ่ออยู่ เขาลาไป 20 วัน ไปเจริญสติ ไปสร้างสติ เขาอยากรู้อยากเห็นเขาก็ถาม มันคืออะไร บาปคืออะไรหลวงพ่อ เรานี่เกิดมาแล้วไปไหน ตายแล้วไปไหน บุญคืออะไร หลวงพ่อก็ขณะนั้นกำลังอาบน้ำอยู่ เขาก็ถาม อาบน้ำด้วยกัน นั่งอาบน้ำด้วยกันก็คุยกันไป ธรรมดาเป็นเพื่อนกัน หลวงพ่อก็ตอบเขาว่า โอ้ย! เรื่องที่คุณถามนี้น่ะ มันไม่มีคำตอบดอกคุณ ไม่มีคำตอบเพื่อให้คุณ ถ้าหลวงพ่อตอบหลวงพ่อนะ หลวงพ่อไม่ได้ตอบให้คุณนะ สมมติว่าตายแล้วไปไหน คุณถามอย่างนี้ ถ้าหลวงพ่อตอบหลวงพ่อนะ หลวงพ่อไม่ได้ตาย หลวงพ่อไม่ได้ไป หลวงพ่อไม่ได้อยู่ หลวงพ่อดูมัน มันไม่มีคำตอบ ตอบให้คนอื่นไม่ถูก ตอบเอาเอง เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญาก็เหมือนกัน ต้องตอบเอาเอง เห็นเอง เพราะฉะนั้นถ้าคนอื่นตอบให้ เดี๋ยวนี้เราศึกษาพระธรรมคำสอน มีแต่มาถามเอา มีแต่มาถามเอา อย่างเจริญวิปัสสนาเนี่ย บางคนคิดแล้วก็มาถาม ไม่เห็นจริง ๆ ให้เห็นแล้วจึงมาถาม เช่น เห็นรูปเห็นนาม เห็นแล้วจึงมาถาม หลวงพ่อจะพูดเปรียบเทียบให้ฟัง ขออภัยที่ยกตัวอย่าง อย่างหลวงพ่อรู้จักรูปนามเนี่ย
หลวงพ่อเทียนเดินมา “เป็นยังไง” ตอนนั้นหลวงพ่อเป็นฆราวาสเป็นโยม “เป็นยังไงโยม”
“ผมรู้ หลวงพ่อครับ”
“รู้อะไร”
“ผมรู้รูป รู้นาม ครับ”
“อ้าว! คนไม่รู้จักรูปจักนาม ก็คนผีบ้าแล้ว”
“ครับ ผมเป็นบ้าครับ แต่ก่อนผมไม่รู้จักมัน เดี๋ยวนี้ผมไม่เป็นบ้า ผมตอบมันได้แล้ว ส่วนนั้นเป็นรูป ส่วนนั้นเป็นนาม”
มันตอบเอาเอง เดี๋ยวนี้พวกเรามาศึกษาธรรมะ “อะไรคือรูป หลวงพ่อ อะไรคือนาม อะไรคือทุกข์ มันเป็นยังไง บุญมันเป็นยังไง บาปมันเป็นยังไง ศีลคืออะไร สมาธิคืออะไร ปัญญาคืออะไร” มักจะเป็นอย่างนั้นทุกวันนี้
ถ้าหลวงพ่อตอบให้ ก็ได้ของปลอมไป ยิ้มไป เดี๋ยวก็หายไปหมดไป อันนั้นมันก็ลืมเป็น ของที่จำเอามันลืมเป็น มันไม่รู้แจ้งเห็นจริง ถ้ารู้แจ้งเห็นจริงมันไม่ลืมหรอก ศีลจะอยู่กับเราตลอดเวลา ไม่ใช่เรื่องยากศีลเนี่ย เป็นเรื่องที่ไม่มีโทษไม่มีภัย เกี่ยวกับสิ่งใดไม่มีโทษไม่มีภัย ไม่มีปัญหาไม่มีทุกข์ จะคิดเรื่องใด จะพูดเรื่องใด จะทำสิ่งใด ไม่เบียดเบียนตนและคนอื่น มันไม่เอา เรื่องทุกข์มันไม่เอา มันเห็นความปลอดภัย เห็นความปลอดภัยของชีวิต การใช้ชีวิตก็อยู่ในความปลอดภัย อันนั้นเรียกว่าเป็นศีล ภาวะความปกติ มันก็เป็นสุข “สีเลนะ สุคะติง ยันติ” เป็นสุขเพราะอยู่ในที่ปลอดภัย นี่แหละเราเห็นเอง รู้เองจริง ๆ รู้เรื่องบุญ รู้เรื่องบาป รู้เรื่องสวรรค์ รู้เรื่องนรก รู้เรื่องมรรคเรื่องผล เย็นมันเป็นยังไง ร้อนมันเป็นยังไง อันใดที่ร้อนมันเป็นยังไง เราก็สัมผัสได้ เห็นได้ ก็รู้จักเข็ดจักหลาบ แต่เดี๋ยวนี้เราไม่รู้จัก บางทีไปโกงเอา ไปตู่เอาความร้อน ไปตู่เอาความทุกข์ เช่น ความโกรธเนี่ย ความทุกข์เนี่ย ความโกรธมันเป็นทุกข์ บางทีไปแย่งเอาความโกรธ ถ้าไม่โกรธก็ไม่ดี หาว่าถ้าไม่โกรธก็เป็นบ้า ก็ว่าไป เขาว่าขนาดนี้ไม่โกรธมันก็เหมือนหมาแหละ ก็ว่าไป เห็นความโกรธเป็นเรื่องดี ถ้าใครไม่โกรธก็เป็นหมา เคยได้ยิน เขาว่าปานนี้ไม่โกรธมันก็หมาเท่านั้นแหละ เขาว่าเอา เพราะฉะนั้นเนี่ยไปแย่งเอา ไปตู่เอา ไปชอบความโกรธ รักสุขเกลียดทุกข์ จริง ๆ มันไม่ใช่ ชีวิตของปุถุชนธรรมดา เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นงูเป็นปลา ไปคว้าเอา เห็นผิดเป็นถูก พอมันเกิดปัญญาญาณขึ้นมา เห็นผิดเป็นผิด เห็นกงจักรเป็นกงจักร เห็นดอกบัวเป็นดอกบัว เห็นงูเป็นงู เห็นปลาเป็นปลา ปัญญาแจ้ง มันเป็นตาทิพย์ มันเห็นแจ้ง มันรู้จริง สร้างเอา ทำเอา เริ่มต้นจากสิ่งที่เราทำอยู่นี่แหละ จุดไฟผู้รู้ผู้ตื่นให้กำเนิดอันนี้ให้มาก เลี้ยงตัวนี้ให้โต เลี้ยงพรหมจรรย์ตัวนี้ให้โต ให้เจริญให้มาก ลองดู มีความรู้สึกระลึกได้ ลองดู ต่อไปความรู้สึกระลึกได้ตัวนี้จะเลี้ยงเรา เหมือนกับเราเลี้ยงลูก ต่อไปลูกจะเลี้ยงเรา รับผิดชอบตัวเรา เพราะเห็นคุณเห็นค่า เห็นประโยชน์ กุลบุตรลูกหลานผู้ที่มีกตัญญูกตเวทีจะลืมพ่อแม่ไม่ลง เมื่อเห็นบุญเห็นคุณ เห็นความผิดความพลาด เห็นความลำบากของพ่อของแม่ จะลืมไม่หลง แม้จะเฒ่าแก่ขนาดไหนก็ยังร้องหาแม่อยู่
คราวหนึ่งหลวงพ่อไปอบรมพวกยาเสพติด อยู่ที่วัดป่ามะแว้ง จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงปี พ.ศ. 2516 – 2517 เนี่ย ช่วงนั้นหลวงพ่อดูพวกเล่นกับพวกยาเสพติด ช่วยเหลือพวก(ที่ติด)ยาเสพติด ก่อนที่เขาจะให้เลิกสูบฝิ่น เขาให้ไปกินยา พอกินยา เพื่อให้ลืมฝิ่น พอกินแล้วก็เมา พอเมาก็อาเจียน พออาเจียนมันจะตายก็ร้องหาแม่ เฒ่าแก่แล้วยังร้องหาแม่อยู่ แม่ แม่ อยู่อย่างนั้น แม่ ๆ แม่ก็ตายไปไม่รู้ว่าเท่าไหร่กี่ปีแล้ว ลูกก็ยังร้องหาพ่อหาแม่อยู่ เพราะฉะนั้นมันไม่ลืม มันลืมไม่ได้
ฉันใดก็ดี การเจริญสติสัมปชัญญะ ธรรมอันนี้เหมือนกับพ่อกับแม่จริง ๆ ขอให้เราได้มอบความเป็นใหญ่อย่างที่หลวงพ่อพูดทุกวัน ให้อำนาจ ให้ความเป็นใหญ่ ให้มา ให้ออกทางนี้ ให้เข้าทางนี้ ให้เห็นทางนี้ อย่าให้เป็นอิสระ ง่ายที่จะโกรธ ง่ายที่จะหลง ต้องผ่านทางนี้ก่อน ทักท้วงก่อน โต้ตอบเสียก่อน มันจะโกรธก็รู้ก่อน ทักท้วงมัน มันจะหลง มันจะสุข มันจะทุกข์ อย่าให้หมดเนื้อหมดตัวเพราะความสุขความทุกข์ เพราะความโกรธความหลง ทักท้วงมันดูก่อน ชีวิตของเราที่จะใช้ไปอย่างที่เรามาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ จะลุก จะนั่ง จะเดิน จะคู้ จะเหยียด จะเคลื่อน จะไหว จะพูดจะจา อะไรก็ตาม พยายามผ่านทางนี้ก่อน รู้สึกระลึกได้ก่อน เอื้อมมือไปจับแก้วก็รู้สึกเสียก่อน แก้ววางลงก็รู้สึกเสียก่อน หัดใช้ หัดทำไปก่อน ใหม่ ๆ ก็ช้า ๆ ไปก่อน เหมือนกับเราหัดขีดหัดเขียน ก ไก่ ข ไข่ หัดทำงานทำการ ใหม่ ๆ ก็ต้องช้า คลำดูเสียก่อน ต่อไปมันคล่องแคล่วขึ้นมาเอง ลำดับขึ้นมาเอง ไวขึ้นมาเอง จึงว่าฝึกหัดดัดแปลงแก้ไขปรับปรุงตัวเอง การใช้ชีวิตอย่าลุกลี้ลุกลน อย่าหุนหันพลันแล่น อย่าวู่อย่าวาม ให้ยับ ๆ ยั้ง ๆ รอ ๆ หยุด ๆ ไว้ มีความยับยั้งชั่งจิตเสียก่อน หัดให้เป็นระเบียบ อย่าลุกลี้ลุกลน จะทำสิ่งใด จะพูดสิ่งใด จะคิดสิ่งใด จึงอาศัยสถานที่อย่างนี้มาฝึกหัด สิ่งแวดล้อมก็ดี มีหมู่ มีมิตร มีเพื่อนที่ดี พยายามช่วยเหลือเจือจุนกันอยู่ ดูแลกันคนละทิศละทาง สร้างความสงบ ให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อกัน หลวงพ่อก็เดินจงกรมให้ดู สร้างจังหวะให้ดู พูดให้ฟังด้วย ชี้นำด้วย บอกด้วย อันไหนที่ไม่เข้าใจ อันไหนที่ยังลังเลสงสัย ค่อยแก้ค่อยไข ค่อยปลดค่อยเปลื้องกันไป เราก็ค่อยทำกันไป สร้างให้มันมี ทำให้มันเกิด ทำให้มันมากขึ้นมา เจริญสติ สร้างสติ เราก็สร้างให้มันมี เจริญก็คือทำให้มันมาก เมื่อมันมี เมื่อมันมาก มันจะเป็นยังไง ตอนนั้นก็จะรู้เองเห็นเอง
เพราะฉะนั้นเป็นคำพูด คำพูดที่หลวงพ่อพูด ท่านก็ไปลำดับดู ได้คำตอบไหม ทันไหม ลำดับตามทันไหม เป็นยังไง ความหลงมันเป็นยังไง สติคืออะไร สัมปชัญญะคืออันใด ความคิดคืออะไร เคยทักท้วง เคยตอบความคิดไหม เวลามันคิดเอาคืนมาได้ไหม หรือให้มันไปจนอิ่มตัว เราก็รู้จัก มันมาทีไรก็ได้ฟรีไปทุกที ไม่มีใครทักไม่มีใครท้วง ไม่มีใครเอากลับคืนมา มันก็มาบ่อย ๆ มันก็มาบ่อย ๆ มันเคยชิน มันเคยได้ มันก็มา เหมือนกับโจรผู้ร้ายมันเคยได้ มันก็มาบ่อย ๆ เอาไปเอามาก็เป็นที่ท่องเที่ยวของเขา เป็นสาธารณะของเขา ง่ายทีเดียว เพราะฉะนั้น หัดมีเจ้าของ หัดมีผู้ทักผู้ท้วง มีผู้ดูผู้แล ผู้ทักท้วงโต้ตอบอาการต่าง ๆ ก็คือการเจริญสตินี่แหละ ดูกายดูใจ เป็นข้อที่เราควรศึกษาปฏิบัติ จะพูดยังไง หลวงพ่อก็พยายามตั้งที่นี่ให้ได้ ตั้งต้นจากที่นี่ให้ได้ ดูที่ตรงนี้ ลงที่จุดนี้ ลงสนาม ลงเวทีกันตรงนี้ก่อน มันจะเป็นแชมป์ เป็นศิลปะขึ้นมาเอง
ขอให้เราทั้งหลายจงเพียรพยายาม ก็หมดเวลาพอดี ก็ท้ายที่สุดนี้ หลวงพ่อก็ขออำนวยอวยพร บอกพร ไม่ใช่ให้พร ขอให้เราทุกคนจงเพียรพยายาม เอาความเพียรเป็นการบุกเบิก ความเพียรเหมือนกับน้ำฝน ศรัทธาเหมือนกับเนื้อนา ความเพียรเหมือนกับน้ำฝน สติเหมือนกับข้าวปลูกข้าวพันธุ์ หว่านลงไปในเนื้อนา คือกายคือใจนี้ แล้วก็มีสมาธิเป็นกำลัง เป็นพละ ช่วยเหลือเจือจุน อย่าท้ออย่าถอย พยายามอยู่ก็จะเกิดผล ได้ผลคืออมตะ ความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เป็นสมบัติของพวกเราทุกคน จงได้ประสบพบเห็น ทั่วกันทุก ๆ คนเทอญ