แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สิริพระพุทธศาสนายุกาล นับจำเดินแต่วันปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัดนี้ได้ล่วงไปแล้ว 2,548 พรรษา ปัจจุบันสมัยสุรทินที่ 23 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2548 วันพุธนะวันนี้ มีนัยพุทธศาสนิกชนจะพึงกำหนดนับด้วยประการฉะนี้ เบื้องหน้าต่อนี้ไปขอเชิญชวนมวลหมู่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จงตั้งโสตประสาทคอยรองรับพุทธพจน์รสพระธรรมเทศนาดังอาตมาภาพจะได้ชี้แจงแสดงต่อไปตามสมควรแต่เวลา ขอนอบน้อมต่อพระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เจริญพรญาติโยมสาธุชนผู้ที่สนใจในการศึกษาปฏิบัติธรรมทุก ๆ ท่าน วันนี้ก็เป็นวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนาของพวกเรา โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ได้จัดเป็นกิจกรรมอันใหญ่โต ณ ที่สนามหลวงแห่งนี้ เรียกว่า สัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา อาตมาก็อยู่บ้านนอกจังหวัดเขตจากกรุงเทพฯ ไปก็ประมาณ 400 กิโล ก็ได้ยินข่าวเห็นภาพที่สนามหลวงที่จัดสัปดาห์แห่งพุทธศาสนา และก็ปีนี้ก็ได้รับนิมนต์ให้มาแสดงธรรม แต่ว่าไม่ได้นิมนต์โดยตรงมีเพื่อนที่วัดเป็นผู้รับให้ก็จะได้มาแสดงธรรมอยู่
ในวันนี้เราทั้งหลายก็รู้จักแล้วว่าเป็นวันพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์อันเป็นคำสอนที่สุดยอด สรุปคำสอนทั้งหมดลงตัวอย่างงดงาม ทุกชีวิตสามารถที่จะนำไปปฏิบัติกับชีวิตทุกชีวิตได้ เป็นธรรมสากล ข้อว่าละความชั่ว ทำความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ เรียกว่าเป็นสากลที่สุดหมายถึงชีวิตของทุกชีวิตนั่นเอง ไม่ใช่อยู่คนละเรื่องกับชีวิตเรา การละความชั่ว การทำความดี เราปฏิเสธไม่ได้ ไม่ต้องไปอ้างเพศวัยลัทธินิกายชาติชั้นวรรณะไหน ๆ ทุกคนก็คือชีวิต ชีวิตที่ทำให้ถูกต้องเป็นความชอบธรรมก็คือละความชั่วทำความดี ไม่ใช่เป็นคำสอนที่อยู่ในตำรับตำรา เป็นเรื่องของชีวิตเราล้วน ๆ การละความชั่วก็เป็นเรื่องของกายของวาจาของจิตใจของเรา แล้วก็ง่าย ๆ ไม่ยาก โดยเฉพาะวิธีที่จะละความชั่วทำความดีทำจิตให้บริสุทธิ์ เป็นการที่ครบวงจรสำหรับนำไปปฏิบัติก็คือเรื่องของกรรมฐานหรือภาวนาที่สอนกันอยู่ในประเทศไทย ภาวนาคือพระธรรมคำสอน เริ่มต้นจากการเจริญสติตามรอยยุคลบาทของพระศาสดาของเรา
ก่อนที่จะเกิดธรรมให้โอวาทปาติโมกข์นี้พระพุทธองค์ก็เคยได้ปฏิบัติในหลักของภาวนา ได้รู้ธรรมเห็นธรรม จึงได้มาทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระอรหันต์ 1,250 รูป ก็พิสูจน์ได้ทันที นับดูตั้งแต่วันพระองค์ตรัสรู้ประมาณ 9 เดือน 8 เดือนนี่พระองค์ก็ได้สอนเรื่องการเจริญสติตามหลักของมหาสติปัฏฐานสูตร พิสูจน์ 9 เดือนเนี่ย ตั้งแต่เดือนวันเพ็ญเดือน 6 จนถึงวันเพ็ญเดือน 3 เนี่ยมีผู้ที่ได้บรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระอรหันต์ 1,250 รูป ก็เรียกว่าพิสูจน์ได้แล้ว พระองค์จึงมาตรัสโอวาทปาติโมกข์ให้รื่นเริงบันเทิงในหมู่พระอรหันต์เพื่อจะเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่อันเป็นหลักสากลที่สุด พระสงฆ์ทั้งหลายได้ฟังแล้วก็ชื่นชมยินดีนำไปเผยแพร่นำไปปฏิบัติ โดยเฉพาะการเจริญสตินี้เจริญสติอย่างเดียวรู้สึกตัวตามหลักของสติปัฏฐานสูตรว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีสติดูกาย การมีสติดูกายเป็นที่ตั้งเป็นฐานเป็นที่ตั้งมันก็ละความชั่วไปทันที ขณะที่มีสติดูกายเป็นฐานเป็นที่ตั้งมันก็ทำความดีไปในตัว ขณะที่มีสติดูกายเคลื่อนไหวเป็นที่ตั้งมันก็ทำให้จิตบริสุทธิ์ทันที ทำของยากให้เป็นของง่าย ทำของหนักให้เป็นของเบา ทำของมาก ๆ ให้เป็นของน้อย ๆ จึงเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจสำหรับผู้ที่ได้เข้าหลักของกรรมฐาน เจริญวิปัสสนากรรมฐานหรือเราเรียกว่าภาวนา
ในที่นี่ก็ได้นิมนต์ครูอาจารย์มาพูดเรื่องปฏิบัติธรรมกันทั้งนั้น คงจะได้ยินได้ฟังกันมากสำหรับการฟัง การฟังเพื่อให้เกิดความรู้ เมื่อเกิดความรู้แล้วนำไปปฏิบัติ นำไปทำดู มันก็จะได้คำตอบ เมื่อได้คำตอบก็เกิดการพบเห็นกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายกับใจก็เป็นการละความชั่ว เป็นการทำความดี เป็นการทำจิตให้บริสุทธิ์ได้ทันที ไม่ต้องมีคำถาม ผู้ปฏิบัติธรรมตามหลักของมหาสติปัฏฐานสูตรไม่ต้องมีคำถามเพราะมันเกิดการพบเห็นเข้า ไม่ใช่เรื่องคิดเห็น มันเป็นการพบเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจของเรา โดยเฉพาะกายของเราใจของเราถือว่ามันเป็นตำรา มันเป็นตำราที่เราจะต้องศึกษา เรามีสติดูกายดูใจเท่ากับเราเปิดตำราเล่มใหญ่ สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจจะบอกเรา ความสุข ความทุกข์ ความเท็จ ความจริง ความผิด ความถูก มันจะบอกเรา
ผู้ที่มีสติก็พบเห็นได้บทเรียนได้ประสบการณ์จากสิ่งต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจของผู้ปฏิบัติ สิ่งไหนเกิดขึ้น เช่น กายานุปัสสนา ในคำสอนก็บอกว่าให้เรามาดูกาย การดูกายก็มีหลายอย่างที่เกี่ยวกับกายจะเป็นลมหายใจเข้าหายใจออก ว่าแต่เราดูอยู่ที่ลมหายใจ ลมหายใจก็เป็นเรื่องของกาย การเดินจงกรมกลับไปกลับมาให้รู้สึกอยู่กับการก้าวไปก้าวมาของกายนั่นก็เป็นกาย หรือวิธีเคลื่อนไหวมือยกมือไปยกมือมา เจตนาที่จะสร้างความรู้สึกตัว ขยันรู้ให้มันตรงกับหลักภาวนา ภาวนาก็คือการขยันรู้ อย่าอยู่นิ่ง ๆ อย่าไปอยู่ในความสงบ ให้สร้างความรู้สึกตัว เวลาใดที่มันสงบเราก็จะเห็นถ้าเรามีความรู้สึกตัว เวลาใดที่มันฟุ้งซ่านเราก็จะเห็น
ภาวะที่เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจมันก็จะเป็นบทเรียนไปเรื่อย ๆ เป็นประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ หลาย ๆ อย่างที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจจะเป็นบุญ เป็นบาป เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา มันจะเกิดให้ผู้เจริญภาวนาได้พบเห็น เมื่อพบเห็นบ่อย ๆ มันก็คุ้นเคย เช่นเราดูกายเคลื่อนไหวมันก็จะเห็นกายต่อหน้าต่อตา มือเราอยู่ตรงไหน หรือเราเดินจงกรม ก้าวไปทีละก้าว รู้ทุกก้าวที่ก้าวไป การรู้สึกที่ก้าวไปมันไม่ใช่รู้เฉพาะที่ก้าวไป เหมือนกับตาที่เราเห็นอะไรบ่อย ๆ มันก็จะต้องเกิดสิ่งต่าง ๆ เกิดจำ เช่นเราเห็นหน้ากัน การเห็นหน้ากันบ่อย ๆ ก็จำหน้ากันได้ เมื่อจำหน้ากันได้ก็รู้จักจริตนิสัยของคน ๆ นั้น เราก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับคน ๆ นั้นถูกต้อง เป็นบัณฑิตอย่างไร เป็นคนพาลอย่างไร
การที่เรามีสติมาดูกายนี้เราก็จะเห็นกายเห็นเป็นรูป เห็นจิตเห็นใจเห็นเป็นนาม เป็นรูปเป็นนาม แต่ก่อนเราก็นึกว่าเป็นกาย ในคำสอนก็บอกตรัสไว้บอกเราว่ากายสักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เราก็พูดได้ พูดไปอย่างนั้นแหละ แต่ไม่เกิดการพบเห็นจริง ๆ เราเห็นต่อหน้าต่อตาหนึ่งวัน สองวัน สามวัน มีความรู้สึกตัวอยู่ที่กาย ความรู้สึกตัวกับกายมันก็ติด กายมันก็คุ้นเคยกับความรู้สึกตัวมันก็ติด ความรู้สึกตัวไปติดอยู่กับกายมันก็ไม่หลง แต่ก่อนเราหลงกับเรื่องของกายมีมาก กายทำให้เราหลงเยอะแยะไปหมดเลย บัดนี้พอเรามาหัด กายนี่แหละจะเป็นวัสดุอุปกรณ์ทำให้เราเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา เวลาไหนมันหลงที่กายมันก็เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้เรียกว่าปฏิบัติแล้ว การเปลี่ยนหลงเป็นรู้นั่นแหละเป็นนักปฏิบัติ แล้วเขาก็จะหลงให้เห็น เราก็สนุกเปลี่ยนความหลงเป็นความรู้เรื่อยไป
ผู้ที่เจริญสติอยู่กับกายไปนาน ๆ เมื่อมันรู้สึกตัวอยู่ที่กายเวลามันหลงมันไม่เอา มันไม่เอาเพราะความหลงมันไม่ถูกต้อง ความรู้ต่างหากที่มันถูกต้อง แล้วก็ไม่มีคำถาม เวลาใดเราหลงเราก็รู้ว่ามันหลงเราก็เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ให้มันถูกต้อง มันชอบธรรม ความหลงไม่เป็นการชอบธรรม ความรู้ต่างหากที่เกิดความชอบธรรมต่อชีวิตเรา เราก็ค่อยที่จะพบเห็นสิ่งต่าง ๆ เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ อันเกี่ยวกับกายกับใจของเรา แล้วยิ่งไปเห็นกายว่ามันเป็นรูป มันก็เป็นรูปจริงๆ พอเห็นเป็นรูปก็ไม่มีตัวมีตนอยู่ในกาย อาจจะไม่ต้องใช้คำพูดว่า “กายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา” อาจจะเพียงบอกว่า “เห็นแล้ว รู้แล้ว รู้แล้วล่ะ”ว่านี่คือกายคือรูปจริง ๆ การที่จะมีตัวมีตนอยู่ในกายก็จะไม่มี เรื่องของกายไม่มีตัวมีตนอยู่ในกายเป็นแต่เพียงพบเห็น แต่ก่อนนี้เรามีตนอยู่ในกาย เจ็บปวดก็คือตนคือกู ร้อนหนาวก็คือกู กูปวด กูร้อน กูหนาว กูหิว พอมามีสติเข้าไป เข้าไป เข้าไป มันไม่ใช่ไปมีกู มีแต่เห็น
การเห็นอาการต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นกับกายก็ได้คำตอบ ไม่จน เราเคยหลงเรื่องของกายเคยเป็นสุขเป็นทุกข์ เรื่องของกายเคยมีสุขมีทุกข์มันก็จะไม่มี ถ้าจะตอบก็ตอบว่าเป็นอาการ เป็นอาการของกายที่เขาแสดงออกก็เกิดปัญญา แต่ก่อนนี้นึกว่าตัวว่าตน เป็นตัวเป็นตนเต็มที่ หัวเราะร้องไห้เพราะกายที่เขาแสดงออก เช่น ความปวดที่มันเกิดขึ้นกับกายหรือที่เราเรียกว่าเวทนาก็ตาม แต่ก่อนเวทนาทำให้เราเป็นสุขเป็นทุกข์ เราก็อยากได้สุขเราก็กลัวทุกข์ เวลาใดที่มันสุขก็พอใจ เวลาใดที่มันทุกข์ก็ไม่ชอบ พอมาเห็นเป็นรูปเป็นนามมันก็ไม่มีความชอบความไม่ชอบอยู่ในสุขในทุกข์ เห็นเป็นอาการ อาการของรูป มันก็ไม่ยิ่งใหญ่อะไร แต่ก่อนมันมีตัวมีตนมันก็ยิ่งใหญ่ สามารถที่จะกระชากลากดึงให้เราเป็นไปตามอาการต่าง ๆ นี่ผู้ที่เจริญสติมักจะได้คำตอบ มักจะเกิดการพบเห็น การพบเห็นไม่ใช่การคิดเห็น การคิดเห็นมันอยู่ไกลอาจจะแก้อะไรไม่ได้ แต่การพบเห็นมันอยู่ใกล้ ๆ
ความหลงกับความรู้มาพร้อมกัน เช่น ความทุกข์กับความไม่ทุกข์ก็เกิดขึ้นพร้อมกัน สามารถเปลี่ยนได้ เรื่องของกายที่เคยเป็นทุกข์ก็สามารถเปลี่ยนเป็นความไม่ทุกข์ได้นี่ก็แก่กล้าเข้มแข็งขึ้น เห็นกายก็สักว่ากายได้ลื่นใช้ได้ สบายมากเรื่องของกาย ไม่มีตัวมีตนอยู่ในกับกาย กายไม่สามารถที่จะทำให้เป็นสุขเป็นทุกข์ได้ มีแต่คำตอบว่าเป็นอาการของกาย เรียกว่ากายานุปัสสนา เวทนาก็เหมือนกัน เป็นสุขเป็นทุกข์ ความสุขความทุกข์ทำให้เราหลงอยู่ตรงนั้นก็มีมาก พอมาเห็นเป็นรูปเป็นนามแล้วไม่เอาสุขเอาทุกข์เพราะเรื่องรูป เป็นอาการ เบาลงไป ได้คำตอบ อาการของกายก็มีจริง ขอบคุณเขา เขารู้จักปวดจักเมื่อยรู้จักร้อนรู้จักหนาวรู้จักหิว ขอบคุณเขา เป็นสัญญาณภัยของเขา ถ้าเขาไม่มีร้อนไม่มีหนาวไม่มีหิวไม่มีเจ็บมีปวดเขาก็อยู่ไม่รอด แต่เราหลงต่างหากที่ไปยึดเอาว่าเป็นสุขเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ ผู้มีสติมักจะมีคำตอบ เฉลยได้ถ้าเรามาดูเขา ตอบได้เหมือนพระพุทธเจ้าสอนจริงๆว่า กายสักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เวทนาก็เหมือนกันที่เป็นสุขเป็นทุกข์ก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ไปเท่ากัน เฉลียวฉลาดไป ของหนักกลายเป็นของเบา ของยากกลายเป็นของง่าย
ตลอดจนถึงการเจริญสติไปเห็นจิตที่มันคิด ลักษณะของจิตคือคิด ความคิดนี่ออกหน้าออกตาแสดงเป็นหมายเลขหนึ่งที่จิตเนี่ย เรียกว่าจิตตานุปัสสนา คือมันคิดนั่นแหละ ตัวคิดนี่มันก็มีอยู่ 2 ลักษณะ ตั้งใจคิดกับความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจมันคิดขึ้นมาเอง ในเวลาเราปฏิบัติเราก็ไม่ควรที่จะไปหาเรื่องมาคิด ให้เป็นกรรมฐานล้วน ๆ อาศัยการกระทำบุกเบิก อย่าไปใช้สมอง ไม่ต้องไปใช้เหตุใช้ผล เอาการกระทำ เรียกว่ากรรมฐาน มีที่ตั้งแห่งการกระทำ มีสติดูกายเรื่อยไป ดูกายไม่ว่าจะเห็นจิตออกหน้าออกตาแซงหน้าแซงหลัง เราก็สนใจเห็นความคิดตัวเอง เกิดการพบเห็นความคิด ความคิดก็เป็นเรื่องของจิต จิตมันก็ต้องคิดเพราะงานของจิตคือมันคิด
แต่ก่อนเราก็หลงไปตามความคิด ทำตามความคิด คิดอะไรก็นึกว่าตัวว่าตน คิดที่ไม่ได้ตั้งใจต้องกลับมาทันที กลับมาตั้งไว้ที่กาย ดูลมหายใจ หรือดูการเดินจงกรม หรือการเคลื่อนไหวยกมือสร้างจังหวะตามแบบของสัมปชัญญะบรรพ สัมปชัญญะบรรพคือกายบรรพ จิตบรรพ คือมันเคลื่อนมันไหวเอามาเป็นบทเรียนอย่าให้มันเคลื่อนไหวฟรี ๆ เช่น ความคิดก็อย่าให้มันคิดฟรี ๆ รู้จัก เห็นมันที่มันคิดทีไร เห็นมัน รู้ทันมัน รู้ทันความคิด มันคิดครั้งที่ 1 ก็รู้ 1 ครั้งทันกับมัน มันคิด 2 ครั้งก็รู้ทัน 2 ครั้งแล้วก็กลับมา เมื่อเราดูอย่างนี้บ่อย ๆ ก็เห็น มันเป็นอันหนึ่งที่มันคิดขึ้นมา ไม่มีตัวมีตนอยู่ในความคิด ประสบการณ์ได้บทเรียนจากความคิดก็มีมาก บางคนไม่เคยเห็นความคิดตัวเอง ไปกับความคิดตลอดเวลา ความคิดอย่างเดียวก็ต่อไปเป็นความยินดียินร้าย ต่อไปเป็นความโลภความโกรธความหลง ต่อไปเป็นกิเลสตัณหาราคะได้ ตั้งต้นจากความคิดที่มันหลงคิดอย่างเดียว ไปไกล
ผู้ที่เจริญสติก็เห็นความคิดแล้วกลับมา กลับมาตั้งไว้ที่กาย คิดทีไรก็กลับมา คิดทีไรก็กลับมา เอาไปเอามาตัวคิดมันก็ไม่มีท่า มันไม่ได้ยิ่งใหญ่ ไม่ได้ยิ่งใหญ่สติมันยิ่งใหญ่กว่า ถูกต้องกว่า เป็นธรรมกว่า เมื่อมันยิ่งใหญ่มันก็มีอำนาจ บางทีความคิดที่มันลักคิดมันก็อาย อายสติ เหมือนกับว่าสตินี้เป็นเจ้าของกายเป็นเจ้าของจิตใจ แต่ก่อนนี้ชีวิตเราไม่มีเจ้าของไม่มีผู้ดูแล กายก็กายเถื่อน ๆ ใจก็เถื่อน ใครจะหอบหิ้วไปไหนก็หลงไปกับเขา ไม่มีเจ้าของ ไม่มีผู้ดูแล ผู้ที่เจริญสตินี่เหมือนกับมีเจ้าของผู้ดูแลกายใจ ผู้ดูแลกายจิต เหมือนรถยนต์บ้านช่องวัตถุสิ่งของที่มีเจ้าของ มันก็ไม่เป็นเรื่องป่าเถื่อน มันอยู่ในความชอบ บางทีความคิดจะต้องอาย อายความรู้สึกตัว มันไม่กล้าเพราะมันไม่จริง เหมือนกับโจรผู้ร้ายที่มาลักของที่มีเจ้าของ แม้แต่เด็กตัวเล็ก ๆ ก็ยังอายยังกลัวถ้ามีเจ้าของดู ความหลงความคิดเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจก็ค่อยถูกสอนไปตะพึดตะพือไป บางทีต้องผ่าน อะไรก็ตาม แม้มันจะสุขจะทุกข์พอเราหัดไป ๆ มันก็ต้องมาเข้าข้างความรู้สึกตัว เข้าข้างความรู้สึกตัว หาคำตอบให้ความรู้สึกตัวเป็นตัวเฉลย ไม่ต้องไปเอาเหตุเอาผล ความรู้สึกตัวนี่เป็นตัวเฉลยปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ สบายแล้วบัดนี้
แต่ก่อนนี้เรามีเหตุมีผล ทำไม ทำไม ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ พอผู้ปฏิบัติเจริญสติไปคำว่าทำไมนี่จะไม่มี มีแต่เป็นเรื่องที่เข้าใจ เป็นเรื่องที่พบเห็น เป็นการพบเห็น มันสุขก็เห็น มันทุกข์ก็เห็น มันสงบก็เห็น มันหลงก็เห็น มันรู้ก็เห็น ภาวะที่เกิดการพบเห็นเนี่ยเหมือนกับว่าได้ทาง ได้หลักได้ทาง ถ้าเกิดการพบเห็นแล้วความหลุดพ้นก็มาพร้อมกัน ถ้าเห็นแล้วความหลุดพ้นก็เกิดพร้อมกัน
เมื่อกี้นี้หลวงพ่อนั่งอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์มีนักปฏิบัติเข้าไปถาม “เวลาปฏิบัติธรรมนั่งไปนาน ๆ มันปวดมันเมื่อยจะทำอย่างไร มันสู้ไม่ได้” หลวงพ่อก็เลยถามว่า “เป็นผู้ปวดเป็นผู้เมื่อยหรือ หรือว่าเห็นมันปวดเห็นมันเมื่อย” เขาก็ตอบว่า “เป็นผู้ปวด” ถ้าเป็นผู้ปวดผู้เมื่อยละก็ยาก เป็นเรื่องที่หมดเนื้อหมดตัว ถ้าเป็นผู้ปวดหมดเนื้อหมดตัวเลยสำหรับนักปฏิบัติ ผู้ที่เจริญสติล้วน ๆเนี่ย เขาจะเห็น เห็นมันปวด เห็นมันเมื่อย ขอให้ท่านทั้งหลายที่ฟังอยู่เนี่ยลองหัดตอบเรื่องนี้ ลองดู หัดตอบตัวเองนี่แหละ เช่น มันปวดมันเมื่อย เห็นมันปวดมันเมื่อย ไม่ใช่เป็นผู้ปวดผู้เมื่อย อันไหนมันจะหนัก อันไหนมันจะเบา หัดตอบลองดูเช่น มันหิวเป็นผู้หิวหรือว่าเห็นมันหิว
หัดตอบลองดู เลือก ลองดู ถ้าเป็นผู้หิวล่ะก็หมดแล้ว หมดอยู่ตรงนั้น เป็นตัวเป็นตนอยู่ตรงนั้น ถ้าเห็นมันหิวจะไม่หมดเนื้อหมดตัว เบา ๆ ง่าย ๆ ความหิวก็ทำอะไรให้เราไม่ได้ เรื่องของกายของใจเนี่ยมีแต่ภาวะที่เห็นเพราะสติมันจะพาเราไปถึงตรงนั้นทำให้เกิดการพบเห็นเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ ถ้าเห็นแล้วหลุดพ้น เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่ายทันที ก็ต่อไป ๆ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต ที่มันโชว์ มันโชว์มาก ๆ สำหรับผู้เจริญสติ ไม่ใช่เหมือนกับสมถกรรมฐาน สมถกรรมฐานมันสงบไปเลย สิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยโชว์ สงบแล้วเมื่อออกจากความสงบมันก็ยังโชว์เหมือนเดิม ไม่ผ่าน แต่ผู้ที่เจริญสติล้วน ๆ หรือว่าสุกขวิปัสสโก ผู้เจริญสติล้วน ๆ นี่จะแก้ไปจะสงบระงับไปเรื่อย ๆ ไป มันโชว์ไม่ได้ตลอด สิ่งไหนที่มันโชว์ออกหน้าออกตายิ่งดีใหญ่ ตอบได้ตะพึดตะพือไป
เวทนามันโชว์หรือทำให้เรากลัวเข็ดหลาบ เวลาใดจะนั่งปฏิบัติธรรมแล้วกลัวเวทนา จะนั่งได้หรือเปล่า พลิกหน้าพลิกหลัง ไม่เป็นไร ดูซื่อ ๆ ดูตรง ๆ เข้าไป ให้มันออกหน้าออกตาล่ะจะได้เห็นมัน ตัวไหนที่มันดื้อจะได้เห็นมันจะได้สอนมัน จะได้รู้จักจริตของมันนิสัยของมัน เราเคยจำนนมัน พอเราดูไปศึกษาไปมัน มันพบทางมันก็ผ่านได้ มันจะเห็นทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นมา ไม่หนีหน้า ไม่หนีปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์ใดที่เกิดขึ้นกับกายกับใจไม่หนี ไม่หนี ดูตะพึดตะพือไป ของจริงก็ต้องทนต่อการพิสูจน์ สิ่งไหนที่ไม่จริงก็ทนต่อการพิสูจน์ไม่ได้ ได้คำตอบ เป็นปัจจัตตัง รู้เองเห็นเอง ประจักษ์แจ้งกับผู้ปฏิบัติ ก็ผ่านได้ แต่ถ้าจะเรียกว่ากายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี หรือธรรมก็ดี ที่มันเกิดขึ้นกับใจ ความร้ายความดี ง่วงเหงาหาวนอน เป็นกุศลยังไงเป็นอกุศลยังไงที่มันมาครอบงำจิต มีสุขมีทุกข์ต่าง ๆ ผ่านได้ เหมือนกับด่านที่มันเคยกักขังเรา เหมือนเราเดินทางเมื่อถูกด่านกักขังมันก็ไปไม่ได้ แต่นักปฏิบัตินักเดินทาง เช่น กาย เวทนา จิต ธรรมเนี่ย กักเราไม่อยู่ ทำให้เราเก่งตรงนี้ด้วย มีปัญญาตรงนี้ด้วย
แต่ก่อนเราเคยโง่ เคยหลงอยู่กับเวทนา เคยหลงอยู่กับกาย เคยหลงอยู่กับความคิดจิตใจ เคยหลงอยู่กับกุศลอกุศลครอบงำจิต ความง่วงเหงาหาวนอน ความเศร้าหมอง ความโกรธ ความลังเลสงสัย เคยหลง ผู้เจริญสติจะได้ปัญญาตรงนี้แหละ สิ่งไหนที่มันเกิดขึ้นจะได้ปัญญา เป็นเท็จเป็นจริงอย่างไรน่ะ มันก็พาเราไปเรื่อย ๆ อารมณ์ของกรรมฐานได้ตั้งแต่เริ่มต้นเลย การเจริญสติปัฏฐาน ได้คำตอบ ได้บทเรียนไปตะพึดตะพือไป มันก็เป็นตำราคือกายกับใจนี่แหละ
ความรอบรู้ในกองสังขาร คือ กายสังขาร จิตสังขาร ที่มันแสดงออกมา เราก็ได้ปัญญา ได้ปัญญาจากกาย ได้ปัญญาจากเวทนา ได้ปัญญาจากจิตใจที่มันคิดฟุ้งซ่าน อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ ถ้าจะให้ตอบให้มันถูกต้องก็เรียกว่าอาการซะ เวทนาก็ไม่ต้องเรียกเวทนา เรียกว่าอาการ ความโลภความโกรธความหลงก็ไม่ต้องเรียกว่าความโลภความโกรธความหลงก็ได้ เรียกว่าอาการที่มันเกิดขึ้นกับจิต มันไม่ใช่จิต ความโลภความโกรธความหลงมันไม่ใช่จิต มันเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับจิต แต่ก่อนเราไม่รู้ก็นึกว่าเราโกรธ กูโกรธ ถ้ากูได้โกรธแล้วกูไม่ลืม เอาอาการว่าเป็นตัวเป็นตนมันก็ไม่เที่ยง มันก็หลอกเราทำให้เราเสีย เสียเปรียบ ถ้าเราไปเอาความโกรธว่าเป็นตัวเป็นตนก็เสียเปรียบ เสียท่าไปเลย
ผู้ที่ปฏิบัติพอมีสติมากขึ้น ๆ จะง่าย ตอบว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับจิตเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติของจิตไม่เป็นอะไร บริสุทธิ์ปกติอยู่ เป็นหลักเป็นเดิม แต่ที่มันเกิดคิดขึ้นมาทำให้เกิดอารมณ์เศร้าหมองโลภโกรธหลงเกิดกิเลสตัณหาราคะมันเป็นอาการของจิต ไม่ใช่จิตแน่นอน แล้วอาการเหล่านั้นมันก็ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวใช่ตน ก็ถูกมันหลอกมาพอแรงแล้ว พอเรามีสติรู้เท่ารู้ทันมันก็ไม่ยาก ไม่เหลือวิสัยแล้วก็พ้นจริง ๆ พ้นจากภาวะเดิม เรียกว่าได้อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน ล่วงพ้นภาวะเก่า ล่วงพ้นภาวะเดิม เคยหลงตรงนี้กลายเป็นความรู้ได้ กลายเป็นความฉลาด เคยโกรธ เคยโลภ เคยหลง เคยวิตกกังวลเศร้าหมอง พ้นไป พ้นไปจริง ๆ พ้นจากสภาวะเก่า ๆ เป็นปัจจัตตัง รู้เองเห็นเอง ศรัทธาคำสอน ศรัทธาการกระทำ ทำอย่างนี้มันเกิดอย่างนี้ขึ้นมา เลือกเป็น เช่น ความโกรธไม่เป็นธรรม ความไม่โกรธเป็นธรรมกว่า เลือกเป็นๆ ความหลงไม่เป็นธรรม ความไม่หลงเป็นธรรมกว่า ความทุกข์ไม่เป็นธรรม ความไม่ทุกข์เป็นธรรมกว่า เวลาใดที่มันเกิดความทุกข์มันก็เลือกเอาความไม่ทุกข์ เวลาใดมันเกิดความโกรธมันก็เลือกเอาความไม่โกรธ เวลาใดมันหลงมาก ๆ มันก็เลือกเอาความไม่หลง เราก็เลือกได้ มีสิทธิด้วย เช่น เวลาใดเราโกรธเรามีสิทธิที่จะไม่โกรธไหม มีสิทธิ์ไหมที่จะไม่โกรธ ทุกคนมีสิทธิที่จะไม่โกรธแล้วเราเคยใช้สิทธิอันนี้ไหมหรือว่ายอมมันไปเลย
ผู้ปฏิบัติธรรมรู้จักใช้สิทธิอันชอบธรรม ความชอบธรรมต้องเกิดขึ้นที่กายที่ใจของเรา เราไปหาความชอบธรรมจากสิ่งอื่นวัตถุอื่นหาได้ยาก เมื่อใดเราปฏิบัติไปเกิดความชอบธรรมในกายในใจเรามันก็เป็นธรรม มีความเป็นธรรมจากชีวิตของเราจริง ๆ แล้วก็พึ่งได้ ผู้ที่เจริญสติศึกษาไปๆ กายมันจะบอก ใจมันจะบอก ความเท็จความจริง ใจมันจะบอก ได้ความชอบธรรมพึ่งตนได้ แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติไม่มีเจ้าของไม่มีผู้ดูแล คุ้มร้ายคุ้มดี ฟู ๆ แฟบ ๆ มีจิตมีใจก็พึ่งจิตพึ่งใจตัวเองไม่ได้ มีไหม บางทีทำใจได้ยากไม่รู้ว่าจะเป็นยังไงไม่มั่นใจตัวเอง บางคนก็ยังพูดในคำนี้อยู่แทนที่จะลบไปแล้ว ภาษาคำพูดแบบนี้แทนที่จะไม่มีในชีวิตเรา“ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง ไม่มั่นใจ” ถ้าอย่างนั้นมันก็พึ่งพาอาศัยตนเองไม่ได้แล้วใครจะพึ่งเราได้ ผู้ปฏิบัติธรรมเป็นการทำให้เป็นที่พึ่ง ได้ที่พึ่ง มีจิตมีใจก็พึ่งจิตพึ่งใจได้ ใช้กายใช้ใจอย่างถูกต้อง
แต่ก่อนนี้พึ่งบาปพึ่งบุญเรื่องของกายเรื่องของจิต เอากายไปทำชั่วเอาใจไปทำชั่วก็มี จนเป็นโทษเป็นภัยเป็นปัญหาต่อกันและกัน แม้แต่ครอบครัวผัวเมียภรรยาสามีพี่น้องยังมีปัญหาเรื่องกายเรื่องใจที่จะทำให้เกิดผลกระทบ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจะไม่มีปัญหาเรื่องกายเรื่องใจ ใช้กายอย่างถูกต้อง ใช้ใจอย่างถูกต้อง ใช้กายให้ทำความดี ใช้จิตใจให้ทำความดี ใช้กายให้ละความชั่ว ใช้ใจให้ละความชั่ว เราจะใช้กายใช้ใจอย่างชอบธรรมก็มีความมั่นใจเพราะทำอย่างนี้มันเกิดอย่างนี้ขึ้นมา สิ่งที่เราพบเห็นก็เป็นของจริง เช่นว่าความโกรธมันไม่จริง มันไม่เป็นธรรม ความไม่โกรธเป็นของจริง เป็นธรรมกว่า ก็เลือกได้ มันเป็นชีวิตใหม่ ๆ เมื่อมีความเป็นธรรมเกิดขึ้นแก่ชีวิตเราแล้วสิ่งที่มีผลกระทบต่อการกระทำของเราก็ไม่เห็น ถ้าเป็นความสุขก็เป็นความสุขส่วนรวม เป็นความสุขส่วนรวมที่เกิดจากกายจากใจเรา แต่ถ้าเราไม่รู้ก็เป็นความทุกข์ส่วนรวมที่เกิดขึ้นกับกายกับใจเราก็มีเหมือนกันมีปัญหาไม่น้อย
เรื่องวิชากรรมฐานจึงถือว่าเป็นวิชาหลักของพุทธศาสนา เดี๋ยวนี้เราก็พากันวิตกกังวลกัน เราก็อ่านหนังสือพิมพ์อยู่บนรถที่นั่งมาจากชัยภูมิมาถึงกรุงเทพฯ ว่าเขาวิตกกังวลคนเข้าวัดเข้าวาน้อย วันมาฆบูชาคนมาน้อยแต่วันวาเลนไทน์คนไปมาก คนชาวพุทธเราก็เสียใจ ไม่ต้องเสียใจ เรายังดูไม่ทั่ว แต่ถ้าพวกเราได้จับหลักของกรรมฐานจริง ๆ แล้ว ปัญหาจะไม่มี ความสงบร่มเย็นจะมีได้ทันที การทะเลาะวิวาทก็จะไม่มี การเบียดเบียนตนการเบียนเบียนคนอื่นก็จะไม่มี เหมือนกับที่หลวงพ่อได้พูดตั้งแต่ต้น ๆ ว่า การเจริญสตินี้มันก็ละความชั่ว การเจริญสติมันก็ทำความดี การเจริญสติจิตมันก็บริสุทธิ์ การเบียดเบียนตนการเบียดเบียนคนอื่นสิ่งอื่นวัตถุอื่นก็จะไม่มีเพราะมันทำไม่ได้ มันทำไม่ได้แม้แต่คิดมันก็คิดไม่ได้เพราะมันไม่ถูกต้อง แม้แต่คิดก็คิดไม่ได้มันจะผิดศีลผิดธรรมได้อย่างไร เพราะเราดูแลตัวเองอยู่ เห็นอยู่ ไม่มีตรงไหนปิดบังอำพรางในชีวิตของเรา เปิดเผยออกมาทันที
ผู้ที่เจริญสตินี่ชีวิตเปิดเผย ไม่มีที่ลับ จะคิดชั่วก็ไม่ได้ จะพูดก็ไม่ได้ มันจะไปผิดศีลผิดธรรมจะไปเบียดเบียนใคร เมื่อตัวเองไม่เบียดเบียนตัวเองแล้วมันก็อยู่ไม่ได้ดอก มันต้องไปช่วยคนอื่น มันอยู่ไม่ได้ เช่น เราเคยโกรธ พอเราไม่โกรธแล้วมันก็อยู่ไม่ได้จะไปช่วยคนอื่นให้เขาไม่โกรธ ให้เขาไม่ทุกข์ เป็นงานเป็นการของเรา มีงานมีการทำเมื่อเราได้สอนความจริงพูดความจริงให้คนทั้งหลายได้ศึกษา คนก็เข้าวัดเข้าวามาก เข้าวัดเข้าวาเพราะเราบอกความจริงเขา แล้วก็ทำให้เขาดู ไม่ใช่พูดแต่ปาก
นี่หลวงพ่อไปสอนธรรมที่สหรัฐอเมริกา มีฝรั่งคนหนึ่งเขามาบอกหลวงพ่อว่า “อย่ามาสอนผมนะ ไม่ต้องมาสอนผม จะให้ผมทำยังไงทำให้ดูสิ อย่ามาสอนนะ เรารู้อะไรมากแล้ว” โอ้! หลวงพ่อพอใจมาก เวลานั้นหลวงพ่อก็เดินจงกรมอยู่ เวลานั้นก็เดินจงกรมอยู่ก็บอกให้เขาว่า “เนี่ย ไม่ต้องสอนหรอก มาเดินดูซิเอ้าก้าวไปรู้สึกตัว ก้าวไปรู้สึกตัว รู้นะ” ภาษาเขาก็aware aware หลวงพ่อก็เคาะไหล่เขาaware ก้าวไปทีไรก็ aware เคาะไหล่เขาให้รู้ รู้เป็นครั้งเป็นครั้งนะ ให้คุณทำอย่างนี้ “คุณเคยรู้อย่างนี้ 1 ชั่วโมงมีไหม” เขาว่า “No No no no no” “คุณเคยรู้อย่างนี้ 30 นาทีมีไหม” “No no no” “คุณเคยรู้อย่างนี้อย่างต่อเนื่อง 10 นาทีมีไหม” “No no no”“คุณจะพิสูจน์ไหม ถ้าคุณพิสูจน์คุณก็ต้องเดินเอาเอง ให้รู้เอาเอง ให้คุณรู้เอาเองนะ” ก็รู้ไป ๆ เดินไป เขาก็รู้ ๆเขาก็เดิน เขาก็สอนตัวเขา นี่มันไม่มีคำถาม กายานุปัสสนามันเป็นหลักของจริง เช่นให้ทุกคนเอามือวางไว้บนเข่าดูสิ ทุกคนนั่งอยู่นี่เอามือวางไว้บนเข่าดูสิ รู้จักเข่าไหม เข่าข้างซ้าย เข่าข้างขวา เอามือข้างขวาวางเข่าข้างขวา เอามือข้างซ้ายวางเข่าข้างซ้าย หลวงพ่อจะถามว่า มือของท่านอยู่ตรงไหนเดี๋ยวนี้ ตอบได้ไหมๆ คำสอนนี้เป็นคำสอนที่สอนให้ปฏิบัติได้ให้ผลได้ ทุกคนตอบได้ มือของท่านทั้งหลายอยู่ตรงไหน ทุกคนก็ตอบได้ใช่ไหม มีคำถามหรือไม่ว่ามือของเราอยู่ไหน ถามคนอื่นไหม ถามไหม ไม่ถาม เป็นอะไร เขาเรียกว่าปัจจัตตังแล้ว นี่แหละปัจจัตตังคือรู้เองอย่างนี้ ตะแคงมือข้างขวาดูสิ ตะแคงมือข้างขวาข้างเดียวนะ รู้จักมือข้างขวาไหม ตั้งไว้ แล้วหลวงพ่อจะถามว่ามือข้างขวาของคุณคว่ำอยู่หรือว่าตะแคงอยู่ ตอบได้ไหม ถามหลวงพ่อไหมว่ามือข้างขวาผมอยู่ยังไง ถามไหม มีคำถามไหม นี่คือสัจธรรม ไม่มีคำถาม เอา! ยกขึ้นดูสิ มือข้างขวายกขึ้นดูสิ มือข้างขวาเราอยู่ตรงไหนเดี๋ยวนี้ ยกอยู่หรือ หลวงพ่อว่าไม่ใช่ มือข้างขวาของท่านวางอยู่บนเข่า เชื่อไหม ทำไมไม่เชื่อ หลวงพ่อเป็นอาจารย์นะ ทำไมไม่เชื่อ นี่คือของจริง อาจารย์ก็หลอกลูกศิษย์ไม่ได้ ลูกศิษย์ก็หลอกอาจารย์ไม่ได้ นี่คือของจริง ตอบเอาเอง เพราะฉะนั้นการเจริญสติปฏิบัติได้ ให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล ผู้ปฏิบัติย่อมรู้ยิ่งเห็นจริงในสิ่งที่ตนปฏิบัติตามสมควรแก่ผู้ปฏิบัติ นี่เป็นหลักภาวนา เป็นหัวใจของพุทธศาสนาของเรา อย่ามัวไปทำอย่างอื่นเลย ให้พากันมาเจริญภาวนา ขยันรู้ ภาวนาคือขยันรู้ เอากายของเรามาเป็นวัสดุอุปกรณ์ผลิตความรู้ออกมา
เช่น หลวงพ่อจะสาธิตให้ดู วินาทีหนึ่งรู้ทีหนึ่ง บางคนอาจจะคิดว่าแปลกนะ แต่ว่ามันเป็นสัมปชัญญะบรรพ เช่น หลวงพ่อจะนับดูนะ หนึ่งรู้ใช่ไหม สองรู้ สามรู้ สี่รู้ ห้ารู้ หกรู้ เจ็ดรู้ แปดรู้ เก้ารู้ สิบรู้ สิบเอ็ดรู้ สิบสองรู้ สิบสามรู้ สิบสี่รู้ วินาทีหนึ่งรู้ทีหนึ่ง มันเป็นอย่างนี้จะไม่เรียกว่ามหาสติได้ยังไง วินาทีหนึ่งรู้ทีหนึ่งเนี่ยต้องเป็นมหาสติปัฏฐานแน่ ๆ วินาทีหนึ่งรู้ทีหนึ่ง ก้าวเดินก้าวหนึ่งวินาทีละก้าวหนึ่ง หรือไม่เกินนั้น ก้าวทุกก้าวก็รู้ รู้ นี่คือหลักของสติปัฏฐาน ถ้ารู้วินาทีหนึ่งรู้ครั้งหนึ่งชั่วโมงหนึ่งจะได้กี่รู้ ลองคิดดู 3,600 รู้ 2 ชั่วโมงได้กี่รู้ 7,200 รู้ วันหนึ่งขยันรู้ลองดูสิ เอาอันนี้พิสูจน์กันเอา อย่าไปเอาเหตุเอาผลมาขัดมาแย้งกัน ให้เอาการกระทำบุกเบิกไปก่อน นี่หลักของกรรมฐาน
พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ในระหว่าง 9 เดือน เกิดพระอรหันต์ 1,250 รูป 1,250 รูปคือใครบ้าง นับดูก็ได้ นับดูสิคือใครบ้าง 1.ปัญจวัคคีย์ 5 5แล้วใช่ไหมแล้วใช่ไหม 2.พระยสะเป็นเท่าไหร่แล้ว แล้วก็นับไปอีกสหายของพระยสะ 45คน เป็นเท่าไหร่แล้ว นับภัททวัคคีย์ 30คน นับเข้าไปอีกขณะที่พระพุทธเจ้าเดินทางไปกรุงราชคฤห์ไปพบภัททวัคคีย์ 30คน นับเข้าใส่อีก เป็นเท่าไหร่แล้ว นับที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราอีกอุรุเวลกัสสป 500คน คยากัสสป 300 นทีกัสสป 200คน 3 พี่น้องเป็นพันแล้ว เป็นเท่าไหร่ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ระหว่าง 9 เดือนเนี่ย พระพุทธเจ้าเดินสอนเรื่องนี้ขึ้นมา คนได้บรรลุธรรม พิสูจน์ได้
หลวงพ่อขอรับผิดชอบเรื่องนี้ ณ ที่วัดป่าสุคะโต ถ้าใครสนใจเรื่องการเจริญสตินี่ ทุกคนมีวัสดุอุปกรณ์อยู่แล้ว เอากายเอาใจมาเป็นวัสดุอุปกรณ์ผลิตความรู้สึกตัวขึ้นมา หลวงพ่อก็ได้มีโอกาสมาพูดที่สนามหลวงเป็นครั้งแรกในชีวิต บวชมาแล้ว 40 ปี ก็สะเปะสะปะเนาะ ก็ความจริงการพูดนี่อาจจะเป็นการทำจำเอา สิ่งที่หลวงพ่อพูดนี่พูดแล้วให้เอาไปทำ พูดแล้วให้เอาไปทำ ไปทำดู มันจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่รู้แจ้งรู้จริงแล้วก็ค่อยถาม แต่ว่าอย่าคิดมาถาม ให้ประสบการณ์แล้วมาถาม มันตรงกว่า เวลานี้ก็ขอเวลาให้ถามได้ไหม หลวงพ่อก็ไม่ใช่นักเทศน์ ไม่ใช่พระนักเทศน์ ถ้าจะสอนกันอย่างนี้ได้ หลวงพ่อชอบฝรั่งที่เขาบอก อย่ามาสอนผมนะ จะให้ผมทำยังไงบอกดูสิ พาเดินจงกรมก็พาเดินจงกรม พายกมือก็พายกมือขึ้น พาเขาทำ อันนี้เท่าไรก็ได้ ถ้าจะให้พูดไม่ค่อยชัดเจนเนาะ มีคำถามอะไรไหม ถ้าจะถามอะไรก็ถามได้
โยม : ถ้าเจริญสติไปแล้วมันเกิดเห็นว่าตัวเองมันว่างไปเลยอย่างนี้ค่ะแล้วเราจำเป็นต้องแก้ไขอะไรอย่างไรหรือเปล่าเจ้าคะ
หลวงพ่อ : อ๋อ! เจริญสติไปแล้วมันว่างไปเลย ก็เห็นมันว่าง เรากลับมาเจริญสติ อย่าไปอยู่กับความว่าง มาสร้างสติ มาเคลื่อนมาไหวมาหายใจมาเดินจงกรมนะ อย่าไปอยู่กับความว่าง เห็นมันว่างแล้วก็กลับมา กลับมาที่ตั้ง เรามีงานอยู่ เรามีงานมีการอยู่ก็มาทำงานของเราเรื่อยไป เจริญสติเรื่อยไป ถ้าเดินจงกรมอยู่ก็เดินจงกรมกำหนดให้รู้ทุกก้าวที่เคลื่อนไหวไปนั่นเป็นอย่างนั้น ขอบใจมาก ๆ แสดงว่าเป็นนักปฏิบัติ
โยม : จะขอเรียนถามว่า การเจริญสตินี้ถ้าหากว่าส่วนใหญ่จะมาอยู่ที่จิตมากกว่าอยู่ที่กาย อันนั้นจะถูกต้องหรือมีวิธีแก้ไขยังไงคะ
หลวงพ่อ ส่วนไหนมาอยู่ที่จิตมากกว่าอยู่ที่กายสำหรับผู้ปฏิบัติถ้าได้อารมณ์แล้วรู้จักรูปธรรมนามธรรม รู้จักอาการของกายอาการของจิตดังที่หลวงพ่อได้บรรยายมา ก็กำหนดรู้สติไว้กับกายแล้วค่อยทุ่มไปอยู่ที่ใจเวลาที่มันคิดก็ให้มันทันความคิด อย่าให้มันคิดฟรี ๆ มันคิดเรื่องใดขึ้นมารู้ทันมัน แต่ว่าเราอยู่ที่กายถ้าจะพูดว่าสัก 30 เปอร์เซ็นต์ ทุ่มไปคอยดูจิตที่มันคิดสัก 70 เปอร์เซ็นต์ ให้มันทัน ให้มันทันความคิด อันนี้เรียกว่าผู้ที่ได้อารมณ์ของกรรมฐาน อาจจะอยู่ที่กายน้อย ๆ รู้สึกตัวไปก่อน แต่ทุ่มลงไปบำเพ็ญทางจิต เขาเรียกว่าบำเพ็ญทางจิต แต่ว่าไม่ใช่ไปนั่งเฝ้าจิตดูเฉย ๆ แต่ว่ามีอิริยาบถที่อยู่ที่ตั้งไว้อยู่ แต่ว่ามุ่งสู่ที่จิต ไม่ใช่คอยไปเฝ้าจิตเมื่อไหร่มันจะคิด ไม่ใช่อย่างนั้น เราอยู่ที่กายไปก่อน อาศัยกายเป็นหลักเป็นที่ตั้ง เวลามันคิดขึ้นมาก็รู้ทันทันที มันคิดครั้งหนึ่งก็รู้ทันครั้งหนึ่ง มันคิดสองครั้งก็รู้ทันสองครั้ง
โยม : นมัสการหลวงพ่อครับ ถ้าเกิดอยากปฏิบัติธรรมแล้วเกิดเบื่อหน่ายขึ้นมาทำอย่างไรครับ
หลวงพ่อ : ก็ปฏิบัติธรรมแล้วเบื่อหน่ายขึ้นมาทำอย่างไร ใช่ไหม
โยม : ใช่ครับ
หลวงพ่อ : เออ! สบายมาก อันเดียว มันเบื่อก็เห็นมันเบื่อ อย่าเป็นผู้เบื่อ ถ้าเป็นผู้เบื่อก็หมดเนื้อหมดตัว เห็นมันเบื่อหน่ายก็กลับมาเจริญสติรู้สึกตัวไป เห็นมันเบื่อ อย่าเป็นผู้เบื่อ เห็นตะพึดตะพือไป อะไรที่มันเกิดขึ้นมา เห็นมัน หัวเราะมัน โอ๊ยไอ้บ้าเอ๊ย! มันเบื่อหนอ ไอ้บ้าเอ๊ย! มันทุกข์หนอ สบาย ๆ เห็นอาการที่มันเกิดขึ้น อย่าเข้าไปเป็นจะผ่านได้ตลอด ถ้าเป็นแล้วผ่านไม่ได้นะ สยบอยู่กับเขา ถ้าเห็นแล้วผ่านได้สบายเลย หัวเราะมัน มันสุขมันทุกข์มันปวดมันเมื่อย หัวเราะมัน มันคิดก็หัวเราะมันได้ เออ! มันคนละเรื่องกัน เราเป็นผู้ดู เหมือนเราออกมาดู มาดูกายมาดูใจของเรา เขาจะแสดงอะไรให้เรามาเราเห็นหมดเลย นี่สบายนะ อย่าเป็นผู้เบื่อ
โยม : ขอกราบนมัสการพระคุณเจ้าทุก ๆ พระองค์นะคะ ใน ณ ที่นี้ คือว่าการที่หนูจะถามครั้งนี้ไม่ได้มีการนั่งสมาธิหรือการเจริญวิปัสสนาอะไรแต่อย่างใด แต่ว่าเกี่ยวกับชีวิต ชีวิตที่หนูไม่เข้าใจอย่างหนึ่งคือว่าการที่หนูเคยสูญเสียสิ่งที่รักไปไม่ว่าจะเป็นลูกหลานแล้วก็หลวงพ่อ มีอยู่ครั้งหนึ่งซึ่งหลวงพ่อบวชอยู่ 14 พรรษาแล้วก็หลวงพ่อได้จากไปเมื่อปีที่แล้ว ก็ได้ถามพระรูปหนึ่งว่าหนูทำใจไม่ได้กับการที่หลวงพ่อมรณภาพไป แต่จริง ๆ ก็ต้องทำใจให้ได้เพราะว่าการเสียแม่เสียพ่อเสียหลานเสียน้องเสียลูกไปเป็นสิ่งที่มันมีความทุกข์ใหญ่หลวง แต่ว่าพระคุณเจ้ารูปนี้ก็บอกว่าการที่โยมเนี่ยเสียใจในสิ่งที่จากไปโดยเฉพาะหลวงพ่อเนี่ย โยมก็นั่งสมาธิสิ แต่ว่าหนูก็ได้บอกไปว่าถ้านั่งสมาธินี้คิดว่าสติตัวเองเนี่ยจะต้องแตก นั่งไม่ได้ เพราะว่าหลวงพ่อเป็นสิ่งที่รักที่สุดในชีวิตรวมทั้งมารดาที่เสียชีวิตไปแล้วก็ทุก ๆ คน ท่านก็ได้บอกว่าถ้าอยากจะให้วิญญาณท่านไปสู่สุคติซึ่งดิฉันก็ไม่รู้ว่ามีจริงหรือเปล่าอะไรยังไง ท่านก็บอกว่าอย่าร้องไห้ในขณะที่ดูศพหลวงพ่อตัวเองเพราะว่าการเวียนศพรอบเมรุนั้น 1) วิญญาณจะวิ่งตามร่างไป 2) ถ้าเกิดว่าวิญญาณรู้ว่าเราซึ่งเป็นลูกเนี่ยมีความทุกข์โศกอาลัยอาดูรต่อร่างของหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่งถึงขนาดว่าจะเป็นลม แต่ถ้าเกิดว่าตัวเราเองสามารถมีสติตอนที่จะเผาหลวงพ่อตัวเองก็ขอให้จิตตรงนี้อย่าร้องไห้อย่าโศกเพราะจะทำให้วิญญาณหลวงพ่อจะแบ่งเป็น 2 จิต จิตหนึ่งจะไปดี อีกจิตหนึ่งจะเป็นห่วงและผูกพันต่อลูก และก็ลูกก็เลยคิดว่าการที่พระคุณเจ้ารูปนั้นสอนแบบนี้ก็พยายามระงับจิตใจแต่ก็ทำไม่ได้ดีเท่าที่ควร แต่ก็มาตั้งสมาธิในตอนที่เก็บอัฐิของหลวงพ่อว่า หลวงพ่อลูกนี้รักหลวงพ่อเป็นยิ่งนัก ทั้งมารดาบิดาเปรียบเสมือนพระที่สูงที่สุดเป็นเทพเป็นพรหมของลูก ลูกนี้ไม่เคยได้เรียกร้องอะไรจากบิดาซึ่งให้มาแล้วไม่มีวันหมดสิ้น แต่ว่าถ้าลูกนี้จะเป็นหน่อเนื้อขอเกิดมาเป็นบุตรของหลวงพ่ออีกขอให้ลูกได้เจอสิ่งใดสิ่งหนึ่งของหลวงพ่อ จนกระทั่งลูกไปเก็บอัฐิของหลวงพ่อไปตั้งแต่เช้าจนเก็บถึงที่สุดแล้วจนถึงปลายหัวกะโหลกแล้ว ลูกจึงไปเจอฟันของหลวงพ่อซี่หนึ่งซึ่งเป็นฟันกรามแต่ว่าไหม้เป็นสีเทาไปแล้ว แต่ลูกก็พยายามกดให้ฟันซี่นั้นแตกออกไปแต่ว่าไม่แตก แต่มีความรู้สึกว่าหลวงพ่ออยู่ใกล้ ๆ แล้วก็บอกกับลูกว่านี่สิ่งนี้นะคือสิ่งที่ลูกจะได้ไป แล้วลูกก็ยังคิดว่าวิญญาณมีจริงเหรอ หลักพุทธศาสนาเป็นอย่างไร สอนเราแบบนี้เหรอ ซึ่งว่าให้เรามีสติแต่เราก็คุ้มครองสติได้โดยที่สติเราไม่แตก แต่พระคุณท่านที่แนะนำว่าต้องตั้งสติ คำถามนี้ก็คือว่า 1) เราคิดว่าเราจะคุมสติไม่ได้ตอนจะเผาหลวงพ่อ เราสติจะแตก 2) ในขณะที่เราเห็นร่างของหลวงพ่อเรา เรากลับสามารถคุมสติได้ และ 3) การที่ได้ฟันของหลวงพ่อมาเกิดจากแรงจิตอธิษฐานของเรา ไม่ทราบว่าอันนี้เป็นผลอย่างไรคะ
หลวงพ่อ : เออ! ตอนนี้หลวงพ่อก็หูยังอื้ออยู่ เพราะลงจากเครื่องบินมาได้ไม่กี่วัน สุขภาพหูเสื่อมไปแล้ว ก็เลยให้คนผู้อื่นฟังแทนให้ จะทำกายทำใจอย่างไรเกี่ยวกับการพลัดพรากจากของรักของชอบใจที่สูญเสียไป เราก็ต้องรู้ เราก็ค่อยบำเพ็ญจิตมาพอสมควร เห็นความเท็จความจริงเกี่ยวกับชีวิตความเป็นจริงอย่างไร ได้ศึกษาได้เล่าได้เรียนได้ปฏิบัติมาเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้พอสมควรจึงจะฝึกฝนได้เกี่ยวกับการทำจิตทำใจ ไม่ใช่เราจะมาทำเวลาพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจไปทำตรงนั้นเลยมันก็ทำได้ยาก ก็ต้องร้องห่มร้องไห้เสียอกเสียใจเป็นธรรมดา แต่ว่าการเสียอกเสียใจจากการพลัดพรากจากของรักของชอบใจนั้นจนทำให้ตัวเองเศร้าหมองเป็นทุกข์นั่นก็ไม่สมควร สมควรที่จะช่วยตัวเองให้เป็น ถึงคราววางให้เห็นความเป็นจริงของชีวิตของทุกสรรพสิ่งมันก็ต้องมีของจริงมีการเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา ถ้าจะให้เป็นการบรรลุธรรมตอนนั้นก็ได้ เช่นพระศาสดาของเราสมัยเป็นเจ้าฟ้าชายเห็นการเกิด เห็นการแก่ เห็นการเจ็บ เห็นการตาย เห็นสมณะ เอามาเป็นบทเรียน เอามาเป็นการศึกษา หาคำตอบเรื่องนี้ให้ได้ ก็มอง มองตรงกันข้าม
เมื่อมีเกิดก็ต้องมีไม่เกิดแน่นอน เมื่อมีแก่ก็ต้องมีไม่แก่แน่นอน เมื่อมีเจ็บก็ต้องมีไม่เจ็บแน่นอน เมื่อมีตายก็ต้องมีไม่ตายแน่นอน ไม่ยอม เลยศึกษาเรื่องนี้ลองดู จนได้คำตอบ แล้วพระองค์ก็อุทานออกมาว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สัพเพ สังขารา ทุกขาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ ฯเมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพานอันเป็นธรรมหมดจด เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพานอันเป็นธรรมหมดจด เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าธรรมทั้งหลายสิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเป็นทุกข์ เห็นความไม่ใช่ตัวตน เอามาเป็นเรื่องการบรรลุธรรมก็ได้สำหรับผู้ที่ฝึกหัดตนเอง อย่าเอามาเป็นเรื่องทุกข์ มองฝึกฝนตนเองแล้วก็เห็นอย่างนั้นตามความเป็นจริง ผู้ที่ปฏิบัติธรรมเจริญสติปัฏฐานจะพบอารมณ์อันนี้ เห็นไตรลักษณ์ในรูปในนาม เห็นความไม่เที่ยงที่เกิดขึ้นกับรูปกับนาม เห็นความเป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นกับรูปกับนาม เห็นความไม่ใช่ตัวตนที่เกิดขึ้นกับรูปกับนาม ได้ผ่านมาแล้ว เมื่อสิ่งเหล่านั้นมันเกิดขึ้นมาเราก็รู้แล้ว รู้แล้ว รู้ตั้งแต่ 40 ปีโน้นว่าสิ่งนี้มันไม่เที่ยงรู้แล้ว คำว่ารู้แล้วเป็นภาษาของอัญญาโกณฑัญญะ พระพุทธเจ้าทักทายอัญญาโกณฑัญญะว่า อัญญาสิ อัญญาสิ รู้แล้วหนอ รู้แล้วหนอ รู้แล้ว ความไม่เที่ยงก็รู้แล้ว ความไม่เที่ยงหลอกเราอีกไม่ได้แล้ว รู้แล้ว ความเป็นทุกข์ก็รู้แล้ว ความเป็นทุกข์จะหลอกเราอีกไม่ได้แล้ว รู้แล้วความไม่ใช่ตัวตน ความไม่ใช่ตัวตนจะหลอกเราเป็นสุขเป็นทุกข์ไม่ได้แล้ว อัญญาสิ อัญญาสิ เป็นไปได้ แต่ถ้าเราจะมาฝึกหัดตอนที่พลัดพรากจากของรักของถูกใจมันก็ไม่ได้ หักด้ามพร้าด้วยเข่า ย่อมเป็นไปได้ยาก ยามสงบเราจึงฝึก ยามศึกเรารบได้ อย่างนี้เนาะ อนุโมทนา
อธิษฐานนี่อธิษฐานในทางที่ดีมันก็เป็นบารมี ทำลงไปเถอะไม่เป็นไร ถ้าเป็นเรื่องดี อธิษฐานกับคนที่เรารัก อธิษฐานลงไปเป็นบารมีอันหนึ่ง เป็นการสร้างบารมี อธิษฐานบารมี ทานบารมี เป็นบารมีทั้งนั้น อธิษฐานไปไม่เป็นไร แล้วทำไปด้วยนะ ทำจิตทำใจไปด้วย อธิษฐานยังไงทำใจอย่างนั้น เกิดชาติใดภพใดก็ขอให้เป็นพ่อเป็นแม่เป็นพี่เป็นน้องกันไป อธิษฐานไป มันมีความสุขชนิดหนึ่งเนาะ ใช่ไหม มันเป็นความสุข เช่นเรารักกันเนี่ย ขอเป็นผัวเดียวเมียเดียว อธิษฐานใจไปบางทีอาจจะเป็นความจริงเป็นผัวเดียวเมียเดียวตลอดภพตลอดชาติ ตั้งไว้เถอะ อธิษฐานไว้เถอะ พระพุทธองค์ของเราก็อธิษฐาน เราจะไม่ลุกจากที่นี่ถ้าเราไม่บรรลุธรรม ในที่สุดพระองค์คำอธิษฐานก็เป็นจริง ก็ทำให้มีความหนักแน่นไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน
โยม : กราบนมัสการหลวงพ่อครับ การเกิดดับนี้หมายถึงว่าที่อยู่ในขันธ์ 5 จากการกำหนดรู้ เข้าใจว่าเป็นมรรคองค์ 8 คือไม่ทราบว่าต่างกับเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีคำว่าตั้งอยู่นะครับ กราบนมัสการนะครับ เหมือนกันไหมครับ
หลวงพ่อ เข้าใจ ขอบคุณ ผู้ปฏิบัติเจริญสติปัฏฐาน 4 ย่อมเห็นอาการเกิดดับของขันธ์ 5 มันเกิดมันดับตลอดเวลา เกิดทางกายก็มี เกิดทางใจก็มี อันนี้เป็นอาการเกิดดับของขันธ์ของรูปนาม รูปนาม ไม่ใช่นามรูป อันนี้เป็นอาการเกิดดับของรูปนาม มีทั่ว ๆ ไป ทุกชีวิตก็เกิดดับ เกิดดับ ไปคิดเรื่องนี้ไปคิดเรื่องนั้น เป็นสุขเรื่องนี้เป็นทุกข์เรื่องนั้น ยินดีเรื่องนี้ อันนี้เรื่องนี้เรายินดี ของอย่างเดียวเรายินดี ของอย่างเดียวเรายินร้าย มีไหม เรียกว่าการเกิดดับ เป็นวัตถุก็มี เป็นนามธรรมก็มี อาการเกิดดับอย่างนี้เรียกว่าการเกิดดับของรูปธรรมนามธรรม แต่อาการเกิดดับอีกอันหนึ่งคือการดับไม่เหลือของขันธ์ 5อันนั้นเรียกว่านามรูป ถึงที่สุดแห่งทุกข์ถ้าอาการเกิดดับของนามรูป ที่จะให้เป็นสุขเป็นทุกข์เพราะรูปเพราะนามไม่มีอีกแล้ว เวทนาไม่เป็นทุกข์ สัญญาไม่เป็นทุกข์ สังขารไม่เป็นทุกข์ วิญญาณไม่เป็นทุกข์ อันนั้นเรียกว่าอาการเกิดอาการดับไม่เหลือของนามรูป คือที่สุดแห่งทุกข์ เป็นจุดหมายปลายทางอันสูงสุดของการปฏิบัติธรรม
คาดว่าเป็นปัญหาครั้งสุดท้าย หลวงพ่อขอถามพวกเราทั้งหลายว่าให้เป็นการบ้าน เราเกิดมาถึงปูนนี้แล้ว ถึงวันนี้แล้ว 40 50 60 70 ปี ลองดูแลตัวเราเองดูสิ ความรู้กับความหลงอันไหนมันมากกว่ากัน ให้ทุกคนตอบเอาเอง ถ้าหากว่าเรามีความหลงมากมันก็จะหาความเป็นบุญเป็นกุศลได้ยาก เราอย่าไปโทษบุญโทษบาปโทษพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เราโทษตัวเองถ้าเราหลงอยู่ แต่ถ้าเรารู้มากกว่าหลงนั่นมันก็จะมีคำตอบ ทำอย่างไรเราจะมีความรู้สึกตัวให้มากในชีวิตประจำวัน เพิ่มความรู้สึกตัวเข้าไป เพียรพยายามตรงนี้จะได้คำตอบว่าบุญบาปสวรรค์นรกนิพพานเป็นไง ก็จะปิดประตูนรกด้วยมือของเรา ด้วยการกระทำของเรา เปิดประตูสวรรค์ด้วยการกระทำของเรา
มีการกระทำเท่านั้นที่มันเป็นลิขิตชีวิตของเรา การกระทำก็มีเท่านี้ จะสรุปให้ว่ามีแต่ตัวรู้กับตัวหลงเท่านั้นใช่หรือไม่ ชีวิตของเรานี่มีแต่ตัวรู้กับตัวหลง มี 2 อย่างเท่านี้ เราจะทำยังไงจึงจะให้มีความรู้สึกตัวให้มากการใช้ชีวิตประจำวันนะ ก็ขอให้เป็นการบ้านสำหรับพวกเรา ใช้ชีวิตไปกับการศึกษาปฏิบัติธรรม ไม่มีกาลไม่มีเวลา ขอยุติการแสดงธรรมวันนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้ ด้วยความตั้งใจดีของพวกเราก็ขออธิษฐานจิตใจที่บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์ จงได้เป็นตบะเดชะค้ำจุนหนุนส่งให้ทุกท่านได้ประสบแต่ความสุขปราศจากทุกข์โศกโรคภัยอันตรายทั้งปวง มีแต่อายุ วรรณะ สุขะ พละ ทำกิจการงานอันชอบโดยศีลโดยธรรมให้สำเร็จตามความประสงค์ ได้มีโอกาสทำบุญให้ทานรักษาศีลและมีโอกาสเจริญปฏิบัติธรรมจนได้รู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมอันสูงขึ้นไปในชาติปัจจุบันด้วยกันทุกคนทุกท่านเทอญฯ