แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกัน เอากันอยู่ในภาคปฏิบัติ ภาคเดินทาง ภาคทำงาน สนุก อะไรๆก็ผ่านไป ผ่านความหลง การเดินทางปฏิบัติมันก็มีสิ่งที่ผ่านพ้นไป มีงานอยู่ ผ่านงานไป ผ่านความหลง อาจจะไม่ใช่อยู่อิริยาบถใด อาจจะไม่เดินจงกรม อาจจะไม่สร้างจังหวะยกมือเคลื่อนไหว เพราะความหลงไม่ได้อยู่ในการสร้างจังหวะ ไม่ได้อยู่กับการเคลื่อนไหว ความหลงอยู่กับกายกับใจของเรา บางทีเราเคลื่อนไหวอยู่ สร้างจังหวะอยู่ ก็อาจจะหลง เราเดินอยู่ก็อาจจะผิดจะถูกได้ ไปมีความผิด อยู่ในขณะที่เดิน ไปมีความผิดถูกในขณะที่เดินเท่านั้นไม่พอ ความหลงอยู่ในทุกรูปแบบ ทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป รส กลิ่น เสียง หลงได้ เราก็มีอยู่โดยชอบ มีสติอยู่ได้ทุกอิริยาบถ ง่ายๆ ไม่ใช่สร้างจังหวะสู้ความหลง ไม่ใช่เดินจงกรมสู้ความหลง มีสติ เห็น
ถ้ามีสติก็เหมือนมีตาภายใน ดูแลชีวิตของเรา ดูแลกายดูแลใจของเรา นะ ก็ตั้งต้นจากที่นี่ ความหลงก็ดี ความรู้ก็ดี ความผิดความถูก สุขทุกข์ก็ดี เกิดอยู่ที่กายที่ใจของเรา เราก็มีแหล่งศึกษาแหล่งเรียนรู้บ้างแล้ว เป็นตำราที่จะบ่งบอกเรา ขอให้เราได้ดู ความผิดมันบอกเราให้เรารู้ ความถูกมันบอกให้เรารู้ ความสุขความทุกข์มันบอกให้เรารู้ ไม่ใช่สุขเป็นสุข ทุกข์เป็นทุกข์ ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก เลยจะหลงตรงนั้น ถ้าเราดูแล้วมีตาภายในแล้ว มีสติจะไม่หลงตรงนั้น สนุก ไม่ต้องไปไหน นั่งๆ นอนๆ อยู่ก็ได้
เราจึงเป็นการศึกษาที่มีเหตุมีผล เป็นกอบเป็นกำ สิ่งที่เราทำ ไม่ต้องมีรอ วันนี้ พรุ่งนี้ ปีนี้ เดือนนี้ ปีหน้า เดือนหน้า ไม่ใช่ เป็นปัจจัตตัง ความหลงเกิดขึ้น ความสุขความทุกข์เกิดขึ้น นั่นแหละโอกาสที่เราเรียนรู้ อย่าให้หลงฟรี อย่าให้สุขทุกข์ ฟรี ฟรี อันสิ่งที่หลง สุขทุกข์มีอยู่ ความสุข ความไม่สุขก็มีอยู่ ความทุกข์ ความไม่ทุกข์ก็มีอยู่ เราจึงใส่ใจตรงนี้บ้าง อย่าให้มันคลาด อย่าให้คลาดซะ หลงทีใด ได้บทเรียนแล้ว ได้ความรู้ สุขที่ไหน ทุกข์ที่ใด ได้ความรู้ นี่คือนักปฏิบัติ นักเดินทาง
ถ้าจะเป็นความหลงก็เป็นป่าเป็นพง ความสุขความทุกข์เป็นป่าเป็นพง ผิดถูกเป็นดงเป็นป่าอยู่ ความรักความชัง พอใจไม่พอใจ ยังเป็นป่าเป็นดง ผ่านไป ผ่านไป ความพอใจเป็นความรู้ ให้ความไม่พอใจเป็นความรู้ ถือว่าผ่านแล้ว ถ้าสุขเป็นสุข ยังไม่ผ่าน ถ้าทุกข์เป็นทุกข์ ยังไม่ผ่าน พอใจ ไม่พอใจ ยังมี เช่นนั่นอยู่ ชื่อว่าเดินทางยังไม่ผ่านถึงไหน ยังอยู่ที่เก่า พยายามตรงนี้ให้ได้
เวลามันพอใจ รู้สึกตัว ให้เห็นความไม่พอใจ เวลามันพอใจให้มีสติรู้สึกตัวให้เห็นความไม่พอใจ มีสติได้อยู่ อะไรที่มันเกิด นอกจากความรู้สึกตัว เราเปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกตัวทั้งหมด อาจจะไม่นาน ถ้าเปลี่ยนดังเนี่ย บางทีเราก็อยู่ในความสุขความทุกข์มานาน อยู่ในความรักความเกลียดชังมานาน อยู่ในความผิดความถูกมานาน ในความพอใจไม่พอใจมานาน เหมือนกับดินพอกหางหมู เขาก็ขยันกว่า คนที่ไม่มีจริตนิสัยแบบนั้น บางคนก็ง่าย บางคนก็ยาก เพราะกรรมของเราเองมันสร้างมา บางคนง่ายที่จะหลงออกหน้าออกตา ง่ายที่จะอิจฉาเบียดเบียน ง่ายที่จะรัก ง่ายที่จะเกลียดชัง แต่บางคนก็ไม่มีเช่นนั้น จึงมาศึกษาก็เป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคล ง่ายๆ
บางทีความหลงบางคนอาจถือว่าไม่ชอบไปเสียอีก เอาความไม่ชอบอยู่ในความหลง มันไปสองต่อแล้ว เอาความพอใจในความไม่หลง เวลามันสงบ พอใจ เวลามันไม่สงบ ไม่พอใจ มันไปถึงนู่น ก็เลยยากซะหน่อย แล้วมันสุขก็สุข เวลามันทุกข์ก็ทุกข์ มันก็เลยยาก ถ้ามันสุข รู้ ถ้ามันทุกข์ รู้ ถ้ามันผิดอะไรต่างๆรู้ขึ้นมาเท่าๆกันหมด ภาวะที่รู้เท่ากัน ความสุขก็รู้ ไม่มีสุขที่เป็นรสชาติ ทุกข์ก็รู้ ไม่มีทุกข์ที่เป็นรสชาติ พอใจไม่พอใจมีแต่รู้ ความพอใจความไม่พอใจไม่มีรสชาติ นั้นอาจจะหมดไปจากชีวิตของเรา ถ้าเราไม่เดินมา มาเคลื่อนมาตรงนี้ ไม่หลุดมาตรงนี้ มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น ตลอดปีตลอดภพตลอดชาติ ถ้ามีเช่นนั้นอยู่ พอใจไม่พอใจ ผิดๆ ถูกๆ สุขๆ ทุกข์ๆ ก็ต้องมีเกิดแก่เจ็บตาย เพราะมันเป็นสายบาปสายกรรม ไปไม่ได้
เพราะงั้นการปฏิบัติธรรมน่ะ ความรู้สึกตัว เป็นการอยู่โดยชอบที่สุด อาจจะไม่ไปนั่งอยู่สุคโต อาจจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้ารู้สึกตัวถือว่าอยู่โดยชอบแล้ว ผู้ใดอยู่โดยชอบก็จะใกล้ชิดกับมรรคนิพพาน ถ้าอยู่ไม่ชอบ เป็นสุขเป็นทุกข์ ห่างไกลจากมรรคผล ถ้าหลงไม่พอใจ ถ้ารู้พอใจ ยังห่างมรรคผลอยู่ จึงไม่ผ่านไปจากดงจากป่า ถ้ามรรคผลนิพพาน มันโล่งแจ้ง เหมือนเราเดินเข้าถ้ำขุนตาล ๗ กม. อยู่ในถ้ำมันก็มืดอยู่ ต้องส่องไฟในบางโอกาส แล้วทางเดินก็ไม่ใช่ทางที่เรียบ ต้องนับก้าวตามหมอนรถไฟ หมอนรถไฟมันก็ไม่พอดีกับก้าวของเรา ห่างเกินไป ถ้าเราก้าวไม่ถูกก็สะดุด มันก็มีความไม่สะดวกเวลาเราเดินอยู่ในถ้ำขุนตาล ๗ กม. เมื่อเราออกจากถ้ำมันก็โล่งแจ้ง เหมือนกับว่า ป้าดโถ่! อย่างนี้หละ มันเปลี่ยนแปลงไปได้ เปลี่ยนแปลงมันพ้นจากความหลง พ้นจากความสุข ความทุกข์ พ้นจากความพอใจความไม่พอใจ มันก็โล่งแจ้ง เหมือนคนออกจากดงจากป่า หรือเหมือนกับเดินขึ้นเขา ขณะที่เดินอยู่หน้าผา ขึ้นเขา ปีนเขา มันก็ยากลำบาก ถ้าเดินขึ้นเขาแล้ว อยู่บนหลังเขาแล้วก็โล่งแจ้ง ชีวิตก็เปลี่ยนไปได้
มีอยู่ครั้งหนึ่ง เดินทางกับพระอเนก พระอเนกเป็นคนจีน ร้านขายเครื่องหนังในบางลำพู สองร้าน อะไร ร้านกรุงโรม ร้านบางลำพู ร้านขายเครื่องหนังใหญ่ เค้ามาบวช มาบวชอุปัชฌาย์เดียวกับหลวงตานี่ แต่เขาบวชทีหลัง แล้วก็ เค้าก็มีความตั้งใจในการปฏิบัติ เค้าก็เลยเข้ากันได้ เขาอยากขึ้นเขาด้วย ก็เดินขึ้นเขา สมัยปี 2514-15 ก็เดินขึ้นเขา มานี่ เค้าไม่เคยเดินขึ้นเขาเพราะเขาเป็นคนจีน สุขุมาลชาติ แล้วก็เข่าเขาหน่า พักที่โน่นพักที่นี่ แต่เราเดินขึ้น เราไม่เคยพัก ก็มากับเขา ก็พาเขาพักได้ เขาก็บอกว่า ขอพักสักหน่อย ขอพักสักหน่อย พักมา พักมา พอถึงหน้าผาแล้วพักสักหน่อย ให้พักนอนซักหน่อย หมดแรงแล้ว ก็ได้ เหลืออีกไม่ไกล เนี่ยขึ้นไปอีกสักหน่อย ก็ถึงแล้ว พอขึ้นถึงหน้าผา ขึ้นถึงหลังเขา เขาก็บอก เอ้าๆ ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างไรล่ะ มันก็หายเหนื่อย มันหายเหนื่อยทันที ว่าจะพัก ไม่ต้องพัก มันทำไมจึงเป็นอย่างนี้ มันทำไมจึงเป็นอย่างนี้ หายเหนื่อย ไม่มีเหนื่อยหรอก ไป ไปเดินตะพึดตะพือไป ไม่ต้องนั่งเลย นั่น มันเป็นไปอย่างนั้น
บรรยากาศจากความหลง จากความสุขความทุกข์ จากความชอบความไม่ชอบ ที่มันเคยเป็นดงเป็นป่า เหมืนหน้าผา ยากลำบาก พอมันหลุดออกมา เหมือนกับขึ้นนั่งบนหลังเขา มันโล่ง ถ้าจะพูดก็พูด พ้นแล้วเว้ย พ้นแล้วเว้ย พ้นแล้ว มองไปทางหน้าผาก็ต่ำจริงๆ แล้วก็รู้ว่าเราเดินมา รสชาติของความผิดความถูกเป็นยังไง รสชาติของความสุขความทุกข์เป็นยังไง รสชาติของความยากความง่ายเป็นไง พอมันขึ้นถึงหลังเขาแล้วก็ มันก็เปลี่ยนแปลง พ้นภาวะเก่า หมายถึงจิตนะ สภาพของจิต สภาพของทิฐิ ความเห็น ต่างเก่า พ้นภาวะเดิม ชีวิตมันควรจะเป็นอย่างนั้น พ้นจากความสุข พ้นจากความทุกข์ พ้นจากการเกิดแก่เจ็บตาย มันจะเป็นอย่างไร แล้วก็เริ่มต้นก้าวจากมันหลง-รู้นี่แหละ ก้าวจากภาวะที่รู้นี่แหละ ยังไม่ทันหลง ก็รู้ไป รู้สึกตัวอยู่ อาจจะอยู่ในแบบไหน อิริยาบถใดก็ได้ ความรู้สึกตัวไม่มีกาล ไม่มีเวลา หัดรู้สึกตัวไป
บางทีก็อาจจะนิมิต ถ้ายังไม่ชำนาญ อาศัยกาย ลมหายใจ เคลื่อนไหวเดินจงกรมประกอบ มีที่ตั้ง มีการกระทำไปก่อน เหมือนเราเรียนหนังสือ ตาต้องดูหนังสือกระดาน มือต้องเขียน เขียนก็ต้องเขียนใส่เส้นบรรทัด ตีบรรทัด ขีดบรรทัด ต่อไปๆก็ไม่ต้องดูกระดาน ถ้าเรียนรู้แล้ว เขียนเป็นแล้วไม่ต้องมีบรรทัดก็ได้ เพราะมันชำนาญได้ ชำนาญในความรู้ มันก็ภาวะที่หลงก็ไม่ต้องไปเรียนรู้มัน มันจบเป็น ก.ไก่มันจบแล้ว มันอยู่ในชีวิตของเรา อ่านออก เขียนได้รู้ภาษารู้ความหมาย อธิบายทีหลัง เกิดแตกฉานทีหลัง เหมือนเราเรียนคณิตศาสตร์ เรียนสูตรคูณ เราก็ท่องเป็นภาษานกแก้วนกขุนทองไป สองหนึ่งเป็นสอง สองห้าเป็นสิบ สองสิบเป็นยี่สิบไป แต่มันแตกฉานออกมาทำคณิตศาสตร์ บวกลบคูณหารได้ ได้ผลออกมาเป็นยังไง นั่นมันก็แตกฉาน
อันความรู้สึกตัวมันก็แตกฉาน แตกฉานจนเป็นมรรคเป็นผลนิพพานไปเลย จากความรู้สึกตัวเนี่ย แล้วมันก็ผ่านหลง ผ่านสุขผ่านทุกข์ ผ่านโกรธ ผ่านความชอบความไม่ชอบ ผ่านความอิจฉา เบียดเบียน พยาบาท ผ่านมาหมดเลย เนี่ย มันก็เป็นชีวิตที่สัมผัส ทำไมเราจึงต้องกล้าพูด ไม่ใช่มาคิดได้เหตุได้ผลเอามาพูด มันเป็นเกิดจากการกระทำ เหมือนพระพุทธเจ้าตะโกนบอก พระอริยสงฆ์ พระสงฆ์ทั้งหลาย ให้พระสงฆ์ทั้งหลาย เห็นกับตา สอนกับตา เห็นพระสงฆ์ทำผิด สอนเวลามันผิด มีผู้สอน มีพระพุทธเจ้าเป็นผู้สอน
เช่น พระวกลิ(วักกลิ) วกลิเนี่ย พระพุทธเจ้าด่าต่อหน้าต่อตาเลย พระวกลิชอบพระพุทธเจ้า ชอบลักษณะ ชอบใบหน้า ชอบเล็บมือ ชอบนิ้วมือนิ้วเท้า มองอยู่ พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ใดพระวกลิจะนั่งมอง สมัยเป็นโยม พระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ไหน พระวกลิตามไป จนตัดสินใจออกบวชตามพระองค์ เพื่อที่จะได้อยู่ใกล้ๆ การออกบวชของวกลิไม่ใช่บวชด้วยศรัทธา ปฏิบัติธรรมอะไร บวชศรัทธาเพราะความเห็นใบหน้า เห็นท่าทาง เห็นกิริยามารยาทของพระพุทธเจ้า แล้วก็ศรัทธาอยากอยู่ใกล้ๆ เวลาอยู่ใกล้ๆพระพุทธเจ้ามันมีความสุข ก็อยู่แถวหน้า อยู่ที่ใด พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ใด พระวกลิก็อยู่แถวนั่น เผลอๆจับนิ้ว เผลอๆจับพระบาท จับฝ่าเท้า จับอะไรต่างๆของพระพุทธเจ้า จับสายจีวร พระพุทธเจ้าเห็นเข้า ด่าเลย วกลิเธอจงหนีไป เธอมาเห็นพระพุทธเจ้าด้วยรูปร่างลักษณะ ไม่ใช่พระพุทธเจ้า
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้ใดไม่เห็นธรรม ผู้นั้นไม่เห็นเราตถาคต
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจสมุปบาท ผู้ใดเห็นปฏิจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม
เธอจงหนีไป จะมาดูนั่งดูอยู่นี่ รูปร่างนี้มันก็แก่เฒ่าตายไปเหมือนกัน พระพุทธเจ้าตัวจริงไม่ใช่ คือธรรมะ พระวกลิก็เสียใจ พระพุทธเจ้าไล่หนี พระพุทธเจ้าไล่หนี เสียใจ ไม่มีทางที่จะไปทางอื่นเลย เลยคิดจะฆ่าตัวตาย เหมือนกับชายหนุ่มหญิงสาวอกหักเสียใจ ฆ่าตัวเอง วกลิก็จะไปโดดหน้าผาให้ตายซ่ะ ไม่ได้อยู่กับพระพุทธเจ้า พอไปจริงๆพระพุทธเจ้าก็ตามไป จับแขนอะไรวกลิ พระพุทธเจ้าตัวจริงไม่ใช่นี้ คือธรรมมะนู่น ปฏิบัติให้มีสติ จะเห็นพระพุทธเจ้าตัวจริง นี่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าตัวจริง เป็นเพียงรูปกาย วกลิก็สะดุดขึ้นมา แล้วตัวจริงจะขนาดไหน ถ้ายังไม่จริงยังขนาดนี้แล้ว ถ้าพระพุทธเจ้าตัวจริงจะเป็นยังไง อาจจะดีกว่านี้ วกลิเลยเปลี่ยนแปลงไปปฏิบัติธรรม ได้บรรลุธรรม เห็น มันก็คิดเรื่องนี้ ก็เห็นความคิดตัวเอง เสียใจ เห็นความเสียใจ เห็นความอกหัก เปลี่ยนความเสียใจเป็นความรู้ เปลี่ยนความอกหักเป็นความรู้ ทุกข์ เดือดร้อนเป็นความรู้ขึ้นมา มันก็ต่างเก่า แต่ก่อนทุกข์เป็นทุกข์ บัดนี้ทุกข์เป็นรู้ แต่ก่อนพอใจเป็นพอใจ ไม่พอใจเป็นไม่พอใจ พอมารู้ รู้อ่อ มันก็สัมผัสไป สัมผัสไป สัมผัสความหลง สัมผัสความรู้ สัมผัสความทุกข์ ถือว่าทุกข์นะวกลิเนี่ ย พระพุทธเจ้าไล่หนีเนี่ย อกหัก นั่นแหละทำให้เป็นการบรรลุธรรมได้
ถ้าเห็นชอบก็ไป ถ้าเห็นไม่ชอบก็พาทุกข์เข้าเป็นทุกข์ไป เสียใจไป คนนี่ก็เป็นอย่างนั้นส่วนมาก ถ้าดีใจก็หัวเราะ ถ้าเสียใจก็ร้องไห้ ถึงกับฆ่าตัวตาย ถึงกับหลงตัวลืมตน เสียผู้เสียคนในความพอใจ มีอยู่ทั่วไป วกลิก็เปลี่ยนได้ เปลี่ยนมาเสียใจเปลี่ยนมาภาวะที่รู้สึกตัว พ้นมา พ้นมา พ้นมา ได้บรรลุธรรมเลยเป็นพระอรหันต์ ได้ เพราะความอกหักเสียใจ อย่างเนี่ย เพราะงั้น ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่อาศัยอะไรมากมาย อาศัยเหตุปัจจัยที่มันอยู่กับเราเนี่ย ให้มันล่วงพ้นภาวะเก่า มันหลงดีแล้ว จะได้รู้ มันผิดดีแล้วจะได้รู้ มันถูกดีแล้วจะได้รู้ มันสงบดีแล้วจะได้รู้ มันไม่สงบก็ดีแล้วจะได้รู้ มันให้บทเรียนเรา เราก็รู้เอา รู้เอาๆ
ถ้าจะเปรียบมันก็เหมือนกับบอกคืน บอกคืนๆ อะไรมันจรมา บอกคืนไป เวลานั่ง (อะไร)เข้าบ้านเรา อะไรมันขึ้นมา ไล่มันไป ไม่เอา ไล่ไปไม่เอา บอกคืนๆ ไม่เป็นๆ มันสุขไม่เป็นสุข มันทุกข์ไม่เป็นทุกข์ มันรู้ไม่เป็นรู้ มันหลงไม่เป็นหลง มันสงบไม่เป็นสงบ มันฟุ้งซ่านไม่เป็นผู้ฟุ้งซ่าน มันก็อยู่ที่เก่า การอยู่ที่เก่ามันก็ไปแล้ว ไม่ได้เดินเหมือนกับเดินเท้า ความเห็นถูกมันไปเรื่อย มันหลงรู้ เห็นถูก ไปแล้ว ไปจากความเห็นผิด มันสุขเห็นถูก ไปจากความผิด มันทุกข์เห็นทุกข์ ไปจากความทุกข์แล้ว ถ้าเห็นน่ะ ถ้าเห็นก็หลุดพ้น
การเดินตามอริมรรคเป็นอย่างนี้ สัมมาทิฐิ ไม่ใช่ก้าวสักก้าว เป็นความเห็น เห็นชอบอย่างเนี่ย ให้เห็นก็หลุดพ้น ถ้าเป็นหลุดพ้นไม่ได้ ถ้าเห็นจึงเป็นการหลุดพ้น มันเป็นมันก็ไม่หลุดพ้น เห็นทุกข์จึงพ้นจากทุกข์ ถ้าเป็นทุกข์ก็ไม่พ้นจากทุกข์ เห็นหลงไม่เป็นผู้หลง มันมันหลงไม่เป็นผู้หลง เห็นมันแก่ไม่เป็นผู้แก่ เห็นมันเจ็บไม่เป็นผู้เจ็บ เห็นมันตายไม่เป็นผู้ตาย ไม่ได้ตายเพราะความตาย ไม่ได้เจ็บเพราะความเจ็บ มันเป็นอย่างนี้ ของจริงเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าจะไปกลัวตาย ไปทำอันนู่นนี่ไม่ใช่ เห็นแล้ว ทำเป็นแล้ว ทำได้แล้ว มันก็ทำได้แล้ว มันหลงเห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง มีสติเนี่ย ทำได้แล้ว มันทุกข์เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ มีสติ ทำได้แล้ว เป็นชำนาญที่สุดเลย ไม่มีอะไรชำนาญมากกว่า การมารู้ของจริง ความหลงมันไม่จริง ความรู้มันจริง มันก็ชำนาญ ไม่ใช่แบบจำเอา มันสัมผัส เป็นการสัมผัส
อันจำมันลืม เรียกว่าจำเนี่ย คนอื่นสอนง่าย จำมา แต่การทำให้เป็นเนี่ย เราสอนตัวเรา ทำเอาเอง ทำเป็น การสอนให้เป็นไม่มีใครสอนเราได้ ทำเป็น เราต้องหัดด้วยตัวเอง ไม่มีใครสอนกันได้ ไม่มีครูคนไหนที่สอนให้เราทำเป็นได้ เราต้องทำเป็น เช่นงานบางอย่างเราต้องทำเป็น ไม่ใช่รู้เฉยๆ ทำไม่เป็น เช่นความหลง มันไม่ดี รู้อยู่ แต่ว่าเวลามันหลง มันต้องรู้ มีความรู้สึกตัวขึ้นมาน่ะ ไม่ต้องใช้ความรู้เลย ไม่ต้องใช้สมองเลย เป็นกระทำลงไป การกระทำน่ะ มันศักดิ์สิทธิ์ๆ เปลี่ยนหลงเป็นรู้ได้ เปลี่ยนทุกข์เป็นรู้ได้ แต่ความรู้เปลี่ยนไม่ได้ รู้ว่าโกรธไม่ดี เราก็โกรธ รู้ว่าทุกข์ไม่ดี เราก็ทุกข์ อันนั้นเป็นความรู้ แต่การทำให้เป็นเนี่ย ไม่ใช่รู้ มันทำเป็น มันเห็น
เหมือนตาเนี่ย เห็นงู มันก็หลุดพ้นจากงู ถ้าเห็นแล้ว ก็ไม่ให้งูกัด เห็นหลุมเห็นบ่อ ก็ต้องไม่ตกหลุมตกบ่อ เห็นหลักเห็นตอ ก็ไม่สะดุดหลักสะดุดตอ มันก็เดินทางไปถึงไหนถึงไหน ถ้าไม่เห็นล่ะก็ไม่พ้นล่ะ ตาบอดไม่เห็นงู ไปเหยียบงูเข้า งูกัดตาย เพราะไม่เห็น ตาภายใน มันเห็น แม้แต่ตาเนื้อไม่เห็น มันก็เห็น อันที่ว่าทุกข์เนี่ย แต่ถ้าตาเนื้อไม่เห็น ต้องอาศัยคนอื่น หูไม่ได้ยินต้องอาศัยคนอื่น แต่ตาในนี่ไม่ต้องอาศัยใคร เป็นอัตตหิ อัตโนนาโถ เป็นที่พึ่งของตนเอง การพึ่งคนอื่นไม่จีรังยั่งยืน เราจึงมาหัดกัน ให้เป็นเรื่องรีบด่วนสักหน่อย กำลังหัดได้ สี่สิบ สามสิบ สี่สิบ ห้าสิบปีนี่ มีพระอรหันต์เกิดขึ้นมาก ในอายุปูนนี้ ต้นๆ
ถ้าจะเปรียบสมัยครั้งพุทธกาลก็คงจะดีกว่าเรา เพราะพระพุทธเจ้ามีตัวมีตนอยู่ ได้ยินเสียง แสดงธรรม เห็นการเดินการนั่งของพระองค์ สาวกทั้งหลายก็มีศูนย์รวมอยู่ที่พระพุทธเจ้า พระศาสดา ก็กระตือรือร้นกัน ทุกวันนี้ก็ไม่มีพระพุทธเจ้าแบบนั้นแล้ว มีแต่คำสอน เราก็ยังศรัทธาอยู่ เราปฏิบัติตามคำสอนแล้ว มันก็มีกอบมีกำขึ้นมา ศรัทธา อยากไปดูร่องรอย ก็ไปดูร่องรอย ไปดูร่องรอยก็เห็นร่องเห็นรอย พระพุทธเจ้าประสูติที่ใด ตรัสรู้ที่ใด ไปแสดงธรรมที่ไหน ไปปรินิพพานที่ไหน เป็นอย่างไร ตอนที่พระพุทธเจ้าไปบวช บวชยังไง พบอุทกดาบสที่ตรงไหน ไปบำเพ็ญทุกรกิริยาที่ใด ตามไปดู ก็มีหลักฐาน ตามไปดู ก็มีหลักฐาน ไปเห็นร่องเห็นรอย เห็นทางเสด็จของพระองค์
อย่างที่หลวงตาพูดว่า จากพุทธคยามาพาราณสีเนี่ยหลายร้อยกิโล ทำไมพระพุทธเจ้าเดินทางมา ไม่มีรถเลย ไปเห็นที่ต่างๆ ถ้าให้มาเปรียบเทียบกับพวกเราทุกวันนี้ แทบไม่มีอะไรเลย จนพูดกับตัวเองว่า ต่อจากนี้ไป คำว่าไม่ไหว จะไม่พูดเลย การเผยแพร่ศาสนานี่ คำว่าไม่ไหวจะไม่พูดเด็ดขาด ไม่ไหวแล้ว จะไม่พูด ยากขนาดไหนก็จะไม่พูดคำว่าไม่ไหวเนี่ย ถ้าเกี่ยวกับธรรมะนะ เคยพูดแบบนี้เหมือนกัน
ไปสอนธรรมะที่ใหม่พูดแล้วพูดอีกได้นะ นั่งรถสีส้มที่ขอนแก่นไปกับเพื่อนสองรูป มันก็ร้อน เรานั่งข้างหลัง รถก็เก่าๆ ติดเครื่องร้อน ทึ่มๆๆ ต้องไปจองไว้ ถ้าไม่นั่งจอง ไม่มีที่นั่ง ร้อนเท่าไหนก็ต้องนั่ง มันก็ร้อน เพื่อนก็นั่งร้อน เหงื่อไหลไคลย้อย เพื่อนพูดว่า “แย่ๆ ไม่ไหวๆพัดลมก็ไม่เปิด ตายแบบนี้ ตายแน่ๆๆ” เราก็พูดว่า ไม่แย่ ไม่แย่ ในใจเรา เพื่อนพูดว่าไม่ไหว ไม่ไหว เราบอกว่าไหวๆๆ พูดในใจ เพื่อนบอกว่า ตายๆๆ ไม่ไหว เราก็พูดในใจว่า ไม่ตาย ไม่ตาย ไม่แย่ ไม่แย่ ไหวๆ ไม่ตาย (หัวเราะ) นี่จะไม่พูดเลยนะ ถ้าไปงานการที่เป็นประโยชน์ งานธรรมะ อะไรก็ตามที่เป็นงานชอบ ไม่เคยกลัวตาย อะไรก็งานชอบทั้งหมดนะ
ไม่ใช่สอนคนอย่างเดียว ที่มันเป็นความถูกต้อง ที่เป็นการช่วยเหลือสิ่งที่ไม่ดีให้มันดีขึ้นมาเนี่ย เป็นงานชอบ ต้นไม้ในถุงในกระถางเหี่ยวแห้ง เอาน้ำไปใส่ เป็นความดี มันงานชอบ ไม่เกียจคร้าน ไม่เกียจคร้านอันทำความดี ถ้าพอมีเรี่ยวมีแรง อะไรที่เป็นความดี ยิ่งช่วยมนุษย์ ช่วยคนนี่ยิ่งชอบ ไม่มีคำว่าตายๆไม่ไหว ไม่ไหว ไปไม่ได้ก็ยังคิดจะช่วยอยู่ นอนตื่นขึ้นมาคิดจะช่วยคนล่ะ ไม่คิดอะไร คิดจะช่วยนั่น คิดจะช่วยนี่ ตอนที่จะว่าเบื่อแล้ว ไม่มี อยากจะช่วยอยู่ ทำไม่ได้ก็คิดจะช่วยกันอยู่ เพราะฉะนั้นเนี่ย นี่คือการงานชอบ
พระพุทธเจ้าเนี่ย ดูซิ หายใจร่อแร่อยู่แล้ว ระหว่างกุสินารา นอนอยู่ ประทับ(หรือนอน) นอนอยู่ ก็บอกตัวเองว่า จะนอนเป็นครั้งสุดท้าย จะไม่ลุกอีก ตอนตรัสรู้ก็ว่า จะนั่งเป็นครั้งสุดท้าย จะไม่ลุกอีก จะนอนเป็นครั้งสุดท้าย จะไม่ลุกอีกแล้ว บอกอานนท์ ปูผ้าสังฆาฏิ แต่ก่อนไม่มีวัดนะ ในสวนมัลกษัตริย์ ระหว่างต้นรังสองต้น เหมือนกับเสาเนี่ย แต่หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ไม่หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตกเหมือนคนทั่วไป หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เหมือนต้นนี้ๆ ทิศตะวันออก พระพุทธเจ้าหันพระพักตร์ มองหันมอง อย่างนี้ๆ (หัวเราะ) จะนอนครั้งสุดท้าย อานนท์ปูสังฆาฏิให้เรา แล้วก็มีหลายรูปเอาผ้าจีวรเก่าๆมาขึงอ้อมไว้ไม่ให้ใครเข้ามา อานนท์ก็เฝ้าอยู่ ประตูมีพระอุปัฏฐากดูแลอยู่ พระอนุรุทธะ หลายรูป อานนท์เฝ้าอยู่ข้างนอก อานนท์มีนิสัยต้อนรับแขก หน้าตารับแขกดี ให้อยู่ข้างนอก พูดกับคน คนมาก็พูดกับเค้า เวลานี้พระพุทธเจ้าประชวรหนัก อย่ามารบกวน
อุปกาชีวกคนนึงเดินทางวิ่งมาจากที่ไหนอาจารย์? อุปกาชีวก วิ่งมาหา แล้วได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานอยู่แล้ว ชีวกนั้น โอ้ย! ทันมั้ยน้อ ทันมั้ยน้อ ได้ยินแต่ชื่อๆ ได้ยิน ไม่เคยฟังธรรมจากพระองค์เลย ก็วิ่งมา มาก็กายซุบ(หมอบ)ลง อานนท์ก็ อย่าเข้ามา อย่าเข้ามา “ขอเฝ้าสักหน่อย โอ้ย! เห็นใจเถอะ วิ่งมาจากเมืองนู้น เห็นใจข้าพระองค์ เห็นใจข้าพเจ้าเถิด ให้เข้าเฝ้าสักหน่อย” พระอานนท์ก็ อย่าเข้ามา อย่าเข้ามา ไม่ได้ ไม่ได้ พระพุทธเจ้าประชวรหนัก โอ้ย! ขอเข้ามา อุปกาชีวกพยายามที่จะเข้ามาให้ได้ พระอานนท์ก็พยายามที่จะไม่ให้เข้ามา พระพุทธเจ้าได้ยิน นอนประทับอยู่ “อะไรอานนท์” มีอุปกาชีวก จะเข้าไป ข้าพระพุทธเจ้าไม่ให้เข้าไป “ให้เขาเข้ามา ๆ” นอนใกล้จะตาย (หัวเราะ) “ให้เขาเข้ามาเถอะอานนท์ ให้เข้ามาเถอะ” เอาให้เข้าไป กราบพระองค์ แล้วขอฟังธรรมพระพุทธเจ้า
ในปรินิพพานสูตร อ่านดูซิ ในพระสูตร พระสุตตันตปิฎก ปรินิพพานสูตร เรื่องการธรรมเทศนาครั้งสุดท้าย ก็พอสรุปให้พวกเรามาสวดกัน เอาให้เราทั้งหลายประนมมือขึ้น สวดพระสูตรนี่ดู จำได้ไหม อ.ทรงศิลป์หัน(หันทะ มะยัง)พระสูตรนี้เริ่มต้น พนมมือขึ้นทุกรูปทุกองค์
หันทะทานิภิกขะเว อามันตยามิ โว, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า
วะยะธัมมา สังขารา, สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ, ท่านทั้งหลาย จงสำรวม ไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด
อะยัง ตะถาคะตัสสะ ปัจฉิมา วาจา, นี่เป็นพระวาจามีครั้งสุดท้าย ของพระตถาคตเจ้า
ได้ยินไหม (หัวเราะ) ได้ยินไหม นี่เป็นพระวาจาอันมี ของเราตถคตครั้งสุดท้าย พระพุทธเจ้าแสดงธรรมกัณฑ์นี่แล้วก็นิพพานไปเลย อุปกาชีวกได้เป็นพระอรหันต์ทันทีนะ ความไม่ประมาท ไม่ประมาทคืออะไร มีสติ เป็นสาวกองค์สุดท้าย ขอบวชจากพระพุทธเจ้า เรียกว่าสาวกองค์สุดท้ายที่สุดคืออุปกาชีวก
องค์แรกคือใคร ฮะ! แม่ชี สาวกองค์แรกคือใคร พูดมาแล้ว พูดให้จำเอา (หัวเราะ) อันนี้ก็จำเอานะ ใครเป็นสาวกองค์แรก ใครเป็นสาวกองค์สุดท้าย นี่หละ อุปกาชีวกเนี่ย แล้วอุปกาชีวกคือใคร ฮะ! มาจากไหน แต่ว่าหลวงตาก็เลือนราง อาจจะเป็นอุปกาชีวกที่พระพุทธเจ้าครั้งแรกที่สุดอยู่พุทธคยาโน่น ตอนนั้นพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ จากประทับเสวยพระวิมุติสุขอยู่ศรีมหาโพธิ์ ได้ออกจากศรีมหาโพธิ์ เดินไป ประทับเดินไป ว่าจะไปอิสิปตนมฤคทายวัน อุปกาชีวกคนนี้ เห็นพระพุทธเจ้า “ท่านเป็นใคร ท่านมาจากไหน ทำไมจึงผ่องใสเหลือเกิน ท่านรู้ธรรมของใครมา ใครเป็นครูของท่านมา” อุปกาชีวกมองใบหน้าแล้วแปลก สดชื่น ยิ้มแย้มแจ่มใส ท่านมาจากไหน ท่านเป็นใคร ใครเป็นครูของท่าน ครูของท่านสอนยังไง พระพุทธเจ้าตอบครั้งแรกที่สุดเลย ได้แสดงธรรมครั้งแรกที่สุด พระพุทธเจ้าก็รุนแรงเกินไป “เราเป็นชาวสยมภู ตรัสรู้ชอบด้วยเราเอง ไม่มีใครเป็นครูของเรา” อุปกรชีวก ถ่มน้ำลายเลย หนีไปเลย ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย คุยโม้เกินไป (หัวเราะ) คุยโม้เกินไปใช่มั้ย “เราเป็นชาวสยมภู ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีใครเป็นครูของเรา” พูดอย่างนี้ อุปกาชีวก รับไม่ได้ ไม่เคยมีใครพูดอย่างนี้ มีแต่ครูทั้งหก อาจารย์สัญชัย เวลัฏฐบุตร ปกุธกัจจายนะ อาจารย์อะไรต่างๆ มีแต่บ่งถึงอาจารย์ ปกุธกัจจายนะ สัญชัย เวลัฏฐบุตร อชิตเกสกัมพล พระพุทธเจ้าไม่ว่าอย่างนั้นนะ เราเป็นชาวสยมภู ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีใครเป็นครูของเรา ไม่มีใครพูดอย่างนี้เลย อุปกาชีวกแลบลิ้นใหญ่เลย ไม่ฟังธรรมไม่สนใจ นี่แหละองค์เนี่ย มาประทับใจ เล่าลือมา เล่าลือมา เล่าลือมา พระพุทธเจ้าออกบวช ตรัสรู้ธรรมเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว กำลังเผยแผ่ธรรมอยู่ทั่วประเทศ อุปกาชีวกก็จะเป็นองค์นั้นหรือเปล่าน้อ จะเป็นองค์นั่นหรือเปล่าหนอ อาจจะใช่แล้วๆ เราพลาดแล้ว อาจจะใช่นั่นแล่ว ได้ยินอยู่ เจ็บใจๆ เจ็บใจเหลือเกิน พอได้ยินข่าวว่าจะปรินิพพาน วิ่งเลยบ๊าดเนี่ย (หัวเราะ) วิ่งเล ไปเลย นั่นแหละสาวกองค์สุดท้าย แต่พบก่อนใครทั้งหมด แต่ว่าเป็นคนสุดท้าย เพราะพลาด พลาด แต่ไม่ให้พลาดนะ เนี่ยสยมภูอยู่ที่ไหน เราเป็นชาวสยมภู
หลวงตาก็ไปมาแล้วนะ สยมภู เป็นเมืองประเทศเนปาล อยู่ประทศเนปาล กรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงเค้า หลวงตาก็ไปดู ไปดูสยมภูเป็นยังไง มีจริงๆ สยมภู สองสามพันปีแล้วยังมีอยู่ เดี๋ยวนี้เค้าก็มีโพธิสัตว์ คนหนึ่งเป็นผู้หญิง เค้ายังเชื่อนะชาวสยมภู ว่าจะเกิดพระพุทธเจ้าขึ้นมาอีกในชาตินี้ เป็นผู้หญิง อายุ 7-8 ปี แล้วก็เค้าให้อยู่ปราสาทชั้นบน มีผู้ดูแล มีพ่อแม่ เค้าเรียกว่าโพธิสัตว์ เป็นเด็กน้อย หลวงตาก็ไปดูเค้านะ ถ้าพระองค์มองหน้าใครยิ้มให้ใคร แสดงว่ามีบุญ ถ้าเห็นหน้านะ มีหน้าต่าง มีลาน เราก็เข้าไปในวังเขา กับพระสามรูป ญาติโยม ใครบ้างได้ไป เข้าไปก็ยืนอยู่ เขาห้ามถ่ายภาพ เขามีทหาร หลวงพ่อก็ยืนอยู่ มอง เปิดหน้าต่างออกมาๆ ปรากฏว่ายิ้มนะ ยิ้ม (หัวเราะ) ดีใจว่าพระโพธิสัตว์ยิ้มใส่ เป็นคนมีบุญมาก เค้ายังเชื่อกันนะ เดี๋ยวนี้เป็นสาวแล้ว ถ้าเราอยากดูก็ไป กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาลนะ ถ้าใครอยากไปดูไปดูได้
ไปอินเดีย ขึ้นเครื่องบินจากสวนลุมพินี ข้ามภูเขาหิมาลัย ข้ามภูเขาเอฟเวอเรส หลวงตาไปอยู่นั่นคืนนึง เขาพาขึ้นไปนอนอยู่หิมาลัย เคยไปนอนหลังเขาหิมาลัยแล้ว มีบ้านพักให้พัก เขาให้ไปพักข้างบน มีพระด้วยกันสามรูป ไปนอนอยู่ น้ำแข็งแล้ว มีบ้านพักเนี่ย อันนี้เรียกว่าข้าพเจ้าเราเป็นชาวสยมภู คือเมืองนี้ แน่นอน ตรัสรู้เองโดยชอบน่ะ ไปหมดแล้ว
งั้นเราก็ เดี๋ยวนี้เรากำลังเข้าสัปดาห์แห่งกาลมาฆบูชา พระสงฆ์ทั้งหลาย ตั้งแต่วันเพ็ญเดือน 8 เกิดพระอรหันต์ขึ้นมา ต่างคนต่างอยู่ ไม่เคยเห็นหน้าพระพุทธเจ้า มีแต่พระอัญญาโกณทัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ พระยสกุลบุตร ห้าสิบกว่าคน ต่างคนต่างได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าอยู่โน้น เวฬุวัน กรุงราชคฤโน้น ประทับอยู่ที่โน่น ใครก็ได้ยินข่าวมา บรรลุธรรมแล้ว ลูกศิษย์สาวกของพระพุทธเจ้าได้เกิดบรรลุธรรม ก็คิดถึงพระพุทธเจ้า ต่างคนต่างจะไป มาฆบูชา เพ็ญเดือนสามเนี่ย มันเป็นวันพิธีของเขา ของคนแขก เรียกว่าวันใส่ร้ายป้ายสี เหมือนสงกรานต์บ้านเรา หลวงตาก็ไปเจอวันนี้พอดี
ขอเล่าอีกสักหน่อยได้ไหม เขาเรียกว่าวันใส่ร้ายป้ายสี วันใส่ร้ายป้ายสีคือวันอะไร คือวันเล่นสงกรานต์เขา พวกคนอินเดียก็ไม่ไป เหมือนกับสงกรานต์บ้านเรา เราจะไปไหนดีเรา เราจะไม่ไปเล่นเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เราเป็นพระอรหันต์แล้ว คิดถึงพระพุทธเจ้า ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าคิดแบบเดียวกันหมดเลย พระอรหันต์สมัยนั้น ทำไมคิดแบบเดียวกัน เพราะมันเป็นประเพณี คนไทยเวลาสงกรานต์ก็กลับบ้านกลับช่องนะ แต่สาวกทั้งหลายไม่กลับมาเล่นสงกรานต์ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เดินทางไป เดี๋ยวนี้กำลังเดินทางล่ะ ไปถึงกรุงราชคฤห์ ไปถึงก็วันเดียวกันล่ะ วันสงกรานต์ วันเพ็ญเดือนสามเนี่ย วันใส่ร้ายป้ายสี หลวงตาไปอยู่สารจี ไปอยู่สารจีไปถึงวันนี้พอดี เค้าก็เล่นสงกรานต์ ใส่ร้ายป้ายสี เค้ามีสีนะ แต่มีแต่ผู้ชายไม่มีผู้หญิงนะ สีเค้าเนี่ย ถ้าเขาป้ายแล้ว ล้างไม่ออกเลย ล้างตั้งหลายวันจึงออก เขาป้ายหน้ากัน คนอินเดียนี่ ถ้าไปช่วงนี้ หน้าตาไม่สวยนะ มีแต่รอยสี (หัวเราะ)
พอดีหลวงตาไปนั่งอยู่ที่นั่น ที่วัดเนี่ย วัดสารจีเนี่ย ประเทศอะไร เมืองอะไร เมืองลักเนา หรือเมืองโภพาลนี่แหล่ะ พอดีมันเห็นหลวงตานั่งอยู่ พวกคนหนุ่ม ดาไลลามะ ดาไลลามะๆ มันนึกว่าหลวงตาเป็นองค์ดาไลลามะ ดาไลลามะๆ มากันเป็นกลุ่มเลย เอากระป๋องสีมา ดาไลลามะๆ (หัวเราะ) เราก็จะหนีไปไหนล่ะ ก็หนีไปไหน ไม่หนีไปไหน ก็นั่ง มันมีกุฏิเก่าๆ ก็นั่งกุฏินะ มันเหลือแต่เสา กับขื่อ กับคอเสา ก็นั่ง ไม่สะทกสะเทือน เค้าจะมาทำอะไรก็แล้วแต่เขาจะทำ พอวิ่งมาใกล้ๆ แห่เข้ามา พอเขามาใกล้ๆ ก็ เงียบลงๆๆๆ เราไม่กลัว เขาจะป้ายยังไงก็แล้วเขา ห่มจีวร เงียบลงๆ มาถึงใกล้ๆ นั่งลงบ๊าดเเนี่ย พอนั่งลง หลวงตาลืมตาน้อยๆ มอง มันเอาสีมาแตะจีวรหน่อยนึง แล้วก็มันก็หนีไป ดาไลลามะๆ ถ้าเราวิ่งหนีมันจะตามไล่ ถ้าเรานั่งเฉยๆ ก็แค่เอาป้ายจีวร เพราะฉะนั้น ในวันเพ็ญเดือนสามเนี่ย สาวกจึงไปรวมกันเพราะ เป็นวันใส่ร้ายป้ายสี เค้าจึงมารวมกันที่นั่น เลยเป็นวันปาฏิโมกข์ ก่อนจะวัน กี่วันเนี่ย