แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อ่าว ฟังธรรมกัน การฟังธรรมคือฟังเรื่องของตัวเอง เรื่องของเรามันมีอย่างไร มีอยู่ในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก มีสามปิฎก เรียกว่าตะกร้าใส่เอาไว้ พระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม เป็นเรื่องของชีวิตเรา การศึกษาชีวิตเรานี่ ท่านเรียกว่าไตรสิกขา ไตรสิกขานี่ มันไม่เหมือนการศึกษาของทางโลก ทางโลกก็มีศาสตร์ มีสูตรสำเร็จที่จะต้องเรียนตามสูตรสำเร็จ เอ่อ..ให้เรียนจบก็จำเอา จำได้เก่ง ได้ทำ มันมีผู้ตรวจ มีการผิดการถูก มีบุคคลอื่นเข้าไปเกี่ยวข้อง ผิดถูกบางทีอาจจะไม่เป็นธรรม คนทำดีก็อาจจะเป็นความผิด คนทำชั่วอาจจะเป็นความถูก เพราะเกี่ยวข้องกับคนอื่น สิ่งอื่น เหตุผลอะไรต่าง ๆ แล้วก็จึงเกิดการคอร์รัปชัน ทะเลาะวิวาท อะไรไปได้ ไม่จบไม่สิ้น
แต่ว่าการศึกษาไตรสิกขาเนี่ย มาศึกษาเรื่องชีวิตของเรา มาดู…นะ มาค้นมาพบมาเห็น เป็นการพบเห็น ไม่ใช่คิดเห็น ถ้าพบเห็นแล้วไม่ลืม เห็นทุกข์ก็…ไม่ต้องไปถามใคร พบเห็นแล้วนี่คือความทุกข์ เห็นความไม่ทุกข์ก็เห็นแล้ว นี่คือความไม่ทุกข์ เห็นความโกรธเห็นแล้ว เห็นความไม่โกรธก็เห็นแล้ว ทำเป็นแล้วทำได้แล้ว เห็นจนเป็นศีลเป็นสมาธิ ก็ไตรสิกขาคือศีล พึ่งได้แล้ว พึ่งกายพึ่งใจได้แล้ว กายมีศีล จิตใจมีศีล เป็นอานิสงค์ของการมีศีล สีเลนะ สุขะติง ยันติ โอ้…มีศีลนี่ก็มีความสุขจริง ๆ หนอ(ลากเสียง) บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่สะดุ้งไม่หวาดผวา ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน โอ้…ศีลเป็นอย่างนี่น้อ มั่นคงแล้วน้อ เหมือนภูเขาศิลาแท่งทึบไม่สะเทือนเพราะลม ผู้มีศีลไม่สะเทือนเพราะนินทา สรรเสริญ โอ้…นี่ศีลเป็นอย่างนี้หนอ(ลากเสียง) นี่เรียกว่า ศีล หาได้ในตัวชีวิตเรา บางทีถ้าไม่มีศีลก็หวั่นไหวน่ะ หวั่นไหวง่อนแง่นคลอนแคลน เหมือนเสาหลักปลักขี้โคลน มันเป็นสมาธิมั่นคงในจิตใจ ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร ในกองรูปกองนาม ในกองชีวิตจิตใจของเรา ปัญญาที่รอบรู้…รู้หมด รู้หมดจริง ๆ รู้ครบรู้ถ้วน ในกายในใจ เป็นรูปเป็นนามอย่างไร อาการอย่างไรที่เกิดอยู่บนกองรูปกองนาม เห็นแจ้งรู้จริง ในที่สุด…จบ! เป็นเหมือนกัน
นี่เป็นพุทธศาสตร์เป็นศาสตร์ของชีวิตจิตใจของเรา ถ้าไม่จบสูตรนี้ อันอื่นก็ถือว่าไม่จบ คนที่เรียนจบสูง ๆ ยังมีทุกข์ ยังมีปัญหาในกายในใจของตน เป็นทุกข์เพราะใจของตน เป็นทุกข์เพราะกายของตน เป็นทุกข์เพราะกายของตนแล้วยังไม่พอ ยังเป็นทุกข์คนอื่นอีก เป็นทุกข์ที่ใจของตนแล้วยังไม่พอ ยังไปกระทบกระเทือนกับคนอื่น สิ่งอื่น วัตถุอื่น ก็เป็นปัญหาไปเรื่อย ๆ จนเป็นระเบียบ เป็นตัวบทกฎหมาย เป็นอะไรสารพัดอย่าง เป็นกองทัพ เป็นประเทศชาติ เป็นรัฐธรรมนูญ เป็นตำรวจทหาร สร้างคุกสร้างตะรางลงไป เยอะแยะไปหมดเลย เพราะปัญหาเกิดที่กายที่ใจของคนคนหนึ่ง อย่างคนคนเดียว เกิดมีความเห็นผิด มีมิจฉาทิฐิเกิดขึ้น พวกเราก็เดือดร้อน จึงมีตำรวจมาจับ มีคุกมีตะรางจับไป คนทุศีลผิดศีลก็อยู่กับหมู่ไม่ได้ เพราะเบียดเบียนคนอื่น จึงจับไป จับกุมคุมขัง อ่ะนี่…ศีลนี่มันจึง โอ้…ดี ไม่มีปัญหา เราจึงมาศึกษากัน ให้มันค้นพบของจริง ในชีวิตจิตใจของเรา
จงมารู้จักตัวเอง คำนี้หมาย...ว่าค้นพบแก้วได้ในตัวท่าน หานอกตัวทำไมให้ป่วยการ ดอกบัวบานอยู่ในเราอย่าเขลาไป ในดอกบัวมีมณีที่เอกอุตม์ เพื่อมนุษย์ค้นหามาให้ได้ การตรัสรู้หรือรู้สิ่งใดใด ล้วนมาจากความรู้ตัวสูเอง
อาจารย์พระพุทธทาสประพันธ์เอาไว้ เรื่องชีวิตของเรา เราจึงมาดู มามีสติเป็นนักศึกษา เอากายเอาใจเป็นตำรา ดู สร้างภาวะที่ดูที่รู้ ให้มันเป็นคู่กับกายเป็นคู่กับใจ อย่าหนีไปดูอันอื่น ตาในมันมองกลับ ตาเนื้อมันมองไปข้างหน้า ตาข้างหลังมันไม่เห็น ตาเนื้อเนี่ย มองไปแต่ข้างหน้าอย่างเดียว ถ้าจะมองไปข้างหลังต้องหันหลังกลับ
แต่ตาในคือสติสัมปชัญญะ รู้รอบ มาทางไหน…รู้ มันเป็นดวงตา…ตาทิพย์ สร้างขึ้นมา สร้างภาวะที่รู้นี่ขึ้นมา อย่าไปคิดไปนึกเอาเหตุเอาผล การสร้างตัวรู้ ไม่เอาเหตุเอาผลเอาสมอง…ไม่ใช่ หัวคิดปัญญาดีขนาดไหนก็ไม่ใช่ มันต้องเป็นกรรม ต้องเป็นการกระทำ นะ ไม่ใช่สมอง คนนั่นสมองดี ปัญญาดี จำเก่ง ไม่ใช่แล้ว ไม่ใช่เลย ต้องเป็นการกระทำ มีกรรมคือการกระทำ กริยาที่กระทำก็ต้องมี เช่น เจริญสติต้องมีนิมิตที่เกาะ เกาะไว้ตรงไหน เกาะไว้ที่ลมหายใจเข้าออก รู้สึกลมหายใจเข้าหายใจออก เกาะไว้ที่กายเคลื่อนไหวไปมา เกาะไว้ที่กับการเดินจงกรม เอาของจริงมาศึกษา สิ่งที่เรามาดูมันก็มีอยู่จริง ๆ มีกายมีมือมันก็มีจริง ๆ เคลื่อนไหวไปมา ให้รู้อยู่ ให้ดูอยู่ เห็นอย่างเดียว บางทีดูกายอย่างเดียวมันก็ไปเห็นจิต เห็นอะไรเยอะแยะไปหมดเลย มันโผล่ออกมา แซงหน้าแซงหลัง ดูกายอย่างเดียว อ้าว…ความปวด ความเมื่อย ความขี้เกียจ ขี้คร้านอะไร ง่วงเหงาหาวนอน สารพัดอย่าง บางทีมันก็คิดไปต่าง ๆ นา ๆ ว่าจะดูกายที่นี่ อ้าว…มันหลุดไปแล้ว คิดไปถึงไหน ถึงไหน อ้าว ก็กลับคืนมา กลับมาตั้งไว้ กลับมาตั้งไว้
การสอนตัวเอง เวลาใดที่มันคิดไปอย่างอื่น ที่เราไม่ได้ตั้งใจก็ให้รู้จักกลับมา กลับมา กลับมาตั้งไว้ตรงนี้ กลับมาตั้งไว้ตรงนี้ ดูกายอย่างเดียวแต่สอนตัวเราหลายอย่าง เอ้อ…สอนกายสอนจิต…นะ เห็น…เห็นแล้วเห็นอีก ผิดแล้วผิดอีก ถ้าสิ่งไหนมันผิดก็รู้สึกตัว สิ่งไหนมันถูกก็รู้สึกตัว สิ่งไหนมันทุกข์เกิดขึ้นก็รู้สึกตัว มันหลงก็รู้สึกตัว มันง่วงเหงาหาวนอนก็รู้สึกตัว เอาความรู้สึกตัวแหวก(เน้นเสียง)เข้าไป แหวกเข้าไป สอดรู้สอดเห็นเข้าไป มันก็เห็นจริงแล้ว เห็นความหลงเนี่ยก็ว่าไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เห็นความทุกข์ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย มันก็เป็นปัญญาอยู่ตรงนั้นแหละ ปัญญามันเกิดได้อย่างนี้ มันหลอกเรา ความคิดมันก็หลอกเรา ความสุขความทุกข์มันหลอกเรา เราถูกหลอกมามาก ความสุขก็หลอกให้เราเป็นสุข ความทุกข์ก็หลอกให้เราเป็นทุกข์ ความหลงก็หลอกให้เราไปหลง ความโกรธก็หลอกให้เราทำตามความโกรธ ความรักก็หลอกให้เราทำตามความรัก โอ้…มันไม่จริง(เน้นเสียง)แบบนี้ พอมาเห็นแล้ว อืม…รู้สึกตัว รู้สึกตัว ไม่ถูกหลอก มันหลอกแล้วหลอกอีก คนที่ถูกหลอกมันก็ย่อมต้องมีปัญญา จะต้องมีปัญญาแน่นอน มัน…ไม่ต้องไปถามใคร
การศึกษาชีวิตของเราไม่มีคำถาม มีแต่การพบเห็น พบเห็น เห็นแล้วมันฉลาด เห็นความหลงก็ฉลาด เห็นความทุกข์ก็ฉลาด ฉลาดอยู่บนความโง่ ไม่ใช่ฉลาดอยู่บนสมอง สมองไว้คิดปัญญาเหตุผลไม่ใช่แบบนั้น ฉลาดในทางกุศลทางพระพุทธศาสนา ฉลาดในสิ่งที่มันโง่หลงงมงาย สิ่งที่มันเกิดปัญหา เกิดทุกข์ เกิดอะไรต่าง ๆ ในกายในจิตของเราเนี่ย มันก็มี มันก็เกิดขึ้นให้เราเห็นอยู่นั่นแหละ เรารู้สึกตัวมันก็มีอยู่จริง ๆ ความรู้สึกตัว กายมันก็มีจริง ๆ ที่มันเคลื่อนมันไหวเนี่ย มันก็รู้ มันก็มีอยู่จริง ๆ ทำไมเราจึงสร้างมันล่ะ เพราะว่ามันไม่มีหลักชีวิตเราแต่ก่อน มันไหล…ชีวิตมันไหล การไหลเขาเรียกว่าอะไร การไหลเขาเรียกว่า ทันธาเล ภาษาบาลี มันไหลอยู่เรื่อย มันเกิดขึ้นมาเขาเรียกว่า สัตตติ สันตติมันเกิดต่อ…เกิดต่อ มันก็ไหลไป มันไม่มีปัจจุบัน มันไปข้างหน้า มันคืนข้างหลัง โดยเฉพาะชีวิตจิตใจของเรานะ คิดไปข้างหน้าบ้าง มันคิดคืนข้างหลังบ้าง มันเห็นตามันก็จูงไป หูมันก็ดึงไป จมูกมันก็ดึงไป ลิ้นมันก็ดึงไป จิตใจมันก็ดึงไป มันไม่มีหลัก นี่จึงมาเกาะให้มันมีหลัก ให้มันปัจจุบัน
ปัจจุบันนี่คือการเคลื่อนไหวไปมา รู้สึกตัว เมื่อมันไปทางอื่นเราก็กลับมา เอามา มาตั้งไว้ มันไปเท่าไหร่ก็กลับมา การกลับมาบ่อย ๆ การกลับมาบ่อย ๆ มันเป็นการศึกษานะตรงนี้ เป็นการศึกษา…การศึกษานี่ ไตรสิกขา คือถลุงตรงนี้ ไม่ใช่ไปคิดมัน คิดไป มันหลงไป มันทุกข์ มันสุข ที่ไม่ใช่ความรู้ เราสร้างความรู้สึกตัวเนี่ย สิ่งที่ไม่ใช่ความรู้สึกตัวมันไปทางอื่น ก็กลับมา มารู้สึกตัว มารู้สึกตัวอยู่กับกาย มารู้สึกตัวอยู่กับกาย…เนี่ย ท่านเรียกว่าศึกษา…ไตรสิกขา สิกขาคือถลุงแล้ว หมดไปแล้ว ความคิดที่มันคิดไป หมดไปแล้ว มันมีความรู้สึกตัวแล้ว เอ้า…มันสุข เอ้า…รู้สึกตัวแล้ว ความสุขหมดไปแล้ว ความทุกข์หมดไปแล้ว รู้สึกตัว รู้สึกตัว…อย่างเนี้ย รู้สึกตัวบ่อย ๆ รู้สึกตัวบ่อย ๆ อะไรที่เกิดขึ้นกับกายกับใจรู้สึกตัวบ่อย ๆ รู้สึกตัวบ่อย ๆ ความรู้สึกตัวบ่อย ๆ เนี่ย เป็นตัวเฉลย เอ้า…เอาไปเอามาเป็นตัวเฉลย ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ มีความรู้สึกตัวอย่างเดียวเฉลยได้ทั้งหมด รู้แล้ว…ความหลงก็รู้แล้วมันคือความหลง ความไม่หลงก็มีอยู่ รู้แล้ว ทำความหลงได้แล้ว เกิดความรู้แล้ว มันหลงไปทางไหนความรู้สึกตัวอย่างเดียว เอามาเป็นความรู้สึกตัวทั้งหมด หรืออะไรต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจ เอามาเป็นความรู้สึกตัวทั้งหมด…นะ
การศึกษา อย่าให้มันเป็นอื่นไป ถ้ามันสุขก็เป็นสุขไปไม่ใช่แล้ว มันทุกข์ก็เป็นทุกข์ไปไม่ใช่แล้ว มันหลงก็หลงไป มันรักก็รักไป มันร้อน มันหนาว มันหิว มันปวด มันเมื่อย มัน…อย่าให้มันไปทางโน่น กลับมารู้สึกตัว…กลับมารู้สึกตัว เมื่อรู้สึกตัวแล้ว บางทีมันไม่ต้องไปแก้ มันแก้อยู่ในตัว มันเฉลยอยู่ในตัว มันเฉลยอยู่ในตัว บางทีไม่ต้องไปแก้ เช่น ความโกรธไปแก้ความโกรธ ไปทำอะไรแก้ความโกรธ ไปด่าเขาหรือ ไปฆ่าเขาหรือ ไปว่าเขาหรือ ไปโกรธเขาหรือ เอ่า…มันไม่ใช่ เขาโกรธมาก็โกรธตอบ…ไม่ใช่ มันโกรธก็รู้สึกตัวนั่นล่ะ รู้สึกตัวซะ กลับมารู้สึกตัว
วิธีใดที่จะรู้สึกตัว มีรูปแบบยังไง หายใจเข้า หายใจออก บางทีมันโกรธหายใจเข้า หายใจออกสักสิบรอบ รู้สึกตัว รู้สึกตัวสักสิบรอบ แม้มันไม่หมด มันก็น้อยลง อ่อนลง เช่น ความโกรธซัก…ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าหายใจเข้าหายใจออกสักสิบรอบ ความโกรธก็ลด อย่างน้อยต้องครึ่งหนึ่งหรือหมดไปเลย ไม่ต้องได้ด่ากันแล้ว หรือเรายกมือสร้างจังหวะเคลื่อนไหวไปมา กระดิกนิ้วเล่น ๆ อยู่ อ่ะ...รู้สึกตัว
รู้สึกตัวอยู่เนี่ย ไม่ต้องไปยุ่งกับมันความโกรธ มาทำความรู้สึกตัวซะ ความโกรธก็หมดไป อะไรก็ตามที่มันเกิดขึ้นกับกายกับใจ เอาความรู้สึกตัวตั้งไว้ ตั้งไว้เนี่ย เป็นบังเกอร์ หรือเป็นการหลบ เป็นกระดอง เป็นที่พึ่ง เป็นหลัก เหมือนพระพุทธเจ้าสอนเหล่าพระสาวกทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายพวกเธอเห็นเต่าไหม มันหากินอยู่ตามริมแม่น้ำคงคา พระพุทธเจ้าอาจจะพาพระสงฆ์ไปบิณฑบาต สุนัขป่า หมาป่า มาเห็นเต่า คิดว่าจะกินเต่า แต่ว่าเต่ามันก็หดอวัยวะมันเข้ากระดอง หมาป่าก็กินมันไม่ได้ ฉันใดก็ดี ภิกษุทั้งหลาย เธอจงมีกระดองเป็นที่อยู่ กระดองคืออะไร คือกรรมฐาน มีสติ สัมปชัญญะ อะไรเกิดขึ้นก็รู้สึกตัว การรู้สึกตัวเรียกว่าหดอวัยวะเข้าในกระดอง แล้วรู้สึกตัว เรียกว่ามีกระดอง มีที่อาศัยแล้ว ความหลงก็ทำให้เกิดอะไรไม่ได้ ความทุกข์ ความโกรธ ความรัก ความชัง ไม่ได้ รู้สึกตัว รู้สึกตัว รู้สึกตัวคือ…คือของจริง เป็นสมบัติของกาย
ความรู้สึกตัวคือของจริง เป็นสมบัติของจิต อย่าให้ขาดแคลน อย่าจนเรื่องนี้ ถ้าเราไม่ศึกษามันจะจนนะ อะไรเกิดขึ้นก็จนแล้ว กับความโกรธก็จนความรู้สึกตัว ความทุกข์ก็จนความรู้สึกตัว ความรักความชังก็จนความรู้สึกตัว เพราะเขาจนความรู้สึกตัว เขาจึงทุกข์ เขาจึงรัก จึงชัง เขาจึงโกรธ จึงโลภ จึงหลง จึงวิตกกังวลเศร้าหมอง ถ้าเขามีความรู้สึกตัว เขาไม่เป็นอย่างนั้น เหมือนกับพลัดถิ่นพลัดบ้านไปแล้ว คนหลงคือคนพลัดบ้าน คนโกรธคือคนพลัดบ้าน คนทุกข์คือคนพลัดบ้าน ถ้าคนมีสติคนมีบ้านมีหลักมีแหล่ง มีวิหารธรรมเป็นที่อยู่ อุ่นอกอุ่นใจไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน
เมื่อเราฝึกอย่างนี้หัดอย่างนี้เราก็พึ่งเราได้ คนอื่นก็พึ่งเราได้ ถ้าเราไม่หัดตรงนี้ก็ อ้าว…เพื่อนร่วมงานกันทะเลาะกันได้ ต่างคนต่างไม่มีหลัก ลอยอยู่ พอลอยมันก็ไม่มีหลัก เหมือนไม่มีทางเดินของชีวิต ทางเดินไม่เป็นระเบียบก็ชนกัน ความคิดชนกัน ตาก็ชนกัน คำพูดก็ชนกัน อะไรมันต้องมีทาง แม้แต่นักบินที่บินเครื่อง…ขับเครื่องบินเขาก็มีทางของเขา บางคนก็บินสูง บางคนก็บินต่ำ บางคนก็ไปทางหนึ่ง บางคนก็ไปทางนึง เขามีทาง แม้เป็นอากาศเขาก็ต้องมีทาง ถ้าไม่มีทางมันก็ชนกันได้ ธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าจึงพูดเรื่องทาง ทำทางให้กับชีวิตของเรา ชีวิตของเรานั้นมีทางเดิน ถ้า…วิตกกังวลเศร้าหมอง เรียกว่าไม่มีทางเดิน ไม่เรียบขรุขระ ทุลักทุเล เข้ารกเข้าพง โกรธ โลภ หลง วิตกกังวล เศร้าหมองน่ะ เรียกว่าชีวิตไม่มีทาง ชีวิตที่มีทางมันไม่เป็นไร แม้มันเห็นมันก็เรียบทำให้เรียบได้ มันหลงก็รู้สึกตัว ทำให้ชีวิตเรียบแล้ว มันทุกข์ก็รู้สึกตัว…เรียบแล้ว มันโกรธก็รู้สึกตัวเรียกว่าเรียบแล้ว วิตกกังวลเศร้าหมองรู้สึกตัว…เรียบแล้ว เรียบแล้ว ทำให้เรียบแล้ว ไม่สะดุ้ง ไม่กระทบ ไม่กระเทือน ชีวิตเดินอยู่ในทางเรียบ ๆ เหมือนกับมิตรภาพ มิตรภาพราบเรียบของการใช้ชีวิต ไม่กระทบกระเทือน ไม่…อ่า…วิตกกังวลอะไรต่าง ๆ
ถ้าเราหัดนะ เดินอยู่บนเส้นทางของชีวิตเรา อ่า…เรียกว่ามรรค…มรรคก็คือทาง ทำให้เรียบ ๆ ทำให้เรียบ ๆ เหมือนหลวงพ่อไปเทศน์อบรมคณะแพทย์ ทันตแพทย์ นักศึกษาทันตแพทย์ปีสองปีสามปีสี่ ไปพูดอยู่สามวันกับอาจารย์ทรงศิลป์ หลวงพ่อบอกว่า ชีวิตเราต้องปูพรม ปูพรมให้กับชีวิต อย่าให้ขรุขระ คือเจริญสตินี่แหละ ความรู้สึกตัวมันปูพรมให้ชีวิตที่เดินไป ถ้ามีความรู้สึกตัวก็มีเมตตากรุณา มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา เรียกว่าปูพรม ไม่กระทบกระเทือน ไม่มีขอบเขต ถ้ายังเลือกที่รักมักที่ชัง ทะเลาะคนนั่นเป็นเพื่อนเรา คนนี้ไม่เป็นเพื่อนเรา เรียกว่าไม่มี…ไม่ปูพรม ไม่เรียบ พระพุทธเจ้าหรือว่าศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนี่ย ต่อจากนี้ไปเป็นศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย ศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย…ท่านก็กล่าวว่า แผ่นดินราบเหมือนหน้ากลองชัย หน้ากลองมันเรียบ มันไม่เป็นแผ่นดิน มันหมายถึงจิตใจของเรา ที่เราอาศัยศาสนาของสมณโคดม มาฝึกหัดมาปฏิบัติวิชากรรมฐาน ทุกคนมีศีลมีธรรม มันก็เรียบ อย่างพวกเรามาสร้างเนี่ย ทำให้เรียบเดี๋ยวนี้ก็ได้ ถ้าทุกคนนั่งอยู่นี่ ยี่สิบ สามสิบคนเนี่ย มีสติกันทุกคน ทุกคนมีสติ มันก็เรียบแล้ว ต่างคนต่างดูแลตัวเราอยู่ คิดอะไรก็รู้อยู่นี่แหละ แก้อยู่นี่แหละ รู้อยู่นี่แหละ มันคิดขึ้นมาก็รู้อยู่นี่แหละ มันก็อันเดียวกัน เรียบแล้ว
ถ้าทุกคนมีแต่ความหลงก็ไม่เรียบแล้ว ไม่เป็นหนึ่งแล้ว ไม่เรียบ ขรุขระแล้ว บางคนก็คิดรักคนนั่น บางคนก็คิดโกรธคนนั่น พอใจกับสิ่งนั่น ไม่พอใจกับสิ่งนั้น แม้แต่เสียงหลวงตาพูดก็อาจจะไม่ชอบ เสียงสวดมนต์ก็ไม่ชอบ ทำวัตรนั่งก็ไม่ชอบ ทำไมจึงนั่งอย่างนี้ ทำไมจึงยกมืออย่างนี้ ทำไมจึงอย่างโน้นอย่างนี้สารพัดอย่าง มัน…หาสิ่งต่าง ๆ มาอ้าง มาหาเหตุหาผล มันก็ไม่เป็นหนึ่ง ไม่เป็นหนึ่ง อะไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้เป็นหนึ่งมันมีอยู่ ธรรมวินัย คือข้อวัตรปฏิบัติ เหมือนพระพุทธเจ้าว่า…ตรัสไว้ในธรรมวินัย เหมือนเส้นด้าย ร้อยดอกไม้ ดอกไม้เนี้ย จะเป็นต่างสี ต่างรูป ลักษณะ แตกต่างกันไป แต่ว่าเมื่อเข้ามาอยู่ในเส้นด้ายที่ร้อยลงไปแล้ว มันก็เรียบไปหมด น่าดู สวยงาม มีค่าขึ้นมา ผู้ที่ปฏิบัติธรรมผู้ที่เจริญสติแล้วนะ ก่อนพูด ก่อนทำ ก่อนคิด ขณะที่พูดขณะที่ทำขณะที่คิด เขารู้สึกตัว เหมือนเส้นด้ายที่ร้อยชีวิตเราไว้ ทุกคนทำอย่างนี้ ทุกคนทำอย่างนี้ มันก็เป็นอันเดียวกัน เป็นอันเดียวกัน ต่างคนต่างละความชั่ว ต่างคนต่างทำความดี ต่างคนต่างทำจิตให้บริสุทธิ์ เป็นอย่างนั้นการเจริญสติ เรารู้สึกตัวอยู่เนี่ย เราไปด่าใครไหม เราไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไหม เราไปคิดอะไรไหม แม้คิดก็ยังไม่นะ...มันก็รู้จักกลับมา ช่วยตัวเอง
สร้างสติรู้สึกตัวอยู่นี่ก็เป็นการละความชั่วแล้ว มีสติรู้สึกตัวอยู่นี้ มันก็ทำความดีแล้ว มีสติรู้สึกตัวอยู่นี่ มันก็ทำให้จิตเราบริสุทธิ์แล้ว อย่างเนี้ย เนี่ย…มันไม่ยากนะ มันง่าย ๆ แต่เรามองข้าม ทุกคนไปเอาอันอื่น ไปเอาเหตุเอาผล ไปเอารูปแบบ ไปเอาคำพูด ไปเอาอะไรต่าง ๆ สารพัดอย่างมาตัดสิน มาเป็นเครื่องตัดสิน ไม่เอาศีลเอาธรรม ไม่เอาความรู้สึกตัว เช่น เขาโกรธ…เขาโกรธให้เรา เราก็มองเห็นคนที่เขาโกรธ เขาหลงแล้ว ถ้าเขาไม่หลง เขาไม่โกรธ…นะ
คนที่หลงเนี่ยเป็นคนที่น่าให้อภัย กลายเป็นความเมตตาสงสาร ตั้งแต่เขาหลงเนี่ย เขาก็โกรธ เขาก็ทุกข์อยู่แล้ว เราก็ไม่กล้าที่จะไปโกรธตอบเขา เรารู้สึกตัว เรารู้สึกตัวแล้ว เป็นคนที่น่าให้อภัย คนที่หลงนี่ เป็นคนที่น่าให้อภัยเป็นคนที่ควรช่วยเหลือ ถ้าคนมีสติมองคนละมุมกันไป ถ้าคนไม่มีสติเขาก็มอง…เขาโกรธมาโกรธตอบ เขาด่าก็ด่าตอบ ไม่ใช่…ไม่ใช่ ไม่ใช่เลย คนที่โกรธนั้นเป็นคนที่หลงแล้ว เป็นคนที่ทุกข์แล้ว น่าสงสาร หน้าตาก็ไม่ดี
ก็…รู้จักหลบ รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง หาวิธีช่วย ไปเอาเหตุเอาผลกับคนโกรธ ทะเลาะกัน พูดคำสองคำ คนหนึ่งได้สองคำสามคำ คนโกรธ คนที่โกรธที่หลงนี่ เอาเหตุเอาผลไปให้ มันไม่เอาหรอก เหมือนเขาอยู่ด้วยภูมิอันนึง อยู่ในภูมิที่ต่ำ เช่น พวกเปตร พวกสัตว์นรกเนี่ย จะเอาอาหารดี ๆ ไปให้เขา เขา…เขาเอาไม่ได้ เขาเสวยกรรมของเขา จึงโปรดไม่ได้ ต้องให้เขาขึ้นมาเสียก่อน เราไปพูดกับคนโกรธ ทะเลาะกันนี่ แสดงว่า…ไม่รู้เรื่อง คนละภูมิกัน ต่อเมื่อใดที่เขาพ้นจากกรรมแล้ว เขาก็รู้ เราก็ค่อยชี้แจงเหตุผลอะไรต่าง ๆ ได้ เลยไม่ต้องทะเลาะกัน…นะ ก็หลบเป็น หลีกเป็น เราหลีกเราหลบไม่โต้ไม่ตอบ ก็เป็นการแก้ปัญหาไปในตัว ถ้าเขาโกรธเราครั้งที่หนึ่ง เราไม่ว่าอะไรเขา เราก็ยังดีกว่าเขา เขาโกรธแล้ว โกรธอีก เราก็ไม่ว่าอะไรเขา ดีไป เอาไปเอามาเขาก็กลายเป็นคนดี
อย่างสามีภรรยา ทะเลาะกันไป ทะเลาะกันมา พอภรรยามาปฏิบัติธรรม น่ะ…มาจากอำเภอแวงใหญ่ เขามาพูดให้หลวงพ่อฟัง โอ้…ได้ผล…หลวงพ่อได้ผล โอ้…ภรรยามาผู้เมียมาปฏิบัติธรรม ใจดี(ลากเสียง)กลับไปบ้าน ใจเย็นกลับไปบ้าน เอาไปเอามาเนี่ย สามีเขาเห็นภรรยาต่างออก โกรธทีไรก็ไม่โกรธตอบ เขาไม่โกรธตอบ ว่าอะไรเขาไม่โกรธตอบ ยิ้ม…ยิ้ม ดี…สม่ำเสมอ สามีเป็นคนสูบบุหรี่ เป็นคนขี้เหล้า เลิก…แม้กระทั่งบุหรี่ เลิกกินเหล้า กลายเป็นคนดีด้วยกัน มาพร้อมกัน ภรรยาเขา…มาพร้อมกันกับสามี มาสารภาพ ได้ผลหลวงพ่อได้ผล เขาก็พออกพอใจ โดยที่ไม่ต้องมีอะไร ไม่ต้องมานั่งปฏิบัติธรรมก็ได้ บางทีมันติดกันได้นะ ภรรยามาปฏิบัติธรรมอย่างเดียว เย็นไปอยู่กับสามี สามีก็กลายเป็นคนเย็นไปด้วย เย็นแล้วไม่พอ ก็เย็นไปถึงลูกถึงหลานไปอีกนะ มันติดกัน บุญเนี่ย…บุญมันติดกัน บาปมันก็ติดกัน นะ…เราจึงสร้างตัวนี้เป็นหลักเอาไว้ เพราะชีวิตเราน่ะ อยู่ในโลกไม่ใช่เราอยู่คนเดียว อยู่กับเพื่อนร่วมงาน อยู่กับการกับงาน อยู่กับแสงแดด อยู่กับละอองฝน อยู่กับเหลือบยุงริ้นไร อยู่กับถนนขรุขระ น้ำฝน อะไรต่าง ๆ เยอะแยะ ถ้าเรามีความรู้สึกตัว สิ่งทั้งหลาย ทั้งหลายจะไม่มีปัญหา ชีวิตเราเรียบไปเลย
โบราณท่านจึงว่า ตื่นแต่ดึกศึกแต่หนุ่ม ตื่นแต่ดึก ศึกแต่หนุ่ม…อย่ารอให้เฒ่าให้แก่ มันจะไม่มีค่าเลยชีวิตเรา ต้องมาเรียนรู้ เรื่องกายเรื่องใจ แล้วมันก็มีสูตรจริง ๆ กายเนี่ย กายานุปัสสนา มีสติเห็นกายเนี่ย ทุกคนก็มีกาย มีมือ ขาสอง แขนสอง ถ้าคนทำเอามือวางไว้บนเข่าก็รู้กันทุกคน ความรู้สึกตัวนี้ไม่ต้องไปถาม หนูรู้หรือเปล่า ผมรู้หรือเปล่า ฉันรู้หรือเปล่า ไม่มีคำถาม ถ้าคุณหลงคุณก็รู้เอาเอง ถ้าคุณรู้สึกตัวความหลงของคุณมันก็หมดไปเอง คุณก็ทำเป็นแล้ว คุณก็สร้างเป็นแล้ว รู้อีก รู้อีก รู้อีก ถ้าคุณอยู่กับความรู้สึกตัว หนึ่งวัน สองวัน ถ้าคุณอยู่กับความรู้สึกตัว หนึ่งวัน สามวัน สี่วัน หนึ่งวันเจ็ดวัน หนึ่งเดือน เจ็ดเดือน หนึ่งปี เจ็ดปี เกิดอานิสงส์…เป็นพระอริยบุคคลได้ ถึงกับเป็นพระอรหันต์ได้ เพราะว่า..พระอรหันต์ก็คือผู้มีสติเป็นหน้ารอบ ไม่ใช่เหาะเหินเดินฟ้า ผู้มีสติเป็นหน้ารอบ เหมือนพระขีณาสพ ผู้มีสติเป็นวินัย พระขีณาสพก็คือพระอรหันต์นั่นแหละ มีสติเป็นหน้ารอบ การเจริญสติเท่านี้…มันไม่ใช่เท่านี้นะ มันไม่ใช่เท่านี้ การเจริญสติอย่างเดียวเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา อย่างที่พูดให้ฟัง อ่ะ…เรามีสติ รู้หนึ่งวัน รู้สึกตัวสองวัน รู้สึกตัว รู้อยู่ที่กาย รู้อยู่ที่จิตใจ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีสติอยู่กับกาย…มีสติอยู่กับกาย เวลาใดมันหลง เอ้า…มันมีความรู้แล้วบัดเนี้ย
มันไม่…มันไม่ชอบธรรม ความชอบธรรมมันมีอยู่กับความรู้สึกตัว เขาก็เอาความรู้สึกตัว เข้าข้างความรู้สึกตัว บุคคลที่ฝึกตนเองที่เคยแล้ว ถ้าบุคคลที่ไม่เคยฝึก อะไรยื่นมาก็เอาหมด อยู่กับความหลงสองชั่วโมง สามชั่วโมง อยู่กับความทุกข์ข้ามวันข้ามคืน อยู่กับความโกรธข้ามวันข้ามคืนก็มี เพราะเขาไม่เคยมีความรู้สึกตัว ถ้าคนที่เคยฝึกสติมีความรู้สึกตัวแล้ว เขาจะกลับมาทันที เขาจะกลับมาทันที เพราะความหลงไม่เป็นธรรม ความรู้สึกตัวเป็นธรรม ความโกรธไม่เป็นธรรม ความรู้สึกตัวเป็นธรรม ความทุกข์ไม่เป็นธรรม ความรู้สึกตัวเป็นธรรม เพราะเขาเคยแล้ว เขาเคยเดิน เขาเคยมีแล้ว เหมือนคนมีบ้าน มีที่อยู่อาศัย เวลาฝนตกเขาก็เข้าบ้านเขา เวลาแดดออกเขาก็เข้าบ้านเขา ไม่เหมือนพวกจัณฑาล ไม่หมือนพวกศูทร เป็นคนชั้นต่ำที่ประเทศอินเดีย เขาไม่มีบ้าน ฝนตกก็อยู่อย่างนั้น แดดออกก็อยู่อย่างนั้น นอนก็อยู่อย่างนั้น จะเข้าไปพึ่งบ้านเขาไม่ได้ เขาไม่ให้เข้าบ้าน เขามีวรรณะ เข้าร่ม อาศัยร่มเงาบ้านเขาก็ไม่ได้ เขาเอาก้อนอิฐขว้าง หนีไปเลย ต้องไปนั่งอยู่บนฟุตบาทถนน เขาไม่มีบ้าน ชีวิตของเราเนี่ย…ก็เหมือนกัน
บางคนนี่ ไม่มีบ้านทางจิต บ้านของจิตคือปกติ ฝึกจนปกติ มีบ้านนี่ ไม่ไปแล้วบัดนี้ ปกติเข้าบ้าน เข้าบ้าน รู้สึกตัวเนี่ย…เป็นบ้าน หลงเมื่อไรก็พลัดบ้าน โกรธเมื่อไรก็พลัดบ้านแล้ว…เข้าบ้าน อย่างนี้นะ…เรียกว่าหลัก หรือว่าที่พึ่ง เราจึงว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้า…พึ่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ข้าพเจ้าจึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะภาวะความเป็นพุทธะ ความเป็นพุทธะ สิ่งที่ทำให้เกิดเป็นพุทธะ ก็คือความรู้สึกตัวนี่เอง พระพุทธเจ้าที่เป็นพระพุทธเจ้าก็เจริญสติ สร้างสติเหมือนกับเรา เอากายมาสร้าง พระพุทธองค์จึงตรัสไว้อย่างมั่นคงว่า เอกะ มัคโค วิสุทธิยา สติปัฏฐาน หมายเลขหนึ่ง เป็นทางอันดับหนึ่ง เอกะ…เอกะคือหนึ่ง มักโคคือทาง วิสุทธิยาไปสู่ความบริสุทธิ์ของชีวิตจิตใจของเรา การเจริญสตินี่ อย่าให้ขาดแคลนพวกเรา ถ้าขาดแคลนความรู้สึกตัว ขาดแคลนธรรมแล้ว ชีวิตจะไม่มีค่าอะไร เกิดโกรธจนตาย ทุกข์จนตาย หลงจนตาย มีค่าอะไรสำหรับพวกเรา จะต้องโกรธจนตายหรือ จะต้องทุกข์จนตาย จะต้องหลงจนตาย แล้วมันมี…มันมีประโยชน์อะไร ความหลงมีประโยชน์อะไร ความทุกข์มีประโยชน์อะไร โกรธมีประโยชน์อะไร ความวิตกเศร้าหมองมีประโยชน์อะไร แค่นี้…มันไม่ใช่ขี่ช้างขี่ม้ามา เพียงแต่รู้สึกตัวมันก็หายไปแล้ว ทำไมจึงให้มันครองเรา
เคยถาม ความหลงกับความรู้ วันหนึ่งเราอยู่กับความหลงหรือว่าอยู่กับความรู้กัน ถ้าอยู่กับความหลงก็ไม่ปลอดภัยแล้ว เราจึงมาสร้างความรู้สึกตัวให้เป็นนิสัย เป็นปัจจัย เป็นปัจจัยมาทางนี้ มาทางนี้ ถ้าไม่สร้างเป็นไปไม่ได้ คุณจะมาจำเอาไม่ได้ เอ่อ…ธรรมมีอุปการะมาก 2 อย่าง หนึ่งสติ ความระลึกได้ สองสัมปชัญญะ ความรู้ตัว คุณจะจำเอาแบบนั้นแล้วไปตอบไปเขียนในข้อเขียนในกระดาษ มันเป็นภาษานกแก้วนกขุนทอง มันไม่มีประโยชน์ คุณต้องมาจุ่มเอา ปฏิบัติคือจุ่มเอา เอากายไปจุ่มเอาไปต่อเอากับความรู้สึกตัว เอาใจไปต่อเอากับความรู้สึกตัว อะไรที่เป็นเรื่องอะไรก็ตาม รู้สึกตัวไว้ หัดจนเป็นนิสัยเคยชิน มันหลงทีไรก็รู้ มันหลงทีไรก็รู้…อะไรก็ตาม รู้สึกตัว เอ้อ…มันมีแล้วหนะ มันไม่เอาอันอื่นหรอก อันอื่นไม่เป็นธรรมหรอก(ลากเสียง) ความรู้สึกตัวนี่แล้ว
ความรู้สึกตัวเหมือนมารดา พระพุทธเจ้าจึงว่าอุปการะ อุปการะมากเหมือนกับพ่อกับแม่ เป็นคุณธรรม คุณธรรมนี่ ความรู้สึกตัวเหมือนพ่อเหมือนแม่ อุปการคุณ พ่อแม่นี่…ก็ไม่มีแล้ว หนะ…อย่างหลวงตานี่ไม่มีพ่อแล้ว ไม่มีแม่แล้ว ยิ่งกว่าพ่อกว่าแม่คืออยู่กับเราตลอดเวลา อยู่กับเราตลอดเวลา เหมือนกับรักษาเรา เอาไปเอามาธรรมรักษา มันหลงไม่ได้มันรู้ ศีลก็ช่วย สมาธิก็ช่วย ปัญญาก็ช่วย เดี๋ยวนี้มีอะไรช่วยเราไหม คนอื่นช่วยเรา เพื่อนช่วยเรา พ่อแม่ช่วยเรา พึ่งอะไรกัน เอาชีวิตไปห้อยไปแขวนไว้ตรงไหน บางคนเอาชีวิตไปห้อยไปแขวนไว้กับความรัก ความรักก็เกิดอกหักเสียอกเสียใจ เกิดปัญหาต่าง ๆ เต็มบ้านเต็มเมือง ต้องพึ่งตนเอง อย่าไปห้อยไปแขวนไว้ ต้องพึ่งตนเอง ถ้าพึ่งตนเองได้แล้ว คนอื่นก็พึ่งได้ ถ้าช่วยตนเองได้เป็นแล้ว ก็ช่วยคนอื่นเป็น ถ้าดูแลตัวเองคุ้ม ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่ปล่อยให้เป็น…หมกมุ่นครุ่นคิดอะไร เป็นระเบียบแล้ว ก็…คนอื่นก็เป็นระเบียบไปด้วย ทำตัวเราอย่างเดียว ทุกคนมาทำหน้าที่ของเรา มามีสติ มารู้สึกตัว ปฏิบัติธรรมก็คือมาดูแล…ชีวิตของเรานี่แหละ
ชีวิตของเราก็มีไม่มาก มีกายกับใจ…แค่นี้นะ แค่กายกับใจ อ่ะแต่ว่าไม่ใช่…วิธีดูแลก็คือมีสติ ไม่ใช่จะมาลูบมาคลำ แต่งหน้าทาแป้ง มาดูแลรักษาลูบ ๆ คลำ ๆ ไล่เหลือบไล่ยุงอันนั้นก็ไม่ใช่ ใช่อยู่…แต่ว่ามันไม่ใช่ ต้องมามีสติ รู้สึกตัว รู้สึกตัวนะ คือการดูแลตัวเรา รู้สึกตัวคือการดูแล เวลาใดที่มันหลงไปทางอื่น รู้สึกตัวเนี่ยคือการดูแล ปลอดภัยแล้ว ไม่มีภัย ปฏิบัติธรรมมาดูแลตัวเอง รักษาตัวเอง อย่าให้มันเกิดโทษเกิดภัย มันหลงก็รู้สึกตัว รักษาไว้แล้ว มันโกรธก็รู้สึกตัว มันทุกข์ก็รู้สึกตัว เรียกว่ารักษาตัวเองคุ้มแล้ว คุ้มแล้ว ปลอดภัยแล้ว ปลอดภัยแล้ว จนไม่มีภัย ชีวิตไม่มีภัย ท่านเรียกว่าพระอริยะเจ้า อริยะคือผู้ไม่มีภัย อริ แปลว่า ข้าศึก ยะ แปลว่า ไปจากข้าศึก ไม่มีข้าศึก ชีวิตที่ไม่มีข้าศึก จะอยู่กี่ปีกี่ปีก็ไม่มีข้าศึก ถ้าเราไม่ศึกษามันจะมีแต่ข้าศึก กลางคืนว่าฝันกลางวันว่าคิด เวลานอนก็หาเรื่องมาคิดนอนไม่หลับ ข้าศึกของจิตใจ มีเงินมีทองมีข้าวมีของมีบ้านมีช่องก็ยังนอนไม่หลับ บางทีเขาทำนิทานล้อคน มีหมากับเจ้าของบ้าน หมานอนปั๊บ…หลับปั๊บ เจ้าของบ้านนอนไม่หลับ คิดไปโน่น คิดไปนี่ ไป(ลากเสียง) เขาทำนิทานล้อคน เพราะฉะนั้นบางทีเนี่ย ชีวิตเรามันก็เป็นโทษต่อเรามาก ๆ ทีเดียว กินไม่ได้นอนไม่หลับ
เศรษฐีเงิน มีเงินมีทองเป็นโรคขาดอาหารกันนะ เพราะมันมีปัญหาหลาก แล้วปัญหาที่มันเกิดขึ้นก็ไม่ใช่ที่ไหน มันเกิดขึ้นที่กายที่ใจของเรา ซุกซนตัวเองซุกซน เวลานอนหาเรื่องมาคิด เวลากินก็หาเรื่องมาคิด ขณะที่กินอาหารทานอาหารเอาความคิดนั่นคิดนี่ มันก็กินความคิด กินอารมณ์ กินข้าวไม่ได้ อาหารที่กินลงไปทานลงไป อาหารดี ๆ มันก็ไม่ย่อย ท้องผูก ไม่ขับไม่ถ่าย อย่างนี้นะ เพราะงั้นเรามาเถอะ มาปฏิบัติธรรม มาฝึกหัดชีวิตจิตใจของเรา เรามาทำประโยชน์ให้เราไม่พอ ประโยชน์ของสิ่งอื่นก็มีอีก ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ประโยชน์ต่อโลก ประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ช่วยกัน โดยเฉพาะพวกเราเป็นเจ้าหน้าที่ เป็นแพทย์ เป็นพยาบาล เป็นผู้ที่ทำงานกับผู้กับคนทุกวี่ทุกวัน งานของเราที่ทำเป็นงานที่เกิดบุญเกิดกุศล ก็เพิ่มบุญ เพิ่มกุศล เพิ่มคุณธรรมเข้าไป พูดกับผู้กับคนสักคำ เพิ่มบุญเข้าไป เพิ่มเมตตาเข้าไป เพิ่มความอดทนเข้าไป เพิ่มความเพียรเข้าไป เพิ่มสติเข้าไป จากที่เราคนเดียว เพียงเอามือไปจับมือคนป่วย พูดออกไปสักคำ บางทีคนป่วยอาจจะหาย ดูหน้าตาหมอ ดูหน้าตาพยาบาล โอ้…คนป่วยหายแล้ว กิริยามารยาทเรียบร้อย หายแล้ว หายแล้วคนป่วย มันเป็นบุญ ทำให้คนทุกข์…หายทุกข์ ทำให้คนป่วย…หายป่วย มันเป็นบุญ มันเป็นกุศลที่สุดเลย รักษาคนเป็นโรคภัยไข้เจ็บให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ
งานบุญ ไม่ใช่งานที่มันเป็นทุกข์ เพิ่มคุณธรรมเข้าไป ได้บุญทุกวัน ทำความดีทุกวัน ได้ปัญญาทุกวัน ภูมิใจทุกวัน นะ…ได้ช่วยโน่นได้ช่วยนี่ ไม่เอาเปรียบใคร เราก็มีชีวิตเป็นหลักของชีวิต เป็นงานที่มีชีวิต มาตรฐานไปอีกอันหนึ่ง ถ้าไม่เตรียมใจไม่ฝึกฝนตนเองจะเป็นทุกข์ เพราะสิ่งที่เราพบเห็น มีแต่เพื่อนร่วมงานอะไรต่าง ๆ ต่างคนต่างกุลีกุจอ บางทีเราทำงานหนัก ๆ มันจะตวาดคนอื่น มันจะทุกข์ การทำงานมาก ๆ มันอาจจะทุกข์ อาจจะ…จิตใจอาจจะไม่ปกติ จึงมา…ฝึกเอาไว้ ฝึกเอาไว้ มันจะเข้มแข็ง อ่อนแอตรงไหนมันจะเข้มแข็ง ถ้าเราฝึกดี ๆ จุดอ่อนอยู่ตรงไหนมันจะเข้มแข็ง หลงตรงไหนมันจะรู้ จะทุกข์ตรงไหนมันจะรู้ได้ วิธีที่เราสร้างเนี่ย มันก็…มันก็มีเท่านี้ ไม่ต้องอธิบาย เพียงแต่เราเอามือมาวางไว้บนเข่า พลิกมือขึ้นรู้สึกตัว ยกมือขึ้นรู้สึกตัว วางมือลงรู้สึกตัว เออ…เวลาใดที่มันง่วงเหงาหาวนอนก็…ทำความรู้สึกตัว หายใจลงไปลึกลึก มองใบหน้า วางใบหน้าให้สดชื่น ทอดสายตาในท้องฟ้าไม่มีขอบเขต มองโลกกว้างไกล อย่าคับแคบห่อเหี่ยว มองโลก มอง…มองตั้งหน้า วางใบหน้า ตั้งกาย ยืดกายขึ้น องอาจ หน้าอก ต้นคอ ใบหน้า เอว รู้สึกตัวนี่ องอาจ คำว่ารู้สึกตัวเนี่ย ฝึกฝน ฝึกฝนตนเอง…นะ
ก็…พวกเราก็ไม่ใช่บอกแต่ปาก ก็พากันทำ พากันทำ มีอาจารย์ทรงศิลป์ อาจารย์วรเทพ อาจารย์ตุ้ม อาจารย์โน้ส เพื่อนร่วมงาน ปฏิบัติกันทั้งนั้นที่นี่ หลวงพ่อก็…เคยปฏิบัติมา คิดว่าจะไม่พาหลงทิศหลงทางแน่นอนที่สุด แน่นอนที่สุดการเจริญสติเนี่ย แน่นอนที่สุด…ผู้มีสติ เอ้า…ไม่เป็นหนุ่มไม่เป็นสาว ผู้มีสติไม่เป็นชาติชั้นวรรณะ ผู้มีสติไม่เป็นคนแก่ ผู้มีสติไม่เป็นนักบวช ฆราวาส ญาติโยม เป็นอันเดียวกัน ความรู้สึกตัวไม่เป็นชาติ ไม่เป็นลัทธินิกาย ถ้ามีสติ เป็นอันเดียวกันเลย…เป็นอันเดียวเลย เคยไปสอนฝรั่ง เคยไปสอนต่างประเทศ เอ่อ…ไปสอนก็เพิ่งกลับมาจากสิงคโปร์ ก็ไปสอนสิงคโปร์มีคนจีนมีคนแขก คนยกมือรู้สึกตัว คุณ…พวกคุณจะเป็นลัทธิอะไรก็ไม่เกี่ยว เมื่อไม่นานมานี้ อ่า…มี…เขามาทอดผ้าป่าภูหลง ขอให้หลวงพ่อไปเทศน์ที่ภูหลง มีคนหนึ่งเขาพอฟังเทศน์หลวงพ่อแล้ว เขามาหาหลวงพ่อ เขาว่าผมเป็น…อิสลาม ผมเป็นอิสลามหลวงพ่อ เขายกมือไหว้ หลวงพ่อไม่รู้ว่าใครเป็นอะไรหรอก หลวงพ่อบอกว่า…เราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน หลวงพ่อมองชีวิตจริง ๆ นี่ ไม่ใช่ว่านั่นเป็นคริสต์นั่นเป็นพุทธนั่นเป็นอิสลามนั่นเป็นฮินดู หลวงพ่อมองเป็นอันเดียวกัน คือความเมตตากรุณา ความปรารถนาดีต่อกัน ไม่ใช่ว่านี่พุทธแล้วเป็นเพื่อนเรา นี่คริสต์อิสลามไม่ใช่ เขามายกมือไหว้หลวงพ่อ โอ…ผมเป็นอิสลามหลวงพ่อ ผมเป็นอิสลาม ครับ…ผมฟังเทศน์หลวงพ่อแล้ว โอ้…ดีดีนี่
ความรู้สึกตัวหนะ ไม่เป็นอะไร เป็นความรู้สึกตัว ผู้ใดมีความรู้สึกตัว ผู้นั้นก็เป็นผู้มีความรู้สึก อันเดียวกัน ความรู้สึกตัวอยู่กับพระสงฆ์ ความรู้สึกตัวอยู่กับฆราวาสญาติโยม คนหนุ่มคนแก่ อันเดียว นี่เรียกว่าความเป็นหนึ่ง.