แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ที่ได้ถือโอกาสมาธรรมะหรรษา ที่วัดป่าสุคะโตที่นี่ ก็ให้สมกับชื่อว่าธรรมะหรรษา คือรื่นเริงบันเทิงในธรรม นอกจากเกิดธรรมปฏิสันถาร ที่นี่ก็ไม่มีอันอื่นใดที่จะทำให้เรา…ที่จะภาคภูมิใจ เพราะที่นี่ก็เป็นชนบท เป็นป่าเขาลำเนาไพร การไปมาหาสู่ก็ยากลำบาก แต่ที่เรามาที่นี่…ก็คงไม่หวังอย่างอื่นกัน ก็คงให้ตรงความหมายที่ว่าธรรมะหรรษา ก็ให้รื่นเริงบันเทิงในธรรม หลวงพ่อหรือว่าพระสงฆ์ที่นี่ก็ ก็จะกล่าวธรรมปฏิสันถาร ในฐานะที่ต้อนรับพวกเราทุกท่านที่มาที่นี่
คำว่า ธรรมะหรรษาก็คือ อาศัยธรรมเป็นมิตรเป็นเพื่อน ให้มีความสนุกรื่นเริงในชีวิตจิตใจ ไม่ใช่รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสอารมณ์ เหมือนกับเราไปเที่ยวในบาร์ในคลับ อันนี่…นะ ธรรมะไม่ใช่เป็นรูปวัตถุ ธรรมะเป็นเรื่องนามธรรม ก็…เข้าสู่ภาวะจิตใจ ในลักษณะที่ว่า…
ธรรมะหรรษาก็มีส่วนประกอบหลายอย่าง อย่างเช่น สิ่งที่เรามุ่งหวังตั้งใจที่สุด ก็คือการเจริญสติสัมปชัญญะ เรียกว่าภาคกรรมฐาน ให้สัมผัสกับตัวสติสัมปชัญญะ สติสัมปชัญญะเป็นตัวนำ ที่นี่ธรรมะหรรษาอื่น ๆ เช่น ส่วนประกอบที่จะให้สติงอกงาม ที่ทำให้สติเจริญรุ่งเรื่องก็ต้องมี กัลยาณธรรม กัลยาณมิตร…กัลยาณธรรม
กัลยาณมิตรนี่สำคัญและจำเป็นมากทีเดียว พระพุทธเจ้ายังได้สรรเสริญว่า กัลยาณมิตร กัลยาณธรรม นำพวกเราเข้าสู่ถึงมรรคผลนิพพาน ทีนี้กัลยาณมิตรที่เราเห็นกันอยู่เดี๋ยวนี้ ก็คือนี่ นั่งอยู่ที่นี่ ได้มาคันรถหนึ่ง นี่เป็นกัลยาณมิตร มีหลายคนหลายชีวิตที่มารวมกัน ทั้งผู้ที่เคยมาสองเที่ยวสามเที่ยว บางท่านก็อาจจะมา…ครั้งแรกก็อาจจะได้…จะเป็นได้ อันนี้เรียกว่ากัลยาณมิตร เป็นมิตรที่ร่วมกันมา มีความเห็นร่วมกันมา นี่ก็จำเป็น ชักชวนกันมา บางคนไม่เคยเห็นก็ด้วยมิตร ญาติธรรมทั้งหลายได้แนะนำชักชวนมา ก็มาเห็นที่นี่ ทีนี้…กัลยาณธรรม ทีนี้
กัลยาณธรรม ก็จำเป็นยิ่งกว่ากัลยาณมิตร กัลยาณธรรมเราจะหาได้ที่ไหน อาจจะไม่ใช่ผู้ที่นั่งอยู่ใกล้ ๆ พวกเราที่นี่ก็ได้ กัลยาณธรรมก็คือ คุณธรรมทางด้านจิตใจ คือมี….ให้มีจิตใจเยือกเย็นเป็นทุน เช่นเราจะปลูกสติ เราจะสร้างสติ สติมันจะงอกจะงามได้ต้องมีสิ่งแวดล้อมพอสมควร เหมือนกับเราจะหว่านพืช ปลูกต้นไม้ ปลูกเมล็ดพรรณอะไรก็ตาม ต้องมีส่วนประกอบพอดี มีความชื้น มีความพอเหมาะพอดี ไม่เหี่ยวแห้ง ไม่แห้งเหี่ยว ไม่ร้อนระอุ จนเกินไป ไม่ชื้นแฉะจนเกินไป เราหว่านพืช พืชก็จะงอกจะงามขึ้นมา การปลูกสติ การสร้างสติก็เช่นกัน สิ่งแวดล้อมของสติก็มี เรียกว่ากัลยาณธรรม
เบื้องแรกก็คือใจของเรานี่แหละ ให้ใจของเราเยือกเย็น(ลากเสียง)เป็นปกติ อย่าให้เศร้าหมอง อย่าวิตกกังวลเรื่องใดจนเกินไป ถ้าทำสิ่งอันใดลงไป ถ้าไม่เตรียมใจ ไม่เตรียมใจก่อน ทำอะไรก็ไม่…ไม่ค่อยจะสำเร็จ ถ้าเราสังเกตดูดี ๆ ถ้าเราทำสิ่งใดลงไป เราจะทำการบ้าน จะทำงานทำการ ยิ่งกิจกรรมอันใดที่ละเอียดประณีตเท่าใด ก็ยิ่งทำใจมากเท่านั้น ให้ใจมันเยือกเย็นที่สุด จนถึงกับคนโบราณพูดว่า ใจดีแก้ฝ้าย ใจร้ายแก้ไหม ถ้าคนใจไม่ดีแก้ฝ้ายไม่ได้ มันจะขาด แก้ไปปลดไป แล้วก็ดึงขาด ยุ่ย ๆ ยี่ ๆ หมด ทำอะไรก็ตาม ถ้าใจเราดีเป็นทุน ใจเราเยือกเย็นเป็นทุน จะทำอะไรก็มักจะสำเร็จ ปัญหาที่ยากก็จะเป็นง่ายขึ้นมา ของที่หนักก็จะเป็นของเบาขึ้นมาถ้าเราเตรียมใจ นี่ก็เป็นกัลยาณธรรมเป็นคู่กับตัวสติสัมปชัญญะ เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดี
ถ้าใจเราเยือกเย็นดี ๆ(ลากเสียง) อย่าวิตกกังวลเรื่องใดจนเกินไป ให้ใจสะอาด ให้ใจสงบ ให้ใจหยุด ให้ใจเย็น ทำซื่อ ๆ ทำตรง ๆ(ลากเสียง) ให้ใจมันดีเป็นทุน เป็นทุนไว้ก่อน ก็เรียกว่ามีเปอร์เซ็นต์ มีเปอร์เซ็นต์ ตลอดถึงมีความพากเพียรพยายาม อย่าท้อแท้อย่าท้อถอย มีปัญหาอันใดเกิดขึ้นก็ให้เราถือเป็นบทเรียน เป็นประสบการณ์ อย่าเอาปัญหามาลงโทษ อย่าเอาปัญหามาลงโทษตัวเอง เช่นความผิด บางทีความผิด ก็ทำให้ใจเศร้าหมอง ไม่ดี ไปเสียใจเพราะความผิด ไปดีใจเพราะความถูก อันนั้นไม่ดี จะเป็นเรื่องผิดเรื่องถูก ใจของเราต้องปกติอยู่เสมอ อย่าให้มันเปลี่ยนแปลง
ความสุขก็เหมือนกัน ความทุกข์ก็เหมือนกัน ทุกข์กาย ทุกข์อะไรก็เหมือนกัน ใจอย่าให้มันเปลี่ยนแปลง แม้ว่าเรามาที่นี่ อาจจะ…ที่อยู่ก็อาจจะต่างกับที่บ้านของเรา แม้แต่อาหารการอุปโภคบริโภคอาจจะไม่เหมือนกับที่บ้าน ก็อย่าให้มันแปลกทางด้านจิตใจ แต่สิ่งอื่นเราปฏิเสธไม่ได้ อาจจะไม่ได้ดังใจเราทุกสิ่งทุกอย่างเสมอไป คิดว่ามาที่นี่จะดีอย่างนั้นอย่างนี้ เราวาดมโนภาพมา แต่พอมาถึงก็…อ้าว…เป็นคนละเรื่องกันไป ใจก็ปรับไม่เป็น ทำไม่เป็น ก็ขยะแขยง วิตกกังวลไป อันนั้นไม่ดี จะเป็นอย่างใดก็ตาม เรื่องนอกจากตัวของเรา เราไม่ต้องปรารถนา แต่คือสิ่งที่มั่นคงอย่างเดียวคือจิตใจของเรา ให้มันมั่นคง เราทำได้ นอกจากนั้นเราทำไม่ได้ ความร้อน ความหนาว ความหิว ความกระหาย อะไรต่าง ๆ เราทำไม่ได้ ปรารถนาไม่ได้ แต่งเอาไม่ได้ แต่เรื่องจิตใจของเรานี่เราทำได้ เราจะอยู่นี่ เราจะอยู่แบบเย็น ๆ(ลากเสียง) ปกติอยู่นี่
เราจะไม่เป็นอะไรทั้งหมด อย่างที่เราสวดสรรเสริญ สวดทำวัตร ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ บัดนี้เราก็มาเปลี่ยนว่า ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น…ไม่เป็นทุกข์ ความไม่สบายกายความไม่สบายใจเป็นทุกข์ นะเขาว่าอย่างนั้นนะ แต่เราก็บอกว่า ความไม่สบายกายความไม่สบายใจไม่เป็นทุกข์ คือสวนทางกัน ให้สวนทางให้มองข้าม เวลาใดที่เรามีปัญหาเรื่องใจเกิดขึ้น มันจะดีใจ มันจะเสียใจ มันจะเป็นสุข มันจะเป็นทุกข์ เรามองข้ามไป มันจะทุกข์ โอ…ความไม่ทุกข์มันก็มี มันจะสุข ความไม่สุขมันก็มี มันหิว ความไม่หิวมันก็มี มันเจ็บมันป่วย ความไม่เจ็บไม่ป่วยก็มี มันแก่มันตาย ความไม่เกิดไม่แก่ไม่ตายก็มี ให้มองข้ามไป สร้างธรรมวิหารีเป็นที่อยู่ สร้างบรรยากาศให้แก่ตัวเอง หาสิ่งแวดล้อมให้แก่ตัวเอง ไม่ใช่จะไปเรียกร้องสิ่งแวดล้อมจากนอกตัวเราไป อันนั้นหาเท่าไหร่ก็ไม่พบ
บางทีเราหวังจากสิ่งอื่นเกินไป หวังกับมิตรเกินไป หวังกับครอบกับครัว หวังกับลูกกับเต้า หวังอะไรเกินไป ผิดหวังตลอดชาติ ถ้าเราไปหวังอะไรเกินไป ก็ต้องบอกว่า โอ…ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นอย่างนั้น เมื่อสิ่งนั้นมันเป็นไปแล้วก็ไม่เป็นไร เราก็แก้ไขไปตามเหตุตามปัจจัย
สำหรับใจเราต้องมั่นคงอยู่เสมอ อันนี้เรียกว่ากัลยาณธรรม หาเอา ไม่มีใครมอบให้เราได้ เราต้องสร้างเอาเอง เราต้องทำให้เกิดขึ้นมาแก่ตัวเราเอง ที่ไหนก็ได้ ไม่เลือกสถานที่ ไม่เลือกกาลเวลา แต่สิ่งแวดล้อมที่เรา...ที่จะเป็นวัตถุ ต้องเลือกที่ เลือกสถานที่ บางทีต้องเสียเงินเสียทองเข้าไป อันนั้นมันเลือกสถานที่ แต่กัลยาณธรรม กัลยาณธรรมนี่ไม่ได้เลือกสถานที่ เมื่อไรก็ได้ กลางค่ำกลางคืน ตอนสายตอนบ่ายตอนเย็นก็ได้ สร้างบรรยากาศให้เกิดขึ้นแก่ตัวเราอยู่ตลอดเวลา อย่าให้เศร้า อย่าให้หมอง อย่าให้ขุ่นมัว อย่าให้วิตกกังวลเรื่องใดเกินไป วางให้เป็นเย็นให้ได้ ถ้าเราทำอย่างนี้เนี่ย ก็ชื่อว่าธรรมะหรรษาเหมือนกัน สนุกรื่นเริงในธรรม อยู่คนเดียวก็เหมือนกับอยู่กับมิตร อยู่กับมิตรก็เหมือนกับอยู่คนเดียว ในโลกนี้ไม่มีใครซักคนก็เป็นอย่างนี้ ในโลกนี้มีใครหลาย ๆ คนก็เป็นอยู่อย่างนี้ ไม่แปรไม่เปลี่ยน ไม่เปลี่ยนไม่แปลง ถ้าเราหัด เราฝึกฝนอบรมตนเอง เรียกว่ากัลยาณธรรม เป็นธรรมะหรรษาอย่างยิ่ง สนุกรื่นเริงในศีลในธรรม มีความพากเพียร มีความพอใจ มีความสงบ มีความเยือกเย็นในจิตในใจ มีการปล่อย มีการวางเป็น มีการ…อ่า…สิ่งที่ทำให้หนักก็ทำให้เบาให้เป็น มองให้มันตรงข้าม ทวนกระแส
อย่างวันนี้ก็เป็นวันวิสาขบูชา เกี่ยวกับเรื่องของพระพุทธเจ้า เรื่องของพระพุทธเจ้า…ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ก็คือเรื่องอย่างนี้แหละ ไม่ใช่เรื่องอื่นไกลที่ไหน คือเรื่องทวนกระแส ไม่เป็นไปกับอะไรทุกอย่าง เราจะอยู่อย่างนี้ นะ…เราจะอยู่อย่างนี้ ทวนทุกอย่างให้ได้ที่ได้ทาง เป็นเรื่องของทวนกระแส ความโกรธ ความโลภ ความหลง ทวนกระแสอารมณ์ ที่มาย่ำยีจิตใจของเรา อย่าให้อารมณ์มาย่ำยีจิตใจเราได้ เราทวนมัน เราทวนกระแส ใช้ชีวิตแบบพระพุทธเจ้า มองอะไรมองแบบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามองอะไร มองในลักษณะที่ว่าไม่เป็นไร ไม่เป็นไร เอาความไม่เป็นไรไว้ก่อน ถ้าใจเย็น ๆ(ลากเสียง) มันจะมองอะไรไม่เป็นไร ฝนจะตก ฟ้าจะร้อง ไม่เป็นไร ความร้อน ความหนาว ความหิว ก็ไม่เป็นไร ใจของเราต้องมั่นคงอยู่เสมอ นี่วิธีที่…ที่เขาเรียกว่า ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ ก็คือมันจะได้คำตอบ
ถ้าเรามีอะไรก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทุกอย่าง เหมือนกับปลาที่ตาย ปลาที่ตายก็ย่อมไหลไปตามน้ำ น้ำไหลไปทางไหนก็ไปกับน้ำ ชีวิตของคนที่ไม่ฝึกหัดไม่ได้พัฒนาชีวิตของตนเอง ก็ไหลเหมือนกับปลาที่ตาย คุ้มร้ายคุ้มดี ปรารถนาสิ่งใดก็ทำไป ไปตามเหตุตามปัจจัย คุ้มร้ายก็ออกไปในทางร้าย คุ้มดีก็ไปทางดี ลักษณะนั้นเรียกว่าปลาที่ตาย ถ้าไหลไปตามน้ำ น้ำคืออารมณ์ แต่สำหรับปลาที่ไม่ตาย ก็ย่อมจะผ่านไปอะไรได้หลาย ๆ อย่าง เหมือนกับคนที่มีสติสัมปชัญญะก็ย่อมไม่ไหลไปตามอารมณ์สิ่งแวดล้อมชักจูง มีที่มีทาง มีทิศมีทาง ได้ที่อยู่ มีที่อยู่ที่ปลอดภัย มีที่อยู่ที่บริสุทธิ์ มีที่อยู่ที่อิสรภาพ สู่อิสรภาพ นะ…เราต้องฝึกอย่างนี้ เราจะไปเจริญสติดุ้น ๆ สร้างสติ นั่งจนหลังขดหลังงอ บางทีดูหน้าดูตาก็หน้าดำคร่ำเครียด แสดงออกถึงความลุกลี้ลุกลนเกินไป อันนั้นมันไม่ถูก ต้องทำใจก่อน เราจะทำอะไรทำใจดี ๆ(ลากเสียง) เป็นทุน ทำอะไรก็ยิ้มแย้มแจ่มใสดี ๆ(ลากเสียง) สติมันก็งอกก็งาม เหมือนกับเราหว่านเมล็ดพืช ถ้าเมล็ดพืชเมล็ดใดที่หว่านไปตกในที่ ที่แห้งผาก เมล็ดพืชเมล็ดนั้นก็จะบอด ไม่งอกไม่งาม ไม่เกิดหน่อ ไม่หยั่งราก เหี่ยวแห้งไป คนปฏิบัติธรรมที่ไม่ได้ผล อาจจะเป็นเพราะสาเหตุอย่างนี้เป็นส่วนมาก
คนปฏิบัติธรรมได้ผล อาจจะเป็นเพราะเหตุอย่างนี้ก็อีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราจงเพียรพยายามสร้างบรรยากาศให้มีธรรมหรรษาเกิดขึ้นแก่เรา สร้างเอาเอง หยุดให้เป็น เย็นให้ได้ ปล่อยให้เป็น วางให้เป็น ไม่เป็นไร ใจดี ๆ แบบนี้ ทำใจก่อน เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ
สัมมาทิฏฐินี่มาก่อนนะ เป็นรุ่งอรุณ เป็นรุ่งอรุณ สัมมาทิฏฐิมาก่อนอย่างอื่น ถ้าไม่มีสัมมาทิฏฐิมาก่อน สติไม่งอกไม่งาม เจริญสติก็ไม่…ไม่งอกไม่งาม ต้องมีสัมมาทิฏฐิ ทำใจให้เป็น ทำใจให้เป็นเย็นให้…ให้มันได้ ยิ้มแย้มแจ่มใส ใจดี ๆ(ลากเสียง) เนี่ย ให้เป็นทุนอันนี้ไว้ก่อน ก็จะทำอะไรก็มักจะสำเร็จ เหมือนกับเมล็ดพืชที่หว่าน…ที่หว่านลงไปสู่พื้นดินที่มีความชื้นพอดี ออกราก ออกหน่อ เกิดลำต้น เกิดดอกออกผลขึ้นมา โตวันโตคืน ไม่ถูกสะบัดร้อน สะบัดหนาว ชื้นมากแฉะมาก อันนั้นก็ไม่ดี เพราะฉะนั้นเนี่ย อันธรรมะหรรษานี่ สร้างให้มันได้ สร้างให้มันเป็น อย่าไปเรียกร้องที่อื่น บ้านไม่ดี มิตรไม่ดี ต้องการมิตรอย่างนั้น ต้องการบ้านอย่างนี้ ต้องไปที่โน่น วัดป่าสุคะโต ต้องไปที่โน่น ที่สวนโมกข์ ต้องไปที่โน่นที่นี่ อยู่นี่ต้องทุกข์ไว้ก่อน จะไปเอาสุขที่โน่น อันนั้นไม่ถูก ทุกข์เกิดขึ้นที่ใด ทำที่นั่นให้มันเปลี่ยนให้มันได้ เกิดขึ้นที่บ้านก็แก้ที่บ้าน มันทุกข์ที่บ้านไม่ต้องทุกข์อยู่ที่บ้าน มันทุกข์ที่ทำงานไม่ต้องทุกข์ที่ทำงาน คนนี้เราเกลียด อ้าว…คนนี้เราไม่ต้องเกลียด เปลี่ยนให้เป็น ปฏิ ก็คือ กลับ นั่นล่ะ คือกลับ คือเปลี่ยน แก้…แก้ความร้ายกลายเป็นเรื่องดี แก้เรื่องร้ายจะกลายให้เป็นเรื่องดี นี่เรียกว่าเปลี่ยน มันมีอยู่ที่ไหนแก้ที่นั่น สร้างที่นั่น…นะ อย่าไปย่อหย่อน อย่าให้ความโกรธ อย่าให้อารมณ์มาย่ำยีเราได้ ต้องแก้ต้องไข ต้องเปลี่ยน ต้องปรุงอยู่เรื่อย
ถ้าเราเป็นนักแก้ นักแก้ไข นักปฏิ คือโต้ คือตอบ คือทัก คือท้วงอยู่เรื่อย เหมือนกับคนเฝ้าบ้าน อะไรมาก็เห็นทักท้วงอยู่เรื่อย สิ่งที่มันไม่ดีมันก็ไม่กล้าล่ะแบบนี้ เช่น ความคิดมันจะไม่กล้า นะ…ความคิด ตัวสังขารมันจะไม่กล้า ถ้ามองอะไรเป็นผู้ที่กลับที่แก้ที่ไข ทักท้วงโต้ตอบกับความคิดของตนเองอยู่เสมออย่างนี่ มันก็เปิดเผยชีวิตออกมา เห็นความผิด เห็นความถูก เห็นอารมณ์ เห็นความปรุงความแต่ง ได้คำตอบออกมา โอ…เพราะสิ่งนี้เอง เช่นวันนี้ พระพุทธเจ้าของเรา ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ก็ว่าตรัสรู้ก็คือได้คำตอบ ได้คำตอบเป็นสูตรสำเร็จออกมา สูตรนี้เรียกว่าสูตรของคน มันมีสูตรเหมือนกัน สูตรของคน เรียนจนจบจนสิ้น ไม่มีอันใดที่จะเรียนอีกในชีวิตของเรานี่ ได้คำตอบได้หลักสูตรที่เป็นสัจจะมั่นคงแน่นอน นี่เรียกว่าตรัสรู้ คือได้คำตอบ ไม่ไปหาที่อื่น ต้องดูที่นี่แหละ
ถ้าเรามีความสุขก็อยู่กับความสุข มีความทุกข์ก็อยู่กับความทุกข์ นั่น เรียกว่าจน หมดเนื้อหมดตัวอยู่เรื่อย ไม่ใช่พรหมจรรย์ เป็นผู้ที่ด่างแล้วพร้อยแล้ว ทะลุแล้ว ถ้าเราเป็นผู้ดูเนี่ย เราเป็นผู้ดูอาการต่าง ๆ ของกายของใจ ให้เราเห็น มันจะแสดงมาท่าไหน เราเห็นมัน เช่นเรื่องของใจ มีมากมายจน อ่า…สี่หมื่นสองพันพระธรรมขันธ์ สี่หมื่นสองพันเรื่อง เรื่องของกายเรื่องของใจ เรื่องของกายก็สองหมื่นสองพันเรื่อง หนึ่งพันเรื่องอะไรทำนองนั้น เช่นเราได้ยินอยู่เสมอว่า พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มีตั้งแปดหมื่นสี่พันเรื่อง ก็คือกายกับใจของเรานั่นล่ะ มันจะแสดงออกมาแบบไหนท่าใด เราเห็นเราดู เรารู้เราเห็นมัน เห็นความคิด…เห็นความคิดความสุข เห็นความสุขอะไรต่าง ๆ เห็นความโกรธ เห็นความง่วงหงาวหาวนอน เห็นความคิดฟุ้งซ่าน เห็นความวิตกกังวล เห็นอะไรต่าง ๆ ที่มันแสดงออก เราดูสนุก สนุกดู สนุกเห็น สนุกเห็นอาการของกายของใจ จนได้คำตอบ
อ๋อ…อ๋อ…ถ้าเราเป็นผู้ดูก็เหมือนกับว่ามรรค มันผ่านได้ตลอด ไม่สุดโต่ง เป็นทาง ไม่เป็นทางตัน เป็นทางผ่าน ถ้าเราเข้าไปเป็นละก็ สุดโต่งแล้ว ผ่านแล้ว…อ้อ…สุดโต่งแล้วตันแล้ว ผ่านไม่ได้ พระพุทธเจ้าพอตรัสรู้ วันนี้ล่ะ…ตรัสรู้ ไปสอน ไปสอนปัญจวัคคีย์ทั้งห้า นี่ก็พูดเรื่องทาง กามสุขัลลิกานุโยโค เป็นทางสุดโต่ง อัตตกิลมถานุโยโค เป็นทางสุดโต่ง คือไปยินดีไปยินร้ายนั่นเอง ทางไม่ใช่ไปเดินด้วยเท้านะ คืออารมณ์ คือไปยินดี ไปอยู่กับความสุข ไปอยู่กับความทุกข์ ไปอยู่กับความผิด ไปอยู่กับความดีใจเสียใจเนี่ย…ทางสุดโต่ง ถ้าเราเป็นผู้ดู เป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางผ่าน ไม่ได้เป็นผู้สุข ไม่ได้เป็นผู้ทุกข์ ไม่ได้เป็นผู้เกิด ผู้เจ็บ ผู้แก่ ผู้ตาย เราดูมันไป นี่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา เราทำอย่างนี้ ไม่ได้เดินสักก้าวทางกาย แต่เดินทางจิตทางใจ เฝ้าดูอยู่เสมอ อะไรมันเกิดขึ้นมา ก็ดู ก็รู้ ก็เห็นอยู่เสมอ สนุกมากปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปหา มันมาเรียงแถวให้เราดู(ลากเสียง) เป็นหมวดเป็นหมู่ บางทีฝ่ายกุศลก็เกิดขึ้นให้ดู โอ…นี่สติ โอ…นี่สมาธิ เออ…นี่คือปัญญา นี่คือความสงบ นี่เป็นฝ่ายกุศล อืม…มันมีอย่างนี้
บางทีฝ่ายอกุศลมันเกิดให้ดู เกิดตัณหา อุปาทาน เกิดความคิดฟุ้งซ่าน ความเศร้าหมอง เราก็เห็นมัน เออ…แต่ใจไม่ต้องเปลี่ยนนะ เห็นความถูกเราก็ดีใจใหญ่ ไม่ใช่อย่างนั้นนะ เห็นความผิดเราก็เสียใจใหญ่ หน้าบูดหน้าบึ้ง ไม่ต้อง ไม่ต้องไปบูดไปบึ้ง ไม่ต้องไปดีใจอะไร ดูซื่อ ๆ เห็นซื่อ ๆ เห็นตรง ๆ(ลากเสียง) ทำอย่างนี้ นี่แหละตัวมรรคที่สุด ไม่ต้องไปเรียนว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ไม่ต้องไปเรียนหรอก
ดูที่ตัวเรานี่ มันจะเปลี่ยนจะแปลงไปทางใด มันจะฟูจะแฟบอย่างไร มันจะยินดียินร้ายอย่างไร หมดเนื้อหมดตัวเพราะอันใด จนตรอกเรื่องอันใด ถูกบังคับขับไสเรื่องอันใด บังคับให้โกรธ บังคับให้โลภ บังคับให้ละ วิ่งตามเข้าไป ทำตามความโกรธก็ด่ากันไปทะเลาะกันไป เมื่อมันหายโกรธเราก็เสียใจทีหลัง ทำตามความรักก็หมดเนื้อหมดตัวไปกับความรัก ทิ้งลูก ทิ้งเต้า ทิ้งผัว ทิ้งเมีย ทิ้งพ่อ ทิ้งแม่ พอความรักหมดไปก็เสียใจ เราก็วิ่งไปตามสิ่งเหล่านั้น บัดนี้ให้เราเห็น เราเป็นผู้ดู สนุก! เห็นอาการต่าง ๆ ฝ่ายกุศล ฝ่ายอกุศลเกิดขึ้นมาเป็นแถว เป็นหมวดเป็นหมู่ ต่อโยงกันไป บางที…ไม่ต้องอยากดู ไม่อยากรู้มันก็มาให้เรารู้เองเห็นเอง ได้คำตอบไปเรื่อย ๆ…เรื่อย ๆ ไป ถ้าเราดูนะ เราไปเป็นเราไม่เห็นนะ ปิดหูปิดตา ถ้าเราเป็นผู้ดูแล้วเปิดเผยออกมา รู้ยิ่งเห็นจริง ไม่อยากรู้ก็รู้ ไม่อยากเห็นก็เห็น ไม่อยากเป็นก็เป็น บางคนปฏิบัติธรรม อยาก(เน้นเสียง) มาอยู่นี่ได้เดือนหนึ่งแล้วนะหลวงพ่อ ไม่รู้อะไร ทำไงมันจะรู้ จิตมันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อันนั้นไม่ถูก รู้ไม่รู้ไม่เป็นไร เราจะเจริญสติของเราอยู่ที่นี่ มีสตินี้ เรามาสร้างสติ มันก็ได้สติ จะไปเอาอะไร…ฮะ
มีสติเท่านี้ก็พอแล้ว ตั้งต้นน้อย ๆ ไปก่อน ไม่ใช่จะ…พอทำอะไรลงไปก็ร่ำรวย เป็นเศรษฐี น่ะ…คนบางคน พอขุดจอบลงที่ไร่ที่สวน เอาแล้ว…เอ้า…ได้เท่านั้น ขาดทุนเท่านี้ ได้เงินได้ทอง ร่ำรวยอย่างนั้นอย่างนี่ คิด(ลากเสียง)ไป เดินจากไร่ถึงบ้าน อ้าว…เป็นคนจนก็มี อ้าว…เป็นคนรวยก็มี เดินจากบ้านไปถึงไร่ ก็อ้าว…ถูกลอตเตอรี่ ถูกเลข ถูกหวย ถูกอะไรต่าง ๆ คิดไป ไปโน่น เปลี่ยนไปแปรไป ก็ถูกความคิดหยั่งเอาเล่นงานเอา จนไม่รู้สึกตัว ก็ให้มันหลอกเอา บางทีหลอกให้หน้าบูดหน้าบึ้ง หลอกให้ตึงให้เครียด หลอกให้อยากจะพูดจะจาเคยอยู่เคยสุขเคยทุกข์ร่วมกัน แปรเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้น ธรรมะหรรษา คือต้องทำอย่างนี้นะ ก็คือให้จิตใจของเรานี่เป็นปกติเหมือนเดิม ไม่แปรไม่เปลี่ยน เป็นสัจจะ มั่นคง เราจะอยู่ตรงนี้ เราจะทำอย่างนี้อยู่ อะไรจะเป็นยังไงไม่เป็นไร เราจะอยู่ของเราที่นี่ คือปกติภาพ อิสรภาพ สู่อิสรภาพอยู่ที่ตรงนี้ ไม่แปรไม่เปลี่ยน ไม่สุขไม่ทุกข์อะไร จะอยู่อย่างนี้แหละ เป็นผู้ดูอยู่นี่ อะไรมันเกิดขึ้นมาดูมันเห็นมัน พอเห็นแล้วมันก็หยุดแหละ มันไม่โต้ไม่ตอบ ผ่านไปเรื่อย
เพราะฉะนั้น วิธีปฏิบัติธรรม วิธีเจริญสติ หรือเราเรียกว่า กรรมฐาน นี่ก็คือให้ทำซื่อ ๆ ดู ทีแรกก็ตั้งต้นน้อย ๆ คือเจริญสติสัมปชัญญะเนี่ย ให้มีสติรู้สึกได้ก็พอแล้ว มือวางไว้อย่างนี้ ตะแคงขึ้นก็รู้สึก ยกขึ้นก็รู้สึก รู้ซื่อ ๆ สัมผัสกับกายนี่ รู้จริง ๆ เห็นได้จริง ๆ นี่ วิธีที่เราสร้างสติก็สมบูรณ์แบบ เห็นได้ รู้ได้ เคลื่อนจริง ๆ เดี๋ยวนี้มือก็เคลื่อนตั้งอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวนี้มือก็ยกขึ้นอย่างนี้ ก็รู้ ใครจะบอกว่ามือเราไม่ได้ยก เราไม่เชื่อ เราเห็น เป็นสูตรที่บริบูรณ์ สมบูรณ์ที่สุด เป็นอุดมศึกษา การเจริญสติแบบสติปัฏฐาน เป็นชั้นอุดมศึกษา เห็นกับตัวเอง เคลื่อนทีใดก็รู้ทุกที ใครจะบอก มาว่า มาตะโกน เอ้ย…มือหลวงพ่อไม่ได้วางที่เข่านะ มือหลวงพ่อขัดอยู่ข้างหลัง เป็นไปไม่ได้ นี่…มือหลวงพ่อวางอยู่ที่เข่านี่ มือหลวงพ่อตั้งขึ้นอยู่นี่ มือหลวงพ่อยกขึ้นอยู่นี่ นี่มันเห็น เนี่ย…เป็นอุดมศึกษา ชั้นอุดมสมบูรณ์ที่สุด ให้รู้แค่นี้ ทำเท่านี้ไปก่อน ให้สำเร็จเท่านี้แหละ ทำทีแรก อย่าไปรู้เกินนี้ไป ทำน้อย ๆ เท่านี้ก่อน ตั้งต้นนี่ให้ได้เสียก่อน หยั่งรากนี่ ปักอยู่นี่ให้นาน ๆ เสียก่อน เหมือนกับเราปักต้นข้าวลงไปที่ดิน ถ้าให้มันถอนอยู่เรื่อย รากมันก็ไม่งอกไม่งาม รากไม่หยั่งลึก เมื่อรากไม่หยั่งลึกมันก็ไม่เกิดดอกออกผล การเจริญสติก็เหมือนกัน ต้องดู เอากายนี่เป็นรากเป็นฐานก่อน มีสติดูกายอย่าพึ่งไปยุ่งกับจิต บางคนปฏิบัติปั๊บเข้าไป…ก็ไปเล่นกับจิตเลย ไปดูจิตไปคุมจิตไม่ให้มันคิด มันคิดทำไม มันคิดขึ้นมาก็เกาหัว หน้าดำคร่ำเครียด ไม่เป็นไร เรื่องใจอย่าไปยุ่งกับมัน ไม่ต้องไปหาดูมันแล้ว พอเห็นมันก็…ไม่สนใจกับมันล่ะ ให้มีความรู้สึกระลึกได้ก่อน รู้กายก่อน กลับมาที่กายก่อน น่ะ…วิธีปฏิบัติ ส่วนประกอบส่วนสิ่งแวดล้อมอะไรต่าง ๆ ดังที่หลวงพ่อได้พูดให้ฟัง หามาใช้เป็นเครื่องมือ ความเย็นใจ ความภาคภูมิใจ ความเสียสละ ความอด ความทน ความสงบ ความปกติ ทำให้มันมี เป็นกัลยาณธรรมพร้อมกันกับตัวสติสัมปชัญญะ อย่าให้มีสติสัมปชัญญะโดดเดี่ยวเกินไป ต้องมีมิตร มีกัลยาณธรรม มีกัลยาณมิตร มันก็อบอุ่นใจขึ้นมา เป็นที่อบอุ่นใจ เป็นของที่มี เป็นมิตร เป็นธรรมสามัคคี เป็นธรรมแม่บท ก็จะเกิดขึ้นเรื่อยไป ๆ เหล่านี้แหละเป็น…เป็นเคล็ดลับ เป็นเคล็ดลับของผู้ปฏิบัติธรรม จะเป็นวิธีใดก็ตาม จะเป็นแบบไหนก็ตาม ต้องมีจิตใจหรือธรรมะหรรษาเนี่ย เป็นมิตรไปทุกเรื่องทุกราวไป ความเยือกเย็นจิตใจ ความพอใจ ความเอาใจใส่ มีความพากเพียรพอสมควร ไม่ได้ทอดทิ้ง ไม่ได้ฟูได้แฟบ ไม่ได้คุ้มร้ายคุ้มดี ยืนอยู่จุดใดให้มั่นคงดีอยู่ที่ตรงนั้น จะนั่ง จะลุก จะเดิน จะไปที่ไหน ใจของเราจะอยู่ตรงนี้ อันอื่นจะเป็นยังไงก็ไม่เป็นไร เนี่ย…สิ่งแวดล้อมเหล่านี้แหละเป็นเคล็ดลับที่ช่วยให้เราได้บรรลุธรรม อย่าไปตกใจคำว่าบรรลุธรรม อย่าไปตกใจคำว่าตรัสรู้ธรรม ก็คือเป็นเรื่องของคนเรานี่เอง ได้คำตอบชีวิตออกมา จนไม่ทุกข์นั่นแหละ
พระพุทธเจ้าประสูติ อย่างที่เรารู้จักกันในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัท ว่าวันวิสาขบูชา พระพุทธเจ้าประสูติ คำว่าพระพุทธิเจ้าประสูติก็มีสองความหมาย ประสูติก็คือ เกิดจากท้องแม่ อันนี้เป็นภาษาของคน ถ้าประสูติภาษาของธรรมก็คือ เกิดขึ้น(เน้นเสียง) คือรู้ คือตื่น คือเบิกบาน แต่ก่อนเคยเศร้าเคยหมอง เคยท่องเที่ยวไปในสังขาร เคยถูกสังขารดึงไปพาไป พอมารู้ตื่น เบิกบาน หลุดออกมาจากภาวะนั้น พ้นออกมาจากภาวะนั้น เกิดขึ้นมา ไม่ใช่เป็นรูปเป็นร่าง เป็นคุณธรรม มีอยู่กับใครก็ได้ พระพุทธเจ้าประสูติ ไม่ใช่ออกจากท้องแม่นะ เราเคยได้ยิน พระพุทธเจ้าประสูติอยู่ที่สวนลุมพินี ที่เราไปถือเอานั่นว่าพระพุทธเจ้าประสูติ ยังไม่ใช่พระพุทธเจ้า ตอนนั้นยังเป็นปุถุชน เป็นเจ้าฟ้าชายคนหนึ่งที่เกิดอยู่ในสวนลุมพินี ก่อนพุทธศกสามสิบปี นั่นไม่ใช่พระพุทธเจ้า เป็นคนธรรมดา จนอายุยี่สิบเก้าปี ไปออกบวชก็ยังไม่ใช่พระพุทธเจ้า ไปบวชไปปฏิบัติธรรมอยู่หกปี จนถึงวันนี้ เพ็ญเดือนหก จึง…พระพุทธเจ้าจึงประสูติ ได้ตรัสรู้ ปรินิพพาน ชั่วโมงเดียว มีทั้งสามกาลเลย
ประสูติ ก็หมายถึงคุณธรรม เป็นคุณเกิดขึ้นแก่พระองค์ ไม่ได้เกิดเป็นรูปนะ ตรัสรู้ก็คือได้คำตอบ นิพพานก็คือ…นิพพานก็คือ กิเลสมันหมดไปตายไป สิ่งชั่วทั้งหลาย ความทุกข์มันเย็นลง ไม่มีปัญหาในเรื่องชีวิตจิตใจ แต่ก่อนมันร้อน นี่มันเย็น ไม่มีพิษ มีภัย แต่ก่อนมีปัญหาเรื่องตา เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย เรื่องจิต เรื่องใจ รูป รส กลิ่น เสียง อารมณ์ มีพิษมีสง ตาก็มีรสชาติ หูก็มีรสชาติ แสบ ๆ ร้อน ๆ เผ็ด ๆ อ่า…สุข ๆ ทุกข์ ๆ พอตรัสรู้ พอนิพพานก็ เกิดขึ้นมา ขณะนั้นเอง…เหมือนกับเราจุดไฟขึ้น พอแสงสว่างเกิดขึ้น ความมืดก็หายไป คือความทุกข์มันหมดไปนั่นเอง ชั่วพริบตาเดียว เราจะไปพูดว่าประสูติก็วันเดียวกัน ตรัสรู้ก็วันเดียว ปรินิพพานก็วันเดียว อันนั้นเป็นภาษาของคนธรรมดา ไม่ใช่เป็นรูปวัตถุ…พระพุทธเจ้าจริง ๆ คือนามธรรม เป็นคุณธรรม มีอยู่กับเราทุกคนทุกรูปทุกนาม ไม่ได้มีเฉพาะสิทธัตถะผู้เดียว มีอยู่กับเราทุกคน คุณธรรมอันนี้ ก็เหมือนกับเรานั่นแหละ เราเจริญสติก็มีเหมือนกัน ก็ไม่เป็นใบ้เป็นบ้า เสียจริต มีเหมือนกัน มีความรู้สึกระลึกได้เหมือนกัน
วิธีที่…เราจะบูชาเช่นวันนี้ ก็คือลองมาธรรมะหรรษา มาปฏิบัติธรรม มาเจริญสติ ให้มีธรรมะหรรษาต่อชีวิตของเรา สร้างบรรยากาศให้แก่ตัวเรา ถ้ามากันหลายคน เหมือนกับเรามาคนเดียว อย่าไปเรียกร้องที่อื่น ต้องเรียกร้องจากตัวเอง สร้างความรื่นเริงให้แก่ตัวเอง ยิ้มแย้มแจ่มใส จิตใจปกติ จิตใจเยือกใจเย็น ไม่เป็นไร ไม่ฟู ไม่แฟบ ไม่ปรุงไม่แต่ง ฝนจะตก ฟ้าจะร้อง อะไรก็ตาม ไม่เปลี่ยนไม่แปลง เราจะอยู่อย่างนี้ อยู่อย่างเป็นผู้ดูอยู่นี่(ลากเสียง) ใจดี ๆ อยู่อย่างนี้ นั่งอยู่ตรงนี้ เดินอยู่ที่โน่น นอนอยู่ที่นั่น นอนอยู่ที่นี่ ไม่เป็นไร…ไม่เป็นไร ไม่มีวันที่จะเปลี่ยนแปลง เราจะอยู่อย่างนี้แหละ วิธีนี้แหละ ทำให้มีขึ้น น้อมมาหาเราให้ได้ อย่าไปเรียกร้องนะ ไม่ใช่เรียกร้องนะ น้อมมา นำเราให้เป็น ใจมันเคยร้อน เย็นให้มันเป็นเสียก่อน เป็นทุนลงทุน เอ้า…มันจะร้อนเราเย็นมันลง มันจะหนัก เอ้า…วางมันให้มันเบา ทำให้มันได้ สิ่งแวดล้อมเหล่านี้สำคัญที่สุด ถ้าเราทำไป ทำไปหน่อย ไม่นานมันก็เป็นขึ้นมา มีทุน ต้องกล้าลงทุน ต้องเสียสละ บางทีเรามีนิสัยต่าง ๆ กัน บางทีก็…มันชอบอย่างนั้น ชอบอย่างนี้ ไม่ชอบอย่างนั้น ไม่ชอบอย่างนี้…
ทิ้งหมด หลวงพ่อเคยสอนที่นี่นะ ไม่เป็นผู้หญิง ไม่เป็นผู้ชาย ไม่เป็นคนหนุ่ม ไม่เป็นคนสาว ไม่เป็นคนเฒ่า ไม่เป็นคนแก่ ไม่เป็นคนมีสุข ไม่เป็นคนมีทุกข์ ไม่เป็นคนดี ไม่เป็นคนชั่ว ลืมเสียหมด เราจะเป็นมีสติอย่างเดียว เป็นผู้มีสติอย่างเดียว ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน นี่…ไม่มีอะไร ลืมให้หมด มีแต่สติสัมปชัญญะ มีแต่ความปกติภาพ อิสรภาพ สร้างบรรยากาศอย่างนี้ ให้มันมีแก่เรา อย่างนี้แหละเรียกว่าวิธี…หามาใช้เอง สิ่งเหล่านี้บอกกันไม่ได้ สอนให้รู้นี่สอนได้อยู่ อย่างอาจารย์เราสอนโรงเรียนสตรีที่นั่งอยู่นี่ เขามีลูกศิษย์ลูกหาพวกเรานี่หลายคน เป็นครู เป็นอาจารย์ เป็นหมอ จบสูง ๆ อันนั้นเรียนให้รู้สอนให้รู้ สอนได้ แต่สอนให้เป็นนี่ คนอื่นสอนเราไม่ได้เราต้องสอนตัวเราเอง ถ้าสอนให้รู้นี่สอนง่าย หลวงพ่อสอนให้รู้สติก็สอนง่าย ให้หลวงพ่อสอนมั้ย…สอนให้รู้ธรรมสติ ให้รู้เดี๋ยวนี้แหละ แต่ว่าจะให้เป็นนี่ สอนไม่ได้ ต้องสอนตัวเอง เอ้า…ลองว่าตามหลวงพ่อดู ธรรมมีอุปการะมาก 2 อย่าง ว่าตามดูซิ…ธรรมมีอุปการะมาก 2 อย่าง สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว…ธรรมมีอุปการะมาก 2 อย่าง สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว…เอ้าว่าดูซิ…ธรรมมีอุปการะมาก 2 อย่าง สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว…รู้แล้ว วินาทีเดียว รู้เลยทีเดียว แต่สอนให้เป็นจริง ๆ หลวงพ่อสอนให้ไม่ได้ เราต้องสอนตัวเราเอง ต้องให้รู้เอง โอ๋…รู้สึกระลึกได้ อ๋อ…รู้สึกระลึกได้ ต้องสอนตัวเอง เพราะฉะนั้นนี่เป็นสมบัติของเราทุกคน
เอาละ วันนี้หลวงพ่อก็ไม่พูดอะไรให้มาก เป็นการธรรมปฏิสันถารกล่าวต้อนรับพวกเรา หลวงพ่อรู้สึกว่า…เห็นบรรยากาศอย่างนี้ก็ เป็น…เป็นกำลังใจอันหนึ่ง ที่…มีความหวัง ถ้าพวกเราทุกคนที่เพียรพยายามตั้งใจเจริญสติ ยังมีหวัง ถ้าไม่มีผู้พูด ไม่มีผู้ฟัง มีแต่ผู้พูด ไม่มีผู้ฟัง มันก็ไม่สมดุลกัน นี่หลวงพ่อพูดให้ฟัง พวกเราเป็นผู้ฟัง เท่านี้ยังไม่พอ ต้องนำไปปฏิบัติ นำไปทำดู อ้อ…เจริญสติทำอย่างนี้ ๆ ต้องนำไปทำดู วิธีก็บอกแล้ว บอกให้ดู ดูกาย…นะ เอามือวางไว้เข่าดูสิ หลวงพ่อจะสาธิตให้ดู อ่ะ…ทุกคนเอามือวางไว้บนเข่า เอาวางไว้ คว่ำไว้บนเข่าอย่างนี้ มือสองข้างวางไว้บนเข่า อยู่ไหนมือเดี๋ยวนี้…อยู่ไหน อยู่ไหนมือเดี๋ยวนี้อะ อยู่ที่เข่าหรือ เห็นจริง ๆ ไหมว่ามืออยู่เข่า อะไรเห็นว่ามืออยู่เข่า ฮะ? รู้สึกระลึกได้นะ ไม่ใช่ตาดูอย่างนี้นะ หยุดใช้เลยตา ไม่ต้องไปใช้มันแล้ว ให้มีความรู้สึกว่ามือวางอยู่เข่า เอ้า…ตะแคงมือข้างขวาขึ้น ตะแคงหรือยัง ไม่ใช่วางคว่ำอยู่เหรอ เห็นหรือ เห็น ยกขึ้นดู ยกหรือยัง ไม่ใช่วางอยู่เข่าหรือ ไม่ใช่…ยกอยู่ รู้เองนะ หลวงพ่อว่ามือวางอยู่เข่าเชื่อไหม ทำไมไม่เชื่อ ก็ยกอยู่ เห็น(หัวเราะ) เห็นเนี่ย เอามือ…เอามาวางไว้ที่นี่ รู้นะ ตะแคงมือข้างซ้ายตั้งบนเข่า รู้นะ ยกขึ้นดู รู้นะ มากบมือข้างขวา…กบมือข้างขวา รู้นะ เลื่อนมือข้างขวาขึ้นหน่อยหนึ่ง ยกออกไป รู้นะ วางลง คว่ำลง ยกมือข้างซ้ายหน่อยเดียว เคลื่อนพอให้มันรู้สึก ยกออกไป รู้นะ วางลง เห็นนะ คว่ำลง ทำเท่านี้(ลากเสียง) ทำเท่านี่ ไม่ได้ลงทุนลงรอนอะไร ทำสบาย ๆ อย่าทำใจให้ตึงให้เครียด หายใจโล่ง ๆ อมยิ้มไว้ในใจอยู่ ให้รู้สึกสบาย ๆ(ลากเสียง) ผิดไม่เป็นไร ถูกไม่เป็นไร ถ้าทำอย่างนี้นี่…ให้ทำอย่างนี้ ให้เป็น เป็นวิธีสอน สอนให้รู้ สอนให้เป็น เราต้องสอนตัวเอง หลวงพ่อสอนได้แต่เพียงเท่านี้ แต่ถ้ารู้จริง ๆ เราต้องรู้เอง มีเอง เห็นเอง ผิดก็แก้ได้ ถูกก็เห็น ผิดก็เห็น เป็นอย่างนี้นี่เอง
ก็…สมควร ถ้ามีปัญหาอันใดก็ถามหลวงพ่อ หรือถามท่านไพศาลก็ได้