แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการศึกษาปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะชีวิตของเรานี่ ให้มีกิจกรรมที่เป็นการพัฒนาชีวิตของเรา ปล่อยปละละเลยไม่ได้ เพราะว่าคนเรานี้มันมีภพภูมิต่างๆ ดังที่เราสวด มีภพน้อยภพใหญ่ มีสังเสทชะ อัณฑชะ ชลาพุชะ โอปปาติกะ เกิดดับๆ ในภพภูมิต่างๆ แล้วคนเรานี้มันก็ มีภูมิอันต่ำ มีเปรต มีอสูรกาย มีสัตว์นรก มีเดรัจฉาน ถ้าเราไม่วิวัฒน์พัฒนา ก็ตกไปสู่ภูมิอันต่ำ ไม่เจริญ ไม่เหมือนสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานเขาก็เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว หาเก็บกินแมลง หากินหญ้า หากินคูถ กินอะไรต่างๆ คนเรานี่ถ้าไม่ศึกษาหรือว่าในคนเรานี่มันมีศาสนา มีศาสนา มีพิธีกรรม เพื่อพัฒนาให้ไปสู่ภพภูมิอันสูง โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมเนี่ย มันตัดภพตัดชาติได้ มีคนพูดว่า คนเรานี่ไปตกนรกเท่ากับขนโค ไปสวรรค์นิพพานเท่ากับเขาโค พวกเราจะไม่ยอม เพราะว่ามันทำได้อยู่ จะไม่ต้องไปตกนรกเท่ากับขนโค ถ้าจะไปจริงๆ ก็ให้เท่ากับเขาโค ให้น้อย เอากันไว้ ขนกันไว้ ช่วยกันไว้ ช่วยบอก ช่วยสอนกันไว้ ช่วยนำพาปฏิบัติ
อย่างวัดสุคะโตนี่ ช่วยกัน แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา ก็ช่วยกันปรุงอาหาร สามเณร สามเณรี ก็ช่วยกันดูแลอะไรต่างๆ พระสงฆ์องค์เจ้าช่วยกันปฏิบัติ อุบาสกอุบาสิกาช่วยกันปฏิบัติ ถ้าใครมาปฏิบัติก็ถือว่าเป็นความปรารถนาของพวกเราที่สุคะโต ถ้าเห็นปฏิบัติเห็นเจริญสติเนี่ย เป็นสุดยอดของที่นี่ เรื่องอื่นก็เป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะวิธีปฏิบัติธรรมเนี่ย มันเป็นสิ่งที่ลิขิตชีวิตของเราได้จริงๆ เรามีกรรมเป็นของๆ ตัว เราทำดีก็จะได้ดี เราทำชั่วก็จะได้ชั่ว มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราเจริญสติมันก็มีสติ ความหลงมันท้าทายต่อความรู้สึกตัว ความทุกข์มันท้าทายต่อความไม่ทุกข์ ความโกรธมันท้าทายต่อความไม่โกรธ ความอิจฉาพยาบาทมันท้าทายต่อความเมตตากรุณา เราจะปล่อยให้มันลอยตัว ปล่อยให้มันครองกายครองใจเราอยู่ไม่ได้ เราจึงมาปฏิบัติธรรมกัน แล้วเราก็ทำได้ เราก็ทำได้
เรามีความเกิดเป็นธรรมดา เรามีความแก่เป็นธรรมดา เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา เรามีความตายเป็นธรรมดา เราจะล่วงพ้นสิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้ เราจะปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้น มาใช้ชีวิตของเราให้มันเกิดมรรค เกิดผล ไม่ใช่ไปยอมรับรอวันตาย รอวันแก่ รอวันเจ็บ ไม่ได้ เราต้องมาใช้ชีวิตให้มันเป็นประโยชน์ ก่อนที่เราจะแก่ จะเจ็บ จะตาย มันก็เป็นประโยชน์ เป็นมรรค เป็นผล ช่วยคนอื่นได้เยอะ ช่วยกันได้มาก ชีวิตของเรา แล้วมันก็ช่วยได้จริงๆ ถ้ามองสวนกันบ้าง ถ้ามีความเกิด มันก็ต้องมีความไม่เกิด ถ้ามีความแก่ มันก็ต้องมีความไม่แก่ ถ้ามีความเจ็บ มันก็ต้องมีความไม่เจ็บ เมื่อมีความตาย มันก็ต้องมีความไม่ตาย นี่การมองแบบสิทธัตถะ สมัยเป็นเจ้าฟ้าชาย ไม่ยอม ไม่ยอมเรื่องนี้ หาคำตอบให้จนได้ แล้วก็ตอบได้ มาประกาศอยู่ตลอดทุกวันนี้ ถึงมรรค ถึงผลได้
วิธีที่เราปฏิบัติอยู่นี้นะ คือเราไม่ยอมรับ เราไม่ยอมรับจนไม่ต้องทำอะไร จนค้นพบความไม่เกิด ความไม่แก่ ความไม่เจ็บ ความไม่ตาย เหนือการเกิดแก่เจ็บตาย วิธีปฏิบัติที่เราทำอยู่เนี่ย เจริญสติอยู่เนี่ยมัน ถ้ามีสติมันเห็น เห็นมันเกิด เห็นมันแก่ เห็นมันเจ็บ เห็นมันตาย มันเกิดอะไรบ้าง ถ้าจะเป็นภาษาของการเกิด กำเนิด สังเสทชะ อัณฑชะ ชลาพุชะ โอปปาติกะ มันเกิดเหมือนกัน เกิดในภพภูมิ โดยเฉพาะปฏิบัติธรรมมันเป็นโอปปาติกะ เกิดเป็นพระขึ้นมา เกิดเป็นพระขึ้นมา เราให้กำเนิด เกิดความเป็นพระ มีสติ มีสัมปชัญญะ
ถ้าจะให้กำเนิดเกิดเป็นเทวดาก็มีความละอายต่อความชั่ว ไม่กล้าคิดชั่ว ไม่กล้าพูดชั่ว ไม่กล้าทำชั่ว กลัวความชั่ว ไม่ไปแตะต้อง เบื่อหน่ายความชั่ว จะคิดก็ไม่กล้า จะพูดก็ไม่กล้า จะทำก็ไม่กล้า เนี่ยภพภูมิของเทวดา เนี่ยเทวธรรม
มีเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาต่อทุกสรรพสิ่ง มันก็เป็นภพภูมิของพรหม
แต่บางผู้บางคนไม่มีภพภูมิอย่างนี้เลย ทำชั่วได้ง่าย ทำดีได้ยาก มีความอิจฉาพยาบาทเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือน ไม่มีความสุข มีแต่ทุกข์ มีแต่เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ ถ้าเป็นภูมิอย่างนี้มันก็เกิดเป็นประโยชน์ ถ้าเป็นความสุข ก็มีความสุขเพราะความเมตตากรุณา มีความสุขเพราะการทำความดี มีความสุขเพราะมีสติสัมปชัญญะ มีความสุขเพราะมีจิตบริสุทธิ์ เนี่ยภาวะที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่ใช่ความสุขเพื่ออามิสสินจ้างอะไร ให้เรามาเอาภพภูมิ ถ้าภพภูมิของความเป็นพระก็ประเสริฐ ไม่เปรอะไม่เปื้อนกับสิ่งใด คนมีสติไม่เปรอะไม่เปื้อนกับสิ่งใด ภพภูมิของพระ พรหมจรรย์ ไม่เปรอะไม่เปื้อน ไม่เปรอะไม่เปื้อนกับความสุข ไม่เปรอะไม่เปื้อนกับความทุกข์ ไม่เปรอะไม่เปื้อนกับความโลภโกรธหลง ไม่เปรอะไม่เปื้อนกับความรักความชัง มีแต่สติรู้ดูเห็นไป เห็นอะไรก็ได้ถ้ามันจะมีในกายในจิตของเรา ถ้าเห็นแล้วก็ไม่เปรอะไม่เปื้อนเป็นพรหมจรรย์ พรหมจรรย์นี้เป็นรสชาติของชีวิต น่าดื่ม เหมือนมัณฑะยอดโอชาแห่งโครส มัณฑะยอดโอชาแห่งโครส โครสนี่ เขาว่าโคเท่าไหร่ โค ห้าร้อย พันตัวเอามา เอาเป็นเนย เป็นนม ให้มันผสมกัน ให้มันยอดหลายๆอย่าง กลั่นกรองเอา มัณฑะเนย ไม่ใช่เนย ยอดโอชาแห่งโครส ให้แต่น้ำนมโค ห้าร้อย พันตัวเอาไปรดหน่อพระศรีมหาโพธิ์ที่เขาฆ่าตาย พระเจ้าอโศกมหาราชเอาไปรดหน่อโพธิ์ก็เกิดขึ้นมานั่นแน่ะ ก็เหมือนจะน่าดื่มยอดมัณฑะโอชาแห่งโครส ความบริสุทธิ์ใจ
ก่อนที่จะแก่เจ็บตายให้มีสิ่งเหล่านี้ แต่ก่อนที่จะมีเราต้องสร้างเอา ขอไม่ได้ การสร้างสิ่งเหล่านี้นี่แหละ กรรมฐาน วิชากรรมฐาน วิชากรรมฐานเป็นวิชาที่ลิขิตทำดู เราก็รู้ได้จริงๆ ถ้ารู้มันก็ไม่หลงจริงๆ ขอให้มีความรู้เป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือน อย่าให้มีความหลงเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือน เราจะปล่อยปละละเลยไม่ได้ เพราะชีวิตของเรามันมีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ถ้าเราไม่เห็น ไม่รู้ ไม่ดู ไม่เห็นตั้งแต่บัดนี้ มันจะไม่รู้จักเตรียมเนื้อเตรียมตัว มันจะเป็นทุกข์แสนสาหัส
มันไม่ใช่ชีวิตน่ะความทุกข์ ความไม่ทุกข์ ความรู้สึกตัวน่ะ มันชีวิต มันไม่เป็นอะไรกับอะไร เราจะปล่อยให้มันเป็นไปตามภพภูมิต่างๆ ไม่ได้ เราต้องอยู่เหนือภพภูมิ ภาวะ ภาวะแปลว่าภพภูมิ กรรมฐานเหมือนหลัก หลักอยู่กลางน้ำที่มันไหล เราเกาะไว้ แม้นเรายังไม่ขึ้นฝั่งก็ยังพักผ่อนได้ รู้สึกตัวเป็นการพักผ่อน เกาะไว้ ยืนไว้ ไม่แหวกไม่ว่ายไม่มุดไม่โผล่ ลอยคออยู่ได้ รู้สึกตัว รู้สึกตัวอยู่ในวัฏฏะต่างๆ มันหลงก็รู้ มันสุขก็รู้ มันทุกข์ก็รู้ ที่มันเกิดดับๆ รู้ไว้ๆ เอาไปเอามาความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวที่มันมีฐาน มีหลัก มีที่เกาะที่ยืนไว้เนี่ย มันก็ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน ไม่สิ้นเปลือง ไม่เข้าไปสู่ภพภูมิต่างๆ ทวนเอาไว้ การทวนแบบนี้ ท่านเรียกว่า ปฏิบัติ ปฏิบัติคือทวน คือกลับ ไม่ไปกับอะไรง่ายๆ นะ เอาไปเอามา มันก็เก่งขึ้นมา เห็นความเป็นจริงที่ผ่านหน้าผ่านตาหลายๆ อย่าง มันผ่านให้เราเห็น มันหลงก็ผ่านให้เราเห็น มันสุขมันทุกข์ก็ผ่านให้เราเห็น มันเกิดขึ้นอะไรต่างๆ เกี่ยวกับกายกับจิตใจ มันก็ให้เราเห็นอยู่ มันไม่ลับไม่ลี้ ผู้มีสติสัมปชัญญะก็ดูเอา ฉลาดเอา ความหลงก็ทำให้เราฉลาด ทำให้เราเกิดความรู้ ความทุกข์ก็ทำให้เราฉลาด ทำให้เราเกิดความรู้ หรือความทุกข์เนี่ย ถ้าเก่งในความรู้จริงๆ ก็เป็นมรรคผลนิพพานได้ เช่นพระพุทธเจ้าของเราน่ะ ความทุกข์แท้ๆ ทำให้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า ก็บางทีเราไม่มีวิธีปฏิบัติ ความทุกข์ทำให้เป็นปุถุชน ความทุกข์ทำให้เป็นภพภูมิอันต่ำ เป็นนรกก็ได้ แต่พระพุทธเจ้าน่ะ ความทุกข์ทำให้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า มองทุกข์ให้เห็น มองทุกข์ให้เป็น จะเป็นพุทธะได้ มันรู้วันตื่น ปัดโธ่ มาเห็นทุกข์ไม่ใช่ของเล็กน้อย เป็นการเห็นอย่างประเสริฐ ถ้ามีสติเข้าไปเห็น พอเห็นมันก็ไม่เป็น เป็นปัญญา
พูดแล้วพูดอีก การเห็นทุกข์เนี่ย มันเป็นปัญญา ไม่ใช่ทุกข์ เพื่อสร้างความทุกข์ ความทุกข์ต่อไว้ให้เกิดเป็นทุกข์ ความหลงต่อไว้ให้เกิดเป็นหลง ความโกรธต่อไว้ให้เกิดเป็นโกรธ มันเป็นเช่นนั้นไม่ได้ แล้วคนบางคนก็เป็นเช่นนั้น ชีวิตบางชีวิตก็เป็นเช่นนั้น บัดนี้เรามาศึกษาตรงนี้ ความหลงต่อให้เกิดความรู้สึกตัว เปลี่ยนมาหมดเลย เปลี่ยนได้ทั้งหมดเลย การเปลี่ยนอะไรมาเป็นความรู้สึกตัวเนี่ยมัน มันชอบ มันเป็นความชอบ มันเป็นความชอบธรรมที่สุด ชีวิตเราก็ต้องให้มีทางแบบนี้ ถ้าเราไม่เป็นอย่างนี้ มันก็เสีย เสียชาติจริงๆ ไม่มีค่าอะไรเลย มีแต่รังให้เกิดทุกข์ เกิดโทษต่อตัวเอง ให้มีหลักมีฐาน มีการใช้ชีวิตแบบนี้ แต่ถ้าฝึกหัดนะ ถ้าไม่ฝึกหัด มันก็ไม่เห็นไม่เป็น เป็นไปไม่ได้ถ้าไม่ฝึกหัด มันต้องผ่านการฝึกหัด
การฝึกหัดก็คือวิชากรรมฐานนี่ มันทำให้เราฝึกหัดหลายฉาก หลายบท หลายตอน มันหลงก็เห็นมาเป็นตัวรู้ซะ มันง่วงเหงาหาวนอน ก็เปลี่ยนมาเป็นตัวรู้ อย่าให้ไปเป็นอื่นไป ถ้าไม่ปฏิบัติ ไม่กลับไม่แก้ ไม่เปลี่ยน ไม่โต้ไม่ตอบ ไม่ทักไม่ท้วง มันก็ง่ายเกินไป ไม่รักนวลสงวนตัว ก็ง่ายที่จะไหลไปตามอาการต่างๆ จึงมาฝึกตัวเองนี่แหละ มาฝึกฝนตนเอง โธ่ หลวงปู่เทียนน่ะ มาสอนแบบนี้ ไม่เคยมีใครมาสอนเรา สอนให้มีความรู้สึกตัว เอากายมาสร้างความรู้ เอาใจมาสร้างความรู้ แต่ก่อนเอากายไปสร้างอะไร เอาใจไปสร้างอะไร สะเปะสะปะไปเลย บัดนี้มาสอนให้เกิดความรู้สึกตัวเนี่ย ไม่เคยเห็นใครมาสอนแบบนี้เลย มีแต่สอนให้นั่งหลับหูหลับตาสงบไป ปฏิเสธไรทั้งหมด ไม่ดูแลตัวเอง ตัวเองมันหมักหมมอยู่กับอะไร ดูมัน ไม่เคยเห็น พอมาลืมหูลืมตา ตาภายในของเราคือความรู้สึกตัวนั้น ว่าแต่เราตั้งหลักให้ดีๆ นะ อย่าพลัดเข้าไปกับมันง่ายๆ มันหลงก็เห็น นั่นหนะ ตั้งหลักไป มีหลักแล้ว ถ้ามันหลงเป็นผู้หลง ไม่มีหลักๆ โทษไปแล้ว ไปแล้ว ไปกับความหลงแล้ว ไม่มีที่เกาะ
กรรมฐานตามรูปแบบของบรรพะ การเจริญสติ มันเกาะได้จริงๆ เนี่ยมันง่วงเกิดขึ้น ก็เกาะเอาไว้ เคลื่อนไหวมันเพียงพอที่จะปลุกความรู้สึกขึ้นมา ให้มันตื่นขึ้นมา มันอ่อนแอตรงไหน เข้มแข็งตรงนั้น มันผิดตรงไหน เข้มแข็งตรงนั้น สอดรู้สอดเห็นแล้วก็ทำได้ ความรู้สึกตัวมันทำได้ มันจะฟื้นขึ้นมา มันจะฟื้นขึ้นมา เอาไปเอามา ตัวรู้สึกตัวนี่แหละ เป็นตัวที่ไม่เป็นอะไรกับอะไร ถ้ามันเก่งขึ้นไป พัฒนาตัวเองขึ้นไป นี่แหละ ความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ภาวะความรู้สึกตัว สติปัฏฐานเนี่ย นี่แหละที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย มันไม่เป็นอะไรกับอะไร เห็นหมดเลย เห็นการเกิด เห็นการแก่ เห็นการเจ็บ เห็นการตาย มันตายแบบไหน มันเกิดแบบไหน เกิดดับๆ มันเกิดอย่างไร กำเนิดอันเกิดดับๆ แบบนี้ ก่อนที่มันจะเกิดในอัณฑชะ สังเสทชะ มันต้องเกิดตรงนี้ ไม่ใช่ไปเกิดตรงนั้น ผุดขึ้นมาไม่ใช่ เราก็ปฏิบัติ เรารู้อยู่เนี่ย ก็คุมกำเนิดของการเกิดแบบนั้นขึ้นมา ถ้ามันจะเกิดก็เกิดเป็นพระ เรียกว่า โอปปาติกะ เกิดผุดขึ้น เกิดเป็นพระได้ เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นพรหม เทวดาไม่ใช่เทวดา แบบเทวดาเป็นคุณธรรม พรหมก็เป็นคุณธรรม เป็นคุณธรรมไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่รูปอะไร ไม่ใช่รูปลูกโป่ง คนที่มีคุณธรรม ช่วยกันและกันได้ หลวงพ่อก็เคยเจอเทวดาเหมือนกัน สมัยเข้าไปกรุงเทพฯ เดินทางเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าไปพักกับวัดเพื่อน พอไปวัด ถึงวัดเพื่อนแล้วมันหมดแรง ก็นอนเลย คุยกันแล้วก็นอน มันก็หลับ พอตื่นขึ้นมานี่ เห็นมุ้งครอบตัวเองอยู่ แสดงว่าเทวดา ก็มองแบบโอ้ เทวดามากางมุ้งให้เราน้อ เทวดาก็คือพระ พระสุ-นาด(ชื่อ) เนี่ยเดี๋ยวนี้ก็เป็นครูสอนโรงเรียนอยู่บ้านโคกกรุงเนี่ย เคยบวชพร้อมกัน เขาไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ นี่เทวดาช่วยเรา เทวดาไม่ใช่เป็นอากาศ เป็นอะไรต่างๆ ไอ้นั่นก็เทวดาก็ได้ เทวดาอากาศดีๆ รุกขเทวดาต้นไม้ ร่มไม้ใหญ่ๆ โอ๊ย ไปนั่ง ไปนอน นก หนู ได้กินลูกไม้ ได้เกาะอาศัย ได้สร้างความชื้นให้ฝนตก เออ มันก็เป็นเทวดาได้ ภุมเทวดาที่อยู่อาศัย มีอาหารปลูก มีเห็ดเกิด มีหน่อไม้ มีอาหาร มีผัก นี่แหละ ภุมเทวดา อยู่ที่ไหนดินอุดมสมบูรณ์ อย่าไปมองอะไรที่ไม่ใช่คุณธรรม ก็ดินมันก็มีคุณธรรม ต้นไม้อะไรต่างๆ
คุณธรรมนั่นแหละเป็นเทวดา มีอยู่กับคน คนก็ช่วยคน ถ้าเปรตอยู่กับคน คนก็ทำลายกัน ถ้าผีอยู่กับคน คนก็ทำลายกัน เพราะไม่มีคุณธรรม เรามาเป็นเทวดา เป็นคนที่ใจดี ละความชั่ว ละอายความชั่ว ไม่กล้า ช่วยกันทำดีได้ง่าย ทำชั่วได้ยาก แล้วก็ช่วยกันได้จริงๆ แล้วอยู่กับเราคืออะไร เทวดาก็ช่วยเรา ไม่กล้าคิดชั่ว ไม่กล้าพูดชั่ว ไม่กล้าทำชั่ว พรหมก็ช่วยเรา มีเมตตา กรุณา มีมุทิตาอุเบกขา คราใดที่คิดอะไร พูดอะไร ทำอะไร เมตตากรุณาแล่นออกไปก่อน แล่นออกหน้าก่อนเลย พูดสิ่งใด ทำสิ่งใด คิดสิ่งใด ประกอบด้วยเมตตา พระพรหมช่วยเรา ไม่มีคำว่าอิจฉาเบียดเบียน เนี่ยคุณธรรม ไม่ได้คิดอาฆาต พยาบาท เบียดเบียนเขา เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม โลภ พยาบาทเขา ไม่มี แล่นออกไปโดยคุณธรรม เป็นพระ คุณพระก็ช่วยเรา คุณธรรมเนี่ยช่วยเรา เรานั่งอยู่ที่ไหน ก็เทวดาช่วย เหมือนกับเทวดาอยู่กับเรา เทวดาคือคุณธรรม บางทีเราทำเนี่ย มันเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาได้ คุณธรรมต่างๆ ที่ไม่เคยมี เกิดขึ้นมา เคยหลง เอ้าเป็นความรู้แล้ว ความรู้สึกตัวช่วยเรา บางทีมีความมั่นคงเป็นปกติ ไม่หวั่นไหว เอ้า ศีลมาช่วยเรา ไม่เคยเห็นศีลช่วยเราเลย เอาบุญคือใจดีมาช่วยเรา คิดชั่ว ทุกข์ ใจร้ายไม่มี ใจดีช่วยเรา ช่วยเราแล้วไม่พอ ช่วยอะไรอีกหลายอย่าง เกิดขึ้นมา เราจะทำยังไง จึงจะให้เกิดคุณธรรมในผู้ในคน เพื่อให้คนไปช่วยเรา สอนให้คนมีบุญ บุญที่อยู่กับคน ก็ไปสร้างบุญให้เกิดบุญ
เหมือนเราเดินธรรมยาตรา หลวงพ่อประกาศไปว่า ชวนผู้คนมาทำบุญกับดิน ชวนผู้ชวนคนมาทำบุญกับน้ำ ชวนผู้ชวนคนมาทำบุญกับต้นไม้ ป่าไม้ อากาศ แล้วน้ำมีบุญ คือน้ำมันใส มันดี มันบริสุทธิ์ น้ำก็ไปช่วยคน ดินมันดี ไม่ทำลายด้วยสารพิษ ดินมันดี ดินก็จะได้ช่วยคน ปลูกข้าว ปลูกของงอกงาม อากาศมันดี อากาศก็จะได้ช่วยคน ป่าไม้มันดี ต้นไม้ก็จะได้ช่วยคน คนมันดี คนก็จะได้ช่วยคน ให้มีแต่บุญ ให้มันเกิดขึ้น บุญจึงเป็นเครื่องค้ำจุนโลก มันก็เกิดจากพวกเรานี้สร้างขึ้นมา ไม่ต้องไปงอมือขออ้อนวอนอะไร เรามาสร้างให้มีน้ำใจดีๆ สิ แต่ก่อนก็ไม่เคยรักอะไรมากมาย พอมาปฏิบัติธรรม มันมีเมตตา กรุณา รักทุกสิ่งทุกอย่าง รักเม็ดหิน เม็ดทราย รักต้นไม้ รักอากาศ ไม่กล้าทำลาย รักผู้รักคน ไม่มีขอบเขต ลองดูสิ ความเมตตากรุณาเนี่ย โถ มันสุดซึ้งนะ มันอยู่ไม่ได้ มันจะไปอิจฉาเบียดเบียนกันได้อย่างไร เนี่ย สร้างขึ้นมา เนี่ย ชีวิตแบบนี้ ชีวิตไม่ตาย ชีวิตไม่ตาย ชีวิตไม่เกิด ชีวิตไม่แก่ ชีวิตไม่เจ็บ เรื่องของความเกิด ความเจ็บ ความแก่ ความเจ็บ ความตายที่เราเห็นนั่น มันเป็นอันหนึ่ง มันเป็นธรรมขาติ ไม่ใช่เรื่องของธรรมะ ไม่ใช่เรื่องของมรรค ของผล มรรคผลจริงๆ คือคุณธรรม เนี่ย เราสร้างขึ้นมา เริ่มต้นจากการที่เราสร้างเนี่ย เจริญสติเนี่ย ไปไกลนะ ความรู้สึกตัวเนี่ย
อย่าประมาท ความรู้สึกตัวไปอยู่กับทุกสิ่งทุกอย่าง ความรู้สึกตัววิวัฒน์พัฒนาไป วิวัฒน์พัฒนาไป แล้วก็อย่าไปสำคัญมั่นหมายกับตัวเรา สำคัญมั่นหมายกับคนอื่น ว่าเราไม่เหมือนเขา เขาไม่เหมือนเรา ท่านเป็นพระ เราเป็นโยม ท่านเป็นบุรุษ เราเป็นสตรี ท่านเป็นคนมีบุญวาสนา เราเป็นคนไม่มีบุญวาสนา อย่าไปคิดแบบนั้นการปฏิบัติธรรม กรรมฐานเสมอภาค การสร้างความรู้สึกตัวให้ความเป็นธรรมต่อทุกสรรพสิ่ง เราอย่าไปอ้าง เราไม่มีเงินมีทอง ไม่มีข้าวมีของ ไม่ได้ทำบุญให้ทาน เคยคิดแบบนี้เหมือนกัน สมัยปฏิบัติใหม่ๆ มักจะเอาความคิดเรื่องนี้ไปขวางกั้น ยิ่งหลวงปู่เทียนเนี่ย ท่านพูดที่ใด ท่านก็พูดว่า เงินร้อยเงินพันหายาก เงินหมื่นเงินแสนหาง่าย ท่านพูดแบบเนี่ย ท่านก็สร้างโบสถ์คนเดียว ท่านพาไปดู บ้าน อะไร ผาแบ่น ท่านทำบุญ ร่องรอยแห่งการทำบุญ บุญบวช บวชทุกปี บุญบ้านก็ทำทุกปี บุญกฐินก็ทำทุกปี สร้างโบสถ์ สร้างพระ หล่อพระ ทำทุกปี แต่เราไม่เคยได้ทำ แม้แต่บุญบ้านก็ไม่ค่อยได้ทำ เพราะมันจน
การทำบุญแบบนั้นต้องมีเงินมีทอง มีข้าวมีของ มีเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เราไม่เคยได้ทำบุญแบบนั้น หรือจะเป็นเพราะเหตุนี้หนอ เราปฏิบัติธรรมไม่รู้อะไร จนได้พูดออกปากกับหลวงพ่อเทียน หลวงพ่อเทียนจับมือเลย ไม่เกี่ยวๆ ไม่เกี่ยวกับการทำบุญแบบนั้น กรรมฐานไม่ได้เกี่ยว ไม่ต้องมีอะไร มายกมือสร้างจังหวะให้รู้สึกตัวนี้ หลวงพ่อก็บอกว่า อาตมารู้ธรรมะ ไม่ใช่รู้แบบนั้น อาตมาทำบุญกฐิน อาตมายังโกรธ หลวงพ่อเทียนก็เล่าให้ฟัง เวลาจะทำบุญกฐิน ก็ตกลงกับภรรยาของท่านกับลูก หลวงพ่อเทียนก็นุ่งขาวถือขาว นั่งรับแขก ให้เมีย ให้แม่บ้าน แม่เทียน เป็นคนรับผิดชอบการใช้จ่าย อาหารการกิน ค่าอะไรต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินจ่ายทอง ใช้เท่าไหร่ใช้ลงไป ไม่ต้องกลัวว่ามันจะหมด พอดีพอทำบุญแล้ว แม่เทียนมาถามจะให้ค่าหนังเท่าไหร่ ค่าหมอลำเท่าไหร่ พ่อเทียนนี่ โกรธตึ๊บขึ้นมาเลย ตึ๊บขึ้นมาเลย หลวงพ่อเทียนเล่าให้ฟัง พอโกรธตึ๊บขึ้นมา ขณะนั้นแขกก็ยังไม่หนีไปไหน ถ้าจะว่าก็เสียมารยาท หนักเอาไว้ เพราะสัญญากันแล้ว ทำไมมาพูดแบบเนี่ย เสียใจมาก มาถามกัน พอเก็บข้าวเก็บของ เรียกแม่เทียนมาแบบคนโกรธ คนโกรธเรียกคนที่โกรธมาด่า ว่า แม่เทียน ทำไมจึงทำอย่างนั้น บอกแล้วน่ะ พูดบ้าๆ หมาๆ ไม่รู้อะไร แม่เทียนก็พูดว่า โอ๊ย พ่อเทียน ข้อยก็ถามเจ้าเท่านั้นน้อ เจ้าสิโกรธแท้บ่ เจ้านี่เอาแต่ทุกข์แล้วน้อเนี่ย ทำบุญแท้ๆ เจ้าก็ยังทุกข์อยู่น้อ พ่อเทียนเอ้ย ข้อยก็ถามเจ้าเท่านั้นน้อ เจ้าทำไมโกรธจังเนี่ย ทุกข์เข้าแล้ว เจ้าน่ะทุกข์แท้ๆ เจ้าน่ะ พ่อเทียนเนี่ย โอ๊ย แม่นแล้ว แม่นแล้ว แม่เทียนเอ้ย ข้อยทุกข์จริงๆ โอ้ ตั้งแต่วันนั้นมา อะไรมันคือบุญ บุญมันคืออะไร ทำบุญอยู่ยังทุกข์ ยังโกรธให้แม่เทียน เนี่ย เหตุที่หาบุญน่ะ หลวงพ่อเทียนเลยพูดเรื่องนี้ให้ฟัง บ่แม่น บ่แม่น อย่าไปเอาเรื่องนั้นมา (... เสียงขาด …)
เนี่ย เจริญสติเนี่ย แน่นอนที่สุด เคยสร้างหมู่นั้นมา ไม่รู้เลย บัดนี้พอมาปฏิบัติธรรมได้บุญจริงๆ ใจมันดีกว่าเก่า ไม่โกรธเลย ไม่ทุกข์เลย เนี่ย เพราะนั้นเนี่ย อย่าเอาอะไรมาขวางขั้นตอน ลองกับการปฏิบัติเลย ไม่มีอะไรต่อรองการปฏิบัติเนี่ย มีแต่การกระทำลงไป สร้างสติลงไป สร้างสติลงไป อย่าเอาเพศ วัย มาต่อรอง หลวงพ่อเป็นนักบวช ครูอาจารย์ผู้สอนเราเป็นนักบวช เราเป็นฆราวาส เรามีลูกมีเมีย เราไม่เอามาต่อรอง เราเป็นคนยากคนจน เราเป็นคนผู้ไม่มีบุญวาสนา ไม่ต้อง เอาการกระทำ เอาการกระทำ ยกมือขึ้นมารู้สึกตัว ทำใจ ทำใจไป ให้รู้สึกตัว ให้รู้สึกตัวไปอย่างนี้นะ นี่เรียกว่าลิขิต ให้เชื่อมั่นคำสอนพระพุทธเจ้า อย่าไปทำอย่างอื่น อย่าไปพลัดหลงไปอย่างอื่น ให้มีศรัทธาต่อการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าเราก็ทำแบบนี้ พระองค์ยังไปนั่งอยู่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ เป็นกษัตริย์ด้วย ถ้าจะเปรียบเหมือนคนสมัยนั้น เขาก็หาว่าคนบ้านั่นแล้ว กษัตริย์เนี่ยโกนผมไม่ได้ ถ้าโกนผมก็เสียศักดิ์ศรี พระพุทธเจ้าเนี่ย โกนผม เอ้า นุ่งถอดเครื่องประดับให้ชาวบ้าน เวลาเดินเข้าป่า ลงไปกับม้ากัณฐกะ ถอดเครื่องประดับให้ชาวบ้าน เอาผ้าย้อมฝาดมาห่ม ในบาตร ขอทานไป โอ้ พระเจ้าสุทโธทนะกริ้ว โกรธใหญ่เลย ดูหมิ่น ดูถูก ตระกูลของมหากษัตริย์ ดูซิมันจะสวนทางขนาดไหน เคยอยู่พระราชวัง ปราสาท 3 ฤดู ไปนั่งอยู่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์เนี่ย ดูซิ มีหญ้าคา นายโสตถิยะพราหมณ์เป็นผู้ถวายให้ไปปูนั่ง ถ้าจะเปรียบเทียบ พระองค์คงจะเปรียบเทียบรุนแรงกว่าเรา เรานี่ ไม่มีอะไรเปรียบเทียบหนักเหมือนพระพุทธเจ้าเราหรอก บางคนก็ขับรถเก๋งมา ขับรถอะไรมาอย่างดี ไม่ต้องมีเปรียบเทียบขนาดนั้น
เราก็มีเพื่อนมีมิตร มีครูอาจารย์ มีเพื่อนมีมิตร สมบูรณ์แบบ อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุสงฆ์ กุฏิ ศาลา ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน เนี่ย มันสะดวกแล้ว อย่าไปอ้าง พวกเราอย่าไปอ้าง แล้วพวกเราก็สร้างวัดขึ้นมาเพื่อการนี้โดยตรง ไม่ต้องไปข้องแวะ เกรงอกเกรงใจ อยู่ได้หรือป่าว คนนั้น อย่าไปเกี่ยวข้อง อย่าไปเอาคนอื่นมาอ้างอีก คนนั้นดี คนนี้ไม่ดี คนนั้นพูด ฉันไม่ชอบ คนนั้นพูดชอบ ฉันเป็นมิตรกับคนนั้น ฉันเป็นศัตรูกับคนนี้ หยุดเลย อย่าไปเอามาอ้างขวางกั้น อะไรก็ตาม เรามาปฏิบัติ เรามาเจริญสติ ความมุ่งหมายของพวกเรา คือตรงนี้ อย่าเอาอันอื่นมาอ้าง มาเจริญสติเอาเลย แต่ว่าเราทำได้ ให้พอกลางๆ ไม่ใช่ว่า บางทีเขาก็เอาปิ่นโตไปส่งถึงกุฏิ ถึงที่อยู่อาศัย ห้องน้ำ ห้องส้วม ที่เดินจงกรมอยู่ตรงนั้นเลย นี่เราก็ไม่ทำถึงปานนั้น พวกเราช่วยกันแบบนี้ อย่าให้มัน คนอื่นช่วยจนเกินไป มันจะเกิดการอ่อนแอ ให้ไปให้มา ให้พูดให้จา ให้เดินไปขบไปฉัน ให้เดินมากุฏิของตน ให้ช่วยตัวเอง ถ้าคนอื่นช่วยเกินไป มันก็อ่อนแอ ปิดบังตัวเอง เก็บเงียบเกินไปก็อ่อนแอ หูก็ให้มันได้ยิน มีสติ ตาก็ให้มันเห็น ให้มีสติ คนนินทาก็ให้ได้รู้ มีสติ คนสรรเสริญ ก็รู้มีสติ มันจะลุยๆ สักหน่อย มันจะเข้มแข็ง มันจะทำให้อินทรีย์แก่กล้าได้ อันเนี้ย นี่เราฝึกทุกสถานการณ์
ลุยๆ สักหน่อยการปฏิบัติธรรม อย่าเรียกร้องอะไรมาก อย่าอ่อนแออะไรมาก กระทบกระเทือนนิดหน่อยก็หวั่นไหวไม่ได้ มันจะเข้มแข็งตอนที่อ่อนแอ มันจะขยันตอนที่เป็นงานเป็นการ เหมือนหลวงพ่อพูดเมื่อวานนี้ ขยันตรงไหน ขยันตรงที่มันหลง ขยันตรงที่มันโกรธ เปลี่ยนความหลงเป็นความรู้ ขยันแล้ว เพียรแล้ว เปลี่ยนความโกรธเป็นความไม่โกรธ เราก็ขยันตรงนั้น เปลี่ยนความทุกข์เป็นความไม่ทุกข์ ขยันตรงนั้น เวลามันง่วงเหงาหาวนอน มันทับถมความรู้สึกตัวขยัน โชว์ โชว์ความรู้สึกตัวให้มันเด่นขึ้นมา มันจะกลบเกลื่อนให้มันหายไป ก็ขยันตรงนั้น เพียรตรงนั้น เอาหลายๆ แบบ ลืมตาขึ้นมามองท้องฟ้า มองยอดไม้ ตามความรู้สึก ยืดตัวขึ้น บั้นเอว หน้าอก ต้นคอ ใบหน้า ให้หลายๆ อย่าง โชว์ความรู้สึกตัว ให้มีในกายในจิตของเรา ในการกระทำของเรา ขั้นตอนที่เราขยัน ขยันตรงนั้นเป็นพิเศษ แล้วก็ภูมิใจนะ เวลาใดที่เราเปลี่ยน เช่นมันง่วง เรามีสติพ้นจากความง่วง เหมือนพระจันทร์พ้นจากเมฆได้ โอ้ เรียกว่า ทำได้ ทำเป็น เวลามันหลง เปลี่ยนความหลงเป็นความไม่หลง มันจะมีบทบาทตรงนั้นด้วย จะเก่งไปเรื่อยๆ เก่งไปเรื่อยๆ นะ เป็นอย่างนั้น
การปฏิบัติธรรมนะ นี่อย่าเอาอะไรมาขวางกั้นพวกเรา ให้สิทธิเสรีภาพ ให้เป็นอิสระส่วนตัวในการปฏิบัติ ท่านหลงท่านก็เปลี่ยนความหลงเอาเอง ท่านจะมีความรู้ ท่านก็สร้างความรู้เอาเอง อย่างอมืองอเท้าขอร้องติตัว ตำหนิโทษตัวเอง พอหลงแล้วก็เสียใจ ไม่ใช่ ถ้าปฏิบัติจริงๆ พอหลงมันจะยิ้ม หัวเราะความหลง พอทุกข์มันจะยิ้ม หัวเราะความทุกข์ มองตนเองแบบสนุกๆ มันก็เกิดกับเรานี่ อย่าไปโทษ แม้เกิดกับคนอื่น คนอื่นทำให้เราโกรธ ก็อย่าไปโทษเขา ก็มาดูเรา มาดูเรา ถ้าจะโกรธ ก็โกรธให้ความโกรธ อย่าไปโกรธคนที่เขาทำให้เราโกรธ โกรธให้ความโกรธ โกรธให้ความยากความจน โกรธให้ความอดอยาก หลวงพ่อเคยโกรธให้ไฟไหม้ป่า บาปไหมนี่ โกรธให้ไฟไหม้ป่า หาวิธีที่จะไม่ให้ไฟไหม้ป่า โกรธน่ะ เวลาใดเขาเล่าลือว่าไฟไหม้วัดป่าสุคะโตน่ะ โอ๊ย โกรธนะ เพียรพยายามที่จะเอาชนะไฟไหม้ป่า ทีนี้โกรธให้ความจน โกรธให้ความโกรธ โกรธให้ความโกรธ ด่าตัวเอง บ้าเอ๊ย เท่านี้ก็โกรธแล้วหรือนั่น มันจะทำอะไรได้ โกรธให้ความโกรธ มันก็ดีนะ
ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมมันตอบ โต้ตอบ ทักท้วงตรวจสอบ เอาตัวมันแหละเปลี่ยนมัน เอาตัวมันสอนตัวมัน มันอยู่ในตัวเดียวกัน มีสติดูจิต มีจิตดูจิต เสร็จเลย เอ้า ในจิตมันก็ดูจิตของมันน่ะ มันไม่มีทางไปไหนแล้วบัดนี่ ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมมันในตัวของมันเลย ในความโกรธมันก็มีความไม่โกรธ ในความหลงก็มีความไม่หลง สบ๊าย สบาย การปฏิบัติเนี่ย อย่าไปมองคนละทิศละทาง มองออกไปทางอื่นไม่ได้ คนนั้นทำให้หลง สิ่งนี้ทำให้หลง ในตัวเราก็เหมือนกัน เวลามันหลง ก็ตัวเราเองทำให้หลง ก็รู้ขึ้นมาเอาเอง มันง่ายๆ ถ้าเราทำผิดคนอื่นมาว่าเรา เราทำผิด โอ๊ย ก็ง่ายๆ ขอโทษๆ มันหลงไป มันลืมไป ไม่ได้เจตนานะ ง่ายกว่าที่จะไปให้เป็นเรื่องเป็นราว